การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา POL2102 (PS 202) หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อเท่านั้น

ข้อ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้มีบทบัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตลอดนั้น ให้นักศึกษาอธิบายถึงการปกครอง ประชาธิปไตยดังกล่าวว่ามีหลักการสําคัญอะไรบ้างอย่างน้อย 5 ประการมาให้เข้าใจ โดยยกตัวอย่าง
ประกอบคําอธิบาย

Advertisement

แนวคําตอบ

หลักการสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีดังนี้

1. หลักอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย (อํานาจสูงสุด) เป็นของประชาชน การปกครอง ที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ถือว่า อํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตย เป็นของประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีวิธีการปกครองที่แสดงออกให้เห็นว่า ประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สามารถควบคุมและตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลได้ ตลอดจนสามารถ เปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาลได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือ เปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีได้ทุก 4 ปี หรือประชาชนญี่ปุ่นที่สามารถเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลใน เวลาไม่เกิน 4 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลักการอํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนนี้ประชาชนต้องมี “อํานาจการตัดสินใจ ขั้นสุดท้าย” คือ ประชาชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติและบริหารของรัฐ และการตัดสินใจของ ประชาชนถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด

2. หลักสิทธิ (Right) หน้าที่ (Duty) เสรีภาพ (Liberty) และความเสมอภาค (Equality) ของประชาชน เป็นหลักการที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด และต่อมาถูกจํากัดโดยกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ของสังคมภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีกฎหมายเป็น หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็น ด้านความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิ ทางการเมือง ซึ่งในกรณีของสิทธิเสรีภาพนี้มีข้อสังเกตก็คือ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิใช่เป็นเสรีภาพ ที่จะทําอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต แต่เป็นเสรีภาพที่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายที่บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพ ของตนนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการจลาจล ซึ่งในหลักประกัน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ นี้จะรวมทั้งความเสมอภาคทางการเมือง เพราะเสรีภาพที่ประชาชนมีเท่า ๆ กันก็จะก่อให้เกิด ความเสมอภาคทางการเมือง คือ การที่แต่ละคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่า ๆ กัน โดยในระบอบประชาธิปไตยถือว่าแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้ปกครอง หรือผู้แทนประชาชน เท่ากันตามหลัก One Man Cine Vote และสําหรับหลักการนี้ยังจะต้องประกอบด้วย การที่ประชาชนจะต้องรู้จัก หน้าที่ของพลเมืองในการดําเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น การมีหน้าที่ในการ เสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์รายได้และสถานภาพอื่นพอ ๆ กัน

3. หลักกฎหมายสูงสุด หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ หรือหลัก นิติธรรม (Rule of Law) การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ไม่ยึดตัวบุคคล แต่ยึดหลักการเป็นสิ่งสําคัญ
ซึ่งหลักการอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบนี้ก็คือ การยึดถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ที่ถือว่าประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐหรือ
หลักนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ซึ่งหลักการสูงสุดของกฎหมายนี้ ยังรวมไปถึงการที่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีต่าง ๆ อันแสดงให้เห็นถึงว่า ศาลสามารถจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน หรือเป็นที่พึ่งของประชาชนภายในประเทศได้ นั่นคือ ในการตัดสินลงโทษจะใช้กระบวนการยุติธรรม มิใช่ตัดสินโดยบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ตลอดจนรวมถึงการ มีหลักกฎหมายที่มีการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัด ต่อรัฐธรรมนูญนี้อาจจะเป็นองค์กรการเมือง ศาลยุติธรรมธรรมดาหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้สุดแล้วแต่แนวความคิดเห็นและประเพณีนิยมทางการเมืองของแต่ละประเทศเพื่อให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักแห่งกฎหมายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการปฏิบัติและเกิดผลอย่างจริงจัง

4. หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) โดยคํานึงถึงเสียงข้างน้อย (Minority Right) หมายความว่า พรรคเสียงข้างมากทําหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล และพรรคเสียงข้างน้อยทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีความสําคัญเท่ากัน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนเช่นเดียวกัน และกลุ่มฝ่ายค้านก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้คําว่าหลักเสียงข้างมาก ยังเป็นข้อยุติในปัญหาต่างๆ สําหรับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้นการตัดสินใจทั้งหลายของรัฐบาลในระบอบ ประชาธิปไตยจึงต้องใช้หลักการเสียงข้างมาก เพราะถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัว และเสียงการตัดสินใจ โดยคนหมู่มากนั้นย่อมถูกต้องกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว แต่ในขณะเดียวกันการใช้เสียงข้างมากก็จะคํานึงถึง เสียงข้างน้อยด้วย โดยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมทั้งยังยอมรับให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงความต้องการของตนด้วย

5. หลักสันติวิธี เป็นหลักการที่เชื่อว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยรู้จักใช้เหตุผล ไม่ทํา อะไรตามอารมณ์และความรู้สึก และไม่ทําอะไรเอาแต่ใจตนเองโดยไม่คํานึงถึงคนอื่น นอกจากนี้ยังยอมรับว่าคนเรา จะเหมือนกันไม่ได้ อาจมีการขัดแย้ง ต้องมีการเจรจา และประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ยึดถือการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงดําเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธีด้วยการไม่ใช้กําลังความรุนแรง เช่น การเจรจา การประนีประนอม การใช้กลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุก ๆ กลุ่ม ป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อและบาดเจ็บล้มตาย

 

ข้อ 2. ให้นักศึกษาอธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ดังต่อไปนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

2.1 Rebellion

แนวคําตอบ

Rebellion (กบฏ) หมายถึง การยึดอํานาจที่ไม่สําเร็จ จึงเป็นผู้แพ้ มีความผิดตามที่ผู้ชนะ (รัฐบาลเวลานั้น) จะสั่งการด้วยวิธีใดก็ย่อมทําได้ เช่น จับติดคุก ประหารชีวิต เนรเทศออกนอกประเทศ เป็นต้น กบฏถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย

ตัวอย่างเหตุการณ์กบฏในประเทศไทย เช่น

ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดกบฏ 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการต้องการกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ได้แก่

1. “กบฏบวรเดช” นําโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช เกิดขึ้นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

2. “กบฏนายสิบ” นําโดยสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เกิดขึ้นวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478

3. “กบฏพระยาทรงสุรเดช” นําโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช เกิดขึ้นวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกบฏ 2 ครั้ง คือ

1. “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเตอร์ก” นําโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา และ กลุ่มทหารยังเตอร์ก เกิดขึ้นวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2524

2. “กบฏไอ้โม่ง นัดแล้วใยไม่มา” นําโดยพันเอกมนูญ รูปขจร เกิดขึ้นวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528

2.2 Recall

แนวคําตอบ

Recall (การถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐ) หมายถึง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการถอดถอน ผู้ใช้อํานาจรัฐ โดยจะมีรายละเอียดกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีเสียงอย่างต่ําที่เสียง

กรณีประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่อง การถอดถอนผู้ใช้อํานาจรัฐไว้โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้กําหนดจํานวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ 50,000 คน ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กําหนดจํานวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อ ประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลผู้ใช้อํานาจรัฐซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือ ตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต อันมีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่ง

หน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกจากตําแหน่งได้

2.3 Election

แนวคําตอบ

Election (การเลือกตั้ง) เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจรัฐหรืออํานาจอธิปไตยที่จะมอบความไว้วางใจ
ในตัวแทนของปวงชนให้มาใช้อํานาจแทนตน ดังนั้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ประเทศจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นไปอย่างอิสรเสรี เสมอภาค และ ลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นผู้เข้ามาใช้อํานาจรัฐแทนประชาชน ซึ่งใน ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนในระบอบประชาธิปไตยแบบ ประธานาธิบดีผู้ที่จะเข้ามาใช้อํานาจรัฐก็คือ ประธานาธิบดี

กรณีประเทศไทย การเลือกตั้งของไทยนั้นมีทั้งการเลือกตั้งในระดับชาติ คือ การเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็น “การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย” คือ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนตําบลก่อน แล้วผู้แทนตําบลเป็นผู้เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ส่วนการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นการเลือกตั้งทางตรง คือ การให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทําการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงไม่ผ่านตัวแทนอื่นใด

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า พฤฒิสภา เป็นการเลือกตั้ง ทางอ้อม คือ ให้ประชาชนเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาทําหน้าที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา ส่วนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา

สําหรับองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความบริสุทธิ์ และยุติธรรม หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” นั้น มีครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกจนกระทั่งก่อนการ ประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การควบคุมและบริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย

2.4 Uprising

แนวคําตอบ

Uprising (การจลาจลทางการเมือง) หมายถึง การที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้าน (Standing up against) ผู้ปกครอง/ผู้ใช้อํานาจรัฐ หรือรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งจะนําโดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ จากนั้น ประชาชนบางกลุ่มก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในอุดมการณ์นั้น และเมื่อรัฐบาลยอมทําตามอุดมการณ์ที่กลุ่มต้องการแล้วก็จะยุติการจลาจลลง

ตัวอย่างเหตุการณ์การจลาจลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมี 2 ครั้ง คือ

– เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “วันมหาวิปโยค

– เหตุการณ์วันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

2.5 Kingdomn

แนวคําตอบ

Kingdom (ราชอาณาจักร) หมายถึง ประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น พระราชินี หรือเป็นพระจักรพรรดิ เช่น ไทย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เป็นต้น ซึ่งในอดีตการเกิด เป็นประเทศที่เรียกว่า ราชอาณาจักร เกิดจากแม่ทัพในขณะนั้นปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ คือ แม่ทัพไปรบกับรัฐอื่น ๆ จนได้รับชัยชนะแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ การสถาปนาตนเองขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ปราบดาภิเษก ต่อมาเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ พระโอรสก็จะต้องขึ้น ครองราชย์แทน การที่พระโอรสขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระบิดาที่สิ้นพระชนม์ เรียกว่า ราชาภิเษก

ข้อ 3. ความเข้มแข็งของสถาบันการเมือง หรือ “ความเป็นสถาบัน” ของสถาบันทางการเมืองเป็นปัจจัย สําคัญของการพัฒนาทางการเมือง ในทางตรงกันข้ามความไม่เป็นสถาบันของสถาบันทางการเมือง
ก็ส่งผลสําคัญต่อความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองหรือกระทั่งการล้มลงของระบบการเมือง จากคํากล่าวข้างต้นให้นักศึกษาวิเคราะห์สาเหตุของความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทยว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด โดยให้ยกตัวอย่างสถาบันทางการเมืองสถาบันใด สถาบันหนึ่งขึ้นมาอธิบายเป็นตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

สาเหตุของความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย

สถาบันทางการเมืองของไทยยังขาดความเป็นสถาบัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสถาบัน ทางการเมืองที่สร้างขึ้นมายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง คือ ยังไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ความต้องการ ตลอดจนการประนีประนอมอํานาจและผลประโยชน์ของฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมไทยได้ทั้งในระดับ ของชนชั้นนําและระดับของประชาชนโดยทั่วไป สถาบันทางการเมืองไทยจึงถูกล้มลงและสร้างขึ้นใหม่บ่อยครั้ง
ในระบบการเมืองไทย

ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองไทย มักมีปัญหาในเรื่องความเป็นสถาบัน หรือก็คือความสามารถ ของพรรคการเมืองในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การมีความคงทน การมีโครงสร้าง ที่สลับซับซ้อน การแยกตัวบุคคลออกจากการครองอํานาจของใครคนใดคนหนึ่งภายในพรรค เป็นต้น

บูฆอรี ยีหมะ เห็นว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดของความอ่อนแอในเชิงสถาบันของพรรคการเมือง ในประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น เกิดขึ้นจากต้นเหตุสําคัญคือการยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไป หรือก็คือการที่พรรคถูกครอบงําจากผู้นําภายในพรรคนั่นเอง จนทําให้พรรคดํารงอยู่ได้ด้วยอํานาจของบุคคล
ไม่ใช่เพราะความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง และง่ายต่อการล่มสลายหากผู้นําพรรคหลุดพ้นจากอํานาจทางการเมือง

นอกจากนี้ ความไม่เป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคการเมืองไทยยังมีสาเหตุมาจาก

1. ความขัดแย้งทางอุดมคติเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมือง ปัญหานี้เกิดขึ้น เนื่องจากแนวคิดการจัดตั้งพรรคการเมืองไปขัดแย้งกับอุดมคติดั้งเดิมซึ่งเน้นความเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน จึงปฏิเสธการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐ ดังนั้นอุดมคตินี้จึงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายอํานาจในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด

2. ลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง ทําให้เป็นอุปสรรคต่อ การทํางานร่วมกัน และเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

3. ระบบอาวุโสทําให้สมาชิกมีความผูกพันต่อพรรคในระดับต่ํา ทั้งนี้เนื่องจากผู้อาวุโส ในพรรคมีบทบาทอํานาจในพรรคมาก ทําให้ผู้น้อยไม่อาจเข้าไปมีบทบาทในพรรคได้มากนัก จึงทําให้สมาชิกส่วนใหญ่ ของพรรคไม่รู้สึกถึงความผูกพันต่อพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทย

4. โครงสร้างทางสังคมของไทยเป็นโครงสร้างแบบหลวม ๆ ส่งผลให้การรวมกลุ่มต่าง ๆไม่มีความเข้มแข็ง รวมถึงการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง

5. ความคิดเจ้าผู้ปกครองเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินและทรัพย์สินทั้งปวง ทําให้ประชาชน ไม่รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของประเทศ ส่งผลให้การรวมกลุ่มทางการเมืองขาดความเข้มแข็ง

6. การตั้งพรรคการเมืองของไทยเริ่มต้นมาจากฐานความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ คือ การตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้มีอํานาจตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อให้เป็นฐานอํานาจทางการเมือง ของกลุ่มตน แต่เมื่อผู้นําพรรคหมดอํานาจ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มักสลายตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกัน กับกรณีพรรคการเมืองของไทยมักยึดติดกับตัวผู้นําหรือหัวหน้าพรรคมากเกินไป จึงทําให้พรรคการเมืองของไทย
ขาดความเป็นสถาบัน

Advertisement