การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 คือจุดเริ่มต้นของการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังนั้นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีอะไรบ้าง
แนวคําตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือเป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันก็มีผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งจากบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สามารถสรุปสาระสําคัญ ของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยได้ ดังนี้
1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น ได้แก่ ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง
2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือการกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหาร ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี
3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิในการ เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็น ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศ เป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้
ข้อ 2 ให้นักศึกษาพูดถึงรูปแบบและโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป รวมทั้งอํานาจหน้าที่มาให้เข้าใจ
แนวคําตอบ
รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ องค์การ บริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตําบล
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง
โครงสร้างของ อบจ. ประกอบด้วย
1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งจํานวนของสมาชิกสภา อบจ. ให้ถือเกณฑ์ จํานวนราษฎรในแต่ละจังหวัด ดังนี้
– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน
– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 30 คน
– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 36 คน
– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 42 คน
– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภา อบจ.
2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
นายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็น ผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย
1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้
– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน
– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ.ได้ไม่เกิน 3 คน
– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ.ได้ไม่เกิน 2 คน
2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน
อํานาจหน้าที่ของ อบจ.
อบจ. มีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของ อบจ. ได้แก่
1 ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
2 จัดทําแผนพัฒนา อบจ. และประสานการจัดทําแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
3 สนับสนุนสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
4 ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
5 แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
6 อํานาจหน้าที่ของจังหวัดตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เฉพาะภายในเขตสภาตําบล
7 คุ้มครอง ดูแล และบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบํารุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นฯลฯ
เทศบาล
เทศบาล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่ตั้งขึ้นเป็นรูปแบบแรกภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้ามาก และดูแลพื้นที่ในเขตเมืองซึ่งมีลักษณะปัญหาแตกต่างไปจากพื้นที่ชนบท เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
ประเภทของเทศบาล มี 3 ประเภท คือ
1 เทศบาลตําบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตําบล การจัดตั้งเทศบาลตําบลจะไม่มีการกําหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของจํานวนประชากร ความหนาแน่น หรือรายได้แต่ประการใด ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
2 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎร ตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทําตามกฎหมาย และซึ่งมีประกาศ กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
3 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้ พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทําตามกฎหมาย และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
โครงสร้างของเทศบาล ประกอบด้วย
1 สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งจํานวนของสมาชิกสภาเทศบาลมีดังนี้
– สภาเทศบาลตําบล ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน
– สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิก 18 คน
– สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน
สภาเทศบาลมีประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 1 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล โดยจะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาล
2 นายกเทศมนตรี มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระ การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
นายกเทศมนตรีสามารถแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลได้ตาม เกณฑ์ดังนี้
– เทศบาลตําบล แต่งตั้งได้ไม่เกิน 2 คน
– เทศบาลเมือง แต่งตั้งได้ไม่เกิน 3 คน
– เทศบาลนคร แต่งตั้งได้ไม่เกิน 4 คน
นายกเทศมนตรีสามารถแต่งตั้งเลขานุการและที่ปรึกษานายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิก สภาเทศบาลได้จํานวนรวมกันตามเกณฑ์ดังนี้
– เทศบาลตําบล แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 2 คน
– เทศบาลเมือง แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
– เทศบาลนคร แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 5 คน
อํานาจหน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลมีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของเทศบาล ได้แก่
เทศบาลตําบล มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1 รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2 ให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ
3 รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
4 ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
5 ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
6 ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
7 ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
8 บํารุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9 หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลเมือง มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1 กิจการตามที่กฎหมายระบุให้เทศบาลตําบลต้องกระทํา
2 ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
3 ให้มีโรงฆ่าสัตว์
4 ให้มีและบํารุงสถานที่ทําการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้
5 ให้มีและบํารุงทางระบายน้ำ
6 ให้มีและบํารุงส้วมสาธารณะ
7 ให้มีและบํารุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
8 ให้มีการดําเนินกิจการโรงรับจํานําหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
เทศบาลนคร มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
1 กิจการตามที่กฎหมายระบุให้เทศบาลตําบลและเทศบาลเมืองต้องกระทํา
2 ให้มีและบํารุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
3 กิจการอื่นซึ่งจําเป็นเพื่อการสาธารณสุข
4 การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจําหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
5 จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
6 จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
7 การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
8 การส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว
องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)
อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ของตําบลที่อยู่ นอกเขตเทศบาล จัดตั้งมาจากสภาตําบลที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กําหนด โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญเพื่อดูแลทุกข์สุขและ ให้บริการประชาชนในหมู่บ้าน ตําบล เขต อบต. แทนรัฐบาลกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ อบต. ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีอํานาจหน้าที่ในการพัฒนาตําบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และอํานาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด รวมทั้งมีงบประมาณและ พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อบต. เอง
โครงสร้างของ อบต. ประกอบด้วย
1 สภาองค์การบริหารส่วนตําบล (สภา อบต.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบต. ซึ่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีที่เขต อบต. ใดมี 1 หมู่บ้าน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. หมู่บ้านนั้น 6 คน และในกรณีที่เขต อบต. ใดมี 2 หมู่บ้าน ให้แต่ละหมู่บ้านเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบต. หมู่บ้านละ 3 คน ซึ่งอายุของสภา อบต. มีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
สภา อบต. มีประธานสภา อบต. 1 คน และรองประธานสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภา อบต. เลือกจากสมาชิกสภา อบต. ให้นายอําเภอแต่งตั้ง โดยจะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต. และมีเลขานุการสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภา อบต. เลือกจากปลัด อบต. หรือสมาชิกสภา อบต. โดยจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต.
2 นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (นายก อบต.) มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
นายก อบต. สามารถแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภา อบต. ได้ไม่เกิน 2 คน และแต่งตั้งเลขานุการนายก อบต. ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภา อบต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ 1 คน
อํานาจหน้าที่ของ อบต.
อบต. มีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และที่ แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของ อบต. ได้แก่
1 จัดให้มีและบํารุงรักษาทางน้ำและทางบก
2 รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ํา ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
3 ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
4 ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
5 ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
6 ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
7 คุ้มครอง ดูแล และบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8 บํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นฯลฯ
ข้อ 3 ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะอย่างไร เป็นปัญหาต่อการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
ความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ ผู้นําท้องถิ่น
ผู้นําท้องถิ่น หมายถึง บุคคลที่มีคนในท้องถิ่นนับถือไว้วางใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1 ผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากส่วนกลาง แต่งตั้งไปประจํายังส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล กรรมการหมู่บ้าน ครู พัฒนากร เป็นต้น
2 ผู้นําท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่มีบารมี มีอิทธิพล หรือมีความรู้ความชํานาญ เป็นพิเศษเกี่ยวกับอาชีพหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการในการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านและตําบลของตน เช่น ผู้นํากลุ่มอาชีพ ผู้นํากลุ่มสตรี ผู้นํากลุ่มสันทนาการ การ ผู้นํากลุ่มเยาวชน ผู้นําทางศาสนา เป็นต้น
พรรคการเมือง
พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน รวมถึงมีอุดมการณ์ และแนวปฏิบัติที่ตกลงกันแน่นอน โดยพรรคการเมืองต้องมีลักษณะสําคัญดังนี้
1 อุดมการณ์หรือหลักการ คือ คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือหลักการปกครองร่วมกันเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งพรรคการเมือง
2 การจัดตั้งเป็นองค์กร คือ มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานมีพนักงานประจํา มีระเบียบข้อบังคับ ในการดําเนินงาน มีการแบ่งงานกันทํา และมีผู้รับผิดชอบงานชัดเจน
3 ความเชื่อมโยงกับประชาชน คือ พรรคการเมืองต้องทําหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล เช่น สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน การดําเนินการต่าง ๆ หรือผลักดัน ให้รัฐบาลนําความคิดเห็นนั้นไปปฏิบัติ
วิสุทธิ์ โพธิแท่น กล่าวว่า พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างเดียวกัน รวมกันจัดตั้งเป็นรากฐานที่มีการจัดองค์กรที่แน่นอนชัดเจน มีการกําหนดทางเลือกเกี่ยวกับนโยบาย ที่สําคัญในการปกครองและบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ มีการคัดเลือกคนเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง พยายาม เข้าไปมีส่วนร่วมในอํานาจรัฐจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ โดยพรรคการเมืองมีองค์ประกอบที่จําเป็น เช่น คน สถานที่และอุปกรณ์ โครงสร้างของพรรคการเมือง และระเบียบข้อบังคับ
กลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้ที่มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อให้สามารถ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มตนหรือเพื่อผลประโยชน์ ของส่วนรวมก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1 กลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มผลประโยชน์ด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยจะมีบทบาททางการเมืองสูง และมีอํานาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาก เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มหอการค้าจังหวัด เป็นต้น
2 กลุ่มทางเกษตรกรรม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้เป็น เจ้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจํานวนมาก และมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล เช่น สหพันธ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
3 กลุ่มทางสังคม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ปฏิบัติงานทางด้านสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ของกลุ่มและเพื่อสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เช่น สมาคม ภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
4 กลุ่มโลกทัศน์ คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อมหาชนให้คล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาล กระทําตาม เช่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น
ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์กับปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่น
ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถนําไปสู่การเกิดเป็นปัญหาต่อ การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยได้ กล่าวคือ
ผู้นําท้องถิ่น
ผู้นําท้องถิ่นเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า ผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามา เป็นผู้นําในการเรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการ พัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน
พรรคการเมือง
พรรคการเมืองเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคล ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์ และฐานอํานาจที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัย ระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชน ในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ที่สังกัดพรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และ แสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่น จึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็น ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก
กลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์เป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมาย ในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน
ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร
แนวคําตอบ
ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน
ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็น คุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน
องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล
ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้
1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล
2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ
3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดย ปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ
5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน
6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน
หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้
1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุม หรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น
2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น
3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น
4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น
5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้