LAW3111 (LAW3011) กฎหมายลักษณะพยาน s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “นายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลย ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายสมโภชได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ใช้ความระมัดระวังให้ดีชนโจทก์ในขณะที่โจทก์เดินอยู่ริมถนนทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยการดังกล่าวเป็นการขับรถเพื่อไปส่งของในทางการที่จ้างของจําเลย จําเลยจึงต้องรับผิดจากการทําละเมิดของนายสมโภช ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายรวม ทั้งสิ้น 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป” จําเลยยื่นคําให้การว่า “นายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน นายสมโภชมาเพียงแค่ทดลองงานในวันเกิดเหตุ อีกทั้งในขณะ เกิดเหตุการณ์ขับรถของนายสมโภชนั้นมิได้เป็นการขับรถด้วยความประมาท แต่เหตุดังกล่าว เกิดจากการที่โจทก์เดินออกมานอกเส้นทางการเดินหรือความไม่ระมัดระวังเองเป็นเหตุให้เกิดการชนและเกิดความเสียหายขึ้น ความผิดจึงไม่ได้เกิดจากการกระทําของนายสมโภช ด้วยเหตุนี้ จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ศาลยกฟ้อง”

ในวันชี้สองสถาน ศาลได้ถามโจทก์และจําเลยถึงเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น จําเลยจึงให้การด้วยวาจา เพิ่มเติมว่า นายสมโภชนั้นได้เข้ามาทํางานกับตนเป็นลูกจ้างของตนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 แต่ในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาเย็นที่นายสมโภชได้เลิกงานแล้ว นายสมโภชได้ขอยืมรถไปใช้ในทางส่วนตัวจนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นการกระทําในทางการที่จ้างแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุดังกล่าวเกิดในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 แต่โจทก์นําคดีมาฟ้องในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาหนึ่งปีอันเป็นการขาดอายุความในคดีละเมิดแล้ว

หากท่านเป็นศาลที่ทําหน้าที่ในการชี้สองสถานในคดีนี้ ท่านจะกําหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ว่าอย่างไร มีประเด็นอะไรบ้าง และฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและคําแถลง
ของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความ ทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไรข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “นายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลย ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายสมโภชได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ใช้ความระมัดระวังให้ดี ชนโจทก์ในขณะที่โจทก์เดินอยู่ริมถนน ทําให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย โดยการดังกล่าวเป็นการขับรถเพื่อไปส่งของในทางการที่จ้างของจําเลย จําเลยจึงต้องรับผิด จากการทําละเมิดของนายสมโภช ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป” และจําเลยยื่นคําให้การว่า “นายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน นายสมโภชมาเพียงแค่ ทดลองงานในวันเกิดเหตุ อีกทั้งในขณะเกิดเหตุการณ์ขับรถของนายสมโภชนั้นมิได้เป็นการขับรถด้วยความประมาท แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่โจทก์เดินออกมานอกเส้นทางการเดินหรือความไม่ระมัดระวังเองเป็นเหตุให้ เกิดการชนและเกิดความเสียหายขึ้น ความผิดจึงไม่ได้เกิดจากการกระทําของนายสมโภช ด้วยเหตุนี้จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ศาลยกฟ้อง” นั้น

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลย การที่โจทก์กล่าวอ้างว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของ จําเลยนั้น แม้ตอนแรกจําเลยจะให้การว่านายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน แต่เมื่อถึงวันชี้สองสถานจําเลยให้การ ด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า นายสมโภชได้เข้ามาทํางานกับตนเป็นลูกจ้างของตนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จึงถือว่า จําเลยได้ยอมรับโดยชัดแจ้งแล้วว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลยหรือไม่

และการที่จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะเหตุดังกล่าวเกิดใน วันที่ 5 สิงหาคม 2563 แต่โจทก์นําคดีมาฟ้องในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีนั้น เมื่อไม่มีอยู่ ในคําคู่ความ (ในคําให้การตอนแรกของจําเลย) จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่
2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่านายสมโภช ได้ขับรถไปในทางการที่จ้าง แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่นําสืบ

2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะ พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันพิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความผิด ของโจทก์เอง ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท และไม่ยอมชําระภายใน กําหนดระยะเวลาตามสัญญา ขอให้จําเลยชําระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งในการยื่นคําฟ้องนี้ โจทก์ ไม่มีสัญญากู้มาแสดงโดยโจทก์อ้างว่าสัญญากู้อยู่กับกํานันสมชายเป็นผู้เก็บเอาไว้ ในกรณีเช่นนี้ โจทก์จะต้องดําเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้กํานันสมชายส่งเอกสารดังกล่าวมายังศาล

ต่อมาเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีหมายเรียกให้กํานันสมชายส่งเอกสารมายังศาล แต่ กํานันสมชายไม่ยอมส่งมา โจทก์จึงอ้างว่านายมงคลเป็นพยานเพื่อให้สืบว่ามีการกู้เงินโจทก์จริง เป็นจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท จําเลยได้ทําการคัดค้านว่าการสืบพยานบุคคลดังกล่าวเป็นการ สืบแทนพยานเอกสารต้องห้ามรับฟัง การคัดค้านของจําเลยดังกล่าวนี้ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้
คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็นและ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามาไม่ได้นั้นศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้าง และนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยาน เอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้
ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ใน ความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท และไม่ยอมชําระภายในกําหนดระยะเวลาตามสัญญา ขอให้จําเลยชําระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งในการยื่นคําฟ้องนี้ โจทก์ไม่มีสัญญากู้มาแสดง โดยโจทก์อ้างว่าสัญญากู้อยู่กับกํานันสมชายเป็นผู้เก็บเอาไว้นั้น ถือว่าโจทก์ได้อ้างอิง เอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําสําเนา เอกสารสัญญากู้ยื่นต่อศาลและส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารสัญญากู้ที่โจทก์อ้างอิงนั้นอยู่กับกํานันสมชาย ซึ่งถือว่า อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสารให้แก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)

และตามอุทาหรณ์นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

หากโจทก์ต้องการนําเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ โจทก์จะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล ขอให้สั่งให้บุคคลภายนอก (กํานันสมชาย) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่โจทก์จะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของโจทก์นั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้กํานันสมชาย ยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่โจทก์จะต้องส่งคําสั่งศาลให้แก่ กํานันสมชายผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าโจทก์ทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่กํานันสมชายปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้อง มีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสาร มาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสาร สูญหายหรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2)) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีหมายเรียกให้กํานันสมชายส่งเอกสาร มายังศาล แต่กํานันสมชายไม่ยอมส่งมา ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้เพราะสูญหายหรือ ไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) โจทก์จึงสามารถอ้างนายมงคลเป็นพยานเพื่อให้สืบว่ามีการกู้เงินโจทก์จริงเป็นจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาทได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 และการที่จําเลยได้ทําการคัดค้านว่าการสืบพยานบุคคลดังกล่าวเป็นการสืบแทนพยานเอกสารต้องห้ามรับฟังนั้นการคัดค้านของจําเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป โจทก์จะต้องดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 เพื่อให้กํานันสมชายส่งเอกสารดังกล่าวมายังศาล

และหากกํานันสมชายไม่ยอมส่งเอกสารมายังศาล โจทก์สามารถนํานายมงคลพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารได้ การคัดค้านของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายประพันธ์จําเลยในความผิดฐานยักยอก ทรัพย์โดยมีนายกวีเป็นผู้เสียหาย ในวันสืบพยานพนักงานอัยการนํานายมานะพยานโจทก์คนแรกเข้าสืบ โดยมีนายโจเซฟชาวฝรั่งเศสพยานโจทก์คนที่สองและนายมนัสพยานจําเลยนั่งฟังการ สืบพยานอยู่ด้วย เมื่อสืบพยานนายมานะเสร็จสิ้น พนักงานอัยการอ้าง น.ส.ทอฝันเป็นล่าม แปลภาษาให้กับนายโจเซฟซึ่งฟังและพูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเบิกความนายโจเซฟได้สาบานตน เป็นภาษาอังกฤษ และมี น.ส.ทอฝันแปลคําถามและคําตอบให้ โดยที่ น.ส.ทอฝันไม่ได้ทําการ สาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม เมื่อนายโจเซฟสืบพยานเสร็จ ฝ่ายจําเลยก็นํานายมนัส พยานจําเลยเข้าสืบต่อ โดยฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ แต่ปรากฏว่าหมดเวลาทําการ เสียก่อน ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้าเพื่อให้พนักงานอัยการโจทก์ได้ถามค้าน นายมนัสต่อ เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลยไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ถูกรถชนถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการจึงได้ทําการคัดค้านมิให้ศาลรับฟังคําซักถามที่นายมนัสเบิกความไว้ก่อนแล้วโดยมิได้มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์ ส่วนทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองที่ได้นั่งฟังคําเบิกความของนายมานะพยานโจทก์คนแรกด้วย

หากศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้และการที่นายโจเซฟฟังคําเบิกความของพยานคนก่อนนั้นไม่มีผลต่อคําเบิกความของนายโจเซฟเนื่องจากนายโจเซฟไม่อาจเข้าใจในคําพูดของนายมานะพยานโจทก์คนแรกได้ จึงรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟ และคําเบิกความตอบคําซักถามของนายมนัสพยานจําเลย เช่นนี้การรับฟังคําเบิกความดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอํานาจ ที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความ เช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้ คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้ ….”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 13 วรรคสี่ “เมื่อมีล่ามแปลคําให้การ คําพยานหรืออื่น ๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่าม ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทําหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล”

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะพยานโจทก์คนแรกได้เบิกความต่อหน้านายโจเซฟพยานโจทก์ ซึ่งจะเบิกความเป็นคนที่สองนั้น แม้ว่าการเบิกความของนายมานะจะขัดต่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังแล้วก็ตาม แต่ถ้าศาลเห็นว่า คําเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือ
ไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้ และศาลอาจรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันนั้น มิได้ทําการสาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม จึงถือว่าเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อาญา มาตรา 13 วรรคสี่ ดังนั้น แม้ศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส. ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้ก็ตาม ศาลก็จะรับฟัง คําแปลคําเบิกความนั้นไม่ได้

ส่วนคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยที่ฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าเมื่อหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลย ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถชนถึงแก่ความตาย ทําให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจถามค้าน นายมนัสได้นั้นก็มิได้มีบทบัญญัติใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ที่กําหนดให้การถามพยานจะต้องทําครบถ้วน ทุกขั้นตอนก่อนจึงจะรับฟังได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น ศาลสามารถรับฟังคําเบิกความ ของนายมนัสพยานจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันไม่ได้ แต่สามารถรับฟัง คําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยได้

LAW3111 (LAW3011) กฎหมายลักษณะพยาน 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

1. โจทก์ฟ้องจําเลยโดยได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์คือนายรพี่บิดานายพีระ เป็นผู้รับมอบอํานาจจาก นายพีระเพื่อฟ้องดําเนินคดีกับจําเลยในคดีละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 500,000 บาท เนื่องจากจําเลยได้ใช้มีดยาวครึ่งฟุตแทงเข้าไปที่แผ่นหลังของนายพีระทําให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ปอดทะลุต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือน จําเลยให้การในคําให้การว่า นายรพี่จะ เป็นผู้รับมอบอํานาจจากนายพีระจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง จําเลยได้กระทําการแทง นายพีระจริงแต่เพราะนายพีระยินยอมให้กระทํา เพราะวันที่เกิดเหตุนายพีระอ้างว่านายพีระได้ไป สักยันต์หนังเหนียวแทงไม่เข้าจากพระอาจารย์ดัง และท้าให้จําเลยทดลองแทงเพื่อพิสูจน์ความขลัง ซึ่งจําเลยไม่อยากทําแต่นายพีระรบเร้าให้จําเลยทําการทดลองแทง 3 ครั้ง ใน 2 ครั้งแรกแทงไม่เข้า จนครั้งที่ 3 นายพีระก็บอกให้จําเลยแทงสุดแรง จําเลยจึงแทงมีดนั้นมิดแผ่นหลังนายพีระจน นายพีระบาดเจ็บสาหัส ทั้งหมดจึงไม่ใช่ความผิดจําเลย จําเลยไม่จําต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับโจทก์และขอให้ศาลยกฟ้อง คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็น ประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่าย หนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีก ฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. การที่นายรพี่บิดาขางนายพีระเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยโดยอ้างว่า จําเลยได้ใช้มีดยาวครึ่งฟุต แทงเข้าไปที่แผ่นหลังของนายพีระทําให้บาดเจ็บสาหัส ปอดทะลุต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือน นั้น เมื่อจําเลยให้การว่านายรพี่จะเป็นผู้รับมอบอํานาจนายพีระจริงหรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง คําให้การเช่นนี้ถือว่า เป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจําเลยไม่ทราบไม่รับรองในเรื่องอํานาจฟ้องของโจทก์ อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่านายรพี บิดาของนายพีระมีอํานาจฟ้องคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอํานาจฟ้อง

2. การที่จําเลยให้การว่าได้กระทําการแทงนายพีระจริง แต่เป็นเพราะนายพีระยินยอมให้ กระทํานั้น เมื่อจําเลยให้การว่าได้กระทําการแทงนายพีระจริง ย่อมถือเป็นการรับชัดแจ้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าจําเลยได้แทงนายพีระจริงหรือไม่ และแม้จําเลยจะให้การว่าที่แทงนายพีระ
เป็นเพราะนายพีระยินยอมให้กระทําก็ตาม ก็ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนําสืบแต่อย่างใด เพราะแม้ จากการนําสืบจะปรากฏว่า นายพีระได้ยินยอมให้กระทําจริง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้

3. การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 500,000 บาทนั้น แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายว่า “ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่”

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

ดังนั้น เมื่อคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า “ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่” เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่ง ละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

สรุป

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า “ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่”

ประเด็นที่ 2 : ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบในคดีนี้ตกแก่โจทก์

 

ข้อ 2. นายเอกได้ยื่นคําฟ้องว่าได้ให้นายโทกู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 1,000,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีเอกสารเป็นสัญญากู้ยืมเงินมาแสดง และในสัญญาดังกล่าวระบุว่านายโท “ได้รับเงินไปทั้งหมดแล้ว” นายโทยื่นคําให้การว่าได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่ตนได้รับเงินไปเพียง 800,000 บาท ไม่ใช่ 1,000,000 บาท ตามที่เขียนในสัญญากู้ยืมเงิน

ในการสืบพยาน นายโทได้อ้างนายตรีเป็นพยานบุคคล (มีการยื่นบัญชีพยานระบุชื่อนายตรี เรียบร้อยแล้ว โดยนายตรีได้เบิกความด้วยวาจาว่า “ตนเห็นนายโทรับเงินจากนายเอกไปทั้งสิ้น 800,000 บาท ไม่ใช่ 1,000,000 บาท แต่นายเอกโต้แย้งอ้างว่าคําเบิกความของนายตรีนี้รับฟังไม่ขึ้น ห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นการสืบหักล้างพยานเอกสาร ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถรับฟังคําเบิกความตามถ้อยคํานี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า
ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93
และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน
เอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”
หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ใน

มาตรา 113 “พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามไม่ให้นําพยาน บุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1. กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้ โดยประการอื่น

2. พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3. พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4. สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5. คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ยื่นคําฟ้องว่าได้ให้นายโทกู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 1,000,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีเอกสารเป็นสัญญากู้ยืมเงินมาแสดง และในสัญญาดังกล่าวระบุว่า นายโท “ได้รับเงินไปทั้งหมดแล้ว” นายโทยื่นคําให้การว่าได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่ตนได้รับเงินไปเพียง 800,000 บาท ไม่ใช่ 1,000,000 บาท ตามที่เขียนในสัญญากู้ยืมเงิน และในวันสืบพยาน นายโทได้อ้างนายตรีเป็น พยานบุคคลมาสืบ และนายตรีได้เบิกความด้วยวาจาว่า “ตนเห็นนายโทรับเงินจากนายเอกไปทั้งสิ้น 800,000 บาท ไม่ใช่ 1,000,000 บาท” นั้น เป็นการนําสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจํานวนเงินที่กู้ยืมจากนายเอกว่าไม่ได้รับเงินจํานวน ดังกล่าว อันถือเป็นการนําสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่การนําสืบ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ดังนั้น นายโทย่อมมีสิทธินําพยานบุคคลมาสืบได้ไม่ต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 และศาลสามารถรับฟังคําเบิกความตามถ้อยคําดังกล่าวได้

สรุป ศาลสามารถรับฟังคําเบิกความตามถ้อยคําของนายตรีพยานบุคคลได้

 

ข้อ 3. เมื่อท่านต้องไปเบิกความเป็นพยานต่อศาล ท่านมีหน้าที่อย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

ในกรณีที่ข้าพเจ้าต้องไปเบิกความเป็นพยานต่อศาล ข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

1. ต้องไปเบิกความต่อศาลตามความเป็นจริง เพราะเมื่อบุคคลใดได้รับหมายเรียกให้ไป เป็นพยานต่อศาลแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมิใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และไม่ใช่บุคคลที่มีสถานะพิเศษ ตามกฎหมาย หรือมีข้อแก้ตัวอันจําเป็นหรือเจ็บป่วยแล้ว บุคคลนั้นก็จะต้องไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียก ถ้ามีการขัดขืนโดยไม่ยอมไปเบิกความตามวัน เวลา และสถานที่ที่ปรากฏอยู่ใน หมายเรียกนั้น บุคคลนั้นก็จะมีความผิดฐานขัดขืนหมายเรียกและต้องรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 170

และการไปเบิกความต่อศาลนั้น ก็จะต้องเบิกความตามความเป็นจริง เพราะถ้าหากมีการ เบิกความอันเป็นเท็จแล้ว ก็อาจมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 177

2. ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ ทั้งนี้เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ได้บัญญัติว่า “ก่อนเบิกความ พยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนา หรือจารีตประเพณีแห่งชาติตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงเสียก่อน…” เว้นแต่จะเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายเท่านั้น ที่ไม่ต้องสาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนก่อนเบิกความ

3. ต้องเบิกความด้วยวาจา เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 113 บัญญัติว่า “พยานทุกคนต้อง เบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ”

แต่กรณีดังกล่าว มีข้อยกเว้นดังต่อไปนี้คือ

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/1 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคําร้องและคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลอนุญาตให้คู่ความนั้นเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลแทนการซักถามเป็นพยานต่อหน้าศาลได้

(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/2 วรรคหนึ่ง คือกรณีที่คู่ความมีคําร้องร่วมกัน และศาล เห็นสมควรอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคํายืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นผู้ให้ถ้อยคํา (พยาน) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ใน ต่างประเทศต่อศาลแทนการนําพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้

(3) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 115 คือ กรณีที่เป็นพยานบุคคลที่อยู่ในฐานะพิเศษ เช่น พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานแต่จะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้

4. ต้องไม่เบิกความต่อหน้าพยานคนอื่นของฝ่ายตนที่จะเบิกความภายหลัง เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง…” คําว่า “พยานอื่น” ที่จะเบิกความภายหลังนั้นหมายความถึงเฉพาะ “พยานของฝ่ายตน” เท่านั้น ถ้าเป็นพยาน บุคคลของคู่ความฝ่ายอื่นก็ไม่ต้องห้าม

5. ต้องลงชื่อในบันทึกคําเบิกความของตนที่ศาลทําขึ้น เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการนั่งพิจารณาทุกครั้ง เมื่อพยานคนใดเบิกความแล้ว ให้ศาลอ่านคําเบิกความนั้น ให้พยานฟัง และให้พยานลงลายมือชื่อไว้…” เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น เช่น กรณีการเสนอบันทึกถ้อยคําของผู้ที่ มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการเบิกความต่อศาล หรือการสืบพยานบุคคลโดยใช้ระบบการประชุมทางจอภาพ หากลงลายมือชื่อในคําเบิกความไม่ได้ ก็ให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าศาลแทน โดยไม่ต้องมีพยานสองคน ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้นตามมาตรา 50 (1)

LAW3111 (LAW3011) กฎหมายลักษณะพยาน s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “จําเลยทําสัญญากู้เงินกับโจทก์ไว้ 500,000 บาท ไม่ยอมชําระ ขอให้จําเลย ชําระเงินกู้” โดยแนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้อง จําเลยยื่นคําให้การว่า “หนี้ดังกล่าวไม่ใช่การกู้เงินแต่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะขอให้ศาลยกฟ้อง”

ต่อมาในวันชี้สองสถาน จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า “หนี้ดังกล่าวเกิดตั้งแต่ 11 ปีที่แล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นกรณีที่ขาดอายุความ”

ให้ท่านจงตั้งประเด็นข้อพิพาท และกําหนดภาระการพิสูจน์ในคดีนี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็น ประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า
ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “จําเลยทําสัญญากู้เงินกับโจทก์ไว้ 500,000 บาท ไม่ยอมชําระ ขอให้จําเลยชําระเงินกู้” โดยแนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้อง จําเลยยื่นคําให้การว่า “หนี้ดังกล่าวไม่ใช่การกู้เงิน แต่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะขอให้ศาลยกฟ้อง” นั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจําเลยกู้เงินจากโจทก์จริงหรือไม่ ย่อมเป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยานเพราะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี แต่การที่จําเลย ให้การว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่รับ กรณีนี้จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทว่า “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนันหรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

(2) ในวันชี้สองสถาน การที่จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า “หนี้ดังกล่าวเกิดตั้งแต่ 11 ปีที่แล้ว การฟ้องคดีจึงเป็นกรณีที่ขาดอายุความ” นั้น เมื่อประเด็นเรื่องอายุความไม่อยู่ในคําคู่ความ เพราะมิใช่คําให้การ ที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3)
มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นเดียวคือ “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนัน
หรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์ในคดีนี้จึงตกแก่ฝ่ายจําเลย

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนันหรือไม่” และภาระ การพิสูจน์ในคดีนี้ตกแก่ฝ่ายจําเลย

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายและวินิจฉัยดังต่อไปนี้

2.1 จากโจทก์ข้อ 1. ถ้าโจทก์ไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์ ศาลจะรับฟัง เอ เสารสัญญากู้ได้หรือไม่

2.2 หากจําเลยต้องการจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ดังกล่าวมิได้เป็นหนี้จากการกู้แต่เป็นหนี้ การพนัน พยานบุคคลนั้นจะต้องห้ามรับฟังตามมาตรา 94 หรือไม่

2.3 หากเอกสารอยู่กับบุคคลภายนอกคดีแล้วจําเลยต้องการนํามาเป็นพยานหลักฐานจะมีวิธีการ
ขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารนั้นมายังศาลได้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐาน อันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจรับฟังพยาน หลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 88 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจํานงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใด….เพื่อเป็นพยานหลักฐาน สนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน…”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93
และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความ ครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

2.1 จากโจทก์ข้อ 1. ถ้าโจทก์ไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์นั้น โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานคือเอกสารสัญญากู้นั้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ โจทก์ฟ้องจําเลยนั้น โจทก์ได้แนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้องด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้แสดงความจํานงที่จะ อ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์ แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานนั้นเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่สําคัญเกี่ยวกับ ประเด็นสําคัญในคดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังพยานหลักฐานคือเอกสารสัญญากู้นั้นได้ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 87 (2) ประกอบมาตรา 88

2.2 การที่จําเลยต้องการจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ดังกล่าวมิได้เป็นหนี้จากการกู้แต่เป็น หนี้การพนันนั้น ไม่ถือว่าเป็นการนําสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นําเอกสารมาแสดง แล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่อย่างใด แต่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จําเลยจึงสามารถนําพยานบุคคลเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง

2.3 ในกรณีที่เอกสารอยู่กับบุคคลภายนอกคดีแล้วจําเลยต้องการนํามาเป็นพยานหลักฐานนั้น จําเลยย่อมสามารถทําได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 โดยยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลให้สั่งให้บุคคลภายนอก ส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ให้ศาลมีคําสั่งให้บุคคลภายนอกยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่จําเลยจะต้องส่ง คําสั่งศาลให้แก่บุคคลภายนอกผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

สรุป
2.1 ศาลสามารถรับฟังเอกสารสัญญากู้ได้
2.2 จําเลยสามารถนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ตามเอกสารสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ได้
2.3 จําเลยจะต้องขอให้ศาลเรียกเอกสารนั้นโดยปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายประพันธ์จําเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ โดยมีนายกวีเป็นผู้เสียหาย ในวันสืบพยานพนักงานอัยการนํานายมานะพยานโจทก์คนแรกเข้าสืบโดยมีนายโจเซฟชาวฝรั่งเศสพยานโจทก์คนที่สอง และนายมนัสพยานจําเลยนั่งฟังการสืบพยาน อยู่ด้วย เมื่อสืบพยานนายมานะเสร็จสิ้น พนักงานอัยการอ้าง น.ส.ทอฝัน เป็นล่ามแปลภาษาให้กับ นายโจเซฟซึ่งฟังและพูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเบิกความนายโจเซฟได้สาบานตนเป็นภาษาอังกฤษ และมี น.ส.ทอฝันแปลคําถามและคําตอบให้โดยที่ น.ส.ทอฝันไม่ได้ทําการสาบานตนก่อนการ ทําหน้าที่เป็นล่าม เมื่อนายโจเซฟสืบพยานเสร็จ ทนายจําเลยก็นํานายมนัสพยานจําเลยเข้าสืบต่อโดยฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนสืบพยานนายมนัส ต่อในนัดหน้า ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลยไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบ อุบัติเหตุถูกรถชนถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการจึงได้ทําการคัดค้านมิให้ศาลรับฟังคําซักถามที่ นายมนัสเบิกความไว้ก่อนแล้ว โดยมิได้มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์ ส่วนทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้าน ไม่ให้ศาลรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองที่ได้รับฟังคําเบิกความของนายมานะพยานโจทก์คนแรกด้วย

หากศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้และการที่นายโจเซฟฟังคําเบิกความของพยานคนก่อนนั้นไม่มีผลต่อคําเบิกความของนายโจเซฟเนื่องจากนายโจเซฟไม่อาจเข้าใจในคําพูดของนายมานะพยานโจทก์คนแรกได้ จึงรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟ และคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลย เช่นนี้การรับฟังคําเบิกความดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมี อํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีก ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้ ….”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 13 วรรคสี่ “เมื่อมีล่ามแปลคําให้การ คําพยานหรืออื่น ๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้อง สาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทําหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล”

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะพยานโจทก์คนแรกได้เบิกความต่อหน้านายโจเซฟพยานโจทก์ ซึ่งจะเบิกความเป็นคนที่สองนั้น แม้ว่าการเบิกความของนายมานะจะขัดต่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังแล้วก็ตาม แต่ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาด ของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้ และศาลอาจรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน นั้น มิได้ทําการสาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม จึงถือว่าเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อาญา มาตรา 13 วรรคสี่ ดังนั้น แม้ศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส. ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้ก็ตาม ศาลก็จะรับฟัง คําแปลคําเบิกความนั้นไม่ได้

ส่วนคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยที่ฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าเมื่อหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลย ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถชนถึงแก่ความตาย ทําให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจถามค้าน นายมนัสได้นั้นก็มิได้มีบทบัญญัติใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ที่กําหนดให้การถามพยานจะต้องทําครบถ้วน ทุกขั้นตอนก่อนจึงจะรับฟังได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น ศาลสามารถรับฟังคําเบิกความ ของนายมนัสพยานจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันไม่ได้ แต่สามารถรับฟัง คําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยได้

LAW3111 (LAW3011) กฎหมายลักษณะพยาน 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยจากจําเลยเป็นจํานวนเงินหนึ่งล้านบาท ในกรณี ดังต่อไปนี้

(ก) ถ้าจําเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลไม่ได้กําหนดเรื่องอายุความ ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ หากจากทาง นําสืบปรากฏว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความจริง

(ข) จําเลยให้การว่าจําเลยกู้เงินไปจากโจทก์จริง แต่ชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ถ้าโจทก์ จําเลย
ไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาอย่างไร

(ค) จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอม โจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็น ประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า
ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยจากจําเลยเป็นจํานวนเงินหนึ่งล้านบาท และจําเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น คําให้การของจําเลยเป็นเพียงคําให้การที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเป็นเพียงคําให้การปฏิเสธโดยไม่แสดงเหตุผลของการปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี ดังนั้น แม้จาก การนําสืบจะปรากฏว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความจริง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวนี้ไม่ได้

(ข) การที่จําเลยให้การว่าจําเลยกู้เงินไปจากโจทก์จริง แต่จําเลยชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจําเลยกู้เงินจากโจทก์จริงหรือไม่เป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยาน เพราะ มิใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี แต่การที่จําเลยให้การว่าได้ชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลย กล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่รับ กรณีนี้จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทว่า “จําเลยชําระหนี้เงินกู้ ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจริงหรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง หน้าที่นําสืบจึงตกแก่ฝ่ายจําเลย ถ้าโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี

(ค) การที่จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมนั้น เป็นกรณีที่จําเลยให้การต่อสู้ว่าเอกสารที่ โจทก์นํามาฟ้องนั้นเป็นเอกสารปลอม มิใช่เป็นกรณีที่จําเลยได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนั้นประเด็นข้อพิพาท
จึงมีว่า “สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่” ซึ่งเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างสัญญากู้ดังกล่าว ภาระการพิสูจน์ถึงความถูกต้องแท้จริงของสัญญากู้จึงตกแก่โจทก์ ถ้าโจทก์และจําเลยไม่สืบพยานศาลจะต้องพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์

สรุป
(ก) ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้
(ข) ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี
(ค) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเคหสถาน จําเลยให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาคู่ความนําพยานบุคคลเข้าสืบดังนี้

(1) ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่าหลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายหนึ่งบอกแก่ผู้เสียหายว่านายหนึ่ง เห็นจําเลยคนรู้จักกันมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย โดยมีนายหนึ่งพยานโจทก์นั่งฟัง ผู้เสียหายอยู่ในห้องพิจารณาด้วยจนผู้เสียหายเบิกความจบ

(2) นายหนึ่งประจักษ์พยานโจทก์เบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ พยานเห็นจําเลยเข้าไปลักทรัพย์ ในบ้านผู้เสียหายตามฟ้อง แต่ก่อนเบิกความนายหนึ่งไม่ได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณตน ด้วยความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วทันทีในวันนั้นว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง ทนายจําเลยคัดค้านว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นการผิดระเบียบ

(3) นายสองประจักษ์พยานโจทก์เบิกความตอบข้อซักถามจนจบยืนยันว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องแล้วศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายจําเลยถามค้านในนัดหน้าเพราะหมดเวลาราชการเสียก่อน ครั้นถึงวันนัดนายสองไม่ได้มาศาลเพื่อให้ทนายจําเลยถามค้านเนื่องจากถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว

(4) สิบตํารวจโทสามผู้จับกุมจําเลยพยานโจทก์เบิกความตามบันทึกการจับกุมที่พยานเป็นผู้ทําขึ้น ว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคําด้วยความสมัครใจรับว่าได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริงรายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล

(5) จําเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้องโดยอ้างฐานที่อยู่ แต่ตอนตอบ โจทก์ถามค้านนั้นจําเลยรับว่าได้กระทําความผิดตามฟ้องจริง

ให้วินิจฉัยว่า ศาลรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวหรือไม่ และคําเบิกความของจําเลย ตอนตอบโจทก์ถามค้านดังกล่าวศาลรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้

(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง….”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติ ของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอํานาจ ที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว…

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้….”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 84 วรรคสี่ “ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…”

มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนําเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้นให้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้”

มาตรา 227 วรรคหนึ่ง “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”

มาตรา 233 “จําเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยานศาลจะให้ เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจําเลยก็ได้ ถ้าคําเบิกความของจําเลยนั้นปรักปรําหรือเสียหายแก่จําเลยอื่น จําเลยอื่นนั้น
ซักค้านได้

ในกรณีที่จําเลยเบิกความเป็นพยาน คําเบิกความของจําเลยย่อมใช้ยันจําเลยนั้นได้ และศาลอาจ รับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจนายหนึ่งบอกแก่ผู้เสียหายว่า นายหนึ่งเห็นจําเลยซึ่งนายหนึ่งรู้จักมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายนั้น ย่อมถือว่าผู้เสียหายพยานโจทก์
เป็นพยานบอกเล่าและห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมที่หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายหนึ่งก็บอก แก่ผู้เสียหายว่านายหนึ่งเห็นจําเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนด้วย ได้เข้าไป
ลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหายไปตามฟ้อง จึงเห็นได้ว่านายหนึ่งได้บอกแก่ผู้เสียหายพยานโจทก์ในระยะเวลา กระชั้นชิด กับที่เหตุเกิด นายหนึ่งยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อปรักปรําใส่ร้าย จําเลยให้ต้องรับโทษ ดังนั้น คําเบิกความของผู้เสียหายพยานบอกเล่าของโจทก์จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 (1) (คําพิพากษาฎีกาที่ 63/2533)

และแม้ว่าในขณะที่ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความนั้น มีนายหนึ่งพยานโจทก์ที่จะเบิกความ ภายหลังนั่งฟังผู้เสียหายอยู่ในห้องพิจารณาด้วยจนผู้เสียหายเบิกความจบ ก็ไม่ถือว่าคําเบิกความของผู้เสียหาย พยานโจทก์เป็นคําเบิกความที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 แต่อย่างใด

(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) ได้บัญญัติ หลักเกณฑ์ไว้ว่า พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังนั้นจะต้องสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงที่เรียกว่าประจักษ์พยาน และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วยเช่นกันนั้น มีหลักเกณฑ์ว่า ก่อนเบิกความพยานต้อง สาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตน หรือปฏิญาณตนย่อมรับฟังไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนโดย ความพลั้งเผลอ หากให้การหรือเบิกความจบแล้ว ได้สาบานตนรับรองต่อศาลว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้ว เป็นความจริง ถือได้ว่ามีการสาบานตนตามความมุ่งหมายของกฎหมายแล้ว คําเบิกความนั้นรับฟังได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 693/2487 และ 217/2488)

ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งประจักษ์พยานโจทก์ที่ก่อนเบิกความไม่ได้สาบานตน หรือกล่าวคําปฏิญาณตนด้วยความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วนั้นทันทีในวันนั้นว่า ข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง จึงรับฟังได้

ส่วนการที่นายหนึ่งได้เบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนคือผู้เสียหายพยานโจทก์ซึ่ง เบิกความต่อหน้าตนมาแล้วนั้น แม้ว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นการผิดระเบียบ แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติ ห้ามรับฟังโดยเด็ดขาด หรือห้ามมิให้ฟังเสียทีเดียว เมื่อศาลเห็นว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นที่เชื่อฟังได้ หรือ มิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของผู้เสียหายพยานคนก่อนมาแล้ว หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาด ของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความของนายหนึ่งผิดระเบียบก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งจึงรับฟังได้หากเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว

(3) หลักเกณฑ์การถามพยานบุคคลในศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญา ได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) นั้น ได้กําหนดลําดับของการถามพยานบุคคลไว้ว่า ฝ่ายที่อ้างพยานมาจะ ถามพยานของตนก่อนเรียกว่า “ซักถาม” เมื่อถามเสร็จแล้วให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้นได้เรียกว่า “ถามค้านหรือซักค้าน” เสร็จแล้วคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานมาจะถามพยานของตนได้อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า “ถามติง” แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้บัญญัติว่า หากพยานยังไม่ได้ตอบถามค้านหรือซักค้านแล้ว ห้ามมิให้รับฟังพยาน บุคคลปากนั้น ดังนั้น การที่นายสองประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้มาเบิกความตอบถามค้านหรือซักค้านของจําเลยเพราะถึงแก่กรรมไปก่อนวันนัด ก็มิใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ ศาลจึงมีอํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสอง ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539)

(4) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคสี่ มีหลักว่า ถ้อยคําที่เป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่า ตนได้กระทําความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น การที่สิบตํารวจโทสาม ผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึกการจับกุมที่สิบตํารวจโทสามเป็นผู้ทําขึ้นว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคํารับสารภาพ
ว่าลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อกล่าวหาด้วยความสมัครใจนั้นก็เป็นเพียงการยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การ รับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุม ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) คําเบิกความของสิบตํารวจโทสามจึงรับฟังไม่ได้

(5) การที่จําเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้องโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น จําเลยมีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคหนึ่ง และตอนที่จําเลยตอบโจทก์ถามค้านนั้น จําเลยได้รับว่าได้กระทําความผิดตามฟ้องจริง คําเบิกความของจําเลยตอนตอบโจทก์ถามค้านดังกล่าว ศาลอาจรับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคสอง

สรุป คําเบิกความของผู้เสียหายพยานโจทก์ตาม (1) นายสองประจักษ์พยานโจทก์ตาม (3) และ ของนายหนึ่งถ้าเข้าข้อยกเว้นตาม (2) ศาลรับฟังได้ ส่วนคําเบิกความของสิบตํารวจโทสามพยานโจทก์ผู้จับกุมจําเลย รับฟังไม่ได้ และคําเบิกความของจําเลยตอนตอบโจทก์ถามค้านศาลรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดแพร่ กับจําเลยโดยมี การทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนเรียบร้อย แต่โจทก์ต้องการไปซื้อบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ขายให้จําเลยไป โดยโจทก์อ้างว่าการซื้อขายนี้ไม่รวมบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วย

ในกรณีนี้ หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลจะต้องมีวิธีการ นําเข้าสืบอย่างไร และฝ่ายโจทก์จะขอนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าการซื้อขายที่ดินนี้เป็นการซื้อขายเฉพาะที่ดินไม่รวมตัวบ้านไม้ศาลจะรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวัน สืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี
ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดแพร่ กับจําเลยโดยมีการทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนเรียบร้อย แต่โจทก์ต้องการไปซื้อบ้านไม้ ที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ขายให้จําเลยไปโดยโจทก์อ้างว่าการซื้อขายนี้ไม่รวมบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วยนั้น
ในกรณีนี้ หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานในศาล ถือว่าจําเลยได้อ้างอิงเอกสาร เป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น จําเลยจะต้องนําสําเนาเอกสารสัญญาซื้อขาย ที่ดินนั้นยื่นต่อศาลและส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง

และการที่โจทก์จะขอนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าการซื้อขายที่ดินนี้เป็นการซื้อขายเฉพาะที่ดินไม่รวมตัวบ้านไม้นั้น แม้โจทก์จะเป็นคู่ความที่มิได้เป็นฝ่ายอ้างพยานเอกสารมาแสดงก็ตาม ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับ ของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ด้วย กล่าวคือโจทก์จะนําพยานบุคคลเข้าสืบพยานเอกสาร หรือขอสืบพยานบุคคล ประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกไม่ได้

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่โจทก์ขอนําพยานเข้าสืบนั้น เป็นการนําพยานบุคคลเข้ามาสืบ ประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้น ข้อความในสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ตีความหมายผิด กรณีจึงมิใช่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบเพื่อประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานจําเลยต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และฝ่ายโจทก์ขอนําพยานบุคคลเข้าสืบในกรณีดังกล่าว ศาลสามารถรับฟังพยานบุคคลนั้นได้

LAW3111 (LAW3011) กฎหมายลักษณะพยาน s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์มอบอํานาจให้นางย้อยมารดาฟ้องจําเลยเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกให้ชําระค่าเสียหายจากการ ส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้า เป็นเงินจํานวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายสินค้าข้อที่ 15 ที่แนบมาท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์เป็นผู้รับมอบอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า แต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับสินค้า กลับให้ไปส่งอีกที่หนึ่งซึ่งต้องใช้เวลา 1 วัน ทําให้ล่าช้าออกไปเพราะฝ่ายโจทก์เอง

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรและฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นแต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และ สอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใด
ก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระค่าเสียหายจากการส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายสินค้าข้อที่ 15 ที่แนบมา ท้ายคําฟ้อง แต่จําเลยให้การว่าความจริงจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า แต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับสินค้า กลับให้ไปส่งอีกที่หนึ่งซึ่งต้องใช้เวลา 1 วัน ทําให้ล่าช้าออกไปเพราะฝ่ายโจทก์เองนั้น จากคําฟ้องและคําให้การ ของจําเลยดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทอยู่ 2 ประเด็น คือ

1. จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่ เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจําเลยส่งมอบ สินค้าผิดขนาดและล่าช้า แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า จึงทําให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทประเด็นนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง และมาตรา 177 วรรคสอง

2. โจทก์เสียหายเพียงใด เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกให้ชําระค่าเสียหายเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท แต่จําเลยไม่ให้การถึงเรื่องค่าเสียหายว่า เสียหายเพียงใด จึงไม่ถือว่าเป็นการยอมรับจํานวนค่าเสียหายดังกล่าว ของโจทก์ ทําให้เกิดประเด็นข้อพิพาทประเด็นนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 84 (3)

ส่วนกรณีที่จําเลยให้การโต้แย้งโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้รับมอบอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบและ ไม่รับรอง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความไปแล้วนั้น เป็นเพียงคําให้การที่คลุมเครือไม่ชัดเจน เป็นเพียงคําให้การปฏิเสธ โดยไม่แสดงเหตุผลของการปฏิเสธ จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในคดี

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ที่ว่า “จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่” เมื่อโจทก์เป็นฝ่าย กล่าวอ้างว่าจําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้า แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยมีเหตุผลของการปฏิเสธครบถ้วน ดังนั้นโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

ประเด็นที่ 2 ที่ว่า “โจทก์เสียหายเพียงใด” เมื่อโจทก์กล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย แม้จําเลย จะไม่ได้ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหายด้วย หน้าที่นําสืบข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของ
ฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหายให้ได้ตามที่ฟ้องมา

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้
1. จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ
2. โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

 

ข้อ 2. 2.1) ขั้นตอนการสืบพยานบุคคลนั้นมีการถามอยู่กี่ช่วง อย่างไรบ้าง

2.2) หากคู่ความประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการซักถามพยานจะสามารถทําได้อย่างไร

ธงคําตอบ

2.1) ขั้นตอนในการสืบพยานบุคคลนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 117 ได้กําหนดให้มีการถามอยู่ 3 ช่วง คือ การซักถาม การถามค้าน และการถามติง

1. การซักถาม (ถามครั้งแรก) คือ การถามโดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้น เพื่อให้เบิกความ ตามประเด็นที่ผู้อ้างตั้งใจจะนําสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ซึ่งคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถาม
พยานได้ในทันทีที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนแล้ว (มาตรา 117 วรรคหนึ่ง)

ในการซักถามนั้น จะต้องเป็นคําถามที่เกี่ยวข้องกับคดี และห้ามใช้คําถามนํา เว้นแต่คู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา 118 วรรคหนึ่งและวรรคสาม)

2. การถามค้าน คือ การถามโดยคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งภายหลังจากที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยาน ได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว (มาตรา 117 วรรคสอง) เพื่อทําลายน้ําหนักหรือลดน้ําหนักคําพยานของฝ่ายตรงข้าม และต้องเป็นคําถามที่เกี่ยวข้องกับคดี (มาตรา 118 วรรคสาม) และอาจใช้คําถามนําได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้
แต่อย่างใด

3. การถามติง คือ การที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยาน ถามพยานปากนั้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่ พยานนั้นถูกอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านแล้ว (มาตรา 117 วรรคสาม)

ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามอื่นใด นอกจากคําถามที่เกี่ยวกับคําพยานเบิกความตอบคําถามค้าน (มาตรา 118 วรรคสอง) และจะใช้คําถามนําไม่ได้ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา 118 วรรคหนึ่ง)

เมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดซักถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดได้รับอนุญาตให้ถามพยานได้ดังกล่าวนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งย่อมถามค้านพยานได้อีก ในข้อที่เกี่ยวกับคําถามนั้น (มาตรา 117 วรรคสี่)

2.2) ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการซักถามพยานทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานนั้น สามารถทําได้โดย

1. จะต้องยื่นคําร้องแสดงความจํานงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวัน สืบพยานในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน และให้ศาลพิจารณากําหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคําดังกล่าวต่อศาลและส่งสําเนาบันทึกถ้อยคํานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวัน
สืบพยานคนนั้น (มาตรา 120/1 วรรคสอง)

2. การยื่นคําร้องตาม 1. ต้องปรากฏว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้าน และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ คู่ความฝ่ายที่มีคําร้องเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการสืบพยานได้ (มาตรา 120/1 วรรคหนึ่ง)

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องขอคืนเงินมัดจําจากจําเลยเนื่องจากจําเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยสัญญา ดังกล่าวนั้นคู่สัญญาประสงค์ที่จะมีการให้เกิดสัญญาโดยทําเป็นหนังสือ จําเลยยื่นคําให้การว่าตนมิได้ผิดสัญญาขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการสืบพยานโจทก์นั้น โจทก์ประสงค์จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐาน โดยมี การระบุในบัญชีพยานแล้ว แต่สัญญาดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ให้นายเอกซึ่งเป็นเพื่อนจําเลยเก็บเอาไว้ เพราะนายเอกเป็นผู้รู้เห็นการทําสัญญา ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอให้นายเอกส่งเอกสารสัญญามายังศาลได้อย่างไร และหากนายเอกไม่ส่งมายังศาล โจทก์จะสามารถขอนํานายเอกเข้าสืบแทนเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร
ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้
คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา
ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ
มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินมัดจําจากจําเลยเนื่องจากจําเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดิน และจําเลยยื่นคําให้การว่าตนมิได้ผิดสัญญาขอให้ศาลยกฟ้อง และในการสืบพยานโจทก์นั้น โจทก์ประสงค์ จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐานโดยมีการระบุในบัญชีพยานแล้ว แต่สัญญาดังกล่าวนั้นโจทก์ได้ให้นายเอกซึ่งเป็นเพื่อนจําเลยเก็บเอาไว้นั้น ถือว่าโจทก์ได้อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือ ข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําสําเนาเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายยื่นต่อศาล และส่งสําเนา เอกสารดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์อ้างอิงนั้นอยู่กับนายเอก ซึ่งถือว่า อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนา เอกสารให้แก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)

และตามอุทาหรณ์นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

หากโจทก์ต้องการนําเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จะต้อง
ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ โจทก์จะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็น คําร้องต่อศาล ขอให้สั่งให้บุคคลภายนอก) (นายเอก) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่โจทก์จะต้องส่งสําเนา เอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของโจทก์นั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่ง ให้นายเอกยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่โจทก์จะต้องส่งคําสั่งศาลให้แก่นายเอกผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าโจทก์ทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่นายเอกปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมี พยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2)) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ หากนายเอกปฏิเสธในการส่งเอกสารและเป็นกรณีที่ถือว่านําต้นฉบับเอกสาร มาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) โจทก์จึงสามารถที่จะ ขอนําตัวนายเอกพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร (สัญญาจะซื้อจะขาย) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้าม
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป หากโจทก์ประสงค์จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์สามารถขอให้ นายเอกส่งเอกสารสัญญาดังกล่าวมายังศาลได้โดยจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้ายประกอบ
มาตรา 123

และหากนายเอกไม่ส่งเอกสารมายังศาล โจทก์สามารถขอนํานายเอกพยานบุคคลเข้าสืบ แทนพยานเอกสาร (สัญญาจะซื้อจะขาย) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

LAW1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก s/2565

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายศาสนาอิสลามเกิดจากอะไร และมีอิทธิพลอย่างไรต่อกฎหมายไทยในยุคปัจจุบัน

ธงคําตอบ

ศาสนาอิสลามมีหลักการสอนให้มีความเชื่อว่า อัลลอฮ์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวในสากลจักรวาล เป็นผู้สร้างโลกมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมอยู่ใต้อํานาจบันดาลของพระองค์ทั้งสิ้น ท่านนบีมูฮีมัดเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลามและเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ให้มาประกาศสั่งสอนหลักธรรมแก่มนุษย์โลก ดังที่ปรากฏข้อความในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งถือเป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายอิสลามมีแหล่งกําเนิดที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในสมัยที่ท่านนบีมูฮ์มัด ได้ทรงประกาศศาสนาและเป็นผู้ปกครองประเทศ ต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ที่มีมุสลิมซึ่งถือหลัก ในการพิจารณากระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว ผัวเมีย และการแบ่งปันมรดกของ
ชนชาวมุสลิม

ท่านอาจารย์เด่น โต๊ะมีนา ได้อธิบายว่า กฎหมายอิสลามมีที่มาจากหลักฐานทางศาสนาที่สําคัญ
อยู่ 4 ประการ คือ

1) พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ถือว่าเป็นพระอธิเทวราชโองการของอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมูฮัมัด ต่างกรรมต่างวาระที่พระองค์เห็นสมควร ปรากฏว่าภายหลังจากที่ท่าน นบีมูฮามัดได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จึงได้มีการรวบรวมจากที่กระจัดกระจายอยู่ตามบันทึกที่มีการจดเป็นตัวอักษร ไว้ในใบปาล์มบ้าง หนังสัตว์บ้าง ตลอดถึงการจดจําของบรรดาผู้ใกล้ชิด และผู้เป็นสาวกนํามาเรียงลําดับก่อนหลัง จนครบถ้วนบริบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 30 ภาค มี 114 บท จํานวน 6,000 กว่าโองการ จึงนับได้ว่าเป็นที่มาของกฎหมาย อิสลามอันดับแรกที่สําคัญที่สุด

2) พระคัมภีร์อัล-หะดีษ คือ ข้อบัญญัติจากการกระทําหรือปฏิบัติการต่าง ๆ และพระวัจนพจน์ ตลอดถึงการวินิจฉัยข้อปัญหากฎหมายบางเรื่องบางอย่าง รวมทั้งการดําเนินตามวิถีทางความเป็นอยู่ทุกอิริยาบถ ของท่านนบีมูฮัมัด ซึ่งได้มีการบันทึกและจดจําโดยผู้ใกล้ชิดและบรรดาสาวกทั้งหลาย เก็บรักษาไว้เป็นหลักการ ทางศาสนาและปฏิบัติกันตลอดมาที่เรียกว่า “ซุนนะห์”

3) อัล-อิจญ์มาร์ คือ มติธรรมของปวงปราชญ์ ซึ่งเป็นความเห็นอันเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมาย อิสลามที่สอดคล้องต้องกันของนักนิติศาสตร์ฝ่ายศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งเป็นสาวกของท่านนบีมูฮัมัด ในกรณีที่ไม่มี ข้อความอันใดปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรืออัล-หะดีษ ที่จะยกมาปรับกับปัญหาที่มีขึ้น

4) อัล-กิยาส คือ การเปรียบเทียบโดยอาศัยเหตุผลที่ต่อเนื่องด้วยหลักการแห่งที่มาของกฎหมาย อิสลามทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น แต่ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสังคมมุสลิม จึงจําเป็นต้องใช้ วิธีการให้เหตุผลโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับตัวบทกฎหมายที่ใกล้เคียง และไม่ขัดกับหลักการอันเป็นที่มาของ กฎหมายอิสลามทั้ง 3 ข้อที่กล่าวแล้วด้วย หรือถ้าหากยังไม่สามารถกระทําได้ก็ให้ดําเนินการวินิจฉัยตามหลักธรรม การปฏิบัติศาสนกิจหรือตามประเพณีนิยม (อัล-อุรฟ) ทั่วไปที่ไม่ขัดกับหลักธรรมหรือจริยธรรมของอิสลาม เช่น หลักกฎหมายอิสลามที่ใช้บังคับกับศาลชั้นต้นในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สตูล ยะลา ปัตตานี และ
นราธิวาส โดยคู่กรณีต้องเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดดังกล่าว และต้องเป็นประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัวหรือมรดกเท่านั้น เนื่องจากหากมีการใช้มวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัว และมรดกบังคับใช้กับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกนั้น มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงอิทธิพลของการแบ่งชนชั้นของพระเจ้าฮัมมูราบีที่มีต่อกฎหมาย

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi) ซึ่งได้มีการจัดทําในสมัยของพระเจ้า ฮัมมูราบีกษัตริย์บาบิโลเนีย จะมีข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคมบาบิโลเนียในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ทําให้ ทราบว่าชาวบาบิโลเนียประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ คือ พวกชนชั้นผู้ดี มีตําแหน่งหน้าที่สูงในทางศาสนาและบ้านเมืองพวกชนชั้นกลางหรือพ่อค้า พวกช่างฝีมือ กรรมกร พวกชนชั้นล่างหรือทาส นอกจากนี้การพิจารณาความหรือตัดสิน ข้อพิพาทต่าง ๆ ไม่ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องของครอบครัวหนึ่งครอบครัวใดโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของ บ้านเมืองที่จะบังคับให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีได้จัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแบ่งแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชน และกฎหมายอาญา

ในส่วนของกฎหมายมหาชนนั้น การปกครองสมัยนั้นเป็นการปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งถือว่าทําการปกครองบ้านเมืองในนามของเทพเจ้า สมัยของพระเจ้าฮัมมูราบีได้ทําการขยายอาณาเขตไปทางเหนือจนถึง ดินแดนแอสซีเรีย ผู้ซึ่งรับคําสั่งจากกษัตริย์คือข้าราชการ นอกนั้นเป็นพวกประชาชนธรรมดากับพวกทาส ยุคสมัยจักรวรรดิบาบิโลนได้มีการแบ่งวรรณะของประชาชนออกเป็น 3 พวก คือ

1. ชนชั้นสูง (Awellu) หรือชนชั้นปกครอง คือ พวกข้าราชการ

2. ชนชั้นกลาง คือ ประชาชนธรรมดา (Muskinu) หรือพวกเสรีชน (Freeman)

3. ชนชั้นล่าง (Ardu) หรือทาส

เมื่อมีการแบ่งชนชั้นของประชาชนเช่นนี้ การบัญญัติกฎหมายก็ต้องสอดคล้องตามไปด้วย เช่น การกระทําผิดต่อชนชั้นสูงต้องรับโทษหรือถูกปรับสูงกว่าอัตราปกติ นอกจากนี้การทะเลาะวิวาททําร้ายร่างกายกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม หากชนชั้นล่างทําร้ายร่างกายคนชั้นสูง ชนชั้นสูงสามารถ แก้แค้นตอบแทนอย่างเดียวกับที่ตนถูกทําร้ายได้ ในทางตรงข้าม หากชนชั้นสูงทําร้ายร่างกายชนชั้นล่าง ชนชั้นล่าง จะแก้แค้นตอบแทนไม่ได้ แต่ให้ชนชั้นสูงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชนชั้นล่าง

การเปลี่ยนสถานะของชนชั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีทาสซึ่งเป็นชนชั้นล่างอาจไถ่ตัวเองให้เป็นเสรีชนหรือ
ชนชั้นกลางจากนายเงินซึ่งเป็นเจ้าของทาสนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หญิงซึ่งเป็นเสรีชนหากแต่งงานกับชายซึ่งเป็นทาส บุตรที่เกิดมาจะถือว่าเป็นชนชั้นใด ตามประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบีกําหนดให้เป็นเสรีชน และทรัพย์สิน กึ่งหนึ่งตกเป็นของฝ่ายหญิง

 

ข้อ 3. กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังรายคืออะไร มีความเหมือนและแตกต่างกับ กฎหมาย 3 เส้น 15 วาในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวงอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังราย เป็นลักษณะของกฎหมายที่ให้ชุมชนช่วยกัน รับผิดชอบและป้องกันการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ กฎหมายไม่ยอมรับฟังข้อแก้ตัวการปฏิเสธความรับผิดชอบ
ในผลแห่งการที่มีการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ของเพื่อนบ้านที่ตนไม่ได้รู้เห็นด้วย โดยในกฎหมายได้บัญญัติมี ใจความว่า ในหมู่บ้านหนึ่งมี 16 หลังครัวเรือน ทุกบ้านมีความคุ้นเคยสนิทสนมกัน เมื่อมีคนร้ายเข้าไปลักวัวควาย และทรัพย์สินในบ้านหลังหนึ่ง อีก 15 ครัวเรือนต้องร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกลักไป จะแก้ตัวว่าตนเอง ไม่ได้รู้เห็นกับการลักทรัพย์นั้นไม่ได้ โดยกฎหมายให้เหตุผลว่าเพราะอยู่บ้านเดียวกัน ไม่สั่งสอนกัน ปล่อยให้ไป ลักของผู้อื่น และเมื่อได้ตัวคนร้ายในภายหลัง ให้พิจารณาดู หากเป็นคนดีก็ให้ใช้ราคาทรัพย์ 4 เท่า 6 เท่า หรือ 9 เท่า แล้วแต่กรณี แล้วให้ขับออกไปเสียจากบ้านไปอยู่ในระยะไกลขนาดตีกลองไม่ได้ยิน

และในกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าหากหมู่บ้านมีเพียง 6 หลังคาเรือน ผู้อาศัย อยู่ในหมู่บ้านนี้ย่อมมีความสนิทสนมกันมากกว่ากรณีแรก เมื่อมีโจรไปลักทรัพย์ในเรือนหลังหนึ่งจนหมดสิ้น รั้วและ ประตูบ้านไม่มีร่องรอยการถูกงัดแงะ ซึ่งแสดงว่าผู้เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านเป็นคนที่รู้จักทางเข้าออกบ้านหลังนี้เป็น อย่างดี หากหาตัวคนร้ายไม่ได้ ให้ชาวบ้านอีก 5 ครัวเรือนเป็นผู้ชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกลักไปทั้งหมด ต่อมาภายหลัง ได้ตัวเพื่อนบ้านคนใดเป็นผู้กระทําผิด ให้ปรับไหมผู้นั้น 4 เท่า หรือ 9 เท่า แล้วให้ขับออกไปเสียจากหมู่บ้านนั้น

กฎหมาย 3 เส้น 15 วา ในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายที่กําหนด ความรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมู่เหล่าในชุมชนซึ่งจะเหมือนกับกฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังราย ที่ให้สมาชิกในหมู่บ้านร่วมกันชดใช้ราคาของที่บ้านหลังหนึ่งถูกลักขโมยไป โดยกฎหมาย 3 เส้น 15 วา จะปรากฏ อยู่ในบทที่ 15, 16, 114 และ 136 ในพระอัยการลักษณะโจร ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อมีการปล้นก็ดี ฆ่าคนตายหรือ ทําร้ายสัตว์ถึงตายก็ดี ถ้าการกระทําความผิดเหล่านี้เกิดขึ้นในอาณาบริเวณของหมู่บ้านใด ให้สมาชิกทุกคนของ หมู่บ้านนั้นมีหน้าที่ช่วยสืบค้นหาผู้ร้ายให้จงได้ และถ้าการปล้นนั้นเกิดขึ้นในขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ด้วย เพื่อนบ้าน มีหน้าที่ช่วยต่อสู้ป้องกันโจรด้วย นอกจากนั้นความรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้นยังตกอยู่แก่ผู้อยู่ในระยะทาง 3 เส้น 15 วา วัดโดยรอบจากที่เกิดเหตุที่จะต้องช่วยกันจับโจรด้วย ผู้ใดไม่ช่วยจะต้องถูกลงโทษทวนด้วยลวดหนัง มากน้อยตามแต่ระยะทางที่ตนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อยู่ในรัศมี 3 เส้น 15 วานี้ จะ พ้นความรับผิดไปเสียทีเดียว ยังต้องทําทัณฑ์บนไว้ว่า ถ้าภายหลังจับตัวผู้กระทําความผิดได้ และผู้กระทําความผิด ซัดทอดถึงผู้ใด ผู้นั้นอาจถูกลงโทษได้อ้า

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยขยายอาณาเขตของบุคคลผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการกระทําความผิดออกไปเป็น 5 เส้น จึงนิยมเรียกกันว่า
“กฎหมายโจรห้าเส้น”

กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังรายนั้น แม้จะมีลักษณะที่เหมือนกันกับกฎหมาย
3 เส้น 15 วา ในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวง ตรงที่เป็นกฎหมายที่กําหนดความรับผิดชอบ ร่วมกันของคนในชุมชน (ในหมู่บ้าน) แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันบางประการ เช่น

1. กฎหมาย 16 หลังคาเรือน จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่กฎหมาย 3 เส้น 15 ว่า จะเป็น ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย รวมทั้งการทําร้ายสัตว์ถึงตาย

2. โทษของกฎหมาย 16 หลังคาเรือน คือ การร่วมกันชดใช้ราคาของและการเนรเทศหรือขับ ออกจากเมือง แต่โทษของกฎหมาย 3 เส้น 15 วา คือ การทวนด้วยลวดหนังมากน้อยตามแต่ระยะทางที่ตนอยู่ห่าง จากที่เกิดเหตุ

3. ความรับผิดชอบของคนในชุมชนตามกฎหมาย 16 หลังคาเรือน จะเน้นจํานวนครัวเรือนที่ อยู่ในหมู่บ้านโดยไม่คํานึงถึงระยะทาง แต่ความรับผิดชอบของคนในชุมชนตามกฎหมาย 3 เส้น 15 ว่า จะเน้นที่ ระยะทาง คือต้องเป็นคนที่อยู่ในระยะทาง 3 เส้น 15 วาจากที่เกิดเหตุ โดยไม่คํานึงถึงจํานวนครัวเรือนแต่อย่างใด

 

ข้อ 4. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร และมีความสัมพันธ์กับกฎหมายตราสามดวงอย่างไร

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อํานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย
ที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์มีความสัมพันธ์กับกฎหมายตราสามดวง ดังนี้คือ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง จะประกอบด้วย พระอัยการ (กฎหมาย) ลักษณะต่าง ๆ ถึง 29 ลักษณะ มีบทบัญญัติถึง 1,600 บท (มาตรา) เศษ โดยพระอัยการลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะอาศัยมูลคดีวิวาทในคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์มาเป็นหัวข้อในการตรากฎหมาย เพื่อใช้บังคับแก่ประชาชนในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่ง ได้มีการยกเลิกไปทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2481

 

LAW3101 (LAW3001) กฎหมายอาญา 3 s/2565

การสอบไล่ภาฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3101 (LAW 3001) กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายมืดต้องการฆ่านายสว่างจึงพกปืนไปที่บ้านของนายสว่าง ขณะที่นายสว่างเปิดประตูบ้านกําลังเดิน ไปขึ้นรถ นายมืดล้วงเอาปืนเพื่อจะยิง แต่ด้วยความรีบ ปืนหลุดจากมือหล่นลงพื้นโดยที่นายมีด ยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่าง ปืนกระทบกับพื้นกระสุนลั่นถูกนายสว่างได้รับอันตรายสาหัส

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายมีดมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดย ปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 300 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ…….”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300 ประกอบด้วย
1. กระทําด้วยประการใด ๆ
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีดต้องการฆ่านายสว่างจึงพกปืนไปที่บ้านของนายสว่าง และขณะที่ นายสว่างเปิดประตูบ้านกําลังเดินไปขึ้นรถ นายมืดล้วงเอาปืนเพื่อจะยิง แต่ด้วยความรีบ ปืนหลุดจากมือหล่นลงพื้น โดยที่นายมืดยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่างนั้น กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้นายมืดจะมีเจตนาฆ่านายสว่างก็ตามแต่การกระทําของนายมืดที่ล้วงเอาปืนเพื่อจะยิงนายสว่างโดยที่นายมืดยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายสว่างเพราะปืน หลุดจากมือหล่นลงพื้นก่อนนั้น ยังไม่ถือว่านายมืดได้ลงมือกระทําความผิด เพียงแต่ยังอยู่ในขั้นเตรียมเท่านั้น เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นการลงมือกระทําความผิดนั้น จะต้องเป็นการกระทําขั้นสุดท้ายที่เลยขั้นตระเตรียมที่ ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อให้เกิดผลนั้นแล้ว เมื่อยังไม่ถือว่าเป็นการลงมือกระทํา ดังนั้น จึงยังไม่ถือว่านายมืดได้ ลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอดอันจะเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 นายมืดจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่านายสว่าง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายมืดทําให้ปืนหลุดมือหล่นลงพื้นและปืนกระทบกับพื้นกระสุนลั่นถูก นายสว่างได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น การกระทําของนายมืดถือได้ว่าเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ กล่าวคือ เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและ พฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้น เมื่อกระสุนลั่นถูก นายสว่างทําให้นายสว่างได้รับอันตรายสาหัส นายมืดจึงมีความผิดต่อร่างกายฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300

สรุป นายมืดมีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300

 

ข้อ 2. นายเพชรมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แต่แยกกันอยู่โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า นายเพชร มีความสัมพันธ์อยู่กับนางสาวพลอยอายุ 17 ปี นายเพชรได้ชวนนางสาวพลอยไปอยู่กินกันอย่าง เปิดเผยที่บ้านของนายเพชร ต่อมาเดือนเศษนายเพชรได้จัดพิธีแต่งงานกับนางสาวพลอย และ อยู่ที่บ้านของนางสาวพลอยเป็นเวลา 3 เดือน ก็หนีออกจากบ้านไป ดังนี้ อยากทราบนายเพชร มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 319 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี
2. ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
3. โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย
4. โดยเจตนา
5. เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจาร

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเพชรมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แต่แยกกันอยู่โดยยัง ไม่ได้จดทะเบียนหย่า นายเพชรมีความสัมพันธ์อยู่กับนางสาวพลอยอายุ 17 ปี นายเพชรได้ชวนนางสาวพลอยไป อยู่กินกันอย่างเปิดเผยที่บ้านของนายเพชรนั้น แม้จะฟังได้ว่านางสาวพลอยจะสมัครใจไปกับนายเพชรและได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย และต่อมาอีกเดือนเศษนายเพชรได้จัดพิธีแต่งงานกับนางสาวพลอยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจาก พฤติการณ์ของนายเพชรที่นายเพชรอยู่ที่บ้านของนางสาวพลอยเป็นเวลา 3 เดือน ก็หนีออกจากบ้าน อีกทั้งนายเพชร ก็มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แม้จะแยกกันอยู่แต่ก็ไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า นายเพชรได้พานางสาวพลอยไปหลับนอนได้เสียกันที่บ้านของนายเพชรโดยไม่มีเจตนาที่จะอยู่กินเลี้ยงดูนางสาวพลอย ฉันสามีภริยา การกระทําของนายเพชรถือได้ว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ที่มีอายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสีย จากบิดามารดาเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น นายเพชรจึงมีความผิด ฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 1287/2533)

สรุป นายเพชรมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3. นายกล้าประกอบกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มีนายหนึ่งเป็นลูกจ้างในตําแหน่งผู้จัดการร้าน ทําหน้าที่ ดูแลกิจการในร้าน เมื่อพนักงานในร้านขายสินค้าได้ ต้องนําเงินที่ได้รับจากลูกค้าหย่อนลงในตู้นิรภัย ของร้าน ซึ่งนายหนึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย มีหน้าที่ไขตู้นิรภัยในเวลา 17.00 นาฬิกาของทุกวัน และนําเงินออกมานับต่อหน้านายสองลูกจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีตําแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา นายหนึ่งแอบไขตู้นิรภัยและเอาเงินจํานวน 5,000 บาท ไปเป็นของตน ดังนี้ นายหนึ่งมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา
ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 335 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลักทรัพย์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง
ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกล้าประกอบกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มีนายหนึ่งเป็นลูกจ้างใน ตําแหน่งผู้จัดการร้าน ทําหน้าที่ดูแลกิจการในร้าน เมื่อพนักงานในร้านขายสินค้าได้ ต้องนําเงินที่ได้รับจากลูกค้า หย่อนลงในตู้นิรภัยของร้าน ซึ่งนายหนึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย มีหน้าที่ไขตู้นิรภัยในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน และต้องนําเงินออกมานับต่อหน้านาย สองลูกจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีตําแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินนั้น ย่อมถือว่า เงินซึ่งอยู่ในตู้นิรภัยนั้นเป็นทรัพย์สินที่ลูกจ้างยึดถือไว้แทนนายจ้างชั่วคราวและจะต้องนําส่งมอบให้แก่นายจ้าง

อํานาจในการครอบครองควบคุมดูแลเงินดังกล่าวยังเป็นของนายจ้าง ดังนั้น การที่นายหนึ่งลูกจ้างได้แอบไข ตู้นิรภัยและเอาเงินจํานวน 5,000 บาท ไปเป็นของตน จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต นายหนึ่งจึงมี ความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 และเมื่อทรัพย์นั้นเป็นของนายจ้าง นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ที่ เป็นของนายจ้างตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง (11) (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 2387/2564)

สรุป นายหนึ่งมีความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง (11)

 

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน s/2565

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ. ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 นายเอ นายบี และนายซี ได้ตกลงเข้าทุนกันเป็นเงินเพื่อกระทํากิจการ ร้านค้าขายน้ํามันปาล์มในเขตพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้ จากกิจการที่ทํานั้น โดยนายซีได้นําเงินจํานวนหนึ่งล้านบาทซึ่งเป็นสินสมรสของนายซีกับนางดีคู่สมรสไปชําระเพื่อร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าวนั้น ปีต่อมานายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้แก่ นางสาวไฮลี่ตามราคาตลาด แต่นายเอได้ทักท้วงเนื่องจากต้องการขายน้ํามันปาล์มส่วนดังกล่าว ให้แก่นางสาวอีกี้ผู้เป็นที่รักของนายเอ ปีต่อมานายเอต้องการขายต้นปาล์มแก่นางสาวอลิซ แต่นายบีและนายซีร่วมกันทักท้วงเป็นเสียงข้างมากเนื่องจากเป็นการขายที่กําหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดจึงเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของกิจการ ปีต่อมานางดีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้กับนางสาวยอร์น ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่นายเอ นายบี และนายซีร่วมกันทักท้วงเนื่องจากนางสาวยอร์นมีกิจการขาย น้ํามันปาล์มด้วย จึงเกรงว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าและเป็นการแข่งขันกับกิจการของตนเอง ให้ท่านวินิจฉัยว่า รายการซื้อขายดังกล่าวนั้นบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิกระทําการซื้อขายนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุผลอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

มาตรา 1033 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็น หุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทําสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วน อีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้

ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอ นายบี และนายซี ได้ตกลงเข้าทุนกันเป็นเงินเพื่อกระทํากิจการ ค้าขายน้ํามันปาล์มในเขตพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทํานั้น ย่อมถือว่านายเอ นายบี และนายซีได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนกันแล้วตามมาตรา 1012 และ เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1025 และแม้ว่าในการลงหุ้นของนายซีนั้น นายที่จะได้นําเงินจํานวนหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสของนายซีกับนางดีคู่สมรสไปชําระเพื่อร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าว ก็ไม่ทําให้นางดีกลายเป็นหุ้นส่วนด้วยในห้างหุ้นส่วนนั้นแต่อย่างใด เนื่องจากนางดีไม่ได้ตกลงเข้าหุ้นเพื่อร่วมทํากิจการดังกล่าวด้วย

และเมื่อในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวของนายเอ นายบี และนายซีนั้น ไม่ได้มีการตกลง กันว่าจะให้ใครเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงมีผลตามมาตรา 1033 กล่าวคือ ให้ถือว่าทั้ง 3 คน ต่างก็เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการทุกคน และทุกคนย่อมมีสิทธิจัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้า
ทําสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์ม นายเอต้องการขายต้นปาล์ม และนางดีต้องการขายน้ํามันปาล์มนั้น บุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิกระทําการซื้อขายได้หรือไม่ แยกวินิจฉันได้ดังนี้

1. การที่นายปีและนายซีต้องการขายน้ํามันปาล์มให้แก่นางสาวไฮลี่นั้น แม้จะเป็นการทําสัญญา ที่เกี่ยวกับการจัดการตามวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายเอได้ทักท้วงแล้ว นายปีและนายซี จึงไม่อาจที่จะกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวไฮลี่ได้ เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 1033

2. การที่นายเอต้องการขายต้นปาล์มให้แก่นางสาวอลิซนั้น เป็นการทําสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับ การจัดการตามวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนนั้นมีวัตถุประสงค์ในการทํากิจการ ค้าขายน้ํามันปาล์มไม่เกี่ยวกับการค้าขายต้นปาล์ม ดังนั้น แม้ว่านายปีและนายที่จะได้ร่วมกันทักท้วง ก็ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 1033 นายเอจึงมีสิทธิที่จะกระทําการซื้อขายต้นปาล์มกับนางสาวอลิซได้

3. การที่นางดีต้องการขายน้ำมันปาล์มให้แก่นางสาวยอร์นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางดี ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่านายเอ นายบี และนายซีจะได้ร่วมกันทักท้วงหรือไม่ ก็ตาม กรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1033 นางดีจึงไม่มีสิทธิที่จะกระทําการซื้อขายน้ำมันปาล์มกับ นางสาวยอร์นได้

สรุป
นายบีและนายซีไม่มีสิทธิกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวไฮลี่
นายเอมีสิทธิกระทําการซื้อขายต้นปาล์มกับนางสาวอลิซ
นางดีไม่มีสิทธิกระทําการซื้อขายน้ํามันปาล์มกับนางสาวยอร์น

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเชิงวิเคราะห์เรื่อง “ลักษณะสําคัญของหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 15 รายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วน

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วน ได้บัญญัติถึง “ลักษณะของหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด” ไว้หลายประการ ซึ่งในการวิเคราะห์ถึงลักษณะของหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น จะต้อง พิจารณาถึงลักษณะของหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงลักษณะของหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งตามกฎหมายนั้นได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กับ “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น (มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน
ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด
จะต้องรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตน
ได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนนั้นคุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ
แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้นคุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ

15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเชิงวิเคราะห์เรื่อง “กรณีผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัดที่ไม่สามารถใช้สิทธิ ลงคะแนนเพื่อกําหนดมติในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัท” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจํากัด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจํากัดนั้น โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นทุกคนย่อม มีสิทธิที่จะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่สามัญหรือประชุมใหญ่วิสามัญ (มาตรา 1176) หรืออาจทําเป็นหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ (มาตรา 1187) แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงมติออกเสียงในที่ประชุมใหญ่นั้น ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเพื่อกําหนดมติในที่ประชุมใหญ่นั้น กฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องมีหุ้นเท่ากับจํานวนที่ข้อบังคับของบริษัทได้กําหนดไว้ ถ้าผู้ถือหุ้นหลายคนมีจํานวนหุ้น ไม่เท่าจํานวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะนําหุ้นมารวมกันเพื่อให้เท่าจํานวนหุ้นดังกล่าว แล้วตั้งให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่ง
เป็นผู้รับฉันทะในการลงมติออกเสียงแทนในที่ประชุมใหญ่นั้น (มาตรา 1183)

2. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งได้ชําระเงินค่าหุ้นตามที่บริษัทได้เรียกเก็บเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ถือหุ้นคนใด ยังมิได้ชําระเงินค่าหุ้นซึ่งบริษัทได้เรียกเก็บให้เสร็จสิ้น ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (มาตรา 1184)

3. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ผู้ถือหุ้นคนใด มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้น (มาตรา 1185)

4. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อ ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือจะมีสิทธิ ออกเสียงลงคะแนนได้ก็ต่อเมื่อได้นําใบหุ้นของตนมาวางไว้แก่บริษัทก่อนเวลาประชุม (มาตรา 1186)

LAW3104 (LAW 3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม s/2565

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 250,000 บาท ต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี จึงมีคําสั่งโอนคดีไปยัง
ศาลแขวงอุดรธานี

คําสั่งโอนคดีของศาลจังหวัดอุดรธานีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ
คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมี พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 250,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณ เป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็น ราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 250,000 บาท ดังนั้นจึงทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจ พิจารณาพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

 

ข้อ 2. นายทองแท้ฟ้องว่านางแม้นวาดทําสัญญาเช่ารถยนต์กับนายทองแท้ (รถยนต์ราคา 300,000 บาท) โดยตกลงเช่าเป็นเวลาสามเดือน ค่าเช่า 100,000 บาท เมื่อถึงกําหนดคืนรถยนต์ นางแม้นวาดไม่ยอม
ส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้ ขอให้ศาลพิพากษาให้นางแม้นวาดส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้
ต่อมานางแม้นวาดยื่นคําให้การว่ารถยนต์เป็นของนางแม้นวาดโดยนางแม้นวาดได้ซื้อรถยนต์จาก
นายทองแท้แล้ว นางแม้นวาดจึงไม่ต้องคืนรถยนต์ให้นายทองแท้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวงตามมาตรา 26 แต่อย่างไรก็ดีผู้พิพากษาคนหนึ่ง ย่อมมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของ ศาลนั้น ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 25 เว้นแต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาประจําศาลจะไม่มีอํานาจตามมาตรา 25 (3) (4) หรือ (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองแท้ฟ้องว่านางแม้นวาดทําสัญญาเช่ารถยนต์กับนายทองแท้ (รถยนต์ราคา 300,000 บาท) เมื่อถึงกําหนดคืนรถยนต์ นางแม้นวาดไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้ ขอให้ ศาลพิพากษาให้นางแม้นวาดส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้นั้น คําฟ้องให้ส่งมอบทรัพย์คืนนั้น โดยหลักแล้วถือว่า เป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมไม่มีอํานาจในการพิจารณาพิพากษา จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางแม้นวาดได้ยื่นคําให้การว่ารถยนต์เป็นของนางแม้นวาด โดยนางแม้นวาดได้ซื้อรถยนต์จากนายทองแท้แล้ว นางแม้นวาดจึงไม่ต้องคืนรถยนต์ให้นายทองแท้ การที่นางแม้นวาดได้ให้การโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของนางแม้นวาด คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดี ที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ และเมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาท ไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น ผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามมาตรา 25 (4)

สรุป ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาคดีนี้ได้

 

ข้อ 3. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นายเอกกับนายหนึ่ง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดและผู้พิพากษาประจําศาล เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเอก ไต่สวนมูลฟ้องลําพังคนเดียว เห็นว่าคดีนี้ไม่มีมูล ดังนี้ ถ้านายเอก

(ก) นําสํานวนไปให้นายหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกันกรณีหนึ่ง

(ข) นําสํานวนไปให้นายโทผู้พิพากษาตรวจสํานวนทําคําพิพากษายกฟ้อง แต่นายโทป่วยต้องพัก
รักษาตัวที่โรงพยาบาล นายตรีเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากนายโทจึงนําสํานวนมาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 กรณีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด
ไว้ในมาตรา 30 แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีนายเอกกับนายหนึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัด และผู้พิพากษาประจําศาล เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีนั้น ย่อมถือว่าเป็น องค์คณะที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 และในวันไต่สวนมูลฟ้องนั้น นายเอกได้ไต่สวนมูลฟ้อง เพียงลําพังคนเดียวก็ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะตามมาตรา 25 (3) ได้กําหนดไว้ว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของ ศาลนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีอัตราโทษเท่าใดก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเอกผู้พิพากษาคนเดียวได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่าคดีนั้น ไม่มีมูลและเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง และคดีดังกล่าวมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษเกินกว่า อัตราโทษตามมาตรา 25 (5) นั้น กรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น เมื่อนายเอกเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง นายเอกจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 29 (3) กล่าวคือ นายเอกจะต้องนําสํานวนคดีนั้นไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วยคําพิพากษานั้นจึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ดังกล่าว ถ้านายเอก

(ก) จะนําสํานวนไปให้นายหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกันนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้ว่านายหนึ่งจะเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีดังกล่าวก็ตาม แต่
นายหนึ่งไม่ได้ร่วมในการพิจารณาและไต่สวนมูลฟ้องในคดีนั้นแต่อย่างใด นายหนึ่งจึงลงลายมือชื่อเพื่อทําคําพิพากษามายกฟ้องคดีนั้นไม่ได้

(ข) นําสํานวนไปให้นายโทผู้พิพากษาตรวจสํานวนทําคําพิพากษายกฟ้อง หรือเมื่อนายโทป่วย ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายตรีผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากนายโทนําสํานวนมาตรวจและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อมีเหตุจําเป็นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (1) ดังกล่าวนั้น ผู้ที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้อง ร่วมกับนายเอกนั้นจะต้องเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้น ตามมาตรา 29 (3) เมื่อนายโท หรือนายตรีมิใช่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จึงไม่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับนายเอกได้

สรุป ทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 s/2565

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายชูวิทย์เช่ารถยนต์จากบริษัท ม้าบิน จํากัด มาใช้เพื่อขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนที่ ภูสอยดาว จังหวัดน่าน ระหว่างทางได้ถูกนายอนุทินที่เพิ่งเสพกัญชามา ทําให้เกิดภาพหลอน ขับรถมาด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์ที่นายชูวิทย์เช่ามาได้รับความเสียหาย นายชูวิทย์จึง ต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายอนุทินเป็นเงิน 500,000 บาท นายอนุทินต่อสู้ว่านายชูวิทย์ ไม่ใช่เจ้าของรถที่แท้จริง ไม่มีอํานาจฟ้อง ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายชูวิทย์จะฟ้องนายอนุทินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาล ส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชูวิทย์ได้เช่ารถยนต์จากบริษัท ม้าบิน จํากัด มาใช้ เพื่อขับรถ พาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนที่ภูสอยดาว จังหวัดน่าน ระหว่างทางได้ถูกนายอนุทินซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูง เฉี่ยวชนท้ายรถยนต์ที่นายชูวิทย์เช่ามาได้รับความเสียหาย นายชูวิทย์จึงต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก นายอนุทินเป็นเงิน 500,000 บาท แต่นายอนุทินต่อสู้ว่านายชูวิทย์ไม่ใช่เจ้าของรถที่แท้จริง ไม่มีอํานาจฟ้องนั้น กรณีนี้เห็นว่า แม้ในขณะเกิดเหตุนั้นนายชูวิทย์จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทก็ตาม แต่เมื่อนายชูวิทย์ได้เช่า รถยนต์คันพิพาทจากบริษัท ม้าบิน จํากัด นายชูวิทย์ย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่ามา และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ในลักษณะที่เรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่า เมื่อรถยนต์คันที่นายชูวิทย์เช่ามาถูกเฉี่ยวชน ได้รับความเสียหาย นายชูวิทย์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอํานาจฟ้องได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 2204/2542) ดังนั้น
กรณีดังกล่าวนายชูวิทย์จึงสามารถฟ้องนายอนุทินได้

สรุป นายชูวิทย์สามารถฟ้องนายอนุทินได้

 

ข้อ 2. นายพิธามีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดชลบุรี เป็นเพื่อนกับนางสุดารัตน์ซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดระยอง ทั้งสองคนชวนกันไปเที่ยวเกาะช้างในจังหวัดตราด ระหว่างนั่งพักทานอาหารเที่ยงริมชายหาด นายพิธาได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายสวนทุเรียนของนางสุดารัตน์ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี โดย ทําสัญญาจะซื้อจะขายกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้มีการชําระราคา ที่ดิน และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายพิธาเรียบร้อยแล้ว แต่นางสุดารัตน์ยังไม่ขนย้ายทรัพย์สินและคนงานออกจากสวนทุเรียนแปลงดังกล่าว นายพิธา ต้องการฟ้องขับไล่นางสุดารัตน์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายพิธาต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใด เพราะเหตุใดจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือ ต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ได้วางหลักไว้ว่า คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือ ประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่ จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิธามีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดชลบุรี เป็นเพื่อนกับนางสุดารัตน์ซึ่งมี ภูมิลําเนาอยู่จังหวัดระยอง ทั้งสองคนชวนกันไปเที่ยวเกาะช้างในจังหวัดตราด และในระหว่างนั่งพักทานอาหารเที่ยง ริมชายหาด นายพิธาได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายสวนทุเรียนของนางสุดารัตน์ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี โดยทํา สัญญาจะซื้อจะขายกันที่สนามบินสุวรรณภูมิจังหวัดสมุทรปราการ และต่อมาได้มีการชําระราคาที่ดิน และมีการ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายพิธาเรียบร้อยแล้ว แต่นางสุดารัตน์ยังไม่ขนย้าย ทรัพย์สินและคนงานออกไปจากสวนทุเรียนแปลงดังกล่าว นายพิธาจึงต้องการฟ้องขับไล่นางสุดารัตน์ ดังนี้ นายพิธาจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลใดนั้น กรณีนี้เห็นว่าการฟ้องขับไล่ให้บุคคลออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้จะไม่ได้เป็นการขอบังคับเอาแก่ตัวอสังหาริมทรัพย์โดยตรงก็ตาม แต่การฟ้องขับไล่ให้บุคคลออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น จําเป็นต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นด้วยว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของใคร คําฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การที่นายพิธาจะฟ้องขับไล่นางสุดารัตน์ให้ ออกไปจากสวนทุเรียนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ นายพิธาจึงต้องยื่นคําฟ้อง ต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล คือศาลจังหวัดจันทบุรี หรือศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล คือศาลจังหวัดระยองเท่านั้น

และเมื่อคําฟ้องของนายพิธาอาจยื่นฟ้องต่อศาลได้สองศาล คือ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาล
จังหวัดระยอง ดังนั้น นายพิธาจะยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรีหรือศาลจังหวัดระยองศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป นายพิธาจะต้องยื่นคําฟ้องขับไล่นางสุดารัตน์ต่อศาลจังหวัดจันทบุรีหรือศาลจังหวัดระยอง ศาลใดศาลหนึ่ง ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยออกจากบ้านเช่าอ้างว่า จําเลยผิดสัญญาเช่าเนื่องจากต่อเติมบ้านเช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา สัญญาเช่าได้ครบกําหนด โจทก์มาฟ้อง ขับไล่จําเลยออกจากบ้านเช่าอีก อ้างว่าสัญญาเช่าครบกําหนดแล้ว จําเลยต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวเป็น ฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ํา ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้ การฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ําหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง
ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว
2. คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด
3. ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
4. ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
5. ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
2. คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3. คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4. ห้ามโจทก์ฟ้อง
5. ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยออกจากบ้านเช่าโดยอ้างว่าจําเลยผิดสัญญาเช่า เนื่องจากไปต่อเติมบ้านเช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา สัญญาเช่าได้ครบกําหนด โจทก์มาฟ้องขับไล่จําเลยออกจากบ้านเช่าอีก โดยอ้างว่าสัญญาเช่าครบกําหนดแล้ว จําเลยต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวเป็น ฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำ ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้ การฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำหรือไม่นั้น แยกวินิจฉัย ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่

ตามอุทาหรณ์ แม้คดีเดิมจะอยู่ในระหว่างพิจารณาและคู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลัง จะเป็นคู่ความเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อคดีเดิมนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยโดยอ้างว่าจําเลยผิดสัญญาเช่า
เนื่องจากต่อเติมบ้านเช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่ในคดีหลังโจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยโดยอ้างว่าสัญญาเช่า ครบกําหนดแล้ว การฟ้องคดีแรกกับคดีหลังจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงขาดหลักเกณฑ์ของ การเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน (คําพิพากษาฎีกาที่ 316/2511)

ประเด็นที่ 2 ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 นั้น จะมีหลักเกณฑ์ที่สําคัญอยู่ประการหนึ่งคือ ในคดีแรกหรือคดีเดิมนั้นจะต้องได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว และคู่ความเดียวกันได้นําคดีนั้นมาฟ้องร้อง กันอีก แต่กรณีตามอุทาหรณ์นี้นั้น คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยในคดีหลังจึงขาดหลักเกณฑ์ของการเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

สรุป ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ําแต่อย่างใด

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ดังกล่าวออกไป แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงยื่นคําขอให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดี ศาลจึงพิพากษาว่าคดีโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จําเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จริง ให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ําออกไปโดยไม่ได้มีการสืบพยาน ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็น
ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็น ฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้าง ของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

วินิจฉัย

การที่โจทก์ฟ้องจําเลย แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นการดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และถ้าศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ป.วิ.แพ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปนั้น ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ทั้งนี้เพราะในการพิจารณานั้นจําเป็นต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของทรัพย์ด้วยว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของใคร กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง แม้ว่าตามข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ได้ยื่นคําขอให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยไม่มีการสืบพยานไม่ได้ เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ได้กําหนดให้ศาลต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่ เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น การที่ศาลพิพากษาว่าคดีโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จ่าเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์จริง และให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปโดยไม่มีการสืบพยานนั้น คําพิพากษาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

WordPress Ads
error: Content is protected !!