LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เพชรทำสัญญาอนุญาตให้พลอยอาศัยอยู่ในบ้านของตนได้ตลอดชีวิตของพลอย  แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากที่พลอยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้  15  ปี  พลอยเห็นว่าบ้านชำรุดทรุดโทรมมาก  จึงรื้อถอนบ้านเก่าและสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่า  โดยไม่ได้บอกกล่าวเพชรแต่อย่างใด  ต่อมาอีก  5  ปี  เพชรทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้กับมรกต  และมรกตแจ้งให้พลอยย้ายออกไปจากที่ดินและบ้านหลังนั้น  แต่พลอยอ้างว่าตนมีสิทธิอาศัยในบ้านหลังนั้นตลอดชีวิตตามสัญญาที่เพชรทำไว้กับตน  ส่วนบ้านตนเป็นผู้ออกเงินก่อสร้างจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของตน  เพชรไม่มีสิทธินำบ้านไปขายแต่อย่างใด

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าพลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกไปได้หรือไม่  และระหว่างพลอยกับมรกตผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  144  วรรคสอง เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยนิติกรรม  หากไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงความสมบูรณ์ของการได้มาไว้  ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา  1299  วรรคแรก  กล่าวคือ  หากมิได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  ย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ  ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้  

คงบังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณีในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น  กรณีนี้เมื่อพลอยเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านของเพชรตามสัญญาที่เพชรทำกับพลอย  พลอยจึงเป็นผู้ที่ได้มาซึ่งทรัพย์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เนื่องจากนิติกรรมดังกล่าว  ไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  ทำให้ไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตามมาตรา  1299  วรรคแรก  กรณีเช่นนี้  พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยซึ่งเป็นบุคคลสิทธิขึ้นต่อสู้มรกตบุคคลภายนอกไม่ได้  (ฎ. 1752/2523)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ระหว่างพลอยกับมรกตผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่ากัน  เห็นว่า  การที่พลอยเห็นบ้านชำรุดทรุดโทรมมากจึงรื้อถอนบ้านเก่าและสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าโดยไม่ได้บอกกล่าวเพชรแต่อย่างใด  ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏบ้านที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีลักษณะติดที่ดินเป็นการถาวร  เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นการปลูกสร้างเพียงชั่วคราวและจะรื้อถอนไป  ทั้งพลอยก็ไม่มีสิทธิหรือได้รับอำนาจจากเพชรที่จะปลูกบ้านลงในที่ดินของเพชรแต่อย่างใด  กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  146  ดังนั้น  บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน  โดยที่ดินเป็นทรัพย์ประธาน  เพชรเจ้าของที่ดินทรัพย์ประธานจึงเป็นเจ้าของส่วนควบคือบ้านด้วยตามมาตรา  144  วรรคสอง  (ฎ. 1516 1517/2529)

หลังจากที่พลอยสร้างบ้านได้  5  ปี  เพชรได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นพร้อมสิ่งปลูกสร้าง  คือบ้านพิพาทให้กับมรกต  เมื่อได้ความว่า  เพชรเป็นเจ้าของส่วนควบคือบ้านด้วยย่อมมีสิทธิที่จะจดทะเบียนขายบ้านพิพาทได้  ส่งผลทำให้มรกตผู้สืบสิทธิของเพชรเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าพลอย

สรุป  พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกไม่ได้  และระหว่างพลอยกับมรกต  มรกตเป็นผู้มีสิทธิในบ้านดีกว่า

 

ข้อ  2  นายเอกซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมือสองเครื่องหนึ่งจากร้านขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ  เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ย่านบางกะปิมาในราคา  12,000  บาท  ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นของนายโท  ได้ถูกนายตรีขโมยมาขายไว้ที่ร้านดังกล่าวและนายเอกได้ไปซื้อมา  โดยทางร้านขอให้นายเอกมาซื้อขณะที่ร้านปิดทำการแล้ว  และให้มาเข้าทางประตูด้านหลังร้าน  โดยให้เหตุผลว่าจะมีสินค้ามาให้เลือกมากมาย  และจะได้ต่อรองราคากันได้สะดวกกว่าตอนเปิดทำการแล้ว

ต่อมานายโทเจ้าของคอมพิวเตอร์มาพบคอมพิวเตอร์ของตนอยู่กับนายเอกและจำได้ว่าเป็นของตน  จึงเรียกให้นายเอกคืนคอมพิวเตอร์  มิฉะนั้นนายโทจะแจ้งความต่อตำรวจว่านายเอกมีความผิดฐานรับของโจร  นายเอกจึงมาขอคำปรึกษาท่านว่าตนจะต้องคืนคอมพิวเตอร์เครื่องนี้แก่นายโทหรือไม่  หรือจะมีข้อต่อสู้อย่างไรเพื่อไม่ต้องคืนบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การซื้อขายทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา  1332  อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อได้รับการคุ้มครองนั้น  ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริต  จากการขายทอดตลาดของเอกชนหรือในท้องตลาด  และจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเอกจะต้องคืนคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ให้แก่นายโทหรือไม่  หรือจะมีข้อต่อสู้อย่างไร  เพื่อให้ไม่ต้องคืนบ้าง  เห็นว่า นายเอกซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมือสองจากร้านขายคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง  แต่การซื้อขายของนายเอกไม่ได้ซื้อในเวลาเปิดทำการปกติ  แต่ไปซื้อเมื่อร้านปิดทำการแล้วและให้เข้ามาทางประตูหลังร้าน  กรณีเช่นนี้  แม้ได้ความว่าการซื้อขายดังกล่าวจะซื้อจากร้านค้าที่ขายของชนิดนั้น  อันถือว่าเป็นการซื้อทรัพย์ในท้องตลาดก็ตาม  แต่การที่นายเอกมาซื้อในขณะที่ร้านปิดทำการแล้ว  กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อขายที่สุจริต ทำให้นายเอกไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา  1332  ดังนั้นข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายเอกว่านายเอกต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายโทผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง  โดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆจากนายโทได้  เพราะถือเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยไม่สุจริต

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำนายเอกว่านายเอกต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายโทผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง  โดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆจากนายโทได้

 

ข้อ  3  นายจิตเช่าที่ดินของนายแจ่มปลูกบ้านอยู่และได้เดินผ่านที่ดินของใจมาได้หกปีเพื่อเข้าออกในหมู่บ้าน  ตอลดมาโดยไม่เคยขออนุญาตใจเลย  สัญญาเช่าที่ดินแจ่มหมดอายุ  นายจิตจึงได้รื้อบ้านออกไปและไปเช่าที่ดินในตัวเมืองเพื่อปลูกบ้านอยู่  แต่ก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขาย  จึงยังต้องใช้ทางเดินผ่านที่ดินของใจเข้าออกในหมู่บ้านเพื่อเข้าไปค้าขายเหมือนเดิม  จิตใช้ทางผ่านที่ดินของใจมาช่วงหลังนี้ได้ห้าปี  ทางผ่านที่เป็นดินเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อเข้าออกไม่สะดวก

จิตจึงได้จ้างผู้รับเหมาทำถนนและตั้งใจจะเทคอนกรีต  แต่เมื่อใจทราบจึงได้ห้ามไม่ให้จิตเข้ามาในที่ดินของตนและให้ผู้รับเหมารื้อย้ายข้าวของที่จะทำถนนผ่านออกไปและทำที่ดินให้ดีเหมือนเดิม  ระหว่างจิตและใจ  จิตจะรักษาทางทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของใจได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1391  เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง   ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  โดยหลักแล้ว  การใช้ภารยทรัพย์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมนั้น  ไม่จำเป็นที่เจ้าของสามยทรัพย์จะต้องเป็นผู้ใช้เองเท่านั้น  การที่นายจิตผู้เช่าที่ดินของนายแจ่มได้เดินผ่านที่ดินของนายใจโดยเจตนาใช้เป็นทางเข้าออกในหมู่บ้าน  โดยไม่เคยขออนุญาตนายใจเลยเป็นระยะเวลา  6  ปี  ถือว่านายแจ่มเจ้าของที่ดินใช้ทางโดยปรปักษ์โดยมีนายจิตเป็นผู้ใช้ทางแทน  (ตามมาตรา  1368  ประกอบมาตรา  1401)

การที่ต่อมา  สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายจิตและนายแจ่มสิ้นสุดลง  นายจิตผู้เช่าได้รื้อถอนบ้านออกไปและไปเช่าที่ดินในเมืองปลูกบ้านอยู่ โดยไม่ปรากฏว่านายแจ่มได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายใจต่อจากนายจิตแต่อย่างใด  กรณีเช่นนี้ถือว่านายจิตสละเจตนาครอบครองเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิภาระจำยอมในทางผ่านที่ดินของนายใจตามมาตรา  1377  วรรคแรกแล้ว  การครอบครองโดยปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมที่มีก่อนตลอด  6  ปีที่ผ่านมาจึงสิ้นสุดลง  ดังนั้น  อายุความครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมของนายจิตจึงสิ้นสุดลงด้วย

และแม้ต่อมาจะได้ความว่าในขณะที่สัญญาเช่าที่ดินระงับไปแล้ว  นายจิตจะยังใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายใจเข้าออกในหมู่บ้านอยู่ก็ตาม แต่การเข้าออกดังกล่าวเป็นการเข้าไปเพื่อค้าขายอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายจิตโดยเฉพาะ  มิใช่เพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์  การใช้ทางผ่านในช่วงหลังตลอดเวลา  5  ปี  จึงนับอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  เพื่อให้ได้ภาระจำยอมไม่ได้  เพราะไม่เข้าลักษณะและสาระสำคัญของภาระจำยอมตามมาตรา  1387  ดังนั้น  ภาระจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ (ฎ. 11 13/2503)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายจิตจะทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของนายใจได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายจิตจ้างผู้รับเหมาทำถนนและตั้งใจจะเทคอนกรีต  แม้จะเป็นการกระทำเพื่อรักษาและใช้ทางผ่านที่ดินของนายใจ  และไม่เป็นการกระทำที่เป็นการเพิ่มภารยทรัพย์ก็ตาม  (ฎ.1730/2503)  นายจิตก็ไม่สามารถทำได้  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  1391  วรรคแรก  เพราะกรณีนี้ภาระจำยอมไม่เกิดขึ้น  นายใจจึงมีอำนาจห้ามไม่ให้นายจิตเข้ามาในที่ดินของตน  และให้ผู้รับเหมารื้อย้ายข้าวของที่จะทำถนนออกไปและทำที่ดินให้ดีเหมือนเดิมได้

สรุป  นายจิตทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของนายใจไม่ได้

 

ข้อ  4  ทองครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายนาค  ทำสวนลิ้นจี่มาได้แปดปี  ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลาเก้าเดือน เงินซึ่งเป็นเพื่อบ้านทราบจึงได้ขอเช่าสวนลื้นจี่เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสวนเกษตรและเก็บลิ้นจี่ขายนักท่องเที่ยวด้วย  เมื่อถูกจำคุกไปได้แปดเดือนขณะอยู่ในเรือนจำ  ทองป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล  เมื่อพ้นโทษทองจึงได้มารักษาพยาบาลต่ออยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพ  อีกห้าเดือนเป็นเวลารวมหนึ่งปีกับสองเดือน  เมื่อรักษาตัวหายดีแล้วทองจึงได้หางานทำที่กรุงเทพ  แต่ที่ดินแปลงนี้ทองยังคงให้เงินเช่าต่อ  ทองทำงานอยู่ที่กรุงเทพมาได้สองปี  เงินและทองถูกนาคฟ้องขับไล่เรียกที่ดินแปลงนี้คืน  ให้ท่านอธิบายว่าทองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้วหรือยัง  นาคฟ้องคดีต่อศาลเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากทองได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครอง  ไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  หรือขาดการยึดถือโดยสมัครใจ  และนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันได้  หากเป็นเพียงการขาดการยึดถือโดยไม่สมัคร  เพราะมีเหตุมาขัดขวางโดยไม่สมัครใจ  กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้ขาดอายุความ  การครอบครองสะดุดหยุดลง  หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  ทั้งนี้ตามมาตรา  1384 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ทองครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายนาค  มา  8  ปี  โดยทำเป็นสวนลิ้นจี่   ต่อมานายทอง  ได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา  9  เดือน  เงินซึ่งเป็นเพื่อบ้านจึงได้ขอเช่าสวนลิ้นจี่จากทองเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสวนเกษตร  และเก็บลิ้นจี่ขายนักท่องเที่ยวด้วย  กรณีเช่นนี้  ถือว่า  ทองได้ขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจตามมาตรา  1384  โดยมีเงินผู้เช่าเป็นผู้ยึดถือการครอบครองแทนตามมาตรา  1368  และเป็นผู้เอาคืนซึ่งการครอบครองให้ภายใน  1  ปี  นับตั้งแต่ขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ  อายุความการครอบครองจึงไม่สะดุดหยุดลง

เมื่อได้ความว่า  ทองถูกจำคุกไปได้  8  เดือน  ขณะอยู่ในเรือนจำทองป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล  เมื่อพ้นโทษทองจึงได้มารักษาพยาบาลต่ออยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ  อีก  5  เดือน  ซึ่งเป็นเวลารวม  1  ปี  2  เดือน  เมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว  ทองจึงได้หางานทำที่กรุงเทพฯ  และทองได้ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯอีก  2  ปี  ในกรณีดังกล่าวนี้  ระหว่างที่ทองถูกจำคุกและในระหว่างป่วยและทำงานที่กรุงเทพฯ  จะถือว่าทองขาดการยึดถือไม่ได้  เพราะที่ดินแปลงนี้ก็มีเงินครอบครองปรปักษ์แทนทองตลอดเวลาตามมาตรา  1368 ประกอบมาตรา  1384  ดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดติดต่อกันแล้วเป็นเวลาเกิน  10  ปี  ดังนั้น  ทองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว  โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382 

สรุป  ทองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว  นาคจึงฟ้องศาลเรียกที่ดินแปลงนี้จากทองไม่ได้

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แห้วอนุญาตด้วยวาจาให้หอมอาศัยอยู่ในบ้านของตนไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้  หลังจากที่หอมเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นได้  1  ปี เกิดพายุพัดหลังคาบ้านเสียหาย  หอมจึงซ่อมแซมหลังคาบ้านใหม่และติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมบนระเบียงบ้านด้วย  ต่อมาแห้วได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายบ้านและที่ดินให้แป้ง  แป้งจึงแจ้งให้หอมย้ายออกไปจากบ้านหลังดังกล่าว

ดังนี้  หอมจะรื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมออกไปและเรียกให้แป้งจ่ายเงินค่าซ่อมแซมหลังคาบ้านให้กับตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

วินิจฉัย

ส่วนควบ  คือ  ส่วนซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น  และไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้  นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง  ซึ่งผู้เป็นเจ้าของตัวทรัพย์ย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบนั้นด้วย  ในทางกลับกันถ้าทรัพย์ดังกล่าวไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์  และสามารถแยกออกจากกันได้โดยไม่ทำให้ทรัพย์นั้นถูกทำลายหรือบุบสลายหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรง  กรณีเช่นนี้  ย่อมไม่เป็นส่วนควบและผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ก็ไม่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หอมซ่อมแซมหลังคาบ้านซึ่งเกิดพายุพัดหลังคาเสียหาย  ซึ่งโดยหลักแล้วหลังคาบ้านย่อมถือว่าเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวบ้าน  และไม่สามารถแยกออกจากตัวบ้านได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงไป  เมื่อได้ความว่า  หอมซ่อมแซมหลังคาบ้านไปโดยมิได้รับความยินยอมจากแห้วเจ้าของบ้าน  กรณีเช่นนี้  หลังคาบ้านจึงตกเป็นส่วนควบของบ้านตามมาตรา  144  วรรคแรก  ดังนั้น  หลังคาบ้านจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแห้วเจ้าของบ้านตามมาตรา  144  วรรคสอง  และเมื่อแห้วได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายบ้านและที่ดินให้แป้ง  กรรมสิทธิ์ในบ้านพร้อมทั้งส่วนควบของบ้านจึงตกเป็นของแป้งผู้รับโอน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านนั้น  เมื่อหอมซ่อมแซมบ้านดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากแห้วเจ้าของบ้านทั้งหลังคาบ้านที่ซ่อมก็ได้ตกเป็นส่วนควบของตัวบ้าน  อันเป็นกรรมสิทธิ์ของแป้งเจ้าของบ้านผู้รับโอน  นายหอมจึงไม่สามารถเรียกให้แป้งจ่ายค่าซ่อมแซมหลังคาบ้านได้แต่ประการใด  ส่วนจานรับสัญญาณดาวเทียมที่หอมนำมาติดตั้งที่ระเบียงบ้าน  หอมจะรื้อออกไปได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  จานรับสัญญาณดาวเทียมโดยหลักแล้วย่อมไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวบ้าน  และหากหอมจะรื้อไปก็ไม่ทำให้บ้านถูกทำลายหรือบุบสลายหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงแต่ประการใด  ดังนั้น  จานรับสัญญาณดาวเทียมจึงไม่ถือเป็นส่วนควบของบ้านยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายหอมอยู่  หอมจึงสามารถรื้อออกไปได้

สรุป  หอมสามารถรื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมออกไปได้  แต่หอมไม่สามารถเรียกให้แป้งจ่ายเงินค่าซ่อมแซมหลังคาบ้านให้กับตนได้

 

ข้อ  2  สำราญกับสำรวยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน  โดยสำราญตกลงยกบ้านและที่ดินมีโฉนดให้สำรวยแทนการชำระหนี้และศาลได้มีคำสั่งพิพากษาตามยอมแล้ว  แต่ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน  หลังจากนั้น  1  ปี  สำราญถึงแก่ความตาย  สำเริงบุตรชายของสำราญได้จดทะเบียนรับมรดกบ้านและที่ดินดังกล่าว  ทั้งที่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องทำสัญญาประนีประนอมระหว่างสำราญกับสำรวย

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  สำรวยจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของสำเริงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ 

แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย

การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมนั้นจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งคำว่า  ไม่บริบูรณ์  ตามมาตรา  1299  วรรคแรกนี้  หมายถึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  กล่าวคือ  ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลทั่วไปได้  แต่ยังคงมีผลบังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณีในฐานะบุคคลสิทธิ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สำราญทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกบ้านและที่ดินที่มีโฉนดให้สำรวยแทนการชำระหนี้และศาลมีคำพิพากษาตามยอม  กรณีเช่นนี้  ถือว่าสำรวยเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  (คือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ)  แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน  นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  แต่ยังคงมีผลใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาคือ  สำราญกับสำรวยในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก  (ฎ.9936/2539)

หลังจากนั้น  1  ปี  สำราญได้ถึงแก่ความตาย  สำเริงบุตรของสำราญได้จดทะเบียนรับมรดกบ้านและที่ดินดังกล่าว  ทั้งที่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างสำรวยกับสำราญ  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  สำรวจจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของสำเริงได้หรือไม่  เห็นว่า  สำเริงนอกจากมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนแล้ว  สำเริงยังเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยไม่สุจริตอีกด้วย  ดังนั้นสำรวยจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดีกว่าสำเริง  เมื่อสำรวยเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน  และการจดทะเบียนรับมรดกของสำเริงทำให้สำรวยเสียเปรียบ  สำรวยจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของสำเริงได้ตามมาตรา  1300  (ฎ. 6655/2542)

สรุป  สำรวยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของสำเริงได้

หมายเหตุ  ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลนั้นเป็นเรื่องเจตนาของคู่กรณี  ซึ่งศาลพิพากษาไปตามนั้น  ยังไม่ถือว่าเป็นการได้ทรัพยสิทธิมาโดยคำพิพากษา  ศาลเพียงแต่ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนดีกว่าผู้อื่นตามมาตรา  1300  จึงไม่เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง

 

ข้อ  3  ต้นทำสัญญาขายฝากบ้านและที่ดิน  มี  น.ส.3  ของตนให้กับตั้มมีกำหนดเวลา  1  ปี  เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากแล้ว  ต้นไม่นำเงินไปไถ่ถอน  แต่ต้นไม่มีที่อยู่อาศัย  ตั้มจึงอนุญาตให้ต้นอยู่อาศัยต่อไปโดยไม่คิดค่าเช่า  หลังจากนั้นอีก  1  ปี  ต้นถึงแก่ความตาย  ตาลบุตรของต้นได้อาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินนั้นต่อจากต้น  ต่อมาอีก  6  เดือน  ตั้มได้บอกให้ตาลย้ายออกไปจากบ้านและที่ดินของตน  มิฉะนั้นให้ตาลทำสัญญาเช่ากับตน  แต่ตาลไม่ยอมทำสัญญาเช่าโดยอ้างว่าตนเป็นผู้รับมรดกบ้านและที่ดินมาจากต้นบิดาของตน  และตาลยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท  ต่อมาอีก  7  เดือนตั้งจึงมาปรึกษาท่านว่าต้องการจะฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากตาล  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าตั้งจะฟ้องขับไล่ตาลและเรียกที่ดินคืนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้  ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายในเวลา  1 ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ตั้มจะฟ้องขับไล่ตาลและเรียกที่ดินคืนได้หรือไม่  เห็นว่า  ต้นทำสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินมี  น.ส.3  ของตนให้กับตั้มมีกำหนดเวลา  1  ปี  เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากแล้วต้นไม่นำเงินไปไถ่ถอน  กรณีเช่นนี้ตั้มจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเหนือบ้านและที่ดิน  น.ส.3  ดังกล่าว  ส่วนการที่ตั้มอนุญาตให้ต้นอยู่อาศัยต่อไปโดยไม่คิดค่าเช่า  ก็ไม่ทำให้ต้นเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเหนือบ้านและที่ดินแต่อย่างใด  ต้นจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองแทนตั้มเท่านั้น  และหลังจากที่ต้นถึงแก่ความตาย  ตาลบุตรของต้นอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินต่อจากบิดา  ซึ่งเป็นเพียงการครอบครองแทนตั้มเช่นกัน  ต่อมาอีก  6  เดือน  ตั้มให้ตาลย้ายออกไปจากบ้านและที่ดินของตน  มิฉะนั้นให้ตาลทำสัญญากับตนแต่ตาลไม่ยอมทำสัญญาเช่าโอยอ้างว่าตาลรับมรดกมาจากต้นบิดาของตน  กรณีเช่นนี้จึงถือว่าตาลได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองแทนตั้มมาเป็นการครอบครองเพื่อตน  ในฐานะเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินตามมาตรา  1381  และถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1375  วรรคแรก  (ฎ. 2065/2533)

หลังจากการแย่งการครอบครองโดยการเปลี่ยนเจตนาตามมาตรา  1375  ประกอบมาตรา  1381  ได้เพียง  7  เดือน  ตั้งจึงสามารถฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากตาลได้  เพราะเมื่อผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายในเวลา  1  ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามมาตรา  1375  วรรคสอง

สรุป  ตั้มสามารถฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากตาลได้

 

ข้อ  4  นายวันเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  ต่อมานายวันถึงแก่ความตาย  นายเช้ากับนายเย็นเป็นผู้รับมรดกบ้านและที่ดินร่วมกันในฐานะทายาทโดยธรรม  แต่นายเช้าเป็นผู้ครอบครองบ้านและที่ดินนั้นต่อจากนายวันเพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นอีก  3  ปี  นายเช้ากับนายเย็นแบ่งมรดกกันโดยจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นสองแปลง  นายเช้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แปลงที่มีบ้านสร้างอยู่  ส่วนนายเย็นเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่สองซึ่งมีถนนที่นายเช้าใช้สัญจรไปมาตั้งแต่สมัยที่นายวันยังมีชีวิตอยู่  หลังจากจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินกันได้  8  ปี  นายเย็นถึงแก่ความตาย  นางราตรีบุตรของเย็นได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายเย็น  และล้อมรั้วห้ามไม่ให้ นายเช้าใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไป  เพราะที่ดินของนายเช้ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  แต่นายเช้าเห็นว่าเส้นทางนั้นไม่สะดวก  และต้องการใช้ถนนผ่านที่ดินของนางราตรีต่อไป  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นายเช้าจะเรียกให้นางราตรีรื้อถอนรั้วออกไปเพื่อให้ตนสามารถใช้ถนนดังกล่าวต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่ง  ตามมาตรา  1387  จะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเท่านั้น  กล่าวคือ  จะต้องมีที่ดิน  2  แปลง  โดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายเช้าจะเรียกให้นางราตรีรื้อถอนรั้วออกไปเพื่อให้ตนสามารถใช้ถนนดังกล่าวต่อไปได้หรือไม่  เห็นว่า  นายเช้ากับนายเย็นรับมรดกบ้านและที่ดินมีโฉนดร่วมกันในฐานะทายาทโดยธรรมของนายวัน  เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กัน  ทั้งนายเช้ากับนายเย็นจึงเป็นเจ้าของรวมในบ้านและที่ดินดังกล่าว  แม้นายเช้าจะครอบครองบ้านและที่ดินเพียงผู้เดียวเป็นเวลาถึง  3  ปี  ก็ถือเป็นการครอบครองแทนนายเย็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งเท่านั้น

ต่อมาเมื่อทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นสัดส่วนกัน  โดยนายเช้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่บ้านนั้นปลูกสร้างอยู่  ส่วนนายเย็นเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งมีถนนที่นายเช้าใช้สัญจรไปมาตั้งแต่สมัยที่นายวันยังมีชีวิตอยู่  ในกรณีนี้การได้ภาระจำยอมโดยอายุความในถนนภายในที่ดินที่แบ่งแยกไว้นี้ต้องเริ่มนับแต่เมื่อได้แบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว  เพราะก่อนการแบ่งแยกคงมีที่ดินแปลงเดียว  จึงไม่อาจจะนับรยะเวลาก่อนการแบ่งแยกโฉนดเป็นการเริ่มต้นอายุความการได้มาซึ่งภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินได้  (ฎ. 1049/2513)

สำหรับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้น  มาตรา  1401  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวคือ  จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบ  และโดยเปิดเผย  และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว  ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ตามมาตรา  1382  ประกอบมาตรา  1401  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันแล้ว  นายเช้ายังคงใช้ถนนนั้นอยู่ต่อมาได้เพียง  8  ปี  ซึ่งยังไม่ถึง  10  ปี  ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  ถนนนั้นจึงยังไม่เป็นภาระจำยอมโดยอายุความ  (ฎ. 1754/2505)

เมื่อถนนไม่เป็นภาระจำยอม  การที่นางราตรีบุตรของเย็นซึ่งรับมรดกที่ดินแปลงนั้นได้ล้อมรั้วห้ามไม่ให้นายเช้าใช้ถนนผ่านที่ดินของตนต่อไป  เพราะเห็นว่าที่ดินของนายเช้ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  จึงสามารถกระทำได้ในฐานะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์  ดังนั้นนายเช้าจะเรียกให้นางราตรีรื้อถอนรั้วออกไปโดยอ้างว่าทางสาธารณะนั้นไม่สะดวกเพื่อให้ตนสามารถใช้ถนนดังกล่าวต่อไปไม่ได้

สรุป  นายเช้าเรียกให้นางราตรีรื้อถอนรั้วออกไปไม่ได้  เพราะถนนไม่เป็นภาระจำยอมโดยอายุความ

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของน้ำฝนเกินกว่า  10  ปีแล้ว  แต่เพลิงยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตน  หลังจากนั้นน้ำฝนถึงแก่ความตาย  น้ำผึ้งบุตรของน้ำฝนได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้น  ต่อมาอีก  1  ปี  น้ำผึ้งทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้เปลว  โดยก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  เปลวได้ไปดูที่ดินแต่ไม่เห็นผู้ใดครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่หลังจากน้ำผึ้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เปลวแล้ว  เปลวจึงรู้ว่าเพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้น จึงห้ามไม่ให้เพลิงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นอีก

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  ระหว่างเปลวกับเพลิงผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นดีกว่ากัน  และเพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ 

แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของน้ำฝนเกินกว่า  10  ปี  จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  และถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ดังนั้นเมื่อไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เพลิงก็จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

สำหรับกรณีที่น้ำฝนเจ้าของที่ดินถึงแก่ความตาย  และน้ำผึ้งบุตรของน้ำฝนจดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวมานั้น  กรณีเช่นนี้ถือว่าน้ำผึ้งรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของน้ำฝน  อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก  ซึ่งทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆของเจ้ามรดก  ทั้งถือไม่ได้ว่าน้ำผึ้งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยมีค่าตอบแทน  ดังนั้น ระหว่างเพลิงกับน้ำผึ้ง  เพลิงจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่าน้ำผึ้ง  (ฎ. 1886/2536  ฎ. 1069 1070/2522)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ระหว่างเปลวและเพลิง  ใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  เห็นว่า  ขณะที่เพลิงยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  น้ำผึ้งซึ่งไม่มีสิทธิดีกว่าเพลิงได้จดทะเบียนขายที่ดินแปลงที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เพลิงแล้วให้เปลว  โดยก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  เปลวได้ไปดูที่ดินแต่ไม่เห็นผู้ใดครอบครองที่ดินดังกล่าว  แต่หลังจากน้ำผึ้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เปลวแล้ว  เปลวจึงรู้ว่าเพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้น  กรณีเช่นนี้ถือว่าเปลวเป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินมาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต  จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่า  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  ดังนั้นแม้เปลวจะรับโอนมาจากน้ำผึ้งผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดินดีกว่าเพลิง  เปลวก็ยังมีสิทธิดีกว่าเพลิง  เพลิงจะอ้างหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ยันเปลวไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้เพลิงจะเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา  1300  และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวจะทำให้เพลิงเสียเปรียบก็ตาม  เพลิงก็ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว  เพราะการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ของเปลวนั้นมีค่าตอบแทนและเป็นการจดทะเบียนโดยสุจริต  (ฎ.  32/2490)

สรุป  เปลวเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดีกว่าเพลิง  และเพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวไม่ได้

 

ข้อ  2  เอกมีที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดพื้นที่  20  ไร่  ต่อมาเอกแบ่งขายให้โท  10  ไร่  โดยทำการซื้อขายและจดทะเบียนกันถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย  ปรากฏว่าเมื่อโทแบ่งซื้อที่ดินมาทำให้แปลงที่ซื้อมาไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ  ต้องใช้ทางสัญจรทางเรือเท่านั้นเพราะถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของ  เอก  ตรี  และจัตวา

เมื่อโทซื้อที่ดินของเอกมาแล้วโทได้ทำประโยชน์เป็นที่นาปลูกข้าวและเข้า ออกจากที่ดินโดยใช้เรือตลอดเป็นเวลา  3  ปี  โทต้องการใช้รถโดยเห็นว่าถ้าได้ขับรถผ่านเข้า ออกทางที่ดินของเอกเข้าสู่ที่ดินของโทก็จะได้รับความสะดวกมากกว่าการเดินทางทางเรืออย่างทุกวันนี้

หากโทจะขอทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกจะเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1349  ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย

ตามมาตรา  1349  วรรคแรก  หมายความว่า  ที่ดินแปลงใดที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะก็ได้  ส่วนการจะนำบทบัญญัติมาตรา  1350  มาใช้บังคับได้  ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  ต่อมาเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน  แต่ทั้งนี้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแปลงโอนกันเท่านั้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โทจะขอทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกจะเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่  เห็นว่า  ที่ดินของโทเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินของเอกโดยการซื้อเป็นคนละแปลงนั้น  เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ดังนั้นหากจะขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา  1350  มาบังคับ  กรณีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  1349  วรรคแรก

แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์สำคัญตามมาตรา  1350  ประการหนึ่งมีว่าเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันแล้วจะต้องทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  หลักจากแบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกจากที่ดินของเอกแล้ว  โทก็ยังใช้ทางสาธารณะทางน้ำ  (เรือ)  เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของตนได้อยู่  จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินของโทมีสภาพที่ถูกปิดล้อมจนไม่สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การขอทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1350  ดังกล่าวเช่นกัน  (ฎ. 607/2537)

อนึ่งเมื่อที่ดินของโทมีทางออกสู่สาธารณะได้  แม้โทจะต้องการใช้รถโดยเห็นว่าถ้าได้ขับรถผ่านเข้าออกทางที่ดินของเอกเข้าสู่ที่ดินของตนก็จะได้รับความสะดวกมากกว่าเดินทางทางเรืออย่างทุกวันนี้  ก็เป็นเรื่องความสะดวกสบายของโทเท่านั้น  หาใช่ว่าโทไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเพราะถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่  โทจึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินของเอกทั้งตามบทบัญญัติมาตรา  1349  หรือมาตรา  1350  ได้เลย  (ฎ. 6372/2550)

สรุป  โทไม่สามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกได้  ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  1349 หรือมาตรา  1350

 

ข้อ  3  ใสได้ตกลงขอทำถนนผ่านที่ดินของแสงซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า  แต่ก็ยังไม่ถึงทางสาธารณะ  ใสจะต้องทำถนนผ่านที่ดินของเสียงอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินเปล่าจึงจะถึงทางสาธารณะได้  แต่ใสไม่สามารถติดต่อเสียงได้จึงได้ทำถนนผ่านที่ดินของเสียงไปโดยพลการ  และนอกจากนั้นเมื่อเห็นที่ดินของเสียงทิ้งร้างไว้  ใสจึงยังใช้ที่ดินของเสียงทั้งแปลงทำไร่ข้าวโพด  ใสใช้ทางผ่านที่ดินของทั้งแสงและเสียงและทำไร่ข้าวโพดบนที่ดินของเสียงผ่านมาได้ห้าปี

ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนและห้ามไม่ให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสจะมีข้อต่อสู้เสียงได้อย่างไรบ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนและห้ามไม่ให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสจะมีข้อต่อสู้เสียงได้อย่างไรบ้าง  เห็นว่า  การที่ใสได้ตกลงขอทำถนนผ่านที่ดินของแสง  ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า  แต่ก็ยังไม่ถึงทางสาธารณะ  ใสจะต้องทำถนนผ่านที่ดินของเสียงอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจึงจะถึงทางสาธารณะได้  แต่ใสไม่สามารถติดต่อเสียงได้จึงได้ทำถนนผ่านที่ดินของเสียงไปโดยพลการ  นอกจากนั้นเมื่อเห็นที่ดินของเสียงทิ้งร้างไว้  ใสจึงยังใช้ที่ดินของเสียงทั้งแปลงทำไร่ข้าวโพด  อันเป็นการยึดถือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน  กรณีเช่นนี้ถือว่าใสได้เข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้ว  ใสจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าของเสียงทั้งแปลงตามมาตรา  1367  และกรณีนี้ยังถือว่าใสได้แย่งการครอบครองมือเปล่าของเสียงด้วยตามมาตรา  1375  วรรคแรก

เมื่อเสียงผู้ครอบครองถูกใสแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายให้สิทธิเสียงฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายใน  1 ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  โดยไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่  และไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งผู้แย่งหารครอบครองหรือได้ร้องเรียนต่อพนักงานฝ่ายปกครองว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ (ฎ. 6412/2550  ฎ. 108/2517) เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าใสได้ใช้ทางผ่านที่ดินมือเปล่าทั้งของแสงและเสียงและทำไร่ข้าวโพดบนที่ดินของเสียงผ่านมาได้  5  ปี  เสียงจึงหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองแล้วตามมาตรา  1375  วรรคสอง  ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองและห้ามมิให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่าเสียงหมดสิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองแล้ว  และตนได้สิทธิครอบครองในที่ดินของเสียงแล้ว

สรุป  ใสสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่าเสียงหมดสิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา  1375  และตนได้สิทธิครอบครองในที่ดินของเสียงแล้ว

 

ข้อ  4  นายฟ้าครอบครองปรปักษ์ทำนาบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของเหลืองมาเข้าปีที่แปด  นายฟ้าประสบอุบัติเหตุ  ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  นายฟ้าทราบว่าแม้ออกจากโรงพยาบาลแล้วร่างกายตนคงทำนาไม่ได้อีกแล้ว  ขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลได้  6  เดือน  ได้ยกที่ดินแปลงนั้นให้บุตรชายทำนาต่อจากตน  บุตรชายนายฟ้าจึงเข้าไปครอบครองที่ดินแปลงนั้น  และเอาที่ดินแปลงนั้นไปให้นายแดงเช่าแทน  นายแดงนำที่ดินแปลงนั้นไปปลูกยางพารา  แดงเช่าที่ดินแปลงนั้นมาได้สามปี  เหลืองได้ฟ้องคดีต่อศาลขับไล่ให้แดงและบุตรชายนายฟ้าออกจากที่ดินแปลงนั้น  ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้นแล้วหรือยัง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครอง  ไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  หรือขาดการยึดถือโดยสมัครใจ  และนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันได้  หากเป็นเพียงการขาดการยึดถือโดยไม่สมัคร  เพราะมีเหตุมาขัดขวางโดยไม่สมัครใจ  กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้ขาดอายุความ  การครอบครองสะดุดหยุดลง  หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  ทั้งนี้ตามมาตรา  1384 

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้นหรือยัง  เห็นว่า นายฟ้าได้ครอบครองปรปักษ์ทำนาบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของเหลืองมาเข้าปีที่  8  นายฟ้าประสบอุบัติเหตุต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล กรณีนี้ถือว่านายฟ้าขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจเนื่องจากมีเหตุมาขัดขวางหรือไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  เมื่อนายฟ้าเห็นว่าทำนาต่อไปอีกไม่ได้  จึงยกที่ดินแปลงนั้นให้บุตรชายทำนาต่อจากตนในขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลได้  6  เดือน  ดังนี้ถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง  เนื่องจากได้ทรัพย์สินคืนมาภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  โดยมีบุตรชายนายฟ้าเข้ายึดถือแทนตามมาตรา  1384  และในกรณีเช่นนี้บุตรชายนายฟ้าผู้รับโอนการครอบครองโดยนิติกรรมสามารถนับเวลาซึ่งนายฟ้าผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ตามมาตรา  1385

อนึ่ง  การที่บุตรชายของนายฟ้ากลับเอาที่ดินแปลงนั้นไปให้นายแดงเช่าแทน  นายแดงย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนบุตรชายนายฟ้าตลอดมาตามมาตรา  1368 (ฎ. 1054/2519  ฎ. 1623/2522)  เมื่อแดงเช่าที่ดินแปลงนั้นมาได้  3  ปี  รวมกับเวลาที่นายฟ้าครอบครองมาแต่ก่อนและที่กฎหมายถือว่าไม่สะดุดหยุดลงอีก  8  ปี  6  เดือน  รวมเป็น  11  ปี  6  เดือน  ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บุตรชายนายฟ้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  แล้ว

สรุป  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เชิดทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งให้กับชัย  โดยชำระราคากันครบถ้วนและส่งมอบที่ดินกันแล้ว  แต่สัญญาดังกล่าวมิได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากชัยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ได้  9  ปี  เชิดได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายฝากที่ดินแปลงนี้ให้แก่โตมีกำหนด  2  ปี  โดยโตไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างเชิดกับชัย

หลังจากครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาขายฝากแล้ว  เชิดไม่ใช้สิทธิไถ่คืนที่ดิน  โตจะเข้าไปครอบครองที่ดินแปลงนี้แต่พบชัยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่  โตจึงแจ้งให้ชัยย้ายออกไปจากที่ดินแปลงนี้  แต่ชัยอ้างว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตน

เชิดไม่มีสิทธินำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้กับผู้ใด  และชัยก็ครอบครองโดยสงบ  เปิดเผยและมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า  10  ปีแล้ว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  ระหว่างชัยกับโต  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  และชัยจะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากระหว่างเชิดกับโตได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ 

แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อได้ความว่าสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างเชิดกับชัยแม้จะได้ชำระราคากันครอบถ้วนและส่งมอบที่ดินกันแล้ว  แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  456  วรรคแรก

และตามข้อเท็จจริง  เมื่อชัยผู้ซื้อเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ติดต่อกันได้  9  ปี  เชิดได้ทำสัญญาและได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายฝากที่ดินแปลงนี้ให้แก่โตมีกำหนด  2  ปี  โดยโตไม่รู้เรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างเชิดกับชัย  และหลังจากครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาขายฝากแล้ว  เชิดไม่ใช้สิทธิไถ่คืนที่ดิน  และในขณะเดียวกันชัยก็ยังคงครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยสงบ  เปิดเผย  และเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  11  ปี  กรณีเช่นนี้  จึงถือว่าชัยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  อันเป็นการได้มาวึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  แต่เมื่อชัยยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  ชัยจึงไม่สามารถยกการได้มานั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามมาตรา  1299  วรรคสอง (ฎ. 884/2523)

ดังนั้น  เมื่อโตซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินแปลงนี้ไปโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว  จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่าชัย  และถึงแม้ชัยจะเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน  และการจดทะเบียนขายฝากระหว่างเชิดกับโตจะทำให้ชัยเสียเปรียบก็ตาม  แต่ชัยก็ไม่สามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากระหว่างเชิดกับโตได้  ทั้งนี้เพราะโตจดทะเบียนโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตตามมาตรา  1300

สรุป  ระหว่างชัยกับโต  โตมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่าชัย  และชัยจะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากระหว่างเชิดกับโตไม่ได้

 

ข้อ  2  นายแดงสร้างโรงเรือนลงในที่ดินของตนเองหนึ่งหลัง  และทำแท็งก์เก็บน้ำฝนโดยก่อด้วยอิฐและฉาบปูนทับจำนวน  2  แท็งก์  โดยที่ก่อนลงมือปลูกสร้างนายแดงได้ขอให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกแปลงมาชี้ระวังแนวเขตที่ดินของทุกคนเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาเมื่อสร้างเสร็จพบว่าแท็งก์น้ำได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาวเป็นพื้นที่  5  ตารางเมตร  นายขาวทราบเรื่องจึงขอให้นายแดงรื้อถอนแท็งก์น้ำหรือแก้ไขใหม่ไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน

ดังนี้  นายแดงจะต้องรื้อถอนแท็งก์น้ำมิให้รุกล้ำที่ดินของนายขาวหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1312  วรรคแรก  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วินิจฉัย

สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1312  ต้องเป็นโรงเรือนซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนก็ได้  แต่ถ้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือน  เช่น  ถังส้วม  ท่อน้ำประปา  ปั๊มน้ำและแท็งก์น้ำ  เหล่านี้จะอ้างความคุ้มครองตามมาตรา  1312  ไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงสร้างโรงเรือนและแท็งก์น้ำลงในที่ดินของตนเองโดยก่อนสร้างได้ให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกแปลงมาชี้ระวังแนวเขตที่ดินแล้ว  อันถือว่าเป็นการสร้างโดยสุจริต  แต่อย่างไรก็ดี  การสร้างโรงเรือนตามมาตรา  1312  อันจะได้รับการคุ้มครองนั้น หมายถึง  การสร้างโรงเรือนสำหรับอยู่อาศัย  ดังนั้น  แท็งก์น้ำจึงไม่ใช่โรงเรือนตามความหมายของบทบัญญัติมาตรานี้  และไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนด้วย  ทั้งนี้แม้นายแดงจะสุจริตก็ตาม  ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง  (ฎ. 95 952/2542)

ฉะนั้น  เมื่อนายแดงสร้างเสร็จแล้วปรากฏว่าแท็งก์น้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินนายขาว  5  ตารางเมตร  นายแดงจึงต้องรื้อแท็งก์น้ำดังกล่าวออกไปจากที่ดินนายขาว  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  1312  วรรคแรก

สรุป  นายแดงต้องรื้อถอนแท็งก์น้ำออกจากที่ดินนายขาว

 

ข้อ  3  สมดีขายฝากที่ดินมือเปล่าของสมดีแปลงหนึ่งให้แสงสี  กำหนดเวลาไถ่คืน  5  ปี  โดยทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองและส่งมอบที่ดินให้แสงสี  เมื่อขายฝากไปได้  4  ปีกับ  8  เดือน  สมดีจะมาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืน  แต่แสงสีไม่ยอมให้ไถ่อ้างว่า ภริยาของสมดีได้มาตกลงขายขาดที่ดินแปลงนี้กับตนแล้ว

และตนได้จ่ายเงินให้ภริยาสมดีไป  200,000  บาท  สมดีหมดสิทธิไถ่คืนแล้ว  ที่ดินแปลงนี้เป็นของตนอย่างเด็ดขาด  หลังจากแสงสีบอกกับสมดีว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของตนมาได้  1  ปี  กับ  3  เดือน  สมดีจึงได้อพยพครอบครัวเข้าไปครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยทำประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้น  สมดีเข้าครอบครองทำประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้นมาได้  4  เดือน  แสงดีได้มาฟ้องขับไล่ให้สมดีออกไปจากที่ดินแปลงนั้น

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  แสงสีจะฟ้องขับไล่สมดีให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้  ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ผู้ครอบครองมีสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายใน  1 ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้  (มาตรา 1375)

กรณีตามอุทาหรณ์  สมดีขายฝากที่ดินมือเปล่าของสมดีแปลงหนึ่งให้แสงสี  กำหนดเวลาไถ่คืน  5  ปี  โดยทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองและส่งมอบที่ดินให้แสงสี  เมื่อขายฝากไปได้  4  ปี  8  เดือน  สมดีจะมาขอไถ่ที่ดินคืน  แต่แสงสีไม่ยอมให้ไถ่โดยอ้างว่าภริยาของสมดีได้มาตกลงขายที่ดินแปลงนี้ให้กับตนแล้ว  และตนได้จ่ายเงินให้ภริยาสมดีไป  2  แสนบาท  สมดีหมดสิทธิไถ่คืนแล้ว ที่ดินเป็นของตนอย่างเด็ดขาดแล้ว  กรณีจึงถือว่าแสงสีได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือตามมาตรา  1381  แสงสีจึงได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา  1367

เมื่อได้ความว่า  ภายหลังจากแสงสีแย่งการครอบครองมาได้  1  ปี  3  เดือน  ซึ่งเลยระยะเวลาการฟ้องเรียกคืนการครอบครองตามมาตรา  1375  แล้ว  สมดีได้อพยพเข้าไปครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้น  จึงเป็นกรณีที่สมดีเอาคืนซึ่งการครอบครองด้วยตนเอง  แต่เมื่อสมดีเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นมาได้เพียง  4  เดือน  (ยังไม่เกิน  1  ปี)  ยังไม่หมดระยะการฟ้องเรียกคืนตามมาตรา  1375  แสงสีจึงฟ้องขับไล่ให้สมดีออกไปจากที่ดินแปลงนั้นได้

สรุป  แสงสีฟ้องขับไล่ให้สมดีออกไปจากที่ดินแปลงนั้นได้

 

ข้อ  4  นายดำได้สิทธิในภาระจำยอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายแดงเพื่อใช้ในครัวเรือนทุกวัน  ซึ่งน้ำในบ่อนั้นนายแดงก็ได้ใช้ประโยชน์ด้วยใช้อาบรดน้ำต้นไม้ในครัวเรือนทุกวันด้วยเช่นกัน  นายดำเห็นว่าบ่อน้ำนั้นเริ่มตื้นเขินขึ้น  นายดำจึงต้องการขุดลอกบ่อน้ำ  สร้างศาลาวางโต๊ะหินอ่อนไว้นั่งพัก  แต่นายแดงไม่ยอมให้ขุดลอกบ่อและสร้างศาลาที่พักรวมทั้งโต๊ะหินอ่อนด้วย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ถ้านายแดงไม่ยอมเช่นนั้นนายดำจะขุดลอกบ่อน้ำสร้างศาลาวางโต๊ะหินอ่อนไว้นั่งพักได้หรือไม่  และจะเรียกค่าอะไรจากนายแดงได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1388  เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์  หรือในสามยทรัพย์  ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์

มาตรา  1389  ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป  ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้

มาตรา  1391  เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง   ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี  แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้  ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายดำได้สิทธิในภาระจำยอมในการใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายแดง  เพื่อใช้ในครัวเรือนทุกวัน  ซึ่งน้ำในบ่อนั้นนายแดงก็ได้ประโยชน์ด้วยโดยใช้อาบรดต้นไม้  เมื่อนายดำเห็นว่าบ่อน้ำเริ่มตื้นเขินขึ้นจึงต้องการขุดลอกบ่อน้ำ  กรณีเช่นนี้  นายดำสามารถทำได้  เนื่องจากเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตามมาตรา  1391  วรรคแรก  และเมื่อนายแดงก็ได้รับประโยชน์ด้วย  ค่าขุดลอกบ่อนายแดงต้องร่วมออกด้วยครึ่งหนึ่งตามมาตรา  1391  วรรคสอง

ส่วนที่นายดำจะสร้างที่พักรวมทั้งโต๊ะหินอ่อนนั้น  ไม่สามารถที่จะกระทำได้  เนื่องจากเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตามมาตรา  1388  และมาตรา  1389

สรุป  นายดำขุดลอกบ่อได้  ค่าใช้จ่ายนายแดงต้องร่วมออกครึ่งหนึ่ง  แต่จะสร้างศาลาวางโต๊ะหินอ่อนไว้นั่งพักไม่ได้

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมัครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะที่เป็นทางดินลูกรัง  แต่สมัครได้ทำถนนผ่านที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งทางราชการยังไม่เคยออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรผู้ใด  สมัครใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลากว่า  12  ปีแล้ว  เพราะเห็นว่าสะดวกกว่าการใช้ทางดินลูกรัง

ต่อมาทางราชการได้ล้อมรั้วเพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการตรงที่ดินแปลงนั้น  ทำให้สมัครไม่สามารถใช้ถนนดังกล่าวได้  สมัครจึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ทางราชการเปิดเส้นทางให้สมัครสามารถใช้ถนนผ่านเข้าออกได้เช่นเดิม  เพราะตกเป็นภาระจำยอมแล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของสมัครรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1304  สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น  รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน  ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์  หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า  และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง  หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน

มาตรา  1306  ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น  กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นตามมาตรา  1306

กรณีตามอุทาหรณ์  ถึงแม้สมัครจะทำถนนผ่านที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งทางราชการยังไม่เคยออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรผู้ใด  และใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลากว่า  12  ปีแล้วก็ตาม  สมัครก็ไม่ได้ภาระจำยอมซึ่งถือเป็นทรัพยสิทธิโดยอายุความปรปักษ์  เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา  1304(1)  ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน  ตามมาตรา  1306

ดังนั้น  เมื่อทางราชการได้ล้อมรั้วเพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการตรงที่ดินแปลงนั้น  สมัครจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ทางราชการเปิดเส้นทางให้สมัครสามารถใช้ถนนผ่านเข้าออกได้เช่นเดิมโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมแล้วไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของสมัครรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  จิ๋วซื้อรถยนต์คันหนึ่งในราคา  250,000  บาท  จากเหวงซึ่งเป็นช่างซ่อมรถยนต์ของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง  โดยจิ๋วไม่รู้ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของเบิ้มที่ถูกคนร้ายขโมยไปขายให้กับเหวงในราคา  150,000  บาท  และจิ๋วได้จ้างเหวงเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์เบนซินเป็นเครื่องยนต์ดีเซลอีกในราคา  30,000  บาท  หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายได้  และทราบว่ารถยนต์ของกลางอยู่ที่จิ๋ว เบิ้มจึงเรียกให้จิ๋วส่งมอบรถยนต์คืนให้ตน  แต่จิ๋วต่อสู้ว่าตนซื้อรถยนต์มาโดยสุจริต  ถ้าเบิ้มต้องการรถยนต์คืน  เบิ้มต้องจ่ายเงินให้จิ๋วตามราคาที่จิ๋วซื้อมาและค่าเปลี่ยนเครื่องรถยนต์เป็นเงิน  280,000  บาทก่อน

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  จิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้เบิ้มหรือไม่  และจิ๋วจะเรียกร้องอะไรจากเบิ้มได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1316  ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน  แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น

ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้  ท่านว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว  แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่นๆ  ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้นๆ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

โดยหลัก  การซื้อทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา  1332  อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองนั้น  ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน  หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  จิ๋วซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากเหวงซึ่งเป็นช่างซ่อมรถยนต์ของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่งในราคา  250,000  บาท  ซึ่งมิใช่เป็นการซื้อจากการขายทอดตลาดของเอกชน  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  จิ๋วผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1332  แม้จิ๋วจะซื้อโดยสุจริตเพราะไม่รู้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของเบิ้มที่ถูกคนร้ายขโมยไปขายให้กับเหวงในราคา  150,000  บาทก็ตาม  ดังนั้นจิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้แก่เบิ้มและไม่สามารถเรียกให้เบิ้มจ่ายเงิน  250,000  บาท  ตามราคาที่จิ๋วซื้อมาได้

ส่วนกรณีที่จิ๋วได้จ้างเหวงเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์เบนซินเป็นเครื่องยนต์ดีเซลในราคา  30,000  บาทนั้น  เป็นกรณีที่เอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบตามมาตรา  1316  วรรคแรก  โดยมีรถยนต์เป็นทรัพย์ประธานและเครื่องยนต์ดีเซลเป็นส่วนควบ  ดังนั้น  เบิ้มซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์จึงเป็นเจ้าของเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วย  แต่เบิ้มจะต้องชดใช้เงินค่าเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน  30,000  บาท  ให้กับจิ๋วตามมาตรา  1316  วรรคสอง

สรุป  จิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้กับเบิ้ม  และมีสิทธิเรียกให้เบิ้มชดใช้เงินได้แต่เฉพาะค่าเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน  30,000  บาทเท่านั้น

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  5  มกราคม  2540  คำปันได้นำพนักงานที่ดินรังวัดเพื่ออกโฉนดโดยผนวกที่ดิน  น.ส.3  ของคำม่วนซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของคำปัน  เพราะเห็นว่าคำม่วนไม่ได้ดูแลหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างจริงจัง

โดยคำปันเริ่มเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของคำม่วนนับแต่วันที่นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัด  ทางราชการออกโฉนดให้คำปันวันที่  1  ตุลาคม  2540  ต่อมาวันที่  10  มกราคม  2541  คำม่วนได้ไปขอรังวัดเพื่อออกโฉนดบ้าง  คำม่วนจึงรู้ว่าคำปันออกโฉนดทับที่ดินของตน  คำม่วนจึงเจรจาขอที่ดินคืนจากคำปัน  แต่คำปันปฏิเสธไม่ยอมคืนโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว  หลังจากนั้นวันที่  1 มิถุนายน  2542  คำม่วนจึงฟ้องศาลเพื่อเรียกคืนที่ดินพิพาทจากคำปัน

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  คำม่วนจะฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

วินิจฉัย

โดยหลัก  ถ้าผู้ถูกครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายให้สิทธิผู้ครอบครองฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายใน  1  ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  โดยไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่  และไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งการครอบครองหรือไม่ตามมาตรา  1375

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่คำปันนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดโดยผนวกที่ดิน  น.ส.3  ของคำม่วนซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครองไปด้วย  ซึ่งคำปันได้เริ่มเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของคำม่วน  นับแต่วันที่นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดคือวันที่  5  มกราคม  2540  นั้น  กรณีเช่นนี้ถือว่าคำปันได้เข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้ว  คำปันจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดิน  น.ส.3  ของคำม่วนตามมาตรา  1367  และกรณีนี้ยังถือว่าคำปันได้แย่งการครอบครองที่ดิน  น.ส.3  ของคำม่วนด้วยตามมาตรา  1375  วรรคแรก  โดยทางราชการได้ออกโฉนดให้คำปันในวันที่  1  ตุลาคม  2540

ต่อมาวันที่  10  มกราคม  2541  คำม่วนได้ไปขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนด  จึงรู้ว่าคำปันแย่งสิทธิครอบครองที่ดินของตน  คำม่วนจึงเจรจาขอที่ดินคืนจากคำปัน  ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงการโต้แย้งผู้แย่งการครอบครองเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  คำม่วนได้ฟ้องศาลเพื่อเรียกที่ดินพิพาทคืนจากคำปันในวันที่  1  มิถุนายน  2542  ซึ่งเกิน  1  ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง  คำม่วนจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทจากคำปันตามมาตรา  1375  วรรคสอง

สรุป  คำม่วนจะฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากคำปันไม่ได้

 

ข้อ  4  ป้อมตั้งแผงขายผลไม้อยู่ในที่ดินของแก่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแก่น  และต้องการเพียงใช้เป็นที่ขายผลไม้โดยไม่มีเจตนาจะยึดเป็นเจ้าของแต่อย่างใด  ป้อมใช้พื้นที่ดังกล่าวขายผลไม้ติดต่อกันได้  10  กว่าปีแล้ว  แก่นจึงแจ้งให้ป้อมย้ายออกไปจากที่ดินของตน  แต่ป้อมอ้างว่าตนใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นเวลากว่า  10  ปีแล้ว  จึงได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่น  และเรียกให้แก่นไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ป้อม  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของป้อมที่ว่าได้ภาระจำยอมแล้วรับฟังได้หรือไม่  และป้อมจะเรียกให้แก่นจดทะเบียนภาระจำยอมให้กับตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

โดยหลัก  การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  ซึ่งตามมาตรา 1401  บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ  เปิดเผย  และเจตนาเป็นเจ้าของและครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

แต่อย่างไรก็ตาม  ภาระจำยอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่าสามยทรัพย์เท่านั้น  ตามมาตรา  1387  ดังนั้น  ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า  10  ปี  ก็ไม่ทำให้เกิดภาระจำยอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ป้อมตั้งแผงขายผลไม้อยู่ในที่ดินของแก่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแก่นและต้องการเพียงใช้เป็นที่ขายผลไม้โดยไม่มีเจตนาจะยึดถือเป็นเจ้าของแต่อย่างใด  จึงไม่ใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  เพราะป้อมไม่มีเจตนาเป็นเจ้าของ

และการที่ป้อมใช้ที่ดินของแก่นเพื่อตั้งแผงขายผลไม้ก็ไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น  แม้จะมีการใช้ที่ดินเพื่อขายผลไม้ติดต่อกันนานเกินกว่า  10  ปีแล้ว  ที่ดินของป้อมก็ไม่ได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่นโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา  1401 ประกอบมาตรา  1382  และมาตรา  1387

สรุป  ข้ออ้างของป้องที่ว่าได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่นแล้วรับฟังไม่ได้  และป้อมจะเรียกให้แก่นจดทะเบียนภาระจำยอมให้กับตนไม่ได้เช่นกัน

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ป่านทำสัญญาและจดทะเบียนยกบ้านและที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งให้ปอโดยเสน่หา  โดยปออนุญาตด้วยวาจาให้ป่านอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ตลอดไป ลังจากนั้น  3  ปี  ปอทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก้ว  หลังจากที่แก้วรับโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว  แก้วแจ้งให้ป่านออกไปจากบ้านหลังนั้น

แต่ป่านไม่ยอมย้ายออกไปโดยอ้างว่าบ้านหลังดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ขอปอเพราะสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้  ดังนั้น  ป่านจึงมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปตามที่ป่านได้รับอนุญาตจากปอ

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  แก้วจะฟ้องขับไล่ป่านออกไปจากบ้านหลังนี้ได้หรือไม่  และข้ออ้างของป่านรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิได้  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  มาตรา  1299  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ป่านทำสัญญายกบ้านและที่ดินมีโฉนดให้ปอโดยเสน่หา  ปอจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม เมื่อได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้มาดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก  และจากข้อเท็จจริงดังกล่าว  เมื่อปอได้อนุญาตให้ป่านอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ตลอดไป  ป่านจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เมื่อการได้มาซึ่งสิทธิอาศัยของป่านเป็นการอนุญาตด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  สิทธิอาศัยดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ  ทำให้ป่านไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  แต่นิติกรรมนี้คงมีผลเป็นบุคคลสิทธิ  ซึ่งใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาคือปอเท่านั้นตามมาตรา  1299  วรรคแรก

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต่อมาปอได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก้ว  แก้วจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินนั้นด้วย  ในฐานะที่บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน  เพราะบ้านถือว่าเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดินโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นและไม่อาจแยกออกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปตามมาตรา  144

ดังนั้น  แก้วในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ให้ป่านออกไปจากบ้านหลังนี้ได้  และข้ออ้างของป่านที่ว่าบ้านหลังดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของปอ  เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้และป่านยังมีสิทธิอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปนั้นจึงรับฟังไม่ได้  เพราะเมื่อการได้สิทธิอาศัยในบ้านของปอไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิ  ป่านจึงไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อแก้วซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

สรุป  แก้วฟ้องขับไล่ให้ป่านออกไปจากบ้านดังกล่าวได้  และข้ออ้างของป่านรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  ต่อมานาย  ก  ตายได้ทำพินัยกรรมยกมรดกที่ดินแปลงนี้ให้ทายาทคือ  นาย  ข  และนาย  ค  หลังจากที่นาย  ข  และนาย  ค  ไปทำการแบ่งแยกที่ดินแล้ว  ปรากฏว่าแปลงของนาย  ค  ถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โดยมีที่ดินของนาย  ข  นาย  ง  และนาย  จ  ปิดล้อมอยู่  นาย  ค  เห็นว่าถ้าตนนำรถผ่านบนที่ดินของนาย  ง  จะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดในการออกสู่ถนนสาธารณะ  นาย  ค  จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลขอนำรถผ่านที่ดินของนาย  ง  และเสนอค่าทดแทนในการทำทางผ่านไปด้วย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ค  สามารถขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้า ออกบนที่ดินของนาย  ง  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย

การขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินตามบทบัญญัติมาตรา  1350  นั้น  เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกันทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  แต่ทั้งนี้จะใช้สิทธิได้ก็แต่เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ข  และนาย  ค  ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่กันแล้ว  เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงของนาย  ค  ถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  (ที่ดินตาบอด)  นั้น  ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  1350  คือเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะ  แต่เมื่อแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  ดังนั้นกรณีนี้นาย  ค  ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้  แต่นาย  ค  จะใช้สิทธิได้เฉพาะบนที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอน  คือที่ดินของนาย  ข  โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนเท่านั้น  จะไปใช้สิทธิบนที่ดินแปลงอื่นไม่ได้

ดังนั้น  ถึงแม้นาย  ค  จะเห็นว่าถ้าตนนำรถผ่านบนที่ดินของนาย  ง  จะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดในการออกสู่ถนนสาธารณะ  นาย  ค  ก็ไม่สามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอนำรถผ่านเข้าออกที่ดินนาย  ง  ได้  แม้จะเสนอค่าทดแทนให้ด้วยก็ตาม

สรุป  นาย  ค  จะขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินของนาย  ง  ไม่ได้

 

ข้อ  3  อ่างเข้าไปครอบครองที่ดิน  น.ส.3  ของโอ่งแปลงหนึ่ง  ครอบครองทำประโยชน์มาได้ห้าปี  เมื่อมีการเดินสำรวจเพื่ออกโฉนดที่ดิน โอ่งเพิ่งรู้ว่าอ่างเข้าไปทำประโยชน์ครอบครองที่ดินแปลงนั้นอยู่  โอ่งจึงได้มาแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  และมาบอกอ่างให้อ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  อ่างจึงเลิกทำนาและรื้อบ้านของอ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  เมื่อผ่านไปได้สองปี

อ่างก็กลับเข้าไปปลูกบ้านทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้นใหม่  ปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้นโอ่งได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นโฉนดที่ดินเรียบร้อยแล้ว  อ่างครอบครองต่อมาได้ห้าปี  โอ่งจึงฟ้องศาลขับไล่อ่างให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้น

ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างโอ่งและอ่างใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

วินิจฉัย

โดยหลัก  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาเป็นเจ้าของ  โดยต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  และในกรณีที่เป็นที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ด้วยจึงจะสามารถครอบครองปรปักษ์ได้

ตามอุทาหรณ์  การที่อ่างเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน  น.ส.3  ของโอ่งได้  5  ปีนั้น  ถือเป็นการเข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน  อ่างจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นตามมาตรา  1367  โดยถือเป็นการแย่งสิทธิครอบครองในที่ดินของโอ่ง  แต่ไม่ใช่กรณีการครอบครองปรปักษ์  เพราะที่ดินดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น  และเมื่อโอ่งได้มาบอกให้อ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น อ่างก็ได้เลิกทำนาและรื้อบ้านของตนออกไปจากที่ดินแปลงนั้นแล้ว  จึงเป็นกรณีที่อ่างสละเจตนาครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวตามมาตรา  1377  วรรคแรก  การครอบครองจึงสิ้นสุดลง

เมื่อผ่านไป  2  ปี  อ่างก็กลับเข้าไปปลูกบ้านทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้นใหม่  เมื่ออ่างเจตนายึดถือเพื่อตนจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกครั้งตามมาตรา  1367  แต่เมื่อที่ดินแปลงนั้นเปลี่ยนเป็นที่ดินที่มีโฉนด  คือ  มีกรรมสิทธิ์แล้ว  การที่อ่างจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้นั้นจะต้องครอบครองที่ดินของโอ่งด้วยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ตามมาตรา  1382

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  อ่างครอบครองที่ดินที่มีโฉนดของโอ่งในครั้งหลังนี้ได้เพียง  5  ปี  อ่างจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์  ดังนั้นโอ่งย่อมมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่าอ่าง  และเมื่อโอ่งฟ้องศาลขับไล่อ่างให้ออกจากที่ดินแปลงนั้น  อ่างก็จะต้องออกจากที่ดินแปลงนั้น

สรุป  โอ่งมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่าอ่าง

 

ข้อ  4  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  มีที่ดินอยู่ข้างเคียงกัน  นายหนึ่งได้สูบน้ำผ่านลำรางที่อยู่ในที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ทำนาในที่ดินของนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ก็ยังได้อาศัยวิดน้ำจากลำรางที่นายหนึ่งสูบน้ำผ่านที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ทำนาในที่ดินของนายสองและนายสามด้วยเช่นเดียวกัน  โดยทั้งนายสองและนายสามไม่เคยขออนุญาตนายดำเลย  และนายดำก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่านายหนึ่งชักน้ำผ่านที่ดินของตน  และนายสองและนายสามยังวิดน้ำที่ผ่านจากที่ดินของนายดำไปยังที่ดินของนายหนึ่งเข้าไปใช้ในที่ดินของทั้งสองด้วย  โดยทั้งนายหนึ่งนายสอง  และนายสาม  ได้สูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนมาได้เกินสิบปีแล้ว  นายดำคิดว่าการที่นายสองและนายสามใช้น้ำที่ไหลผ่านลำรางบนที่ดินของตนด้วยนั้นเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตน นายดำจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ไหลผ่านที่ดินของนายดำเข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ในที่ดินของทั้งนายสองและนายสามได้หรือไม่  และข้ออ้างของนายดำรับฟังได้เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาบังคับใช้โอยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

ตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้สูบน้ำผ่านลำรางที่อยู่ในที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ทำนาในที่ดินของตน  โดยนายสองและนายสามก็ยังได้อาศัยวิดน้ำจำลำรางที่นายหนึ่งสูบน้ำผ่านที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ทำนาในที่ดินของนายสองและนายสามด้วยนั้น  เมื่อการกระทำดังกล่าวของนายหนึ่ง  นายสองและนายสามนั้น  นายดำไม่เคยรู้มาก่อน  และทั้งสามคนก็ไม่เคยขออนุญาตนายดำ  อีกทั้งก็ไปปรากฏข้อเท็จจริงว่า  การกระทำของทั้งสามคนนั้นเป็นการกระทำโดยถือวิสาสะ  ดังนั้นกรณีดังกล่าวถือว่านายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  คือที่ดินของนายดำ  โดยความสงบสุข  เปิดเผย  และเจตนาจะให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งสามคนได้สูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนมาได้เกินสิบปีแล้ว  ทั้งสามคนย่อมได้ภาระจำยอมในที่ดินของนายดำตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  กล่าวคือ  นายดำต้องยอมให้ทั้งสามคนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของนายดำในการสูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนได้ต่อไป  นายดำจะอ้างว่าการกระทำของนายสองและนายสามเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตนไม่ได้  และจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ไหลผ่านที่ดินของนายดำ  เข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ในที่ดินของทั้งนายสองและนายสามไม่ได้

สรุป  ที่ดินของนายดำอยู่ในภาระจำยอม  นายดำจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ผ่านที่ดินของนายดำดังกล่าวนั้นไม่ได้  และจะอ้างว่าเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายสอนกับนายอิ่มทำสัญญากันเอง  โดยนายสอนอนุญาตให้นายอิ่มทำถนนผ่านที่ดินมีโฉนดของตนเพื่อออกสู่ถนนพหลโยธิน  ทั้งที่ที่ดินของนายอิ่มมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  หลังจากนายอิ่มทำถนนผ่านที่ดินของนายสอนได้  4  ปี  นายสอนถึงแก่ความตาย นายสินบุตรของนายสอนได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินดังกล่าว  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า

(ก)  นายสินจะล้อมรั้วไม่ยอมให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ถ้าหลังจากนายสินจดทะเบียนรับมรดกได้  1  ปี  นายสินทำสัญญาและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นให้นางฟ้าภริยานอกสมรสของตนโดยเสน่หา  นางฟ้าจะล้อมรั้วไม่ยอมให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  (มาตรา  1299  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสอนทำสัญญาอนุญาตให้นายอิ่มทำถนนผ่านที่ดินของตน  ทั้งที่ที่ดินของนายอิ่มมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้วนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายอิ่มได้ทางภาระจำยอมผ่านที่ดินของนายสอน  อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นิติกรรมการได้ภาระจำยอมดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมนั้นจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างนายสอนกับนายอิ่มซึ่งเป็นคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก  ดังนั้น

(ก)  นายสินผู้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินภารยทรัพย์ดังกล่าวจากนายสอนบิดาของตนจะล้อมรั้วไม่ยอมให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปไม่ได้  เพราะแม้การได้ภาระจำยอมดังกล่าวจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  แต่ภาระจำยอมนั้นยังคงมีผลผูกพันนายสอนในฐานะบุคคลสิทธิ  ดังนั้นเมื่อนายสอนตาย  นายสินผู้รับมรดกจึงต้องรัยไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนายสอนเจ้ามรดกดังกล่าวด้วย

(ข)  การที่ต่อมานายสินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นให้แก่นางฟ้าภริยานอกสมรสของตนโดยเสน่หา  นางฟ้าจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น  และถือเป็นบุคคลภายนอก  ดังนั้น  เมื่อภาระจำยอมดังกล่าวไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  จึงไม่สามารถบังคับใช้กับนางฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้  นางฟ้าในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิล้อมรั้วไม่ให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปได้สรุป 

(ก)  นายสินจะล้อมรั้วไม่ยอมให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปไม่ได้

(ข)  นางฟ้าสามารถล้อมรั้วไม่ยอมให้นายอิ่มใช้ถนนผ่านที่ดินของตนอีกต่อไปได้

 

ข้อ  2  แมวเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งมีเนื้อที่  2  ไร่  ซึ่งอยู่ติดทางสาธารณะ  แมวได้แบ่งที่ดิน  200  ตารางวา  ขายให้หนู  แต่ที่ดินแปลงที่แบ่งขายนี้ไม่มีส่วนใดติดทางสาธารณะ  แมวจึงตกลงว่าจะเปิดทางกว้างสามเมตรในที่ดินของตนเพื่อให้หนูใช้เป็นทางผ่านเข้า ออกสู่ถนนภายนอก  หลังจากหนูเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินที่ซื้อก็ไม่ได้เรียกร้องให้แมวเปิดทางออกให้  เพราะหนูใช้ทางออกผ่านที่ดินของมดซึ่งจะทำให้ออกสู่ทางสาธารณะได้เร็วกว่า

โดยไม่เคยขออนุญาตมด  ต่อมามดทำรั้วกั้นไม่ให้หนูใช้ทางผ่าน  หนูจึงมาขอให้แมวเปิดทางออกตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนซื้อที่ดิน  แมวปฏิเสธอ้างว่าข้อตกลงทำไว้นานแล้ว

หากตอนนี้ต้องการให้แมวเปิดทางผ่านให้  แมวต้องเปิดทางผ่านให้หนู  หนูจะต้องเสียค่าทดแทนหรือไม่  และการที่หนูจะขอให้แมวเปิดทางผ่านนั้น  จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความกี่ปี  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1350  นั้น  เป็นเรื่องการขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดิน  กล่าวคือ  ถ้าเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกัน  ทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์  ที่ดินที่หนูซื้อจากแมวเป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกจากที่ดินของแมวแล้ว  ทำให้ที่ดินแปลงของหนูไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  (ที่ดินตาบอด)  ดังนั้นตามหลักของมาตรา  1350  หนูจึงมีสิทธิขอทางออกบนที่ดินของแมวได้  แมวจึงต้องเปิดทางผ่านเข้า ออกเพื่อให้หนูออกสู่ทางสาธารณะ  แม้ว่าหนูจะไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวตั้งแต่แรกก็ตาม  ส่วนค่าทดแทนนั้น  เมื่อเป็นกรณีการขอทางจำเป็นตามมาตรา  1350  ผู้มีสิทธิผ่านจึงไม่ต้องเสียค่าทดแทน  ดังนั้น  แมวจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าผ่านทางจากหนู

และการใช้สิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นนั้นไม่มีอายุความ  เพราะเป็นสิทธิที่เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะขอเปิดทางจำเป็นเมื่อใดก็ได้  เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องทางออกของที่ดินของตนเอง

สรุป  หนูมีสิทธิเรียกให้แมวเปิดทางผ่านโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน  และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีอายุความ

 

ข้อ  3  แพงมีกรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงหนึ่ง  แต่เนื่องจากแพงไปประกอบอาชีพอยู่ที่ต่างประเทศ  จึงให้พันดูแลที่ดินแปลงนั้นแทน  พุธได้เข้าไปครอบครองปรปักษ์ทำไร่บนที่ดินแปลงนั้นบางส่วน  พันซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินแปลงนั้นก็ไม่ทราบ  จึงยังไม่ได้ขับไล่  ส่วนแพงซึ่งอยู่ต่างประเทศก็ไม่ทราบเช่นเดียวกัน  พุธครอบครองทำไร่บนที่ดินส่วนนั้นของแพงมาได้แปดปี  แพงกลับมาเมืองไทยกลับมาได้สามปี  แพงได้ไปรังวัดที่ดินจึงเพิ่งทราบว่าพุธทำการครอบครองทำไร่บุกรุกเข้ามาบนที่ดินของตน  แพงจึงฟ้องขับไล่พุธให้ออกจากที่ดินแปลงนั้นโดยแพงอ้างว่า  ตนเพิ่งทราบถึงการครอบครองของพุธเพียงสามปี  ตนจึงยังไม่เสียสิทธิในที่ดินแปลงนั้นไป  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านจะพิพากษาอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1386   บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้  ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิ  อันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธได้เข้าไปครอบครองปรปักษ์ทำไร่บนที่ดินบางส่วน  ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของแพงนั้น  เมื่อพุธได้ครอบครองโดยความสงบ  เปิดเผย  และเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันถึง  11  ปี  ซึ่งเกิน  10  ปีแล้ว  พุธย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382

ดังนั้น  แพงจะฟ้องขับไล่พุธให้ออกจากที่ดินแปลงนั้น  โดยอ้างว่าตนเพิ่งทราบถึงการครอบครองของพุธเพียง  3  ปี  ตนจึงยังไม่เสียสิทธิในที่ดินแปลงนั้นไปไม่ได้  เพราะการครอบครองปรปักษ์เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1386  และเป็นอายุความโดยผลของกฎหมายซึ่งศาลสามารถยกขึ้นเองได้

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาให้พุธได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  4  ดวงเป็นเจ้าของกิจการร้านขายเครื่องมือทางการเกษตรทั้งขาย  ให้เช่า  และรับจ้างไถ  หว่าน  เกี่ยวข้าว  พืชไร่ ฯลฯ  ร้านของดวงตั้งอยู่ที่นอกเขตเทศบาล  ที่ดินที่ตั้งร้านของดวงมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  แต่เมื่อมีเกษตรกรหรือมีใครเช่าเครื่องมือทางการเกษตร  ดวงจะใช้ที่ดินของเด่นเป็นทางลัดขนเครื่องมือต่างๆผ่านที่ดินของเด่นเข้า ออกสู่ถนนสาธารณะเสมอเป็นประจำ  โดยดวงไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นใครเป็นเจ้าของ  จึงไม่ได้ขออนุญาตใช้ทาง  และบางครั้งลูกค้าของดวงยังใช้เส้นทางบนที่ดินของเด่นเข้ามาติดต่อซื้อขาย  เช่า  ว่าจ้างดวงด้วย  เมื่อดวงใช้ที่ดินของเด่นเป็นทางเข้า –  ออก  มาได้สิบห้าปี  เด่นทราบจึงมาตกลงกับดวงว่า  ถ้าดวงยังต้องการใช้ถนนบนที่ดินของตนต่อไป  ดวงต้องเช่าที่ดินแปลงนี้  มิฉะนั้นก็ต้องห้ามบุกรุกเข้ามาใช้ทางผ่านที่ดินแปลงนี้อีก  ดวงจึงตกลงขอเช่าโดยจ่ายค่าผ่านทางให้กับเด่นปีละห้าพันบาท  ในความเห็นของท่านให้ท่านอธิบายว่า  ดวงได้สิทธิอะไรก่อนที่จะตกลงเช่าที่ดินเด่น  และหลังจากตกลงเช่าที่ดินเด่นเพื่อผ่านทางบนที่ดินของเด่น  วิธีใดและส่งผลอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมตามมาตรา  1387  โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น  ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  ซึ่งตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาบังคับใช้โอยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดวงเป็นเจ้าของกิจการร้านขายเครื่องมือทางการเกษตร  และรับจ้างไถ  หว่าน  เกี่ยวข้าว  พืชไร่ ฯลฯ   และเมื่อมีเกษตรกรหรือคนมาเช่าเครื่องมือทางการเกษตร  ดวงก็จะใช้ที่ดินของเด่นเป็นทางลัดขนเครื่องมือต่างๆผ่านที่ดินของเด่นเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเสมอเป็นประจำนั้น  ถือเป็นกรณีที่ดวงเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  คือที่ดินของเด่น  โดยสงบ  เปิดเผย  และเจตนาจะได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว  เมื่อดวงใช้ที่ดินของเด่นเป็นทางเข้าออกมาได้  15  ปี  ที่ตั้งร้านของดวงจึงได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วตามมาตรา  1387  และมาตรา  1382  ประกอบมาตรา  1401

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ดวงทำสัญญาเช่าที่ดินกับเด่นเพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าออกนั้น  ถือเป็นกรณีที่ดวงผู้ครอบครองได้สละเจตนาครอบครองในภารยทรัพย์ดังกล่าวแล้ว  กล่าวคือ  เป็นการที่ดวงยอมรับว่าดวงไม่ได้มีสิทธิในภาระจำยอมบนที่ดินของเด่นแต่อย่างใด  ดังนั้น ภาระจำยอมที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคแรก

สรุป  ดวงได้สิทธิ  คือภาระจำยอมในที่ดินของเด่นโดยการครอบครองปรปักษ์ก่อนที่จะตกลงเช่าที่ดินเด่น  และหลังจากดวงตกลงเช่าที่ดินเด่นแล้ว  ส่งผลให้ภาระจำยอมดังกล่าวสิ้นสุดลง

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายเสือครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายช้างเป็นเวลา  12  ปี  แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  ต่อมานายช้างได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้กับนายกวางโดยทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่และนายกวางก็ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือมาก่อน  หลังจากนั้น  1  ปี  นายกวางถึงแก่ความตาย  น.ส.หนูบุตรของนายกวางได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกแปลงนี้ในฐานะทายาทโดยธรรม  และได้ฟ้องขับไล่นายเสือให้ออกจากที่ดินแปลงนั้น

นายเสือต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  น.ส.หนูได้ที่ดินมาโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าตน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายเสือรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเสือครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายช้างเป็นเวลา  12  ปี  ถือว่านายเสือได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายช้างโดยการครอบครองปรปักษ์  (ป.พ.พ.  มาตรา  1382)  อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อนายเสือยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  และระหว่างนั้นนายช้างได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนายกวาง  โดยทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  และนายกวางก็ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือมาก่อน  จึงทำให้สิทธิการได้มาของนายเสือไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้นายกวางผู้เป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้สิทธิในที่ดินนี้มาโดยสุจริต  (ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือ)  และโดยเสียค่าตอบแทน  (ซื้อ)  และจดทะเบียนสิทธิของตนโดยสุจริตแล้วได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.หนูได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกแปลงนี้มาในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกวาง  จึงถือเป็นผู้สืบสิทธิของนายกวาง  ผู้ซึ่งมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายเสือมาตั้งแต่แรกแล้ว  น.ส.หนูจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายเสือด้วย  ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายเสือที่ว่า  ตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  น.ส.หนูได้ที่ดินมาโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าตนจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเสือรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  เด็กชายเทียนอายุ  12  ปี  ได้ขายโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งให้แก่นายหนึ่งในราคา  3,000  บาท  โดยขณะขายบิดา มารดาไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย  ต่อมานายหนึ่งได้นำโทรศัพท์เครื่องนี้ไปมอบให้นางสาวสองคนรักของนายหนึ่งด้วยความเสน่หา

โดยที่นางสาวสองไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายหนึ่งไปซื้อโทรศัพท์มาจากเด็กชายเทียน  ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์  บิดา มารดาของเด็กชายเทียนได้บอกเลิกการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเทียนกับนายหนึ่ง

และขอให้นางสาวสองคืนโทรศัพท์มือถือกลับคืนมาให้เด็กชายเทียน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์แก่เด็กชายเทียนหรือไม่  ระหว่างนางสาวสองกับเด็กชายเทียน  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1329  สิทธิของบุคคลผู้ได้มา  ซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น  ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ  และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1329  เป็นเรื่องความคุ้มครองสิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน  (ผู้รับโอน)  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1       ผู้โอนได้ทรัพย์สินมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

2       บุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน  (ผู้รับโอน)  ต้องรับโอนไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

3       นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลัง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายเทียนขายโทรศัพท์มือถือให้แก่นายหนึ่ง  โดยขณะขายบิดามารดาไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วยนั้น  นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ  (ป.พ.พ. มาตรา  21)  และเมื่อปรากฏว่าอีกกนึ่งสัปดาห์ต่อมาบิดามารดาของเด็กชายเทียนได้บอกเลิกการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเทียนกับนายหนึ่ง  จึงถือเป็นการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นหลังจากที่นายหนึ่งได้โอนโทรศัพท์ไปให้นางสาวสองแล้ว

และตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านางสาวสองจะรับโอนโทรศัพท์มือถือมาจากนายหนึ่งโดยสุจริตคือ  ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายหนึ่งไปซื้อโทรศัพท์มาจากเด็กชายเทียนก็ตาม  แต่เมื่อนางสาวสองรับโอนมาจากการให้โดยเสน่หา  ซึ่งถือเป็นการได้มาโดยไม่เสียค่าตอบแทน  ดังนั้น  สิทธิของนางสาวสองจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1329  เด็กชายเทียนจึงมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่านางสาวสอง  และนางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์ให้แก่เด็กชายเทียน

สรุป  เด็กชายเทียนมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่านางสาวสอง  และนางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์ให้แก่เด็กชายเทียน

 

ข้อ  3  นายดำครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนายแดงมาได้  4  ปี  นายดำถึงแก่กรรมนายเขียวบุตรของนายดำปฏิเสธไม่สนใจที่จะครอบครองต่อจึงปล่อยที่ดินให้รกร้างอยู่  10  เดือน  ต่อมานายเขียวตกงานจึงเปลี่ยนใจเข้าไปทำนาบนที่ดินของนายแดงอีกได้นาน  6  ปี  นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายเขียวออกจากที่ดินแปลงนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเขียวจะได้สิทธิอย่างใดจากการที่ตนครอบครองที่ดินต่อจากนายดำบิดาของตนหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเขียวบุตรของนายดำปฏิเสธไม่สนใจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแดงต่อจากนายดำบิดาซึ่งถึงแก่กรรมนั้น  ย่อมถือว่านายเขียวสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว  อายุความการครอบครองปรปักษ์จึงสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคแรก

ดังนั้น  แม้ต่อมาอีก  10  เดือน  หลังจากทิ้งร้างไป  นายเขียวจะเข้ามาครอบครองที่ดินของนายแดงอีก  6  ปีก็ตาม  นายเขียวก็ไม่สามารถนำเอาระยะเวลาการครอบครองของนายดำผู้เป็นบิดามานับรวมกับการครอบครองของตนเองตามมาตรา  1385  ได้  ดังนั้น  เมื่อนายเขียวครอบครองปรปักษ์ที่นาแปลงนี้ได้เพียง  6  ปี  ซึ่งยังไม่ถึง  10  ปี  จึงไม่ครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา  1382  ที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นายเขียวจึงยังไม่ได้สิทธิใดๆบนที่ดินแปลงนี้

สรุป  นายเขียวไม่ได้สิทธิใดๆจากการที่ตนครอบครองที่ดินต่อจากนายดำผู้เป็นบิดา

 

ข้อ  4  อาทิตย์เป็นเจ้าของที่นาแปลงหนึ่ง  ทุกๆปีในฤดูทำนาอาทิตย์ต้องใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์เพื่อเข้าไปทำนาในที่นาของอาทิตย์  โดยจันทร์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาทิตย์มาเดินผ่านที่ดินของตน  อาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์มาได้กว่า  10  ปี  โดยมิได้ไปจดทะเบียน  ต่อมาจันทร์ทราบจึงทำรั้วกั้นที่ดินเพื่อไม่ให้อาทิตย์เดินผ่าน  ดังนี้  อาทิตย์จะมีสิทธิอ้างหลักกฎหมายเรื่องใดมาต่อสู้จันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นมิให้อาทิตย์เดินผ่านหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1390  ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ  อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป  หรือเสื่อมความสะดวก

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาบังคับใช้โดยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่อาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์เพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของอาทิตย์เอง  โดยจันทร์ไม่ทราบมาก่อนนั้น  ถือเป็นกรณีที่อาทิตย์เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์แล้ว  เมื่ออาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์มาได้กว่า  10  ปี  ย่อมทำให้อาทิตย์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382

และเมื่ออาทิตย์ได้ภาระจำยอมบนที่ดินของจันทร์โดยอายุความปรปักษ์  ซึ่งถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  1299 วรรคสองแล้ว  (แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิก็เป็นทรัพยสิทธิ)  การที่จันทร์ทำรั้วกั้นที่ดินเพื่อไม่ให้อาทิตย์เดินผ่าน  จึงเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดลง  หรือเสื่อมความสะดวกตามมาตรา  1390  ดังนั้น  อาทิตย์จึงมีสิทธิอ้างหลักกฎหมายตามมาตรา  1390 ขึ้นต่อสู้กับจันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นระหว่างภารยทรัพย์กับสามยทรัพย์ได้

สรุป  อาทิตย์มีสิทธิอ้างหลักกฎหมายตามมาตรา  1390  ขึ้นต่อสู้กับจันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นมิให้อาทิตย์เดินผ่านได้

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เข้มทำสัญญาอนุญาตให้ป้อมสร้างบ้านอยู่ในที่ดินมีโฉนดของตนเป็นเวลา  20  ปี  โดยสัญญามีข้อความระบุว่า  เมื่อครบกำหนด 20  ปีแล้วให้บ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเข้มเจ้าของที่ดินทันที  แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากป้อมสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของเข้มครบกำหนด  20  ปีแล้ว  เข้มแจ้งให้ป้อมย้ายออกไปจากบ้านและที่ดินนั้น  เพราะต้องการจะขายบ้านและที่ดินนั้น

แต่ป้อมยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินต่อไป  หลังจากนั้นอีก  5  เดือนเข้มได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายบ้านพร้อมที่ดินนั้นให้แหม่ม  เมื่อป้อมรู้เรื่องดังกล่าว  ป้อมจึงทำสัญญาขายบ้านหลังนั้นให้แตน  โดยให้แตนรื้อถอนบ้านออกไป  ดังนี้

ให้วินิจฉัยว่า  แตนจะรื้อถอนบ้านออกไปได้หรือไม่  และระหว่างแตนกับแหม่มผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  (มาตรา  1299  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เข้มทำสัญญาอนุญาตให้ป้อมสร้างบ้านในที่ดินมีโฉนดของตนเป็นเวลา  20  ปี  ป้อมจึงเป็นผู้มีสิทธิเหนือพื้นดินของเข้ม  อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  เมื่อปรากฏว่านิติกรรมดังกล่าวเพียงแต่ทำเป็นหนังสือไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  ย่อมมีผลทำให้นิติกรรมนั้นไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างเข้มกับป้อมในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก  ดังนั้น  บ้านจึงยังไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน  เพราะป้อมเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นและได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ตามมาตรา  146

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อครบกำหนด  20  ปี  สิทธิในที่ดินของเข้มที่ป้อมมีอยู่ย่อมสิ้นสุดลง  เนื่องจากข้อความในสัญญากำหนดให้บ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเข้มทันทีเมื่อครบ  20  ปี  จึงเท่ากับป้อมได้แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในบ้านไว้ล่วงหน้าแล้ว  ดังนั้น  บ้านจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเข้มในฐานะที่เป็นส่วนควบของที่ดินตามมาตรา  144  เข้มจึงมีสิทธิทำสัญญาและจดทะเบียนขายบ้านพร้อมที่ดินให้กับแหม่มได้  และแหม่มผู้รับโอนย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินนั้นโดยสมบูรณ์

ส่วนกรณีของแตนนั้นเมื่อป้อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าวแล้ว  ป้อมจึงไม่สามารถนำบ้านไปทำสัญญาขายให้กับแตนได้  ดังนั้น แตนผู้รับโอนตามสัญญาซื้อขายจึงไม่มีสิทธิในบ้านดีไปกว่าป้อมผู้โอนและไม่สามารถรื้อถอนบ้านออกไปได้

สรุป  แหม่มเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่าแตน  และแตนไม่สามารถรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินนั้นได้

 

ข้อ  2  นายแดงสร้างบ้านหลังหนึ่งลงบนที่ดินมีโฉนดของแดงเมื่อ  พ.ศ.2540  ต่อมาในปี  พ.ศ.2550  นายแดงได้ต่อเติมบ้านหลังนี้เมื่อเสร็จจึงพบว่าห้องน้ำชั้นล่างที่เพิ่งต่อเติมรุกล้ำไปในเขตที่ดินของนายดำแปลงข้างเคียง  20  เซนติเมตร  แม้ว่าก่อนต่อเติมนายแดงจะตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วก็ตาม  ดังนี้  นายแดงจะยกความสุจริตในขณะปลูกสร้างขึ้นต่อสู้กับนายดำเพื่อที่ตนจะไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1312  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด  เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต  ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป  และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

วินิจฉัย

การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตที่จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา  1312  นั้น  จะต้องเป็นกรณีปลูกสร้างโรงเรือนทั้งหลัง  แล้วส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น  มิใช่กรณีต่อเติมโรงเรือนในภายหลัง  แล้วส่วนที่ต่อเติมนั้นรุกล้ำเข้าไป

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงได้ต่อเติมบ้าน  แล้วพบว่าห้องน้ำชั้นล่างที่เพิ่งต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนายดำนั้น  ถึงแม้นายแดงจะทำการต่อเติมโดยสุจริต  กล่าวคือ  ก่อนต่อเติมนายแดงได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วก็ตาม  แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของการต่อเติมโรงเรือนในภายหลัง  มิใช่การปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นทั้งหลัง  แล้วส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น  นายแดงจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา  1312  ดังนั้น  นายแดงจึงไม่สามารถเอาความสุจริตในขณะปลูกสร้างขึ้นต่อสู้กับนายดำเพื่อที่ตนจะไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำได้

สรุป  นายแดงจะยกเอาความสุจริตในขณะปลูกสร้างขึ้นต่อสู้กับนายดำเพื่อที่ตนจะไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำไม่ได้

 

ข้อ  3  รุ่งมีบ้านอยู่ติดกับแรมซึ่งเป็นที่ดินที่แรมไม่ได้ใช้ประโยชน์ปล่อยรกร้าง  เมื่อน้ำท่วมน้ำได้ไหลเข้ามาท่วมที่ดินของรุ่ง  รุ่งจึงระบายน้ำเข้ามาในที่ดินของแรม  น้ำเข้าไปท่วมขังในที่ดินของแรม  เมื่อน้ำลดแล้วแต่รุ่งยังถือโอกาสใช้ที่ดินของแรมเป็นทางระบายน้ำตลอดมาได้ปีกว่า  แรมเพิ่งทราบ  แรมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรที่จะให้รุ่งเลิกระบายน้ำเข้ามาในที่ดินของตน  และแรมจะมีสิทธิอย่างใดบ้าง  ถ้าท่านเป็นทนายและแรมมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาแรมอย่างไร  จงอธิบายให้ครบถ้วน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/29  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

มาตรา  1374  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน  เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้  ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก  ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1374  ถ้าผู้ครอบครองทรัพย์สินถูกบุคคลอื่นรบกวนการครอบครองทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้  หรือจะขอให้ศาลสั่งห้ามบุคคลนั้นเข้ามารบกวนการครอบครองอีกก็ได้  (มาตรา  1374  วรรคแรก)  แต่ต้องฟ้องร้องภายใน  1  ปี  นับแต่เวลาถูกรบกวน  (มาตรา  1374  วรรคสอง)  ซึ่งระยะเวลาฟ้องปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามมาตรา  1374  นี้  เป็นระยะเวลาฟ้องร้องไม่ใช่อายุความสิทธิเรียกร้อง  ศาลสามารถยกขึ้นเป็นเหตุยกฟ้องเองได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่รุ่งระบายน้ำเข้ามาในที่ดินของแรม  และเมื่อน้ำลดแล้วรุ่งก็ยังถือโอกาสใช้ที่ดินของแรมเป็นทางระบายน้ำอีกนั้น  ถือเป็นกรณีที่แรมผู้ครอบครองที่ดินได้รับความเสียหายจากการที่ถูกรุ่งรบกวนการครอบครอง  (แม้แรมไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินปล่อยให้รกร้าง  แต่แรมยังไม่ได้สละการครอบครอง  จึงยังมีสิทธิครอบครองอยู่)  โดยหลักแรมสามารถฟ้องศาลให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง  เพื่อให้รุ่งเลิกระบายน้ำเข้ามาในที่ดินของตนได้ตามมาตรา  1374  วรรคแรก

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  รุ่งได้ใช้ที่ดินของแรมเป็นทางระบายน้ำตลอดมาได้ปีกว่าแล้ว  แรมจึงหมดระยะเวลาฟ้องร้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามมาตรา  1374  วรรคสอง  ซึ่งกรณีนี้แม้แรมจะฟ้องไป  ศาลก็สามารถยกเอาเหตุว่าเลยระยะเวลา  1  ปี  มาเป็นเหตุยกฟ้องแรมได้

อย่างไรก็ตาม  การกระทำของรุ่งดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อแรมด้วย  แรมจึงมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากรุ่งในมูลละเมิดได้  ซึ่งในเรื่องมูลละเมิดนี้เป็นอายุความสิทธิเรียกร้อง  หากรุ่งไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกขึ้นเองไม่ได้ตามมาตรา  193/29

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายและแรมมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่แรมดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  4  แสงดาวซื้อที่ดินแปลงหนึ่งมาจากสันทราย  โดยแสงดาวคิดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินมือเปล่ายังไม่มีโฉนด  เมื่อสันทรายส่งมอบการครอบครองให้  แสงดาวจึงเข้าไปปลูกบ้านครอบครองทำไร่อ้อยอยู่บนที่ดินแปลงนั้น  ความจริงที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ดินมีโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของสุดสวย  สันทรายได้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นเวลากว่าห้าปี  ก่อนที่จะขายให้แสงดาว  แต่ในระหว่างห้าปีสุดสวยเจ้าของที่ดินได้มาล้อมรั้วลวดหนามเพื่อมิให้ใครเข้ามาบุกรุกที่ดินแปลงนั้น  ทำให้สันทรายเข้าไปทำไร่ไม่ได้อยู่เก้าเดือน  เมื่อรั้วพังลงสันทรายจึงเข้าไปทำไร่ต่อได้สามปี  หลังจากนั้นได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้แสงดาว  แสงดาวปลูกบ้านทำไร่อ้อยมาได้ห้าปี  สุดสวยได้ให้แสงดาวออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  แสงดาวไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  โดยอ้างว่าสุดสวยหมดระยะเวลาเรียกคืนการครอบครองที่ดินแปลงนั้นจากตนแล้ว  ข้ออ้างของแสงดาวรับฟังได้หรือไม่  ให้นักศึกษาอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สันทรายได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของสุดสวยมาเป็นเวลากว่าห้าปีก่อนที่จะขายให้แสงดาวนั้น  เมื่อปรากฏว่าในระหว่างห้าปีสุดสวยได้มาล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินแปลงนั้น  ทำให้สันทรายเข้าไปทำไร่ไม่ได้อยู่เก้าเดือน  และเมื่อรั้วพังลงสันทรายจึงเข้าไปทำไร่ต่อได้สามปี  ดังนั้น  การครอบครองที่ดินช่วงแรกกับช่วงหลังของสันทรายจึงไม่ติดต่อกัน  แสงดาวจึงรับโอนเวลาการครอบครองที่ดินจากสันทรายได้เพียงสามปี  เพราะการครอบครองช่วงแรกของสันทรายมีข้อบกพร่องตามมาตรา  1385

เมื่อข้อเท็จจริงระบุว่า  หลังจากซื้อที่ดินมา  แสงดาวปลูกบ้านทำไร่อ้อยในที่ดินมาได้ห้าปี  ซึ่งเมื่อรวมกับการครอบครองของสันทรายแล้ว ย่อมถือว่าแสงดาวครอบครองที่ดินได้เพียงแปดปีตามมาตรา  1385  แสงดาวจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382

ดังนั้น  ข้ออ้างของแสงดาวที่ว่าสุดสวยหมดระยะเวลาการเรียกคืนการครอบครองที่ดินแปลงนั้นจากตนแล้ว  จึงรับฟังไม่ได้  เพราะที่ดินของสุดสวยเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ที่ดินมือเปล่า  สุดสวยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนที่ดินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ทุกเมื่อ

สรุป  ข้ออ้างของแสงดาวรับฟังไม่ได้

LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นกเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของไก่เกินกว่าสิบปีแล้ว  แต่นกไม่รู้ว่าจะต้องไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  ต่อมาไก่ถึงแก่ความตายและหลังจากเป็ดบุตรของไก่จดทะเบียนรับมรดกที่ดินนั้นแล้ว

จึงรู้ว่านกครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าว  เป็ดจึงบอกขายที่ดินนั้นให้แมว  ก่อนทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  แมวไปดูที่ดินจึงรู้ว่านกครอบครองที่ดินนั้นอยู่  แต่เป็ดบอกกับแมวว่านกเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน  และจะดำเนินการให้นกออกไปจากที่ดินนั้นทันทีหลังจากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว

โดยแมวไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนก  ประกอบกับแมวเห็นว่าชื่อในโฉนดเป็นชื่อของเป็ด  จึงทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อที่ดินแปลงนั้น  ดังนี้  นกจะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้หรือไม่  และผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้  แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นกเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของไก่เกินกว่า  10  ปีแล้ว  จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  อันถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่านกไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว  นกจึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน  และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น  นกมิสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน  โดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้

ต่อมาเมื่อไก่ถึงแก่ความตาย  เป็ดบุตรของไก่ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้น  ซึ่งถือเป็นการรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของไก่  อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก  โดยทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่างๆของเจ้ามรดก  เป็ดผู้สืบสิทธิของไก่จึงไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยมีค่าตอบแทน  ดังนั้น  ระหว่างนกกับเป็ด  นกจึงยังเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่าเป็ด

ส่วนการที่เป็ดขายที่ดินแปลงนั้นให้แมวในเวลาต่อมานั้น  เมื่อปรากฏว่าก่อนทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน  แมวได้ไปดูที่ดินและรู้ว่านกครอบครองที่ดินแปลงนั้นอยู่  แต่ไม่สอบถามข้อเท็จจริงจากนก  ทั้งที่สามารถสอบถามได้  แมวจึงเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิในที่ดินนั้นมาโดยไม่สุจริต  ดังนั้น  นกจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าแมว  และสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้  เพราะการจดทะเบียนนั้นทำให้นกซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนต้องเสียเปรียบ  ตามมาตรา  1300

สรุป  นกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าแมว  และสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้

 

ข้อ  2  เอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจำนวน  20  ไร่  เอกได้แบ่งขายให้โท  5  ไร่  โดยการซื้อขายทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามหลักกฎหมาย  แต่ที่ดินที่แบ่งขายนี้เป็นที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะทางบกเพราะมีที่ดินของเอก  ตรี  และจัตวาล้อมรอบอยู่ อย่างไรก็ดีโทยังสามารถเข้าออกด้วยเรือได้เพราะด้านหนึ่งอยู่ติดคลองสาธารณะที่ใช้เรือข้ามฟากไปมา  ต่อมาโทต้องการใช้ทางเข้าออกเป็นถนนผ่านบนที่ดินของตรี  ดังนี้  โทมีสิทธิทำได้หรือไม่  โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1349  ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ  บึง  หรือทะเล  หรือมีที่ชัน  อันมีระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้  ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน  กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้  ถ้าจำเป็น  ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น  ค่าทดแทนนั้น  นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน  ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

วินิจฉัย

ในเรื่องทางจำเป็นตามมาตรา  1349  กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า  ที่ดินแปลงใดถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมอยู่จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้  ซึ่งทางสาธารณะดังกล่าวนอกจากจะหมายถึงทางสาธารณะทางบกแล้ว  ให้หมายความรวมถึงทางสาธารณะทางน้ำด้วย  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้  ในกรณีที่ที่ดินแปลงใดไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะทางบก  แต่หากเจ้าของที่ดินยังสามารถใช้ทางน้ำสัญจรออกไปสู่ทางสาธารณะได้  เช่น  อยู่ติดกับแม่น้ำหรือติดกับคลองสาธารณะ  ดังนี้  เจ้าของที่ดินจะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้  เพราะถือว่ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  ที่ดินที่เอกแบ่งขายให้โทนั้น  แม้จะไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะทางบก  แต่โทก็ยังสามารถใช้ทางน้ำสัญจรไปมาได้  เพราะที่ดินด้านหนึ่งอยู่ติดกับคลองสาธารณะ  ดังนั้น  ที่ดินที่โทซื้อมาจึงไม่เข้าลักษณะที่ดินตาบอดจนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  โทจึงไม่มีสิทธิขอทางผ่านบนที่ดินของตรี  โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น

สรุป  โทไม่มีสิทธิใช้ทางเข้าออกเป็นถนนผ่านบนที่ดินของตรี  โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น

 

ข้อ  3  นายชุ่มได้เข้าไปทำประโยชน์และปลูกบ้านอาศัยบนที่ดินมือเปล่าของนายชั้นแปลงหนึ่ง  เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิบนที่ดินแปลงนั้น  เจ้าพนักงานได้เดินพิสูจน์การครอบครอง

นายชุ่มได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อเจ้าพนักงาน  นายชั้นนำเอกสารการกู้ยืมเงินระหว่างนายชั้นกับนายชอบซึ่งเป็นลูกหนี้นายชั้น  และเอกสารเป็นหนังสือมีข้อความที่นายชอบตกลงนำที่ดินแปลงที่นายชุ่มทำประโยชน์

ตีใช้หนี้เงินกู้ที่นายชอบเป็นหนี้นายชั้น  ลงชื่อนายชั้นกับนายชอบ  นายชั้นจึงกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชุ่ม  เจ้าพนักงานจึงแจ้งให้นายชั้นไปฟ้องร้องต่อศาล  และหลังจากที่นายชั้นได้คัดค้านได้ยังไม่ครบหนึ่งปี  นายชั้นสามารถฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้นักศึกษาอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้ 

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

วินิจฉัย 

โดยหลักแล้ว  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ผู้ครอบครองมีสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายใน  1 ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้  ตามมาตรา  1375

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายชุ่มได้เข้าไปทำประโยชน์และปลูกบ้านอาศัยบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งนั้น  นายชุ่มย่อมมีและได้สิทธิครอบครองบนที่ดินแปลงดังกล่าวตามมาตรา  1367 

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อเจ้าพนักงานได้รังวัดสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิบนที่ดินแปลงนั้น  นายชุ่มได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อเจ้าพนักงาน  ปรากฏว่านายชั้นได้นำเอกสารการกู้ยืมเงินระหว่างนายชั้นกับนายชอบซึ่งเป็นลูกหนี้นายชั้นมาอ้างว่านายชอบตกลงนำที่ดินแปลงที่นายชุ่มทำประโยชน์ตีใช้หนี้เงินกู้ที่นายชอบเป็นหนี้นายชั้น  ตนจึงมีสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชุ่ม  ดังนี้  นายชั้นจะกล่าวอ้างไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายชอบได้ครอบครองใช้ประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้นอันจะทำให้นายชอบได้สิทธิครอบครองแต่อย่างใด  และเมื่อนายชอบไม่มีสิทธิใดๆบนที่ดินแปลงนั้น  ย่อมทำให้นายชั้นผู้กล่าวอ้างไม่มีสิทธิตามไปด้วย

เมื่อปรากฏว่านายชั้นไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว  ย่อมถือไม่ได้ว่านายชุ่มได้แย่งการครอบครองไปจากนายชั้น  ดังนั้น  นายชั้นจะฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มตามมาตรา  1375  ไม่ได้ 

สรุป  นายชั้นจะฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มไม่ได้

 

ข้อ  4  นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงอยู่  แต่ที่ดินของนายแดงแปลงนั้นไม่มีที่ออกสู่ทางสาธารณะ  นายดำจึงได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวออกประจำ  โดยนายขาวไม่เคยทราบมาก่อน  นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงและใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวตลอดมาได้ห้าปี  นายดำตาย  นายฟ้าบุตรของนายดำจึงได้ขอนายแดงอาศัยที่ดินแปลงนั้นต่อ  นายแดงยินยอม  นายฟ้าจึงยังคงใช้ที่ดินของนายขาวแปลงนั้นเข้าออกเหมือนเมื่อสมัยบิดาอาศัยอยู่ต่อมาอีกหกปี  นายขาวจึงได้มาห้ามไม่ให้นายฟ้าใช้ทางผ่านที่ดินแปลงนั้นของนายขาวอีกต่อไป  ถ้าจะใช้ทางผ่านต้องจ่ายค่าใช้ทางเป็นรายปี  ปีละ  5,000  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปได้หรือไม่  และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป  นายฟ้าจะต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่  ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว  เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมตามมาตรา  1387  โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น  ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  ซึ่งตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

ตามอุทาหรณ์  การที่นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงอยู่  และได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวเข้าออกประจำ  โดยนายขาวไม่เคยทราบมาก่อนนั้น  ย่อมถือว่านายดำครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมแล้ว  โดยการใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  คือที่ดินของนายขาวโดยความสงบ  เปิดเผย  และเจตนาจะได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว  ทั้งนี้เพราะภาระจำยอมย่อมมีเพื่อประโยชน์ของสามานยทรัพย์  ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในสามานยทรัพย์ก็สามารถครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายดำได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวตลอดมาได้  5  ปี  นายดำก็ถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  ย่อมทำให้นายฟ้าบุตรของนายดำรับโอนมาซึ่งสิทธิและความรับผิดต่างๆของนายดำ  ตามมาตรา  1600  ซึ่งรวมถึงสิทธิในภาระจำยอมดังกล่าวด้วย  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฟ้าได้ขอนายแดงอาศัยที่ดินแปลงนั้นต่อและได้ใช้ที่ดินของนายขาวแปลงนั้นเข้าออกเสมือนสมัยบิดาอาศัยอยู่ต่อมาอีก  6  ปี  ซึ่งเมื่อรวมเวลาการใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวของทั้งนายฟ้าและนายดำบิดาของนายฟ้าแล้ว  จะได้  11  ปี  ซึ่งถือว่าเกิน  10  ปีแล้ว  ย่อมทำให้นายฟ้าได้ภาระจำยอมโดยอายุความปรปักษ์  ตามมาตรา  1382  มาตรา  1387  และมาตรา  1401  ดังนั้น  นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปไม่ได้  และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป  นายฟ้าก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการ

สรุป  นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปไม่ได้  และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป  นายฟ้าก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!