LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  วันเกิดเหตุ  จำเลยเห็นคนตาบอดกำลังจะข้ามถนน  จำเลยจึงเข้าไปจูงมือคนตาบอด  หลังจากจูงมาได้ครึ่งทาง  จำเลยปล่อยคนตาบอดไว้แล้วจำเลยข้ามไปคนเดียว  ปรากฏว่านายแดงขับรถยนต์วิ่งมาชนคนตาบอดได้รับบาดเจ็บ  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ถนนบริเวณจุดเกิดเหตุมีรถวิ่งผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก  
ดังนี้  จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อคนตาบอดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

ดังนั้นในเบื้องต้น  จึงต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมีการกระทำหรือไม่  หากบุคคลไม่มีการกระทำ  ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  สำหรับการกระทำนั้น  หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก  นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย  ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น  หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่  การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อคนตาบอดหรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยเห็นคนตาบอดกำลังจะข้ามถนน  จำเลยจึงเข้าไปจูงมือคนตาบอด  หลังจากจูงมาได้ครึ่งทาง  จำเลยปล่อยคนตาบอดไว้แล้วจำเลยข้ามไปคนเดียว  การงดเว้นในกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำ  เพราะเป็นการงดเว้นในกรณีที่มีหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว  กล่าวคือ  เมื่อจำเลยจูงมือคนตาบอดข้ามถนนไปได้ครึ่งทาง  จำเลยย่อมมีหน้าที่ช่วยคนตาบอดให้ข้ามถนนโดยตลอดรอดฝั่ง  เมื่อจำเลยงดเว้นจึงถือว่าเป็นการกระทำ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ถนนบริเวณจุดเกิดเหตุมีรถวิ่งผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก  การที่จำเลยปล่อยคนตาบอดไว้  จำเลยย่อมรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่คนตาบอด  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยจงใจ  ขณะเดียวกันเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนตาบอด  และความเสียหายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการกระทำ  การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดตามมาตรา  420

สรุป  จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อคนตาบอด

 

 

ข้อ  2  นายแดงเป็นนายจ้าง  นาย  ก  เป็นลูกจ้าง  นายแดงใช้ให้นาย  ก  ขับรถจากกรุงเทพฯ  ไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมา  นาย  ก ปฏิบัติตามคำสั่งโดยขับรถไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมาเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ  ขณะที่ขับมาถึงจังหวัดสระบุรี  นายหนึ่งว่าจ้างให้นาย  ก  ขับรถไปขนมันสำปะหลังโดยจะให้ค่าตอบแทน  5,000  บาท  ระหว่างที่นาย  ก  ขับรถไปขนมันสำปะหลัง  นาย  ก  ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้นายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ  เป็นการกระทำที่ครบหลักเกณฑ์ของการกระทำละเมิด  กล่าวคือ  มีการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย  และการกระทำของนาย  ก  ก็มีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  นาย  ก  จึงต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  420

สำหรับนายแดง  ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของนาย  ก  ลูกจ้างหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามมาตรา  425  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น

2       ลูกจ้างกระทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง

3       ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง

ประเด็นจึงมีว่า  การที่นาย  ก  ขับรถไปขนมันสำปะหลังตามที่นายหนึ่งว่าจ้างแล้วไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ  เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างที่นายแดงซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่  กรณีนี้เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นาย  ก  ขับรถไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมาเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร  ขณะที่ขับมาถึงสระบุรี  นายหนึ่งว่าจ้างให้นาย  ก  ขับรถไปขนมันสำปะหลังแล้วจึงเกิดเหตุขึ้น  จึงถือว่าขณะเกิดเหตุละเมิด  ยังอยู่ในระหว่างที่นาย  ก  ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายแดงผู้เป็นนายจ้างอยู่  คือ  กลับจากไปส่งของแล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ  การที่นาย  ก  ฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างแต่ยังปฏิบัติงานของนายจ้างอยู่  นายจ้างจะอ้างเป็นเหตุไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่ได้  นายแดงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่นาย  ก  กระทำไปในทางการที่จ้างในฐานะนายจ้าง  เทียบฎีกาที่  2789/2515

ส่วนนายหนึ่งผู้ว่าจ้าง  เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้  หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง  จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนาย  ก  ตามมาตรา  428 

สรุป  นายขาวสามารถเรียกให้นาย  ก  รับผิดตามมาตรา  420  และเรียกให้นายแดงร่วมรับผิดกับนาย  ก  ตามมาตรา  425  แต่จะเรียกให้นายหนึ่งรับผิดตามมาตรา  428  ไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้ว  ต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  นาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย  ก  นาย  ก ส่งเสียเด็กชายแดงให้เรียนหนังสือ  วันเกิดเหตุนายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  

(1) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  การกระทำของนายโหดเป็นละเมิด  ตามมาตรา  420  เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต  และการกระทำของนายโหดสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  คือ  ความตายของนาย  ก  นายโหดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกันคือเด็กชายแดง  ซึ่งนาย  ก  ได้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมา  โดยยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลและส่งเสียให้เรียนหนังสือ  กรณีนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ตามมาตรา  1627  ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง  และเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1 ตามมาตรา  1629(1)

(1) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่  เห็นว่า  สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา  443  วรรคแรก  เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  เมื่อเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว  จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา  1627  มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายโหดผู้กระทำละเมิด  ทำให้นาย  ก  ถึงแก่ความตายได้  เทียบฎีกาที่ 1202/2549  และฎีกาที่  3208/2538

(2) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่  เห็นว่า  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้ายนั้น  กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด  จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายต้องรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น  ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น  หมายถึง  บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น    ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด  ดังนั้น  แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  ตามมาตรา  1627  จะเป็นทายาทโดยธรรมก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้  ตามมาตรา  1629(1)  แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา  บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้  กรณีนี้เด็กชายแดงย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ  ตามมาตรา  443  วรรคท้ายจากนายโหดผู้กระทำละเมิด  เทียบฎีกาที่  1409/2548

สรุป

1       เด็กชายแดงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายโหดได้

2       เด็กชายแดงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหด

 

 

ข้อ  4  นายเอกกับนายโทเป็นศัตรูกัน  วันเกิดเหตุขณะที่นายเอกขับรถยนต์ไปตามถนนเห็นนายโทเดินมา  นายเอกขับรถยนต์เพื่อที่จะชนนายโท  นายโทเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน  นายโทจึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของนายเอกแตก  2  เส้น  คิดเป็นเงิน  5,000  บาท ดังนี้  นายโทจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา  450  วรรคสาม  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกชัยขับรถเพื่อที่จะชนนายโท  นายโทเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน  นายโทจึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของนายเอกแตก  2  เส้น  การกระทำของนายโทเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพราะนายโทจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและนายโทได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  นายโทจึงสามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ยางรถยนต์แตก  2  เส้น  คิดเป็นเงิน  5,000  บาทได้  ตามมาตรา  449  วรรคแรก

กรณีนี้มิใช่กรณีที่นายโทจะอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสาม  เพราะรถยนต์มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งภยันตราย  การที่รถยนต์ขับเคลื่อนไปได้ก็เพราะการควบคุมของนายเอก  จึงถือว่านายเอกได้เป็นผู้กระทำละเมิดเองโดยใช้ทรัพย์เป็นเครื่องมือ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  450  วรรคแรก

สรุป  นายโทไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  449 

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ประมาณเที่ยงคืน  อารีย์จอดรถยนต์อยู่บนถนนสายหนึ่งในที่มืดโดยไม่ได้เปิดสัญญาณไฟหน้ารถและท้ายรถไว้  ระย้าและทองเกลียวขับรถยนต์แข่งกันมาด้วยความเร็วสูง  และได้เสียหลักพุ่งชนท้ายรถยนต์ของอารีย์  ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้รถของอารีย์เสียหายทั้งคัน

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าอารีย์จะฟ้องร้องให้ระย้าและทองเกลียวร่วมกันรับผิดเพราะทั้งสองคนร่วมกันกระทำละเมิดต่อตนได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  223  วรรคแรก  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้  ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ  ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

มาตรา  442  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  223  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ระย้าและทองเกลียวได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันกระทำละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การจะถือว่าเป็นการร่วมกันทำละเมิด  ตามบทบัญญัติมาตรา  432  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น  เมื่อข้อเท็จจริงนี้ปรากฏว่าระย้าและทองเกลียวต่างคนต่างประมาทในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่อารีย์  จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำหรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ  อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ดังนั้น  ระย้าและทองเกลียวจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่ออารีย์โดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420  เทียบฎีกาที่  3071 3072/2522

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ระย้าและทองเกลียวต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถือว่าทั้งสองไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิด  ทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  432  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่า  ระย้าหรือทองเกลียวก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร  ความรับผิดของระย้าและทองเกลียวจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  301

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  เมื่ออารีย์มีส่วนผิดอยู่ด้วย  ระย้าและทองเกลียวจะอ้างเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่อารีย์จอดรถบนถนนหลวงโดยไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและท้ายรถไว้ย่อมถือได้ว่าอารีย์มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย  ดังนั้นในการวินิจฉัยคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงต้องคำนึงด้วยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตามมาตรา  442  ประกอบมาตรา  223

สรุป  อารีย์จะฟ้องร้องให้ระย้าและทองเกลียวร่วมกันรับผิดเพราะทั้งสองคนร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  และฟ้องได้ในฐานะเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้

 

 

ข้อ  2  เฟื่องเช่าบ้านของแซมอยู่บนชั้นสาม  โดยแซมใช้ชั้นล่างและชั้นสองเปิดสำนักงานทนายความ  วันเกิดเหตุขณะที่หนูยิ้มบุตรสาววัยสิบขวบของเฟื่องยืนอยู่ริมหน้าต่างชั้นสาม  หนูยิ้มเห็นเอื้องกำลังคุ้ยเขี่ยของบนกองขยะอยู่  จึงหยิบขวดน้ำส้มสายชูที่อยู่ในครัว  ขว้างไปที่กองขยะที่เอื้องนั่งอยู่  ทำให้เอื้องได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นตาบอดหนึ่งข้าง

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  เอื้องจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ตนต้องตาบอดได้หรือไม่  และหากปรากฏว่าเอื้องมีเด็กชายอุ้ยอายุ  1  เดือน  เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย  เด็กชายอุ้ยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  443  วรรคท้าย  ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  เอื้องจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ตนต้องตาบอดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่หนูยิ้มขว้างขวดน้ำส้มสายชูลงมาทำให้เอื้องได้รับบาดเจ็บถึงขั้นตาบอด  การกระทำของหนูยิ้มเป็นการกระทำโดยรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  จึงถือว่าเป็นการจงใจซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเอื้อง  และการกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420  หนูยิ้มต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กรณีไม่ใช่ความรับผิดตามมาตรา  436  เพราะการที่จะเป็นความรับผิดตามมาตรา  436  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีการจงใจหรือไม่มีการประมาทเลินเล่อของบุคคล  ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการจงใจหรือมีการประมาทเลินเล่อของบุคคลใด  ก็ต้องนำบทบัญญัติมาตรา  420 มาใช้บังคับเอาผิดกับบุคคลนั้น  จะนำมาตรา  436  มาใช้บังคับไม่ได้  นอกจากนั้นการจะนำบทบัญญัติมาตรา  436  มาใช้บังคับนั้น  หมายถึง  มีข้อเท็จจริงว่าของได้ตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือนนั้นและไม่อาจหาตัวผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้  แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า  หนูยิ้มเป็นผู้กระทำโดยจงใจ  หนูยิ้มจึงต้องรับผิดตามมาตรา  420  แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ดี  เมื่อหนูยิ้มเป็นบุตรผู้เยาว์ของเฟื่อง  และมีการกระทำละเมิดต่อผู้อื่น  มารดาของผู้กระทำละเมิด  คือ  เฟื่อง  จึงต้องร่วมกันรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา  429  ที่ว่า  แม้ผู้กระทำละเมิดจะไร้ความสามารถ  เพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาของบุคคลเช่นว่านั้นย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  ทั้งนี้เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้นแล้ว  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการระมัดระวัง  ดังนั้น  เฟื่องจึงต้องร่วมรับผิดกับหนูยิ้มในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอื้อง 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เด็กชายอุ้ยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เห็นว่า  ค่าขาดไร้อุปการะจะเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  เมื่อเอื้องเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บตาบอดได้รับความเสียหายแก่ร่างกายไม่ถึงกับตาย  เอื้องจึงเป็นผู้เสียหายเองที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  ไม่ใช่ทายาทและไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหายเองเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  ดังนั้นเด็กชายอุ้ยแม้จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งตามกฎหมายครอบครัวจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะจากหนูยิ้มได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

สรุป  เอื้องสามารถเรียกให้หนูยิ้มและเฟื่องรับผิดในการที่ตนตาบอดได้  ส่วนเด็กชายอุ้ยไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะได้   

 

 

ข้อ  3  นายเอกเขียนจดหมายส่งไปถึงนายโทซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  ในจดหมายมีข้อความว่า  นายขาวเป็นคนไม่ดี  เคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งที่บ้านของนายโท  ปรากฏว่านายโทไม่อยู่บ้าน  มีเพียงนายตรีซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาพักอยู่กับนายโทนี่ที่เป็นเพื่อนกัน  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงยื่นจดหมายให้กับนายตรี  นายตรีรับจดหมายมาแล้ว  ต่อมาได้แกะจดหมายออกอ่านจึงทราบข้อความในจดหมายทุกประการ

ข้อเท็จจริงได้ความว่า  นายขาวเป็นคนดี  ไม่เคยติดคุกแต่ประการใด

ดังนี้  นายเอกต้องรับผิดในทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

สำหรับบุคคลที่สาม  ที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น  หมายความถึง  บุคคลที่ได้ยินได้ฟังหรือได้เห็น  หรือได้อ่านข้อความที่มีการกล่าวไขข่าว  โดยบุคคลนั้นมิใช่ผู้ที่ถูกใส่ความ  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำละเมิด  หรือสามีภริยาซึ่งกันและกัน  หรือผู้แอบดู  แอบฟัง  หรือแอบรู้เห็นโดยละเมิด  ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของผู้อื่น  โดยที่ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้ตั้งใจจะให้ผู้ใดมาล่วงรู้หรือต้องการให้รู้กันเฉพาะกลุ่มของตน

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายเอกจะต้องรับผิดในทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเอกเขียนจดหมายถึงนายโทซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีการกระทำเข้าลักษณะการไขข่าว  แต่การไขข่าวของนายเอกไม่ได้แพร่หลาย  เพราะไม่ได้กระทำต่อบุคคลที่สาม  เนื่องจากการที่นายเอกส่งจดหมายไปให้นายโทแต่นายโทไม่อยู่บ้าน  นายตรีซึ่งเป็นเพื่อนบ้านนายโทรับจดมายไว้แทนและแกะจดหมายออกอ่าน  ถือได้ว่านายตรีเป็นผู้แอบดู  แอบรู้เห็นโดยละเมิด มิใช่บุคคลที่นายเอกจงใจจะไขข่าวให้ทราบ  กรณีนี้ถือไม่ได้ว่านายตรีเป็นบุคคลที่สาม  เมื่อการไขข่าวของนายเอกไม่ได้แพร่หลาย  การกระทำของนายเอกจึงไม่เป็นการละเมิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  423 

สรุป  การกระทำของนายเอกไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา  423

 

 

ข้อ  4  นายเอประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ได้รายได้สุทธิวันละ  1,000  บาท  ได้อยู่กินกับนางสาวบี  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจนมีบุตร 1  คน  คือ  เด็กหญิงแดง  นายเอได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงแดงพร้อมทั้งให้ใช้นามสกุลในวันเกิดเหตุนายเอและนางสาวบีได้พาเด็กหญิงแดงไปทานสุกี้ฉลองวันเกิดครบ  1  ปี  ที่ร้านสุกี้แห่งหนึ่ง  ในระหว่างที่ทานอยู่นั้นเด็กหญิงแดงได้ร้องไห้บ้างเป็นบางครั้งคราว  ทำให้นายโหดที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆหงุดหงิดรำคาญจึงลุกเดินมาต่อยตานายเอจนปิดและบวมช้ำ  และนายโหดยังได้โยนหม้อสุกี้ที่กำลังเดือดใส่เด็กหญิงแดง  เป็นเหตุให้เด็กหญิงแดงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลง  ข้อเท็จจริงต่อมา  นายเอได้เสียค่ารักษาพยาบาลดวงตาไป  10,000  บาท ดวงตาจึงหายเป็นปกติ  อีกทั้งนายเอไม่สามารถขับรถแท็กซี่ได้ต้องหยุดพักรักษาดวงตาเป็นเวลา  5  วัน  จงวินิจฉัยพร้อมให้เหตุผลและหลักกฎหมายประกอบโดยชัดเจน

ก)     นายเอมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพเด็กหญิงแดงและค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่

ข)     นายเอมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลดวงตา  10,000  บาท  และค่าที่ตนต้องขาดรายได้  เนื่องจากไม่สามารถขับรถแท็กซี่เป็นเวลา  5  วัน  จากนายโหดได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายโหดเดินมาต่อยตานายเอจนตาปิดและบวมช้ำ  และนายโหดยังได้โยนหม้อสุกี้ที่กำลังเดือดใส่เด็กหญิงแดงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลงนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย  และการกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  ดังนั้นการกระทำของนายโหดจึงเป็นละเมิดตามมาตรา  420 

ก)     นายเอจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพตามกฎหมายมรดกซึ่งก็คือทายาทของผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย  นายเออยู่กินกับนางสาวบีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  นายเอเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้นายเอได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงแดงพร้อมทั้งให้ใช้นามสกุลของตน  ก็ถือว่าเป็นกรณีที่นายเอบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้การรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ตามมาตรา  1627  เท่านั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้นายเอกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแดงแต่อย่างใด  ดังนั้นนายเอจึงมิใช่ทายาทของเด็กหญิงแดง นายเอจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพเด็กหญิงแดงจากนายโหดได้  เทียบฎีกาที่  14/2517

สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ  นายเอจะมีสิทธิฟ้องเรียกได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  เมื่อนายเอมิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแดงผู้เยาว์  เด็กหญิงแดง  (ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูนายเอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1563  ดังนั้น  นายเอย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากนายโหดผู้กระทำละเมิด  เทียบฎีกาที่  1409/2548  กับฎีกาที่  7458/2543

ข)     เมื่อนายเอเป็นผู้ต้องเสียหายที่ถูกนายโหดกระทำละเมิดจนได้รับบาดเจ็บแก่ดวงตานั้น  นายเอย่อมชอบที่จะเรียกค่ารักษาพยาบาลดวงตา  10,000  บาท  ที่ตนเสียไปตามมาตรา  444  วรรคแรก  เทียบฎีกาที่  1085/2511

อีกทั้งนายเอไม่สามารถขับรถแท็กซี่ได้ต้องหยุดพักรักษาดวงตาเป็นเวลา  5  วัน  ถือได้ว่านายเอได้เสียความสามารถประกอบการงานขับรถแท็กซี่สิ้นเชิงเป็นเวลา  5  วัน  ทำให้ต้องขาดรายได้วันละ  1,000  บาท  นายเอจึงชอบที่จะเรียกค่าขาดรายได้จำนวนทั้งสิ้น  5,000 บาท  ได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรกด้วย

สรุป

ก)     นายเอไม่มีสิทธิเรียกทั้งค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากนายโหด

ข)     นายเอเรียกค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดรายได้เสียความสามารถประกอบการงานจากนายโหดได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางอุ่นเรือนร้องขอให้นายวันชัยช่วยขับรถยนต์ของตนเพื่อพาเพื่อนต่างชาติโดยสารนั่งเที่ยวชมเมือง  ระหว่างรอผู้โดยสารเที่ยวชมโบราณสถานอยู่นั้น  นายวันชัยจอดรถติดเครื่องทิ้งไว้ริมถนนแล้ว  เดินไปดูของที่ระลึกที่ตั้งร้านอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น  แต่เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ลาด  ทำให้รถเคลื่อนที่ออกไปตามถนน  ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ซึ่งเป็นตำรวจอยู่บนสถานีตำรวจเห็นเหตุการณ์  และเห็นว่ารถนั้นกำลังจะชนหญิงคนหนึ่ง  จึงเข้าไปช่วยดึงรถให้หยุดจึงถูกรถลากไปได้รับบาดเจ็บ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะต้องรับผิดในการที่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ได้รับบาดเจ็บ  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ซึ่งเป็นตำรวจเห็นว่ารถยนต์ของนางอุ่นเรือนกำลังจะชนหญิงคนหนึ่ง  จึงเข้าไปช่วยดึงรถและได้ถูกรถลากไปจนได้รับบาดเจ็บนั้น  กรณีถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วไป  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์  ก็ถือได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  ทั้งนี้เพราะขณะเกิดเหตุรถยนต์กำลังเดินเครื่องอยู่  นายวันชัยซึ่งเป็นผู้ควบคุมรถยนต์นั้น  จึงต้องรับผิดต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ตามมาตรา  437  ส่วนนางอุ่นเรือนซึ่งเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้อยู่ในรถจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา  437  จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรานี้แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อนางอุ่นเรือนเป็นผู้วานให้นายวันชัยเป็นผู้ขับรถแทน  กรณีจึงถือว่านางอุ่นเรือนเป็นตัวการ  และนายวันชัยเป็นตัวแทน  ซึ่งมาตรา  427  กำหนดให้ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจแห่งตัวแทน  ดังนั้น  นางอุ่นเรือนจึงต้องร่วมรับผิดกับนายวันชัยต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์

สรุป  นางอุ่นเรือนต้องร่วมรับผิดกับนายวันชัยต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์  

 

 

ข้อ  2  นายมนูญอายุ  19  ปี  ทำงานเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพฯ  ได้คิดสั้นฆ่าตัวตาย.  จึงวิ่งตัดหน้ารถของนายมารวยซึ่งขับมาด้วยความเร็วปกติ  ทำให้รถของนายมารวยชนร่างนายมนูญได้รับบาดเจ็บสาหัส  และเนื่องจากนายมารวยต้องเบรกรถอย่างกะทันหัน  ทำให้นายมนัสซึ่งนั่งอยู่ในรถคันนั้นได้ตกไปจากที่นั่งอย่างแรงได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายมนัสจะเรียกร้องให้นายมารวยรับผิดในเหตุละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายมนัสจะเรียกร้องต่อนายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญ  ให้รับผิดในคดีละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์ 

นายมนัสได้รับความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  คือ  รถยนต์ของมารวย  นายมนัสจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายมารวยในฐานะเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น  ให้รับผิดตามมาตรา  437  ทั้งนี้  แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกิดจากความประมาทของนายมารวยก็ตาม  ในกรณีเช่นนี้  นายมารวยก็มีสิทธิแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับผิดได้โดยการอ้างเหตุสุดวิสัย  ซึ่งตามมาตรา  437  กำหนดให้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดได้  เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมีคนกระโดดมาตัดหน้ารถกะทันหัน

อย่างไรก็ดี  นายมนัสมีสิทธิเรียกร้องต่อนายมนูญในฐานะที่กระทำละเมิด  โดยเป็นเหตุให้รถยนต์นายมารวยต้องเบรกกะทันหัน  และเป็นเหตุให้นายมนัสได้รับบาดเจ็บ  อันถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำแล้ว  นายมนูญจึงมีความรับผิดตามมาตรา  420  ต่อนายมนัส

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

ตามหลักกฎหมายมาตรา  425  เมื่อลูกจ้างกระทำละเมิด  นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย  ดังนั้น  นายจ้างของนายมนูญจึงควรต้องรับผิดกับนายมนูญต่อนายมนัสด้วย  แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายมนูญไม่ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  นายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญจึงไม่ต้องรับผิดด้วย

สรุป

(ก)  นายมนัสมีสิทธิเรียกร้องให้นายมารวยรับผิดในเหตุละเมิดได้  แต่นายมารวยก็มีสิทธิอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ต้องรับผิดได้

(ข)  นายมนัสจะเรียกร้องต่อนายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญไม่ได้

 

 

ข้อ  3  จำเลยขับรถไปตามถนนด้วยความเร็วปกติธรรมดา  ขณะไปถึงสี่แยกไฟแดง  ปรากฏว่ามีสัญญาณไฟแดง  จำเลยจึงเหยียบเบรกแต่ไม่สามารถหยุดรถได้  เพราะเบรกเสียใช้การไม่ได้  รถจึงวิ่งชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ทายาทของนาย  ก  ฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางละเมิด  จำเลยต่อสู้ว่าการที่จำเลยขับรถชนนาย ก  ตาย  เพราะเบรกเสียใช้การไม่ได้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย  ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่รถจำเลยเบรกเสียใช้การไม่ได้ในขณะขับ  เป็นเหตุให้รถยนต์วิ่งชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  การที่รถเบรกเสียใช้การไม่ได้  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย  อันจะเป็นข้อยกเว้นของกฎหมาย  เพราะถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่ผู้ขับขี่อาจป้องกันได้ถ้าหากใช้ความระมัดระวังตามสมควร  โดยตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยก่อนนำออกขับขี่  ดังนั้น  เมื่อรถของจำเลยชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  จำเลยในฐานะผู้ควบคุมจึงต้องรับผิดตามมาตรา  437  วรรคแรก  เทียบฎีกาที่  174/2528

สรุป  จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา  437

 

 

ข้อ  4  นายก้องตาบอดหนึ่งข้างแต่กำเนิด  อีกข้างที่เหลือใช้การได้ตามปกติ  โดยนายก้องมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือเด็กหญิงส้ม  ต่อมานายก้องทราบว่าตาข้างที่ใช้การได้ของตนเริ่มมองไม่ชัด  เนื่องจากเป็นโรคต้อ  นายก้องจึงได้ไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดรักษา  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากผ่าตัดหนึ่งวันดวงตาที่ผ่ามีอาการติดเชื้อรุนแรงซึ่งอาจลุกลามถึงสมองได้  สาเหตุเนื่องจากแพทย์ผู้ผ่าตัดทำการผ่าตัดโดยประมาทเลินเล่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาความสะอาดตามสมควร  เป็นเหตุให้นายก้องเสียค่าใช้จ่าย  200,000  บาท  ในการผ่าตัดควักลูกนัยน์ตาที่ติดเชื้อออก  เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อไปที่สมอง  ทำให้ปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้างไม่อาจทำงานได้ปกติดังเดิม  อีกทั้งนายก้องยังต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นไป  ดังนี้ 

(ก)  นายก้องจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย  200,000  บาท  และค่าเสียหายที่นายก้องต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  เด็กหญิงส้มจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ  เนื่องจากปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้าง  ไม่อาจทำงานหาเลี้ยงเด็กหญิงส้มได้ดังเดิม  จากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท  เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง  หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน  ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่แพทย์กระทำละเมิดทำการผ่าตัดโดยประมาทเลินเล่อ  เป็นเหตุให้นายก้องเสียค่าใช้จ่าย  200,000  บาท  ในการผ่าตัดควักลูกนัยน์ตาที่ติดเชื้อออกนั้น  นายก้องสามารถฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้  โดยถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ตนต้องเสียไปตามมาตรา  444  วรรคแรก

และกรณีที่แพทย์ผ่าตัดลูกนัยน์ตาออก  ทำให้ปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้าง  อีกทั้งนายก้องยังต้องทนทุกข์ทรมานและซึมเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็น  กรณีเช่นนี้  นายก้องก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้  โดยถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา  446

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

เด็กหญิงส้มบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายก้องจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้  เพราะค่าขาดไร้อุปการะจะเรียกร้องได้เฉพาะกรณีการทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น  ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  การกระทำละเมิดของแพทย์เป็นแต่เพียงทำให้นายก้องบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงส้มได้รับบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น  ไม่ปรากฏว่านายก้องถึงแก่ความตาย  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  443 

สรุป

(ก)  นายก้องฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย  200,000  บาท  และค่าเสียหายที่นายก้องต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้

(ข)  เด็กหญิงส้มจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ S/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  มุกเช่ารถยนต์มาจากป้องเพื่อใช้ในงานบวชลูกชาย  ป้องวานให้ป่านน้องชายช่วยขับรถเช่าคันนี้ไปส่งมอบให้มุกที่บ้าน  ระหว่างทางป่านขับรถโดยประมาทชนสร้อยฟ้าได้รับบาดเจ็บสาหัส  ดังนี้สร้อยฟ้าจะฟ้องให้มุก  ป้อง  และป่าน  ร่วมกันรับผิดได้หรือไม่  และมารดาของสร้อยฟ้าจะเรียกร้องค่ารถและค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตร  รวมทั้งค่าขาดรายได้ของตนในระหว่างไปดูแลบุตรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ป่านได้ขับรถโดยประมาทชนสร้อยฟ้าได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  การกระทำของป่านถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของป่าน  ดังนั้นจึงถือว่าป่านได้กระทำละเมิดต่อสร้อยฟ้าตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่สร้อยฟ้า

การที่ป้องได้วานให้ป่านเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งมอบให้มุก  ถือว่าป่านได้กระทำในฐานะตัวแทนของป้องที่เป็นตัวการ  และเมื่อป่านได้กระทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ป้องซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดกับป่านด้วยตามมาตรา  427  ซึ่งให้นำบทบัญญัติในมาตรา  425  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนมุกซึ่งมิได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับป่านซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิด  จึงไม่ต้องรับผิดต่อสร้อยฟ้า

สำหรับมารดาของสร้อยฟ้า  สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารถ  และค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตรได้  เพราะเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ต้องเสียไปตามมาตรา  444  วรรคแรก  แต่จะเรียกค่าขาดรายได้ของมารดาในระหว่างไปดูแลบุตรซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้  เทียบฎีกาที่ 3345/38

สรุป

1       สร้อยฟ้าสามารถฟ้องให้ป้องและป่านร่วมกับรับผิดได้  แต่จะฟ้องมุกไม่ได้ 

2       มารดาของสร้อยฟ้าสามารถเรียกร้องค่ารถและค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตรได้  แต่จะเรียกค่าขาดรายได้ของตนไม่ได้

 

 

ข้อ  2   เด็กชายจตุพร  อายุ  14  ปี  มีนิสัยเกเร  ชอบพกระเบิดขวดไปโรงเรียนเป็นประจำ  นายวีระซึ่งเป็นบิดาก็ทราบเรื่องได้ว่ากล่าวตักเตือนหลายครั้งมิให้พกไปโรงเรียน  แต่เด็กชายจตุพรไม่เชื่อฟัง  ยังคงพกพาระเบิดขวดอยู่เสมอ  วันเกิดเหตุ  เด็กชายจตุพรเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงและทะเลาะกับเด็กชายณัฐวุฒิเพื่อแย่งที่นั่งกัน  ทำให้เด็กชายจตุพนโกรธ  หยิบระเบิดขวดขึ้นมาขว้างใส่คู่อริ  สะเก็ดระเบิดถูกนายซวยถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้  บุตรชายอายุ  10  ปี  ของนายซวยจะฟ้องให้นายวีระและเด็กชายจตุพรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอะไรได้บ้าง   

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายจตุพรซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้หยิบระเบิดขวดขว้างใส่อริ  ทำให้สะเก็ดระเบิดถูกนายซวยถึงแก่ความตายทันทีนั้น  การกระทำของเด็กชายจตุพรเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  (คือให้ถือว่าเป็นการจงใจกระทำต่อนายซวย)  เป็นเหตุให้นายซวยถึงแก่ความตาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายจตุพร  ดังนั้นจึงถือว่าเด็กชายจตุพรได้กระทำละเมิดต่อนายซวยตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน  และแม้ว่าเด็กชายจตุพรจะเป็นผู้เยาว์  ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดตามมาตรา  429

และเมื่อเด็กชายจตุพรต้องรับผิด  นายวีระผู้เป็นบิดาก็ต้องรับผิดร่วมกับเด็กชายจตุพรด้วย  ตามมาตรา  429  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลผู้เยาว์แล้ว  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายวีระกระทำเพียงได้ว่ากล่าวตักเตือนมิให้เด็กชายจตุพรพกระเบิดไปโรงเรียนเท่านั้น  ยังถือไม่ได้ว่านายวีระได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กผู้เยาว์  นายวีระจึงต้องร่วมกับเด็กชายจตุพรรับผิดต่อบุตรของนายซวยในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่านายซวยได้ถึงแก่ความตายทันที  ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น  รวมทั้งค่าที่บุตรชายของนายซวยต้องขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443 วรรคสาม

สรุป  บุตรของนายซวยสามารถฟ้องให้นายวีระและเด็กชายจตุพรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  คือ  ค่าปลงศพ  ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น  และค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายได้

 

 

ข้อ  3  นายชายและนายอ๊อดเป็นลูกจ้างของนายเคี๊ยง  นายชายมีหน้าที่ขนสินค้าเพื่อส่งให้ลูกค้า  นายอ๊อดมีหน้าที่ขับรถขนสินค้า  ตามปกตินายชายก็จะนั่งรถไปด้วยกับรถขนสินค้าที่นายอ๊อดขับ  วันเกิดเหตุนายอ๊อดขับรถไปส่งสินค้าที่ร้านของนางสาวก้อย  และได้จอดรถไว้ที่หน้าร้านเพื่อเข้าห้องน้ำ  ระหว่างนั้น  นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์เพื่อเลื่อนรถออกจากตำแหน่ง  แต่นายชายไม่มีความชำนาญในการขับรถ  จึงทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อยได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นางสาวก้อยจะเรียกร้องให้นายเคี๊ยงร่วมกันรับผิดกับนายชายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนางสาวก้อยจะเรียกร้องค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง  หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน  ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์เพื่อเลื่อนรถออกจากตำแหน่ง  โดยที่ไม่มีความชำนาญในการขับรถ  จึงทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อย ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  การกระทำของนายชายถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของนางสาวก้อย  จึงต้องรับผิดฐานละเมิดตามมาตรา  420

และแม้นายชายซึ่งเป็นลูกจ้างของนายเคี๊ยงมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ  แต่การที่นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้าง  โดยผู้มีหน้าที่ขับรถมิได้ควบคุมดูแลทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อย  เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างยังคงมีอยู่  จึงถือว่าการกระทำของนายชายเป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง  นายเคี๊ยงจึงต้องร่วมรับผิดกับนายชายตามมาตรา  425 

สำหรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกายนั้น  นอกจากนางสาวก้อยจะเรียกร้องได้ตามมาตรา  443  วรรคแรกแล้ว  นางสาวก้อยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตกได้ตามมาตรา  446  ซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิอาจตีราคาเป็นเงินได้

สรุป  นางสาวก้อยสามารถเรียกร้องให้นายเคี๊ยงร่วมรับผิดกับนายชายได้  และสามารถเรียกร้องค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตก  ซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้  

 

 

ข้อ  4  นายแดงลงสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.  โดยใช้ใบสุทธิปลอมในการแสดงคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  และนายแดงได้รับการเลือกตั้ง  แต่ต่อมา  กกต.  ตรวจพบ  ผลสุดท้ายจึงต้องคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง  ทำให้  กกต.  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง  และหากว่านายแดงได้พาพรรคพวกจำนวน  10  คน  บุกเข้าไปยัง  กกต.  แต่ถูกนายขาวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ  กกต.  ปิดประตูไม่ให้เข้าไป  นายแดงและพรรคพวกจึงพังประตูรั้วเข้าไป  และจะทำร้ายนายขาว  นายขาวจึงวิ่งหนีกลุ่มชนนั้นเข้าไปในร้านค้าของนายเขียวที่อยู่ติดกัน  แต่ประตูปิดอยู่  นายขาวจึงพังประตูเข้าไป  ทำให้ประตูแตกเสียหาย  และนายขาวหลุดพ้นจากอันตรายจากกลุ่มคนนั้นได้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายแดงจะต้องรับผิดฐานละเมิดต่อ  กกต.  ในค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียจากการจัดเลือกตั้งใหม่หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายขาวต้องรับผิดต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้าที่ประตูแตกเสียหายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

  ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

(ก)  ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงได้ใช้ใบสุทธิปลอมสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.  และได้รับเลือกตั้ง  เมื่อต่อมา  กกต.  ตรวจพบและได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น  ส.ส.ของนายแดงสิ้นสุดลง  และทำให้  กกต.  ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น  การกระทำของนายแดงเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  และทำให้  กกต.  ต้องเสียหาย  คือ  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง  จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420  และเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของนายแดงและไม่ไกลกว่าเหตุ  ดังนั้นนายแดงจึงต้องรับผิดต่อ  กกต  ในค่าใช้จ่ายที่  กกต  ต้องเสียไปจากการจัดเลือกตั้งใหม่  เทียบฎีกาที่  4174/2529

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงและพรรคพวกจะทำร้ายนายขาว  ทำให้นายขาวต้องหนีและได้พังประตูร้านค้าของนายเขียวจนทำให้ประตูร้านค้าแตกเสียหายนั้น  การกระทำของนายขาวเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายที่มีคนมาทำละเมิดต่อตน  จึงถือว่าเป็นการกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  คือไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้าที่ประตูแตกเสียหาย

สรุป

(ก)  นายแดงจะต้องรับผิดฐานละเมิดต่อ  กกต.  ในค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปจากการจัดเลือกตั้งใหม่

(ข)  นายขาวไม่ต้องรับผิดต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้า

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางยิ้มแย้มขอยืมแหวนเพชรมาจากนางเกียว  หลังจากนั้นได้นำแหวนเพชรไปให้ร้านของนายสดใสเพื่อให้ทำความสะอาด  แต่เมื่อนางยิ้มแย้มรับแหวนกลับ  ปรากฏว่าลูกจ้างของนายสดใสได้ลักแหวนดังกล่าวไปแล้ว  ดังนั้น  นายสดใสจึงได้ชดใช้ค่าแหวนเพชรให้แก่นางยิ้มแย้มไป

ดังนี้  หากว่า  นางยิ้มแย้มไม่นำเงินที่ได้รับจากนายสดใสไปให้นางเกียว  นางเกียวจะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ลูกจ้างของนายสดใสได้ลักแหวนเพชรของนางเกียวที่นางยิ้มแย้มนำไปให้นายสดใสเพื่อทำความสะอาดนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของลูกจ้างดังกล่าว  จึงถือว่าลูกจ้างของนายสดใสได้กระทำละเมิดต่อนางเกียวตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเกียว

และเมื่อการทำละเมิดของลูกจ้างนายสดใสต่อนางเกียวนั้น  ได้กระทำในระหว่างที่เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้าง  ดังนั้นนายสดใสนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิด  คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ของนายเกียวตามมาตรา  425 

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายสดใสได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางยิ้มแย้มซึ่งเป็นผู้ครองแหวนอันเป็นสังหาริมทรัพย์ในขณะที่มีการละเมิดไปแล้วโดยสุจริต  คือ  โดยเข้าใจว่าแหวนเพชรเป็นของนางยิ้มแย้ม  ดังนั้นนายสดใสย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  441 คือ  ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ในมูลละเมิดดังกล่าว

ดังนั้นหากว่านางยิ้มแย้มไม่นำเงินที่ได้รับจากนายสดใสไปให้แก่นางเกียว  นางเกียวก็จะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปไม่ได้

สรุป  นางเกียวจะเรียกร้องให้นายสดใสรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในแหวนเพชรที่หายไปไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายประเทืองไม่ชอบสมชัย  จึงยุให้ลิงของนายสมศักดิ์ไปไล่กัดนายสมชัย  นายสมชัยได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน  แต่เนื่องจากยังโกรธนายประเทืองอยู่  นายสมชัยจึงได้ไปยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายสมศักดิ์  ลิงของนายสมศักดิ์ได้รับบาดเจ็บ  จึงร้องโหยหวนและวิ่งหนีไปบนหลังคารถของยายหวานที่จอดอยู่หน้าบ้าน  ยายหวานตกใจเสียงลิงร้องและเห็นลิงมาอยู่ที่หลังคา  จึงช็อกและขาดใจตายทันที

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ใครจะต้องรับผิดในความตายของยายหวานและลิงของนายสมศักดิ์ที่ได้รับบาดเจ็บ  และถ้าข้อเท็จจริงได้ความว่ายายหวานอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับตาอยู่โดยไม่ได้จดทะเบียนกัน  เมื่อยายหวานถึงแก่ความตาย  ตาอยู่จึงได้จัดการศพตามประเพณี  เสียค่าใช้จ่ายไป  100,000  บาท

ให้วินิจฉัยว่า  ตาอยู่จะเรียกร้องค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สมชัยยุให้สุนัขของตนกัดลิงของสมศักดิ์จนได้รับบาดเจ็บนั้น  การกระทำของสมชัยถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของสมชัย จึงถือว่าสมชัยได้กระทำละเมิดต่อสมศักดิ์ตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมศักดิ์

และการที่ลิงของสมศักดิ์ได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถของยายหวาน  และส่งเสียงร้องจนทำให้ยายหวานตกใจช็อกถึงแก่ความตายนั้น  ก็เป็นผลมาจากการกระทำของสมชัยที่ยุสุนัขให้กัดลิงในตอนแรก  เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับยายหวานสัมพันธ์กับการกระทำของสมชัย  ดังนั้นจึงถือว่าสมชัยกระทำละเมิดต่อยายหวานและต้องรับผิดในความตายของยายหวานด้วยตามมาตรา  420  ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์  เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา  433  จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง  มิใช่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ

แต่อย่างไรก็ตาม  ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตายเท่านั้น  เมื่อได้ความว่าตาอยู่มิได้เป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของยายหวาน  จึงไม่ถือว่าตาอยู่เป็นทายาทของยายหวานผู้ตาย  ดังนั้นตาอยู่จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพยายหวานตามมาตรา  443  วรรคแรก

ส่วนการที่ประเทืองยุให้ลิงของสมศักดิ์ไปไล่กัดสมชัยจนได้รับบาดเจ็บนั้น  แม้จะถือว่าประเทืองกระทำละเมิดต่อสมชัยและต้องรับผิดต่อสมชัยตามมาตรา  420  แต่เนื่องจากภัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว  สมชัยจึงได้ยุให้สุนัขกัดลิงของสมศักดิ์เพราะความโกรธ  ดังนั้น  ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยายหวานและลิงของสมศักดิ์จึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของประเทืองที่มีต่อสมชัย

สรุป  สมชัยจะต้องรับผิดในความตายของยายหวานและลิงของนายสมศักดิ์ที่ได้รับบาดเจ็บและตาอยู่จะเรียกร้องค่าปลงศพไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  นายแดงใช้อาวุธปืนยิงนาย  ก  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนาย  ก  ขณะที่นายแดงกำลังจะยิงนัดที่สอง  นาย  ก  ใช้อาวุธปืนยิงไปที่นายแดง  กระสุนปืนไม่ถูกนายแดงแต่กลับพลาดไปถูกนายขาวได้รับบาดเจ็บ  นายขาวรักษาตัวในโรงพยาบาล  เสียค่าใช้จ่ายไป  5,000  บาท ดังนี้

(1) นายขาวจะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายขาวจะฟ้องให้นายแดงรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  วรรคแรก  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้

1       จะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น

2       ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

3       เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

4       ผู้กระทำได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้  ผู้ที่ต้องเสียหายจากการป้องกันนั้นอาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้อีกด้วย  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์

1       การที่นายแดงใช้อาวุธปืนยิงนาย  ก  แต่กระสุนนัดแรกไม่ถูกนาย  ก  และกำลังจะยิงนัดที่สองนั้น  ถือเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และภยันตรายดังกล่าวใกล้จะถึงตัวนาย  ก  ซึ่งการที่นาย  ก  ใช้อาวุธปืนยิงไปที่นายแดงเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น  และเมื่อการกระทำดังกล่าวพอสมควรแก่เหตุ  จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่ากระสุนจะพลาดไปถูกนายขาวได้รับบาดเจ็บ  ก็เป็นผลมาจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย  ก  ดังนั้นการกระทำของนาย  ก  จึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  วรรคแรก  นาย  ก  จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวผู้เสียหาย

2       เมื่อนายขาวเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย  ก  จึงสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงผู้เป็นต้นเหตุให้นาย  ก  ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

สรุป

1       นายขาวจะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

2       นายขาวฟ้องนายแดงให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

 

 

ข้อ  4  ห้างสรรพสินค้า  เดอะแมว   มีบริการลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาจับจ่ายซื้อของ  ได้มอบหมายให้บริษัทมือโปรจำกัด  ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถ  บริษัทมือโปร  จำกัด  ได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำทางเข้าออกลานจอดรถทุกจุด โดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดต้องรับบัตรผ่านจากพนักงาน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็ต้องมอบบัตรผ่านคืนให้กับพนักงานที่ทางออก  จึงจะสามารถนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้  หากไม่คืนบัตรผ่านที่ถูกต้อง  พนักงานจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกนอกลานจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของบัตรจอดรถอย่างเคร่งครัด

นายเล็กลูกค้าที่มาซื้อของและจอดรถที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าพบว่ารถของตนหายไป  เนื่องจากคนร้าย  งัดแงะ  และขับผ่านจุดตรวจที่นายเปิ่นลูกจ้างพนักงานของบริษัทดังกล่าวประจำอยู่  เพราะนายเปิ่นไม่ได้ทำการตรวจสอบบัตรจอดรถอย่างรอบคอบเพียงแต่มองผ่านๆ  เห็นเลขทะเบียนคล้ายกันเลยให้รถออกไป

จงวินิจฉัยว่า  นายเล็กจะสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลใดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเปิ่นพนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด  อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์  เป็นผลทำให้รถยนต์ของนายเล็กถูกลักไปนั้น  การงดเว้นดังกล่าวของนายเปิ่นถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเปิ่น  จึงถือว่านายเปิ่นได้กระทำละเมิดต่อนายเล็กตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายเล็ก

และเมื่อการกระทำดังกล่าวของนายเปิ่น  เป็นการกระทำในระหว่างที่นายเปิ่นเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของบริษัทมือโปร  จำกัด  ดังนั้นบริษัทมือโปร  จำกัด  ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเปิ่น  ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งการละเมิดต่อนายเล็กตามมาตรา  425

ส่วนห้างสรรพสินค้าเดอะแมว  เมื่อได้มอบหมายให้บริษัทมือโปร  จำกัด  เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของห้างดังกล่าว  จึงต้องร่วมกับบริษัทมือโปร  จำกัด  และนายเปิ่นซึ่งเป็นตัวแทนของตนที่ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายรับผิดต่อนายเล็กในฐานะที่เป็นตัวการ  ตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425

สรุป  นายเล็กสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเปิ่น  บริษัทมือโปร  จำกัด  และห้างสรรพสินค้าเดอะแมวได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ปุ้ยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน  กาละแมมาเช่าบ้านและที่ดินของปุ้ยเพื่ออยู่อาศัย  บริเวณบ้านมีต้นไม้ใหญ่ปลูกอยู่เก่าแก่หลายปี กาละแมเป็นคนรักต้นไม้จึงหมั่นดูแลอยู่เสมอและเห็นว่าต้นไม้กำลังจะหักโค่นจึงแจ้งให้ปุ้ยมาจัดการ  แต่ปุ้ยยังนิ่งเฉยอยู่  นอกจากนั้นกาละแมได้นำกระถางต้นไม้ไปวางเรียงรายอยู่ตามมุมบ้าน  และนำไปตั้งอยู่ริมหน้าต่างให้สวยงามด้วย  หากข้อเท็จจริงมีว่า

(ก)  กระถางต้นไม้ของกาละแมหล่นมาถูกหัวของนีน่า  ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเป็นอัมพาต

(ข)  ต้นไม้ใหญ่ของปุ้ย  โค่นลงมาล้มทับไก่ซึ่งเดินอยู่ริมรั้วบ้านหลังนี้  ทำให้ไก่ถึงแก่ความตายทันที

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ปุ้ยและกาละแมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่าและไก่หรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากว่ามีป้าของไก่ได้มาช่วยจัดการศพให้ไก่โดยออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง  เด็กชายเป็ดซึ่งเป็นบุตรของไก่จะไปเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ต่อปุ้ยหรือกาละแมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  434  วรรคแรกและวรรคสอง  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี  หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี  ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว  ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูก  หรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่กระถางต้นไม้ที่กาละแมได้นำไปตั้งไว้ริมหน้าต่างได้หล่นมาถูกหัวของนีน่า  จนทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเป็นอัมพาตนั้น  ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของกาละแม  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อมีการตกหล่นจากโรงเรือน  กฎหมาย  (ป.พ.พ. มาตรา  436)  ได้กำหนดให้บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนนั้นต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย  ดังนั้น  กาละแมซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่า

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต้นไม้ใหญ่ของปุ้ยได้โค่นลงมาทับไก่  ซึ่งเดินอยู่ริมรั้วบ้านของปุ้ย  ทำให้ไก่ถึงแก่ความตายทันที  เห็นได้ว่า  เมื่อกาละแมได้เช่าบ้านของปุ้ยจึงถือว่ากาละแมเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนและต้นไม้ที่อยู่บริเวณที่เช่า  และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากต้นไม้จนทำให้ไก่ถึงแก่ความตาย  ซึ่งตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  434  ได้กำหนดให้ผู้ครองต้องรับผิด  ดังนั้นกาละแมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ไก่

แต่อย่างไรก็ดี  กาละแมสามารถแก้ตัวให้ตนพ้นผิดได้  เพราะได้หมั่นดูแลรักษาต้นไม้อยู่เสมอ  โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว  กล่าวคือ  ได้แจ้งให้ปุ้ยซึ่งเป็นเจ้าของให้มาจัดการเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว  อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแล้ว  แต่ปุ้ยยังนิ่งเฉยอยู่  ดังนั้นกาละแมจึงไม่ต้องรับผิด  ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้น  ผู้ที่ต้องรับผิดคือปุ้ยซึ่งเป็นเจ้าของตาม  ป.พ.พ. มาตรา  434 

ส่วนกรณีที่มีผู้มาช่วยจัดการศพให้ไก่แล้ว  เด็กชายเป็ดซึ่งเป็นบุตรของไก่จะเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ได้หรือไม่นั้น  เห็นว่าการเรียกค่าปลงศพเป็นสิทธิของทายาทในการเรียกร้องได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  443  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเป็ดเป็นทายาทคนเดียวของไก่  เด็กชายเป็ดจึงมีสิทธิเรียกร้องได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีใครมาช่วยจัดการศพให้ไก่แล้วหรือไม่

สรุป

1       กาละแมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่าแต่เพียงผู้เดียว

2       ปุ้ยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ไก่แต่เพียงผู้เดียว

3       เด็กชายเป็ดสามารถเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ต่อปุ้ยได้  แต่จะไปเรียกร้องเอาจากกาละแมไม่ได้

 

 

ข้อ  2  อึ่งอ่างเลี้ยงสุนัขจรจัดไว้หลายตัวด้วยความรักและสงสาร  บ้านของอึ่งอ่างอยู่ติดกับบ้านของโอ่งอ้วนที่โย่งยิ่งเช่าอยู่  วันหนึ่งมีสุนัขตัวหนึ่งเดินจากบ้านอึ่งอ่างเข้ามาลักปลาย่างของโอ่งอ้วนแล้วกินหมดไปหลายตัว  โย่งยิ่งจึงร้องขอให้โอ่งอ้วนซึ่งแวะมาเที่ยวหาพอดีนั้นช่วยกันจับสุนัข  จากนั้นโอ่งอ้วนได้นำสุนัขไปขังไว้เพื่อจะเรียกเอาค่าเสียหายจากอึ่งอ่าง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า 

(ก)  อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โอ่งอ้วนและโย่งยิ่งคืนสุนัขดังกล่าว  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  โย่งยิ่งจะเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างโดยอ้างว่าสุนัขกินปลาย่างได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โย่งยิ่งคืนสุนัขของตนและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไม่ได้  เพราะโย่งยิ่งไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย  การที่โย่งยิ่งจับสุนัขขังไว้ไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา  420  แต่ได้จับสุนัขไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  เพราะโย่งยิ่งได้รับความเสียหายจากการที่สุนัขของอึ่งอ่างที่เข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่โย่งยิ่งครอบครองอยู่  โย่งยิ่งจึงอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา  452  ได้  และโย่งยิ่งไม่ต้องคืนสุนัขแก่อึ่งอ่างจนกว่าจะได้ค่าสินไหมทดแทน

อย่างไรก็ดี  มาตรา  452  ให้สิทธินิรโทษกรรมแก่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น  เมื่อปรากฏว่าโอ่งอ้วนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ให้โย่งยิ่งเช่าไปแล้ว  โอ่งอ้วนจึงไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด  การกระทำของโอ่งอ้วนจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมแต่อย่างใด  ดังนั้นอึ่งอ่างจึงเรียกร้องให้โอ่งอ้วนคืนสุนัขของตน  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่สุนัขได้กินปลาย่างของโย่งยิ่งทำให้โย่งยิ่งได้รับความเสียหาย  และถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสัตว์  ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น  ดังนั้นโย่งยิ่งจึงสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างได้ตามมาตรา  433

สรุป 

(ก)  อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โย่งยิ่งคืนสุนัขของตน  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไม่ได้  แต่อึ่งอ่างสามารถเรียกร้องเอาจากโอ่งอ้วนได้

(ข)  โย่งยิ่งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างโดยอ้างว่าสุนัขกินปลาย่างของตนได้

 

 

ข้อ  3  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเพื่อนกัน  วันเกิดเหตุนายหนึ่งขับรถไปที่บ้านของนายสองเพื่อแวะเยี่ยมนายสอง  โดยนายหนึ่งจอดรถไว้ที่โรงรถบ้านของนายสอง  ขณะเกิดเหตุลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายหนึ่ง  จากนั้นได้กัดเบาะรถของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย  คิดเป็นเงิน  5,000  บาท  ดังนี้

(ก)  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่จะสามารถจับหรือยึดสัตว์  หรือฆ่าสัตว์  ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา  452  ประกอบด้วย

1  ผู้มีอำนาจกระทำต้องเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  (ไม่รวมสังหาริมทรัพย์)    ที่ได้รับความเสียหาย

2  ความเสียหายจะต้องเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น

3  สัตว์เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  (ความเสียหายต่อบุคคล  หรือต่อทรัพย์ก็ได้)

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ลิงของนายแดงกัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้  เพราะแม้ความเสียหายจะเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น  ซึ่งเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  แต่เมื่อนายหนึ่งเป็นเพียงผู้ครองสังหาริมทรัพย์  (รถยนต์)  มิใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  452  วรรคแรก

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

นายสองก็จะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้เช่นกัน  เพราะแม้นายสองจะเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์  แต่นายสองก็ไม่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากลิงของนายแดงแต่อย่างใด  ผู้ที่จะจับหรือยึดสัตว์ตามมาตรา  452  วรรคแรก  หมายความเฉพาะผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น

สรุป

(ก)  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

(ข)  นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

 

 

ข้อ  4  นายหนึ่งบิดานอกกฎหมายของนางสาวบี  วัย  16  ปี  โดยนายหนึ่งได้ให้ใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตนมาโดยตลอด นายหนึ่งทราบดีว่าบุตรนั้นชอบแอบเอารถยนต์ของตนไปขับ  จึงนำกุญแจรถยนต์ไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะ  ในวันเกิดเหตุ  นางสาวบีได้แอบหยิบกุญแจรถที่นายหนึ่งได้เก็บซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะโดยไม่ได้ล็อกกุญแจไว้  ไปไขนำรถยนต์ของนายหนึ่งออกมาขับ  ต่อมาปรากฏว่านางสาวบีได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจึงเสียหลักพุ่งชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  จงวินิจฉัยว่า

(ก)  นางสาวบีต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายหนึ่งต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นางสาวบีได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง  จึงเสียหลักพุ่งชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต  และบาดเจ็บจำนวนมากนั้น  ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420  และแม้ว่านางสาวบีจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนได้กระทำละเมิดนั้นตามมาตรา  429

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

กรณีของนายหนึ่งซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นบิดานอกกฎหมายของนางสาวบี  และแม้ว่านายหนึ่งได้ให้นางสาวบีใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตนมาโดยตลอด  ก็เป็นเพียงการรับรองโดยพฤตินัยซึ่งมิใช่การรับรองโดยนิตินัยตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1547  ดังนั้นนายหนึ่งจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวบีแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี  กรณีดังกล่าวนี้ถือได้ว่านายหนึ่งเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลนางสาวบีผู้เยาว์  และตามข้อเท็จจริงนายหนึ่งก็มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บล็อกกุญแจรถยนต์  ดังนั้นนายหนึ่งจึงต้องรับผิดในทางละเมิดร่วมกับนางสาวบีด้วยตามมาตรา  430 

สรุป

(ก)  นางสาวบีต้องรับผิดในทางละเมิดตามมาตรา  420  และ  429

(ข)  นายหนึ่งต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดด้วยตามมาตรา  430

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ S/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  แดงเป็นเจ้าของสุนัขดุและเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายดำ  วันเกิดเหตุ  แดงสั่งให้เด็กชายดำอยู่บ้านและดูแลสุนัข จากนั้นได้เดินไปซื้อผักที่ตลาด  ระหว่างนั้น  เด็กชายดำขว้างลูกบอลเล่นอยู่ในบ้านกับสุนัข  และลูกบอลกระเด็นเข้าไปในบ้านของเขียว  ถูกกระถางต้นไม้แตกเสียหาย  เด็กชายดำและสุนัขจึงโดดข้ามรั้วบ้านเพื่อไปเก็บลูกบอลกลับมา  เขียวจึงจับสุนัขและเด็กไว้เป็นประกันค่าเสียหาย

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  เขียวและแดงต่างฝ่ายจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายรับผิดในเหตุละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นแรก  การที่เด็กชายดำ  ขว้างลูกบอลเล่นอยู่กับสุนัข  และลูกบอลกระเด็นเข้าไปถูกกระถางต้นไม้ในบ้านของเขียวแตกเสียหายนั้น  การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่น  โดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายดำ  จึงถือว่าเด็กชายดำกระทำละเมิดต่อเขียวตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขียว

และเมื่อการทำละเมิดของเด็กชายดำซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ (ผู้เยาว์)  ต่อเขียวนั้น  ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของแดง  แดงซึ่งเป็นผู้รับดูแลจึงต้องรับผิดร่วมกับเด็กชายดำ  ในผลแห่งละเมิด  คือ  ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ของเขียวด้วย  ตามมาตรา 430  ดังนั้น  เขียวจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แดงและเด็กชายดำร่วมกันรับผิดต่อตนได้

ประเด็นที่  2  แดงต้องรับผิดต่อเขียวในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสุนัขของตนด้วย  ในฐานะที่เป็นเจ้าของและผู้รับเลี้ยงสัตว์ในเวลาที่เกิดเหตุตามมาตรา  433  วรรคแรก  และไม่อาจแก้ตัวให้พ้นผิดได้  เพราะแดงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามชนิด  วิสัย  และพฤติการณ์ของสัตว์คือสุนัขดังกล่าว

ประเด็นที่  3  การที่เขียวจับสุนัขของแดงไว้เพื่อเป็นประกันค่าเสียหายนั้น  เขียวอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อแดงได้  เพราะเขียวผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่น  อันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ของตน  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา  452  วรรคแรก

แต่กรณีที่เขียวจับเด็กชายดำไว้นั้น  ถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อเด็กชายดำโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เด็กชายดำเสียหายแก่เสรีภาพ  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเขียวดังกล่าว  จึงถือว่าเขียวได้กระทำละเมิดต่อเด็กชายดำตามมาตรา  420  เขียวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เด็กชายดำ  และเขียวไม่สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา  452  วรรคแรกได้  เพราะกรณีตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นการจับหรือยึดสัตว์ไว้เท่านั้น

สรุป  เขียวและแดงต่างฝ่ายสามารถเรียกร้องให้อีกฝ่ายรับผิดในเหตุละเมิดได้  ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  นายเก่งขับรถยนต์ของตนสวนทางกับนายก้อง  ได้ตะโกนท้าทายให้มาแข่งรถกัน  แต่นายก้องไม่สนใจ  นายเก่งจึงใช้ก้อนหินขว้างใส่รถยนต์ของนายก้อง  ทำให้นายก้องสลบไป  และรถของนายก้องวิ่งไถลต่อไปจนชนกำแพงบ้านของนายกล้า  ทำให้รถยนต์ที่จอดอยู่ในรั้วบ้านนั้นพังเสียหายไปด้วย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายเก่งต้องรับผิดต่อนายกล้าหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายก้องต้องรับผิดต่อนายกล้าหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก)  นายเก่งต้องรับผิดต่อนายกล้าหรือไม่นั้น  เห็นว่า  การที่นายเก่งใช้ก้อนหินขว้างใส่รถยนต์ของนายก้อง  จนทำให้รถของนายก้องวิ่งไถลไปชนกำแพงบ้านของนายกล้า  และทำให้รถยนต์ของนายกล้าที่จอดอยู่ในรั้วบ้านพังเสียหายนั้น  การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ    ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  และความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของนายกล้านั้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเก่ง  กล่าวคือ  หากนายเก่งไม่ขว้างก้อนหินใส่รถยนต์ของนายก้อง  รถยนต์ของนายกล้าที่จอดอยู่ในรั้วบ้านก็คงไม่เสียหาย  ดังนั้น  จึงถือว่านายเก่งกระทำละเมิดต่อนายกล้าตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายกล้า

(ข)  นายก้องต้องรับผิดต่อนายกล้าหรือไม่นั้น  เห็นว่า  โดยหลักในเรื่องละเมิดนายก้องไม่ต้องรับผิดต่อนายกล้าตามมาตรา  420 เพราะขณะเกิดเหตุนายก้องสลบอยู่ไม่รู้สำนึกในการกระทำ  จึงถือว่านายก้องมิได้มีการกระทำอันจะเข้าหลักเกณฑ์ในเรื่องละเมิด

แต่อย่างไรก็ดี  กรณีนี้ถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะ  อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  ซึ่งตามมาตรา  437  วรรคแรก  กำหนดให้ผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะนั้นต้องรับผิด  ดังนั้นนายก้องซึ่งเป็นผู้ครอบครองและควบคุมรถยนต์จึงต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ของตนด้วย  แต่เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของนายกล้าเป็นเหตุสุดวิสัยที่นายก้องไม่อาจป้องกันได้  นายก้องจึงสามารถอ้างข้อยกเว้นดังกล่าวเพื่อแก้ตัวให้พ้นผิดได้ 

สรุป

(ก)  นายเก่งต้องรับผิดต่อนายกล้า

(ข)  นายก้องไม่ต้องรับผิดต่อนายกล้า

 

 

ข้อ  3  นายโชคร้ายดูแลเด็กชายวัชระหลานชายด้วยการหุงหาอาหารและทำงานบ้านให้ทุกวัน  ต่อมานายสมหมายทำร้ายร่างกายของนายโชคร้ายจนถึงพิการ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  เด็กชายวัชระจะเรียกร้องให้นายสมหมายชดใช้ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน  เนื่องจากนายโชคร้ายไม่สามารถทำการงานได้  ต้องจ้างคนใช้มาดูแลบ้านแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายโชคร้ายจะเรียกร้องให้นายสมหมายรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการร้องเพลงคืนละ  5,000  บาท  พร้อมกับเรียกร้องค่าที่ตนเองต้องกลายเป็นคนพิการได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(ก)  การที่นายสมหมายทำร้ายร่างกายนายโชคร้ายจนถึงพิการนั้น  การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อนายโชคร้ายโดยผิดกฎหมาย  ทำให้นายโชคร้ายเสียหายแก่ร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายสมหมาย  จึงถือว่านายสมหมายกระทำละเมิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชคร้าย

และตามมาตรา  445  ได้บัญญัติว่า  หากการกระทำละเมิดทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายและผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนของบุคคลภายนอกนั้น  ผู้กระทำละเมิดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย  ซึ่งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เด็กชายวัชระเป็นเพียงหลานชายของนายโชคร้าย  นายโชคร้ายผู้เสียหายจึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่เด็กชายวัชระในครัวเรือนแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อเด็กชายวัชระไม่ใช่ผู้เสียหายจากการขาดแรงงาน  จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายสมหมายชดใช้ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา  445

(ข)  เมื่อนายสมหมายกระทำละเมิดต่อนายโชคร้ายจนทำให้นายโชคร้ายเสียหายแก่ร่างกาย  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสมหมายรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาล  (ค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป)  และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการร้องเพลงคืนละ  5,000  บาท  (ค่าเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วน)  ได้ตามมาตรา  444  วรรคแรก

และนอกจากนี้  เมื่อนายโชคร้ายได้รับความเสียหายแก่ร่างกายจนถึงขั้นพิการ  ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ตนต้องกลายเป็นคนพิการ  (ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน)  อีกได้ตามมาตรา  446  วรรคแรก  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเรียกร้องซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด

สรุป

(ก)  เด็กชายวัชระจะเรียกร้องให้นายสมหมายชดใช้ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน  เนื่องจากนายโชคร้ายไม่สามารถทำการงานได้  ต้องจ้างคนใช้มาดูแลบ้านแทนไม่ได้

(ข)  นายโชคร้ายมีสิทธิเรียกร้องให้นายสมหมายรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการร้องเพลงคืนละ  5,000  บาท พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายที่ตนต้องกลายเป็นคนพิการได้

 

 

ข้อ  4  คุณสินเป็นสามีของคุณเด่น  วันเกิดเหตุ  ขณะที่คุณสินกำลังฝึกซ้อมกอล์ฟอยู่ที่สนามหน้าบ้าน  ได้ยินคุณเรญากำลังตะโกนด่าคุณดี๋ว่า  นังคนกระจอก  นังเพชรปลอม  นังหน้าจืด  คุณสินจึงเข้าร่วมผสมโรงด้วย  โดยยุยงให้คุณเรญาด่าให้หนักกว่านี้  พร้อมกับยกเท้าขึ้นสูงชี้หน้าคุณดี๋  ในขณะนั้นคุณเด่นอยู่ในเหตุการณ์แต่กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด  เพราะเกรงกลัวสามี  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คุณดี๋จะเรียกร้องให้คุณเรญา  คุณสิน  และคุณเด่นร่วมกันรับผิดฐานละเมิด  โดยการหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้วินิจฉัยพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผล

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่คุณเรญาตะโกนด่าคุณดี๋ว่า  นังคนกระจอก  นังเพชรปลอม  นังหน้าจืด  นั้น  ถือเป็นลักษณะของการดูหมิ่นและแสดงกิริยาอาการเหยียดหยามเท่านั้น  ไม่ถือว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงที่จะทำให้คุณดี๋เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด   เพราะมิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริง  จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  423 ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่จะกระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาทได้นั้น  ต้องมี  การกระทำที่เป็นการไขข้อเท็จจริง  และได้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้ที่ถูกอ้างอิงถึง  คุณเรญาจึงไม่มีความผิดฐานละเมิดโดยการหมิ่นประมาทต่อคุณดี๋ตามมาตรา  423

ดังนั้น  เมื่อคุณสินเข้าร่วมผสมโรงด้วย  โดยยุยงให้คุณเรญาด่าคุณดี๋ให้หนักกว่าเดิม  พร้อมกับยกเท้าขึ้นสูงชี้หน้าคุณดี๋  จึงไม่ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  และไม่มีความผิดฐานละเมิดโดยการหมิ่นประมาทต่อคุณดี๋ตามมาตรา  423  เช่นเดียวกัน

ส่วนคุณเด่นซึ่งอยู่ในเหตุการณ์  แต่กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือคุณดี๋แต่อย่างใด  เพราะเกรงกลัวสามีนั้น  เมื่อมิได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดโดยการหมิ่นประมาทต่อคุณดี๋  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา  423  และไม่ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ซึ่งกรณีนี้จะถือว่าเป็นการงดเว้นการกระทำมิได้  เพราะคุณเด่นไม่มีหน้าที่ต่อคุณดี๋ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายขึ้นแก่คุณดี๋  ดังนั้น  คุณดี๋จะเรียกร้องให้คุณเรญา  คุณสิน  และคุณเด่นร่วมกันรับผิดฐานละเมิดโดยการหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

สรุป  คุณดี๋จะเรียกร้องให้คุณเรญา  คุณสิน  และคุณเด่นร่วมกันรับผิดฐานละเมิดโดยการหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้ตามหลักกฎหมายและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอ  อายุ  16  ปี  ซื้อหนูนามาเลี้ยงดูเล่นหนึ่งตัว  และนำไปใส่ไว้ในกรง  แต่ไม่ได้คล้องกุญแจที่ประตูกรง  เด็กชายบี  อายุ  14  ปี  เห็นดังนั้นจึงแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง  หนูจึงวิ่งหนีไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้าของนายซี  ต่อมานายซีเปิดตู้จึงเห็นหนูและตกใจจนเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้บ้าง  หากว่านายเอเป็นเด็กกำพร้าที่ซุกซนและอยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียว  และเด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายซีเห็นหนูและตกใจเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  ถือเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดจากสัตว์  คือ  หนูของนายเอ  ซึ่งตามมาตรา  433  กำหนดให้มีผู้รับผิดคือ  เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของสัตว์  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายเอเป็นเจ้าของหนูและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูตามชนิด  วิสัย  และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นที่ต้องระวังด้วยการคล้องกุญแจที่ประตูกรงไว้ด้วย  เพราะหนูย่อมดันตัวเองออกมานอกกรงได้ง่าย  ดังนั้น  เมื่อหนูหลุดออกมาจากกรง  และทำให้นายซีเสียหาย  นายเอจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากหนูของตนเองต่อนายซีตามมาตรา  433  วรรคแรก 

และเมื่อปรากฏว่า  นายเอซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  อยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียวของตน  นายซีจึงสามารถเรียกร้องให้ยายของนายเอร่วมรับผิดกับนายเอในการละเมิดที่เกิดขึ้นจากสัตว์ของนายเอได้  เพราะถือเป็นผู้รับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ  ตามมาตรา  430

แต่อย่างไรก็ดี  ทั้งนายเอและยายมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีซึ่งเป็นผู้เร้าหรือยั่วสัตว์โดยละเมิด  โดยการแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง เป็นเหตุให้หนูไปก่อความเสียหายขึ้นต่อนายซีได้ตามมาตรา  433  วรรคสอง

นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่า  เด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี  ดังนั้นนายเอและยายจึงสามารถเรียกร้องให้นางดี  มารดาของเด็กชายบีซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  รับผิดร่วมกับเด็กชายบีได้อีกด้วย  ตามมาตรา  439

สรุป  นายซีสามารถเรียกร้องให้นายเอและยายร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนได้  และนายเอและยายก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีและนางดีได้

 

 

ข้อ  2  นางอมราขอให้นางอ้วนช่วยไปซื้อกาแฟร้อนให้ตนดื่ม  ระหว่างที่เดินกลับจากซื้อกาแฟ  นางอ้วนไม่พอใจนางผอมที่เดินผ่านมาพอดี  จึงสาดกาแฟที่ร้อนจัดมากใส่นางผอม  ทำให้นางผอมหน้าเสียโฉม  รักษาไม่หาย  เพราะความร้อนมากของกาแฟ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัย

(ก)  นางผอมจะเรียกให้ใครรับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  นางผอมจะเรียกค่าเสียโฉม  ทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้หรือไม่  อย่างไร

(ค)  หากนางผอมต้องขาดการงานเป็นเวลาหลายเดือน  นางผอมจะเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(ก)  นางผอมจะเรียกให้ใครรับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร  เห็นว่า  การที่นางอ้วนสาดน้ำกาแฟที่ร้อนจัดมากใส่นางผอม  จนทำให้นางผอมหน้าเสียโฉมนั้น  การกระทำของนางอ้วนถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายต่อร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนางอ้วน  จึงถือว่านางอ้วนได้กระทำละเมิดต่อนางผอมตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางผอม  ดังนั้น  นางผอมจึงเรียกให้นางอ้วนรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม  นางผอมจะเรียกให้นางอมรารับผิดร่วมกับนางอ้วนไม่ได้  เพราะถึงแม้นางอ้วนจะมีฐานะเป็นตัวแทนของนางอมราในการไปซื้อกาแฟ  แต่การที่นางอ้วนสาดน้ำกาแฟใส่นางผอมนั้น  เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากขอบอำนาจตัวแทน  ดังนั้น  เมื่อไม่ได้เป็นเรื่องการทำละเมิดในขอบอำนาจตัวแทน  นางอมราตัวการจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนางอ้วนตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425

(ข)  ตามบทบัญญัติมาตรา  446  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  บุคคลผู้ถูกกระทำละเมิดจนต้องได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินอีกก็ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นางผอมได้รับความเสียหายถึงกับหน้าเสียโฉม  จนไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้  อันถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน  ดังนั้น  นางผอมจึงสามารถเรียกค่าเสียโฉมทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามที่คณะได้ตามมาตรา  446 วรรคแรก

(ค)  ตามบทบัญญัติมาตรา  445  นั้น  เป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นนายจ้าง  ในการที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำละเมิดต่อลูกจ้างของตน  จนเป็นเหตุให้ตนต้องขาดแรงงานเพราะการกระทำละเมิดนั้น  ดังนั้นตามข้อเท็จจริง  แม้นางผอมจะต้องขาดการงานเป็นเวลาหลายเดือน  นางผอมก็ไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  จากนางอ้วนได้  เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ในกรณีนี้  ก็คือนายจ้างของนางผอม

สรุป

(ก)  นางผอมเรียกให้นางอ้วนรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้  แต่จะเรียกให้นางอมราร่วมรับผิดในความเสียหายดังกล่าวไม่ได้

(ข)  นางผอมสามารถเรียกค่าเสียโฉม  ทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้

(ค)  นางผอมจะเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ไม่ได้

 

 

ข้อ  3 

(ก)  นายบุญถึงผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญมาและนางบุญมี  มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสุโขทัย  นายบุญมาและนางบุญมีได้ส่งนายบุญถึงมาเรียนหนังสือที่จังหวัดนครสวรรค์  โดยฝากให้พักอาศัยอยู่กับนายบุญมากตาของนายบุญถึง  นายบุญถึงชอบเล่นปืนลูกกรดของนายบุญมาก  และนำปืนไปยิงนกเล่นอยู่เป็นประจำ  โดยนายบุญมากมิได้ว่ากล่าวห้ามปราม  วันหนึ่งนายบุญถึงเอาปืนลูกกรดดังกล่าวไปยิงนกเล่นในทุ่งนา  กระสุนปืนพลาดเลยไปถูกวัวของนายบุญหนัก  ซึ่งกำลังกินหญ้าอยู่กลางทุ่งนาถึงแก่ความตาย

ดังนี้  นายบุญหนักจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใดได้บ้าง  อย่างไร

(ข)  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้ว  ต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย  ก  แต่นาย  ก  ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงเลย  วันเกิดเหตุจำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย

ดังนี้  เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ข้อ  (ก)

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายบุญถึงเอาปืนลูกกรดไปยิงนกเล่นในทุ่งนา  แต่กระสุนพลาดไปถูกวัวของนายบุญหนักถึงแก่ความตายนั้น  การกระทำของนายบุญถึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายบุญถึง  จึงถือว่านายบุญถึงได้กระทำละเมิดต่อนายบุญหนักตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายบุญหนัก  แม้นายบุญถึงจะเป็นผู้เยาว์อันถือเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  ตามมาตรา  429 

และเมื่อปรากฏว่า  ในขณะที่นายบุญถึงทำละเมิดนั้น  นายบุญถึงอยู่ในความดูแลของนายบุญมาก  คุณตาของตน  นายบุญมากจึงถือเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา  430  และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายบุญมากได้รู้ว่า  นายบุญถึงหลานของตนชอบเล่นปืน  และเอาปืนไปยิงนกเล่นเป็นประจำ  แต่กลับมิได้ว่ากล่าวห้ามปราม  นายบุญมากจึงเป็นผู้ที่ขาดความระมัดระวังในการดูแลหลานซึ่งเป็นผู้เยาว์และผู้ไร้ความสามารถ  จึงต้องรับผิดร่วมกับนายบุญถึง  ตามมาตรา  430

ส่วนกรณีของนายบุญมาและนางบุญมี  บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญถึงนั้น  แม้จะมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอบรมดูแลว่ากล่าวสั่งสอนบุตรผู้เยาว์ก็ตาม  แต่ขณะเกิดเหตุนั้น  นายบุญถึงซึ่งเป็นบุตรได้อยู่ในความดูแลของนายบุญมากซึ่งเป็นคุณตา  นายบุญมาและนางบุญมีมิได้ปกครองดูแลอยู่  ดังนั้น  จะถือว่านายบุญมาและนางบุญมีขาดความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นมิได้ นายบุญมาและนางบุญมีจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายบุญถึงในผลแห่งละเมิดนั้น  ตามมาตรา  429 

สรุป 

นายบุญหนักสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากนายบุญถึงและนายบุญมากได้  แต่จะเรียกร้องจากนายบุญมาและนางบุญมีไม่ได้

ข้อ  (ข)

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น  บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย  (ป.พ.พ.  มาตรา  1629 (1))  กล่าวคือ  จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรคนหนึ่งคือ  เด็กชายแดงนั้น  กรณีนี้ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย  ก  แต่เมื่อนาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของตน  ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว  จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย  ก  ผู้ตาย  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1629(1))    ดังนั้น  เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก

สรุป  เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ 

 

 

ข้อ  4  นายหนึ่งเจ้าของฟาร์มม้าแข่งสายพันธุ์ดีแห่งหนึ่งได้รับนายเม้ย  อายุ  16  ปี  เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง  มีหน้าที่ทำความสะอาดคอกม้า  โดยนายหนึ่งได้ให้นายเม้ยกินอยู่พักกับตน  อีกทั้งผู้ปกครองของนายเม้ยยังได้ฝากฝังนายเม้ยไว้ในความดูแลของนายหนึ่ง  ต่อมาวันหนึ่งในตอนค่ำหลังเวลาเลิกงานแล้ว  นายเม้ยได้แอบนำม้าในคอกออกไปทดลองขี่บริเวณทุ่งแถวฟาร์ม  เมื่อนายเม้ยได้ขึ้นขี่ม้าแล้ว  นายเม้ยยังได้พยายามกระทุ้งสีข้างม้าให้วิ่งเร็วๆ  ด้วยความคึกคะนองทั้งที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการขี่ม้าเลย  ปรากฏว่าขณะที่นายเม้ยซึ่งกำลังควบม้าด้วยความเร็วสูงอยู่นั้น  นายเม้ยไม่สังเกตเห็นนางสาวริน  จึงควบม้าพุ่งเข้าชนนางสาวรินโดยแรงเป็นเหตุให้นางสาวรินตกลงไปในบึงน้ำ  นางสาวรินได้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ  นายเก่งซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองตัวแทนเขตที่เห็นเหตุการณ์แต่มิได้ลงไปช่วยเหลือนางสาวรินแต่อย่างใด  นางสาวรินจมน้ำถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จงวินิจฉัยว่านายเม้ย  นายหนึ่ง  นายเก่ง  ต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเม้ย  นายหนึ่ง  และนายเก่ง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1       กรณีของนายเม้ย

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายเม้ยควบม้าด้วยความเร็วสูงทั้งที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการขี่ม้ามาก่อน  จนเป็นเหตุให้ม้าพุ่งเข้าชนนางสาวรินตกลงไปในบึงน้ำ  และจมน้ำถึงแก่ความตายนั้น  การกระทำของนายเม้ยถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเม้ย  จึงถือว่านายเม้ยได้กระทำละเมิดต่อนางสาวริน  ตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวริน  และกรณีนี้ไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์  เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา  433  จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง  ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

2       กรณีของนายหนึ่ง

ตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านายหนึ่งจะเป็นนายจ้างของนายเม้ย  แต่ตอนที่นายเม้ยแอบนำม้าออกไปขี่นั้น  เป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว  จึงถือเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง  นายหนึ่งผู้เป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกับนายเม้ยตามมาตรา  425 

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายหนึ่งได้ให้นายเม้ยกินอยู่พักอาศัยกับตน  อีกทั้งผู้ปกครองของนายเม้ยยังได้ฝากฝังนายเม้ยไว้ให้อยู่ในความดูแลของนายหนึ่งนั้น  ย่อมทำให้นายหนึ่งมีฐานะเป็นนายจ้าง  ผู้รับดูแลนายเม้ยลูกจ้างผู้เยาว์  (ผู้ไร้ความสามารถ)  ดังนั้น  นายหนึ่งจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเม้ยซึ่งได้กระทำละเมิดในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา  430  หากพิสูจน์ได้ว่านายหนึ่งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

3       กรณีของนายเก่ง

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายเก่งซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองตัวแทนเขตเห็นนางสาวรินกำลังจะจมน้ำแต่งดเว้นมิได้เข้าช่วยเหลือ  ซึ่งนายเก่งสามารถช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายนั้น  กรณีนี้เมื่อปรากฏว่านายเก่งไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยเหลือนางสาวรินแต่อย่างใด  ดังนั้น  การที่นายเก่งงดเว้นไม่เข้าช่วยเหลือนางสาวริน  จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวรินตามมาตรา  420  นายเก่งจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด  (แต่อาจมีความผิดลหุโทษ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  374)

สรุป  นายเม้ย  และนายหนึ่งต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางสาวริน  ส่วนนายเก่งไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางสาวริน

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เด็กชายโค่ง  อายุ  12  ขวบ  อยู่ในความดูแลของยายใสเป็นเวลาสองวันเพราะนางสวยมารดาของเด็กชายโค่งต้องไปต่างจังหวัด  จึงนำบุตรมาฝากให้ยายเลี้ยง  เด็กชายโค่งเป็นเด็กเกเร  ชอบคบเพื่อนเกเร  ซึ่งยายใสก็ตามใจหลานเพราะรักและเอ็นดูหลาน

วันเกิดเหตุ  เด็กชายโค่งได้นัดหมายเด็กชายเอกและเด็กชายโทซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันไปจุดพลุหลายดอก  แล้วโยนเข้าไปในบ้านของนายโชคร้าย  ทำให้ทรัพย์สินของนายโชคร้ายเสียหาย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายโชคร้ายจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายโค่งได้นัดหมายกับเด็กชายเอกและเด็กชายโท  ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน  ไปจุดพลุหลายดอก  แล้วโยนเข้าไปในบ้านของนายโชคร้าย  จนทำให้ทรัพย์สินของนายโชคร้ายเสียหายนั้น  การกระทำของบุคคลทั้งสามถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว  จึงถือว่าบุคคลทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  432  จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชคร้าย  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงเรียกให้เด็กชายโค่ง  เด็กชายเอก  และเด็กชายโทร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

และเมื่อปรากฏว่า  เด็กชายโค่งซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  อยู่ในความดูแลของยายใส  และยายใสไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลเด็กชายโค่ง  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงเรียกร้องให้ยายใสร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่งได้  เพราะถือเป็นผู้รับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา  430  แม้จะเป็นการดูแลเพียงชั่วคราวก็ตาม

นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่า  เด็กชายโค่งเป็นบุตรของนางสวย  ดังนั้น  นายโชคร้ายจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นางสวยมารดาของเด็กชายโค่งซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  รับผิดร่วมกับเด็กชายโค่งอีกด้วยตามมาตรา  429  แต่นางสวยก็สามารถยกข้อต่อสู้ขึ้นอ้างได้ตามมาตรา  429  ตอนท้ายที่ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลผู้เยาว์แล้วด้วยการนำไปฝากยายเลี้ยงไว้ในขณะที่ตนไม่อยู่บ้าน

สรุป  นายโชคร้ายสามารถเรียกให้เด็กชายโค่ง  เด็กชายเอก  และเด็กชายโท  ร่วมกันรับผิดตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  432  และเรียกให้ยายใสร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่ง  ตามมาตรา  430  รวมทั้งเรียกให้นางสวยร่วมรับผิดกับเด็กชายโค่งได้  ตามมาตรา  429

 

 

ข้อ  2  นางอ้อมได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋ซึ่งคบหาชอบพอกับนางสาวแอมบุตรสาวของนางอ้อมว่านายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว  ด้วยความเป็นห่วงบุตรสาว  นางอ้อมจึงรีบกลับมาที่บ้านพักกล่าวต่อหน้านางสาวแอมว่า

“อย่าคบหากับนายโจ๋ต่อไปเลยเพราะนายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว”  นายเป้ผู้ซึ่งแอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางอ้อมได้ยินข้อความดังกล่าว  จึงนำไปกล่าวต่อนายป๊อดว่า  “นายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด  เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว”  แต่ในความเป็นจริงนายโจ๋ไม่เคยข้องแวะเกี่ยวกับยาเสพติดใดๆ  และไม่เคยติดคุกแต่อย่างใด

จงวินิจฉัยว่า  นายโจ๋จะเรียกให้นางอ้อมและนายเป้รับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ตามอุทาหรณ์  กรณีที่นางอ้อมได้กล่าวต่อนางสาวแอมบุตรสาวนั้น  ถือได้ว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  ทำให้ข้อความนี้แพร่หลายต่อบุคคลที่สาม  คือ  นางสาวแอม  และเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของนายโจ๋  อันถือเป็นการหมิ่นประมาทนายโจ๋  ตามมาตรา  423  วรรคแรกแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  นางอ้อมนั้นเป็นมารดาของนางสาวแอม  เมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋  จึงรีบกลับมาบอกบุตรสาวด้วยความเป็นห่วง  ถือเป็นกรณีที่นางอ้อมส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  โดยนางอ้อมมีทางได้เสียโดยชอบในการส่งข่าวสารนี้  เพราะมารดาย่อมมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องคู่ครองของบุตร  ดังนั้น  นางอ้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นายเป้แอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางอ้อม  และได้ยินข้อความดังกล่าวนั้น  ไม่อาจถือได้ว่านายเป้เป็นบุคคลที่สาม  เพราะนางอ้อมมิได้ตั้งใจจะให้นายเป้รับรู้ในข้อความดังกล่าว  จึงไม่ถือว่านางอ้อมทำให้ข้อความนั้นแพร่หลายต่อบุคคลที่สาม  อันจะถือเป็นการหมิ่นประมาทนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคแรก  ดังนั้น  นางอ้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจ๋ในกรณีนี้เช่นกัน

กรณีที่นายเป้ได้ยินข้อความดังกล่าวแล้วนำไปพูดต่อนั้นย่อมถือเป็นการกล่าวเช่นเดียวกัน  เมื่อได้กล่าวต่อบุคคลที่สามคือ  นายป๊อด  และข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของนายโจ๋  ดังนั้น  นายเป้จึงต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อนายโจ๋ตามมาตรา  423  วรรคแรก  และในกรณีนี้  นายเป้ไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา  423  วรรคสองได้  เพราะนายเป้หรือนายป๊อดไม่มีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องดังกล่าว

สรุป  นายโจ๋เรียกร้องให้นายเป้รับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้  แต่จะเรียกร้องให้นางอ้อมรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

 

 

ข้อ  3  ณเดชท้าบัวขาวแข่งรถกัน  ระหว่างแข่งรถกันนั้น  ทั้งสองฝ่ายต่างขับรถด้วยความเร็วสูงทำให้รถเสียหลัก  และรถทั้งสองคันพุ่งเข้าชนกำแพงบ้านของเอกชัย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  เอกชัยจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้างอย่างไร  และหากว่า

ณเดชได้จ่ายเงินค่าซ่อมกำแพงให้แก่เอกภาพซึ่งเดินออกมาจากบ้านของเอกชัย  และต่อว่าทุกคนว่าขับรถมาทำให้กำแพงพัง  โดยจ่ายเต็มจำนวนค่าเสียหาย  ดังนี้  ณเดชจะยังต้องรับผิดต่อเอกชัยอีกหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ณเดชและบัวขาวได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การจะถือว่าเป็นการ  “ร่วมกันทำละเมิด”  ตามบทบัญญัติมาตรา  432  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าณเดชและบัวขาวต่างคนต่างประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เอกชัย  จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำ  หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ  อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ดังนั้น  ณเดชและบัวขาวจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อเอกชัยโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ณเดชและบัวขาวต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถือว่าทั้งสองไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิด  ทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  432  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่า  ณเดชและบัวขาวก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร  ความรับผิดของณเดชและบัวขาวจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  301

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  ณเดชจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ต่อเอกชัยหรือไม่  เห็นว่า  การที่ณเดชจ่ายเงินค่าซ่อมกำแพงให้แก่เอกภาพนั้นถือเป็นเรื่องการใช้หนี้ผิดตัว  กล่าวคือ  เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง  ซึ่งตามมาตรา  441  บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทำละเมิดซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายว่าให้เป็นอันหลุดพ้นในความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น  ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นกรณีที่มีความเสียหายต่อ  “สังหาริมทรัพย์”  และเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่  “ผู้ครองทรัพย์”  ในขณะนั้น  รวมทั้งต้องเป็นการใช้ให้ไปโดย  “ปราศจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”  ด้วยเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่ากำแพงบ้านไม่ใช่เป็นสังหาริมทรัพย์  จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ทำให้ณเดชหลุดพ้นจากการชำระหนี้ละเมิดต่อผู้เสียหายที่แท้จริงคือเอกชัยได้  ณเดชจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเอกชัยอีก

สรุป  ณเดชยังต้องรับผิดต่อเอกชัยอีก

 

 

ข้อ  4  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้วต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดง  แต่นาย  ก  ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  วันเกิดเหตุ  นายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ  ชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  เด็กชายแดงจะเรียกค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น  บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย  (ป.พ.พ. มาตรา  1629  (1))  กล่าวคือ  จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ  เด็กชายแดงนั้น ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย  ก  แต่เมื่อนาย  ก  ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว  จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย  ก  ผู้ตาย  (ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  1627  และมาตรา  1629(1))  ดังนั้น  เมื่อนายโหดกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก ถึงแก่ความตาย  เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก

สรุป  เด็กชายแดงเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เอกชัยและเอกวิทย์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินซึ่งตกเป็นทางภาระจำยอมให้ทั้งสองคนใช้เป็นทางรถและใช้ในกิจการสาธารณูปโภคได้ โดยได้จดบันทึกภาระจำยอมไว้ที่พนักงานที่ดินแล้ว  เพียงแต่เอกชัยไม่ได้ลงชื่อไว้ในบันทึกเท่านั้น  ต่อมาอีกสองปี  เอกภาพได้สมัครเป็นลูกจ้างของเอกชัย  ทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรและสิ่งต่างๆภายในบริเวณโรงงาน

วันหนึ่ง  เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพทำการปักเสาคอนกรีต  4  ต้น  ในทางซึ่งเอกภาพไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมนั้น  รวมทั้งยังสั่งให้ทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออก  ห้ามปักเสาไฟฟ้าและท่อระบายน้ำด้วย  เมื่อเอกภาพกระทำตามคำสั่งของนายจ้าง  จึงทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้  จะต้องขับอ้อมไปอีกทางหนึ่งซึ่งต้องเสียเวลาอีก  20  นาที

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  เอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของเอกภาพ  การที่เอกภาพได้ทำการปักเสาคอนกรีต  4  ต้น  รวมทั้งทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออกในทางภาระจำยอม จนทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้  แม้การกระทำของเอกภาพจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายก็ตาม  แต่เมื่อเอกภาพได้กระทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอม  จะถือว่าเอกภาพได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายไม่ได้  การกระทำของเอกภาพจึงไม่เป็นการทำละเมิดตามมาตรา  420  ดังนั้นเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดไม่ได้

กรณีของเอกชัย  เมื่อการกระทำของเอกภาพซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเอกวิทย์  ดังนั้นเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดกับเอกภาพ  เพราะตามมาตรา  425  นั้นนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำละเมิดต่อบุคคลอื่น  และได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพกระทำการดังกล่าวทั้งที่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมและจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมนั้น  ดังนั้นจึงถือว่าเอกชัยได้ทำละเมิดต่อเอกวิทย์ตามมาตรา  420  ด้วยตนเองโดยใช้เอกภาพเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด  เอกวิทย์จึงสามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420

สรุป  เอกวิทย์สามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420  แต่จะฟ้องร้องเอกภาพไม่ได

 

 

ข้อ  2  นายกุ้งเขียนจดหมายส่งไปถึงนายปลาซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  ในจดหมายมีข้อความว่า  “นายหมึกเป็นคนไม่ดี  เคยค้ายาเสพติดและเคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว”  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งที่บ้านของนายปลา

ปรากฏว่านายปลาไม่อยู่บ้าน  มีเพียงนายหอยซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาพักอยู่กับนายปลาที่เป็นเพื่อนกัน  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงยื่นจดหมายให้กับนายหอย  นายหอยรับจดหมายมาแล้ว  ต่อมาได้แกะจดหมายออกอ่าน  จึงทราบข้อความในจดหมายทุกประการ  ข้อเท็จจริงได้ความว่านายหมึกเป็นคนดี  ไม่เคยค้ายาเสพติดและไม่เคยติดคุกแต่ประการใด  และกำลังจะลงสมัคร  ส.ส.

ดังนี้นายกุ้งต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  423  วรรคแรก  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี  หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

สำหรับ  “บุคคลที่สาม”  ที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น  หมายความถึง  บุคคลที่ได้ยินหรือได้ฟังหรือได้เห็น  หรือได้อ่านข้อความที่มีการกล่าวหรือไขข่าว  โดยบุคคลนั้นมิใช่ผู้ที่ถูกใส่ความ  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำละเมิด  หรือสามีภริยาซึ่งกันและกัน  หรือผู้แอบดู  แอบฟัง  หรือแอบรู้เห็นโดยละเมิดซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของผู้อื่น  โดยที่ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้ตั้งใจจะให้ผู้ใดมาล่วงรู้หรือต้องการให้รู้กันเฉพาะกลุ่มของตน

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายกุ้งจะต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายกุ้งเขียนจดหมายส่งไปถึงนายปลาซึ่งอยู่ต่างจังหวัดโดยมีข้อความว่า  “นายหมึกเป็นคนไม่ดี  เคยค้ายาเสพติดและเคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว”  ซึ่งเป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเพราะข้อเท็จจริงได้ความว่านายหมึกเป็นคนดี  ไม่เคยค้ายาเสพติดและไม่เคยติดคุกแต่อย่างใด  ถือว่าการกระทำของนายกุ้งเข้าลักษณะการไขข่าวแล้ว

แต่อย่างไรก็ดี  การไขข่าวของนายกุ้งไม่ได้แพร่หลาย  เพราะไม่ได้กระทำต่อบุคคลที่สาม  เนื่องจากการที่นายกุ้งส่งจดหมายไปให้นายปลาแต่นายปลาไม่อยู่บ้าน  นายหอยซึ่งเป็นเพื่อนของนายปลาได้รับจดหมายไว้แทนและได้แกะจดหมายออกอ่าน  ถือว่านายหอยเป็นผู้แอบดู  แอบรู้เห็นโดยละเมิดมิใช่บุคคลที่นายกุ้งจงใจจะไขข่าวให้ทราบ  กรณีนี้จึงไม่ถือว่านายหอยเป็นบุคคลที่สาม  และเมื่อการไขข่าวของนายกุ้งไม่ได้แพร่หลาย  ดังนั้นการกระทำของนายกุ้งจึงไม่เป็นการทำละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลายอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งตามมาตรา  423  นายกุ้งจึงไม่ต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าว

สรุป  นายกุ้งไม่ต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวตามมาตรา  423 

 

 

ข้อ  3  นางสุดสวยเลี้ยงลูกแมวอยู่ในห้องพักของตนที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง  วันหนึ่งนางสุดสวยเตะลูกแมว  แล้วลูกแมววิ่งไปชนกระถางต้นไม้ของตนที่วางอยู่บนระเบียงห้องพัก  ทำให้กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างที่นั่งเล่นอยู่ข้างล่าง  และนายอึ่งอ่างศีรษะแตก

ดังนี้หากนายอึ่งอ่างมาปรึกษาท่านว่าไม่เห็นว่าใครทำกระถางต้นไม้หล่นใส่ตนแต่เห็นลูกแมวร้อง  และเห็นว่าเป็นกระถางต้นไม้ที่อยู่ในความครอบครองของนางสุดสวยเท่านั้น  ท่านจะแนะนำให้นายอึ่งอ่างเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดกับผู้ใดได้บ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น …

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสุดสวยเตะลูกแมวแล้วลูกแมววิ่งไปชนกระถางต้นไม้ของตนที่วางอยู่บนระเบียงห้องพัก  ทำให้กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างที่นั่งเล่นอยู่ข้างล่างและนายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั้น  จะถือว่าเกิดจากการกระทำของนางสุดสวยไม่ได้  เพราะนางสุดสวยไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้นายอึ่งอ่างได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  อีกทั้งความเสียหายที่นายอึ่งอ่างได้รับก็ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำแต่อย่างใด  ดังนั้นนายอึ่งอ่างจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดจากนางสุดสวยตามมาตรา  420  ไม่ได้

และการที่กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างนั้น  นายอึ่งอ่างก็ไม่เห็นว่าใครทำกระถางต้นไม้หล่นมาใส่ตนแต่เห็นเพียงลูกแมวร้องเท่านั้น  ดังนั้นกรณีดังกล่าวจะถือว่าความเสียหายที่นายอึ่งอ่างได้รับเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ทำให้นางสุดสวยเจ้าของสัตว์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอึ่งอ่างตามมาตรา  433  ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่กระถางต้นไม้ที่นางสุดสวยวางอยู่บนระเบียงห้องพัก  ได้หล่นมาใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่าง  จนทำให้นายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั้น  ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  436  ที่ว่าความเสียหาย  (ที่นายอึ่งอ่าวศีรษะแตก)  ได้เกิดขึ้นเพราะของตกหล่นจากโรงเรือน  ดังนั้นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น  กล่าวคือนางสุดสวยจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่กระถางต้นไม้ของตนได้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างทำให้นายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั่นเอง

สรุป  หากนายอึ่งอ่างมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายอึ่งอ่างเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดกับนางสุดสวยตามมาตรา  436  ตามเหตุผลที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  4  นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน  เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้  15  ปี  1  เดือน  นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์  ระหว่างทางนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา  ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบ  เกรงว่าจะไปไม่ทันทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ  ขณะนั้นอายุ  21  ปีถึงแก่ความตาย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1)     นายบันเทิงและนายบรรเลง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์  จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีดังนี้  คือ

ประเด็นที่  1  นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่

กรณีนายบันเทิง  การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร่งรีบทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮทำให้นางสาวไฮถึงแก่ความตายนั้น  การกระทำของนายบันเทิงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ทำต่อนางสาวไฮโดยผิดกฎหมายทำให้นางสาวไฮเสียหายแก่ชีวิตและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว  จึงถือว่านายบันเทิงได้ทำละเมิดต่อนางสาวไฮตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น

กรณีนายบรรเลง  เมื่อการกระทำของนายบันเทิงซึ่งเป็นลูกจ้างของนายบรรเลงนั้นเป็นการทำละเมิดและได้กระทำไปในทางการที่จ้าง  ดังนั้นนายบรรเลงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดคือการที่นางสาวไฮถึงแก่ความตายด้วยตามมาตรา  425

ประเด็นที่  2  นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่

กรณีนายเอกชัย  การทำละเมิดเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตายนั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแต่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์  ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา  1547  นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ  นางสาวไฮ(ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิดและนายบรรเลงนายจ้างของนายบันเทิง   (ฎ. 7458/2543)

กรณีนายมนต์สิทธิ์  เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้  15  ปี  1  เดือน  นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  2  แห่งบรรพ  5  มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย  กล่าวคือ  บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา  1563  ประกอบมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  ดังนั้น  เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย  นายมนต์สิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย  นายมนต์สิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  (ฎ. 713/2517)

สรุป

1       นายบันเทิงและนายบรรเลง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  ตามมาตรา  420  และมาตรา  425

2       นายเอกชัยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ  แต่นายมนต์สิทธิ์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา  443 วรรคท้าย

WordPress Ads
error: Content is protected !!