การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2310 ทฤษฎีองค์การ
คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทุกข้อ
ข้อ 1 การแบ่งยุคทฤษฎีองค์การออกเป็น 3 ยุคได้แก่อะไรบ้าง แต่ละยุคมีลักษณะและคุณสมบัติขององค์การอย่างไร เหมาะกับการนําไปใช้ในองค์การประเภทใด
แนวคําตอบ
- Richard Scott ได้แบ่งยุคทฤษฎีองค์การออกเป็น 3 ยุค ได้แก่
1 สํานักเหตุผลนิยม หรือสํานักคลาสสิก
ลักษณะของสํานักเหตุผลนิยม ได้แก่
1 เป็นองค์การระบบปิด
2 อาศัยโครงสร้างเข้ามาควบคุมคน
3 การบริหารคํานึงถึงประสิทธิภาพและประหยัด
คุณสมบัติขององค์การตามแนวคิดของสํานักเหตุผลนิยม ได้แก่
1 เป็นกลุ่มสังคม ประกอบด้วยคน 2 คนขึ้นไปมารวมตัวกันและมีปฏิสัมพันธ์ในการทํางานและการรวมกลุ่มต้องมีการประสานกันอย่างมีสํานึก
2 มีขอบเขตที่ชัดเจน
3 มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง
4 มีการจัดแบ่งอํานาจหน้าที่
5 ใช้กฎระเบียบ การดําเนินการ การควบคุมและเทคนิค
6 ใช้การสื่อสารอย่างเป็นทางการ
7 เน้นความชํานาญเฉพาะด้านและการจัดแบ่งงาน
8 มีการว่าจ้างผู้มีทักษะ และมีความรู้ความชํานาญเข้ามาทํางานในองค์การ
การประยุกต์ใช้
แนวคิดของสํานักเหตุผลนิยมให้ความสําคัญกับโครงสร้างองค์การ จึงเหมาะที่จะนําไป ประยุกต์ใช้กับองค์การแบบราชการ (Bureaucracy) และองค์การที่เป็นทางการ (Format Organization)
2 สํานักธรรมชาตินิยม หรือสํานักนีโอคลาสสิก
ลักษณะของสํานักรวรมชาตินิยม ได้แก่
1 สนใจพฤติกรรมของคน
2 เห็นคนเป็นปัจจัยที่สําคัญขององค์การ
3 ถ้าคนมีประสิทธิภาพจะแก้ปัญหาขององค์การได้
คุณสมบัติขององค์การตามแนวคิดของสํานักธรรมชาตินิยม ได้แก่
1 ต้องมีโครงสร้างเชิงพฤติกรรม เช่น ลักษณะและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและกลุ่ม
2 ขึ้นอยู่กับความเต็มใจของสมาชิกในการอุทิศเวลาในการทํางาน
3 แสวงหาความอยู่รอด
4 เน้นการมีส่วนร่วม
5 ใช้การสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ การประยุกต์ใช้
แนวคิดของสํานักธรรมชาตินิยมเหมาะที่จะนําไปประยุกต์ใช้กับองค์การที่ไม่เป็นทางการ (Informal Organization) เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กลุ่มให้คําปรึกษาทางกฎหมาย กลุ่มสหกรณ์ เป็นต้น
3 สํานักระบบเปิด
ลักษณะของสํานักระบบเปิด ได้แก่
1 เน้นคนและคํานึงถึงสิ่งแวดล้อมขององค์การ
2 เน้นให้องค์การต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งแวดล้อม และรู้จักการบริหารงานให้เป็นระบบในลักษณะบูรณาการ
3 ให้ความสําคัญกับข้อมูลป้อนกลับ
คุณสมบัติขององค์การตามแนวคิดของสํานักระบบเปิด ได้แก่
1 เป็นระบบที่มีลําดับชั้น
2 มีความสามารถในการดํารงรักษาตนเอง โดยอาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับสิ่งแวดล้อม
3 ระบบประกอบด้วยปัจจัยนําเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output)
4 ไม่มีขอบเขตชัดเจน
5 เป็นระบบที่ทํางานเองโดยอัตโนมัติ การประยุกต์ใช้
แนวคิดของสํานักระบบเปิดเหมาะที่จะนําไปประยุกต์ใช้กับองค์การสมัยใหม่ เช่น องค์การ แบบเครือข่าย (Network Organization) และองค์การเสมือนจริง (Virtual Organization) เป็นต้น
ข้อ 2 องค์การในอนาคตควรมีลักษณะอย่างไร จงอธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน แนวคําตอบ
รูปแบบการจัดองค์การที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการจัดรูปองค์การแบบระบบ ราชการ (Bureaucracy) ตามแนวคิดของ Max Weber ซึ่งเชื่อว่าเป็นองค์การที่มีขีดความสามารถสูงและสามารถ ทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในระยะหลังนี้พบว่าองค์การแบบระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไปแล้ว โดยมีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาโจมตีองค์การตามรูปแบบดังกล่าว เช่น Victor Thompson เห็นว่า องค์การ แบบระบบราชการมีลักษณะเป็น “โรคระบบราชการ” (Bureau Pathology) และ Warren Bennis เห็นว่า โครงสร้าง ขององค์การแบบระบบราชการมีลักษณะเป็น “การตายขององค์การที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่” (The Dead of Bureaucracy) ดังนั้นจึงมีความจําเป็นต้องหารูปแบบขององค์การแบบใหม่มาใช้ในการจัดโครงสร้างองค์การ เพื่อทําให้องค์การมีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการแข่งขันกับองค์การอื่น สามารถแข่งขันกับความก้าวหน้าได้ รวมทั้งสามารถเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
นักวิชาการที่เสนอลักษณะขององค์การในอนาคต เช่น Toffler เสนอว่า รูปแบบขององค์การ ที่เข้ามาแทนที่องค์การแบบระบบราชการในอนาคตนั้น ควรมีลักษณะเป็น “องค์การเฉพาะกิจ” (Adhocracy) ซึ่งสามารถยกเลิกไปได้ง่ายเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจและเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการเสนอว่า “ลักษณะงานขององค์การในอนาคต” ควรมีลักษณะดังนี้
1 เปลี่ยนจากแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Work) เป็นแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ(Knowledge Work)
2 เปลี่ยนจากงานที่ทําซ้ําซาก (Meaningless Repetitive Tasks) เป็นงานที่ทันสมัย และท้าทาย (Innovation and Caring)
3 เปลี่ยนจากงานที่ต่างคนต่างทํา (Individual Work) เป็นการทํางานเป็นทีม (Teamwork)
4 เปลี่ยนจากงานที่แบ่งตามขั้นตอน (Functional-Base Work) เป็นการทํางานแบบโครงการ (Project-Base Work)
5 เปลี่ยนจากงานที่ต้องอาศัยทักษะอย่างเดียว (Single-Skilled) เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้หลายอย่าง (Multi-Skilled)
6 เปลี่ยนจากการยึดถืออํานาจของผู้บังคับบัญชา (Power of Bosses) เป็นการยึดถืออํานาจของลูกค้าเป็นสําคัญ (Power of Customers)
7 เปลี่ยนจากความสัมพันธ์จากบนลงล่าง (Coordination from Above) เป็นความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน (Coordination Among Peers)
ข้อ 3 จงอธิบายเปรียบเทียบถึงความสอดคล้องของผลงานของนักคิดกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ โดยยกตัวอย่างผลงานมาอย่างน้อย 2 คน
แนวคําตอบ
นักคิดกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ เป็นกลุ่มที่ทําการศึกษาพฤติกรรมในองค์การ คือ ศึกษาเรื่อง ของการกระทําและการแสดงออกของมนุษย์ในองค์การทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคล ตัวอย่างของนักคิด กลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ที่สําคัญ ได้แก่ Abraham Maslow, Clayton Alderfer, Douglas Murray McGregor, Frederick Herzberg, McClelland เป็นต้น
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างผลงานของ Abraham Maslow และ Frederick Herzberg มาอธิบาย ซึ่งนักคิดทั้งสองท่านนี้มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน
Abraham Maslow
Maslow ได้เสนอ “ทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 5 ประการ” (Five Basic Needs Theory) โดยเห็นว่า ผู้บริหารจะสามารถสร้างแรงจูงใจแก่พนักงานได้หากคํานึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันไป ตามลําดับขั้นความต้องการของมนุษย์ ดังนี้
1 ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) คือ ปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหารและน้ํา ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ปัจจุบันยังอาจหมายความรวมถึงการติดต่อสื่อสารด้วย
2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) คือ ความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สิน ความมั่นคงในการดํารงอยู่ เช่น การไม่ถูกไล่ออกจากงาน เป็นต้น
3 ความต้องการความรักและการยอมรับ (Love Needs หรือ Social Needs) คือ ความต้องการความรักทั้งเป็นผู้รับและผู้ให้ และการได้รับการยอมรับในสังคม
4 ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ (Esteem Needs) คือ ความต้องการในการได้รับ การชื่นชมและการสรรเสริญจากสังคม
5 ความต้องการความสําเร็จที่เกิดจากตนเอง (Self-Actualization Needs) คือ ความ ต้องการทําในสิ่งที่ตนสามารถจะทําได้ เพื่อเป็นการสนองต่อความพอใจหรือความปรารถนาของตนเอง เช่น การบวช ความร่ํารวย เป็นต้น
ตามทฤษฎีของ Maslow นี้ เมื่อมนุษย์ได้รับการตอบสนองความต้องการด้วยขั้นของความ ต้องการใดไปแล้ว ความต้องการขั้นนั้นจะไม่มีผลในการจูงใจมนุษย์คนนั้นอีก ดังนั้นองค์การสามารถนําแนวทาง ดังกล่าวไปพิจารณาตอบสนองเพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่คนงานได้โดยการตอบสนองตามระดับ อย่างไรก็ตาม การตอบสนองความต้องการแต่ละระดับนั้น องค์การไม่ควรตอบสนองความต้องการนั้น ๆ เต็มที่ มิฉะนั้นแล้ว ความต้องการดังกล่าวจะไม่ใช่เป็นตัวมูลเหตุจูงใจให้คนงาน เพราะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ขององค์การนั่นเอง
Frederick Herzberg
Herzberg ได้เสนอ “ทฤษฎีสองปัจจัย” (Two Factors Theory) โดยเห็นว่า ความต้องการ มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนงานโดยความต้องการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1 ปัจจัยจูงใจ (Motivation Factors) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ได้แก่ ความสําเร็จ ของงาน การได้รับการยอมรับผลงาน ความก้าวหน้าของงาน ความรับผิดชอบในงานที่มากขึ้น และลักษณะของงาน ที่ท้าทายน่าสนใจ ดังนั้นถ้าองค์การสามารถดําเนินการให้เกิดสิ่งนี้จะมีผลกระตุ้นให้คนงานทํางานได้ดีขึ้น แต่ถึงแม้ว่า จะไม่มีก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแต่อย่างใด
2 ปัจจัยอนามัย (Hygiene Factors) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของงาน ได้แก่ นโยบายขององค์การ การบริหารบังคับบัญชา กฎระเบียบเพื่อควบคุมการทํางาน สภาพหรือเงื่อนไขการทํางาน
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความมั่นคงในการทํางาน เงินเดือน สวัสดิการ เป็นต้น ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนกับ – เป็นหน้าที่ขององค์การที่จะต้องทําให้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีจะทําให้คนงานไม่พอใจ แต่จะไม่มีส่วนกระตุ้นให้เกิด การทํางานที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
การเปรียบเทียบความสอดคล้องกันระหว่างผลงานของ Maslow กับ Herzberg
1 ความต้องการระดับต่ํา ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ (ความต้องการขั้นที่ 1) และ ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (ความต้องการขั้นที่ 2) ตามแนวคิดของ Maslow สอดคล้องกับปัจจัยอนามัย เช่น เงื่อนไขการทํางาน เงินเดือน ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา นโยบายและการบริหาร ตามแนวคิดของ Herzberg
2 ความต้องการระดับสูง ได้แก่ การได้รับการยอมรับ (ความต้องการขั้นที่ 3) การได้รับ การยกย่อง (ความต้องการขั้นที่ 4) และการทํางานให้สําเร็จด้วยตนเอง (ความต้องการขั้นที่ 5) ตามแนวคิดของ Maslow สอดคล้องกับปัจจัยจูงใจ เช่น ความสําเร็จของงาน การได้รับการยอมรับผลงาน ความก้าวหน้าของงาน ความรับผิดชอบในงาน และลักษณะของงาน ตามแนวคิดของ Herzberg
ข้อ 4 จงอธิบายถึงองค์ประกอบของโครงสร้างขององค์การมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
องค์ประกอบของโครงสร้างองค์การ มี 4 องค์ประกอบ คือ
1 การแบ่งส่วนงาน (Division of Labor) คือ การจัดโครงสร้างองค์การตามแนวราบ เป็นการแบ่งแยกงานและการรวมกลุ่มงาน หรือเป็นการจําแนกประเภทของงานตามความชํานาญพิเศษหรือตาม ความถนัดในงานนั้น ๆ และปริมาณของกิจกรรมในองค์การ ซึ่งการแบ่งส่วนงานมากเกินไปอาจก่อให้เกิดความ สิ้นเปลืองและความเบื่อหน่ายของพนักงาน เนื่องจากงานจะมีลักษณะซ้ําซากจําเจ ลักษณะของการแบ่งส่วนงาน
มีดังนี้
1) การแบ่งงานตามวิชาชีพ (Personal Specialties) เป็นการแบ่งงานตามความถนัด เฉพาะทาง เช่น งานด้านบัญชี วิศวกร และวิทยาศาสตร์
2) การแบ่งงานตามกิจกรรมภายในองค์การ (Horizontal Specialization) เป็นการ แบ่งงานโดยพิจารณาจากกิจกรรมภายในองค์การ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
(1) การแบ่งตามหน้าที่ เช่น การแบ่งเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และฝ่ายจัดส่ง
(2) การแบ่งตามผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ขององค์การ เช่น หน่วยงานดูแลการผลิตผงซักฟอก หน่วยงานดูแลการผลิตยาสีฟัน
(3) การแบ่งตามพื้นที่ เช่น การแบ่งของธนาคาร
2 การจัดส่วนงาน (Hierarchy) คือ การจัดชั้นสายการบังคับบัญชา หรือการจัดโครงสร้าง องค์การในแนวดิ่ง เป็นการแบ่งหน่วยงานออกเป็นระดับโดยพิจารณาจากความสําคัญของงานว่าควรจะเป็นงาน ในระดับใด ซึ่งแต่ละระดับจะมีบทบาทและความสําคัญลดหลั่นกันลงมา การจัดสายการบังคับบัญชาที่ดีไม่ควรเกิน 5 ลําดับชั้น เพราะถ้ามีชั้นการบังคับบัญชามากจะเกิดปัญหาการสื่อสารหรือการบิดเบือนข้อมูล
3 ขอบเขตของการบังคับบัญชา (Span of Control) หรือขนาดของการควบคุม คือ จํานวนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ผู้บังคับบัญชาคนหนึ่ง ๆ รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งตามทฤษฎีแล้วผู้บังคับบัญชา 1 คน ควรมี ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เกิน 15 คน จึงจะทําให้การตัดสินใจและการสั่งการมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ขนาดของการควบคุม จะกว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน ความยากง่ายของงาน และความจําเป็นในสถานการณ์ต่าง ๆ
4 การมอบอํานาจในการตัดสินใจหรือการปฏิบัติงาน (Delegation of Authority) เป็นการพิจารณานโยบายขององค์การว่ามุ่งเน้นการกระจายอํานาจหรือการรวมอํานาจ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก จํานวนผู้ตัดสินใจในการบริหารงานในองค์การ หากองค์การมีจํานวนผู้ตัดสินใจมากแสดงว่าองค์การเน้นการ กระจายอํานาจ แต่ถ้าองค์การมีจํานวนผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียวแสดงว่าองค์การเน้นการรวมอํานาจ ทั้งนี้จุดสําคัญ ของการมอบอํานาจและการกระจายอํานาจก็คือ ผู้บังคับบัญชาสามารถกระทําได้เฉพาะการมอบอํานาจในงาน หรือการกระจายอํานาจในการปฏิบัติงานเท่านั้น จะกระจายความรับผิดชอบไม่ได้