การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําแนะนํา ข้อสอบมีจํานวน 3 ข้อ ให้เลือกทําเพียง 2 ข้อ ๆ ละ 50 คะแนน (รวม 100 คะแนน)
ข้อ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดการเมืองการปกครองของไทยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) นั้น นักศึกษามีความเข้าใจอย่างไร อธิบาย
แนวคําตอบ
การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือการปกครองระบอบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อังกฤษเป็น แม่แบบที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงานด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550) กําหนดให้ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ซึ่งสามารถอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
1 รูปแบบรัฐสภาจะเป็นแบบสภาคู่หรือระบบสองสภา (Bicameral System) คือรัฐสภา ประกอบด้วย
1.1 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 375 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวน 125 คน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 93)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 94)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทําขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิ ออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 95)
1.2 วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวนสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในแต่ละจังหวัด ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเลือกตั้ง และให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละ 1 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 1 เสียง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา
ทั้งนี้โดยกําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธาน วุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
2 สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเปิดเผยด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ นายกรัฐมนตรี จะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีมิได้
3 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะเลือกสรรบุคคลเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งบุคคลใดมาเป็นรัฐมนตรีนั้น นอกจากจะต้องคํานึงถึงความรู้ความสามารถแล้ว ยังจะต้องคํานึงถึงเสียงสนับสนุนในสภาเป็นหลักอีกด้วย โดยต้องเลือกบุคคล ที่มีกลุ่มสมาชิกให้การสนับสนุน และในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องคํานึงถึงสัดส่วนจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
4 คณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่
5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี ทั้งนี้เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง จะต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันนับแต่วันที่อายุของ สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
6 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจที่จะควบคุมรัฐบาลด้วยการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจได้ และฝ่ายบริหารโดยนายกรัฐมนตรีก็มีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน
7 ฝ่ายนิติบัญญัติจะทําหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการทํางานของฝ่ายบริหาร โดย
7.1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
7.2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็น รายบุคคลได้
7.3 กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้อยู่ในพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคนั้นดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีมีจํานวนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรีได้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อ เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ หากคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน เกินกว่า 2 ปี
7.4 สมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสําคัญเกี่ยวกับ การบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
7.5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สําคัญของแผ่นดิน โดยการตอบกระทู้ ให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
7.6 รัฐสภามีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจําปี เพื่อมิให้ฝ่ายบริหาร ใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามใจชอบ
7.7 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอํานาจเลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอํานาจเลือกสมาชิกหรือบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอํานาจหน้าที่ได้
8 คณะรัฐมนตรีมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 20 คน นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
9 คณะรัฐมนตรีมีสิทธิร้องขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
10 ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ข้อ 2 ให้นักศึกษาอธิบายหลักการสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Democracy) มาให้เข้าใจ
แนวคําตอบ
การปกครองระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เป็นการปกครองที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ปกติการปกครองในรูปแบบนี้จะเป็น ที่รู้จักกันว่าหมายถึงการปกครองที่เป็นเสรีประชาธิปไตย
หลักการสําคัญพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้
1 หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย เป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถ เปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลในเวลา ไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจ ขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจ ของประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด
2 หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชน เป็นหลักการสําคัญอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะถือว่ามนุษย์ทุกคนมี เสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิทางการเมือง ซึ่งในกรณีของ สิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพที่จะทําอะไรได้ทุกอย่าง โดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพของตนนั้นจะต้องไม่ไป ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกันสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้ จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่า ๆ กันก็จะก่อให้เกิดความเสมอภาค ทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบ ประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชนเท่ากัน ตามหลัก One Man One Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จัก หน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ในการ เสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน
3 หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครองที่ถือว่า ประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐที่ประชาชนทุกคน ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือ กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่าศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการมีหลักกฎหมาย ที่มีการควบคุมมีให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่จะทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อ รัฐธรรมนูญนี้ อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง
4 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) เป็นหลักการสําคัญอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นของตนเองและย่อมมีความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมดา แต่เพื่อหาข้อยุติปัญหา ต่าง ๆ การตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์ เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจโดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงเสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของ เสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย เพราะในวันข้างหน้าเสียงข้างน้อยอาจจะกลายมาเป็นเสียงข้างมากได้ ดังนั้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงถือว่าฝ่ายค้าน (ฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อย) มีความสําคัญเท่า ๆ กับฝ่ายรัฐบาล (ฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก)
5 หลักสันติวิธี เป็นหลักการสําคัญอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทําอะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไร เอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเราจะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจา และประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุก ๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสีย เลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย
โดยสรุปแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ถือหลักการว่าประชาชนเป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยในการดําเนินการปกครองประเทศ โดยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานสําคัญอย่างน้อย 5 ประการดังกล่าว
ข้อ 3 ให้นักศึกษายกประเด็นหรือสาระสําคัญที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มา 20 ประเด็น
แนวคําตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550) นับเป็นรัฐธรรมนูญ แบบลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่ได้ผ่านการออกเสียงลงประชามติ (Referendum) จากประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ แล้วได้มีการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18
รายการสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้จะแบ่งออกเป็น 15 หมวด ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 309 มาตรา และมีบทเฉพาะกาล แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นหรือสาระสําคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวมาเพียง 20 ประเด็น ดังนี้
1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นแบบรัฐเดียว (มาตรา 1)
2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 2)
3 อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม (มาตรา 3)
4 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (มาตรา 6)
5 พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ (มาตรา 8)
6 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ (มาตรา 28 วรรค 2)
7 ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดําเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทํานองเดียวกับการเป็น เจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว (มาตรา 48)
8 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับรองการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (มาตรา 49)
9 ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 51)
10 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)
11 จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ(มาตรา 78(7)
12 รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (มาตรา 88) โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 89)
13 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 375 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อจํานวน 125 คน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 93)
14 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 94)
15 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทําขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 95)
16 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวนสมาชิก วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 111)
17 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในหมวดสิทธิและเสรีภาพและหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 163)
18 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนบุคคลผู้ใช้อํานาจรัฐอันเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้ (มาตรา 164)
19 ประชาชนมีสิทธิยื่นคําร้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 212)
20 ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมาจาก (มาตรา 291)
1) คณะรัฐมนตรี
2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (รัฐสภา) จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน