การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)
1. การมีคุณธรรมจริยธรรมของคนเราทําให้เกิดสิ่งใดที่สําคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคม
(1) ความเอาใจใส่ในตนเองและผู้อื่น
(2) ความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน
(3) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคม
(4) ความรับผิดชอบต่อครอบครัว
ตอบ 2
คุณธรรมจริยธรรมได้ถูกหยิบยกมาเป็นบรรทัดฐานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาคนในด้านจิตใจและการประพฤติปฏิบัติ (การกระทํา) เพราะคนหรือมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน มีข้อตกลงและมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นสุดท้ายกับสังคมที่คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมก็คือ ความสงบสุขและมีสันติอย่างยั่งยืน

Advertisement

2. เมื่อบุคคลใดยินดีกับความสําเร็จของบุคคลอื่นในหน้าที่การงาน การศึกษา ไม่อิจฉาริษยา บุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติใด
(1) อุเบกขา
(2) กรุณา
(3) คุณธรรม
(4) จริยธรรม
ตอบ 3
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวว่า คุณธรรม คือ ธรรมที่เป็นคุณความดีงาม ประกอบด้วย 1. เมตตา คือ ความรักปรารถนาดีเป็นมิตร อยากให้ผู้อื่นพบความสุข 2. กรุณา คือ ความสงสารอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ 3. มุทิตา คือ ความพลอยยินดีพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่ประสบความสําเร็จให้มีความสุขไม่คิดอิจฉาริษยาในความดีของผู้อื่น 4. อุเบกขา คือ การวางตัว การวางใจเป็นกลางเพื่อรักษาธรรม 5. จาคะ คือ ความมีน้ำใจ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว

3. สิ่งใดที่บุคคลใช้เป็นแนวทางในการดําเนินชีวิตอย่างสมดุล
(1) คุณงามความดี
(2) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(3) จิตสาธารณะ
(4) คุณธรรมและจริยธรรม
ตอบ 2
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เพื่อเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิตอย่าง

4. การผลิต เกษตรกรต้องช่วยเหลือกัน จัดอยู่ในขั้นใดของทฤษฎีใหม่
(1) ขั้นที่ 1
(2) ขั้นที่ 2
(3) ขั้นที่ 3
(4) ขั้นที่ 4
ตอบ 2
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 2 ในด้านการผลิต คือ เกษตรกรจะต้องร่วมมือให้ความช่วยเหลือกันในการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช และปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยต่อการเพาะปลูก

5. การเสริมสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรมในสังคมอาจใช้เป็นดัชนีวัดสิ่งใด
(1) ความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
(2) เป้าหมายชีวิตของสมาชิกในสังคมใดๆ
(3) ความเจริญรุ่งเรืองของชาติและจิตใจของคน
(4) พัฒนาการของเด็กและเยาวชน
ตอบ 3 หน้า 38 การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นรากฐานของความเข้มแข็งของประชาชนและเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติที่บ่งบอกถึงคุณภาพทางด้านจิตใจและพฤติกรรมของผู้คนที่แสดงออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

6. ในเรื่องของจิตสาธารณะ สื่อมวลชนมีบทบาทในการสร้างจิตสาธารณะเพราะเหตุใด
(1) ช่วยแพร่กระจายความคิดและความรู้
(2) ช่วยให้คนในสังคมสามัคคีกันได้เสมอ
(3) ช่วยให้คนในสังคมใช้สื่อมากขึ้น
(4) ช่วยให้คนในสังคมทําตามเฉพาะในสิ่งที่ถูกต้อง
ตอบ 1
สื่อมวลชนมีบทบาทในการสร้างจิตสาธารณะ เพราะสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการช่วยแพร่กระจายความคิด ความรู้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสู่การรับรู้ของประชาชน ทั้งนี้สิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องตระหนักในการสร้างจิตสาธารณะ คือ สื่อมวลชนต้องคํานึงถึงผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดและการเรียนรู้ของเยาวชนในการนําเสนอข่าวสารหรือสาระความรู้ต่าง ๆ

7. คุณธรรมพื้นฐานแปดประการข้อใดที่ปรากฏในแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
(1) ซื่อสัตย์
(2) พอเพียง
(3) จิตอาสา
(4) วินัย
ตอบ 4
กระทรวงศึกษาธิการได้กําหนดคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ให้แก่เยาวชนไทยคือ “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ” ส่วนแผนแม่บทส่งเสริม คุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2564) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ได้กําหนดคุณธรรมที่พึงประสงค์สําหรับสังคมไทย เพื่อนําสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ 4 ประการ คือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา”

8. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง จัดตั้งพร้อมกับคณะใด
(1) คณะนิติศาสตร์
(2) คณะเศรษฐศาสตร์
(3) คณะศึกษาศาสตร์
(4) คณะมนุษยศาสตร์
ตอบ 2
ในวาระเริ่มแรก (พ.ศ. 2514) มหาวิทยาลัยรามคําแหงได้จัดตั้งคณะวิชา 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขอจัดตั้งเพิ่มอีก 3 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และ คณะเศรษฐศาสตร์ แต่สภาการศึกษาแห่งชาติไม่ให้จัดตั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามโครงการจัดตั้งคณะใหม่ ทําให้ในปีการศึกษาพ.ศ. 2516 มหาวิทยาลัยรามคําแหงมีคณะวิชาที่จัดการเรียนการสอนทั้งหมด 7 คณะ

9. ความสงสารอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หมายถึงอะไร
(1) จาคะ
(2มุทิตา
(3) เมตตา
(4) กรุณา
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 2. ประกอบ

10. จริยธรรมเป็นเครื่องกําหนดสิ่งใด
(1) สติปัญญา
(2) ถูกผิด ดีเลว เลว ดี
(3) ความเชื่อมั่น
(4) ความไว้วางใจ
ตอบ 2
Stumpf ได้อธิบายความหมายของ “จริยธรรม” ไว้ว่า จริยธรรมเป็นเครื่องกําหนดความประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลว พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ มีคุณค่าหรือไร้คุณค่า

11. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคําแหงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปีพุทธศักราชใด
(1) 2510
(2) 2511
(3) 2512
(4) 2514
ตอบ 4
พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคําแหง พ.ศ. 2514 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88ตอนที่ 24 วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2514 หน้า 89 – 112 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจาก วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

12. ข้อใดคือแหล่งเรียนรู้แห่งแรกในชีวิต
(1) วัฒนธรรมประเพณี
(2) ชีวิตประจําวัน
(3) ครอบครัว
(4) โรงเรียนอนุบาล
ตอบ 3
สถาบันทางสังคมที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสริมสร้างจิตสาธารณะให้แก่เยาวชน มีดังนี้ 1.สถาบันครอบครัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นหรือแหล่งเรียนรู้แห่งแรกในชีวิต 2. สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ 3. สถาบันศาสนา 4. สื่อมวลชน

13. การจัดการศึกษาที่ให้บัณฑิตเป็นคนดีและคนเก่ง ต้องยึดหลักการสําคัญในข้อใด
(1) ความรู้คู่วิสัยทัศน์
(2) ความรู้คู่คุณธรรม
(3) ความรักคู่ความรู้
(4) ความรู้คู่ความมีประโยชน์
ตอบ 2
คุณธรรมจริยธรรมเป็นรากฐานสําคัญในการพัฒนาคนเพื่อให้มีปัญญา มีความรู้มีคุณธรรม และมีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องยึดหลักสําคัญ คือความรู้คู่คุณธรรม สังคมไทยจึงจะมีสมาชิกของสังคมที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี

14. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) นายศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
(2) นายอภิรมย์ ณ นคร
(3) นายบรรพต วีระสัย
(4) นายสุรินทร์ เทพกาญจนา
ตอบ 4
ในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทุกภาคของประเทศที่สังกัดพรรคสหประชาไทยได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ (มหาวิทยาลัยรามคําแหง) ได้แก่ 1. นายประมวล กุลมาตย์ ส.ส. จังหวัดชุมพร เป็นผู้เริ่มจัดทําร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย………… พ.ศ. …… 2. นายสวัสดิ์ คําประกอบ ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์ 3. นายญวง เอี่ยมศิลา ส.ส. จังหวัดอุดรธานี 4. นายยศ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา สกลนคร 5. นายสุรินทร์ เทพกาญจนา ส.ส. จังหวัดสมุทรสาคร 6. นายประสิทธิ์ ชูพินิจ ส.ส. จังหวัดกําแพงเพชร 7. นายชื่น ระวิวรรณ ส.ส. จังหวัดหนองคาย และมี ส.ส. ร่วมลงชื่อรับรองอีก 43 คน

15. การไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น คือ ระดับของคุณธรรมจริยธรรมในข้อใด
(1) โลกุตรธรรม
(2) โลกียธรรม
(3) มนุษยธรรม
(4) การรักษาศีลห้า
ตอบ 2
การวัดระดับของคุณธรรมจริยธรรมทําได้ 2 ระดับ ดังนี้ คือ 1. ระดับโลกียธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นวิสัยของมนุษย์โลก สภาวะเนื่องกับโลก เช่น ศีล 5
ซึ่งมุ่งให้บุคคลอยู่รวมกันอย่างสันติสุข ไม่ทําชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 2. ระดับโลกุตรธรรม ได้แก่ ธรรมอันมิใช่โลก สภาวะพ้นโลก เช่น มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1

16. บุคคลสี่เหล่าเปรียบเหมือนดอกไม้ชนิดใด
(1) ดอกมะละ
(2) ดอกดาวเรือง
(3) ดอกทานตะวัน
(4) ดอกบัว
ตอบ 4 พระพุทธศาสนาได้ทําการเปรียบเทียบสติปัญญาของบุคคลต่าง ๆ ไว้กับ ดอกบัว 4 เหล่า ได้แก่ 1. ดอกบัวโผล่พ้นน้ำพร้อมที่จะบาน เปรียบได้กับคนฉลาดมาก 2. ดอกบัวที่กําลังโผล่พ้นน้ำ เปรียบได้กับคนฉลาดปานกลาง 3. ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ เปรียบได้กับคนฉลาดน้อย 4. ดอกบัวที่อยู่ในโคลนตม เปรียบได้กับคนโง่ทึบ ไม่สามารถพัฒนาได้

17. ข้อใดคือความหมายของคุณธรรม
(1) การแสดงออกซึ่งความในใจอย่างไม่เสแสร้ง
(2) ความน่ารักและยกย่องโดยบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัว
(3) ความโน้มเอียงของการปฏิบัติที่เกิดผลดีต่อตนเอง
(4) อุปนิสัยอันดีงามที่สั่งสมอยู่ในจิตใจ
ตอบ 4
วศิน อินทสระ กล่าวว่า คุณธรรม คือ อุปนิสัยอันดีงามที่สั่งสมอยู่ในจิตใจ หรือกล่าวโดยสรุปคุณธรรม หมายถึง ความล้ำเลิศแห่งอุปนิสัย ซึ่งเป็นผลของการกระทําหน้าที่จนกลายเป็นนิสัยนั่นเอง

18. สิ่งที่สื่อมวลชนต้องตระหนักในการสร้างจิตสาธารณะ คือข้อใด
(1) ประเภทของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสื่อ
(2) ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสื่อและดําเนินการ
(3) รูปแบบการนําเสนอข่าวสาร สนเทศ
(4) ผลกระทบในการนําเสนอข่าวสาร สาระต่อเยาวชน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 6. ประกอบ

19. ปัญหาที่เกิดขึ้นประการหนึ่งในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือข้อใด
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีคนเเรก
(2) ที่ตั้ง
(3) คณบดีของคณะที่เปิดสอน
(4) สาธารณูปโภค
ตอบ 2
ปัญหาสําคัญที่จะต้องร่วมกันพิจารณาก่อนที่กระบวนการทางนิติบัญญัติจะได้ดําเนินการต่อไป คือ ปัญหาสถานที่ตั้ง อาจารย์ผู้สอน และเงินงบประมาณ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการประชุมพรรคเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ในฐานะสมาชิกพรรค ได้มีโอกาสร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสําคัญดังกล่าวให้ที่ประชุมพรรคพิจารณา โดยสรุปได้เสนอขอรัฐบาลพิจารณาสถานที่แสดงสินค้านานาชาติที่หัวหมากเป็นที่ตั้ง เมื่ออยู่ไม่ไกลทําให้สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาช่วยสอนในระยะแรก ส่วนงบประมาณใช้ไม่มาก

20. ความเข้าใจในเหตุผลของความถูกต้องดีงาม สามารถตัดสินแยกแยะความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้องด้วยการคิด คือ องค์ประกอบใดของคุณธรรมจริยธรรม
(1) ความรู้
(2) พฤติกรรม
(3) สามัญสํานึก
(4) อารมณ์
ตอบ 1 หน้า 99 กรมวิชาการ ได้สรุปองค์ประกอบประการหนึ่งในเรื่องจริยธรรมของบุคคล ได้แก่ด้านความรู้ คือ ความเข้าใจในเหตุผลของความถูกต้องดีงาม สามารถ ตัดสินแยกแยะความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้องได้ด้วยการคิด

21. ผลที่คาดหวังของกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง คืออะไร
(1) ปัญหานักศึกษาไม่มีที่เรียนจะหมดไป
(2) ปัญหาการพัฒนาการศึกษาของชาติจะน้อยลง
(3) ปัญหาการว่างงานของเยาวชนจะน้อยลง
(4) ปัญหาวัยรุ่นในสังคมจะลดน้อยลง
ตอบ 1 หน้า 1 – 2 กลุ่มนักการเมืองที่เป็น ส.ส. พรรคสหประชาไทย และมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2511 ซึ่งสมาชิกในกลุ่มหลายคนเป็นผู้ที่เคยศึกษาในมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มาก่อน ได้ร่วมกันปรึกษาริเริ่มให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา (ต่อมาก็คือมหาวิทยาลัยรามคําแหง) เพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาไม่มีที่เล่าเรียนจะได้หมดสิ้นไป

22. เมื่อคุณธรรมเป็นฝ่ายดีอยู่ในจิตใจของบุคคล การแสดงออกให้เห็นประจักษ์ คืออะไร
(1) จาคะ 3
(2) กรุณา
(3) จริยธรรม
(4) อุปนิสัยใจคอ
ตอบ 3 หน้า 43 ผู้ที่มีความประพฤติดีงามอย่างแท้จริงจะต้องเป็นผู้มีความรู้สึกในด้านดีอยู่ตลอดเวลากล่าวคือ มีคุณธรรมเป็นฝ่ายดีอยู่ในจิตใจของบุคคล ส่วนการแสดงออกให้เห็นประจักษ์ คือจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมภายนอก

23. ความหมายของคุณธรรม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คือข้อใด
(1) สภาพคุณงามความดี
(2) สภาพความเป็นจริงในสังคมที่เปลี่ยนแปลงเสมอ
(3) สภาพที่ทุกคนควรกระทํา
(4) สภาพความเที่ยงตรงและยั่งยืน
ตอบ 1 หน้า 40 ความหมายของคําว่า “คุณ” หมายถึง ความดี เป็นความหมายทางนามธรรมและเป็นเรื่องของจิตใจ ส่วนคําว่า “ธรรม” หมายถึง การกระทํา ซึ่งจะมีความหมายเป็นรูปธรรม โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคําว่า “คุณธรรม” หมายถึง สภาพคุณงามความดี

24. กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง สังกัดพรรคการเมืองใด
(1) พรรคชาติไทย
(2) พรรคประชากรไทย
(3) พรรคสหประชาชาติ
(4) พรรคสหประชาไทย
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 14. ประกอบ

25. การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง จําเป็นต้องพัฒนาสิ่งใดก่อน
(1) จิตใจคน
(2) คุณภาพชีวิต
(3) การศึกษา
(4) สติปัญญา
ตอบ 1 หน้า 45 การพัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง จําเป็นต้องพัฒนาที่จิตใจคนก่อน หรืออย่างน้อยก็ให้พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาวิชาการอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาที่ไม่มีจริยธรรมเป็นแกนนำนั้นจะสูญเปล่าและเกิดผลเสียเป็นอันมาก ทําให้บุคคลลุ่มหลงในวัตถุและอบายมุข

26. ข้อใดแสดงพฤติกรรมของความขยัน
(1) นายเขียวเก็บเงินสองแสนบาทและส่งคืนเจ้าของ
(2) นายขาวช่วยแม่ซักผ้าเพื่อแลกเงินสองร้อยบาท
(3) นายดําปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร ไปขายของที่ตลาดหลังเลิกเรียนตอนเย็น (4) นายฟ้าพยายามตั้งใจเรียนเพื่อสอบได้ที่หนึ่ง หวังเอาชนะเพื่อนทุกคนในห้อง
ตอบ 3
พฤติกรรมของความขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทําหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งาน มีความพยายามไม่ท้อถอย กล้าเผชิญกับอุปสรรค รักในงานที่ทํา ตั้งใจทําหน้าที่อย่างจริงจัง ทั้งนี้องค์ประกอบของความขยัน ได้แก่ 1. ขยันอย่างอดทนสม่ำเสมอ 2. ขยันในทางที่ดี ถูกต้อง สังคมยอมรับ ยกย่อง 3. ขยันอย่างมีสติปัญญา

27. ใครคืออาจารย์ผู้บรรยายวิชา LS 103 การใช้ห้องสมุด ในการเปิดสอนวันแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) อาจารย์อัมพร วีระวัฒน์
(2) ศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วีระสัย
(3) ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
(4) อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณโพธิ์ศรี
ตอบ 1
กระบวนวิชาแรกที่สอนในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ LS 103 วิชาการใช้ห้องสมุด สอนโดย อ.อัมพร วีระวัฒน์และคาบต่อมาก็คือ กระบวนวิชา PS 110 วิชาการปกครองของไทย สอนโดยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์

28. ข้อใดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือและใกล้ตัวนักศึกษาในขณะนี้
(1) โทรศัพท์มือถือ
(2) กลุ่มเพื่อนและญาติสนิท
(3) แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย
(4) มหาวิทยาลัยรามคําแหง
ตอบ 1
โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน (Smartphone) ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือและใกล้ตัวเราในขณะนี้ เพราะทําให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นอกโรงเรียน ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยการค้นหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ

29. หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คืออะไร
(1) องค์การ
(2) กลุ่มบุคคล
(3) ครอบครัว
(4) บุคคล
ตอบ 3
องค์ประกอบของสังคมประการหนึ่ง ได้แก่ ประชากร ซึ่งจะต้องมีจํานวนตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป โดยหน่วยที่มีขนาดเล็กที่สุดของสังคม คือ ครอบครัวที่มีพ่อกับแม่ หรือประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก

30. เหตุผลหลังจากการร่วมลงชื่อเสนอร่างจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ไม่ได้จัดวาระการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) รัฐบาลไม่เห็นความสําคัญเร่งด่วน
(2) ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
(3) ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
(4) ยังไม่มีงบประมาณ
ตอบ 3
การที่ ส.ส. เสนอร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ (มหาวิทยาลัยรามคําแหง) ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมพรรคก่อน ถือว่าเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องต่อระเบียบนิติบัญญัติของพรรค ทําให้ร่างกฎหมายที่ ส.ส. เสนอดังกล่าว ในชั้นนี้จึงยังไม่ได้รับการจัดเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

31. นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงที่สําเร็จการศึกษารุ่นแรกเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ สถานที่ใด
(1) อาคารเอดี 1
(2) อาคาร NB 3
(3) สนามกีฬาแห่งชาติ
(4) หอสมุดกลาง
ตอบ 4 หน้า 32 นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงที่สําเร็จการศึกษารุ่นแรกเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) เมื่อวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ณ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคําแหง (หัวหมาก)

32. ข้อใดคือแหล่งที่มาของคุณธรรม
(1) ศาสนา
(2) การเลียนแบบ
(3) การดําเนินชีวิต
(4) การจินตนาการ
ตอบ 1
แหล่งที่มาของคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่
1. ปรัชญาต่าง ๆ 2. ศาสนาต่าง ๆ 3. วรรณคดี ซึ่งจะมีแนวคิดคําสอนที่เป็นแนวปฏิบัติได้ เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ และสุภาษิตสอนหญิง 4. สังคม ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี 5. การเมืองการปกครอง

33. วศิน อินทสระ กล่าวว่า คุณธรรมเป็นผลของการกระทําหน้าที่และเป็นสิ่งใดของคนเรา
(1) ทัศนคติ
(2) นิสัย
(3) คุณค่าชีวิต
(4) ค่านิยม
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 17. ประกอบ

34. ใครคือประธานคณะกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
(2) พลโทแสวง เสนาณรงค์
(3) นายประมวล กุลมาตย์
(4) นายบุญสม มาร์ติน
ตอบ 1
คณะรัฐมนตรีได้ประชุม ปรึกษาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคําแหงให้ทันปีการศึกษา พ.ศ. 2514 มีรายนามดังต่อไปนี้ 1. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เป็นประธานกรรมการ 2. นายประภาศน์ อวยชัย เป็นกรรมการ 3. นายไพบูลย์ สุวรรณโพธิ์ศรี เป็นกรรมการ ฯลฯ

35. ใครคือผู้อนุมัติให้ใช้ที่ดินที่ใช้ในการแสดงสินค้านานาชาติเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สภาบริหารคณะปฏิวัติ
(3) สภากรุงเทพมหานคร
(4) สภาผู้แทนราษฎร
ตอบ 2
สําหรับเรื่องสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นการถาวร ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยสภาบริหารคณะปฏิวัติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ที่ดินที่ใช้ในการแสดงสินค้านานาชาติที่หัวหมากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

36. ในด้านความรักเกี่ยวข้องอย่างไรกับการปลูกฝังจิตสาธารณะ
(1) การรักตนเอง
(2) การรักเพื่อนมนุษย์
(3) การรักคนรัก
(4) การรักทรัพย์สินเงินทอง
ตอบ 2
ประเวศ วะสี ได้เสนอกลยุทธ์ในการปลูกจิตสาธารณะไว้ประการหนึ่ง คือ ความรัก ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความรักในธรรมชาติ ในแผ่นดิน ความรักต่อสังคม ต่อประเทศ ความรักใน วัฒนธรรม ชุมชน ความรักในค่านิยมความเป็นไทย ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ทั้งนี้ความรักต่อแผ่นดินจะสร้างความผูกพันในความเป็นสังคมไทย เป็นตัวปลูกจิตสํานึก

37. แนวคิดหลักของเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร
(1) ก้าวทันโลกโลกาภิวัตน์
(2) ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน
(3) แนวทางการคงอยู่
(4) ทางสายกลาง
ตอบ 4
แนวคิดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางสายกลาง ซึ่งหมายถึงแนวทางการดํารงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับ ชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดําเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

38. จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมลงชื่อรับรองร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ร่วมกับกลุ่มเสนอร่างกฎหมายมีจํานวนเท่าใด
(1) 43 คน
(2) 100 คน
(3) 90 คน
(4) 150 คน
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 14. ประกอบ

39. คําที่มีความหมายใกล้เคียงกับจิตสาธารณะ คือคําใด
(1) จิตสังคม
(2) จิตบริการ
(3) จิตปวงชน
(4) จิตสํานึกสาธารณะ
ตอบ 4
คําว่า “จิตสาธารณะ” เป็นคําที่มีผู้ให้ความหมายไว้ต่าง ๆ นานา เนื่องจากยังเป็นคําใหม่ที่สังคมไทยเริ่มใช้กัน โดยภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Public Mind” และมีคําใกล้เคียงกันคือ คําว่า “จิตสํานึกสาธารณะ” หรือ “Public Consciousness”
40. ข้อใดคือความหมายของจิตสาธารณะ
(1) ปัจจัยต้นกําเนิดของความดีงาม
(2) การกระทําเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
(3) ความคิดและความคาดหวังในสิ่งดี
(4) การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น
ตอบ 2
จิตสาธารณะ (Public Mind) คือ ความรู้สึกตระหนักถึงส่วนรวม หรือเป็นการตระหนักรู้ตนที่จะกระทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ดังนั้นจึงเป็นคําที่มีความหมายตรงข้ามกับคําว่า “เห็นแก่ตัว” หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

41. ความพอดีที่ไม่น้อยและไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นคุณลักษณะใดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(1) ความคุ้มทุนชีวิต
(2) ความเจริญ
(3) ความพอประมาณ
(4) ความเข้าใจชีวิต
ตอบ 3
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปจนขาดแคลนและไม่มากเกินศักยภาพ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นความพอดีในการผลิตและการบริโภคที่พิจารณาแล้วว่าจําเป็นและเหมาะสมกับสถานะของตนเอง สิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

42. ลักษณะของบุคคลที่ตรงข้ามกับจิตสาธารณะที่ชัดเจนที่สุด คือข้อใด
(1) เห็นแก่ตัว
(2) อคติ
(3) โอ้อวด
(4) ยกตนข่มท่าน
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 40. ประกอบ

43. ในการประชุมพรรคเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง บุคคลสําคัญที่อภิปรายและเสนอให้ตั้งมหาวิทยาลัยที่หัวหมาก คือใคร
(1) นายศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
(2) นายยศ อินทรโกมาลย์สุต
(3) นายประสิทธิ์ ชูพินิจ
(4) นายสุรินทร์ เทพกาญจนา
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 19. ประกอบ

44. ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดจิตสาธารณะตามการศึกษาของเรียม นมรักษ์ คืออะไร
(1) จิตใจและสังคม
(2) ความรู้และทัศนคติ
(3) ความปรารถนาและแรงจูงใจ
(4) เครือข่ายและกิจกรรม
ตอบ 1 หน้า 86 เรียม นมรักษ์ ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อจิตสาธารณะและพบว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้ 1. ปัจจัยทางจิต ได้แก่ เอกลักษณ์แห่งตน ลักษณะการมุ่งอนาคต การคล้อยตามผู้อื่น คุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ 2. ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับครู สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย

45. ความขัดแย้งในสังคมสูง เกิดการแก่งแย่งชิงดีกันที่เกิดขึ้นในสังคมเพิ่มมากขึ้น เกิดจากประชาชนส่วนหนึ่ง ขาดอะไร
(1) ความเอื้ออาทร
(2) ประโยชน์ของสังคม
(3)จิตสาธารณะ
(4) ความบริสุทธิ์ใจ
ตอบ 3
หากสังคมใดขาดสมาชิกในสังคมที่มีจิตสาธารณะ อาจนํามาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมนั้น ๆ ได้แก่ 1. ระดับบุคคล ทําให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน 2. ระดับครอบครัว ทําให้ขาดปฏิสัมพันธ์เอื้ออาทรกัน 3. ระดับองค์การ ทําให้เกิดการแข่งขันแก่งแย่งและเบียดเบียนสมบัติขององค์การมาใช้ส่วนตน ฯลฯ

46. ในช่วงปีแรกที่มหาวิทยาลัยรามคําแหงเปิดสอนเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากอะไร
(1) ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคารเรียน และจัดซื้ออุปกรณ์การสอนเลย (2) มีการเตรียมการเป็นกระบวนการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี
(3) ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและเพียงพอในระยะ 10 ปี
(4) เป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐ
ตอบ 2
ในช่วงปีแรกที่มหาวิทยาลัยรามคําแหงเปิดสอนเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากมีการเตรียมการเป็นกระบวนการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงส่งผลให้สามารถเปิดมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2514 ได้ตามเจตจํานงของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง

47. ตามหลักจิตวิทยา จิตสํานึกเกิดจากสิ่งใดเป็นพื้นฐานที่สําคัญที่สุด
(1) สุขภาพจิต
(2) การอบรมเลี้ยงดู
(3) ฐานะของครอบครัว
(4) คุณธรรมจริยธรรม
ตอบ 2 หน้า 85 การปลูกฝังจิตสาธารณะควรเริ่มทําก่อนอายุ 6 ปี เพราะตามหลักการทางจิตวิทยา การเกิดจิตสํานึกของเด็กจะถูกพัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดูในช่วงแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่การเลี้ยงดูเด็กได้ผลอย่างสูง

48. ในการพิจารณากฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ใครเป็นผู้เสนอให้แก้ไขคําว่า “ตลาดวิชา” แต่คณะกรรมาธิการขอไม่แก้ไข
(1) วุฒิสภา
(2) รัฐบาล
(3) สภาผู้แทนราษฎร
(4) นายกรัฐมนตรี
ตอบ 1
ในการพิจารณากฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 5 และ 11 โดยในมาตรา 5 วุฒิสภาให้แก้ไขคําว่า “ตลาดวิชา” แต่คณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบเป็นเวลานานพอสมควรและตกลงว่าจะให้คงใช้คําว่า “ตลาดวิชา” ซึ่งเป็นไปตามร่างเดิม

49. ทุกรัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้กําหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์ไว้อย่างไร
(1) มนุษย์ที่มีคุณภาพต้องกินดี อยู่ดี และร่ำรวย
(2) มนุษย์ที่มีคุณภาพต้องรู้จักอภัย ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
(3) มนุษย์ที่มีคุณภาพต้องเรียนรู้จากชุมชน สังคม และสื่อต่าง ๆ
(4) มนุษย์ที่มีคุณภาพต้องได้รับการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย
ตอบ 4
การศึกษาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และถือเป็นนโยบายลําดับต้นของพันธกิจ ทําให้แทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้กําหนดหลักการ พื้นฐานที่ว่า มนุษย์ที่มีคุณภาพจะต้องได้รับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษา ตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต

50. ข้อใดคือหลักการตลาดตามแนวคิดทฤษฎีใหม่
(1) การรวบรวมผลผลิตเพื่อต่อรองราคา
(2) การผลิตตามฤดูกาล
(3) การขอความเป็นธรรมจากพ่อค้าคนกลาง
(4) การพึ่งพาการโฆษณาประชาสัมพันธ์
ตอบ 1
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 2 ในด้านการดําเนินกิจกรรมทางการตลาด เมื่อเกิดผลิตผลทางการเกษตรแล้ว ต้องร่วมมือกันในการเตรียมผลผลิตให้มี คุณลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และเวลาที่ เหมาะสม เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การเตรียมเครื่องสีข้าว การรวบรวมผลผลิต ให้ได้ปริมาณมากพอเพื่อต่อรองราคา ฯลฯ

51. การเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เป็นคุณลักษณะใดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(1) การมีภูมิคุ้มกัน
(2) การมีศักยภาพ
(3) การมีพลังชีวิต
(4) การมีจุดหมายชีวิต
ตอบ 1
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่จะเกิดขึ้น โดยต้องคํานึงถึงความเป็นไปได้และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที

52. สถาบันใดไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสริมสร้างจิตสาธารณะให้แก่เยาวชน
(1) ครอบครัว
(2) ศาสนา
(3) โรงเรียน
(4) องค์การธุรกิจ
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 12. ประกอบ

53. ใครเคยดํารงตําแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย
(1) นายสง่า จีนะสมิต
(2นายธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์
(3) พลโทแสวง เสนาณรงค์
(4) นายศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
ตอบ 3 หน้า 26 เมื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหงมีการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ มหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งพลโทแสวง เสนาณรงค์เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2515

54. เมื่อเติบใหญ่ได้กลายเป็นบุคคลสําคัญของประเทศ ทําให้ลืมตัวแสดงกิริยาเหยียดหยามผู้ที่เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่าบุคคลนั้นขาดคุณธรรมอะไร
(1) ความมีมุทิตา อุเบกขา
(2) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
(3) ความกตัญญูกตเวทิตา
(4) ความเมตตากรุณา
ตอบ 3
คําว่า “กตัญญ” หมายถึง รู้คุณท่าน รู้ว่าใครมีบุญคุณต่อตน โดยเป็นความรู้สึกในการอุปการคุณหรือบุญคุณที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นมีต่อเรา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของความเป็นคนดี จึงมักใช้คู่กับคําว่า “กตเวที” (กตเวทิตา) แปลว่า สนองคุณท่านหรือการแสดงออกและรู้จัก ตอบแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณนั้น ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความกตัญญูกตเวทีจะต้องสามารถแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณได้ทุกเวลา ไม่ควรมีข้อแม้ในการกระทํา

55. ข้อใดไม่ใช่หรือไม่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของผู้มีจิตสาธารณะ
(1) การลงมือกระทํา
(2) การทุ่มเทอุทิศตน
(3) เลือกงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง
(4) เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล
ตอบ 3
ยุทธนา วรุณปิติกุล กล่าวถึง บุคคลที่มีจิตสาธารณะต้องมีคุณลักษณะดังนี้ 1.การทุ่มเทและอุทิศตน 2. เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล 3. คํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม 4. การลงมือกระทํา

56. จากรายชื่อจํานวน 3 – 4 รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้พิจารณาในการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหง แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนในสมัยนั้นพิจารณาว่า มหาวิทยาลัยรามคําแหงจะเป็น มหาวิทยาลัยที่มีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย
(1) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอนาคต
(2) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก
(3) เป็นความภูมิใจของพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคที่สนับสนุนการจัดตั้ง
(4) เป็นรากฐานและสนองความต้องการการศึกษาของคนไทยอย่างทั่วถึง
ตอบ 4
จากรายชื่อจํานวน 3 – 4 รายชื่อที่ ส.ส. เสนอให้พิจารณาในการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหง เช่น มหาวิทยาลัยราษฎร มหาวิทยาลัยประชาชน มหาวิทยาลัยของปวงชนชาวไทย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า ส.ส. ในสมัยนั้นพิจารณาว่า มหาวิทยาลัยรามคําแหง เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสําคัญ คือ เป็นรากฐานและสนองความต้องการการศึกษาของคนไทยอย่างทั่วถึง

57. อวิชชา มีความหมายสมบูรณ์ในข้อใด
(1) รู้และไม่รู้
(2) ไม่รู้อะไรเลย
(3) ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้
(4) รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้
ตอบ 1
อวิชชา แปลว่า ไม่รู้แล้วก็รู้ทั้ง 2 อย่าง เพราะอวิชชา หมายถึง ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้คือ สิ่งที่ควรรู้กลับไม่รู้ แล้วไปรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้นั่นเอง แปลว่า รู้ไม่ถูกทาง สิ่งที่เขาไม่ให้รู้ก็ไปรู้เข้าให้ ดังนั้นอวิชชาจึงแปลได้ทั้ง 2 ทาง คือ รู้และไม่รู้

58. การแบ่งพื้นที่จํานวนเท่าใดตามหลักทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนน ทางเดิน และโรงเรือน
(1) 40%
(2) 30%
(3) 10%
(4) 50%
ตอบ 3 หน้า 72 ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 1 คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ด้วยอัตรา 30 : 30 : 30 : 10 โดยบริหารจัดการดังนี้
1. ขุดเป็นสระสําหรับใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน 30%
2. ปลูกข้าวในฤดูฝน 30%
3. ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ 30%
4. ปลูกเป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนน ทางเดิน และโรงเรือนอื่น ๆ 10%

59. เมื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหงเปิดทําการเป็นครั้งแรก อาคารเอดี 1 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานใด
(1) คณะนิติศาสตร์
(2) สํานักงานอธิการบดี
(3) หอสมุด
(4) คณะบริหารธุรกิจ
ตอบ 2
เมื่อกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงได้ประกาศใช้แล้ว คณะกรรมการเตรียมการฯ ได้ย้ายที่ทําการไปใช้อาคารหอประชุมเดิมของสถานแสดงสินค้า ซึ่งต่อมาจะ เรียกว่า อาคารเอดี 1 (AD1) เป็นที่ตั้งของสํานักงานอธิการบดี โดยชั้นบนเป็นห้องทํางานของอธิการบดีและห้องประชุมผู้บริหาร ส่วนชั้นล่างเป็นห้องทํางานของฝ่ายธุรการ

60. ใครมีอํานาจจัดวางระเบียบและข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) อธิการบดี
(2) คณบดี
(3) คณะรัฐมนตรี
(4) สภามหาวิทยาลัย
ตอบ 4
จากกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้กําหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์การที่มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และมีอํานาจหน้าที่สําคัญ โดยเฉพาะ เช่น จัดวางระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย พิจารณาหลักสูตร เสนอจัดตั้งยุบรวมและเลิกคณะ อนุมัติให้ปริญญา พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี

61. ความซื่อสัตย์ รักสามัคคี ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ คือ เงื่อนไขใดของหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
(1) ธรรมชาติ
(2) ชีวิต
(3) คุณธรรม
(4) หลักวิชา
ตอบ 3
เงื่อนไขคุณธรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของตนให้เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้รักสามัคคี ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ และรู้จักแบ่งปันให้กับผู้อื่น เช่น การที่นักศึกษาแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ไม่ทุจริตในการสอบ และพึงพอใจในผลสอบที่ตนเองได้รับ เป็นต้น

62. การเลี้ยงดูเด็กมีผลอย่างสูงเมื่อเด็กอายุไม่เกินกี่ปี
(1) 15 ปี
(2) 6 ปี
(3) 2 ปี
(4) 19 ปี
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 47. ประกอบ

63. ใครคือกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคําแหงผู้ทรงคุณวุฒิ
(1) นายสง่า จีนะสมิต
(2) นายอภิรมย์ ณ นคร
(3) นายเรณ สุวรรณสิทธิ์
(4) นายขุนทอง ภูผิวเดือน
ตอบ 3 หน้า 21 กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิชุดแรกในการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคําแหง มีรายนาม และตําแหน่งในขณะนั้น คือ
1. นายเรณู สุวรรณสิทธิ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
2. นายบุญสม มาร์ติน อธิบดีกรมพลศึกษา
3. นายสุขุม นวพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย
4. นายก่อ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา

64. ข้อใดคือหลักการของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
(1) สมดุล
(2) การเปลี่ยนแปลง
(3) ความมั่งมี
(4) ความพอเพียง
ตอบ 4 หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอเพียง ซึ่งหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจําเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

65. การพัฒนาจริยธรรมต้องพัฒนาสติปัญญาและอารมณ์ เป็นแนวคิดของใคร
(1) Piaget
(2) Maslow
(3) Kohlberg
(4) Aristotle
ตอบ 3 โคลเบิร์ก (Kohlberg) กล่าวว่า การพัฒนาทางสติปัญญาและอารมณ์เป็นรากฐานของการพัฒนาทางจริยธรรม โดยจริยธรรมของมนุษย์มีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะเพราะเกิดจากกระบวนการทางปัญญาเมื่อมีการเรียนรู้มากขึ้น และจริยธรรมยังมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษา

66. ใครเป็นผู้เสนอชื่อ “มหาวิทยาลัยรามคําแหง”
(1) นางจินดา อังศุโชติ
(2) นายทินกร ปรีชาพันธ์
(3) นายแคล้ว นรปติ
(4) นายน้อม อุปรมัย
ตอบ 3
สำหรับชื่อมหาวิทยาลัยรามคําแหง เป็นชื่อที่นายแคล้ว นรปติ ส.ส. จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้เสนอ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพระนามของปฐมกษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นมหาราชองค์แรกของไทย และเป็นการเทิดพระเกียรติ

67. องค์ประกอบของจริยธรรมส่วนใดสําคัญที่สุด
(1) ศีลธรรม
(2) ปัญญา
(3) คุณธรรม
(4) ความสามารถ
ตอบ 2
ในองค์ประกอบของจริยธรรมทั้ง 3 ส่วน คือ ปัญญา จิตใจ และพฤติกรรมนั้น
จะเห็นได้ว่า “ปัญญา เป็นองค์ประกอบที่สําคัญที่สุด ซึ่งจะชี้นําให้จิตใจและพฤติกรรมของคนดําเนินไปอย่างถูกต้องตามครรลองครองธรรม

68. ข้อใดคือกิจกรรมที่กระทําในขั้นตอนที่สามตามหลักทฤษฎีใหม่
(1) การตลาด
(2) การแบ่งพื้นที่
(3) สวัสดิการ
(4) การวิจัย
ตอบ 4
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 3 คือ การตระหนักถึงการสร้างเครือข่าย ผลงาน ความร่วมมือจากภายนอกชุมชน โดยการติดต่อหน่วยงานที่สามารถสนับสนุนด้านการลงทุนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ได้แก่
1. หน่วยงานที่สนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง 2. ธนาคารที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไปนัก 3. บริษัทเอกชนที่รับซื้อผลผลิตโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง

69. เป้าประสงค์สุดท้ายและสําคัญที่สุดของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร
(1) การเปลี่ยนอาชีพที่บุคคลนั้นชอบ
(2) ความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ของชุมชน
(3) ความยั่งยืนในชีวิตของบุคคลและชุมชน
(4) ความปลอดภัยและไม่มีทุกข์
ตอบ 3
เป้าประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในชีวิต ของบุคคลและชุมชน ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายและสําคัญที่สุด

70. ใครมีส่วนเห็นชอบในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง หลังจากการขอจัดตั้งคณะทั้งสามคณะถูกคัดค้าน
(1) นายนิสิต เวทย์ศิริยานันท์
(2) นายมาลัย หุวะนันทน์
(3) จอมพลถนอม กิตติขจร
(4) พระตรีรณสารวิศวกรรม
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 8. ประกอบ

71. วิกฤติทางการเงิน “ต้มยํากุ้ง” เกิดจากสาเหตุใด
(1) การพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล
(2) ความล้าหลังของเทคโนโลยีการเงิน
(3) ความไม่ทันสมัยของระบบการสื่อสาร
(4) ความล่าช้าของการพัฒนาประเทศ
ตอบ 1
สาเหตุที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยํากุ้ง”ในปี พ.ศ. 2540 คือ การพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล เพราะไม่ได้คํานึงถึงความเหมาะสมของ การพัฒนาที่หวังพึ่งองค์ความรู้และเงินทุนจากต่างประเทศ กับศักยภาพภายในประเทศทั้งใน เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของระบบและคน จนทําให้การพัฒนาดําเนินไปอย่าง ไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในทุกภาคส่วน

72. การกระทําใดที่เสริมสร้างจิตสาธารณะให้บุตรหลานในฐานะของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
(1) เลี้ยงดูให้มีสุขภาพดี และปลอดภัย
(2) ให้การศึกษาที่ดีที่สุด
(3) เป็นแบบอย่างที่ดี
(4) ไม่แสดงอารมณ์โกรธ
ตอบ 3 หน้า 92 การกระทําที่เสริมสร้างจิตสาธารณะให้บุตรหลานในฐานะของพ่อแม่หรือผู้ปกครองคือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลาน โดยการรักษาวินัยทางสังคม การเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ การยกย่องชมเชยหรือให้กําลังใจเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ ฯลฯ

73. หลักการของทฤษฎีใหม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเป็นหลักสําคัญที่สุด
(1) การจัดการพื้นที่การเกษตรและน้ำ
(2) การจัดการการตลาด
(3) ความเป็นอยู่ของประชาชน
(4) การจัดการสวัสดิการชุมชน
ตอบ 1
ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

74. ข้อใดคือสาเหตุของการเกิดคุณธรรมและจริยธรรมในมนุษย์
(1) เวลา
(2) การเลียนแบบ
(3) สามัญสํานึก
(4) การพึ่งพาผู้อื่น
ตอบ 2
คุณธรรมจริยธรรมในมนุษย์แต่ละคน อาจเกิดจากสาเหตุดังนี้ 1. การเลียน 2. การสร้างในตนเอง 3. การบําเพ็ญประโยชน์และพันธสัญญาประชาคม

75. หลังจากสภาผู้แทนราษฎรรับร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงแล้ว ที่ประชุมลงมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจํานวนเท่าใด
(1) 20 คน
(2) 30 คน
(3) 60 คน
(4) 15 คน
ตอบ 4
นายประมวล กุลมาตย์ เจ้าของร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย…..พ.ศ. …… เสนอแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งที่ประชุมลงมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 15 คน ประกอบด้วย กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลจํานวน 7 คน และกรรมาธิการฝ่ายผู้แทนจํานวน 8 คน

76. ข้อใดคือผลดีโดยตรงของการสร้างให้สมาชิกของสังคมไทยมีจิตสาธารณะ
(1) การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
(2) ความยุติธรรมในสังคม
(3) ความจริงใจของกลุ่มบุคคลที่มีให้ต่อกัน
(4) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ตอบ 1
การเสริมสร้างให้สมาชิกในสังคมไทยมีจิตสาธารณะ จะเริ่มต้นจากตัวบุคคลแต่ละบุคคล ให้มีจิตสํานึกเพื่อส่วนรวม มีความตระหนักรู้และคํานึงถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการกระทําใด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อส่วนรวมและพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

77. ข้อใดแสดงให้เห็นถึงความพอเพียงระดับชุมชน
(1) การละเล่นตามประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
(2) การช่วยกันดูแลความสงบและความปลอดภัย
(3) การมีเงินทองมากกว่าการใช้จ่ายและเหลือเก็บจํานวนมาก
(4) การมีเครื่องอํานวยความสะดวกในการใช้จ่าย เช่น ห้างสรรพสินค้า
ตอบ 2
ความพอเพียงระดับชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างเครือข่าย เป็นไปเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ประกอบด้วย
1. สวัสดิการชุมชน 2. การช่วยกันดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบของสภาพแวดล้อมโดยรอบ 3. การช่วยกันดูแลความสงบและความปลอดภัย 4. การให้ความร่วมมือสร้างเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

78. การเบียดเบียนและคดโกงในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้สังคมเสื่อมโทรม เกิดจากสิ่งใด
(1) การขาดวินัยของคนในชาติ
(2) การขาดจริยธรรมของคนในสังคม
(3) การขาดความรับผิดชอบ
(4) การขาดความร่วมมือที่ดี
ตอบ 2 หน้า 45 การทุจริต คดโกง และการเบียดเบียนกันในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้สังคมเสื่อมโทรม มีสาเหตุมาจากการขาดจริยธรรมของคนในสังคม ซึ่งไม่ได้ยึดเอาจริยธรรมเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิต

79. สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนไป มีการแข่งขันสูง เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ทําให้คนไทยส่วนหนึ่งขาดความเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ เห็นได้จากสิ่งใด
(1) ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
(2) ถูกโน้มน้าวใจได้ง่าย
(3) ไม่สนใจสภาพแวดล้อมและสังคมส่วนรวม
(4) ไม่มีความร่วมมือกันทําประโยชน์ส่วนรวมเลย
ตอบ 3
ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการแข่งขันสูง เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ทําให้คนไทยส่วนหนึ่งขาดความเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ซึ่งจะเห็นได้จากการไม่สนใจสภาพแวดล้อมและสังคมส่วนรวม

80. ในวาระที่ 2 ของการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ชื่อที่ปรากฏในร่างกฎหมาย คือชื่อใด
(1) มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์
(2) มหาวิทยาลัยราษฎร
(3) มหาวิทยาลัยประชาชน
(4) มหาวิทยาลัยของปวงชนชาวไทย
ตอบ 1
ในวาระที่ 2 ของการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง มีประเด็นที่สําคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชื่อร่าง พ.ร.บ.” ไม่มีผู้แปรญัตติ แต่มีการแก้ไขโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญจากร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย ……พ.ศ……. เป็นร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. …………

81. การที่โรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนประถมช่วยกันเก็บขยะในที่สาธารณะ คือ วิธีการใดที่ทําให้สามารถปลูกฝังจิตสาธารณะ
(1) เรียนรู้ความลําบาก
(2) เรียนรู้ความมักง่าย
(3) เรียนรู้จากการกระทํา
(4) เรียนรู้อย่างถาวร
ตอบ 3 หน้า 87 กลยุทธ์การปลูกฝังจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวมจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความซาบซึ้ง ซึ่งการเสริมความรู้อย่างแท้จริงจะเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ รองจากการกระทํา (Learning by doing) เช่น โรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนชั้นประถมช่วยกันเก็บขยะในที่สาธารณะ เป็นต้น

82. ลักษณะของมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาแห่งแรกของประเทศไทย คือข้อใด
(1) เกิดการเปลี่ยนแปลงชื่อในเวลาต่อมา
(2) รับนักศึกษาไม่จํากัดจํานวน
(3) เปิดสอนในสาขาวิชาจํานวนจํากัด
(4) ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ
ตอบ 1
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไทย โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกําหนดเข้าศึกษาแบบไม่ต้องสอบคัดเลือก เริ่มแรกเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิชาการบัญชี ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

83. แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 อยู่ในช่วงปีพุทธศักราชใด
(1) 2559 – 2564 2546
(2) 2559 – 2566
(3) 2560 – 2570
(4) 2561 – 2566 ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 7. ประกอบ
84. ความคิดของบุคคลที่ต้องการให้คนในสังคมมีจิตสาธารณะต้องเริ่มที่ใครก่อน
(1) บุคคลแต่ละบุคคล
(2) พ่อแม่
(3) กฎหมาย
(4) ครูอาจารย์
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 76. ประกอบ

85. ข้อใดเป็นตัวบ่งบอกถึงความสงบเรียบร้อย ความรัก และความสามัคคีของผู้คนในสังคม
(1) จารีตประเพณี
(2) บรรทัดฐานของสังคม
(3) วัฒนธรรมและประเพณี
(4) คุณธรรมจริยธรรม
ตอบ 4
คุณธรรมจริยธรรม ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสงบเรียบร้อย ความรัก และความสามัคคีของผู้คน ซึ่งสามารถแก้ไขหรือลดปัญหาของสังคมได้อย่างดี ทําให้เกิดการเคารพสิทธิของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างมีสติ มีเหตุผล

86. ตามกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง พันธกิจประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย คืออะไร
(1) ทะนุบํารุงวัฒนธรรม
(2) จัดตั้งสมาคมการศึกษา
(3) เปิดการสอนให้ชาวต่างชาติพร้อมกับคนไทย
(4) จัดการศึกษานอกระบบ
ตอบ 1
จากกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้กําหนดให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนให้การศึกษาวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ทําการวิจัย ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และทะนุบํารุงวัฒนธรรม

87. “คุณ” มีความหมายในข้อใด
(1) ความดี เป็นความหมายของความถูกต้องชอบธรรม
(2) ความงาม เป็นความหมายของอารมณ์และความรู้สึก
(3) ความงาม เป็นความหมายที่แสดงออกมา
(4) ความดี เป็นความหมายทางนามธรรมและเป็นเรื่องของจิตใจ
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 23. ประกอบ

88. การช่วยเหลือบุคคลอื่นของผู้มีจิตสาธารณะต้องไม่ขัดต่อสิ่งใด
(1) ความเชื่อส่วนบุคคล
(2) กฎหมายบ้านเมือง
(3) ความนิยมของสังคม
(4) ความต้องการของครอบครัว
ตอบ 2
จิตสาธารณะเปรียบได้กับความรู้สึกนึกคิดถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นสาธารณะร่วมกัน การรู้จักสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแล รวมทั้งการบํารุงรักษาและปกป้องสิ่งของที่เป็นของส่วนรวมร่วมกัน เช่น การไม่ทิ้งขยะ, การดูแลรักษาสาธารณสมบัติ, การใช้น้ำไฟอย่างประหยัด และรู้คุณค่าของทรัพยากร, การช่วยเหลือสัตว์และบุคคลยากไร้ โดยที่การช่วยเหลือนั้นจะต้อง ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นประโยชน์ของส่วนรวม ฯลฯ

89. หลักการดําเนินธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือข้อใด
(1) กระตุ้นให้มีการซื้ออยู่เสมอ
(2) ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด
(3) แสวงหากําไรบนพื้นฐานของการแบ่งปัน
(4) ทํากําไรสูงสุดและเสียภาษีให้แก่รัฐ
ตอบ 3
ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมที่มีความสําคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะองค์การธุรกิจ คือ ภาคส่วนที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากร ดังนั้น จึงต้องคํานึงถึงความพอเพียงระดับธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจควรมองถึงผลในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น 2. แสวงหาผลกําไรบนพื้นฐานของการแบ่งปันประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม 3. พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างคุณค่าตราสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือ 4. แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

90. แนวคิดใดเป็นแหล่งความคิดในการศึกษาการเกิดจิตสาธารณะ
(1) กระแสความนิยม
(2) ความเจริญของสังคม
(3) ความอยากรู้อยากเห็น
(4) คุณธรรมจริยธรรม
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 44. ประกอบ

91. ก่อนปี พ.ศ. 2490 มหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาแห่งแรกของประเทศไทยเปิดสอนกี่หลักสูตร
(1) 8 หลักสูตร
(2) 5 หลักสูตร
(3) 3 หลักสูตร
(4) 2 หลักสูตร
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 82. ประกอบ

92. จิตสาธารณะเปรียบเทียบได้กับสิ่งใดของคนเรา
(1) สัญชาตญาณ
(2) การสืบทอดวัฒนธรรม
(3) การวางตัวเป็นกลาง
(4) ความรู้สึกนึกคิด
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 88. ประกอบ

93. เป้าหมายประการหนึ่งของการวิจัยเพื่อพัฒนาผลผลิตตามหลักทฤษฎีใหม่ คือข้อใด
(1) ลดต้นทุน
(2) เพิ่มทักษะการสังเกต
(3) ความน่าเชื่อถือ
(4) ความเป็นอยู่ประจําวัน
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 68. ประกอบ

94. ใครคืออธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) จอมพลถนอม กิตติขจร
(2) นายธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์
(3) พลโทแสวง เสนาณรงค์
(4) นายศักดิ์ ผาสุขนิรันต์
ตอบ 4
ประวัติของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ มีดังนี้ 1. สําเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนที่จะไปศึกษาปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ 2. เคยดํารงตําแหน่งทางการบริหารโดยเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. ทํางานด้านการเมืองในตําแหน่งรองโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร 4. เป็นประธานกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคําแหง 5. ดํารงตําแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคําแหง

95. บุคคลที่ใช้น้ำไฟอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของทรัพยากร อธิบายได้จากแนวคิดใดที่ถูกต้องที่สุด
(1) การเรียนรู้สังคมที่ถูกต้อง
(2) การประหยัด
(3) ชาตินิยมและจิตสากล
(4) จิตใจสาธารณะ
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 88. ประกอบ

96. “…รับนักศึกษาทั่วไป โดยมาฟังคําสอนที่มหาวิทยาลัยก็ได้ หรือจะรับซื้อคําสอนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนด้วยตนเองแล้วมาสมัครสอบก็ได้…” ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในส่วนใดของ…..ประกอบ ร่างพระราชบัญญัติ (มหาวิทยาลัยรามคําแหง)
(1) หลักการและเหตุผล
(2) คําอภิปรายแปรญัตติ
(3) บันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรี
(4) คําแถลงของอธิการบดีคนแรกต่อสภามหาวิทยาลัย
ตอบ 1
ส่วนหนึ่งของข้อความในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยรามคําแหง) คือ…ด้วยเหตุที่นักเรียนนักศึกษาไม่มีที่เล่าเรียน จํานวนมาก และเพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นตลาดวิชารับนักศึกษาได้ทั่วไป โดยมาฟังคําสอนที่มหาวิทยาลัยก็ได้ หรือจะรับซื้อคําสอนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนด้วยตนเองแล้ว มาสมัครสอบก็ได้ เป็นการให้การศึกษาแก่ชนทุกชั้น และเป็นการสกัดกั้นมิให้นักศึกษา ไปหาที่เล่าเรียนในต่างประเทศ อันเป็นการสูญเสียเงินตราต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ มิใช่น้อย

97. การมีจิตสาธารณะเกี่ยวข้องกับสิ่งใดโดยตรง
(1) การประหยัด อดออมทรัพย์สิน
(2) การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง
(3) การลดการพึ่งพาบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติมิตร
(4) หน้าที่และความรับผิดชอบ
ตอบ 4
ทิพมาศ เศวตวรโชติ ให้ความหมายของจิตสาธารณะว่า เป็นความรู้สึกตระหนักของบุคคลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ทําให้เกิดความคิดหรือความรู้สึกต้องการจะร่วมและการมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยรับรู้ถึงสิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่และความรับผิดชอบ

98. การพัฒนาจิตสาธารณะของบุคคลเริ่มต้นด้วยความคิดที่เกิดขึ้นในบุคคลนั้น ๆ เรื่องใด
(1) การเอาใจใส่ตนเอง
(2) ความต้องการของชุมชุน
(3) การดําเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย
(4) ความรู้สึกต้องการช่วยสังคม
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 97. ประกอบ

99. การที่คนไทยในสมัยก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ ทําให้เกิดผลเสียอย่างไร
(1) วิชาที่เรียนไม่เหมาะกับการใช้งาน
(2) สูญเสียพลเมือง
(3) เงินตราไหลออก
(4) เกิดความขัดแย้งในแนวคิด
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 96. ประกอบ

100. ตามหลักการของทฤษฎีใหม่ การตลาดเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
(1) หลักการการทําธุรกิจ และการบริการ
(2) ความยุติธรรม ความแน่นอน และความจริงใจ
(3) คุณภาพ ปริมาณ และเวลา
(4) การกระจายราคา และการลดการเอาเปรียบ
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 50. ประกอบ

101. หลักการใดที่ใช้ในการพัฒนาจิตสาธารณะได้เป็นอย่างดี
(1) แรงจูงใจในการทําดี
(2) เศรษฐกิจพอเพียง
(3) การรับรู้และเรียนรู้
(4) ความมีเอกภาพในตนเองของบุคคล
ตอบ 2
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นหลักการที่ใช้พัฒนาจิตสาธารณะของบุคคลได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะหากเรานําไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวันได้อย่างจริงจัง เชื่อว่าทุกคนในชาติหรือในระดับโลกจะเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะที่มองเห็นแต่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่เบียดเบียนทําร้ายผู้อื่น อันจะนํามาซึ่งความสงบสุขของสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างแน่นอน

102. เงื่อนไขใดสําคัญที่สุดในการดําเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(1) ปัญญา
(2) คุณธรรม
(3) หลักวิชา
(4) ชีวิต
ตอบ 4
เงื่อนไขชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดําเนินชีวิตด้วยความอดทนมีความเพียร มีสติปัญญาแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการชีวิต โดยใช้หลักวิชาและหลักคุณธรรมเป็นหลักพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่สําคัญที่สุดในการดําเนินชีวิตของคนเรา

103. มหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นมหาวิทยาลัยแบบใด
(1) แบบตลาดวิชา
(2) แบบปิด
(3) แบบเปิด
(4) แบบทางไกล
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 86. ประกอบ

104. บุคคลในสังคมไทยให้ความสนใจกับการที่มีจิตสาธารณะเพราะเหตุใด
(1) การพัฒนาสังคมไร้จุดหมาย
(2) การเพิ่มขึ้นของความขัดแย้ง
(3) การล้มละลายและขาดทุนของบริษัทห้างร้าน
(4) ความไม่เชื่อใจตนเองของบุคคลส่วนมาก
ตอบ 2
จิตสาธารณะเป็นแนวทางหนึ่งที่สังคมเริ่มมาให้ความสนใจ เพราะหากเราไม่มีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน คิดว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทุกอย่างเป็นของตนเอง จนมองข้ามประโยชน์ส่วนรวมไป คงอีกไม่นานประเทศชาติก็คงถึงจุดที่มีแต่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น มีการสูญเสียทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของชาติไป

105. ปัญหาใดที่เกษตรกรไทยมักพบเสมอ ๆ
(1) การขาดแคลนแรงงาน
(2) ไม่มีผลผลิตขายแก่ผู้บริโภค
(3) ขาดทักษะในการผลิต
(4) ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
ตอบ 1
ความเสี่ยงที่เกษตรกรไทยมักพบอยู่เป็นประจํา ได้แก่
1.การขาดแคลนน้ำ ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง
2. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
3. สภาพดินที่ไม่เหมาะสม
4. โรคระบาดและศัตรูพืช
5. การพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูง
6. การขาดแคลนแรงงาน
7. มีหนี้สินจนต้องสูญเสียที่ดินทํากิน

106. อะไรคือเหตุผลส่วนหนึ่งของแนวคิดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหงแบบตลาดวิชา โดยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น
(1) ต้องการทําผลงานทางการเมือง
(2) ดําเนินการตามนโยบายของพรรคการเมืองที่สังกัด และความต้องการของรัฐบาล
(3) เพื่อนําประเทศเข้าสู่การเป็นสากล
(4) สมาชิกในกลุ่มหลายคนเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชามาก่อน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 21. ประกอบ

107. ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สามเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
(1) การแบ่งทรัพยากรน้ำและที่ทํากิน
(2) การเลือกอาชีพการเกษตร
(3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
(4) การออมเงินและทรัพย์สิน
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 68. ประกอบ

108. มหาวิทยาลัยรามคําแหงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษารูปแบบใด
(1) การศึกษาตามอัธยาศัย
(2) การศึกษาปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
(3) การศึกษาในระบบ
(4) การศึกษานอกระบบ
ตอบ 3
การศึกษาในระบบ (Formal Education) คือ การศึกษาที่กําหนดจุดมุ่งหมายวิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขของการสําเร็จการศึกษาที่แน่นอน ทั้งนี้ในการดําเนินกิจกรรมทางด้านการศึกษานั้นจะเกิดขึ้นทั้งที่ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เช่น ที่บ้าน หรือการเรียนรู้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยยึดถือเอาห้องเรียนเป็นฐานกลางของการจัดการศึกษา

109. ก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐที่กรุงเทพฯ อยู่ก่อนจํานวนเท่าใด
(1) 3 แห่ง
(2) 4 แห่ง
(3) 5 แห่ง
(4) 7 แห่ง
ตอบ 3
ก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง เรียงตามลําดับการจัดตั้งขึ้นก่อนไปหลังได้ดังนี้
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รกมเพลส
3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. มหาวิทยาลัยมหิด
5. มหาวิทยาลัยศิลปากร

110. นายประมวล กุลมาตย์ ได้เริ่มจัดทําร่างพระราชบัญญัติ (มหาวิทยาลัยรามคําแหง) เมื่อปีใด
(1) 2512
(2) 2521
(3) 2503
(4) 2500
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 14. ประกอบ

111. ข้อใดคือประโยชน์ของเทคโนโลยีตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
(1) ให้ความบันเทิงผ่อนคลาย
(2) ทําให้เกิดการค้าขายยุคใหม่
(3) ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของทรัพยากร
(4) ทําให้เกิดเครือข่ายสังคม
ตอบ 3 ประโยชน์ของเทคโนโลยีตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือ เทคโนโลยีจะก่อให้เกิด
มูลค่าเพิ่มของทรัพยากร ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับศักยภาพขององค์การหรือประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับความพร้อมของคนที่ต้องใช้เทคโนโลยีนั้น

112. สถานที่ที่ใช้ในการสอบของมหาวิทยาลัยรามคําแหงในช่วงแรกของการจัดตั้งไม่เพียงพอ ดังนั้นมหาวิทยาลัยขอความร่วมมือใช้สถานที่ใด
(1) สนามกีฬาของกรมพลศึกษา
(2) ห้องประชุมของกรมประชาสัมพันธ์
(3) ห้องประชุมของกรุงเทพมหานคร
(4) โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตอบ 4
ในช่วงแรกของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง สถานที่ที่ใช้สอบไล่ภาค 1 และ 2 ปีการศึกษา 2514 ไม่เพียงพอ จึงได้มีการใช้อาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัย และยืมโรงเรียน กรมสามัญศึกษาและกรมวิสามัญศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสนามสอบ

113. ข้อใดคือคนที่ไม่มีจิตสาธารณะ
(1) นายเขียวลักขโมยม้านั่งในสวนสาธารณะมาใช้ที่บ้าน
(2) นายดําปิดไฟทันทีที่อ่านหนังสือเสร็จ
(3) นายแดงขายของลดราคาเมื่อสินค้าในร้านของเขาเหลือเป็นชิ้นสุดท้าย
(4) นายขาวซื้ออาหารนกมาเลี้ยงนกพิราบที่มหาวิทยาลัย
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 76. และ 88. ประกอบ

114. สาเหตุสําคัญที่กล่าวไว้ในหลักการให้ตั้งมหาวิทยาลัยรามคําแหง คืออะไร (1) การศึกษาของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
(2) นักเรียนไม่มีที่เรียนจํานวนมาก
(3) ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยไม่ทันสมัย
(4) เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยจากต่างชาติมาเปิดสอน
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 96. ประกอบ

115. ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกรควรเป็นอย่างใด
(1) ทันสมัย มีอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนเพียงพอ
(2) มีความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
(3) มีทรัพย์สินเงินทองเพียงพอ เพื่อสนองตอบความต้องการของสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้
(4) มีคุณภาพในการใช้ชีวิต และมีปัจจัยสี่เพียงพอ
ตอบ 4
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 2 ในด้านความเป็นอยู่ของครอบครัว คือ เกษตรกรจะต้องมีความเป็นอยู่พอสมควรแก่ฐานะ โดยมีคุณภาพในการ ใช้ชีวิต และมีปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ในการดํารงอยู่อย่างมีคุณภาพทั้งด้านอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคที่เพียงพอ

116. นายประเวศ วะสี เสนอแนวคิดการสร้างจิตสาธารณะโดยการใช้เครือข่าย อาศัยเทคนิคที่ประกอบด้วยปัจจัยสามปัจจัย คืออะไร
(1) ความรัก ความรู้ ความเป็นธรรมชาติ
(2) ความจริง ประโยชน์ ความเข้าใจ
(3) ความหมาย ความรวดเร็ว ความยั่งยืน
(4) ความไม่แน่นอน ความเที่ยงตรง ความซื่อสัตย์
ตอบ 1
นายประเวศ วะสี ได้เสนอกลยุทธ์ในการปลูกจิตสาธารณะ โดยใช้หลักของการสร้างประชาคม เนื่องจากประชาคมต้องขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือร่วมใจเชื่อมโยงเป็น เครือข่าย ซึ่งอาศัยเทคนิค 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความรัก 2. ความรู้ 3. ความเป็นธรรมชาติ

117. เหตุผลของการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง คืออะไร
(1) ต้องการแยกการบริหารจากคณะศึกษาศาสตร์
(2) การขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์
(3) ข้อเรียกร้องของอาจารย์และนักศึกษา
(4) แนวโน้มทางด้านวิชาการ
ตอบ 2
เหตุผลในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่อง การขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักสถิติของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

118. การศึกษาของชุมชนควรได้รับการสนับสนุนอย่างไรโดยชุมชน ตามหลักการทฤษฎีใหม่
(1) มีลูกหลานเข้าเรียนเพียงพอ
(2) มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
(3) มีการแบ่งปันความรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นตัวกลาง
(4) มีแหล่งเงินสนับสนุน
ตอบ 4
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริขั้นที่ 2 ในด้านการศึกษา คือ ควรจะต้องมีสถานศึกษาในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง และมีแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของลูกหลานเกษตรกรให้มีความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

119. คําที่ถูกต้องที่เติมลงในช่องว่างในข้อความข้างล่างที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือข้อใด
“…………………. ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ”
(1) รักชาติไทย
(2) รู้จัาอภัย
(3) เป็นพลเมืองดี
(4) พัฒนาสังคม
ตอบ 2
คําที่ถูกต้องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ

120. วิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรม เป็นวิชาที่สอดคล้องกับสิ่งใดของมหาวิทยาลัยรามคําแหง
(1) อัตลักษณ์
(2) ความเป็นมา
(3) เอกลักษณ์
(4) พันธกิจ
ตอบ 1
วัตถุประสงค์ของการเปิดสอนและการศึกษาวิชา RAM 1000 ความรู้คู่คุณธรรมก็เพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคําแหง คือ มุ่งผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของบัณฑิตที่ทําให้สังคมยอมรับ

Advertisement