การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา
คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (ข้อละ 33 คะแนน)
ข้อ 1 ให้นักศึกษาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการเมืองมาโดยสังเขป และให้อธิบายความสําคัญของ “ความคิดทางการเมือง”
แนวคําตอบ
ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์และการเมืองมีความสัมพันธ์ต่อกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการเมืองเกิดขึ้นจากความจําเป็นของชีวิตสังคมมนุษย์ ในที่นี้ฐานการอธิบายเรื่องมนุษย์และการเมืองที่ เด่นชัดที่สุดจะนํามาจากนักปรัชญาการเมืองชาวกรีกโบราณและเป็นนักปรัชญาทางด้านวิชารัฐศาสตร์ คือ โสเครตีส (Socrates) และอริสโตเติล (Aristotle)
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการเมือง
โสเครตีส (Socrates) และอริสโตเติล (Aristotle) ได้อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับการเมืองโดยสรุปได้ดังนี้
โสเครตีส (Socrates) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) มีสัญชาตญาณแห่ง ความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รัฐเป็นสิ่งที่ดีและจําเป็น เพราะเป็นแหล่งที่คนสามารถพบ กับชีวิตที่ดี คนสามารถเรียนรู้คุณธรรมจากเพื่อนร่วมสังคมของเขา ถ้าไม่มีรัฐแล้วคนก็จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับคุณธรรม นอกจากนี้รัฐยังเป็นสถานที่ที่สนองความต้องการหลากหลายของคน เพราะการอยู่ร่วมกันในรัฐทําให้มี การแบ่งหน้าที่กันทํา คนก็จะสามารถให้บริการซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้นการอยู่ดีมีสุขในรัฐประเสริฐกว่าการอยู่ดี มีสุขของคนที่แยกตัวไปอาศัยนอกรัฐ”
อริสโตเติล กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิต อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เหล่า มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในมวลสมาชิก ดังจะเห็นว่าทุกวันเรามีความจําเป็นที่ จะต้องติดต่อและเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนเหล่านี้มี ความสัมพันธ์กับเราทางตรง และยังมีผู้ที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไป เช่น คนขายของ คนขับรถเมล์ และคนใน สังคมอื่น ๆ คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้สนทนากับเราโดยตรงแต่พวกเขาก็มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับเรา”
อริสโตเติล ยังกล่าวอีกว่า “โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (Political Animal) คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องการให้มีการปกครอง เมื่อในสังคมมีการปกครองมีผลให้มนุษย์ในสังคมถูกแบ่งออกเป็นชนชั้น ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง การเมืองจึงเกิดขึ้นในท่ามกลางชุมชนทางการเมืองที่ประกอบด้วยกลุ่มหลากหลาย ซึ่งมีผลประโยชน์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยมที่แตกต่างกันและมาอยู่ร่วมกันภายในอาณาเขตปกครองเดียวกัน โดยมีกิจกรรมทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการธํารงความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนการเมืองนั้น จากความจําเป็นทางธรรมชาติของมนุษย์ที่ทําให้เกิดองค์กรทางการเมืองและกิจกรรมการเมืองดังกล่าวข้างต้น”
สรุปทัศนะของโสเครตีสและอริสโตเติลเรื่องมนุษย์และการเมืองได้ว่า หน่วยทางสังคมที่มนุษย์ อาศัยอยู่ทั้งจุลภาคและมหภาคนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธ การเมืองได้เลย เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วไม่สามารถดํารงชีวิตได้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อมีชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ จึงจําเป็นต้องมีสังคมการเมืองขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกัน เมื่อสังคมการเมืองเกิดมาแล้วต้องมีผู้ปกครอง เพื่อดําเนินการ ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในสังคมการเมืองนั้น ๆ และผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย
ความสําคัญของความคิดทางการเมือง
ความคิดทางการเมืองเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของการเมืองโลกในแต่ละยุคสมัยของ สังคม ดังนั้นความคิดทางการเมืองจึงมีความสําคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
1 มีส่วนช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะจะทําให้ผู้ที่ศึกษาเข้าสู่บรรยากาศ ความคิดในสมัยก่อน ช่วยให้เข้าใจถึงพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ สําคัญ ๆ เพราะเหตุที่ว่าปรากฏการณ์ในอดีตเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ จึงเป็นการจําเป็นที่จะต้อง ทราบถึงความคิดที่ชักจูงให้เกิดการกระทํานั้น เช่น การที่จะเข้าใจถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์โลกสมัยกลาง (Middle Age) นั้น จําเป็นต้องทราบถึงการพิพาทแย่งความเหนือกว่าในการปกครองคนระหว่างจักรพรรดิกับ สันตะปาปา เป็นต้น
2 ความรู้ในความคิดทางการเมืองแห่งอดีตนั้นมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงการเมืองในสมัยปัจจุบัน เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในอดีตหรืออาจเทียบเคียงได้กับ ปรากฏการณ์ในอดีต และหลักการเมืองต่าง ๆ ที่นํามาใช้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของความคิดทางการเมือง สมัยก่อน เช่น ทฤษฎีการแบ่งแยกอํานาจในระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกามีรากฐานมาจากความคิดของ เมธีการเมืองสมัยกลาง เป็นต้น
3 มีความเข้าใจในนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการปกครอง เพราะประเทศ ทุกประเทศต้องมีหลักการอันเกิดจากปรัชญาการเมืองใดการเมืองหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่นํารัฐบุรุษและประชาชนในการ วางนโยบายหรือปฏิรูปการปกครอง ความก้าวหน้าหรือประสบความสําเร็จของระบบการเมืองในประเทศเป็นผลมาจาก การวางโครงร่างการปกครองอยู่บนทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และความต้องการของประเทศนั้น
4 ยอร์ช แคทเทืบ กล่าวถึงความสําคัญของความคิดทางการเมืองต่อชีวิตทั่วไปของ มนุษย์ไว้ 3 ประการ คือ
1) ต้องการคําแนะนําซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น ควรวางความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานหรือควรกระจายอํานาจหน้าที่หรือควรกําหนดความรับผิดชอบอย่างไร
2) ต้องการความถูกต้องเพื่อตัดสินเมื่อเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจระหว่างบุคคล
3) ต้องการทักษะ (Skit) ในการทํานายเหตุการณ์ในอนาคตได้ถูกต้องหรือใกล้เคียง
5 ทําให้เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี (Good Human Relations) เพราะเหตุว่า ทฤษฎีการเมืองสอนให้รู้จักความหลากหลายของธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยใจคอคน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความคิดทางการเมืองมีความสําคัญดังประเด็นดังกล่าวข้างต้น เช่น มีส่วน ช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ หรือมีส่วนช่วยให้มีความเข้าใจนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการ ปกครอง อีกทั้งความคิดทางการเมืองมีความสําคัญต่อมนุษย์ในสองมิติหลัก คือ มิติในเรื่องส่วนตัวและในเรื่องสาธารณะ
ข้อ 2 จงอธิบายหลักการและรายละเอียดเรื่องรัฐโลกวิสัย พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
แนวคําตอบ
รัฐโลกวิสัย (Secular State) สามารถอธิบายความหมายได้ 2 แนวทาง คือ
1 รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือ การปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น
2 รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐโลกวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา
ทั้งนี้การจะพิจารณาว่ารัฐใดเป็นรัฐโลกวิสัยหรือไม่นั้นสามารถพิจารณาได้จากหลักการดังต่อไปนี้ หลักการของรัฐโลกวิสัย หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกวิสัยมี 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ
หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชน ในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียที่สนับสนุนรัฐโลกวิสัย มีความเป็นเสรีภาพในการ นับถือศาสนาในความเชื่อโดยเสรี ดูแลทุกศาสนา ทําให้ทุกศาสนามีบทบาททางสังคม โดยที่รัฐบาลไม่ไปมีบทบาท มากนัก
2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่จากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย
หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็น เรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุมและสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนา ควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว
ยกตัวอย่างเช่น การที่ไม่มีองค์กรกลางที่พยายามควบคุมการตีความคําสอนหรือ พฤติการณ์ทางศาสนาของทุกคนให้เป็นแบบเดียวกัน เพราะศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลมีเสรีภาพ ในการตีความคําสอนหรือพฤติการณ์ทางศาสนา เพื่อที่จะนําไปปฏิบัติได้เอง
3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา และกําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ในปฏิทินของประเทศต้องยกเลิกวันหยุดทางศาสนา หรือหากมีก็ไม่ใช่ วันหยุดภาคบังคับ แต่จะเป็นตัวเลือกของคนในศาสนานั้นเท่านั้น นอกจากนี้ในสถานศึกษาและหลักสูตรการศึกษาต้องมี ความเป็นกลางทางศาสนา ให้ศาสนาเป็นทางเลือก ไม่ใช่เรื่องบังคับ และมีเนื้อหาสําหรับการไม่นับถือศาสนา ไม่มีพิธี ทางศาสนาในสถานศึกษา ยกเว้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่แสดงชื่อและวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรงและเปิดเผย
4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา
หมายความว่า การกระทําความผิดของประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสิน การกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ถ้าใครคนหนึ่งถูกฟ้องว่าฆ่าคนตาย ศาลก็จะตัดสินลงโทษจําเลยเพราะกระทําความผิดฐานฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เพราะจําเลย ทําผิดศีลข้อหนึ่งในเบญจศีลที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า หลักการหรือลักษณะของรัฐโลกวิสัย 4 ประการข้างต้นนั้น มีความเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกันเพื่อจะเป็นรัฐโลกวิสัย โดยเริ่มจากรัฐต้องไม่มีการบัญญัติเรื่องศาสนาไว้ในกฎหมายและรัฐควรปฏิบัติ ต่อประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในเรื่องศาสนา นอกจากนั้นประชาชนยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือก นับถือศาสนา
ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ (เลือกทํา 3 ข้อ)
(1) รัฐโลกวิสัย
(2) สาธารณรัฐ
(3) ประชาธิปไตยทางตรง
(4) วรรณะพราหมณ์
(5) วรรณะแพศย์
(6) วรรณะศูทร
แนวคําตอบ
(1) รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะ มีความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น
(2) สาธารณรัฐ (Republic) เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งคําว่า “Republic” มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครอง สาธารณรัฐก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง
(3) ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองที่พลเมือง (Citizen) ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ใช้อํานาจ ในการปกครองโดยตรงด้วยการประชุมร่วมกัน ทั้งนี้เมื่อพลเมืองชายชาวเอเธนส์อายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เป็นสมาชิก ของสภาประชาชนโดยอัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจากการที่พลเมืองชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเองนั้น เรียกการปกครองลักษณะแบบนี้ว่า ประชาธิปไตย ทางตรง (Direct Democracy)
(4) วรรณะพราหมณ์ ถือกําเนิดมาจากปากของพระพรหม แต่งกายด้วยสีขาวซึ่งแสดงถึง ความบริสุทธิ์ ทําหน้าที่เป็นนักบวชหรือตัวกลางในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ
(5) วรรณะแพศย์ ถือกําเนิดมาจากสะโพกหรือตักของพระพรหม แต่งกายด้วยสีเหลืองซึ่ง แสดงถึงทรัพย์สินเงินทอง ทําหน้าที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่การค้า การเกษตร การช่าง และหัตถกรรม
(6) วรรณะศูทร ถือกําเนิดมาจากฝ่าเท้าของพระพรหม แต่งกายด้วยสีดําและสีอื่น ๆ ที่ดู หม่นหมอง ทําหน้าที่เป็นผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกรซึ่งรวมถึงชาวนาด้วย
ข้อ 4 ผู้ปกครองในแนวคิดการเมืองเรื่องธรรมราชา มีการแบ่งแยกเป็น กษัตริย์ ราชา และจักรพรรดิ ให้นักศึกษาอธิบายความหมายและแหล่งที่มาของอํานาจ ของผู้ปกครองแต่ละแบบให้ครบถ้วนและชัดเจน
แนวคําตอบ
ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย โดยพญาลิไททรงศรัทธาในความเป็นจักรพรรดิที่เป็นธรรมราชา โดยการที่พญาลิไททรงประพันธ์ไตรภูมิพระร่วงนั้น ทรงเป็นความพยายามที่จะใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และกล่าวได้ว่า ไตรภูมิพระร่วงจัดว่าเป็น แนวคิดทางการเมืองไทยที่เป็นระบบและชัดเจนที่สุด มีความต่อเนื่องและได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามากที่สุด
ในไตรภูมิพระร่วงนั้น พญาลิไททรงให้ความสําคัญกับแนวคิดเรื่องจักรพรรดิ เพราะพระองค์ ทรงเห็นว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่เหมาะสมควรเป็นมหาธรรมราชาหรือผู้ที่ใช้ธรรมะในการปกครอง พระองค์ทรง วางให้จักรพรรดิเป็นผู้ปกครองที่มีธรรมสูงสุดในบรรดาผู้ปกครองทั้งหมด โดยแยกประเภทของผู้ปกครองไว้ดังนี้
กษัตริย์ คือ ผู้ทําหน้าที่ปกครอง ในความหมายเดิมจะหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่รบ ป้องกันภัย แก้ไขข้อขัดแย้งให้กับคนอื่น เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมให้ทําหน้าที่เฉพาะเรื่อง ไม่ต้องหาเลี้ยงชีพแต่จะ ได้รับค่าตอบแทนจากบุคคลที่ตนเองให้ความคุ้มครอง โดยถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคนในสังคม
ราชา คือ ผู้ปกครองที่ยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปวงชนพอใจ หรืออาจหมายถึงกษัตริย์ที่ ประชาชนพอใจ เป็นที่นิยมชมชอบเพราะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและทําหน้าที่ด้วยความยุติธรรม
จักรพรรดิ คือ ผู้ปกครองที่ประชาชนพอใจและเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงเกินกว่ากษัตริย์และราชาทั้งปวง มีความหมายรวมถึงผู้ปกครองที่สามารถแผ่อาณาจักรได้อย่างกว้างขวางและมีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพและพึงพอใจของประชาชน
หรือจักรพรรดิ คือ ผู้ปกครองที่มีภารกิจช่วยคนในโลกให้พ้นจากวัฏสงสาร พ้นจากความขัดแย้ง ทั้งปวง การเสด็จของจักรพรรดิไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการขยายอาณาจักร ไม่ใช่การกรีฑาทัพ เพื่อทําสงคราม แต่เมื่อไปถึงที่ใดท้าวพระยาทั้งหลายก็มาถวายตัวเป็นข้าเอง แต่จักรพรรดิก็มิได้ประสงค์สิ่งใด นอกจากการสั่งสอนธรรม ให้รู้ในธรรมเท่านั้น
ข้อ 5 นักศึกษาคิดว่า การดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ และการเข้าเป็นสมาชิกศากยะสังฆะของเจ้าชายสิทธัตถะ มีผลต่อแนวคิดของพระพุทธเจ้าในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์อย่างไร ให้อธิบายเหตุผลประกอบการให้ความเห็นโดยละเอียด
แนวคําตอบ
เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้า ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองแคว้นสักกะ ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม
จากการดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ในด้านการศึกษา เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาศิลปศาสตร์จากพราหมณ์ในราชสํานักจนสําเร็จ และทรงศึกษาสรรพวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่จําเป็นสําหรับกษัตริย์ในสมัยนั้น เพื่อเตรียมการสําหรับตําแหน่งพระราชาหรือจักรพรรดิในอนาคต
ในด้านการงานหรือการเมืองนั้น กฎหมายกําหนดให้ชายชาวศากยะที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกของสภามนตรีที่เรียกว่า “ศากยะสังฆะ” ซึ่งจะประชุมกันเป็นประจําเพื่อพิจารณาหาทางส่งเสริม รักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุนิติภาวะจึงทรงสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของ ศากยะสังฆะ และได้กล่าวปฏิญาณต่อศากยะสังฆะว่า
1 ข้าพเจ้าจะอุทิศทั้งกาย ใจ และทรัพย์สินของข้าพเจ้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ
2 ข้าพเจ้าจะไม่ขาดประชุม
3 ข้าพเจ้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าศากยะคนใดทําผิดหน้าที่ทําลายผลประโยชน์ของชาวศากยะ ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ศากยะสังฆะทราบโดยไม่ปิดบัง
4 ข้าพเจ้าจะไม่โกรธเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดใด ๆ และจะยอมรับผิด ถ้ากระทําผิดต่อข้อบัญญัติของศากยะสังฆะจริง
เจ้าชายสิทธัตถะเป็นสมาชิกศากยะสังฆะนี้ถึง 9 ปี ก่อนที่จะเสด็จออกทรงผนวช ดังนั้นจึง เชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงคุ้นเคยรอบรู้ในระบบการเมืองในแบบสามัคคีธรรมเป็นอย่างดี
ผลต่อแนวคิดในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้ามาสู่ความเสมอภาคกัน เหมือน ทะเลที่รับน้ําจากแม่น้ําทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน ทําให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลาง เผยแพร่วัฒนธรรมและการศึกษาที่สําคัญยิ่ง ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้เพื่อให้ทุกคน ทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง
การปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้า เป็นการปกครองที่มีการบัญญัติพระวินัย แต่ในทางปฏิบัติ ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติอย่างมีความยืดหยุ่นและพิจารณาความเป็นจริง ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการปกครองหมู่สงฆ์ ในครั้งแรก และเป็นการปกครองที่มีความพิเศษที่แสดงถึงความมีเมตตากรุณาและพระทัยที่กว้างขวางของพระองค์
นอกจากพระวินัยที่ใช้ในการปกครองแล้ว สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นปกติ คือ การมี ความสัมพันธ์อันเสมอภาคกับสานุศิษย์ มีความเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย มีความสํารวมแต่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร มีการปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไม่รังเกียจ แม้เมื่อต้องพยาบาลพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยก็ตาม
ทั้งนี้จากการที่พระพุทธเจ้าเป็นสมาชิกศากยะสังฆะนั้น ได้ทําให้พระองค์ได้ใช้พื้นฐานการปกครอง แบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ มาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่
1 ให้คณะสงฆ์เป็นผู้แทนของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่ธรรมเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อ พิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีอิทธิพลของการปกครองแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ตามลักษณะ การปกครองของรัฐสักกะ ซึ่งการนําลักษณะการปกครองดังกล่าวมาใช้ในการปกครองสงฆ์นี้ไม่มีเนื้อหาทางโลกย์ แต่มีเนื้อหาทางธรรมที่ใครก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ลักษณะการปกครองแบบคณะสงฆ์นี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยคําว่า “สังฆะ” หมายถึง ผู้แทน (Assembly) ในศาสนาพุทธจึงหมายถึง เหล่าภิกษุที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่ทําหน้าที่เผยแผ่ธรรมของพระองค์เท่านั้น
2 ทรงเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงแนะนําภิกษุมิให้ โกรธหากใครมาว่ากล่าวติเตียนพระองค์หรือหลักธรรมหรือแม้แต่คณะสงฆ์ของพระองค์ และในทางกลับกันเมื่อมี คนชมเชยก็มิให้ชื่นชมโสมนัส รวมทั้งทรงแนะให้ภิกษุอธิบายเพื่อรับรองคํากล่าวชมนั้นว่าจริงแท้อย่างไร สรุปคือ ทรงแนะนําให้ยินดีหรือยินร้ายนี้ คือ การวางตนในทางสายกลาง
3 ใช้การอธิบายและปฏิบัติเป็นสิ่งที่พิสูจน์หลักธรรมของพระองค์ กล่าวคือ พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้มีการตรวจสอบธรรมของพระองค์ได้เสมอ ทรงชี้ให้เห็นว่า หลักธรรมหรือการปฏิบัติตนของ พระองค์สามารถพิสูจน์ได้ผ่านการพูดคุยหรือการปฏิบัติให้เห็น
4 ทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ด้วยหลักขันติธรรม กล่าวคือ พระพุทธเจ้า ทรงใช้การตักเตือนหรือชี้ให้เห็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่หากไม่เป็นผลในบางกรณีพระองค์ทรงใช้การนิ่งเฉย ไม่อยู่ ร่วมสังฆกรรม ดังกรณีความขัดแย้งของพระสงฆ์หรือโกสัมพีที่เกิดแตกความสามัคคีเมื่อห้ามปรามไม่ฟัง พระองค์ ก็จาริกไปที่อื่น ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสงฆ์เหล่านั้น ไม่กราบไหว้และไม่ถวายภัตตาหาร จนที่สุดพระสงฆ์ ต้องยุติแตกแยกและขอขมาต่อพระองค์
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ และการเข้าเป็นสมาชิกศากยะ สังฆะของเจ้าชายสิทธัตถะ มีผลต่อแนวคิดของพระพุทธเจ้าในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์ เช่น การใช้ การปกครองในรูปแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์มาใช้ในการปกครองหมู่ภิกษุและภิกษุณีใน ศาสนา รวมทั้งการเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่างออกไป และพร้อมแลกเปลี่ยน โดยไม่ชื่นชมหรือติเตียน หรือ การวางตนในทางสายกลาง เป็นต้น