LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2554 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน

ข้อ  1  นายโฉดทราบว่านายธรรมต้องการเช่าพระสมเด็จวัดกระดิ่งองค์หนึ่ง  จึงบอกกับนายธรรมว่า  นายเฉยมีพระองค์ที่นายธรรมต้องการเช่า  และตนสามารถนัดหมายให้นายเฉยมาพบกับนายธรรมเพื่อทำสัญญาเช่าพระดังกล่าวได้  แต่แท้จริงแล้วนายโฉดทราบว่าพระที่นายเฉยเป็นเจ้าของเป็นพระที่ทำขึ้นเลียนแบบพระสมเด็จวัดกระดิ่งเท่านั้น

นายธรรมได้ไปติดต่อขอดูพระของนายเฉยแล้วเห็นว่าเป็นพระที่สวยงาม  เชื่อว่าเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง  จึงเช่ามาในราคา  1  ล้านบาท  โดยนายเฉยไม่ทราบว่านายโฉดบอกกับนายธรรมว่าพระของตนเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง  ต่อมา  นายธรรมทราบว่าพระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง  แต่เป็นพระเลียนแบบ  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  157  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน  เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง  ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ  ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา  159  การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง  จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก  การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายธรรมได้ทำนิติกรรมโดยการทำสัญญาเช่าพระกับนายเฉย  เพราะหลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นายโฉดกล่าวอ้างว่าพระของนายเฉยเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง  จึงถือว่านายธรรมได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล  และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว  นายธรรมก็คงจะมิได้ทำสัญญาเช่าพระองค์นั้น  ตามมาตรา  159  วรรคแรกและวรรคสอง

และตามอุทาหรณ์เมื่อกลฉ้อฉลนั้น  เป็นกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก  ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ  ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย  ตามมาตรา  159  วรรคสาม  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายเฉยไม่ทราบถึงกลฉ้อฉลดังกล่าว  ดังนั้นสัญญาเช่าพระระหว่างนายธรรมกับนายเฉยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉล

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อต่อมานายธรรมทราบว่า  พระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง  แต่เป็นพระเลียนแบบ  ซึ่งถ้าตนได้ทราบตั้งแต่แรกก็คงจะไม่ทำสัญญาเช่าพระองค์นี้แน่นอน  ดังนั้นนายธรรมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน  ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม  นิติกรรมในรูปของสัญญาเช่าพระดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา  157

สรุป  สัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ  เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา  157

 


ข้อ  2  จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  176  วรรคสาม  บัญญัติว่า  “ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ  เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”  ถามว่า  ท่านเข้าใจว่าอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

ตามบทบัญญัติมาตรา  176  วรรคสองดังกล่าว  แยกพิจารณาได้ดังนี้

(ก)  คำว่า  บุคคลใด ในมาตรา  176  วรรคสองนี้  นอกจากหมายความถึงคู่กรณีแห่งนิติกรรมฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทนแล้ว  ยังหมายความรวมถึงบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่นิติกรรมตกเป็นโมฆียะด้วย

(ข)   มาตรา  176  วรรคสอง  เป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาเกี่ยวกับ  “ดอกผล”  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรมซึ่งมีผลทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม  หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะต้องคืนเกิดดอกผลมา  ดอกผลนั้นจะตกเป็นของฝ่ายใด  ตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้กรรมสิทธิ์ในดอกผล  ซึ่งตาม  ป.พ.พ. มาตรา  415  บัญญัติว่า

“บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต  ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่”

ดังนั้นถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยไม่รู้และไม่ควรจะได้รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  “สุจริต”  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

แต่ถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยรู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  “ไม่สุจริต”  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

สำหรับบุคคลภายนอกนั้น  กฎหมายได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกไว้ในมาตรา  1329  กล่าวคือ  ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น  สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมมิเสียไป  ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ  และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

 


ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  มีนาคม  2543  นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์เป็นจำนวนเงิน  
200,000  บาท  มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่  10  มีนาคม  2544  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  นายจันทร์ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมาจนกระทั่งวันที่  5  มกราคม  2554  นายจันทร์ได้เขียนหนังสือไปทวงเงินดังกล่าวจากนายอาทิตย์  ต่อมาวันที่  9  กุมภาพันธ์  2554  

นายอาทิตย์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เป็นเงินจำนวน  5,000  บาท  แต่หลังจากนั้นนายอาทิตย์ก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย  นายจันทร์จึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  6  มีนาคม  2555  นายอาทิตย์ต่อสู้ว่า  คดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่  10  มีนาคม  2554  แต่นายจันทร์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  9  กุมภาพันธ์  2554  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์เป็นเงินจำนวน  200,000  บาท  โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่  10  มีนาคม  2544  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  อายุความจึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่  11  มีนาคม  2544  และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ  จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา  193/30  คืออายุความ  10  ปีมาใช้บังคับ  ดังนั้นกรณีนี้อายุความ  10  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  10  มีนาคม  2544

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  9  กุมภาพันธ์  2554  นายอาทิตย์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เป็นจำนวน  5,000  บาท  การกระทำของนายอาทิตย์ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/14(1)  ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  9  กุมภาพันธ์  2554  และให้เริ่มต้นนับอายุความใหม่อีก  10  ปี  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/15  ดังนั้นอายุความ  10  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  9  กุมภาพันธ์  2564  เมื่อนายจันทร์นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  6  มีนาคม  2555  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ที่ว่า  คดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่  10  มีนาคม  2554  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ที่ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4

(ก)    คำเสนอคืออะไร  การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)   เมื่อวันที่  1  มีนาคม  2555  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา  ราคา  500,000  บาท  โดยมิได้รู้ว่าถ้านายจันทร์ต้องการซื้อม้าแข่งดังกล่าว  นายจันทร์ต้องตอบให้นายอาทิตย์ทราบภายในเมื่อใด  ต่อมาอีกสามวันนายอาทิตย์เปลี่ยนใจไม่ต้องการขายม้าแข่งตัวนั้น  นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าวได้หรือไม่  เมื่อใด  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

(ก)  คำเสนอ  คือ  นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด  และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้นการแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2) มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที 

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  355  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น  ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา  โดยมิได้บ่งระยะเวลาสำหรับทำคำสนอง  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  355  นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองหาได้ไม่

ซึ่ง  “เวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง”  นั้น  จะเป็นเวลานานเท่าใดพิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายอาทิตย์กับนายจันทร์  กล่าวคือ  ตามปกติการส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายม้าแข่งจากจังหวัดชลบุรีไปยังผู้รับซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมานั้นจะใช้เวลาประมาณ  3  วัน  ให้เวลานายจันทร์คิดตรึกตรองตัดสินใจ  1  วัน  หากนายจันทร์ตัดสินใจซื้อม้าแข่งก็จะส่งจดหมายทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อม้าแข่งนั้นไปยังนายอาทิตย์จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ  3  วัน  รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำสนองในกรณีนี้  คือ  ประมาณ  7  วัน  นับแต่วันที่นายอาทิตย์เสนอขายม้าไปยังนายจันทร์

ดังนั้น  ในกรณีนี้นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าวได้ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาประมาณ  7 วัน  นับแต่วันที่นายอาทิตย์ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งไปยังนายจันทร์  นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอนายม้าแข่งดังกล่าวเมื่อส่งจดหมายเสนอขายม้าไปยังนายจันทร์เพียง  3  วันไม่ได้

สรุป  นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าว  เมื่อส่งจดหมายเสนอขายม้าไปยังนายจันทร์เพียง  3  วันไม่ได้

LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2554 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ  1  นายบัวขาวเป็นชายหนุ่มได้อยู่กินกับนางบัวบาน  ซึ่งเป็นหม้ายอายุแก่กว่าประมาณ  20  กว่าปี  ต่อมานายบัวขาวแนะนำนางบัวบานให้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่นายบัวขาวหลอกๆ  เพื่อป้องกันมิให้บุตรของนางบัวบานที่เกิดจากสามีเดิมมาเอาที่ดินนั้นไป  เมื่อทั้งสองปรึกษาหารือกันแล้ว  นางบัวบานจึงขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายบัวขาวในราคา  3  ล้านบาท

โดยในสัญญาระบุว่านางบัวบานได้รับเงินครบถ้วนแล้ว  ทั้งที่ความจริงนายบัวขาวไม่ได้จ่ายเงินค่าที่ดินแปลงนั้นให้แก่นางบัวบานเลย  ต่อมานายบัวขาวได้เล่าความจริงต่างๆที่เกิดขึ้นให้นายโมหะน้องชายของตนฟัง  ทำให้นายโมหะอยากได้ที่ดินแปลงนั้นมาก  นายโมหะก็เลยอ้อนวอนขอที่ดินแปลงนั้นจากนายบัวขาว

นายบัวขาวจึงจำใจยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายโมหะ  ต่อมานายบัวขาวรู้สึกเสียดายที่ดินแปลงนั้น  นายบัวขาวจึงไปทวงที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะ  โดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้ที่ดินแปลงนั้นแก่นายโมหะจริงๆ  นายโมหะไม่ยอมคืน  ดังนี้  นายบัวขาวหรือนางบัวบานจะสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคแรก  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น  จะมีผลตามมาตรา  155  วรรคแรก  คือ  ตกเป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กฎหมายมาตรา  155  วรรคแรก  ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอก  โดยห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงนั้นขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก  ซึ่งเป็นผู้

(1)  กระทำการโดยสุจริต

(2) ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายบัวขาวและนางบัวบานได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายบัวขาวซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนางบัวบานนั้น  การแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวและนางบัวบานย่อมตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  155  วรรคแรกตอนต้น  จึงมีผลทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงเป็นของนางบัวบานตามเดิม

และการที่นายบัวขาวได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายโมหะนั้น  แม้ว่านายโมหะจะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กรณีที่บุคคลภายนอกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น  บุคคลภายนอกจะต้องได้กระทำการโดยสุจริต  และต้องได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นด้วย  ตามมาตรา  155  วรรคแรกตอนท้าย  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  นายโมหะกระทำการโดยไม่สุจริต  คือ  ได้รับมอบที่ดินแปลงนั้นจากนายบัวขาวโดยทราบถึงการแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวกับนางบัวบาน  และนายโมหะก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น  เพราะนายโมหะรับมอบที่ดินจากนายบัวขาวโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด  นายโมหะจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  ดังนั้น  นางบัวบานเจ้าของที่ดินจึงสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้

ส่วนกรณีของนายบัวขาวนั้น  เมื่อการแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวกับนางบัวบานตกเป็นโมฆะแล้ว  นายบัวขาวย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว  และไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะ

สรุป  นางบัวบานจะสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้

 

ข้อ  2  นายแดงได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากนายดำ  1  แปลง  จำนวน  5  ไร่  โดยได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้รวมที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน  จึงทำให้เนื้อที่ดินขาดหายไปประมาณ  50  ตารางวา  นายแดงจึงไปทวงเงินค่าที่ดินคืนจากนายดำ

แต่นายดำไม่ยอมคืนให้  จึงเป็นเหตุทำให้นายแดงเข้าใจว่านายดำหลอกลวงตนโดยเอาที่ดินสาธารณะมาขายให้บางส่วน  นายแดงจึงพูดขู่นายดำว่า  หากไม่คืนเงินจะฟ้องให้นายดำติดคุกติดตะราง  นายดำกลัวติดคุกจึงยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้  ยอมรับจะใช้เงินที่ขาดคืนแก่นายแดง  ดังนี้  อยากทราบว่า  หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำมีผลใช้บังคับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ 

มาตรา  164  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ 

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้น

ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  164    แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น   การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงเข้าใจว่านายดำหลอกลวงตนโดยเอาที่ดินสาธารณะมาขายให้บางส่วน  จึงพูดขู่นายดำว่า  หากไม่คืนเงินจะฟ้องให้นายดำติดคุกติดตะราง  จนทำให้นายดำกลัวและยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้นั้น  แม้จะเป็นการข่มขู่  แต่ก็เป็นกรณีที่นายแดงกระทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม  หาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะแต่อย่างใดไม่  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ดังนั้น  หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด  (ฎ. 5334/2533)

สรุป   หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำมีผลใช้บังคับได้

 

ข้อ  3  นายแดงกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  พนักงานอัยการได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล  เมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  2551  เวลา  14.00  น.  ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายแดงมีกำหนดระยะเวลา  1  ปี

นายแดงถามเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าตนเองจะพ้นโทษเมื่อใด  เจ้าหน้าที่เรือนจำได้บอกกับนายแดงว่า  “นายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่  15  พฤศจิกายน  2552”  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกแก่นายแดงถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายแดงจะออกจากเรือนจำเมื่อใด  จงอธิบาย

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  21  บัญญัติว่า  “ในการคำนวณระยะเวลาจำคุกให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย  และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง” 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 193/1 “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบ ข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น

มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน  ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น 

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำ การงานกันตามประเพณี

มาตรา 193/5  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน 

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

วินิจฉัย

โดยหลักทั่วไป  วิธีการนับระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ให้ใช้บังคับแก่การนับระยะเวลาทั้งปวงในกิจการต่างๆ  ของบุคคลทุกเรื่อง  แต่มีข้อยกเว้นว่าวิธีการนับระยะเวลาดังกล่าว  ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่มีกฎหมาย  คำสั่งศาล  ระเบียบข้อบังคับ  หรือนิติกรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายแดงมีกำหนดระยะเวลา  1  ปี  ในวันที่  15  พฤศจิกายน  2551  นั้น  ระยะเวลาของโทษจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าว  ถือเป็นการกำหนดระยะเวลาเป็นปี  ซึ่งโดยหลักแล้ว  กฎหมายมาตรา  193/3  วรรคสอง  กำหนดไว้ว่า  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  21  กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า  การนับระยะเวลาจำคุกนั้น  ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย  และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง  ดังนั้นการเริ่มนับระยะเวลาในกรณีนี้  จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  21  ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะคือ  ต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน  2551  เป็นต้นไป 

และเมื่อปรากฏว่าวันที่  15  พฤศจิกายน  2551  ซึ่งเป็นวันเริ่มนับ  มิใช่วันต้นแห่งปี  (วันที่  1  มกราคม  2551)  เพราะฉะนั้นกำหนดระยะเวลา  1  ปี  ย่อมจะสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้า  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ซึ่งก็คือวันที่  14  พฤศจิกายน  2552  ตามมาตรา  193/5  วรรคสอง  ดังนั้นโทษจำคุก  1  ปี  ที่นายแดงได้รับจึงครบกำหนดในวันที่  14  พฤศจิกายน  2552  และนายแดงจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่  15  พฤศจิกายน  2552  (จะได้รับการปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตาม  ปอ.  มาตรา  21  วรรคสาม)  ดังนั้นถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกกับนายแดงว่า  นายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่  15  พฤศจิกายน  2552  จึงถูกต้องตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกแก่นายแดงถูกต้อง  และนายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่  15  พฤศจิกายน  2552

 


ข้อ  4  เมื่อวันที่  5  กรกฎาคม  2553  นายสมพงษ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนให้แก่นายสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา  ราคา  
1,000,000  บาท  โดยกำหนดไปในจดหมายด้วยว่าหากนายสมบูรณ์จะซื้อ  ต้องส่งจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงนายสมพงษ์ภายในวันที่  25  กรกฎาคม  2553  นายสมบูรณ์ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งตัวนั้นตามราคาที่นายสมพงษ์เสนอ  แต่จดหมายมาถึงนายสมพงษ์ในวันที่  31  กรกฎาคม  2553  หากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์  ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  10  กรกฎาคม  2553  เช่นนี้ จะมีผลในกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ 

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  จดหมายคำสนองตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์ไปถึงนายสมพงษ์ในวันที่  31  กรกฎาคม  2553 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมพงษ์กำหนดไว้  6  วัน  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์  ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนายสมบูรณ์ว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  10  กรกฎาคม  2553  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึงนายสมพงษ์ภายใน  3  วัน  หรือ  5  วันเป็นอย่างช้า  คือมาถึงทันภายในวันที่  25  กรกฎาคม  2553  ซึ่งนายสมพงษ์กำหนดไปในคำเสนอ 

ดังนั้น  คำสนองของนายสมบูรณ์จึงเป็นคำสนองที่มาถึงผู้เสนอเนิ่นช้า  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ถูกส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงผู้เสนอภายในเวลากำหนด  ซึ่งจะมีผลในกฎหมายตามมาตรา  358  ดังนี้

  1. นายสมพงษ์ผู้เสนอมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คือนายสมบูรณ์ผู้สนอง  โดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่นายสมพงษ์ผู้เสนอจะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว 
  1.  ถ้านายสมพงษ์ผู้เสนอปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองล่วงเวลา
  1. แต่ถ้านายสมพงษ์ผู้เสนอละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายม้าแข่งระหว่างนายสมพงษ์กับนายสมบูรณ์เกิดขึ้น 

สรุป  จดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์จะมีผลในกฎหมายเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่านายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา  358  หรือไม่

LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา 2555 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน) 

ข้อ  1

(ก)   ในกรณีมีการแสดงเจตนาทำนิติกรรม  หลังจากผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี  ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินแปลงหนึ่งพร้อมบ้านหนึ่งหลังของตน ที่จังหวัดสระบุรีให้แก่นางจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีในราคาสองล้าน บาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  3  วัน  นายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  นางจันทร์ได้ทราบข่าวว่านายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  

แต่อยากได้ที่ดินและบ้านที่นายอาทิตย์เสนอขาย  นางจันทร์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อที่ดินและบ้านส่งไปให้นายอาทิตย์  ณ  ที่อยู่ของนายอาทิตย์  กรณีปรากฏว่านายอังคารบุตรของนายอาทิตย์ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายอาทิตย์ได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้  สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้าน  ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

(ก)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย  จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า  ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรม  ผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถตามหลักทั่วไปในมาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไปตามตัวบุคคลผู้แสดงเจตนา  เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว  การแสดงเจตนานั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  169  วรรคแรก

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติของ  ป.พ.พ.  มาตรา  360  นั้น  ข้อความที่ว่า  “ผู้เสนอ … ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”  จะต้องตีความในความหมายอย่างกว้าง  กล่าวคือ  ให้หมายความทั้งกรณีที่ผู้เสนอถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และกรณีที่ผู้เสนอถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถด้วย 

ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี  ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินแปลงหนึ่งพร้อมบ้านหนึ่งหลังของตนให้แก่นางจันทร์  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  และปรากฏว่าก่อนที่นางจันทร์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อที่ดินและขายบ้านของนายอาทิตย์นั้น  นางจันทร์ได้รู้อยู่แล้วว่านายอาทิตย์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำมาตรา  169  วรรคสอง  มาใช้บังคับ  จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินและบ้านของนายอาทิตย์เป็นอันเสื่อมเสียไป  คือถือว่าไม่มีการแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินและบ้านของนายอาทิตย์นั่นเอง

และเมื่อถือว่ากรณีดังกล่าวไม่มีคำเสนอของนายอาทิตย์  มีแต่เพียงคำสนองของนางจันทร์  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์จึงไม่เกิดขึ้น 

สรุป  สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์  ไม่เกิดขึ้นตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ  2  นาย  ก  เป็นหนี้เงินกู้ยืมนาย  ข  จำนวน  
500,000  บาท  เมื่อครบกำหนดชำระคืน  นาย  ก  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงขู่นาย  ก  ว่า  ถ้าไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้  หรือไม่หาทรัพย์มาเป็นประกัน  จะฟ้องเรียกเงินกู้ยืมนั้นต่อศาล  ด้วยความกลัว  นาย  ก  จึงนำแหวนเพชรวงหนึ่งมาส่งมอบให้แก่นาย  ข  ต่อมานาย  ก  ได้มาปรึกษาท่านว่าจะใช้สิทธิบอกล้างโดยอ้างว่าการส่งมอบแหวนเพชรเป็นหลักประกันนั้นเป็นเพราะการข่มขู่ของนาย  ข

ให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นาย  ก  โดยอ้างหลักกฎหมายประกอบคำปรึกษานั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  164  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้น

ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  164    แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น   การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  เป็นหนี้เงินกู้ยืม  นาย  ข  จำนวน  500,000  บาท  เมื่อครบกำหนดชำระคืน  นาย  ก  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงขู่นาย  ก  ว่า  ถ้าไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่หาทรัพย์มาเป็นประกัน  นาย  ข  จะฟ้องเรียกเงินกู้ยืมนั้นต่อศาล  ด้วยความกลัว  นาย  ก  จึงนำแหวนเพชรวงหนึ่งมาส่งมอบให้แก่นาย  ข  นั้น  แม้ว่าการแสดงเจตนาของนาย  ก  จะเป็นการแสดงเจตนาเนื่องจากถูกนาย  ข  ขู่ก็ตาม  แต่เมื่อการขู่ของนาย  ข  นั้น  เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย  และเป็นการใช้สิทธิซึ่งนาย  ข  มีสิทธิจะฟ้องนาย  ก  ต่อศาลได้อยู่แล้ว  ดังนั้นการขู่ของนาย  ข  จึงไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้การแสดงเจตนาของนาย  ก  เป็นโมฆียะแต่อย่างใด  นาย  ก  จะใช้สิทธิบอกล้าง  โดยอ้างว่า  การส่งมอบแหวนเพชรเป็นหลักประกัน  เป็นการแสดงเจตนาที่เป็นโมฆียะเนื่องจากการข่มขู่ของนาย  ข  ไม่ได้

สรุป  เมื่อนาย  ก  มาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นาย  ก  ว่า  นาย  ก  ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาจำนำแต่อย่างใด  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2552  นางดวงจันทร์ได้ไปดัดฟันที่คลินิกทันตกรรมของนายวันชัย  นายวันชัยได้คิดเงินค่าดัดฟันเป็นเงินจำนวน  
50,000  บาท  เมื่อดัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  นางดวงจันทร์ได้จ่ายเงินค่าดัดฟันจำนวน  5,000  บาท  ส่วนเงินที่เหลืออีก  45,000  บาท  ขอเชื่อไว้ก่อน  และจะนำมาชำระให้ในวันที่  25  กุมภาพันธ์  2552  เมื่อถึงกำหนดชำระ  นางดวงจันทร์ไม่มีเงินมาชำระ  นายวันชัยได้ทวงถามตลอดมา  แต่นางดวงจันทร์ก็ไม่นำเงินมาชำระ  

จนกระทั่งวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  ซึ่งเหลือเวลาอีก  5  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นางดวงจันทร์ได้นำเงินไปชำระให้นายวันชัยอีก  5,000  บาท  หลังจากนั้นก็ไม่ได้นำมาชำระให้อีกเลย  นายวันชัยจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  3  กันยายน  2555  นางดวงจันทร์ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  แต่นายวันชัยอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความสะดุดหยุดลง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนางดวงจันทร์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34  “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี 

(15)  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ทันตกรรม … เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป”

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางดวงจันทร์ได้เป็นหนี้ค่าดัดฟันกับนายวันชัย  เมื่อวันที่  10  กุมภาพันธ์  2552  และจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  25  กุมภาพันธ์  2552  แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดชำระ  นางดวงจันทร์ไม่มีเงินชำระ  จนกระทั่งวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  ซึ่งเหลือเวลาอีก  5  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34 (15)  นางดวงจันทร์ได้นำเงินไปชำระให้นายวันชัยจำนวน  5,000  บาทนั้น  การกระทำของนางดวงจันทร์ลูกหนี้  ถือว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/14(1)

แต่เมื่อกรณีดังกล่าว  ถือว่าอายุความได้สะดุดหยุดลงในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2554  จึงต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่อีก  2  ปี  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/15  ดังนั้นอายุความ  2  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2556  เมื่อนายวันชัยได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  3  กันยายน  2555  คดีจึงไม่ขาดอายุความ  นางดวงจันทร์จะต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนางดวงจันทร์ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  นางสมศรีเลี้ยงวัวไว้จำนวน  20  ตัว  นางสมศรีตกลงขายวัวจำนวน  20  ตัวนั้นให้แก่นายสมหวังในราคา  2  ล้านบาท  กำหนดชำระราคาวัวและส่งมอบวัวดังกล่าวกันในวันที่  31  ตุลาคม  2555  แต่เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  2555  เกิดโรควัวบ้าระบาดอย่างหนัก  ในจังหวัดที่นางสมศรีอยู่  ทำให้วัวของนางสมศรีติดเชื้อโรควัวบ้า  ทางราชการจึงต้องทำการฆ่าวัวจำนวน  20  ตัว  ด้วยการฝังทั้งเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค  นางสมศรีจึงไม่สามารถส่งมอบวัวจำนวน  20  ตัว  ให้แก่นายสมหวังได้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายสมหวังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีหรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  370  วรรคหนึ่ง  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมี วัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและ ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสมศรีได้ตกลงขายวัวของตนทั้งหมด  20  ตัว  ให้แก่นายสมหวังในราคา  2  ล้านบาทนั้น  สัญญาซื้อขายวัวระหว่างนางสมศรีกับนายสมหวัง  เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทน  มีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อปรากฏว่าวัวที่นางสมศรีจะต้องส่งมอบให้แก่นายสมหวัง  ได้ถูกทางราชการทำการฆ่าทั้งหมดเนื่องจากติดเชื้อโรควัวบ้า  ทำให้นางสมศรีไม่สามารถส่งมอบวัวจำนวน  20  ตัวให้แก่นายสมหวังได้  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญา  สูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนางสมศรี  (ลูกหนี้ในอันที่จะส่งมอบวัว)  ไม่ได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่นายสมหวัง  (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบวัว)  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  370  วรรคแรก

ดังนั้น  ถึงแม้ว่านางสมศรีจะไม่สามารถส่งมอบวัวให้แก่นายสมหวังได้  นายสมหวังก็ยังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีเต็มจำนวน  ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาคือ  2  ล้านบาท

สรุป  นายสมหวังต้องชำระราคาวัวให้แก่นางสมศรีเต็มจำนวน  ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาคือ  2  ล้านบาท

LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2555

การสอบไล่ภาค  2   ปีการศึกษา 2555 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ  1

(ก)    การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  มีผลในทางกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)   นายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายสมชายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว  ราคา  600,000  บาท  โดยได้รับความยินยอมจากนายสมพร  ซึ่งเป็นบิดาของนายสมพงษ์แล้ว  ในวันทำสัญญาซื้อขาย  นายสมชายได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายสมพงษ์  และนายสมพงษ์ได้วางเงินมัดจำให้ไว้แก่นายสมชาย  600,000  บาท  กำหนดชำระราคาส่วนที่ยังค้างอยู่ในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2556 

เมื่อถึงกำหนดนายสมพงษ์ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชาย  นายสมชายจึงทำหนังสือบอกกล่าวเตือนให้นายสมพงษ์นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชายภายใน  7  วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวเตือน  เมื่อครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวเตือนแล้ว  นายสมพงษ์ก็ยังไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชาย  นายสมชายจึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ส่งให้แก่นายสมพงษ์  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่านายสมพรบิดาของนายสมพงษ์ไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวแต่อย่างใด  เช่นนี้  การบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์  ซึ่งนายสมชายกระทำต่อนายสมพงษ์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

 อธิบาย

กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป   ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

ข้อยกเว้น   ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1. ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก) หรือ

2. การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งนายสมชาย  กระทำต่อนายสมพงษ์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร  เห็นว่า  การที่นายสมชายได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ส่งไปให้แก่นายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้น  นายสมพรบิดาของนายสมพงษ์ไม่ได้รู้ถึงการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาดังกล่าว  รวมทั้งไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแต่อย่างใด  และเรื่องนี้ก็มิใช่กิจการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์กระทำได้เองโดยลำพัง  กรณี จึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้แสดง เจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก

ดังนั้น การที่นายสมชายบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์  โดยส่งคำบอกกล่าวไปยังนายสมพงษ์โดยนายสมพรผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมพงษ์มิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ก่อน มีผลในทางกฎหมาย คือ นายสมชายจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นขึ้นต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายสมพงษ์ไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นายสมชายจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ขึ้นต่อสู้กับนายสมพงษ์ผู้เยาว์ไม่ได้

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

 

ข้อ  2  นาย  ก  ตกลงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนาย  ข  โดยนาย  ข  มิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่านาย  ค  ได้มาหลอกลวงนาย  ก  โดยบอกว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีโครงการตัดถนนผ่าน  ทำให้ที่ดินติดถนนสาธารณะไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่  ซึ่งนาย  ก  หลงเชื่อ  เมื่อซื้อไปแล้วไม่มีโครงการตัดถนนดังคำกล่าวอ้างของนาย  ค  แต่อย่างใด  นาย  ก  ไม่ต้องการที่ดินแปลงนี้แล้ว  จึงมาปรึกษาท่าน  ให้ท่านแนะนำนาย  ก  ถึงผลของสัญญาซื้อขายนี้ว่ามีอยู่อย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  157  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน  เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง  ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ  ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา  159  การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง  จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก  การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  ได้ทำนิติกรรมโดยการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนาย  ข  เพราะได้หลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นาย  ค  ได้หลอกลวงนาย  ก  ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีโครงการตัดถนนผ่านทำให้ที่ดินติดถนนสาธารณะไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่  จึงถือว่านาย  ก ได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล  และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว  นาย  ก  ก็คงจะมิได้ทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย  ข  ตามมาตรา  159  วรรคแรกและวรรคสอง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เป็นกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก  ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้  หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย  ตามมาตรา  159  วรรคสาม  เมื่อปรากฏว่า  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คือนาย  ข  มิได้รู้หรือควรจะรู้ว่านาย  ค  ได้มาหลอกลวงนาย  ก  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนาย  ก  กับนาย  ข  จึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉล

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อนาย  ก  ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย  ข  ไปแล้ว  มาทราบในภายหลังว่าไม่มีโครงการตัดถนนดังคำกล่าวอ้างของนาย  ค  ซึ่งถ้านาย  ก  ได้ทราบตั้งแต่แรกก็คงจะไม่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้แน่นอน  ดังนั้นนาย  ก  ย่อมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน  ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม  นิติกรรมในรูปของสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว  จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา  157  (ฎ. 257/2537)

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นาย  ก  ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆียะ  เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตามมาตรา  157

 


ข้อ  3  เมื่อวันที่  3  มกราคม  2552  นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน 
100,000  บาท  โดยมีนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันมีกำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่  31  มีนาคม  2552  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินมาชำระ  นายดำได้ทวงถามตลอดมา  แต่นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง  2  ปีได้สิ้นสุดลง  ต่อมาวันที่  16  กุมภาพันธ์  2555  

นายแดงถูกสลากกินแบ่งจำนวน  30,000  บาท  จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน  20,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ  ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง  นายดำได้ให้นายแดงทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตนหนึ่งฉบับ  มีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวน  80,000  บาท  มาชำระให้แก่นายดำในวันที่  30  ธันวาคม  2555  ดังนี้  อยากทราบว่า

(ก)   นายแดงมาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน  20,000  บาท  คืนจากนายดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่  30  ธันวาคม  2555  นายแดงไม่นำเงินมาชำระ  นายดำจะนำคดีไปฟ้องนายแดงและนายเขียวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/ 9  “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัย  แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/28  การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง  ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หรือโดยการให้ประกันด้วย  แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน  100,000  บาท  และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำเลย  และเมื่อนายดำไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด  2  ปี  สิทธิเรียกร้องของนายดำที่มีต่อนายแดงลูกหนี้และนายเขียวผู้ค้ำประกันย่อมเป็นอันขาดอายุความ  นายดำย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายแดงและนายเขียวชำระหนี้แก่ตนได้  และถ้านายดำฟ้องนายแดงและนายเขียวให้ชำระหนี้  นายแดงและนายเขียวย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา  193/9  และมาตรา  193/10

และตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงได้นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้แก่นายดำ  รวมทั้งการที่นายแดงได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายดำโดยมีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวนที่เหลืออีก  80,000  บาท  มาชำระให้แก่นายดำในวันที่  30  ธันวาคม  2555  นั้น  ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายแดงลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อนายดำเจ้าหนี้แต่อย่างใด  เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา  193/14  นั้น  ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ  ดังนั้นการกระทำของนายแดงจึงเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว  และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา  193/28

ดังนั้น  ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก)   การที่นายแดงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน  20,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น  นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากนายดำไม่ได้  ตามมาตรา  193/28  วรรคแรก  ที่ว่าการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่า  สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม  เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด(ข)  เมื่อนายแดงได้รับสภาพความรับผิด  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายดำว่าจะนำเงินจำนวน  80,000  บาท  มาชำระให้แก่นายดำ ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา  193/28  วรรคสอง  และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้  ดังนั้นเมื่อนายแดงไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด  นายดำย่อมสามารถฟ้องให้นายแดงชำระหนี้ได้  (ฎ. 1770/2517)  โดยนายดำจะต้องฟ้องนายแดงภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา  193/28  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  193/35  แต่นายดำจะฟ้องนายเขียวไม่ได้  เพราะนายเขียวผู้ค้ำประกันเดิมที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายแดง  และตามมาตรา  193/28  วรรคสองตอนท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า  “…แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”  กล่าวคือ ถ้านายดำฟ้องนายเขียวผู้ค้ำประกัน  นายเขียวย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้นายดำได้

สรุป

(ก)   นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน  20,000  คืนจากนายดำไม่ได้

(ข)  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นายแดงไม่นำเงินมาชำระ  นายดำสามารถนำคดีไปฟ้องนายแดงได้แต่จะฟ้องนายเขียวไม่ได้

 

ข้อ  4

(ก)   คำเสนอคืออะไร  การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)   เมื่อวันที่  15  มีนาคม  พ.ศ.2556  นายทองหล่อได้ไปที่สำนักงานบริษัท  ทองแท้แร่ไทย  จำกัด  และได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทว่า  “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  40  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ”  ต่อมาอีกสามวัน  นายทองดีซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัททองแท้แร่ไทย  จำกัด  ได้ทำหนังสือตอบไปยังนายทองหล่อว่า  “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่ท่านเต็มจำนวนตามที่ท่านเสนอ  ราคาตันละห้าแสนบาท  ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน”  ดังนี้สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างทองหล่อกับบริษัท  ทองแท้แร่ไทย  จำกัด  เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)  คำเสนอ  คือ  นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด  และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2) มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที(ข)   วินิจฉัย

โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน

และการแสดงเจตนาที่ถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.       ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2.       มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาจะเกิดขึ้นทันทีกรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายทองหล่อได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทฯว่า  “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  40  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ”  ดังนี้ถือว่า  เป็นคำเสนอขอซื้อแร่ดีบุก  20  ตัน  เพราะการแสดงเจตนาในส่วนแรกที่ว่า  ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  40  ตันนั้น  เป็นข้อความที่ไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นคำเสนอ  แต่ข้อความในส่วนต่อไปที่ว่าแต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน  และมีความมุ่งหมายว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งสนองตอบตกลงสัญญาเกิดขึ้นทันที  ซึ่งเมื่อนายทองดี  ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ  ได้สนองรับโดยตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่นายทองหล่อเต็มจำนวนตามที่นายทองหล่อเสนอ  ก็เป็นสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกเพียง  20  ตัน  ส่วนที่นายทองหล่อจะขอซื้ออีก  20  ตันนั้น  คงเป็นแต่เพียง  “คำปรารภ”  ของนายทองหล่อ  (ว่าประสงค์จะซื้อ)  ดังนั้นแม้บริษัทตอบรับว่าจะขายก็เป็นเพียงคำเสนอ  มิใช่คำสนองรับ  และเมื่อนายทองหล่อไม่สนองรับ  ก็ไม่เป็นสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกอีก  20  ตัน  (ฎ. 411/2490)

สรุป  สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายทองหล่อกับบริษัท  ทองแท้แร่เทียม  จำกัด  เกิดขึ้นเพียง  20  ตัน  ส่วนอีก  20  ตัน  ถือว่าสัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น

LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2555 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน

ข้อ  1  ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยปราศจากความยินยอมจากผู้เยาว์หรือขออนุญาตจากศาล  จะมีผลเป็นการเช่นใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1572  ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรไม่ได้

มาตรา  1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้  ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

มาตรา  1575  ถ้าในกิจการใด  ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง  ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์  ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้  มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

อธิบาย

ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น  เป็นเพียงบุคคลที่กฎหมายได้กำหนดให้มีขึ้น  เพื่อมุ่งที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์จะทำ นิติกรรมบางอย่างซึ่งเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ไม่สามารถที่จะกระทำได้โดย ลำพังตนเอง  หรือในบางกรณีผู้แทนโดยชอบธรรมอาจจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ก็ได้

ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรม  จะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้เยาว์  (บุตร)  จะต้องทำเองก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบุตรด้วย  ตามมาตรา  1572  และถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  เช่น  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี  หรือการให้กู้ยืมเงิน  ฯลฯ  ดังนี้ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย  ตามมาตรา 1574

แต่อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำนิติกรรมดังกล่าวโดยปราศจากความยินยอมของผู้เยาว์  หรือไม่ได้รับอนุญาตจากศาล  กฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าจะเกิดผลประการใด  แต่เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาประกอบกับมาตรา  1575  แล้ว  พอจะสรุปได้ว่าจะมีผลทางกฎหมายได้  2  ประการ  คือ

  1.  ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3830/2542,  4861/2548  และ  7776/2551
  2. เป็นโมฆะ  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  8438/2547,  และ  ป.พ.พ.  มาตรา  1575)

 

ข้อ  2  ครอบครัววิชุนีตระกูลไฮโซชื่อดังกำลังประสบปัญหาการเงิน  คุณลำเพาและคุณนพรัตน์  วิชุนีประมุขของครอบครัวต้องรีบหาทางจัดการปัญหานี้ด่วน  เพื่อรักษาหน้าตาก่อนที่คนในสังคมจะรู้  และหนทางที่คุณลำเพาคิดได้  คือการไปทวงข้อตกลงกับคุณเปรม  ปัทมกุล เจ้าของไร่กาแฟแห่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงรายถึงสัญญาที่ทำกันไว้เมื่อยี่สิบปีก่อนว่า

จะทดแทนบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือเรื่องเงิน  ด้วยการให้ลูกชายของเขาแต่งงานกับรจนาซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัววิชุนี ปัทม์ลูกชายคนเดียวของครอบครัวปัทมกุลไม่พอใจเพราะพ่อของเขาผู้ให้คำสัญญาเสียชีวิตไปนานแล้ว  ประกอบกับเขาไม่ชอบให้ใครมาบังคับ  แม้ว่าเขาจะไม่ยอมทำตามข้อตกลง

แต่คุณลำเพาอ้างถึงบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือไว้  ไม่เช่นนั้นครอบครัวปัทมกุลคงไม่มีโอกาสสร้างไร่กาแฟได้อย่างทุกวันนี้  ปัทม์จึงจำเป็นต้องยอมทำตามข้อตกลงด้วยการจะเข้าแต่งงานกับรจนา  ก่อนวันงานแต่งงาน  ปัทม์จึงมาปรึกษากับท่านเพื่อหาเหตุผลข้อกฎหมายเพื่อยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว  เพราะเข้าใจผิดว่ารจนารู้ว่าครอบครัวของตนร่ำรวยมาก  จึงคิดว่าต้องการแต่งงานกับตนเพื่อที่จะสนองตอบความรักสบายของรจนาได้  ท่านจะให้คำแนะนำแก่ปัทม์อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ในการตกลงทำนิติกรรมกันนั้น  วัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  จะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย  และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ถ้านิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่คุณนพรัตน์  วิชุนี  ได้ตกลงกับคุณเปรม  ปัทมกุล  ให้รจนา  วิชุนี  กับปัทม์  ปัทมกุล  แต่งงานกันเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือเรื่องเงินกันไว้นั้น  มิได้เกิดจากการตกลงกันระหว่างชายและหญิงที่จะแต่งงานกันแต่อย่างใด  ซึ่งตามหลักของสถาบันครอบครัวและกฎหมายครอบครัวนั้น การแต่งงานหรือการสมรสจะต้องเป็นเรื่องของชายและหญิงได้ตกลงที่จะเป็นสามีภริยากัน  ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน  ไม่ได้ตกลงแต่งงานกันโดยมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น  ดังนั้นข้อตกลงระหว่างคุณนพรัตน์  วิชุนี  กับคุณเปรม  ปัทมกุล  ดังกล่าว  จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150  และปัทม์สามารถบอกเลิกการแต่งงานของตนได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่ปัทม์ว่าข้อตกลงระหว่างคุณนพรัตน์กับคุณเปรม  ตกเป็นโมฆะ  ปัทม์สามารถบอกเลิกการแต่งงานของตนได้

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2553  นายสมหมายได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายสมจริงได้รับบาดเจ็บสาหัส  นายสมจริงถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา  1  เดือน  นายสมจริงได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน  4  แสนบาท  ต่อมานายสมจริงจึงได้ไปทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมหมายเมื่อวันที่  3  ตุลาคม  2553  แต่นายสมหมายได้ขอผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งวันที่  15  พฤศจิกายน  2553

นายสมหมายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสมจริงเพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  5,000  บาท  หลังจากนั้นก็มิได้นำไปชำระให้อีกเลย  นายสมจริงจึงได้นำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ตนได้ออกไปก่อนในวันที่  22  กันยายน  2554  นายสมหมายได้ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  แต่นายสมจริงอ้าว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความได้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน  2553 ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายสมจริงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2553  นายสมหมายได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ  ชนนายสมจริงได้รับบาดเจ็บสาหัส  การที่นายสมหมายขับรถยนต์ชนนายสมจริงเป็นการกระทำละเมิด  อายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมีกำหนดอายุความ  1  ปี  ตามมาตรา  448  ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะครบกำหนดอายุความในวันที่  10  สิงหาคม  2554

เมื่อนายสมจริงถูกรถชนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล  และได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  4  แสนบาท  จึงได้มาทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมหมาย  แต่นายสมหมายได้ผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งวันที่  15  พฤศจิกายน  2553  นายสมหมายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสมจริง  5,000  บาท  เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายสมจริงบางส่วน  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(1)  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา  193/15  วรรคแรก  และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน  2553  และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่  15  พฤศจิกายน  2554  ตามมาตรา  193/15  วรรคสอง  นายสมจริงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  22  กันยายน  2554  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ  ข้ออ้างของนายสมจริงจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายสมจริงฟังขึ้น

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  1  มีนาคม  2556  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา  3  ล้านบาท  โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า  ถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้  ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่  31  มีนาคม  2556  นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ  แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่  5  เมษายน  2556

อย่างไรก็ตาม  เมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้ว  เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า  นางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่  26  มีนาคม  2556  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่  31  มีนาคม  2556  ตามที่นายอาทิตย์กำหนด

เช่นนี้  จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางจันทราได้ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ  แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่  5  เมษายน  2556  ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์ได้กำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่า  นางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  26  มีนาคม  พ.ศ.2556  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อน  หรือภายในวันที่  31  มีนาคม  พ.ศ.2556  อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้  ในกรณีเช่นนี้  คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว  ดังนั้น

(1)    ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2)   แต่ถ้านายอาทิตย์ละเลย  ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น

สรุป  จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า  นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ตามมาตรา  358

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2544

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2544

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

ข้อ 1  ก.  การตีความกฎหมายแพ่งมีความแตกต่างกับการตีความกฎหมายอาญาอย่างไร  จงอธิบาย

          ข  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

ธงคำตอบ

ก. การตีความกฎหมายแพ่งมีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่งคือ  ต้องตีความตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมกันไป  โดยมีหลักในการตีความดังนี้

1  การตีความตามตัวอักษร  ต้องพิจารณาความหมายของตัวอักษรว่ามีความหมายอย่างไร  ถ้อยคำหรือคำศัพท์ของตัวอักษรนั้นเป็นศัพท์ธรรมดาหรือศัพท์ทางวิชาการ  เมื่อได้ความหมายของตัวอักษรแล้วจึงพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ประกอบต่อไป

 2 การตีความตามเจตนา  พิจารณาจาก

1       ที่มา  หรือประวัติความเป็นมาของกฎหมาย

2       ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย

3       ถ้อยคำของกฎหมาย

4       สถานการณ์ในขณะที่บัญญัติกฎหมายนั้น  รวมทั้งรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด  คือจะต้องพิจารณาตามตัวอักษร  โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  2  บัญญัติว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา  ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น  บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  ดังนั้น  การใช้กฎหมายอาญาจึงต้องพิจารณาจากตัวอักษรโดยไม่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็จะเอาโทษทางอาญาและลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้

ข  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

ธงคำตอบ

ข้อแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

1       ทรัพย์สิทธิ์มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  ส่วนบุคคลสิทธิ์มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำการงดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้

2       ทรัพย์สิทธิ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย  ส่วนบุคคลสิทธิ์เกิดขึ้นโดยนิติกรรมและนิติเหตุ

3       ทรัพย์สิทธิ์ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อบุคคลทั่วไป  ส่วนบุคคลสิทธิ์ก่อให้เกิดหน้าที่ในการชำระหนี้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

4       ทรัพย์สิทธิ์เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างถาวรไม่สิ้นสุดเพราะการไม่ใช้สิทธินั้น  ส่วนบุคคลสิทธิ์สิ้นไปเพราะไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาหรืออายุความ

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  15  ได้บัญญัติว่า  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก  และสิ้นสุดลงเมื่อตาย  จงอธิบายว่า  สิ้นสุดลงเมื่อตาย  ของบุคคลนั้นหมายความว่าอย่างไร  และมีได้ในกรณีใดบ้างมาโดยครบถ้วน

ธงคำตอบ

คำว่า  สิ้นสุดลงเมื่อตาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  15  ของ ป.พ.พ. นั้น  หมายความถึงการสิ้นสภาพของบุคคล  ซึ่งมีได้ 2 กรณีคือ

1       การตายโดยธรรมชาติ  (Death)

2       การสาบสูญ  (Disappearance)

การตายโดยธรรมชาติ  คือ  การสิ้นสภาพบุคคลเมื่อแกนสมองตาย  ในทางการแพทย์จะถือว่าบุคคลนั้นตายแล้ว

การสาบสูญ  คือ  การตายโดยผลของกฎหมาย  หรือการสิ้นสภาพบุคคลโดยผลของกฎหมายนั่นเอง  แม้ความจริงบุคคลนั้นอาจยังมีชีวิตอยู่  แต่ไม่มีใครพบเห็น  ไม่มีการส่งข่าวคราว  และเมื่อครบกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

กำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดมี  2  กรณีคือ  ในกรณีธรรมดา  5  ปี  และในกรณีพิเศษเวลาจะลดเหลือ  2  ปี  หากบุคคลนั้นหายไปในเหตุการณ์ดังนี้คือ

1       นับแต่เวลาที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง  ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงคราม

2       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปางถูกทำลายหรือสูญหายไป  เช่น  เครื่องบินโดยสารตก

3       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ในข้อ 1 และ 2 ผ่านพ้นไป  และบุคคลนั้นอยู่ในอันตรายดังกล่าว เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้  น้ำท่วม

เมื่อศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นก็สิ้นสภาพบุคคลทันทีนับแต่วันที่ครบกำหนดข้างต้นนี้

 

ข้อ  3  มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะทำให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็น

1       ผู้เยาว์

2       คนเสมือนไร้ความสามารถ

3       คนไร้ความสามารถ

 ธงคำตอบ

1       ผู้เยาว์

ผู้เยาว์  คือ  บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ซึ่งผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

ก.      การบรรลุนิติภาวะโดยอายุ  ซึ่ง ป.พ.พ.  มาตรา 19  บัญญัติว่า  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งการนับอายุของบุคคลนั้นให้เริ่มนับแต่วันที่บุคคลนั้นเกิด  เช่น  ดำเกิดวันที่  10  มีนาคม  พ.ศ.2510  การนับอายุของดำให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่  10  มีนาคม  พ.ศ.2510 ดังนั้นดำจะมีอายุครบ  20  ปีบริบูรณ์  และจะบรรลุนิติภาวะในวันที่ 9  มีนาคม  พ.ศ. 2530  (เวลา 24.00น) เป็นต้น

ข.      การบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ตาม ป.พ.พ.มาตรา 20 ที่บัญญัติว่า  ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส  หากการสมรสได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 และในมาตรา  1448  บัญญัติว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  แต่ในกรณีที่มีเหตุสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้  ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสได้นั้น  จะต้องเข้าเงื่อนไขอันใดอันหนึ่งต่อไปนี้  คือ–                    ชายและหญิงมีอายุครบ  17  ปีบริบูรณ์  ได้ทำการสมรสกันโดยจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย  และบิดามารดาหรือผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายให้ความยินยอมด้วยกับการสารสนั้น

–                    ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้น  อาจเป็นกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์  เช่น  ชายและหญิงมีอายุ  16 ปีเศษ ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากันจนหญิงตั้งครรภ์แล้ว  จะไม่ทำการสมรสกันไม่ได้  เพราะอายุไม่ครบเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด  ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งอนุญาตให้ทำการสมรสกันได้  เป็นต้น

2       คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ มาตรา 32

ก.      ต้องมีเหตุบกพร่อง  คือ  มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หรือติดสุรายาเมา  หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น

ข.      บุคคลผู้นั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เพราะเหตุบกพร่องนั้น

ค.      ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง  ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ง.       บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล  ได้แก่  บุพการี  (หมายถึง  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวด)  ผู้สืบสันดาน (หมายถึง  ลูก หลาน เหลน ลื่อ)  ผู้ปกครอง  ผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ

3       คนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ  มาตรา 28

ก.      เป็นคนวิกลจริต หมายถึง  เป็นบุคคลที่สมองพิการ  คือ  จิตไม่ปกติ  หรือบุคคลที่มีกิริยาอาการไม่ปกติเพราะสติวิปลาส  คือ ขาดความรำลึก  ขาดความรู้สึก  หรืออาจจะหมายความรวมถึงเจ็บป่วยที่มีกิริยาอาการผิดปกติจนถึงขนาดไม่มีความรู้สึกผิดชอบใดๆทั้งสิ้นด้วย  และกรณีที่จะถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้จะต้องเป็นอย่างมากและต้องเป็นประจำด้วย

ข.      ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และเมื่อศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถผลของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มวันที่ศาลสั่ง  มิใช่เริ่มวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ค.      บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล  ได้แก่  บุพการี  (หมายถึง  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวด)  ผู้สืบสันดาน (หมายถึง  ลูก หลาน เหลน ลื่อ)  ผู้ปกครอง  ผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2544

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2544

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1  หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง  กฎหมายอาญา  และกฎหมายมหาชน  มีความแตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบาย 

ธงคำตอบการตีความกฎหมาย  หมายถึง  การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง  เพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของบทกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร  ซึ่งกฎหมายแต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ในการตีความแตกต่างกันไป  คือ 

1       ถ้าเป็นกฎหมายแพ่ง  (หรือกฎหมายเอกชน)  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติใน  ป.พ.พ.  มาตรา  4  วรรคแรกว่า  อันกฎหมายนั้นท่านว่าต้องใช้ในบรรดาซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ  แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ …  แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายแพ่งนั้น  จะต้องตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไปพร้อมๆกัน  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายในลักษณะเท่าเทียมกัน

2       ถ้าเป็นกฎหมายอาญา  เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา  2  ที่ว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น  ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย…  แสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด  โดยไม่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า  ไม่มีกฎหมาย  ไม่มีความผิดและไม่มีโทษ

3       ถ้าเป็นกฎหมายมหาชน  การตีความจะต้องตีความโดยพิเคราะห์ตัวอักษรและเหตุผลหรือเจตนารมณ์พิเศษของกฎหมายมหาชนนั้นๆ  รวมทั้งอาจพิเคราะห์ถึงระเบียบปฏิบัติทางการปกครอง  ตลอดจนจารีตประเพณีทางการเมืองการปกครองประกอบด้วย  เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสังคม  ทั้งนี้เนื่องมาจากกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนนั่นเอง

 

ข้อ 2  จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองผู้สุจริตตามที่บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ  ของป.พ.พ.  รวมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยสุจริต  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5

ธงคำตอบ

หลักเกณฑ์ในการคุ้มครองบุคคลผู้ใช้สิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

การคุ้มครองผู้ใช้สิทธิโดนสุจริตเฉพาะเรื่อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีบัญญัติคุ้มครองเอาไว้หลายมาตรา  เช่น มาตรา   155, 412 , 905 , 1299 , 1300 , 1303 , 1311 , 1312 , 1329 , 1330 , 1331 และมาตรา  1332  เป็นต้น

ความสุจริตในกรณีนี้หมายถึง  ความไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาก่อน  หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ซึ่งผู้ใช้สิทธิโดยสุจริตนี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  เช่น  การที่ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์สินที่ขโมยมาก็ดี  หรือการได้รับโอนทรัพย์สินไว้โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือแสดงเจตนาหลอกลวงกันในระหว่างคู่สัญญาคนก่อนๆก็ดี  ถือเป็นการกระทำโดยสุจริต  ซึ่งกฎหมายจะเข้ามาคุ้มครองโดยบัญญัติให้ไม่ต้องคืนทรัพย์สินนั้น  หรืออาจคืนทรัพย์สินโดยได้รับเงินที่เสียไปคืน  เป็นต้น

2       การใช้สิทธิโดยสุจริตทั่วไป  ตามป.พ.พ. มาตรา  5  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี  ในการชำระหนี้ก็ดี  บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริตการใช้สิทธิโดยสุจริตในกรณีทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา  5  นี้  จะมีความหมายกว้างกว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตเฉพาะเรื่อง  เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นหลักที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการใช้สิทธิและการชำระหนี้ทางแพ่งโดยทั่วๆไป  โดยถือว่าในการที่บุคคลได้ผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วทุกคนต้องซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน  และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และไว้วางใจด้วย  ถ้าการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อความซื่อสัตย์และความไว้วางใจดังกล่าว  ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต  ซึ่งศาลจะไม่รับรองและไม่รับบังคับให้  ตามหลักที่ว่า  บุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด

 

ข้อ 3  นายดำเป็นคนวิกลจริต  ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมดังต่อไปนี้  มีผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร

1       ซื้อรถยนต์ราคา  500,000  บาท  จากนายแดง  โดยได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล

2       ทำพินัยกรรมยกเงินจำนวน  100,000  บาทให้กับนายขาว

3       ซื้อจักรยานราคา  2,000  บาท  เพื่อขี่ออกกำลังกาย  โดยได้ทำนิติกรรมขณะวิกลจริต  แต่นายเขียวซึ่งเป็นผู้ขายไม่ทราบว่านายดำเป็นคนวิกลจริต

ธงคำตอบ

มาตรา  29  บัญญัติว่า  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  1704  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการทำพินัยกรรมของคนไร้ความสามารถไว้ว่า  พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า  นิติกรรมใดๆ  ที่คนวิกลจริตซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น  เว้นแต่ถ้าเป็นพินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะ  โดยไม่คำนึงว่าคนไร้ความสามารถจะได้ทำนิติกรรมในขณะวิกลจริตหรือไม่  หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้หรือไม่ว่าเป็นคนวิกลจริต  หรือจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่

ดังนั้นนิติกรรมของนายดำซึ่งเป็นคนวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นย่อมมีผลตามกฎหมายดังนี้  คือ

1       นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ราคา  500,000 บาท  จากนายแดง  มีผลเป็นโมฆียะ  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม

2       การทำพินัยกรรมยกเงินจำนวน  100,000 บาท  ให้กับนายขาว  มีผลเป็นโมฆะ  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1704

3       การทำนิติกรรมซื้อขายจักรยานราคา  2,000 บาท เพื่อขี่ออกกำลังกาย  มีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา  29  แม้ว่าในขณะทำนิติกรรมนายเขียวผู้ขายจะไม่ทราบว่านายดำเป็นคนวิกลจริตก็ตาม

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ 25  คะแนน)

ข้อ 1  ก  การตีความกฎหมายคืออะไร  เหตุใดจึงต้องมีการตีความกฎหมาย

         ข  จงอธิบายถึงหลักในการตีความกฎหมายแพ่ง  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ก.      การตีความกฎหมาย คือ  การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร  เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายไปปรับใช้ในการวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงได้ต่อไป

หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่ง  มีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง  กล่าวคือ  จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อมๆกัน  จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น  โดยเริ่มจาก

1       การตีความตัวอักษร  ทั้งศัพท์ธรรมดาและศัพท์กฎหมาย  เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน  และ

2       การตีความตามเจตนารมณ์  เพื่อค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร  เจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา  ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย  จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้นๆ  หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้นๆด้วย

ตัวอย่างเช่น  กฎหมายลักษณะมรดก  มาตรา  1627  บัญญัติว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งคำว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน  กล่าวคือ  ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย  เช่น  การจดทะเบียนรับรองบุตร  หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย  เช่น  การที่บิดาให้ใช้นามสกุล  อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน  และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย  หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น  หมายถึง  บุตรตามความเป็นจริง  กล่าวคือ  แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย  แต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายจันทร์ได้จากภูมิลำเนาที่จังหวัดเชียงใหม่และไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร  เป็นเวลา  นาน  15  เดือนแล้ว  ต่อมาศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายอังคารขึ้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่คือนายจันทร์  ตามคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสีย  หลังจากนั้นไม่นานนายอังคารได้นำทรัพย์สินของนายจันทร์  คือ  บ้านพร้อมที่ดินไปขายให้กับนายพุธในราคา  20  ล้านบาท  เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของนายจันทร์

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายอังคารมีอำนาจกระทำการดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  48  วรรค  2  เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไป  1  ปี  นับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี  หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็น  หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี  เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ  ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้

มาตรา  54  ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ตามมาตรา  801  และมาตรา  802

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

(1) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

(2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

(3) ให้

(4) ประนีประนอมยอมความ

(5) ยื่นฟ้องต่อศาล

(6) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

ตามปัญหา  การที่ศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายอังคารเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนายจันทร์ผู้ไม่อยู่ตามคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว นายอังคารย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่เสมือนเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 54  ประกอบกับมาตรา 801  ดังนั้นการที่นายอังคารได้นำบ้านพร้อมที่ดินของนายจันทร์ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปขายให้นายพุธ  แม้จะเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของนายจันทร์ก็ไม่อาจทำได้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจกศาลก่อนเท่านั้น  แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายอังคารได้ขออนุญาตต่อศาลก่อนแต่อย่างไร  การกระทำของนายอังคารจึงขัดต่อ  ป.พ.พ. มาตรา  54  ประกอบกับมาตรา  801

สรุป  นายอังคารไม่สามารถที่จะนำบ้านพร้อมที่ดินของนายจันทร์ไปขายให้กับนายพุธได้ ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  คนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถคือใคร  มีความสามารถเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ในการทำนิติกรรม  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา 28  บุคคลวิกลจริตผู้ใด  ถ้าคู่สมรส  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งดูแลปกครองบุคคลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้  และบุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถคือบุคคลที่มีลักษณะดังนี้  คือ

คนวิกลจริต  หมายถึง  บุคคลที่สมองพิการ  คือ  จิตไม่ปกติหรือบุคลที่มีกิริยาอาการไม่ปกติเพราะสติวิปลาส  หรืออาจจะหมายความรวมถึงคนเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรง  ทำให้มีกิริยาอาการผิดปกติจนถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใดๆทั้งสิ้น

คนไร้ความสามารถ  หมายถึง  คนวิกลจริตดังกล่าวข้างต้นที่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้สามารถแล้ว  โดยการที่ผู้มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  คู่สมรส  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์  หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถและศาลได้สั่งให้ตามคำขอ

ในการทำนิติกรรมของคนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถนั้นจะมีความแตกต่างกันดังนี้

1       คนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น  สามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้สมบูรณ์  เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต ส่วนคนไร้ความสามารถนั้นจะทำนิติกรรมใดๆไม่ได้  นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้กระทำลงนั้นจะตกเป็นโมฆียะ  ดังนั้นจึงต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน

2       คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  ส่วนคนวิกลจริตทำพินัยกรรม   พินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ทำพินัยกรรมนั้นในขณะจริตวิกล

สำหรับการสมรสนั้น  ไม่ว่าคู่สมรสจะได้ทำการสมรสในขณะที่เป็นคนวิกลจริตหรือเป็นคนไร้ความสามารถ  การสมรสนั้นก็ตกเป็นโมฆะเหมือนกัน

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2545

การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา 2545

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ 25  คะแนน)

ข้อ 1  ก.  การตีความกฎหมายแพ่ง  มีความแตกต่างกับการตีความกฎหมายอาญาอย่างไร

ข  สิทธิตามกฎหมายเอกชนคืออะไร  สิทธิตามกฎหมายเอกชนมีบ่อเกิดจากอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก. การตีความกฎหมายแพ่งมีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่งคือ  ต้องตีความตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมกันไป  โดยมีหลักในการตีความดังนี้

1  การตีความตามตัวอักษร  ต้องพิจารณาความหมายของตัวอักษรว่ามีความหมายอย่างไร  ถ้อยคำหรือคำศัพท์ของตัวอักษรนั้นเป็นศัพท์ธรรมดาหรือศัพท์ทางวิชาการ  เมื่อได้ความหมายของตัวอักษรแล้วจึงพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ประกอบต่อไป

 2 การตีความตามเจตนา  พิจารณาจาก

1       ที่มา  หรือประวัติความเป็นมาของกฎหมาย

2       ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย

3       ถ้อยคำของกฎหมาย

4       สถานการณ์ในขณะที่บัญญัติกฎหมายนั้น  รวมทั้งรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด  คือจะต้องพิจารณาตามตัวอักษร  โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  2  บัญญัติว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา  ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น  บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  ดังนั้น  การใช้กฎหมายอาญาจึงต้องพิจารณาจากตัวอักษรโดยไม่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็จะเอาโทษทางอาญาและลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้

ข. สิทธิตามกฎหมายเอกชน  คือ  สิทธิที่เอกชนมีต่อกันเอง  กล่าวคือเป็นสิทธิที่เอกชนคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือบุคคลอื่นในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินก็ดี  หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ก็ดี  มีอำนาจที่จะบังคับให้บุคคลอื่นซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ชำระหนี้โดยการกระทำการ  งดเว้นกระทำการ  หรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ตน

สิทธิตามกฎหมายเอกชนมีบ่อเกิด 5 ทางด้วยกันคือ

1 นิติกรรมสัญญา

2  ละเมิด

3  จัดการงานนอกสั่ง

4  ลาภมิควรได้

5  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  การตายพร้อมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล (มาตรา 17 ) นั้น หมายความว่าอย่างไร  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

มาตรา  17  บัญญัติว่า  ในกรณีที่บุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง  ให้ถือว่าตายพร้อมกัน

มาตรา  17  ต้องการแก้ไขปัญหาในกรณีไม่แน่ชัดว่าใครตายก่อนหรือหลัง  ในเหตุภยันตรายเดียวกัน  ซึ่งอาจก่อปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดกได้  เพรากฎหมายเรื่องรับมรดกได้กำหนดให้คนตายทีหลังได้มรดกของคนตายก่อน  ดังนั้นเมื่อกำหนดให้ตายพร้อมกัน  หากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดผลคือไม่มีใครรับมรดกใครได้เลย

แต่การตายตามมาตรา  17  จะถือว่าเป็นการตายพร้อมกันเมื่อครบเงื่อนไข 2 ประการคือ

1       บุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ตัวอย่างเช่น  การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารลำเดียวกันแล้วเกิดเหตุเครื่องบินตก

2       ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่า  ใครตายก่อนตายหลัง  ตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องบินตกและมีการเข้าไปช่วยเหลือในภายหลังมีภยันตรายแล้วปรากฏว่าผู้โดยสารตายหมดแล้ว

 

ข้อ 3  นายไก่เป็นคนร่างกายพิการมาแต่กำเนิด มีอาชีพขายล็อตเตอรี่เลี้ยงชีพ  เมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี  ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลง ให้แก่จุ๋มจิ๋มคนที่ตนหลงรัก  หลังจากนั้นเมื่อมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ได้จดทะเบียนสมรสกับนางไข่  และมีลูกด้วยกัน 1 คน  คือนางสาวเป็ด เมื่อนางสาวเป็ดเรียนจบมหาวิทยาลัย  รู้สึกอับอายที่บิดาหาเลี้ยงครอบครัวโดยขายล็อตเตอรี่  บอกให้เลิกก็ไม่เลิก  ต้องการจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่บิดาของตนเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และถ้านายไก่ถึงแก่กรรม  พินัยกรรมที่นายไก่ทำไว้  จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  28  บุคคลวิกลจริตผู้ใด  ถ้าคู่สมรสก็ดี  ผู้บุพการี  กล่าวคือ  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวดก็ดี  ผู้สืบสันดาน  กล่าวคือ  ลูกหลานเหลนลื่อก็ดี  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี  ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี  หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

มาตรา  32  วรรคแรก  บัญญัติว่า  บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หรือติดสุรายาเมา  หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้นจนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา  28  ร้องขอต่อศาล  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

วินิจฉัย

นายไก่ทำพินัยกรรมเมื่อมีอายุยังไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  ผลจึงเป็นโมฆะ (มาตรา 25, 1703 )

นางสาวเป็ดลูกสาวจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่บิดาของตนเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้  เพราะแม้นายไก่จะเป็นคนที่ร่างกายพิการ  แต่สามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวแต่อย่างใด  ทำให้นางสาวเป็ดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้ (มาตรา 28 , 32)

ดังนั้นพินัยกรรมที่นายไก่ทำขึ้นเป็นโมฆะ  และนางสาวเป็ดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้

LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2545

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายการใช้  การตีความ  และการอุดช่องว่างของกฎหมายตามมาตรา  4    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และในเรื่องดังกล่าวมีความแตกต่างจากกฎหมายอาญาหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

ป.พ.พ. มาตรา  4  “กฎหมายนั้น  ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร  หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ

เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

ป.อ. มาตรา 2  “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น  ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

การใช้และการตีความกฎหมายแพ่งนั้น  จะต้องใช้หรือตีความตามลายลักษณ์อักษร  หรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  แต่นักกฎหมายบางท่านเห็นว่าการใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายควรจะใช้และตีความตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ส่วนการใช้และการตีความกฎหมายอาญาตามมาตรา 2  ประมวลกฎหมายอาญานั้น  การใช้และการตีความกฎหมายนั้นต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด  คือ  ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของกฎหมายตามตัวอักษรเท่านั้น

การอุดช่องว่างของกฎหมายนั้น  ถ้าหากกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ไม่มีในการอุดช่องว่างของกฎหมายโดยดูจากจารีตประเพณี  ถ้าไม่มีดูกฎหมายใกล้เคียง  ถ้าหากไม่มีก็ดูกฎหมายทั่วไป  ส่วนทางอาญานั้นไม่มีการอุดช่องว่างของกฎหมาย

ข้อ  2  ในการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลธรรมดาเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาและการเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตร  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา  ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้(1) บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และ

(2) ไม่ได้รับข่าวคราวหรือไม่มีใครพบเห็นตัว

(3) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี

(4) ผู้มีส่วนได้เสีย  เช่น  สามี  ภริยา  บิดามารดา  ผู้สืบสันดาน  ฯลฯ  หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

(5) ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

ส่วนกรณีพิเศษนั้นกำหนดระยะเวลาลดเหลือ 2 ปี นับแต่

(1) วันมีการรบ  หรือสงครามสิ้นสุดลง  หรือ

(2) วันที่เกิดยานพาหนะโดยสารไปเกิดอุบัติเหตุ  อับปาง ฯลฯ

(3) หรือเหตุอื่นๆนอกจากกรณี  1) หรือ 2)  และมีการตายเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่พบตัว หรือได้รับข่าวคราว

 

ข้อ  3  เมื่อไก่อายุย่างเข้า  15  ปี  ได้ทำพินัยกรรมยกที่นา  1  แปลง  ให้แก่นางสาวแดง  เมื่ออายุ  18  ปี  ได้ทำพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับหนึ่งยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวเขียว  และเมื่ออายุครบ  20  ปีบริบูรณ์ทำพินัยกรรมยกรถยนต์หรูราคาแพงให้แก่นางสาวเหลือง 1 คัน  ครั้นอายุ  30  ปี  นายไก่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางไข่  เมื่อนางไข่คลอดเด็กหญิงรวมสี  นางไข่ก็ถึงแก่ความตาย  นายไก่เสียใจก็ตายตามภริยา  เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้น

พินัยกรรมที่นายไก่ทำทั้งหมดมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  และเด็กหญิงรวมสีมีสิทธิได้รับทรัพย์สินดังที่กล่าวมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  25  “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา  1703  “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

การที่นายไก่ทำพินัยกรรมยกที่นาให้นางสาวแดงเมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี จึงมีผลให้พินัยกรรมฉบับนี้เป็นโมฆะ  ที่นาจึงตกเป็นของเด็กหญิงรวมสีซึ่งอยู่ในฐานะผู้สืบสันดาน  เป็นทายาทโดยธรรมของนายไก่

ส่วนพินัยกรรมที่นายไก่ยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวเขียว  และรถยนต์ให้แก่นางสาวเหลืองนั้นสมบูรณ์  เพราะทำไปในขณะที่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว  เมื่อนายไก่ถึงแก่ความตาย  บ้านและที่ดิน  รถยนต์จึงตกเป็นของนางสาวเขียว และนางสาวเหลืองตามพินัยกรรม

WordPress Ads
error: Content is protected !!