การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2102 หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 2 ข้อ
ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายถึงการเมืองระบบรัฐสภาในขั้นตอน หลักการ วิธีการ รวมถึงการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภา โดยยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย
แนวคำตอบ
การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) หรือ การเมืองการปกครองระบบแบ่งแยกอํานาจผ่อนคลาย เป็นรูปแบบของการเมืองการปกครองที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภาคลาสสิก” ซึ่งในการเมืองการปกครองระบบนี้จะถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรการเมืองการปกครอง ที่มีความสําคัญกว่าองค์กรอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้นโดยหลักการแล้ว รัฐบาลที่ปกครองและบริหารประเทศจะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา หรือเป็นรัฐบาลที่บริหารงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนจากประชาชนนั่นเอง
ขั้นตอน/กระบวนการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้
1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2 สภาผู้แทนราษฎรประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี
3 นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
4 คณะรัฐมนตรีเสนอนโยบายรัฐบาลให้รัฐสภาเห็นชอบ
5 ครบวาระเลือกตั้งใหม่ หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งใหม่
หลักการสําคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้
1 อํานาจอธิปไตยแยกตามหน้าที่ กล่าวคือ อํานาจรัฐไม่ได้รวมไว้ในองค์กรเดียว แต่มีการแยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้อํานาจ ได้แก่ อํานาจบริหารใช้โดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี อํานาจนิติบัญญัติใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และอํานาจตุลาการใช้โดยผู้พิพากษาในศาล
2 การแยกอํานาจไม่แยกโดยเด็ดขาด กล่าวคือ อํานาจหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแจกจ่ายให้องค์กรต่าง ๆ กัน โดยองค์กรเหล่านี้ไม่แยกกันโดยเด็ดขาด
3 อํานาจที่แบ่งแยกนี้จะมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ องค์กรที่ใช้อํานาจรัฐเหล่านี้มีลักษณะควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ หรือนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นต้น
วิธีการของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีดังนี้
1 ประมุขของรัฐ (Head of State) และประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาล (Head of Government) จะแยกกัน เช่น ประมุขของรัฐเรียกว่าพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น อังกฤษ ไทย หรือเรียกว่าพระจักรพรรดิ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือเรียกว่าประธานาธิบดี อย่างเช่น อินเดีย สิงคโปร์ เยอรมนี ส่วนตําแหน่งประมุขฝ่ายบริหารหรือประมุขรัฐบาลจะเรียกว่า นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
2 ประมุขของรัฐมีลักษณะสําคัญคือ มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง (The King can do no wrong) ซึ่งแสดงออกโดยการที่ประมุขของรัฐ ไม่อาจถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง จากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองนี้เอง ที่ทําให้กิจกรรมใด ๆ ของประมุขของรัฐต้องมีการลงนามกํากับหรือลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการของทุกกิจกรรมเสมอ เพื่อให้ผู้ลงนามรับรองเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมนั้น ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร
3 ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) หรือรัฐบาลก่อนจะเข้าบริหารงานปกครองประเทศนั้นจะต้องเสนอนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะบริหารงานได้
4 รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจทําให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องออกจากตําแหน่งได้โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ได้
5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตั้งกระทู้ถามเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล
6 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล
7 ฝ่ายนิติบัญญัติมีอํานาจตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล
8 ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีอํานาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นมาตรการในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ
9 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
10 ฝ่ายบริหารมีอํานาจเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนิติบัญญัติ
11 ศาลและผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การแก้ปัญหาหรือทางออกของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กรณีเกิดวิกฤติการณ์
การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้น ถือว่าประชาชนคือเจ้าของอํานาจอธิปไตย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมือง รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนให้ทําหน้าที่บริหารประเทศ จึงต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีการทางการเมือง มีดังนี้
1 การลาออกจากตําแหน่งรัฐมนตรี เช่น กรณีเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เป็นต้น
2 การเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรี กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกําลังพัฒนา ซึ่งนักการเมืองมักจะยึดติดกับตําแหน่งเมื่อบริหารงานผิดพลาดมักจะไม่รับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตําแหน่ง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรี
3 การลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ครั้งเมื่อรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด นายกรัฐมนตรีมักจะรับผิดชอบด้วยการลาออกเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
4 การปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับการเมืองการปกครองระบบรัฐสภาที่มีรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม เมื่อบริหารงานไปแล้วผลงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน ก็ต้องใช้วิธีการเปลี่ยนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น
5 การยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอํานาจให้ประชาชนเลือกตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
ตัวอย่างประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน กรีซ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น
ข้อ 2 ให้นักศึกษาอธิบายศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ต่อไปนี้ โดยยกตัวอย่างประกอบ
2.1 Amendment
แนวคําตอบ
Amendment (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) หมายถึง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับไปในระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไข หมายความว่า อาจจะยกเลิกบางมาตรา หรือใส่เพิ่มเติมเข้าไปในมาตราที่ไม่เคยมีก็ได้ โดยหลักการทั่วไปมีอยู่ว่าอาจแก้ไขบางส่วน หรือแก้ไขทั้งฉบับก็ย่อมทําได้ นั่นคือ สามารถแก้ไขกี่มาตราก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่กําหนด ทั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศและของโลกในเวลานั้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีไม่แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดา คือ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ หากสภาออกกฎหมายยกเลิกก็เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน เริ่มจากองค์กร ที่มีอํานาจการเสนอญัตติขอแก้ไข องค์กรที่มีอํานาจในการพิจารณาในแต่ละวาระ และต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากด้วย
กรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญของไทยจะมีการจํากัดอํานาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ห้ามแก้ไขในเรื่องรูปแบบรัฐซึ่งเป็นแบบรัฐเดียว (Unitary State) และรูปแบบ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเด็ดขาด
สําหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ ดังนี้
วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียง เห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา การออกเสียงในวาระนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้เสนอความคิดเห็นด้วย
วาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
เมื่อมีการลงมติเห็นชอบแล้วให้รอไว้ 15 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย
สําหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
2.2 Coup d’e’tat
แนวคําตอบ
Coup d’e’tat (การรัฐประหาร) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้อํานาจรัฐหรือผู้ใช้อํานาจปกครองหรือเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงถือว่าขาดหลักความชอบธรรม (Legitimacy)
จะเห็นได้ว่าประเทศกําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนา ผู้นําของประเทศ นิยมแย่งชิงอํานาจกันเองด้วยวิธีการทํารัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ผู้ยึดอํานาจมักเป็นทหาร และภายหลังยึดอํานาจเสร็จแล้ว ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้อํานาจรัฐเท่านั้น
กรณีประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า มีการยึดอํานาจรัฐด้วยกําลังบ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งกระทําสําเร็จและไม่สําเร็จ การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จของไทยเกือบทุกครั้งเรียกว่า “รัฐประหาร” เพราะเป็นการแย่งชิงอํานาจกันเองในหมู่ผู้ปกครอง แต่ผู้ยึดอํานาจจะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ”
อนึ่ง ประเทศไทยมีการทํารัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยการทํารัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนําของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอํานาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัตน์ธํารง บุญทรงไพศาล และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550
2.3 Kingdom
แนวคําตอบ
Kingdom (ราชอาณาจักร) หมายถึง ประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชินี หรือเป็นพระจักรพรรดิ เช่น ไทย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เป็นต้น ซึ่งในอดีตการเกิดเป็นประเทศที่เรียกว่า ราชอาณาจักร เกิดจากแม่ทัพในขณะนั้นปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ คือ แม่ทัพไปรบกับรัฐอื่น ๆ จนได้รับชัยชนะแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ การสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ปราบดาภิเษก ต่อมาเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ พระโอรสก็จะต้องขึ้นครองราชย์แทน การที่พระโอรสขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระบิดาที่สิ้นพระชนม์ เรียกว่า ราชาภิเษก
2.4 Sovereignty
แนวคําตอบ
Sovereignty (อํานาจอธิปไตย หรืออํานาจรัฏฐาธิปัตย์) หมายถึง อํานาจปกครองบังคับบัญชา สูงสุดภายใต้รัฐนั้น ไม่ว่าจะมีวิธีการได้มาโดยความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง หรือได้มาโดยใช้กําลังในการยึดอํานาจรัฐ ได้สําเร็จด้วยการปฏิวัติหรือการทํารัฐประหารก็ตาม เพราะผู้ที่ใช้อํานาจรัฐคือกลุ่มผู้ที่แข็งแรงที่สุด เพียงแต่ต่างกัน ในเรื่องที่มาของอํานาจ
อํานาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบที่สําคัญองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ โดยอํานาจอธิปไตยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ถ้าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อํานาจอธิปไตย จะเป็นของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนคือผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยผ่านตัวแทนคือสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจอธิปไตยจะเป็นของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์เป็นผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และเป็นผู้เดียวที่ใช้อํานาจดังกล่าว
ลักษณะสําคัญของอํานาจอธิปไตย มี 4 ประการ คือ
1 มีลักษณะเป็นการทั่วไป (Universality) หมายถึง มีอํานาจครอบคลุมทั่วทั้งรัฐ และอยู่เหนือทุก ๆ อํานาจ
2 มีความสมบูรณ์ (Absoluteness) หมายถึง อํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดภายในรัฐ จะไม่มีอํานาจอื่นใดภายในรัฐที่อยู่เหนือกว่าอํานาจอธิปไตย
- มีความถาวร (Permanence) หมายถึง อํานาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐยังคงอยู่
4 แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisibility) หมายถึง ในรัฐหนึ่ง ๆ จะต้องมีอํานาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว จะมีการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตยไปให้ส่วนต่าง ๆ ภายในรัฐมิได้
อํานาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ
1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ทําหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ
2 ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย
3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของทุก ๆ คนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจให้อยู่ภายใต้กฎหมาย
2.5 Revolution
แนวคําตอบ
Revolution (การปฏิวัติ) หมายถึง การยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมแบบใหม่ สร้างกฎหมายใหม่ และเพื่อสนองอุดมการณ์แบบใหม่ ซึ่งมีหลักการที่สั้นที่สุดก็คือ “สิ่งที่เคยถูกต้องและดีงามในอดีตหรือสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ไม่จําเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นหลักสัจธรรมสําหรับปัจจุบันหรืออนาคต” แต่การปฏิวัติที่จะเกิดความชอบธรรม (Legitimacy) จะต้องมีประชาชนเข้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมกับผู้นํา
ตัวอย่างของการปฏิวัติใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรม ได้แก่
– การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
– การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917
– การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949
กรณีประเทศไทย การยึดอํานาจรัฐที่พอจะอนุโลมให้เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีเพียงครั้งเดียว คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎรได้ทําการ ยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองใหม่จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ในระบบรัฐสภา แบบอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมด้วย
สําหรับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร และก็ไม่ใช่การปฏิวัติ โดยสิ้นเชิง แต่ที่ถูกต้องทางรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ซึ่ง 1 ในคณะราษฎร หรือผู้ก่อการคือ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การอภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475”
ข้อ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้…” ให้อธิบายลักษณะสําคัญของรูปแบบรัฐที่เป็นรัฐเดี่ยว และข้อแตกต่างระหว่างราชอาณาจักรและสาธารณรัฐ โดยยกตัวอย่างประกอบคําอธิบาย
แนวคําตอบ
หลักเกณฑ์หรือลักษณะสําคัญของรัฐเดี่ยว มีดังนี้
1 อํานาจบริหาร รัฐเดี่ยวจะมีการรวมศูนย์อํานาจ (Centralization) ทางการเมืองการปกครอง อยู่ที่ส่วนกลางหรือเมืองหลวงหรือรัฐบาลของประเทศเพียงแห่งเดียว โดยมีการรวมเอาคําสั่ง คําบังคับบัญชา และคําวินิจฉัยไว้ที่ส่วนกลาง หรืออํานาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของหน่วยงานที่สําคัญ (เช่น กระทรวงต่าง ๆ) กําลังทหาร และตํารวจจะอยู่ที่ส่วนกลาง
2 อํานาจนิติบัญญัติ รัฐเดี่ยวในการบัญญัติกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาจะมีผลบังคับใช้กับพลเมืองหรือประชาชนทั้งประเทศ กล่าวคือ ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะใช้กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเหมือนกันหมด เพราะการออกกฎหมายโดยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งไม่ใช่กฎหมายที่นํามาใช้บังคับแต่ในจังหวัดของผู้แทนนั้น ๆ แต่ถือว่าร่วมกันเสนอกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ
3 การปกครองส่วนภูมิภาคอันหมายถึงจังหวัดต่าง ๆ นั้น อํานาจยังขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ดังจะเห็นได้จากตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย
4 การปกครองส่วนท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน อาจได้รับการกระจายอํานาจจากส่วนกลางมากขึ้น แต่ก็ยังขึ้นต่อส่วนกลาง กล่าวคือ ในรัฐเดี่ยวอาจมีการกระจายอํานาจ แต่การกระจายอํานาจจะไม่มาก จนทําให้ท้องถิ่นเป็นอิสระ
ตัวอย่างประเทศที่ใช้รูปแบบรัฐเดี่ยวในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี อียิปต์ เป็นต้น
ข้อแตกต่างระหว่างราชอาณาจักรและสาธารณรัฐ
ราชอาณาจักร (Kingdom) เป็นคําที่ใช้เรียกชื่อประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่น ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรเบลเยียม ราชอาณาจักรสวีเดน เป็นต้น
สาธารณรัฐ (Republic) เป็นคําที่ใช้เรียกชื่อประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐตุรกี สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เป็นต้น