การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 แนวคิดเรื่องการกระจายอํานาจถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 เป็นผลให้เกิดกฎหมายกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ ดังนั้นอยากทราบว่าสาระสําคัญดังกล่าวมีอะไรบ้าง
แนวคําตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540) ถือเป็นกฎหมายแม่บทสําหรับการกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น และถึงแม้ปัจจุบัน จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 18) หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 281 – 290 แล้วก็ตาม แต่ยังคงสาระสําคัญของบทบัญญัติว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ซึ่งหลักการเดิม ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ดังนั้นแนวคิดเรื่องการกระจายอํานาจจึงถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 จนเป็นผลให้เกิดกฎหมายกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในที่สุด
สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีผลมาจาก รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540
จากบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 สามารถสรุปสาระสําคัญของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ดังนี้
1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น ได้แก่ ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง
2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือการกําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระ ในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี
3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดําเนินกิจการต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิ์ในการ เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็น ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้
ข้อ 2 การปกครองท้องถิ่นมีบทบาทต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร และองค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยฝ่ายอะไรบ้าง
แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 44), (คําบรรยาย)
อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น (Local Government) หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชน เลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น
การปกครองท้องถิ่นกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง โดยการปกครองท้องถิ่นจะมีบทบาทต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งในระดับชุมชนและ ระดับประเทศ ดังนี้
1) เป็นสถาบันการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน ซึ่งรูปแบบการ
ปกครองท้องถิ่นถือเป็นรูปแบบการจําลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ในระดับรากหญ้า
2) ก่อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้นําต่อประชาชน
3) การเมืองท้องถิ่นเป็นเวทีสร้างนักการเมืองระดับชาติ
4) มีบทบาทสําคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยระดับชาติ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ และช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น
5) ทําให้ประชาชนมีความรู้ทางการเมือง
6) ทําให้เกิดการเข้าสู่วิถีทางการเมืองของประชาชน โดยช่วยเตรียมผู้นําทางการเมืองและคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต
7) การปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะขจัดระบบเผด็จการโดยรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจ และผลประโยชน์โดยไม่ชอบ
รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1 รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตําบล
2 รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา องค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรูปแบบดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่
1 ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาท้องถิ่น) โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
2 ฝ่ายบริหาร โดยคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นก็ได้
ข้อ 3 ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีอะไรบ้าง จงอธิบาย และเสนอแนวทางการปรับพื้นฐานพฤติกรรมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 87 – 105), (คําบรรยาย)การเมืองส่วนท้องถิ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะมีศูนย์กลางอํานาจการปกครองอยู่ที่ประชาชน โดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจเลือกตัวแทนไปบริหารท้องถิ่น ซึ่งตัวแทนประชาชนจะถูกเลือกขึ้นมา ผ่านกลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์
ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีดังนี้
1 ปัญหาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่น ได้แก่
1) มีค่าใช้จ่ายสูง (Cost) คือ เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นขึ้นมามาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย เช่น การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือการยกฐานะของเทศบาลขึ้นมาก็ต้อง มีการเพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนอาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นการจัดตั้ง หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้นจึงต้องมองในแง่ของการประหยัดด้วย เพราะในบางตําบลมีเพียงหมู่บ้านเดียว และมีประชากรจํานวนไม่มากนัก
2) ความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency) คือ ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้เพียงพอมาทํางานได้ ดังนั้นความก้าวหน้าในการพัฒนาท้องถิ่นจึงไม่สามารถทําได้ดีเท่าที่ควร
3) ความเฉื่อยชา (Inertia) จากการใช้คนในพื้นที่เข้ามาบริหารอํานาจ เพราะบางครั้ง แทนที่จะทําให้ท้องถิ่นก้าวหน้า แต่กลับทําให้ท้องถิ่นเฉื่อยชาลง เนื่องจากยึดติดกับความคิดดั้งเดิม
4) ความไม่เสมอภาค (Inequality) ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน เพราะท้องถิ่นบางแห่งรวยจนไม่เท่ากัน บางแห่งมีทรัพยากรมาก บางแห่งมีคนที่มีความคิดริเริ่มมาก แต่บางแห่งผู้นําไม่มีวิสัยทัศน์และความรู้เพียงพอ ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้ง อบต. ขึ้นจะมีการจัดสรรเงินให้กับ หน่วยงานนั้นเท่ากันทุก อบต. แต่ต่อมาได้พิจารณาเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน การจัดสรรรายได้จึง เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ถ้า อบต. ใดมีรายได้มากก็จัดสรรเงินให้น้อยลง แต่ถ้ามีฐานะไม่ดีนักหรือมีรายได้น้อยก็จะ จัดสรรเงินให้มากขึ้น จึงทําให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานเล็ก ๆ เพราะบางครั้งทั้ง อบต. มีคนอยู่เพียง 50 – 60 คน แต่ได้รับเงินมาเป็นล้าน แล้วก็จะนํามาแบ่งกันได้มาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอีก เพราะเมื่อมีการคิดที่จะยกเลิก อบต. ขึ้นมา หน่วยงานเล็ก ๆ ก็ต่อต้านเนื่องจากกลัวเสียประโยชน์จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล
5) ความเห็นแก่ตัว (Selfishness) คือ ท้องถิ่นมักจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายที่ทําให้ ตนเองเสียประโยชน์ เช่น ไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและญาติพี่น้อง ให้ความสําคัญกับประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์สาธารณะ เพราะถือว่ามีอํานาจอยู่ในมือ ซึ่งในวงการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นการจัดเก็บภาษีมาบํารุงท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะมัวแต่คิดว่าหากมีการจัดเก็บภาษีขึ้นจะทําให้ฐานเสียงน้อยลงไป
6) ความอ่อนแอ (Weakness) ของประชาชนหรือชุมชน คือ การยอมสยบต่อผู้มี อิทธิพล ซึ่งถ้าหากกลไกของหน่วยงานต้องไปสยบต่อผู้มีอิทธิพลมาก ก็จะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
7) ความเป็นเจ้าของ (Possessiveness) ของผู้กุมอํานาจ คือ นักการเมืองประจํา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพื้นที่เดิมมักเป็นพวกอนุรักษนิยม มีการผูกขาดอํานาจ ไม่ยอมให้มีการคลายอํานาจ ไปสู่เบื้องล่าง
2 ปัญหาผู้นําท้องถิ่น เนื่องจากว่าผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นํา ชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้นําในการ เรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาไปสู่ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน
3 ปัญหาพรรคการเมือง เนื่องจากว่าพรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคลที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์และฐานอํานาจ ที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัยระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด พรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และแสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ ท้องถิ่นจึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละ พรรคการเมืองที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็นปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก
4 ปัญหากลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากว่ากลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการ กําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอ ความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมี ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน
แนวทางการปรับพื้นฐานพฤติกรรมทางการเมืองในระดับท้องถิ่น มีดังนี้
1 หลักธรรมาภิบาลหรือหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Governance)
ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้
1) หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการ ปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล
2) หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ ของรัฐยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไป พร้อมกันเพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ
3) หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
4) หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และ เสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ
5) หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความ รับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพ ในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน
6) หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน
2 หลักธรรมทางพุทธศาสนา หมายถึง หลักธรรมที่สอนให้คนมีความเสมอภาคและเสรีภาพ แต่ไม่ได้บังคับให้เชื่อ สอนให้คนใช้เหตุผล สอนให้สังคมเกิดความสามัคคีและรวมกลุ่ม และสอนให้คนประพฤติดี มีศีลธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น
1) หลักสามัคคีธรรม หมายถึง ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะที่จะนําความสุขมาให้ โดยความสามัคคีจะเป็นตัวกําหนดความประพฤติของคนในสังคม ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ได้แก่ เมตตา การเผื่อแผ่ การมีศีลเสมอกัน และการเห็นชอบเสมอกัน
2) หลักการพึ่งตนเอง เป็นพุทธวัจนะ เป็นธรรมกํากับจิตใจให้คนรู้จักพึ่งตนเองและ ทําอะไรด้วยตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงเรื่องการพัฒนาชุมชนอันเป็นหลักการเมืองการปกครองที่ให้คนรู้จักพึ่งตนเองก่อน โดยหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองตนเองมีอยู่ 3 ระดับ คือ การครองตน การครองคน และการครองสมบัติ
3) หลักสหกรณ์ หมายถึง การทําร่วมกันตามภาระหน้าที่ เป็นหลักธรรมกํากับจิตใจ หรือการรวมตัวกันโดยสมัครใจของคนหลาย ๆ คน เพื่อบํารุงตนและหมู่คณะให้มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน นั่นคือ การทําตามภาระหน้าที่หรือตามตําแหน่งของตน โดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น หลักสหกรณ์นี้สามารถนําไปปรับใช้ในการบริหารบ้านเมือง หรือในการทํากิจกรรมใด ๆ ก็ได้ เพราะว่าต่างคนต่างมี หน้าที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลทําให้ชุมชนมีความเจริญรุ่งเรืองได้ โดยหลักสหกรณ์ไม่ว่ารูปแบบใดจะมีหลักการ ที่สําคัญ 4 ประการ คือ
(1) การรวมคน แต่ไม่ถือหลักการรวมทุน
(2) เป็นสมาชิกโดยสมัครใจ
(3) มีความเสมอภาคกัน โดยใช้หลักประชาธิปไตยในการดําเนินงาน
(4) มีลักษณะองค์กรแบบเปิด เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคน
ข้อ 4 ให้อธิบายทั้งข้อ ก. และข้อ ข.
ก ความหมายและความสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 43 – 44, 47)
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการปกครองท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมาย หรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้าง ก็คือสํานวนและรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจ หรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ในท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่า ถ้าอํานาจการปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจาก การกระจายอํานาจของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจ และบริหารงานภายในท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการ กระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การ ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการ ดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่นของตนเท่านั้น
วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
แฮรีส จี. มอนตากู (Haris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง หรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด
วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ
ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน
อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น
ความสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น มีดังนี้
1 การปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นสถาบันฝึกสอนการเมืองการปกครองให้แก่ประชาชน ทําให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้สิทธิและหน้าที่พลเมือง อันจะนํามาสู่ความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย
2 การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
3 การปกครองส่วนท้องถิ่นจะทําให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพราะเปิดโอกาส ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะทําให้ประชาชนเกิดสํานึกใน ความสําคัญของตนเองต่อท้องถิ่น ประชาชนจะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรค ปัญหา และช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน
4 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ
5 การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นแหล่งสร้างผู้นําทางการเมือง การบริหารของประเทศในอนาคต
6 การปกครองส่วนท้องถิ่นสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาชนบทแบบพึ่งตนเอง
ข ความหมายและรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 19, 22), (คําบรรยาย)
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้
การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลใน กระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของทัศนคติ แต่เป็นเรื่องของความสมัครใจ และไม่มีการบังคับ ซึ่งรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สําคัญในท้องถิ่น ได้แก่ การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการช่วย ผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้ง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง ประชาชนไม่ใช่นักการเมือง นั่นคือ ประชาชนควรเข้าไป มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกนักการเมืองว่าจะเอาใครมาเป็นตัวแทน
การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง แนวคิดที่ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของประชาชนที่จะเข้าไปร่วม กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม โดยต้องเกิดจากความเต็มใจและความตั้งใจ ที่จะเข้าร่วม และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ ความเสมอภาค และขีดความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างรวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้
Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ
1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง
2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งแต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง
3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง
4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือของครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก
Huntington & Nelson เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่
1 กิจกรรมการเลือกตั้ง
2 การล็อบบี้
3 การติดต่อ
4 การใช้กําลังรุนแรง
Almond & Powell เห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1 Conventional Forms ได้แก่
1) การออกเสียงเลือกตั้ง
2) การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง
3) กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
4) การจัดตั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก
5) การติดต่อส่วนตัว
2 Unconventional Forms ได้แก่
1) การยื่นข้อเสนอ
2) การเดินขบวน
3) การประจันหน้า
4) การละเมิดกฎของสังคม
5) การใช้ความรุนแรง
6) สงครามกองโจรและการปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือแรงจูงใจในการเข้าไปมีส่วนร่วม ทางการเมืองจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเรียกร้องแข่งขันทางการเมืองเป็นสําคัญ โดยรูปแบบ ของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เข้าร่วมชุมนุม เข้าร่วมการออกเสียงเลือกตั้ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เข้าร่วมลงสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง เข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทาง การเมือง เข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย ฯลฯ ทั้งนี้ประชาชนผู้ใดจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสนใจและโอกาสของประชาชนผู้นั้นด้วย