การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2566
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3314 การบริหารชุมชนเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมี 9 ข้อ แต่ให้เลือกทําเพียง 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอภิปรายในหัวข้อ “เมืองในอุดมคติของข้าพเจ้า” มาพอสังเขป ?

Advertisement

แนวคําตอบ

เมืองในอุดมคติของข้าพเจ้า มีลักษณะที่สําคัญดังนี้

1. เมืองจะต้องมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่มีความเหลื่อมล้ํา ของประชาชนในการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ บริการโทรคมนาคม ฯลฯ

2. เมืองจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย และมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

3. เมืองจะต้องมีการจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและ โครงสร้างทางสังคมและประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะรองรับประชากรผู้สูงอายุที่มีจํานวนมากขึ้นในอนาคต

4. เมืองจะต้องมีการเฝ้าระวังและบูรณาการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน น้ํา ไฟฟ้า รวมถึง ถนนหนทาง สะพาน อุโมงค์ รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน การสื่อสาร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อใช้ทรัพยากร เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5. เมืองจะต้องมีการวางแผนกิจกรรมการบํารุงรักษาเชิงป้องกันและเฝ้าระวังในมิติด้าน ความปลอดภัยขณะที่ให้บริการอย่างดีที่สุดแก่ประชาชน

6. เมืองจะต้องมีระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะ และจัดหมวดหมู่ประเภทของขยะที่แหล่งกําเนิดขยะ ให้ประชาชนชาวเมืองเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยภาคการศึกษาจะต้องมีบทบาทสําคัญในการปลูกจิตสํานึกในเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างแท้จริงซึ่งขณะเดียวกันในส่วนของภาคกฎหมายจะต้องออกกฎที่เข้มงวด และเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ละเมิดหรือฝ่าฝืน

7. เมืองจะต้องมีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การติดตามเฝ้าระวังเรื่องมลพิษ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการนําวัตถุดิบกลับมาใช้ซ้ำ ฯลฯ มีระบบการจัดการ ทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา น้ำเสีย การระบายน้ำตามธรรมชาติ น้ำท่วมจากฝนตกหนัก รวมไปถึงการอนุรักษ์น้ำ และลดปริมาณการใช้น้ำโดยไม่จําเป็น

8. เมืองจะต้องมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ชาญฉลาด มีความปลอดภัยและยั่งยืน โดยระบบขนส่งแบบความเร็วสูง เช่น รถไฟใต้ดิน รถไฟรางเบา รถไฟฟ้ารางเดี่ยว ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในระยะยาวต้องพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงการบริการ
ของระบบขนส่งและเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นระหว่างเมืองศูนย์กลางทั่วประเทศ เพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น

ข้อ 2. “เมือง” และ “ชุมชนเมือง” คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จงอธิบายโดยทําให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ
และสร้างกรอบจินตนาการที่ชัดเจน ?

แนวคําตอบ

เมือง (City/Urban) มีความหมายที่สําคัญดังนี้

-การตั้งถิ่นฐานถาวรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวร (เช่น บ้านเรือน) มีสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการสาธารณูปโภค (เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน)

-เมืองจะเป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองจํานวนมาก มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ใน ระดับสูง ประชากรของแต่ละเมืองจะประกอบไปด้วยคนต่างเพศ ต่างสถานภาพ ซึ่ง
ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม

– เมืองจะมีระบบการบริหารและการปกครองเป็นของตนเอง

– เมืองจะประกอบด้วยองค์กรทางสังคมต่าง ๆ มากมาย

– เมืองจะเป็นศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น ในเชิงทางประวัติศาสตร์ เมืองจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และการศึกษา การตลาดและการพาณิชยกรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารขององค์กรเอกชนต่าง ๆ การศาสนาและประเพณี

– เมืองบางแห่งอาจเกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่พิเศษเฉพาะด้าน เช่น เมืองหน้าด่านและ ป้อมปราการทําหน้าที่ป้องกันตนเองและป้องกันเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเมืองเดียวกัน

– เมืองกลายเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตที่เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบและการบริโภคอุปโภค อย่างมากมาย จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศ เช่น การค้า การธนาคาร การบริหารอุตสาหกรรม การขนส่งคมนาคม แหล่งขายปลีก ตลอดจน เป้นศูนย์กลางของรัฐบาล

ชุมชนเมือง (Urban Community) หมายถึง ชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนทุกสถานะ ไม่ว่า จะเป็นคนรวยหรือคนจนรวมกันอยู่อย่างแออัดในพื้นที่ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนแตกต่างจากสังคมในชนบท ทั้งนี้เพราะการที่ชุมชนเมืองจะประกอบไปด้วยผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจํานวนจํากัด คนในชุมชนเมือง จึงมักจะมีความเป็นอยู่หนาแน่น จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมักจะมีปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น

สาเหตุของการเกิด

1. ในแง่การผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม เมืองหลายเมืองได้กลายมาเป็นเมืองมหานคร โดยมีจุดเริ่มและก่อกําเนิดมาจากบทบาทในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหรือเป็นเมืองหลวง (เช่น กรุงเทพฯ, จากาตาร์, เม็กซิโก ซิตี้ ฯลฯ) หรือเป็นเมืองใหญ่ริมชายฝั่งทะเล (เช่น กัลกัตตา, เซาเปาโล, เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ) ซึ่งการ รวมตัวเป็นชุมชนหนาแน่นเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าวจะช่วยเอื้อให้เกิดความประหยัดหรือการขาดแคลนในด้านแรงงาน วิทยาการความรู้ การบริการธุรกิจการเงิน การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการขนส่ง

2. ในแง่ทางสังคมวิทยา จะพบว่าการรวมกันเข้าเป็นชุมชนเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ และ สิ่งแวดล้อมในสังคมเป็นตัวกําหนด ซึ่งแนวโน้มการตั้งถิ่นฐานหรือที่อยู่อาศัยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หมู่บ้าน เมือง นคร ตามลําดับ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การบริการ การค้า การลงทุน ประกอบการ การดําเนินกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ที่มีทั้งแรงผลักแรงดันระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบท ดังนั้นความต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมืองจึงเป็นความคาดหวังว่า จะมีชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์

3. ในแง่ความเป็นชุมชนเมือง มักไม่มีหลักเกณฑ์ของจํานวนเลขที่แน่ชัดมากําหนดว่า ควรมีจํานวนเท่าใด ซึ่งสิ่งนี้จะแปรตามหรือขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะกําหนดขึ้น เช่น การพิจารณาเปรียบเทียบ ระหว่าง 2 ชุมชน หากชุมชนหนึ่งมีประชากรเป็น 50 เท่าของอีกชุมชนหนึ่ง ก็จะถือว่าชุมชนนั้นเป็นชุมชนเมือง ส่วนอีกชุมชนหนึ่งเป็นชุมชนชนบท เป็นต้น

ข้อ 3. จงอธิบายสาระสําคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง และชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสาระสําคัญที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุม UNGA ในปีนี้ มาโดยละเอียด ?

แนวคําตอบ

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวทางของการพัฒนาที่ตอบสนอง ความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง ซึ่ง การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม
และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 ณ สํานักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนาม รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการ พัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกําหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดําเนินการร่วมกัน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มี 17 เป้าหมาย คือ

1. การขจัดความยากจนทุกรูปแบบ
2. การขจัดความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
3. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
4. การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมและทั่วถึง และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
5. การบรรลุความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ การเพิ่มพลังสตรีและเด็กหญิง
6. การเข้าถึงการใช้น้ําสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี
7. การเข้าถึงพลังงานที่มั่นคงและสะอาด
8. การมีงานที่มีคุณค่าเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
9. การส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
10. การลดความเหลื่อมล้ําทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
11. การตั้งถิ่นฐานและชุมชนอย่างยั่งยืน
12. การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
13. การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
14. การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
15. การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนบกและรักษาระบบนิเวศ
16. การสร้างสังคมสันติสุข ยุติธรรม และมีสถาบันทางสังคมที่มีความเข้มแข็ง
17. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับในการบรรลุถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ของโลก

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองและชุมชนนั้นจะปรากฏอยู่ในเป้าหมายที่ 11 คือ การพัฒนาเมือง และชุมชนอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ การทําให้เมืองมีความครอบคลุมปลอดภัย เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายโดยรวม ในการยกระดับที่อยู่อาศัยชุมชนแออัด การขนส่งอย่างยั่งยืน การวางแผนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มรดกทาง วัฒนธรรม การสร้างความเข้มแข็งเพื่อรองรับประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง รวมไปถึงการบรรเทาทุกข์ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัว ตลอดจนการสร้างอาคารที่ยั่งยืน เป็นต้น ดังนั้น การทําให้เมืองปลอดภัยและยั่งยืนจึงหมายถึง การสร้างหลักประกันในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและราคา ที่เหมาะสม รวมทั้งการยกระดับที่อยู่อาศัยชุมชนแออัด การลงทุนเรื่องการขนส่งสาธารณะ การสร้างพื้นที่สีเขียว สาธารณะ การปรับปรุง การวางผังเมืองและการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนนั่นเอง

นอกเหนือจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ยังประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDG Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน และกําหนดให้มี 247 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติ เพื่อใช้ติดตามและ ประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนา โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ ซึ่งได้แก่

1. การพัฒนาคน โดยให้ความสําคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำ

2. สิ่งแวดล้อม โดยจะให้ความสําคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป

3. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ

4. สันติภาพและความยุติธรรม โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุขและไม่แบ่งแยก

5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระ การพัฒนาที่ยั่งยืน

สาระสําคัญจากเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UN General Assembly (UNGA) ครั้งที่ 78 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 26 กันยายน ค.ศ. 2023 จะมีวาระสําคัญหลายประเด็น โดยสามารถสรุป ประเด็นสําคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการวางนโยบายการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ และการใช้ชีวิตประจําวันของ พวกเราทุกคน แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้

1. ปรับแผน SDGs กันใหม่ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 เนื่องจาก วิกฤติต่าง ๆ ที่กําลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผนวกกับภัยพิบัติธรรมชาติ ปัญหาความขัดแย้ง และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะถดถอยลง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ที่ทุกประเทศสมาชิกประกาศรับรอง SDGs เป็นเป้าหมาย การพัฒนาระดับโลก พบว่ามีการดําเนินการเพียง 12% เท่านั้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย

สําหรับประเทศไทยนั้นมีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแสดงจุดยืนตามนโยบายรัฐบาลในการเชื่อมโยงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) กับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในหัวข้อหลักที่สําคัญคือ การลดความเหลื่อมล้ํา การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการมี สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. ทุกภาคส่วนทั่วโลกร่วมเดินหน้า จัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากผลวิจัยของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้แสดงถึงความน่าเป็นห่วง ของปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ทั่วโลกยังคงอยู่ ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับจากวันนี้และตลอด 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงอย่างจริงจัง เพื่อจํากัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส การที่จะแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเช่นนี้ได้ จําเป็นจะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคการเงินของแต่ละประเทศ

การประชุมดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สําคัญทางการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ทั่วโลกจะร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของพลังงานหมุนเวียนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และเป็นที่สังเกตได้จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา โดยมีการพูดถึงการส่งเสริม การผลิต การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลก

3. เตรียมความพร้อมสําหรับงาน Summit of the Future 2024 เพื่อเสริมพลัง ความร่วมมือระดับพหุภาคี เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 การเกิดขึ้นของสงครามยูเครน และวิกฤติหลัก 3 ประการ (Triple Planetary Crisis) ที่กําลังคุกคามโลก ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ และวิกฤติการสูญเสียความหลากหลาย
ทางชีวภาพ

โดยประเด็นที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทายที่นานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่จะต้องเดินหน้าจัดการอย่างเร่งด่วน ดังนั้นสมัชชาสหประชาชาติจึงตัดสินใจที่จะจัด เวทีการประชุมดังกล่าวนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้แทนในประเทศต่าง ๆ และผู้มีอํานาจตัดสินใจได้มาร่วมประชุม กําหนดวาระสําคัญก็เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การยึดถือธรรมาภิบาลโลก ความมุ่งมั่นในการไปสู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกฎบัตรสหประชาชาตินั่นเอง

ข้อ 4. จงวิเคราะห์สถานการณ์ของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกพร้อมกับอธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดและ
เสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าวมาพอสังเขป ?

แนวคําตอบ

สถานการณ์ของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่าในปี พ.ศ. 2561 ประชากรในเขตเมืองนั้น มีมากกว่าในชนบท โดยมีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองประมาณร้อยละ 55 ของประชากรโลก ซึ่งในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2493 พบว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพียงร้อยละ 30 ของประชากรโลกเท่านั้น นอกจากนี้สหประชาชาติยังคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 จะมีคนอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มสูงถึงร้อยละ 68 ของประชากรโลกอีกด้วย

ในแง่ประชากรในชนบท (Rural Population) ของโลก พบว่าเติบโตอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันในชนบททั่วโลกมีจํานวนเกือบ 3.4 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนั้นจะลดลงเหลือประมาณ 3.1 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแอฟริกาและเอเชียซึ่งมีประชากรชนบทเกือบร้อยละ 90 ของประชากรชนบทของโลก

ในแง่ประชากรในเมือง (Urban Population) ของโลก พบว่าเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 โดยเพิ่มขึ้นจาก 751 ล้านคน เป็น 4.2 พันล้านคน ในปี พ.ศ. 2561 แม้ว่าเอเชียจะมีการขยายตัว น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่กลับพบว่ามีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองสูงถึงร้อยละ 54 ของทั่วโลก ในขณะที่แอฟริกา มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น

ดังนั้นสถานการณ์ในปัจจุบันของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในโลก จึงเป็นลักษณะการอยู่อาศัย ในโลกแห่งชุมชนเมือง นั่นคือ ปัจจุบันประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และประชากรโลกมากกว่า ครึ่งหนึ่งนั้นได้เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองในประเทศกําลังพัฒนานั้นจะมีอัตราการเข้ามาอยู่ อาศัยของประชากรเพิ่มมากขึ้นมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งบางประเทศได้กลายเป็นชุมชนเมืองไป ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกแห่งชุมชนเมืองอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้กําหนดให้วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นวันที่ประชากรโลก มีจํานวนครบ 7 พันล้านคน ซึ่งเรียกว่า “Day of 7 Billion” และในปัจจุบันนี้จํานวนประชากรโลกที่มีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งมนุษย์ทุกคนก็มีความปรารถนาที่ต้องการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ อาหารและน้ําสะอาด มีบ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สะอาด และทํางานในสถานที่ที่ปลอดภัย มีการควบคุม ป้องกันมลพิษตลอดจนพิษภัยอันตรายจากโรคต่าง ๆ มีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแต่เนื่องจากความต้องการ ในการอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนเมืองมีมาก และประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความเป็นเมืองหรือการสร้างบ้านแปลงเมือง ชุมชนเมืองและ การอยู่อาศัยของมนุษย์บนโลกโดยรวม ซึ่งจะทําให้เกิดปัญหาความต้องการในด้านการบริโภค อุปโภค การขาดแคลน และทรัพยากรสิ่งจําเป็นพื้นฐานตามมา เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน ทรัพยากรประเภทอื่น ๆ เป็นต้น

ผลกระทบอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

1. ปริมาณความต้องการน้ำจืด (Fresh Water) เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผล กระทบต่อปริมาณน้ำจืดที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้เพราะมนุษย์จะพยายามขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อย ๆ อาจจะถมที่ดินหรือสร้างบ้านจัดสรรก็ทําให้เกิดการบุกรุกเบียดเบียนแหล่งน้ําจืด ส่งผลให้ระบบวงจร
ของน้ําที่ระเหยจากแหล่งน้ำเป็นไอน้ำขึ้นไปกลายเป็นเมฆแล้วก็กลั้นตัวลงมาเป็นฝนมีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 75 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ถึงปี ค.ศ. 2050 โดยมีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 จะมีน้ำจืดเหลือเพียง 1 ใน 4 ของ ปริมาณน้ําจืดในปี ค.ศ. 1950 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ําต่าง ๆ เช่น เขื่อน แม่น้ำ ฯลฯ ในหลาย ๆ ประเทศ ก็จะประสบกับปริมาณน้ำลดน้อยถอยลงและแห้งแล้ง หรือบางภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกในบางฤดูกาลก็จะเกิดปัญหา น้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ และทําลายป่าไม้นั่นเอง

แนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ การทําฝนเทียม การแยกเกลือออกจากน้ำเค็ม การอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลแห่งใหม่ ลดการทําปศุสัตว์ลง รวมไปถึงแนวคิดในเรื่อง การทําเกษตรแนวใหม่ หรือการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง โดยนําวิธีที่จะใช้น้ำให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ระบบน้ำหยด เป็นต้น

2. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มักจะมีระบบนิเวศ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วย เช่น มีแม่น้ำ ลําธาร ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า พืชพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอาหารของปลาและสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนเกิดความแห้งแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ก็เกิดปัญหาความเหือดแห้งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อประมาณ 65 ล้านกว่าปีที่ผ่านมานี้ สิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ 100 ถึง 1,000 เท่าของอัตราปกติ โดยที่มนุษย์มิใช่เป็นเพียงพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าว

แนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าวนั้นจําเป็นต้องมีการจัดทําแนวทางและวิธีดําเนินการในการป้องกัน การแก้ไขฟื้นฟู และการอนุรักษ์ ซึ่งได้แก่ การใช้กฎหมาย การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้และ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม การบําบัดฟื้นฟูสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นและเหมาะสมสําหรับการใช้ประโยชน์ต่อไป รวมไปถึงมีการแบ่งเขต/ พื้นที่ควบคุมเพื่อให้มีสภาวะที่เหมาะสมสําหรับการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร เช่น การจัดพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ หรืออุทยาน ซึ่งจะทําให้สภาพดิน พืช สัตว์ และป่าไม้ มีสภาพเหมาะสมในการขยายพันธุ์ ดํารงพันธุ์ และเจริญเติบโตเป็นต้น

3. การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อนหรือภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเมืองและภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยมลพิษหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จนเกิดการสะสมและทําลายชั้นโอโซน (Ozone Layer) ซึ่ง เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก” ก็มีแนวโน้มทําให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบให้น้ําแข็งขั้วโลกละลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อแหล่งอาหาร สภาวะทางธรรมชาติ และตัวมนุษย์เองด้วย

แนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ ลดการใช้พลังงานที่มีส่วนทําให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ลดการใช้พลาสติก เลือกใช้กระดาษรีไซเคิล หันมาใช้พลังงานไบโอดีเซล และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ํา พลังงานลมเป็นต้น

4. การประมงหรือการจับปลาในมหาสมุทร (Oceanic Fish Catch) การจับสัตว์น้ํา ทางทะเลส่งผลต่อการลดลงของปริมาณกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 – 1988 อัตราการจับสัตว์น้ําเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก จาก 19 ล้านตัน มาเป็น 88 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรเสียอีก แต่หลังปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา อัตราการจับปลาก็ลดลง ซึ่งในปี ค.ศ. 1996 ลดลงเหลือ 16 กิโลกรัมต่อคน อย่างไรก็ตามการจับสัตว์น้ําก็ยังมีมากอยู่ เพราะว่าคนนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอัตราการจับ สัตว์น้ําลดลงนั้น เป็นผลมาจากสัตว์น้ําเริ่มลดจํานวนลงและสูญพันธุ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีจํานวนเพิ่มมากขึ้นและ
ยังมีการใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างฟุ่มเฟือย นักชีววิทยาทางทะเลได้กล่าวไว้ว่า อัตราการจับสัตว์น้ําในปัจจุบันนี้ มีประมาณปี 93 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อจํานวนประชากรโลก และอีกไม่นานมนุษย์เราก็อาจจะมีอาหาร เหล่านี้รับประทานกันได้น้อยลงและยากขึ้น

แนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ การปลูกป่าชายเลนเพื่อให้มีแหล่งอาหารของ สัตว์ เป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่ของตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหลายชนิด หยุดการทําไม้ป่าชายเลนและการทําเหมืองแร่ ในพื้นที่ป่าชายเลน งดการใช้อวนรุน อวนลาก ไม่ทิ้งสมอเพื่อจอดเรือในแนวปะการัง เพราะจะทําให้ปะการัง หักเสียหาย งดการจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ไม่ใช้ระเบิดจับปลา ไม่สร้างโรงแรมและที่พักติดทะเลเพราะจะทําให้เกิด น้ําเสียอันเป็นเหตุให้ปะการังตาย เป็นต้น

5. งานหรือการมีงานทํา (Jobs) ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อภาวะ การจ้างงานและตําแหน่งงาน ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกมีจํานวนแรงงานเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า คือ จาก 1.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 พันล้านคน จากข้อมูลขององค์การแรงงานสากล (The United Nations International Labor Organization : ILO) ได้คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานกว่า 1 พันล้านคน หรือ 30% ของ คนในวัยแรงงาน และในช่วงอีกครึ่งศตวรรษต่อไปจะมีคนตกงานประมาณเกือบ 2 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าตําแหน่งงาน ที่มีอยู่ประมาณ 1.9 พันล้านตําแหน่ง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาในประเทศกําลังพัฒนา ทั้งนี้เพราะประเทศ เหล่านั้นมีอัตราการเกิดและจํานวนประชากรมาก และเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจํานวนมากด้วย ในขณะที่ตําแหน่งงาน ที่มีอยู่ มีจํานวนอัตราตําแหน่งเติบโตน้อยกว่าแรงงาน เป็นต้น

แนวทางบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ ลดช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีมาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน มีการอบรมการประกอบอาชีพ ให้แก่ประชาชน จัดหาตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม เพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ กระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค มีการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศ มากขึ้น เป็นต้น

ข้อ 5. จงอธิบายมุมมองต่อ “เมือง” ในทางทฤษฎีของศาสตร์สาขาต่าง ๆ มา 3 ทฤษฎี พร้อมทั้งอธิบาย ขยายความโดยละเอียดในแต่ละทฤษฎี ?

แนวคําตอบ

มุมมองต่อ “เมือง” ในทางทฤษฎีของศาสตร์สาขาต่าง ๆ มีดังนี้

1. แนวความคิดในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

กระบวนการในการเกิดขึ้นของเมืองในทางเศรษฐศาสตร์จะเกี่ยวโยงกับกระบวนการทางโครงสร้างของสังคมที่ก่อให้เกิดพลวัต หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจชนบทไปเป็นเศรษฐกิจเมือง ในแง่ของการแปลงสภาพ ประชากร กระบวนการผลิต และสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจชนบท ไปสู่ฐานะของเศรษฐกิจเมือง เช่น

1) การใช้แรงงานเข้มแข็งขึ้นและมีความเป็นปัจเจกภาพสูง
2) มีการกระจุกตัวของแรงงานมากขึ้น
3) มีความชํานาญในการผลิตสินค้าและบริการค่อนข้างสูง
4) มีการพึ่งพาต่อกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลอย่างใกล้ชิด
5) มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และลักษณะของการประกอบการในระดับสูง
6) ความหนาแน่นของประชากรทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสําคัญที่จะเกิดขึ้นในแง่ความเป็นเมือง คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเนื่องจากการเกิดความชํานาญ การแบ่งงานกันทําตามความสามารถเฉพาะ การใช้ทุนเข้มข้นในการผลิตและใช้เทคโนโลยี ตลอดจน ประดิษฐกรรมที่ทันสมัย ทําให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและกระบวนการเกิดเป็นเมืองซึ่งเป็นกระบวนการที่ ควบคู่กัน

2. แนวความคิดในทางทฤษฎีของนักสังคมวิทยา

ในทางสังคมวิทยา มองว่าระบบชุมชนเป็นระบบของปัจจัย 3 ประการที่เกี่ยวข้องกัน คือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Areas) การปะทะสังสรรค์กันทางสังคม (Social Interaction) และ ความผูกพันร่วมกัน (Common Ties) กล่าวคือ ในสังคมนั้นจะประกอบด้วยบุคคลที่มีการปะทะสังสรรค์กัน ทางสังคมในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และมีความผูกพันร่วมกันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง

ผลผลิตของชุมชนหรือสังคม ซึ่งได้แก่

– การกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization)
– การควบคุมทางสังคม (Social Control)
– การมีส่วนร่วมในสังคม (Social Participation)
– การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (Mutual Support)
การผลิต การบริโภค และการกระจายสินค้าและบริการภายในชุมชน(Production-Consumption-Distribution)

ในแง่ของจิตใจและวัฒนธรรมนั้น คนจะมีความรู้สึกในความเป็นคนถิ่นนั้นถิ่นนี้ ทั้งนี้ เพราะเกิดความรู้สึกมั่นคงในการมีที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ (Community Sentiment) ที่เกิดจากการหล่อหลอม ทางค่านิยมของกฎเกณฑ์และเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งกระบวนการของคนในสังคมหรือชุมชนโดยลักษณะธรรมชาติ ดังกล่าวก็คือ ความเป็นเมืองนั่นเอง

3. แนวความคิดในทางทฤษฎีของนักมานุษยวิทยา

นักมานุษยวิทยา มองว่ากระบวนการสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) เป็นรูปหนึ่งของกระบวนการปรับตัวของมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนเมืองเป็นรูปแบบที่สําคัญที่มนุษย์ได้พัฒนาขึ้น การปรับตัวจึงเป็นความสําเร็จอย่างหนึ่งของกลุ่ม และความสําเร็จนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมนั้น ๆ ว่าจะเป็นไปได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องอาศัยความกลมกลืนกันระหว่างปัจจัยในด้านต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “ปมในเชิงนิเวศวิทยา” (Ecological Complex) ซึ่งจะประกอบด้วย

1) ปัจจัยด้านประชากร (Population) โดยมีปัจจัยด้านโครงสร้างของประชากรที่มีผลต่อกระบวนการเป็นเมือง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะชี้ให้เห็นมิติของประชากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตลอดจนการกระจายตัวหรือโครงสร้างซึ่งประกอบด้วยลักษณะของคนในแต่ละช่วงอายุ เช่น คุณภาพการศึกษา ทักษะการทํางาน อาชีพ จํานวน การพัฒนา และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของคนในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะส่งผลถึง ปัจจัยด้านอื่น ๆ

2) ปัจจัยด้านการจัดองค์กร (Organization) โดยมีมิติที่จะพิจารณาได้ในเรื่องนี้ ได้แก่ แบบขององค์กร สภาพแวดล้อม จํานวนสมาชิก ความสามารถ ผู้นํา เทคโนโลยีที่ใช้ ตลอดจนความร่วมมือ ร่วมใจตามแนวคิดของประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อสภาพของชุมชนและสังคมนั้น ๆ

3) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อสังคม และชุมชนในแง่ของพฤติกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในแต่ละระดับนั้นอาจพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางด้านธรรมชาติ และปัจจัยแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือพิจารณาในแง่ปัจจัยเอื้อหรือไม่เอื้อต่อชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ

4) ปัจจัยด้านเทคนิควิทยาการ (Technology) เป็นปัจจัยสําคัญที่มนุษย์จะสามารถ เอาชนะธรรมชาติได้ และสามารถแข่งขันท่ามกลางภาวะที่จํากัดในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ ประดิษฐกรรม และนวัตกรรมของสังคม

ข้อ 6. หลักการบริหารหรือจัดการชุมชนเมืองตั้งแต่เริ่มมีแนวคิด อุดมการณ์ ไปสู่การปฏิบัติ ว่ามีหลักการและวิธีการอะไรอย่างไร พร้อมตัวอย่างโดยสังเขป ?

แนวคําตอบ

การบริหารชุมชนเมืองหรือการจัดการชุมชนเมืองมุ่งที่จะเสนอแนวคิดและวิธีการปฏิบัติใน การบริหารชุมชนเมือง โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการบริหารเพื่อตอบสนองต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนนั้น ๆ เป็นหลัก จึงจําเป็นต้องศึกษาในแง่ของประเด็นปัญหาและบริบทของปัญหาทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และ ระดับสากล ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาชุมชนเมือง เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาในเชิงระบบทั้งใน ด้านปัญหาและข้อเรียกร้องของชุมชนเมืองในฐานะปัจจัยนําเข้า (Input) ตลอดจนความจําเป็นและแนวทางของ กิจกรรมในฐานะปัจจัยนําออก (Output) และศึกษาผลกระทบของการบริหารชุมชนเมือง โดยจะศึกษาทั้งตัวองค์กร หรือสถาบันหลักที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ในการบริหารชุมชนเมือง หรือศึกษาแยกย่อยไปที่ประเด็นรายละเอียดหรือเนื้อหาสาระในชุมชนเมือง ดังนั้นการบริหารชุมชนเมืองจึงมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การกําหนดเป้าหมายการวางแผน การบริหารและลงมือปฏิบัติจนบังเกิดผล ซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้

การบรรลุภารกิจและความรับผิดชอบในการบริหารชุมชนเมือง

การบริหารชุมชนเมืองสมัยใหม่ไม่ใช่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการตระหนักในความรับผิดชอบในการบริหารชุมชนเมือง โดยชาวชุมชนเองเท่านั้นที่จะนําไปสู่ความสําเร็จในการบริหาร ชุมชนเมือง กล่าวคือ เมืองที่ประชาชนมีความสนใจและให้ความร่วมมือในกิจกรรมของส่วนรวม รวมไปถึงการ ตรวจสอบติดตามการทํางานของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในลักษณะการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance)

ระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนสําคัญในการกําหนดแนวทางและวิธีการ ซึ่งอาจได้รับการ สนับสนุนจากภายนอกจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพราะได้สร้างให้เกิดความรับผิดชอบในการบริหารชุมชนเมือง ของชาวชุมชนเมืองโดยแท้จริง โดยจะนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่สําคัญหลายด้าน เช่น

1. ด้านเกียรติภูมิและสิทธิของประชาชน (Right and Dignity) คือ การให้สาธารณชน ได้ตัดสินใจบริหารงานอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ ปราศจากอคติและความลําเอียง ตลอดจนบริหารงานโดยยึดหลัก กฎหมาย และต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบผ่านกระบวนการกลไกการปกครอง ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเกียรติภูมิของชาวเมืองโดยสามารถตรวจสอบการบริหารนั้นได้ซึ่งเป็นการให้สิทธิและคํานึงถึงศักดิ์ศรี

2. ด้านความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) คือ การบริหารงานนั้น ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของประชาชนในทุกขั้นตอนของการดําเนินงาน ทั้งการอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือบริหารงานบนพื้นฐานความต้องการของประชาชน ซึ่งการบริหารงานนั้นจะต้องเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างก็มีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้

3. ด้านความมีประสิทธิผล (Effectiveness) คือ การบริหารงานให้บรรลุเป้าหมาย หรือ สามารถบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาและเสนอทางออกให้กับประชาชนได้ รวมทั้งต้องบริหารงานด้วยความคุ้มค่าคือ การใช้ทุนน้อยแต่สามารถบรรลุมาตรฐานด้านต่าง ๆ ตามที่ประชาชนชาวเมืองต้องการ โดยมุ่งสร้างหรือยกระดับ มาตรฐานชีวิตของประชาชน หรือตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและ เพียงพอ เช่น ความต้องการอาหารที่เพียงพอ อากาศที่บริสุทธิ์ น้ําสะอาดเพื่อการบริโภค ที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม ที่น่าพอใจ ความต้องการมีสุขภาพอนามัยที่ดี เป็นต้น

จุดเริ่มต้นในการบริหารชุมชนเมือง

การบริหารชุมชนเมืองจะเริ่มต้นที่การวางแผน และการมีแผนเพื่อให้เป้าหมายที่มนุษย์ต้องการอยู่ในสังคมชุมชนเมืองได้รับการตอบสนอง ซึ่งในการบริหารชุมชนเมืองนิยมเรียกโดยรวมว่า “แผนหรือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง” ภายใต้ชื่อที่หลากหลาย เช่น แผนพัฒนา (Development Plan), แผนเมือง (Urban Plan), แผนแม่บท (Master Plan), แผนทั่วไป (General Plan) เป็นต้น แต่การบริหารชุมชนเมืองมักจะเน้นหนัก แผนกายภาพที่เรียกว่า ผังเมือง (City Plan) และแผนจัดการการเจริญเติบโต (Growth Management Plan)

การบริหารชุมชนเมืองที่ดีจะมีแผนภารกิจ (Action Plan) หรือแนวทางที่ชัดเจนเพื่อมารองรับ กิจกรรมการบริหารชุมชนเมืองให้ได้ผล เช่น

1. การออกแบบเมือง (Urban Design) เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ของเมืองหรือสร้างสรรค์ ให้เกิดสภาพเมืองที่พึงปรารถนา โดยคํานึงถึงปัจจัยที่สําคัญในด้านความสวยงามน่าชวนมอง คุณค่าด้านจิตใจ เอกลักษณ์ที่โดดเด่น และศักยภาพดั้งเดิมเป็นสําคัญ ซึ่งถือเป็นขั้นการผลักดันให้เกิดแนวคิดและวิสัยทัศน์ของคน ในชุมชน

การทําให้เป้าหมายหรือแนวคิดของการออกแบบเมือง ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม ที่สวยงามให้คนภายนอกมองเห็นได้นั้น ต้องมีการวางภูมิทัศน์ของเมือง (Cityscape) ด้วยการสร้างรูปลักษณ์ ของเมืองตามที่ได้รับเอาแนวคิดต่าง ๆ มาใช้กําหนดเป็นทิศทางและลักษณะของเมือง ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็น แนวทางในการก่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย ที่สาธารณะ ถนนหนทาง และที่ตั้งของสิ่งอํานวยความสะดวกในเมือง เป็นต้น

2. แผนเมือง (City Plan) จะชี้ให้เห็นถึงแนวคิดพื้นฐานและวัตถุประสงค์ของเมืองนั้น ๆไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยส่วนร่วมก็จะมีแนวคิดพื้นฐานเพื่อสร้างให้เมืองนั้นมีความสะดวกสบายน่าอยู่อาศัยหรือสร้างให้ผู้คนมีความหวังและสามารถมองไปในอนาคตได้ ซึ่งแผนเมืองนี้อาจจะกําหนดเป็นแผนแม่บทหรือ แผนหลัก (Master Plan) ที่จะเป็นกรอบหรือแนวทางไปสู่การวางแผนปฏิบัติ หรือนโยบายในการวางแผนเมือง (City Planning Politics) ต่อไป ซึ่งได้แก่

1) แผนในภาพรวม อาจจะต้องอาศัยทิศทางและความสอดคล้องในระดับกว้าง เช่น แผนภูมิภาคหรือแผนระดับประเทศที่ต้องอาศัยความเกี่ยวพันและการตัดสินใจ และความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นไม่เฉพาะเมืองนั้นเมืองเดียว

2) การผังเมืองและการวางแผนการใช้พื้นที่ ดําเนินการโดยอาศัยกฎหมายการผังเมือง และการบริหารงานในเชิงนโยบาย จนกลายเป็นผังเมืองรวม (Comprehensive Plan) หรือผังเมืองเฉพาะ (Specific Plan)

– ผังเมืองรวม คือ แผนที่แสดงการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่ต้องการให้ เกิดขึ้นบนพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของท้องถิ่นในอนาคต

– ผังเมืองเฉพาะ เป็นผังที่จัดทําขึ้นหลังจากมีผังเมืองรวม มีความละเอียด มากกว่าผังเมืองรวม และจะจัดทําในพื้นที่บางส่วนของผังเมืองรวม ซึ่งเป็น พื้นที่ที่มีความสําคัญสูง หรือมีความจําเป็นสูงที่จะต้องสงวนรักษา เช่น พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ที่มีคุณค่าทางสภาพแวดล้อม หรือพื้นที่ธุรกิจการค้า เป็นต้น

3. การวางแผนด้านอื่น ๆ เป็นการวางแผนที่อาจผสมผสานการวางแผนในเชิงกายภาพ และในเชิงการบริหาร เช่น การวางแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจ, การวางแผนทิศทางการเจริญเติบโตของเมือง การวางแผนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อ 7. การจัดการภัยพิบัติมีความสําคัญอย่างไรต่อการบริหารชุมชนเมือง จงอธิบายกรอบการจัดการ ภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย หรือสาธารณภัยใด ๆ ในชุมชน เช่น ในห้างสรรพสินค้า มาพอสังเขป ?

แนวคําตอบ

ความสําคัญของการจัดการภัยพิบัติต่อการบริหารชุมชนเมืองการจัดการภัยพิบัติเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่การเตรียมการก่อนเกิดเหตุ การรับมือ ในภาวะฉุกเฉิน การบรรเทาทุกข์ ช่วยชีวิตและฟื้นฟูบูรณะหลังเหตุการณ์ ซึ่งในอดีตการจัดการภัยพิบัติมักเน้น เรื่องการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันแนวโน้มของการจัดการภัยพิบัตินั้นจะมีลักษณะของ การเตรียมการเชิงรุกมากขึ้น โดยดําเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่จะ เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ รวมทั้งมีมาตรการที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นการวางแผน เพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังจากที่เกิดภัยพิบัติแล้ว

กรอบการจัดการภัยพิบัติ มีดังนี้

1. เข้าถึงข้อมูลรายละเอียดที่เป็นจริง
2. พึ่งออกแบบการจัดการให้สามารถรับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปจากการวางแผนไว้
3. บูรณาการแผนการจัดการน้ำท่วมให้สอดคล้องเข้ากับแผน/โครงการของการบริหารชุมชน
4. มีกลยุทธ์/มาตรการที่หลากหลายที่เกื้อกูลกันและจัดการอย่างสมดุล
5. คํานึงถึงความเหมาะสมทุกพื้นที่ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
6. มาตรการทางวิศวกรรมที่ออกแบบมาอาจสําเร็จหรือล้มเหลว หรือไม่ได้ผลทั้งหมด แต่ก็ ย่อมดีกว่าไม่มีมาตรการใด ๆ
7. มาตรการจัดการอุทกภัยต้องใช้เป็นเครื่องมือที่มาเสริมแผนบริหารเมือง
8. คํานึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ/สังคมในวงกว้าง
9. ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน
10. ขั้นตอนการปฏิบัติจําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
11. การทํางานจําเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสารและการกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่อง
12. ควรมีแผนในการฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว

แนวทางการจัดการภัยพิบัติสําหรับปัญหาอุทกภัย ได้แก่

1. การวางแผนบริหารจัดการอุทกภัย

ชุมชนเมืองมักจะประสบปัญหาน้ําท่วมเป็นประจําทุก ๆ ปี เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนใหญ่ มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ําและลําคลองจํานวนมาก และได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวเมือง ทําให้กลายเป็นแหล่งธุรกิจและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการไหลและการระบายน้ําออกจากพื้นที่ แม้ปริมาณน้ําที่เกิดจากฝนตกหนักในเขตพื้นที่ตัวเมืองจะมีการท่วมขังอยู่บ่อยครั้งก็ตาม ด้วยสรรพกําลังและ ความสามารถในการระบายน้ําของหน่วยงานที่มีอยู่ก็ย่อมจะทําให้คลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเป็นลักษณะ ของมวลน้ํามหาศาลที่ไหลบ่ามาจากนอกพื้นที่โดยเฉพาะผ่านทางลําคลองที่มีอยู่รอบด้าน ก็จะเป็นการยากที่จะ
สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ จึงจําเป็นต้องนําไปสู่การกําหนดนโยบายและการวางแผนการจัดการปัญหา อุทกภัยและภัยพิบัติในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ แนวทางการป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อมในการ รับมือ การเตรียมความพร้อมสําหรับการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงแผนการจัดการหลังจากเกิดภัยพิบัติ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น การดําเนินการลอกท่อระบายน้ําในเขตชุมชน ขุดลอกคูคลอง แหล่งน้ํา สาธารณะ รวมทั้งกําจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ําเพื่อให้สามารถระบายน้ําออกจากพื้นที่อุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน เป็นต้น

2. การสร้างคันกั้นน้ำถาวร

พื้นที่ที่ติดแม่น้ําส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวคันกั้นน้ําที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง สําคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ดํารงชีวิตและอาศัยอยู่ริมแม่น้ํา อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวถือว่าเป็น โครงการที่มีงบประมาณมหาศาลและยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจํานวนมาก ซึ่งจะต้องมีการสํารวจผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชน รวมถึงจะต้องเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผ่านทางการทําประชาพิจารณ์
และการตรวจสอบความโปร่งใสในการดําเนินการทุกขั้นตอนเสียก่อน เพราะอาจกลายเป็นปัญหากับท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงได้

3. การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

การแก้ไขปัญหากับภัยน้ําท่วมนั้นมีความจําเป็นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อผนึกกําลังต่อสู้กับมวลน้ำที่มีปริมาณมหาศาลที่พร้อมจะเข้าโจมตีเมือง นั่นคือ การขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในจังหวัด เพื่อดําเนินการ ฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการเตรียมรับมือกับสาธารณภัยในเขตพื้นที่จังหวัด รวมไปถึงการขอ ความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เครื่องสูบน้ำ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สําคัญ

นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ภาคเอกชนนับเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาท สําคัญในการสนับสนุนยุทธปัจจัยในการต่อสู้กับมวลน้ําที่มีปริมาณมหาศาลนี้ ด้วยการสนับสนุนหลายช่องทาง เช่น บริจาคทราย ถุงบรรจุกระสอบทราย เป็นต้น รวมไปถึงสื่อมวลชนที่มีการติดตามและรายงานสถานการณ์ ช่วงเกิดภัยน้ําท่วมอย่างต่อเนื่อง มีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

การสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ํานั้น แม้จะมีระบบ บริหารจัดการที่ดีเพียงใด ย่อมบรรลุผลได้ยาก หากไม่สามารถจัดการคนได้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการความขัดแย้ง และการเฝ้าระวังการพังคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างมากในการสร้างความเข้าใจระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับ พื้นที่เหนือแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงการมีมิตรไมตรีที่ดีของผู้อยู่เหนือแนวคันกั้นน้ำในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการสร้างสิ่งอํานวยความสะดวก เช่น สะพาน การจัดส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ กรณีที่ประชาชนไม่ย้ายเข้าศูนย์อพยพ

นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครหรือกลุ่มจิตอาสาจํานวนมากที่จะเข้าร่วมช่วยเหลือ ทั้งใน เรื่องการกรอกกระสอบทราย การทําอาหาร หรือการจัดกิจกรรมคลายเครียดในศูนย์พักพิงนั้นด้วย

4. การจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว

การจัดเตรียมศูนย์พักพิงเพื่อรองรับกับผู้ประสบภัยจะต้องคํานึงถึงวิถีชีวิตความรู้สึกที่มีต่อชุมชน และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ด้วยเป็นสําคัญ โดยมีแนวทางปฏิบัติที่สําคัญ คือ การตั้ง ศูนย์พักพิงขนาดเล็กในพื้นที่ขึ้น นอกจากจะทําให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังทําให้ การบริการมีความใกล้ชิด เป็นกันเอง สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของคนในแต่ละพื้นที่เป็นสําคัญ โดยอาจจะอาศัย สถานที่ที่มีความเป็นสาธารณะและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น โรงเรียน วัด มัสยิด อาคารหน่วยงานราชการในพื้นที่ เป็นต้น

ปัญหาสาธารณภัยใด ๆ ในห้างสรรพสินค้า

ภัยพิบัติในห้างสรรพสินค้า ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณภัยในชุมชนอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ประชาชนมักมีการพูดถึงอย่างมากในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่เกิดจาก “อัคคีภัย”

การป้องกันอัคคีภัยในอาคาร เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากเหตุเพลิงไหม้ที่เป็นผลมาจากความประมาท ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุอื่นใดที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ในอาคาร ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างอาคารจะต้องคํานึงถึงกฎหมายควบคุมอาคาร และข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่ให้ความสําคัญกับการออกแบบและการก่อสร้างอาคารที่คํานึงถึงเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะอัคคีภัย ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ทําการกําหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่เน้นไปที่การลดความเสี่ยงจากอัคคีภัย โดยกําหนดให้อาคารแต่ละลักษณะจัดให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยภายในอาคาร

ในปัจจุบันนั้นพบว่า การจัดการสาธารณภัยได้ให้ความสําคัญกับช่วงเวลาในการเข้าถึงพื้นที่ประสบเหตุ หากหน่วยงานด้านการกู้ชีพกู้ภัยสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เร็ว ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการจัดการ สาธารณภัยได้อย่างทันท่วงที ทําให้ปัจจุบันให้ความสําคัญกับการเข้าถึงพื้นที่ประสบเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อลด ผลกระทบ ลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้การเข้าถึงพื้นที่ประสบเหตุนั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของ กิจกรรม การจราจร ความเสี่ยงของพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งทําให้การเข้าถึงพื้นที่ประสบเหตุอาจเกิด ความล่าช้า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้การเตรียมความพร้อมในการรับมือหรือการออกแบบห้างสรรพสินค้าจึงเป็นสิ่ง ที่ควรคํานึงถึง กล่าวคือ ความเสี่ยงและความปลอดภัยของอาคารจะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยให้ การดําเนินภารกิจของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เกิดอัคคีภัย สามารถรับมือและจัดการได้ทันท่วงทีมากขึ้นนั่นเอง

สําหรับรายละเอียดในส่วนนี้จะให้ความสําคัญกับลักษณะการใช้งานของอาคารในแต่ละประเภท ที่ควรมีการจัดเตรียมระบบการป้องกันอัคคีภัยและเป็นส่วนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําไปใช้ประกอบ ควบคู่กับมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและกฎหมายในการควบคุมอาคาร ทั้งนี้เพื่อใช้ในการตรวจสอบอาคารใน เขตพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัคคีภัย และเป็นการป้องกันและลดผลกระทบ ดังนั้นห้างสรรพสินค้าควรจัดให้มี บันไดหนีไฟและระยะห่างให้เหมาะสม ช่องลิฟต์ และระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร พร้อมทั้งคําแนะนําในการปฏิบัติ ของผู้ที่อยู่ในอาคารจากเจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้า เนื่องจากผู้ที่อยู่ภายในอาคารอาจไม่คุ้นชินหากเกิดอัคคีภัย ขณะเดียวกันควรมีการติดตั้งระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ หรือสัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วย

นอกจากนี้ เรายังพบว่ามีภัยพิบัติอีกอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในห้างสรรพสินค้า นั่นคือ ภัยจาก “การก่อวินาศกรรม” ซึ่งถือเป็นภัยที่เกิดจากการกระทําใด ๆ อันเป็นการมุ่งทําลายทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ หรือสิ่งอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการรบกวน ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ระบบการปฏิบัติงานใด ๆ ตลอดจนการประทุษร้ายต่อบุคคลอันเป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมุ่งหมาย ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ โดยภัยจากการก่อวินาศกรรมนั้นยังมีความหมายรวมไปถึง ภัยจากการก่อการร้าย และภัยจากการก่อการร้ายสากล โดยภัยจากการก่อการร้ายนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทําใด ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเพื่อขู่เข็ญหรือบีบบังคับรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทําหรือละเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่สําคัญส่วนภัยจากการก่อการร้ายสากลนั้นเป็นภัยที่เกิดจากการปฏิบัติการของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งหวังผลตาม เงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการล่วงล้ําเขตแดน หรือเกี่ยวพันกับ ชาติอื่น การกระทํานั้นอาจเป็นไปโดยเอกเทศ โดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐใด ๆ หรือมีรัฐใดรัฐหนึ่ง สนับสนุนรู้เห็นก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศนโยบายของชาติทั้งด้านการเมืองและการป้องกันประเทศ การเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติ

ดังนั้นจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นใน ส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมา

ข้อ 8. การเดินทางโดยพาหนะที่ไม่ใช่ยานยนต์ (Non-Motorized Vehicle) ซึ่งกําลังเป็นที่นิยมในเมือง ต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว คืออะไร ทําได้อย่างไร และมีเป้าหมายเพื่อการใด จงอธิบายโดยละเอียด ?

แนวคําตอบ

การเดินทางโดยพาหนะที่ไม่ใช่ยานยนต์ (Non-Motorized Vehicle) เป็นวิธีการเดินทาง ด้วยพาหนะหรืออุปกรณ์ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ไม่มีเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนติดไว้ถาวรหรือชั่วคราวในตัว โดยที่บุคคลหรือสิ่งของจะถูกเคลื่อนย้ายไปโดยการขับเคลื่อนด้วยพลังกล้ามเนื้อของมนุษย์ ซึ่งการเดินทางในรูปแบบดังกล่าวนี้กําลังเป็นที่นิยมในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน การใช้สเก็ตบอร์ด การใช้รองเท้าติดล้อ การใช้รถเข็น เป็นต้น

แนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยพาหนะที่ไม่ใช่ยานยนต์

1. แนวทางหรือมาตรการสําหรับการดําเนินการด้านการให้ความรู้หรือการศึกษา (Education) ตัวอย่างเช่น โครงการอบรมการขี่จักรยานโดยชมรมจักรยาน การจัดทําวารสารที่เกี่ยวข้องกับ จักรยานให้ผู้ใช้จักรยานได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจักรยาน เว็บบอร์ดสําหรับแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการใช้จักรยาน โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้จะช่วยให้ความรู้และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการ ใช้จักรยานระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการปรับทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อการใช้จักรยานได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

2. แนวทางหรือมาตรการสําหรับการดําเนินการด้านการส่งเสริมและรณรงค์ (Encouragement) จากการทบทวนตัวอย่างในเมืองต่าง ๆ พบว่ามีแนวทางที่หลากหลายและแตกต่างกัน ออกไป ทั้งในแง่ของการโฆษณา และในแง่ของกิจกรรมที่แสดงจุดยืนของความต้องการในการใช้จักรยานต่อที่ สาธารณะ ตัวอย่างเช่น หลักการ 4 E ซึ่งประกอบด้วย Engineering (การดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้าน วิศวกรรมทั้งการวางแผนและการก่อสร้าง), Education (การดําเนินการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้ทาง) Enforcement (การดําเนินการทางด้านกฎหมาย และการควบคุมผู้ใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้) และ Encouragement (การรณรงค์ให้คนในพื้นที่และผู้ใช้ทางเห็นถึงความสําคัญ และร่วมแรงร่วมใจในการ ปฏิบัติ) เป็นต้น

3. การพัฒนาโครงข่ายจักรยานและโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมความต้องการ (Engineering) จากการทบทวนเมืองต่าง ๆ ในต่างประเทศที่ประสบความสําเร็จในการส่งเสริมวัฒนธรรม จักรยานพบว่า การพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานและโครงสร้างพื้นฐานเป็นงานเริ่มต้นงานแรกที่สําคัญที่ทุกเมือง ดําเนินการ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าแต่ละเมืองจะมีปัจจัยทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพจราจร และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เมืองที่สามารถพัฒนาโครงข่ายจักรยานที่สมบูรณ์เชื่อมโยงการเดินทางทั้งเมืองพร้อมกับมีปัจจัยอํานวยความสะดวกแก่ผู้ใช้จักรยาน ย่อมมีความเป็นไปได้สูงในการผลักดันวัฒนธรรมจักรยาน

4. การบังคับใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย (Enforcement) จากการทบทวน มาตรการ บังคับทางกฎหมายพบว่า เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยคืนพื้นที่ให้แก่ทางจักรยาน รวมถึงช่วยเพิ่มความ ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้จักรยานบนท้องถนน ทั้งนี้จากการทบทวนมาตรการบังคับทางกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบางมาตรการประสบความสําเร็จในการช่วยเพิ่มจํานวนผู้ใช้จักรยาน แต่ในขณะที่บางมาตรการส่งผลกระทบน้อยมาก
ต่อการพัฒนาวัฒนธรรมจักรยาน โดยมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมจักรยานที่พบใน ปัจจุบัน เช่น มาตรการจํากัดความเร็วในการเดินทาง การห้ามรถเข้าพื้นที่หรือการเก็บค่าธรรมเนียม การเข้า พื้นที่หรือใช้ถนน (Road Pricing) เป็นต้น

เป้าหมายของการเดินทางโดยพาหนะที่ไม่ใช่ยานยนต์
1. เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของรถบนท้องถนน และความล่าช้าของจราจรโดยยานยนต์
3. เพื่อลดการใช้พลังงานหรือปริมาณน้ํามัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
4. เพื่อลดมลภาวะมลพิษทางอากาศ ทําให้ออกซิเจนในอากาศสูงขึ้น
5. เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่กําลังจะหมดไป โดยเฉพาะน้ํามันและถ่านหิน
6. เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) อันเป็นสาเหตุทําให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
7. เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นผิวจราจรได้หลากหลายกว่าการเดินทางโดยยานยนต์
8. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกําลังกายโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทาน และทําให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส เป็นต้น

ข้อ 9. การจัดการจราจรและการขนส่งในเมือง มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สําคัญอย่างไร จงอธิบายให้ละเอียดตามหลักวิชาการ ?

แนวคําตอบ

การจัดการจราจรและการขนส่งในเมือง ถือเป็นกระบวนการที่นําไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานการขนส่ง ซึ่งในกระบวนการนี้ผู้วางแผนจะพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของแนวทาง การกระทําที่เกี่ยวข้องกับการบริการขนส่ง การเปิดตัวรูปแบบใหม่ของการขนส่งสาธารณะ หรือการพิจารณา เงื่อนไขข้อจํากัดที่มีอยู่ เช่น พื้นที่เมือง ที่จอดรถ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์พื้นฐานของการขนส่งซึ่งก็คือ การจัดวางระบบเคลื่อนรถและคนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งจําเป็นต่อการรองรับความ
ต้องการของมนุษย์ในวงกว้างสําหรับกลุ่มสังคมที่หลากหลาย

วัตถุประสงค์ของการจัดการจราจรและการขนส่งในเมือง

1. เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการเร่งระบายการจราจร
2. เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. เพื่อความปลอดภัยและประหยัด
4. เพื่ออํานวยความสะดวกในการขนส่ง
5. เพื่อควบคุมทิศทางการระบายรถและคน
6. เพื่อกําหนดแนวทางการจัดการจราจรเพื่อการขับขี่ปลอดภัย

เป้าหมายของการจัดการจราจรและการขนส่งในเมือง

1. เพื่อกําหนดพื้นที่ (Zone) ของเมืองว่ามีกิจกรรมอะไร จะเชื่อมโยงกันโดยวิธีใดระหว่างหรือภายในพื้นที่ และมีจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหลักไปที่อื่นอย่างไร
2. เพื่อทําการศึกษาเฉพาะภายในแต่ละพื้นที่ที่มีกิจกรรมต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อทราบประเภท ของผู้คน การเดินทาง จํานวน ขนาด และเวลาในการเดินทาง
3. เพื่อทําการศึกษาระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของการเดินทางที่สําคัญก็คือความรวดเร็ว ดังนั้นหากการจัดการจราจรและการขนส่งในเมืองโดยขาดเป้าหมาย ด้านนี้หรือด้านอื่น ๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
4. เพื่อพยากรณ์สภาพการจราจรและการขนส่งในอนาคต โดยศึกษาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะ เป็นตัวกําหนดการจราจรและการขนส่ง
5. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมการเดินทางของผู้คน ต้องมีการสํารวจโดยละเอียด จําแนกออกไปตามเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา การทํางาน เป็นต้น
6. เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของการเดินทางของผู้คนในเมือง รวมไปถึงการกระจายตัวของการขนส่งในเมือง
7. เพื่อวิเคราะห์โครงข่ายโดยรวมของเมือง
8. เพื่อสร้างแบบจําลองการเดินทางและการขนส่ง โดยคํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 9. เพื่อประเมินผลและเปรียบเทียบทางเลือกในแต่ละวิธีถึงผลได้ผลเสีย

Advertisement