การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อเท่านั้น

ข้อ 1. ให้นักศึกษาอธิบายอํานาจร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความหมาย รูปแบบ พร้อมกับวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ของประเทศไทยว่าส่วนใหญ่เกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบใด

Advertisement

แนวคําตอบ

ความหมายของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญ

อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง อํานาจในการจัดทํารัฐธรรมนูญ อํานาจในการกําหนด หลักการแห่งรัฐธรรมนูญ อํานาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติเป็นหมวด เป็นมาตราต่าง ๆ รวมถึง การลงมติเห็นพ้องกันให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ตลอดจนครอบคลุมไปถึงการประกาศใช้ หรือกล่าวโดยสรุป อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง ขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดทํารัฐธรรมนูญนั่นเอง

รูปแบบของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญ

รูปแบบของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญ มี 2 รูปแบบ ได้แก่

1. อํานาจพิจารณาใหม่ เป็นอํานาจที่มีอยู่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายความว่าเป็นอํานาจร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่กําลังใช้อยู่ได้วางระเบียบการจัดตั้งอํานาจและกําหนดวิธีการ ดําเนินการไว้ โดยในทางปฏิบัติจะปรากฏในรูปของอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) ซึ่งรัฐธรรมนูญ ลายลักษณ์อักษรจะมีหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ โดยกําหนดว่าญัตติในการเสนอขอแก้ไขเป็น องค์กรใด ผู้มีอํานาจในการพิจารณาแก้ไขคือองค์กรใด และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากในจํานวนเท่าใด นอกจากนี้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นผู้มีอํานาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่กี่มาตราก็ได้หรืออาจแก้ไขทั้งฉบับก็ได้

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 3 (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489) เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 (รัฐธรรมนูญ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534) เป็นฉบับที่มีการแก้ไขมากที่สุด โดยใช้อํานาจพิจารณาใหม่แก้ไขเกือบทั้งฉบับ (ยกเว้น หมวดทั่วไปกับหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขที่มีผลทําให้ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญในแบบอํามาตยาธิปไตย (Bureaucracy) มาเป็นรัฐธรรมนูญในแบบประชาธิปไตย (Democracy)

2. อํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม เป็นอํานาจที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเพราะว่าไม่มีรัฐธรรมนูญในขณะนั้น โดยเป็นอํานาจร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ

1) การก่อตั้งรัฐใหม่

2) มีการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหาร

ดังนั้น ผู้ก่อตั้งรัฐใหม่หรือผู้ทําการปฏิวัติรัฐประหารจะมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม ซึ่งหมายความว่า มีอํานาจแรกเริ่ม อิสระ ไม่ผูกพันกับตัวบทกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนใด ๆ ที่มีอยู่ก่อน ทั้งสิ้น เป็นอํานาจอิสระจริง ๆ สามารถกําหนดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญอย่างใดก็ได้ โดยไม่จําเป็นต้องไปผูกพันกับ รัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่เคยมีอยู่ในอดีต อีกทั้งยังสามารถยกเลิกหลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ไปเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรา 17 เป็นต้น

รัฐธรรมนูญของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม เพราะเกิดจากการทํารัฐประหาร ผู้ทําการรัฐประหารจึงมีอํานาจ “รัฏฐาธิปัตย์” คือ อํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุด ภายในรัฐ จึงสามารถร่างรัฐธรรมนูญในแบบใดก็ได้โดยไม่จําเป็นต้องเคารพหรือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่ต้องยึดอํานาจให้สําเร็จจึงจะมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมได้ ถ้าแพ้ก็เป็นกบฏ และต้องมีความผิด

อำนาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมที่เกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารนี้ถือว่าเป็นอํานาจที่ไม่มีขอบเขตจํากัด เนื่องจากเป็นผู้ชนะอาจสั่งให้ยกเลิกศาลทั้งหมดก็ทําได้ เพราะตรงตามข้อเท็จจริงทาง หลักรัฐศาสตร์ประการหนึ่งที่ว่า “ผู้แข็งแรงที่สุดเป็นผู้มีอํานาจปกครอง”

อย่างไรก็ตาม ขีดจํากัดของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยวิธีการปฏิวัติหรือรัฐประหารสามารถวิเคราะห์ได้ 2 ประการ คือ

1) จิตใต้สํานึกของผู้มีอํานาจ

2) ความรู้สึกของประชาชน

สําหรับกรณีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมที่เกิดจากการก่อตั้งรัฐใหม่ มีตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1787 ของสหรัฐอเมริกา มี 7 มาตรา (แก้ไข 27 ครั้ง) ซึ่งแต่เดิมนั้นสหรัฐอเมริกาเคยเป็นอาณานิคมของ อังกฤษ ต่อมาได้มีการปฏิวัติเพื่อกู้เอกราชในปี ค.ศ. 1776 และกระทําสําเร็จ จึงมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม สามารถร่างรัฐธรรมนูญในแบบใดได้ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นอํานาจแรกเริ่ม เป็นอํานาจอิสระที่แท้จริง หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น การเกิดประเทศบรูไนในปี ค.ศ. 1983 จะร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบใดก็ได้ (ราชาธิปไตยหรือระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ประยุกต์)

กรณีประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ การจัดทํารัฐธรรมนูญของไทยมีทั้ง 2 รูปแบบ คือ ด้วยวิธีการใช้ “อํานาจพิจารณาใหม่” (ดังปรากฏในหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) และวิธีการใช้ “อํานาจ ร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม” แต่ถ้าจะวิเคราะห์แล้วอํานาจร่างรัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่เกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญ ดั้งเดิม เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๆ ของไทยจะเกิดจากผลของการทํารัฐประหาร

กล่าวโดยสรุป อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ มี 2 รูปแบบ คือ อํานาจพิจารณาใหม่ และอํานาจร่าง รัฐธรรมนูญดั้งเดิม โดยการจัดทํารัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่จะเกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม

ข้อ 2. ให้นักศึกษาอธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ดังต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย
2.1 Sovereignty

แนวคําตอบ

Sovereignty (อํานาจอธิปไตย) หมายถึง อํานาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ดังนั้นสิ่งอื่นใด จะมีอํานาจยิ่งกว่าหรือจะมาขัดต่ออํานาจอธิปไตยไม่ได้

อํานาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ เพราะการจะเป็นรัฐได้นั้น นอกจากต้องประกอบด้วย ประชากร ดินแดน และรัฐบาลแล้ว ย่อมต้องมีอํานาจอธิปไตยด้วย กล่าวคือ รัฐนั้น ต้องเป็นรัฐที่สามารถมีอํานาจสูงสุด (อํานาจอธิปไตย) ในการปกครองตนเอง จึงจะสามารถเรียกว่า “รัฐ” ได้

อํานาจอธิปไตยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ถ้าเป็นการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย อํานาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนคือผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครอง ประเทศ โดยผ่านตัวแทนคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจอธิปไตยจะเป็นของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์เป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และ เป็นผู้เดียวที่ใช้อํานาจดังกล่าว

ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย มี 4 ประการ คือ

1. มีลักษณะเป็นการทั่วไป (Universality) หมายถึง มีอํานาจครอบคลุมทั่วทั้งรัฐ และ อยู่เหนือทุก ๆ อํานาจ

2. มีความสมบูรณ์ (Absoluteness) หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดภายในรัฐ จะไม่มีอํานาจอื่นใดภายในรัฐที่อยู่เหนือกว่าอํานาจอธิปไตย

3. มีความถาวร (Permanence) หมายถึง อํานาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐยังคงอยู่

4. แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisibility) หมายถึง ในรัฐหนึ่ง ๆ จะต้องมีอํานาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว จะมีการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยไปให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรัฐมิได้

อํานาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ทําหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ

2. ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย

3. ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของทุก ๆ คนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการ ควบคุมทุก ๆ อํานาจให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

2.2 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้วก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

– เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

– เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

2.3 Revolution

แนวคําตอบ

Revolution (การปฏิวัติ) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้าง กฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีต หรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติ ที่จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา

ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่

– การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 – การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917
– การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949

กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย

สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติ โดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการคือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475

2.4 Coup d’e’tat

แนวคําตอบ

Coup d’e’tat (การรัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยน ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจ มักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทาง การเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบ ทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

อนึ่ง ประเทศไทยมีการทํารัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัตน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

2.5 Election

แนวคําตอบ

Election (การเลือกตั้ง) เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยที่จะมอบความไว้วางใจ
ในตัวแทนของปวงชนให้มาใช้อํานาจแทนตน ดังนั้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ประเทศจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นไปอย่างอิสรเสรี เสมอภาค และ ลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นผู้เข้ามาใช้อํานาจรัฐแทนประชาชน ซึ่งใน ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนในระบอบประชาธิปไตยแบบ ประธานาธิบดีผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ ประธานาธิบดี

กรณีประเทศไทย การเลือกตั้งของไทยนั้นมีทั้งการเลือกตั้งในระดับชาติ คือ การเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็น “การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย” คือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนตําบลก่อน แล้วผู้แทนตําบลเป็นผู้เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ส่วนการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นการเลือกตั้งทางตรง คือ การให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทําการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงไม่ผ่านตัวแทนอื่นใด

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า พฤฒิสภา เป็นการเลือกตั้ง ทางอ้อม คือ ให้ประชาชนเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาทําหน้าที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา ส่วนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา

สําหรับองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความบริสุทธิ์ และยุติธรรม หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” นั้น มีครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกจนกระทั่งก่อนการ ประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย

ข้อ 3. จงอธิบายว่าหลักการในการปกครองระบบรัฐสภาและประธานาธิบดีมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร จากนั้นอธิบายเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาและประธานาธิบดี โดยยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

แนวคําตอบ

การปกครองระบบรัฐสภา (Parliamentary System)

ระบบรัฐสภาเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อังกฤษเป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก”ซึ่งในการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้วรัฐบาลที่ปกครอง และบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงานด้วยความ รับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง

หลักการสําคัญของการปกครองระบบรัฐสภา มีดังนี้

1. อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มี การแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติ ใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2. การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่าย ให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3. อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้ มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการปกครองระบบรัฐสภา มีดังนี้

1. ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่า พระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่ง ประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2. ประมุขของรัฐมีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือ ๆ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆต่อสภาผู้แทนราษฎร

3. ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้น จะต้องเสนอนโยบาย เพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4. ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาทําหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมการทํางานของฝ่ายบริหารโดย
1) การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
2) การตั้งกระทู้ถาม
3) การอนุมัติงบประมาณประจําปี
4) การตั้งคณะกรรมาธิการ
5. ฝ่ายบริหารมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้
6. ฝ่ายบริหารมีสิทธิเสนอกฎหมายเช่นเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติ
7. ฝ่ายบริหารมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ
8. ฝ่ายตุลาการ (ศาล) และผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การปกครองระบบประธานาธิบดี (Presidential System)

ระบบประธานาธิบดีเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบประธานาธิบดีคลาสสิก” ซึ่งเกิดมาจากความคิดของผู้เริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องการจะกําหนดรูปแบบการปกครองของประเทศให้เหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ

หลักการสําคัญของการปกครองระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1. อํานาจอธิปไตยหรืออํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กรนําไปปฏิบัติ โดยไม่รวมอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียว กล่าวคือ อํานาจบริหารจะใช้โดยฝ่ายบริหารที่เรียกว่าประธานาธิบดีหรือคณะรัฐบาล อํานาจนิติบัญญัติจะใช้โดยฝ่ายรัฐสภา และอํานาจตุลาการจะใช้โดยฝ่ายศาล

2. การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอํานาจหน้าที่ ของรัฐไปปฏิบัติจะเป็นอิสระต่อกันโดยเด็ดขาด แต่ละองค์กรจะทําหน้าที่ของแต่ละฝ่ายโดยไม่ก้าวก่ายตรวจสอบ หรือควบคุมซึ่งกันและกัน

3. ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็จะอยู่จนครบ 4 ปี หรือฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็จะอยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

วิธีการของการปกครองระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1. ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะเป็นบุคคลเดียวกัน และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยตําแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่าประธานาธิบดี
2. ประธานาธิบดีตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
3. สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีไม่ได้
4. ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจติเตียนฝ่ายบริหารหรือตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร
5. ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจริเริ่มเสนอกฎหมาย การเสนอกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
6. ฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีไม่มีอํานาจยุบสภา
7. ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจเรียกประชุมรัฐสภา
8. ฝ่ายตุลาการมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
9. ทุกฝ่ายจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดี มีวาระ 4 ปี ก็อยู่จนครบ 4 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็อยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

การปกครองระบบรัฐสภาและประธานาธิบดีมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

ระบบรัฐสภา

-การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด
– ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารแยกจากกัน
– ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
– ฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิตั้งกระทู้ถาม
– ฝ่ายบริหารมีอํานาจยุบสภา
– ฝ่ายบริหารมีสิทธิเสนอกฎหมายได้
– ไม่มีหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ

ระบบประธานาธิบดี

-การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด
– ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารเป็นบุคคลเดียวกัน
– ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
– ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีสิทธิตั้งกระทู้ถาม
– ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจยุบสภา
-ฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย
– ทุกฝ่ายอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ

ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาและประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีการแยกอํานาจกันแบบไม่เด็ดขาด โดยการใช้ อํานาจของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความสัมพันธ์กันอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “การเชื่อมโยงอํานาจ” (Fusion of Power) เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลมีที่มาจากฝ่ายรัฐสภา การทํางานจึงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ในเบื้องต้นหลังจาก เข้ารับตําแหน่งจะต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อทํางานไปแล้วฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถตรวจสอบถ่วงดุลโดยการตั้งกระทู้ถามหรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายคนได้ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีอํานาจในการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้หากมีเหตุผลอันควรโดยเฉพาะเกิดความ ขัดแย้งขึ้นในฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองหรือเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายรัฐสภาจนไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ซึ่งการยุบสภาก็จะส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดสิ้นสุดลงไปด้วย

ระบบประธานาธิบดี ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีการแยกอํานาจกันเด็ดขาดบนหลักการ แบ่งแยกอํานาจ (Separation of Power) โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่างก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน ดังนั้นการทํางานของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจึงแยกอิสระจากกัน แต่ละฝ่ายไม่ก้าวก่าย ตรวจสอบหรือควบคุมซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจในการยุบสภา ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ไม่มีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นต้น

ในระบบประธานาธิบดี แม้ในหลักการจะไม่ก้าวก่ายและตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกันแต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีการผ่อนคลายบ้างในกรณีเกิดปัญหาวิกฤติในการเมืองการปกครอง เช่น การให้ประธานาธิบดี มีอํานาจยับยั้งกฎหมาย (Veto) ที่ออกมาจากฝ่ายรัฐสภา หรือการให้อํานาจฝ่ายนิติบัญญัติทําหน้าที่กล่าวหา ประธานาธิบดีในกรณีที่มีการกระทําที่ไม่เหมาะสมที่จะนําไปสู่ความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของประเทศหรือเสื่อมเสียกับตําแหน่งประธานาธิบดีที่เรียกว่า Impeachment

Advertisement