การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อเท่านั้น

ข้อ 1. ให้นักศึกษาอธิบายอํานาจร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความหมาย รูปแบบ พร้อมกับวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ของประเทศไทยว่าส่วนใหญ่เกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญรูปแบบใด

Advertisement

แนวคําตอบ

อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง อํานาจในการจัดทํารัฐธรรมนูญ อํานาจในการกําหนด หลักการแห่งรัฐธรรมนูญ อํานาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติเป็นหมวด เป็นมาตราต่าง ๆ รวมถึง การลงมติเห็นพ้องกันให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ตลอดจนครอบคลุมไปถึงการประกาศใช้ หรือกล่าวโดยสรุป อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง ขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดทํารัฐธรรมนูญนั่นเอง รูปแบบของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญมี 2 รูปแบบ ได้แก่

1. อํานาจพิจารณาใหม่ เป็นอํานาจที่มีอยู่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายความว่าเป็นอานาจร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่กําลังใช้อยู่ได้วางระเบียบการจัดตั้งอํานาจและกําหนดวิธีการ ดําเนินการไว้ โดยในทางปฏิบัติจะปรากฏในรูปของอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) ซึ่งรัฐธรรมนูญ ลายลักษณ์อักษรจะมีหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ โดยกําหนดว่าญัตติในการเสนอขอแก้ไขเป็น องค์กรใด ผู้มีอํานาจในการพิจารณาแก้ไขคือองค์กรใด และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากในจํานวนเท่าใด นอกจากนี้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นผู้มีอํานาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่กี่มาตราก็ได้หรืออาจแก้ไขทั้งฉบับก็ได้

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 3 (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489) เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 (รัฐธรรมนูญ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534) เป็นฉบับที่มีการแก้ไขมากที่สุด โดยใช้อํานาจพิจารณาใหม่แก้ไขเกือบทั้งฉบับ (ยกเว้น หมวดทั่วไปกับหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้น) ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขที่มีผลทําให้ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญในแบบอํามาตยาธิปไตย (Bureaucracy) มาเป็นรัฐธรรมนูญในแบบประชาธิปไตย (Democracy)

2. อํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม เป็นอํานาจที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเพราะว่าไม่มีรัฐธรรมนูญในขณะนั้น โดยเป็นอํานาจร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ

1) การก่อตั้งรัฐใหม่
2) มีการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหาร

ดังนั้น ผู้ก่อตั้งรัฐใหม่หรือผู้ทําการปฏิวัติรัฐประหารจะมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม ซึ่งหมายความว่า มีอํานาจแรกเริ่ม อิสระ ไม่ผูกพันกับตัวบทกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนใด ๆ ที่มีอยู่ก่อน ทั้งสิ้น เป็นอํานาจอิสระจริง ๆ สามารถกําหนดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญอย่างใดก็ได้ โดยไม่จําเป็นต้องไปผูกพันกับ รัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่เคยมีอยู่ในอดีต อีกทั้งยังสามารถยกเลิกหลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ไปเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรา 17 เป็นต้น

รัฐธรรมนูญไทยเกือบทุกฉบับเกิดจากอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม เพราะเกิดจาก การทํารัฐประหารถือว่ามีอํานาจ “รัฏฐาธิปัตย์” คือ อํานาจปกครองบังคับบัญชาสูงสุดภายในรัฐ จึงสามารถ ร่างรัฐธรรมนูญในแบบใดก็ได้ โดยไม่จําเป็นต้องเคารพหรือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ฉบับเก่า แต่ต้องยึดอํานาจให้สําเร็จจึงจะมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมได้ ถ้าแพ้ก็เป็นกบฏ และต้องมีความผิด

กรณีอําานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมที่เกิดจากการก่อตั้งรัฐใหม่ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1787 ของสหรัฐอเมริกา มี 7 มาตรา (แก้ไข 27 ครั้ง) ซึ่งแต่เดิมนั้นสหรัฐอเมริกาเคยเป็นอาณานิคมของ อังกฤษ ต่อมาได้มีการปฏิวัติเพื่อกู้เอกราชในปี ค.ศ. 1776 และกระทําสําเร็จ จึงมีอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม สามารถร่างรัฐธรรมนูญในแบบใดได้ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นอํานาจแรกเริ่ม เป็นอํานาจอิสระที่แท้จริง หรืออีกตัวอย่างaหนึ่ง เช่น การเกิดประเทศบรูไนในปี ค.ศ. 1983 จะร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบใดก็ได้ (ราชาธิปไตยหรือระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ประยุกต์)

สําหรับอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิมที่เกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ถือว่าเป็นอํานาจที่ไม่มีขอบเขตจํากัด เนื่องจากเป็นผู้ชนะอาจสั่งให้ยกเลิกศาลทั้งหมดก็ทําได้ เพราะตรงตามข้อเท็จจริงทาง หลักรัฐศาสตร์ประการหนึ่งที่ว่า “ผู้แข็งแรงที่สุดเป็นผู้มีอํานาจปกครอง”

อย่างไรก็ตาม ขีดจํากัดของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยวิธีการปฏิวัติหรือรัฐประหาร
สามารถวิเคราะห์ได้ 2 ประการ คือ

1) จิตใต้สํานึกของผู้มีอํานาจ
2) ความรู้สึกของประชาชน

กรณีประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ การจัดทํารัฐธรรมนูญของไทยมีทั้ง 2 รูปแบบ คือ ด้วยวิธีการใช้ “อํานาจพิจารณาใหม่” (ดังปรากฏในหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) และวิธีการใช้ “อํานาจ ร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม” แต่ถ้าจะวิเคราะห์แล้วอํานาจร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของไทยจะเป็นในแบบอํานาจ ร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๆ ของไทยจะเกิดจากผลของการทํารัฐประหาร

กล่าวโดยสรุป อํานาจร่างรัฐธรรมนูญ มี 2 รูปแบบ คือ อํานาจพิจารณาใหม่ และอํานาจร่าง รัฐธรรมนูญดั้งเดิม โดยการจัดทํารัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะในแบบของอํานาจร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม

ข้อ 2. ให้นักศึกษาอธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ดังต่อไปนี้

2.1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แนวคําตอบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปใน ระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไป ในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถ แก้ไขมาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพ ความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไข รัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กรที่มีอํานาจในการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้
คะแนนเสียงข้างมากด้วย

กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็น ได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) และรูปแบบ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด

สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจาก ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยญัตติ ขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ ดังนี้

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียง เห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา การออกเสียงในวาระนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณแต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้เสนอความคิดเห็นด้วย

วาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

เมื่อมีการลงมติเห็นชอบแล้วให้รอไว้ 15 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย

สําหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน
ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

2.2 Authority

แนวคําตอบ

Authority หมายถึง อํานาจหน้าที่ ซึ่งเป็นอํานาจที่ใช้โดยฝ่ายตุลาการ (Judicial) หรือศาล การที่อํานาจของศาลเป็นอํานาจหน้าที่นั้น ก็เพราะว่าผู้พิพากษาจะตัดสินคดีต่าง ๆ ไปตามตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้แล้วนั่นเอง

2.3 การปฏิวัติ

แนวคําตอบ

การปฏิวัติ (Revolution) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้าง กฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีต หรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติ ที่จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา

ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่
การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
– การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917
– การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949

กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย

สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติ โดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการคือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475”

2.4 การรัฐประหาร

แนวคําตอบ

การรัฐประหาร (Coup d’e tat) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยน ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)

จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจ มักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทาง การเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น

กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบ ทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”

อนึ่ง ประเทศไทยมีการทํารัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

2.5 ราชอาณาจักร

แนวคําตอบ

ราชอาณาจักร (Kingdom) หมายถึง ประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น พระราชินี หรือเป็นพระจักรพรรดิ เช่น ไทย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เป็นต้น ซึ่งในอดีตการเกิด เป็นประเทศที่เรียกว่า ราชอาณาจักร เกิดจากแม่ทัพในขณะนั้นปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ คือ แม่ทัพไปรบกับรัฐอื่น ๆ จนได้รับชัยชนะแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ การสถาปนาตนเองขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ปราบดาภิเษก ต่อมาเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ พระโอรสก็จะต้องขึ้น ครองราชย์แทน การที่พระโอรสขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระบิดาที่สิ้นพระชนม์ เรียกว่า ราชาภิเษก

ข้อ 3. ให้นักศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองของไทย โดยให้ยกสถาบัน
ทางการเมืองสถาบันใดสถาบันหนึ่งก็ได้มาวิเคราะห์ โดยให้ระบุลักษณะและสาเหตุของปัญหา
ตลอดจนอภิปรายถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และให้เสนอแนะ
แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

แนวคําตอบ

ปัญหาความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองของไทย

สถาบันทางการเมืองของไทยยังขาดความเข้มแข็งหรือยังมีความเป็นสถาบันในระดับต่ํา หรือ จะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสถาบันทางการเมืองของไทยที่สร้างขึ้นมายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง คือ ยังไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ความต้องการ ตลอดจนการประนีประนอมอํานาจและผลประโยชน์ ของฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมไทยได้ทั้งในระดับของชนชั้นนําและระดับของประชาชนโดยทั่วไป สถาบันทางการเมืองจึงถูกล้มลงและสร้างขึ้นใหม่บ่อยครั้งในระบบการเมืองไทย

ตัวอย่างสถาบันทางการเมืองของไทย เช่น พรรคการเมือง มักมีปัญหาในเรื่องความเข้มแข็ง หรือความเป็นสถาบัน หรือก็คือความสามารถของพรรคการเมืองในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ เปลี่ยนแปลงไป การมีความคงทน การมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน การแยกตัวบุคคลออกจากการครองอํานาจของ ใครคนใดคนหนึ่งภายในพรรค เป็นต้น

บูฆอรี ยีหมะ เห็นว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดของความอ่อนแอในเชิงสถาบันของพรรคการเมือง ในประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น เกิดขึ้นจากต้นเหตุสําคัญคือการยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไป หรือก็คือการที่พรรคถูกครอบงําจากผู้นําภายในพรรคนั่นเอง จนทําให้พรรคดํารงอยู่ได้ด้วยอํานาจของบุคคลไม่ใช่เพราะความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง และง่ายต่อการล่มสลายหากผู้นําพรรคหลุดพ้นจากอํานาจทางการเมือง

สาเหตุสําคัญของการยึดติดกับตัวบุคคลจนส่งผลให้พรรคการเมืองไม่มีความเป็นสถาบันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของโครงสร้างทางอํานาจที่กระจุกตัวแทนที่จะกระจายตัวออกไป ซึ่งเป็นปัญหา ที่เกิดจากโครงสร้างของพรรคนั่นเอง ส่วนสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกันของอํานาจเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

1. ความรู้ความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกันของสมาชิกพรรค
2. ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
3. การควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกันของสมาชิกพรรค
4. การตีความกฎระเบียบ อํานาจในการตีความของผู้นํา
5. เงินทุน
6. การคัดเลือกบุคคลเข้าร่วมในพรรค อํานาจในการเลือกผู้เข้าร่วมพรรคอยู่ที่ผู้นําพรรค
บางคน

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เข้มแข็งหรือความไม่เป็นสถาบันของพรรคการเมืองไทยยังมีสาเหตุมาจาก

1. ความขัดแย้งทางอุดมคติเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมือง ปัญหานี้เกิดขึ้น เนื่องจากแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมืองไปขัดแย้งกับอุดมคติดั้งเดิมซึ่งเน้นความเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงปฏิเสธการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐ ดังนั้นอุดมคตินี้จึงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายอํานาจในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด

2. ลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง ทําให้เป็นอุปสรรคต่อการทํางานร่วมกัน และเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

3. ระบบอาวุโสทําให้สมาชิกมีความผูกพันต่อพรรคในระดับต่ํา ทั้งนี้เนื่องจากผู้อาวุโส ในพรรคมีบทบาทอํานาจในพรรคมาก ทําให้ผู้น้อยไม่อาจเข้าไปมีบทบาทในพรรคได้มากนัก จึงทําให้สมาชิกส่วนใหญ่ ของพรรคไม่รู้สึกถึงความผูกพันต่อพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

4. โครงสร้างทางสังคมของไทยเป็นโครงสร้างแบบหลวม ๆ ส่งผลให้การรวมกลุ่มต่าง ๆไม่มีความเข้มแข็ง รวมถึงการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง

5. ความคิดเจ้าผู้ปกครองเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินและทรัพย์สินทั้งปวง ทําให้ประชาชน ไม่รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของประเทศ ส่งผลให้การรวมกลุ่มทางการเมืองขาดความเข้มแข็ง

6. การตั้งพรรคการเมืองของไทยเริ่มต้นมาจากฐานความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ คือ การตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้มีอํานาจตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อให้เป็นฐานอํานาจทางการเมือง ของกลุ่มตน แต่เมื่อผู้นําพรรคหมดอํานาจ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มักสลายตามไปด้วย ซึ่งทําให้พรรคการเมือง ของไทยขาดความเป็นสถาบัน เพราะยึดติดกับตัวผู้นําหรือหัวหน้าพรรคมากเกินไป

ผลกระทบของปัญหาความไม่เข้มแข็งหรือความไม่เป็นสถาบันของพรรคการเมืองไทย
ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

1. พรรคการเมืองไม่สามารถแสดงบทบาทและทําหน้าที่ที่ควรจะเป็นตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

2. พรรคการเมืองมิได้เป็นสถาบันของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นพรรคการเมืองของ กลุ่มผู้มีอํานาจหรือชนชั้นนําซึ่งต้องการที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองโดยใช้ชื่อประชาชนมากล่าวอ้างเพื่อความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

3. การจัดตั้งพรรคการเมืองมิได้อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์และตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจึงไม่ตระหนักในการเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง การบริหารและนโยบายของพรรคการเมืองจึงไม่สะท้อนผลประโยชน์ที่แท้จริง ของประเทศชาติและประชาชน

4. การรวมศูนย์อํานาจการตัดสินใจภายในพรรคการเมืองไว้ที่ผู้นําหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล ในพรรคการเมือง ทําให้สมาชิกพรรคไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือร่วมตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของ พรรคการเมืองได้ เช่น การคัดสรรบุคคลเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งและดํารงตําแหน่งสําคัญทางการเมือง เป็นต้น

5. การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองเป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เท่านั้น มิได้ให้ความสําคัญกับการตั้งสาขาพรรคให้กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้สาขาพรรคเป็นกลไก ในการเชื่อมโยงพรรคกับประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ

แนวทางแก้ไขปัญหาความไม่เข้มแข็งหรือความไม่เป็นสถาบันของพรรคการเมืองไทยตามกรอบของรัฐธรรมนูญเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพรรคการเมืองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทําให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งหรือมีความเป็นสถาบัน เป็นพรรคการเมืองของมวลชน

มีสาขาพรรคกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงเพื่อให้สาขาพรรคเป็นกลไกในการเชื่อมโยงพรรคกับประชาชนและ กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงทําให้พรรคการเมืองมีอิสระในการตัดสินใจไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงําโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีดังนี้

1. การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้ง ทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ก่อนยื่นคําขอ จดทะเบียนจัดตั้งพรรคผู้ร่วมกันจัดตั้งต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน

2. รายได้ของพรรคการเมืองต้องมาจากอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมือง ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท และพรรคการเมืองอาจกําหนดให้เรียกเก็บค่าบํารุง พรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

3. การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องดําเนินการให้มีจํานวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจํานวนสมาชิกให้มีจํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี

4. ต้องจัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่ กกต. กําหนด อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

5. ต้องจัดให้มี “คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง” เพื่อทําหน้าที่สรรหาผู้สมัคร รับเลือกตั้งของพรรค และการเลือกผู้สมัคร ส.ส. ต้องรับฟังความเห็นตัวแทนพรรคประจําจังหวัดประกอบด้วย
รายละเอียดดังต่อไปนี้

6. กําหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงินต้องมีการแสดง

1) วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ
2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย
3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

7. การยุบพรรคการเมือง กําหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําผิด โดยให้ กกต. ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

Advertisement