การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อ ๆ ละ 50 คะแนน

ข้อ 1 จงอธิบายความแตกต่างของแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจดังต่อไปนี้ (50 คะแนน)

1.1 ลัทธิใต้ท้งกับรัฐอิสลาม

แนวคําตอบ

ลัทธิไต้ท้ง เป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นอุดมคติทางการเมืองในรูปสากลนิยม ซึ่งเป็นเหมือนรัฐในอุดมคติ ไม่มีการแบ่งชาติขั้นวรรณะ ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก มีชาติเพียงชาติเดียวคือมนุษยชาติ ประชาชนทุกคนมีงานทํา มีความเสมอภาคด้านความเป็นอยู่ เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการคัดเลือกประชาชนที่เป็นคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองโดยพรรคหรือคณะใด ๆ รัฐบาล ที่เลือกมานี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลโลก ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะทําให้เกิด “มหาสันติสุข” (ไท้เพ้ง)

รัฐอิสลาม เป็นรัฐในอุดมคติ ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดําเนินงานด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอิสลาม ใช้รูปแบบการปกครองของอิสลาม และสร้างวิถีชีวิตของคนในรัฐ ให้ศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระอัลเลาะห์ ซึ่งรัฐที่พอจะอนุโลมได้ว่าเป็นรัฐอิสลาม คือ รัฐภายใต้การปกครอง สมัยพระนบีมุฮัมหมัดและคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ได้แก่ อาบูบัคร์ อมาร์ อุธมาน และอาลี

 

1.2 รัฐบาล 3 แบบกับการปกครองแบบลัทธิขงจื้อ

แนวคําตอบ

ตามทัศนะของเหลาจื้อนั้น รัฐบาลมี 3 แบบ คือ

1 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยไม่ก้าวก่ายชีวิตประชาชน ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกปกครองเพราะใช้การปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยม ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่ดีที่สุด

2 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยการสร้างความดีให้ประชาชนเห็น เพื่อให้ประชาชนรัก ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่ดีรองลงมาจากแบบที่ 1

3 รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยใช้อํานาจกดขี่และยุ่งเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จนทําให้ประชาชนไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการปกครองที่เลวที่สุด

การปกครองแบบลัทธิขงจื้อ มีหลักการสําคัญดังนี้

1 การปกครองนั้นควรมีจุดมุ่งหมายในการนําสวัสดิการและความสุขมาสู่ประชาชนทั้งมวลโดยต้องมีผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารซึ่งไม่ใช่มาจากชาติกําเนิด ความร่ำรวยหรือตําแหน่ง แต่มาจากการได้รับการศึกษาที่เหมาะสม

2 การปกครองที่ดีคือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และจะต้องมีลักษณะ “คุ้มครองมากกว่าปกครอง”

3 การใช้อํานาจนั้นจะต้องคํานึงถึงคุณธรรม โดยกล่าวว่า “เมื่อผู้ปกครองเองทําถูกต้อง เขาย่อมมีอํานาจเหนือประชาชนโดยมิต้องออกคําสั่ง แต่เมื่อผู้ปกครองเองไม่ทําสิ่งที่ถูกต้อง คําสั่งทั้งปวงของเขาก็ใช้ไม่ได้เลย”

4 รากฐานของอาณาจักรคือรัฐ รากฐานของรัฐคือครอบครัว รากฐานของครอบครัวคือตัวเอง

 

1.3 การทําสงครามแบบบัคจื้อกับการทําสงครามแบบบูชิโด

แนวคําตอบ

การทําสงครามแบบบัคจื้อ

1 ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมเกิดจากความเห็นแก่ตัว และขยายออกไปเป็นความเห็นแก่ครอบครัวของตนและเห็นแก่ประเทศชาติของตนตามลําดับ ซึ่งจะเป็นที่มาของสงคราม

2 บัคจื้อต่อต้านการแสวงหาอํานาจของรัฐต่าง ๆ โดยการทําสงคราม เพราะสงครามเปรียบเสมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก และสงครามก็เปรียบเสมือนงานศพ

3 การทําสงครามรุกรานบ้านเมืองอื่นก็เหมือนกับการปล้นบ้านคนอื่นนั่นเอง เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ไม่ควรจะได้รับการสดุดีว่าเป็นวีรกรรม

4 บัคจื้อเรียกนักรุกรานเหล่านี้ว่า “นักโทษของมนุษยชาติ” และจะเรียกหลักการต่อต้านสงครามนี้ว่า “ฮุยกง”

5 เน้นหลักการแผ่ความรักร่วมกัน นั่นคือ ถ้ารักตัวเอง ต้องรักคนอื่นด้วย ถ้ารักครอบครัวของตัวเอง ต้องรักครอบครัวคนอื่นด้วย และถ้ารักประเทศชาติของตัวเอง ต้องรักประเทศชาติคนอื่นด้วย

การทําสงครามแบบบูชิโด

1 ส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นมีจิตใจกล้าหาญ จนกลายเป็นลัทธิชาตินิยมรุนแรง

2 เป็นหลักจรรยาของชนชาติทหารและเป็นหลักจริยธรรมของนักรบ คือ ชายญี่ปุ่นทุกคนต้องเป็นทหาร ให้จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ ต้องมีความกล้าหาญ ยอมตายแทนพระจักรพรรดิ และต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น

3 เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นมีความสูงส่งและศักดิ์ศรีเหนือกว่าชนชาติอื่น เพราะเป็นลูกหลานของเทพเจ้า มีความชอบที่จะปกครองชาติอื่น ๆ

4 ประชาชนต้องเชื่อฟังทหาร ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ภักดีต่อพระจักรพรรดิ ใครทําร้ายทหารเท่ากับทําร้ายพระจักรพรรดิ

5 ส่งเสริมให้สมเด็จพระจักรพรรดิเป็นผู้ปกครองโลก เพราะเป็นผู้สืบสายมาจากโลกสวรรค์

6 มนุษยชาติทั้งหลายจะพ้นอันตรายได้ต่อเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากอาณาจักรญี่ปุ่น

7 การสงครามเป็นบิดาของการสร้างและเป็นมารดาของวัฒนธรรม สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับความคิดที่ว่าอํานาจเป็นธรรม

ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และ ข.

ก. การเมืองของประเทศอินเดียได้รับอิทธิพลมาจากระบบวรรณะในอินเดียอย่างไร

แนวคําตอบ

อิทธิพลของระบบวรรณะที่มีต่อการเมืองของประเทศอินเดีย

ระบบวรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของคนอินเดีย ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งทําให้สามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน โดยศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูได้แบ่งสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่

1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็นหลักการสูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น

2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความ มั่นคงของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน

3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย การประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย

4 ศูทร (ชนชั้นกรรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ

การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นี้ถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง

ในเรื่องของการเมืองการปกครองนั้น รัฐมีจุดมุ่งหมายที่สําคัญ 3 ด้าน ได้แก่

1 ธรรม คือ รัฐมีหน้าที่ทําให้คนมีสํานึกถูกผิด มีศีลธรรม อุปถัมภ์บํารุงศาสนา และจัด สวัสดิการต่าง ๆ แก่ประชาชน “ธรรม” ในฤคเวทหมายถึงกฎหมาย การลงโทษผู้กระทําผิดจะมีการแยกตาม วรรณะ ศูทรซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดจะถูกลงโทษสูงสุด ไม่มีการแยกความยุติธรรม ศาสนา และกฎหมายออกจากกัน

2 อรรถ คือ รัฐมีหน้าที่ทํานุบํารุงให้เกิดความเจริญทางวัตถุ เช่น การค้า เกษตรกรรม การผลิต การรักษาทรัพยากร เป็นต้น โดยรัฐจะทําหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีเพื่อนํามาใช้ในการบริหารงาน

3 กาม คือ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความสุขด้านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจในศิลปะ วรรณคดี ดนตรี ความรื่นเริงและความสุขทางกายอื่น ๆ

 

ข คําสอนในพระพุทธศาสนาคือ พรหมวิหาร 4 กับอคติ 4 มีความสัมพันธ์กับผู้บริหารอย่างไร

แนวคําตอบ

หลักพรหมวิหาร 4

พรหมวิหาร 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักธรรมประจําใจของผู้เป็นใหญ่ ประกอบด้วย

1 เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข กล่าวคือ ผู้บริหารควรใช้หลักเมตตากับผู้ใต้บังคับบัญชา มีความปรารถนาดีที่จะให้บุคลากรอย่างจริงใจ มีการเสริมสร้างและป้องกันการกระทําผิด วินัยที่จะเกิดขึ้นในการทํางาน และปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา

2 กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ กล่าวคือ ผู้บริหารต้องให้ ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และดําเนินการให้ความรู้ฝึกอบรมการสร้างขวัญและกําลังใจในอันที่จะเสริมสร้าง และพัฒนาเจตคติจิตสํานึกและพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา หมั่นสังเกตตรวจสอบดูแลเอาใจใส่และขจัดเหตุ ตามควรแก่กรณี ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจความสามัคคีกลมเกลียวและปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาโดย ความตั้งใจดี

3 มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ริษยา กล่าวคือ ผู้บริหารควรมีความชื่นชม ยินดีกับความสําเร็จของผู้อื่น ส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าโดยไม่อคติและไม่อิจฉาหรือเกรงว่าจะได้ดีกว่าตนเอง ผู้บริหารต้องมีความยินดีและส่งเสริมสนับสนุนให้รางวัลแก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาวินัย ในการทํางาน สร้างแนวทางการยอมรับบุคลากรตัวอย่างของหน่วยงานที่รักษาระเบียบวินัยที่ดี

4 อุเบกขา หมายถึง การวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยความรัก และความชัง กล่าวคือ ผู้บริหารควรพิจารณาบุคลากรด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และมีใจเป็นกลางในการรับฟัง ความคิดเห็นของบุคลากรทุกฝ่าย จะทําให้กระบวนการบริหารงานเป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดําเนินงานในหน่วยงานหรือองค์กร

หลักอคติ 4

อคติ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับความลําเอียง 4 ประการ ซึ่งมีผลกับการปกครองและผู้ปกครอง ไม่ควรประพฤติเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วย

1 ฉันทาคติ หมายถึง ความสําเอียงเพราะชอบหรือความรักใคร่ กล่าวคือ แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่ทําให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยปกติสุข แต่หากความรักทําให้จิตใจของเราไม่ตรง คิดเอนเอียง ความรักก็จะนํา ผลร้ายเข้ามาสู่ตัวเองได้ ดังนั้นผู้บริหารจะต้องไม่อ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอส่วนตัวของตนเองไปสร้าง ประโยชน์ให้ญาติพี่น้อง พวกพ้องและคนสนิท เมื่อมีความอคติ ใจไม่เป็นกลางก็จะมีการปฏิบัติต่อทุกคนไม่เหมาะสม เช่น การตัดสินความผิดทั้งที่รู้ว่าพรรคพวกของตนเองผิด แต่มิได้กระทําการลงโทษตามระเบียบวินัยขององค์กร เป็นต้น

2 โทสาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชังหรือความโกรธเกลียด กล่าวคือ ผู้บริหารที่มีความสําเอียงเพราะความโกรธ ไม่ชอบหรือเกลียดชังนั้นมักจะทําการกลั่นแกล้ง ทําร้ายคนที่ตัวเองเกลียดชังโดย ไม่แยกแยะเรื่องความถูกต้อง ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่พึงปฏิบัติ หากตัดสินใจเพียงเพราะความโกรธเกลียดแล้ว ย่อม มีผลกระทบถึงผู้ที่ทําการตัดสินใจได้ เช่น ผู้บริหารทําการกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตนไม่ชอบเป็นการส่วนตัว เพียงเพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทําให้มีอคติต่อกัน เมื่อถึงคราวพิจารณาความดีความชอบ กลับมองข้ามไป ทั้งที่เป็นสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคนนั้นควรจะได้ เป็นต้น ดังนั้นการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้บริหาร ควรระมัดระวังในเรื่อง การใช้อารมณ์ ต้องระงับอารมณ์โกรธและอารมณ์ไม่พอใจให้ได้

3 โมหาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะหลงหรือความโง่เขลา กล่าวคือ หากผู้บริหาร มีความหลงผิด ความไม่รู้หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความสะเพร่า ไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดมิควร หลงไปตามคําพูดที่กล่าวอ้าง ขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ทันทีที่ผู้บริหารได้รับข้อมูลในทาง ที่ไม่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา ก็หลงเชื่อในสิ่งนั้น และเรียกมาลงโทษว่ากล่าวตักเตือน โดยมิได้มีการสอบสวนให้แน่ชัด ถึงความถูกต้องของข้อมูล เป็นต้น ดังนั้นการกระทําทุกอย่างไม่ว่าจะแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ผู้บริหารควรใช้ สติปัญญาในการไตร่ตรอง รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่แท้จริง ใจต้องหนักแน่น มิหลงเชื่อในสิ่งที่งมงายที่คอยขัดขวาง ความเจริญขององค์กร

4 ภยาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ เกรงอิทธิพล กล่าวคือ ผู้บริหาร จะต้องมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาดในการตัดสินใจ ไม่เกรงกลัวต่ออํานาจอิทธิพล ตั้งมั่นในความถูกต้อง เช่น ผู้บริหารใช้ระบบการปกครองแบบเสรี ขาดการควบคุมในการทํางาน เพียงเพราะเกรงว่าลูกน้องจะไม่รัก หรือในกรณีที่ลูกน้องทําผิดก็ไม่กล้าลงโทษ เพราะกลัวว่าภัยจะมาถึงตัวเอง เป็นต้น ซึ่งความลําเอียงดังกล่าวถือได้ว่าเป็น ตัวบั่นทอนความเชื่อถือ ความศรัทธาในการปกครองคนของผู้นํา หากเกิดขึ้นในตัวผู้นําเมื่อใดแล้ว ความเดือดร้อน ก็จะตามมาอย่างแน่นอน

 

Advertisement