LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  3  ข้อ

ข้อ 1  จงบอกว่าประเทศไทยใช้กฎหมายระบบใด  พร้อมบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายมาให้ถูกต้องและครบถ้วนด้วย

ธงคำตอบ

ประเทศไทยชะระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil  Law)

ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้จะอยู่ในรูปของประมวลกฎหมาย  ซึ่งประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องมีการจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้น  โดยเฉพาะในทางกฎหมายแพ่งนั้นใช้ระบบกฎหมาย  “Civil  Law”  มาจากภาษาลาตินของโรมันว่า  “Jus  Civile” โดยกษัตริย์โรมันชื่อ  Justinian  ได้ทรงรวบรวมกฎหมายประเพณี  ซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะ  รวมทั้งรวบรวมนักกฎหมายในสมัยพระองค์ช่วยกันบัญญัติออกมาเป็นรูปกฎหมาย  Civil  Law  ขึ้น  มีชื่อว่า “Corpus  Juris  Civilis”  ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสและเยอรมันได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแพ่ง  (Civil  Code)  ขึ้น  จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Condifild  Law  นั่นเอง

ประมวลกฎหมายคือ  กฎหมายที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้น  โดยรวบรวมเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกัน  แต่กระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ  เอามารวบรวมจัดให้เป็นหมวดหมู่วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกัน  และมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ

กฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักอักษรนี้  เป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์  ทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะเรื่อง  คือ  เอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับด้วยเป็นรายๆไป  ดังนั้นประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงต้องคำนึงถึงตัวบทเป็นสำคัญ  ส่วนคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงช่วยในการตีความในตัวบทของประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเท่านั้น  ไม่ใช่ที่มาของกฎหมายอย่างเช่นระบบ Common  Law  ซึ่งที่มาของประมวลกฎหมายต่างๆ  ในระบบ  Civil  Law  นี้จะมาจากกฎหมายโรมันอันเป็นต้นแบบนั้นเอง

และนอกจากนี้  กฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายนี้  แยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน  คือ  ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาชนก็มีศาลปกครอง  และในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเอกชนก็มีศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดี  ส่วนกฎหมายระบบ  Common  Law  ไม่มีการแยกประเภทคดีทั้งทางมหาชนและเอกชนต้องพิจารณาในศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว

สำหรับลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่  5  ประการ  คือ

1.       กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากรัฏฐาธิปัตย์  คือ  มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศ  โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อบังคับแห่งกฎหมาย  เรียกว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Codified  Law)  หรือกฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมาย  เช่นประเทศไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยความเห็นชอบของรัฐสภา  เป็นต้น  ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันเองแล้วย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับให้เป็นข้อกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วไป

อนึ่ง  ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เช่นกัน  เช่น  พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง  ซึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายเช่นกัน

2.       กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ

               คือ  มิได้ทำขึ้นเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้โดยเฉพาะ  หรือออกมาเพื่อกิจการอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ        แต่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป  และทุกสถานที่โดยเสมอภาค

3.       กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป  คือ  เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว  ต้องใช้กฎหมายนั้นไปจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่สำหรับเรื่องเดียวกันนั้นออกมา  และให้ยกเลิกกฎหมายเก่าอันนั้นเสีย

4         กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม  ข้อบังคับดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทำการก็ได้  ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในทางอาญา

5         กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ  ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง

สภาพบังคับในทางอาญา  คือ  “โทษ”  นั่นเอง  ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี  5  ชนิด  โดยเรียง         จากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด  ได้แก่  1  ประหารชีวิต   2  จำคุก    3  กักขัง    4  ปรับ   5  ริบทรัพย์สิน

–  สภาพบังคับในทางแพ่ง  หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น  คือ  การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน  ได้แก่  การคืนทรัพย์  การชดใช้ราคาแทนทรัพย์  และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

 

ข้อ  2  สภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อใด  และสิ้นสุดลงเมื่อใด  จงอธิบาย  และยกตัวอย่างถึงสิทธิของบุคคลที่ได้จากการเกิดมา  2  ตัวอย่าง

ธงคำตอบ 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  15  วรรคแรก  มีหลักกฎหมายว่า  สภาพบุคคลย่อมเมื่อแต่แรกคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย  

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นว่า  สภาพบุคคลนั้นย่อมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคลอดและมีการอยู่รอดเป็นทารกนั่นเอง  หรืออาจแยกเป็นองค์ประกอบได้ว่า  การเริ่มต้นมีสภาพบุคคล  (ของบุคคลธรรมดา)  นั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ  2  ประการคือ

1         มีการคลอด  ซึ่งการคลอดนั้นคือการที่ทารกได้พ้นออกมาจากช่องคลอด  โดยไม่มีอวัยวะส่วนใดเหลือติดอยู่  ส่วนจะมีการตัดสายสะดือ(รก) หรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ  (ในกรณีที่มีการผ่าท้องเอาทารกออกมาตามหลักวิชาแพทย์  ก็ถือว่าเป็นการคลอดตามความหมายนี้เช่นกัน)

2         มีการอยู่รอดเป็นทารก  คือ  ต้องปรากฏว่าทารกที่คลอดออกมานั้นมีการหายใจแล้วด้วย  จึงจะถือได้ว่าทารกนั้นมีสภาพบุคคลแล้ว  ซึ่งการหายใจของทารกนั้นอาจจะเป็นการหายใจด้วยตนเองหรือการช่วยเหลือของแพทย์ก็ได้  และไม่ว่าการหายใจนั้นจะมีระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม  ก็จัดได้ว่ามีการอยู่รอดเป็นทารกและมีสภาพบุคคลแล้ว

แต่ถ้าทารกที่คลอดออกมาไม่มีการหายใจ  คือ  ได้ตายไปก่อนแล้ว ซึ่งอาจจะตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  หรือตายในคณะคลอดก็ตาม ดังนั้นทารกนั้นย่อมไม่มีสภาพบุคคลและไม่มีสิทธิใดๆตามกฎหมายทั้งสิ้น

สำหรับตัวอย่างสิทธิที่ได้จากการเกิดมีสภาพบุคคล  เช่น

1         การเป็นทายาทโดยชอบธรรมในฐานะผู้สืบสันดานในการรับมรดก

2         การได้สัญชาติไทย

3         การใช้นามสกุลของบิดา

4         การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา

5         สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย

ฯลฯ

 

ข้อ  3  ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักเกณฑ์การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  32  มีหลักกฎหมายว่า  “บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หรือติดสุรายาเมา  หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น  จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครับ  เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา  28  ร้องขอต่อศาล  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง  ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ  บรรพ  5  แห่งประมวลกฎหมายนี้

ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ  5  แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลมาตรานี้  ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจากมาตรา  32  วรรคแรก  มีดังต่อไปนี้ คือ

1         ต้องมีเหตุบกพร่อง  กรณีที่จะถือว่าเป็น  “เหตุบกพร่อง”  นั้น  อาจจะเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1)     กายพิการ  คือ  ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ขาดไปหรือไม่สมประกอบ  ซึ่งอาจจะเกิดแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้  เช่น ตาบอด  หูหนวก  เป็นใบ้  ขาแขนขาด  หรือเป็นอัมพาตง่อยเปลี๊ยเสียขา  เป็นต้น

(2)     จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  คือ  จิตใจไม่ปกติ  เป็นโรคจิตแต่ไม่ถึงกับวิกลจิต คือ  มีเวลาที่รู้สึกตัว  มีสติรู้สึกผิดชอบธรรมดา  แต่บางครั้งก็เลอะเลือนไปบ้าง

(3)     ประพฤติสุลุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หมายถึง  คนที่มีนิสัยใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไม่มีประโยชน์เกินกว่ารายได้ที่ได้รับและเป็นอาจิณคือเป็นประจำ

(4)     เป็นคนติดสุรายาเมา  คือ  คนที่เสพสุรา  หรือของมึนเมาต่างๆ  เมื่อเสพไปแล้ว  ก็ต้องเสพเป็นนิจ  ซึ่งขาดเสียมิได้

(5)     เหตุอื่นใดทำนองเดียวกันกับข้อ (1) – (4)  เช่น  พวกหลงใหลในสิ่งของต่างๆหรือเป็นโรคประจำตัวจนไม่สามารถทำการงานของตนเองหรือจัดการเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เป็นต้น

2.       บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เพราะเหตุบกพร่องนั้น  เช่น  นายดำเป็นอัมพาตอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถทำการงานของตนเองได้  เช่นนี้นายดำอาจถูกร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้  แต่อย่างไรก็ตามถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า  แม้นายดำจะเป็นอัมพาต  แต่นายดำก็สามารถขายล็อตเตอรี่หาเลี้ยงครอบครัวได้  เช่นนี้นายดำยังสามารถจัดทำการงานของตนได้  จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้เป็นต้น

2         ผู้มีส่วนได้เสีย  (บุคคลตามที่ระบุในมาตรา  28  )  ได้แก่  สามี  ภริยา  บุพการี  ผู้สืบสันดานหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล  ศาลอาจจะ สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์ขึ้นมาดูแลตราบ ใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  บุคคลนั้นก็ยังไม่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นอย่างบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป  และเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  การเป็นคนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง  ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

“ช่องว่างของกฎหมาย”  เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น  โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้   

กล่าวคือ  ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

อนึ่ง…สำหรับกฎหมายอาญานั้น  แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ  ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้  แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล  หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.       เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.       เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.       เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.       เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.       เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1         พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2         พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3         พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4         กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2  นายไข่และนางไก่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายไก่มีงานอดิเรกคือขับเครื่องบินขนาดเล็กในวันที่  1  มกราคม  2550  นายไก่ได้ไปขับเครื่องบินจากโคราชจะกลับกรุงเทพฯ  ในวันนี้เองเครื่องบินที่นายไก่ขับหายไปจากจอเรดาร์ของศูนย์ควบคุมการบินในช่วงที่นายไก่ขับบินผ่านเขาใหญ่

ในวันที่  3  มกราคม  2550  นางไข่ซึ่งเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่งเดินทางกลับมาประเทศไทย  และได้รับข่าวเครื่องบินที่สามีขับสูญหายไปที่เขาใหญ่  นางไข่จึงได้ติดตามค้นหาสามีร่วมกับทางราชการซึ่งค้นหามาตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้วจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครพบเห็นนายไก่และเครื่องบิน  และไม่มีใครได้รับข่าวจากนายไก่เลย

1)       นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)       ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใดจงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ในวันที่ 1  มกราคม  2550  ขณะที่นายไก่ขับเครื่องบินขนาดเล็กจากโคราชจะกลับกรุงเทพฯ  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  เครื่องบินที่นายไก่ขับหายไปจากจอเรดาร์ของศูนย์ควบคุมการบินในช่วงที่นายไก่ขับบินผ่านเขาใหญ่  จากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเครื่องบินและไม่มีใครได้รับข่าวคราวจากนายไก่อีกเลย  เห็นว่าเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ

ศาลจะสั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  จะต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1         ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2         ติดต่อกันเป็นเวลา  2  ปี  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป  โดยไม่มีใครพบเห็นตัว หรือไม่มีใครได้รับข่าวคราว

3         ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4         ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

1)       นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงายอัยการ  เมื่อนางไข่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้

2)       นางไข่จะร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด  เห็นว่า  กรณีของนายไก่นั้น เป็นกรณีสาบสูญพิเศษอันมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี นับแต่นายไก่สูญหายไปกับยานพาหนะที่โดยสารไปมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย  ดังนั้นนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  2  มกราคม  2552  ตามมาตรา  61 วรรคสอง(2)

สรุป  1) นางไข่ร้องขอต่อศาลได้เพราะนางไข่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย

2)       นางไข่จะร้องขอต่อศาลได้ในวันที่  2  มกราคม  2552  ตามมาตรา  61 วรรคสอง(2)



ข้อ  3
  มดจิ๋วอายุย่างเข้า  15  ปี  ต้องการทำนิติกรรมดังต่อไปนี้ให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  จึงมาปรึกษาท่านว่าต้องทำอย่างไร  จงอธิบาย
1)       ถอนเงินส่วนตัวจากธนาคารซื้อรถยนต์ราคา  2  ล้านบาท

2)       ทำพินัยกรรมยกเงินสดจำนวน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด

3)       สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง โครงการ  พรีดีกรี

4)       คุณตามดจิ๋วจะให้เงินมดจิ๋วเป็นทุนการศึกษา  10  ล้านบาท

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะเว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  22  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง  หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง

มาตรา  24  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนแล้เป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามควร

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1)       มดจิ๋วต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  จึงจะซื้อรถยนต์ได้โดยสมบูรณ์ตามมาตรา  21

2)       มดจิ๋วต้องรอให้อายุครบ  15 ปีบริบูรณ์เสียก่อนจึงจะทำพินัยกรรมได้  ถ้าทำขณะนี้อายุยังไม่ครบผลก็จะเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  25  ประกอบมาตรา  1703

3)       มดจิ๋วสามารถสมัครเรียนได้เลยเพราะเป็นการทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามมาตรา  24

4)       มดจิ๋วสามารถรับเงินที่คุณตาให้เป็นทุนการศึกษา  10  ล้านบาท  ได้โดยลำพังและสมบูรณ์เพราะเป็นการได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด  ตามมาตรา  22

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

บุคคลสิทธิ  คือ  สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล  มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สิน  ซึ่งในกฎหมายลักษณะหนี้  เรียกว่า  “สิทธิเรียกร้อง”  สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่จะบังคับเอากับลุกหนี้  ทายาท  หรือผู้สืบสิทธิของลูกหนี้เท่านั้น

ทรัพยสิทธิ  คือ  สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  หรือ  สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง  เช่น  กรรมสิทธิ์  สิทธิครอบครอง  สิทธิอาศัย  ภาระจำยอม  ลิขสิทธิ์  สิทธิในเครื่องหมายการค้า  เป็นต้น

ข้อแตกต่างระหว่างสิทธิและทรัพยสิทธิ  มีดังนี้

ก)      ทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  ส่วนบุคคลสิทธิมีวัตถุแห่งมิทธิที่เกิดจากนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายลักษณะหนี้  กล่าวคือ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยการกระทำการ  งดเว้น  กระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้

ข)      ทรัพยสิทธิเกิดขึ้นโดยผลแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย  ส่วนบุคคลสิทธิเกิดสิทธิขึ้นโดยผลของนิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุ

ค)      ทรัพยสิทธิใช้ยันหรือก่อให้เกิดหน้าที่กับบุคคลทั่วไป  ส่วนบุคคลสิทธิใช้ยันหรือก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลที่เป็นลูกหนี้เท่านั้น

ง)       ทรัพย์ สิทธิที่เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างถาวรไม่สิ้นสุดลงไปเพราะการไม่ใช้สิทธินั้น ส่วนบุคคลสิทธิย่อมสิ้นไปเพราะการไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาหรืออายุความที่ กฎหมายกำหนด

 

ข้อ  2  นายไก่และนาไข่ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  คือ  นายดำและนายแดง  ปิดเทอมภาคฤดูร้อนนายแดงได้ไปบำเพ็ญประโยชน์ออกค่ายสร้างโรงเรียนกับชมรมรักถิ่นเกิดจังหวัดชุมพร  ในวันที่  1  เมษายน  2549  เกิดพายุโคลนถล่มหมู่บ้านซึ่งนายดำ  นายแดง  และเพื่อนๆไปออกค่ายมีคนสูญหายและตายไปหลายคนในวันเกิดเหตุนั้นเอง  นายดำได้โทรศัพท์มาแจ้งบิดามารดาทราบว่า  นายแดงน้องชายได้หายไป  แต่นายไก่และนางไข่ไม่อยู่บ้าน  จึงไม่ทราบข่าว ในวันที่  5  เมษายน  2549  จึงทราบข่าว  ติดต่อกับนายดำได้เพิ่งจะทราบว่านายแดงหายตัวไปกับโคลนถล่ม  ตั้งแต่วันที่  1  เมษายน  หลังจากนั้นนายไก่และนางไข่ก็ไม่ได้รับข่าวคราวจากนายดำและนายแดงอีกเลย

1)       นายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายดำและนายแดงเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่เพราะเหตุใด

2)       ถ้าได้  นายไก่และนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตร  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีของนายแดง

ตามอุทาหรณ์  นายดำพี่ชายของนายแดง  ซึ่งร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย  ได้โทรศัพท์มาแจ้งให้นายไก่และนางไข่ซึ่งเป็นบิดามารดาทราบว่านายแดงน้องชายหายไป  ในวันที่  1  มกราคม  2549  แต่ทั้งสองไม่อยู่บ้าน  จึงไม่ทราบข่าวในวันนั้น  เพิ่งมาทราบข่าวจากนายดำเมื่อวันที่  5  เมษายน  2549  ว่านายแดงหายไปในเหตุการณ์โคลนถล่ม  ตั้งแต่วันที่  1  เมษายนต์  2549  หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวของนายดำและนายแดงอีกเลย  ดังนี้ถือว่า  เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  ตามมาตรา  61  วรรคสอง  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1         ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2         ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเห๖การณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1) – (3)

3         ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4         ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

นายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้

ส่วนจะร้องขอต่อศาลได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  เมื่อเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี นับแต่วันที่โคลนถล่มมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย  ดังนั้นนายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  2  เมษายน  2551  ตามมาตรา  61  วรรคสอง(3)

กรณีของนายดำ

ตามอุทาหรณ์  ในวันที่ 5  เมษายน  2549  นายไข่และนางไก่ยังสามารถติดต่อกับนายดำได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับข่าวคราวนายดำอีกเลย  ดังนี้ไม่ถือว่านายดำอยู่ในเหตุอันตรายแก่ชีวิต  แต่เป็นเหตุที่นายดำหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครทราบแน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เป็นกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก  มิใช่การสาบสูญกรณีพิเศษเช่นเดียวกับนายแดง

นายไก่และนางไข่ไม่สามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายดำเป็นคนสาบสูญได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและจะร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  5  ปี นับแต่วันที่นายดำหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครพบตัวหรือได้รับข่าวคราวเลยกล่าวคือ  ครบ  5  ปีในวันที่  5 เมษายน  2554  จึงร้องขอได้ในวันที่  6  เมษายน  2554

สรุป    1 )  นายไก่และนางไข่ร้องขอได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะบิดามารดา

2 )   กรณีนายแดง  ร้องขอได้ในวันที่  2  เมษายน  2551

กรณีนายดำ  ร้องขอได้ในวันที่  6  เมษายน  2554


ข้อ  3
  บุคคลต่อไปนี้ทำนิติกรรม   ดังกล่าวต่อไปนี้  จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร1)     นายไก่อายุ  15  ปีบริบูรณ์ถอนเงินส่วนตัวจำนวน  1  ล้านบาท  ซื้อรถยนต์  1  คันจากนายไข่  โดย      ลำพัง

2)    นายไก่อายุ  20  ปีบริบูรณ์  คนเสมือนไร้ความสามารถ ให้เพื่อนชาวฝรั่งเศสยืมเครื่องบินเล็กมูลค่า  12     ล้านบาทไปใช้ในระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย  โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้พิทักษ์

3)       นายไก่อายุ  20  ปี บริบูรณ์ คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลงให้แก่มูลนิธิหญิงชราโดยได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาล

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3)     กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

มาตรา  1704  วรรคแรก  พินัยกรรม ซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1)       เป็นโมฆะ  เพราะผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  หากฝ่าฝืน  ผลทางกฎหมายคือ  เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  21

2)       คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆย่อมสมบูรณ์  เว้นแต่การทำนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  34  ซึ่งจำกัดไว้  11  ประการ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะสมบูรณ์  การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเครื่องบินเล็กมูลค่า  12  ล้านบาท  อันเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  ไม่ใช่การยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่าตามมาตรา  34 (3)  นิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จึงมีผลสมบูรณ์

3)       โดยหลักกฎหมายแล้ว  คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นตามมาตรา  29  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม  เว้นแต่การทำพินัยกรรม  ซึ่งจะมีผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1704  วรรคแรก  ดังนั้นพินัยกรรมที่นายไก่ทำขึ้นมาจึงตกเป็นโมฆะ

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บ่อเกิดของกฎหมายเอกชนได้แก่อะไรบ้าง  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายเอกชนมีดังนี้  คือ

1  ศีลธรรม  เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ  มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ  และติดต่อกันเป็นเวลานาน  ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด  

เช่น  การที่สามีมีภริยาหลายคน  ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย  เช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว  จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก  หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  ผลคือตกเป็นโมฆะ  เป็นต้น 

2  จารีตประเพณี  คือ  ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน  โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์  เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา  ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา  หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)     เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน  หรือธรรมเนียม

(2)     ประชาชนเห็นต้องกันว่า  จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และจะต้องปฏิบัติตาม

ตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย  เช่น  จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้  และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

3  ศาสนา  คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น  เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ  มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน  เช่น  ข้อห้ามในศีล  5  ของศาสนาพุทธ  อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม  ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า  การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้  เป็นต้น

 ความยุติธรรม  ในทางนิติปรัชญา  กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม  การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า  อิควิตี้ (Equity)  มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย  ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น  ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น  มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น  การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น  ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้  หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย   แต่ต้องการตัวบ้าน  ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา  ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้  ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา  นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้  โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  คือ  ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้  เป็นต้น   

5  คำพิพากษาของศาล  ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law )  เช่น  อังกฤษ  มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน  จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ไทย  ฯลฯ  จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

6  ความคิดเห็นของปราชญ์  ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี  นักวิชาการ  หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย  หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้  ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้

ตัวอย่างเช่น  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า  การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง  ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา  น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา  ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย  เป็นต้น

7  ข้อตกลงระหว่างประเทศ  เมื่อประเทศต่างๆ  มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว  ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว

 

ข้อ  2  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายไก่เดินทางไปธุระที่จังหวัดปัตตานีตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2548  หลังจากนั้นนางไข่ภริยาก็ไม่ได้รับข่าวคราว  และไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย

(1)  นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

(2)  ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี

เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1         ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2         ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเห๖การณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1) – (3)

3         ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4         ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ถ้าบุคคลใดหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือไม่มีใครได้รับข่างคราวประการใดเลย  เป็นเวลาติดต่อกันตามที่กฎหมายกำหนด  ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

(1)     นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็น

1         ผู้มีส่วนได้เสีย  ผู้มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่างๆ  เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  เช่น  คู่สมรส  บิดามารดาหรือญาติพี่น้องรวมทั้งหุ้นส่วนด้วย  เป็นต้น  หรือ

2         พนักงานอัยการ

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะคู่สมรส  นางไข่  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้

(2)  ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใด  เห็นว่า  การที่นายไก่เดินทางไปธุระที่จังหวัดปัตตานีตั้งแต่วันที่  1  มกราคม 2548  หลังจากนั้นนางไข่กริยาก็ไม่ได้รับข่าวคราวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย  จึงเป็นกรณีที่นายไก่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่านายไก่นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เป็นกรณีการสาบสูญธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก  ดังนั้นหากนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งนายไก่เป็นคนสาบสูญจะต้องร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  5  ปี  นับแต่นายไก่  ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่

กรณีตามอุทาหรณ์นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในวันที่  1  มกราคม  2548  โดยไม่มีใครทราบข่าวคราว  ระยะเวลา  5  ปีตามมาตรา  61  วรรคแรก  จึงครบกำหนดในวันที่  1  มกราคม  2553  ดังนั้นนางไข่จึงสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  2  มกราคม  2553

สรุป   1 )    นางไข่ร้องขอต่อศาลได้เพราะนางไข่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย

2)       นางไข่จะร้องต่อศาลได้ในวันที่  2  มกราคม  2553  ตามมาตรา  61  วรรคแรก

 

ข้อ  3  เป็ดอายุย่างเข้า  15  ปี  ต้องการทำนิติกรรมดังต่อไปนี้  ให้นักศึกษาอธิบายว่าทำได้หรือไม่  และจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด

(2)   ถอนเงินส่วนตัวจากบัญชีฝากประจำธนาคารออมสินจะไปซื้อรถยนต์ราคา  6  แสนบาท

(3)  สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรี  (Pre –  degree)

(4)  ฟ้องให้นายห่านซึ่งเป็นบิดาโดยพฤตินัยรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  23  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว

มาตรา  24  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1556  การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์  ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์  ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน  ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม  หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้  ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์  เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1)  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด

ตามมาตรา  25  นั้นผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ  15  ปีบริบูรณ์  หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลย  ตามมาตรา  1703  ดังนั้นการที่เป็ดผู้เยาว์อายุย่างเข้า  15  ปี ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด  เป็ดจึงไม่สามารถทำได้ตามมาตรา  25  พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1703

2)  ถอนเงินส่วนตัวจากบัญชีฝากประจำธนาคารออมสินจะไปซื้อรถยนต์ราคา  6  แสนบาท

นิติกรรมใดๆก็ตามถ้ามิได้เข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้  ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  ดังนั้นในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเพื่อจะไปซื้อรถนั้น  เป็ดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  21

3)  สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรี (Pre – degree)

ในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้เยาว์สามารถ ทำนิติกรรมใดๆได้เองแล้ว  ผู้เยาว์ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนแต่อย่างใด  สำหรับการสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง  หลักสูตรพรีดีกรีนั้น เป็นการทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามมาตรา  24  ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง  โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

4)  ฟ้องให้นายห่านซึ่งเป็นบิดาโดยพฤตินัยรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

โดยหลักแล้ว  การฟ้องให้บิดาโดยพฤตินัย (บิดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา)  รับผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น   ถือเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองเฉพาะตัว  โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชองธรรมก่อน  ตามาตรา  23  แต่อย่างไรก็ตาม  กฎหมายก็ได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิของผู้เยาว์ไว้อีกในมาตรา  1556  ว่าผู้เยาว์นั้นต้องอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้นที่จะสามารถฟ้องคดีนี้ได้เอง  ถ้าผู้เยาว์ยังมีอายุไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องแทน  หรือถ้าผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม  หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้  ญาติสนิทของผู้เยาว์หรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ก็ได้  ดังนั้นเป็ดจึงไม่สามารถฟ้องให้นายห่านรับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้  ตามมาตรา  1556  แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้เฉพาะตัวตามมาตรา  23  ก็ตาม

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  3  ข้อ

ข้อ  1.      จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยละเอียดและครบถ้วน

ธงคำตอบ
 “ช่องว่างของกฎหมาย”  เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเองในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น  โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้  กล่าวคือ  ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

อนึ่ง…สำหรับกฎหมายอาญานั้น  แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ  ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้  แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล  หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.     เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.     เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.     เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.     เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.     เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1       พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2       พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3       พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4       กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2.      นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือนายหนึ่ง วันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่และนางไข่ไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างทางการเดินทางกลับภูเก็ตเรือเจอพายุอับปาง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 5 มกราคม 2550 นายไก่โทรมาหานายหนึ่งว่าติดเกาะ เล็ก ๆ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นนายหนึ่งก็ไม่ได้รับข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่และนางไข่อีกเลย

1)  นายหนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

2)  ถ้าได้นายหนึ่งจะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใดจงอธิบาย 

ธงคำตอบ

มาตรา  61  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์วันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่และนางไข่ไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างทางการเดินทางกลับภูเก็ตเรือเจอพายุอับปาง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ใน วันที่ 5 มกราคม 2550 นายไก่โทรมาหานายหนึ่งว่าติดเกาะ เล็ก ๆ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นนายหนึ่งก็ไม่ได้รับข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่และนางไข่อีก เลย  เห็นว่ากรณีของนางไข่เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  ในกรณีนายไก่เป็นกรณีธรรมดาศาลจะสั่งให้นางไข่เป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  จะต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2       ติดต่อกันเป็นเวลา  2  ปี  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป  โดยไม่มีใครพบเห็นตัว  หรือไม่มีใครได้รับข่าวคราว

3       ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4       ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

1)  หนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงายอัยการ  ดังนั้นหนึ่งจึงสามารถร้องขอได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมคือ เป็นผู้สืบสันดาน

2) ในกรณีนายไก่เป็นกรณีธรรมดา จะครบกำหนด 5 ปี  ในวันที่  5 มกราคม 2555 ดังนั้น หนึ่งจึงไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2555

ส่วนนางไข่นั้นอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการตายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นกรณีพิเศษอันมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่นางไข่สูญหายไปกับยานพาหนะที่โดยสารไปมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย  หนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นางไข่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  ครบ 2 ปี  1 มกราคม 2552 ไปศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2552

 

ข้อ  3.      บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1)  นายไก่คนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนายห่านผู้อนุบาลให้สมรสกับนางไข่ซึ่งมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์เท่ากัน การสมรสมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2)  นายดินคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายน้ำในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายน้ำไม่ทราบว่านายดินวิกลจริต สัญญาซื้อขายโทรทัศน์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3)  นายลมคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง 2 เชือก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ การให้ยืมมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

4)  เด็กชายเพชรรับเงินจากเศรษฐีใจบุญนั่งแจกเงินคนจนกลางสนามหลวงมา 20,000 บาท การรับการแจกเงินมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา 22  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง

มาตรา 29  “การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30  “การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

มาตรา 1449  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต  หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

วินิจฉัย

1) โดยหลักกฎหมายแล้ว คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นดังนั้นการสมรส ผลจึงตกเป็นเป็นโมฆะ (มาตรา 29, 1499)

2)  คนวิกลจริตซื้อโทรทัศน์ขณะกำลังวิกลจริต แต่ผู้ขายไม่ทราบว่าวิกลจริต ผลของสัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ (มาตรา 30)

3) คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ผลเป็นโมฆียะ (มาตรา 34(3))

4)  ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง ถ้าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไข เด็กชายเพชรสามารถรับเงินจากเศรษฐีใจบุญได้ และมีผลสมบูรณ์  (มาตรา 22)

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายถึงบ่อเกิดของกฎหมายเอกชนของไทยว่าได้แก่อะไรบ้าง  พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายเอกชนไทยมีดังนี้  คือ

1  ศีลธรรม  เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ

มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ  และติดต่อกันเป็นเวลานาน  

ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด  เช่น  การที่สามีมีภริยาหลายคน  ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย  เช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว  จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก  หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  ผลคือตกเป็นโมฆะ  เป็นต้น     

2  จารีตประเพณี  คือ  ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน  โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์  เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา  ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา  หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)   เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน  หรือธรรมเนียม

(2)   ประชาชนเห็นต้องกันว่า  จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และจะต้องปฏิบัติตามตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย  เช่น  จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้  และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

3  ศาสนา  คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น  เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ  มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน  เช่น  ข้อห้ามในศีล  5  ของศาสนาพุทธ  อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม  ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า  การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้  เป็นต้น

4  ความยุติธรรม  ในทางนิติปรัชญา  กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม  การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า  อิควิตี้ (Equity)  มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย  ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น  ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น  มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น  การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น  ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้  หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย   แต่ต้องการตัวบ้าน  ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา  ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้  ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา  นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้  โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  คือ  ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้  เป็นต้น

5  คำพิพากษาของศาล  ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law )  เช่น  อังกฤษ  มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน  จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ไทย  ฯลฯ  จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

6  ความคิดเห็นของปราชญ์  ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี  นักวิชาการ  หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย  หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้  ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้

ตัวอย่างเช่น  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า  การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง  ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา  น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา  ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย  เป็นต้น

7  ข้อตกลงระหว่างประเทศ  เมื่อประเทศต่างๆ  มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว  ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว

 

ข้อ  2  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ในวันที่ 1  มกราคม  2550  นายไก่ซึ่งมีอาชีพเป็นกัปตันเรือสำราญฟ้าสีครามได้ออกเรือเพื่อไปเกาะกง  ในวันนั้นเองระหว่างเดินทางเกิดพายุเรืออับปาง  ทำให้มีคนบาดเจ็บ  ล้มตาย  สูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ในวันที่  15  มกราคม  2550  นางไข่ได้รับโทรศัพท์จากนายไก่เล่าว่าพลัดไปติดเกาะของประเทศเพื่อนบ้านแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน  หลังจากวันนั้นนางไข่และใครๆก็ไม่พบเห็นตัวและไม่ได้รับข่าวจากนายไก่อีกเลย

1)    นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    การหายไปของนายไก่เป็นการสาบสูญในกรณีใด  จะครบกำหนดเมื่อใด  และนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1        ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2        ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1)  (3)

3        ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4        ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ถ้าบุคคลใดหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือไม่มีใครได้รับข่างคราวประการใดเลย  เป็นเวลาติดต่อกันตามที่กฎหมายกำหนด  ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์

1       นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  บุคคลที่จะร้องขอต่อศาลให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นพนักงานอัยการ  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางไข่จึงมีฐานะเป็นคู่สมรสอันถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งนายไก่สามีเป็นคนสาบสูญได้2       กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  ตามมาตรา  61  วรรคสอง  ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จ จริงแม้จะเป็นเรื่องที่นายไก่เดินทางไปกับเรือซึ่งเป็นยานพาหนะที่บุคคลนั้น เดินทางแล้วเรือเกิดอับปางลงแต่นายไก่ก็มิได้หายไปเพราะเหตุที่เรืออับปาง ดังกล่าว  เพราะข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าในวันที่  15  มกราคม  2550  นายไก่ยังสามารถติดต่อกับนางไข่ได้อยู่  ดังนั้นการที่นายไก่หายไปจึงเป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก

เมื่อเป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  การนับระยะเวลาจึงต้องนับจากวันที่บุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หรือนับจากวันที่ได้ข่าวคราวของบุคคลนั้นเป็นครั้งหลังสุด  ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  15  มกราคม  2550  นางไข่ยังสามารถติดต่อกับนายไก่ได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นหรือได้รับข่าวคราวของนายไก่อีกเลย  ระยะเวลา  5  ปี  จึงต้องนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป  กรณีนี้จึงครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  15  มกราคม  2555

ดังนั้น  หากนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญ  นางไข่จึงร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  16  มกราคม  2555  เป็นต้นไป

สรุป

1       นางไข่ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

2       เป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  จะครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  15  มกราคม  2555  นางไข่จึงไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  16  มกราคม  2555  เป็นต้นไป

 

ข้อ  3  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  เพราะเหตุใด

1)    ขาว  อายุย่างเข้า  15  ปี  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านบาทให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา  เมื่อตนถึงแก่ความตาย  พินัยกรรมที่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2)    นายเขียวคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางเหลืองผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ราคา  4  หมื่นบาทจากร้านนายแดง  สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3)    แสดคนวิกลจริตซื้อรถยนต์จากม่วงในขณะกำลังวิกลจริต  แต่ม่วงไม่ทราบว่าแสดวิกลจริต  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1       ตามมาตรา  25  นั้น  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ  15  ปีบริบูรณ์  หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมเลย  ตามมาตรา  1703  ดังนั้นการที่ขาวผู้เยาว์อายุย่าง  15  ปี  ทำพินัยกรรมยกเงิน  1  ล้านให้มูลนิธิชัยพัฒนาเมื่อตนถึงแก่ความตาย  ขาวจึงไม่สามารถทำได้  ตามมาตรา  25  พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1703

2       คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น  ต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน  การที่นายเขียวคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางเหลืองผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ราคา  4  หมื่นบาท  จากร้านของนายแดง  สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงย่อมตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29  แม้ผู้อนุบาลจะให้ความยินยอมหรืออนุญาตก็ตาม3       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพราะนิติกรรมใดๆที่บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นในกรณีนี้  แม้แสดคนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะทำสัญญาซื้อรถยนต์จากม่วงในขณะจริตวิกลอยู่ก็ตาม  แต่เมื่อม่วงซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่าแสดเป็นคนวิกลจริต  สัญญาซื้อขายรถยนต์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกำหมาย  ไม่เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  30  แต่อย่างใด

สรุป

1       พินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ

2       สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเขียวและนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ

3       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างแสดและม่วงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

ช่องว่างของกฎหมาย  เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น  โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้   

กล่าวคือ  ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า

เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

อนึ่ง  สำหรับกฎหมายอาญานั้น  แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ  ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้  แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล  หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.      เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.      เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.      เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.      เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.      เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1        พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2        พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3        พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4        กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2

1)    ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาและกรณีพิเศษ  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง  จงอธิบาย

2)    นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายไก่เดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน  ในวันที่  10  สิงหาคม  2550  เกิดพายุหยกทำให้บ้านเรือนเสียหายมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  11  สิงหาคม  2550  นายไก่โทรศัพท์มาหานางไข่  เล่าให้นางไข่ฟังว่าตนรอดพ้นภัยพิบัติอย่างหวุดหวิด  หลังจากนั้นนางไข่ก็ไม่ได้ข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย

1       นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

2       เป็นการสาบสูญกรณีใด  วันครบกำหนดเมื่อใด  และนางไข่เริ่มจะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ

(1) หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตร  61  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

อธิบาย

ในการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา  ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และ

(2) ไม่ได้รับข่าวคราวหรือไม่มีใครพบเห็นตัว  หรือไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

(3) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี

(4) ผู้มีส่วนได้เสีย  เช่น  สามี  ภริยา  บิดามารดา  ผู้สืบสันดาน  ฯลฯ  หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

(5) ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ  (ตามมาตรา  61  วรรคแรก)

ส่วนกรณีพิเศษนั้น  กำหนดระยะเวลาลดเหลือ 2 ปี นับแต่

(1) วันมีการรบ  หรือสงครามสิ้นสุดลง  หรือ

(2) วันที่ยานพาหนะซึ่งบุคคลนั้นโดยสารไปเกิดอุบัติเหตุ  อับปาง ฯลฯ

(3) หรือเหตุอื่นๆนอกจากกรณี  1) หรือ 2)  และมีการตายเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่พบตัว หรือได้รับข่าวคราว

2)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตร  61  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

(1) นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็น

1       ผู้มีส่วนได้เสีย  คือ  ผู้มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่างๆ  เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  เช่น  คู่สมรส  บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง  รวมทั้งหุ้นส่วนด้วย  เป็นต้น  หรือ

2       พนักงานอัยการ

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะคู่สมรส  นางไข่  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้

(2) ตามอุทาหรณ์  ภายหลังจากวันที่พายุหยก  ในวันที่  11  สิงหาคม  2550  นางขายังสามารถติดต่อกับนายไก่ได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับข่าวคราวนายไก่อีกเลย  ดังนี้  จึงไม่ถือว่านายไก่อยู่ในเหตุอันตรายแก่ชีวิต  แต่เป็นเหตุที่นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครทราบแน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เป็นกรณีสาบสูญธรรมดาตามมาตรา  61  วรรคแรก  มิใช่การสาบสูญกรณีพิเศษ

สำหรับวันครบกำหนดนั้น  นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยติดต่อกับนางไข่ภริยาครั้งล่าสุดในวันที่  11  สิงหาคม  2550  และไม่มีใครรู้แน่ว่านายไก่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  กรณีเป็นการสาบสูญธรรมดาระยะเวลาต้องติดต่อกัน  5  ปี  นับตั้งแต่วันที่  11  สิงหาคม  2550  ตามมาตรา  61  วรรคแรก  ดังนั้นจึงครบกำหนดในวันที่  11  สิงหาคม  2555

และนางไข่จะเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  12  สิงหาคม  2555  เป็นต้นไป

สรุป

(1) นางไข่ไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

(2) เป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา  ครบกำหนดวันที่  11  สิงหาคม  2555  และนางไข่เริ่มจะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  12  สิงหาคม  2555  เป็นต้นไป

 

ข้อ  3  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมต่างๆ  จะมีผลอย่างไร

1)    นายใสอายุ  18  ปีบริบูรณ์ทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยลำพังจากนายดำ  สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2)    นายสุกคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางสุขผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายแดง  สัญญาซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายสุกและนายแดงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3)    นายแสงคนวิกลจริตไปซื้อโทรศัพท์มือถือมูลค่า  2  หมื่นบาทจากร้านนางสีในขณะกำลังวิกลจริต  และนางสีก็ทราบดีว่านายแสงวิกลจริต  สัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือระหว่างนายแสงและนางสีมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

วินิจฉัย

1)    สัญญาซื้อขายรถยนต์เป็นโมฆียะ  เพราะผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  หากฝ่าฝืน  ผลทางกฎหมาย  คือ  เป็นโมฆียะตามมาตรา  21  ทั้งกรณีนี้ก็มิใช่นิติกรรมที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยลำพัง  คือมิใช่นิติกรรมที่เป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิหรือหลุดพ้นจากหน้าที่  หรือที่ต้องทำเองเฉพาะตัว  หรือที่เป็นการสมแก่ฐานานุรูปหรือจำเป็นในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด

2)    โดยหลักแล้ว  คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น  ตามมาตรา  29  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม  เว้นแต่การทำพินัยกรรม  ซึ่งจะมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  1704  วรรคแรก  ดังนั้น  การที่นายสุกคนไร้ความสามารถไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายแดง  ย่อมตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29  ทั้งนี้  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม

3)    ตามมาตรา  30  การทำนิติกรรมของคนวิกลจริตจะมีผลเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ 

1       ได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นมีอาการจริตวิกล

2       คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริตซึ่งการที่นิติกรรมนี้จะมีผลเป็นโมฆียะจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขหรือองค์ประกอบทั้ง  2  ข้อดังกล่าว  จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้  เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  ในขณะที่นายแสงคนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อโทรศัพท์มือถือก็เป็นขณะที่กำลังวิกลจริตอยู่  ทั้งนางสีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็ทราบดีว่านายแสงวิกลจริต  ดังนั้น  เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง  2  ข้อ  สัญญาซ้อขายโทรศัพท์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  30

สรุป

1)    ผลของสัญญาเป็นโมฆะ  เพราะขาดความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

2)    ผลของสัญญาเป็นโมฆะ  เพราะคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆไม่ได้เลย  ฝ่าฝืนเป็นโมฆียะ  ผู้อนุบาลต้องทำแทน

3)    ผลของสัญญาเป็นโมฆะ  เพราะทำนิติกรรมขณะกำลังวิกลจริต  และคู่สัญญาก็ทราบดีว่าวิกลจริต

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002  หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายหลักในการใช้และตีความกฎหมายแพ่ง  หรือกฎหมายเอกชน  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4  วรรคแรก กฎหมายนั้น  ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร  หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ 

อธิบาย

กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเอกชน  เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน  ดังนั้น  หลักในการใช้และการตีความกฎหมายแพ่งจึงต้องใช้หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคแรก  ที่บัญญัติว่า  กฎหมายนั้น  ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร  หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ

ดังนั้น  การตีความกฎหมายแพ่งจึงใช้ทั้งตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมๆกัน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่างเช่น  กฎหมายลักษณะมรดก  มาตรา  1627  บัญญัติว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคำว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน  กล่าวคือ  ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย  เช่น  การจดทะเบียนรับรองบุตร  หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง  

ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย  เช่น  การที่บิดาให้ใช้นามสกุล  อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน  และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย  หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น  หมายถึง  บุตรตามความเป็นจริง  กล่าวคือ  แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมายแต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 ข้อ  2  นายจอก  นางจิก  เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นายเจี๊ยบ  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายจอกและนายเจี๊ยบไปเที่ยวทะเลที่จังหวัดตรัง  ในวันนั้นเอง  เรือที่พ่อลูกโดยสารไปเจอพายุ  เรือล่ม  มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  วันที่  5  มกราคม  2550  พบศพนายเจี๊ยบ  แต่ไม่มีใครพบเห็นตัว  หรือได้รับข่าวจากนายจอกเลย

1)    นางจิก  จะร้องขอให้นายจอกและนายเจี๊ยบ  เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่
2)    เป็นคนสาบสูญกรณีใด  และครบกำหนดเมื่อใด  วันเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเป็นวันใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  15  วรรคแรก  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1        ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2        ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา นับจากวันที่บุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  หรือกรณีพิเศษ  ติดต่อกันเป็นเวลา  2  ปีนับแต่(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

3        ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4        ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญกรณีตามอุทาหรณ์

1)    นางจิกจะร้องขอให้นายจอกและนายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่าตามกฎหมายบุคคลที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นพนักงานอัยการ

กรณีนายจอก  เมื่อนางจิกและนายจอกเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางจิกจึงมีฐานะเป็นคู่สมรสอันถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายจอกสามีเป็นคนสาบสูญได้

กรณีนายเจี๊ยบ  เมื่อได้ความว่า  ภายหลังจากที่เจอพายุ  เรือล่ม  ได้พบศพนายเจี๊ยบแล้ว  กรณีจึงถือว่านายเจี๊ยบได้สิ้นสุดสภาพบุคคล  คือ  ตายแล้วตามมาตรา  15  นางจิกจึงร้องขอให้นายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญไม่ได้

2)    เมื่อได้ความว่า  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายจอกได้ไปเที่ยวทะเลที่จังหวัดตรัง  ระหว่างเดินทางเรือที่นายจอกโดยสารเจอพายุเรือล่ม  มีคนบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่มีใครพบเห็นตัวหรือได้รับข่าวหรือได้รับการติดต่อจากนายจอกอีกเลย  กรณีจึงถือว่านายจอกได้หายไปจากถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  นับแต่วันที่เรือซึ่งเป็นยานพาหนะที่นายจอกนั้นเดินทางอับปาง  อันเป็นเรื่องของการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง  (2)

สำหรับวันครบกำหนด  เมื่อเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง  เมื่อปรากฏว่าเรือเจอพายุอับปางในวันที่  1  มกราคม  2550  วันที่ครบกำหนด  2  ปี  คือวันที่  1  มกราคม  2552  และเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  2  มกราคม  2552  เป็นต้นไป

สรุป

1)    นางจิกร้องขอให้นายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญไม่ได้  แต่ร้องขอให้นายจอกเป็นคนสาบสูญได้

2)    เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  วันครบกำหนด คือ  วันที่  1  มกราคม  2552  และเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  2  มกราคม  2552  เป็นต้นไป

 

ข้อ  3  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1)    ไก่อายุ  18  ปีบริบูรณ์  ถอนเงินส่วนตัว  6  แสนบาทเพื่อไปซื้อรถยนต์  1  คัน  มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้นิติกรรมที่ทำขึ้นสมบูรณ์

2)    ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมแหวนไปใช้ในงานแต่งงานโดยลำพัง  การให้ยืมแหวนเพชร  มีผลอย่างไร

3)    ขวดคนไร้ความสามารถ  ได้รับอนุญาตจากนางขิมผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายดำ  มูลค่า  4  หมื่นบาท

4)    นางขิงคนวิกลจริตไปซื้อตู้เย็นจากนายข่าในขณะกำลังวิกลจริต  แต่นายข่าไม่ทราบว่านางขิงวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3)   กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่าวินิจฉัย

1)    ตามมาตรา  21  นั้น  กฎหมายได้วางหลักไว้ว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ได้ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะ  เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

ตามปัญหา  การที่ไก่ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ถอนเงินส่วนตัว  6  แสนบาท  เพื่อไปซื้อรถยนต์นั้น  เมื่อนิติกรรมซื้อขายรถยนต์  ไม่ใช่นิติกรรมที่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง  เพราะไม่ใช่นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  ดังนั้นถ้าจะให้นิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์  ไก่จะต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน  จึงจะทำนิติกรรมนั้นได้

2)    โดยทั่วไป  คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา  34  ที่คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา  การที่ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ให้เพื่อนยืมแหวนเพชรโดยลำพังคือ  โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น  เมื่อการให้ยืมแหวนเพชรเป็นนิติกรรมที่ไม่เข้าข้อยกเว้นของมาตรา  34(3)  เพราะไม่ใช่การให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า  (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอน  ต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่)  ดังนั้น  ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถจึงสามารถทำได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

3)    ตามมาตรา  29  กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆทั้งสิ้น  ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม  ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม  นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา  การที่ขวดคนไร้ความสามารถไปทำนิติกรรมโดยการไปซื้อโทรทัศน์จากร้านของนายดำ  ดังนี้แม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของขวดคนไร้ความสามารถจะได้รับอนุญาต  คือได้รับความยินยอมจากนางขิมผู้อนุบาลก็ตาม  นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆียะ

4)    โดยหลักของมาตรา  30  คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา  การที่นางขิงคนวิกลจริตได้ไปซื้อตู้เย็นจากนายข่าในขณะกำลังวิกลจริต  แต่เมื่อนายข่าไม่ทราบว่านางขิงเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายตู้เย็นระหว่างนางขิงและนายข่าจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1)    ไก่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ที่ทำขึ้นจึงจะมีผลสมบูรณ์

2)    นิติกรรมการให้ยืมแหวนเพชรมีผลสมบูรณ์

3)    นิติกรรมการซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างขวดกับนายดำมีผลเป็นโมฆียะ

4)    นิติกรรมการซื้อขายตู้เย็นระหว่างนางขิงกับนายข่ามีผลสมบูรณ์

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ช่องว่างแห่งกฎหมายคืออะไร  เกิดขึ้นได้อย่างไร  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้ว่าอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย  หมายถึง  กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้  กล่าวคือ  ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อมาใช้ปรับแก่กรณีไม่พบ

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมาย  อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากในขณะที่ร่างกฎหมายนั้น  ผู้ร่างกฎหมายไม่คาดคิดว่าจะมีกรณีนั้นๆเกิดขึ้นมา  จึงไม่ได้บัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์  หรือกรณีนั้นๆเอาไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ  ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนความเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีผลทำให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรก้าวไม่ทันความเจริญ ก้าวหน้าในด้านต่างๆ  จึงเกิดเป็นช่องว่างแห่งกฎหมายขึ้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า

เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.      เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.      เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.      เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.      เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.      เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1        พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2        พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3        พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4        กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2  นิติกรรมของผู้เยาว์ในกรณีดังต่อไปนี้มีผลอย่างไร  (ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบทุกข้อ)

(1) นายโชคอายุ  18  ปี  สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้  บิดาของนายโชคมอบเงินรางวัลให้นายโชค  20,000  บาท  พร้อมกับสั่งให้นายโชคไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  (laptop)  เพื่อมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา  แทนที่นายโชคจะนำเงินรางวัลไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วตามที่บิดาสั่ง  นายโชคกลับนำเงิน  20,000  บาท  ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดในราคา  20,000  บาท  จากร้านของนายทองดี  อยากทราบว่า  นิติกรรมที่นายโชคทำไปมีผลอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  26  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์เพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้  ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร  อนึ่ง  ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด  ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายโชคอายุ  18  ปี  ซึ่งเป็นผู้เยาว์  ได้รับรางวัลเป็นเงิน  20,000 บาท  จากบิดา  เพื่อให้ไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  เป็นอุปกรณ์การศึกษา  ซึ่งถ้าหากนายโชคนำเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว  นิติกรรมการซื้อคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วย่อมสมบูรณ์  ตามมาตรา  26

แต่ตามข้อเท็จจริง  ปรากฏว่านายโชคกลับนำเงินทั้ง  20,000  บาท  ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด  จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของบิดานายโชค  ซึ่งเท่ากับเป็นการทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของบิดานายโชค  ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม  ดังนั้น  นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายโชคซึ่งเป็นผู้เยาว์ย่อมเป็นโมฆียะตามมาตรา  21

สรุป  นิติกรรมการซื้อโทรศัพท์มือถือของนายโชคมีผลเป็นโมฆียะ 

(2) เด็กชายสุรินทร์  อายุ  14  ปี  ได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากจากมารดาของตนเอง  แต่เด็กชายสุรินทร์ป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย  เด็กชายสุรินทร์จึงปรึกษากับนายบุรีรัมย์บิดาว่าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดรพี่ชายของตนเอง  ซึ่งนายบุรีรัมย์ก็เห็นชอบด้วย  เด็กชายสุรินทร์จึงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดร  อยากทราบว่าพินัยกรรมของเด็กชายสุรินทร์มีผลเป็นอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

โดยหลัก  ผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์ตามมาตรา  25  ซึ่งถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมในขณะที่อายุยังไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  พินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  1703

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อเด็กชายสุรินทร์อายุ  14  ปี  ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำพินัยกรรมได้  เมื่อเด็กชายสุรินทร์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้นายอุดรพี่ชายของตนเอง  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม  พินัยกรรมที่เด็กชายสุรินทร์ทำขึ้นมานั้นจึงเป็นโมฆะตามมาตรา  1703

สรุป  พินัยกรรมของเด็กชายสุรินทร์มีผลเป็นโมฆะ 

 

ข้อ  3  นายผดุงเดินทางไปเที่ยวเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ขณะโดยสารเรือข้ามไปเกาะสมุย  บังเอิญเกิดพายุโซนร้อนอย่างร้ายแรง  เป็นเหตุให้เรือที่นายผดุงโดยสารไปนั้นอับปางลง  นายผดุงได้หายไปพร้อมกับผู้โดยสารอื่น  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2550  จนถึงปัจจุบัน  (26  พฤษภาคม  2553)  ยังไม่ทราบข่าวคราวว่านายผดุงเป็นตายร้ายดีอย่างไร  อยากทราบว่า

(1) ใครเป็นผู้สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้บ้าง

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีปกติหรือกรณีพิเศษ

(3) จะมีการร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้เมื่อใด  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(1) ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญ  ได้แก่

1.ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งหมายถึง  ผู้ที่มีสิทธิ  หรือได้รับสิทธิต่างๆขึ้น  เนื่องจากศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  เช่น  ทายาท  คู่สมรส

2. พนักงายอัยการ

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษ  เนื่องจากนายผดุงได้สูญหายไปเพราะยานพาหนะที่ใช้เดินทาง  คือ  เรือนั้นได้อับปางลงตามมาตรา  61  วรรคสอง(2)

(3) เมื่อการสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง (2)  ดังนั้นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่เรือซึ่งนายผดุงโดยสารไปนั้นได้อับปางลง  คือ  สามารถร้องขอได้ในวันที่  2  มกราคม  2552

สรุป

(1) ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญ  ได้แก่  ผู้มีส่วนได้เสียและพนักงานอัยการ

(2) การสาบสูญของนายผดุงเป็นกรณีพิเศษ

(3) ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งให้นายผดุงเป็นคนสาบสูญได้  ในวันที่  2  มกราคม  2552 

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  กฎหมายคืออะไร  และต้องมีลักษณะเช่นใด  อธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมาย  คือ  ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อกันภายในองค์กรทางสังคมที่มนุษย์เป็นสมาชิกสังกัดอยู่  นอกจากนี้กฎหมายยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับองค์กรทางสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่และในหมู่ประเทศที่มีอารยะด้วย  ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น  สำหรับกฎหมายในส่วนนี้ได้แก่  กฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง

สำหรับสิ่งที่เป็นกฎหมายต้องมีลักษณะ  ดังนี้

1       กฎหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์  คือ  มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศในการตรากฎหมาย

2       กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป  คือ  กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว  ย่อมมีผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ  อย่างเสมอภาค  ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี  เช่น  ในกรณีของทูต  หรือกงสุลที่เข้ามาในประเทศไทย  เป็นต้น 

3       กฎหมายต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก  คือ  เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว  ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก  กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับอยู่เสมอ  ซึ่งการยกเลิกกฎหมายอาจเป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติของกฎหมายนั้นเอง  หรือมีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า  หรือมีการยกเลิกโดยปริยาย  เมื่อกฎหมายเก่าขัดกับกฎหมายใหม่

4       กฎหมายนั้นประชาชนจำต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องละเว้นกระทำการก็ได้  ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ

5       กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ  ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในอาญาและในทางแพ่ง

 –  สภาพบังคับในทางอาญา  คือ  โทษ  นั่นเอง  ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี  5  ชนิด  โดยเรียงจากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด  ได้แก่  1  ประหารชีวิต  2  จำคุก  3  กักขัง  4  ปรับ  5  ริบทรัพย์สิน

–   สภาพบังคับในทางแพ่ง  หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น  คือ  การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน  ได้แก่  การคืนทรัพย์  การชดใช้ราคาแทนทรัพย์  และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย 

 

 ข้อ  2  นายสุจริตและนางซื่อสัตย์  เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ได้ออกเดินทางจาก กทม.  เพื่อไปเที่ยวกับเพื่อนๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัยในวันที่  28  ก.ค.  2553  ต่อมาในตอนบ่ายของวันที่  31  ก.ค.  2553  ขณะที่นายสุจริตและนางซื่อสัตย์ไปเที่ยวที่น้ำตกวังตะไคร้กับเพื่อนๆอย่างสนุกสนานอยู่นั้น  เกิดน้ำป่าไหลหลากพัดพาคนทั้งสองและเพื่อนๆไปกับกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากทั้งหมด  และในวันที่  31  ก.ค.  2553  ตอนเย็นได้มีผู้พบศพนางซื่อสัตย์  แต่ไม่มีใครพบเห็นหรือได้ข่าวของนายสุจริตอีกเลย

อยากทราบว่า  นายคนดีบุตรชายนายสุจริตและนางซื่อสัตย์  จะไปร้องขอให้บุคคลทั้งสองเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และเมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสุจริตได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น  ถือเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง(3)  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายคนดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุจริตและนางซื่อสัตย์  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้นายสุจริตเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษ  จึงมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไป  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและนายสุจริตได้สูญหายไปในวันที่  31  กรกฎาคม  2553  จึงครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  31  กรกฎาคม  2555  ดังนั้นนายคนดีจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในวันที่  1  สิงหาคม  2555  ตามมาตรา  61  วรรคสอง (3)

ส่วนกรณีของนางซื่อสัตย์นั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในวันที่  31  กรกฎาคม  2553  ได้มีผู้พบศพแล้ว  จึงเป็นการสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายธรรมดา  นายคนดีจึงไม่สามารถจะไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นางซื่อสัตย์เป็นคนสาบสูญได้

สรุป  นายคนดีร้องขอให้ศาลสั่งให้นายสุจริตเป็นคนสาบสูญได้  โดยร้องขอได้ในวันที่  1  สิงหาคม  2555  เป็นต้นไป  แต่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นางซื่อสัตย์เป็นคนสาบสูญไม่ได้

 

ข้อ  3  นายไก่ลูกมหาเศรษฐีแห่งประเทศไทย  นำเงินส่วนตัวไปซื้อรถยนต์มา  1  คัน  มูลค่า  5  ล้านบาท  ในขณะนั้นอายุ  18  ปีบริบูรณ์  ต่อมามารดาร้องขอต่อศาลให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  เพราะจิตฟั่นเฟือน  ศาลตั้งมารดาเป็นผู้พิทักษ์  นายไก่ให้เพื่อนยืมลูกช้างไปแสดงโชว์ฝรั่ง  4  เชือกโดยลำพัง  ต่อมานายไก่ป่วยหนักขึ้นถึงขั้นวิกลจริต  ไปซื้อที่ดินจากนายขวดขณะกำลังวิกลจริต  แต่นายขวดไม่ทราบว่าวิกลจริต  ต่อมาศาลสั่งให้นายไก่เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งมารดาเป็นผู้อนุบาล  ผู้อนุบาลอนุญาตให้นายไก่ไปซื้อลูกสุนัขพันธุ์ดีมูลค่า  5  แสนบาท  1  ตัว  จากนายเขียวมาเลี้ยง

สัญญาซื้อขายรถยนต์  ให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือก  สัญญาซื้อขายที่ดิน  และสัญญาซื้อลูกสุนัข  ซึ่งนายไก่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  จงอธิบาย 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1       สัญญาซื้อขายรถยนต์

โดยหลัก  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  21  เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังและมีผลสมบูรณ์ 

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่นำเงินส่วนตัวไปซื้อรถยนต์นั้น  ไม่ถือเป็นนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์จะได้ไปซึ่งสิทธิหรือเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อนายไก่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  สัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  21

2       สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือก

โดยหลัก  คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างตามมาตรา  34  ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกช้างนั้นเป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น  ไม่ใช่กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า  (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่)  ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา  34(3)  ดังนั้นถึงแม้นายไก่จะให้เพื่อนยืมลูกช้างโดยลำพัง  กล่าวคือ  ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือกดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

3       สัญญาซื้อขายที่ดิน

โดยหลัก  นิติกรรมใดๆที่คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้นมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะที่จริตวิกล  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต  ตามมาตรา  30

ตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านายไก่คนวิกลจริตได้ไปซื้อที่ดินจากนายขวดในขณะกำลังวิกลจริต  แต่เมื่อนายขวดคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบว่านายไก่เป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินจึงมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

4       สัญญาซื้อลูกสุนัข

โดยหลัก  คนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมใดๆได้  ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน  ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม  ถึงแม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล  นิติกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่คนไร้ความสามารถไปซื้อลูกสุนัขพันธุ์ดีจากนายเขียว  แม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้อนุบาล  สัญญาซื้อลูกสุนัขดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1)    สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

2)    สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือกมีผลสมบูรณ์

3)    สัญญาซื้อขายที่ดินมีผลสมบูรณ์

4)    สัญญาซื้อลูกสุนัขมีผลเป็นโมฆียะ

WordPress Ads
error: Content is protected !!