LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2547

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายอาทิตย์ทำสัญญาให้นายจันทร์ผู้เยาว์เช่าบ้านหลังหนึ่ง  กำหนดเวลาเช่า  1  ปี  อัตราเช่าเดือนละ  7,000  บาท  โดยนายจอมบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนายจันทร์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย  หลังจากเช่าได้  6  เดือน  นายจันทร์ไม่ชำระค่าเช่า  นายอาทิตย์ได้บอกกล่าวทวงถามแล้วนายจันทร์ก็ยังไม่นำค่าเช่ามาชำระ

นายอาทิตย์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์และแจ้งให้นายจันทร์ย้ายออกจากบ้านเช่าภายใน  7  วัน  นับแต่วันเลิกสัญญา  ปรากฏว่าในขณะที่นายอาทิตย์บอกเลิกสัญญาเช่นนั้น  นายจอมบิดาของนายจันทร์เดินทางไปต่างจังหวัด  ไม่ทราบเรื่องนี้แต่ประการใด  

นายจันทร์ไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่าโดยอ้างว่าสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด  เช่นนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าที่นายอาทิตย์กระทำต่อนายจันทร์มีผลในกฎหมายประการใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  170  วรรคหนึ่ง  การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์…จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้  เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม  ของผู้รับการแสดงได้รู้ด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

วินิจฉัย

นายอาทิตย์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์ซึ่งเป็นผู้เยาว์  ในขณะที่นายอาทิตย์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์นั้น  นายจอมบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโยชอบธรรมของนายจันทร์เดินทางไปต่างจังหวัด  ไม่ทราบเรื่องการเลิกสัญญาเช่านี้แต่อย่างใด  ดังนั้น  นายอาทิตย์จะยกเอาการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายจันทร์ผู้เยาว์ไม่ได้

 

ข้อ  2  นาย  ก.  ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นาย  ข.  โยสำคัญผิดคิดว่านาย  ข.  เป็นคนดี  ขยันทำการงานให้นาย  ก.  แต่ความจริงนาย  ข.  เป็นนักเลงอันธพาล  มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ซึ่งนาย  ข.  ปกปิดไม่บอกให้นาย  ก.  รู้  ต่อมาเมื่อนาย  ก.  ตายลงไป

ดังนี้  ทายาทนาย  ก.  จะบอกล้างพฤติกรรม  โดยอ้างว่าพินัยกรรมเป็นโมฆียะ  เพราะเกิดจากนาย  ข.  ใช้กลฉ้อฉลโยการนิ่งได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ในนิติกรรมสองฝ่าย  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย  ไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้  การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล  หากพิสูจน์ได้ว่า  ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

ทายาทของนาย  ก  จะบอกล้างพินัยกรรมโดยอ้างว่า  นาย  ข  ใช้กลฉ้อฉลโดยการนิ่งไม่ได้  เพราะพินัยกรรมเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว  ไม่ใช่พินัยกรรมสองฝ่าย  จึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง  ตามมาตรา  162  กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่านาย  ข  จงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริง  หรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้แต่อย่างใด 

 

ข้อ  3  นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำ  จำนวนสองแสนบาท  เมื่อวันที่  5  มกราคม  2535  มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่  5  มกราคม  2536  โดยนายแดงได้นำที่ดิน  1  แปลง  ราคาห้าแสนบาทไปจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดิน  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายแดงไม่นำเงินไปชำระ  นายดำได้ทวงถามตลอดมา  จนกระทั่งวันที่  4  ตุลาคม  2547  นายดำได้นำคดีไปฟ้องศาลบังคับจำนองโยให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายทอดตลาด  แล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ตน  นายแดงต่อสู้ว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว  นายดำจะนำคดีมาฟ้องศาลบังคับจำนองไม่ได้  ดังนี้อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง…  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง…แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม

วินิจฉัย

นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำ  จำนวนสองแสนบาท  มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่  5  มกราคม  2536  โดยนายแดงได้นำที่ดิน  1  แปลง มาจำนองไว้กับนายดำ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระ  จนกระทั่งวันที่  4  ตุลาคม  2547  นายดำได้นำคดีไปฟ้องศาลบังคับจำนอง  กรณีนี้แม้ว่าสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  นายดำเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับจำนองได้  เพราะนายดำไม่ได้ฟ้องให้นายแดงชำระหนี้เงินกู้  แต่ฟ้องบังคับจำนอง  แม้อายุความจะขาดแล้วก็ฟ้องได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  นายแดงทำสัญญาจ้างบริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  ก่อสร้างบ้านหลังหนึ่ง  โดยกำหนดให้ผู้ว่าจ้างจัดหาสัมภาระและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  (ยกเว้นเครื่องมือสำหรับทำการก่อสร้าง)  ให้แก่ผู้รับจ้าง  ตกลงค่าจ้างกันเป็นเงิน  500,000  บาท กำหนดก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยภายใน  8  เดือน  นับแต่วันทำสัญญา

เมื่อถึงกำหนด  8  เดือน  นับแต่วันทำสัญญา  บริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  ก่อสร้างบ้านเสร็จจึงแจ้งให้นายแดงรับมอบบ้าน  แต่นายแดงผิดนัดไม่รับมอบบ้านจากบริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  ในระหว่างนั้นปรากกว่าฟ้าผ่า  เป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จนั้นเสียหายหมด  ให้ท่านวินิจฉัยว่าบริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากนายแดงเพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  372  วรรคสอง  ถ้าการชำระหนี้  (ตามสัญญาต่างตอบแทน)  ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้  ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่  แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี  หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา  หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี  มากน้อยเท่าไร  จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยัง ค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิ ต้องรับผิดชอบ  ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายแดงกับบริษัท  บางกะปิ  ก่อสร้าง  จำกัด  เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการกระทำ  (การก่อสร้างอาคารและการชำระเงินค่าจ้าง)  เมื่อบริษัทบางกะปิก่อสร้าง จำกัด  (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องก่อสร้างบ้าน)  ทำการก่อสร้างบ้านเสร็จตามกำหนด  จึงแจ้งให้นายแดง  (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับผลงานการก่อสร้างบ้าน)  แต่ปรากฏว่านายแดง  (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับผลงานการก่อสร้างบ้าน)  ผิดนัดไม่รับชำระหนี้  (ไม่รับมอบผลงานการก่อสร้างบ้าน)  จากบริษัท  บางกะปิ  ก่อสร้าง  จำกัด  ในระหว่างนั้นปรากฏว่าฟ้าผ่าเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่บริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  เพิ่งก่อสร้างเสร็จนั้นเสียหายหมด  กรณีจึงต้องตามหลักกฎหมายดังอ้างข้างต้น  ซึ่งมีผลว่าลูกหนี้หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่  ดังนั้นบริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากนายแดงตามสัญญา  คือ  500,000  บาท

อย่างไรก็ตาม  ถ้าปรากฏว่าบริษัทบางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องก่อสร้างบ้าน)

(1) ได้อะไรไว้หรือไม่ต้องเสียอะไรไปเพราะการที่ตนหลุดพ้นจากการชำระหนี้  (ไม่ต้องส่งมอบผลงานการก่อสร้างบ้านให้แก่นายแดง)  หรือ

(2) ใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา  หรือ

(3) แกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้

มาน้อยเท่าไร  ต้องเอามาหักกับจำนวนค่าจ้างที่บริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  มีสิทธิได้รับชำระจากนายแดง  กล่าวคือ  ค่าจ้าง  500,000  บาท  ที่บริษัท  บางกะปิก่อสร้าง  จำกัด  จะได้รับชำระจากนายแดง  ย่อมลดลงตามจำนวนมากน้อยดังกล่าว

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แดงสมรู้กับเขียวทำสัญญากันหลอกๆว่าแดงขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่เขียว  ในราคา  500,000  บาท  แดงได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่เขียว  แต่มิได้ชำระราคากันจริง  หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนเขียวเอารถยนต์คันนั้นไปให้โดยเสน่หาแก่ขาวโดยขาวไม่ทราบว่าแดงและเขียวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันไว้หลอกๆ  ต่อมาอีกสิบวันขาวขับรถยนต์คันนั้นโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ชนเสาไฟฟ้า  รถพังยับเยิน  ขาวต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน  100,000  บาท

แดงทราบเรื่องจึงบอกให้ขาวส่งรถยนต์คืนแก่ตนโดยอ้างว่าตนมิได้ขายรถยนต์ให้แก่เขียวจริงๆ  รถยนต์ยังเป็นของตน  ขาวไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่แดงโดยอ้างว่าตนกระทำการโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย  ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงินจำนวนมากถึง  100,000  บาท แดงจึงฟ้องเรียกรถยนต์คืนจากขาว ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ขาวต้องคืนรถยนต์ให้แก่แดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคหนึ่ง  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

แดงและเขียวสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่าแดงขายรถยนต์ให้แก่เขียว  การแสดงเจตนาลวงว่าแดงและเขียวซื้อขายรถยนต์กันดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  รถยนต์ยังคงเป็นของแดง

อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกมิให้ต้องเสียหาย  ทั้งนี้บุคคลภายนอกนั้นต้องกระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับรถยนต์จากการให้โดยเสน่หาของเขียว  โดยขาวไม่ทราบว่าแดงและเขียวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันไว้หลอกๆ  ถือได้ว่าขาวกระทำการโดยสุจริต  แต่การที่ขาวต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน  100,000  บาทนั้น  เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของขาวเอง  มิใช่เกิดขึ้นจากการเจตนาลวงแดงและเขียว  ขาวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย

สรุป  ขาวจึงต้องคืนรถยนต์ให้แก่แดง

 

ข้อ  2  นายสมบัติต้องการซื้อแจกันลายครามโบราณ  จึงไปหาซื้อที่ร้านของนายสมบูรณ์  นายสมบัติเห็นแจกันลายครามโบราณใบหนึ่งสวยงามดี  จึงถามนายสมบูรณ์ว่า  แจกันใบนี้ราคาเท่าไร  มีตำหนิหรือไม่  นายสมบูรณ์ตอบว่า  แจกันใบนี้ไม่มีตำหนิ  ราคา  10,000  บาท  นายสมบัติหลงเชื่อตามคำตอบของนายสมบูรณ์ว่าแจกันใบนั้นไม่มีตำหนิ  จึงต่อรองราคา  ในที่สุดได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้นในราคา  8,000  บาท

เมื่อนายสมบัตินำแจกันกลับไปถึงบ้านของตน  นายสมบัติได้ตรวจดูแจกันอย่างละเอียดโดยใช้เลนส์ขยายส่องดู  จึงพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าถึงแม้นายสมบัติรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว  นายสมบัติก็ซื้อ  แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นมีรอยร้าวเช่นนั้น  คือ  5,000  บาท

ในกรณีดังกล่าวนี้  นายสมบัติจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันหรือเรียกร้องอะไรจากนายสมบูรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  161  ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ  คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่  แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

เป็นกรณีที่นายสมบูรณ์ผู้ขายแจกันทำกลฉ้อฉลลวงนายสมบัติผู้ซื้อแจกัน  อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าถึงแม้นายสมบัติรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว  นายสมบัติก็ซื้อแจกันใบนั้น  แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นที่มีรอยร้าวเช่นนั้น  คือ  5,000  บาท  ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายสมบัติได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล  คือ  8,000  บาท  กรณี จึงเป็นเรื่องที่นายสมบัติแสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลซึ่งเป็น แต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายสมบัติจะยอมรับโดย ปกติ  ดังนั้นนายสมบัติจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่  แต่นายสมบัติชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากกลฉ้อฉลนั้นได้  ซึ่งได้แก่การที่นายสมบัติหลงซื้อแจกันใบนั้นแพงไป  3,000  บาท

 

ข้อ  3  นาย  ข.  กู้เงินจากธนาคาร  ก.  จำนวน  2,000,000  บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  7  บาทต่อปี  กำหนดชำระคืนภายใน  3  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อถึงกำหนดชำระเงินคืน  นาย  ข.  ไม่นำเงินไปชำระแก่ธนาคาร  ก.  ต่อมาอีก  2  เดือน  หลังจากวันที่ถึงกำหนดชำระเงินคืน  นาย  ค.  ผู้จัดการธนาคาร  ก.  มีจดหมายทวงถามให้นาย  ข.  ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน  2,420,000  บาท  นาย  ข.  จึงไปพบนาย  ค.  และพูดยอมรับว่าตนเป็นลูกหนี้ธนาคาร  ก.  เป็นเงิน  2,420,000  จริง  แต่ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก  4  เดือน  เช่นนี้  การกระทำของนาย  ข.  เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

วินิจฉัย

เมื่อนาย  ค  ผู้จัดการธนาคาร  ก  มีจดหมายทวงถามให้นาย  ข  ชำระหนี้  นาย  ข  ได้ไปพบนาย  ค  และพูดยอมรับว่าตนเป็นลุกหนี้ธนาคาร  ก  เป็นเงิน  2,420,000  บาท  จริง  แต่ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก  4  เดือน  การกระทำของนาย  ข  ลูกหนี้เช่นนี้มิใช่การทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  ดังนั้น  การกระทำของนาย  ข  จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

 

ข้อ  4  ก.  คำเสนอ  คืออะไร  การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.  นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนแก่นางสมศรี  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  ราคา  3  ล้านบาท  โดยมิได้กำหนดไปด้วยว่าถ้านางสมศรีต้องการซื้อจะต้องตอบมาภายในวันเวลาใด  เช่นนี้  นายสุเทพจะถอนคำเสนอขายบ้านดังกล่าวได้หรือไม่  เมื่อใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก       คำเสนอ  คือ  นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่า  ตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใดและขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่ตนเสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะ  2  ประการคือ

(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2) มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนองสัญญาเกิดขึ้นทันที

มาตรา  355  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น  ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

วินิจฉัย

นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนแก่นางสมศรีซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  โยมิได้บ่งระยะเวลาสำหรับทำคำสนอง  ในกรณีเช่นนี้นายสุเทพจะถอนคำเสนอภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองหาได้ไม่

เวลาอันควรคาดหมายจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง  พิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายสุเทพกับนางสมศรี  กล่าวคือ  ตามปกติการส่งจดหมายจากกรุงเทพมหานครไปถึงผู้รับซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาประมาณ  3  วัน  ให้เวลานางสมศรีคิดตรึกตรองตัดสินใจ  1  วัน  และเมื่อนางสมศรีส่งจดหมายตอบมาถึงนายสุเทพใช้เวลาอีกประมาณ  3  วัน  รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองในกรณีนี้คือประมาณ  7  วัน  นับแต่วันที่นายสุเทพส่งจดหมายเสนอขายบ้านแก่นางสมศรี

ดังนั้น  นายสุเทพจะถอนคำเสนอขายบ้านภายในเวลาประมาณ  7  วัน  นับแต่วันที่นายสุเทพส่งจดหมายเสนอขายบ้านดังกล่าวแก่นางสมศรีมิได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมบัติเป็นผู้เยาว์ทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจากร้านของสุเทพราคา  40,000  บาทโดยไม่ได้บอกให้สมชายซึ่งเป็นบิดาของตนทราบ  หลังจากซื้อรถจักรยานยนต์มาได้  10  วัน  สมชายทราบเรื่องจึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวโดย

ก.      สมชายไปที่ร้านของสุเทพและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ต่อสุเทพ  กรณีหนึ่ง


ข.      
สมชายทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวแล้วมอบให้นิตยาถือไปส่งให้สุเทพที่ร้านของสุเทพ  แต่ปรากฏว่าสุเทพไม่อยู่  นิตยาจึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นั้นให้ไว้แก่ กิมแชเจ้าของร้านขายของชำซึ่งอยู่ติดกับร้านของสุเทพรับไว้แทนอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  การแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพมีผลในกฎหมายประการใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก 

มาตรา  168  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า  ให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น

วินิจฉัย

สมชายไปที่ร้านของสุเทพและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ต่อสุเทพ  เป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า  และถือได้ว่าสุเทพได้ทราบการแสดงเจตนาบอกล้างของสมชายแล้ว  ดังนั้นการแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์แล้ว

มาตรา  169  วรรคหนึ่ง  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

สมชายทำหนังสือบอกล้างสัญญาซี้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างสมบัติกับสุเทพ  แล้วมอบให้นิตยาถือไปส่งให้สุเทพที่ร้านของสุเทพ  เป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  กรณีปรากฏว่าสุเทพไม่อยู่  นิตยาจึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่กิมแชเจ้าของร้านขายของชำซึ่งอยู่ติดกับร้านของสุเทพรับไว้แทน  ยังถือไม่ได้ว่าการแสดงเจตนาของสมชายได้ถูกส่งไปอยู่ในเงื้อมมือของ สุเทพซึ่งตามพฤติการณ์ปกติสุเทพย่อมรู้หรือควรจะรู้ว่ามีการแสดงเจตนาส่งมา ที่ตน  กรณีเช่นนี้ถือว่าการแสดงเจตนาของสมชายยังไม่ไปถึงสุเทพ  ดังนั้นการแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพจึงยังไม่มีผลสมบูรณ์

 

ข้อ  2  ก.  เป็นพนักงานการเงินของบริษัท  ข.  ถูกผู้จัดการบริษัทฯ เรียกเข้าพบ  เพื่อว่ากล่าวกรณีตรวจพบการทุจริตเกี่ยวกับการเงินของ  ก.   พร้อมแจ้งให้  ก.  ลาออกจากบริษัทฯ  มิเช่นนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีกับ  ก.  ด้วยความกลัว  ก.  ได้ลาออกจากบริษัทฯ  หลังจากนั้น  ก.  ได้กลับมาเรียกร้องเงินชดเชยจำนวน  6  เดือนจากบริษัทฯ  บริษัทฯปฏิเสธโยอ้างว่า  ก.  ลาออกเอง  ก.  ต่อสู้ว่าถูกขู่ให้ออกมิได้สมัครใจลาออกแต่อย่างใด  ก.  จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าว

ดังนี้ข้อต่อสู้ของ  ก.  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคหนึ่ง  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

เมื่อผู้จัดการบริษัท  ตรวจพบการทุจริตเกี่ยวกับการเงินของ  ก  พร้อมแจ้งให้  ก  ลาออกจากบริษัท  มิฉะนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีกับ  ก  กรณีเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมของผู้จัดการบริษัท  แม้ต่อมา  ก  จะลาออกด้วยความกลัว  ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของ  ก  ว่าถูกขู่ให้ลาออกจึงมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด  เพราะการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมของผู้จัดการบริษัท  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

 

ข้อ  3  นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านของนายโท  1  เครื่อง  ราคา  80,000  บาท  เมื่อวันที่  15  กุมภาพันธ์  2546  มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่  15  มีนาคม  2546  ในวันทำสัญญาขายเชื่อ  นายเอกได้เขียนหนังสือให้นายโทไว้  1  ฉบับ  มีใจความว่า  ข้าพเจ้านายเอกขอสละประโยชน์แห่งอายุความ  หนี้รายนี้ถ้าถึงกำหนดแล้วนายเอกไม่นำเงินมาชำระ  นายโทจะทวงถามหรือนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลในเวลาใดก็ได้  แม้จะเกินกำหนดอายุความแล้วก็ตาม  หลังจากหนี้ครบกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายโทเลย  นายโทได้ทวงถามตลอดมาแต่ก็ไม่ได้รับชำระหนี้  จนกระทั่งวันที่  10  กันยายน  2548  นายโทจึงได้นำคดีมาฟ้องร้องต่อศาล  นายเอกต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  นายโทอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความเพราะนายเอกได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้ว  ข้ออ้างของนายโทฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า…  เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…

ธงคำตอบ

มาตรา  193/24  เมื่ออายุความครบกำหนดแล้วลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั่นเสียก็ได้

วินิจฉัย

นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านของนายโทไป  1  เครื่อง  ราคา  80,000  บาท  เมื่อวันที่  15  กุมภาพันธ์  2546  มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่  15  มีนาคม  2546  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระ  หนี้รายนี้มีกำหนดอายุความ  2  ปี  ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่  15  มีนาคม  2548  การที่นายโทนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่  10  กันยายน  2548  ซึ่งครบกำหนดอายุความ  2  ปีไปแล้ว  คดีจึงขาดอายุความ  แม้นายเอกจะเขียนหนังสือขอสละประโยชน์แห่งอายุความให้ไว้แก่นายโทก็ตาม  ก็ไม่มีผลตามกฎหมาย  เพราะการสละประโยชน์แห่งอายุความจะต้องสละเมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว  แต่กรณีนี้นายเอกได้สละประโยชน์ในวันทำสัญญาซื้อขายเชื่อ  การสละประโยชน์จึงไม่มีผลเพราะขัดต่อมาตรา  193/24

ดังนั้น  ข้ออ้างของนายโทจึงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4  ก.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้อย่างไร  ให้อธิบายพอสังเขป

ข  นายพิชิตตกลงขายรถยนต์ของตนคันหนึ่งแก่นายพิชัยราคาสองแสนบาท  กำหนดชำระเงินราคารถยนต์กันในวันที่  20  เมษายนต์  2546  แต่เมื่อวันที่  10  เมษายนต์  2546  เกิดไฟไหม้อาคารในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชิต  แล้วลุกลามมาไหม้บ้านของนายพิชิตรวมทั้งรถยนต์ที่นายพิชิตเตรียมส่งมอบให้แก่นายพิชัยด้วยเสียหายทั้งหมด  นายพิชิตจึงไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายพิชัยได้  เช่นนี้  นายพิชัยต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่นายพิชิตหรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ได้  แต่ข้อความนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

อธิบาย  จากหลักกฎหมายดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ป.พ.พ.  กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้ดังนี้

หลักทั่วไป  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกันในเวลาเดียวกัน  ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้  คู่สัญญาฝ่ายแรกมีสิทธิที่จะยังไม่ชำระหนี้ก็ได้

ข้อยกเว้น  หลักทั่วไปดังกล่าวมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

ข 

มาตรา  370  วรรคหนึ่ง  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่ง  อันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย

การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายพิชิตกับนายพิชัยเป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชิตเตรียมส่งมอบให้แก่นายพิชัยถูกไฟไหม้เสียหายหมด  โดยไฟนั้นลุกลามมาจากอาคารในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชิต  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วย  เหตุอันจะโทษนายพิชิต  (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องส่งมอบรถยนต์)  มิได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่นายพิชัย  (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบรถยนต์)

ดังนั้น  ถึงแม้นายพิชิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายพิชัยได้  นายพิชัยก็ยังต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่นายพิชิตเต็มจำนวน  คือ  สองแสนบาท

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ก.  การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      
นายแดงซึ่งเป็นผู้เยาว์ซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจากนายเขียวราคา  30,000  บาท  โดยได้รับความยินยอมจากนายดำซึ่งเป็นบิดาของนายแดงแล้ว  ในวันทำสัญญาซื้อขาย  นายเขียวได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้แก่นายแดง  และนายแดงได้วางมัดจำให้ไว้แก่นายเขียว  5,000  บาท  กำหนดชำระราคาส่วนที่ยังค้างอยู่ในวันที่  15  มีนาคม  2549  
เมื่อถึงกำหนด  นายแดงไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายเขียว  นายเขียวได้บอกกล่าวเตือนแล้ว  แต่นายแดงก็ยังไม่นำเงินไปชำระ  นายเขียวจึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ไปยังนายแดงโดยนายดำบิดาของนายแดงไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวนี้แต่อย่างใด  เช่นนี้  การบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ที่นายเขียวกระทำต่อนายแดงมีผลในกฎหมายอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.

มาตรา  170  การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์  หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้  เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม  ผู้อนุบาล  หรือผู้พิทักษ์  แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย  หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ  ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโยลำพัง

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายดังนี้

หลักทั่วไป  ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

เว้นแต่

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรม  ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์  แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว  คำว่า  ได้รู้ด้วย  หมายถึง  ได้รู้เนื้อความแห่งการแสดงเจตนานั้นด้วย

(2) การแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพังข   วินิจฉัย

นายเขียวแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ไปยังนายแดง  ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยนายดำซึ่งเป็นบิดาของนายแดงไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวนี้  จึงเป็นกรณีแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์โดยผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์มิได้รู้ด้วยและมิได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้วแต่อย่างใด  กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  ดังนั้น  นายเขียวจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ขึ้นต่อสู้นายแดงไม่ได้

 

ข้อ  2  จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน  ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลายๆบริษัทตกอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงบริษัทที่นาย  ก.  มีหุ้นอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง  ด้วยความสำคัญผิดคิดว่า  บริษัทกำลังประสบปัญหาการขาดทุนกิจการไม่ดี  นาย  ก.  จึงบอกขายหุ้นของตนทั้งหมดให้แก่นาย  ข.  ในราคาถูก  นาย  ข.  รู้ความจริงว่าบริษัทกำลังเจริญก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลง  เมื่อนำบริษัทไปสู่ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่สุดแต่ไม่บอกให้นาย  ก.  รู้  และได้ตกลงซื้อหุ้นของนาย  ก.  ไว้    

ต่อมาภายหลังนาย  ก.  รู้ว่าบริษัทไม่ได้ประสบปัญหาดังที่สำคัญผิดแต่อย่างใด  และรู้ว่านาย  ข.  ปกปิดไม่บอกความจริงเกี่ยวกับบริษัทแก่ตน  นาย  ก.  จึงมาบอกล้างสัญญาซื้อขายหุ้นโดยอ้างว่า  นาย  ข.  ใช้กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง

ดังนี้  ข้ออ้างของนาย  ก.  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ในนิติกรรมสองฝ่าย  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้  การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉลหากพิสูจน์ได้ว่า  ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

การที่นาย  ก.  ขายหุ้นให้นาย  ข.  ด้วยความสำคัญผิดคิดว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาการขาดทุนและนาย  ข.  ซื้อไว้  แม้นาย  ข.  จะรู้ความจริงว่าบริษัทกำลังเจริญก้าวหน้ามิได้ประสบปัญหาดังกล่าวแล้วจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงนี้ให้นาย  ก  ได้รู้  ก็มิใช่หน้าที่ของนาย  ข  ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายหรือหน้าที่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีประกอบด้วยศีลธรรมอันดีในพฤติการณ์ที่จะต้องแจ้งความจริงแต่อย่างใด  กรณีจึงมิใช่กลฉ้อฉลโยการนิ่ง

ดังนั้น  ข้ออ้างของนาย  ก  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  15  กันยายน  2546  นายอาทิตย์ได้เข้ารักษาตัวด้วยโรคถุงลมโป่งพองที่โรงพยาบาลรามคำแหง  เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท  นายอาทิตย์ออกจากโรงพยาบาลวันที่  22  กันยายน  2546  โดยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล  ทางโรงพยาบาลจึงให้นายอาทิตย์ค้างชำระเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ก่อน  แต่หลังจากนั้นก็ได้ทวงถามตลอดมา  แต่นายอาทิตย์ก็มิได้นำเงินมาชำระให้  

จนกระทั่งวันที่  18  กันยายน  2548  ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง  4  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นายอาทิตย์ได้ให้สัญญาว่าจะนำสร้อยคอทองคำหนักสองสลึงราคาประมาณห้าพันบาทเศษมามอบให้กับทางโรงพยาบาลในวันที่  20  กันยายน  2548  เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้  แต่พอถึงกำหนดก็ไม่นำมามอบให้อีก  ทางโรงพยาบาลจึงได้มอบให้นายจันทร์ทนายความของโรงพยาบาลนำคดีไปฟ้องศาลในวันที่  13  มีนาคม  2549  นายอาทิตย์ต่อสู้คดีว่าคดีขาดอายุความแล้ว

อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34  บัญญัติว่า  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความสองปี  (11)  เจ้าของ…สถานพยาบาล…เรียกเอาค่ารักษาพยาบาล…

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14   อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้…ให้ประกัน…

วินิจฉัย

นายอาทิตย์ได้เป็นหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามคำแหง  เป็นเงินจำนวน  100,000  บาทนายอาทิตย์จะต้องชำระค่ารักษาพยาบาลในวันที่  22  กันยายน  2546  แต่ปรากฏว่านายอาทิตย์ไม่มีเงินชำระ  ทางโรงพยาบาลจึลให้ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลไว้ก่อน

จนกระทั่งวันที่  18  กันยายน  2548  ซึ่งเหลือเวลาอีก  4  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นายอาทิตย์ได้สัญญาว่าจะนำสร้อยคอทองคำหนักสองสลึงราคาประมาณห้าพันบาทเศษมามอบให้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ในวันที่  20  กันยายน  2548  แต่พอถึงกำหนดก็ไม่นำมามอบให้จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  เพราะลูกหนี้ไม่ได้ให้ประกันแก้เจ้าหนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  193/14(1)  นายจันทร์จะต้องนำคดีมาฟ้องศาลภายในวันที่  22  กันยายน  2548  เมื่อนายจันทร์นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  13  มีนาคม  2549  คดีจึงขาดอายุความแล้ว

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์จึงฟังขึ้น

 

ข้อ  4  นายสมบัติอยู่ที่จังหวัดลพบุรีส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครในราคา  400,000  บาท  โดยระบุไปในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่า  ถ้าท่านต้องการซื้อรถยนต์คันนี้  ขอให้ตอบไปยังข้าพเจ้าภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  

นายสุเทพส่งจดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นตามราคาที่นายสมบัติเสนอ  แต่จดหมายของนายสุเทพไปถึงนายสมบัติเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548

อย่างไรก็ตามเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  เช่นนี้  จดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์ที่นายสุเทพส่งถึงนายสมบัติมีผลในกฎหมายประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

คำสนองของนายสุเทพไปถึงนายสมบัติล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  2548

ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายสมบัติก่อนวันที่  10  พฤศจิกายน  พ3.ศ.2548  อันเป็นเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  ในกรณีเช่นนี้  คำสนองของนายสุเทพจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า  นายสมบัติซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้  กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่าผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว  ดังนั้น

(1) ถ้านายสมบัติปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2) แต่ถ้านายสมบัติละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายสมบัติกับนายสุเทพเกิดขึ้น

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายกิ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านของตน  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาท  ไปยังนายก้านซึ่งอยู่ที่จังหวัดแพร่  เมื่อวันที่  1  พฤษภาคม  2549  หลังจากส่งจดหมายไปแล้วนายกิ่งได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายในวันที่  2  พฤษภาคม  2549  นายก้านได้รับจดหมายเสนอขายบ้านของนายกิ่งในวันที่  3  พฤษภาคม  2549  

พอวันที่  5  พฤษภาคม  2549  นายก้านได้ตอบตกลงซื้อบ้านไปยังนายกิ่ง  วันที่  6  พฤษภาคม  2549  นายก้านได้ทราบข่าวการตายของนายกิ่ง  วันที่  7  พฤษภาคม  2549  ทายาทของนายกิ่งได้รับจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนายก้าน  ดังนี้อยากทราบว่า

(1) การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายกิ่งมีผลในกฎหมายประการใด  เพราะเหตุใด

(2) สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างทายาทของนายกิ่งกับนายก้านเกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตาย

วินิจฉัย

(ก)  นายกิ่งได้แสดงเจตนาโดยส่งจดหมายเสนอขายบ้าน  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาทให้แก่นายก้าน  เมื่อนายกิ่งได้ส่งจดหมายซึ่งเป็นการแสดงเจตนาไปแล้ว  ถึงแม้หลังจากนั้นนายกิ่งได้ถึงแก่ความตาย  การแสดงเจตนาขายบ้านของนายกิ่งก็ยังมีผลสมบูรณ์ไม่เสื่อมเสียไป  ตามมาตรา  169  วรรคสอง

(ข)  นายก้านได้รับจดหมายเสนอขายบ้านของนายกิ่งในวันที่  3  พฤษภาคม  2549  จึงได้ตอบตกลงซื้อบ้านไปยังนายกิ่งในวันที่  5  พฤษภาคม  โดยไม่ทราบข่าวการตายของนายกิ่ง  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างทายาทของนายกิ่งกับนายก้านจึงเกิดขึ้น  เพราะนายก้านมาทราบข่าวการตายของนายกิ่งในวันที่  6  พฤษภาคม  2549  หลังจากได้ตอบจดหมายตกลงซื้อไปแล้ว  กรณีนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  360

ข้อ  2  นายแดงเป็นหนี้เงินกู้นายดำจำนวน  
200,000  บาท  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายแดงก็ไม่นำเงินไปชำระ  นายดำได้ทวงถามให้ชำระหลายครั้ง  นายแดงก็ยังผิดนัดชำระหนี้ตลอดมา  นายดำจึงขู่นายแดงว่าถ้าไม่หาทรัพย์มาเป็นหลักประกันจะฟ้องเรียกเงินกู้ต่อศาล  นายแดงกลัวถูกฟ้องจึงได้นำสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทมาให้นายดำยึดไว้เป็นหลักประกัน  กรณีนี้นายแดงอ้างว่าการที่ตนนำสร้อยคอทองคำมาให้นายดำยึดไว้เป็นเพราะการข่มขู่ของนายดำจึงตกเป็นโมฆียะ  ดังนี้อยากทราบว่า  ข้ออ้างของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่  เพราเหตุใด
ธงคำตอบมาตรา  165  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่วินิจฉัยนายแดงเป็นหนี้เงินกู้นายดำ  จำนวน  200,000  บาท  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระ  นายดำจึงขู่นายแดงว่าถ้าไม่หาทรัพย์มาเป็นหลักประกันจะฟ้องเรียกเงินกู้ต่อศาล  นายแดงกลัวถูกฟ้องจึงได้นำสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทมาให้นายดำยึดไว้เป็นหลักประกัน  เช่นนี้นายแดงจะอ้างว่าการที่ตนนำสร้อยคอทองคำมาให้นายดำยึดไว้เป็นเพราะการข่มขู่ของนายดำจึงตกเป็นโมฆียะหาได้ไม่  เพราะนายดำมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะฟ้องนายแดงต่อศาลได้อยู่แล้ว  เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่สรุป  ข้ออ้างของนายแดงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  นายเอกได้ยืมรถยนต์จากนายโท  1  คัน  เมื่อวันที่  10  เมษายน  2549  โดยจะไปทำธุระที่จังหวัดเชียงใหม่กำหนดระยะเวลา 1  เดือนแล้วจะนำมาคืน  ปรากฏว่านายเอกทำธุระไม่เสร็จเมื่อถึงวันครบกำหนดจึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  7  วัน  โดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป  นายโทตกลงยินยอมให้ขยายได้  ดังนี้อยากทราบว่า

(ก)  กำหนดระยะเวลา  1  เดือน ที่นายเอกจะต้องนำรถยนต์มาคืนให้แก่นายโท  จะครบกำหนดเมื่อใด  จงอธิบาย

(ข)  ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก  7  วัน  จะตรงกับวันใด  จงอธิบายธงคำตอบ

มาตรา  193/3  วรรคสอง  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็น…เดือน…มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…

มาตรา  193/5  วรรคสอง  ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่ง…เดือน…ระยะเวลา  ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่ง…เดือน…สุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น…

มาตรา  193/7  ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะ เวลาที่ขยายออกไปให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่ม ต้น

วินิจฉัย

(ก)  นายเอกได้ยืมรถยนต์จากนายโท  1  คัน  เมื่อวันที่  10  เมษายน  2549  มีกำหนดระยะเวลา  1  เดือน  การเริ่มต้นนับระยะเวลามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน  ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่  11  เมษายน  2549  ซึ่งวันที่  11  เมษายน  2549  มิใช่วันต้นแห่งเดือน  ดังนั้นระยะเวลา  1  เดือน  ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มคือวันที่  10  พฤษภาคม  2549 

ดังนั้น นายเอกจะต้องนำรถยนต์มาคืนให้แก่นายโท  ในวันที่  10  พฤษภาคม  2549

(ข)  เมื่อนายเอกต้องนำรถยนต์มาคืนให้แก่นายโทในวันที่  10  พฤษภาคม  2549  แต่นายเอกได้ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  7  วัน  โดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป  ระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงต้องเริ่มนับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น  คือวันที่  11  พฤษภาคม  2549  ระยะเวลา  7  วันจึงสิ้นสุดลงในวันที่  17  พฤษภาคม  2549

ดังนั้นระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก  7  วัน  จะตรงกับวันที่  17  พฤษภาคม  2549

 


ข้อ  4  ในวันที่  1  พฤษภาคม  2549  นายอาทิตย์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายม้าชื่อแก้ววิเศษจากนายพุธ  1  ตัว  ราคา  3  แสนบาท  โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนว่านายพุธจะส่งมอบม้า แก้ววิเศษให้แก่นายอาทิตย์พร้อมทั้งขอรับชำระเงินทั้งหมดต่อเมื่อนายอาทิตย์ ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล  รางวัลที่  2  ในงวดวันที่  16  พฤษภาคม  2549  ต่อมาวันที่  13  พฤษภาคม  2549  ได้เกิดฝนตกหนักฟ้าจึงผ่าคอกม้าของนายพุธ  เป็นเหตุให้ม้าชื่อแก้ววิเศษโดนฟ้าผ่าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  อยากทราบว่า  นายอาทิตย์จะต้องชำระเงินจำนวน  3  แสนบาท  ให้แก่นายพุธหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  371  วรรคแรก  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนั้น  ท่าน มิให้ใช้บังคับถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อัน เป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหายหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ

วินิจฉัย

ในวันที่  1  พฤษภาคม  2549  นายอาทิตย์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายม้าชื้อแก้ววิเศษจากนายพุธ  1  ตัว  ราคา  3  แสนบาท  โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนว่านายพุธจะส่งมอบม้าให้แก่นายอาทิตย์พร้อมทั้งขอรับเงินทั้งหมด  ต่อเมื่อนายอาทิตย์ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่  2  ปรากฏว่าวันที่  13  พฤษภาคม  2549  ฟ้าผ่าม้าแก้ววิเศษถึงแก่ความตาย  ม้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหรือทำลายไปในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จจึงมิให้นำมาตรา  370  มาใช้บังคับตาม  มาตรา  371  แม้สัญญาซื้อขายม้าแก้ววิเศษจะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง  แต่ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์นั้นได้สูญหรือทำลายไปในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นย่อมเป็นของผู้ขายคือนายพุธ  ความเสียหายจึงตกเป็นพับแก่นายพุธ  นายพุธจะเรียกให้นายอาทิตย์ชำระเงินค่าม้าแก้ววิเศษไม่ได้

สรุป  นายอาทิตย์จึงไม่ต้องชำระเงินค่าม้าให้แก่นายพุธแต่อย่างใด

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ชเยน  ตกลงจ้าง  พิมพ์มณี  มาเป็นนักแสดงละครทีวีโดยเข้าใจว่าพิมพ์มณีเป็นหลานสาวของคุณหญิงพิมพ์แข  ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง  เพราะจะทำให้ละครของตนโด่งดัง  มีผู้ติดตามดูมากและหาผู้สนับสนุนละครได้ง่าย  แต่ความจริงพิมพ์มณีมีชื่อจริงว่า  เหมียว  เป็นบุตรสาวของแม่ค้าขายขนม  

หลังจากตกลงจ้างแล้ว  เมื่อเริ่มการถ่ายทำละคร  ปรากฏว่าพิมพ์มณีก็แสดงได้ดีสมบทบาทของการเป็นนักแสดงทุกอย่าง  หลังจากถ่ายละครไปได้สองครั้ง  ชเยนทราบความจริงว่าพิมพ์มณีนั้นแท้จริงมิใช่หลานสาวของคุณหญิงพิมพ์แข  จึงไม่ประสงค์จะจ้างให้ถ่ายละครต่อไป  หากชเยนมาปรึกษาท่านว่า  จะทำประการใดได้บ้างหรือไม่  ท่านจะแนะนำชเยนอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  157  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน  เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง  ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ  ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

การที่ชเยนตัดสินใจจ้างพิมพ์มณีมาเป็นนักแสดงโยสำคัญผิดว่าเป็นหลานคุณหญิงพิมพ์แข  แต่ความจริงไม่ใช่นั้น  กรณีนี้ถือได้ว่าชเยนได้แสดงเจตนาโยความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลคือพิมพ์มณี  ซึ่งแต่เนื่องจากว่าคุณสมบัติของพิมพ์มณีดังกล่าวหาเป็นผลให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆียะไม่  

เพราะจากข้อเท็จจริงได้ความว่า  ถึงแม้พิมพ์มณีจะมิได้เป็นคนๆเดียวกันตามที่ชเยนเข้าใจ  แต่พิมพ์มณีก็ยังสามารถแสดงละครทีวีได้เป็นอย่างดีสมความต้องการของชเยน  ดังนี้ถือได้ว่าความสำคัญผิดของชเยนหาใช่สาระสำคัญสำหรับสัญญาจ้างนักแสดงรายนี้แต่อย่างใดไม่  สัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้

สรุป  หากชเยนมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะแนะนำว่า  สัญญานี้สมบูรณ์  ชเยนจึงไม่จำต้องทำประการใดเลย  สัญญาหรือนิติกรรมรายนี้หาตกเป็นโมฆียะ  อันจะทำให้ชเยนมีสิทธิบอกล้างได้แต่อย่างใด

 


ข้อ  2  นาย  ก.  คนไร้ความสามารถ  มีนาย  ข.  บิดาเป็นผู้อนุบาล    เมื่อนาย  ก.  อายุ  18  ปี  ได้ทำสัญญาขายสร้อยคอทองคำหนัก  2  บาท  ให้นาย  ค.  ในราคา  
5,000  บาท  โดยที่นาย  ข.  มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่ประการใด  ในขณะที่นาย  ก.  อายุ  21  ปี  หายจากอาการวิกลจริต  นาย  ข.  ได้ร้องขอต่อศาลและศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย  ก.  เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  ต่อมานาย  ก.  อายุ  25  ปี  ได้รู้ว่าในขณะที่ตนเป็นคนไร้ความสามารถนั้น  ได้ทำสัญญาขายสร้อยคอทองคำให้นาย  ค.  ไปในราคาถูก  จึงมีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาซื้อขายนี้  แต่เห็นว่าสัญญาซื้อขายนี้ทิ้งระยะเวลาไว้นานถึง  7  ปีแล้ว  จึงมาปรึกษาท่าน

ให้ท่านแนะนำนาย  ก.  ว่า  นาย ก.เป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมรายนี้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  175  โมฆียะกรรมนั้น  บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  179  การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น  จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

วรรคสอง  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น  ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

วินิจฉัย

ข้าพเจ้าให้คำแนะนำแก่นาย  ก.  ดังนี้  นาย  ก.  เป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรม  เพราะนาย  ก.  พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  เมื่อนาย  ก.  อายุ  21  ปี  (มาตรา  175 (2))

นาย  ก.  ยังมีสิทธิบอกล้างแม้ระยะเวลาของสัญญาซื้อขายจะนานถึง  7  ปีแล้วก็ตาม  เพราะระยะเวลานั้นยังไม่พ้นเวลา  10  ปี  นับแต่ได้ทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะแต่อย่างไร  (มาตรา  181)

แต่นาย  ก.  จะต้องล้างภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้  กล่าวคือ  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลา  1  ปี  นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  (มาตรา  181)  ซึ่งได้แก่เวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว  (มาตรา  179  วรรคหนึ่ง)  สำหรับกรณีนาย  ก.  คนไร้ความสามารถได้แก่เวลาเมื่อ  นาย  ก.  ได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้นตอนอายุ  25  ปี  และภายหลังที่พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  (ตามมาตรา  179  วรรคสอง)  นั่นคือ  นาย  ก.  ต้องบอกล้างภายในกำหนดอายุของนาย  ก.  ไม่เกิน  26  ปี

สรุป  นาย  ก.  เป็นผู้มีสิทธิบอกล้าง  และต้องบอกล้างภายในอายุ  26  ปี

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  5  มีนาคม  2547  นางสาวลัดดาได้ทำสัญญาจ้างนางสมจิตซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเพชรทำแหวนเพชร  1  วง  ราคา  1  แสนบาท  โดยตกลงจะมารับแหวนเพชรในวันที่  25  มีนาคม  2547  พร้อมทั้งชำระเงินค่าแหวนทั้งหมด  เมื่อถึงวันครบกำหนดมารับแหวน  นางสาวลัดดาจ่ายเงินให้นางสมจิตรเพียง  2  หมื่นบาท  ส่วนที่เหลืออีก  8  หมื่นบาท  นางสมจิตยินยอมให้นางสาวลัดดานำมาชำระให้ในวันที่  1  เมษายน  2547  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนางสาวลัดดาไม่นำเงินมาชำระ  นางสมจิตได้ติดตามทวงถามตลอดมาจนกระทั่งวันที่  16  มีนาคม  2549

ซึ่งเหลือเวลาอีก  15  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นางสมจิตได้ส่งจดหมายทวงหนี้ไปถึงนางสาวลัดดาให้นำเงินมาชำระภายในวันที่  22  มีนาคม  2549  มิฉะนั้นจะนำคดีไปฟ้องศาลต่อไป  จดหมายไปถึงบ้านนางสาวลัดดาในวันที่  19  มีนาคม  2549  แต่ปรากฏว่านางสาวลัดดาไม่อยู่บ้าน

นางลินดาซึ่งเป็นมารดาของนางสาวลัดดาเป็นคนรับจดหมายจึงได้เปิดออกอ่าน  เมื่อทราบข้อความแล้วเกรงว่าบุตรของตนจะถูกฟ้องศาล  ในวันที่  20  มีนาคม  2549  นางลินดาจึงได้เขียนจดหมายรับสภาพหนี้ต่อนางสมจิต  มีใจความว่า  นางลินดายินยอมจะชำระหนี้แทนนางสาวลัดดาทั้งหมด  และจะนำเงินไปชำระให้ที่บ้านของนางสมจิตในวันที่  25  มีนาคม  2549

ครั้นถึงกำหนดนางลินดาหาเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้จึงไม่ได้นำเงินไปชำระ  นางสมจิตจึงฟ้องนางสาวลัดดาต่อศาลในวันที่  13  กันยายน  2549  นางสาวลัดดาต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  นางสมจิตอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2549  ดังนี้  อยากทราบว่าข้ออ้างของนางสมจิตฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้

วินิจฉัย

นางสาวลัดดาได้ค้างจ่ายเงินค่าจ้างทำแหวนเพชรแก่นางสมจิตรเป็นเงินจำนวน  8  หมื่นบาท  โดยกำหนดจะนำมาชำระให้ในวันที่  1  เมษายน  2547  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นางสาวลัดดาไม่นำเงินมาชำระ  ต่อมาเมื่อวันที่  20  มีนาคม  2549  นางลินดาซึ่งเป็นมารดาของนางสาวลัดดาได้เขียนหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นางสมจิตร  และพร้อมที่จะนำเงินไปชำระให้ในวันที่  25  มีนาคม  2549  การที่นางลินดาเขียนหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นางสมจิตไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  เนื่องจากลินดามิใช่ลูกหนี้  และนางสาวลัดดาก็มิได้มอบให้เป็นตัวแทน  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  193/14 (1)  การจ้างทำของมีกำหนดอายุความ  2  ปี  ตาม  มาตรา  193/34  (1)  เพราะฉะนั้นนางสมจิตจะต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในวันที่  1  เมษายน  2549  แต่ปรากฏว่านางสมจิตนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  13  กันยายน  2549  คดีจึงขาดอายุความแล้ว

ดังนั้น  ข้ออ้างของนางสมจิตจึงฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายสมบัติซึ่งอยู่ที่จังหวัดลพบุรีส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ในราคา  400,000  บาท  โดยระบุไปในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่า  ถ้าท่านต้องการซื้อรถยนต์คันนี้  ขอให้ตอบไปยังข้าพเจ้าภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  นายสุเทพส่งจดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นตามราคาที่นายสมบัติเสนอ  แต่จดหมายของนายสุเทพไปถึงนายสมบัติเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  อย่างไรก็ตาม  เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  เช่นนี้  จดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์ที่นายสุเทพส่งถึงนายสมบัติมีผลในกฎหมายประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

คำสนองของนายสุเทพ  ไปถึงนายสมบัติล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับตราบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  ซึ่งตามกปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายสมบัติก่อนวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  อันเป็นเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  ในกรณีเช่นนี้  คำสนองของนายสุเทพจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่านายสมบัติซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น 

(1) ถ้านายสมบัติปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2) แต่ถ้านายสมบัติละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  (ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายสมบัติกับนายสุเทพเกิดขึ้น)

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นางมะโรงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ได้ตกลงให้นางมะเส็งเช่าบ้านของตนที่ซื้อทิ้งไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ได้กำหนดเวลาการเช่ากันไว้  ต่อมาอีกสองปีนางมะโรงต้องการไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  นางมะโรงจึงต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว  นางมะโรงจึงได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ  โดยจ่าหน้าซองถึงนางมะเส็งตามที่อยู่บ้านที่เช่า

เมื่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกการเช่าไปส่งให้นางมะเส็งถึงสามครั้ง  แต่ไม่มีผู้รับเนื่องจากนางมะเส็งปิดประตูหน้าต่างแอบเงียบอยู่ในบ้าน  สุดท้ายเจ้าพนักงานไปรษณีย์จำต้องส่งหนังสือ ฉบับดังกล่าวกลับคืนมายังบ้านของนางมะโรงที่กรุงเทพมหานคร  โดยทำหมายเหตุลงไว้ด้วยว่า  

ส่งแล้วแต่ผู้รับไม่ยอมรับ  หลังจากที่นางมะโรงได้รับคืนหนังสือดังกล่าว  นางมะโรงมีความรู้สึกโกรธนางมะเส็งเป็นอันมาก  จึงโทรศัพท์ไปหานางมะเส็งแต่นางมะเส็งไม่รับโทรศัพท์  ด้วยความโกรธจัดนางมะโรงจึงตัดสินใจเดินทางไปบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเอง  

ขณะที่นางมะโรงอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่  นางมะโรงได้พบนางมะเส็งโดยบังเอิญ  นางมะโรงจึงพูดบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งในขณะนั้นทันที  แต่นางมะเส็งได้เอามืออุดหูไว้  ไม่ยอมให้ตนได้ยิน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การแสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าของนางมะโรงในพฤติการณ์ต่างๆ  ข้างต้นถือได้ว่ามีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านหลังดังกล่าวแล้วหรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  168  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น  ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์

มาตรา  169  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

นาง มะโรงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าโดยได้ส่งหนังสือบอก เลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าว  ถือได้ว่าเป็นการที่นางมะโรงได้แสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าต่อนางมะเส็งซึ่งเป็นบุคคลผู้มิได้อยู่เฉพาะหน้า  เพราะทั้งสองไม่สามารถที่จะติดต่อทำความเข้าใจกันได้ในทันทีทันใด  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาเช่าจะมีผลก็ต่อเมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา  ตามมาตรา  169

การที่นางมะโรงได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ  โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกการเช่าไปส่งให้นางมะเส็ง  แต่นางมะเส็งพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับการแสดงเจตนาทั้งที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นหนังสือบอกเลิกการเช่าแต่ก็ยังไม่ยอมรับไว้  ดังนี้ถือว่าการบอกเลิกการเช่า  มีผลนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านที่เช่าแล้ว  เนื่องจากการแสดงเจตนานั้นไปถึง  ผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว  ตามมาตรา  169  ส่วนพฤติการณ์ของนางมะโรงต่อๆมา

ไม่ว่าจะเป็นการที่โทรศัพท์ไปหานางมะเส็งแต่นางมะเส็งไม่รับโทรศัพท์  หรือที่นางมะโรงได้พูดบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งในขณะที่พบนางมะเส็งที่สนามบินแต่นางมะเส็งได้เอามืออุดหูไว้ไม่ยอมให้ตนได้ยิน  หาจำเป็นต้องพิจารณาไม่  เนื่องจากว่าการแสดงเจตนาได้มีผลนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านเช่าแล้ว  จึงไม่ต้องพิจารณามาตรา  168  อีก

สรุป  การแสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าของนางมะโรงถือว่ามีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านหลังดังกล่าวแล้ว  นับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านที่เช่าแล้ว  ตามมาตรา  169

 


ข้อ  2  นาย  ก.  ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งของนาย  ข.  โดยที่นาย  ข. ไม่รู้ว่าที่ดินของตนจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงของ  รฟม.  อยู่  ทั้งนี้  นาย  ข.  ได้นำโฉนดที่ดินมาให้นาย  ก.  ดู  และพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆทั้งสิ้น  ต่อมาปรากฏว่าที่ดินของนาย  ข.  แปลงดังกล่าวถูกเวนคืน

นาย  ก.  จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย  ข.  โดยอ้างว่าถูกนาย  ข.  ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงตน  ข้ออ้างของนาย  ก.  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  159  การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง  จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

ในขณะที่นาย  ก.  และนาย  ข.  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันนั้น  นาย  ข.  ไม่รู้ว่าที่ดินจะถูกเวนคืนกรณีดังกล่าว  นาย  ข.  ได้นำโฉนดที่ดินมาให้  นาย  ก.  ดู  และพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆเท่านั้น  นาย  ข.  มิได้หลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนแต่อย่างใด

สรุป  ดังนั้น  ข้ออ้างของนาย  ก.  ฟังไม่ขึ้น  กรณีไม่เป็นกลฉ้อฉลแต่อย่างใด  (เทียบเคียงคำพิพากษา  ฎีกาที่  151-152/2537)

 


ข้อ  3  ในเดือนตุลาคม  2547  นายเด่นได้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารสยามจำกัด  ซื้อสินค้าตามหางสรรพสินค้าและกดเงินสดจากตู้  
ATM  ของธนาคารเป็นเงินจำนวน  50,000  บาท  ซึ่งนายเด่นจะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ธนาคารฯ  ภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  2547  แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายเด่นมิได้นำเงินไปชำระ  ธนาคารจึงได้มีหนังสือทวงถามให้นายเด่นนำเงินที่ค้างไปชำระพร้อมดอกเบี้ย  แต่นายเด่นไม่สามารถชำระหนี้ได้  จนกระทั่งวันที่  3  พฤศจิกายน  2549  ซึ่งเหลือเวลาอีก  7  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  ธนาคารได้นำคดีไปฟ้องศาล  หลังจากศาลรับฟ้องคดีแล้ว   ทนายความของบริษัทมิได้ติดตามเรื่องจนศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ต่อมาธนาคารฯ  ได้ให้ทนายความคนใหม่นำคดีมาฟ้องศาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2550  นายเด่นต่อสู้คดีว่าคดีขาดอายุความแล้ว  ดังนี้  อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายเด่นฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34  บัญญัติว่า  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน  (1)  แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่างๆ  เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี  หรือเพื่อให้ชำระหนี้

มาตรา  193/17  วรรคแรก  ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา  193/14(2)  หากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง  หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

นายเด่นได้เป็นหนี้ค่าบัตรเครดิตธนาคารสยามจำกัด เป็นเงินจำนวน  50,000  บาท  ซึ่งนายเด่นจะต้องนำเงินไปชำระภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  2547  แต่ปรากฏว่านายเด่นไม่สามารถนำเงินไปชำระได้จนกระทั่งธนาคารได้นำคดีไปฟ้องศาลในวันที่  3  พฤศจิกายน  2549  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  193/14(2)  หลังจากฟ้องคดีแล้ว  ทนายความของบริษัทได้ทิ้งฟ้องศาลจึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  193/17  วรรคแรก  การที่ธนาคารฯได้ให้ทนายความคนใหม่นำคดีมาฟ้องศาลอีกครั้งในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2550  คดีจึงขาดอายุความแล้วตั้งแต่วันที่  10  พฤศจิกายน  2549

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเด่นจึงฟังขึ้น

 

ข้อ  4  ก.  การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีหลักเกณฑ์อย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      เมื่อวันที่  20  ตุลาคม  2549  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ตกลงซื้อข้าวเปลือกกองหนึ่งทั้งกองจำนวน  20  เกวียนจากนายสมบูรณ์ราคา  200,000  บาท  โดยข้าวเลือกกองนี้กองอยู่บนลานข้างบ้านของนายสมบูรณ์นั้นเอง  กำหนดชำระเงินค่าข้าวเปลือกและส่งมอบข้าวเปลือกกันในวันที่  30  ตุลาคม  2549  แต่เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  2549  ปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดพาเอาข้าวเปลือกกองนั้นสูญหายไปทั้งหมด  นายสมบูรณ์จึงไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ได้ตามสัญญา  เช่นนี้  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ต้องชำระเงินราคาข้าวเปลือกให้แก่นายสมบูรณ์หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย  มาตรา  369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนดจากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีหลักเกณฑ์ดังนี้

หลักทั่วไป  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้  ซึ่งหมายความว่าคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกันในขณะเดียวกันนั่นเอง

ข้อยกเว้น  หลักทั่วไปดังกล่าวนี้  มิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

ข.    หลักกฎหมาย  มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย

การทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกกองหนึ่งทั้งกองระหว่างบริษัท  ธัญญกิจพอเพียงจำกัด  กับนายสมบูรณ์เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งเมื่อปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดพาเอาข้าวเปลือกซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายไปทั้งหมด  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนายสมบูรณ์  (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องส่งมอบข้าวเปลือก) มิได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบข้าวเปลือก)

ดังนั้น  ถึงแม้นายสมบูรณ์ไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัดได้  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ก็ยังต้องชำระเงินราคาข้าวเปลือกให้แก่นายสมบูรณ์เต็มจำนวนตามสัญญา คือ  200,000  บาท

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แดงซื้อสลากกาชาดจำนวน  5  ใบ  กำหนดออกรางวัลในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ในวันที่  1  ธันวาคม  2549  ดำและขาวซึ่งเป็นน้องของแดงได้อ้อนวอนขอสลากกาชาดกับแดง  แดงจึงจำใจให้  สลากกาชาดดังกล่าวแก่ดำและขาวไปคนละ  1  ใบ  เมื่อถึงกำหนดออกรางวัลในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ปรากฏว่าสลากใบที่แดงให้ขาวไปนั้นถูกรางวัลที่  1  แดงเสียดายจึงไปทวงสลากคืนจากขาวโดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่ขาวจริงๆ  ขาวไม่ยอมคืน  แดงจึงฟ้องคดีเรียกสลากกาชาดใบที่ถูกรางวัลดังกล่าวคืนจากขาว  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  แดงมีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากขาวหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  154  การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ตนได้แสดงออกมาก็ตาม  หาเป็นมูลให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่  เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

วินิจฉัย

เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น  ซึ่งมีหลักคือ  การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ  แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

ข้อยกเว้น  การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ  ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา)  ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา  ในขณะที่แสดงเจตนานั้น 

ดังนั้น  นิติกรรม อันเกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้นนั้นจะตกเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคู่ กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นของผู้แสดงเจตนาในขณะแสดงเจตนา นั้นหรือไม่  ถ้ารู้นิติกรรมนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะ  แต่ถ้าไม่รู้นิติกรรมนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  การกระทำของแดงเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปสัญญาให้สลากกาชาดแก่ขาว  ถึงแม้แดงอ้างว่าในใจจริงแล้วตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่ขาวจริงๆ  ก็ตาม  การแสดงเจตนาของแดงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา  154  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  กฎหมายถือว่าการแสดงออกมาภายนอกสำคัญยิ่งกว่าเจตนาซ่อนอยู่ในใจนั่นเอง  ดังนั้นสัญญาให้สลากกาชาดแก่ขาวเป็นอันสมบูรณ์

สรุป  แดงไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนแก่ขาว

 


ข้อ  2  นางทองแดงเป็นหนี้เงินกู้นางทองเหลือง  2  ล้านบาท  เมื่อครบกำหนดชำระหนี้  นางทองแดงได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่นางทองเหลือง  เมื่อนางทองเหลืองนำเช็คไปขึ้นเงิน  แต่ถูกธนาคารปฏิเสธจ่ายเงินนางทองเหลืองจึงขู่นางทองแดงว่าจะแจ้ง ความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับนางทองแดงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอัน เกิดจากการใช้เช็ค  ถ้านางทองแดงไม่ออกเช็คแก่นางทองเหลืองใหม่  ด้วยความกลัวนางทองแดงจึงได้สั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองใหม่ตามที่นางทองเหลืองต้องการ  ดังนี้  การสั่งจ่ายเช็คของนางทองแดงดังกล่าวมีผลอย่างไรตามกฎหมาย  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  164  วรรคแรก  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะ  แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น   การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น

จากข้อเท็จจริง  ปรากฏว่า  การที่นางทองแดงเป็นหนี้นางทองเหลืองอยู่  2  ล้านบาท  เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้  นางทองแดงได้สั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองไป  แต่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคาร  นางทองเหลืองจึงขู่นางทองแดงให้ออกเช็คใหม่  มิฉะนั้นจะแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับนางทองแดงนั้น  เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิโยชอบด้วยกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าหนี้

เมื่อนางทองแดงสั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองใหม่  แม้จะเกิดจากความกลัวต่อการข่มขู่จากนางทองเหลืองก็ไม่เป็นการข่มขู่อันเป็นเหตุให้การสั่งจ่ายเช็คตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  164  แต่อย่างใด

สรุป  การสั่งจ่ายเช็คของนางทองแดงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เพราะการขู่ของนางทองเหลืองเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม 

 


ข้อ  3  นายอาทิตย์ยืมเงินไปจากนายพุธจำนวน  
2,000,000  บาท  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2540  โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้  ต่อมาวันที่  5  พฤศจิกายน  2549  นายพุธทวงถามให้นายอาทิตย์ชำระหนี้เงินยืมนั้น    วันที่  20  พฤศจิกายน  2549  นายอาทิตย์นำเงินไปชำระให้นายพุธ  1,000,000  บาท  หลังจากนั้นนายอาทิตย์ไม่เคยชำระหนี้ให้นายพุธอีกเลย  จนถึงวันที่  20  มีนาคม  2550  นายพุธจึงยื่นฟ้องให้นายอาทิตย์ชำระเงินยืมที่ค้างอยู่  1,000,000  บาท  นายอาทิตย์ให้การต่อสู้ว่าคดีที่นายพุธฟ้องขาดอายุความแล้ว  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/12  อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดเริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนโดยพลันดุจกัน

วินิจฉัย  

การกู้ยืมเงินนั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ  จึงต้องใช้อายุความ  10  ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/30

และเมื่อมีการกู้ยืมไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระคืนไว้  ผู้ให้กู้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา  203  วรรคแรก  อายุความจึงเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  กล่าวคือ  นับแต่วันกู้ยืมตามมาตรา  193/12

การที่นายอาทิตย์นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้ให้นายพุธเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  2549  ในขณะที่หนี้ยังไม่ขาดอายุความจึงเป็นการรับสภาพหนี้  ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา  193/14(1)

เมื่ออายุความสะดุดหยุดลง  จะต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันนั้นตามมาตรา  193/15  นายพุธยื่นฟ้องเมื่อวันที่  20  มีนาคม  2550  ยังไม่เกิน  10  ปี  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายเอกไปหานายโทเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัขที่ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์  นายเอกได้ซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้วที่นายโทได้เลี้ยงไว้เพื่อขายจำนวน  15  ตัว  โดยนายเอกตกลงให้นายโทคัดเลือกสุนัขจากสุนัขที่นายโทเลี้ยงไว้ในฟาร์มของนายโทเท่านั้น  โดยทั้งคู่นัดจะมาคัดเลือกและรับสุนัขจำนวนดังกล่าวในอีกสามวันข้างหน้า  ในคืนนั้นเกิดฝนตกหนักมากติดต่อกันเป็นเวลานาน  จนทำให้เกิดโคลนถล่มทับสุนัขในฟาร์มตายทั้งหมด  โชคดีที่นายโทรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด  นายโทจึงไม่สามารถส่งมอบสุนัขพันธุ์บางแก้วจำนวนดังกล่าวให้นายเอกได้  ถ้าต่อมานายโทมาเรียกให้นายเอกชำระราคาค่าสุนัขโดยอ้างว่า  
การที่สุนัขตายนั้นมิใช่ความผิดของตน  ตนจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญา  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเอกจะต้องชำระราคาค่าสุนัขดังกล่าวให้แก่นายโทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา  372  วรรคแรก  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน  ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

วินิจฉัย

การที่นายเอกซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้วที่นายโทเพาะเลี้ยงไว้ในฟาร์มเพื่อขายจำนวน  15  ตัว  โดยตกลงให้นายโทคัดเลือกสุนัขให้จากสุนัขในฟาร์มของตน  และจะนัดมาคัดเลือกและรับสุนัขอีกสามวันข้างหน้านั้น  แสองว่า  นายโทลูกหนี้ยังมิได้คัดเลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบยังไม่ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง  (คือทรัพย์ที่ระบุไว้เป็นที่ชัดเจนและแน่นอนแล้ว)  กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา  370  วรรคแรก  ความสูญหรือเสียหาย  จึงไม่ตกเป็นพับแก่นายเอกเจ้าหนี้  ดังนั้น  การที่นายโทไม่สามารถส่งมอบสุนัขให้นายเอกได้ตามสัญญาเพราะในคืนวันนั้นเกิดโคลนถล่มทับสุนัขที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด  นายโทไม่มีสุนัขดังกล่าวส่งมอบให้แก่นายเอกอีกต่อไป  ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ของนายโทตกเป็นพ้นวิสัย  เพราะเหตุอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้  นายโทไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา  372  วรรคแรก 

สรุป  นายเอกจึงไม่ต้องชำระค่าสุนัขดังกล่าวให้แก่นายโทแต่อย่างใด

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  (ก)  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไปแล้ว  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบาย

(ข)  นายแดงอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนที่จังหวัดอุทัยธานีให้แก่นายเขียวซึ่งอยู่ที่จังหวัดลพบุรีในราคาหนึ่งล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  5  วัน  นายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายเขียวไม่รู้ว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  
นายเขียวได้เขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายแดง  นางเหลืองซึ่งอยู่ในบ้านเดียวกันกับนายแดงได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำเสนอขายบ้านของนายแดงมีผลในกฎหมายหรือไม่ประการใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า  ในกรณีที่ผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไปในมาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไปตามตัวบุคคลผู้แสดงเจตนา  เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว  การแสดงเจตนานั้นก็มีผลในทางกฎหมายได้

(ข)  มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัย  กรณีตามอุทาหรณ์  ไม่ปรากฏว่านายแดงผู้เสนอขายบ้านได้แสดงเจตนาไว้ขัดกับบทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสอง  และเมื่อนายเขียวเขียนจดหมายสนองตอบตกลงซื้อบ้าน  นายเขียวก็ไม่รู้ว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  กรณีไม่ต้องตามาตรา  360  จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปใน มาตรา  169  วรรคสอง  ซึ่งได้อ้างไว้แล้วในข้อ  (ก)  ดังนั้นการแสดงเจตนาเป็นคำเสนอขายบ้านของนายแดงจึงไม่เสื่อมเสียไปยังคงมีผลสมบูรณ์  เมื่อนายเขียวตอบตกลงซื้อ  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงและนายเขียวจึงเกิดขึ้น

สรุป  คำเสนอขายบ้านของนายแดงมีผลสมบูรณ์  ไม่เสื่อมเสียไป

 


ข้อ  2  นาย  ก.  เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง  แล้วไม่เคยผ่อนชำระหนี้เลย  ธนาคารจึงว่าจ้างบริษัทติดตามหนี้  ดำเนินการทวงถามให้นาย  ก.  ชำระหนี้  โดยบริษัทฯใช้วิธีโทรศัพท์ถึงที่ทำงานขู่ว่าจะฟ้องหัวหน้างาน  ถ้านาย  ก.  ไม่ชำระหนี้   นาย  ก.  ก็ยังคงไม่ชำระ  บริษัทฯจึงทำหนังสือถึง นาย ก.  ให้ชำระหนี้  มิฉะนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล

ดังนี้ถามว่า  การติดตามทวงถามของบริษัทฯ ที่มีต่อนาย   ก.  กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  164  วรรคแรก  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย  จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของผู้คน  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ  แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น

ดังนั้นการทวงถามหนี้ของบริษัท  จึงกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพราะเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ติดตามทวงถามลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้  แม้การข่มขู่ไม่ว่าโดยทางโทรศัพท์หรือการทำเป็นหนังสือนั้น  จะทำให้นาย ก.  เกิดความกลัวก็ตาม  กรณีจึงไม่เป็นการข่มขู่ที่มีผลเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

สรุป  การติดตามทวงถามของบริษัทฯ  ที่มีต่อนาย  ก.  กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ  กรณีตามอุทาหรณ์นั้น  ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ  กำลังเตรียมจัดทำแนวนโยบายในการติดตามทวงถามหนี้  เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนถูกใช้ความรุนแรง  ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือ  ไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแต่อย่างใด

 


ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2538  นายวิทยาได้ทำสัญญากู้เงินจากนายวุฒิชัย  จำนวนสามแสนบาทตกลงดอกเบี้ยร้อยละ  12  ต่อปี  กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่  10  กุมภาพันธ์  2539  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายวิทยาไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายวุฒิชัย  จนกระทั่งวันที่  10  มกราคม  2549  ซึ่งเหลือเวลาอีก  1  เดือนจะครบกำหนดอายุความ  นายวิทยาได้เขียนหนังสือไปถึงนายวุฒิชัยว่า  
เพราะฉะนั้นเพื่อความสะดวกและถูกต้องในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนคุณ  

ซึ่งบัดนี้ผมได้เตรียมไว้แล้วตามสมควร  ผมขอเชิญคุณไปพบเพื่อคิดบัญชีเงินกู้ดังกล่าวให้ทราบจำนวนแน่นอน  และต่อมานายวิทยาได้เขียนจดหมายไปยังนายวุฒิชัยอีกฉบับหนึ่งว่า  ขอให้คุณคิดดอกเบี้ยเสียใหม่เป็นร้อยละ  12  ต่อปีตามข้อตกลงที่แล้วมา  ทั้งนี้เพื่อผมจะได้จัดการชำระหนี้ของคุณให้เสร็จสิ้นไป โดยเร็วที่สุด  หลังจากนั้นทั้งสองก็ยังมีข้อโต้เถียงกันในเรื่องจำนวนเงินดอกเบี้ยที่คิดไม่ตรงกัน

นายวิทยาจึงยังไม่นำเงินไปชำระ  นายวุฒิชัยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่  4  กันยายน  2550  นายวิทยาต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  นายวุฒิชัยอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  10  มกราคม  2549  ดังนี้อยากทราบว่าข้ออ้างของนายวุฒิชัย  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/30  บัญญัติว่า  อายุความนั้นถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

ธงคำตอบ

มาตรา 193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้

วินิจฉัย   กรณีตามอุทาหรณ์  นายวิทยาได้ทำสัญญากู้เงินจากนายวุฒิชัยจำนวนสามแสนบาทกำหนดชำระคืน  ในวันที่  10  กุมภาพันธ์  2539  แต่นายวิทยาไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายวุฒิชัยเลย  อายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืน  กฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  จึงถือว่ามีกำหนดอายุความ  10  ปี  นับแต่วันถึงกำหนดชำระตามมาตรา  193/30  ซึ่งอายุความจะครบกำหนดสิบปีในวันที่  10  กุมภาพันธ์  2549

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่  10  มกราคม  2549  ซึ่งเหลือเวลาอีก  1  เดือนจะครบกำหนดอายุความ  10  ปี  นายวิทยาได้เขียนหนังสือยอมรับต่อนายวุฒิชัยว่าตนเป็นหนี้อยู่จริง  และจะได้จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วแม้จะมีข้อโต้เถียงในเรื่องจำนวนเงินไม่ตรงกัน  แต่การเขียนหนังสือดังกล่าวเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้า หนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 10  มกราคม  2549  ตามาตรา  193/14 (1)  จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น  และจะสิ้นสุดลงในวันที่  10  มกราคม  2559  เมื่อนายวุฒิชัยได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 4  กันยายน  2550  ซึ่งยังไม่เกินวันที่  10   มกราคม  2559  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

สรุป  ข้ออ้างของนายวุฒิชัยที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความจึงฟังขึ้น

 


ข้อ  4  (ก)  คำเสนอคืออะไร  การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)  นายแดงซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนแก่นายดำซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครพนม  ราคา  350,000  บาท  โดยมิได้กำหนดว่าถ้านายดำต้องการซื้อจะต้องตอบภายในเวลาใด  เช่นนี้  นายแดงจะถอนคำเสนอขายรถยนต์ดังกล่าวได้หรือไม่  เมื่อใดธงคำตอบ

(ก)  คำเสนอ  คือ  นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด  และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้นการแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2) มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที

(ข)  มาตรา  355  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น  ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่วินิจฉัย  เวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง  พิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายแดงกับนายดำ  กล่าวคือ  นายแดงส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์จากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังนายดำซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครพนม  ตามปกติใช้เวลาประมาณ  3  วัน  ให้เวลานายดำคิดตรึกตรองตัดสินใจ  1  วัน  เมื่อนายดำตัดสินใจซื้อรถยนต์คันนั้นจะส่งจดหมายทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นไปยังนายแดงจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ  3  วัน  รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองในกรณีนี้  คือประมาณ  7  วันนับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ

ดังนั้น  ในกรณีนี้นายแดงจะถอนคำเสนอขานรถยนต์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อพ้นเวลา  7  วัน  นับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ

สรุป  นายแดงจะถอนคำเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าวได้ต่อมเอพ้นเวลา  7  วันนับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  (ก)  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  มีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)  นายอาทิตย์กับนางจันทราตกลงทำสัญญากันหลอกๆว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นางจันทราในราคา  400,000  บาท  นายอาทิตย์ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางจันทรา  แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง  ต่อมาอีก  7  วัน  นางจันทราเอารถยนต์คันนั้นไปขายให้แก่นายอังคารในราคา  380,000  บาท  หลังจากนั้นอีก  1  เดือน  นายอาทิตย์ทราบเรื่องจึงบอกกล่าวเรียกร้องให้นายอังคารเอารถยนต์มาส่งคืนให้แก่ตนโดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของตน  


ตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  นายอังคารไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์และบอกแก่นายอาทิตย์ว่า  ตนจะคืนรถยนต์ให้ต่อเมื่อได้รับเงินคืน  
380,000  บาท  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น  นายอังคารรู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคแรก  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

(ก)  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คือ  การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมรู้หรือตกลงกันกระทำหรือแสดงกิริยาอาการ อย่างใดยอย่างหนึ่งออกให้ดูเหมือนเป็นการแสดงเจตนาแต่แท้จริงแล้วเป็นการลวง  เจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่สมรู้กันนั้นมิได้ต้องการให้เกิดผลในทางกฎหมายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด

การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  มีผลในกฎหมายตามาตรา  155วรรคแรก  คือ  ตกเป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ซึ่งเป็นผู้ (1)  กระทำการโดยสุจริต  และ (2)  ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

กระทำโดยสุจริต  หมายความว่า  กระทำโดยไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการที่ไม่มีสิทธิหรือความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาในอดีต (ฎ. 540/2490)

ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น  หมายความว่า  บุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นได้รับความเสียหาย  เนื่องจากได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปเพราะหลงเชื่อการแสดงเจตนาลวงนั้น

ดังนั้นหากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตแต่เกิดความเสียหายกับตน  หรือบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต  แต่ไม่ได้รับความเสียหายแล้ว  กฎหมายก็จะไม่คุ้มครองบุคคลภายนอกบุคคลใดๆสามารถยกเอาความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  นายอาทิตย์กับนางสาวจันทราสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์ให้แก่นางจันทรา  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราจึงตกเป็นโมฆะ  ตามาตรา  155  วรรคแรกตอนต้น  ต่อมานางจันทราขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายอังคาร  โดยในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น   นายอังคารก็รู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  กรณีจึงถือได้ว่า  นายอังคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยไม่สุจริต  (ฎ  . 1020/2504)  นายอังคารจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย  ตามาตรา  155  วรรคแรก ตอนท้าย  ดังนั้น  เมื่อนายอาทิตย์เรียกร้องให้นายอังคารส่งรถยนต์แก่ตนนายอังคารจึงต้องส่งคืนรถยนต์ให้นายอาทิตย์

สรุป  นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์

 


ข้อ  2  จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  176  วรรคสอง  บัญญัติว่า  
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ  เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆียะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้

(ก)  บุคคลใดได้แก่บุคคลใดบ้าง

(ข)  มาตรา  176  วรรคสอง  ดังกล่าวนั้นใช้เป็นหลักในการพิจารณากรณีใด  อธิบายให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

(ก)  คำว่า  บุคคลใด ในมาตรา  176  วรรคสองนี้  นอกจากหมายความถึงคู่กรณีแห่งนิติกรรมฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทนแล้ว  ยังหมายความรวมถึงบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่นิติกรรมตกเป็นโมฆียะด้วย

(ข)  ใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่า  บุคคลใดกระทำการโดยไม่สุจริตเมื่อใด  เพื่อผลการบอกล้างโมฆียกรรมนั้น  ในกรณีให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม  หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะต้องคืนเกิดดอกผลมา  ดอกผลนั้นจะตกเป็นของฝ่ายใด  ตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้กรรมสิทธิ์ในดอกผล

มาตรา  415  บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต  ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่…

ดังนั้นถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียกรรมโดยไม่รู้และไม่ควรจะได้รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  สุจริต  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

แต่ถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยรู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  ไม่สุจริต  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

 

ข้อ  3  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/12  หมายความว่าอย่างไร  แยกออกเป็นกี่กรณี  อะไรบ้าง  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  193/3  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน  ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน  สัปดาห์  เดือนหรือปี  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน  เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

มาตรา  193/12  อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดเริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/12  หมายความว่า  เจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใด  อายุความก็เริ่มนับแต่เมื่อนั้น  ซึ่งแยกออกเป็น  2  กรณี  ดังนี้

1       สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งกำหนดเวลาชำระหนี้  ในกรณีที่นิติกรรมมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลุกนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลา  ตามมาตรา  193/3  วรรคสอง

ตัวอย่าง  ก.  กู้เงิน  ข.  ไป  100,000  บาท  เมื่อวันที่  12  มกราคม  2548  มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ใน  1  ปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญา  ระยะเวลา  1  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  12  มกราคม  2549  อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ  ข.  ในกรณีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ครบกำหนด  1  ปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญาโดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

2       สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  ในกรณีที่นิติกรรมไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน  ตามมาตรา  203  ในกรณีเช่นนี้อายุความเริ่มต้นนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลาตามมาตรา  193/3  วรรคสอง

ตัวอย่าง  ก.  กู้เงิน  ข.  ไป  100,000  บาท  เมื่อวันที่  12  มกราคม  2548  โดยมิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้คืน  และไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่จะพึงอนุมานกำหนดเวลาใช้เงินคืนได้  ในกรณีเช่นนี้  ข.  เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้  ก.  ลูกหนี้ใช้เงินคืนได้ตั้งแต่วันทำนิติกรรม  ตามมาตรา  203  อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ  ข.  ในกรณีนี้จึงเริ่มนับแต่วันทำนิติกรรม  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  2  กุมภาพันธ์  2551  ก.  อยู่กรุงเทพฯ  ได้ไปเที่ยวบ้าน  ข.  ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วเห็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนองค์หนึ่งของ  ข.  ก็ชอบใจอยากได้  เมื่อกลับกรุงเทพฯ  ก.  ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นจาก  ข.  ราคา  1  ล้านบาท  โดยได้แจ้งไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า  ถ้า  ข.  ตกลงจะขายต้องตอบตกลงมาภายในวันที่  15  กุมภาพันธ์  2551  เมื่อ  ข.  ได้รับจดหมายของ  ก.  ข.  ได้เขียนจดหมายตอบและส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง  ก.  แต่ปรากฏว่าเกิดฝนตกหนัก  น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่  จดหมายของ  ข.  จึงมาถึง  ก.  ที่กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่  18  กุมภาพันธ์  2551  ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่  ก.  กำหนด  อย่างไรก็ตามเมื่อดูที่ซองจดหมายของ  ข.  เป็นที่เห็นได้ว่า  ข.  ได้ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  9  กุมภาพันธ์  2551  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรมาถึง  ก.  ภายในเวลาที่  ก.  กำหนด

ถ้า  ก.  ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นและมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำแนะนำแก่  ก.  ว่า  ก.  ต้องดำเนินการอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย  ตามอุทาหรณ์  คำสนองขายพระพุทธรูปของ  ข.  ไปถึง  ก.  ล่าช้ากว่าเวลาที่  ก.  กำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายคำสนองนั้นว่า  ข.  ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่  วันที่  9  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2551  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึง  ก.  ก่อน  วันที่  15 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2551  อันเป็นเวลาที่  ก.  กำหนดไว้  มนกรณีดังกล่าวนี้คำสนองของ  ข.  จะเป็นคำสนองล่วงเวลารึไม่  ขึ้นอยู่กับว่า  ก.  (ผู้เสนอ)  ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามาตรา  358  หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้  กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่ได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว  ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำสำหรับกรณีเช่นนี้แก่  ก.  ว่า  ถ้า  ก.  ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้น  ก.  จำต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  โดยการที่  ก.  ผู้เสนอ ต้องบอกกล่าวแก่  ข.  ผู้สนองโดยพลัน  ว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  คือวันที่  18  กุมภาพันธ์  2551 เว้นแต่  ก.  จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นแก่  ข.  ไว้ก่อนแล้ว  กฎหมายจึงจะถือว่า  จดหมายคำสนองของ  ข.  เป็นคำสนองล่วงเวลา  หามีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง  ก.  กับ  ข.  เกิดขึ้นไม่  แต่ถ้า  ก.  ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของ ข  เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง  ก.  กับ  ข.  เกิดขึ้น

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำ แก่  ก.  ว่า  ก.  ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดย  ก.  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่  ข.  ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  จึงจะถือว่า  จดหมายคำสนองของ  ข.  เป็นคำสนองล่วงเวลา   สัญญาซื้อขายระหว่าง  ก.  กับ  ข.  ไม่เกิดขึ้น

WordPress Ads
error: Content is protected !!