การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 3 ข้อ ให้ตอบทุกข้อ ๆ ละ 33 คะแนน

ข้อ 1 ระบบประกันคุณภาพการศึกษามีกี่ระบบอะไรบ้าง จงอธิบาย ปัจจัยอะไรบ้างที่ทําให้สถาบันการศึกษาต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษามีหลักการอย่างไร และการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ระบบใดบ้าง

แนวคําตอบ

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กําหนด ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 2 ระบบ คือ

1 ระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินการดําเนินงานของสถานศึกษา โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้น ๆ และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร การศึกษาที่ต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทํารายงานประจําปี รายงานประเมินคุณภาพภายในเสนอ สภาสถาบัน หน่วยงานต้นสังกัด และหนวยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธารณะ

2 ระบบการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย หน่วยงานภายนอก คือ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งจะทําการประเมิน อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่ทําให้สถาบันการศึกษาต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา

เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การหลายประการที่ทําให้ สถาบันการศึกษาจําเป็นต้องนําระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาใช้ ซึ่งปัจจัยที่สําคัญมีดังนี้

1 ความแตกต่างด้านคุณภาพของสถาบันการศึกษา
2 ความท้าทายของปัจจัยโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการศึกษา ทําให้การศึกษาไร้พรมแดน

3 สถาบันการศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจแก่สังคมว่าสามารถพัฒนา องค์ความรู้และผลิตบัณฑิตตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล การพัฒนาภาคการผลิตจริงทั้งอุตสาหกรรมและบริการ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ระดับท้องถิ่นและชุมชน

4 สถาบันการศึกษาจะต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาล และประชาชนทั่วไป

5 สังคมต้องการระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (Participation) มีความโปร่งใส (Transparency) และมีความรับผิดชอบสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามหลักธรรมาภิบาล

6 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กําหนดให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน รวมถึงให้มีสํานักงานรับรอง มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทําหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก โดยการประเมินผลการจัด การศึกษาของสถาบันการศึกษา

7 คณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้มาตรฐานการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นกลไกกํากับระดับมาตรฐานระดับกระทรวง ระดับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และระดับ หน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานระดับอุดมศึกษาจะได้ใช้เป็นกรอบดําเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา

8 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและกํากับให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาให้มีมาตรฐาน ตามประเภทหรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 4 กลุ่ม

9 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติตามกรอบ มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เพื่อให้การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาและเพื่อการประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับคุณวุฒิและสาขาวิชา

 

หลักการประเมินคุณภาพการศึกษา

สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาได้กําหนดหลักการประเมินคุณภาพ การศึกษาภายนอกไว้ดังนี้

1 เป็นการประเมินการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เป็นการประเมินเพื่อจับผิด หรือ การให้คุณให้โทษ

2 ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม โปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง (Evidence-Based) และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (Accountability)

3 มุ่งเน้นการประเมินแบบกัลยาณมิตร

4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพและการพัฒนาการจัดการศึกษาจาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5 มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษา ของชาติตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย แต่ยังคงมี ความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยสถาบันสามารถกําหนดเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็ม ตามศักยภาพของสถาบันและผู้เรียน

ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคําแหงใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา 3 ระบบ คือ

1 ระบบ ISO 9001 : 2008 ใช้ในคณะ/สํานักที่เน้นงานด้านการบริการให้แก่นักศึกษา เช่น สํานักหอสมุดกลาง สํานักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล (สวป.) สํานักงานอธิการบดี สํานัก เทคโนโลยีการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2 ระบบ OA (Quality Assurance) ใช้ในคณะ/สํานัก/สาขาวิทยบริการฯ โดยอิงองค์ประกอบ ทั้ง 9 ข้อของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

3 ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ใช้ในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคําแหง (มัธยมศึกษาและประถมศึกษา) โดยอิงมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา (สมศ.) กําหนด

 

ข้อ 2 คําว่ากลยุทธ์ (Strategy) กับยุทธศาสตร์แตกต่างกันหรือไม่ การบริหารเชิงกลยุทธ์มีความเป็นมาอย่างไร จงอธิบายมาแต่เพียงสังเขป และขั้นตอนการกําหนดกลยุทธ์มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง จงอธิบาย

แนวคําตอบ

คําว่า “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์” ภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Strategy” โดยมีรากศัพท์มาจาก คําว่า “Strategos” ในภาษากรีก ซึ่งเกิดจากศัพท์ 2 คํา คือ “Stratos” หมายถึง Army หรือ กองทัพ และ Agein หมายถึง Lead หรือ น้ำหน้า โดยเมื่อนําศัพท์ 2 คํานี้มารวมกันจะหมายถึง การนํากองทัพ หรือยุทธวิธีหลักในการรบเพื่อเอาชนะศัตรู ดังนั้นคําว่ากลยุทธ์กับยุทธศาสตร์จึงเป็นคํา ๆ เดียวกันและมีความหมายเหมือนกัน

 

ความเป็นมาของการบริหารเชิงกลยุทธ์

แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ถูกนํามาใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดยคําว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ เป็นคําที่ใช้ในวงการทหารมาก่อน เช่น ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช หรือใน ตําราพิชัยสงครามของซุนวูมีคํากล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ต่อมาวงการธุรกิจได้หยิบยืมกลยุทธ์ ทางทหารมาใช้ในการประกอบการทางธุรกิจ เช่น กลยุทธ์การขาย กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้า กลยุทธ์การส่งมอบสินค้า ให้ผู้บริโภคถึงที่บ้านแบบ Delivery ของร้านพิซซ่า เป็นต้น

ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจก็มีการกล่าวถึงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์เช่นกัน แต่ใช้คําว่าการวางแผน (Planning) ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่สําคัญของผู้บริหาร เช่น Guick & Urwick ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POSDCORB”, Henri Fayol ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POCCC” และ Robbins ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POLC” โดยตัวอักษร P ตามแนวคิดของนักวิชาการทั้งสามท่านก็คือ การวางแผน (Planning) นั่นเอง

“สําหรับประเทศไทยได้นําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไทย เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น การนําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ มาประยุกต์ใช้ในการจัดทําแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 – 2550 การปรับเปลี่ยน ระบบงบประมาณมาเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ การให้หน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวงจัดทํายุทธศาสตร์ระดับกระทรวง ระดับกรม เป็นต้น

ส่วนนักวิชาการที่เขียนตําราเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้นมีหลายท่านด้วยกัน เช่น Bracker, Chandler, Ansoff แต่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด คือ Michael E. Porter

 

ขั้นตอนการกําหนดกลยุทธ์ มี 7 ขั้นตอน คือ

1 การนิยามธุรกิจ เป็นการกําหนดความหมายของธุรกิจ ได้แก่ การกําหนดภารกิจ วิสัยทัศน์ – ปรัชญา ค่านิยม และเป้าหมายขององค์การ เพื่อให้การดําเนินงานตอบสนองความต้องการของลูกค้า

2 การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ เป็นการวิเคราะห์ว่าองค์การมีจุดแข็ง อะไรบ้างที่องค์การสามารถทําได้ดี มีความชํานาญ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ว่า องค์การมีจุดอ่อน/จุดด้อย/ข้อบกพร่องอะไรบ้างเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไข

3 การวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคขององค์การ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ เป็นโอกาสให้องค์การสามารถพัฒนา/เติบโต/ขยายกิจการได้ และมีอุปสรรค/ข้อจํากัดอะไรบ้างที่อาจทําให้องค์การ ไม่สามารถทํางานได้ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ สถานที่ตั้ง เป็นต้น

4 การนิยามประเด็นปัญหาหลักและประเด็นทางกลยุทธ์ เป็นการหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้น ในองค์การ เช่น บุคลากรมาทํางานสาย ขาดความสามัคคี ได้รับคําตําหนิจากลูกค้า เป็นต้น มาพิจารณาว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งเทคนิคที่ใช้วิเคราะห์ปัญหาอาจจะใช้แผนภูมิก้างปลา แผนภูมิพาเรโต้ เป็นต้น และจะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับใดขององค์การ เป็นปัญหาทาง \เทคนิค หรือเป็นปัญหาการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติ

5 การระบุกลยุทธ์ทางเลือกและคัดเลือกกลยุทธ์ เป็นการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละ กลยุทธ์แล้วทําการคัดเลือกกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่ง ซึ่งในการคัดเลือกกลยุทธ์อาจพิจารณาจากหลายหลักเกณฑ์ เช่น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้า ความเป็นไปได้ในการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติ และความสอดคล้องกับแผนใน ระดับต่าง ๆ เป็นต้น

6 การบริหารกลยุทธ์ เป็นการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ของกลยุทธ์นั้น ทั้งนี้ความสําเร็จของการบริหารกลยุทธ์ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยมในการทํางานและการให้ความร่วมมือ ของบุคลากรในองค์การเป็นสําคัญ

7 การประเมินผลกลยุทธ์ เมื่อมีการนํากลยุทธ์ไปปฏิบัติแล้ว จําเป็นต้องมีการประเมินผล กลยุทธ์นั้นว่าประสบความสําเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรบ้างเพื่อนําผลการประเมินไปปรับปรุงต่อไป

 

ข้อ 3 เทคนิคการบริหารสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในองค์การทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอาทิ หลักธรรมาภิบาล การควบคุมคุณภาพ 5 ส. ไคเซ็น การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ ระบบ ISO ระบบมาตรฐานสากลของประเทศไทย (P.S.O.) การรื้อปรับระบบ และระบบซิกซ์ ซิกม่า เป็นต้น จงเลือกอธิบายมา 1 เทคนิค (ตอบที่มา นักคิด หลักการของเทคนิคนั้น ความเหมาะสมในการนํามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ)

แนวคําตอบ

หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)

คําว่า Good Governance มีคําเรียกภาษาไทยหลายคํา เช่น ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ดี ธรรมรัฐ ประชารัฐ บรรษัทภิบาล วิธีการปกครองที่ดี การกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะใช้คําเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนี้

– ราชบัณฑิตยสถาน ใช้คําว่า วิธีการปกครองที่ดี – การไฟฟ้านครหลวง ใช้คําว่า การกํากับดูแลกิจการที่ดี

– ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีฯ ใช้คําว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

– ภาคเอกชน ใช้คําว่า บรรษัทภิบาลหรือการกํากับดูแลที่ดี ที่มาและลักษณะของธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลเป็นแนวคิดของธนาคารโลก (World Bank) ที่กําหนดเป็นเงื่อนไขในการให้กู้เงิน กับประเทศในซีกโลกใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารของประเทศกําลังพัฒนา ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศ (UNDP) จึงได้กําหนด ลักษณะและองค์ประกอบของธรรมาภิบาลไว้ 7 ประการ คือ

1 การมีความชอบธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Legitimacy and Accountability)

2 ความมีอิสระในการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ (Freedom of Association and Participation)

3 การมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือ (A Fair and Reliable Judicial System)

4 การมีพันธะความรับผิดชอบและการถูกตรวจสอบของระบบราชการ (Bureaucratic Accountability)

5 การมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสังคม (Freedom of Information and Expression)

6 ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการภาครัฐ (Effective and Efficient Public Sector Management)

7 การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรประชาสังคม (Cooperation with Civil Society Organization)

 

สําหรับประเทศไทย สํานักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ สร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีหลักการสําคัญ 6 ประการ คือ

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย กฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของตัวบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทํางานของทุกองค์การให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบ ความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดง ประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพใน ความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มี คุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลยั่งยืน

 

ความเหมาะสมในการนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ

1 ช่วยส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐมีความตระหนักถึงความสํานึกรับผิดชอบต่อประชาชน และองค์กรมากขึ้น ซึ่งความสํานึกรับผิดชอบมีส่วนทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระมัดระวังการกระทําที่มีผลต่อสาธารณะ หรือประชาชนมากขึ้น และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ต้องพร้อมที่จะรับผลของการกระทํานั้นโดยไม่หลบเลี่ยงหรือ โยนความผิดให้บุคคลอื่น

2 ช่วยทําให้ระบบราชการเป็นระบบเปิด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางมีส่วนร่วม ในการบริหารภาครัฐอย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ระบบการบริหารภาครัฐในอดีตมักเป็นระบบปิด ทําให้ประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารในการบริหารงานของภาครัฐมากนักและข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเก็บเป็นความลับ หรือไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ แต่เมื่อมีการนําหลักธรรมาภิบาลมาใช้ทําให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารของภาครัฐ และให้สิทธิแก่ประชาชนในการยื่นขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐได้ นอกจากนี้ยังมี การกําหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จําเป็นต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เอกสารหรือ เว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นต้น และประชาชนยังมีช่องทางในการร้องเรียนหรือเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ของรัฐอีกด้วย

3 ช่วยส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐยึดกฎหมายเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าการใช้ ดุลยพินิจหรือตามอําเภอใจ โดยมีการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานในแต่ละภารกิจหรือแต่ละงานไว้ชัดทําให้การใช้ กฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอาจลดลงได้

4 ช่วยให้บุคลากรภาครัฐตระหนักถึงความสําคัญของคุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ของตนในฐานะเป็นผู้ให้บริการประชาชนมิใช่เจ้านายของประชาชนหรือผู้ที่มีสถานภาพที่เหนือกว่าประชาชน

5 ทําให้ภาครัฐให้ความสําคัญกับประสิทธิภาพในการทํางานมากขึ้น โดยการปรับปรุง กระบวนการทํางานให้มีความรวดเร็ว และประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ

Advertisement