การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3313 การบริหารการพัฒนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อ ๆ ละ 25 คะแนน

ข้อ 1 จงอธิบาย

1.1 ความหมายของการพัฒนา

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 5 – 6)

ความหมายของการพัฒนา

Edward W. Weidner ได้รวบรวมแนวความคิดของนักวิชาการที่ให้ความหมายของการพัฒนา ว่าอาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1 กลุ่มแรก เห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นเรื่องของความเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งหมายถึง มีการเปลี่ยนแปลงในผลที่ได้ (Output) ของระบบโดยมีปริมาณผลที่ได้สูงขึ้นกว่าเดิม

2 กลุ่มที่สอง เห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระบบที่กระทําการ (System Change หรือ Action Oriented) เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมหรือระบบบริหารในประเทศ ที่กําลังพัฒนา เป็นต้น

3 กลุ่มที่สาม เห็นว่า การพัฒนาเป็นการปฏิบัติการโดยมีจุดมุ่งหมาย (Goal Orientation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย

4 กลุ่มที่สี่ เห็นว่า การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า (Planned Change) แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้ เห็นว่า การพัฒนาที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น จะต้องมีการวางแผนระดับชาติ และมีการนําไปปฏิบัติโดยผู้ปฏิบัติงาน

กล่าวโดยสรุป การพัฒนา หมายถึง การทําให้เกิดความเจริญเติบโต และเพิ่มอัตราให้สูงขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อให้ระบบมีความสามารถในการทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการ ตัดสินใจหรือกําหนดนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และความพอใจแก่คนส่วนใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามความต้องการ หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ

1.2 ความหมายของการบริหารการพัฒนา และคุณลักษณะร่วม 4 ประการ

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 17 – 20)

ความหมายของการบริหารการพัฒนา (Development Administration)

การบริหารการพัฒนาเป็นระบบบริหารที่มีการกําหนดจุดมุ่งหมาย (Goal Oriented) และ มีการปฏิบัติการ (Action Oriented) ตามที่ได้กําหนดจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ซึ่งการบริหารการพัฒนามีคุณลักษณะ ร่วมกันอยู่ 4 ประการ คือ

1 การบริหารการพัฒนามีความหมายที่บ่งชี้สภาพภูมิศาสตร์ (Geographical) แม้ว่า การบริหารการพัฒนาจะมีบ่อเกิดในประเทศที่เจริญแล้วคือสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ได้รับการนํามาประยุกต์ ในประเทศกําลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่ และประเทศที่กําลังพัฒนานี้มักจะมีสถานที่ตั้งอยู่ในเอเซีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา

2 การบริหารการพัฒนาเป็นผลพวงหรือผลลัพธ์ที่ได้มาจากสิ่งอื่น ๆ (Derivative) หมายถึง การบริหารการพัฒนาเป็นผลพวงหรือเกิดจากองค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร การพัฒนาการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม

3 การบริหารการพัฒนาเป็นกระบวนการของความเคลื่อนไหวจากสภาพการณ์หนึ่งไปสู่ เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง นั่นก็คือ จากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่สภาพกําลังพัฒนา และจากสภาพกําลังพัฒนาไปสู่ สภาพการพัฒนาแล้ว และเป้าหมายสุดท้าย คือ การพัฒนาประเทศ

4 การบริหารการพัฒนา มีความหมายที่บ่งชี้ว่าประเทศที่กําลังพัฒนาจะต้องปฏิบัติภารกิจ ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกับภารกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอะไรบ้าง หากประเทศที่กําลังพัฒนาประสงค์จะ เจริญรอยตามประเทศที่เจริญแล้ว จําเป็นต้องปฏิบัติภารกิจทางการบริหารเพื่อให้มีระบบมากขึ้น

1.3 ความหมายและความแตกต่างของการบริหารเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาการบริหาร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 43287 หน้า 95, 101), (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 17 – 20, 31),

(คําบรรยาย) ความหมายของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D)

การบริหารเพื่อการพัฒนา คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายและโครงการพัฒนาขึ้น และต้อง มีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อให้การดําเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

การบริหารเพื่อการพัฒนา หมายถึง การนําเอาสมรรถนะหรือความสามารถที่มีอยู่ในระบบ การบริหารมาลงมือปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาจริง ๆ เพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโต ทั้งทางการบริหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ

ความหมายของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การปรับปรุงกลไกส่วนต่าง ๆ ของการบริหารงานเพื่อให้ สามารถดําเนินการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและประหยัด

การพัฒนาการบริหาร หมายถึง การเพิ่มพูนสมรรถนะของการบริหารที่จะรับมือโดยไม่หยุดยั้ง กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางในการสร้างความก้าวหน้า ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

การพัฒนาการบริหาร คือ การที่รัฐบาลเมื่อมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาสามารถที่จะบริหารงาน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนา

การบริหารเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาการบริหารมีความแตกต่างกัน คือ

ในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น สิ่งที่สําคัญคือ การมีนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การมีนโยบายและโครงการพัฒนา ขึ้นมานั้น รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะต้องมีการจัดองค์การขึ้นมาเพื่อที่จะให้ดําเนินงานให้บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมาย ในการพัฒนา การจัดองค์การขึ้นเพื่อทําหน้าที่นี้จึงเป็นเรื่องของการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development : A of D)

เมื่อองค์การได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว เรื่องที่สําคัญก็คือความสามารถในการบริหารงานให้ สําเร็จตามเป้าเหมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับปัจจัยทางด้านคน เงิน วัสดุ และการจัดการ หรืออื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องของ การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration : D of A)

 

ข้อ 2 จงอธิบายขั้นตอนการวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงและองค์ประกอบของ “การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration)” ด้านโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรม ตลอดจนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการบริหารมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55274 หน้า 51 – 58)

ขั้นตอนการวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงและองค์ประกอบของการพัฒนาการบริหาร (Development of Administration) มีดังนี้

1 ขั้นการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบบริหาร เช่น ปัญหาและอุปสรรคความล้มเหลวของประเทศกําลังพัฒนา เกิดจากอุปสรรคในการระดมเงินออมทั้งภายในและ ภายนอกประเทศเพื่อที่จะนํามาลงทุนเพื่อก่อให้เกิดการผลิตตามแบบการพัฒนาของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก แต่เป็นไปไม่ได้เพราะขาดเงินออม

2 ขั้นการสร้างการยอมรับให้มีการเปลี่ยนแปลง การโน้มน้าวใจบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการ เปลี่ยนแปลง ตลอดจนการวางแผนให้มีการเปลี่ยนแปลง กําหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ดําเนินการพร้อมทั้งศึกษา ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง กรณีที่สถานการณ์ไม่แน่นอนอาจใช้การทดลองหรือสาธิต คือ การทําให้เป็น โครงการนําร่อง ให้มีการทดลองนําแนวคิดนั้นมาปฏิบัติเพื่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาก่อนก็ได้

3 ขั้นการนําแผนไปปฏิบัติ คือ ขั้นตอนของการนํายุทธศาสตร์การพัฒนาไปกําหนดเป็นกิจกรรม ดําเนินงาน นโยบายแห่งรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกําหนดนโยบายรัฐบาลและความต้องการของประชาชนเป็นกรอบสําคัญ ในการกําหนดยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ที่เรียกว่า การบริหารที่ยึดวาระแห่งชาติ (Agenda-Based) รัฐบาล จัดรูปแบบองค์การแนวใหม่

4 ขั้นการประเมินผล และการนําผลการประเมินมาปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาเสียใหม่ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่กิจกรรมการพัฒนาการบริหารได้ดําเนินการไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงควรจัดให้มีการ ทบทวนประเมินผลว่าแต่ละกิจกรรมนั้นมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกันหรือไม่ หากพบว่าได้มีการเบี่ยงเบนไปจาก เป้าหมายใหญ่หรือไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องมีการปรับกิจกรรมให้มุ่งสู่เป้าหมายได้ทันท่วงที ส่วนใหญ่ผู้บริหารมักจะ ตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินขึ้นตรงต่อผู้บริหารเอง เช่น การมีผู้ตรวจราชการประจํากระทรวง ผู้ตรวจราชการ ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 4 ขั้นตอนเป็นรายละเอียดในการพัฒนาแต่ละองค์ประกอบของระบบบริหาร แต่มีสิ่งที่ควรแก้ไข ได้แก่

การพัฒนาโครงสร้างทางการบริหาร โครงสร้างจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อพฤติกรรม การทํางานของคนในองค์การ คือ เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหาร ซึ่งการที่แต่ละองค์การมีโครงสร้างที่แตกต่างกันทําให้พฤติกรรมของคนในองค์การ ตลอดจนสัมฤทธิผลแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ โดยรูปแบบทั่วไปแล้วองค์การส่วนใหญ่จะจัดรูปแบบการบริหารแบบพีระมิด คือ ผู้ที่อยู่บนสุดมีจํานวนน้อย จะมีอํานาจในการตัดสินใจมากที่สุด

สําหรับแนวคิดในการจัดองค์กรยุคใหม่ คือ การจัดในรูปแบบองค์การแนวราบเป็นแบบแมทริกซ์ หรือหากสามารถใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยอาจจะสามารถก้าวเข้าสู่ยุคการจัดองค์กรยุคข้อมูล ข่าวสารแบบ Internal Market เช่น การตั้งผู้ว่า CEO มิใช่เป็นการลดอํานาจหรือก้าวก่ายการทํางานของท้องถิ่น ผู้ว่าฯ จะเป็นแกนประสานการพัฒนาระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติอย่างมี ประสิทธิภาพ เป็นต้น

การพัฒนากระบวนการทางการบริหาร องค์การแต่ละแห่งมักจะมีโครงสร้างที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ระบบการทํางานหรือกระบวนการทํางานในองค์การจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการในการทํางานนี้ จะมีตัวแปรหลายตัวแปร ได้แก่ กระบวนการทํางานของผู้บริหาร คือ การวางแผนงาน วิธีการสั่งงาน การจัดกําลังคน การจัดงบประมาณ การมอบหมายงาน การกํากับควบคุมงาน วิธีการประสานงาน การตัดสินใจ และการสื่อข้อความ นอกจากนั้นในองค์การยังมีหน้าที่ที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการบริหารงานด้านบุคคล หน้าที่ การบริหารงานด้านการเงินการคลัง ฯลฯ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการทํางาน ของคนในองค์การ เช่น องค์การใดใช้บุคคลเป็นผู้กํากับดูแลตรวจสอบการทํางานมากกว่าที่จะใช้กฎหมายแต่เพียง อย่างเดียว การเบี่ยงเบนจากเป้าหมายใหญ่จะลดน้อยลง เป็นต้น

การพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในระบบบริหาร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป็น การเปลี่ยนแปลงที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือกระบวนการทํางาน และต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่ ซับซ้อนกว่าการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายตัวที่อยู่ในระดับที่ต่างกัน (โดยเฉพาะตัวแปร เชิงจิตวิทยาสังคม) นับตั้งแต่ตัวแปรของปัจเจกชน เช่น ทัศนคติ การรับรู้ แรงจูงใจ ภูมิหลังของครอบครัว บุคลิกภาพ ส่วนตัว ตัวแปรกลุ่ม เช่น ผู้นําค่านิยมกลุ่ม ความขัดแย้ง การสื่อสารภายในกลุ่ม จนถึงตัวแปรขององค์การและ สังคมภายนอกองค์การ เช่น ระบบการให้รางวัลและระบบการลงโทษขององค์การ ความคาดหวังที่องค์การมีต่อบุคคล บรรยากาศการทํางาน ตลอดจนสถานการณ์ภายนอก ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนกําหนดพฤติกรรมการทํางานของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น ดังนั้นในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงตัวแปรแต่ละตัวจึงต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการเปลี่ยนแปลง ในด้านอื่น ๆ

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายถึงบรรทัดฐานของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อการพัฒนาองค์กรมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลน :46 หน้า 3)

บรรทัดฐานของเกะนฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มี 7 ประการ ดังนี้

1 ภาวะความเป็นผู้นํา เป็นการศึกษาว่าผู้บริหารอาวุโสขององค์กรนําพาองค์กรไปใน ทิศทางใดและบริษัทได้กล่าวถึงภาระความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และความเป็นพลเมืองที่ดีไว้อย่างไรบ้าง

2 การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการศึกษาทิศทางกลยุทธ์ที่บริษัทวางแผนไว้ และวิธีการหรือ แผนการดําเนินงานเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล

3 การให้ความสําคัญที่ลูกค้าและตลาด ศึกษาว่าบริษัทกําหนดวิธีดําเนินงานเพื่อตอบสนอง ต่อความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้าและตลาดอย่างไร

4 การวิเคราะห์และเตรียมข้อมูล เป็นการศึกษาวิธีการจัดการการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนรายละเอียดเพื่อสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการดําเนินงานที่สําคัญ ๆ ของบริษัท รวมถึงระบบการจัดการด้านการดําเนินงานของบริษัท

5 การให้ความสําคัญแก่ทรัพยากรมนุษย์ เป็นการศึกษาดูว่าบริษัทสามารถนํากําลังคน มาใช้พัฒนาศักยภาพของบริษัทได้อย่างเต็มกําลังความสามารถหรือไม่ และแรงงานที่มีได้รับการมอบหมายการ ดําเนินงานให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของบริษัทหรือไม่

6 การจัดการกระบวนการ เป็นการศึกษาแง่มุมการดําเนินงานต่าง ๆ เช่น การผลิต การส่งสินค้า กระบวนการสนับสนุนว่า ได้รับการออกแบบหรือการจัดการ และได้รับการปรับปรุงพัฒนาวิธีการอย่างไร

7 ผลการดําเนินงานทางธุรกิจ เป็นการศึกษาผลการดําเนินงาน และการปรับปรุงบริษัท ในแง่มุมดังนี้ ได้แก่ ความพึงพอใจของลูกค้า ผลการดําเนินงานด้านการเงิน การตลาด และทรัพยากรบุคคล ผลการ ดําเนินงานของบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบ (Supplier) และหุ้นส่วนธุรกิจ ผลการดําเนินงานในระดับปฏิบัติการโดยเป็น การศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีการของคู่แข่ง

 

ข้อ 4 ให้นักศึกษาอธิบายเปรียบเทียบสถานภาพขององค์ความรู้ทางการบริหารรัฐกิจในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา

แนวคําตอบ เอกสารหมายเลข 7 หน้า 1 – 2)

สถานภาพของการบริหารรัฐกิจ

จากปฏิทินการบริหารรัฐกิจที่เสนอในหนังสือ Classic of Public Administration, 2005 จะพบว่า สถานภาพของการบริหารรัฐกิจได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ําเสมอ เริ่มจากปี ค.ศ. 1776 ประเทศ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเอกราชจนกระทั่งก่อนปี ค.ศ. 1887 การบริหารรัฐกิจของอเมริกายังอยู่ในขั้นของการ วางรากฐานของกระบวนทัศน์เท่านั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 เป็นต้นมา การบริหารรัฐกิจของอเมริกาเริ่มปรับตัวเข้าสู่ กระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศในยุโรป การบริหารรัฐกิจ จึงค่อย ๆ แยกตัวออกจากรัฐศาสตร์หรือการเมือง สถานภาพของการบริหารรัฐกิจในช่วงนี้อยู่ระหว่างการสร้าง

เอกลักษณ์กระบวนทัศน์ แนวคิดและทฤษฎีของตน ต่อมาได้มีการพบว่า ยิ่งการบริหารรัฐกิจแสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเท่าใดก็ยิ่งถอยห่างออกจากความเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น เพราะการบริหารรัฐกิจมีลักษณะเป็น วิชาชีพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐศาสตร์

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 – 1968 การบริหารรัฐกิจได้พัฒนาวิชาชีพของตน เพื่อรับใช้ระบบราชการ ได้อย่างกว้างขวาง ขอบข่ายของการบริหารรัฐกิจได้พัฒนาและขยายตัวออกจากขอบข่ายดั้งเดิมที่เป็นการบริหารงาน บุคคล งานคลังและงานองค์การ โดยขยายเป็นการบริหารนโยบายการบริหารพัฒนา การบริหารงบประมาณ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารแรงงานสัมพันธ์ การบริหารงานองค์การปกครองท้องถิ่น การบริหารงาน ตุลาการ การบริหารรัฐสภา การบริหารงานรัฐบาล และการบริหารความมั่นคงสาธารณะ

และในปี ค.ศ. 1968 ได้เกิดคลื่นลูกใหม่ในวงวิชาการบริหารรัฐกิจ หรือเกิดปรากฏการณ์ที่ เรียกว่า การบริหารรัฐกิจแนวใหม่ (New Public Administration) โดยนักวิชาการในกลุ่มนี้ได้มุ่งเน้นความสนใจ ไปที่ความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากการเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา สถานภาพของการบริหารรัฐกิจก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีก ครั้งหนึ่ง เพราะได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการหลังนวยุค (Postmodern) ซึ่งคําว่า หลังนวยุคหรือหลังสมัยใหม่นี้ หมายความว่า ความจริงย่อมแตกต่างไปตามกาลเทศะ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีชุดความเป็นจริงของตนเอง ด้วยกันทั้งนั้น และไม่มีระบบความเชื่อชุดใดชุดหนึ่งที่สามารถอธิบายความจริงได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรา จะทําอะไรก็แล้วแต่เราต้องอาศัยความหลากหลายจากหลายฝ่าย การมีส่วนร่วม การเสริมพลังอํานาจ และการยอม ให้มีทางเลือกต่าง ๆ ในการพิจารณาความเชื่อต่าง ๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การผูกขาดวิธีคิด การใช้ระบบเหตุผล และการสร้างมาตรฐานสากล โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ไม่สามารถเข้าถึงความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรยึดวัฒนธรรมใด วัฒนธรรมหนึ่งเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจทุกเรื่อง แต่ต้องทําความเข้าใจร่วมกันในวัฒนธรรมที่ต่างกัน รวมตลอดถึงไม่ควรมีการจัดรูปแบบความคิดหรือสร้างกฎเกณฑ์สากลมาครอบงํา แต่ควรจะยอมรับความแตกต่างและ ความขัดแย้งตามข้อเท็จจริง

แม้ว่าการบริหารรัฐกิจจะได้รับผลกระทบจากแนวคิดหลังนวยุค แต่สถานภาพของการบริหารรัฐกิจ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางหรือมุมมองของตนแต่อย่างใด ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ทางการจัดการผลิตภาพและ คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้มีการดึงการจัดการ (Management) ให้เข้าสู่สถานภาพการจัดการภาครัฐ (Public Management) เพื่อเสริมสร้างหลักการบริหารพัฒนาของวิชาการบริหารรัฐกิจซึ่งเห็นเด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากก็คือ ผลงาน Reinventing (Government ของ Osborne และ Gaebler ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1992 และผลงาน Productivity and Quality Management ของ Holzer ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1995

 

 

 

Advertisement