LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2551

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ 

ข้อ 1  ก. ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด

ข .นายสมบัติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพ มหานครให้แก่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคาห้าล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  5  วัน

นายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายอาทิตย์ได้ทราบข่าวว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้น  นายอาทิตย์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายสมบัติ  ณ  ที่อยู่ของนายสมบัติ  นางสมศรีซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 ก.      มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย  หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

(1) ตาย

(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือ

(3) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่า  การแสดงเจตานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

ข.      มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัย 

กรณีตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่าก่อนที่นายอาทิตย์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายสมบัติ  นายอาทิตย์ได้รู้อยู่แล้วว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  กรณีต้องตามข้อยกเว้นในมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  169  วรรคสอง  มาใช้บังคับ  จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายสมบัติเป็นอันเสื่อมเสียไป

กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่มีคำเสนอของนายสมบัติ  มีแต่เพียงคำสนองของนายอาทิตย์  ถึงแม้นางสมศรีผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายำสนองของนายอาทิตย์ไว้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ก็ไม่เกิดขึ้น

สรุป  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ไม่เกิดขึ้น

 


ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2541  นาย ก. คนไร้ความสามารถได้ให้แหวนเพชรหนัก  1  กะรัต แก่นาย ข. หลังจากนั้นอีก 6 ปี  นาย ก. หายจากอาการวิกลจริต  ผู้อนุบาลได้ร้องขอและศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 31  จนกระทั่งเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2551  นาย ก.  จำได้ว่าตนได้ให้แหวนเพชรแก่นาย  ข.  ประสงค์จะบอกล้างโมฆียกรรมนี้   จึงมาปรึกษาให้ท่านแนะนำนาย ก. ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  179  วรรคสอง  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น  ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

วินิจฉัย

กำหนดการบอกล้างโมฆียะกรรม  ตามมาตรา  181  นั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น  ในกรณี นาย ก.  คนไร้ความสามารถคือ วันที่  1  ตุลาคม  2551  ซึ่งเป็นวันที่นาย ก.  ได้รู้เห็น(จำได้ว่า)  ซึ่งโมฆียกรรมนั้น  หลังจากที่ศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วเมื่อประมาณ  4  ปี  ที่ผ่านมาตามมาตรา  179  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  เวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้นต้องไม่เกดินเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น  ซึ่งในวันที่  1  ตุลาคม  2551  เป็นวันที่ครบสิบปีพอดี

ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นาย  ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ถ้าเกินกว่านั้นจะพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำโมฆียะกรรมขึ้น

สรุป  นาย ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในวันที่  1  ตุลาคม  2551

 


ข้อ 3  เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2548  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษม  จำนวน 3 เครื่องเป็นเงิน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระ  นายเกษมได้ทวงถามตลอดมา  จนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกเงินค่าซื้อของเชื่อ  ต่อมาวันที่  7  มีนาคม  2550  นายเฉลิมได้ไปขอร้องให้นายเกษมถอนฟ้องและได้ทำหนังสือให้นายเกษมไว้  1  ฉบับ  มีใจความยอมรับว่าเป็นหนี้นายเกษมจริงและจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  เมษายน  2550  นายเกษมจึงไปถอนฟ้องคดีครั้นถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระให้ตามที่ตกลงกันไว้  นายเกษมจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า…เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้…

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี… เพื่อให้ชำระหนี้มาตรา  193/17  วรรคแรก  ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามาตรา 193/14(2)  หากคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง…  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษมเป็นเงินจำนวน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  ตามมาตรา  193/34(1)  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(2)  แต่ปรากฏว่า  คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะนายเกษมไปถอนฟ้องคดีให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา 193/17  วรรคแรก  อายุความจึงนับต่อไป  ในวันที่ 7  มีนาคม  2550  นายเกษมได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่นายเกษม  1  ฉบับ  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(1)  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่  7  มีนาคม  2550  และจะครบ  2  ปี  ในวันที่  7  มีนาคม  2552  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  คดีจึงไม่ขาดอายุความ

สรุป  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมจึงฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายอู่ทองตกลงขายรถยนต์กระบะคันหนึ่งให้แก่นายพิชัย  
800,000 บาท  โดยนายพิชัยได้ชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด  จำนวน  200,000  บาท  ในวันทำสัญญานายอู่ทองได้ส่งมอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่นายพิชัยแล้ว  แต่เนื่องจากรถยนต์กระบะของนายอู่ทองยังผ่อนชำระกับนายดุสิตไม่หมด   นายอู่ทองจึงยังไม่ได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวจากนายดุสิตแต่อย่างใด  ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังนายพิชัยจนกว่านายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  

ในระหว่างนั้นปรากฏว่า  ได้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณชุมชนใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัย  แล้วเพลิงได้ลุกลามมาไหม้บ้านของนายพิชัยเสียหายหมดทั้งหลัง  รวมทั้งรถยนต์กระบะที่นายพิชัยได้รับมอบไว้ด้วย  จนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้เลย

ดังนี้  นายอู่ทองจะมีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทองหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา  371  วรรคแรก  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้  ท่าน มิให้ใช้บังคับถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างนายอู่ทองและนายพิชัยเป็นการทำ สัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อ ปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชัยได้ครอบครองไว้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดโดยไฟลุกลามมา จากชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัยด้วยเหตุอันโทษใครไม่ได้  ก่อนที่นายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือถูกทำลายลงในระหว่างเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ  กรณีนี้จะนำบทบัญญัติของมาตรา  370  มาใช้บังคับไม่ได้  การสูญหรือเสียหายนั้นหาตกเป็นพับแก่นายพิชัยหรือเจ้าหนี้ไม่

หากแต่นายอู่ทองลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายต้องเป็นผู้รับผลแห่งภัยพิบัติเอง  นายอู่ทองจึงหามีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคาค่ารถยนต์กระบะส่วนที่เหลืออยู่ได้ไม่  ตามมาตรา  371  วรรคแรก  อีกทั้งกรณีนี้ไม่จำต้องอ้างมาตรา  372  ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่นด้วย

สรุป  นายอู่ทองไม่มีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทอง

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค 2/2551

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อข้อ 1.  ก . การแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายแดงทำสัญญาเช่าบ้านของนางเหลืองมีกำหนด 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท หลังจากเช่าได้ 7 เดือน นายแดงวิกลจริตและถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและไม่ได้ชำระค่าเช่าให้ แก่นางเหลืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางเหลืองได้ส่งจดหมายเตือนให้นายแดงชำระค่าเช่าแต่นายแดงก็ยังไม่นำค่าเช่า มาชำระ นางเหลืองจึงบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าใน ระหว่างที่นายเขียวซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายแดงเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้เรื่องที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองได้บอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในกฎหมายอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

ก.      อธิบาย

กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามรถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

ข้อยกเว้น ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1.        ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก)  หรือ

2.        การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

ข . วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองบอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เห็นว่า ในขณะที่นางเหลืองแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายแดงซึ่งเป็นคนไร้ ความสามารถ โดยนายเขียวผู้อนุบาลได้เดินทางไปต่างประเทศและไม่ทราบการเลิกสัญญาดังกล่าว กรณีเช่นนี้ถือเป็นการแสดงงเจตนาต่อคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ ด้วยหรือได้ไห้ความยินยอมไว้ก่อน กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้  ตามมาตรา  170  วรรคแรก

ดังนั้น  การที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาเช่า  โดยบอกกล่าวไปยังนายแดงคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ด้วยหรือมิได้ให้ความยินยอมไว้ก่อน  มีผลในทางกฎหมายคือ  นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงคนไร้ความสามารถไม่ได้

 


ข้อ 2.  กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยคนไร้ความสามรถนั้น ถามว่าใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นในทุกกรณี อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2 ) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้น จาการเป็นคนเสมือนไร้ความสามรถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

การบอกล้างโมฆียะกรรม” คือ การแสดงเจตนาทำลายโมฆียะกรรมให้กลายเป็นโมฆะกรรมย้อนหลังไปถึงวันเวลาที่ทำนิติกรรมนั้น

กรณีโมฆียะกรรมได้ทำขึ้นโดยคนไร้ความสามารถ ผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น ได้แก่

1. คนไร้ความสามารถ แต่จะทำการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

2. ผู้อนุบาล เนื่องจากคนไร้ความสามารถอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล

3.  ทายาทของคนไร้ความสามารถ ในกรณีที่ผู้ไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ตามมาตรา 175 วรรคสอง ที่ว่า ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้” แต่ถ้าผู้ไร้ความสามารถยังมีชีวิตอยู่ทายาทจะไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมเลย เว้นแต่ ทายาทนั้นมีฐานะเป็นผู้อนุบาลด้วย

 


ข้อ 3.  นายแดงได้ทำบัตรเครดิตกับธนาคารสยามไทย จำกัด จำนวน 1 ใบ ธนาคารกำหนดเงิน  50,000 บาทในเดือนกันยายน 2549 นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,000 บาท ธนาคารฯ กำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ถ้าชำระภายในกำหนดนายแดงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่พอถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคาร ธนาคารได้มีหนังสือทวงถามมาหลายครั้ง  แต่นายแดงก็ไม่นำเงินไปชำระ

จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลา 9 วัน จะครบกำหนดอายุความ 2 ปี นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องรับชำระเงินเป็นจำนวน 2,000 บาท หลังจากนั้นนายแดงมิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย ต่อมาธนาคารฯได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกทั้งเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยในวันที่  2  มีนาคม  2552  นายแดงต่อสู้ว่าขาดอายุความแล้ว ธนาคารฯ อ้างว่ายังไม่ขาดเพราะอายุความสะดุดหยุดลงในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ดังนี้  อยากทราบว่าข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใดหมายเหตุ   ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่น… เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7)  บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงนั้น ฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า นายแดงได้ทำบัตรเครดิตไว้กับธนาคารฯ และธนาคารฯได้กำหนดวงเงิน 50,000 บาท และกำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 การที่นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งสิ้น 35,000 บาท  กรณีเช่นนี้ถือว่านายแดงเป็นหนี้ธนาคารฯ  อยู่เพียง  35,000  บาทเท่านั้น  แม้บัตรเครดิตจะกำหนดวงเงินไว้ถึง  50,000  บาท  ก็เป็นเพียงแต่การจำกัดมิให้นายแดงใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในการให้สินเชื่อบัตรเครดิตเท่านั้น หามีผลทำให้นายแดงเป็นหนี้ธนาคาร 50,000 บาท แต่อย่างใด

เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระหนี้ นายแดงไม่ได้นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคารฯ เช่นนี้สิทธิเรียกร้องของธนาคารย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป อายุความก็เริ่มนับตั้งแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ตามมาตรา 193/12 โดยเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 11 ตุลาคม 2549 ส่วนกำหนดอายุความนั้น กรณีธนาคารฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับการทำการงานต่างๆ โดยให้ลูกค้านำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าได้ก่อนแล้วธนาคารฯ  จะมาเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในภายหลังถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน สิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ ในกรณีนี้มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ดังนั้นอายุความตามสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ จึงจะครบกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 (ฏ.1517/2550)

แต่ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลาอีก 9 วันจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีดังกล่าว  นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องชำระเงินเป็นจำนวน 2000 บาท และหลังจากนั้นนายแดงก็มิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย จึงเป็นกรณีที่นายแดงชำระเงินให้ธนาคารเจ้าหนี้แต่เพียงบางส่วน อันถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ตามมาตรา 193/14(1) อายุความสะดุดหยุดลง และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แต่ให้นับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น กรณีนี้จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่เท่าอายุความเดิม 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/15

ดังนั้นเมื่อธนาคารฯ นำคดีมาฟ้องในวันที่ 2 มีนาคม 2552 ซึ่งยังไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงแล้วจึงฟังขึ้น (ฎ. 8801/2550)

สรุป  ข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้น

 

ข้อ 4.    ก.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้        อย่างไร อธิบายโดยสังเขป

ข . บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนตกลงขายไม้ฟืน จำนวน 1 ต้น แก่นายสักราคา 800,000 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้งสองฝ่ายกำหนดเวลาชำระราคาไม้ฟืนและกำหนดส่งมอบไม้ฟืนกันในวันที่ 19 มีนาคม 2552 แต่เมื่อถึงวันที่ 4 มีนาคม 2552 บริษัทโกงกางค้าค้าไม้ จำกัด ได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่ง ณ เวลานั้นบริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด  ยังไม่ได้เริ่มทำการตัดฟันไม้ฟืนในป่าชายเลนแต่อย่างใด  จึงเป็นเหตุให้บริษัทโกงกางค้าไม้  จำกัด ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนที่ซื้อขายให้แก่นายสักได้

ดังนี้  บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 372 วรรคแรก นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

ก.      อธิบาย

สัญญาต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ทำให้คู่สัญญาต่างมีหนี้ที่ต้องชำระตอบแทนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั่นเอง เช่น สัญญาซื้อขาย ผู้ขายย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย และผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาตอบแทนเป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน มีดังนี้

หลักทั่วไป คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ กล่าวคือ คู่สัญญาในสัญญาต่างตอบแทนต้องชำระหนี้ตอบแทนกันในขณะเดียวกันในเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วพร้อมกัน ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้และไม่เสนอที่จะชำระหนี้ของตนตามข้อผูกพันในสัญญา  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตอบแทนก็ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. 1  คัน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก. เรียกให้ ข. ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ตน แต่ยังไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้ ข. เช่นนี้ ข. อาจปฏิเสธไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ ก. จนกว่าจะได้ชำระราคาจาก ก. ก็ได้

ข้อยกเว้น แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด กล่าวคือ ในกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนใดมีข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาการชำระหนี้ ซึ่งมีผลให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขเวลา  คือ ยังไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทนในทันทีที่ทำสัญญากัน แต่จะต้องชำระเมื่อถึงกำหนดเวลาที่กำหนดไว้และเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงที่กำหนดไว้ไม่ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. ในราคา 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงกันว่า ข. ยอมให้ ก. ผ่อนชำระราคาเป็นรายเดือนๆ ละ 5,000 บาท มีกำหนด 10 เดือน เช่นนี้เป็นกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนมีข้อกำหนดเงื่อนเวลาในการชำระราคารถยนต์  ดังนั้น  ข  องส่งรถยนต์ให้  ก  ในทันที  เพราะหนี้ของ  ข  ถึงกำหนดชำระแล้ว  แต่ ก. ยังไม่ต้องชำระราคาทั้งหมดให้ ข. ในทันทีแต่ต้องชำระให้เป็นรายเดือนตามที่ตกลงกันไว้  ถ้า ข. เรียกให้ ก. ชำระราคารถยนต์ทั้งหมดในทันที ก. ย่อมปฏิเสธได้ (ตามมาตรา 369 ตอนท้าย)

ข.      วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนให้แก่นายสักได้ เพราะได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้การชำระหนี้ที่บริษัทฯ จะส่งไม้ฟืนให้แก่นายสักเป็นไปไม่ได้

การชำระหนี้ของบริษัทฯ (การส่งไม้)จึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ และสัญญาการซื้อขายไม้ฟืนที่บริษัทฯ ทำกับนายสักนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญามีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน ดังนั้นเมื่อบริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่นายสักได้ (ส่งมอบไม้ฟืน) บริษัทฯ  ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายสักดุจเดียวกัน  ตามมาตรา  369  ประกอบมาตรา  372  วรรคแรก  บริษัทฯ จึงเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้ (ฎ. 149/2539)

สรุป   บริษัทฯ เรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาคฤดูร้อน/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

 ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (ข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  

ก . การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายสุเทพซึ่งมีอายุ 18 ปี ทำสัญญาเช่าบ้านของนายสุธรรมซึ่งมีอายุ 45 ปี มีกำหนดเวลา 2 ปี ค่าเช่าเดือนละ 5, 000 บาท โดยนายสุทินบิดาของนายสุเทพได้รู้เห็นยินยอมด้วย หลังจากเช่าได้ 6 เดือนนายสุเทพไม่ชำระค่าเช่า นายสุธรรมได้บอกกล่าวตักเตือนให้นายสุเทพชำระค่าเช่า แต่นายสุเทพก็ยังไม่นำค่าเช่ามาชำระให้แก่นายสุธรรม นายสุธรรมจึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายสุเทพ

หากปรากฏว่าในขณะที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่านั้น นายสุทินบิดาของนายสุเทพเดินทางไปต่างจังหวัดไม่รู้ถึงการที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว เช่นนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านที่นายสุธรรมกระทำต่อนายสุเทพมีผลในกฎหมายอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

ก . อธิบาย

 กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป   ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

 ข้อยกเว้น   ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1.             ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก) หรือ

2.             การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

ข . วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นายสุธรรมบอกล่าวไปยังนายสุเทพผู้เยาว์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร  เห็นว่า ในขณะที่นายสุธรรมแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายสุเทพซึ่งเป็นผู้ เยาว์ โดยนายสุทินผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ ก่อนแต่อย่างใด และเรื่องมิใช่กิจการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์กระทำได้เองโดยลำพัง กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก

ดังนั้น การที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าโดยบอกกล่าวไปยังนายสุเทพโดยผู้แทนชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ก่อน มีผลในทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายสุเทพไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายสุเทพผู้เยาว์ไม่ได้

 


ข้อ 
2.   นายวิชิตเดินหาซื้อแจกันลายครามในร้านของนายวิชัย เห็นแจกันลายครามโบราณใบหนึ่งในร้าน  นายวิชิตต้องการซื้อแจกันใบนั้น จึงถามนายวิชัยว่า แจกันใบนี้ราคาเท่าไร มีตำหนิหรือไม่” นายวิชัยตอบว่า แจกันใบนี้ไม่มีตำหนิเลย สวยงาม ราคา 10,000 บาท” นายวิชิตหลงเชื่อตามคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนั้นไม่มีตำหนิ จึงต่อรองราคา ในที่สุดได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้นราคา 8,000 บาท เมื่อนายวิชิตกลับถึงบ้าน ได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด 

จึงพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า ถึงแม้ว่านายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนี้มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น นายวิชิตก็ซื้อ แต่จะซื้อในราคาเพียง 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาในท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันที่มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ นายวิชิตจะบอกล้างนิติกรรมซื้อขายแจกันนั้น หรือเรียกร้องอะไรจากนายวิชัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามมาตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิชิตได้สอบถามนายวิชัยผู้ขายว่าแจกันใบนี้มีตำหนิหรือไม่ นายวิชัยตอบว่าไม่มีตำหนิ นายวิชิตหลงเชื่อคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนี้ไม่มีตำหนิ จึงได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้น ในราคา 8,000 บาท กรณีเช่นนี้ ถือว่านายวิชัยผู้ขายแจกันทำกลฉ้อฉลลวงนายวิชิตผู้ซื้อแจกัน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายวิชิตกลับถึงบ้านได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด และพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว นายวิชิตก็ยังคงซื้อแจกันใบนั้นอยู่ดี แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นที่มีรอยร้าวเช่นนั้น คือ 5,000  บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายวิชิตได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล คือ 8,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่นายวิชิตแสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล แต่กลฉ้อฉลของวิชัยมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น นายวิชัยจะไม่ซื้อแจกันจากนายวิชัย เป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายวิชิตจะยอมรับโดยปกติเท่านั้น ดังนั้น นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ ซึ่งได้แก่จำนวนเงินที่นายวิชิตต้องจ่ายเกินไปกว่าราคาอันแท้จริงในขณะนั้นคือ 3,000 บาท ทั้งนี้มาตรา 161 (ฎ. 1559/2524)

 สรุป  นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันไม่ได้ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท

 


ข้อ 
3.   นายสมบูรณ์ซื้อสินค้าหลายอย่างไปจากร้านของนายกิมแช รวมทั้งหมดเป็นเงิน 45,000 บาท กำหนดชำระเงินราคาสินค้าดังกล่าวภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ซื้อ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน นายสมบูรณ์ไม่ชำระเงินให้แก่นายกิมแช ต่อมาอีก 3 เดือน นายสมบูรณ์ก็ยังคงเพิกเฉย ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายกิมแช นายกิมแชจึงมอบอำนาจให้นายพิทักษ์ซึ่งเป็นทนายความติดตามทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ 

นายพิทักษ์ได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแช นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแช และพูดรับรองว่าตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน เช่นนี้การกระทำของนายสมบูรณ์เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือ รับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียก ร้อง

(5)  เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับฟ้องคดี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิทักษ์ทนายความของนายกิมแชได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เพราะมิใช่เป็นการกระทำอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี ตามาตรา 193/14(5)

 แต่เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแชแล้ว นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแชแล้วพูดรับรองว่า ตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระออกไปอีก 6 เดือน ” ดังนี้ปัญหาจึงมีว่า การกระทำของนายสมบูรณ์เช่นนี้ถือเป็นการรับสภาพอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า หากถือว่าการรับสภาพหนี้อาจทำได้ด้วยวาจา ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดที่มาตรา 193/14(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติในข้อความตอนต้นว่า ลูกหนี้อาจรับสภาพหนี้ด้วยการทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่นายสมบูรณ์ได้ขอผัดชำระหนี้ด้วยวาจาหรือยอมรับด้วยวาจาว่าจะชำระหนี้ ให้แก่นายกิมแชนั้น ยังไม่ถือว่านายสมบูรณ์ได้รับสภาพหนี้ต่อนายกิมแชเจ้าหนี้อันจะทำให้อายุ ความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เนื่องจากนายสมบูรณ์มิได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นหนังสือและถือไม่ได้ เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิ เรียกร้องตามมาตรา 193/14(1) (ฎ. 1006/2525  ฎ.539/2526)

สรุป   การกระทำของนายสมบูรณ์ไม่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

 


ข้อ 4.  เมื่อวันที่  1 มีนาคม 2552  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 3 ล้านบาท โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้ ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552 นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่ 5 เมษายน 2552

อย่างไรก็ตามเมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้ว เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่านางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ตามที่นายอาทิตย์กำหนด

เช่นนี้ จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดั่งว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คำสนองของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายหลังในวันที่ 31 มีนาคม 2552 อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้ คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่าผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่ จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น

1. ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา

2. แต่นายอาทิตย์ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทร์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น

สรุป จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ตามมาตรา 358

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาค 1/2552

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 (LA 103) (LW 203)

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)ข้อ 1.   

ก.  ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่ต่อหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใดให้อธิบายโดยสังเขป

ข. นายพิชิตป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งคันหนึ่งของตนให้แก่นายพิชิตซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาในราคาสามแสนบาท โดยนายพิชิตได้ระบุไปในจดหมายคำเสนอนั้นด้วยว่า  ข้อเสนอมีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น” หลังจากที่นายพิชิตส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้ 7 วัน นายพิชิตถึงแก่ความตาย เช่นนี้ การแสดงเจตนาเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตมีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย

หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในทางกำหมาย ในกรณีแสดงเจตนาต่อกฎหมายซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

1.       ตายหรือ

2.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ

3.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

กฎหมายบัญญัติไวเป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับ ก็มีผลตามมาตรา 169 วรรคแรก     

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกันเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายพิชิตซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายรถยนต์ด้วยว่าคำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายพิชิตถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์ไปแล้ว จึงมีผลทำให้คำเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิตอีกต่อไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนาผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับเจตนาของผู้เสนอตามมาตรา 360สรุป การแสดงเจตนาของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิต

 


ข้อ 
2.  ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ภายในกำหนด แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจจับฐานออกเช็คโดยไม่มีเงิน

ดังนี้ ถ้าผู้ขายฝากสละสิทธิการไถ่ถอน การสละสิทธินั้นมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะเกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้การข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 165 วรรคแรก การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่าเป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกติตามมาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาไถ่แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจออกเช็คโดยไม่มีเงิน เช่นนี้นิติกรรมสละสิทธิการไถ่ถอนเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 วรรคแรก เพราะเป็นการเอาเรื่องเช็คมาขู่บีบบังคับให้ผู้ถูกขู่แสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเช็คนั้น ซึ่งลักษณะเป็นการบีบบังคับที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัวตามมาตรา 164 วรรคสอง

ทั้งกรณีนี้ก็ถือไม่ได้ว่าผู้ซื้อฝากซึ่งเป็นผู้ขู่หวังผลตามปกตินิยมจากการขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาทางเช็ค อันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมและไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามมาตรา 165 วรรคแรก แต่อย่างใด (ฎ. 707 -708/2505)

สรุป  การสละสิทธิไถ่ถอนมีผลเป็นโมฆียะ เพราะแสดงเจตนาไปเพราะถูกข่มขู่

 


ข้อ 
3.   เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วยประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายสาโรจน์ถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน นายสาโรจน์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 4 แสนบาท ต่อมานายสาโรจน์จึงได้ไปทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 แต่นายสมพงษ์ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551

นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์เพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท หลังจากนั้นมิได้นำเงินไปชำระอีกเลย นายสาโรจน์จึงนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ตนได้ออกไปก่อนวันที่ 22 กันยายน 2552 นายสมพงษ์ได้ต่อสู้ว่าคดีอายุขาดความแล้ว แต่นายสาโรจน์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความได้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

ตามกรณีอุทาหรณ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วนความประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส การที่นายสมพงษ์ขับรถชนนายสาโรจน์เป็นการกระทำละเมิดอายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมีข้อกำหนดอายุความ 1 ปีตามมาตรา 448 ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 10 สิงหาคม 2552

เมื่อนายสาโรจน์ถูกรถชนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท จึงได้มาทวงถามค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์ แต่นายสมพงษ์ได้ผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์จำนวน 5, 000 บาท เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายสาโรจน์บางส่วน จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง นายสาโรจน์นำคดมาฟ้องศาลในวันที่ 22 กันยายน 2552 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความข้ออ้างของนายสาโรจน์จึงฟังขึ้น

สรุป   ข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก. สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะอย่างใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายสมชายและนายสมบัติมีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับการแบ่งมรดกซึ่งตกทอดมาจากบิดาของคนทั้งสอง ในระหว่างสืบพยาน นายสมชายและนายสมบัติทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกัน โดยมีข้อตกลงข้อหนึ่ง ให้ยกที่ดินมรดกแปลงหนึ่งให้แก่นางสาวสมบุญน้องของทั้งสองคน นางสาวสมบุญทราบเรื่องนี้จึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชายและนายสมบัติและแจ้งว่า ตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกรณีปรากฏว่าภายหลังจากที่ จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเปลี่ยนใจไม่ต้องการยกที่ดินมรดกให้ แก่นางสาวสมบุญ นายสมชายและนายสมบัติจึงตกลงทำสัญญากันใหม่โดยยกเลิกสัญญากันใหม่โดยยกเลิก สัญญาประนีประนอมยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่มรดกให้แก่นางสาวสมบุญ เช่นนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่นี้ใช้บังคับได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะดังนี้

1.       เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก

2.       สิทธิของบุคคลภายนอกเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่เขาแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

บุคคลภายนอก” หมายถึง บุคคลซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญาภริยาหรือสามีของคู่สัญญาไม่ใช่บุคคลภายนอก  (ฎ. 1/2474) 

ทายาทของคู่สัญญาไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมย่อมเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญา  ดังนั้น  ทายาทของคู่สัญญาจึงไม่ใช่บุคคลภายนอก

ข . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 วรรคสอง ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว  คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ สัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสมชายและนายสมบัติทำไว้นั้นเป็นสัญญาเพื่อ ประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ นางสาวสมบุญ เมื่อนางสาวสมบุญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทราบเรื่องจึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชาย และนายสมบัติและแจ้งว่าตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวถือ ว่านางสาวสมบุญได้แจ้งเจตนาแก่นายสมชายและนายสมบัติซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือ เอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นโดยแสดงเจตนารับเอาซึ่งทรัพย์ดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินี้ของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา 375  ดังนั้น  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่เพื่อยกเลิกสัญญาประนีประนอม ยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่ดินมรดกให้แก่นางสาวสมบุญจึงใช้บังคับไมได้ (ฏ. 1156/2521)

สรุป  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่ใช้บังคับไม่ได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  นายสมบูรณ์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ซื้อสายสร้อยคอทองคำเส้นหนึ่งจากร้านค้าของนางสมศรีราคา 38, 000 บาทโดยไม่ได้บอกให้นายสมบัติบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรมของตนทราบ ต่อมาอีก 7 วัน นายสมบัติบิดาของนายสมบูรณ์ทราบเรื่อง จึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำดังกล่าว โดย

ก.    นายสมบัติไปที่ร้านของนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำต่อนางสมศรีกรณีหนึ่ง

ข.    นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไมอยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรีรับไว้แทน อีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี มีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 168 “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์การที่นายสมบัติผู้แทนโดยชอบธรรมไปที่ร้านนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี กรณีนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจึงถือได้ว่านางสมศรีได้ทราบการแสดงเจตนาบอกล้างของนายสมบัติแล้วตามมาตรา 168 ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวจึงมีผลตามกฎหมายแล้ว

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวมีผลตามกฎหมายแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคแรก การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับ นางสมศรีแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไม่อยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของ ร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรี รับไว้แทน  ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีจึงไม่มีผลทางกฎหมาย

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีไม่มีผลตามกฎหมาย

 

ข้อ 2.    ข้อสอบข้อนี้เป็นของวิชา LA 211 (LW 303) จึงให้ตัดออก (ยกประโยชน์ให้แก่นักศึกษา)

พิจารณาแล้ว จากคำแนะนำด้านบนที่กล่าวว่า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)  ดังนั้น  เมื่อมีการยกประโยชน์ให้กับนักศึกษาที่เข้าทำการสอบ  วิชา   LAW 1003 (LA 103) (LW 203)  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ประจำภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา 2552

จึงหมายถึง  ทุกๆคนที่เข้าทำการสอบจะได้คะแนนข้อนี้ไปโดยอัตโนมัติ  คือ  25  คะแนนเต็ม  ยินดีด้วยครับ


ข้อ 
3.

ก.  เงื่อนไขคืออะไร และอาจแบ่งออกได้กี่ประเภท จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ                     

ข. นายแดงทำสัญญาจะขายสุนัขตัวหนึ่งของตนให้แก่นายดำ ราคา 20, 000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอให้สุนัขของนายแดงอีกตัวหนึ่งซึ่งกำลังตั้งท้องตกลูกเสียก่อน ต่อมานายดำได้ไปพบกับนายฟ้า นายฟ้าได้เสนอขายสุนัขของตนซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสุนัขตัวที่นายดำตกลงซื้อกับนายแดง แต่นายฟ้าได้เสนอราคาสุนัขตัวดังกล่าวในราคา 5,000 บาท นายดำไม่ต้องการซื้อสุนัขจากนายแดงอีกต่อไป จึงจ้างนายโหดให้ไปลอบวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้องของนายแดงจนถึงแก่ความตาย เพื่อมิให้เงื่อนไขของนายแดงสำเร็จ

จงวินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำ มีผลอย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลสิ้นผลต่อเมื่อเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 183 วรรคแรกและวรรคสอง นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง   นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

อธิบาย

เงื่อนไข” คือ ข้อกำหนดที่ทำให้นิติกรรมมีผลสมบูรณ์บังคับใช้กันได้หรือทำให้นิติกรรมสิ้นสุดลง ใช้บังคับไม่ได้อีกต่อไป โดยข้อกำหนดนี้อาศัยเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ดังนั้น หากเหตุการณ์ที่กำหนดเกิดขึ้น ก็ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นผลใช้บังคับได้ทันที หรือทำให้นิติกรรมนั้นสิ้นผลทันที

ตัวอย่างเช่น นายแดงทำสัญญากับนายดำว่า นายแดงจะขายรถยนต์ของตนให้กับนายดำ ในราคา 300, 000 บาท ถ้าหากนายดำทำการสมรสกับน้องสาวนายแดงภายในเวลา 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไข เพราะการที่ดำจะสมรสกับน้องสาวของแดงหรือไม่ เป็นเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน

สำหรับประเภทของเงื่อนไข แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.     เงื่อนไขบังคับก่อน   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมมีผลใช้บังคับได้ทันทีที่มีเงื่อนไขนั้นสำเร็จ เช่น ตามตัวอย่างข้างต้น เมือนายดำสมรสกับน้องสาวนายแดง ย่อมถือว่าเงื่อนไขสำเร็จแล้ว ทำให้สัญญานั้นใช้บังคับได้ทันที เงื่อนไขนี้เรียกว่าเงื่อนไขบังคับก่อน

2.     เงื่อนไขบังคับหลัง   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมที่ทำไว้ต่อกันสิ้นผลหรือบังคับระงับใช้บังคับกันไม่ได้อีกต่อไปในทันทีที่เงื่อนไขเกิดขึ้นสำเร็จ เช่น นายแดงให้นายดำเช่าบ้านของตนโดยมีเงื่อนไขว่าหากนายดำย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัดเมื่อใดให้สัญญาเช่าสิ้นสุดทันที เมื่อนายดำเข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวได้ 2 ปี ทางราชการมีคำสั่งย้ายนายดำไปทำงานที่จังหวัดระยอง ดังนี้ สัญญาเช่าบ้านดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงเพราะเงื่อนไขที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความอันใดบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 186  วรรคแรก  ถ้า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดเสียเปรียบและคู่กรณีฝ่าย นั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นไม่สำเร็จให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ตาม อุทาหรณ์ ข้อตกลงระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเพราะเป็นข้อบังคับที่ ทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผลเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตซึ่งคือการคลอดลูกสุนัขอีกตัวของนายแดง

เมื่อความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะทำให้นายดำเสียเปรียบ เพราะต้องซื้อสุนัขในราคาสูง และนายดำได้กระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างนายโหดให้ไปวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้อง จนเป็นเหตุให้เงื่อนไขการคลอดนั้นไม่สำเร็จ เพราะสุนัขที่กำลังตั้งท้องถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะมีการคลอด กฎหมายให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว และเมื่อเงื่อนไขนั้นได้สำเร็จแล้วทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผล นิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป   นิติกรรมการซื้อสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 


ข้อ 
4.   นายศรีกรุงอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่งจดหมายเสนอขายพระสมเด็จวัดระฆังองค์หนึ่งของตนมูลค่าจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นายศรีตรังซึ่งอยู่ที่จังหวัดตรัง โดยแจ้งว่าหากนายศรีตรังตกลงซื้อก็ให้ตอบให้ทราบภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีตรังได้รับจดหมายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 และส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จฯ องค์นั้นถึงนายศรีกรุงทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากส่งจดหมายแล้วนายศรีตรังถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถในวันต่อ มา นางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังได้โทรศัพท์แจ้งข่าวดังกล่าวให้แก่นายศรีกรุง ทราบในวันเดียวกัน 

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของทางการไปรษณีย์ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดส่งจดหมายของ นายศรีตรังไปยังจังหวัดหนองคายแทนที่จะส่งมาจังหวัดตรังตามปกติ เพราะความประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้จดหมายของนายศรีตรังซึ่งตาม ปกติควรมาถึงบ้านนายศรีกรุงภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 กลับมาถึงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีกรุงเห็นว่าจดหมายของนายศรีตรังมาถึงล่วงเวลาที่กำหนดในจดหมายของตน ทั้งนายศรีตรังก็ยังตกเป็นคนไร้ความสามารถตามกฎหมายไปแล้ว  นายศรีตรังจึงไม่น่าจะต้องการพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีกต่อไป จึงเปลี่ยนใจไม่อยากขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีก

นายศรีกรุงจึงไม่สนใจที่ติดต่อนางศรีสวยทายาทของนายศรีตรังในเรื่องการซื้อขายนั้นอีก ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางศรีสวยซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของนายศรีตรังจะเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้แก่ตนซึ่งตนพร้อมจะชำระราคาให้ตอบแทนโดยนางศรีสวยอ้างว่าสัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาเมื่อส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ   ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดนพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

มาตรา 361 วรรคแรก อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายศรีตรังส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จวัดระฆังไปยังนายศรีกรุง เป็นการแสดงเจตนาทำคำสนองต่อนายศรีกรุงผู้เสนอซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แม้ได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว นายศรีตรังผู้แสดงเจตนาทำคำสนองได้ถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถก่อน การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 360 การแสดงเจตนาทำคำสนองที่ได้ส่งออกไปแล้วนั้นจึงไม่เสื่อมเสียไปตามมาตรา 169 วรรคสอง

และแม้การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุงผู้รับการแสดงเจตนาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่นายศรีกรุงกำหนดให้นายศรีตรังทำคำสนองก็ตาม แต่โดยที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งปกติควรจะมาถึงนายศรีกรุงภายในเวลากำหนด คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อนายศรีกรุงผู้รับคำสนองมิได้บอกกล่าวแก่นางศรีสวยโดยพลันว่าคำสนองมาถึงเนิ่นช้า ก็ต้องถือว่าคำสนองนั้นมิได้ล่วงเวลาตามมาตรา 358 วรรคสอง สัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์ดังกล่าวระหว่างนายศรีกรุงและนางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามมาตรา 361 วรรคแรก นางศรีสวยจึงเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน 1 ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

สรุป   นางศรีสวยเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาคฤดูร้อน/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   นายเอกและนายโทสมรู้กันแสดงเจตนาหลอก ๆ ว่านายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโทราคา 800,00 บาท โดยนายโทได้ส่งมอบรถยนต์นั้นให้แก่นายเอก แต่มิได้ชำระราคากันจริง ต่อมาอีกหนึ่งเดือนนายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา โดยนางสาวตรีไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ

เมื่อ รับมอบรถยนต์มาแล้วนางสาวตรีได้นำรถยนต์คันนั้นไปแข่งขันกับเพื่อนบน ถนนหลวงด้วยความประมาทเลินเล่อจึงประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหายยับเยิน แม้ว่านางสาวตรีจะปลอดภัย แต่ก็ต้องเสียเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวน 400,000 บาท อีก 15 วัน ต่อมานายโททราบว่านายเอกเอารถยนต์ไปให้แก่นางสาวตรี

นายโทจึงบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตนโดยอ้างว่าตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายเอกจริง ๆ รถยนต์คันนั้นยังเป็นของตน นางสาวตรีไม่ยอมส่งรถยนต์คืนแก่นายโทโดยอ้างว่าตนได้รับรถยนต์มาโดยสุจริตและต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนวนมาก ให้ท่านวินิจฉัยว่านางสาวตรีจะต้องส่งรถยนต์คืนแก่นายโทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแงและพาณิช

มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริต และต้องเสียหายจาการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

โดยหลัก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายตามมาตรา 155 วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ(2)ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

 กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่า นายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโท การแสดงเจตนาลวงระหว่างนายเอกนายโทจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น ดังนั้นย่อมมีผลทำให้รถยนต์คันดังกล่าวยังคงเป็นของนายโท

การที่นายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา และนางสาวตรีได้รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ ดังนี้ย่อมถือว่านางสาวตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริต

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่บุคคลภายนอกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น บุคคลภายนอกจะต้องได้กระทำโดยสุจริต และต้องได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น(มาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย) แต่กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่านางสาวตรีจะได้กระทำการโดยสุจริต คือได้รับมอบรถยนต์คันนั้นจากนายเอกโดยไม่ทราบถึงการแสดงเจตนาลวงระหว่างนาย เอกและนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวตรีได้รับรถยนต์มาโดยเสน่หา และความเสียหายที่เกิดกับนางสาวตรีที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวนมาก นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของนางสาวตรี เอง ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวงแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อนางสาวตรีไม่ได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงจึงไม่ได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายมาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย เมื่อนายโทบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตน นางสาวตรีจึงต้องส่งรถยนต์ให้แก่นายโท 

สรุป   นางสาวตรีต้องส่งรถยนต์คันนั้นคืนให้แก่นายโท

 


ข้อ 
2.   ที่ดินของนายเหลืองเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายเหลืองจึงขอซื้อที่ดินของนายแดงซึ่งติดกับที่ดินของตน เพื่อเป็นทางออกสู่สาธารณะ นายแดงตกลงขายที่ดินจำนวน 3 ไร่ ให้แก่นายเหลือง ซึ่งปกติที่ดินราคาเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่เนื่องจากนายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนนั้นติดกับทางสาธารณะ 

นายเหลืองเชื่อตามนั้น จึงยอมจ่ายเงินซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าปกติของที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ไม่ติดทางสาธารณะ ต่อมานายเหลืองมาทราบภายหลังว่า นายแดงโกหกตน ที่ดินของนายแดงไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรองดังกล่าว ดังนี้ ถ้าท่านเป็นทนายความของนายเหลือง ท่านจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่นายเหลืองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่อีกฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้นกฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ ( ป.พ.พ. มาตรา 159 )

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นเพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดง เจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉล คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของกการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนที่จะขายให้แก่นายเหลืองเป็นที่ดินติดกับทางสาธารณะ แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินของนายแดงนั้นไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรอง  ถือได้ว่านายแดงได้ขายที่ดินให้แก่นายเหลืองโดยทำการฉ้อฉลแล้ว

แต่ เมื่อนายเหลืองมีเจตนาที่จะซื้อที่ดินของนายแดงเพื่อเป็นทางออกสู่ทาง สาธารณะอยู่แล้วเพียงแต่ได้ซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาที่แพงกว่าปกติของราคา ที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ดินที่ไม่ติดทางสาธารณะจึงถือว่าการทำการฉ้อฉลของ นายแดงนั้น เป็นเหตุที่ทำให้นายเหลืองต้องรับเอาข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายเหลืองจะ ยอมรับโดยปกติ คือทำให้นายเหลืองต้องชำระราคาสูงกว่าราคาซื้อขายปกติ จึงเป็นกลฉ้อฉลแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับข้อกำหนด อันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 161

ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายความของนายเหลือง ข้าพเจ้าแนะนำนายเหลืองมิให้บอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว เพราะนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆียะ แต่จะแนะนำให้นายเหลืองฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 161 และสามารถฟ้องได้ภายในอายุความ 10 ปี เพราะกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องถือหลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

สรุป   ข้าพเจ้าจะแนะนำมิให้นายเหลืองบอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว แต่ให้นายเหลืองฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ถูกนายแดงทำการฉ้อฉลนั้น

 


ข้อ 
3.   วันที่ 31 มีนาคม 2543 นายผอมทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายอ้วน 300, 000 บาท โดยไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการใช้คืน นายอ้วนได้ทวงถามอยู่หลายครั้ง แต่นายผอมก็ปฏิเสธการชำระเงิน  ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดในหนี้ดังกล่าวให้กับนายอ้วน

นายอ้วนจึงมาปรึกษาท่านว่า นายอ้วนจะใช้สิทธิทางศาลให้นายผอมชำระเงินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน  สัปดาห์  เดือนหรือปี  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริมต้นทำการงานกันตามประเพณี

มาตรา  193/5   ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์  วันต้นแห่งเดือนหรือปี  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์  เดือน  หรือปีสุดท้าย  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ถ้าระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น  ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย  ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าย่อมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความนั้นแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ…

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 193/35 “ภายใต้มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน

มาตรา 203 วรรคแรก ถ้าเวลาจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติกรรมทั้งปวงก็มิได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายผอมและนายอ้วนไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการชำระหนี้ นายอ้วนเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา 203 วรรคแรก ซึ่งเป็นเวลาที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้นอายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น (มาตรา 193/12) และเมื่อสัญญาว่าด้วยยืมใช้สิ้นเปลืองไม่ได้กำหนดอายุความไว้ กรณีนี้จึงใช้อายุความ 10 ปี (มาตรา 193/30)

และด้วยเหตุที่อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับระยะเวลาจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการกำหนดนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 และมาตรา 193/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ เมื่อกรณีดังกล่าวไม่ได้กำหนดนับแต่วันต้นปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ดังนั้นอายุความจึงครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2553

การที่นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่หนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว การทำหนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แต่ให้ถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้โดยมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/28 และมาตรา 193/35 ดังนั้นนายอ้วนเจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

สรุป   นายอ้วนสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมชำระหนี้ดังกล่าวได้

 


ข้อ 
4.   จงอธิบายถึงสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ ในกรณีที่

ก.      ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

ข.      ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร

ธงคำตอบ

อธิบาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ดังนี้ คือ

ก.      กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

มาตรา 380 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

จากบทบัญญัติมาตรา 380 จะเห็นได้ว่า ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้  เจ้าหนี้ตามสัญญาย่อมมีสิทธิดังนี้ คือ

1.  เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกที่จะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ หรือเรียกร้องลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

ในกรณีที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก

ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้และได้ผลแล้ว คือลูกหนี้ชำระหนี้และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็หมดสิทธิที่จะริบเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้อีก

แต่ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน แต่ไม่ได้ผล และเจ้าหนี้ไม่ต้องการเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเบี้ยปรับอันจะพึงริบแทนการชำระหนี้ ย่อมสามารถทำได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก แต่อย่างใด

2.    ในกรณีที่เจ้าหนี้เลือกเอาเบี้ยปรับ แต่เบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหายเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย

หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้เลือกที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ย่อมหมดไป แต่การเรียกเอาเบี้ยปรับนั้น ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่เรียกค่าเสียหายตามความจริง ดังนั้นหากเจ้าหนี้เสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีก

หรือในกรณีที่เจ้าหนี้เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ (มาตรา 380 วรรคสอง) และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่เรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากว่าเบี้ยปรับนั้นและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย

ข.      กรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร

มาตรา 381 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง

ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้ เช่นนั้นเวลารับชำระหนี้

จากบทบัญญัติมาตรา 381 จะเห็นได้ว่า การริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเจ้าหนี้ตามสัญญามีสิทธิดังนี้ คือ

1.       เจ้าหนี้มีสิทธิจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นให้ถูกต้องสมควรได้ด้วย

ใน กรณีที่สัญญาใดกำหนดเบี้ยปรับไว้ว่า ลูกหนี้จะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และมีสิทธิรับเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงริบนั้นได้อีกด้วย ไม่มีข้อจำกัดห้ามไว้ดังเช่นในกรณีริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้เลยตาม มาตรา 380 วรรคแรก

2.       ถ้าเบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหาย เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย

การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรนั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ และสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้โดยเจ้าหนี้จะริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงจะริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายก็ได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่ริบหรือเรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับนั้น และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย

3.     ถ้าลูกหนี้ยอมรับชำระหนี้อันไม่ถูกต้องสมควรนั้นแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ชำระหนี้ล่าช้า หรือชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนเป็นต้น ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้บอกกล่าวไว้ในขณะรับชำระหนี้ว่า ตนยังสงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอีกด้วย

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาค 1/2553

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   นายโฉดทราบว่านายธรรมต้องการเช่าพระสมเด็จวัดกระดิ่งองค์หนึ่ง จึงบอกกับนายธรรมว่านายเฉยมีพระที่นายธรรมต้องงการเช่าและตนสามารถนัดให้นายเฉยมาพบกับนายธรรมเพื่อทำสัญญาเช่าพระดังกล่าวได้ แต่แท้จริงแล้วนายโฉดทราบว่าว่าพระที่นายเฉยเป็นเจ้าของเป็นพระที่ทำขึ้นเลียนแบบพระสมเด็จวัดกระดิ่งเท่านั้น

นายธรรมได้ติดต่อขอดูพระของนายเฉยแล้วเห็นว่าเป็นพระที่สวยงามเชื่อว่าเป็นพระวัดกระดิ่งที่แท้จริงจึงเช่ามาในราคา 1 ล้านบาท โดนนายเฉยไม่ทราบว่านายโฉดบอกกับนายธรรมว่าพระของตนเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง ต่อมานายธรรมทราบว่าพระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่งแต่เป็นพระเลียนแบบ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 159 “การแสดงเจตนาเพราะผู้ถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่เป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธรรมได้ทำนิติกรรมโดยการทำสัญญาเช่าพระกับนายเฉย เพราะหลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นายโฉดกล่าวอ้างว่าพระของนายเฉยเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง จึงถือว่านายธรรมได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้กลฉ้อฉลดังกล่าว นายธรรมก็คงจะมิได้ทำสัญญาเช่าพระองค์นั้น (มาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง)

และตามอุทาหรณ์เมื่อกลฉ้อฉลนั้น เป็นกลฉ้อฉลจากบุคคลภายนอก ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย (มาตรา 159 วรรคสาม) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฉยไม่ทราบถึงกลฉ้อฉลดังกล่าว ดังนั้นสัญญาเช่าพระระหว่างนายธรรมกับนายเฉยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกล ฉ้อฉล

แต่อย่างก็ตาม เมื่อต่อมานายธรรมทราบว่า พระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง แต่เป็นพระเลียนแบบ ซึ่งถ้าตนได้ทราบตั้งแต่แรกก็จะไม่ทำสัญญาเช่าพระองค์นี้แน่นอน ดังนั้นนายธรรมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมในรูปของสัญญาเช่าพระดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 157

สรุป   สัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 157

 


ข้อ 
2.   คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมไปมีผลเป็นโมฆียะ ดังนี้ ใครบ้างที่จะมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และจะบอกล้างได้เมื่อใด อธิบายพอให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 “โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

1. บุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความ สามารถก็ได้ถ้าได้รับความนิยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้นิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

 กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรม และนิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 ได้กำหนดผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะไว้ดังนี้ คือ

1.     คนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะนั้นได้ เมื่อได้พ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือาจจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้ารับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

2.       ผู้พิทักษ์ ซึ่งสามารถบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ เมื่อตนได้รู้ถึงโมฆียะกรรมนั้นแล้ว

3.     ทายาทของคนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น

 


ข้อ 
3.   นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นายแดงได้นำนายดำไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่ได้ออกค่ารักษาพยาบาลให้ นายดำได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 10 วัน ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจำนวน 200,000 บาท ต่อมานายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง แต่นายแดงไม่มีเงินจึงได้ผัดผ่อนเรื่อยมา

จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 (ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน จะครบอายุความ 1 ปี) นายแดงได้ทำหนังสือให้นายดำไว้ฉบับหนึ่ง ว่าตนได้ขับรถยนต์ชนนายดำจริง และตกลงจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นายดำเป็นจำนวนเงิน 180,000 บาท แต่ขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ละ 10,000 บาท

งวดแรกจะชำระให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ 18 งวด แต่ปรากฏว่าพอถึงวันที่ 1 มีนาคม 2553 นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระให้และมิได้นำมาชำระให้อีกเลย นายดำจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553  แต่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น  ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นั้น ถือว่านายแดงได้กระทำละเมิดต่อนายดำ ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ซึ่งอายุความฟ้องร้อง 1 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 4 มีนาคม 2553

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง ปรากฏว่านายแดงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นายดำ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14(1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ การที่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก.  คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.  นายสมพงษ์เขียนจดหมายถึงกรมป่าไม้มีข้อความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ทราบว่ากรมป่าไม้มีไม้ของกลางซึ่งทางการยึดได้จากผู้ลักลอบตัดไม้ในป่าหลายแห่งและศาลพิพากษาให้ริบเป็นของแผ่นดินจำนวน 1,500 ท่อน บัดนี้คดีถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอซื้อไม้ของกลางดังกล่าวทั้งหมด ส่วนราคานั้นทางการจะขายเท่าใด แล้วแต่ทางการจะเห็นสมควร”  ต่อมาอีก 10 วัน กรมป่าไม้ทำหนังสือตอบนายสมพงษ์ว่า กรมป่าไม้ตกลงขายไม้ของกลางดังกล่าวให้แก่ท่านจำนวน 1,550 ท่อน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 5,000บาท ทั้งนี้ ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน” ดังนี้ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.  คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

1.เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2. มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

ข. โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดง เจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน

และการแสดงเจตนาที่ถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.       ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2.       มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

กรณีตามอุทาหรณ์ การแสดงเจตนาของนายสมพงษ์ตามจดหมายที่นายสมพงษ์เขียนส่งถึงกรมป่าไม้นั้น เป็นข้อความที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอ แต่เป็นเพียงคำปรารภว่านายสมพงษ์ประสงค์จะเข้าทำสัญญาเท่านั้น

และการแสดงเจตนาของกรมป่าไม้ตามหนังสือที่ตอบนายสมพงษ์ไปนั้น ได้กระทำขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคำเสนอใด ๆ มายังกรมป่าไม้ จึงไม่ถือว่าเป็นคำสนอง แต่เนื่องจากหนังสือของกรมป่าไม้ เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้านายสมพงษ์ตกลงด้วยตามนั้น สัญญาจะเกิดขึ้นทันที จึงถือว่าการแสดงเจตนาโดยหนังสือของกรมป่าไม้ดังกล่าวเป็นคำเสนอ

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ จึงมีเพียงคำเสนอของกรมป่าไม้ ไม่มีคำสนองของนายสมพงษ์ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้จึงไม่เกิดขึ้น(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 927/2498)

สรุป  สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้ไม่เกิดขึ้น

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค การสอบไล่ภาค 2/2553

การสอบไล่ภาค   ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  นายหนึ่งจ้างนายสองให้ไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้กับนายสอง จำนวน 50, 000 บาท นายสองเกรงว่าเมื่อตนทำตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว นายหนึ่งจะไม่ชำระเงินให้จึงให้นายหนึ่งทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับหนึ่งขึ้น โดยระบุในสัญญาว่า นายหนึ่งกู้ยืมเงินนายสองจำนวน 50,000 บาท” เมื่อนายสองทำร้ายร่างกายนายสามตามที่ตกลงกับนายหนึ่งแล้ว จึงมาขอรับเงินจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่งไม่ยอมชำระให้ นายสองจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะฟ้องศาลขอให้บังคับนายหนึ่งชำระเงินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กกระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

คำว่า การแสดงเจตนาลวง” นั้น หมายถึง การที่คู่กรณีสองฝ่ายได้สมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย ดังนั้นนิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรก และจะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันในทางกฎหมายขึ้นระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายสองนั้น  สัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่นายหนึ่งและนายสองได้ทำกันขึ้นมาโดยที่ ทั้งสองไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันแต่อย่างใดดังนั้นจึงถือว่าสัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงตกเป็นโมฆะ นายสองจะนำสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้น ขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้

ส่วนการที่นายหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างให้นายสองไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้นายสอง จำนวน 50, 000 บาท นั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างนายหนึ่งกับนายสองซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้นนายสองจะนำสัญญาจ้างทำของที่ตกเป็นโมฆะนั้นขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป เมื่อนายสองมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายสองว่า นายสองไม่สามารถฟ้องศาลเพื่อบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินแก่นายสองได้ ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ 
2.  ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมมีอยู่อย่างไร อธิบายยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 วรรคแรกและวรรคสอง ดังนี้ คือ

โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมเมื่อมีการบอกล้างแล้วจะมีผลดังนี้

1.       ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำนิติกรรมนั้น

2.       ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน  เป็นต้น

3.       ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน

4.     ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับตั้งแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ตัวอย่าง เช่น ดำอายุ 19 ปี ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500, 000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ มาตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งดำและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดำจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบเงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดำ ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น

 


ข้อ 
3.  นายแดงได้ตกลงจ้างนายดำซึ่งเป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินจากนายเขียว จำนวน 10 ล้านบาท และได้ตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 ล้านบาท เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้นายแดงชนะคดีในวันที่ 15 มีนาคม 2550 นายดำจึงได้มาทวงค่าจ้างว่าความจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธเรื่อยมา 

จนกระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ 2 ปี นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงิน จำนวน 1 แสนบาทจากธนาคารแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนบาท นายดำได้ติดตามทวงถามตลอดมา

แต่นายแดงก็ไม่นำมาชำระ นายดำจึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ. มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (16)    ทนายความหรือผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย…เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ   อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงต้องชำระค่าว่าความให้แก่นายดำ 1 ล้านบาท ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าทนายความนั้นมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(16) ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2552

เมื่อปรากฏข้อเท็จว่า ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำจำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงินดังกล่าวจากธนาคารเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าเป็นการชำระเงินบางส่วน และเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1)  และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ซึ่งอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 คดีจึงขาดอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้น

 


ข้อ 
4.  เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายสมพงศ์ซึ่งอยู่จังหวัดชลบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนให้นายสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ราคา 1, 000,000 บาท โดยกำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้าหากนายสมบูรณ์จะซื้อจะต้องส่งจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงนายสมพงษ์ภายในวันที่  25  กรกฎาคม  2553  นายสมบูรณ์ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งตัวนั้นตามราคาที่นายสมพงศ์เสนอแต่จดหมายมาถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 หากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 เช่นนี้ จะมีผลในกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวเสนอมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่าในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ จดหมายคำสนองตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์ไปถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมพงศ์กำหนดไว้ 6 วัน แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึงประทับตราบนซองจดหมายของนายสมบูรณ์ว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึงนายสมพงศ์ภายใน 3 วัน หรือ 5 วันเป็นอย่างช้า คือ มาถึงทันภายในวันที่ 25 กรกฎคม 2553 ซึ่งนายสมพงศ์กำหนดไปในคำเสนอ

ดังนั้นคำสนองของนายสมบูรณ์จึงเป็นคำสนองที่มาถึงผู้เสนอเนิ่นช้า แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ถูกส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงผู้เสนอภายในเวลากำหนด ซึ่งจะมีผลในกฎหมายตามมาตรา 358 ดังนี้

1. นายสมพงศ์ผู้เสนอมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่าย (คือ นายสมบูรณ์ผู้สนอง) โดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่นายสมพงศ์ผู้เสนอจะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว

2. ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองล่วงเวลา

3. แต่ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายม้าแข่งระหว่างนายสมพงศ์กับนายสมบูรณ์เกิดขึ้น                   

สรุป   จดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์จะมีผลในกฎหมายเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายสมพงศ์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 358 หรือไม่

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนการวิชา LAW1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนนข้อ 1. 

ก. พงศ์ซื้อสลากกาชาดของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมา จำนวน 10 ใบ กำหนดออกรางวัลในวันที่ 31  ธันวาคม 2553 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2553 พรและพุฒเป็นน้องของพงศ์ได้อ้อนวอนขอสลากกาชาดจากพงศ์ พงศ์จึงจำใจให้สลากดังกล่าวแก่พรและพุฒไปคนละ 1 ใบ

เมื่อถึงกำหนดออกรางวัลในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ปรากฏว่าสลากใบที่พงศ์ให้พุฒไปนั้นถูกรางวัลที่ 1 พงศ์เสียดายจึงไปทวงสลากคืนจากพุฒโดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่พุฒจริงๆ พุฒไม่ยอมคืน พงศ์จึงฟ้องคดีเรียกสลากกาชาดใบที่ถูกรางวัลดังกล่าวคืนจากพุฒ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า พงศ์มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข.ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่พุฒรับสลากกาชาดจากพงศ์นั้น พุฒรู้ว่าพงศ์ไม่มีเจตนาให้สลากกาชาดนั้นแก่ตนจริง คำวินิจฉัยของท่านจะเป็นประการใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 154 “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 154 เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น ซึ่งมีหลักคือ การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

แต่มีข้อยกเว้นคือ การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ ถ้าเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา) ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา ในขณะที่แสดงเจตนานั้น

ดัง นั้น นิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้นอยู่นั้นจะตกเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้น อยู่กับว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดง เจตนาในขณะที่แสดงเจตนานั้นหรือไม่ ถ้ารู้นิติกรรมนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าไม่รู้นิติกรรมนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

ก.  การกระทำของพงศ์เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปสัญญาให้สลากกาชาดแก่พุฒ  ถึงแม้ว่าพงศ์จะอ้างว่ามิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดแก่พุฒจริงๆก็ตาม การแสดงเจตนาของพงศ์ก็ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 154 ดังนั้น สัญญาการให้สลากกาชาดแก่พุฒจึงมีผลสมบูรณ์ พงศ์จึงไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

ข.  ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่พุฒรับสลากกาชาดจากพงศ์นั้น พุฒรู้ว่าพงศ์ไม่มีเจตนาให้สลากแก่พุฒจริงๆ การแสดงเจตนาของพงศ์ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 154 ตอนท้าย ถือเป็นกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนาแล้ว ดังนั้น กรณีตามข้อ  ข  พงศ์ย่อมมีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒได้

สรุป  

ก. พงศ์ไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

ข. พงศ์มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

 


ข้อ 
2. การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นิติกรรมไม่สมบูรณ์ ให้นักศึกษาอธิบายเรื่อง ข่มขู่” มาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่นั้น มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 164 และมาตรา 166

มาตรา 164 บัญญัติว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

จากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า ข่มขู่” หมายถึง การใช้อำนาจบังคับแก่กายหรือจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ

การข่มขู่อันเป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.     เป็นการข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัย ซึ่งการข่มขู่ว่าจะให้เกิดภัยนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภัยที่เกิดแก่เนื้อตัวหรือร่างกายของผู้ที่ถูกข่มขู่เท่านั้น อาจจะเป็นภัยที่จะเกิดแก่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

2.     ภัยที่ข่มขู่ว่าจะก่อขึ้นนั้นต้องเป็นภัยอันใกล้จะถึง กล่าวคือ ภัยนั้นกำลังจะเกิดขึ้นและผู้ถูกข่มขู่ไม่อาจจะหาทางหลีกเลี่ยง ขัดขืน หรือป้องกันได้

3.     ภัยที่ถูกข่มขู่นั้นต้องร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว กล่าวคือ ภัยนั้นต้องมีลักษณะที่ร้ายแรงจนผู้ถูกข่มขู่กลัวว่าจะเกิดภัยนั้นขึ้น

ผลของการข่มขู่ นอกจากนิติกรรมจะเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 วรรคแรก ดังกล่าวแล้ว มาตรา 166 ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

หมายความว่า การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่ ไม่ว่าการข่มขู่จะมาจากกรณีฝ่ายหนึ่งหรือมาจากบุคคลภายนอกย่อมทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น

ข้อยกเว้น กรณีที่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่อันเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมตกเป็นโมฆียะ มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 165 ซึ่งบัญญัติว่า การขู่ว่าจะใช่สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าการข่มขู่

การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

จากบทบัญญัติดังกล่าว กรณีที่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่อันเป็นจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะนั้น แยกเป็น 2 กรณีดังนี้คือ

1.     การ ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม หมายถึง การใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตนโดยขู่ว่าจะฟ้องศาลถ้าไม่ยอมใช้ หนี้ เป็นต้น

2.     การกระทำที่ทำไปเพราะนับถือยำเกรง หมายถึง การกระทำการใดที่ได้กระทำไปเพราะความเคารพระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ เช่น บุตรกับบิดามารดา ศิษย์กับอาจารย์ ผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้กระทำมิได้ทำไปเพราะความกลัวว่าจะเกิดภัยขึ้นแต่อย่างใด

ข้อ 3.   วันที่ 1 มกราคม 2547 นายจนได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจำนวน 100,000 บาท โดยมี ข้อตกลงกันว่าให้นายจนคืนเงินทั้งหมดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อถึงกำหนดวันชำระ นายจนไม่นำเงินมาชำระกับนายรวย นายรวยจึงได้ทวงถามหลายครั้ง แต่นายจนปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554

นายจนได้โทรศัพท์ไปหานายรวยและยอมรับว่าตนเป็นหนี้ดังกล่าวจริงโดยจะชำระหนี้ให้ในภายหลัง แต่นายจนไม่นำเงินมาชำระ นายรวยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 นายจนต่อสู้ว่าหนี้นั้นขาดอายุความแล้ว ตนขอปฏิเสธการชำระหนี้ จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายจนฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/1 “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบ ข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น

มาตรา 193/3 วรรคสอง ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำ การงานกันตามประเพณี

มาตรา 193/5 วรรคสอง ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/ 9  “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัย  แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การกู้ยืมระหว่างนายจนกับนายรวยนั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกันได้เป็นต้นไป ซึ่งก็คือวันที่หนี้นั้นถึงกำหนดชำระคือวันที่ 1 กุมพาพันธ์ 2547 ตามมาตรา 193/12 ดังนั้นอายุความจึงครบกำหนดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ตามมาตรา 193/1, 193/3 วรรคสอง และ 193/5 วรรคสอง

และตามมาตรา 193/14(1) ได้กำหนดไว้ว่าอายุความจะสะดุดหยุดลง หากลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้เจ้าหนี้ ดังนั้น การรับสภาพหนี้ด้วยวาจาจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 นายจนได้โทรศัพท์ไปหานายรวยและยอมรับว่าตนเป็นหนี้ดังกล่าวว่าจริง  โดยจะชำระหนี้ให้ในภายหลัง ซึ่งถือเป็นเพียงการรับสภาพหนี้ด้วยวาจาเท่านั้นมิได้มีการทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่กัน จึงไม่เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ดังนั้น การที่นายรวยนำคดีมาฟ้องต่อศาลวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 หนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว  ตามมาตรา  193/30  ดังนั้น เมื่อนายรวยเจ้าหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจนสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว   นายจนลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10 ข้ออ้างของนายจนจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายจนฟังขึ้น


ข้อ 4.  ระหว่างที่นายผอมกำลังออกกำลังกายอยู่นั้น นายอ้วนเพื่อนเก่าได้เดินสวนมาเจอกับนายผอม นายอ้วนได้เสนอขายนาฬิกาข้อมือของตน ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นพิเศษ สามารถวัดการเผาผลาญพลังงานจากการออกกำลังกายได้  ปกติราคา 50, 000 บาท หากนายผอมสนใจจะให้ราคาพิเศษ 40,000 บาทโดยนายอ้วนเสนอว่าให้รีบตอบรับภายใน 2 วัน แต่นายผอมบอกกับนายอ้วนว่าไม่ต้องการซื้อ แล้วนายผอมก็เดินแยกออกมา ผ่านไป 1 วัน นายผอมเปลี่ยนใจจึงโทรไปบอกกับนายอ้วนว่าต้องการซื้อนาฬิกาดังกล่าว นายอ้วนบอกว่าต้องซื้อในราคา 50,000 บาท นายผอมจึงงบอกนายอ้วนว่า นายอ้วนบอกให้ตอบรับได้ภายใน 2 วัน ขณะที่ผ่านมาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ดังนั้น นายอ้วนจึงต้องขายนาฬิกาให้ตนในราคา 40,000 บาท ข้ออ้างของนายผอมฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลผลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 354 “คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้

มาตรา 357 “คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป

วินิจฉัย

ในการทำคำเสนอนั้นตามมาตรา 354 ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ทำคำเสนอได้มุ่งระยะเวลาไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำคำสนอง ผู้เสนอไม่อาจจะถอนคำเสนอก่อนสิ้นระยะเวลาที่บ่งไว้นั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามหากอีกฝ่ายหนึ่งบอกปัดคำเสนอนั้นไปยังผู้เสนอแล้ว หรือมิได้สนองรับภายในเวลาที่กำหนด ย่อมมีผลทำให้คำเสนอนั้นสิ้นความผูกพันตามมาตรา 357

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ้วนเสนอขายนาฬิกาข้อมือของตนให้กับนายผอม โดยนายอ้วนเสนอว่าให้รีบตอบรับภายใน  2 วันนั้น  คำเสนอขายของนายอ้วนย่อมถือเป็นคำเสนอที่บ่งระยะเวลาที่ให้ทำ คำสนอง ดังนั้น นายอ้วนจึงไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ตามมาตรา 354

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายผอมบอกกับนายอ้วนว่าไม่ต้องการซื้อ และเดินแยกออกมานั้นถือเป็นการปัดคำเสนอไปยังนายอ้วนผู้เสนอแล้ว จึงมีผลทำให้การเสนอขายของนายอ้วนสิ้นความผูกพันตามมาตรา 357 ข้ออ้างของนายผอมที่ว่า นายอ้วนบอกให้ตอบรับได้ภายใน 2 วัน ขณะนี้ผ่านมาได้เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น นายอ้วนจึงต้องขายนาฬิกาให้ตนในราคา 40, 000 บาทนั้นจึงฟังไม่ข้น เพราะคำเสนอดังกล่าวสิ้นความผูกพันไปแล้ว

สรุป  ข้ออ้างของนายผอมฟังไม่ขึ้น

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาค 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1.  เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอ ขายบ้านหลังหนึ่งของตนราคาสามล้านบาทแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี  หลังจากนายอาทิตย์ส่งจดหมายไปแล้วหนึ่งวัน ก่อนที่จดหมายของนายอาทิตย์ไปถึงนายจันทร์เกิดอุทกภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระแสน้ำหลากไหลมาอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้นายอาทิตย์จมน้ำตาย ดังนี้

ก.      การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์มีผลในกฎหมายประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข.    กรณีปรากฏว่าเมื่อจดหมายของนายอาทิตย์ไปถึงนายจันทร์ นายจันทร์ได้ทราบข่าวการตายของนายอาทิตย์แล้ว แต่อยากได้บ้านหลังที่นายอาทิตย์เสนอขาย นายจันทร์จึงเขียนจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นแล้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้นายอาทิตย์ นางสาวน้อยหน่าซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของนายอาทิตย์ได้รับจดหมายดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์และนายจันทร์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช่บังคับ ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย

วินิจฉัย

ก.            กรณี อุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ซึ่งมีเจตนาที่จะขายบ้านของตนให้แก่นายจันทร์และได้ส่งการ แสดงเจตนาเสนอขายบ้านหลังดังกล่าวโดยจดหมายทางไปรษณีย์ไปให้นายจันทร์แล้ว นั้น แม้ต่อมาภายหลังนอกอาทิตย์ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย ดังนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง ให้ถือว่า การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์ที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป คือให้ถือว่าการแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์นั้นยังคงมีผลสมบูรณ์

ข.            ตาม อุทาหรณ์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อจดหมายแสดงเจตนาขายบ้านของนายอาทิตย์ได้ไปถึงนายจันทร์นั้น นายจันทร์ได้ทราบข่าวการตายของนายอาทิตย์แล้ว แต่นายจันทร์อยากได้บ้านหลังที่นายอาทิตย์เสนอขาย นายจันทร์จึงได้เขียนจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นแล้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้ นายอาทิตย์ กรณีดังกล่าวจึงต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า มิให้นำ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ ถ้าหากว่าก่อนที่จะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ดังกล่าวนี้จึงต้องถือว่า การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์นั้นย่อมเสื่อมเสียไป หรือสิ้นความผูกพันไป

และเมื่อกรณีดังกล่าว ถือว่าไม่มีคำเสนอของนายอาทิตย์ มีแต่เพียงคำสนองของนายจันทร์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์และนายจันทร์จึงไม่เกิดขึ้น

สรุป 

ก. การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ข. สัญญาซื้อขายบ้านระหว่านายอาทิตย์และนายจันทร์ไม่เกิดขึ้น

 


ข้อ 
2.  จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 “โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้

ถามว่า เวลาที่ให้สัตยาบันได้ในกรณีบุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ได้แก่เวลาใด อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 179 วรรคสอง บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้น ภายหลังจากบุคคลนั้นพ้นจากเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี

อธิบาย

ในกรณีที่บุคคลวิกลจริตเป็นผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 179 วรรคสอง ได้กำหนดเวลาให้สัตยาบันได้สำหรับบุคคลวิกลจริตไว้ดังนี้ คือ

1.       เมื่อบุคคลวิกลจริตนั้นได้รู้เห็นหรือจำได้ว่าตนได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะไว้  และ

2.       ในขณะนั้นจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว กล่าวคือ บุคคลนั้นได้หายจากอาการวิกลจริตแล้วนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ถ้าบุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะบอกล้างโมฆียะที่ตนได้กระทำ ก็จะต้องบอกล้างภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่ได้รู้เห็นโมฆียะกรรมนั้น  และจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 181

 


ข้อ 
3.   นายนิติรัฐต้องการจะฟ้องขับไล่นายนิติกรออกจากที่ดินสวนผลไม้ จำนวน 50 ไร่ โดยนายนิติรัฐกล่าวอ้างว่า บิดาของตนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายนิติกร ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเองที่บ้านและมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดิน ตกเป็นโมฆะ

ในขณะที่นายนิติกรกล่าวอ้างว่า บิดาของนายนิติรัฐมอบที่ดินนั้นให้แก่ตน และตนก็ชำระค่าที่ดิน จำนวน 500,000 บาท ให้แก่บิดาของนายนิติรัฐเรียบร้อยแล้ว ตนเป็นเจ้าของที่ดิน สัญญามีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้”  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า 6 เดือนหลังจากทำการซื้อขายที่ดินบิดาของนายนิติรัฐได้ถึงแก่กรรมลง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของฝ่ายใดฟังขึ้น นายนิติรัฐมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกรหรือไม่ จะต้องดำเนินการอย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 172 “โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่บิดาของนายนิติรัฐขายที่ดินให้แก่นายนิติกร โดยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันองที่บ้าน  และมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ (มาตรา 152)  ตามแบบของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  (มาตรา 456 วรรคแรก)  ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของนายนิติรัฐจึงฟังขึ้น ส่วนข้อกล่าวอ้างของนายนิติกรที่ว่าสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้นั้นฟังไม่ขึ้น

และ เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้ ดังนั้นนายนิติรัฐย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกร แต่นายนิติรัฐจะต้องกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมของสัญญาซื้อขาย ที่ดินนั้นเสียก่อนจึงทำการฟ้องคดีได้ และกรณีตามอุทาหรณ์ถือว่านายนิติรัฐเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  เพราะนายนิติรัฐเป็นทายาทของบิดาผู้ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงเป็นผู้มีสิทธิกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมตามมาตรา 172 วรรคแรก และถ้านายนิติรัฐจะฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงดังกล่าวอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง

สรุป  ข้อกล่าวอ้างนายนิติรัฐฟังขึ้น และนายนิติรัฐมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกรได้ แต่จะต้องกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะของสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเสียก่อน จึงจะทำการฟ้องคดีได้

 


ข้อ 
4.  นายกลมตกลงซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากนายอ้วนซึ่งเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์มือถือในราคา 2,000 บาท โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้นายกลมชำระเงินในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 และให้หนี้ดังกล่าวมีอายุความ 3 ปี ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ปรากฏว่านายกลมก็ไม่ได้ชำระเงินตามที่ตกลงแต่อย่างใด จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 นายอ้วนได้ทวงถามให้นายกลมชำระเงิน จำนวน 2,000 บาท นายกลมชำระเงินให้กับนายอ้วนจำนวน 1,000 บาท โดยบอกว่าส่วนที่เหลือจะชำระให้ในภายหลัง แต่นายกลมก็ไม่เคยชำระหนี้ให้กับนายอ้วนอีกเลย วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 นายอ้วนทวงถามให้นายกลมชำระหนี้ นายกลมอ้างว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว  จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายกลมฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1)  ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุสาหกรรมหรือช่างฝีมือเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

ธงคำตอบ

 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 193/3 วรรคสอง ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในการวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

มาตรา 193/5 วรรคสอง ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/11  “อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องนำมาวินิจฉัยอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 หนี้ระหว่างนายกลมกับนายอ้วนนั้นมีอายุความเท่าใด

การที่นายอ้วนซึ่งเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์มือถือ  ได้เรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบให้แกนายกลมผู้ซื้อแล้วนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34  (1) กำหนดให้มีอายุความ 2 ปี การที่นายอ้วนและนายกลมได้ตกลงกันให้มีกำหนดอายุความ 3 ปีนั้น เป็นการขยายอายุความออกไปซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 193/11 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้นจึงต้องใช้อายุความตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้คือ 2 ปี

ประเด็นที่ 2 ข้ออ้างของนายกลมที่ว่าหนี้นั้นขาดอายุความฟังขึ้นหรือไม่

เมื่อหนี้ระหว่างนายอ้วนกับนายกลมมีอายุความ 2 ปี  และซึ่งอายุความนั้นตามมาตรา 193/12 ให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งตามอุทาหรณ์เวลาที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คือวันที่ 12 ตุลาคม 2554 นั่นเอง  ดังนั้นอายุความ 2 ปี ย่อมครบกำหนดในวันที่ 12 ตุลาคม 2556 (มาตรา 193/3 วรรคสอง และมาตรา 193/5 วรรคสอง)

การที่นายกลมได้ชำระหนี้ให้กับนายอ้วนบางส่วนในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 นั้น ย่อมให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14  (1) และระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ (ตามมาตรา 193/15 วรรคแรก) และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ (ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง) ดังนั้นหนี้ระหว่างนายอ้วนกับนายกลมจึงครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 12 ธันวาคม 2557

และตามอุทาหรณ์เมื่อนายอ้วนได้ทวงถามให้นายกลมชำระหนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น การที่นายกลมอ้างสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายกลมที่ว่าหนี้นั้นขาดอายุความฟังไม่ขึ้น

WordPress Ads
error: Content is protected !!