การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3316 การบริหารรัฐวิสาหกิจ
คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 7 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําตามความพึงพอใจ 4 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายความหมาย ความสําคัญ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ลักษณะ และรูปแบบการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย
แนวคําตอบ
ความหมายของรัฐวิสาหกิจ
เกศินี หงสนันทน์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์การซึ่งรัฐบาลกลางควบคุมและเป็นเจ้าของ ทั้งนี้เพื่อที่จะปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง และยกฐานะของประชาชนในประเทศให้มี ความเป็นอยู่ดีขึ้น
ติน ปรัชญพฤทธิ์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจ คือ กิจการต่าง ๆ ของรัฐแต่บริหารงานเชิงธุรกิจ กิจการ ของรัฐที่บริหารงานเชิงธุรกิจดังกล่าวนี้อาจรวมถึงกิจการทางด้านการสื่อสาร สาธารณูปโภค การคมนาคม สถาบัน การเงิน การประกันภัย โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การวิจัย ฯลฯ ซึ่ง รัฐวิสาหกิจเหล่านี้อาจจะจัดตั้งภายใต้กฎหมาย และกฎเกณฑ์หลายประการ คือ
1 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย
2 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีลักษณะเป็นบริษัทจํากัด ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 เช่น บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)
3 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาที่ให้อํานาจไว้โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เช่น องค์การตลาด
4 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยประกาศคณะปฏิวัติ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
5 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐวิสาหกิจโดยนัยนี้ไม่ได้เป็นนิติบุคคลแต่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ เช่น โรงงานยาสูบ
6 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นมาตามนัยของกฎหมายธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 เช่น ธนาคารกรุงไทย ความสําคัญของรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งของการบริหารจัดการในภาครัฐ และเป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริม พัฒนา และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจส่วนมาก เป็นการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งจําเป็นในการดํารงชีวิตของประชาชน เช่น ด้านพลังงาน ด้านการสื่อสาร ด้านการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งกิจการสาธารณะเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนในการดําเนินการสูง แต่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำและมีอัตราการคืนทุนที่ใช้ระยะเวลานาน ทําให้เอกชนขาดความสนใจที่จะ เข้ามาลงทุน ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาดําเนินการเองในรูปแบบของ “รัฐวิสาหกิจ” เพื่อให้ประชาชนได้รับการ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น และสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้
1 เพื่อจัดทําบริการสาธารณะ
2 เพื่อส่งเสริมสังคมและวัฒนธรรม
3 เพื่อความมั่นคงของประเทศ
4 เพื่อควบคุมสินค้าอันตราย
5 เพื่อประโยชน์ในด้านการคลังและเสริมรายได้ให้แก่รัฐ
6 เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าและบริการ
7 เพื่อเป็นเครื่องมือในการดําเนินธุรกิจแทนรัฐ
8 เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เอกชนในการดําเนินธุรกิจ
9 เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ประเทศ
ลักษณะของรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้
1 เป็นกิจการที่รัฐบาลเข้ามาดําเนินงานร่วมกับเอกชนหรือกลุ่มบุคคล
2 เป็นกิจการที่รัฐบาลเข้ามาดําเนินงานแบบธุรกิจ ไม่ใช่ในฐานะผู้ปกครอง
3 เป็นกิจการที่มีอิสรภาพทางการบริหารและการจัดการทรัพยากรของตนเองภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาล
4 การจัดโครงสร้างขององค์การรัฐวิสาหกิจควรมีลักษณะพิเศษที่เหมาะสมแก่การบริหารงาน
5 ผู้ใช้บริการ คือบุคคลที่จะต้องจ่ายค่าบริการของสินค้านั้น ๆ
6 ราคาของสินค้าและบริการอาจจะมีความผันแปรไปตามความต้องการของผู้บริโภคหรือกลไกของราคาตลาด
7 ประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องของการบริหารในด้านต่าง ๆ จะต้องมีความคล้ายคลึงกับบริษัทเอกชน รูปแบบการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย
การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1 การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามหน่วยงานราชการที่สังกัด ตัวอย่างเช่น
1) สํานักนายกรัฐมนตรี มีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกํากับดูแล 1 แห่ง คือ บริษัท อสมทจํากัด (มหาชน)
2) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกํากับดูแล 2 แห่ง คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
3) กระทรวงสาธารณสุข มีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกํากับดูแล 1 แห่ง คือ องค์การเภสัชกรรม
2 การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามกลุ่มสาขา ตัวอย่างเช่น
1) สาขาพลังงาน แบ่งออกเป็น 4 รัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน)
2) สาขาสื่อสาร แบ่งออกเป็น 4 รัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน)บริษัท กสท โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด และ บริษัท อสมท จํากัด (มหาชน)
3 การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มประเภทของการจัดตั้ง ดังนี้ 1) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511
2) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามพระราชกําหนด เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันจัดตั้งโดยพระราชกําหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบัน พ.ศ. 2540
3) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกา เช่น องค์การสวนยาง จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504
4) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจํากัด เช่น บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จํากัด พ.ศ. 2535
5) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามคณะปฏิวัติ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 29๐ พ.ศ. 2515 6) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามระเบียบหรือข้อบังคับ เช่น องค์การสุรา จัดตั้งขึ้นโดยระเบียบจัดตั้งองค์การสุรา กรมสรรพสามิต พ.ศ. 2506
4 การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามวัตถุประสงค์ เช่น การจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสรรค์สร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการให้บริการด้านพลังงานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และรักษาความสมดุลกับ+ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข้อ 2 จงอธิบายความหมาย หลักการ บทบาทและขอบเขตของการบริการสาธารณะ
แนวคําตอบ
ความหมายของการบริการสาธารณะ
นันทวัฒน์ บรมานันท์ ได้อธิบายว่า การบริการสาธารณะ คือ กิจกรรมประเภทหนึ่งซึ่งรัฐ มีหน้าที่ต้องจัดทําขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม เป็นการให้บริการแก่ประชาชน หรือ การดําเนินการอื่นเพื่อสนองความต้องการของประชาชน
เทพศักดิ์ บุญยรัตพันธุ์ ให้ความหมายว่า การบริการสาธารณะ หมายถึง การที่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะ ซึ่งอาจจะเป็นของรัฐหรือเอกชน มีหน้าที่ ในการส่งต่อการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน โดยส่วนรวม การให้บริการสาธารณะมีลักษณะที่เป็น “ระบบ” มีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ส่วน คือ
1 สถานที่และบุคคลที่ให้บริการ
2 ปัจจัยนําเข้าหรือทรัพยากร
3 กระบวนการและกิจกรรม
4 ผลผลิตหรือตัวบริการ
5 ช่องทางการให้บริการ
6 ผลกระทบที่มีต่อผู้รับบริการ
หลักการให้บริการสาธารณะ ปราโมทย์ สัจจรักษ์ กล่าวถึง หลักสําคัญเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะไว้ 5 ประการ คือ
1 บริการสาธารณะเป็นกิจการที่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครอง
2 บริการสาธารณะมีวัตถุประสงค์ในการสนองตอบความต้องการส่วนรวมของประชาชน
3 การจัดระเบียบและวิธีดําเนินการบริการสาธารณะย่อมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เสมอเพื่อให้เหมาะสมแก่ความจําเป็นแห่งกาลสมัย
4 บริการสาธารณะจะต้องจัดดําเนินการอยู่เป็นนิจและโดยสม่ำเสมอ ไม่มีการหยุดชะงักถ้าบริการสาธารณะหยุดชะงักด้วยประการใด ๆ ประชาชนย่อมได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหาย
5 เอกชนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเท่าเทียมกัน การให้บริการสาธารณะมีเป้าหมายที่สําคัญ คือ การสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่ประชาชน
บทบาทและขอบเขตของการบริการสาธารณะ
1 ด้านสังคม การบริการสาธารณะด้านสังคมเป็นรูปแบบของการบริการที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ต้องการตอบสนองความมีน้ำใจ และความปรารถนาดีที่มุ่งหวังให้ผู้รับบริการหรือประชาชนได้รับ ความสะดวกสบาย เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน โดยการบริการสาธารณะ ทางด้านสังคม ได้แก่
1) การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน คือ ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น การเก็บขยะการติดตั้งไฟแสงสว่าง น้ําประปา คลองชลประทาน เป็นต้น
2) การบริการสาธารณะด้านสุขภาพ เช่น การป้องกันโรคระบาด การรักษาพยาบาลเป็นต้น
3) การบริการสาธารณะด้านสื่อสารและโทรคมนาคม เช่น การไปรษณีย์ โทรศัพท์เป็นต้น
4) การบริการสาธารณะด้านนันทนาการและการกีฬา เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬาเป็นต้น
5) การบริการสาธารณะด้านการประกันภัย เช่น การประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร การประกันการว่างงาน เป็นต้น
2 ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญต่อระบบ เศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค และนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม โดยนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการส่งเสริม “การลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ นโยบายการประกันสังคมและสวัสดิการ นโยบายการเกษตร นโยบาย ที่อยู่อาศัย นโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และนโยบาย การกําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
จุดมุ่งหมายของการบริการสาธารณะด้านเศรษฐกิจ มีดังนี้
1) เพื่อให้มีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของคนสูงขึ้น
2) เพื่อให้เกิดความสมดุลและความมีเสถียรภาพของตลาดในประเทศ
3) เพื่อให้มีการกระจายรายได้ และการกําหนดราคาที่ทําให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน
4) เพื่อให้มีเสรีภาพ และมีอิสระในการเลือกอาชีพและเลือกวิถีการดํารงชีวิตของแต่ละคน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
5) เพื่อให้ฐานะทางการเงินของประเทศมีความมั่นคง
6) เพื่อให้มีความสงบทั้งภายในและภายนอกประเทศ
7) เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
3 ด้านการปกครอง การบริการสาธารณะทางด้านการปกครองเป็นกิจกรรมสาธารณะที่รัฐทําหน้าที่ในงานด้านการปกครองที่จะต้องจัดกระทํา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ประกอบกับบริบทของงานสาธารณะด้านการปกครองเป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษในการดําเนินงาน รวมทั้งการมอบอํานาจให้ฝ่ายปกครองในการจัดทําบริการสาธารณะที่มีลักษณะทางการปกครอง และมีการกําหนดวิธีปฏิบัติงานที่รัฐกําหนดขึ้นมาเพื่อเป็นแบบแผนเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน และเป็นระบบเดียวกัน ในการบังคับบัญชา ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถให้เอกชนเข้ามาดําเนินการแทนได้ และโดยมากบริการสาธารณะ ด้านการปกครองเป็นกิจกรรมที่รัฐจัดทําขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม เช่น ตํารวจทําหน้าที่ในการ รักษาความสงบสุขภายในประเทศ ทหารทําหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ข้าราชการฝ่ายปกครองทําหน้าที่ในการ เอื้ออํานวยสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน เป็นต้น
ข้อ 3 จงอธิบายบทบาทของรัฐต่อระบบเศรษฐกิจตามแนวความคิดของ
3.1 แนวคิดเสรีนิยมแบบคลาสสิก (Classical Liberalism)
3.2 แนวคิดแบบลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism)
3.3 แนวคิดแบบลัทธิประโยชน์นิยม (Utilitariansm)
3.4 แนวคิดเสรีนิยมแนวใหม่ (Neo-Classical Liberalism)
3.5 แนวคิดสังคมนิยม (Socialist)
แนวคําตอบ
3.1 แนวคิดเสรีนิยมแบบคลาสสิก (Classical Liberalism) แนวคิดเสรีนิยมแบบคลาสสิก (Classical Liberalism) มีบทบาทอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 – 18 โดยมีรากฐานมาจากแนวความคิดในการเรียกร้องไม่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบบ เศรษฐกิจของสังคม ซึ่งนักคิดเสรีนิยมแบบคลาสสิกที่สําคัญ ได้แก่ Adam Smith, Jean Baptiste Say, Thomas Robert Malthus, David Ricardo bay Nassau Senior
Adam Smith เป็นผู้ต้นคิดแนวคิดเสรีนิยมแบบคลาสสิก ได้เขียนแนวคิดไว้ในหนังสือชื่อ The Wealth of Nations ในปี ค.ศ. 1776 ซึ่งสรุปสาระสําคัญได้ดังนี้
1 นับถือธรรมชาติ โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและกลไกของสิ่งต่าง ๆ
2 รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงธุรกิจเอกชน ถือหลักเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการค้าขายใน ตลาดเสรี
3 คัดค้านการวางข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐบาล เนื่องจากระบบเศรษฐกิจจะดําเนินไปด้วยดี หากให้เอกชนริเริ่มในการดําเนินธุรกิจเสรีเพราะทําให้เกิดการแข่งขันกันเองในอุตสาหกรรมนั้น
4 การให้เอกชนสามารถเข้ามาดําเนินธุรกิจ เนื่องจากสิ่งจูงใจจากความเห็นแก่ตัวจะส่งผล ให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมเอง
5 รัฐควรเข้ามาแทรกแซงในกิจการสาธารณะบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ และการลงทุนทําธุรกิจที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม หากให้เอกชนทําจะขาดทุน ซึ่ง Adam Smith เรียกว่า เสรีภาพ ตามธรรมชาติ
6 ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของรัฐในการเกษตร เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมและ การพัฒนาเศรษฐกิจยังมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน
7 ไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนยากจนที่มีร่างกายปกติตามกฎหมาย เพราะทําให้คน ไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง
8 ในกรณีที่มีการแทรกแซงรัฐบาลไม่แทรกแซงอย่างเข้มงวด บางอย่างสามารถผ่อนปรนลง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทั่วไปเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลช่วยเหลือโรงงานที่ยังไม่สามารถดําเนินการได้เอง ตามลําพัง และการศึกษาฟรี
9 มนุษย์จึงแสวงหาความพอใจมากที่สุดโดยให้มีความเจ็บปวดแต่น้อยในการทําธุรกิจ ซึ่งบุคคลแต่ละคนเลือกทําเองตามวิจารณญาณของตน โดยคิดจากประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อตนพอใจมากที่สุด
3.2 แนวคิดแบบลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism)
แนวคิดแบบลัทธพาณิชย์นิยม (Mercantilism) เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จัดอยู่ในแนวคิด แบบเสรีนิยมคลาสสิก แนวคิดนี้ให้ความสนใจความมั่งคั่งของชาติ โดยมีความเชื่อว่า ประเทศชาติจะมีความร่ำรวย มั่งคั่งได้นั้นจําเป็นที่จะต้องสะสมโลหะที่มีค่าไว้มาก ๆ เช่น ทองคํา ดังนั้นแนวคิดของนักคิดพาณิชย์นิยมจึงนําไปสู่ นโยบายการค้าต่างประเทศที่มุ่งทําให้มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนําเข้า เพื่อที่ประเทศจะได้รับทองคําเป็น ค่าตอบแทนจากการขายสินค้า
นอกจากนี้ แนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยมได้ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวในการแสวงหาความมั่งคั่ง เริ่มรู้จักใช้เงินตราเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ความมั่งคั่ง การมีทรัพย์สิน และความร่ำรวยทําให้ประชาชนดํารงชีวิต ง่ายขึ้น มีเครื่องอํานวยความสะดวกต่าง ๆ และผู้ที่มีความมั่งคั่งถือเป็นผู้มีเกียรติ มีอํานาจและเพื่อนฝูงมาก
นักคิดที่สําคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ Thomas Mun, Edward Misselden และ Antonie de Montchretien
ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Antonie de Montchrefien มีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้
1 ตําหนิการดำเนินงานของรัฐบาลฝรั่งเศสในเรื่องของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่เปิดประตูการค้ากับต่างประเทศ โดยยอมให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศฝรั่งเศสทั้งที่ประเทศ ฝรั่งเศสสามารถผลิตสินค้านั้นได้เอง
2 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และกอบโกยเอาทรัพยากรธรรมชาติของฝรั่งเศสออกไปด้วย
3 เห็นว่า รัฐบาลควรจะส่งเสริมการค้าในประเทศ เพราะถ้าทุกคนทุ่มเทกําลังกายด้วย ความขยันในการผลิตเพื่อการจําหน่ายรายในประเทศจะส่งผลให้ประเทศสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ความมั่งคั่งของ ประเทศที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการมีสินค้าเพื่อใช้ยังชีพด้วย ดังนั้นรัฐควรมีหน้าที่ ส่งเสริมการผลิตสินค้าให้เพียงพอเลี้ยงประชากรทุกคน เพื่อให้ประชากรอยู่ดีกินดี
3.3 แนวคิดแบบลัทธิประโยชน์นิยม (Utilitarians)
ในช่วงศตวรรษที่ 13 – 19 สภาพบรรยากาศในทวีปยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศแรกที่ดําเนินการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งยังผลให้ เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคมอังกฤษ คือ ชนชั้นกรรมกร และเรียกร้องความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่ได้รับการขัดขวางจากชนชั้นเจ้าของที่ดิน อันนํามาซึ่งการแสวงหาแนวคิดหรือหลักการเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างชนชั้น การเกิดขึ้นของสํานักประโยชน์นิยมก็ด้วยเหตุผลทํานองเดียวกัน อีกทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทําให้หลักการแบบสัญญาประชาคมถูกโจมตีว่าเป็นเพียงเรื่องของ “การนึกคิดขึ้นมาเองโดยไม่มี ข้อพิสูจน์” (Arm-Chair Thinking) ซึ่งทฤษฎีของสํานักประโยชน์นิยมจึงดูเหมือนจะเข้ามาแทนที่ในความคิดของ ชนชั้นผู้ใช้แรงงานได้อย่างเหมาะสมตามสภาวการณ์
นักคิดสํานักประโยชน์นิยม ได้แก่ Jeremy Bentham, James Mitt และ John Stuart Mill
ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Jeremy Bentham ซึ่งเป็นผู้นําของแนวคิดแบบลัทธิประโยชน์นิยม มีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้
1 หลักประโยชน์นิยมตามแนวคิดของ Bentham คือ วลีที่กล่าวว่า “The greatest happiness of the greatest number” (การกระทําที่ดีที่สุด คือการกระทําที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดของ คนจํานวนมากที่สุด) ดังนั้นกฎหมายที่ดีจริงก็จะให้ผลประโยชน์แก่คน เป็นกฎหมายเพื่อความสุขของมนุษย์ทุกคน หรือคนจํานวนมากที่สุด
2 เห็นว่า รัฐที่ดีควรปกครองระบบประชาธิปไตย เพราะในหลักการของระบบประชาธิปไตย ที่ว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงต้องมาจากความพอใจ ของคนส่วนใหญ่ในสังคม
3 มีทัศนะที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจว่า ให้รัฐใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (ทุนนิยม) ให้เอกชน ดําเนินกิจการโดยเสรี โดยที่รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด
4 เห็นว่า การแสวงหาวิธีวัดสวัสดิการควรมีลักษณะที่สามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ คือ ศีลธรรมควรมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นความสุข (Pleasure) และความทุกข์ (Pain) จึงควรที่จะวัดได้ในเชิงปริมาณ
5 รัฐควรดําเนินการออกกฎหมายที่สามารถใช้ตัดสินบนมูลฐานของสวัสดิการเพื่อให้ ประชาชนเกิดความสุขมากที่สุดและมีความทุกข์น้อยที่สุด
6 แนวคิดของ Bentham เกี่ยวกับหลักผลประโยชน์ กล่าวได้ว่า เป็นแบบประชาธิปไตย และถือความเสมอภาคไม่ว่าคนยากจนหรือเป็นกษัตริย์ ผลประโยชน์ของแต่ละคนควรได้รับเท่ากันจากสวัสดิการ ที่รัฐสร้างขึ้น ดังนั้นถ้ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในกิจการเชิงนโยบายสาธารณะแล้วก่อให้เกิดความสุขแก่ส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่า นโยบายนั้นมีประสิทธิภาพ
3.4 แนวคิดเสรีนิยม
(Neo-Classical Liberalism)
แนวคิดเสรีนิยมแนวใหม่ (Neo-Classical Liberalism) เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ได้รับ อิทธิพลมาจากแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิก โดยมี Alfred Marshall เป็นผู้ค้นคิด แนวคิดเสรีนิยมแนวใหม่ถือว่าตลาด เป็นสถาบันที่มีความสลับซับซ้อน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทําให้กลไกตลาดสามารถดําเนินได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง ระบบเศรษฐกิจตามอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มเสรีนิยมแนวใหม่มองว่า
1 ระบบเศรษฐกิจจะต้องประกอบไปด้วยธุรกิจที่มีขนาดเล็กเป็นจํานวนมากที่ทําให้ธุรกิจ แต่ละธุรกิจเกิดการแข่งขันกัน และไม่มีธุรกิจใดสามารถที่จะผูกขาดตลาดได้
2 รัฐควรดําเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยการเน้นบทบาทการให้เสรีภาพของตลาดเพื่อ การผลิต การกระจาย และการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ
3 รัฐบาลควรจํากัดบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทําหน้าที่ในการรักษากฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง
นักคิดเสรีนิยมแนวใหม่ที่สําคัญ ได้แก่ Alfred Marshall, Friedrich August Von Hayek, Robert Nozick และ Milton Friedman
ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Robert Nozick มีทัศนะเกี่ยวกับรัฐว่า รัฐที่มีความชอบธรรม คือ รัฐที่มีบทบาทหน้าที่ที่จํากัด โดยมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการใช้กําลัง การขโมย การคดโกง และมีหน้าที่ในการทําสัญญาต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ ในกรณีที่รัฐขยายบทบาทหน้าที่ของตนเองออกไปมากจนเกินไป จะเป็นการกระทําที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นการกระทําที่ไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ Nozick ยังมองว่าคนที่ไม่ได้ลงมือทํางานด้วยตนเองก็สามารถมีสิทธิในทรัพย์สินได้ เช่น การได้รับมรดก ดังนั้นรัฐจึงไม่มี ความชอบธรรมในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อบีบบังคับเอาทรัพย์สินส่วนบุคคลไปจัดสรรหรือกระจายให้ผู้อื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
3.5 แนวคิดสังคมนิยม (Socialist)
แนวคิดสังคมนิยม (Socialist) เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจาก กลไกตลาดเสรีตามแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิก เช่น การกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน การแบ่งชนชั้นวรรณะทางเศรษฐกิจ ความหนาแน่นของประชากรในเมืองใหญ่ มลภาวะที่เป็นพิษ การทําลายสิ่งแวดล้อม ปัญหาชุมชนแออัด อาชญากรรม โรคระบาด ความอดอยาก ปัญหาขยะ ตลอดจนปัญหาด้านสวัสดิการต่าง ๆ ทางสังคม เช่น อุบัติเหตุจากการทํางานโดยไม่มีค่าทดแทนใด ๆ แก่ครอบครัวของผู้บาดเจ็บและถึงแก่กรรม คนงาน ไม่มีสิทธิทางการเมือง สหภาพแรงงานถูกห้ามตั้ง เป็นต้น
นักคิดสังคมนิยมที่สําคัญ ได้แก่ Kart Marx, Robert Owen, Piere Joseph Proudhon และ Simonde de Sismondi
ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Kart Marx มีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้
1 เห็นว่า การแบ่งงานกันทําตามแนวคิดของ Adam Smith ทําให้เกิดผลประโยชน์ขัดกัน เพราะต้องแยกคนงานออกเป็นภาคส่วน คือ คนงานอุตสาหกรรม คนงานในการค้า คนงานเกษตรกรรม และ แยกย่อยลงอีกแต่ละชนิดของภาคส่วน ซึ่งนําไปสู่การขัดผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ ของชุมชนและผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ
2 เห็นว่า พลังของคนงานที่มารวมกันเป็นสหภาพแรงงาน และมีชนชั้นขึ้นในสังคม ชนชั้นเหล่านี้ต่างแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่พวกตนโดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เมื่อคนงานมีพลังขึ้นเป็น สหภาพแรงงาน รัฐก็ไม่สามารถควบคุมได้ ภายใต้ระบบนายทุนนําไปสู่สภาวการณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ 2 ประการ คือ ผู้มีทรัพย์สิน และผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน
3 มองว่า การแบ่งงานกันที่นําไปสู่การแบ่งชนชั้นวรรณะทางสังคม และผลประโยชน์ขัดกัน เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง คนรวยกับคนจน เป็นต้น โดยเฉพาะนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างต่ำต้อยกว่านายจ้าง ส่วนนายจ้างถือว่าตนเหนือกว่า เมื่อลูกจ้างมีปมด้อยจึงรวมกันเพื่อต่อสู้กับนายจ้าง โดยวิธีเรียกร้องขึ้นค่าแรงงาน และให้จัดสวัสดิการให้คนงาน ส่วนนายจ้างถ้ายินยอมตามคําขอของลูกจ้าง ผลประกอบการจะเข้าสู่สภาวะขาดทุน หรือมีกําไรน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ธุรกิจดําเนินต่อไปได้ยาก ซึ่งนําไปสู่ระบบสังคมนิยมระยะแรกของการแปลสภาพ ไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์
4 Mark คัดค้านการยอมให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แรงงานเป็นแหล่งเกิดของ ความมั่งคั่ง แต่ได้รับผลตอบแทนเพียงพอต่อการดํารงชีวิตเท่านั้น ส่วนผลผลิตที่เกิดจากแรงงานเป็นของนายทุน แรงงานจึงเป็นสินค้าอย่างหนึ่งภายใต้ลัทธิทุนนิยม
5 เห็นว่า ในเรื่องของกําไร ธุรกิจมักจะมีลักษณะของการผูกขาด อันเป็นผลให้กําไรเพิ่ม และเพิ่มความทุกข์เข็ญให้แก่คนงาน ในที่สุดความขัดกันระหว่างชนชั้นในระบบทุนนิยมนี้จะนําไปสู่การสิ้นสุดของ ระบบนายทุน คนงานจะมีอิสระขึ้น เข้ายึดอํานาจตั้งผู้เผด็จการของตนเพื่อบีบบังคับนายจ้างเป็นผลให้ประเทศ กลายเป็นระบบสังคมนิยมทีละน้อย เมื่อมากขึ้นก็จะกลายเป็นระบบคอมมิวนิสต์
6 เชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเกิดขึ้นก่อน เพราะเป็นวิสัยของมนุษย์ชอบอิสรเสรี แต่ควรใช้ระบบคอมมิวนิสต์เข้าแทน ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ทรัพย์สินของชาติจะเป็นของส่วนรวมแทนที่จะให้เป็น ของบุคคลแต่ละคน
ข้อ 4 จงอธิบายความหมาย ความสําคัญ และบทบาทของระบบราชการในการดําเนินเศรษฐกิจโดยรัฐบาล
แนวคําตอบ
ความหมายและความสําคัญของการดําเนินเศรษฐกิจโดยรัฐบาล
การดําเนินเศรษฐกิจโดยรัฐบาล คือ การที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือดําเนินกิจการทางเศรษฐกิจ ที่มีความสําคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การศึกษา การสาธารณสุข การป้องกันประเทศ การคมนาคมและการขนส่ง เป็นต้น เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และหากปล่อยให้เอกชนเข้ามาดําเนินการก็อาจจะทําให้เกิดปัญหาการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบประชาชน ทําให้ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเสมอภาคเท่าเทียมกัน
บทบาทของภาครัฐในการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ได้ปรากฏพัฒนาการในทาง ประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สังคมมนุษย์รู้จักระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าและการให้บริการซึ่งเป็นระบบ ที่ทําให้เกิดการกําหนดหน้าที่ในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสังคม เกิดระบบการแบ่งหน้าที่ในการทํางาน ตามความถนัดแต่ละคน และเกิดระบบเงินตราซึ่งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เมื่อพัฒนาการ ทางสังคมได้วิวัฒนาการเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) จึงเกิดการควบคุมระบบเศรษฐกิจโดยการแทรกแซง ของภาครัฐขึ้น
ในการดําเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐ รัฐมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกําหนด บทบาทของตนในการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถกําหนดพฤติกรรมในการประกอบการทางเศรษฐกิจ ของภาคเอกชนได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสมก็อาจทําให้เกิดกลไกตลาดไม่เป็นไป ตามธรรมชาติ ทําให้เอกชนขาดแรงจูงใจในการผลิตและอาจทําให้เกิดการว่างงาน แต่หากรัฐเข้ามาแทรกแซงใน ระบบเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมก็จะทําให้การกระจายทรัพยากรและการควบคุมสินค้าที่ไม่เหมาะสมเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ
บทบาทในการดําเนินเศรษฐกิจโดยรัฐบาล
1 บทบาทในการลงทุนและการผลิต รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการทํางานของระบบ เศรษฐกิจเมือกลไกการทํางานของตลาดเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เกิดการผูกขาด ของผู้ประกอบการเอกชน เป็นต้น ซึ่งคุณลักษณะของความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1) ระหว่างเอกชนกับเอกชน เป็นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี หรือลัทธิ ระบบนายทุน ซึ่งเอกชนมีสิทธิและเสรีภาพในการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและประกอบอาชีพตามความสามารถ ที่ตนเองชํานาญ สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินอื่น ๆ ได้อย่างเสรี
2) รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด เป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม โดยรัฐบาลจะใช้อํานาจ ของตนควบคุมปัจจัยการผลิตและดําเนินธุรกิจเอง โดยเชื่อว่า การดําเนินกิจการโดยรัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมดจะช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศทั้งหมดให้มีสถานะที่เท่าเทียมกัน และสามารถตัดการแข่งขันออกไปได้
3) เอกชนและรัฐบาลเป็นเจ้าของร่วม เป็นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งรัฐบาลสามารถกระทําได้โดยการถ่ายโอนการถือหุ้นบางส่วนให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นในกิจการของรัฐที่รัฐเป็นเจ้าของเองทั้งหมด หรือก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาเพื่อการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน แต่ต้องไม่มุ่งหวัง ผลกําไรเกินควร เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่รัฐจัดทําขึ้นได้ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การรถไฟ รถโดยสารประจําทาง พลังงานเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมผลิตอาหาร เป็นต้น
2 บทบาทในการกําหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการวางแผนที่อาศัย การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อการนํานโยบายไปปฏิบัติ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดําเนินไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ กับสังคมส่วนรวม ซึ่งรัฐบาลจําเป็นจะต้องสร้างเงื่อนไข ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการลงทุน หรือจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน รัฐบาลอาจแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ โดยอาศัยเครื่องมือทางการบริหารของรัฐบาล เช่น การกําหนดอัตราดอกเบี้ย การกําหนดอัตราภาษี เป็นต้น ซึ่ง การแทรกแซงเหล่านี้มีผลต่อการลงทุน การบริโภค และการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ
3 บทบาทในการกําหนดปัจจัยการผลิต ซึ่งปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย
1) ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรทรัพยากร ธรรมชาติอย่างระมัดระวังเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนให้ความสําคัญต่อ ผลกระทบของการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน
2) ทุน เป็นปัจจัยการผลิตที่สําคัญมาก และเป็นกุญแจที่นําไปสู่การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ โดยทุนไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่สินทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง
(1) ทุนพื้นฐานทางสังคม (Social Overhead Capital) คือ การลงทุนที่ช่วยพัฒนาหรือปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของสังคมให้สูงขึ้น เช่น สนามออกกําลังกาย สวนสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตํารวจ เป็นต้น
(2) ทุนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic Overhead Capital) คือ ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน รถไฟ สนามบิน เป็นต้น
3) ทรัพยากรมนุษย์ เป็นปัจจัยที่มีความสําคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศ โดยศักยภาพของประชากรในประเทศ เช่น ระดับการศึกษา ความรู้ ความสามารถ ความชํานาญ ทักษะ กําลังกาย เป็นต้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อขีดความสามารถของประเทศในการนําทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมาใช้ เพื่อการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ
4) ผู้ประกอบการ มีบทบาทที่สําคัญต่อการลงทุน การจ้างงาน และการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขันและการขยายตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
5) เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตที่ส่งผลต่อการขยายการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน ตลอดจน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
4 บทบาทในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเข้ามาทําหน้าที่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นเมื่อปัญหานั้น ๆ มีผลกระทบต่อประชาชน หรือปัญหานั้นขัดขวางอัตราการเจริญเติบโตของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ปัญหาการส่งออก ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ปัญหาการว่างงาน ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น
ข้อ 5 จงอธิบายแนวคิดในการบริหาร และการกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจ
แนวคําตอบ
แนวคิดในการบริหารรัฐวิสาหกิจ
การดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันมีความยากลําบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทําให้ปัญหาอุปสรรคมีความซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทําให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจําเป็นจะต้องใช้ความรอบคอบในการตัดสินใจเลือก แนวทางการจัดการเพื่อดําเนินกิจรรมต่าง ๆ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองความพึงพอใจต่อประชาชนได้อย่างสูงสุด
ดังนั้นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจําเป็นต้องมีทักษะในการเลือกแนวทางดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับวัฒนธรรม ค่านิยม คน เวลา สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ เพราะในปัจจุบัน การบริหารงานในองค์การไม่สามารถให้ผู้บริหารลองผิดลองถูกได้ และแนวคิดการบริหารที่ดีมีประโยชน์จะเป็น สิ่งที่ผู้บริหารสามารถนํามาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์การต่อไปได้
การบริหารรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันเป็นไปตามหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมี 2 หลักการ คือ หลักการรวมอํานาจ (Centralization) และหลักการกระจายอํานาจ (Decentralization) โดย การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้หลักการรวมอํานาจ ซึ่งอํานาจในการบริหาร ถูกรวมไว้ที่ส่วนกลาง ส่วนการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใช้หลักการกระจายอํานาจ โดยมอบหมายงาน การบริหารราชการบางส่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและปกครองตนเอง
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้จัดโครงสร้างการจัดระเบียบ การบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน คือ
1 การบริหารราชการส่วนกลาง เป็นการบริหารที่ยึดหลักการรวมอํานาจ โดยอํานาจ การตัดสินใจในการดําเนินงานขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจโดยอาศัยหลักการบริหาร ราชการส่วนกลางจึงทําให้รัฐบาลสามารถจัดทําบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีเอกภาพ และส่งผลให้ ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
รัฐวิสาหกิจที่สังกัดการบริหารราชการส่วนกลาง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) องค์การของรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ทําหน้าที่เป็นองค์การของรัฐในการดําเนินงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ของประเทศ
2) หน่วยธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ จัดตั้งขึ้นภายใต้สังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
3) บริษัทจํากัด โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือบางส่วน จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2 การบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการบริหารที่ส่วนกลางได้แบ่งอํานาจบริหาร บางส่วนให้เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางไปปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค แต่อํานาจในการตัดสินใจในการดําเนินงาน ต่าง ๆ ในขั้นสุดท้ายยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นรัฐวิสาหกิจในส่วนภูมิภาคจึงมีอํานาจในการตัดสินใจในการจัดทํา บริการสาธารณะบางประการ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและการตัดสินใจที่สอดคล้องกับความต้องการของ แต่ละภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ประจําในแต่ละส่วนภูมิภาคสามารถที่จะใช้อํานาจแทนส่วนกลางได้ แต่ส่วนกลาง ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่แต่ละภูมิภาคยังคงมีอํานาจควบคุมและวินิจฉัยสั่งการเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ได้อย่างใกล้ชิด
การดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจในส่วนภูมิภาคทําให้การวินิจฉัย การสั่งการ และลําดับขั้น ของการบังคับบัญชาน้อยลง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงตามความต้องการ ประหยัด ค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ รวมทั้งรัฐและเจ้าหน้าที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนและเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า การตัดสินใจจากส่วนกลาง
3 การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการกระจายอํานาจการบริหารให้ประชาชน ในท้องถิ่นปกครองกันเอง เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนภายในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ ดังนั้น การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในท้องถิ่นจึงเป็นการมอบอํานาจหน้าที่ในการดําเนินกิจการรัฐวิสาหกิจบางส่วนจากราชการ บริหารส่วนกลางให้ท้องถิ่นดําเนินกิจการได้เองโดยตรง ไม่ต้องอยู่ใต้การบังคับบัญชาสั่งการของราชการบริหาร ส่วนกลาง จึงทําให้การตัดสินใจปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทําบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจในท้องถิ่น เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของประชาชนใน ท้องถิ่น ตลอดจนช่วยส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย เพราะประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทํา บริการสาธารณะท้องถิ่น
การกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายบริหารมีอํานาจในการกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
1 อํานาจในการกําหนดนโยบายทั่วไป เป็นอํานาจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นต้นสังกัด ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ โดยกฎหมายไม่ได้ระบุถึงความหมายและขอบเขตของคําว่า “นโยบายทั่วไป แต่สิ่งดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงอํานาจของรัฐบาลในการกํากับดูแลกิจการที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์ ของประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นต้นสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาเกี่ยวกับ การดําเนินธุรกิจในกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ โดยที่รัฐวิสาหกิจนั้นจะเป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซง จากฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติ
2 อํานาจในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการบริหารและผู้บริหารระดับสูง เป็นอํานาจ ของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี โดยกฎหมายกําหนดให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคคล ดังต่อไปนี้
1) กรรมการบริหารหรือคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ
2) หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เช่น ผู้อํานวยการ หรือผู้ว่าการ
3 อํานาจในการบริหารของฝ่ายบริหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) การกํากับดูแลด้านการดําเนินงาน กําหนดเป็นกฎหมายไว้ 5 วิธี คือ
(1) ให้ฝ่ายบริหารมีคําสั่งให้องค์กรรัฐวิสาหกิจปฏิบัติตามคําสั่งได้ในบางกรณีตามอํานาจที่ระบุไว้ในกฎหมาย
(2) ให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจถอดถอนเจ้าหน้าที่ขององค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือสั่งให้พักราชการได้
(3) ให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าไปร่วมมือกับองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นกรรมการร่วมกับองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
(4) กิจการสําคัญบางอย่างขององค์กรรัฐวิสาหกิจจะมีอํานาจในการดําเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารแล้วเท่านั้น
(5) รัฐวิสาหกิจจะดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารเสียก่อน ได้แก่
การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
– การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ
– การทําสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจเช่น การเช่าที่ดิน
– อื่น ๆ ที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลและผลประโยชน์ของประชาชน
2) การกํากับดูแลทางด้านการเงิน มี 3 วิธี คือ
(1) กําหนดให้องค์กรรัฐวิสาหกิจทํางบประมาณ ซึ่งจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหาร
(2) กําหนดให้ฝ่ายบริหารกําหนดรายละเอียดได้ว่าเงินที่ให้เป็นการอุดหนุนองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องใช้จ่ายในกิจการอย่างไร
(3) กําหนดให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจดูบัญชีและการใช้จ่ายว่าใช้จ่ายโดยถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังถูกควบคุมและกํากับดูแลโดยองค์กรต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่
1 รัฐสภา ทําหน้าที่ในการดําเนินการควบคุมดูแลการบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ โดยการพิจารณาอนุมัติพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี ด้วยการตั้งกระทู้ถาม หรือการขอเปิดอภิปราย เพื่อลงมติพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการจัดทําบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
2 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1) พิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ
2) จัดทําข้อเสนอเกี่ยวกับรายจ่ายประจําปีของรัฐวิสาหกิจ
3) พิจารณาให้คําแนะนําและกําหนดหลักการดําเนินการร่วมกัน และประสานงานเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในทางวิชาการ การจะกู้ยืมเงินและการดําเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4) สํารวจรายงานเกี่ยวกับผลงานตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและให้คําแนะนําเกี่ยวกับการให้เร่งรับ การปรับปรุง หรือล้มเลิกโครงการ
3 สํานักงบประมาณ มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1) เรียกให้รัฐวิสาหกิจเสนอประมาณการรายรับรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ พร้อมด้วยรายละเอียดตามที่ผู้อํานวยการกําหนด
2) วิเคราะห์งบประมาณและการจ่ายเงินของรัฐวิสาหกิจ
3) กําหนดเพิ่มหรือลดเงินประจํางวดตามความจําเป็นของการปฏิบัติงาน และตามกําลังเงินของแผ่นดิน
4 กระทรวงการคลัง มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1) จัดให้มีบัญชีประมวลการเงินแผ่นดิน กําหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินคงคลัง การเก็บรักษา และการนําเงินส่งคลัง
2) จัดให้มีการตรวจเอกสารขอเบิกเงิน การจ่ายเงิน และการก่อหนี้ผูกพัน ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับเงิน การเก็บรักษา และการนําเงินส่งคลัง
3) กําหนดและควบคุมระบบบัญชี แบบรายงาน และเอกสารเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินและหนี้
4) กําหนดระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเงินทดรองจ่ายราชการ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1) ตรวจสอบบัญชีเงิน รายรับรายจ่ายของแผ่นดิน หรืองบแสดงฐานะการเงินของแผ่นดินประจําปี
2) ตรวจสอบบัญชี ทุนสํารองเงินตราประจําปี และแสดงความเห็นว่าการรับจ่ายเงินเป็นการถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
3) ตรวจสอบบัญชีเอกสาร และทรัพย์สินของทบวงการเมือง
ข้อ 6 จงอธิบายปัญหาของระบบราชการ และอธิบายความสัมพันธ์ของระบบราชการกับรัฐวิสาหกิจ
แนวคําตอบ
ปัญหาของระบบราชการ
1 ความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ เนื่องจากการมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานและ ระเบียบแบบแผนที่กําหนดไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม ทําให้ขาดความยืดหยุ่นในการทํางานและไม่สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป
2 ระบบสายการบังคับบัญชา ทําให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคําสั่งที่ ผู้บังคับบัญชาสั่งการ จึงทําให้การทํางานของระบบราชการขาดความเป็นอิสระ ข้าราชการขาดความเป็นตัวของตัวเอง และขาดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
3 การควบคุมที่รัดกุม ทําให้ระบบราชการขาดความยืดหยุ่นในการบริหารราชการ
4 รูปแบบโครงสร้างของระบบราชการ ซึ่งมีการแบ่งอํานาจการบริหารออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทําให้เกิดความล่าช้า และขาดความคล่องตัว เนื่องจากมีขั้นตอน การปฏิบัติงานที่สลับซับซ้อน
5 ความสลับซับซ้อนของหน่วยงานในระบบราชการ ในกระบวนการจัดทําบริการ สาธารณะของรัฐเองนั้นมีความสลับซับซ้อนในโครงสร้างของระบบราชการเองที่มีลักษณะผลลัพธ์ที่เหมือนกัน แต่สังกัดหน่วยงานที่แตกต่างกัน และยังให้เอกชนเข้ามาดําเนินการด้วย เช่น
– กระทรวงศึกษาธิการที่กํากับดูแลวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยพาณิชยการ วิทยาลัยการเกษตร วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิทยาลัย
– ช่างศิลป์ และวิทยาลัยเอกชน
– กระทรวงสาธารณสุขที่กํากับดูแลวิทยาลัยของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ สมาน รักสิโยกฤษฎ์ ได้เสนอปัญหาของระบบราชการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ
1 ปัญหาอันเนื่องมาจากการติดยึดกับปรัชญาการบริหารราชการยุคเก่า ได้แก่
1) เน้นบทบาทของรัฐในฐานะเป็นผู้ควบคุมและดําเนินกิจการทุกอย่างเสียเองทําให้การบริหารราชการมีลักษณะผูกขาดสูง ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันเพื่อให้การดําเนินงานมีประสิทธิภาพ
2) เน้นการรวมอํานาจเข้าสู่ส่วนกลาง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
3) เน้นการจัดโครงสร้างองค์การและการบริหารงานแบบระบบราชการ ทําให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการตัดสินใจและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ
4) เน้นการขยายตัวของหน่วยราชการ ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต และเกิดความซ้ำซ้อนในภารกิจ
5) เน้นการใช้กฎระเบียบและการควบคุม โดยมีการใช้กฎระเบียบเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงานแทนที่จะใช้เป็นเพียงเครื่องมือ
6) เน้นการผูกขาดแนวคิดและยัดเยียดการให้บริการแก่ประชาชน ทําให้กิจการของรัฐขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนขาดความศรัทธาในบริการของรัฐ
7) เน้นให้หน่วยราชการขยายฐานของงบประมาณในแต่ละปีให้มากขึ้นโดยไม่คํานึงถึงผลลัพธ์ และไม่มีการประเมินผลหรือวัดผลแบบเปิด ทําให้กระบวนการงบประมาณไม่สามารถสะท้อนการแก้ปัญหาของประเทศได้
2 ปัญหาอันเกิดจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้แก่
1) เค้าโครงการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
2) การจัดโครงสร้างส่วนราชการมีความแข็งตัว ไม่เอื้ออํานวยต่อการนําเทคนิคการบริหารงานแบบใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่ามาปรับใช้
3) ความยุ่งยากและความล่าช้าในการจัดตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงส่วนราชการระดับต่าง ๆ
4) การรวมอํานาจและการใช้อํานาจในการบริหาร การจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ไว้กับหัวหน้าส่วนราชการระดับสูงมาก ทําให้การบริหารงานไม่คล่องตัวและล่าช้า
5) การบริหารราชการส่วนภูมิภาค คือ ระดับจังหวัดและอําเภอ ไม่มีเอกภาพและไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน
6) การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่มีความเข้มแข็งและมีหลายรูปแบบเกินไป
7) การจัดระบบโครงสร้างส่วนราชการและการบริหารราชการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความสัมพันธ์ของระบบราชการกับรัฐวิสาหกิจในสภาวะที่สังคมมีความเรียบง่ายในช่วงยุคสมัยของ Max Weber ระบบราชการสามารถ ให้บริการสาธารณะและบริหารราชการแผ่นดินได้ระดับหนึ่ง การบริหารที่เน้นกฎเกณฑ์และผ่านบันทึกอย่างเป็น ขั้นตอนอาจมีความเหมาะสมในช่วงเวลาที่ Max Weber นําเสนอแนวคิดดังกล่าว แต่แนวคิดของ Max Weber ทําให้องค์การขาดความยืดหยุ่น ขาดความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงทีแม้ระบบราชการจะมีข้อจํากัดหลายประการ แต่การจะทําให้ไม่มีระบบราชการนั้นเป็นสิ่งที่ ไม่สามารถกระทําได้ เนื่องจากการบริการสาธารณะบางอย่างยังคงต้องดําเนินการโดยไม่มุ่งหวังผลในทางธุรกิจ ซึ่งการบริการสาธารณะดังกล่าว ได้แก่ การจัดสรรทรัพยากร การกระจายรายได้ การป้องกันการผูกขาด การรักษา ผลประโยชน์ของส่วนรวม การชดเชยที่เป็นผลมาจากความไม่มีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี การส่งเสริม การลงทุนของภาคเอกชน การรักษากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐจึงได้นําระบบการทํางานที่ไม่ถือระเบียบแบบแผนแบบราชการอย่าง เต็มที่มาใช้ และเรียกระบบนี้ว่า “รัฐวิสาหกิจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดําเนินการในการจัดการบริการสาธารณะ
ข้อ 7 จงอธิบายเหตุผล ความสําคัญ แนวทาง และหลักการในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ
แนวคําตอบ
เหตุผลและความสําคัญของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ
เนื่องจากพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รูปแบบตลาด พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน รูปแบบการแข่งขันทางธุรกิจของภาคเอกชน ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ทําให้รัฐวิสาหกิจในปัจจุบันไม่สามารถใช้วิธีการบริหาร จัดการแบบเดิมได้ ดังนั้นรัฐวิสาหกิจจึงมีความจําเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการขององค์การ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1 เพื่อปรับปรุงผลการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
2 เพื่อช่วยลดภาระทางด้านการเงินของรัฐบาล
3 เพื่อแก้ปัญหาผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุน
4 เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการสาธารณะ
แนวทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจ
สํานักงานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ เสนอแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไว้ 6 ประการ ดังนี้
1 ปรับปรุงหน่วยงานที่กํากับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้เขียนรายละเอียดหน้าที่ต่าง ๆ ให้ชัดเจน
2 ตั้งกรรมการที่ปรึกษา โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อทําหน้าที่เสนอแนวทางการปรับปรุงและวางแผนโดยส่วนรวม เพื่อเสนอรัฐบาล
3 ปรับปรุงกองรัฐวิสาหกิจในกรมบัญชีกลาง โดยให้ย้ายไปสังกัดสํานักปลัดกระทรวงการคลัง
4 จัดตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อควบคุมติดตามการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง
5 จัดตั้งสํานักงานรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ โดยให้มีหน้าที่เช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้ในข้อ 4
6 ตั้งทบวงหรือกระทรวงรัฐวิสาหกิจขึ้นโดยตรง
หลักการในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ
1 การพัฒนารัฐวิสาหกิจตามแนวทางการบริหาร ได้แก่
1) ปรับบทบาทของราชการจากการตรวจสอบควบคุมเป็นการกํากับดูแลและส่งเสริม
2) ปรับขนาดและโครงสร้างขององค์การภาครัฐให้มีขนาดกะทัดรัด โดยใช้มาตรการเสริมต่าง ๆ เช่น การจ้างเหมาเอกชนในงานบางเรื่อง
3) ปรับระบบราชการให้เป็นระบบวิชาชีพ เพื่อให้ข้าราชการมีโอกาสก้าวหน้าตามความสามารถและมีดุลยภาพกับระบบการควบคุมทางการเมือง
4) ปรับระบบบริหารราชการ กฎระเบียบต่าง ๆ และขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาตและขั้นตอนการปฏิบัติงานให้สั้นและรวดเร็ว
5) ปรับปรุงบรรยากาศและระบบการทํางานภาคราชการให้ทันสมัยและเอื้ออํานวยให้เกิดประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็ว
6) ปรับระบบการทํางานของข้าราชการโดยการกระจายความรับผิดชอบและอํานาจการตัดสินใจให้แก่ข้าราชการในระดับปฏิบัติการให้มากขึ้น
7) ปรับปรุงโครงสร้างองค์การ ระบบการบริหารและการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความคล่องตัวและเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น
2 การพัฒนารัฐวิสาหกิจตามแนวทางธุรกิจ ได้แก่
1) ลดบทบาทกํากับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ โดยกํากับเฉพาะงานที่เป็นนโยบายสําคัญของรัฐ เช่น การก่อหนี้ การนํารายได้ส่งรัฐ การเพิ่มบทบาทภาคเอกชน เป็นต้น
2) กําหนดให้การบริหารรัฐวิสาหกิจภายในอยู่ในความรับผิดชอบของกรรมการและฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการตัดสินใจ
3) ให้ความสําคัญกับแผนวิสาหกิจ
4) ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่ใช้ในการกํากับดูแลให้เกิดความคล่องตัวแก่รัฐวิสาหกิจ
5) ใช้นโยบายราคาเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกําหนดราคาสินค้าและบริการที่คุ้มกับต้นทุน
6) ปรับปรุงระบบการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยการเพิ่มบทบาทการดําเนินงานร่วมกับภาคเอกชน เช่น การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดําเนินการในกิจการซึ่งเดิม รัฐทําในลักษณะผูกขาดแต่ผู้เดียว การร่วมทุนกับเอกชน การทําสัญญาจ้างเอกชนเพื่อดําเนินการกิจกรรมบางอย่างของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น 7) ส่งเสริมการประกอบการเชิงธุรกิจ โดยแก้กฎหมายบางฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการให้เอกชนดําเนินกิจการ ลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจให้อยู่ในรูปบริษัทจํากัด
3 การพัฒนารัฐวิสาหากิจตามแนวทางกฎหมาย ได้แก่
1) จัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย
2) ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณ บุคลากร และเรื่องอื่น ๆ ที่จําเป็นแก่องค์กรปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายของประเทศเป็นไปอย่างมีระบบ
4 การพัฒนารัฐวิสาหกิจตามแนวทางสังคมวิทยา ได้แก่
1) วางแผนพัฒนาบุคลากรและค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงาน
2) กําหนดสิ่งจูงใจและผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้ค่าตอบแทนพนักงานโดยพิจารณาความเหมาะสมเป็นกรณี การจัดฝึกอบรมเพื่อหางานใหม่ให้
3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยราชการนําระบบ “การพัฒนาคุณภาพของการทํางาน” มาปรับใช้ให้เหมาะสม
4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานราชการมีระบบข้อมูลกําลังคนที่เหมาะสม
5) จัดทําระบบค่าตอบแทนใหม่
6) จํากัดการเพิ่มและลดขนาดบุคลากรตามภาระหน้าที่หลักของหน่วยงาน
7) สร้างกลไกการโยกย้ายถ่ายเทกําลังคนระหว่างส่วนราชการเพื่อเกลี่ยกําลังคนจากจุดที่หมดความจําเป็นหรือจําเป็นน้อยไปให้จุดที่มีความจําเป็นมาก
8) เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ
9) สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
10) ปรับปรุงให้แผนงานมีความกระจ่างชัด
11) เสริมสร้างความเข้าใจและเผยแพร่บทบาทของรัฐวิสาหกิจต่อสาธารณชน
5 การพัฒนารัฐวิสาหกิจตามแนวทางเศรษฐศาสตร์ ตามหลักการเศรษฐศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างรายได้เข้าสู่รัฐ และเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประชาชน ในสังคมมีความกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลว อันเกิดมาจากระบบตลาดเสรีที่ไม่ต้องการให้คนส่วนน้อยได้รับผลประโยชน์ ดังนั้นการพัฒนารัฐวิสาหกิจตามแนวทาง เศรษฐศาสตร์จึงมุ่งเน้นการพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจ เช่น การระดมทุน การลงทุน การค้ำประกัน เงินกู้ และการกําหนดราคาสินค้าและบริการ เป็นต้น