การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา THA1001 ลักษณะและการใช้ภาษาไทย
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)
ลักษณะภาษา
1 ข้อใดแสดงลักษณะภาษาคำโดดที่ว่าเป็นคำมีพยางค์เดียว
(1) สตางค์น่ะมีไหม
(2) เงินน่ะมีไหม
(3) ทรัพย์สินน่ะมีไหม
(4) สมบัติน่ะมีไหม
ตอบ (2) เงินน่ะมีไหม
ลักษณะของภาษาคำโดดประการหนึ่ง คือ คำแต่ละคำมีพยางค์เดียว ซึ่งถือเป็นคำพื้นฐานของภาษา มักเป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ ตลอดจนกริยาอาการที่จำเป็นแก่มนุษย์ ใช้ในภาษาได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงคำ เช่น พ่อ มีด เงิน ฯลฯ (ส่วนคำว่า สตางค์ ทรัพย์สิน สมบัติ เป็นคำที่มี 2 พยางค์)
2 ข้อใดไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำในประโยค
(1) ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา
(2) ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี
(3) ทรงพระเจริญ
(4) ทุกข้อ
ตอบ (3) ทรงพระเจริญ
ในภาษาคำโดด คำแต่ละคำถือเป็นคำสำเร็จรูป เพราะมีความหมายสมบูรณ์ใช้เข้าประโยคได้ทันที โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงส่วนใดๆของคำ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำในประโยค (ส่วนคำว่า ราชา = กษัตริย์ และ ราชินี = กษัตริย์หญิง เป็นคำภาษาบาลีที่มีการเปลี่ยนแปลงสระและพยัญชนะท้ายคำ เพื่อบอกให้ทราบว่าเป็นเพศใด)
3 ข้อใดแสดงให้เห็นว่า หน้าที่ดูได้ที่ตำแหน่งในประโยค
(1) หมากัด อย่ากัดตอบ (2) อย่าทำตนเป็นหมาลอบกัด
(3) รองเท้าใหม่กัดเจ็บจัง (4) ถ้ารองเท้ากัด เขาว่าให้กัดรองเท้าเสียก่อน
ตอบ (4) ถ้ารองเท้ากัด เขาว่าให้กัดรองเท้าเสียก่อน
ในภาษาคำโดด คำคำเดียวกันอาจมีความหมายใช้ได้หลายหน้าที่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปคำเลย จะรู้ความหมายและหน้าที่ได้ก็ด้วยดูตำแหน่งในประโยค เช่น ประโยคในตัวเลือกที่ 4 คำว่า “รองเท้า” ในวรรคแรกเป็นผู้กระทำ (ประธาน) เพราะมีตำแหน่งอยู่หน้า “กัด” ซึ่งเป็นคำกริยา ส่วน “รองเท้า” ในวรรคหลังเป็นผู้ถูกกระทำ (กรรม) เพราะมีตำแหน่งอยู่หลังคำกริยา เป็นต้น
4 ข้อใดแสดงวิธีบอกกาลตามแบบภาษาคำโดด
(1) เมื่อวานนี้เรายังดีกันอยู่ (2) เธอดีต่อผมมาก
(3) ดีแล้วที่เล่นโยคะ (4) ใครๆก็ชมว่าผมดี
ตอบ (1) เมื่อวานนี้เรายังดีกันอยู่
วิธีบอกกาลตามภาษาคำโดด คือ การแสดงเวลาที่กระทำกริยานั้นๆซึ่งจะใช้คำกริยารูปเดิม แต่มีคำอื่นๆมาช่วยประกอบเพื่อให้ทราบว่าเหตุการณ์ การกระทำ หรือสภาพนั้นๆเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น เขากำลังกิน เขาจะกิน ฯลฯ แต่บางครั้งอาจไม่ต้องมีคำอื่นมาประกอบ ทั้งนี้อาศัยเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมเป็นเครื่องชี้ เช่น เมื่อวานนี้เรายังดีกันอยู่ พรุ่งนี้เขากินข้าว
5 ข้อใดแสดงว่าภาษามีระบบเสียงสูงต่ำ
(1) ปั้นขนมให้เป็นก้อนก่อนซิ (2) แต่งกลอนให้ก่อนซิ
(3) ให้ช่างกล้อนผมเสียก่อน (4) เสียงกลองดังก้องไปหมด
ตอบ (1) ปั้นขนมให้เป็นก้อนก่อนซิ
ระบบเสียงสูงต่ำ (เสียงวรรณยุกต์) ในภาษาไทยคือ การกำหนดเสียงสูงต่ำไว้ตายตัวในคำแต่ละคำ เพื่อต้องการแยกความหมายโดยให้เสียงหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่ง หากเปลี่ยนเสียงความหมายก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เช่น ก่อน (เสียงเอก) = เดิม เริ่ม ลำดับแรก ก้อน (เสียงโท) = คำบอกลักษณะของเล็กๆที่เกาะหรือติดรวมกันแน่น เป็นต้น
6 สระเดี่ยวปรากฏอยู่ในข้อใด
(1) ง่อย (2) งอม (3) งิ้ว (4) เหงา
ตอบ (2) งอม
เสียงสระในภาษาไทยมี 28 เสียง แบ่งออกเป็น
สระเดี่ยว 18 เสียง ได้แก่ อะ อา อึ อื เอะ เออ (สระกลาง) อิ อี เอะ เอ แอะ แอ (สระหน้า) อุ อู โอะ ออ (สระหลัง)
สระผสม 10 เสียง ได้แก่ เอือะ เอือ เอา อาว ไอ อาย (สระกลาง) เอียะ เอีย (สระหลัง) ส่วน “ง่อย” และ “งิ้ว” ถึงแม้จะมีสระเดี่ยว ออ และ อิ แต่ลงท้ายด้วย ย และ ว ซึ่งเป็นพยัญชนะกึ่งสระ จึงถือเป็นสระผสม 2 เสียง คือ ออ+ย (ออ+อี) = ง่อย อิ + ว (อิ + อุ) = งิ้ว)
7 สระผสมปรากฏอยู่ในข้อใด
(1) มี (2) หมี (3) เมา (4) มุด
ตอบ (3) เมา ดูคำอธิบายข้อ 6 ประกอบ
8 พยัญชนะใดข้อใดมีกลุ่มลมตามออกมาด้วย
(1) หนาว (2) เหมา (3) เสา (4) เผา
ตอบ (4) เผา
พยัญชนะเสียงหนัก คือ พยัญชนะต้นที่เวลาออกเสียงจะมีกลุ่มลมตามออกมาด้วย หรือมีลมหายใจพุ่งออกมาจากหลอดลมโดยแรง (แรงกว่าพยัญชนะเสียงอื่น) และไม่ถูกขัดขวาง ได้แก่ ห (ฮ) รวมทั้งพยัญชนะที่มีเสียง ห ผสมอยู่ด้วย ได้แก่ (ข) ช (ฉ) ท (ถ) พ (ผ) เป็นต้น (ส่วน “หนาว” และ “เหมา” นั้น เสียง ห จะหายไป เพราะ พยัญชนะเสียงต่ำเดี่ยว (ง น ม ย ร ล ว) ที่มี ห นำ หรือ อ นำ จะไม่ออกเสียง ห หรือ อ)
9 หากอุดจมูก จะออกเสียงคำใดได้ยาก
(1) ยาม (2) ตาม (3) ราม (4) งาม
ตอบ (4) งาม
พยัญชนะนาสิก คือ พยัญชนะระเบิดที่เสียงออกทางจมูกซึ่งเกิดจากอวัยวะในการออกเสียงปิดสนิท ณ จุดใดจุดหนึ่งในปาก แต่เพดานอ่อนลดต่ำลง ทำให้ลมเปลี่ยนทางไปออกทางจมูกทันทีที่คลายการปิดกั้น ดังนั้นหากอุดจมูกก็จะออกเสียงได้ยาก ได้แก่ พยัญชนะต้น ง น ม
10 คำว่า “ราว” ออกเสียงใกล้เคียงกับข้อใด
(1) อา + อี (2) อา + อู (3) อี + อา (4) อู + อา
ตอบ (2) อา + อู
ถ้าออกเสียง อา ไม่ให้ขาดเสียง และแทนที่จะให้ลิ้นทอดราบกับปาก กลับค่อยๆกระดกลิ้นขึ้นจนเกือบชนเพดานในระดับของเสียง อู เสียงนั้นก็จะเป็นสระผสม อา + อู = อาว เช่น ราว สาว ชาว ฯลฯ แต่ถ้าออกเสียง อา แล้วกระดกลิ้นสูงไปจดเพดานอ่อนเข้า ก็จะกลายเป็นเสียง อา มี ว สะกด หรือ อา + ว = อาว เช่นกัน
11 แม่กบ ปรากฏอยู่ในข้อใด
(1) ชลบุรี
(2) ธนบุรี
(3) ลพบุรี
(4) กาญจนบุรี
ตอบ (3) ลพบุรี
พยัญชนะท้ายคำที่ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดในภาษาไทยมีได้เพียงเสียงเดียว แม้ในคำที่ยืมจากภาษาอื่นจะมีพยัญชนท้ายคำเรียงกันมามากกว่าเสียงเดียวก็ตาม โดยพยัญชนะตัวสะกดของไทยจะมีทั้งหมด 8 เสียง ดังนี้
แม่กก ได้แก่ ก ข ค ฆ
แม่กด ได้แก่ จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส
แม่กบ ได้แก่ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ
แม่กน ได้แก่ น ณ ร ล ฬ ญ
แม่กง ได้แก่ ง
แม่กม ได้แก่ ม
แม่เกย ได้แก่ ย
แม่เกอว ได้แก่ ว
12 การออกเสียงแบบเคียงกันมาปรากฏอยู่ในข้อใด
(1) สบาย
(2) สมัย
(3) สลาย
(4) สวาย
ตอบ (1) สบาย
การออกเสียงแบบตามกันมา หรือเคียงกันมา (การออกเสียงแบบเรียงพยางค์) คือ การออกเสียงแต่ละเสียงเต็มเสียง และเสียงทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เช่น สบาย (สะ – บาย) เป็นต้น (ส่วน สมัย (สะ – ไหม) สลาย (สะ – หลาย) สวาย (สะ – หวาย) เป็นการออกเสียงแบบนำกันมา หรือแบบอักษรนำ)
13 การออกเสียงแบบนำกันมาปรากฏในข้อใด
(1) อรุณ (2) อรัญ (3) อร่อย (4) อรุโณทัย
ตอบ (3) อร่อย
การออกเสียงแบบนำกันมา (อักษรนำ) คือ พยัญชนะคู่ที่พยัญชนะตัวนำมีอำนาจเหนือพยัญชนะตัวหลัง โดยที่พยัญชนะตัวหน้าจะออกเสียงเพียงครึ่งเสียง และพยัญชนะตัวหลังก็จะเปลี่ยนเสียงตาม ซึ่งจะออกเสียงเหมือนกับเสียงที่มี ห นำ เช่น อร่อย (อะ – หร่อย) เป็นต้น (ส่วน อรุณ (อะ –รุน) อรัญ (อะ – รัน) อรุโณทัย (อะ – รุ – โน – ทัย) เป็นการออกเสียงแบบตามกันมา หรือเคียงกันมา) (ดูคำอธิบายข้อ 12 ประกอบ)
14 ข้อใดมีทั้งคำเป็นและคำตาย
(1) เพ็ญจันทร์ (2) เพ็ญพิศ (3) เพลินเพ็ญ (4) พรเพ็ญ
ตอบ (2) เพ็ญพิศ
คำเป็น คือ คำที่สะกดด้วย แม่กง แม่กน แม่กม แม่เกย และ แม่เกอว ส่วนคำตาย คือ คำที่สะกดด้วย แม่กก แม่กด และแม่กบ (ดูคำอธิบายข้อ 11 ประกอบ)
15 ข้อใดใช้รูปวรรณยุกต์ผิด
(1) ชอบม๊ากมาก (2) มันร้องจ๊าก (3) ไก่ร้องกะต๊าก (4) กระด๊ากกระดาก
ตอบ (1) ชอบม๊ากมาก
เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมี 5 เสียง 4 รูป คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา ซึ่งในคำบางคำรูปและเสียงวรรณยุกต์อาจไม่ตรงกัน เช่นคำว่า “ม๊าก” ในตัวเลือกข้อ 1 ใช้รูปวรรณยุกต์ผิด เพราะ “ม๊าก” เป็นพยัญชนะเสียงต่ำเดี่ยว (ง น ม ย ร ล ว) ที่มีตัวสะกดเป็นคำตาย (แม่กก) และสระเสียงยาว (สระอา) จึงผันได้ 3 เสียง คือ เสียงเอก (ไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ แต่ให้ใช้พยัญชนะสียงกลางหรือเสียงสูงนำ = หมาก) เสียงโท (ไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ = มาก ) และเสียงตรี (ใช้ไม้โท = ม้าก) ดังนั้นจึงควรแก้ไขเป็น ชอบม้ากมาก
16 ในภาษามาตรฐาน คำในข้อใดออกเสียงยาวกว่าข้ออื่น
(1) น้ำใจ (2) น้ำปลา (3) ตกน้ำ (4) สายน้ำ
ตอบ (3) ตกน้ำ
อัตราการออกเสียงสั้นยาวตามภาษามาตรฐานจะใช้มาตราในการวัดความยาวของเสียงคือ สระเสียงสั้นจะมีความยาวในการออกเสียง 1 มาตรา ส่วนสระเสียงยาวนั้นจะมีความยาว 2 มาตรา ทั้งนี้การลงเสียงเน้นในคำจะทำให้คำแต่ละคำมีอัตราเสียงสั้นยาวต่างกัน นั่นคือ คำหรือพยางค์ที่ลงเสียงเน้นจะออกเสียงยาว 2 มาตรา แต่ส่วนที่ไม่ได้ลงเสียงเน้นจะออกเสียงสั้นเพียง 1 มาตรา โดยถ้าเป็นคำหลายพยางค์หรือคำประสม มักจะเน้นที่พยางค์คำท้าย ส่วนคำที่ไม่เน้นก็มักจะสั้นลง เช่น คำว่า “น้ำใจ น้ำปลา สายน้ำ” เป็นคำประสมจึงออกเสียงพยางค์หลัง 2 มาตรา และพยางค์หน้าเพียง 1 มาตรา (ส่วน “ตกน้ำ” เป็นคำสองคำที่แยกกันจึงออกเสียงยาวเท่ากันพยางค์ละ 2 มาตรา)
17 ในภาษาพูด คำว่า “ตระ” ในข้อใดลงเสียงเน้น
(1) เขาตระเตรียมงานไว้พร้อม (2) เขาเที่ยวตระเวนไปทั่ว
(3) ตึกใหม่ตั้งตระหง่านอยู่ที่หัวมุม (4) ผู้คนพากันตระหนกตกใจ
ตอบ (1) เขาตระเตรียมงานไว้พร้อม (ดูคำอธิบายข้อ 16 ประกอบ)
การลงเสียงเน้นในภาษาพูดนอกจากจะออกเสียงสั้นยาวตามแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว บางครั้งอาจสังเกตได้จากการเว้นจังหวะระหว่างคำ เช่น เขาตระเตรียมงานไว้พร้อม จะลงเสียงเน้นที่ “ตระ” กับ “เตรียม” เสมอกัน เพราะระหว่าง “ตระ” กับ “เตรียม” มีจังหวะเว้นระหว่างคำ (ส่วน “ตระ” ในตัวเลือกข้ออื่น มักลงเสียงเน้นที่พยางค์หรือคำท้าย
18 ข้อใดมีคำที่ใช้ผิดไปจากความหมายแฝง
(1) หนุ่มรูปงาม (2) หนุ่มรูปหล่อ (3) หนุ่มอ้อนแอ้น (4) หนุ่มอารี
ตอบ (3) หนุ่มอ้อนแอ้น
ความหมายแฝง คือ ความหมายย่อยที่แฝงอยู่ในความหมายใหญ่ ซึ่งแนะรายระเอียดบางอย่างไว้ในความหมายนั้นๆ เช่น ความหมายแฝงที่บอกอาการหรือลักษณะของผู้หญิง ได้แก่ อ้อนแอ้น แช่มช้อย อ่อนหวาน ฯลฯ และความหมายแฝงที่บอกลักษณะของผู้ชาย ได้แก่ บึกบึน ล่ำสัน ทรหด ฯลฯ (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นความหมายโดยตรง)
19 ข้อใดใช้คำอุปมาได้อย่างถูกต้องที่สุด
(1) เขาสั่งให้ตัดเชือกที่มัดของอยู่ออก (2) หัวหน้าสั่งให้ตัดเชือกลูกน้องเกเร
(3) ตัดเชือกที่มัดของอยู่ออกเสีย (4) ตัดเชือกไม่เหลือใย
ตอบ (2) หัวหน้าสั่งให้ตัดเชือกลูกน้องเกเร
คำอุปมา คือ คำที่ใช้เปรียบเทียบเพื่อพรรณนาบอกลักษณะให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอาจจะใช้คำที่มีอยู่เดิมในภาษาหรือสร้างคำใหม่ขึ้นมาโดยการประสมคำทำให้คำนั้นมีความหมายใหม่เกิดขึ้นอีกความหายหนึ่ง เช่น ตัดเชือก (ตัดความสัมพันธ์ไม่ยอมให้ความช่วยเหลืออีกต่อไป) ตบตา (หลอกลวงให้เข้าใจผิด) เป็นต้น
20 ข้อใดใช้คำในเชิงอุปมา
(1) เธอหยิบแป้งขึ้นมาตบแก้ม (2) ใช้แป้งตบหน้าเบาๆก็พอ
(3) พูดอย่างนี้ระวังจะโดนตบปาก (4) เขาคงจะตบตาคนดูไปได้ไม่นาน
ตอบ (4) เขาคงจะตบตาคนดูไปได้ไม่นาน (ดูคำอธิบายข้อ 19 ประกอบ)
21 ข้อใดแสดงคำที่แยกเสียงแยกความหมาย
(1) เทวี / เทพี
(2) วงศ์ / พงศ์
(3) วัชรา / พัชรา
(4) วาณิช / พาณิช
ตอบ (1) เทวี / เทพี
การแยกเสียงแยกความหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเสียงในคำบางคำที่มีความหมายหลายอย่างให้แตกต่างกันบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่าคำนั้นมีความหมายอย่างไรในที่นั้นๆ โดยความหมายย่อยและที่ใช้อาจจะแตกต่างกัน เช่น คำว่า “เทวี” กับ “เทพี” (มีเสียงพยัญชนะต่างกัน) เป็นคำที่ใช้กับเพศหญิง แต่จะใช้แทนกันไม่ได้เพราะ “เทพี”” หมายถึง หญิงที่ชนะการประกวดความงาม เช่น เทพีสงกรานต์ หรือเรียกหญิงที่ทำหน้าที่โปรยพืชพรรณธัญญาหารในพิธีแรกนาว่านางเทพี ส่วน “เทวี” หมายถึง เทวดาผู้หญิงนางพญา หรือนางกษัตริย์
22 ข้อใดแสดงคำที่ไม่แยกความหมาย
(1) วิธี / พิธี (2) กุมาร / กุมารี (3) วิยา / พิทยา (4) รัก / ลัก
ตอบ (3) วิยา / พิทยา ดูคำอธิบายข้อ 21 ประกอบ
คำที่ไม่แยกความหมาย (มีความหมายเดียวกัน) คือ วิทยา / พิทยา ซึ่งหมายถึง ความรู้ (ส่วนคำว่า วิธี หมายถึง ทำนองหรือหนทางที่จะทำ พิธี หมายถึง งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อ กุมาร หมายถึง เด็กชาย กุมารี หมายถึง เด็กหญิง รัก หมายถึง มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย ลัก หมายถึง ขโมย)
23 ข้อใดมีคำซ้อน
(1) คุณพี่ใจดีจัง (2) ใจคอหายหมด
(3) เขาเป็นคนใจบาป (4) อ่านแล้วรู้ใจความของเรื่องไหม
ตอบ (2) ใจคอหายหมด
คำซ้อน คือ คำเดียว 2 , 4 หรือ 6 คำ ที่มีความหมายหรือมีเสียงใกล้เคียงกัน หรือไปในทำนองเดียวกัน ซ้อนเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เกิดคำใหม่ที่มีความหมายใหม่ขึ้น เช่น คำซ้อนที่ความหมายจะปรากฏที่คำต้นหรือคำท้ายคำใดคำเดียวตรงตามความหมายนั้นๆ ส่วนอีกคำหนึ่งไม่มีความหมายปรากฏ เช่น ใจคอ (จิตใจ เช่น ใจคอหายหมด ) ซึ่งความหมายจะอยู่ที่คำต้น (ส่วน “ใจ” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำประสม)
24 “ดูถูก” ในข้อใดเป็นคำเดี่ยวเรียงกัน
(1) คนดูถูกหลอกแล้ว (2) กรรมการดูถูก จึงให้รางวัลเธอไป
(3) กรรมการดูถูกเธอมาก (4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2
ตอบ (4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2
คำบางคำเป็นคำเดี่ยวแต่มีลักษณะเหมือนคำประสม หรือ เป็นคำประสมแต่มีลักษณะเหมือนกับคำเดี่ยว ซึ่งในภาษาเขียนเราไม่อาจทราบได้ถ้าไม่มีข้อความแวดล้อมมาช่วย แต่ในภาษาพูดเราใช้วิธีลงเสียงเน้น เช่น ประโยค คนดู / ถูกหลอกแล้ว กรรมการดู / ถูก จึงให้รางวัลเธอไป เป็นคำเดี่ยวเรียงกัน เสียงเน้นจึงลงที่ “ดู” (ส่วน “ดูถูก” (แสดงอาการเป็นเชิงดูหมิ่นหรือเหยียดหยามเขา) เป็นคำประสม เสียงเน้นลงที่ “ถูก”)
25 ข้อใดมีคำซ้ำ (ในที่นี้ไม่ใช้ไม้ยมกแสดง)
(1) เขาซื้อที่ที่หัวหมาก (2) เขาซื้อที่ที่สวยมาก
(3) กินอาหารเป็นที่ที่ซิ (4) ทุกข้อ
ตอบ (3) กินอาหารเป็นที่ที่ซิ
คำซ้ำ คือ คำคำเดียวกันที่นำมากล่าว 2 ครั้งเพื่อให้มีความหมายเน้นหนักขึ้น หรือเพื่อให้มีความหมายต่างจากคำเดี่ยว ซึ่งวิธีการสร้างคำซ้ำก็เหมือนกับการสร้างคำซ้อน แต่ใช้คำคำเดียวมาซ้อนกันโดยมีเครื่องหมายไม้ยมกกำกับ เช่น กินอาหารเป็นที่ๆซิ เป็นต้น (ส่วน “ที่ที่” ในตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำเดี่ยว เพราะ “ที่” คำแรกเป็นคำนาม ส่วน “ที่” คำหลังเป็นคำบุรพบท)
26 ข้อใดแยกความหมายออกเป็นส่วนๆ
(1) กินอาหารหลายจาน (2) กินอาหารเป็นจานๆไป (3) กินอาหารหลายอย่าง (4) กินอาหารเป็นอันมาก
ตอบ (2) กินอาหารเป็นจานๆไป
คำซ้ำที่ซ้ำคำนามหรือคำบอกจำนวนนับ ถ้ามีคำว่า “เป็น” มาข้างหน้า จะแยกความหมายออกเป็นส่วนๆคือ ถ้าใช้เป็นคำเดี่ยวจะหมายถึงจำนวนครั้งเดียว แต่ถ้าเป็นคำซ้ำจะมีจำนวนมากกว่าหนึ่ง และแยกเป็นทีละหนึ่ง เช่น กินอาหารเป็นจานๆไป
27 คำในข้อใดเป็นคำประสมที่มีโครงสร้างเหมือนกับคำว่า “พิมพ์ดีด”
(1) พิมพ์เขียว (2) พิมพ์ใจ (3) พิมพ์หนังสือ (4) พิมพ์สัมผัส
ตอบ (1) พิมพ์เขียว
คำประสมที่คำตัวตั้งไม่ใช่คำนาม และคำขยายก็ไม่จำกัด อาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ คำนามที่เป็นตัวตั้งจึงหายไป กลายเป็นคำกริยาบ้าง กลายเป็นคำวิเศษณ์บ้าง เป็นตัวตั้ง เช่น “พิมพ์ดีด” หมายถึง เครื่องพิมพ์ดีด (คำว่า เครื่อง หายไปแต่ที่ยังใช้อยู่ก็มี) “พิมพ์เขียว” หมายถึง สำเนาที่ทำขึ้นด้วยวิธีการพิมพ์เขียว (คำว่า สำเนา หายไปในภายหลังเช่นเดียวกัน) “สามล้อ” หมายถึง รถสามล้อ (คำว่า รถ หายไป) ฯลฯ
28 ข้อใดไม่ใช่คำประสม
(1) เปลี่ยนแปลง (2) เปลี่ยนมือ (3) เปลี่ยนหน้า (4) เปลี่ยนใจ
ตอบ (1) เปลี่ยนแปลง (ดูคำอธิบายข้อ 23 ประกอบ)
คำว่า “เปลี่ยนแปลง” (ทำให้ลักษณะต่างไป) เป็นคำซ้อน (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นคำประสมที่มีคำตัวตั้งเป็นคำกริยา คำขยายเป็นคำนามที่เป็นชื่ออวัยวะของร่างกาย และมีความหมายเชิงอุปมา เช่น เปลี่ยนมือ (เปลี่ยนเจ้าของ) เปลี่ยนหน้า (ไม่ซ้ำคนเดิม) เปลี่ยนใจ (เลิกล้มความตั้งใจเดิม) เป็นต้น
29 คำประสมในข้อใดมีลักษณะเดียวกับคำว่า “โต๊ะกินข้าว”
(1) น้ำพริกเผา (2) น้ำมันหล่อลื่น (3) น้ำประสานทอง (4) น้ำประปา
ตอบ (3) น้ำประสานทอง
คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม โดยมีคำตัวตั้งเป็นคำถาม คำขยายเป็นคำกริยาและมีกรรมมารองรับด้วย เช่น โต๊ะกินข้าว (โต๊ะสำหรับกินข้าว) รถบดถนน (รถที่ใช้สำหรับบดดินให้เรียบหรือบดถนนให้ราบ) ป่าผลัดใบ (ป่าไม้ที่ผลัดใบหรือสลัดใบในบางฤดู) น้ำประสานทอง (เกลือเคมีชนิดหนึ่งใช้เป็นตัวประสานในการเชื่อมหรือบัดกรีโลหะ) เป็นต้น
30 ข้อใดมีคำบ่งเพศ
(1) ชายน้ำ (2) ชายตา (3) ชายไหว (4) ชายโสด
ตอบ (4) ชายโสด
คำนามในภาษาไทยบางคำก็บอกเพศได้ ในตัวของมันเอง คำที่บอกเพศชาย ได้แก่ พ่อ พระ เขย ชาย ฯลฯ และคำที่บอกเพศหญิง เช่น แม่ ชี สะใภ้ หญิง ฯลฯ แต่คำบางคำที่เป็นคำรวมทั้งสองเพศ เช่น พี่ น้อง เด็ก น้า ฯลฯ เมื่อต้องการแสดงเพศจะต้องใช้คำบ่งเพศมาประกอบเข้าข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือประสมกันตามแบบคำประสมบ้าง เช่น พี่สาว น้องชาย เด็กหนุ่ม น้าสาว ฯลฯ (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นแม้จะมีคำว่า “ชาย” แต่เป็นคำประสมธรรมดา ไม่ใช่บ่งเพศ)
จงพิจารณาคำเกิดใหม่ต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 4 ข้อต่อไป
(1) กะจิบ กะสัง ตกกะใจ
(2) มะค่า ตะขาบ ฉะเฉื่อย
(3) กะเปิ๊บกะป๊าบ กะร่องกะแร่ง กะหนุงกะหนิง
(4) กะตุกกะติก กะโผลกกะเผลก กะเสือกกะสน
31 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเพิ่มเสียงไม่ให้คอนกัน
ตอบ (4) กะตุกกะติก กะโผลกกะเผลก กะเสือกกะสน
อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเพิ่มเสียงเพื่อไม่ให้คอนกัน คือ การเพิ่มเสียง “กะ” (ปัจจุบันใช้ “กระ”) เข้าไปในคำซ้อนเพื่อเสียงที่หน้าพยางค์ต้นและหน้าพยางค์ท้าย ซึ่งมีเสียงเสมอกันและสะกดด้วย “ก” เหมือนกัน โดยเพิ่มเสียง “กะ” ทั้งหน้าพยางค์ต้นและหน้าพยางค์ท้ายเพื่อไม่ให้เสียงคอนกัน เช่น ตุกติก กระตุกกะติก โผลกเผลก กะโผลกะเผลก เสือกสน กะเสือกกะสน ฯลฯ
32 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการแบ่งคำผิด
ตอบ (1) กะจิบ กะสัง ตกกะใจ
อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการแบ่งคำผิด เกิดจากการพูดเพื่อให้เสียงต่อเนื่องกัน โดยการเพิ่มเสียง “กะ” (ปัจจุบันใช้ “กระ”) ในคำที่พยางค์แรกสะกดด้วย เสียง “กะ” เช่น ตกใจ ตกกะใจ ฯลฯ หรือหน้าคำที่เป็นชื่อนก เช่น นกจิบ กะจิบ ฯลฯ ชื่อผัก เช่น ผักสัง กะสัง ฯลฯ และชื่อสิ่งที่มีลักษณนามคำว่า “ลูก” นำหน้า เช่น ลุกดุม กะดุม ฯลฯ
33 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเทียบแนวเทียบผิด
ตอบ (3) กะเปิ๊บกะป๊าบ กะร่องกะแร่ง กะหนุงกะหนิง
อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการเทียบแนวเทียบผิด เป็นการเพิ่มเสียง “กะ” (หรือ “กระ”) เข้าไปในคำซ้อนเพื่อเสียงที่พยางค์ต้นและพยางค์ท้ายไม่ได้สะกดด้วย “ก” ซึ่งยึดการใช้อุปสรรคเทียมที่เพิ่มเสียงเพื่อไม่ให้เสียงคอนกันมาเป็นแนวเทียบ แต่เป็นการเทียบแนวเทียบผิด เช่น เปิ๊บป๊าบ กะเปิ๊บกะป๊าบ ร่องแร่ง กะร่องกะแร่ง หนุงหนิง กะหนุงกะหนิง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดอุปสรรคเทียมไว้แน่นอนแล้วแต่คำที่มาข้างหน้า เช่น ขโมยโจร ขโมยขโจร จมูกปาก จมูกจปาก ฯลฯ
34 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่เกิดจากการกร่อนเสียง
ตอบ (2) มะค่า ตะขาบ ฉะเฉื่อย
อุปสรรคเทียมที่เกิดจากการกร่อนเสียง เป็นการกร่อนเสียงพยางค์ต้นให้เป็นเสีย “อะ” ได้แก่
1 “มะ” ที่นำหน้าชื่อผลไม้ ไม่ใช่ไม้ผล และหน้าคำบอกกำหนดวัน เช่น
หมากปราง มะปราง หมากขาม มะขาม หมากค่า มะค่า เมื่อรืน มะรืน
2 “ตะ” นำหน้าชื่อสัตว์ ต้นไม้ และคำที่มีลักษณะคล้ายตา เช่น
ตัวขาบ ตะขาบ ต้นขบ ตะขบ ตาวัน ตะวัน
3 “สะ” เช่น สายดือ สะดือ สาวใภ้ สะใภ้
4 “ฉะ” เช่น ฉันนั้น ฉะนั้น ฉาดๆ ฉะฉาด เฉื่อยๆ ฉะเฉื่อย
5 “ยะ / ระ / ละ” เช่น รื่นๆ ระรื่น ยิบๆยับๆ ยะยิบยะยับ เลาะๆ ละเลาะ
6 “อะ” เช่น อันไร / อันใด อะไร ส่วนคำอื่นๆที่ไม่ได้เป็นไปตามนี้ ได้แก่
ผู้ญาณ พยาน ช้าพลู ชะพลู เฌอเอม ชะเอม เป็นต้น
35 ข้อใดเป็นอุปสรรคเทียมที่มีความหมายแปลว่าทำให้
(1) ระย่อ ระคาย (2) ปรุ ปลด (3) ระคน พะเยิบ (4) สะสวย สะสาง
ตอบ (2) ปรุ ปลด
อุปสรรคเทียมเลียนแบบภาษาเขมร เป็นวิธีการแผลงคำของเขมรที่ใช้นำหน้าคำเพื่อประโยชน์ทางไวยากรณ์ ซึ่งจะทำให้ความหมายและหน้าที่ของคำเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ได้แก่
1 “ชะ / ระ / ปะ / พะ / สม / สะ” เช่น ชะดีชะร้าย ระคน ระคาย ระย่อ ปะปน ปะติดปะต่อ ประเดี๋ยว ประท้วง พะรุงพะรัง พะเยิบ สมยอม สะสาง สะพรั่ง สะสวย ฯลฯ
2 ใช้ “ข ค ป ผ พ” มานำหน้าคำนามและกริยาวิเศษณ์ เพื่อให้มีความหมายว่า “ทำให้” เช่น ขยิบ ขยี้ ขยำ ปลุก ปลด ปละ ปรุ ฯลฯ
จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 4 ข้อต่อไป
(1) ปลูกไม้ประดับ (2) ต้นไม้ประดับบ้าน (3) ไม้ดอกไม้ประดับ (4) ไม้ประดับสีสวยงาม
36 ข้อใดมี่สวนขยายประธาน
ตอบ (4) ไม้ประดับสีสวยงาม
ภาคประธาน หมายถึง ส่วนสำคัญของข้อความในประโยคที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำกิริยาอาการ โดยประธานของไทยต้องอยู่หน้าคำกริยา ส่วนจะอยู่ที่ใดของประโยคไม่จำกัด อาจมีส่วนขยายประธานที่เรียกว่า คุณศัพท์ อยู่หลังประธานหรือไม่ก็ได้ เช่น ไม้ประดับ (ประธาน) สีสวยงาม (ส่วนขยายประธาน) เป็นต้น
37 ข้อใดประกอบด้วยภาคกริยาและกรรม
ตอบ (1) ปลูกไม้ประดับ
ภาคแสดง หมายถึง ส่วนที่แสดงกริยาอาการหรือการกระทำของภาคประธานให้ได้ความหมายสมบูรณ์ ประกอบด้วย ภาคกริยา และกรรม (ผู้ถูกกระทำ) กริยานั้นต้องมีกรรมมารองรับ โดยอาจจะมีภาคขยายทำหน้าที่ขยายกริยา (เรียกว่า กริยาวิเศษณ์) และขยายกรรม (เรียกว่า คุณศัพท์) หรือไม่ก็ได้ เช่น ปลูก (กริยา) ไม้ประดับ (กรรม) เป็นต้น
38 ประดับในข้อใดเป็นคำกริยา
ตอบ (2) ต้นไม้ประดับบ้าน
คำกริยา คือ คำที่กล่าวถึงการกระทำ หรือกิริยาอาการของคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งคำกริยาบางคำจะมีความหมายสมบูรณ์ในตัว เมื่อพูดก็เข้าใจความหมายได้ครบถ้วน แต่บางคำก็ต้องอาศัยกรรมหรือส่วนขยายมาช่วย เช่น คำว่า “ประดับ” ในประโยคตัวเลือกข้อ 2 เป็นคำกริยา หมายถึง ตกแต่งให้งามด้วบสิ่งต่างๆ
39 ประโยคในข้อใดสมบูรณ์ที่สุด
ตอบ (2) ต้นไม้ประดับบ้าน
ประโยคที่สมบูรณ์ในภาษาไทยจะมีการเรียงลำดับคำในประโยคดังนี้
ภาคประธาน เช่น ต้นไม้
ภาคแสดง ประกอบด้วย กริยา กรรม และคำขยาย (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) เช่น ประดับบ้าน (กริยา + กรรม ) ดูคำอธิบายข้อ 36 – 38 ประกอบ)
จงพิจารณาประโยคต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 3 ข้อต่อไป
(1) ช่วยคิดแต่ไม่ช่วยทำ (2) ช่วยกันคิดหน่อยสิ (3) คิดอะไรอยู่ (4) คิดให้ได้
40 ข้อใดเป็นประโยคคำสั่ง
ตอบ (4) คิดให้ได้
ประโยคคำสั่ง หมายถึง ประโยคที่ต้องการให้ผู้ฟังทำตามความประสงค์ของผู้พูดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง มักเป็นประโยคที่ละประธานหรือผู้ทำไว้ในฐานที่เข้าใจและขึ้นต้นด้วยคำกริยา บางครั้งอาจจะมีกริยาช่วย “อย่า ห้าม จง ต้อง” มานำหน้ากริยาแท้เพื่อแสดงการสั่งไม่ให้ทำหรือให้ทำก็ได้ แต่ถ้ามีประธานก็จะเป็นการระบุชื่อหรือเน้นตัวบุคคลเพื่อให้คนที่ถูกสั่งรู้ตัว
41 ข้อใดเป็นประโยคคำถาม
ตอบ (3) คิดอะไรอยู่
ประโยคคำถามหมายถึง ประโยคที่มีคำวิเศษณ์แสดงคำถามอยู่ด้วย เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ทำไม เมื่อไร อย่างไร หรือ หรือเปล่า หรือไม่ ไหม ฯลฯ ซึ่งตำแหน่งของคำแสดงคำถามนี้อาจอยู่ต้นหรือท้ายประโยคก็ได้
42 ข้อใดเป็นประโยคบอกเล่า
ตอบ (1) ช่วยคิดแต่ไม่ช่วยทำ
ประโยคบอกเล่า หมายถึง ประโยคที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวตามธรรมดา ซึ่งอาจใช้ไปในทางตอบรับ หรือตอบปฏิเสธก็ได้
จงพิจารณาประโยคต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 3 ข้อต่อไป
(1) นักเรียนทุนได้รับการยกย่อง
(2) ครูใหญ่อบรมนักเรียนทุน
(3) วิมลนักเรียนทุนเรียนหนังสือเก่ง
(4) ครูใหญ่ถามหาวิมลนักเรียนทุน
43 นักเรียนทุนในข้อใดเป็นคำนามขยายประธาน
ตอบ (3) วิมลนักเรียนทุนเรียนหนังสือเก่ง
คำนามทำหน้าที่ต่างๆในประโยคได้ดังนี้
เป็นประธาน เช่น เด็กๆสมัยนี้ไม่ชอบออกกำลังกาย
เป็นกรรม เช่น ฉันอ่านหนังสือสอบแล้ว
ขยายประธาน เช่น วิมลนักเรียนทุนเรียนหนังสือเก่ง
ขยายกรรม เช่น ครูใหญ่ถามหาวิมลนักเรียนทุน
เสริมความให้สมบูรณ์ เช่น เขายังเป็นเด็ก
เป็นลักษณะนามทั้งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ กับที่ใช้ตามนามที่มาข้างหน้าเพราะไม่มีลักษณนามสำหรับคำนั้นๆ เช่น ห้องหลายห้อง ปากปากเดียว เหรียญทอง 1 เหรียญ เครื่องคิดเลข หลายเครื่อง ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีคำอื่นๆที่ทำหน้าที่ได้เช่นเดียวกับคำนาม เช่น คำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม (หาบดีกว่าคอน นอนดีกว่านั่ง)
44 นักเรียนทุนในข้อใดเป็นคำนามขยายกรรม
ตอบ (4) ครูใหญ่ถามหาวิมลนักเรียนทุน ดูคำอธิบายข้อ 43 ประกอบ
45 นักเรียนทุนในข้อใดแสดงการก
ตอบ (1) นักเรียนทุนได้รับการยกย่อง
การแสดงการก หมายถึง ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างคำในประโยค ซึ่งสามารถดูได้จากตำแหน่งของคำที่เรียงกันในประโยค แต่บางกรณีคำนามที่เป็นประธานหรือกรรมอาจเปลี่ยนที่ไปได้ คือ ประธานไปอยู่หลังกรรม กรรมมาอยู่หน้ากริยาได้ ถ้าต้องการเน้น เช่น ประโยคในตัวเลือกข้อ 1 ย้ายกรรมมาไว้หน้าคำกริยาแล้วละประธานของประโยคไว้ เพราะจริงๆแล้วต้องมีผู้ที่ยกย่องนักเรียนทุนเพียงแต่ว่าคนนั้นไม่ปรากฏในประโยค
46 สรรพนามในข้อใดขยายความเพื่อเน้นผู้กระทำ
(1) คุณแม่ท่านฝากของมาให้เธอ (2) ภรรยาท่านไม่มาหรือครับ
(3) คนขับรถท่านไม่สบาย (4) ท่านออกไปพร้อมกับภรรยา
ตอบ (1) คุณแม่ท่านฝากของมาให้เธอ
คำสรรพนามทำหน้าที่ต่างๆในประโยคดังนี้
เป็นประธาน เช่น เขามาแล้ว
เป็นกรรม เช่น เราเห็นเขาแล้ว
เสริมความให้สมบูรณ์ เช่น เขาเป็นใคร
เชื่อมประโยค เฉพาะคำว่า ที่ ซึ่ง อัน เช่น คนที่เธอเห็นเป็นเพื่อนฉัน
ขยายความเพื่อเน้นผู้กระทำ เช่น คุณแม่ท่านฝากของมาให้เธอ และเน้นผู้ถูกกระทำ เช่น เธอไปหา อาจารย์ท่านเถอะ
แสดงคำถาม เช่น อะไรดี ใครมา
47 ข้อใดไม่ใช่สรรพนามบุรุษที่ 3
(1) คุณพ่อไม่อยู่บ้าน (2) คุณแม่ไปซื้อของ (3) คุณตาถามหาเธอ (4) คุณยายเล่านิทานให้ฟังหน่อย
ตอบ (4) คุณยายเล่านิทานให้ฟังหน่อย
สรรพนามบุรุษที่ 3 คือ คำที่ใช้แทนผู้ที่พูดถึง ได้แก่ เขา มัน ท่าน แก นอกจากนั้นมักใช้เอ่ยชื่อเสียส่วนมาก ถ้าอยู่ในที่ที่จำเป็นต้องกล่าวคำดีงาม เช่น ต่อหน้าผู้ใหญ่ มักมีคำกล่าวว่า คุณ พ่อ แม่ นาย นาง นางสาว นำหน้าชื่อให้สมกับโอกาสด้วย (ส่วนตัวเลือกข้อ 4 เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนผู้ที่พูดด้วย)
48 ข้อใดไม่ใช่สรรพนามแสดงคำถาม
(1) เกิดอะไรขึ้น (2) อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด (3) เกิดอะไรที่ไหน (4) เกิดอะไรกับใคร
ตอบ (2) อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
สรรพนามที่แสดงคำถาม ได้แก่ ใคร อะไร ใด ไหน ซึ่งเป็นคำกลุ่มเดียวกันกับสรรพนามที่บอกความไม่เฉพาะเจาะจง แต่สรรพนามที่แสดงคำถามจะใช้สร้างประโยคคำถาม เช่น เกิดอะไรขึ้น เกิดอะไรที่ไหน เกิดอะไรกับใคร ฯลฯ (ส่วนตัวเลือกข้อ 2 เป็นสรรพนามที่บอกความไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งจะกล่าวถึงบุคคล สิ่งของหรือสถานที่แบบลอยๆ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร อะไรที่ไหน และไม่ได้เป็นการถาม)
49 ข้อใดมีคำกริยาแสดงภาวะของอารมณ์
(1) เขาจะมา (2) เขามาแล้ว (3) เขาคงจะมา (4) เขากำลังมา
ตอบ (3) เขาคงจะมา
คำที่แสดงมาลา (แสดงภาวะหรืออารมณ์) อาจใช้กริยาช่วย ได้แก่ คง พึง จง ต้อง อาจ โปรด ย่อม เห็นจะ ฯลฯ หรือใช้คำอื่นๆ ได้แก่ น่า นา เถอะ เถิด ชิ ซี ซินะ น่ะ ละ ล่ะ เล่า หรอก ดอก ฯลฯ มาช่วยแสดง เช่น เขาคงจะมา (คงจะ เป็นการคาดคะเนลอยๆว่า เขาอาจจะมาหรือไม่มาก็ได้ ใช้นำหน้ากริยาแท้) เป็นต้น
50 อยู่ในข้อใดไม่ใช่กริยาช่วย
(1) สุดานอนอยู่ (2) สุดาอยู่บ้าน (3) สุดาสนใจสุวิทย์อยู่ (4) สุดาเรียนหนังสืออยู่
ตอบ (2) สุดาอยู่บ้าน
คำว่า “อยู่” (พักอาศัย) เป็นได้ทั้งกริยาแท้และกริยาช่วย ดังนั้นถ้าจะดูว่าเป็นกริยาแท้หรือกริยาช่วยต้องดูที่ตำแหน่งในประโยค และเสียงหนักเบาของคำนั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นกริยาช่วยจะอยู่หลังกริยาแท้ และจะมีเสียงเบาและสั้นกว่ากริยาแท้ เช่น “อยู่” ที่เป็นกริยาช่วยจะบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังไม่ยุติลง ได้แก่ สุดานอนอยู่ สุดาสนใจสุวิทย์อยู่ สุดาเรียนหนังสืออยู่ ฯลฯ (ส่วนตัวเลือกข้อ 2 “อยู่” เป็นกริยาแท้)
51 ข้อใดมีคำคุณศัพท์
(1) กินอิ่มนอนหลับ
(2) กินดีอยู่ดี
(3) ขาวบ้างดำบ้าง
(4) วิวสวยน้ำใส
ตอบ (4) วิวสวยน้ำใส
คำคุณศัพท์คือ คำวิเศษณ์ขยายนามหรือคำที่ทำหน้าที่ได้อย่างคำนาม ตามธรรมดาจะอยู่หลังคำที่ตนเองขยาย เช่น วิวสวยน้ำใส (คำว่า “สวย” (งามอย่างน่าพอใจ) และ “ใส” (แจ่มกระจ่าง ไม่ขุ่นมัว) เป็นคำคุณศัพท์บอกลักษณะ) เป็นต้น (ส่วน “อิ่ม หลับ ดี บ้าง” ในตัวเลือกข้อ 1 2 และ 3 เป็นกริยาวิเศษณ์)
52 ข้อใดมีคำกริยาวิเศษณ์บอกความแบ่งแยก
(1) กินพลางพูดพลาง (2) คิดเล็กคิดน้อย (3) พูดเร็วทำเร็ว (4) กินง่ายนอนง่าย
ตอบ (1) กินพลางพูดพลาง
คำกริยาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ขยายกริยา ขยายคุณศัพท์และขยายกริยาวิเศษณ์ ซึ่งบางทีก็เป็นคำๆเดียวกับคุณศัพท์ จึงต้องสังเกตตำแหน่งและดูความในประโยค เช่น คำกริยาวิเศษณ์บอกความแบ่งแยก ได้แก่ บ้าง พลาง กัน ต่าง ต่างๆ ต่างหาก ฯลฯ เช่น กินพลางพูดพลาง (คำว่า “พลาง” ขยายกริยาแสดงว่าทำกริยา 2 อย่างขึ้นไปพร้อมกัน) เป็นต้น
53 ข้อใดสามารถละบุรพบทได้
(1) เขาทำตามเพื่อน (2) เขาเดินตามหาเธอ
(3) เขาเดินตามเธอมา (4) เขาปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
ตอบ (2) เขาเดินตามหาเธอ
คำบุรพบทไม่สำคัญมากเท่ากับคำนาม คำกริยาและคำวิเศษณ์ ดังนั้นบางแห่งไม่ใช้บุรพบทเลยก็ยังฟังเข้าใจได้ ซึ่งบุพบทที่อาจละได้แล้ว ความหมายยังเหมือนเดิม ได้แก่ ของ แก่ ต่อ สู้ ยัง ที่ บน ฯลฯ แต่บุรพบทบางคำก็ละไม่ได้ จะละได้ก็ต้องดูความในประโยคว่าความหมายต้องไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เขาเดินตามหาเธอ (เขาเดินหาเธอ) เป็นต้น
54 ข้อใดเป็นคำบุรพบทที่แสดงความเป็นเครื่องมือเครื่องใช้
(1) ตามเธอไปโดยด่วน (2) ปล่อยเธอไปตามทางของเธอ
(3) กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง (4) ขอความกรุณาเห็นแก่หน้าเขาบ้าง
ตอบ (3) กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง
คำบุรพบทที่นำหน้าคำที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ กับ โดย เพราะ ซึ่งคำกริยาที่มากับบุรพบทชนิดนี้มักเป็นกริยาที่มีกรรมมารับ เช่น เขียนด้วยมือ (มือเป็นเครื่องใช้ในการเขียน) ได้ยินกับหู (หูเป็นเครื่องทำให้ได้ยิน) กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง (ปากเป็นเครื่องใช้ในการกิน และท้องเป็นเครื่องทำให้เกิดความอยาก) เป็นต้น
จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 3 ข้อต่อไป
(1) ถ้าเธอมา ฉันก็จะรออยู่ (2) ถึงเธอจะมา ฉันก็ไม่อยู่รอ
(3) เธอจะมาหรือจะให้ฉันไปหา (4) เธอมาไม่ได้เพราะเธอไม่สบาย
55 ข้อใดใช้คำสันธานเชื่อมความขัดแย้งกัน
ตอบ (2) ถึงเธอจะมา ฉันก็ไม่อยู่รอ
คำสันธานที่เชื่อมความที่ขัดแย้งกันไปคนละทาง ได้แก่ แต่ แต่ว่า แต่ทว่า จริงอยู่…แต่ ถึง…ก็ กว่า…ก็
56 ข้อใดใช้คำสันธานเชื่อมความคาดคะแนน
ตอบ (1) ถ้าเธอมา ฉันก็จะรออยู่
คำสันธานที่เชื่อมความคาดคะเนหรือแบ่งรับแบ่งสู้ ได้แก่ ถ้า…ก็ ถ้า…จึง ถ้าหากว่า แม้…ก็ แม้.ว่า เว้นแต่ นอกจาก
57 ข้อใดใช้คำสันธานเชื่อมความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตอบ (3) เธอจะมาหรือจะให้ฉันไปหา
คำสันธานที่เชื่อมความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หรือ หรือไม่ หรือมิฉะนั้น มิฉะนั้น
58 ข้อใดเป็นคำอุทานที่เลื่อนเป็นคำกริยา
(1) เขาเป็นพ่อแม่ที่ชอบโอ๋ลูก (2) เขาเป็นพ่อแม่ที่ชอบทำเรื่องอื้อฉาว
(3) พ่อแม่คู่นี้มีข่าวครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์ (4) ผู้คนกล่าวถึงพ่อแม่คู่นี้อย่างครึกครื้น
ตอบ (1) เขาเป็นพ่อแม่ที่ชอบโอ๋ลูก
คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาด้วยอารมณ์สะเทือนใจ เมื่อตกใจ ดีใจ หรือแปลกใจ เช่น โธ่ พุทโธ่ โธ่เอ๊ย ต๊าย ว๊าย ตายจริง โอ้โฮ อุ๊ย ฯลฯ โดยมีคำบางคำที่เลื่อนมาเป็นคำกริยา ได้แก่ เออออห่อหมก เอออวย เอะอะ โอ๋ พุทโธ (สงสาร เห็นใจ) โอละพ่อ และบางคำก็เลื่อนมาเป็นคำกริยาวิเศษณ์ ได้แก่ อื้ออึง อื้อฉาว อึกทึก ครึกโครม ครืน ครื้นครั่น ครึกครื้น โครมคราม ฯลฯ
59 ข้อใดเป็นคำลักษณนามบอกน้ำหนักทั้งหมด
(1) กิโลกรัม ปอนด์ ปีบ (2) กรัม ทะนาน คัน (3) หาบ ชั่ง ขีด (4) คิว ช้อน ขวด
ตอบ (3) หาบ ชั่ง ขีด
คำลักษณนามบอกมาตราชั่ง ตวง วัด นับ ที่บอกน้ำหนัก ได้แก่ หาบ ชั่ง ขีด กรัม ปอนด์ กิโลกรัม (ก.ก) กิโล (โล)
60 ข้อใดใช้คำลักษณนามเดียวกันทั้งหมด
(1) ผม ไหม ยาฉุน (2) กอไผ่ หน่อไม้ ต้นเข็ม
(3) ตะกร้า แก้ว ขลุ่ย (4) ซีดี กุญแจ โทรศัพท์มือถือ
ตอบ (1) ผม ไหม ยาฉุน
คำลักษณนามสำหรับสิ่งที่มีลักษณะเล็กยาว ได้แก่ สาย (ใช้กับถนน สายสร้อย เข็มขัด ฯลฯ) เส้น (ใช้กับ ผม ไหม ด้าย ขน เชือก ยาจืด ยาฉุน ยาเส้น ฯลฯ)
การใช้ภาษา
ตั้งแต่ข้อ 61 – 70 อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามโดยให้สัมพันธ์กับข้อความที่ให้อ่าน
สวัสดีค่ะ วันนี้ “ป้าหญิงใหญ่” (ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์) และรายการโทรทัศน์ “เพื่อนแก้ว” มาพูดคุยกับน้องๆ เพื่อให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค อ.ย.
ถ้าเด็กๆได้อ่านก่อนคุณพ่อคุณแม่ ก็ตัดคอลัมน์นี้ไปให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบด้วยกันนะคะ
เรื่องที่ต้องเล่าให้เด็กๆทราบคือขณะนี้มักมีโฆษณาออกมาบรรยายถึง สรรพคุณของคลอโรฟิลล์ว่ามีประโยชน์มากมาย ถึงขั้นสามารถบำบัดโรคได้ ซึ่งป้าหญิงใหญ่จะบอกว่าความจริงเป็นเช่นไร?
คลอโรฟิลล์ คือสารสีเขียว ที่พบได้ในพืชที่มีสีเขียว โดยพืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์ซึ่งร่างกายของคนเราไม่สามารถที่จะสร้างคลอโรฟิลล์ได้เอง ถ้าหากเรารับประทานผักใบเขียวในปริมาณ 100 กรัมก็จะได้รับคลอโรฟิลล์เฉลี่ยประมาณ 500 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ ก็คงจะมีอยู่บ้างนะคะ เพราะมีแร่ธาตุธรรมชาติเป็นองค์ประกอบอยู่ แต่จะมีประโยชน์ขนาดบำบัด บรรเทา รักษาโรคต่างๆได้นั้น ยังไม่มีข้อมูลศึกษาวิจัยที่ชัดเจน
ปัจจุบัน อย. อนุญาตให้ใช้คลอโรฟิลล์ได้ในอาหาร 4 ประเภท คือ ใช้เป็นสีผสมอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่งและลูกอม ใช้เป็นเครื่องดื่ม และใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีจำหน่ายในรูปผงแคปซูล หรือน้ำ
แต่ อย. ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณว่าสามารถบำบัดโรคนั้นโรคนี้ได้ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่และเด็กพบเห็น หรือได้ยินคำโฆษณาว่า รักษาโรคต่างๆได้ ก็ขอให้ทราบว่าเป็นการโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และเข้าข่ายหลอกลวง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท และอาจติดคุกถึง 3 ปี เชียวนะคะ
คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่รับประธานคลอโรฟิลล์ อาจกังวลว่าจะเป็นพิษ เป็นอันตรายหรือไม่ก็ขอให้เบาใจได้ ถ้าอันตราย อย. คงไม่อนุญาตให้เป็นอาหารหรอกค่ะ เพราะมีการประเมินความปลอดภัยในการบริโภคโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอนามัยโลกว่า คนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม สามารถรับประธานคลอโรฟิลล์ได้ 450 มิลลิกรัมต่อวัน โดยไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตราย
คงจะมีข้อยกเว้นสำหรับบางคนที่แพ้เท่านั้นเอง
ปกติเราก็ได้รับคลอโรฟิลล์จากการรับประทานพืชผักที่มีสีเขียว และยังได้เส้นใยอาหารที่มีอยู่ในพืชผัก ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ได้ด้วย แต่หากจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพวกคลอโรฟิลล์มารับประทาน ก็ขอให้พิจารณาฉลากว่ามีเลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. หรือไม่ ซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว
ที่สำคัญขอให้ระลึกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็คืออาหารที่เรารับประทานเพิ่มไปจากกการรับประทานอาหารปกติของเรา อย่าเอาคลอโรฟิลล์มารับประทานเป็นอาหารหลักนะคะ มิฉะนั้นอาจทำให้เป็นโรคขาดสารอาหารได้ เพราะคลอโรฟิลล์ไม่ได้มีสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ ท่านที่เจ็บป่วยอยู่อย่าละทิ้งการรักษา แล้วหันมาพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างเดียว อาจทำให้การรักษายุ่งยาก หรือโรคที่เป็นอยู่ทรุดหนักลงจนเกินเยียวยาได้ค่ะ
(จากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ประจำวันที่ 19 สิหาคม พ.ศ.2550 หน้า28)
61 ข้อความที่ให้อ่านเป็นวรรณกรรมประเภทใด
(1) ข่าว (2) บทความ (3) เรื่องสั้นๆ (4) บทโทรทัศน์
ตอบ (2) บทความ
บทความ คือ งานเขียนที่มีการนำเสนอข้อมูลที่ได้มาจากเอกสารทางวิชาการหรือผลงานการวิจัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นเพื่อให้ข้อมูลหรือความรู้ และมีการสรุปให้เห็นความสำคัญของเรื่อง พร้อมทั้งเสนอข้อคิดให้ผู้อ่านนำไปพิจารณา
62 จุดประสงค์ของผู้เขียนคืออะไร
(1) เสนอข่าว (2) ให้ข้อมูล (3) ให้ความรู้ (4) แสดงทัศนะ
ตอบ (3) ให้ความรู้
ผู้เขียนมีจุดประสงค์ในการเขียน คือ ต้องการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับคลอโรฟิลล์ โดยมีการแทรกข้อมูลประกอบบ้าง
63 โวหารการเขียนเป็นแบบใด
(1) บรรยาย (2) พรรณนา (3) อธิบาย (4) อภิปราย
ตอบ (1) บรรยาย
โวหารเชิงบรรยาย เป็นโวหารที่ใช้ในการเล่าเรื่องตามที่ผู้เขียนได้รู้ได้เห็นมา เพื่อให้ผู้อ่านรับรู้และประทับใจราวกับว่าได้พบด้วยตนเอง ซึ่งโวหารแบบนี้มักใช้ในการเขียนบทความ นิทาน นิยาย ประวัติ ตำนาน รายงาน และจดหมายเหตุ เป็นต้น
64 ท่วงทำนองเขียนเป็นแบบใด
(1) กระชับรัดกุม (2) สละสลวย
(3) เป็นภาษาเขียนที่เรียบง่าย (4) เป็นภาษาพูดที่เรียบง่าย
ตอบ (4) เป็นภาษาพูดที่เรียบง่าย
ท่วงทำนองเขียนแบบเรียบง่าย คือ ท่วงทำนองเขียนที่ใช้คำง่ายๆ ชัดเจน การผูกประโยคไม่ซับซ้อน ทำให้อ่านและเข้าใจได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาขบคิดมากนักซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนใช้ภาษาพูดที่เรียบง่ายเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้อ่านเข้าใจง่าย
65 คลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อสิ่งใด
(1) พืช (2) คน (3) ทั้งคนและพืช (4) สิ่งมีชีวิตทั้งหมด
ตอบ (3) ทั้งคนและพืช
จากข้อความ คลอโรฟิลล์ คือ สารสีเขียวที่พบได้ในพืชที่มีสีเขียว โดยพืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งร่างกายของครเราไม่สามารถที่จะสร้างคลอโรฟิลล์ได้เอง ปกติเราก็ได้รับคลอโรฟิลล์จากการรับประทานพืชผักที่มีสีเขียว และยังได้เส้นใยอาหารที่มีอยู่ในพืชผักช่วยลดความเสียงของมะเร็งลำไส้ได้ด้วย (จะเห็นว่าคลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อทั้งคนและพืช)
66 คลอโรฟิลล์มีอันตรายได้เพราะเหตุใด
(1) ไม่สะอาด
(2) ไม่ผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้อง
(3) ขนาดที่รับประทาน มีการแพ้ และเน้นรับประทานอย่างเดียว
(4) ถูกทั้งข้อ 1 2 และ 3
ตอบ (3) ขนาดที่รับประทาน มีการแพ้ และเน้นรับประทานอย่างเดียว
จากข้อความ คนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม สามารถรับประทานคลอโรฟิลล์ได้ 450 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตราย คงจะมีข้อยกเว้นสำหรับบางคนที่แพ้เท่านั้นเอง อย่าเอาคลอโรฟิลล์มารับประทานเป็นอาหารหลักนะคะ มิฉะนั้นอาจำให้เป็นโรคขาดสารอาหารได้ เพราะคลอโรฟิลล์ไม่ได้มีสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ (จะเห็นว่าคลอโรฟิลล์มีอันตรายได้ถ้ารับประทานเกินขนาด มีการแพ้ และเน้นรับประทานอย่างเดียว)
67 เหตุใดจึงไม่อาจสรุปได้ว่า คลอโรฟิลล์สามารถรักษาโรคต่างๆได้
(1) เพราะมีการโฆษณาที่เกินจริงมากมาย
(2) เพราะยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่แจ่มแจ้ง
(3) เพราะ อย. ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ
(4) เพราะโครงสร้างของคลอโรฟิลล์ไม่มีคุณสมบัติในการรักษา
ตอบ (2) เพราะยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่แจ่มแจ้ง
จากข้อความ ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ก็คงจะมีอยู่บ้างนะคะ เพราะมีแร่ธาตุธรรมชาติเป็นองค์ประกอบอยู่ แต่จะมีขนาดบำบัด บรรเทา รักษาโรคต่างๆ ได้นั้น ยังไม่มีข้อมูลศึกษาวิจัยที่ชัดเจน (ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่า คลอโรฟิลล์สามารถรักษาโรคต่างๆได้)
68 เหตุใดเราควรรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคลอโรฟิลล์
(1) เป็นการบริโภคตามกระแสนิยม
(2) เพราะคลอโรฟิลล์มีประโยชน์มากกว่าโทษ
(3) เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างคลอโรฟิลล์ได้เอง
(4) เพราะอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคลอโรฟิลล์มีราคาแพง
ตอบ (3) เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างคลอโรฟิลล์ได้เอง ดูคำอธิบายข้อ 65 ประกอบ
69 อย. ย่อมาจากอะไร
(1) องค์การอนามัยแห่งชาติ (2) องค์การอนามัยแห่งสหประชาชาติ
(3) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (4) สำนักงานสาธารณสุข
ตอบ (3) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
อย. ย่อมาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดต่างๆ
70 ชื่อใดเหมาะสมกับเนื้อหาที่ให้อ่านมากที่สุด
(1) กระแสนิยมคลอโรฟิลล์ (2) คลอโรฟิลล์ในยุคบริโภคนิยม
(3) คลอโรฟิลล์มิใช่อาหารหลัก (4) สารพัดประโยชน์จากคลอโรฟิลล์
ตอบ (3) คลอโรฟิลล์มิใช่อาหารหลัก
ชื่อเรื่อง คือ สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงอย่างกว้างๆ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าข้อความนั้นๆเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ก็ต้องไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป ซึ่งสำหรับข้อความนี้ ควรตั้งชื่อเรื่องว่า คลอโรฟิลล์มิใช่อาหารหลัก จึงจะเหมาะสมกับเนื้อหามากที่สุด
ตั้งแต่ข้อ 71 – 80 จงเลือกราชาศัพท์หรือคำที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพื่อเติมลงในช่องว่างระหว่างข้อความต่อไปนี้
ประชาชนชาวไทย (71) สถาบันพระมหากษัตริย์ (72) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เพราะบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เพราะ (73) (74) และคุณูปการที่ได้ทรงมี (75) ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติมาโดยตลอด โชคดีของคนไทยอยู่ตรงที่ไม่ว่าจะ (76) ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีพระมหากษัตริย์ (77) โดยเด็ดขาด หรือในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ (78) นับแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน (79) ทรงใช้ (80) โดยมีทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรกำกับอยู่เสมอมา
71 (1) เคารพ
(2) นับถือ
(3) ทรงเคารพ
(4) ทรงนับถือ
ตอบ (1) เคารพ
บุคคลที่เป็นสามัญชนไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ ซึ่งในข้อนี้มีประชาชนชาวไทยเป็นประธานของประโยคจึงควรใช้คำว่า เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ
72 (1) เคารพบูชา
(2) นับถือบูชา
(3) ทรงเคารพบูชา
(4) ทรงนับถือบูชา
ตอบ (2) นับถือบูชา ดูคำอธิบายข้อ 71 ประกอบ
ซึ่งในที่นี้ควรใช้คำว่า นับถือบูชา หมายถึง เชื่อถือยึดมั่นเคารพ ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ
73 (1) พระจริยวัตร (2) พระกรณียวัตร (3) พระราชจริยวัตร (4) พระราชกรณียกิจ
ตอบ (3) พระราชจริยวัตร
ราชาศัพท์ที่มีคำว่า “ราช” เช่น พระราชดำริ (คิด) พระราชจริยวัตร (หน้าที่ที่พึงประพฤติปฏิบัติ ความประพฤติ ท่วงทีวาจา และกิริยามารยาท) พระราชอำนาจ (สิทธิ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม) ฯลฯ จะใช้กับเจ้านาย 5 พระองค์ในรัชกาลปัจจุบัน คือ
1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
3 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
4 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
5 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
74 (1) พระเมตตาคุณ (2) พระมหากรุณาธิคุณ (3) พระกรุณาธิคุณ (4) พระปรีชาสามารถ
ตอบ (2) พระมหากรุณาธิคุณ
พระมหากรุณาธิคุณ หมายถึง คุณอันยิ่งใหญ่ (ยิ่งใหญ่กว่าพระกรุณาธิคุณ) คือ กรุณาหรือความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ (ส่วนพระเมตตาคุณ หมายถึง ความรักและเอ็นดูปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข พระปรีชาสามารถ หมายถึง มีปัญญาความสามารถ)
75 (1) กับ (2) แก่ (3) แด่ (4) ทั้ง
ตอบ (2) แก่
คำบุรพบทที่แสดงการให้และรับ ได้แก่ แก่ (ใช้เมื่อผู้รับมีศักดิ์ต่ำกว่าหรือเยาว์วัยกว่า) แด่ (ใช้เมื่อผู้รับเป็นผู้ที่เคารพนับถือ ผู้อาวุโสหรือผู้ที่สูงศักดิ์กว่า เช่น ถวายของแด่พระภิกษุ ฯลฯ) ต่อ (ใช้นำหน้าความที่เป็นผู้รับต่อหน้าเผชิญหน้า) เป็นต้น (ส่วน กับ ทั้ง เป็นบุรพบทที่ใช้เสริมความให้สมบูรณ์ โดยที่ความนั้นเกี่ยวเนื่องกัน)
76 (1) เป็น (2) อยู่ (3) ทรงเป็น (4) ทรงอยู่
ตอบ (2) อยู่
ดูคำอธิบายข้อ 50 และ 71 ประกอบ (ส่วนคำว่า “เป็น” เป็นคำกริยาที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหน้าและคำหลังว่ามีภาวะ คือ ความมี ความเป็น เกี่ยวข้องกันอย่างไร)
77 (1) มีพระราชดำริ (2) ทรงพระราชดำริ (3) มีพระราชอำนาจ (4) ทรงมีพระราชอำนาจ
ตอบ (3) มีพระราชอำนาจ ดูคำอธิบายข้อ 73 ประกอบ
คำกริยา “มี” และ “เป็น” เมื่อใช้เป็นราชาศัพท์มีข้อสังเกตดังนี้ คือ
1 หากคำที่ตามหลัง “มี” และ “เป็น” เป็นนามราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องเติม “ทรง” หน้าคำว่า “มี” หรือ “เป็น” เช่น มีพระราชอำนาจ เป็นพระราชธิดา ฯลฯ
2 หากคำที่ตมหลัง “มี” และ “เป็น” เป็นคำสามัญให้เติม “ทรง” หน้าคำกริยา “มี” หรือ “เป็น” ก่อน เช่น ทรงมีพัฒนาการ (มีการเปลี่ยนแปลงในทางเจริญขึ้น ) ทรงเป็นประมุข (ผู้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าของประเทศหรือศาสนา) ฯลฯ
78 (1) ประมุข (2) ทรงเป็นประมุข (3) ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (4 ทรงเป็นผู้นำประเทศ
ตอบ (2) ทรงเป็นประมุข ดูคำอธิบายข้อ 77 ประกอบ
79 (1) พระองค์ (2) องค์ (3) พระองค์ท่าน (2) องค์ท่าน
ตอบ (1) พระองค์
คำสรรพนามราชาศัพท์ที่ใช้แทนผู้ที่พูดถึง (บุรุษที่ 3) ได้แก่
1 พระองค์ ใช้แทนพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และสมเด็จพระสังฆราช
2 ทูลกระหม่อม ใช้แทนเจ้านายชั้นฟ้า
3 เสด็จ ใช้แทนเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าที่เป็นลูกเขย และหลานเธอ ซึ่งมีพระอัยกาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
4 ท่าน ใช้แทนเจ้านายทั่วไป ขุนนาง พระสงฆ์ ฯลฯ
80 (1) พระราชดำริ (2) พระราชดำรัส (3) พระราขปณิธาน (4) พระราชอำนาจ
ตอบ (4) พระราชอำนาจ ดูคำอธิบายข้อ 73 ประกอบ
(ส่วนพระราชดำรัส หมายถึง พูด พระราชปณิธาน หมายถึง ตั้งความปรารถนา)
81 ข้อใดสะกดถูกทุกคำ
(1) สละสลวย สมุทัย สมุฏฐาน
(2) ลมสลาตัน ทะเลสาบ สาปสูญ
(3) สรรพางค์ สันมีด จัดสรร
(4) สรรหา สีสัน สรรค์สร้าง
ตอบ ข้อ 1 และ ข้อ 4 คำที่สะกดผิด ได้แก่ สาปสูญ จัดสรรค์ ซึ่งที่ถูกต้องคือ สาบสูญ จัดสรร
82 ข้อใดสะกดผิดทุกคำ
(1) ฮกเกี้ยน ฮวงซุ้ย ฮอร์โมน
(2) ไอศกรีม โอโซน แฮนด์บอล
(3) แร็กเกต แพลทินัม ลิปสติก
(4) สีสอร์ท พลาสติค คัท – เอาท์
ตอบ (4) สีสอร์ท พลาสติค คัท – เอาท์
คำที่สะกดผิดได้แก่ สีสอร์ท พลาสติค คัท – เอาท์ ซึ่งที่ถูกต้องคือ รีสอร์ต พลาสติก คัต – เอาต์
83 ข้อใดมีคำที่สะกดผิดปรากฏอยู่ด้วย
(1) ตกเรี่ยราย เรี่ยไรเงิน เรี่ยวแรง (2) แร้นแค้น ลำเค็ญ เลี้ยวรก
(3) โรยตัว แรมรอน เรื้อรัง (4) เรื่อยเปื่อย ไรฟัน ตัวเลือด
ตอบ ข้อ 2 และข้อ 4 คำที่สะกดผิด ได้แก่ เลี้ยวรก ตัวเลือด ซึ่งที่ถูกต้องคือ เรี้ยวรก ตัวเรือด
84 ข้อใดมีคำที่สะกดถูกสลับกับคำที่สะกดผิด
(1) โพล้เพล้ สนามเพลาะ เพลี้ยงพล้ำ ตัวเพลี้ย (2) โพนทะนา ไพร่พล ไพล่หลัง พะอืดพะอม
(3) แพร่งพราย เพิ่มพูล ขาวโพลน เพรียบพร้อม (4) พลุกพล่าน พานพบ พากย์หนัง พัลวัน
ตอบ (3) แพร่งพราย เพิ่มพูน ขาวโพลน เพรียบพร้อม
คำที่สะกดผิดได้แก่ เพลี้ยงพล้ำ เพิ่มพูล เพรียบพร้อม ซึ่งที่ถูกต้องคือ เพลี่ยงพล้ำ เพิ่มพูน เพียบพร้อม
85 ข้อใดมีคำที่สะกดผิดขนาบคำที่สะกดถูก
(1) ลักษณะนาม ลึกล้ำ สูงริ่ว (2) ไกลลิบ ลิ้มรส เลือนราง
(3) เลื่อยลอย โล้ชิงช้า และเล็ม (4) โลดแล่น ไม้ไล่หลายพันธุ์ ไล่เลี่ย
ตอบ (1) ลักษณะนาม ลึกล้ำ สูงริ่ว
คำที่สะกดผิด ได้แก่ ลักษณะนาม สูงริ่ว เลื่อยลอย ซึ่งที่ถูกต้องคือ ลักษณนาม สูงลิ่ว เลื่อนลอย
จงพิจารณาตัวเลือกต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม 5 ข้อต่อไป
(1) ยกตนข่มท่าน ยกตัวขึ้นเหนือลม ยกหางตนเอง
(2) รู้ยาวรู้สั้น รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
(3) ลิ้นสองแฉก ลิ้นไม่มีกระดูก ลิ้นกระดาษทราย น้ำลายเชลแล็ก
(4) ลิ้นอ่อน ลิ้นกระบือ ลิ้นไก่สั้น
86 ข้อใดมีแต่สำนวน
ตอบ (3) ลิ้นสองแฉก ลิ้นไม่มีกระดูก ลิ้นกระดาษทราย น้ำลายเชลแล็ก
1 สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นอย่างกะทัดรัด ใช้คำน้อยแต่กินความหมายมาก และเป็นความหมายโดยนัยหรือโดยเปรียบเทียบ เช่น ลิ้นสองแฉก (พูดสับปลับเชื่อถือไม่ได้) ลิ้นไม่มีกระดูก (พูดสลับ กลับกลอก เอาแน่ไม่ได้) ลิ้นกระดาษทราย นำลายเชลแล็ก (ประจบประแจง สอพลอ) รู้ยาวรู้สั้น (รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว) ฯลฯ
2 คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อตีความ สรุปเหตุการณ์ สภาวการณ์ บุคลิกและอารมณ์ให้เข้ากับเรื่อง มีความหมายกลางๆ ไม่เน้นการสั่งสอน แต่แฝงคติเตือนใจให้นำไปปฏิบัติหรือไม่ให้นำไปปฏิบัติ เช่น ยกตนข่มท่าน (ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น พูดทับถมผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าตนเหนือกว่า) ยกตัวขึ้นเหนือลม (ปัดความผิดให้พ้นตัว ยกตนเหนือคนอื่น) ยกหางตนเอง (ยกตนเองดีว่าเก่ง) รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง (รู้จักเอาตัวรอด หรือปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์) ฯลฯ
3 สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อสั่งสอนโดยตรง ซึ่งอาจเป็นคติ ข้อติติง คำจูงใจ หรือคำห้าม และเนื้อความที่สั่งสอนก็เป็นความจริง เป็นความดีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เช่น รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม (เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรง หรือเสียหายอะไร) ฯลฯ
87 ข้อใดมีแต่คำพังเพย
ตอบ (1) ยกตนข่มท่าน ยกตัวขึ้นเหนือลม ยกหางตนเอง
ดูคำอธิบายข้อ 86 ประกอบ
88 ข่อใดเรียงลำดับถูกต้อง ตั้งแต่สำนวน คำพังเพย และสุภาษิต
ตอบ (2) รู้ยาวรู้สั้น รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
ดูคำอธิบายข้อ 86 ประกอบ
89 ข้อใดไม่ปรากฏว่ามีสำนวน คำพังเพย หรือสุภาษิตเลย
ตอบ (4) ลิ้นอ่อน ลิ้นกระบือ ลิ้นไก่สั้น
คำในตัวเลือกข้อ 4 เป็นคำประสมทั้งหมด โดยคำว่า ลิ้นอ่อน หมายถึง อาการที่พูดออกสำเนียงได้ชัดเจน ลิ้นกระบือ หมายถึง ไม้แผ่นบางๆ สำหรับสอดเพลาะกระดานเป็นระยะๆ ให้สนิทแข็งแรง ลิ้นไก่สั้น หมายถึง อาการที่พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ชัดอย่างคนเมาเหล้า
90 ข้อใดมีความหมายเหมือนกันทุกข้อความ
ตอบ (1) ยกตนข่มท่าน ยกตัวขึ้นเหนือลม ยกหางตนเอง
ดูคำอธิบายข้อ 86 ประกอบ
จงเลือกคำที่มีความหมายคนละพวกกับคำอื่นๆ แล้วตอบคำถาม 5 ข้อต่อไป
91 (1) เรื่องสั้น
(2) สารคดี
(3) วารสาร
(4) บทความ
ตอบ (1) เรื่องสั้น หมายถึง บันเทิงคดีร้อยแก้วรูปแบบหนึ่ง มีลักษณะคล้ายนวนิยาย แต่สั้นกว่า โดยมุ่งให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่านเป็นหลัก (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้มากกว่าความบันเทิง)
92 (1) พริกไทย (2) ยี่หร่า (3) กระวาน (4) ดอกจัน
ตอบ (4) ดอกจัน หมายถึง รูปกลมๆ เป็นจักๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เพื่อเน้นข้อความที่สำคัญ (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นพืชที่นิยมนำมาปรุงอาหาร ทำยา และเป็นเครื่องเทศ)
93 (1) พัดชา (2) สวมแว่น (3) สวมเสื้อ (4) สวมหมวก
ตอบ (1) พัดชา หมายถึง ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง ชื่อท่ารำท่าหนึ่ง (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นเครื่องมือสำหรับใช้โบกลม หรือพัดให้เย็น)
94 (1) สวมรอย (2) สวมแว่น (3) สวมเสื้อ (4) สวมหมวก
ตอบ (1) สวมรอย หมายถึง เข้าแทนที่คนอื่นโดยทำเป็นทีให้เข้าใจว่าตนเองเป็นตัวจริง (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นปฏิกิริยาที่เอาของที่เป็นโพรงเป็นวงครอบลงบนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น สวมหมวก นุ่ง เช่น สวมกางเกง ใส่ เช่น สวมเสื้อ สวมแว่น ฯลฯ)
95 (1) สีเขียว (2) สีขาบ (3) สีเข้ม (4) สีขาว
ตอบ (3) สีเข้ม หมายถึง ลักษณะของสีที่แก่จัด (ส่วนตัวเลือกข้ออื่นเป็นชนิดของสี เช่น สีเขียว (มีสีอย่างใบไม้สด ) สีขาบ (สีน้ำเงินแก่ม่วง) สีขาว (มีสีอย่างสำลี) เป็นต้น)
96 ลักษณนามของเหรียญทองคืออะไร
(1) อัน (2) วง (3) เหรียญ (4) เหรียญทอง
ตอบ (3) เหรียญ ดูคำอธิบายข้อ 43 ประกอบ
97 ลักษณนามของเครื่องคิดเลขคืออะไร
(1) อัน (2) ราง (3) ลูก (4) เครื่อง
ตอบ (4) เครื่อง ดูคำอธิบายข้อ 43 ประกอบ
98 “เขาไม่ย่อท้อ… ความลำบาก” ต้องใช้คำใด
(1) กับ (2) แก่ (3) ใน (4) ต่อ
ตอบ (4) ต่อ ดูคำอธิบายข้อ 75 ประกอบ
99 “ผู้ปรารถนา…ต้องแสวงหาความรู้” ต้องใช้วลีใด
(1) การก้าวหน้า (2) การรุดหน้า (3) ความก้าวหน้า (4) ความรุดหน้า
ตอบ (3) ความก้าวหน้า
อาการนาม คือ คำนามที่เกิดจากการเติมคำว่า “การ” (ถ้าหมายถึงการกระทำ) หรือคำว่า “ความ” (ถ้าหมายถึงความเป็นอยู่ ) หน้าคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ ซึ่งจะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง เช่น การเรียน (การเข้ารับความรู้จากผู้สอน) ความก้าวหน้า (ความเจริญพัฒนาเร็วกว่าปกติ) ฯลฯ
100 “เขามามหาวิทยาลัย…ไม่เรียนหนังสือจึงสอบตก” ต้องใช้คำใด
(1) ด้วย (2) กับ (3) แต่ (4) มิฉะนั้น
ตอบ (3) แต่
คำสันธาน คือ คำที่เชื่อมความให้ต่อเนื่องเป็นความเดียวกัน ซึ่งอาจเชื่อมคำกับคำ เช่น พี่กับน้อง ฯลฯ หรือเชื่อมประโยคกับประโยค เช่น เขามามหาวิทยาลัยแต่ไม่เรียนหนังสือ จึงสอบตก ฯลฯ (ดูคำอธิบายข้อ 55 ประกอบ)
101 “อาจารย์ถึงวัย…แล้ว” ต้องใช้คำใด
(1) เกษียน
(2) เกษียณ
(3.) เกษียร
(4) เกศียน
ตอบ (2) เกษียณ หมายถึง สิ้นไป (ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ) เช่น เกษียณอายราชการ (ส่วนเกษียน หมายถึง ข้อความที่เขียนแทรกไว้ เช่น ในใบลาน เกษียร หมายถึง น้ำนม เกศียน เป็นคำ ที่สะกดผิด จึงไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรม)
102 “ฉันไปเที่ยวงาน…พระพุทธบาท” ต้องใช้คำใด
(1) สมโภช (2) สมโพธิ (3) สมโภชน์ (4) สมโภชก์
ตอบ (1) สมโภช หมายถึง งานฉลองในพิธีมงคลสมรสเพื่อความยินดีเริงร่า เช่น งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นต้น (ส่วนสมโพธิ หมายถึง การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สมโภชน์/ สมโภชก์ เป็นคำที่สะกดผิด จึงไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรม)
103 “นายกรัฐมนตรีคนก่อน…แล้ว” ต้องใช้คำใด
(1) ถึงแก่กรรม (2) ถึงแก่อนิจกรรม (3) ถึงแก่อสัญกรรม (4) สิ้นชีพิตักษัย
ตอบ (3) ถึงแก่อสัญกรรม หมายถึง ความตาย ใช้กับผู้ตายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา (ส่วนถึงแก่กรรม หมายถึง ตาย ใช้แก่คนทั่วไป ถึงแก่อนิจกรรม หมายถึง ตาย ใช้แก่พระยาพานทองหรือเทียบเท่า สิ้นชีพิตักษัย หมายถึง ตาย ใช้เฉพาะหม่อมเจ้า)
104 “วันนี้มีคนมาสอบ…” ต้องใช้คำใด
(1) เยอะ (2) เยอะมาก (3) มากมาย (4) จำนวนมาก
ตอบ (4) จำนวนมาก หมายถึง มียอดรวมมาก มักใช้ในภาษาสุภาพระดับทางการ หรือใช้ในภาษาเขียน (ส่วน เยอะ/เยอะมาก หมายถึง มากเหลือหลาย ใช้ในภาษาปากระดับไม่เป็นทางการ มากมาย หมายถึง มากเหลือหลาย ล้นหลาม ใช้ในภาษาระดับกึ่งทางการ)
105 “เธอไม่ปล่อยให้เขา…สายตาไปได้” ต้องใช้คำใด
(1) คลาด (2) เคลื่อน (3) คลาดเคลื่อน (4) เคลื่อนคล้อย
ตอบ (1) คลาด หมายถึง เคลื่อนจากที่หมาย เคลื่อนจากกำหนดเวลา ไม่พบ เช่น คลาดกัน คลาดสายตา ฯลฯ (ส่วนเคลื่อน หมายถึง ออกจากที่หรือทำให้ออกจากที่ คลาดเคลื่อน หมายถึง ผิดจากความเป็นจริง เคลื่อนคล้อย หมายถึง เคลื่อนหรือเลื่อนในลักษณะหย่อนลง ลดต่ำ)
106 “เขาถวายของ…พระภิกษุ” ต้องใช้คำใด
(1) แก่ (2) ให้ (3) แด่ (4) เพื่อ
ตอบ (3) แด่ ดูคำอธิบายข้อ 75 ประกอบ
107 ประสิทธิภาพของการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับสิ่งใด
(1) ผู้รับภาษา (2) ผู้ส่งภาษา (3) ลักษณะของภาษา (4) ทุกข้อ
ตอบ (4) ทุกข้อ
ประสิทธิภาพของการใช้ภาษาย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1 ผู้ส่งภาษา ซึ่งจะใช้ภาษาโดยการพูดและการเขียน
2 สาร (ลักษณะของภาษา)
3 ผู้รับภาษา ซึ่งจะใช้ภาษาโดยการฟังและการอ่าน
108 ผู้รับภาษาใช้ภาษาในลักษณะใด
(1) พูดและฟัง (2) ฟังและเขียน (3) อ่านและฟัง (4) เขียนและอ่าน
ตอบ (3) อ่านและฟัง ดูคำอธิบายข้อ 107 ประกอบ
109 ปัญหาดารใช้ภาษาลักษณะใดที่เห็นได้ชัดเจน
(1) อ่านและเขียน (2) เขียนและพูด (3) ฟังและอ่าน (4) พูดและฟัง
ตอบ (2) เขียนและพูด
ปัญหาการใช้ภาษาที่สามารถเห็นได้ชัดเจน คือ การพูดและเขียนซึ่งถือเป็นกระบวนการภายนอก เพราะเป็นการใช้ภาษาที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ส่วนการฟังและอ่านถือเป็นกระบวนการภายใน เพราะเป็นการใช้ภาษาที่สังเกตเห็นได้ยาก กล่าวคือ ผู้พูดและผู้เขียนมิอาจทราบได้ว่า ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจสารที่ตนส่งหรือสื่อออกไปหรือไม่ เพียงไร
110 พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ใด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
(1) พ.ศ. 2493 (2) พ.ศ. 2525 (3) พ.ศ. 2542 (4) พ.ศ. 2550
ตอบ (3) พ.ศ. 2542
พจนานุกรมที่ใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน คือ พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย โดยให้ความรู้และกำหนดในเรื่องอักขรวิธี (คำเขียน) การออกเสียงอ่านและนิยามความหมาย ตลอดจนบอกประวัติของคำเท่าที่จำเป็น
111 การศึกษาระดับของคำเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
(1) ความคิด
(2) สัญลักษณ์
(3) สังคม
(4) ทุกข้อ
ตอบ (3) สังคม
คำในภาษาไทยมีระดับต่างกัน นั่นคือ มีการกำหนดคำให้ใช้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมแก่บุคคลและกาลเทศะ ซึ่งจะต้องรู้ว่าในโอกาสใด สถานที่เช่นไรและกับบุคคลใดจะใช้คำหรือข้อความใดจึงจะเหมาะสม ดังนั้นจึงมีการแบ่งคำเพื่อนำไปใช้ในที่สูงต่ำกันตามความเหมาะสมหรือตามการยอมรับของสังคมเป็น 2 ระดับ คือ
1 คำที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ ได้แก่ คำราชาศัพท์ คำสุภาพ และคำเฉพาะวิชาหรือศัพท์บัญญัติ
2 คำที่ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ สามารถใช้คำได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคำปากหรือคำตลาด คำแสลง คำเฉพาะอาชีพ คำโฆษณา ฯลฯ และคำที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ
112 หน้าที่ของคำในประโยคเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
(1) น้ำหนัก (2) ระดับ (3) ความหมาย (4) ทุกข้อ
ตอบ (3) ความหมาย
หน้าที่ของคำในประโยคจะเกี่ยวข้องกับความหมายของคำ เพราะตามปกติคำจะมีความหมายอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือหน้าที่ของคำในข้อความที่เรียบเรียงขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความเข้าใจหรือการแปลความหมายของผู้ใช้อีกด้วย
113 การใช้ภาษาให้ถูกระดับเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
(1) กาละ (2) เทศะ (3) บุคคล (4) ทุกข้อ
ตอบ (4) ทุกข้อ ดูคำอธิบายข้อ 111 ประกอบ
114 คำแสลงเป็นคำที่ใช้ในภาษาระดับใด
(1) ทางการ (2) กึ่งทางการ (3) ไม่เป็นทางการ (4) ทุกข้อ
ตอบ (3) ไม่เป็นทางการ ดูคำอธิบายข้อ 111 ประกอบ
คำแสลง เป็นคำที่ใช้กันในหมู่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มักจะได้รับความนิยมเป็นครั้งคราวแล้วก็เลิกใช้กันไป มีน้อยคำที่จะอยู่คงทนจึงถือกันว่าเป็นคำที่ไม่สู้สุภาพนัก และจะไม่นำมาใช้ในการพูดหรือเขียนอย่างเป็นทางการเด็ดขาด เช่น นิ้ง ซ่า จุ๊ย เจ๋ง ปึ๊ก เอ๊าะ กิ๊ก ส.บ.ม. เป็นต้น
115 ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการสามารถใช้คำประเภทใดได้
(1) คำปาก (2) คำสุภาพ (3) คำเฉพาะวิชา (4) ทุกข้อ
ตอบ (4) ทุกข้อ ดูคำอธิบายข้อ 111 ประกอบ
116 การเว้นวรรคไม่ถูกต้องทำให้ประโยคมีลักษณะอย่างไร
(1) ไม่ชัดเจน (2) ไม่รัดกุม (3) ไม่มีน้ำหนัก (4) ไม่มีภาพพจน์
ตอบ (1) ไม่ชัดเจน
การผูกประโยคให้ถูกต้องชัดเจนจะขึ้นอยู่กับ
1 การเรียงคำให้ถูกที่ 2 การขยายความให้ถูกที่ 3 การใช้คำตามแบบภาษาไทย
4 การใช้คำให้สิ้นกระแสความ 5 การเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง
(พี่หม่อนขอยกตัวอย่างสักหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับคำอวยพร)
ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็ง (เว้นวรรค) แรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
จะเห็นได้ว่าพอเว้นวรรคแล้ว แทนที่จะเป็นคำอวยพร แต่ความหมายกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเวลาใช้ขอให้น้องๆระวังด้วย
117 การเขียนแบบใดที่ควรใช้ประโยคที่มีภาพพจน์
(1) ข่าว (2) ตำรา (3) จดหมาย (4) บทความ
ตอบ (4) บทความ
ประโยคที่มีน้ำหนักและภาพพจน์นั้นมักนำไปใช้กับข้อเขียนประเภทบทความ โดยควรนำไปใช้ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าทำให้เรื่องราวดีขึ้น และควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะถ้านำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อและใช้อย่างไม่พิจารณาแล้วจะทำให้เฝือและรู้สึกขัดเขิน
118 การรวบความทำให้ประโยคมีลักษณะอย่างไร
(1) ถูกต้อง (2) รัดกุม (3) มีน้ำหนัก (4) มีภาพพจน์
ตอบ (2) รัดกุม
การผูกประโยคให้กระชับรัดกุม มีสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ 1 การรวบความให้กระชับ 2 การลำดับความให้รัดกุม 3 การจำกัดความ
119 ประโยคที่มีน้ำหนักควรนำไปใช้อย่างไร
(1) ใช้เขียน (2) ใช้พูด (3) ใช้ได้ทั่วไป (4) ใช้เท่าที่จำเป็น
120 การใช้ประโยคต้องคำนึงถึงด้านใด
(1) ความถูกต้อง (2) ความเหมาะสม (3) ความมีน้ำหนัก (4) ความรัดกุม
ตอบ (1) ความถูกต้อง
สิ่งที่ควรเพ่งเล็งและคำนึงถึงมากที่สุดในการใช้ประโยคทั้งในการพูดและการเขียน คือ ความถูกต้องชัดเจน เพราะถ้าหากใช้คำหรือประโยคไม่ถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถสื่อความหมายตามที่ต้องการได้ รวมทั้งยังทำให้ผู้ฟังและผู้อ่านไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจตรงกันกับผู้พูดและผู้เขียนอีกด้วย