การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา POL3314 การบริหารชุมชนเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อและตอบให้ครบถ้วนทุกคําถามในแต่ละข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายคําว่า “เมือง”, “ชุมชนเมือง” และ “การสร้างบ้านแปงเมือง” (Urbanization) หรือ ปรากฏการณ์ของการเกิดและเป็นเมืองในเชิงทฤษฎีของศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาสัก 3 ทฤษฎี พร้อมทั้งอธิบายเชิงขยายความโดยละเอียดในแต่ละทฤษฎี ?

Advertisement

แนวคําตอบ

เมือง (City/Urban) มีความหมายดังนี้

-การตั้งถิ่นฐานถาวรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวร (เช่น บ้านเรือน) มีสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการสาธารณูปโภค (เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน)
– เมืองจะเป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองจํานวนมาก มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ใน ระดับสูง ประชากรของแต่ละเมืองจะประกอบไปด้วยคนต่างเพศ ต่างสถานภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม
-เมืองจะมีระบบการบริหารและการปกครองเป็นของตนเอง
– เมืองจะประกอบด้วยองค์กรทางสังคมต่าง ๆ มากมาย
– เมืองจะเป็นศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น ในเชิงทางประวัติศาสตร์ เมืองจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และการศึกษา การตลาดและการพาณิชยกรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารขององค์กรเอกชนต่าง ๆ การศาสนาและประเพณี
– เมืองบางแห่งอาจเกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่พิเศษเฉพาะด้าน เช่น เมืองหน้าด่านและ ป้อมปราการทําหน้าที่ป้องกันตนเองและป้องกันเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเมืองเดียวกัน
-เมืองกลายเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตที่เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบและการบริโภค/อุปโภค อย่างมากมาย จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศ เช่น การค้า การธนาคาร การบริหารอุตสาหกรรม การขนส่งคมนาคม แหล่งขายปลีก ตลอดจน เป็นศูนย์กลางของรัฐบาล

ชุมชนเมือง (Urban Community) หมายถึง ชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนทุกสถานะทั้ง คนรวยและคนจนรวมกันอยู่อย่างแออัดในพื้นที่ มีความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนแตกต่างจากสังคมในชนบทและเนื่องจากการที่ชุมชนเมืองจะประกอบไปด้วยผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจํานวนจํากัด คนในชุมชนเมืองจึงมัก จะมีความเป็นอยู่หนาแน่น จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมักจะมีปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น

การสร้างบ้านแปงเมือง (Urbanization) หมายถึง การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนของมนุษย์ เนื่องจากมีมิติไม่เพียงเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพเท่านั้น แต่จะเป็นมิติที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โครงสร้างทางสังคม (Social Structure) ทั้งกายภาพและนามธรรม เช่น ในด้านจิตสํานึกด้านพื้นที่และขอบเขต (Sense of Territory) จิตสํานึกในความเป็นชุมชน (Sense of Communities) จิตสํานึกในความเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) อันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ทางสังคมที่ยาวนาน ตัวอย่างเช่น การมีกลุ่มคนที่หลากหลาย หรือต่างตระกูล ต่างชาติ ต่างศาสนาเข้าอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันอย่างน้อยถึงชั่วอายุ จนเกิดความสัมพันธ์ทาง สังคมและวัฒนธรรมระหว่างกัน มิใช่เกิดจากปัจจัยภายนอกมากําหนด อย่างเช่นรัฐ เอกชน หรือบริษัทจัดสร้างบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้วขายให้คนมาอยู่รวมกัน

ปรากฏการณ์ของการเกิดและเป็นเมืองในเชิงทฤษฎีของศาสตร์สาขาต่าง ๆ

1. ทฤษฎีในทางเศรษฐศาสตร์

กระบวนการในการเกิดขึ้นของเมืองในทางเศรษฐศาสตร์จะเกี่ยวโยงกับกระบวนการ หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจชนบทไปเป็นเศรษฐกิจเมืองทางโครงสร้างของสังคมที่ก่อให้เกิดพลวัตในแง่ของการแปลงสภาพ ประชากร กระบวนการผลิต และสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจชนบท ไปสู่ฐานะของเศรษฐกิจเมือง เช่น
1. การใช้แรงงานเข้มแข็งขึ้นและมีความเป็นปัจเจกภาพสูง
2. มีการกระจุกตัวของแรงงานมากขึ้น
3. มีความชํานาญในการผลิตสินค้าและบริการค่อนข้างสูง
4. มีการพึ่งพาต่อกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลอย่างใกล้ชิด
5. มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และลักษณะของการประกอบการในระดับสูง
6. ความหนาแน่นของประชากรทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสําคัญที่จะเกิดขึ้นในแง่ความเป็นเมือง คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเนื่องจากการเกิดความชํานาญ การแบ่งงานกันทําตามความสามารถเฉพาะ การใช้ทุนเข้มข้นในการผลิตและใช้เทคโนโลยี ตลอดจน ประดิษฐกรรมที่ทันสมัย ทําให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและกระบวนการเกิดเป็นเมืองซึ่งเป็นกระบวนการที่ ควบคู่กัน

2. ทฤษฎีของนักสังคมวิทยา

ในทางสังคมวิทยา มองว่าระบบชุมชนเป็นระบบของปัจจัย 3 ประการที่เกี่ยวข้องกัน คือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Areas) การปะทะสังสรรค์กันทางสังคม (Social Interaction) และ ความผูกพันร่วมกัน (Common Ties) กล่าวคือ ในสังคมนั้นจะประกอบด้วยบุคคลที่มีการปะทะสังสรรค์กัน ทางสังคมในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และมีความผูกพันร่วมกันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง

ผลผลิตของชุมชนหรือสังคม ซึ่งได้แก่

– การกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) – การควบคุมทางสังคม (Social Control)
– การมีส่วนร่วมในสังคม (Social Participation)
– การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (Mutual Support)
– การผลิต การบริโภค และการกระจายสินค้าและบริการภายในชุมชน (Production Consumption-Distribution)

ในแง่ของจิตใจและวัฒนธรรมนั้น คนจะมีความรู้สึกในความเป็นคนถิ่นนั้นถิ่นนี้ ทั้งนี้ เพราะเกิดความรู้สึกมั่นคงในการมีที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ (Community Sentiment) ที่เกิดจากการหล่อหลอม ทางค่านิยมของกฎเกณฑ์และเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งกระบวนการของคนในสังคมหรือชุมชนโดยลักษณะธรรมชาติ ดังกล่าวก็คือ ความเป็นเมืองนั่นเอง

3. ทฤษฎีของนักมานุษยวิทยา

นักมานุษยวิทยา มองว่ากระบวนการสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) เป็นรูปหนึ่งของกระบวนการปรับตัวของมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนเมืองเป็นรูปแบบที่สําคัญที่มนุษย์ได้พัฒนาขึ้น การปรับตัวจึงเป็นความสําเร็จอย่างหนึ่งของกลุ่ม และความสําเร็จนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมนั้น ๆ ว่าจะเป็นไปได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องอาศัยความกลมกลืนกันระหว่างปัจจัยในด้านต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “ปมในเชิงนิเวศวิทยา” (Ecological Complex) ซึ่งจะประกอบด้วย

1. ปัจจัยด้านประชากร (Population) โดยมีปัจจัยด้านโครงสร้างของประชากร ที่มีผลต่อกระบวนการเป็นเมือง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะชี้ให้เห็นมิติของประชากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตลอดจนการกระจายตัวหรือโครงสร้างซึ่งประกอบด้วยลักษณะของคนในแต่ละช่วงอายุ เช่น คุณภาพการศึกษา ทักษะการทํางาน อาชีพ จํานวน การพัฒนา และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของคนในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะส่งผลถึง ปัจจัยด้านอื่น ๆ

2. ปัจจัยด้านการจัดองค์กร (Organization) โดยมีมิติที่จะพิจารณาได้ในเรื่องนี้ ได้แก่ แบบขององค์กร สภาพแวดล้อม จํานวนสมาชิก ความสามารถ ผู้นํา เทคโนโลยีที่ใช้ ตลอดจนความร่วมมือ ร่วมใจตามแนวคิดของประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อสภาพของชุมชนและสังคมนั้น ๆ

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อสังคม และชุมชนในแง่ของพฤติกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในแต่ละระดับนั้นอาจพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางด้านธรรมชาติ และปัจจัยแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือพิจารณาในแง่ปัจจัยเอื้อหรือไม่เอื้อต่อชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ

4. ปัจจัยด้านเทคนิควิทยาการ (Technology) เป็นปัจจัยสําคัญที่มนุษย์จะสามารถ เอาชนะธรรมชาติได้ และสามารถแข่งขันท่ามกลางภาวะที่จํากัดในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ ประดิษฐกรรมและนวัตกรรมของสังคม

ข้อ 2. ปัจจุบันกรอบความคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” แพร่หลายและกล่าวขวัญกันมากในวงวิชาการสังคมศาสตร์ ขอให้ น.ศ. อธิบายในบริบทของวิชาการบริหารชุมชนเมืองว่า “การพัฒนาชุมชนเมือง อย่างยั่งยืน” คืออะไร มีความสําคัญอย่างไรต่อการบริหารเมืองในโลกยุคปัจจุบัน ?

แนวคําตอบ

การพัฒนาชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน

“การพัฒนาชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน” (Sustainable Urban Development) ในบริบท ของวิชาการบริหารชุมชนเมืองนั้น เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นความเป็นสังคมเมืองถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าเมืองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นและการขยาย ขอบเขตพื้นที่เมืองออกไป ซึ่งเป็นที่ตระหนักโดยทั่วไปถึงผลกระทบของการเติบโตของสังคม ดังนั้นการ เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนจึงมีความจําเป็นในแง่ที่ว่า ต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นเขตเมืองดังกล่าว ว่าสิ่งที่ จําเป็นและจะตามมาจากกิจกรรมของเมือง อย่างเช่นทรัพยากรที่จะต้องใช้ในการเคลื่อนที่ของผู้คนและสินค้า ทั้งในแง่โครงสร้างทางกายภาพต่าง ๆ และกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นเป็นปัจจัยที่สําคัญที่จะต้อง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายของการเจริญเติบโตดังกล่าว การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงได้รับการ
นิยามว่าเป็น “การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ลดทอนความสามารถของคนรุ่นอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง”

นิยามดังกล่าวของการพัฒนาชุมชนเมืองอย่างยั่งยืนได้แสดงถึงกระบวนการที่จะสามารถบรรลุถึงความยั่งยืนโดยเน้นการปรับปรุงความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกโดยผสมผสานทั้งมิติ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังได้เน้นย้ําถึงความจําเป็นในการปฏิรูปกลไกตลาด เพื่อให้ บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมการบรรลุความสมดุลกับการพิจารณาทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจําเป็นต้อง คํานึงถึงมิติต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพของการเจริญเติบโต, การอนุรักษ์กับ การชะลอการใช้ทรัพยากรที่ค่อย ๆ หมดสิ้นไปอันไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก, การตัดสินใจในทาง เศรษฐกิจภายใต้สภาวะแวดล้อมที่จํากัด ตลอดจนการคํานึงถึงความยั่งยืนและความต้องการของคนรุ่นต่อไป เป็นต้น

ความสําคัญที่มีต่อการบริหารเมืองในโลกยุคปัจจุบัน

ในขณะที่การพัฒนาชุมชนเมืองของโลกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาชุมชนเมืองอย่าง ยั่งยืนถือเป็นกรอบความคิดเป้าหมายที่ในประชาคมการพัฒนาขานรับ ซึ่งได้แก่ ความสําเร็จในการจัดการต่อ การเจริญเติบโตของเมือง (Urban Growth) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ําและรายได้ปานกลางถึง ระดับต่ําสุด ที่คาดว่าจะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเมืองอย่างรวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งจําเป็นต้องอาศัย ผู้คนทั้งในเมืองและในชนบท เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบทและสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่

นอกจากนี้การเติบโตของเมืองยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ประการ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านสังคม และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพบว่า ความเป็นเมืองที่มีการจัดการที่ดีซึ่งหมายถึงการตระหนักและมีความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มและ ทิศทางของประชาชนในระยะยาว สามารถช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการกําหนดทิศทางของการตั้งถิ่นฐาน และการรวมตัวกัน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ๆ ซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงและแนวโน้มดังกล่าวจะสามารถช่วยในการวางแผน และเพื่อให้แน่ใจว่ามีการแบ่งผลประโยชน์ของการเป็นเมืองและไม่มีใครถูกทอดทิ้ง ดังนั้นนโยบายในการจัดการการเจริญเติบโตของเมืองจึงจําเป็นต้องสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสังคมสําหรับทุกคน โดยจะมุ่งเน้นที่ความต้องการของ คนจนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการทํางานที่ดีและสภาพแวดล้อมที่ ปลอดภัย เป็นต้น

ข้อ 3. จงอธิบายปรากฏการณ์ “โลกของความเป็นเมือง” (Urban World ; World Urbanization) ทั้งในภาพรวมทั้งโลกและระดับพื้นที่เฉพาะเพื่อสร้างความเข้าใจในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหา และแนวทางการแก้ไข เช่น ภาวะโลกร้อน, สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับไม่ทัน, มลภาวะความแออัดสําคัญต้องเสนอแนะวิธีการที่เหมาะสมหรือที่คิดว่าได้ผลในเชิงการป้องกันและแก้ไขประกอบการตอบให้ชัดเจน ?

แนวคำตอบ

ปรากฏการณ์ “โลกของความเป็นเมือง” (Urban World ; World Urbanization) เป็นลักษณะ ของการอยู่อาศัยในโลกแห่งชุมชนเมือง ซึ่งปัจจุบันประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และประชากรโลก มากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นได้เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองในประเทศกําลังพัฒนานั้นจะมีอัตราการเข้า

มาอยู่อาศัยของประชากรเพิ่มมากขึ้นมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งบางประเทศได้กลายเป็นชุมชนเมืองไปร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกแห่งชุมชนเมืองอย่างแท้จริง

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่าในปี พ.ศ. 2561 ประชากรในเขตเมืองนั้น มีมากกว่าในชนบท โดยมีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองประมาณร้อยละ 55 ของประชากรโลก ซึ่งในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2493 พบว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพียงร้อยละ 30 ของประชากรโลกเท่านั้น นอกจากนี้สหประชาชาติยังคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 จะมีคนอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มสูงถึงร้อยละ 68 ของประชากรโลกอีกด้วย

ในแง่ประชากรในชนบทของโลก พบว่าเติบโตอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และคาดว่า จะถึงจุดสูงสุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันในชนบททั่วโลกมีจํานวนเกือบ 3.4 พันล้านคน และคาดว่าจะ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนั้นจะลดลงเหลือประมาณ 3.1 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา และเอเชียซึ่งมีประชากรชนบทเกือบร้อยละ 90 ของประชากรชนบทของโลก

ในแง่ประชากรในเมืองของโลก พบว่าเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 โดยเพิ่มขึ้น จาก 751 ล้านคน เป็น 4.2 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2561 แม้ว่าเอเชียจะมีการขยายตัวน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่กลับพบว่ามีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองสูงถึงร้อยละ 54 ของทั่วโลก ในขณะที่แอฟริกามีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น

การจะให้คําจํากัดความและระบุว่าบริเวณใดเป็นเมืองนั้นทําได้หลายวิธี เพราะคําว่าเมืองนั้น ต่างถูกให้ความหมายตามแต่ละพื้นที่หรือแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามความหมายของ ความเป็นเมืองที่ถูกนิยามในด้านต่าง ๆ ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์การจําแนกความเป็นเมือง แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

1. เกณฑ์ทางด้านพื้นที่การปกครอง ซึ่งเป็นเกณฑ์การแบ่งที่รัฐบาลได้กําหนดขึ้น ตามกฎหมาย เช่น ในขอบเขตเทศบาลเป็นเมือง และนอกขอบเขตเทศบาลเป็นชนบท เป็นต้น

2. เกณฑ์จํานวนประชากร ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้วิธีการกําหนดขั้นต่ําไว้ว่าจะต้องมี จํานวนประชากรไม่น้อยกว่าเท่าใดในพื้นที่นั้น ๆ จึงจะเรียกว่ามีความเป็นเมือง หรือบางครั้งอาจจะใช้เกณฑ์ของ ความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยพื้นที่เป็นฐานประกอบการพิจารณาด้วย

3. เกณฑ์การกําหนดคุณสมบัติขั้นต่ําของความเป็นเมืองไว้ก่อน หากเข้าข่ายที่ กําหนดไว้จึงจะถือว่าเป็นเมือง เช่น เมืองจะต้องมีความสมบูรณ์พร้อมทางด้านไฟฟ้า ประปา ถนน สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานีตํารวจ เป็นต้น

4. เกณฑ์การกําหนดโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในบางประเทศจะนิยามโดยอาศัย สัดส่วนของประชากรที่ทํางานเชิงเศรษฐกิจในสาขาเกษตรกรรม เช่น เมืองจะต้องมีประชากรทํางานเชิงเศรษฐกิจ ในสาขาเกษตรกรรมไม่เกิน 25% เป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นต้น

ผลกระทบอันเกิดจากโลกของความเป็นเมือง

1. ภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการที่มีก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากเกินไป นั่นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยมนุษย์เองที่เป็นสาเหตุทําให้เกิดแก๊สนี้เป็นจํานวนมาก จากการเผาไหม้ เชื้อเพลิงต่าง ๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งมนุษย์ยังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วย รวมไปถึงการตัดและทําลายป่าไม้จํานวนมหาศาล เพื่อสร้าง สิ่งอํานวยความสะดวกให้แก่มนุษย์เอง ทําให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศ ถูกลดทอนประสิทธิภาพลง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้นํามาสู่การเกิดภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น

ผลกระทบของภาวะโลกร้อน ได้แก่

1. ระดับน้ําทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งที่กําลังละลาย และอุณหภูมิทั่วโลก ที่กําลังสูงขึ้นจากการขยายตัวทางความร้อนของน้ำในมหาสมุทร

2. มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และความแห้งแล้ง ซึ่งในปัจจุบันพบว่าความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า

3. ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค เช่น ในยุโรปจะเกิดน้ําท่วมจากแม่น้ำเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ส่วนมากของทวีป และตามพื้นที่ชายฝั่งจะเสี่ยงต่อน้ำท่วม การกัดเซาะ และ การสูญเสียพื้นที่ในทะเล เพิ่มขึ้นอย่างมาก

4. ระบบทางธรรมชาติ เช่น ธารน้ําแข็ง ปะการัง ป่าชายเลน ระบบนิเวศของ ทวีปอาร์กติก ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง ป่าสนแถบหนาว ป่าเขตร้อน เขตลุ่มน้ําในทุ่งหญ้า และเขตทุ่งหญ้า ในท้องถิ่น จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง

5. สัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพ, ภาวะโลกร้อนจะสร้างสภาวะที่พอเหมาะพอควรให้เชื้อโรคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โลกร้อนขึ้นจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืชที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์

6. เด็กในประเทศกําลังพัฒนา เช่น ในประเทศแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการแพร่ขยายของโรคท้องร่วง และโรคมาเลเรีย ท่ามกลางอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น น้ำท่วม และภัยแล้ง เป็นต้น

แนวทางการป้องกันและแก้ไขสภาวะโลกร้อน ได้แก่

1. ลดระดับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าลง เช่น เพิ่มอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศในสํานักงานหรือที่พักอาศัยสัก 1 องศา หรือปิดไฟขณะไม่ใช้งาน

2. ลดการใช้น้ํามันจากการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือลดการเดินทางที่ไม่มีความจําเป็น รวมถึงลดการใช้พาหนะส่วนตัว หันไปใช้บริการขนส่งสาธารณะเมื่อมีโอกาส

3. รักษาป่าไม้ให้ได้มากที่สุด และลดหรืองดการจัดซื้อสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆที่ทําจากไม้ที่ตัดเอามาจากป่า ทั้งนี้เพื่อปล่อยให้ต้นไม้และป่าไม้เหล่านี้ได้ทําหน้าที่ในการเป็นปอดของโลกสืบไป

4. นํากระดาษหรือภาชนะบรรจุอื่นๆ กลับไปใช้ใหม่ โดยพยายามซื้อสิ่งของที่มี อายุการใช้งานนาน ๆ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานของโลกอย่างมากมาย เป็นต้น

2. สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับไม่ทัน ซึ่งถือเป็นปัญหาของการจัดการบริการ สิ่งอํานวยความสะดวกไปยังเคหะสถาน ได้แก่ การไฟฟ้า การประปา การบําบัดน้ําเสีย การระบายน้ํา การสื่อสาร และโทรคมนาคม การกําจัดขยะ การดับเพลิง ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเกี่ยวข้องกับ การออกแบบเชิงระบบในด้านเทคนิคที่จําเป็นต้องใช้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ดําเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อการปรับปรุงหรือขยายกิจการที่มีอยู่เดิม โดยมีลักษณะของการแก้ปัญหาความ ขาดแคลน บกพร่อง ไม่เพียงพอ และยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เหมาะสมกับความจําเป็นในอนาคต

การไฟฟ้า เป็นสาธารณูปโภคที่สําคัญของเมือง และเป็นแหล่งพลังงานสําหรับการผลิต อุตสาหกรรม สิ่งอํานวยความสะดวกในเคหะสถานและการดํารงชีวิตประจําวัน โดยผลกระทบที่มักจะเกิดขึ้น เช่น โรงผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างจากเขตอุตสาหกรรม เขตที่อยู่อาศัย เขตโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การประปา เป็นการจัดหาแหล่งน้ําดิบ การทําให้น้ำสะอาด การลําเลียงน้ำ และการแจกจ่ายน้ำ สําหรับการอุปโภคและบริโภคในชุมชนให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและทั่วถึง ทั้งในครัวเรือนและเพื่อ กิจการต่าง ๆ ในชุมชน โดยผลกระทบที่มักจะเกิดขึ้น เช่น ขาดแหล่งน้ำดิบที่อยู่ใกล้ชุมชน ปริมาณน้ําไม่เพียงพอ กับความต้องการ มีของเสียเจือปนยากแก่การบําบัด คุณภาพน้ำไม่ดี ขาดแหล่งเก็บน้ําธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ํา ที่สร้างขึ้นรองรับ ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบว่าแหล่งน้ำที่นํามาใช้ทําประปาที่ได้จากการกลั่นน้ำทะเลและน้ำเสียที่ผ่าน การบําบัดมาแล้วนั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นการจัดหาด้วยวิธีนี้มักใช้กรณีมีความจําเป็นไม่สามารถ จัดหาแหล่งน้ำดิบที่มีต้นทุนถูกกว่าได้เท่านั้น

การบําบัดน้ำเสีย เป็นการทําให้ของเสียต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำทั้งส่วนที่เป็นของเหลว ของแข็ง สิ่งแขวนลอย ตะกอนจากการบําบัด ซึ่งจะต้องทําให้อยู่ตัวสําหรับการกําจัด โดยทั่วไปน้ําเสีย มักเป็นน้ําที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากชุมชนทั้งการอยู่อาศัย อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นน้ำที่มีสารพิษเจือปน หากปล่อยลงแหล่งน้ำผิวดินหรือบนพื้นดินจะทําให้ไหลปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือตกค้างในเนื้อดิน ส่งผลกระทบและความเสียหายแก่ระบบนิเวศ ดังนั้นการบําบัดน้ำเสียอาจใช้กระบวนการ ทางกายภาพ กระบวนการทางเคมี และกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งการเลือกใช้วิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณลักษณะ ของสิ่งเจือปนที่มีอยู่ในน้ําเสีย ค่าใช้จ่าย และการควบคุมดูแลระบบ

การระบายน้ำ สําหรับในพื้นที่เมือง ประกอบด้วย การระบายน้ำฝน การระบายน้ำเสียจากกิจกรรมต่าง ๆ ให้ไหลลงสู่เส้นท่อสองฟากถนน โดยจะผ่านระบบท่อรวมและระบบท่อแยก

-ระบบท่อรวม เป็นระบบรวบรวมน้ําที่ใช้แล้วจากอาคารสถานที่ต่าง ๆ และ น้ำฝนที่ไหลผ่านพื้นที่ลงสู่เส้นท่อเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อส่งไปยังโรงบําบัดน้ำเสีย ซึ่งจะมีข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่าย และน้ำเสียจากอาคารสถานที่ต่าง ๆ จะถูกทําให้เจือจางโดยน้ำฝน แต่จะมีข้อเสียคือ การออกแบบเส้นท่อต้องมี ขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับทั้งน้ำฝนและน้ำเสีย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่อาจมีน้ำมากจนทําให้ไหลล้น ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ ในขณะที่ช่วงฤดูแล้งมักมีน้ำน้อยและเกิดการตกตะกอนของเสีย

-ระบบท่อแยก เป็นระบบที่มีการแยกการระบายน้ำทั้งสองชนิด โดยท่อระบาย น้ำเสียจะแยกน้ำเสียไปยังโรงบําบัดน้ำเสีย ส่วนท่อระบายน้ำฝนจะแยกระบายไปยังแหล่งน้ำทิ้ง ซึ่งจะมีข้อดีคือ ปริมาณน้ำเสียที่ต้องการบําบัดมีน้อย และไม่มีปัญหาน้ำล้นท่อ แต่จะมีข้อเสียคือ ต้องต่อท่อระบบเส้นท่อเป็น สองท่อ เสียค่าใช้จ่ายสูง และการบํารุงรักษายุ่งยากกว่าระบบท่อรวม

การสื่อสารและโทรคมนาคม ถือว่าเป็นสิ่งจําเป็นอย่างมากสําหรับการดําเนินชีวิต ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้การดําเนินกิจการทางธุรกิจมีความคล่องตัวและรวดเร็ว สามารถลดปัญหาการจราจรได้ โดยทั่วไปปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ได้แก่ พื้นที่บริการไม่ทั่วถึง ระบบสัญญาณไม่ครอบคลุม ค่าใช้บริการค่อนข้างสูงหากเทียบกับคุณภาพของสัญญาณเครือข่ายที่ให้บริการ เป็นต้น

การกําจัดขยะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดหาสถานที่ การรวบรวมจัดเก็บ และการนําไป กําจัด ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับจํานวนประชากร และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นแหล่งขยะแต่ละประเภท โดยจะแบ่ง ชนิดของขยะออกเป็นขยะมูลฝอยจากชุมชน ขยะมูลฝอยจากอุตสาหกรรม และขยะมูลฝอยที่มีอันตรายสูง และ จําแนกเป็นขยะเปียกสุด ขยะแห้ง เศษสิ่งก่อสร้าง เศษพลาสติก ซากสัตว์ ใบไม้ เป็นต้น

การดับเพลิง หากเกิดเพลิงไหม้จะต้องมีความรวดเร็วในการให้บริการ ครอบคลุม พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยในเมือง ทั้งนี้เพราะการเกิดเพลิงไหม้มักก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนบุคคล และระบบเศรษฐกิจของเมืองได้ ซึ่งปัญหาที่มักพบเสมอ ๆ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมา คือ เส้นทางและ
สภาพการจราจรในการเข้าถึงและเวลาในการเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังพบว่าจํานวนและที่ตั้งสถานี ดับเพลิงไม่ครอบคลุม ขนาดและชนิดของรถดับเพลิงไม่สอดคล้องกับการใช้งาน ระบบท่อน้ําดับเพลิงไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อเพลิงไหม้ เช่น มีบริเวณบ้านไม้หนาแน่นในหลายชุมชน มีคลังเก็บสารเคมีและวัตถุไวไฟ ในหลายพื้นที่ เป็นต้น

แนวทางการป้องกันและแก้ไขสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับไม่ทัน ได้แก่

1. สํารวจและจัดเก็บข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพพื้นที่ภูมิประเทศ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การใช้อาคาร จํานวนประชากรและการกระจายบนพื้นที่ เป็นต้น

2. วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคําตอบเกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน เช่น กิจการสาธารณูปโภค ความต้องการบริการ ขนาดการให้บริการ ปัญหาการดําเนินงาน การพัฒนาเพื่ออนาคต เป็นต้น

3. จัดทําแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งได้แก่ กิจการที่ต้องจัดทํา ขึ้นใหม่ การปรับปรุงและขยายบริการกิจการเดิม ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานทั้งในส่วนปริมาณและคุณภาพ

4. ศึกษาความเหมาะสมและจัดทําโครงการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อนําไปสู่การปฏิบัติ อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการลงทุนทางเศรษฐกิจและทิศทางการขยายตัวของชุมชน ไม่จัดทําระบบ สาธารณูปโภคที่ใหญ่เกินจํานวนผู้รับบริการ เพราะจะทําให้สิ้นเปลืองมาก หรือเล็กเกินไปจนไม่เพียงพอ

3. มลภาวะ เป็นภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานาน พอที่จะทําให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สิ่งมีชีวิต หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละออง จากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และกรณีที่เกิดขึ้นจากการกระทําของ มนุษย์ เช่น มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงาน อุตสาหกรรม กิจกรรมด้านการเกษตร การระเหย ของก๊าซบางชนิดจากขยะมูลฝอยและของเสีย เป็นต้น

ผลกระทบของมลภาวะ ได้แก่

1. เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของสาร และความเป็นพิษว่าร้ายแรงเพียงใด รวมไปถึงระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสกับสารนั้น ๆ

2. เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต พืชและสัตว์ต่าง ๆ

3. สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สิน โดยก่อให้เกิดการกัดกร่อนต่อสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทําให้เสื่อมสภาพเร็ว และสิ่งของเครื่องใช้สกปรกง่าย

4. ทําให้วิสัยทัศน์ในการมองเห็นแย่ลง ทั้งนี้เนื่องจากควันหรือฝุ่นละอองหากปูน อยู่ในอากาศมากจะทําให้แสงสว่างผ่านได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งทําให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย

5. ทําให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงวิธีการหรือจัดการ ปัญหาเพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น

แนวทางการป้องกันและแก้ไขมลภาวะ ได้แก่

1. พยายามใช้เครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากยานพาหนะ
2. ลดการใช้พาหนะส่วนตัวลง หันมาใช้รถขนส่งมวลชน รถเมล์ รถไฟฟ้าให้มากขึ้น
3. สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการเกษตร โดยนําวัสดุที่เหลือใช้มาใช้เป็นพลังงาน
4. ช่วยกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะมลพิษ
5. เลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเดิน การวิ่ง การขี่จักรยาน การพายเรือ การใช้รถเข็นหรือพาหนะที่ใช้สัตว์ลากจูง เป็นต้น

4. ความแออัด เป็นปัญหาที่เมืองจะต้องเผชิญโดยเฉพาะในประเทศกําลังพัฒนา ซึ่งมักมี การพัฒนาในลักษณะเอกนครหรือเมืองโตเดี่ยว เช่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ทําให้เกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับ ชนบท ต้องเผชิญกับภาวะของการกลายเป็นเมืองเกินระดับ นั่นคือ การมีประชากรจํานวนมากเกินกว่าที่จะอยู่ได้ อย่างมีประสิทธิภาพในระบบสังคมและเศรษฐกิจของเมือง ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ําเป็นจํานวนมากในเมือง รวมไปถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภค ปัญหาจราจร ฯลฯ

ผลกระทบของความแออัด ได้แก่

1. ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาของคนจนในเมืองหรือชุมชนแออัด ทั้งปัญหาในด้าน การครอบครองที่ดิน การถูกไล่ที่ และปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่ขาดการจัดการ การที่ผู้ที่อยู่ในชุมชนบุกรุกหรือ บุกเบิกนั้นทําให้สถานภาพทางกฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับ การขอต่อมิเตอร์น้ําประปาและไฟฟ้าไม่สามารถทําได้เหมือนชุมชนทั่วไป ทําให้ต้องขอต่อจากบ้านคนอื่นหรือใช้มิเตอร์รวมของชุมชนที่อาศัย และเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า คนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ยังคงต้องใช้น้ําคลองซึ่งมีคุณภาพน้ำต่ำ

2. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าในเมืองจะมีโอกาสในการจ้างงานสูงกว่าในชนบท แต่ด้วยสถานะทางด้านการศึกษาต่ํา เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และขาดแคลนเงินลงทุน ทําให้คนจนในชนบทที่อพยพ เข้าเมืองเพื่อมาหางานทํานั้นไม่สามารถหางานที่มีความมั่นคงและรายได้สูงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าคนจนในชุมชน แออัดบางส่วนยังคงต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง บางครอบครัวมีคนทํางานเพียงคนเดียว แต่ต้องเลี้ยงผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ หรือหัวหน้าครอบครัวที่เจ็บป่วย ว่างงาน ติดคุก ซึ่งทําให้ประสบปัญหาความ เดือดร้อนมากขึ้น

3. ปัญหาด้านสังคม เนื่องด้วยสภาพด้านกายภาพที่อยู่กันอย่างแออัด และฐานะ ทางเศรษฐกิจที่ยากจน รวมไปถึงการขาดการยอมรับจากคนทั่วไปและกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา ด้านสังคมตามมา เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาการศึกษา ปัญหาสุขภาพ โรคติดต่อ การมั่วสุม ของเยาวชน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาโครงสร้างสังคมโดยรวมทั้งสิ้น

4. ปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเป็นผู้ที่อพยพ โยกย้ายมาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อการประกอบอาชีพและมีอาชีพไม่แน่นอน เมื่อเกิดความจําเป็นขาดอาชีพ ขาดรายได้ และมีภาระทางครอบครัวต้องเลี้ยงดู ทําให้อาจประกอบอาชีพในทางผิดกฎหมายได้ เป็นต้น

แนวทางการป้องกันและแก้ไขความแออัด ได้แก่

1. มาตรการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยจัดให้มีการทําแผนการ พัฒนาและจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของชุมชนแออัด แรงงานอุตสาหกรรม และคนจนในเมือง ร่วมกับเจ้าของ ที่ดิน หน่วยงานของรัฐ และจัดทําแผนการรื้อย้ายชุมชนแออัดที่เหมาะสมล่วงหน้า มีการจัดระบบพื้นฐานและ บริการสังคมที่จําเป็นของรัฐ ให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเร่ร่อนในเมือง มีที่พักอาศัยชั่วคราว โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเด็ก

2. มาตรการด้านอาชีพและการเงิน มีการจัดการทางการเงินของชาวชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสระดมเงินเพื่อพัฒนาชุมชน อาชีพ ที่อยู่อาศัย รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเมืองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ควรจัดให้มีการพัฒนาความสามารถ ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งมีการฝึกอบรมที่เน้นการจัดการธุรกิจในชุมชนนั้น ๆ

3. มาตรการด้านองค์กรและกลไก มีการส่งเสริมจัดตั้งและพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเป็นแกนกลางในการปรับปรุงพัฒนาชุมชน โดยมีคณะกรรมการประสานการพัฒนาชุมชนเมืองระดับชาติ เพื่อกําหนดนโยบาย ประสานงาน ดูแลการดําเนินงานการพัฒนาชุมชนแออัด และผลักดันกฎหมายชุมชนแออัด รวมถึงจัดให้มีองค์กรและหน่วยงานที่สามารถเอื้ออํานวยในการเจรจาตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของที่ดินและชุมชนอย่างสันติวิธี

4. มาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะให้ความสําคัญต่อการพัฒนาฝึกอบรม ผู้นําชุมชนและผู้นํากลุ่มเยาวชน เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน และจัดให้มีการบริการสังคม ให้เข้าถึงชุมชนแบบเชิงรุกทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และนันทนาการ โดยองค์กรชุมชนเองจะต้องเข้าร่วม
ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง

ข้อ 4. จงวิเคราะห์และอภิปรายอย่างเป็นขั้นตอนและมีเหตุผลถึงหลักการ แนวคิด ทฤษฎี ตลอดจน การจัดการเมือง ? (โดยข้อนี้มีวัตถุประสงค์ในการวัดนักศึกษาที่เรียนวิชานี้ว่ารู้และเข้าใจ จนมี ศักยภาพที่จะปฏิบัติทั้งในฐานะผู้บริหารเมือง หรือในฐานะพลเมืองในชุมชนการเมืองอารยะอย่างถูกต้องได้)

แนวคําตอบ

การบริหารชุมชนเมืองให้บรรลุความสําเร็จนั้นเป็นเรื่องที่สําคัญและจําเป็นในเรื่องปัจจุบันเพราะมีปัญหาของชุมชนเมืองได้กลายเป็นหาของสังคมโลกไปแล้ว ซึ่งความสําเร็จดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการและสิ่งหนึ่งในนั้นจะต้องอาศัยความพยายามและภาคีความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองเป็นสําคัญ ในขณะที่ความรู้และวิชาการที่เกี่ยวข้องและประสบการณ์และบทเรียน ในด้านต่าง ๆ ก็มีความสําคัญอย่างยิ่งในการจัดการชุมชนเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

การบริหารชุมชนเมืองจะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การกําหนดเป้าหมาย การวางแผนบริหารงานและลงมือปฏิบัติจนบังเกิดผล ซึ่งจะมีหลักการดังต่อไปนี้

1. การบรรลุภารกิจและความรับผิดชอบในการบริหารชุมชนเมือง ซึ่งการบริหาร ชุมชนเมืองสมัยใหม่นั้นจะไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการตระหนักในความรับผิดชอบในการบริหารชุมชนเมืองโดยชาวชุมชนเองเท่านั้น จึงจะนําไปสู่ความสําเร็จในการบริหารชุมชนเมืองดังกล่าว รวมไปถึงการตรวจสอบติดตามการทํางานของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยตรงในลักษณะการบริหารจัดการที่ดี

1) การบรรลุเป้าหมายทางด้านเกียรติภูมิและสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นการให้ สาธารณชนได้ตัดสินใจบริหารงานอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ ปราศจากอคติและความลําเอียง ตลอดจนบริหารงาน โดยยึดหลักกฎหมาย และต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบผ่านกระบวนการ กลไกการปกครองเพื่ออํานวยประโยชน์แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

2) การบรรลุเป้าหมายในด้านความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ โดยการบริหารงานนั้นจะต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของประชาชนในทุกขั้นตอนของการดําเนินงานทั้งการอาศัยประชาชนให้มีส่วนร่วมหรือบริหารงานบนพื้นฐานความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเริ่มต้นจากการค้นหาความต้องการของประชาชนโดยผู้บริหารเอง การบริหารงานจะต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งยังเป็นเรื่องง่ายที่ประชาชนจะต้องถอดถอนผู้ที่ไม่สามารถทําหน้าที่ได้ตามหลักการนี้

3) การบรรลุเป้าหมายด้านความมีประสิทธิผล โดยจะมุ่งสร้างให้เมืองสามารถตอบสนองความเป็นอยู่ของชาวเมืองและเป็นเมืองที่น่าอยู่น่าอาศัย เน้นการสร้างหรือยกระดับมาตรฐานชีวิตของ ประชาชน หรือการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและเพียงพอ เช่น ความต้องการอาหารที่เพียงพอ อากาศที่บริสุทธิ์ น้ําที่สะอาดเพื่อการบริโภค ที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่มที่น่าพอใจ การมีสุขภาพอนามัยที่ดี โอกาสในการมีงานทํา เป็นต้น

2. จุดเริ่มต้นในการบริหารชุมชนเมือง โดยจะเริ่มต้นที่การวางแผน และการมีแผน เพื่อให้เป้าหมายที่มนุษย์ต้องการอยู่ในสังคมชุมชนเมืองได้รับการตอบสนอง ดังนั้นการบริหารชุมชนเมืองที่ดี จะต้องมีแผนภารกิจหรือแนวทางที่ชัดเจนเพื่อมารองรับกิจกรรมการบริหารชุมชนเมืองให้ได้ผล

1) การออกแบบเมือง เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ของเมืองหรือสร้างสรรค์ให้เกิดสภาพเมืองที่พึงปรารถนา เช่น เป็นเมืองที่สวยงามน่าชวนมองและแสดงถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่เหมาะสมของเมืองนั้น ๆ กิจกรรมการออกแบบเมืองจึงต้องมีการประสานและประสมกลมกลืนสิ่งต่าง ๆ ทั้งในด้านของสิ่งอํานวยความสะดวก ผู้ที่อยู่อาศัย ความต้องการและการมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลายของเมือง ดังนั้นการออกแบบเมืองจึง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดโดยรวมของเมืองทั้งของเอกชนและของสาธารณะ นอกจากนี้การออกแบบเมืองไม่เฉพาะ แต่เป็นการสร้างหลักการ เป้าหมาย และนิยามที่ชัดเจนของเมืองที่ง่ายในการประสานโครงการต่าง ๆ เท่านั้น แต่การออกแบบเมืองเป็นทั้งการตอบคําถาม และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการออกแบบกับพื้นที่ที่จะ ปรากฏให้เห็นเป็นการเฉพาะอีกด้วย

2) แผนของเมือง โดยจะชี้ให้เห็นแนวคิดพื้นฐานตลอดจนวัตถุประสงค์ของเมือง นั้น ๆ นําไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยจะมีแนวคิดพื้นฐานเพื่อสร้างให้เมืองนั้นมีความสะดวกสบายน่าอยู่น่าอาศัย หรือสร้างให้ผู้คนมีความหวังและสามารถมองไปในอนาคตได้ ดังนั้นแผนของเมืองอาจเป็นแผนแม่บท/แผนหลัก
ที่จะเป็นกรอบหรือแนวทางไปสู่การวางแผนปฏิบัติหรือแนวนโยบายในการวางผังเมืองต่อไป

-แผนโดยภาพรวม จําเป็นต้องอาศัยทิศทางและความสอดคล้องในระดับกว้าง ซึ่งลักษณะของแผนภาพรวม ได้แก่ แผนที่สอดคล้องกับแผนภูมิภาคหรือแผนระดับประเทศที่อาจต้องอาศัย ความเกี่ยวพันและการตัดสินใจ ตลอดจนความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นไม่เฉพาะเมืองนั้นเมืองเดียว

-การผังเมืองและการวางแผนการใช้พื้นที่ มีการดําเนินการโดยอาศัย กฎหมายการผังเมืองและการบริหารงานในเชิงนโยบายจนกลายเป็น “ผังเมืองรวม” หรือ “ผังเมืองเฉพาะ” โดยผังเมืองรวม (Comprehensive Plan) คือ แผนที่แสดงการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นบนพื้นที่ ส่วนต่าง ๆ ของท้องถิ่นในอนาคต ส่วนผังเมืองเฉพาะ (Specific Plan) คือ ผังที่จัดทําขึ้นหลังจากมีผังเมืองรวม ซึ่งเป็นผังที่มีความละเอียดมากกว่าผังเมืองรวม โดยจะจัดทําในพื้นที่บางส่วนของผังเมืองรวม เป็นพื้นที่ที่มี ความสําคัญสูงหรือมีความจําเป็นสูงที่จะต้องสงวนรักษา เช่น พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ที่มีคุณค่า ทางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ พื้นที่ธุรกิจการค้า เป็นต้น

จากการวางแผนในลักษณะของกายภาพที่จําเป็นต้องมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และสะท้อนความต้องการของสาธารณะที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสื่อถึงโครงการในการพัฒนาในขอบเขตพื้นที่ ที่กําหนดอันเป็นวิธีการในการพัฒนาเมืองให้บรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ อีกด้วย ได้แก่ แผนการใช้ประโยชน์ ในที่ดิน (Land Utilization Plans), การสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกของชุมชนเมือง (Urban Facilities) เช่น การก่อสร้างถนน สวนสาธารณะ โครงข่ายการจราจรและการขนส่ง ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูล เตาเผาขยะ การมี ตลาด ฯลฯ, โครงการพัฒนาเมือง (Urban Development Project) เช่น การซ่อมแซมปรับปรุงเมือง โครงการ พัฒนาเมือง โครงการปรับปรุงและพัฒนาเมือง ฯลฯ และการวางแผนด้านอื่น ๆ เช่น การวางแผนในการพัฒนา เศรษฐกิจ การวางแผนทิศทางการเจริญเติบโตของเมือง การวางแผนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3. การผังเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นระเบียบ โดยการกระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม การปรับปรุงสาธารณูปโภค ตลอดจนการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาที่ถูกต้องสอดคล้องกัน

1) ประวัติศาสตร์การผังเมือง ได้แก่ การจัดความสําคัญและลําดับของการจัดถนน หนทางและพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะศึกษาวิชาการวางผังเมืองจากตัวแบบเมือง ของประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน

2) วัตถุประสงค์ของการผังเมือง โดยถือว่าการวางแผนกายภาพหรือการผังเมืองนั้น เป็นส่วนหนึ่งหรือลักษณะอย่างหนึ่งของการวางแผนการใช้ที่ดินบนพื้นที่เมือง ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ที่สําคัญคือ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องมีระเบียบ เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาเมือง และเสริมสร้างให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยรวมในชุมชนเมือง

3) กลไกของการผังเมือง โดยจะอาศัยกลไกการควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การกําหนดย่านกิจกรรม (Zoning) การปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวกของเมือง ตลอดจนการมีโครงการในเชิง ปฏิบัติต่าง ๆ

4) การกําหนดย่านกิจกรรม โดยพบว่าการผังเมืองนั้นจะอาศัยกลไกอย่างหนึ่ง ที่สําคัญก็คือ การกําหนดย่านกิจกรรมบนพื้นที่ ซึ่งเป็นการนําไปสู่การปฏิบัติของแผนของเมือง เพื่อประกันให้เกิด สภาพแวดล้อมของเมืองและการพัฒนาเมืองที่เหมาะสม มีระเบียบเรียบร้อยในการปรับปรุงพัฒนาเมืองภายใต้ กฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ตามที่ปรากฏในผังเมือง

5) ปัจจัยในการพัฒนาการวางผังเมือง ได้แก่ ปัจจัยทางอุดมการณ์ในเรื่องของ เศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยของการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัจจัยทางด้านเทคนิควิชาการ ปัจจัยด้านการเงิน เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนของแต่ละเมืองจะต้องคํานึงถึงประโยชน์ของสาธารณะสูงสุดและสามารถปรับเปลี่ยนได้ หากไม่เหมาะสม ซึ่งทําให้ลักษณะของแผนหรือผังเมืองที่ได้จะปรากฏในลักษณะต่าง ๆ เช่น มีหลากหลายมิติ และคิดคํานึงในหลายแง่มุมและมีความครอบคลุม โดยจะเป็นแผนที่มีทิศทางที่ถูกต้องหรือสามารถรองรับกับ ปัญหาในอนาคตได้ อีกทั้งยังเป็นแผนที่ปฏิบัติได้ เป็นที่ยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้เพราะอาศัยการมีส่วนร่วมจาก ประชาชนในการวางแผนตั้งแต่แรกนั่นเอง

6) ระดับของการวางผังของเมืองและหน่วยการปกครอง อาจดําเนินการได้ในหลายระดับ เช่น ชนบท (Countries) เมืองเล็ก (Towns) เมือง (Cities) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ เป็นต้น

7) การผังเมืองและการจัดการในพื้นที่ของเมืองในสังคมประชาธิปไตย จําเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจหรือสร้างการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระบวนการประชุมชี้แจงและตกลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจึงเป็นสิ่งที่จําเป็น

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ระบบของการผังเมืองและการใช้ที่ดินถือว่ามีส่วนสําคัญอย่างยิ่งในการ บริหารเมืองและชุมชนเมือง ในแง่ที่จะต้องมีนโยบายที่มีความกลมกลืนและสอดคล้องอย่างครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ เป็นนโยบายเชิงผสมกลมกลืน โดยจําเป็นจะต้องเชื่อมโยงและสร้างความแข็งแกร่งระหว่างลักษณะทางกายภาพ ที่มีอยู่ เช่น วิถีชีวิตของผู้คนในเมือง ประวัติศาสตร์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจน สิ่งที่เอื้ออํานวยที่มีอยู่เดิม ซึ่งได้แก่ ธรรมชาติของการขนส่งแบบต่าง ๆ ความสอดคล้องกับพื้นที่ที่การจราจร และการขนส่งนั้น ๆ ไปถึง นอกจากนี้ในแง่ของความเป็นสังคมและชุมชนทําให้การวางแผนเมืองและสิ่งอํานวย ความสะดวกต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นต้องคํานึงถึงการบูรณาการ คุณค่าด้านศิลปะ เป้าหมายของชาติ วิสัยทัศน์ ในอนาคต วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงลักษณะทางสุนทรียศาสตร์และความรู้สึกนึกของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน

Advertisement