การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายถึงหลักแนวคิดของศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองทั้งในตะวันออกและในโลกกว้าง

แนวคําตอบ

หลักแนวคิดของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองตะวันออก

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศอินเดีย โดยมีผู้นับถือศาสนา ฮินดูมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรอินเดียทั้งหมด ชาวฮินดูส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่แถบเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอินเดีย เพราะมีความเชื่อว่าการปฏิบัติตามหลักศาสนาฮินดูจะกระทําได้ในประเทศอินเดียเท่านั้น และการข้ามทะเลดําจะทําให้ไม่บริสุทธิ์ รวมทั้งไม่สามารถเป็นชาวฮินดูได้ต่อไป แต่การที่ชาวฮินดูย้ายถิ่นไปอยู่ในประเทศ อื่น ๆ ในระยะหลังนั้นเนื่องมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจมากที่สุด ปัจจุบันประเทศที่มีชาวฮินดูจํานวนมาก ได้แก่ อินเดีย เนปาล มาเลเซีย และกายานา

นิกายที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาฮินดูมี 2 นิกาย คือ  1 นิกายไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะ 2 นิกาย ไวษณวะ ซึ่งนับถือพระวิษณุ โดยจะมีความเชื่อที่สําคัญคือ ความเชื่อในเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ เชื่อเรื่องธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ทางศาสนา และเชื่อเรื่องระบบวรรณะ ซึ่งระบบวรรณะนี้มีอิทธิพลทําให้เกิดความแตกต่างในด้าน เชื้อชาติ อาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย

ประชากรอินเดียไม่เกินร้อยละ 10 จะอยู่ในสามวรรณะแรก คือ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ และวรรณะแพศย์ ซึ่งจะมีอํานาจในสังคม และประชากรสามวรรณะนี้ก็ได้ทํางานเป็นข้าราชการมากกว่าร้อยละ

นอกจากนี้ยังมีวรรณะย่อยอีกประมาณ 3,000 วรรณะ เรียกว่า โฌติ (Jotis) ซึ่งทําให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดู ความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายนี้เองเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิด ปัญหาทางการเมืองในประเทศอินเดีย

ศาสนาฮินดูมีอิทธิพลต่อแนวคิดของนักการเมืองอินเดียที่สําคัญ ได้แก่ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) และ ยวาหร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru)

ตัวอย่างแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมทางการเมืองของมหาตมะ คานธี มีดังนี้

1 เน้นการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า

2 เน้นการมีอุดมการณ์

3 เน้นศาสนากับการพัฒนาตนเองและสังคม

4 เน้นการใช้หลักอหิงสาและสัตยาเคราะห์

5 เน้นการเสียสละ

6 เน้นความเสมอภาคและความเป็นธรรม

7 เน้นวิธีการทํางานและการตัดสินใจ

8 เน้นการมีระเบียบวินัย

 

ตัวอย่างแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมทางการเมืองของ ยวาหร์ลาล เนห์รู มีดังนี้

เนห์รู เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งและได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยอินเดีย โดยได้ให้เห็นว่าสาระสําคัญของศาสนาฮินดูก็คือ “จงมีชีวิตอยู่และจงให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ด้วย (to live and let live)”

เนห์รู มีแนวความคิดแตกต่างจากคานธีหลายอย่าง เช่น ไม่เห็นด้วยที่คานธีนําศาสนามาผสมผสานกับการเมือง เห็นว่าการทําสัตยาเคราะห์ใช้ได้ผลในบางสถานการณ์เท่านั้น และเชื่อว่าอินเดียต้องมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ในขณะที่คานธีเน้นการทําสัตยาเคราะห์และไม่ใช้ความรุนแรง เน้นการปั่นด้าย การทําหัตถกรรมในครัวเรือน และคัดค้านการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคานธีก็คิดว่าเนห์รูเป็นทายาททางการเมืองของเขา

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงแนวคิดเรื่องรัฐและอํานาจในทัศนะของพุทธศาสนาว่า มีรากเหง้าเกิดจากอะไร มาให้ เข้าใจโดยชัดเจน

แนวคําตอบ

แนวคิดเรื่องรัฐและอํานาจในทัศนะของพุทธศาสนา

ในอัคคัญญสูตรชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดคนและสังคม ปัญหาสังคมย่อมตามมา มีการแข่งขันแย่งชิงและทําร้ายซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงต้องมีผู้เข้าไปจัดการแก้ไข ทําให้เกิดระบบการปกครอง เกิดรัฐและผู้มีอํานาจขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากคําสอนตอนหนึ่งที่บรรยายไว้ว่า เมื่อมีการกั้นเขตเพื่อครอบครองข้าวสาลีแล้ว คนบางคนได้พยายามเข้าไปขโมยข้าวสาลีในเขตของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ก็ถูกลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ

พวกขโมยที่ถูกจับได้นี้บางคนทําแล้วทําอีก ไม่รู้จักหลาบจํา บางคนรับปากว่าจะไม่ทําอีกแต่กลับทํา กลุ่มคนที่ครอบครองพื้นที่เหล่านั้นจึงประชุมกันเกี่ยวกับปัญหาการลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด และการทําร้ายที่เกิดขึ้น โดยมีมติว่าควรจะแต่งตั้งคนทําหน้าที่ติเตียนคนที่ควรติ และขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเขาจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้เป็นค่าตอบแทน

หลังจากนั้นจึงมีการเลือกคนเป็นหัวหน้าเพื่อปกครองคน คือการทําหน้าที่ติเตียนคนที่ควรติเตียน และขับไล่คนที่ทําผิดควรแก่การขับไล่ ซึ่งทําให้เกิดคํา 3 คําขึ้นมา คือ

1 มหาสมมุติ แปลว่า ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง

2 กษัตริย์ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งนา

3 ราชา แปลว่า ผู้ทําความอิ่มใจสุขใจแก่ผู้อื่น

ดังนั้นมหาสมมุติหรือกษัตริย์หรือราชา จึงเป็นคนที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนในสังคมเป็นผู้เลือก และแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้า ซึ่งถือว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่มาจากสิ่งสูงส่งใดๆ แต่เป็นผู้ที่มีจริยธรรมหรือคุณธรรม มากกว่าผู้อื่นและเป็นผู้ที่ประเสริฐในกลุ่มชนนั้น

ปัญหาของสังคมเป็นที่มาของการปกครองในระบบกษัตริย์ ซึ่งการปกครองดังกล่าวจะดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของพระราชาและบริวารด้วย ในจักกวัตติสูตรและมหาสุทัสสนสูตรได้กล่าวถึงบุญญาธิการ ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิที่มีบริวารดี คือ รัตนะ 7 ประการ ได้แก่

1 จักกรัตนะ คือ จักรแก้วที่มีลักษณะเหมือนลูกล้อรถ ประกอบด้วยกํา กง และดุม ซึ่งหมุนไปหยุด ณ ประเทศใด ผู้ปกครองประเทศนั้นจะเข้ามาสวามิภักดิ์ หมายความว่าพระราชาที่มีจักรแก้วเมื่อ ทรงไปที่ไหนก็จะพระราชทานพระบรมราโชวาทให้คนประพฤติธรรม ดังนั้นจักรแก้วจึงหมายถึงธรรมจักร ซึ่งหมุนไปที่ใดย่อมทําให้คนทั้งหลายประพฤติธรรม

2 หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว ซึ่งเป็นช้างเผือกแสนรู้ สีขาวปลอด และเหาะได้ ชื่ออุโบสถ หมายความว่าผู้ปกครองควรมีช้างที่ดีเป็นพาหนะในการเดินทาง

3 อัสสรัตนะ คือ ม้าแก้วสีขาวล้วน ศีรษะดําเหมือนกา มีผมเป็นพวงเหมือนหญ้าปล้อง และเหาะได้ ชื่อวลาหก หมายความว่าผู้ปกครองจําเป็นต้องมีม้าที่ดีเป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะการเดินทาง สมัยก่อนทุรกันดาร และยังต้องใช้ในการออกรบด้วย

4 มณีรัตนะ คือ แก้วมณี ซึ่งเป็นแก้วไพฑูรย์เนื้องาม ทรงแปดเหลี่ยม เจียระไนเป็นอย่างดี และแวววาวสุกใสสว่างมาก หมายความว่าผู้ปกครองควรมีเครื่องประดับที่มีค่าและสวยงามเหมาะกับเป็นเครื่องบรรณาการเพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

5 อิตถีรัตนะ คือ นางแก้วผู้เป็นหญิงงาม ร่างไม่สูงไม่เตี้ย ไม่ผอมไม่อ้วน ไม่ดําไม่ขาว ผิวพรรณดี สัมผัสนุ่มนวล กลิ่นกายหอม บุคลิกน่าเลื่อมใส เปรียบได้กับผู้ปกครองประเทศที่ต้องมีภริยาที่ดีมีคุณธรรม จึงจะส่งเสริมให้ผู้ปกครองก้าวหน้าในการทํางานต่อไปได้

6 คหปติรัตนะ คือ คฤหบดีแก้วหรือขุนคลังแก้ว ซึ่งมีตาทิพย์สามารถทอดพระเนตรเห็น ขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของได้ จึงช่วยจัดการทรัพย์สินได้อย่างดีเลิศ ถ้าเปรียบกับสมัยปัจจุบันก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ที่ดีเยี่ยมในทางเศรษฐกิจ จึงจะทําให้การบริหารการคลังดําเนินไปอย่างราบรื่น และสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้

7 ปริณายกรัตนะ คือ ปริณายกแก้วหรือขุนพลแก้ว ซึ่งเป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ มีความสามารถและเข้มแข็ง ทําหน้าที่ถวายคําแนะนํา ซึ่งขุนพลุในที่นี้หมายถึงนักรบด้วย หมายความว่าพระราชาควรมี นักรบที่ดีเป็นบริวารจึงจะทําให้ประเทศชาติมีความมั่นคงและพัฒนาได้ โดยนักรบที่ดีนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1) ฉลาด หมายถึง มีการศึกษาดีจนมีความรอบรู้ เทียบได้กับภิกษุผู้มีศีล

2) ยิงไกล หมายถึง ทรงปัญญาและมีวิสัยทัศน์ เทียบได้กับภิกษุผู้เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ยึดถือขันธ์ 5

3) ยิ่งไว หมายถึง มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เทียบได้กับภิกษุผู้รู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง

4) ทําลายกายใหญ่ หมายถึง ไม่เห็นแก่ตัว และไม่ยึดตนเป็นใหญ่ เทียบได้กับภิกษุผู้ทําลายอวิชชาได้

รัตนะทั้ง 7 ประการนี้เปรียบเสมือนสมบัติและบริวารที่ดีพร้อมทุกอย่างของพระราชา ถ้าพระราชาองค์ใดมีสมบัติและบริวารที่ดีพร้อมดังกล่าวก็จะช่วยส่งเสริมให้การปกครองราชอาณาจักรดําเนินไปได้อย่างราบรื่น และมีโอกาสขยายพระราชอํานาจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อํานาจสูงสุดตามแนวคิดทางพุทธศาสนา ก็คือ อํานาจทางธรรม ดังพุทธธรรมที่ว่า “โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในปฐพี การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง”

การมีบริวารที่ดีนั้นมีความสําคัญอย่างยิ่ง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า บุคคลในโลกมี 4 จําพวก คือ

1 คนอสูร มีอสูรเป็นบริวาร หมายถึง คนไม่ดีและมีคนไม่ดีเป็นบริวาร

2 คนอสูร มีเทวดาเป็นบริวาร หมายถึง คนไม่ดีแต่มีคนดีเป็นบริวาร

3 คนเทวดา มีอสูรเป็นบริวาร หมายถึง คนดีแต่มีคนไม่ดีเป็นบริวาร

4 คนเทวดา มีเทวดาเป็นบริวาร หมายถึง คนดีและมีคนดีเป็นบริวาร ซึ่งบุคคลประเภทนี้ ว่า ถือว่าเป็นบุคคลที่ประเสริฐที่สุด

แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองนั้น พุทธศาสนามีคําสอนที่สําคัญเรื่องอธิปไตยหรือความ เป็นใหญ่ 3 ประการ คือ

1 อัตตาธิปไตย หมายถึง การถือตนเป็นใหญ่ คือ ยึดถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ และเชื่อว่าความเห็นของตนถูกต้องเหมาะสมที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการปกครองที่คน ๆ เดียวใช้อํานาจ อธิปไตยของปวงชนตามอําเภอใจเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่หากเป็นการปกครองที่ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาลใช้ อํานาจอธิปไตยที่ปวงชนมอบหมายมาตามอําเภอใจ เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับเพื่อพวกพ้องเป็นเกณฑ์ ก็จะเป็นการปกครองแบบ “คณาธิปไตย” ซึ่งเป็นรูปการปกครองที่แสดงให้เห็นว่ามีความคิดแบบเผด็จการ

2 โลกาธิปไตย หมายถึง การถือโลกเป็นใหญ่ คือ ยึดถือความคิดเห็นของคนส่วนมากเป็นใหญ่ และเชื่อว่าความเห็นของคนส่วนใหญ่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด ซึ่งถือเป็นคําสอนที่สอดคล้องกับรูปแบบ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คือ ระบอบการปกครองที่ใช้ อํานาจอธิปไตยของปวงชนเพื่อปวงชนอย่างแท้จริง แต่หากมีจุดมุ่งหมายเพื่อผู้ปกครองและพวกพ้อง ก็จะถือว่า เป็นกบฏต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

3 ธัมมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ยึดถือสัจธรรม หลักความถูกต้อง และการมีเหตุผลเป็นใหญ่ โดยจะใช้หลักธรรมในการวิเคราะห์และตัดสินใจ

ในอธิปไตยทั้ง 3 ประการนี้ พุทธศาสนา เน้นว่าธัมมาธิปไตยเหมาะสมและดีที่สุดที่จะนํามาใช้ ในการปกครอง เพราะการยึดความเห็นส่วนตัวเป็นใหญ่ (อัตตาธิปไตย) และการยึดความเห็นของคนส่วนใหญ่เป็นใหญ่ (โลกาธิปไตย) อาจเป็นไปในทางที่ผิดหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกของตนโดยไม่ถูกต้องตาม ทํานองคลองธรรมก็ได้

 

ข้อ 3 จงอธิบายถึงจริยธรรมของผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองในทัศนะของศาสนาอิสลามมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

จริยธรรมของผู้ปกครองและนักการเมืองในทัศนะของศาสนาอิสลาม มีดังนี้

1 ต้องทํางานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

2 ต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชนและบริการประชาชน

3 ต้องทํางานรับผิดชอบตามหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

4 ต้องปกครองตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน

5 การพิจารณากฎหมายต้องปรึกษาประชาชน ฟังเสียงประชาชน หรือหารือกับประชาชนก่อน

6 ให้ปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรม ใช้หลักเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

นอกจากนี้ ศาสนาอิสลามยังเห็นว่า การปกครองด้วยความยุติธรรมนั้นถือว่าเป็นจริยธรรม ที่สําคัญสําหรับผู้ปกครองอย่างหนึ่ง ดังคําสอนที่ว่า “บุคคลที่เป็นที่รักยิ่งของพระอัลลอฮ์ และเป็นผู้ที่ใกล้ชิด พระองค์ในวันคืนชีพ คือ ผู้นําที่มีความยุติธรรม” โดยการให้ความยุติธรรมนั้น ผู้ปกครองจะต้องให้ความยุติธรรม แม้กระทั่งแก่คนชั่ว ซึ่งจะเห็นได้จากคําสอนตอนหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า คําวิงวอนของ ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น เป็นที่ยอมรับแม้ว่าเขาจะเป็นคนชั่วก็ตาม”

จริยธรรมของผู้ใต้ปกครองและประชาชนในทัศนะของศาสนาอิสลาม มีดังนี้

1 ยึดมั่นในพระอัลลอฮ์และปฏิบัติตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน

2 เชื่อฟังผู้ปกครองที่เลือกตั้งไป

3 เชื่อฟังผู้ปกครองในสิ่งที่ดีตามพระคัมภีร์อัลกุรอานและหะดีษ

4 ห้ามก่อการกบฏหรือต่อต้านผู้ปกครอง

5 ให้ยึดมั่นและรักษาความยุติธรรม

 

ข้อ 4 จงอธิบายศัพท์ดังต่อไปนี้มาให้เข้าใจ คาดหวังคําตอบข้อละ 3 – 5 บรรทัดขึ้นไป

4.1 ลัทธิไต้ท้ง

แนวคําตอบ

ลัทธิไต้ท้ง เป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นอุดมคติทางการเมืองในรูปสากลนิยม ซึ่งเป็นเหมือนรัฐในอุดมคติ ไม่มีการแบ่งชาติขั้นวรรณะ ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก มีชาติเพียงชาติเดียวคือมนุษยชาติ ประชาชนทุกคนมีงานทํา มีความเสมอภาคด้านความเป็นอยู่ เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการคัดเลือกประชาชนที่เป็นคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองโดยพรรคหรือคณะใด ๆ รัฐบาล ที่เลือกมานี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลโลก ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะทําให้เกิด “มหาสันติสุข” (ไท้เพ้ง)

4.2 ลัทธิเซียวคัง

แนวคําตอบ

ลัทธิเซียวคัง เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าถ้ายังไม่สามารถสร้างรัฐบาลโลกได้ ก็ให้มีรัฐบาลของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ แต่ละรัฐไปพลาง ๆ ก่อน จุดสําคัญก็คือกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต้องทําหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง และปกครองแบบพ่อปกครองลูกรัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้ ซึ่งสันติสุขที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ในวงแคบเฉพาะชาติเฉพาะรัฐ เรียกว่า “จุลสันติสุข” (เซ็งเพ้ง)

 

4.3 บ้ออุ้ยยื่อตี่

แนวคําตอบ

บ้ออุ้ยยื่อตี่ เป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด ตามแนวคิดของเหลาจื้อ คือ การปกครองโดย ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประชาชนมากเกินไป ให้ทุกคนมีอิสรเสรีเต็มที่ รัฐบาลอย่าไปก้าวก่ายเสรีภาพของประชาชน ประชาชนก็อย่าก้าวก่ายเสรีภาพซึ่งกันและกัน การปกครองประเทศจะต้องไม่มีการทําร้ายซึ่งกันและกัน

4.4 ลัทธิมิกาโด

แนวคําตอบ

ลัทธิมิกาโด (Mikadoism) ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าจักรพรรดิของตน ซึ่งเรียกว่า “มิกาโด” หรือ “เทนโน” เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพหรือพระอาทิตย์โดยไม่ขาดสาย พระจักรพรรดิเป็นผู้ที่ทรงอวตารมาจาก พระอาทิตย์ พระราชอํานาจของพระจักรพรรดิเป็นพระราชอํานาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระอาทิตย์ ชาวญี่ปุ่น ถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นลูกพระอาทิตย์ ซึ่งความเคารพพระจักรพรรดิดังกล่าวเรียกว่า “ลัทธิมิกาโด” (Mikadoism)

ความที่ว่าพระจักรพรรดิมาจากสุริยเทพนี้เอง ทําให้การเมืองกับศาสนาแยกจากกันไม่ออก ดังนั้นระบบการปกครองของญี่ปุ่นจึงเป็นระบบที่เรียกว่า “ไซเซอิ-อิทชิ” ซึ่งแปลว่า “การรวมกันแห่งศาสนาและ การปกครอง” โดยมีพระจักรพรรดิหรือเทนโนเป็นศูนย์รวม เป็นสัญลักษณ์ของชาติและความสามัคคีของประชาชน

 

Advertisement