การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมี 2 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1. อธิบายเรื่องรูปแบบการปกครองของรัฐมาให้เข้าใจดังต่อไปนี้

Advertisement

ระบบรัฐสภา
ระบบประธานาธิบดี
ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา

แนวคําตอบ

รูปแบบการปกครองของรัฐในระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
1. ระบบรัฐสภา (Parliamentary System)
2. ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)
3. ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi-Presidential and Semi-Parliamentary
System)

1. ระบบรัฐสภา (Parliamentary System)
ระบบรัฐสภาเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อังกฤษเป็นแม่แบบที่เรียกว่า ซึ่งในการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองที่มีความสําคัญกว่า“ระบบรัฐสภาคลาสสิก”
องค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้วรัฐบาลที่ปกครอง และบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงานด้วยความ รับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง

ขั้นตอนกระบวนการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้
1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2. สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี
3. นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
4. คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ
5. ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1. อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มี การแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติ ใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล

2. การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่าย ให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด

3. อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้ มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น

วิธีการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้

1. ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่า พระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่ง ประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่านายกรัฐมนตรี เป็นต้น

2. ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบ ทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐไม่อาจถูกถอดถอนออกจาก ตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เองที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนาม กํากับหรือลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบ ในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

3. ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้น จะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้

4. รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้ โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้

5. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลของรัฐบาล หรือรัฐบาล กับฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้แทนราษฎร

6. ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน

7. ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหาร

8. ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุล

9. ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภา

10. ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ

11. ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาดังกล่าวนี้จะมีเสถียรภาพและดําเนินไปได้ด้วยดีก็ขึ้นอยู่กับการมีระบบพรรคการเมืองใหญ่และเป็นระบบ 2 พรรค จึงจะทําให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ และรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระสมัย

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เบลเยียม
เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

2. ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)

ระบบประธานาธิบดีเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบที่เรียกว่า “ระบบประธานาธิบดีคลาสสิก” ซึ่งเกิดมาจากความคิดของผู้เริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องการจะกําหนดรูปแบบการปกครองของประเทศให้เหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ

ขั้นตอน กระบวนการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้
1. การเลือกตั้งประธานาธิบดี
2. การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
3. ครบวาระเลือกตั้งใหม่

หลักการสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1. อํานาจอธิปไตยหรืออํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กรนําไปปฏิบัติ โดยไม่รวมอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียว กล่าวคือ อํานาจบริหารจะใช้โดยฝ่ายบริหารที่เรียกว่า ประธานาธิบดีหรือคณะรัฐบาล อํานาจนิติบัญญัติจะใช้โดยฝ่ายรัฐสภา และอํานาจตุลาการจะใช้โดยฝ่ายศาล

2. การแยกอํานาจแยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอํานาจหน้าที่ ของรัฐไปปฏิบัติจะเป็นอิสระต่อกันโดยเด็ดขาด แต่ละองค์กรจะทําหน้าที่ของแต่ละฝ่ายโดยไม่ก้าวก่ายตรวจสอบ หรือควบคุมซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจในการยุบสภา ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอํานาจ ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นต้น และแต่ละฝ่ายก็จะมีที่มาเป็นอิสระต่อกัน เช่น ประธานาธิบดี หรือสมาชิกรัฐสภาก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแยกแต่ละฝ่ายกัน

3. ฝ่ายต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ เช่น ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็จะอยู่จนครบ 4 ปี หรือฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็จะอยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

วิธีการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี มีดังนี้

1. ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะเป็นบุคคลเดียวกัน และมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ โดยไม่ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งตําแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่า ประธานาธิบดี

2. ประมุขฝ่ายบริหารสามารถตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
แต่กรณีของสหรัฐอเมริกาต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

3. ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอํานาจในเรื่องการไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ได้

4. ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจริเริ่มเสนอกฎหมาย การเสนอกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

5. ฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีไม่มีอํานาจยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ

6. ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจเรียกประชุมรัฐสภา กล่าวคือ ประธานาธิบดีไม่มีอํานาจเรียก ประชุมสภา การประชุมสภาเป็นอํานาจหรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภา

7. ประธานาธิบดีสามารถเสนอนโยบาย โดยสภาผู้แทนราษฎรทําหน้าที่อนุมัติงบประมาณ

8. ประธานาธิบดีเป็นผู้แทนประเทศในการทําสนธิสัญญากับต่างชาติ โดยวุฒิสภาทําหน้าที่ให้สัตยาบัน

9. ทุกฝ่ายจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานาธิบดี มีวาระ 4 ปี ก็อยู่จนครบ 4 ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ก็อยู่จนครบ 2 ปี เป็นต้น

10. ฝ่ายตุลาการมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพื่อมิต้องตกอยู่ภายใต้อํานาจ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมีกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีจะไม่ก้าวก่ายและตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกัน แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีการผ่อนคลายบ้างในกรณีที่เกิดปัญหา วิกฤติในการเมืองการปกครอง เช่น การให้ประธานาธิบดีมีอํานาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาตามกลไกทาง การเมืองที่เรียกว่า Veto หรือการให้อํานาจฝ่ายนิติบัญญัติทําหน้าที่กล่าวหาประธานาธิบดีในกรณีที่มีการกระทํา
ที่ไม่เหมาะสมที่จะนําไปสู่ความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของประเทศหรือเสื่อมเสียกับตําแหน่งตามกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า Impeachment

การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระบบพรรคการเมืองที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยของพรรค เพราะถ้าประธานาธิบดีอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงข้างมาก
ในสภาจะได้ไม่มีปัญหา และการมีนักการเมืองที่มีวุฒิภาวะที่เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็นส่วนรวมด้วย
จึงจะทําให้การปกครองระบบประธานาธิบดีนี้ดําเนินไปได้ด้วยดี

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา
เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี อุรุกวัย เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

3. ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi-Presidential and Semi-Parliamentary System)

ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยอดีตประธานาธิบดีชาลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) โดยการนําเอาหลักการ สําคัญของระบบรัฐสภากับระบบประธานาธิบดีมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้อํานาจฝ่ายบริหารมีเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งเป็นการเน้นด้านเสถียรภาพของรัฐบาล

ขั้นตอนกระบวนการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา มีดังนี้

1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน
2. การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
3. ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
4. คณะรัฐมนตรีบริหารด้วยความไว้วางใจต่อรัฐสภา 5. ครบวาระเลือกตั้งใหม่

วิธีการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา มีดังนี้

1. ประมุขของรัฐคือประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยไม่ผ่านทางรัฐสภา โดยประธานาธิบดีจะอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ
2. ประธานาธิบดีมีอํานาจในการยุบสภา
3. ประธานาธิบดีมีอํานาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
4. ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะบริหารงานต้องแถลงนโยบายขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
5. สภาผู้แทนราษฎรมีอํานาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
6. รัฐสภาไม่มีอํานาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี
7. ศาลหรือผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

อนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสมีอํานาจมากกว่าประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพราะประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาไม่มีอํานาจในการยุบสภา แต่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสมีอํานาจในการยุบสภา ในขณะที่สภาฝรั่งเศสไม่มีอํานาจเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี

ตัวอย่างประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาได้แก่ ฝรั่งเศส รัสเซีย ติมอร์ตะวันออก อียิปต์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น

ข้อ 2. จงอธิบายถึงความสําคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นับเป็นจุดเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสําคัญทางอํานาจจากเดิมให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้พระราชอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงมาเป็นรัฐบาลที่รัฐสภาเป็นผู้จัดตั้งขึ้น มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมี
กําหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพ
การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

ดังนั้นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจะต้องพิจารณาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย พัฒนาให้สังคมปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อเป็นการช่วยให้รัฐบาลมีความรอบคอบในการบริหาร ประเทศ และสอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการควบคุมการบริหารประเทศ อีกทางหนึ่งด้วย

ความสําคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

1. การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ จะเห็นว่าการพัฒนาทางการเมืองจะบรรลุผลสําเร็จได้ มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนา ทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือ หากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจทั้งชนบทและเมืองให้มีความแตกต่างกัน น้อยลง ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้ประชาชนมีฐานะทางด้านเศรษฐกิจที่ดี มีกินมีใช้ ไม่มีหนี้สินประชาชน ก็จะให้ความสนใจทางการเมือง และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสามารถกระทําได้ดังนี้

1) การกระจายความเจริญไปสู่ชนบทและภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
2) การส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในชุมชนและเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม เช่น เกษตรแบบพึ่งตนเอง เกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจแบบพอเพียง เป็นต้น

3) การพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรในชนบท เพื่อสนับสนุนอาชีพของเกษตรกร เช่น ที่ดินทํากิน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนน เป็นต้น

4) การสร้างงานในชนบท เพื่อป้องกันปัญหาการอพยพไปขายแรงงานในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ และปัญหาการอพยพย้ายถิ่นอันทําให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา

2. การพัฒนาระบบการศึกษา เนื่องจากระบบการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้มี ความรู้ความเข้าใจและกล่อมเกลาทางการเมืองได้ดีที่สุด ทั้งรูปแบบการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการศึกษาในระบบโรงเรียนในทางทฤษฎีนั้นเป็นการศึกษาเรียนรู้เรื่องปรัชญา หลักการ รูปแบบประชาธิปไตย ฯลฯ ในขณะเดียวกันในทางปฏิบัติต้องมีการฝึกปฏิบัติวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย โดยผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนนักศึกษาได้ซึมซับคุณค่าของประชาธิปไตยโดยตรง ส่วนการศึกษา นอกระบบโรงเรียนนั้นสามารถให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยผ่านทางสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งครอบครัวต้องสามารถ ให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยที่เป็นวิถีชีวิตกับสมาชิกในครอบครัวได้

3. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นหัวใจสําคัญของ การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ การปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสํานึก มีความรู้ ความเข้าใจ คุณค่าของ ระบอบประชาธิปไตย และหวงแหนระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านระบอบเผด็จการ แต่การเสริมสร้างวัฒนธรรม
ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ใช้ความ พยายาม ความอดทน และต้องมีความตั้งใจจริงจากผู้นําทางการเมือง โดยต้องกระทําอย่างต่อเนื่อง

4. การปฏิรูปทางการเมือง ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การพัฒนาระบบรัฐสภา การพัฒนาระบบพรรคการเมือง การพัฒนาระบบการเลือกตั้ง การตรวจสอบทาง การเมือง การป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น

5. การพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดขนาดของ ระบบราชการให้เล็กลง แต่สามารถทํางานให้มีประสิทธิภาพ หน่วยงานใดมีลักษณะงานที่ซ้ําซ้อนควรยุบรวมกัน มีการปฏิรูประบบราชการให้มีโครงสร้างหรือสายการบังคับบัญชาที่สั้นกะทัดรัด บริหารและบริการสะดวก หรือที่เรียกว่า “การปฏิรูประบบราชการ” หรือ “การออกแบบระบบราชการเสียใหม่” (Reengineering) ซึ่ง ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงใหม่ ระบบบริหารจัดการ ระบบงบประมาณ ตลอดจนระบบการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาของระบบราชการไทย

6. การพัฒนาด้านสังคม โดยพยายามยกระดับคนในสังคมให้เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ทั้งนี้เพราะในอดีตประเทศไทยนั้นพบว่ามีชนชั้นกลางน้อย แต่มีชนชั้นล่างมาก ดังนั้นการจะยกระดับชนชั้นใด ในสังคมให้เป็นชนชั้นกลางมากขึ้นนั้น จําเป็นต้องยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้นถึงระดับปริญญาตรี และยกฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนให้สูงขึ้นด้วยเพื่อให้มีความเป็นอยู่พอกินพอใช้มากยิ่งขึ้น

7. การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อระบอบประชาธิปไตยให้ความสําคัญกับประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย บทบาทของประชาชนในทางการเมืองและการใช้อํานาจที่ผ่านทางองค์กร ทางการเมืองต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของตนเองจึงมีความสําคัญอย่างมาก เพราะประชาธิปไตยนั้นถือว่าประชาชน คือเสียงสวรรค์ เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมดําเนินการเพื่อสร้างสรรค์สังคมของตนเอง โดยกิจกรรม การเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชนอาจเป็นทางอ้อมโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเข้าไปทํา หน้าที่แทน หรือโดยทางตรง ได้แก่ การประท้วง การเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาเป็นต้น

8. การยอมรับความแตกต่าง เมื่อระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนจึงมีเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตยจึงให้เสรีภาพและยอมรับความ หลากหลายของประชาชน ประชาชนจึงแตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกอาชีพ วิถีชีวิต ความเชื่อ ทางศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นเพื่อมิให้ความแตกต่างนํามาซึ่งความแตกแยกทางสังคม พลเมือง ในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องยอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกัน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะแตกต่างกันก็จะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นแตกต่างไปจากตนเอง แม้จะไม่เห็นด้วยก็จะต้อง ยอมรับว่าคนอื่นมีสิทธิที่จะแตกต่างหรือมีความคิดเห็นที่ต่างไปจากเราได้ และต้องยอมรับโดยไม่จําเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าทําไมเขาถึงเชื่อหรือเห็นแตกต่างไปจากเรา สามารถที่จะคุยเรื่องการเมืองกันได้แม้จะเลือกพรรคการเมือง คนละพรรคหรือสนับสนุนคนละฝ่าย

9. การรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อระบอบประชาธิปไตยมิใช่ระบอบการปกครองตามอําเภอใจ หรือมิใช่ใครจะทําอะไรได้โดยไม่คํานึงถึงส่วนรวม พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังจะต้องใช้สิทธิเสรีภาพของตน โดยรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ทั้งนี้เพราะสังคมหรือประเทศชาติมิได้ดีขึ้นหรือแย่ลงโดยตัวเอง แต่สังคมจะดีขึ้นได้ หรือแย่ลงไปก็ด้วยการกระทําของคนในสังคม ดังนั้นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลโดยตรงต่อประชาชน ผู้ซึ่งมีสํานึกของความเป็นเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของสังคม มิให้เป็นที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามอําเภอใจแล้วทําให้ สังคมเสื่อมลงไป หากแต่เป็นผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพโดยรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม เป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไข ปัญหาและช่วยกันทําให้สังคมดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เป็นต้น

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยจะสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องส่งเสริม ให้มีการพัฒนาทั้งระบบในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วม ทางการเมืองของประชาชนให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ด้านการเมืองต้องเสริมสร้างระบบการเมือง รัฐบาลต้องมีนโยบาย การบริหารและการพัฒนาให้ครอบคลุมถึงความต้องการของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยสามารถนําไปปฏิบัติได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสํานึก มีความรู้ และเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้นต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้อง บริหารให้มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และในด้านสังคมต้องให้การศึกษาระดับพื้นฐานแก่ ประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน ร่วมคิดร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมดําเนินการทุก ๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และ นําความคิดเห็นความต้องการของประชาชนไปประกอบการพิจารณาเพื่อกําหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อเป็น การพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป

Advertisement