การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3313 การบริหารการพัฒนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อ ๆ ละ 25 คะแนน

ข้อ 1 จงอธิบายความแตกต่าง แนวคิดและหลักการของการบริหารการพัฒนาและการพัฒนาการบริหารมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 17 – 20, 31 – 34)

ความหมายของการบริหารการพัฒนา (Development Administration)

การบริหารการพัฒนา เป็นการปรับกระบวนการบริหารให้เข้ากับจุดมุ่งหมายของโครงการรัฐบาล ซึ่งหมายความว่า เราต้องทราบถึงความต้องการของรัฐบาลก่อนว่ามีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอย่างไร แล้วจึงนําการบริหารเข้ามาช่วยปฏิบัติการให้สําเร็จผลตามจุดมุ่งหมายนั้น

การบริหารการพัฒนา หมายถึง การบริหารงานของรัฐเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายของรัฐที่ได้กําหนดไว้แล้ว โดยนักบริหารการพัฒนาจะต้องทํางานเป็นตัวนําให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง

การบริหารการพัฒนา หมายถึง การดําเนินการตามนโยบาย แผน และโครงการต่าง ๆ ที่ กําหนดขึ้นโดยรัฐบาล ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหาร โดยที่การบริหารเป็นปัจจัยที่สําคัญ

สรุป การบริหารการพัฒนาเป็นระบบบริหารที่มีการกําหนดจุดมุ่งหมาย (Goat Oriented) และมีการปฏิบัติการ (Action Oriented) ตามที่ได้กําหนดจุดมุ่งหมายไว้แล้ว

จากการที่มีผู้เสนอทัศนะเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนาที่ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาการ บริหาร หรือการเพิ่มพูนสมรรถนะของระบบบริหารให้เพียงพอที่จะรองรับภารกิจของการบริหารการพัฒนาได้ เช่น Fred w. Riggs เห็นว่า การบริหารการพัฒนามีความหมายสําคัญ 2 ประการ คือ

1 การบริหารโครงการพัฒนา หรือกรรมวิธีต่าง ๆ ที่องค์การขนาดใหญ่โดยเฉพาะ องค์การของรัฐนํามาใช้ในการปฏิบัติการตามนโยบายและแผนที่กําหนดขึ้นเพื่อสนองวัตถุประสงค์ในการพัฒนา

2 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมรรถนะทางการบริหาร

การพัฒนาการบริหารต้องอาศัยกระบวนการทางการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทาง การเมืองที่คอยกระตุ้นให้มีการพัฒนาการบริหาร หรือการที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อการนํานโยบายในการ พัฒนาการบริหารต่อข้าราชการและประชาชน จึงมีความจําเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการบริหารให้มีความทันสมัย หรือมีการปฏิรูประบบการบริหารเสียใหม่

ความหมายของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การปรับปรุงกลไกส่วนต่าง ๆ ของการบริหารงานเพื่อให้ สามารถดําเนินการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและประหยัด

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การเพิ่มพูนสมรรถนะของการบริหารที่จะรับมือโดยไม่หยุดยั้ง กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางในการสร้างความก้าวหน้า ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

การพัฒนาการบริหาร คือ การที่รัฐบาลเมื่อมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาสามารถที่จะบริหารงาน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การจัดเตรียม เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือปฏิรูปโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมการบริหารให้มีสมรรถนะ (Capabilities) หรือความสามารถที่จะรองรับนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม สําหรับการพัฒนาประเทศ

จากทัศนะของนักวิชาการต่าง ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการบริหารไม่ใช่การปรับปรุง องค์การหรือการปรับปรุงนวัตกรรมขององค์การ แต่จะมีขอบข่ายที่กว้างขวางมากกว่า คือเน้นการเปลี่ยนแปลง ทางด้านโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงกระบวนการในการทํางานและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติการ ดังนั้นการปรับปรุงองค์การและนวัตกรรมองค์การจึงเป็นเพียงส่วน หนึ่งของการพัฒนาการบริหาร

 

ข้อ 2 การบริหารการพัฒนาหมายถึงอะไร มีคุณลักษณะร่วม 4 ประการ อะไรบ้าง และมีความแตกต่างกับการบริหารรัฐวิสาหกิจอย่างไร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 17 – 22)

ความหมายของการบริหารการพัฒนา (Development Administration)

การบริหารการพัฒนาเป็นระบบบริหารที่มีการกําหนดจุดมุ่งหมาย (Goat Oriented) และ มีการปฏิบัติการ (Action Oriented) ตามที่ได้กําหนดจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ซึ่งการบริหารการพัฒนามีคุณลักษณะ ร่วมกันอยู่ 4 ประการ คือ

1 การบริหารการพัฒนามีความหมายที่บ่งชี้สภาพภูมิศาสตร์ (Geographical) แม้ว่าการบริหารการพัฒนาจะมีบ่อเกิดในประเทศที่เจริญแล้วคือสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ได้รับการนํามาประยุกต์ ในประเทศกําลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่ และประเทศที่กําลังพัฒนานี้มักจะมีสถานที่ตั้งอยู่ในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา

2 การบริหารการพัฒนาเป็นผลพวงหรือผลลัพธ์ที่ได้มาจากสิ่งอื่น ๆ (Derivative) หมายถึง การบริหารการพัฒนาเป็นผลพวงหรือเกิดจากองค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร การพัฒนาการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม

3 การบริหารการพัฒนาเป็นกระบวนการของความเคลื่อนไหวจากสภาพการณ์หนึ่งไปสู่ เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง นั่นก็คือ จากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่สภาพกําลังพัฒนา และจากสภาพกําลังพัฒนาไปสู่สภาพการพัฒนาแล้ว และเป้าหมายสุดท้าย คือการพัฒนาประเทศ

4 การบริหารการพัฒนา มีความหมายที่บ่งชี้ว่าประเทศที่กําลังพัฒนาจะต้องปฏิบัติภารกิจ ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกับภารกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอะไรบ้าง หากประเทศที่กําลังพัฒนาประสงค์จะ เจริญรอยตามประเทศที่เจริญแล้ว จําเป็นต้องปฏิบัติภารกิจทางการบริหารเพื่อให้มีระบบมากขึ้น

ความแตกต่างระหว่างการบริหารการพัฒนากับการบริหารรัฐกิจ

1 Edward w. Weidner เห็นว่า การบริหารการพัฒนา จะเน้นการพัฒนามากกว่าการ บริหาร

2 George Gant เห็นว่า การบริหารรัฐกิจ จะเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็น ภารกิจแรกของรัฐบาล และเป็นพื้นฐานของการบริหารการพัฒนา

3 Fred w. Riggs เห็นว่า การบริหารการพัฒนาแตกต่างจากการบริหารรัฐกิจและการ บริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ เพราะองค์ความรู้จากสองวิชาหลังยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ เกิดขึ้นในประเทศที่กําลังพัฒนาได้

นอกจากนี้ Riggs ยังเห็นอีกว่า การบริหารการพัฒนามีวัตถุประสงค์ ขอบเขต และ ความสลับซับซ้อนมากกว่าการบริหารรัฐกิจและการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารการพัฒนา ยังต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่ทางด้านโครงสร้าง และภารกิจที่สลับซับซ้อน ซึ่งจะต้องอาศัยการประสานงานเป็นอย่าง มากด้วย

4 Hahn Beer Lee เห็นว่า นักบริหารการพัฒนาแตกต่างจากนักบริหาร กล่าวคือ นัก บริหารการพัฒนาจะต้องแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่นักบริหารทั่วไปจะต้องคอยแก้ปัญหาพื้น ๆ หรืองาน ประจํา และนักบริหารการพัฒนาจะมีค่านิยมของการพัฒนาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การ ในขณะที่ นักบริหารทั่วไปจะไม่คํานึงถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้

5 อนันต์ เกตุวงศ์ เห็นว่า การบริหารรัฐกิจ เป็นการบริหารงานประจําในองค์การที่มี ลักษณะเป็นการรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดําเนินต่อไปได้เท่านั้น ส่วนการบริหารการพัฒนาต้องอาศัยทั้งความคิดริเริ่ม การ ประดิษฐ์คิดค้น และการสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่งานบริหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่กําลังเปลี่ยนแปลงด้วย

กล่าวโดยสรุป การบริหารการพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วย การพัฒนาการบริหาร และการ บริหารเพื่อพัฒนานั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงและสัมพันธ์กับการบริหารรัฐกิจในแง่บ่อเกิดแห่งความรู้ และการ นําเอาองค์ความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อลดความทุกข์ยากของคนที่อยู่ในองค์การและนอกองค์การ

 

ข้อ 3 จงอธิบายองค์ประกอบของ “การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration) ด้านโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรม ตลอดจนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการบริหารมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 51 – 58, 94 – 99)

องค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration) มีดังนี้

การพัฒนาโครงสร้างทางการบริหาร โครงสร้างจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อพฤติกรรม การทํางานของคนในองค์การ คือ เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหาร ซึ่งการที่ แต่ละองค์การมีโครงสร้างที่แตกต่างกันทําให้พฤติกรรมของคนในองค์การ ตลอดจนสัมฤทธิ์ผลแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ โดยรูปแบบทั่วไปแล้วองค์การส่วนใหญ่จะจัดรูปแบบการบริหารแบบพีระมิด คือ ผู้ที่อยู่บนสุดมีจํานวนน้อย แต่จะมีอํานาจในการตัดสินใจมากที่สุด

สําหรับแนวคิดในการจัดองค์กรยุคใหม่ คือ การจัดในรูปแบบองค์การแนวราบเป็นแบบแมทริกซ์ หรือหากสามารถใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยอาจจะสามารถก้าวเข้าสู่ยุคการจัดองค์กรยุคข้อมูล ข่าวสารแบบ Internal Market เช่น การตั้งผู้ว่า CEO มิใช่เป็นการลดอํานาจหรือก้าวก่ายการทํางานของท้องถิ่น ผู้ว่าฯ จะเป็นแกนประสานการพัฒนาระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

การพัฒนากระบวนการทางการบริหาร องค์การแต่ละแห่งมักจะมีโครงสร้างที่ไม่แตกต่างกัน มากนัก แต่ระบบการทํางานหรือกระบวนการทํางานในองค์การจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการในการทํางานนี้ จะมีตัวแปรหลายตัวแปร ได้แก่ กระบวนการทํางานของผู้บริหาร คือ การวางแผนงาน วิธีการสั่งงาน การจัดกําลังคน การจัดงบประมาณ การมอบหมายงาน การกํากับควบคุมงาน วิธีการประสานงาน การตัดสินใจ และการสือข้อความ นอกจากนั้นในองค์การยังมีหน้าที่ที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการบริหารงานด้านบุคคล หน้าที่การบริหารงานด้านการเงินการคลัง ฯลฯ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการ ทํางานของคนในองค์การ เช่น องค์การใดใช้บุคคลเป็นผู้กํากับดูแลตรวจสอบการทํางานมากกว่าที่จะใช้กฎหมาย แต่เพียงอย่างเดียว การเบี่ยงเบนจากเป้าหมายใหญ่จะลดน้อยลง เป็นต้น

การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในระบบบริหาร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป็น การเปลี่ยนแปลงที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือกระบวนการทํางาน และต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ ซับซ้อนกว่าการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายตัวที่อยู่ในระดับที่ต่างกัน (โดยเฉพาะตัวแปร เชิงจิตวิทยาสังคม) นับตั้งแต่ตัวแปรของปัจเจกชน เช่น ทัศนคติ การรับรู้ แรงจูงใจ ภูมิหลังของครอบครัว บุคลิกภาพ ส่วนตัว ตัวแปรกลุ่ม เช่น ผู้นําค่านิยมกลุ่ม ความขัดแย้ง การสื่อสารภายในกลุ่ม จนถึงตัวแปรขององค์การและ สังคมภายนอกองค์การ เช่น ระบบการให้รางวัลและระบบการลงโทษขององค์การ ความคาดหวังที่องค์การมีต่อบุคคล บรรยากาศการทํางาน ตลอดจนสถานการณ์ภายนอก ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนกําหนดพฤติกรรมการทํางานของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น ดังนั้นในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงตัวแปรแต่ละตัวจึงต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการเปลี่ยนแปลง ในด้านอื่น ๆ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จในการพัฒนาการบริหาร

จากการศึกษาของวรเดช จันทรศร พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสําเร็จของการปฏิรูป การบริหาร หรือปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับและได้รับการนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลนั้น มีอย่างน้อย 10 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1 ขอบข่ายของการปฏิรูป ยิ่งขอบข่ายของการปฏิรูปมีความกว้างเพียงใด โอกาสที่แผนการ ปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็ยิ่งจะมีน้อยลง ขณะเดียวกันโอกาสที่จะได้รับการนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ก็มีน้อยลงด้วย เพราะขอบข่ายการปฏิรูปที่กว้างขวางจําเป็นต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับการสนับสนุนทาง การเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นไปได้ยากในประเทศที่กําลังพัฒนา เว้นแต่ในกรณีที่ผู้นําใช้อํานาจ อย่างเบ็ดเสร็จ โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับและนําไปปฏิบัติก็จะมีมากขึ้นด้วย เช่น การปฏิรูป ระบบราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศนโยบายการปฏิรูประบบราชการเป็นนโยบายหนึ่ง ภายใต้นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินด้วย เป็นต้น

2 เวลาที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะบรรลุผล ยิ่งแผนการปฏิรูปมุ่งจะให้การเปลี่ยนแปลง บรรลุผลรวดเร็วเพียงใด โอกาสที่แผนหรือข้อเสนอนั้นจะได้รับการยอมรับก็จะมีน้อยลง (ยกเว้นในกรณีวิกฤติ) ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเท่าใดก็จะทําให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น เพราะเวลาที่จะสร้างความเข้าใจให้กับ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะน้อยลงด้วย ทําให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงหรือสูญเสียผลประโยชน์ จึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว เช่น กรณีการต่อต้าน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดในการนํา กฎหมายฉบับนี้มาใช้จึงขาดการสร้างความเข้าใจกับประชาชน หรือกรณีการนําวิธีตัดแต้มใบขับขี่มาใช้จัดระเบียบ การจราจรของตํารวจ ต้องเร่งการประชาสัมพันธ์ และการแก้ปัญหาของอุปกรณ์ที่ใช้ในการดําเนินการ

แต่ถ้าแผนการปฏิรูปมุ่งจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบช้า เนิ่นนานมากขึ้น โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ขณะเดียวกันโอกาสที่จะนําแผนการปฏิรูปไป ปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะมีน้อยลง เพราะเวลาที่เนิ่นนานออกไปจะทําให้ได้รับการมองจากฝ่ายปฏิบัติว่ามี ความสําคัญน้อยไม่เร่งด่วน เว้นเสียแต่ว่ามีผู้นําที่ตั้งใจจริง และสนับสนุนแผนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องก็จะทําให้ โอกาสที่แผนจะบรรลุผลมีมากขึ้นด้วย

3 ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ของการปฏิรูป การขาดความชัดเจนในวัตถุประสงค์ ของแผน ทําให้เกิดความยากลําบากในการปฏิบัติ ยากต่อการควบคุมตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้าของแผน เช่น กรณีของแผนการบริหารเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เริ่มแผนการปฏิรูป ระบบบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ได้ระบุเป้าหมายไว้กว้าง ๆ ไม่ชัดเจน และที่มาของ นโยบายแผนงาน และโครงการที่ติดตามอีกหลายเรื่อง เช่น นโยบายการจัดตั้งองค์กรการบริหารเหนือระดับจังหวัด คือ ศูนย์อํานวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพราะเหตุที่เป้าหมายในการปฏิรูปไม่ชัดเจนจึง ทําให้ไม่ได้รับการต่อต้าน แต่มีผลทําให้การปฏิบัติยากต่อการบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากขาดการกําหนดตัวชี้วัด ความมีสัมฤทธิผลของแผนที่มีความชัดเจนด้วย

4 ความสอดคล้องของเป้าหมายย่อยในแผนการปฏิรูป ถ้าหากเป้าหมายย่อยในแผนการ ปฏิรูปมีความสอดคล้องหรือมุ่งไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็มีสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าหากวัตถุประสงค์ย่อย ในแผนการปฏิรูปไม่มีความสอดคล้องหรือมุ่งไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับ และนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะลดลงด้วย เช่น แผนการปฏิรูประบบบริหารของจังหวัดชายแดนภาคใต้

มีกิจกรรมย่อยมากมาย แต่ละกิจกรรมนั้นต่างก็มีวัตถุประสงค์ของตนเอง ซึ่งมีทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก และมีทั้งที่ห่างไกลจากเป้าหมายหลัก ฉะนั้นจึงยากต่อการนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามแผน

5 เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน หมายถึง การนําเครื่องใช้หรือ วิธีการใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในองค์การ เช่น การนําคอมพิวเตอร์มาใช้ หรือการพัฒนาองค์การให้เข้าใจในระบบสารสนเทศ แต่เครื่องมือที่ซับซ้อนยากแก่ความเข้าใจทําให้การยอมรับน้อยลง และโอกาสที่จะได้รับการนํานโยบายไปปฏิบัติให้ บรรลุเป้าหมายยิ่งน้อยลงด้วย และยิ่งเป็นวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมและพฤติกรรมดั้งเดิมของผู้ปฏิบัติงาน ก็ยิ่งไม่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น แผนการปฏิรูประบบการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการเสนอให้มี การประเมินความรู้ความสามารถของอาจารย์เป็นช่วงเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี วิธีการเช่นนี้ขัดแย้งกับพฤติกรรมของ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน จึงไม่ได้รับการยอมรับและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงที่จะผลักดัน นโยบายนี้ก็ยากที่จะสําเร็จลงได้

6 ทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิรูป หากต้องใช้ทรัพยากรมากเท่าใด โอกาสที่แผนการปฏิรูป จะได้รับการยอมรับและนําไปปฏิบัติก็จะน้อยลงด้วย เพราะการที่ต้องแย่งชิงทรัพยากรระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ จึง อาจเกิดการต่อต้านได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลมีทรัพยากรมากเพียงพอไม่ต้องแย่งชิงกัน โอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับ การยอมรับและนําไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เช่น กรณีในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทําการ ปฏิรูปการคลังเป็นจุดเริ่มต้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแผ่นดินจึงมีทรัพยากรที่มากเพียงพอที่จะนําไปใช้ในการวางแผน ปฏิรูประบบบริหารในส่วนอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

7 กิจกรรมนําเข้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการปฏิรูป แผนการปฏิรูปที่มีกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามประเมินผลมากเพียงใด โอกาสที่แผนนั้นจะได้รับ การยอมรับและถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็จะมีมากขึ้น กิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม เช่น จํานวน หลักสูตรฝึกอบรมที่จัดให้ข้าราชการ จํานวนบุคคลที่ถูกสับเปลี่ยนตําแหน่ง จํานวนบุคคลที่ถูกคัดเลือกเข้ามา ทํางานใหม่ จํานวนเงินที่ใช้ จํานวนวัสดุอุปกรณ์ที่จัดซื้อใหม่ จํานวนกฎระเบียบที่ถูกยกเลิก

กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปสามารถควบคุม และตรวจสอบความก้าวหน้าของแผนการปฏิรูปได้ และยิ่งมีกิจกรรมนําเข้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง มากเท่าใด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็มีมากเท่านั้น เช่น ในองค์กรทหาร บุคคลที่เข้ารับราชการทหารจะต้องผ่าน การฝึกอบรมตั้งแต่ปีแรก และเป็นช่วง ๆ ตามหลักสูตรต่าง ๆ จนใกล้เกษียณอายุ หรือหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกัน ราชอาณาจักร เป็นต้น

8 ผลผลิตของกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการปฏิรูป การพิจารณาแต่กิจกรรมการนําเข้าเพื่อวัดความสําเร็จของแผนนั้นอาจทําให้ผู้ปฏิบัติละเลยความสําเร็จตาม วัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูป ฉะนั้นจําเป็นจะต้องกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของผลลัพธ์การดําเนินการทั้งใน ด้านปริมาณและคุณภาพ และควรเป็นตัวชี้วัดที่หลากหลาย เช่น จํานวนคนมารับบริการ เวลาเฉลี่ยที่ประชาชน ต้องใช้ในการติดต่อราชการแต่ละเรื่อง ความพอใจของประชาชนผู้รับบริการ

ตัวชี้วัดผลผลิต Output ของแผนการปฏิรูปนี้เป็นเรื่องที่กําหนดยาก อาจถูกโต้แย้งได้ง่าย ฉะนั้นโอกาสที่แผนการปฏิรูปจะได้รับการยอมรับก็จะน้อยลง เพราะวัดสัมฤทธิผลยาก แต่หากได้รับการยอมรับ แล้วโอกาสที่แผนจะถูกนําไปปฏิบัติให้บรรลุผลก็จะสูงขึ้น การกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของแผนการปฏิรูปใน เชิงปริมาณเช่นนี้ เป็นปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเข้าใจในการนํานโยบายไปปฏิบัติ เช่น แผนการปฏิรูป การทํางานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.)

9 การสร้างการมีส่วนร่วม ในแผนการปฏิรูปจําเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในขั้นตอนการยอมรับแผนและในขั้นตอนของการนําไปปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้ช่วยกันคิดกันทําจะทําให้ โอกาสที่แผนจะได้รับการยอมรับสูงขึ้น และการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันจะทําให้การนําแผนการปฏิรูปไปปฏิบัติ มีโอกาสบังเกิดผลสําเร็จสูงขึ้นด้วย เช่น กรณีตํารวจตระเวนชายแดนระดมสรรพกําลังหยุดยั้งยาเสพติด เป็นต้น

10 การทดลองหรือสาธิตข้อเสนอในแผนการปฏิรูป ยิ่งแผนการปฏิรูปได้มีโอกาสถูก ทดลองหรือสาธิตมากเพียงใด โอกาสที่แผนจะได้รับการยอมรับก็จะมีสูงขึ้น และโอกาสที่จะได้มีการนําไปปฏิบัติ ให้บังเกิดผลก็จะมีสูงขึ้นด้วย เพราะการทดลองจะช่วยให้ทราบถึงผลกระทบของแผน ลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทั้งในกระบวนการยอมรับและในกระบวนการของการนําไปปฏิบัติให้น้อยลงได้ เช่น กรณีการทดลองใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน กรณีการทดลองจัดตั้งสถานีตํารวจนครบาลจนขยายผลและนํามาใช้เต็มรูปแบบในปัจจุบัน

 

ข้อ 4 Edward W. Weidner ได้รวบรวมแนวความคิดของนักวิชาการที่ให้ความหมายของการพัฒนาอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม อะไรบ้าง และการพัฒนามีความแตกต่างจากการทําให้ทันสมัยอย่างไร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 5 – 6, 11 – 12)

ความหมายของการพัฒนา Edward w. Weidner ได้รวบรวมแนวความคิดของนักวิชาการ ที่ให้ความหมายของการพัฒนา ว่าอาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1 กลุ่มแรก เห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นเรื่องของความเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งหมายถึง มีการเปลี่ยนแปลงในผลที่ได้ (Output) ของระบบโดยมีปริมาณผลที่ได้สูงขึ้นกว่าเดิม

2 กลุ่มที่สอง เห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระบบที่กระทําการ (System Change หรือ Action Oriented) เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมหรือระบบบริหารในประเทศที่ กําลังพัฒนา เป็นต้น

3 กลุ่มที่สาม เห็นว่า การพัฒนาเป็นการปฏิบัติการโดยมีจุดมุ่งหมาย (Goal Orientation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย

4 กลุ่มที่สี่ เห็นว่า การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า (Planned Change) แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้ เห็นว่า การพัฒนาที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นจะต้อง มีการวางแผนระดับชาติ และมีการนําไปปฏิบัติโดยผู้ปฏิบัติงาน

กล่าวโดยสรุป การพัฒนา หมายถึง การทําให้เกิดความเจริญเติบโต และเพิ่มอัตราให้สูงขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อให้ระบบมีความสามารถในการทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการ ตัดสินใจหรือกําหนดนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และความพอใจแก่คนส่วนใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามความต้องการ หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ

การพัฒนาและการทําให้ทันสมัย

การพัฒนาและการทําให้ทันสมัยไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพียงแต่การพัฒนามีขอบเขต กว้างกว่าการทําให้ทันสมัย การพัฒนาเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทาง วัตถุ เนื่องจากชาวตะวันตกเชื่อกันว่าการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change) และเป็น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางครั้งมนุษย์สามารถกําหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

การพัฒนาเป็นวิธีการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงโดยตรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม การพัฒนาเป็นวิธีการที่รัฐทุนนิยมพึ่งพาใช้เป็นเครื่องมือที่ทําให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ปรารถนา ซึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หมายถึงความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อให้ทัดเทียมกับ อารยประเทศ ดังนั้นนโยบายและแนวคิดของนักวิชาการในสังคมตะวันตกทําให้เกิดแรงผลักดัน

ความสัมพันธ์ของการพัฒนาระหว่างประเทศตะวันตก และเป็นประเทศที่กําลังพัฒนา การ พัฒนาจึงขึ้นอยู่กับบุคคล สังคม วัฒนธรรม และระยะเวลา เช่น

1 การพัฒนามีลักษณะแบบวิวัฒนการ (Evolution) มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทีละเล็ก ทีละน้อย นักสังคมศาสตร์และนักสังคมวิทยาในศตวรรษที่ 19 ใช้คําว่า การพัฒนาในความหมายนี้อธิบายถึงที่มา ของมนุษย์ เพราะมีความเชื่อว่ามนุษย์เคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่งในทิศทางเดียวกัน การ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานนี้จะทําให้ชีวิตมนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความแตกต่างกันทั้งวัตถุ และวัฒนธรรม การ พัฒนาในลักษณะนี้จึงอาจหมายถึงความก้าวหน้า

2 การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change) นักสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 มองการพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะการพัฒนามีลักษณะเป็นกลางมากกว่าความก้าวหน้า และ สนใจที่จะศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์

3 การพัฒนาเป็นแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ (Economic) นักเศรษฐศาสตร์ให้ความ สนใจเรื่องการพัฒนาเพราะสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้รายได้ประชาชาติ แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์มองการพัฒนาว่า มีความหมายเกี่ยวกับความเป็นอุตสาหกรรม ความทันสมัย และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

4 การพัฒนาเป็นการปฏิบัติทางสังคม (Social Action) เป็นเรื่องที่ภาครัฐเข้ามาเกี่ยว ข้องในการรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างคุณภาพ เป็นต้น

5 การพัฒนาเป็นแนวความคิดขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict) เมื่อมีการพัฒนา ย่อมจะมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผลที่ตามมาความขัดแย้งย่อมจะเกิดขึ้นการพัฒนาประเทศแบบสังคมนิยมใช้ ทฤษฎีความขัดแย้งมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบ สังคมไทยมีความเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการ วิวัฒนาการตามธรรมชาติ

การพัฒนามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น คน วัสดุ การจัดการ แต่ปัญหา การพัฒนาในทุกด้านจะสําเร็จได้ ถ้าการพัฒนาคนได้ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยมนุษย์เป็นปัจจัยที่สําคัญ ที่สุดของการพัฒนา

 

Advertisement