การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย
คําสั่ง ข้อสอบมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาตอบทุกข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของวัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture) นักวิชาการที่ได้แบ่งระดับวัฒนธรรมองค์การออกเป็น 3 ระดับคือใคร แต่ละระดับมีอะไรบ้าง พร้อมกับยกตัวอย่างวัฒนธรรมองค์การแต่ละระดับ และยกตัวอย่างค่านิยมในองค์การภาครัฐมา 1 แห่ง
แนวคําตอบ
วัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture) หมายถึง แนวทางการประพฤติปฏิบัติ ของบุคลากรในแต่ละองค์การที่ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงออกมาในลักษณะของค่านิยม ความเชื่อ สัญลักษณ์ พิธีการ นิทาน และการเล่าเรื่อง เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมองค์การ สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมหรือบุคลิกลักษณะเฉพาะขององค์การนั้น ๆ
ระดับของวัฒนธรรมองค์การ Schein ได้แบ่งระดับวัฒนธรรมองค์การออกเป็น 3 ระดับ คือ
1 วัฒนธรรมทางกายภาพ (Artifacts) เป็นระดับวัฒนธรรมองค์การที่บุคคลสามารถ มองเห็น ได้ยินและรู้สึกได้ทันทีเมื่อเข้าไปในแต่ละองค์การ นอกจากนี้แล้วยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ และพฤติกรรมของสมาชิก โดยวัฒนธรรมทางกายภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ประเภทวัตถุ เช่น ศิลปะต่าง ๆ โลโก้ของหน่วยงาน รูปทรงหรือการออกแบบตึก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
2) ประเภทพฤติกรรม เช่น พิธีกรรมต่าง ๆ รูปแบบการติดต่อสื่อสาร ประเพณี การให้รางวัล หรือการลงโทษพนักงาน เป็นต้น
3) ประเภทภาษา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับความยากลําบากในการก่อตั้งองค์การ เรื่องตลกในหน่วยงาน ชื่อจริงหรือชื่อเล่นที่ใช้เรียกในที่ทํางาน คําศัพท์เฉพาะที่ใช้กันในหน่วยงาน คําอธิบาย เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อุปมาอุปมัย หรือคําขวัญที่มักใช้กันในองค์การ เป็นต้น
2 ค่านิยม (Espoused values) เป็นสิ่งที่บอกว่าสิ่งใดมีคุณค่าหรือสิ่งใดควรกระทํา ค่านิยมเป็นเป้าหมายและมาตรฐานของสังคมที่สมาชิกในองค์การควรเอาใจใส่ เช่น การทํางานให้มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ และมีความโปร่งใส เป็นต้น
3 ฐานคติ (Basic Underlying Assumption) เป็นสิ่งที่สมาชิกในองค์การมีความเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นจริง เป็นวิธีที่ถูกต้องในการทําสิ่งนั้น (The right way to do things) เช่น มาตรฐานการทํางาน วิธีการ ทํางานที่คิดว่ามีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างค่านิยมในองค์การภาครัฐ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้กําหนดค่านิยมในการทํางานในองค์การไว้ 6 ประการ ซึ่งเรียกว่า “POLSCI” ประกอบด้วย
1 P = Positive Thinking คือ การคิดในทางบวก หมายถึง บุคลากรคณะรัฐศาสตร์ จะต้องมองปัญหา ความทุกข์ ความไม่ราบรื่นในการปฏิบัติงานอย่างเข้าใจ ยอมรับได้ และพร้อมที่จะแก้ไขได้ทันที
2 0 = Ownership คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์การ หมายถึง บุคลากรคณะรัฐศาสตร์ มุ่งปฏิบัติงานเพื่อคณะรัฐศาสตร์ โดยเห็นผลประโยชน์ส่วนตนน้อยกว่าสาธารณะ ผลักดันคณะรัฐศาสตร์ไปให้ถึง จุดมุ่งหมาย รักษาผลประโยชน์ของคณะรัฐศาสตร์ ช่วยกันทํางานเป็นทีม ทุกคนมีความสําคัญเท่ากันหมด ช่วยกัน ประสานงาน และสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ
3 L = Leader of Change คือ การเป็นผู้นําในการเปลี่ยนแปลง หมายถึง บุคลากร ” คณะรัฐศาสตร์จะเป็นผู้นํายุคใหม่ที่สอดคล้องในยุคปฏิรูปที่มีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและการบริการอย่าง ต่อเนื่อง มีความสามารถในการตัดสินใจจัดการเปลี่ยนแปลง สามารถตีความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้คณะรัฐศาสตร์ประสบความสําเร็จ
4 S = Service Mind คือ การมุ่งมั่นที่จะให้บริการที่ดี หมายถึง บุคลากรคณะรัฐศาสตร์ จะเป็นผู้ให้บริการที่มีจิตใจหรือมีใจรัก มีความเต็มใจในการบริการ โดยปฏิบัติงานด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส มีอารมณ์รื่นเริง และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่ขึ้นเสียงกับนักศึกษาหรือผู้มารับบริการ
5 C = Continuous Learning คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หมายถึง บุคลากร คณะรัฐศาสตร์แสดงออกถึงความตั้งใจในการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ข้อมูลและทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง มีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการกับปัญหา และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ เปลี่ยนไปได้
6 I = Integrity & Ethics คือ การมีความซื่อสัตย์และคุณธรรมจริยธรรม หมายถึง บุคลากรคณะรัฐศาสตร์ประพฤติปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม จนเป็นที่ไว้วางใจ โดยมีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา โปร่งใสและตรวจสอบได้ให้เกียรติและไม่เอาเปรียบผู้อื่น กระทําตามสัญญาและยึดมั่นในจรรยาบรรณ วิชาชีพ
ข้อ 2 การที่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จําเป็นต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance System) มาใช้เพราะเหตุใด ระบบประกันคุณภาพการศึกษามีกีระบบ อะไรบ้าง จงอธิบาย และการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงมีกระบบ อะไรบ้าง จงอธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน
แนวคําตอบ
สาเหตุที่ทําให้สถาบันอุดมศึกษาต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษามาใช้
1 ความแตกต่างด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา
2 ความท้าทายของปัจจัยโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการอุดมศึกษา ทําให้การศึกษาไร้พรมแดน
3 สถาบันอุดมศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจแก่สังคมว่าสามารถพัฒนา องค์ความรู้และผลิตบัณฑิตตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล การพัฒนาภาคการผลิตจริงทั้งอุตสาหกรรมและบริการ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ระดับท้องถิ่นและชุมชน
4 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาล และประชาชนทั่วไป
5 สังคมต้องการระบบอุดมศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (Participation) มีความโปร่งใส (Transparency) และมีความรับผิดชอบสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามหลักธรรมาภิบาล
6 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน รวมถึงให้มีสํานักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษาทําหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก โดยการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
7 คณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้มาตรฐานการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นกลไกกํากับระดับมาตรฐานระดับกระทรวง ระดับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และระดับ หน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานระดับอุดมศึกษาจะได้ใช้เป็นกรอบดําเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา
8 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและกํากับให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาให้มีมาตรฐาน ตามประเภทหรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 4 กลุ่ม
9 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เพื่อให้การจัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาและเพื่อการประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับ คุณวุฒิและสาขาวิชา
ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กําหนด ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 2 ระบบ คือ
1 ระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินการดําเนินงานของสถานศึกษา โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้น ๆ และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร การศึกษาที่ต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทํารายงานประจําปี รายงานประเมินคุณภาพภายในเสนอ สภาสถาบัน หน่วยงานต้นสังกัด และหนวยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธารณะ
2 ระบบการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย หน่วยงานภายนอก คือ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะทําการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกรอบ 5 ปี
ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 3 ระบบ คือ
1 ระบบ ISO 9001 : 2008 ใช้ในคณะ/สํานักที่เน้นงานด้านการบริการให้แก่นักศึกษา เช่น สํานักหอสมุดกลาง สํานักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล (สวป.) สํานักงานอธิการบดี สํานักเทคโนโลยี การศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2 ระบบ OA (Quality Assurance) ใช้ในคณะ/สํานัก/สาขาวิทยบริการฯ โดยอิง องค์ประกอบทั้ง 9 ข้อของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
3 ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ใช้ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคําแหง (มัธยมศึกษาและประถมศึกษา) โดยอิงมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษากําหนด
ข้อ 3 ปัจจัยอะไรบ้างที่ทําให้ผู้บริหารองค์การภาครัฐจําเป็นต้องนําหลักการบริหารสมัยใหม่/เทคนิคการบริหารสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในองค์การ (อย่างน้อย 4 ประการ) หลักการบริหารสมัยใหม่ อาทิ หลักการ 5 G’s, หลักการ 4 VIPs, หลักธรรมาภิบาล, ทฤษฎี 7S’s Model เป็นต้น หรือ เทคนิคการบริหารสมัยใหม่ เช่น 5 ส. (5 S.), ไคเซ็น (Kaizen), การรื้อปรับระบบ (Reengineering), การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management) และแนวคิดซิกซ์ ซิกม่า (Six Sigma) เป็นต้น ให้เลือกอธิบาย 1 แนวคิดมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน (แนวการตอบอ้างอิงชื่อนักวิชาการ (ถ้ามี) ความเป็นมา แนวคิด หลักการของแนวคิดฯ นั้น)
แนวคําตอบ
ปัจจัยที่ทําให้ผู้บริหารองค์การภาครัฐจําเป็นต้องนําหลักการบริหารสมัยใหม่/เทคนิค การบริหารสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในองค์การ มีดังนี้
1 กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทําให้ มนุษย์ในโลกสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรับรู้ได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ผู้บริหารองค์การภาครัฐจึงจําเป็นต้องนําเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์การ เพื่อทําให้การทํางานมีประสิทธิภาพและ สามารถบริการลูกค้าหรือผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว
2 การแข่งขัน ปัจจุบันมีการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการสูงมาก หากองค์การใด สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือผู้รับบริการได้ก็ย่อมจะได้เปรียบ ในการแข่งขัน
3 ลูกค้าหรือผู้รับบริการ เนื่องจากลูกค้าหรือผู้รับบริการต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ และการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และทันสมัย
4 ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ คือ มีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ และกระแส ของแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่เน้นให้ความสําคัญกับลูกค้าหรือผู้รับบริการ การมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์หรือ ผลสําเร็จของการปฏิบัติงาน การลดขั้นตอนการทํางาน การนําเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องติดตาม และนําองค์ความรู้ใหม่ ๆ เหล่านี้มาปรับใช้ในองค์การภาครัฐ เพื่อทําให้การทํางานเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความทันสมัย
5 องค์การภาครัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เรื่องขนาดขององค์การ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า องค์การภาครัฐมีขนาดใหญ่โตเทอะทะ ทําให้ต้องใช้ทรัพยากรมาก ดังนั้นผู้บริหารจึงจําเป็นจะต้องลดขนาดของ องค์การภาครัฐให้เล็กลง (Downsizing) หรือลดจํานวนบุคลากร นอกจากนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการ บริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทําให้ผู้บริหารองค์การภาครัฐจําเป็นต้อง นําหลักการบริหารสมัยใหม่/เทคนิคการบริหารสมัยใหม่มาใช้ในการปรับปรุงการบริหารจัดการ
6 การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทําให้ องค์การภาครัฐต้องมีการปรับองค์การให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนี้
1) ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทําให้องค์การภาครัฐจะต้อง ประหยัดในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ และมีการนําเทคโนโลยีมาใช้
2) ปัจจัยทางด้านสังคม คือ ความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการที่ต้องการ ให้องค์การภาครัฐให้บริการที่มีคุณภาพ และบริการด้วยความโปร่งใส
3) ปัจจัยทางด้านการเมือง เช่น นโยบายของรัฐบาล หรือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่กําหนดให้องค์การภาครัฐจะต้องมีการปฏิรูประบบราชการหรือปฏิรูปการบริหาร
7 กระแสความนิยม องค์การต่าง ๆ ทั่วโลกต่างนิยมนําหลักการบริหารงานสมัยใหม่มาใช้ เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ
หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
คําว่า Good Governance มีคําเรียกภาษาไทยหลายคํา เช่น ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ดี ธรรมรัฐ ประชารัฐ บรรษัทภิบาล วิธีการปกครองที่ดี การกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะใช้คําเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนี้
– ราชบัณฑิตยสถาน ใช้คําว่า วิธีการปกครองที่ดี
– การไฟฟ้านครหลวง ใช้คําว่า การกํากับดูแลกิจการที่ดี
– ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีฯ ใช้คําว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
– ภาคเอกชน ใช้คําว่า บรรษัทภิบาลหรือการกํากับดูแลที่ดี
ที่มาและหลักการของธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาลเป็นแนวคิดของธนาคารโลก (World Bank) ที่กําหนดเป็นเงื่อนไขในการให้กู้เงิน กับประเทศในซีกโลกใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารของประเทศกําลังพัฒนา ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศ (UNDP) จึงได้กําหนด ลักษณะและองค์ประกอบของธรรมาภิบาลไว้ 7 ประการ คือ
1 การมีความชอบธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Legitimacy and Accountability)
2 ความมีอิสระในการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ (Freedom of Association and Participation)
3 การมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือ (A Fair and Reliable Judicial System)
4 การมีพันธะความรับผิดชอบและการถูกตรวจสอบของระบบราชการ (Bureaucratic Accountability)
5 การมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสังคม (Freedom of Information and Expression)
6 ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการภาครัฐ (Effective and Efficient Public Sector Management)
7 การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรประชาสังคม (Cooperation with Civil Society Organization)
สําหรับประเทศไทย สํานักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบ บริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีหลักการสําคัญ 6 ประการ คือ
1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการ ปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของตัวบุคคล
2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ
3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทํางานของทุกองค์การให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง ชัดเจนได้
4 หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดง ประชามติ หรืออื่น ๆ
5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพใน ความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลการกระทําของตน
6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลยั่งยืน