LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เบี้ยวทำสัญญาอนุญาตให้กลมทำทางภาระจำยอมเป็นถนนผ่านที่ดินของเบี้ยว  โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา  แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากกลมใช้ทางภาระจำยอมได้  5  ปี  เบี้ยวก็ถึงแก่ความตาย  แบนบุตรของเบี้ยวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้นในฐานะทายาทโดยธรรม  และแบนได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้กับสมปอง

หลังจากจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว  สมปองจึงห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมอีกต่อไป  แต่กลมอ้างสัญญาที่ตนทำไว้กับเบี้ยวขึ้นต่อสู้ว่า  ตนยังสามารถใช้ทางภาระจำยอมได้ต่อไป  ดังนี้สมปองจะห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้หรือไม่  และข้อต่อสู้ของกลมรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  (มาตรา  1299  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เบี้ยวทำสัญญาอนุญาตให้กลมทำทางภาระจำยอมเป็นถนนผ่านที่ดินของเบี้ยวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น  กลมจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้  แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างเบี้ยวกับกลมซึ่งเป็นคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก

ต่อมาเมื่อเบี้ยวถึงแก่ความตาย  แบนบุตรของเบี้ยวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้นในฐานะทายาทโดยธรรม  อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก  ดังนั้น  แบนผู้รับมรดกจึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเบี้ยวเจ้ามรดกที่มีต่อกลมดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  แบนได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้กับสมปอง  และสมปองได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว  สมปองย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น  และถือเป็นบุคคลภายนอก  ดังนั้น  เมื่อภาระจำยอมดังกล่าวไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  จึงไม่สามารถบังคับใช้กับสมปองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้  สมปองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้  และข้อต่อสู้ของกลมที่ว่าตนทำสัญญาไว้กับเบี้ยวจึงยังสามารถใช้ทางภาระจำยอมได้ต่อไปนั้นรับฟังไม่ได้  เพราะกลมไม่สามารถยกสัญญาที่ไม่บริบูรณ์นั้นขึ้นต่อสู้กับสมปองได้ตามเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้น

สรุป  สมปองจะห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้  และข้อต่อสู้ของกลมรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  มั่นได้ซื้อพระเครื่ององค์หนึ่งในราคา  5,000  บาท  จากร้านพุทธศิลป์ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ข้างวัดมหาธาตุ  ท่าพระจันทร์  ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ  โดยมั่นไม่รู้ว่าพระเครื่ององค์ดังกล่าวเป็นของเมฆที่ถูกคนร้ายขโมยไป

และนำไปขายที่ร้านพุทธศิลป์ในราคา  2,000  บาท  หลังจากซื้อพระเครื่องดังกล่าวแล้ว  มั่นได้นำไปใส่กรอบทองคำเป็นเงิน  20,000  บาท  ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับคนร้ายได้  และสืบทราบว่าพระของกลางอยู่ที่มั่น  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  เมฆจะเรียกให้มั่นคืนพระเครื่ององค์นั้นพร้อมกรอบทองให้กับตนได้หรือไม่  และระหว่างมั่นกับเมฆมีสิทธิเรียกร้องใดๆต่อกันได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1332  คือ  แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน  ก็ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่มั่นซื้อพระเครื่องดังกล่าวจากร้านพุทธศิลป์ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ข้างวัดมหาธาตุ  ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ  โดยมั่นไม่รู้ว่าพระเครื่ององค์นั้นเป็นของเมฆที่ถูกคนร้ายขโมยไปและนำไปขายที่ร้านพุทธศิลป์นั้น  มั่นย่อมเป็นบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากท้องตลาด  และจากพ่อค้าซึ่งขายสินค้าชนิดนั้น  ดังนั้นมั่นจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1332  คือ  มั่นไม่จำต้องคืนพระเครื่ององค์นั้นให้กับเมฆ  แม้เมฆจะเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็ตาม  เว้นเสียแต่ว่าเมฆจะชดใช้ราคาพระเครื่องที่มั่นได้ซื้อมา  คือ  5,000  บาท  เมฆจึงจะสามารถเรียกให้มั่นคืนพระเครื่ององค์นั้นได้

ส่วนกรณีที่มั่นนำพระเครื่องไปใส่กรอบทองคำเป็นเงิน  20,000  บาทนั้น  เมื่อปรากฏว่ากรอบพระทองคำไม่ใช่สาระสำคัญในความเป็นอยู่ของพระเครื่อง  จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของพระเครื่อง  ตามมาตรา  144  อันจะทำให้เมฆเจ้าของทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในกรอบพระทองคำด้วยแต่อย่างใด  ดังนั้น  กรอบพระทองคำจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของมั่น  เมฆไม่มีสิทธิเรียกเอากรอบพระทองคำจากมั่น

สรุป  หากเมฆต้องการจะเรียกให้มั่นคืนพระเครื่อง  จะต้องชดใช้เงินให้แก่มั่น  5,000  บาท  ส่วนกรอบพระทองคำนั้น  เมฆไม่มีสิทธิเรียกเอากรอบพระทองคำจากมั่น

 

ข้อ  3  นายแมนเข้าไปทำนาในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนางมั่งมีมาได้  4  ปี  ต่อมานายแมนถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา  1  ปี  6 เดือน  เมื่อออกจากคุกแล้ว  นายแมนได้เข้าไปครอบครองทำนาในที่ดินของนางมั่งมีอีก  4  ปี  6  เดือน  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายแมนอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย 

กรณีตามอุทาหรณ์  โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

  1.  เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น  โดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
  2. ได้ครอบครองโดยความสงบ
  3. ครอบครองโดยเปิดเผย
  4. ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
  5. ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองหรือยึดถือทรัพย์สินนั้นตลอดเรื่อยมาโดยไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  หรือขาดการยึดถือโดยใจสมัครในบางช่วงบางตอน  และถ้าหากเป็นการขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ  เพราะมีเหตุมาขัดขวาง  กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้อายุความการครอบครองสะดุดหยุดลง  หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  ทั้งนี้ตามมาตรา  1384

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายแมนจะอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีได้หรือไม่  เห็นว่า การที่นายแมนเข้าไปครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนางมั่งมีมาได้  4  ปี  และต่อมาได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายแมนขาดการยึดถือที่ดินโดยไม่สมัครใจ  เนื่องจากมีเหตุมาขัดขวางหรือไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่านายแมนไม่อาจกลับเข้าครอบครองที่ดินอีกได้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  เนื่องจากศาลพิพากษาจำคุกนายแมน  1  ปี  6  เดือน  จึงมีผลทำให้การครอบครองของนายแมนสิ้นสุดลง  ตามมาตรา  1384

ดังนั้น  แม้ต่อมานายแมนจะพ้นโทษจำคุก  และกลับเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีอีก  นายแมนก็ไม่สามารถจะนำระยะเวลาการครอบครองเดิม  (4  ปี)  มานับรวมกับการครอบครองขณะตนถูกจำคุก  (1  ปี  6  เดือน)  และภายหลังออกจากคุก  (4  ปี  6  เดือน) ได้ หากนายแมนจะนับก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่เมื่อออกจากคุกแล้วมาครอบครองใหม่  จึงเท่ากับนายแมนเพิ่งครอบครองปรปักษ์ได้เพียง  4  ปี  6  เดือน  ซึ่งยังไม่ครบ  10  ปี  นายแมนจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีตามมาตรา  1382  ดังนั้น  นายแมนจะอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีไม่ได้

สรุป  นายแมนอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีไม่ได้

 

ข้อ  4  จันทร์จดทะเบียนภาระจำยอมให้อังคารใช้น้ำในบ่อน้ำซึ่งอยู่ในที่ดินของจันทร์ได้  หลังจากที่อังคารใช้น้ำจากบ่อของจันทร์มาได้  5 ปี  อังคารก็ไม่เคยมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้อีกถึง  5  ปี  ต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ  เมื่อพุธซื้อที่ดินแล้วจึงมาใช้น้ำในที่ดินของจันทร์  ดังนี้ จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธนำน้ำจากบ่อน้ำของตนไปใช้ได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1399  ภาระจำยอมนั้น  ถ้ามิได้ใช้สิบปี  ท่านว่าย่อมสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  ภาระจำยอมนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์กับอสังหาริมทรัพย์อื่น  (มาตรา  1387)  ดังนั้น  ภาระจำยอมจึงตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งภารทรัพย์และสามยทรัพย์เสมอ  ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองนั้นจะโอนไปเป็นของบุคคลใด  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น  และหากไม่ได้ใช้ภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ภาระจำยอมนั้นย่อมระงับสิ้นไปตามมาตรา  1399  ซึ่งถือเป็นอายุความเสียสิทธิ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์จดทะเบียนภาระจำยอมให้อังคารมีสิทธิใช้น้ำในบ่อน้ำ  ซึ่งอยู่ในที่ดินของจันทร์ได้นั้น  ภาระจำยอมดังกล่าวย่อมบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ  (มาตรา  1299  วรรคแรก)  และการที่อังคารได้ใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์เพียง  5  ปี  แล้วก็ไม่เคยมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้อีกเลยเป็นเวลาถึง  5  ปีนั้น  เมื่อปรากฏว่าการที่ไม่ได้ใช้ภาระจำยอมนั้นยังไม่ถึง  10  ปี  จึงยังไม่มีผลทำให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ระงับไปตามมาตรา  1399

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ  พุธผู้รับโอนที่ดินมาจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีสิทธิในภาระจำยอมดังกล่าว  คือ  มีสิทธิเข้าไปใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้  (มาตรา  1387)  ดังนั้น  เมื่อภาระจำยอมดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิ  ผูกพันอยู่กับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์  จันทร์จึงไม่มีสิทธิห้ามพุธไม่ให้มาใช้น้ำจากบ่อน้ำซึ่งอยู่ในที่ดินของตนได้ 

สรุป  จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธนำน้ำจากบ่อน้ำของตนไปใช้ไม่ได้

LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 


คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ
 

ข้อ  1  ชัยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งตีใช้หนี้ให้เชิดเจ้าหนี้  แต่ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากชัยส่งมอบที่ดินให้เชิดครอบครองได้สามปี  เกียรติเจ้าหนี้ของชัยได้ฟ้องศาลให้ชัยชำระหนี้และศาลพิพากษาให้เกียรติชนะคดี  เกียรติจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดที่ดินแปลงที่ชัยเคยทำสัญญาตีใช้หนี้ให้เชิดไปแล้ว  เพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้เกียรติ

เชิดรู้เรื่องจึงร้องขัดทรัพย์โดยอ้างว่าเชิดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น  เพราะชัยเอาที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้ตนแล้ว  เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธินำออกขายทอดตลาด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  เชิดจะร้องขัดทรัพย์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  (มาตรา  1299  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ชัยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งตีใช้หนี้ให้แก่เชิดนั้น  ถือว่าเชิดเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  เชิดจะยกสัญญานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้  แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างชัยกับเชิดในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก

ดังนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  เกียรติเจ้าหนี้ของชัยได้ฟ้องศาลให้ชัยชำระหนี้  และศาลได้พิพากษาให้เกียรติชนะคดี  เกียรติจึงสามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดที่ดินแปลงที่ชัยเคยทำสัญญาตีใช้หนี้  ให้เชิดเพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้เกียรติได้  เชิดจะร้องขัดทรัพย์โดยอ้างว่าเชิดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น  เพราะชัยเอาที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้ตนแล้ว  เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธินำออกขายทอดตลาดไม่ได้  เพราะสัญญานำอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  การโอนกรรมสิทธิ์จึงถือว่าไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  เชิดจึงเอาสัญญาดังกล่าวขึ้นต่อสู้เกียรติไม่ได้  ดังนั้นเกียรติซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  และเป็นบุคคลภายนอกจึงมีสิทธิในที่ดินดีกว่าเชิด  และสามารถนำยึดที่ดินพิพาทได้

สรุป  เชิดจะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้

 

ข้อ  2  นายดำซื้อแหวนวงหนึ่งราคา  2,000  บาท  จากร้านขายของหลุดจำนำของนายขาว  ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่า  และนายขาวทำการขายของเก่าทุกชนิดที่หลุดจำนำ  หลังจากซื้อได้ประมาณ  10  วันจึงทราบว่าแหวนวงนี้เป็นแหวนของนายเขียว  แต่ถูกนายแดงผู้เป็นลูกจ้างขโมยมาจำนำที่โรงรับจำนำแห่งหนึ่ง

และแดงไม่ได้ไปไถ่จึงหลุดจำนำ  ต่อมาร้ายขายของเก่าของนายขาวได้ไปประมูลสินค้าหลุดจำนำจากโรงรับจำนำและขายต่อ  นายเขียวเจ้าของแหวนจึงขอแหวนคืนจากนายดำ  ดังนี้  นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1332  ได้หรือไม่  และนายดำจะต้องคืนแหวนแก่นายเขียวหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

โดยหลัก  การซื้อขายทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา  1332  อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองนั้น  ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายดำซื้อแหวนจากร้านขายของหลุดจำนำของนายขาว  ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่านั้น  มิได้เป็นกรณีที่นายดำซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเอกชน  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  นายดำผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1332  แม้นายดำจะซื้อโดยสุจริตเพราะไม่รู้ว่าแหวนวงดังกล่าวเป็นของนายเขียว  ซึ่งถูกนายแดงขโมยมาจำนำที่โรงรับจำนำแห่งหนึ่งจนหลุดจำนำก็ตาม

ดังนั้น  เมื่อนายเขียวเจ้าของแหวนขอแหวนคืนจากนายดำ  นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อมาจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1332  ไม่ได้  และนายดำจะต้องคืนแหวนให้แก่นายเขียว  ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

สรุป  นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อแหวนมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1332  ไม่ได้  และนายดำจะต้องคืนแหวนให้แก่นายเขียว

 

ข้อ  3  พุธครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งร่วมกับนายศุกร์  เมื่อครอบครองไปได้หนึ่งปี  พุธกับศุกร์ทำสัญญาเป็นหนังสือตกลงขายส่วนของตนให้กับศุกร์  โดยพุธตกลงกับศุกร์ว่าตนยังไม่ต้องรื้อถอนบ้านออกไป  คงอยู่อาศัยในที่ดินนั้นต่อไปได้  พุธอยู่ต่อมาได้หนึ่งปี  พุธได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้จันทร์  โดยจันทร์สุจริต  เพราะเห็นพุธอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมานานแล้ว  และจันทร์เชื่อที่พุธบอกว่าศุกร์เช่าที่ดินแปลงนั้นจากพุธ  ต่อมาเมื่อศุกร์ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน  จันทร์ได้มาคัดค้าน  ตามข้อเท็จจริงนี้  ถ้าท่านเป็นศาล  จะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง

มาตรา  1380  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่  ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน 

ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่  การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า  ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธทำสัญญาเป็นหนังสือตกลงขายที่ดินมือเปล่าส่วนของตนให้กับศุกร์นั้น  ถือว่าพุธได้สละการครอบครองในที่ดินแล้ว  สิทธิการครอบครองที่ดินของพุธจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคแรก  และถึงแม้พุธจะยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวต่อไป  การโอนที่ดินดังกล่าวก็เป็นผลแล้ว  เพราะเป็นการโอนตามมาตรา  1380  ซึ่งบัญญัติว่า  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่  ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน  และกรณีนี้ถือเป็นกรณีที่ศุกร์ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยมีผู้อื่นยึดถือไว้ให้ตามมาตรา  1368

ดังนั้น  แม้พุธจะยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนั้นต่อไป  ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองตามมาตรา  1367  ศุกร์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่าพุธ

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ต่อมาศุกร์ได้ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น  กรณีนี้ถึงแม้พุธจะขายที่ดินแปลงนั้นให้จันทร์แล้ว  โดยจันทร์สุจริต  เพราะเห็นพุธอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมานานแล้ว  และเชื่อที่พุธบอกว่าศุกร์เช่าที่ดินแปลงนั้นจากพุธก็ตาม  แต่เมื่อที่ดินแปลงนั้นเป็นของศุกร์ซึ่งมีสิทธิยื่นขอออกโฉนดได้  จันทร์จึงไม่มีสิทธิคัดค้าน  เพราะถือว่าจันทร์รับโอนที่ดินแปลงนั้นมาจากผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะวินิจฉัยคดีนี้ว่าศุกร์มีสิทธิที่จะยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ได้  เพราะที่ดินเป็นของศุกร์  จันทร์ไม่มีสิทธิคัดค้าน

 

ข้อ  4  แดงเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง  แดงให้ดำเช่าที่ดินปลูกบ้านอาศัยอยู่  เมื่อเข้าไปปลูกบ้านบนที่ดินแปลงนั้น  ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง  แดงได้บอกให้ดำวางเสา  สายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวเข้าไปใช้ในที่ดินได้  โดยแดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวเจ้าของที่ดินแล้ว  แต่ความจริงไม่ใช่  แดงไม่เคยขอหรือบอกขาวเลย  ดำจึงได้วางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว  นอกจากนั้นยังได้สร้างศาลาที่พักไว้หน้าที่ดินของขาว  ดำเช่าที่ดินปลูกบ้านและวางสายไฟฟ้ามาได้ห้าปี  เหลืองได้มาขอซื้อบ้านหลังนี้จากดำและเช่าที่ดินของแดงต่อ เหลืองซื้อบ้านและอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้  ใช้เสาสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว  และใช้ศาลาที่พักหน้าที่ดินของขาวเพื่อขึ้นรถยนต์โดยสารประจำมาได้เจ็ดปี  ขาวได้มาแจ้งให้เหลืองรื้อเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า  และศาลาที่พักออกไปจากที่ดินของตน  และทำที่ดินให้เป็นดังเดิม  มิฉะนั้นจะฟ้องร้องต่อศาล  ให้ท่านให้คำแนะนำต่อเหลืองว่า  เหลืองจะต้องรื้อเสา  สายไฟฟ้า  และศาลาออกไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

โดยหลัก  การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  ซึ่งตามมาตรา 1401  บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ  เปิดเผย  และเจตนาเป็นเจ้าของและครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

แต่อย่างไรก็ตาม  ภาระจำยอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่าสามยทรัพย์เท่านั้น  ตามมาตรา  1387  ดังนั้น  ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า  10  ปี  ก็ไม่ทำให้เกิดภาระจำยอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แดงได้บอกให้ดำวางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวเข้าไปใช้ในที่ดินได้  โดยแดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวเจ้าของที่ดินแล้ว  แต่ความจริงแดงไม่เคยขอหรือบอกขาวเลย  ดำจึงได้วางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวนั้น  ถือเป็นกรณีที่ดำไม่ได้มีเจตนาจะยึดถือเป็นเจ้าของที่ดินของขาว  เพื่อให้ได้ภาระจำยอมแต่อย่างใด  เพราะการที่แดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวแล้วนั้น  แสดงว่าการวางเสาและสายไฟฟ้าของดำ  เป็นการแสดงเจตนาขออาศัยวางผ่านที่ดินของขาวเท่านั้น  จึงไม่ก่อให้เกิดเจตนาปรปักษ์  อันจะทำให้ได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382

ส่วนกรณีศาลาที่พักนั้น  ถือเป็นการที่ดำสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว  ไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินของขาวเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นแต่อย่างใด  จึงไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม  ดังนั้นแม้ว่าดำจะใช้ศาลาที่พักนั้นนานเท่าใด  ก็ไม่ทำให้ได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของขาวโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  และมาตรา  1387

ดังนั้น  แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า  เหลืองได้มาขอซื้อบ้านต่อจากดำและเช่าที่ดินแดงต่อโดยยังคงใช้เสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว  และใช้ศาลาที่พักหน้าที่ดินของขาวเพื่อขึ้นรถยนต์โดยสารประจำมาได้เจ็ดปีก็ตาม  เหลืองก็ไม่สามารถนับอายุความภาระจำยอมต่อจากดำได้  เพราะการใช้ที่ดินของขาววางเสาและสายไฟฟ้าดำไม่ได้มีเจตนาปรปักษ์  ส่วนการใช้ศาลาที่พักก็ไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม  ดังนั้นเมื่อขาวเจ้าของที่ดินได้มาแจ้งให้เหลืองรื้อเสาและสายไฟฟ้า  รวมทั้งศาลาที่พักออกไปจากที่ดินของตน  และทำที่ดินให้เป็นดังเดิม  เหลืองจะต้องรื้อเสาไฟ  สายไฟฟ้า  และศาลาที่พักออกไป

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำต่อเหลืองว่า  เหลืองจะต้องรื้อเสาไฟฟ้า  สายไฟฟ้า  และศาลาออกไปจากที่ดินของขาว

LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายแดงสร้างบ้านลงบนที่ดินของนายแดงเองโดยมิได้ทำการรังวัดสอบเขต  เมื่อสร้างเสร็จพบว่าระเบียงบ้านชั้นบนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนายขาวแปลงติดกันประมาณ  1  เมตรตลอดแนวของระเบียง  ต่อมานายแดงขายบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเหลือง  นายขาวจึงฟ้องให้นายเหลืองรื้อระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำเสีย  ดังนี้  นายเหลืองจะต้องรื้อถอนระเบียงบ้านหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1312  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด  เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต  ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป  และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1312  การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น  จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น  ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต  แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของบุคคลอื่นโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป  ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง  ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต  แต่อย่างไรก็ตาม  หากความไม่รู้ดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ก่อสร้าง  กฎหมายให้ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยไม่สุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงสร้างบ้านลงในที่ดินของนายแดงเองโดยไม่ได้รังวัดสอบเขตนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายแดงประมาทเลินเล่อ  ไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ดีเสียก่อนที่จะทำการปลูกสร้าง  ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าหลังจากสร้างเสร็จ  ระเบียงบ้านชั้นบนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนายขาว  การกระทำของนายแดงจึงเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต  ตามมาตรา  1312  วรรคสอง  ดังนั้นนายแดงจึงต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายขาว

และเมื่อปรากฏว่า  ต่อมานายแดงได้ขายบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเหลือง  นายเหลืองผู้รับโอนจึงต้องรับมาทั้งสิทธิ์และหน้าที่ของนายแดงด้วย  ดังนั้น  เมื่อนายขาวเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำได้ฟ้องให้นายเหลืองรื้อระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำเสีย  นายเหลืองจึงต้องรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำออกตามมาตรา  1312  วรรคสอง

สรุป  นายเหลืองจะต้องรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำนั้น

 

ข้อ  2  นายเมืองทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมหอพักให้กับบุตรชายของตนสามคน  โดยยกให้นายกรุงมีกรรมสิทธิ์สองส่วน  นายเขตและนายแขวงคนละหนึ่งส่วน  หลังจากนายเมืองถึงแก่ความตาย  ทายาททั้งสามตกลงจะยังไม่แบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น  โดยจะดำเนินกิจการหอพักต่อไปสำหรับค่าเช่าที่เก็บได้ตกลงแบ่งคนละเท่าๆกัน  ต่อมาเกิดน้ำท่วมหอพักได้รับความเสียหาย

นายเขตได้จัดการซ่อมแซมหอพักเสียค่าใช้จ่ายไป  100,000  บาท  จึงเรียกให้นายกรุงช่วยออกเงินค่าซ่อมหอพัก  50,000  บาท  และนายแขวงออกเงิน  25,000  บาท  แต่นายกรุงไม่ยอม  โดยอ้างว่าค่าเช่าที่ได้รับก็เท่าๆกัน  ดังนั้นหนี้ค่าซ่อมแซมก็ควรจะรับผิดชอบเท่าๆกันด้วย  ส่วนนายแขวงก็ยังไม่ยอมชำระเช่นกัน  นายกรุง  นายเขต  และนายแขวงจึงตกลงที่จะขายที่ดินพร้อมหอพัก

แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ตนเป็นเจ้าของ  ดังนี้  นายเขตจะเรียกให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ค่าซ่อมหอพักที่นายเขตออกไปก่อนแล้วค่อยแบ่งเงินกันตามส่วนได้หรือไม่  และนายกรุงกับนายแขวงจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าซ่อมแซมจำนวนคนละเท่าใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1360  วรรคสอง  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1362  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆ  ตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ  ค่าภาษีอากร  และค่ารักษากับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย

มาตรา  1365  วรรคสอง  ถ้าเจ้าของรวมคนหนึ่งต้องรับผิดต่อเจ้าของรวมคนอื่นในหนี้ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม  หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดังว่านั้นก็ดี  ในเวลาแบ่ง  เจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน  หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเมืองทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมหอพักให้กับบุตรชายของตนทั้งสามคน  คือ  นายกรุง  นายเขต  และนายแขวงนั้น  บุตรทั้งสามคนย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและหอพัก  โดยนายกรุงมีกรรมสิทธิ์สองส่วน  นายเขตและนายแขวงมีกรรมสิทธิ์คนละหนึ่งส่วน  สำหรับค่าเช่าหอพักซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น  ป.พ.พ.  มาตรา  1360  วรรคสอง  เพียงให้ข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สิน  แต่เจ้าของรวมสามารถตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้  ดังนั้น  เมื่อนายกรุง  นายเขต  และนายแขวงตกลงให้แบ่งค่าเช่าหอพักคนละเท่าๆกัน  ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของผู้ทรงกรรมสิทธิ์รวมนั้น

และเมื่อปรากฏว่า  ต่อมาน้ำท่วมหอพักได้รับความเสียหาย  และนายเขตได้จัดการซ่อมแซมหอพักเสียค่าใช้จ่ายไป  100,000  บาท  ซึ่งตามมาตรา  1362  กำหนดไว้ว่า  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆตามส่วนของตนในการออกค่ารักษาทรัพย์สิน  ดังนั้น  เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่นจึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย  กล่าวคือ  นายกรุง  นายเขต  และนายแขวงจะต้องออกค่ารักษาทรัพย์สินตามส่วนของตน  เมื่อนายกรุงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมสองส่วน  ก็ต้องออกเงินค่ารักษาทรัพย์สิน  50,000  บาท  ส่วนนายเขตและนายแขวงมีคนละหนึ่งส่วน  ต้องออกเงินคนละ  25,000  บาท

และการที่นายกรุง  นายเขต  และนายแขวง  ตกลงที่จะขายที่ดินพร้อมหอพัก  แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ตนเป็นเจ้าของนั้น นายเขตย่อมสามารถเรียกร้องให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ค่าซ่อมหอพักให้แก่ตนตามส่วนที่นายกรุงกับนายแขวงจะต้องรับผิดชอบ  แล้วจึงค่อยเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนได้  เพราะเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของรวมอื่นๆ  ในหนี้ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม  ซึ่งในเวลาแบ่งเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระเสียก่อนได้  ตามมาตรา  1365  วรรคสอง  โดยกรณีนี้นายกรุงจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าซ่อมแซมหอพักให้แก่นายเขตจำนวน  50,000  บาท  และนายแขวงต้องชดใช้จำนวน  25,000  บาท

สรุป  นายเขตจะเรียกให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระค่าซ่อมแซมหอพักที่นายเขตออกไปก่อน  แล้วค่อยแบ่งเงินกันตามส่วนได้  และนายกรุงกับนายแขวงจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าซ่อมแซมหอพักให้แก่นายเขต  โดยนายกรุงจะต้องออกเงิน  50,000  บาท  ส่วนนายแขวงต้องออกเงิน  25,000  บาท

 

ข้อ  3  น้ำแบ่งขายที่ดินของน้ำให้ฟ้าโดยทั้งน้ำและฟ้าตกลงให้ที่ดินของฟ้ามีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินแปลงของน้ำในส่วนที่เหลือ  แต่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มา  เมื่อฟ้าซื้อที่ดินจากน้ำมาแล้ว  ได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น  แทนที่จะเดินในทางที่ตกลงไว้กับน้ำ

ฟ้ากลับใช้ทางผ่านในส่วนอื่นของที่ดินของน้ำ  โดยไม่บอกน้ำและยังทำถนนคอนกรีตเพื่อให้รถยนต์เข้าออก  นอกจากนั้นฟ้ายังเข้ามาในที่ดินของน้ำโดยเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำทุกวันด้วย  ฟ้าได้ทำเช่นนี้ตลอดกว่าสิบปีโดยน้ำไม่ทราบ  เมื่อน้ำทราบจึงได้มาห้ามและบอกให้ฟ้าเลิกใช้ถนนที่ฟ้าสร้างให้มาใช้ถนนเส้นที่ตกลงเดิม  และเลิกเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำ  ฟ้าตกลงเลิกทิ้งขยะ  แต่ถนนฟ้าไม่ยอมเพราะถนนที่ตนสร้างสะดวกสบายกว่า  แต่พอผ่านมาได้สามเดือนฟ้าได้เข้าทิ้งขยะในที่ดินของน้ำอีก  คราวนี้น้ำทนไม่ไหว  หนึ่งเดือนหลังจากนั้น  น้ำจึงได้ฟ้องต่อศาลให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะและรื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไป

ให้ท่านวินิจฉัยถึงสิทธิของฟ้าในถนนที่ฟ้าสร้าง  และการทิ้งขยะในที่ดินของน้ำ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1374  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน  เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้  ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก  ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย  2  ประเด็น  คือ

ประเด็นที่  1  เกี่ยวกับสิทธิของฟ้าในถนนที่ฟ้าสร้าง

การที่น้ำแบ่งขายที่ดินของน้ำให้ฟ้า  และตกลงให้ฟ้ามีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินแปลงของน้ำในส่วนที่เหลือนั้น  ถือว่าฟ้าได้ภาระจำยอมโดยทางนิติกรรม  และแม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาก็สามารถใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี  แต่เมื่อฟ้าซื้อที่ดินจากน้ำมาแล้วและได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น  แทนที่จะเดินเข้าออกในทางที่ตกลงไว้กับน้ำ  กลับใช้ทางผ่านในส่วนอื่นของที่ดินของน้ำโดยไม่บอกน้ำ  และยังทำถนนคอนกรีตเพื่อให้รถยนต์เข้าออกจนครบกำหนด  10  ปี  โดยที่น้ำไม่ทราบ  กรณีนี้จึงถือได้ว่าฟ้าซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  (ที่ดินของน้ำ)  โดยสงบและโดยเปิดเผย  และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์นั้น  ดังนั้นฟ้าย่อมได้ภาระจำยอมในถนนที่ฟ้าสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  ประกอบมาตรา  1401  และน้ำซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์จะฟ้องให้ฟ้ารื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไปไม่ได้  ตามมาตรา  1387

ประเด็นที่  2  เกี่ยวกับการทิ้งขยะของฟ้าในที่ดินของน้ำ

การที่ฟ้าได้นำขยะมาทิ้งในที่ดินของน้ำทุกวันนั้น  ถือว่าน้ำผู้ครอบคอรงที่ดินถูกฟ้ารบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  น้ำจึงมีสิทธิบอกห้ามและให้ฟ้าเลิกเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำได้ตามมาตรา  1374  วรรคแรก  และเมื่อฟ้าตกลงเลิกทิ้งขยะแล้ว  การรบกวนการครอบครองย่อมระงับไป  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่า  พอผ่านมาได้สามเดือนฟ้าได้เข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำอีก  จึงถือว่าน้ำได้ถูกรบกวนการครอบครองอีก  ดังนั้นน้ำจึงมีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาล  เพื่อให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้ฟ้านำขยะเข้ามาทิ้งในที่ดินของน้ำได้  แต่ต้องฟ้องภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ถูกรบกวนตามมาตรา  1374  วรรคสอง  และตามข้อเท็จจริงน้ำได้ฟ้องคดีต่อศาลหลังจากถูกฟ้ากระทำการดังกล่าวได้หนึ่งเดือน  ดังนั้นน้ำจึงสามารถฟ้องศาลเพื่อสั่งให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะในที่ดินของน้ำตามมาตรา  1374  ได้

สรุป  ฟ้าได้ภาระจำยอมในถนนที่ฟ้าสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์  น้ำจะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ฟ้ารื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไปไม่ได้ แต่น้ำสามารถฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะในที่ดินของน้ำได้ 

 

ข้อ  4  แสงทำนาบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโสม  โดยที่แสงเข้าในผิดคิดว่าเป็นที่ดินที่ซื้อมาจากสอง  และใช้ทางผ่านที่ดินสี่แปลงเพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของโสมแปลงนั้น  ที่ดินแปลงแรกที่เดินผ่านเป็นของสี  แปลงที่สองเป็นของสวย  แปลงที่สามเป็นที่ดินซึ่งเตรียมไว้สร้างโรงพยาบาลของรัฐแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง  แปลงที่สี่เป็นที่ดินของสด  แสงใช้ทางผ่านที่ดินของสี  ของสวย  ที่ดินของโรงพยาบาล  และที่ดินของสดมาตลอดสิบกว่าปีแล้ว  ต่อมาจังหวัดได้เข้ามาก่อสร้างโรงพยาบาล  ตอนก่อสร้างอยู่หนึ่งปีกว่า  แสงต้องไปใช้ทางอื่นผ่านเข้าไปทำนาบนที่ดินแปลงที่แสงครอบครอง  เมื่อสร้างโรงพยาบาลเสร็จ  แสงกลับมาใช้ทางผ่านทางเดิมของสี  ของสวย  ผ่านที่ดินของโรงพยาบาล  และที่ดินของสดอีก  สดห้ามไม่ให้แสงใช้ทางผ่านที่ดินของตน  เพราะว่าภาระจำยอมในที่ดินมือเปล่าที่ผ่านที่ดินของสดได้สิ้นไปแล้ว  ให้ท่านอธิบายกับแสงถึงสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลง ว่าแสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้าง  เพราะเหตุใด  และที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา  โสมฟ้องศาลเรียกคืนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1399  ภาระจำยอมนั้น  ถ้ามิได้ใช้สิบปี  ท่านว่าย่อมสิ้นไป

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ

แสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้างที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลง  เห็นว่า  การที่แสงทำนาบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโสม  โดยที่แสงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นที่ดินของตนที่ซื้อมาจากสองนั้น  ถือเป็นกรณีที่แสงยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ดังนั้นแสงจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินของโสมตามมาตรา  1367

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  แสงใช้ทางผ่านที่ดินสี่แปลงเพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของโสม  โดยที่ดินแปลงแรกเป็นของสี  แปลงที่สองเป็นของสวย  แปลงที่สามเป็นที่ดินซึ่งเตรียมไว้สร้างโรงพยาบาลของรัฐ  แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง  แปลงที่สี่เป็นที่ดินของสด  ดังนี้  การที่แสงใช้ทางผ่านที่ดินแปลงแรก  แปลงที่สอง  และแปลงที่สี่นั้น  ย่อมถือว่าแสงผู้ครอบครองสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์แล้ว  เมื่อแสงเดินผ่านที่ดินทั้งสามแปลงมาตลอด  10  ปีกว่าแล้ว  ย่อมทำให้แสงได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของสี  ของสวย  และของสดตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  และ  1387  ส่วนที่ดินแปลงที่สาม  ซึ่งเตรียมสร้างโรงพยาบาลซึ่งเป็นของรัฐนั้นถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  จึงครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ ดังนั้นแม้แสงจะใช้เป็นทางเดินผ่านนานเท่าใดก็ย่อมไม่ได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์  และรัฐย่อมมีสิทธิฟ้องไม่ให้แสงใช้ทางผ่านที่ดินได้

และเมื่อปรากฏว่า  ต่อมาจังหวัดได้เข้ามาก่อสร้างโรงพยาบาล  โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่หนึ่งปีกว่า  และแสงต้องไปใช้ทางอื่นผ่านเข้าไปทำนาบนที่ดินแปลงที่แสงครอบครอง  ซึ่งเมื่อสร้างโรงพยาบาลเสร็จแสงก็กลับมาใช้ทางผ่านทางเดิมของสี  ของสวย  ผ่านที่ดินของโรงพยาบาล  และที่ดินของสดอีกนั้น  กรณีนี้ยังไม่ถือว่า  ภาระจำยอมบนที่ดินทั้งสามแปลงของสี  ของสวย  และของสดนั้น  สิ้นไปแต่อย่างใด  เพราะตามมาตรา  1399  นั้นได้กำหนดไว้ว่า  ภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยระยะเวลา  ก็ต่อเมื่อมิได้มีการใช้ตั้งแต่สิบปีขึ้นไป  ดังนั้น  แสงจึงมีสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสามแปลง  สดจะห้ามไม่ไห้แสงใช้ทางผ่านที่ดินของตนไม่ได้

ประเด็นที่สอง  ที่ต้องวินิจฉัยคือ

ที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา  โสมฟ้องศาลเรียกคืนได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้ตามข้อเท็จจริงโสมจะถูกแสงแย่งการครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1375  วรรคแรก  อันทำให้โสมผู้ครอบครองที่ดินมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินจากแสงได้ก็ตาม  แต่การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึงการครอบครองนั้น  มาตรา  1375  วรรคสอง  กำหนดว่าจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  ดังนั้น  เมื่อระยะเวลานับแต่วันที่แสงแย่งการครอบครองที่ดินมาจากโสมนั้น  ล่วงเวลามาเกินหนึ่งปีแล้ว  โสมจึงฟ้องเรียกคืนไม่ได้

สรุป  แสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้างที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น  และที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา  โสมจะฟ้องศาลเรียกคืนไม่ได้

LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายแก้วกับนายขวดทำสัญญากันด้วยวาจาให้นายขวดมีสิทธิเก็บกินบนที่ดินของนายแก้วเป็นเวลา  5  ปี  เมื่อนายขวดเข้ามาใช้สิทธิเก็บกินได้  3  ปี  นายแก้วขายที่ดินให้นายถ้วย  นายถ้วยต้องการทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง  จึงไม่ยอมให้นายขวดมาใช้สิทธิเก็บกินบนที่ดินอีก  ดังนี้  นายขวดจะอ้างสิทธิเก็บกินบนที่ดินแปลงนี้  อีก  2  ปี  ขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่  นายถ้วยจะต้องยอมให้นายขวดใช้สิทธิเก็บกินจนครบ  5  ปี  หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  (มาตรา  1299  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแก้วกับนายขวดทำสัญญากันด้วยวาจา  ให้นายขวดมีสิทธิเก็บกินบนที่ดินของนายแก้วเป็นเวลา  5  ปีนั้น  ถือว่านายขวดเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม  เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  สิทธิการได้มาดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ  แต่มีผลผูกพันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างนายแก้วกับนายขวดเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อต่อมานายแก้วขายที่ดินให้นายถ้วย  นายถ้วยจึงไม่ต้องผูกพันในข้อตกลงที่นายแก้วมีต่อนายขวด  และนายขวดไม่สามารถอ้างการได้สิทธิเก็บกินบนที่ดินขึ้นต่อสู้กับนายถ้วยได้  นายถ้วยจึงไม่ต้องให้นายขวดใช้เก็บกินบนที่ดินนั้นต่อไปแต่อย่างใด

สรุป  นายถ้วยไม่ต้องให้นายขวดใช้สิทธิเก็บกินจนครบ  5  ปี

 

ข้อ  2  นายดำปลูกบ้านหลังหนึ่งลงในที่ดินของตนเอง  โดยก่อนปลูกสร้างได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินแล้ว  แต่หลังจากปลูกเสร็จพบว่าระเบียงบ้านชั้นบนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาวที่อยู่ติดกันเป็นระยะ  50  เซนติเมตร  ตลอดแนวของระเบียงบ้าน  ดังนี้  การปลูกสร้างรุกล้ำของนายดำสุจริตหรือไม่  หากนายขาวจะให้นายดำรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำ  นายดำจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1312  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด  เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายดำปลูกบ้านลงบนที่ดินของตนเอง  โดยก่อนปลูกสร้างได้ขอรังวัดสอบเขตแล้ว  แต่เมื่อปลูกสร้างเสร็จพบว่าระเบียงบ้านชั้นบนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาวที่อยู่ติดกันเป็นระยะ  50  เซนติเมตร  ถือว่าเป็นกรณีที่นายดำได้สร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  ตามมาตรา  1312  วรรคแรก  ดังนั้น  นายดำย่อมได้กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนที่ปลูกสร้างรวมถึงส่วนที่รุกล้ำด้วย  หากนายขาวจะให้นายดำรื้อถอนระเบียงบ้านที่รุกล้ำ  นายดำไม่ต้องปฏิบัติตามได้  แต่นายดำจะต้องจ่ายเงินให้แก่นายขาวเป็นค่าใช้ที่ดิน  และนายขาวต้องจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  และหากต่อไปโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำสลายไปทั้งหมด  นายขาวสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเสียก็ได้

สรุป  การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำของนายดำเป็นการกระทำโดยสุจริต  หากนายขาวจะให้นายดำรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำ  นายดำไม่จำต้องปฏิบัติตามแต่นายดำจะต้องจ่ายเงินให้แก่นายขาวเป็นค่าใช้ที่ดิน

 

ข้อ  3  นายกล้าทำสัญญาขายที่ดิน  น.ส.3  ของตนให้กับนายเข้ม  โดยเป็นการทำสัญญาซื้อขายกันเองและมีการชำระราคาที่ดินให้นายกล้าครบถ้วน  และนายกล้าก็ส่งมอบที่ดินให้นายเข้มแล้ว  หลังจากนายเข้มสร้างบ้านอยู่ในที่ดินนั้นติดต่อกันได้ห้าปี  นายกล้าถึงแก่ความตาย  นายแก้วบุตรของนายกล้าได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้น  แล้วแจ้งให้นายเข้มย้ายออกไปจากที่ดินนั้น  แต่นายเข้มอ้างว่าที่ดินเป็นของตน  และไม่ยอมย้ายออกไป  ต่อจากนั้นอีก  4  เดือน  นายแก้วจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากนายเข้ม  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  ระหว่างนายแก้วกับนายเข้ม  ผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน  และนายเข้มต้องออกไปจากที่ดินนั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง

มาตรา  1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น  ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายกล้าทำสัญญาขายที่ดิน  น.ส.3  ของตนให้กับนายเข้ม  โดยเป็นการทำสัญญาซื้อขายกันเองนั้น  สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายกล้ากับนายเข้มย่อมตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  แต่อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดิน  น.ส.3  ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครองและการซื้อขายดังกล่าวได้มีการชำระราคาครบถ้วนและได้มีการส่งมอบที่ดินให้แก่นายเข้มผู้ซื้อแล้ว  การครอบครองที่ดินของนายกล้าผู้ขายจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคแรก  เพราะนายกล้าได้สละเจตนาครอบครองและไม่ได้ยึดถือที่ดินนั้นต่อไปแล้ว  ส่วนนายเข้มก็ได้ซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินนั้นแล้วโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามมาตรา  1378  และนายเข้มได้เข้ายึดถือที่ดินนั้นด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนในฐานะเจ้าของตามมาตรา  1367

แต่ต่อมาอีก  5  ปี  เมื่อนายกล้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  แม้นายแก้วบุตรของนายกล้าจะได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินนั้นแล้วแจ้งให้นายเข้มย้ายออกไปจากที่ดินนั้น  นายเข้มก็ไม่ต้องย้ายออกไปจากที่ดินนั้นตามที่นายแก้วต้องการ  เพราะนายเข้มเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินนั้นดีกว่านายแก้ว  เนื่องจากนายแก้วผู้รับมรดกไม่มีสิทธิดีกว่านายกล้าเจ้ามรดกตามหลักที่ว่า  “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”  นั่นเอง

สรุป  นายเข้มมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายแก้ว  และนายเข้มไม่ต้องย้ายออกไปจากที่ดินนั้น

 

ข้อ  4  นายแห้วเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะซึ่งเป็นทางดินลูกรังกว้างสองเมตรครึ่ง  นายแห้วจึงได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายมัน  โดยทำเป็นถนนลาดยางกว้างสามเมตรเพื่อใช้รถปิ๊กอัพผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของตนกับถนนพหลโยธินซึ่งสะดวกกว่า  หลังจากนายแห้วใช้ทางผ่านที่ดินของนายมันติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี  โดยนายมันไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด  ต่อมานายแห้วได้สร้างโรงงานในที่ดินของตน  ทำให้ต้องใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อผ่านเข้าออกเพื่อขนส่งสินค้าวันละหลายเที่ยว  นายแห้วจึงเปลี่ยนจากถนนลาดยางเป็นถนนคอนกรีตกว้างหกเมตร  หลังจากนั้น  นายมันรู้เรื่องจึงมาปรึกษาท่าน  เพราะไม่ต้องการให้นายแห้วใช้ถนนนั้นผ่านที่ดินของตน  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายแห้วกับนายมันมีสิทธิและหน้าที่เหนือที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1388  เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์  หรือในสามยทรัพย์  ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแห้วได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายมัน  โดยทำเป็นถนนลาดยางกว้าง  3  เมตร  ผ่านที่ดินของนายมันเพื่อใช้รถปิ๊กอัพผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของนายแห้วกับถนนพหลโยธิน  โดยนายมันไม่รู้เรื่องติดต่อกันเป็นเวลาเกิน  10  ปีแล้ว  ย่อมถือว่านายแห้วได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของนายมันโดยอายุความปรปักษ์  คือการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความ  ตามมาตรา  1387, 1401 และมาตรา  1382

ต่อมาการที่นายแห้วได้สร้างโรงงานในที่ดินของตน  และต้องการใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อผ่านเข้าออกเพื่อขนส่งสินค้าวันละหลายเที่ยว นายแห้วจึงเปลี่ยนจากถนนลาดยางเป็นถนนคอนกรีตกว้าง  6  เมตรนั้น  การกระทำดังกล่าวของนายแห้วเป็นเรื่องที่เจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์  ดังนั้น  นายแห้วจะกระทำไม่ได้ตามมาตรา  1388

สรุป  นายแห้วได้ภาระจำยอมเป็นถนนลาดยางกว้าง  3  เมตร  ผ่านที่ดินของนายมันแล้ว  และนายมันจะห้ามนายแห้วไม่ให้ใช้ทางภาระจำยอมนั้นไม่ได้  แต่นายแห้วจะเปลี่ยนถนนลาดยางซึ่งเดิมกว้าง  3  เมตรเป็นถนนคอนกรีตกว้าง  6  เมตรไม่ได้

LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ภาค 2/2553

การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา 2553 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

1. ผู้พิพากษาในศาลประเทศอังกฤษใช้กฎหมายใดในการวินิจฉัยคดี

(1) กฎหมายโรมัน                                             

(2) คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน

(3) กฎหมายสิบสองโต๊ะ                                  

(4) ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน

ตอบ 2  หน้า 22-23 กฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นตัวบทกฎหมาย ดังนั้นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบนี้จึงมาจากคำพิพากษา ซึ่งประเทศที่นิยมใช้กฎหมายระบบนี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษ

2. กฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ยังมีอิทธิพลต่อประเทศในภาคพื้นยุโรปทั้งที่อาณาจักรโรมันได้ล่มสลายลงไปแล้ว เป็นเพราะเหตุใด

(1) กฎหมายโรมันเป็นเนื้อหาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย

(2) การนำกฎหมายโรมันมาใช้แทนจารีตประเพณีที่มีอยู่เดิม

(3) กฎหมายโรมันมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 21,(คำบรรยาย) กฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แม้ต่อมาอาณาจักรโรมันได้ล่มสลายลงไปก็ได้มีการนำกฎหมายที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาใช้ศึกษากันในมหาวิทยาลัย (ครั้งแรกที่เมืองโบโลญญ่า ประเทศอิตาลี) จนเป็นที่แพร่หลายในประเทศในภาคพื้นยุโรป และได้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แทนจารีตประเพณีซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย

3. ลักษณะประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเหมือนกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(1) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะใช้ชื่อประมวลกฎหมายเหมือนกัน

(2) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นกฎหมายแพ่งเหมือนกัน

(3) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการจัดแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่

(4) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะระบบกฎหมายแตกต่างกัน

ตอบ 3  หน้า 22 ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสนั้นจัดทำขึ้นโดยแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ซึ่งถึงแม้จะเป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่มีลักษณะเป็นการรวบรวมเอากฎหมายต่างๆมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายเดียวกันเท่านั้นโดยมิได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเรื่องๆแต่อย่างใด

4. ผู้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่

(1) พนักงานอัยการ                          

(2) ผู้เสียหาย

(3) ทนายความ                                   

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4  หน้า 67  ผู้ที่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ               

1. ผู้เสียหายเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเอง หรือ 2. ผู้เสียหายมอบคดีให้เจ้าพนังงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ คือ พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนให้

5. ข้อใดเป็นลักษณะของกฎหมายอาญา

(1) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษได้                            

(2) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษไม่ได้

(3) ย้อนหลังลงโทษได้แล้วแต่ดุลยพินิจศาล

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  หน้า 54  สาระสำคัญทางกฎหมายอาญา คือ ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำใดเป็นความผิดและต้องเป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะซึ่งเกิดการกระทำนั้นด้วย และไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษบุคคลให้หนักขึ้นเป็นอันขาด แต่อาจย้อนหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด กล่าวคือ อาจย้อนหลังไปบัญญัติว่าการกระทำนั้นๆไม่เป็นความผิด หรือเป็นความผิดแต่ยกเว้นโทษให้หรือให้ลงโทษบุคคลน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะทำความผิดได้

6. ผู้เสียหายในคดีอาญาที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนความเสียหายจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมจะต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดในเรื่องเกี่ยวกับ

(1) ที่ดิน              

(2) ลักทรัพย์       

(3) ฉ้อโกง          

(4) ชีวิต ร่างกาย จิตใจ

ตอบ 4  ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่              1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ       2. ความผิดต่อชีวิต    3. ความผิดต่อร่างกาย 4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 5. ความผิฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ และคนชรา

7. ข้อใดไม่เป็นความผิดอาญา

(1) นายซิ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของ น.ส.ดวงดาวเสียหาย

(2) นายซิ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนสุนัขของ น.ส.ดวงดาวตาย

(3) นายซิ่งขับรถยนต์เจตนาชนรถยนต์ของ น.ส.ดวงดาวให้เสียหาย

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4  หน้า 57  การกระทำที่จะถือว่าเป็นความผิดทางอาญานั้น โดยปกติผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา แต่การกระทำโดยประมาทนั้นก็อาจเป็นความผิดทางอาญาได้ หากกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า การกระทำนั้นแม้กระทำโดยประมาทก็เป็นความผิด ซึ่งความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม  ปอ. มาตรา 358  กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้น การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทจึงไม่เป็นความผิดทางอาญา

 8. นายโก๋ดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วนึกสนุกใช้ปืนยิงเข้าไปในรถยนต์ที่แล่นผ่านมา ลูกกระสุนปืนถูกนายเฮงถึงแก่ความตาย ดังนี้นายโก๋มีความผิด

(1) ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา                             

(2) ฆ่าคนตายโดยเจตนา

(3) ฆ่าคนตายโดยประมาท                               

(4) มีความผิดแต่ได้รับลดโทษเพราะกระทำขณะเมาสุรา

ตอบ 2  หน้า 57-58, (คำบรรยาย)  การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล คือไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้นอย่างไร คือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีคนถูกลูกกระสุนปืนตาย ดังนั้นนายโก๋จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

9. นายบกเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า แล้วจิตใจฮึกเหิม ได้ท้าให้นายเด่นทดลองฟันตนนายเด่นรับคำท้าใช้มีดฟันนายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนี้นายเด่น

(1) ไม่มีความผิดเพราะนายบกยอมให้ฟัน    

(2) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

(3) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

(4) ฆ่าคนตายโดยประมาท

ตอบ 3  หน้า 57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเด่น ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกและแม้จะไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้น คือ นายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนั้นการกระทำของนายเด่นจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

10. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน

(1) 400 คน         

(2) 450 คน         

(3) 480 คน         

(4) 500 คน

ตอบ 3  หน้า 49  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 93 กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งสิ้น 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน

หมายเหตุ ** (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 กำหนดให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขต  375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน)

11. ข้อใดคือผู้หย่อนความสามารถ

(1) คนล้มละลาย   

(2) คนตาบอดขายลอตเตอรี่  

(3) คนไร้ความสามารถ    

(4) คนสาบสูญ

ตอบ 3  หน้า 133,(คำบรรยาย)  ผู้หย่อนความสามารถ คือ บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดหรือตัดทอนความสามารถปัจจุบัน มี 4 ประเภท คือ                  

1. ผู้เยาว์        2. คนไร้ความสามารถ    3. คนเสมือนไร้ความสามารถ และ   4. บุคคลวิกลจริต

12. นิติกรรมข้อใดที่ผู้เยาว์ทำได้เอง

(1) นายเออายุ 15 ปี ทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

(2) นายหนึ่งอายุ 14 ปี ทำพินัยกรรม

(3) นายหนุ่มกับนางสาวสวยอายุ 18 ปี ทำการสมรสกันเองโดยบิดามารดาไม่ยินยอม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1  หน้า 136  นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ 1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ โดยปราศจากเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร

3. นิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสมควร เช่น ซื้ออาหารรับประทาน

4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

13. หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านเห็นชอบจากรัฐสภา จะมีผลต่อร่างพระราชบัญญัตินั้นอย่างไร

(1) มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติตกไป

(2) พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ

(3) ให้รัฐสภาเริ่มพิจารณาใหม่ตั้งแต่วาระแรก

(4) ให้ประธานรัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ตอบ 3  หน้า 32,(คำบรรยาย) กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติและทรงใช้สิทธิยับยั้งโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ไม่มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป เพียงรัฐสภาจะต้องปรึกษาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ (โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่วาระแรก)

14. กฎหมายที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่ก็ยังมีผลบังคับใช้ชั่วคราวเท่านั้น

(1) พระราชบัญญัติ           

(2) พระราชกำหนด          

(3) พระราชกฤษฎีกา        

(4) พระบรมราชโองการ

ตอบ 2 หน้า 32-33 พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี จึงถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร โดยผู้เสนอร่างคือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น ซึ่งการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการตรา กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายชั่วคราวก่อน จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะทำให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเสมือนเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

15. ยุคกฎหมายใดที่เกิดกฎเกณฑ์จากการที่นักกฎหมายใช้เหตุผลสร้างขึ้นนอกเหนือไปจากกฎหมายประเพณี

(1) ยุคกฎหมายลายลักษณ์อักษร                     

(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน

(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย                      

(4) ยุคกฎหมายเทคนิค

ตอบ 3 หน้า 8-9 เนื่องจากกฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้านหรือกฎหมายจารีตประเพณีมีไม่เพียงพอ ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณี ซึ่งหลักกฎหมายของนักกฎหมายนี้จะเกิดจากการปรุงแต่งเหตุผลในทางกฎหมายที่เกิดจากความคิดในทางกฎหมายของตน ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่สามัญชนใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้ด้วยเหตุผลจึงเข้าใจซึ่งกฎหมายของนักกฎหมายดังกล่าวที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ และเรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ เป็นต้น

16. ดำแย่งการครอบครองที่ดินของขาวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นหลักกฎหมายที่สร้างขึ้นในยุคกฎหมายใด

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                   

(2) ยุคกฎหมายประเพณี

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                     

(4) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ15. ประกอบ

17. ลักษณะของกฎหมายประเพณีคือ

(1) ได้รับการประพฤติมาเป็นเวลานมนาน                  

(2) มีความชัดเจนแน่นอน

(3) ได้รับปฏิบัติตามอย่างมีเหตุมีผล               

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 7, (คำบรรยาย) กรณีที่จะเป็นกฎหมายประเพณี จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. องค์ประกอบภายนอก คือ จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอเป็นเวลานมนาน และมีความชัดเจนแน่นอน และได้มีการปฏิบัติตามกันมาอย่างมีเหตุมีผล 2. องค์ประกอบภายใน คือ ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ ต้องรู้สึกและสำนึกว่าจะต้องทำเช่นนั้น ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะผิด (คือเชื่อว่าเป็นกฎหมายจึงต้องทำ)

18. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่กฎหมายเกิดจากการวินิจฉัยคดีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                                   

(2) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                                     

(4) ยุคกฎหมายประเพณี

ตอบ 2  หน้า 8-9, (คำบรรยาย) เนื่องจากสังคมมนุษย์มีการพัฒนาและมีความเจริญขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ในสังคมมีความสลับซับซ้อน จนทำให้กฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้าน (กฎหมายประเพณี) ที่ใช้อยู่มีไม่เพียงพอที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณีและเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดในคดีที่สลับซับซ้อน เช่น เรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

19. มาตรา 1341 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ท่านห้ามมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคา หรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกันท่านคิดว่าจะได้หลักกฎหมายในเรื่องใดจากบทบัญญัติดังกล่าว

(1) หลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี                                     

(2) หลักความไว้วางใจโดยสุจริตต่อกัน

(3) หลักคุ้มครองบุคคลที่สาม                                          

(4) หลักสุจริต

ตอบ 1  หน้า 42  บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1337,1341,1342,1343,1349,1352,1353 และ 1355 เป็นบัญญัติของกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นโดยอาศัยหลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปหลักใหญ่หลักหนึ่ง

20. ระบบกฎหมายใดที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้

(1) ระบบคอมมอน ลอว์                                                   

(2) ระบบซีวิล ลอว์

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                                   

(4) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 2  หน้า 19 การที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้นั้น เป็นวิธีอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร

21. การเบิกความเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้มีอุปการคุณต่อตนเองตามหลักกตัญญุตานั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายและศีลธรรมอย่างไร

(1) ผิดกฎหมายแต่ไม่ผิดศีลธรรม                   

(2) ผิดศีลธรรมแต่ไม่ผิดกฎหมาย

(3) ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม                     

(4) ไม่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม

ตอบ 1  (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39) การเบิกความเท็จนั้นถือว่าผิดกฎหมายเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด แต่ไม่ผิดศีลธรรมเพราะการเบิกความเท็จดังกล่าวความจริงแล้วทำไปเพื่อช่วยผู้มีอุปการคุณต่อตนซึ่งเป็นไปตามหลักกตัญญุตา

22. กฎเกณฑ์ใดที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของมนุษย์ด้วย

(1) ศีลธรรม        

(2) จารีตประเพณี              

(3) กฎหมาย       

(4) ค่านิยม

ตอบ 1  หน้า 19  ศีลธรรม เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดและควบคุมความประพฤติทั้งภายในและภายนอกของมนุษย์ แต่กฎหมายและจารีตประเพณีจะกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์เท่านั้น

23. ระบบกฎหมายใดที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส

(1) ระบบกฎหมายโรมัน                                  

(2) ระบบกฎหมายอังกฤษ

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                   

(4) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์

ตอบ 1 หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน หรือมีกฎหมายโรมันเป็นรากฐาน เกิดขึ้นครั้งแรกในภาคพื้นยุโรป (สมัยโรมัน) โดยกษัตริย์จัสติเนียนได้ทรงรวบรวมนักกฎหมายให้ช่วยกันบัญญัติออกมาในรูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภาคพื้นยุโรป และได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นวิชานิติศาสตร์เพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

24. ประเทศใดที่ใช้ระบบกฎหมายซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียน

(1) สหรัฐอเมริกา              

(2) ออสเตรเลีย  

(3) อังกฤษ          

(4) ไทย

ตอบ 4  หน้า 21-22 ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร (โดยได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียน) ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน สเปน และไทย เป็นต้น ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ หรือกฎหมายจารีตประเพณี ได้แก่ ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

25. กฎเกณฑ์ใดที่หากบุคคลฝ่าฝืน การจะได้รับโทษหรือไม่ ไม่สามารถบังคับผู้ฝ่าฝืนได้อย่างจริงจังในปัจจุบัน

(1) จารีตประเพณี             

(2) ศีลธรรม        

(3) ศาสนา          

(4) กฎหมาย

ตอบ 1  หน้า 19 การกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้กระทำจะมีความผิดและถูกลงโทษ แต่การกระทำผิดหรือฝ่าฝืนจารีตประเพณีจะได้รับเพียงการติเตียนจากสังคมเท่านั้น

26. การที่นักศึกษาต้องเสียค่าปรับเนื่องจากบัตรประชาชนขาดอายุ เป็นความผิดอาญาหรือไม่

(1) เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดศีลธรรมด้วย      

(2) เป็นความผิดอาญาในทางเทคนิค

(3) เป็นความผิดอาญาที่ผิดทั้งศีลธรรมและผิดเพราะกฎหมายห้าม        

(4) ไม่เป็นความผิดอาญาใดๆ

ตอบ 2  (คำบรรยาย) ความผิดทางเทคนิค (Technical Offence) คือ ความผิดอาญาที่ไม่ผิดศีลธรรมแต่ผิดเพราะกฎหมายห้าม ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือกฎหมายเทคนิคที่เกิดขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรประชาชน เป็นต้น

27. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กฎหมายประเพณีในระบบกฎหมายซีวิล ลอว์

(1) ยกเว้นความรับผิดทางอาญาได้                                

(2) กำหนดความรับผิดทางอาญาได้

(3) นำโทษมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรได้    

(4) เพิ่มโทษทางอาญาได้

ตอบ 1 (คำบรรยาย) ข้อจำกัดการใช้กฎหมายจารีตประเพณีในระบบกฎหมายซีวิล ลวอ์ มีดังนี้

1. จะสร้างความผิดทางอาญาขึ้นใหม่ไม่ดี   2. จะนำโทษตามกฎหมายจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่ได้    3. จะเพิ่มโทษอาญาให้สูงกว่าไม่ได้  4. จะกำหนดหน้าที่ของบุคคลเพิ่มไม่ได้

28. ระบบกฎหมายใดที่กฎหมายมิได้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นที่มาของกฎหมายที่มีความสำคัญที่สุด

(1) ระบบคอมมอน ลอว์                                                   

(2) ระบบซีวิล ลอว์

(3) ระบบประมวลกฎหมาย                                              

(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

ตอบ 1   หน้า 22   กฎหมายระบบคอมมอน ลอว์ หรือระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ไม่ได้มีการเอากฎหมายจารีตประเพณีมาบันทึกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นที่มาของกฎหมาย

29. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ประกาศใช้ครั้งแรกในรัชสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 4                    

(2) รัชกาลที่ 5                    

(3) รัชกาลที่ 6                    

(4) รัชกาลที่ 9

ตอบ 3  หน้า 23, (คำบรรยาย) เดิมประเทศไทยจะรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับ จนถึงปลายรัชกาลที่ 6  ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทย โดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปี จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน

30. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถขอแปรบัญญัติเพื่ออภิปรายเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติได้อีก

(1) วาระที่ 1 วาระรับหลักการ                                        

(2) วาระที่ 2 วาระเพื่อพิจารณา

(3) วาระที่ 3 วาระลงมติ                                                   

(4) วาระที่ 4 วาระเห็นชอบ

ตอบ 3 หน้า 30  ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น มี 3 วาระ คือ วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นการพิจารณาหลักการโดยทั่วๆ ไปว่าสมควรที่จะรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณาหรือไม่ วาระที่ 2 ขั้นพิจารณา เป็นการพิจารณาเรียงลำดับมาตราโดยคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิม คณะกรรมาธิการต้องชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขหรือเพิ่มเติมด้วย และ วาระที่ 3 ขั้นลงมติให้ความเห็นชอบ คือ การลงมติว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น สมควรตราเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่ โดยจะไม่สามารถขอแปรญัตติเพื่ออภิปรายเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติได้อีก

31. การตราพระราชกำหนดเรื่องใดที่ต้องกระทำโดยด่วนและลับ

(1) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ                         

(2) ความปลอดภัยของประเทศ

(3) ภาษีอากร                                                      

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 32-33 พระราชกำหนด มี 2 ประเภท ได้แก่

1. พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้ตราได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้  และ

2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีและเงินตรา  เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น

32. องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบเงื่อนไขว่าในการตราพระราชกำหนด มีความจำเป็นรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

(1) สภาผู้แทนราษฎร       

(2) วุฒิสภา         

(3) รัฐสภา          

(4) ศาลรัฐธรรมนูญ

ตอบ 4  หน้า 33  ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าในการตราพระราชกำหนดนั้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 185 )

33. การเสนอร่างพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ริเริ่มโดย

(1) รัฐมนตรีผู้รักษาการ                                                     

(2) คณะรัฐมนตรี

(3) นายกรัฐมนตรี                                                             

(4) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน

ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 14. ประกอบ

34. กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหารต้องอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท กฎหมายแม่บทในที่นี้ ได้แก่

(1) พระราชกำหนด          

 (2) พระราชกฤษฎีกา       

(3) ประกาศกระทรวง      

(4) กฎกระทรวง

ตอบ 1  หน้า 33 กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงนั้นสามารถตราขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด

35. ข้อใดเป็นที่มาของกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น

(1) หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ                             

(2) หลักความไม่รู้ข้อเท็จจริง แก้ตัวได้

(3) หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด                

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 38-42, (คำบรรยาย) หลักกฎหมายทั่วไปเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้นอีกประการหนึ่ง โดยหลักกฎหมายทั่วไปอาจเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิม ซึ่งเขียนเป็นสุภาษิตกฎหมายลาติน หรือเป็นหลักกฎหมายที่แฝงอยู่ในบทกฎหมายต่างๆ เช่น หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ หรือหลักความไม่รู้ข้อเท็จจริง แก้ตัวได หรือหลักความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด เป็นต้น

36. ข้อใดถูกต้อง

(1) ระบบซีวิล ลอว์ จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(2) ระบบซีวิล ลอว์ ถือว่าคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายลำดับแรก

(3) ระบบคอมมอน ลอว์ ศาลจะเป็นผู้สร้างหลักกฎหมาย

(4) ระบบคอมมอน ลอว์ คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้กฎหมาย

ตอบ 3  หน้า 22 ตามหลักของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นั้น

1. ถ้ามีหลักกฎหมายซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปอยู่แล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นแต่เพียงผู้แสดงหลักเกณฑ์นั้นๆ แล้วนำมาปรับแก่คดีเท่านั้น

2. ถ้าไม่มีหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายขึ้นโดยคำพิพากษาและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานของศาลต่อๆมาซึ่งเรียกว่า “ Judge Made Law”

37. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ

(1) นายกรัฐมนตรีสามารถริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

(2) เป็นกฎหมายเฉพาะฝ่ายบริหาร

(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

(4) มีผลบังคับใช้เมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ตอบ 3   หน้า 28-29 , 32  พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) โดยผู้มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา และตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 140(3) ให้สิทธิแก่ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ แต่เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์การและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการเท่านั้น

38. ข้อใดไม่ใช่สาระสำคัญของการพิจารณาคดีอาญา

(1) ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเสมอ                                 

(2) ต้องเป็นการพิจารณาโดยลับ

(3) ต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา               

(4) ต้องตั้งทนายความให้จำเลยในคดีอุกฉกรรจ์

ตอบ 2  หน้า 68  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การพิจารณาคดีอาญาจะเริ่มต้นได้ก็จะต้องมีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาลก่อนโดยอาจจะเป็นการฟ้องโดยผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการก็ได้ (ศาลจะริเริ่มพิจารณาคดีอาญาเองไม่ได้) ซึ่งการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย และในคดีอุกฉกรรจ์ถ้าจำเลยไม่มีทนายให้ศาลตั้งทนายให้เมื่อจำเลยต้องการ

39. นายอ๊อดจ้างนายธงไปฆ่านายโต ต่อมานายอ๊อดเกิดกลัวความผิดจึงไปบอกเลิกการจ้าง นายธงจึงไม่ได้ไปฆ่านายโต ดังนี้ นายอ๊อด

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) เป็นผู้ใช้ แต่ไม่ต้องรับโทษ

(3) ไม่มีความผิด                                                 

(4) เป็นผู้ใช้รับโทษ 1 ใน 3

ตอบ 4  หน้า 68  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช่ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยง ส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการแต่ถ้าความผิดมิได้กระทำลง เป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

40. สมพรใช้ไม้ตีศีรษะสมชายสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นบาดแผลได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ การกระทำของสมพร

(1) ไม่เป็นความผิด                                            

(2) มีความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้

(3) มีความผิดแต่ยอมความได้                          

(4) มีความผิดยอมความไม่ได้

ตอบ 4   (คำบรรยาย) ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ไม่ว่าผู้ใดกระทำต่อผู้ใด สำหรับการกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้หรือลดหย่อนโทษให้ หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น

41. ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำผิด ขณะกระทำไม่มีความรู้สึกผิดชอบเพราะเป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือน โรคจิตหรือจิตบกพร่องประมวลกฎหมายอาญาจะ

(1) ยกเว้นโทษให้                                             

(2) ลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษที่กำหนด

(3) ยกเว้นความผิด                                            

(4) ลดโทษน้อยกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้เพียงใดก็ได้

ตอบ 1  หน้า 56  การกระทำความผิดใด ถ้าในขณะกระทำบุคคลผู้กระทำไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน กฎหมายอาญา (มาตรา 65) จะยกเว้นโทษให้สำหรับความผิดนั้น

42. แดงจ้างเขียวให้ไปฆ่าขาว เขียวยังไม่ทันไปฆ่าขาว ปรากฏว่าขาวหัวใจวายถึงแก่ความตายไปก่อน ดังนี้ แดง

(1) เป็นตัวการ    

(2) เป็นผู้สนับสนุน          

(3) เป็นผู้ใช้        

(4) ไม่มีความผิดใด

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 39. ประกอบ

43. ข้อใดเป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้

(1) ดำยิงแดง ถูกแดงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย                 

(2) ดำยิงแดง ปรากฏว่าลูกกระสุนปืนด้าน

(3) ดำยิงแดง แดงหลบกระสุนปืนได้                           

(4) ดำยิงแดง ปรากฏว่าลืมใส่ลูกกระสุน

ตอบ 4  หน้า 1, (คำบรรยาย)  การพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่นอนซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ เช่น ใช้ปืนที่ไม่มีลูกยิงโดยเจตนาฆ่า เป็นต้น หรือเพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อก็ได้ เช่น ยิงกระสุนใส่ตอไม้โดยเข้าใจว่าตอไม้เป็นคนที่ตนต้องการฆ่า เป็นต้น

44. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

(1) ความผิดส่วนตัวจะสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน

(2) พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาได้ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนมาแล้ว

(3) โดยปกติศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีอาญา

(4) ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาไม่ได้ ต้องให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีอาญา

ตอบ 4  หน้า 67-68  ในการฟ้องคดีอาญานั้น

1. ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี โดยปกติศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เพราะพนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อได้มีการสอบสวนมาแล้ว

2. ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาโดยลำพังตนเอง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนเสมอเพราะเป็นการฟ้องคดีโดยไม่มีการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาก่อน หรืออาจเป็นการฟ้องคดีในกรณีที่พนักงานสอบสวนสอบสวนแล้ว และมีคำสั่งไม่ฟ้อง

45. ข้อใดเป็นหลักเกณฑ์การตีความตามกฎหมายอาญา

(1) ตีความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหา                             

(2) ตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(3) ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย                        

(3) ตีความขยายความเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด

ตอบ 2  หน้า 90   กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษ การตีความจึงมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกับกฎหมายทั่วไป คือ 1. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

2. จะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้ และ

3. ในกรณีเป็นที่สงสัย ศาลต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาว่าไม่ได้กระทำความผิด

46. สินสมรส ได้แก่

(1) เงินเดือนที่คู่สมรสได้รับก่อนสมรส

(2) ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่หญิงได้มาก่อนสมรส

(3) ลูกหมูซึ่งแม่หมูของภริยาตกลูกเมื่อมีการสมรส

(4) เงินมรดกที่ได้รับในขณะสมรสในฐานะทายาทโดยธรรม

ตอบ 3   หน้า 163 สินสมรส ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนหรือรางวัลที่ได้จากการถูกลอตเตอรี่

2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมระบุว่าให้เป็นสินสมรส

3. ดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อมีการสมรส เช่น ลูกหมูซึ่งแม่หมูตกลูกเมื่อสมรสแล้ว

(ดอกเบี้ยเงินฝากแม้จะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว แต่ได้มาก่อนสมรสจึงไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัว)

47. กรณีใดต่อไปนี้มิใช่การสิ้นสุดการสมรส

(1) หย่า               

(2) ตาย                

(3) การสาบสูญ  

(4) ศาลพิพากษาให้เพิกถอน

ตอบ 3  หน้า 166  การสมรสสิ้นสุดลงได้โดยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสและการหย่า

(การสาบสูญเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น)

48. อุปกรณ์ คือ

(1) พวงมาลัยรถยนต์        

(2)ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ

(3) วิทยุติดรถยนต์             

(4) บัวรดน้ำ

ตอบ 2   หน้า 188-189  “อุปกรณ์หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน… จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีการร่วมสภาพกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแตกต่างจากส่วนควบ เช่น ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ ปลอกแว่นตา เป็นต้น (พวงมาลัยรถยนต์ถือเป็นส่วนควบของรถยนต์)

49. กรณีใดมิใช่มรดก

(1) สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมของเจ้ามรดก             

(2) สิทธิตามสัญญาเช่า

(3) ที่ดินของเจ้ามรดก                                                       

(4) กำไลทองคำของเจ้ามรดก

ตอบ 2  หน้า 171-172   “มรดกหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆด้วย เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (สิทธิตามสัญญาเช่า เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย)

50. มรดกย่อมตกทอดเมื่อ

(1) เปิดพินัยกรรมออกอ่าน                                             

(2) ทายาทแสดงเจตนายอมรับมรดก

(3) ทายาทได้ทราบถึงการตายของเจ้ามรดก 

(4) เจ้ามรดกตาย

ตอบ 4  หน้า 172, (คำบรรยาย) ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทซึ่งการตกทอดของมรดกนั้น จะตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกตาย

51. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม

(1) คู่สมรส                                          

(2) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว

(3) คนรับใช้ของเจ้ามรดก

(4) ศาลเจ้า

ตอบ 4  หน้า 173-175  บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ ญาติของผู้ตายและคู่สมรสของผู้ตาย ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นและที่สำคัญต้องมีสภาพบุคคลในขณะที่เจ้ามรดกตายด้วย แต่บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นญาติหรือคู่สมรสของผู้ตายหรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะเป็นนิติบุคคล เช่น วัด มูลนิธิ ก็ได้ (ศาลเจ้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล)

52. ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

(1) บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้ใช้นามสกุล                 

(2) บุตรบุญธรรมได้จดทะเบียน

(3) บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ได้จดทะเบียนสมรส            

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 173-174  ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทชั้นบุตรที่จะมีสิทธิรับมรดกนั้นหมายถึงบุคคล 3 ประเภท คือ

1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน

2. บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา เป็นต้น

3. บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้ว

53.คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ พินัยกรรมย่อม

(1) สมบูรณ์   

(2) ตกเป็นโมฆียะ               

(3) ตกเป็นโมฆะ

 (4) จะสมบูรณ์หากได้รับอนุญาตจากศาลด้วย

ตอบ 1  หน้า 177 คนเสมือนไร้ความสามารถทำนินัยกรรมได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เพราะพินัยกรรมที่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม หรือวางเงื่อนไขไว้แต่อย่างใด

54. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

(1) หากไม่มีทายาทเป็นผู้รับมรดก ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่แผ่นดิน

(2) การเป็นทายาทโดยธรรมจะต้องถือตามความเป็นจริง

(3) บุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิรับมรดกเสมอ

(4) ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใดกับเจ้ามรดกก็ได้

ตอบ 3 หน้า 178-179  ทายาทของเจ้ามรดกอาจสูญเสียสิทธิในการรับมรดกได้ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ 1. ถูกตัดมิให้รับมรดก      2. ถูกกำจัดมิให้รับมรดก  3. สละมรดก  4. อายุความมรดก

55. ข้อใดมีลักษณะเป็น กฎเกณฑ์ (Norm) ของรัฐที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์

(1) การรณรงค์ให้ผู้ขับรถเมื่อเกิดการง่วงไม่ควรขับรถ

(2) การขอความร่วมมือให้สถานบันเทิงงดจำหน่ายสุราทุกวันพระ

(3) การวางแฟนรายได้เพื่อให้คำนวณอัตราการเสียภาษีน้อย

(4) การปรับสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปิดตามเวลาที่กำหนด

ตอบ 4   หน้า 15  กรณีที่จะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ (Norm) นั้นจะต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ให้กระทำการได้หรือห้ามกระทำการ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ถือเป็นสิ่งที่ผิดและจะถูกลงโทษ เช่น ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล หรือห้ามเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น

56. ระบบกฎหมายของประเทศใดที่คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้ตัวบทปรับแก่คดีสามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับคำพิพากษาได้โดยอาศัยเหตุผลที่ดีกว่า

(1) ประเทศไทย                                                  

(2) ประเทศสหรัฐอเมริกา

(3) ประเทศอังกฤษ                                           

(4) ประเทศออสเตรเลีย

ตอบ 1  หน้า 21,24  ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร ดังนั้นจึงถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงคำอธิบายการใช้ตัวบทกฎหมายปรับแก่คดี ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับคำพิพากษาได้โดยอาศัยเหตุผลความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักหรือตัวบทกฎหมาย

57. ประเทศที่นิยมให้มีการแบ่งแยกกฎหมายเป็นประเภทต่างๆได้แก่

(1) สหรัฐอเมริกา              

(2) อังกฤษ           

(3) ไทย                

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 3 หน้า 43  การแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆนั้น นิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และไทย เป็นต้น

58. นายดำต้องการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้นายขาวบิดาของตนซึ่งเป็นคนวิกลจริตให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งนายดำเป็นผู้อนุบาล นายดำต้องยื่นคำร้องต่อ

(1) ศาลปกครอง                

(2) ศาลอาญา      

(3) ศาลแพ่ง        

(4) ศาลเยาวชนและครอบครัว

ตอบ 3   หน้า 69,220, (คำบรรยาย)  ศาลแพ่ง คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีในทางแพ่ง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลพิเศษอื่น โดยจะเป็นคดีที่มีข้อพิพาทหรือไม่มีข้อพิพาทก็ได้ เช่น การร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ หรือการร้องขอให้ศาลตั้งผู้อนุบาล เป็นต้น

59. ข้อใดเป็นสาขาย่อยของกฎหมายมหาชน

(1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ                   

(2) กฎหมายปกครอง        

(3) กฎหมายอาญา                                             

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4    หน้า 46-47,50,53  กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

60. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก

(1) หัวหน้าพรรคการเมือง              

(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร          

(3) สมาชิกวุฒิสภา                            

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 171 วรรคสอง และ 172 วรรคแรก กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก

61. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดย

(1) พระราชกำหนด          

(2) พระราชบัญญัติ           

(3) พระราชกฤษฎีกา        

(4) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ตอบ 3   หน้า 33  ตามรัฐธรรมนูญ การตราพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นใน 3 กรณีคือ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร หรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ฯลฯ  2. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 196  (เรื่องเงินประจำตำแหน่ง บำเหน็จบำนาญและประโยชน์ตอบแทน) 3. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด) ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีการได้

62. แดงใช้ปืนยิงดำ ดำจึงยิงสวนกลับ แดงถึงแก่ความตาย ดังนี้

(1) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะกระทำด้วยความจำเป็น  

(2) ดำไม่มีความผิด เพราะกระทำด้วยความจำเป็น

(3) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

(4) ดำไม่มีความผิด เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

ตอบ 4  หน้า 55-56   การกระทำของดำ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

63. คดีแพ่งที่ต้องทำเป็นคำร้อง เช่น การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ถือเป็นคดีแพ่งประเภท

(1) คดีมีข้อพิพาท              

(2) คดีไม่มีข้อพิพาท         

(3) คดีที่มีข้อโต้แย้ง           

(4) คดีที่ต้องมีคู่ความ

ตอบ 2  หน้า 69  คดีแพ่งนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. คดีไม่มีข้อพิพาท คือ คดีที่ไม่มีจำเลย เพราะไม่มีคำขอให้ศาลบังคับผู้ใด เป็นแต่ขอให้ศาลแสดงสิทธิของตนหรือให้ตนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง การฟ้องคดีจึงต้องทำเป็นคำร้อง

2. คดีมีข้อพิพาท คือ คดีที่จะต้องมีจำเลยเข้าเป็นคู่ความด้วย มีการขอให้ศาลบังคับจำเลย การฟ้องคดีจึงต้องทำเป็นคำฟ้อง

64. การที่นายเขียวละเมอถีบนายแดงตกเตียง ดังนี้ นายเขียวมีการกระทำหรือไม่

(1) ไม่มี เพราะไม่ใช่เจตนาของตน

(2) มี เพราะมีการคิด ตัดสินใจ และตกลงกระทำตามที่ได้ตัดสินใจ

(3) ไม่มี เพราะการเคลื่อนไหวไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ

(4) มี เพราะทำให้นายแดงได้รับบาดเจ็บ

ตอบ 3  (คำบรรยาย)  การกระทำ”  ในทางกฎหมายอาญานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก หรืออยู่ในอำนาจควบคุมบังคับของจิตใจ คือ จิตใจสามารถที่จะบังคับให้มีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวนั้นได้ (การละเมอไม่ถือว่าอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของจิตใจ)

65. ข้อใดที่ทำให้กฎหมายมหาชนแตกต่างจากกฎหมายเอกชน

(1) กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่อง

(2) กฎหมายมหาชนใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์ที่ไม่ต้องอาศัยความสมัครใจ

(3) กฎหมายมหาชนมุ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคน

(4) กฎหมายมหาชนใช้กับคู่กรณีที่เป็นเอกชนเท่านั้นไม่รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง

ตอบ 2 หน้า 44-45  “กฎหมายมหาชนคือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎรในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองราษฎร รัฐจึงจำต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับความประพฤติของพลเมืองภายในรัฐ โดยไม่ต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ก่อนิติสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย แต่กฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ ระหว่างเอกชนด้วยกันเองในฐานะเท่าเทียมกัน จึงต้องอาศัยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

66. โดยหลักกฎหมายอาญาแล้ว การตระเตรียมกระทำความผิด

(1) ยังไม่เป็นความผิด                                        

(2) เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

(3) เป็นความผิดรับโทษเพียงหนึ่งในสามของความผิดสำเร็จ

(4) เป็นความผิดรับโทษสองในสามของความผิดสำเร็จ

ตอบ 1  หน้า 59-60  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้ลงมือกระทำความผิดแล้วไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำไปตลอดหรือจะบรรลุผลหรือไม่ก็ตาม สำหรับขั้นตอนของความคิด การตกลงใจ และการตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดนั้น ในทางกฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นความผิดและจะต้องรับโทษแต่อย่างใด (ยกเว้นการตระเตรียมการที่จะกระทำความผิดบางประเภทซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง)

67. ตามหลักกฎหมายอาญา หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด

(1) ต้องวินิจฉัยโดยใช้จารีตประเพณี            

(2) ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง

(3) ไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีความผิดเกิดขึ้น              

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 3   หน้า 54,90  กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด ย่อมไม่มีความผิด และไม่มีโทษ ( อีกทั้งไม่อาจนำวิธีการอุดช่องว่างตามกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญาได้)

68. รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) กำหนดให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า

(1) 20 ปีบริบูรณ์               

(2) 25 ปีบริบูรณ์                

(3) 30 ปีบริบูรณ์                

(4) 40 ปีบริบูรณ์

ตอบ 2   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 101 กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง

69. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550 ) กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดละ

(1)  1 คน             

(2) 2 คน              

(3) 3 คน                              

(4) แล้วแต่จำนวนประชากรโดยคำนวณจากประชากร 1 แสนห้าหมื่นต่อสมาชิกวุฒิสภา

ตอบ 1  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 111 กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาจำนวนทั้งสิ้น 150 คนโดยมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน

หมายเหตุ ** ปัจจุบันมีการตั้งอำเภอบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77 ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาสมาชิกวุฒิสภาวาระหน้า จะประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา 73 คน

70. มารดาของสามีลักทรัพย์ลูกสะใภ้

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) มีความผิดแต่ยอมความได้

(3) มีความผิดแต่ได้รับการลดโทษ                 

(4) มีความผิดยอมความไม่ได้

ตอบ 4  หน้า 58-59, (คำบรรยาย) การกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้ หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะทีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น (จากโจทย์จะเห็นว่าการที่มารดาของสามีลักทรัพย์ลูกสะใภ้นั้น ไม่ใช่กรณีที่บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน อันจะเป็นเหตุให้ผู้กระทำมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้ และความผิดฐานลักทรัพย์นั้นยอมความไม่ได้)

71. บุตรลักทรัพย์ของบิดา

(1) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ                      

(2) มีความผิดแต่ยอมความได้

(3) มีความผิดยอมความไม่ได้                          

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 70. ประกอบ (ความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าเป็นการกระทำระหว่างผู้สืบสันดานกับผู้บุพการี ให้ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้)

72. นิติกรรมข้อใดที่ผู้เยาว์ทำได้ตามลำพังตนเอง

(1) รบการให้ที่ดินติดจำนอง                          

(2) ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ขับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย

(3) จดทะเบียนรับรองบุตร                              

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3   ดูคำอธิบายข้อ 12. ประกอบ

73. สิ่งใดต่อไปนี้มิใช่ส่วนควบ

(1) บ้านบนที่ดิน                

(2) วิทยุติดรถยนต์             

(3) เลนส์แว่นตา                

(4) ที่งอกริมตลิ่ง

ตอบ 2   หน้า 187  “ส่วนควบของทรัพย์ คือ ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปหรือสภาพไป เช่น บ้านบนที่ดิน ที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือแว่นตาเป็นส่วนควบของเลนส์ เป็นต้น

74. ข้อใดต่อไปนี้ถูกที่สุด

(1) สิ่งใดที่เป็นทรัพย์สินสิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์เสมอด้วย

(2) สิ่งใดเป็นทรัพย์สิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินเสมอ

(3) การจะเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินได้ต้องมีกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะ

(4) ทรัพย์และทรัพย์สินมีความหมายเดียวกัน

ตอบ 2  หน้า 181  “ทรัพย์หมายถึง วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น รองเท้า นาฬิกา ตุ๊กตาหมี ฯลฯ ส่วน ทรัพย์สินหมายถึง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น พลังงานปรมาณู แก๊ส กรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ ดังนั้นถ้าสิ่งใดเป็นทรัพย์สิ่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินเสมอ

75. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพย์

(1) รองเท้า          

(2) ลิขสิทธิ์         

(3) นาฬิกา          

(4) ตุ๊กตาหมี

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 74. ประกอบ

76. สิ่งใดต่อไปนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์

(1) ต้นพลูที่ปลูกลงในที่ดิน            

(2) เรือยนต์         

(3) รถยนต์          

(4) แพที่ใช้อยู่อาศัย

ตอบ 1  หน้า 182-183  “อสังหาริมทรัพย์หมายถึง ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย (ต้นพลู เป็นไม้ที่มีอายุกว่า 3 ปีเมื่อปลูกบนที่ดินถือว่าเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินและเป็นส่วนควบกับที่ดินจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์)

77.ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ

(1) ดอกผลธรรมดา                                                           

(2) ดอกผลนิตินัย

(3) เป็นทั้งดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย             

(4) ไม่ใช่ดอกผล

ตอบ 2  หน้า 190  “ดอกผลนิตินัยหมายถึง ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น เพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือประโยชน์ในการให้เช่าไปทำกินในที่ดิน

78. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ดอกผลธรรมดาบางประเภทสามารถทดแทนดอกผลนิตินัยได้

(2) ทรัพย์บางประเภทสามารถเป็นได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

(3) เจ้าของที่ทรัพย์สินย่อมมีสิทธิได้ดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 191  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น…

79. บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันโดยซื้อเป็นส่วนๆ ไปประกอบในที่ดินอีกแห่ง คือ

(1) อสังหาริมทรัพย์          

(2) อุปกรณ์         

(3) ส่วนควบ       

(4) สังหาริมทรัพย์

ตอบ 4  (คำบรรยาย) ทรัพย์ใดแม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ก็อาจจะโอนกันในรูปสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันเป็นส่วนๆ ดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน จึงไม่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการซื้อขายทรัพย์ในสภาพของสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

80. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม คือ

(1) การครอบครองปรปักษ์                              

(2) สัญญาซื้อขาย

(3) การแย่งสิทธิครอบครอง                            

(4) ที่งอกริมตลิ่ง

ตอบ 2  หน้า 192-194  การได้มาซึ่งสิทธิ์มี 2 กรณี คือ

1. การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น และ

2. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยอาศัยหลักส่วนควบ หรือโดยทางมรดก เป็นต้น

81. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัยพสิทธิ

(1) สิทธิครอบครอง          

(2) ภาระจำยอม 

(3) กรรมสิทธิ์     

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4  หน้า 192 ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

82. นิติบุคคลมีสิทธิ

(1) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง

(2) รับโทษทางอาญาทุกโทษ          

(3) รับรองบุตร   

(4) สมรส

ตอบ 1  หน้า 150-151  นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของตน เช่น อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี หรืออาจถูกฟ้องต่อศาล อีกทั้งยังมีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น การสมรส การรับรองบุตร ฯลฯ

83. ข้อใดมิใช่ผู้แทนนิติบุคคล

(1) กรรมการสมาคมเป็นผู้แทนสมาคม                         

(2) พระในวัดเป็นผู้แทนวัด

(3) หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด     

(4) อธิบดีเป็นผู้แทนกรม

ตอบ 2  หน้า 151-152   นิติบุคคล เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนาหรือทำการใดโดยตนเองได้ ดังนั้น กฎหมายจึงบัญญัติให้นิติบุคคลแสดงเจตนาต่างๆโดยผ่านผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ เช่น รัฐมนตรีเป็นผู้แทนกระทรวง อธิบดีเป็นผู้แทนกรม เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดวาอาราม หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว กรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทจำกัด คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้แทนของสมาคม คณะกรรมการมูลนิธิเป็นผู้แทนของมูลนิธิ เป็นต้น

84. ผู้เยาว์ทำนิติกรรมต่อไปนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตศาล

(1) ทำพินัยกรรมเมื่ออายุ 15 ปี                        

(2) ประนีประนอมยอมความ

(3) ให้กู้ยืมเงิน                                                   

(4) ขายอสังหาริมทรัพย์

ตอบ 1  หน้า 134-135  ในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์นั้น นอกจากผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว มีนิติกรรมบางประเภทผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 3 ปี การให้กู้ยืมเงิน หรือการประนีประนอมยอมความ เป็นต้น (การทำพินัยกรรมไม่ต้องขออนุญาตจากศาล)

85. ข้อใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง

(1) การนำทรัพย์ไปลงทุน                                

(2) กู้ยืมเงิน

(3) ให้กู้ยืมเงิน                                                   

(4) เช่าบ้านอยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 1 ปี

ตอบ 4  หน้า 138-139  คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี (บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์)

86. คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมข้อใดได้ หากผู้อนุบาลยินยอม

(1) นิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว                    

(2) นิติกรรมที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์

(3) นิติกรรมที่ได้ไปซึ่งสิทธิ                            

(4) ทำนิติกรรมใดๆก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

ตอบ 1  หน้า 137  คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นไม่ว่าจะได้ทำนิติกรรมในขณะวิกลจริตหรือไม่ก็ตาม หรือได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลจะได้ยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน เว้นแต่พินัยกรรมซึ่งผู้อนุบาลไม่อาจทำแทนได้ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นพินัยกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำขึ้น หรือให้ผู้อนุบาลทำแทนย่อมตกเป็นโมฆะ

87. ข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายถือว่าถึงแก่ความตาย

(2) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

(3) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทำให้การสมรสขาดจากกัน

(4) การเป็นคนสาบสูญอาจมีการเพิกถอนคำสั่งได้

ตอบ3  หน้า  146  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลตามกฎหมาย คือ

1. คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง)

2. ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจปกครองบุตร        3. มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

4. ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามหากคนสาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ศาลก็อาจเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้

88. การสิ้นสภาพบุคคลธรรมดา ได้แก่

(1) ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 

(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

(3) ถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย                                               

(4) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

ตอบ 2  หน้า 140-141  สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือ   1 ตามธรรมดา และ              2. ตายโดยผลของกฎหมาย คือ เมื่อบุคคลนั้นได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

89. นิติบุคคลแสดงเจตนาต่างๆได้โดย

(1) ผ่านผู้แทนนิติบุคคล                                   

(2) แสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร

(3) แสดงเจตนาได้ด้วยตัวเอง                         

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1  ดูคำอธิบายข้อ 83. ประกอบ

90. ข้อใดถือเป็นภูมิลำเนานิติบุคคล

(1) ที่ตั้งที่ทำการ                

(2) ภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อตกลง

(3) สาขา                              

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   หน้า 152-153  ภูมิลำเนาของนิติบุคคลแยกเป็น 3 ประเภท        

1. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งที่ทำการ       

2. ถิ่นที่เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อตกลงหรือตราสารจัดตั้ง   

3. ถิ่นของสำนักงานสาขาในส่วนที่กิจการนั้นได้ทำขึ้น

91. ผู้ปกครองของผู้เยาว์มีได้ในกรณี

(1) ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา                                  

(2) บิดามารดาถูกถอนอำนาจการปกครอง

(3) บิดามารดาหย่าขาดจากกัน                        

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 4   หน้า 134  ผู้ปกครองของผู้เยาว์ซึ่งจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จะมีได้ใน 2 กรณี คือ

1. ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา      (กรณีบิดามารดาตายหรือไม่ปรากฏบิดามารดา)

2. บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง

92. ทรัพย์ใดต่อไปนี้มิอาจเป็นของหมั้นได้

(1) อาคารพาณิชย์ของชายคู่หมั้น                  

(2) รถยนต์ของชายคู่หมั้น

(3) เงินที่ชายคู่หมั้นกู้ยืมมาเพื่อหมั้น             

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4   หน้า 157  “ของหมั้นหมายถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ (ทรัพย์ตาม (1)(2)และ (3) เป็นของหมั้นได้)

93. เมื่อหมั้นแล้ว หากต่อมาคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมสมรสด้วย เช่นนี้

(1) ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการสมรสได้              

(2) เรียกเบี้ยปรับได้

(3) ฝ่ายที่มิใช่ฝ่ายผิดเรียกค่าทดแทนได้                        

(4) แม้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น ก็ริบของหมั้นไว้ได้

ตอบ 3  หน้า 157-158  ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ มีสิทธิ์ก็แต่เฉพาะเรียกค่าทดแทนเนื่องจากมีการผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น

94. การสมรสมิอาจสมบูรณ์ได้หาก

(1) มิได้มีการหมั้นมาก่อน

(2) ชายหญิงอายุ 19 ปี ที่ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอม

(3) มิได้ส่งมอบสินสอด

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 158-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (การสมรสมิอาจสมบูรณ์) มี 5 ประการ คือ             1. ชายและหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์                           2. ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือ ผู้ปกครอง        3. การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส        4. สมรสโดยถูกกลฉ้อฉล  5. การสมรสเพราะถูกข่มขู่ (การสมรสสามารถทำได้โดยมิต้องมีการหมั้นหรือส่งมอบสินสอดกันก่อนแต่อย่างใด)

95. หญิงอายุ 21 ปี ที่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายถึงแก่ความตาย

(1)  หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุด การสมรสย่อมตกเป็นโมฆียะ

(2) สมรสใหม่ได้ทันที และการสมรสนั้นสมบูรณ์

(3) หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุดการสมรส ย่อมตกเป็นโมฆะ

(4) หากจะสมรสใหม่ก่อน 310 วัน ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน

ตอบ 4  หน้า 160 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อระยะเวลา 310 วันนับแต่วันสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้ว เว้นแต่

1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น                      2. สมรสกับคู่สมรสเดิม

3. มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์                4. มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้ (แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติได้กล่าว ให้ถือว่าการสมรสยังคงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ)

96. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ

(1) ผู้รับบุตรธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม                    

(2) บุคคลวิกลจริตสมรสกับบุคคลที่มีสภาพจิตปกติ

(3) สมรสโดยปราศจากความยินยอม                             

(4) สมรสซ้อน

ตอบ 1  หน้า 159-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ มี 4 ประการ คือ

1. สมรสกับบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล

2. สมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือกับพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

3. สมรสโดยปราศจากความยินยอมของชายหญิงคู่สมรส และ

4. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า สมรสซ้อน

(ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมมีผลสมบูรณ์ แต่การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป)

97. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

(1) ชายหญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์                           

(2) สมรสโดยสำคัญผิดตัว

(3) สมรสเพราะถูกข่มขู่                                                   

(4)คู่สมรสที่มีบิดาคนเดียวกัน แต่ต่างมารดากัน

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 94. และ 96. ประกอบ   (การสมรสตามข้อ (4) เป็นโมฆะ ส่วนการสมรสตามข้อ (1) (2) และ (3) เป็นโมฆียะ)

98. หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ได้แก่

(1) สามีกู้ยืมเงินภริยาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว

(2) ภริยากู้ยืนเงินจากธนาคารเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุตร

(3) สามีกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อวิทยุไว้ฟังที่ทำงาน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 164-165  หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งสามีและภริยาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ (ข้อ (1) เป็นหนี้ระหว่างสามีภริยา (3) เป็นหนี้ส่วนตัว)

99. บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อ

(1) อายุ 20 ปีบริบูรณ์                        

(2) อายุ 17 ปีบริบูรณ์และสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย

(3) อายุ 16 ปี โดยศาลอนุญาตให้ทำการสมรส            

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 133  บุคคลย่อมบรรลุนิติภาวะในกรณีหนึ่ง คือ 1. เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือ

2. เมื่อได้ทำการสมรสในขณะที่มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรืออายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์แต่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้

100. สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อ

(1) นางขาวแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน                             

(2) นางดำตั้งครรภ์บุตรเป็นเวลา 8 เดือน

(3) นางเทาคลอดบุตรแล้วแต่หมอยังไม่ตัดสายสะดือ

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 125-126   สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (โดยจะตัดสายสะดือหรือไม่ไม่สำคัญ) ซึ่งการอยู่รอดเป็นทารกนั้น อาจจะดูการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือดูที่การหายใจ ซึ่งการหายใจนั้นไม่จำกัดว่าจะมีระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจึงยังไม่มีสภาพบุคคล

101. นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใด ทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อใด

(1) 1 มกราคม 2520                           

(2) แล้วแต่นายอำเภอท้องที่จะกำหนดว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

(3) 1 เมษายน 2520                           

(4) แล้วแต่นายน้อยจะเลือกว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

ตอบ 1    หน้า 128, (คำบรรยาย) ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลเกิดวันใด เดือนใด แต่รู้ปีเกิด ให้ว่าถือว่าบุคคลนั้นได้เกิดในวันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ในกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2483 ให้ถือเอา วันที 1 เมษายน เป็นวันต้นปี หากเกิดภายหลังจากนั้นให้ถือเอาวันที่ 1มกราคม เป็นวันต้นปี ดังนั้นการที่นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใดทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อวันที่ 1มกราคม 2520

102. ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่เมื่อใด

(1) เริ่มวันที่วิกลจริต                                         

(2) เริ่มวันที่ฟ้องศาล

(3) เริ่มวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา                   

(4) เริ่มวันที่ศาลสั่ง

ตอบ 4  หน้า  138, (คำบรรยาย) การเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ 1. เป็นคนวิกลจริต และ 2. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และเมื่อศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลสั่ง (การที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นเรื่องในทางปฏิบัติเท่านั้น)

103. สิทธิหมายถึง

(1) การที่บุคคลทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

(2) หน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

(3) ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 97 สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ แบ่งออกเป็น

1. สิทธิในตัวบุคคล เช่น สิทธิในร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ความคิดเห็น

2. สิทธิในตัวทรัพย์สิน เช่น ทรัพยสิทธิ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้

3. สิทธิในครอบครัว เช่น สิทธิในการรับมรดก

4. สิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง

104. นายเอกขายสร้อยคอทองคำให้นายโท โดยนายเอกไม่รู้ว่านายโทวิกลจริต นิติกรรมจะมีผล

(1) ไม่สมบูรณ์    

(2) มีผลสมบูรณ์                 

(3) โมฆะ            

(4) โมฆียะ

ตอบ 2  หน้า 137-138  นิติกรรมที่บุคคลวิกลจริตได้ทำลงจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้อยู่แล้วว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต

105. ข้อใดคือการสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมาย

(1) การตายตามธรรมชาติ                                

(2) การถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

(3) คนที่สมองตายไม่สามารถทำอะไรได้เองไม่รู้ผิดชอบชั่วดี 

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 88. ประกอบ

106. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ทารกในครรภ์มารดาถือเป็นทายาทแล้ว

(2) สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอด

(3) เมื่อทารกคลอดแล้วปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นนี้ ทารกมีสภาพบุคคล

(4) เมื่อทารกคลอดแล้วต้องมีการหายใจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะถือว่ามีสภาพบุคคล

ตอบ 3    หน้า 125-127    ทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสภาพบุคคล (ดูคำอธิบายข้อ 100. ประกอบ) จึงไม่อาจเป็นทายาทได้ เพราะตามกฎหมายการเป็นทายาทนั้น (ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทในฐานะผู้รับพินัยกรรม) จะต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย แต่ทารกในครรภ์มารดามีสิทธิรับมรดกได้ตามกฎหมาย ถ้าหากว่าภายหลังได้คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกภายใจ 310วันนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย (ป.พ.พ. มาตรา 15 และ 1604)

107 ทารกในครรภ์มารดา ขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

(1) มีสภาพบุคคล

(2) ไม่มีสิทธิรับมรดก

(3) มีสิทธิรับมรดกหากเกิดมารอดอยู่ภายใจ 310 วันนับแต่วันเจ้ามรดกตาย

(4) มีสิทธิรับมรดกถ้าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 106. ประกอบ

108. บุคคลธรรมดาที่กฎหมายมิได้กำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่

(1) คนเสมือนไร้ความสามารถ                       

(2) คนไร้ความสามารถ

(3) ผู้เยาว์                                                             

(4) ผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล

ตอบ 1  หน้า 131-132  บุคคลที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่

1. ผู้เยาว์                 2. คนไร้ความสามารถ         3. สามีและภริยา                  4. ข้าราชการ

5. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล

109. ข้อใดถูกต้อง

(1) บุคคลฝ่ายเดียวสามารถทำสัญญาได้

(2) สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน

(3) สัญญาที่ทำขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมายทุกกรณี

(4) การเลิกสัญญาต้องตกลงไว้ในเนื้อหาของสัญญาเสมอ

ตอบ 2  หน้า 112  สัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปเป็นคู่สัญญา

2. ต้องมีการตกลงยินยอมระหว่างคู่สัญญา กล่าวคือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและอีกฝ่ายแสดงเจตนาเป็นคำสนองรับคำเสนอนั้น สัญญาจึงจะเกิดขึ้น

3. ต้องมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญา ซึ่งวัตถุประสงค์นี้จะต้องไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมาย

110. การกระทำที่เป็นโมฆียะจะมีผล คือ

(1) ให้สัตยาบันไม่ได้                                       

(2) การกล่าวอ้างไม่กำหนดระยะเวลา

(3) สมบูรณ์จนกว่าจะบอกล้าง                        

(4) ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนกล่าวอ้างได้

ตอบ 3  หน้า 105-107  นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นมาแล้วจะมีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะ หรืออาจมีการให้สัตยาบันเพื่อให้นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้อย่างสมบูรณ์ (ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อได้ทำขึ้นมาแล้วจะมีผลเสียเปล่าใช้บังคับกันไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้ทำนิติกรรมนั้นขึ้นมาเลยและจะให้สัตยาบันก็ไม่ได้)

111. ข้อใดมิใช่นิติเหตุ

(1) การเกิด          

(2) การตาย         

(3) การให้           

(4) การละเมิด

ตอบ 3  หน้า 115-117  นิติเหตุ หรือเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยอาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากพฤติการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเกิด การตาย หรืออาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยปราศจากเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย ได้แก่ การจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ และละเมิด หรืออาจจะเป็นเหตุที่ได้ตาม ป.พ.พ. ลักษณะทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยหลักส่วนควบ เป็นต้น (การให้เป็นนิติกรรม)

112. ข้อใดทำให้สิทธิระงับ

(1) ขาดตัวผู้ทรงสิทธิ                                        

(2) การชำระหนี้ตามกำหนด

(3) การสูญสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ                           

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 122-123  สิทธิอาจจะระงับได้ด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

1. การขาดตัวผู้ทรงสิทธิ                     2. การระงับแห่งหนี้ เช่น การชำระหนี้ การปลดหนี้ เป็นต้น

3. การสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ                      4. การระงับแห่งสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

113. องค์ประกอบในการร้องขอศาลให้บุคคลใดเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่

(1) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ                      

(2) ตาบอดหูหนวก           

(3) ติดการพนัน

(4) มีความบกพร่องทางร่างกายและไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้

ตอบ 4 หน้า 138 , (คำบรรยาย) บุคคลที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1. มีเหตุบกพร่องบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนดไว้

2. ไม่สามารถจัดทำการงานของตนได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวเพราะเหตุบกพร่อง และ

3. ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

114. การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ

(1) ผู้พิทักษ์ต้องทำแทนทุกกรณี                     

(2) ผู้พิทักษ์ต้องเป็นผู้ให้ความยินยอมทุกกรณี

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถทำเองได้ เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

(4) ทำอะไรเองไม่ได้เลย ตกเป็นโมฆะหมด

ตอบ 3  หน้า 138-139  คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี เป็นต้น

115. ข้อใดมิใช่ลักษณะของความยินยอมที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรม

(1) ทำเป็นหนังสือ                                            

(2) ให้ความยินยอมด้วยวาจาก็ได้

(3) ให้ภายหลังจากผู้เยาว์ทำนิติกรรมแล้ว    

(4) ให้ความยินยอมโดยปริยาย

ตอบ 3  (เลขพิมพ์ 44289 หน้า 162 ), (คำบรรยาย) การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้นไม่มีแบบ จะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ได้ แต่จะต้องให้ก่อนหรือขณะทำนิติกรรม ถ้าให้ความยินยอมภายหลังจากทำนิติกรรมไปแล้วกฎหมายถือว่าเป็นการรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ซึ่งเรียกว่าเป็นการให้สัตยาบัน

116. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจทำพินัยกรรมได้เลย

(1) บุคคลวิกลจริต                                             

(2) คนเสมือนไร้ความสามารถ

(3) คนไร้ความสามารถ                                    

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3  หน้า 177 ตามกฎหมายห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมใดๆทั้งสิ้น พินัยกรรมซึ่งคนไร้ความสามารถทำขึ้นจะตกเป็นโมฆะ ส่วนพินัยกรรมซึ่งคนวิกลจริตได้ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆะ (เสียเปล่า) ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาทำพินัยกรรมผู้ทำวิกลจริตอยู่ (ส่วนพินัยกรรมซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถทำขึ้น มีผลสมบูรณ์)

117. หากพระภิกษุมรณภาพในขณะที่บวชอยู่ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างครองสมณเพศจะตกแก่ใคร

(1) แผ่นดิน                                                         

(2) ทายาทโดยธรรม

(3) วัดที่เป็นภูมิลำเนา                                       

(4) ทายาทผู้รับพินัยกรรม

ตอบ 3   หน้า 178  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างที่พระภิกษุยังมีชีวิตอยู่ หรือได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดไว้แล้ว

118. หากคนไร้ความสามารถสมรสกับบุคคลที่ไม่ถูกจำกัดความสามารถ จะมีผลอย่างไร

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ1  ดูคำอธิบายข้อ 96.ประกอบ

119. หากคนเสมือนไร้ความสามารถ สมรสกับบุคคลที่ไม่ถูกจำกัดความสามารถ จะมีผลอย่างไร

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 96.ประกอบ (คนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามทำการสมรสแต่อย่างใด)

120. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจเป็นทายาทโดยธรรมได้

(1) คู่สมรส                                          

(2) ผู้รับบุตรบุญธรรม

(3) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว        

(4) บุตรบุญธรรม

ตอบ 2  หน้า 173-175  ทายาทโดยธรรมมี 2 ประเภท คือ คู่สมรส และญาติ ซึ่งมี 6 ลำดับดังนี้

1. ผู้สืบสันดาน (รวมถึงบุตรบุญธรรม และบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว)

2. บิดามารดา       

3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน      

4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

5. ปู่ ย่า ตา ยาย     

6. ลุง ป้า น้า อา     (บิดามารดาในที่นี้หมายความถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิดไม่หมายความรวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม กล่าวคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน)

 

LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ภาค S/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

1. การควบคุมลักษณะใดเป็นการควบคุมจากภายในจิตใจของบุคคล

(1) จารีตประเพณี              

(2) ศาสนา          

(3) ศีลธรรม        

(4) กฎหมาย

ตอบ 3 หน้า 19 ศีลธรรม หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ชอบการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ผิด ซึ่งศีลธรรมจะควบคุมความประพฤติทั้งภายนอกและภายในจิตใจของมนุษย์ ทำให้ศีลธรรมมีความมุ่งหมายหรือความดาดหวังจากมนุษย์สูงกว่ากฎหมาย ดังนั้น ศีลธรรมจึงทำให้มนุษย์คิดดีและทำความดีควบคู่กันไป

2. หากศาลเชื่อว่าบุคคลนั้นมิได้รู้ข้อกฎหมายเช่นนั้น โดยมีเหตุอันสมควร จะมีผลอย่างไร

(1) ไม่มีโทษ        

(2) ไม่มีความผิด                 

(3) ลงโทษ          

(4) ภาคทัณฑ์

ตอบ 3  หน้า 2-3  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 “บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความผิดในทางอาญาไม่ได้ แค่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” (แต่จะไม่ลงโทษเลยไม่ได้) ดังนั้น การอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย แม้ศาลจะเชื่อและรับฟังก็ไม่ทำให้ผู้ยกข้ออ้างนี้หลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด

3. การบัญญัติกฎหมายที่จำต้องมีโทษหนักเพื่อให้บังคับใช้ได้ผลนั้น เป็นกฎหมายในยุคใด

(1) กฎหมายชาวบ้าน        

(2) กฎหมายเทคนิค          

(3) กฎหมายนักกฎหมาย 

(4) กฎหมายปกครอง

ตอบ 2 หน้า 9-11 ยุคกฎหมายเทคนิค เป็นยุคที่มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือจารีตประเพณี แต่เป็นการบัญญัติกฎหมายขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งตลอดจนเพื่อบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นๆด้วย โดยจะกำหนดโทษไว้ค่อนข้างสูงเพื่อให้บุคคลเกรงกลัวต่อการกระทำความผิดและให้การบังคับใช้ได้ผล เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เป็นต้น

4. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Common Law) ศาลจะเป็นผู้สร้างหลักกฎหมาย

(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law) คำพิพากษาเป็นที่มาของกฎหมาย

(3) ระบบคอมมอน ลอว์ (Common Law) ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบังคับใช้

(4) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law) จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

ตอบ 1  หน้า 22-23  ตามหลักของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นั้น

1. ถ้ามีหลักกฎหมายซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปอยู่แล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นแต่เพียงผู้แสดงหลักเกณฑ์นั้นๆแล้วนำมาปรับแก่คดีเท่านั้น

2.ถ้าไม่มีหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาโดยคำพิพากษาและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานของศาลต่อๆมา ซึ่งเรียกว่า “Judge Law”

5. ลักษณะที่แตกต่างของระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ (Civil Law) และระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law)

(1) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ (Civil Law) มีการแบ่งกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน

(2) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ใช้ระบบศาลคู่

(3) ระบบกฎหมายซีวิล ลวอ์ (Civil Law) ใช้ระบบศาลเดี่ยว

(4) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใช้

ตอบ 1 หน้า 43, (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 8 ) กฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย(ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์) จะแยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน ส่วนระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ จะไม่มีการแยกประเภทไว้

 6. ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ได้แก่

(1) ประเทศสหรัฐอเมริกา                               

(2) ประเทศไทย

(3) ประเทศเยอรมัน                                          

(4) ประเทศฝรั่งเศส

ตอบ 1 หน้า 23, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นิยมใช้กันในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเครือจักรภพอังกฤษ (ประเทศไทย เยอรมัน และฝรั่งเศส ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์)

7. ข้อใดไม่ใช่ความผิดทางเทคนิค

(1) การฆ่าผู้อื่น                                                   

(2) การขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง

(3) การหลบเลี่ยงภาษี                                       

(4) การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

ตอบ 1  (คำบรรยาย) ความผิดทางเทคนิค (Technical Offence) คือ ความผิดอาญาที่ไม่ผิดศีลธรรมแต่ผิดเพราะกฎห้าม ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือกฎหมายเทคนิคที่เกิดขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน เป็นต้น (ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดอาญาและผิดศีลธรรมด้วยจึงไม่ใช่ความผิดทางเทคนิค)

8. เหตุผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์มักหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนา และทำให้ศาสนาแตกต่างจากกฎหมาย

(1) สภาพบังคับ (Sanction)                             

(2) ควบคุมภายในจิตใจของมนุษย์ด้วย

(3) กฎหมายเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน                       

(4) ควบคุมการกระทำของมนุษย์ไม่ได้เลย

ตอบ 1  หน้า 18-19  หลักศาสนา หมายถึง กฎข้อบังคับที่ศาสนาต่างได้กำหนดไว้เพื่อให้มนุษย์ประพฤติคุณงามความดี ซึ่งแม้ว่าหลักศาสนาจะเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของมนุษย์เช่นเดียวกับกฎหมาย แค่สภาพบังคับของหลักศาสนาจะไม่มีผลจริงจังในปัจจุบันจะเน้นไปที่ชาติหน้าหรือภพหน้า ส่วนทางด้านกฎหมายนั้นหากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีสภาพบังคับ (บทลงโทษ) เกิดขึ้นทันที จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์มักหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนา

9. ข้อใดไม่ใช่สภาพบังคับทางกฎหมายอาญา

(1) อายัดทรัพย์สิน            

(2) ปรับ               

(3) ริบทรัพย์สิน                 

(4) กักขังแทนค่าปรับ

ตอบ 1  หน้า 16-17 , (คำบรรยาย) สภาพบังคับของกฎหมายนั้น ถ้าเป็นกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือโทษนั่นเอง ซึ่งเรียงจากหนักที่สุดไปเบาที่สุด ได้แก่                1.ประหารชีวิต     2. จำคุก 3. กักขัง               

4.ปรับ   และ         5. ริบทรัพย์สิน  ส่วนสภาพบังคับในทางกฎหมายแพ่ง ได้แก่ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือความเป็นโมฆะกรรม หรือโมฆียกรรม ซึ่งเป็นสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย ส่วนสภาพบังคับที่เป็นผลดี เช่น การได้รับลดหย่อนภาษี เป็นต้น

10. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่กฎหมายเกิดจากการบัญญัติขึ้น มิได้เกิดจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีโดยตรง

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                                   

(2) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                                     

(4) ยุคกฎหมายประเพณี

ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 3.ประกอบ

11. รูปแบบกฎหมายใดที่จะต้องอาศัยความสำนึกในหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

(1) กฎหมายประเพณี       

(2) หลักกฎหมาย

(3) กฎหมายที่บัญญัติขึ้น                 

(4) กฎหมายชาวบ้าน

ตอบ 3  หน้า 10-11  การที่จะบังคับให้คนปฏิบัติตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร (กฎหมายที่บัญญัติขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค) หรือการทำให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรมีประสิทธิภาพนั้น สามารถทำได้โดย

1.จะต้องมีบทกำหนดโทษค่อนข้างสูง            

2. ต้องมีการบังคับการลงโทษที่มีประสิทธิภาพ

3. รัฐต้องมีเครื่องมือในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย และ                 

4. ประชาชนจะต้องมีความรู้สึกในหน้าที่ของตนที่จะปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

12. ข้อใดเป็นที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมาย Civil Law(1) คำพิพากษาของศาล                                    

(2) จารีตประเพณี

(3) ความเห็นนักวิชาการ                                 

(4) หลักความยุติธรรม

ตอบ 2 หน้า 19,93-94, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ คือระบบกฎหมายที่ได้มีการรวบรวมเอากฎหมายจารีตประเพณีมาบันทึกกฎหมายลายลักษณ์อักษร และนำกฎหมายนั้นไปใช้ปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าช่องว่างแห่งกฎหมาย ก็สามารถที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายนั้นได้ โดยการนำเอาจารีตประเพณีหรือกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมาปรับใช้

13. ข้อใดเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีที่มาของกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

(1) พระราชกำหนด          

(2) พระราชกฤษฎีกา        

(3) พระราชบัญญัติ           

(4) กฎกระทรวง

ตอบ 3  หน้า 28-29,32  พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) โดยผู้ที่มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา และตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 142(3) ให้สิทธิแก่ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ แต่เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการเท่านั้น

14. กฎหมายใดที่ลำดับศักดิ์ต่ำที่สุด

(1) พระราชกฤษฎีกา        

(2) พระราชกำหนด           

(3) พระราชบัญญัติ           

(4) ประมวลกฎหมาย

ตอบ 1 หน้า 71-73  ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น จะมีการจัดลำดับชั้นของกฎหมาย (Hierarchy of Law) โดยเรียงตามลำดับชั้นสูงที่สุดไปต่ำที่สุด ดังต่อไปนี้

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด

3. พระราชกฤษฎีกา                                            4. กฎกระทรวง

5. กฎหมายที่ออกโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆได้แก่ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา เป็นต้น

(ประมวลกฎหมายมีศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ)

15. หากไม่พบกฎหมายแพ่งพาณิชย์ในการปรับแก่คดี ต้องเริ่มวินิจฉัยอย่างไร

(1) บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง                                   

(2) จารีตประเพณี

(3) หลักกฎหมายทั่วไป                                                    

(4) สุภาษิตกฎหมาย

ตอบ 2  หน้า 93-95  ในกรณีที่ไม่พบกฎหมายแพ่งพาณิชย์ในการปรับแก่คดีนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้ดังนี้ เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

16. นายฟ้าคิดและตกลงใจที่จะเผาบ้านนายชมพู นายฟ้าจึงได้ตระเตรียมการโดยหาซื้อเชื้อเพลิง และไปแอบซุ่มที่หน้าบ้านนายชมพู พอดีตำรวจพบเห็นเสียก่อนจึงถูกจับกุมตัวไปสถานีตำรวจ ดังนี้ การกระทำของนายฟ้าเป็นความผิดและถูกลงโทษหรือไม่

(1) ไม่ เพราะการกระทำของนายฟ้ายังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำ

(2) ไม่ เพราะการกระทำของนายฟ้ายังไม่เป็นความผิดสำเร็จ

(3) ต้องรับผิด เพราะกฎหมายบัญญัติไว้แม้จะเป็นการกระทำเพียงขึ้นตระเตรียมการก็ตาม

(4) ต้องรับผิดฐานพยายาม เพราะการกระทำของนายฟ้าถึงขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว

ตอบ 3  หน้า 60  การตระเตรียมที่จะกระทำผิด โดยหลักกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดและต้องได้รับโทษแต่อย่างใด เว้นแต่การตระเตรียมที่จะกระทำความผิดบางประเภทที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดและต้องรับโทษ เช่น ความผิดฐานปลงพระชนม์หรือประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินีหรือรัชทายาท หรือความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น เพราะถือเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งหากกระทำจนสำเร็จจะกระทบกระเทือนถึงความสงบสุขและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ

17. โทษทางอาญาที่เบาที่สุด ได้แก่

(1) ปรับ               

(2) กักขัง             

(3) ริบทรัพย์สิน                  

(4) อายัดทรัพย์

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 9. ประกอบ

18. เขียวคนใช้ของเหลืองโกรธเหลือง จึงเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ คนร้ายก็เข้ามาลักทรัพย์โดยทางหน้าต่างที่เขียวเปิดทิ้งไว้ ดังนี้ เขียวต้องรับโทษในความผิดลักทรัพย์ในฐานะ

(1) ตัวการ           

(2) ผู้สนับสนุน                  

(3) ผู้ใช้               

(4) ผู้ประกาศหรือโฆษณา

ตอบ 2  หน้า 62  เขียวมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 เพราะการกระทำของเขียว ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดนั้นแล้ว แม้ว่าผู้อื่น (คนร้าย) จะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม

19. หากกฎหมายมีลำดับชั้นต่ำกว่ามีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่าจะมีผลอย่างไร

(1) กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่านั้นจะใช้บังคับไม่ได้

(2) กฎหมายลำดับชั้นต่ำกว่าจะใช้ได้ต่อไปหากได้แก้ไขให้ข้อความไม่ขัดแย้ง

(3) กฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่านั้นจะต้องแก้ไขมิให้มีข้อความขัดแย้งกัน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1  หน้า 72,(บรรยาย) กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าหรือกฎหมายลำดับรอง จะออกได้ก็จะต้องอาศัยกฎหมายแม่บท เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับชั้นที่สูงกว่า ดังนั้นกฎหมายในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะออกมาโดยมีข้อความขัดหรือแย้งกฎหมายในลำดับชั้นที่สูงกว่าไม่ได้ ถ้ามีข้อความขัดหรือแย้งกับกฎหมายในลำดับชั้นที่สูงกว่าแล้ว กฎหมายในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะใช้บังคับไม่ได้เลย

20. การนำบทบัญญัติกฎหมายแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับแก่ข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่อง ทำให้ทราบได้ทันทีว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษในทางแพ่งหรือทางอาญา หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ในระบบกฎหมายใด

(1) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์                                    

(2) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                                   

(4) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 2   กฎหมายระบบซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นการพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะเรื่อง ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายระบบคอมมอน ลอว์ ที่พิจารณาเรื่องเฉพาะเรื่องไปเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในภายหลัง

21. ข้อใดเป็นลักษณะกฎหมายมหาชน

(1) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณียึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

(2) รัฐสามารถสั่งการได้ฝ่ายเดียว โดยเอกชนไม่ต้องยินยอม

(3) มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของเอกชนรายบุคคลเท่านั้น

(4) รัฐและเอกชนสามารถตกลงผูกพันเป็นอย่างอื่นได้

ตอบ 2   หน้า 44-45  กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎรในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองราษฎร รัฐจำต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับความประพฤติของพลเมืองภายในรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และในการออกกฎหมายนั้นสามารถออกได้โดยไม่ต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ก่อนิติสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย และกฎหมายมหาชนจะมีลักษณะเป็นกฎหมายที่เป็นบทบังคับเด็ดขาด คือ จะไม่ยอมให้คู่กรณีตกลงแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้เลย และมาตรการในการบังคับนั้นรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจบังคับเอากับคู่กรณีได้โดยไม่ต้องดำเนินคดีต่อศาล

22. การประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษามีผลต่อประชาชนอย่างไร

(1) เมื่อประชาชนได้ทราบข้อความในกฎหมาย

(2) เฉพาะสภาพบังคับที่เป็นคุณเท่านั้น

(3) สามารถอ้างความไม่รู้กฎหมายได้จนกว่าจะทราบข้อความในกฎหมาย

(4) ถือว่าประชาชนรับทราบความมีอยู่ของกฎหมายแล้ว

ตอบ 4  (คำบรรยาย) กฎหมายจะมีผลบังคับใช้กับประชาชนได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเมื่อได้ทำการประกาศฯ แล้ว ให้ถือว่าประชาชนได้ทราบถึงความมีอยู่ของกฎหมายนั้นแล้วจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได

23. กฎหมายที่ใช้บังคับกับเจ้ามรดก หรือทายาทเจ้ามรดก ถือว่าเป็นกฎหมายประเภทใด

(1) กฎหมายแพ่ง               

(2) กฎหมายพาณิชย์         

(3) กฎหมายสังคม              

(4) กฎหมายธุรกิจ

ตอบ 1  หน้า 46,(LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 73 ) “กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ และความสัมพันธ์ของบุคคลนับตั้งแต่เกิดไปจนตาย เช่น สถานะและความสามารถของบุคคล การทำนิติกรรม สัญญา สิทธิในทรัพย์สิน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการตกทอดทางมรดก เป็นต้น

 24. ข้อใดถูกต้องในการเรียงอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญาจากสูงสุดไปเบาสุด

(1) จำคุก ปรับ ริบทรัพย์สิน                             

(2) กักขัง ริบทรัพย์สิน ปรับ

(3) ริบทรัพย์สิน กักขัง ปรับ                            

(4) ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง

ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 9.ประกอบ

25. รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ประชาชนจะควบคุมการบริหารราชการของรัฐมนตรีได้โดย

(1) การจัดการชุมนุมทางการเมือง                 

(2) การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง

(3) การยื่นกระทู้ถาม                                          

(4) การถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ตอบ 4  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 164 กำหนดไว้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า สองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้ หากเข้าเงื่อนไขในการถอดถอนให้ถอดถอน (บุคคลตามมาตรา 270 เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

26. จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่

(1) 15 คน            

(2) 20 คน            

(3) 25 คน            

(4) 30 คน

ตอบ 2  หน้า 29  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 142,163 ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย (1) คณะรัฐมนตรี                (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน    (3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ       (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้… ถ้าร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) (3) หรือ (4) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

27. การที่นักศึกษาต้องเสียค่าปรับเนื่องจากบัตรประชาชนขาดอายุ เป็นความผิดอาญาหรือไม่

(1) เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดศีลธรรมด้วย      

(2) เป็นความผิดอาญาในทางเทคนิค

(3) เป็นความผิดอาญาที่ผิดทั้งศีลธรรมและผิดเพราะกฎหมายห้าม        

(4) ไม่เป็นความผิดอาญาใดๆ

ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 7.ประกอบ

28. การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับแก่ข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่อง ทำให้ทราบได้ทันทีว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษในทางแพ่งหรือทางอาญา หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ในระบบกฎหมายใด

(1) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์                                   

(2) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                                    

(4) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 20.ประกอบ (คำถามและตัวเลือกจะเหมือนกัน)

29.ข้อใดเป็นลักษณะกฎหมายมหาชน

(1) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณียึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

(2) รัฐสามารถสั่งการได้ฝ่ายเดียว โดยเอกชนไม่ต้องยินยอม

(3) มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของเอกชนรายบุคคลเท่านั้น

(4) รัฐและเอกชนสามารถตกลงผูกพันเป็นอย่างอื่นได้

ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 21.ประกอบ (คำถามและตัวเลือกจะเหมือนกัน)

30. ส่วนราชการที่จัดระเบียบบริหารราชการแบบกระจายศูนย์รวมอำนาจปกครอง หรือหลักการแบ่งอำนาจปกครอง ได้แก่

(1) จังหวัด อำเภอ                                              

(2) กระทรวง ทบวง กรม

(3) จังหวัด กรุงเทพมหานคร                          

(4) องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา

ตอบ 1   หน้า 50-51  การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมีการจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นจังหวัด และอำเภอ เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการตามหลักการรวมอำนาจ(แบบกระจายศูนย์รวมอำนาจปกครองหรือแบบแบ่งอำนาจปกครอง) ส่วนการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง

31. นายดำและนายขาวซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน นายเขียวต้องการยิงนายดำ จึงยิงไปแต่กลับถูกนายขาวตาย ดังนี้ การกระทำของนายเขียวเป็นความผิดฐานใด

(1) ฆ่าคนตายโดยประมาท                                              

(2) ฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

(3) ฆ่าคนตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล                       

(4) ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

ตอบ 2  หน้า 57-58 , (คำบรรยาย) การกระทำของนายเขียวเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล คือไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขี้นอย่างไร คือ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าลูกกระสุนปืนอาจถูกนายขาวตาย ดังนั้น นายเขียวจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

32. การกระทำองขาวขั้นตอนใดที่ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด

(1) ขาวเตรียมอาวุธจะไปปล้นบ้านแดง        

(2) ขาวมียาพิษไว้เพื่อฆ่าแดงตาย

(3) ขาวเตรียมวางเพลิงบ้านแดง                     

(4) ขาวเทยานอนหลับอย่างแรงลงในแก้วน้ำเพื่อจะชิงทรัพย์แดง

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 16.ประกอบ

33. การที่นายเขียวใช้ปืนขู่บังคับให้นายแดงขับรถเร็วเพื่อหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจ ทำให้นายแดงขับรถชนนายดำซึ่งกำลังข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ นายแดงมีการกระทำหรือไม่

(1) ไม่มี เพราะกระทำตามที่ถูกบังคับ ไม่ใช่เจตนาของตน

(2) มี เพราะมีการคิด ตัดสินใจ และตกลงกระทำตามที่ได้ตัดสินใจ

(3) ไม่มี เพราะการเคลื่อนไหวไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ

(4) มี เพราะมีผลเสียหายเกิดขึ้นกับนายดำ เนื่องจากนายแดงขับรถชน

ตอบ 2   หน้า 55,(คำบรรยาย) การกระทำในทางกฎหมายอาญานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก หรืออยู่ในอำนาจของจิตใจ กล่าวคือ 1. มีการคิดที่จะกระทำ          2. การตกลงใจที่จะกระทำ 3. มีการกระทำตามที่ตกลงใจนั้น (แต่การกระทำของนายแดงเป็นการกระทำเพราะความจำเป็นจึงได้รับการยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 67)

34. กฎหมายอาญา หมายถึง

(1) กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่

(2) กฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด

(3) กฎหมายที่บัญญัติว่าการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิด

(4) กฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและมีโทษกำหนดไว้

ตอบ 4 หน้า 53  กฎหมายอาญา คือกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิด และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้นๆไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. พระราชบัญญัติต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติการพนัน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น

2. ประมวลกฎหมายอาญา

35. ลักษณะพิเศษของกฎหมายอาญา

(1) กฎหมายอาญาย้อนหลังให้ผลร้ายมิได้                   

(2) ย้อนหลังเป็นคุณได้

(3) กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด                 

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 54,90  สาระสำคัญทางกฎหมายอาญา ได้แก่ 1. ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น 3. ต้องไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษหรือเพิ่มโทษบุคคลให้หนักขึ้นเป็นอันขาด แต่อาจย้อนหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดได้     4. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

36. ข้อใดไม่เป็นการกระทำในกฎหมายอาญา

(1) นายดำยกปืนขึ้นเล็งนายแดง แต่เปลี่ยนใจไม่ยิง เพราะเกิดสงสารนายแดง

(2) นายดำจำเป็นต้องตีศีรษะนายแดงเนื่องจากนายเหลืองใช้ปืนขู่บังคับ

(3) นายดำนอนละเมอถีบนายขาวตกจากเตียงได้รับบาดเจ็บ

(4) นางแดงแกล้งให้บุตรอดนมจนบุตรตาย

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 33. ประกอบ (การละเมอไม่ถือว่าอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของจิตใจ)

37. นายดำใช้อาวุธปืนขู่นายขาวให้เอาเหล็กตีหัวนายแดง นายขาวกลัวตายจึงตีหัวนายแดงจนเลือดแดงเพราะหัวแตก ดังนี้ นายขาว

(1) มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย รับโทษไปตามปกติ

(2) การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น จึงรับโทษเพียง 1 ใน 3

(3) การกระทำผิดด้วยความจำเป็น จึงไม่ต้องรับโทษ

(4) ไม่มีความผิด เพราะการกระทำด้วยความจำเป็น

ตอบ 3 หน้า 58,(LW 104  เลขพิมพ์ 44289 หน้า 91)  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในบังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ตามกฎหมายถือว่า ผู้กระทำผิดมีความผิด แต่ได้รับยกเว้นโทษ (ป.อ. มาตรา 67 )

38. นายดำกับนายขาวตกลงกันไปฆ่านายหนึ่ง โดยนายขาวรับอาสาเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ให้นายดำนั่งและเป็นคนยิง ดังนี้ ถ้านายดำยิงนายหนึ่งตาย

(1) นายขาวต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน                 

(2) นายขาวไม่มีความผิดเพราะไม่ได้เป็นคนยิง

(3) นายขาวมีความผิดเป็นตัวการในการฆ่านายหนึ่ง

(4) นายขาวมีความผิดเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด

ตอบ 3  หน้า 62  กรณีดังกล่าวถือว่า ความผิดฐานฆ่านายหนึ่งตาย ได้เกิดจากการกระทำของนายดำและนายขาวทั้งสองคน ซึ่งได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน โดยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดร่วมกัน ดังนั้นนายดำและนายขาวจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่านายหนึ่งตายโดยเจตนา

39. ผู้พิพากษาในศาลประเทศอังกฤษใช้กฎหมายใดในการวินิจฉัยคดี

(1) กฎหมายโรมัน                                              

(2) คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน

(3) กฎหมายสิบสองโต๊ะ                                  

(4) ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน

ตอบ 2  หน้า //22-23  กฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นตัวบทกฎหมาย ดังนั้นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบนี้จึงมาจากคำพิพากษา ซึ่งประเทศที่นิยมใช้กฎหมายระบบนี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษและเครือจักรภพอังกฤษ

40. ระบบกฎหมายใดที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้

(1) ระบบคอมมอน ลอว์                                   

(2) ระบบซีวิล ลอว์

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                   

(4) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 2  หน้า 19  การที่ศาลสามารถใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้นั้น เป็นวิธีอุดช่องว่าวงแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบซีวิล ลอว์ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร

41. ระบบกฎหมายใดที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส

(1) ระบบกฎหมายโรมัน                                  

(2) ระบบกฎหมายอังกฤษ

(3) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                   

(4) ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์

ตอบ 1 หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวีล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน หรือมีกฎหมายโรมันเป็นรากฐานเกิดขึ้นครั้งแรกในภาคพื้นยุโรป (สมัยโรมัน) โดยกษัตริย์จัสติเนียนได้ทรงรวบรวมนักกฎหมายให้ช่วยกันบัญญัติออกมาในรูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภาคพื้นยุโรป และได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นวิชานิติศาสตร์เพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

42. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ประกาศใช้ครั้งแรกในรัชสมัยใด  

(1) รัชกาลที่ 4    

(2) รัชกาลที่ 5    

(3) รัชกาลที่ 6                    

(4) รัชกาลที่ 9

ตอบ 3  หน้า 23,(คำบรรยาย) เดิมประเทศไทยจะรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับ จนถึงปลายรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทยโดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1 และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปีจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน

43. การตราพระราชกำหนดเรื่องใดที่ต้องกระทำโดยด่วนและลับ

(1) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ                                         

(2) ความปลอดภัยของประเทศ

(3) ภาษีอากร                                                                       

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 32-33 พระราชกำหนด มี 2 ประเภท ได้แก่

1. พระราชกำหนดทั่วไป เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้ตราได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้  และ

2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีและเงินตรา  เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น

44. องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการตราพระราชกำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขว่ามีความจำเป็นรีบด่วนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

(1) สภาผู้แทนราษฎร       

(2) วุฒิสภา         

(3) รัฐสภา          

(4) ศาลรัฐธรรมนูญ

ตอบ 4  หน้า 33  ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าในการตราพระราชกำหนดนั้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 185)

45. ยุคกฎหมายใดที่เกิดกฎเกณฑ์จากการที่นักกฎหมายใช้เหตุผลสร้างขึ้นนอกเหนือไปจากกฎหมายประเพณี

(1) ยุคกฎหมายลายลักษณ์อักษร                     

(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน

(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย                     

(4) ยุคกฎหมายเทคนิค

ตอบ 3  หน้า 8-9 เนื่องจากกฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้านหรือกฎหมายประเพณีมีไม่เพียงพอ ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณี ซึ่งหลักกฎหมายของนักกฎหมายนี้จะเกิดจากการปรุงแต่งเหตุผลในทางกฎหมายที่เกิดจากความคิดในทางกฎหมายของตน ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่สามัญชนใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้ด้วยเหตุผลจึงเข้าใจซึ่งกฎหมายของนักกฎหมายดังกล่าวที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ และเรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ เป็นต้น

46. ดำแย่งการครอบครองที่ดินของขาวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จนได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นหลักกฎหมายที่สร้างขึ้นในยุคกฎหมายใด

(1) ยุคกฎหมายชาวบ้าน                                   

 (2) ยุคกฎหมายประเพณี

(3) ยุคกฎหมายเทคนิค                                     

(4) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 45. ประกอบ

47. ประเทศที่นิยมให้มีการแยกกฎหมายเป็นประเภทต่างๆได้แก่

(1) สหรัฐอเมริกา              

(2) อังกฤษ          

(3) ไทย                

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 3  หน้า 43  การแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆนั้น นิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และไทย เป็นต้น

48. ข้อใดเป็นสาขาย่อยของกฎหมายมหาชน

(1) กฎหมายรัฐธรรมนูญ                                 

(2) กฎหมายปกครอง        

(3) กฎหมายอาญา                                              

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 46-47,50,53 กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

49. แดงใช้ปืนยิงดำ ดำจึงยิงสวนกลับ แดงถึงแก่ความตาย ดังนี้

(1) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะทำด้วยความจำเป็น          

(2) ดำไม่มีความผิด เพราะกระทำด้วยความจำเป็น

(3) ดำไม่ต้องรับโทษ เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

(4) ดำไม่มีความผิด เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบ

ตอบ 4 หน้า 55-56  การกระทำของดำ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด (ป.อ. มาตรา 68)

50. ข้อใดเป็นหลักเกณฑ์การตีความหมายกฎหมายอาญา

(1) ตีความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหา                             

(2) ตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(3) ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย                        

(4) ตีความขยายความเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด

ตอบ 2  หน้า 90 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษ การตีความจึงมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกับกฎหมายทั่วไป คือ

1. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด       

2. จะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้ และ

3. ในกรณีเป็นที่สงสัย ศาลต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาว่าไม่ได้กระทำความผิด

51. การที่นายเขียวนอนละเมอถีบนายแดงตกเตียง ดังนี้ นายเขียวมี การกระทำหรือไม่

(1) ไม่มี เพราะไม่ใช่เจตนาของตน

(2) มี เพราะมีการคิด ตัดสินใจ และตกลงกระทำตามที่ได้ตัดสินใจ

(3) ไม่มี เพราะการเคลื่อนไหวไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ

(4) มี เพราะทำให้นายแดงได้รับบาดเจ็บ

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 33.และ 36. ประกอบ

52. ข้อใดที่ทำให้กฎหมายมหาชนแตกต่างจากกฎหมายเอกชน

(1) กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่อง

(2) กฎหมายมหาชนใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์ที่ไม่ต้องอาศัยความสมัครใจ

(3) กฎหมายมหาชนมุ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคน

(4) กฎหมายมหาชนใช้กับคู่กรณีที่เป็นเอกชนเท่านั้นไม่รวมถึงหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 21. ประกอบ

53. ตามหลักกฎหมายอาญา หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด

(1) ต้องวินิจฉัยโดยใช้จารีตประเพณี            

(2) ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง

(3) ไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีความผิดเกิดขึ้น              

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 3  หน้า 54,90 กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำใดเป็นความผิด ย่อมไม่มีความผิด และไม่มีโทษ (อีกทั้งไม่อาจนำวิธีการอุดช่องว่างตามกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญาได้)

54. ข้อใดเป็นลักษณะของกฎหมายอาญา

(1) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษได้                            

(2) ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษไม่ได้

(3) ย้อนหลังลงโทษได้แล้วแต่ดุลยพินิจศาล

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 53.ประกอบ

55. ข้อใดไม่เป็นความผิดอาญา

(1) นายเออายุ 15 ปี ทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

(2) นายหนึ่งอายุ 14 ปี ทำพินัยกรรม

(3) นายหนุ่มกับนางสาวสวยอายุ 18 ปี ทำการสมรสกันเองโดยบิดามารดาไม่ยินยอม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 136 นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ 1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ โดยปราศจากเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เล่น การจดทะเบียนรับรองบุตร

3. นิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสมควร เช่น ซื้ออาหารรับประทาน

4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

57. สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อ

(1) นางขาวแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน             

(2) นางดำตั้งครรภ์บุตรเป็นเวลา 8 เดือน

(3) นางเทาคลอดบุตรแล้วแต่หมอยังไม่ตัดสายสะดือ

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 125-126   สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (โดยจะตัดสายสะดือหรือไม่ไม่สำคัญ) ซึ่งการอยู่รอดเป็นทารกนั้น อาจจะดูการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือดูที่การหายใจ ซึ่งการหายใจนั้นไม่จำกัดว่าจะมีระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจึงยังไม่มีสภาพบุคคล

58. นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใด ทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อใด

(1) 1 มกราคม 2520                           

(2) แล้วแต่นายอำเภอท้องที่จะกำหนดว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

(3) 1 เมษายน 2520                           

(4) แล้วแต่นายน้อยจะเลือกว่าเกิดเมื่อใดในปี 2520

ตอบ 1    หน้า 128, (คำบรรยาย) ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลเกิดวันใด เดือนใด แต่รู้ปีเกิด ให้ว่าถือว่าบุคคลนั้นได้เกิดในวันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ในกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2483 ให้ถือเอา วันที 1 เมษายน เป็นวันต้นปี หากเกิดภายหลังจากนั้นให้ถือเอาวันที่ 1มกราคม เป็นวันต้นปี ดังนั้นการที่นายน้อยไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใดทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2520 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายน้อยเกิดเมื่อวันที่ 1มกราคม 2520

59. นิติบุคคลมีสิทธิ

(1) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง                               

(2) รับโทษทางอาญาทุกโทษ

(3) รับรองบุตร                                                    

(4) สมรส

ตอบ 1  หน้า 150-151 นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของตน เช่น อาจเป็นโจทก์ฟ้งคดี หรืออาจถูกฟ้องต่อศาล อีกทั้งยังมีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น การสมรส การรับรองบุตร หรือรับโทษทางอาญาบางประเภท ฯลฯ

60. กรณีใดที่แม้ผู้กระทำความผิดจะมิใช่บุคคลสัญชาติไทยก็อาจถูกดำเนินคดีโดยศาลไทยได้

(1) นายจอห์นขโมยเงินไทยที่ร้านค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา

(2) นายจอห์นปลอมแปลงธนบัตรของไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา

(3) นายจอห์นส่งจดหมายมีข้อความหมิ่นประมาทคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา

(4) นายจอห์นเขียนข้อความไม่สุภาพบนกำแพงวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา

ตอบ 2  หน้า 81-83  ความผิดใดที่แม้ได้กระทำนอกราชอาณาจักรและไม่ว่าจะโดยบุคคลสัญชาติใด หากเข้าข้อยกเว้นต่อไปนี้แล้วย่อมอยู่ในอำนาจศาลไทยที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ซึ่งมีกฎหมายที่สำคัญอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่

1. ตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลงเงินตรา เป็นต้น

2. ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 เช่น การทำนิติกรรมหรือสัญญาที่มีคู่สัญญาคนใดคนหนึ่งเป็นคนต่างด้าว เป็นต้น

61. กรณีใดเป็นการได้สิทธิโดยนิติเหตุ

(1) สัญญาซื้อขาย              

(2) การเช่าซื้อ    

(3) จัดการงานนอกสั่ง      

(4) พินัยกรรม

ตอบ 3  หน้า 115-118  การได้สิทธิโดยนิติเหตุนั้น ได้แก่           

1. สิทธิอันได้มาจากพฤติการณ์ตามธรรมชาติ ได้แก่ การเกิด การตาย       

2. สิทธิอันได้มาจากการกระทำของบุคคล โดยปราศจากเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย ได้แก่ การจัดการงานนอกคำสั่ง ลาภมิควรได้ และละเมิด                

3. สิทธิอันได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยหลักส่วนควบ การได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความ เป็นต้น

62. บุคคลธรรมดาจะเริ่มมีสิทธิตามกฎหมายเมื่อใด

(1) เมื่อปฏิสนธิ  

(2) ทันทีที่คลอดและหายใจ            

(3) เมื่ออยู่รอดครบ 310 วัน             

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 57.ประกอบ (เมื่อมีสภาพบุคคล บุคคลธรรมดาผู้นั้นจะมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายทันที)

63. นายดำคนวิกลจริตซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้สามารถ ศาลตั้งนายขาวเป็นผู้อนุบาล ต่อมานายดำต้องการซื้อไอศกรีมจากนายเขียวคนขาย จึงมาขอเงินจากนายขาว นายขาวให้เงินนายดำไปซื้อไอศกรีมจากนายเขียวได้ เช่นนี้ นิติกรรมการซื้อขายไอศกรีมนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆะ            

(3) โมฆียะ          

(4) แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน

ตอบ 3 หน้า 137 คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้ทำนิติกรรมในขณะจริตวิกลหรือไม่ก็ตาม หรือได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลจะได้ยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน เว้นแต่นิติกรรม ซึ่งผู้อนุบาลไม่อาจทำแทนได้ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น พินัยกรรมที่คนไร้ความสามารถสามารถได้ทำขึ้น หรือให้ผู้อนุบาลทำแทนย่อมตกเป็นโมฆะ

64. นายดำคนวิกลจริตซื้อไอศกรีมจากนายเขียวคนขาย ในขณะที่กำลังมีอาการทางประสาท โดยนึกว่าไอศกรีมนั้นเป็นยาวิเศษที่จะทำให้เหาะได้ เช่นนี้ นิติกรรมการซื้อขายไอศกรีมนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆะ            

(3) โมฆียะ          

(4) แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน

ตอบ 1  หน้า 137-138 คนวิกลจริตทำนิติกรรมใดๆมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำในขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วว่าผู้ทำเป็นคนวิกลจริต (จากโจทย์ไม่ปรากฏว่านายเขียวรู้ว่านายดำเป็นคนวิกลจริตแต่อย่างใด)

65. ด.ช.แดง อายุ 14 ปี 11 เดือน ทำพินัยกรรมโดยบิดาและมารดาให้ความยินยอม เช่นนี้ พินัยกรรมจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆะ             

(3) โมฆียะ          

(4) แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน

ตอบ 2  หน้า 136,176  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมในขณะที่มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะ แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ตาม

66. คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ พินัยกรรมย่อม

(1) สมบูรณ์  

 (2) ตกเป็นโมฆียะ            

 (3) ตกเป็นโมฆะ

 (4) จะสมบูรณ์หากได้รับอนุญาตจากศาลด้วย

ตอบ 1  หน้า 177 คนเสมือนไร้ความสามารถทำนินัยกรรมได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เพราะพินัยกรรมที่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม หรือวางเงื่อนไขไว้แต่อย่างใด

67. นายขาวไม่อยู่บ้าน นายดำเพื่อนบ้านเห็นว่ามีพายุพัดหลังคาบ้านนายขาวเสียหาย จึงเข้าจัดการเข้าซ่อมแซมให้โดยพลการจนเรียบร้อย ดังนี้

(1) นายขาวต้องชดใช้เงินแก่นายดำในสิ่งที่นายดำได้ทำไป

(2) นายขาวไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่นายดำทำไปเพราะมิได้วานให้ทำ

(3) นายขาวจะชดใช้เงินให้นายดำถ้านายขาวพอใจในสิ่งที่นายดำทำไป

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ1  หน้า 116  การกระทำของนายดำถือว่าเป็นการจัดการงานนอกสั่ง คือการเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยที่เจ้าของมิได้ขานวานหรือใช้ให้ทำ และเมื่อการกระทำของนายดำสมประโยชน์ของเจ้าของกิจการคือนายขาว นายขาวจึงต้องชดใช้เงินหรือค่าใช้จ่ายที่นายดำได้ออกไป

68. โมฆียกรรม เมื่อบอกล้างแล้ว

(1) เป็นโมฆะทันที                           

(2) เป็นโมฆะเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้การบอกล้าง

(3) เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก             

(4) เป็นโมฆะในวันที่บอกล้าง

ตอบ 3   หน้า 108 นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างแล้ว ก็เท่ากับว่านิติกรรมนั้นได้ถูกทำลายสูญสิ้นไปเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการทำนิติกรรมนั้นเลย และตามกฎหมายให้ถือว่าโมฆียกรรมนั้นได้ตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

69. พินัยกรรมเป็น

(1) นิติกรรมฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด

(2) นิติกรรมฝ่ายเดียวซึ่งต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา

(3) นิติกรรมมีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว                  

(4) ถูกข้อ 1 และ 3

 ตอบ 4  หน้า 100-101 พินัยกรรม เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด ซึ่งไม่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา และเป็นนิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว

70. โมฆะกรรม หมายถึงนิติกรรมที่

(1) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ เสมือนหนึ่งมิได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย

(2) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แต่อาจได้รับสัตยาบันให้กลับสมบูรณ์ได้

(3) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกกล่าวอ้างได้

(4) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกบอกล้างได้

ตอบ 1  หน้า 106-107  โมฆะกรรม หมายถึง นิติกรรมที่ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับกันไม่ได้เลยเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย และจะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้นขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

71. การแสดงเจตนาทำนิติกรรม ทำได้โดย

(1) เป็นลายลักษณ์อักษร  

(2) โดยวาจา       

(3) โดยกิริยาอาการ           

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   หน้า 104  ในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้น อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง คือ กระทำด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยาย หรือในบางกรณีอาจเป็นการแสดงเจตนาโดยการนิ่งก็ได้

72. ข้อใดมิใช่ผู้หย่อนความสามารถ

(1) คนล้มละลาย    

(2) คนตาบอดขายล็อตเตอรี่ 

 (3) คนไร้ความสามารถ   

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4 หน้า 133  ผู้หย่อนความสามารถตามกฎหมาย(บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ) มี 4 ประเภท ได้แก่                           

1. ผู้เยาว์                 2. คนไร้ความสามารถ

3. คนเสมือนไร้ความสามารถ และ   4. บุคคลวิกลจริต

73. บุคคลที่อายุ 19 ปี

(1) บรรลุนิติภาวะ                             

(2) มีสิทธิสมรสได้เองโดยไม่ต้องขอความยินยอม

(3) บิดามารดาทั้งสองฝ่ายต้องให้ความยินยอมถึงจะสมรสได้ 

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4  หน้า 139,159  ตามกฎหมายบุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 19 ) ดังนั้นบุคคลที่มีอายุ 19 ปี จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะและถือว่ายังเป็นผู้เยาว์ แต่สามารถทำการสมรสได้ (เพราะมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว) ถ้าได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้เยาว์นั้น (โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง)

74. ถ้าศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ถือว่าบุคคลนั้นตายตั้งแต่

(1) เมื่อศาลสั่ง                    

(2) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(3) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจากภูมิลำเนาตามที่กฎหมายกำหนด 

(4) เมื่อวันที่ร้องขอต่อศาล

ตอบ 3  หน้า 144-147  บุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณีนับแต่การจากภูมิลำเนาตามที่กำหมายกำหนด

75. ข้อใดต่อไปนี้เป็นโมฆะ

(1) คนไร้ความสามารถทำสัญญารับการให้โดยมีค่าภาระติดพัน

(2) คนไร้ความสามารถทำสัญญาให้เช่าบ้านมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี

(3) คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม

(4) คนไร้ความสามารถทำสัญญากู้

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 63.ประกอบ

76. ข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายถือว่าถึงแก่ความตาย

(2) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

(3) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทำให้การสมรสขาดจากกัน

(4) การเป็นคนสาบสูญอาจมีการเพิกถอนคำสั่งได้

ตอบ 3  หน้า 146  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลตามกฎหมาย คือ

1. คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง)

2. ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจปกครองบุตร        3. มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

4. ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามหากคนสาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ศาลก็อาจเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้

77. กฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ของบุคคลนับแต่เกิดไปจนตาย ได้แก่

(1) กฎหมายแพ่ง               

(2) กฎหมายพาณิชย์         

(3) กฎหมายอาญา             

(4) กฎหมายธุรกิจ

ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 23.ประกอบ

78. บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันโดยซื้อเป็นส่วนๆไปประกอบในที่ดินอีกแห่ง คือ

(1) อสังหาริมทรัพย์          

(2) อุปกรณ์         

(3) ส่วนควบ       

(4) สังหาริมทรัพย์

ตอบ 4  (คำบรรยาย) ทรัพย์ใดแม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ก็อาจจะโอนกันในรูปสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันเป็นส่วนๆ ดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน จึงไม่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการซื้อขายทรัพย์ในสภาพของสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

79. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม คือ

(1) การครอบครองปรปักษ์                               

(2) สัญญาซื้อขาย

(3) การแย่งสิทธิครอบครอง                            

(4) คำพิพากษาของศาล

ตอบ 2   หน้า 195  การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์มี 2 กรณี คือ

1. การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น และ

2. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยอาศัยหลักส่วนควบ หรือโดยทางมรดก เป็นต้น

80. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพยสิทธิ

(1) สิทธิครอบครอง          

(2) ภาระจำยอม 

(3) กรรมสิทธิ์     

(4) ส่วนควบ

ตอบ 4  หน้า 192   ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น (ส่วนควบถือเป็นส่วนอันประกอบของทรัพย์)

81. ข้อใดต่อไปนี้ถูกที่สุด

(1) การครอบครองปรปักษ์สามารถเกิดได แม้เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง

(2) หากเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ในอสังหาริมทรัพย์ 7 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์

(3) หากเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ในอสังหาริมทรัพย์ 5 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์

(4) ไม่มีข้อใดถูกต้อง

ตอบ 4  หน้า 204-206  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  ซึ่งได้บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์จะได้กรรมสิทธิ์ต้องครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของด้วย

82. ทรัพย์ใดต่อไปนี้มิอาจเป็นของหมั้นได้

(1) อาคารพาณิชย์ของชายคู่หมั้น                  

(2) รถยนต์ของชายคู่หมั้น

(3) เงินที่ชายคู่หมั้นกู้ยืมมาเพื่อหมั้น             

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4  หน้า 157 “ของหมั้นหมายถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ซึ่งอาจจะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ (ทรัพย์ตาม (1)(2) และ (3) เป็นของหมั้นได้)

83. เมื่อหมั้นแล้ว หากต่อมาคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมสมรสด้วย เช่นนี้

(1) ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการสมรสได้              

(2) เรียกเบี้ยปรับได้

(3) ฝ่ายที่มิใช่ฝ่ายผิดเรียกค่าทดแทนได้                         

(4) แม้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น ก็ริบของหมั้นไว้ได้

ตอบ 3  หน้า 157-158  ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับเพื่อให้มีการสมรสไม่ได้ มีสิทธิก็แต่เฉพาะเรียกค่าทดแทนเนื่องจากมีการผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น และหากหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นก็จะต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย

84. การสมรสอาจสมบูรณ์ได้เลยหาก

(1) มิได้มีการหมั้นมาก่อน

(2) ชายหญิงอายุ 19 ปี ที่ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอม

(3) มิได้ส่งมอบสินสอด                   

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 159-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (การสมรสมิอาจสมบูรณ์) มี 5 ประการ คือ             1. ชายและหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์                           2. ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือ ผู้ปกครอง        3. การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส        4. สมรสโดยถูกกฉ้อฉล 5. การสมรสเพราะถูกข่มขู่ (การสมรสสามารถทำได้โดยมิต้องมีการหมั้นก่อนแต่งแต่อย่างใด)

85. หญิงอายุ 21 ปี ที่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายถึงแก่ความตาย

(1) หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุด การสมรสย่อมตกเป็นโมฆียะ

(2) สมรสใหม่ได้ทันที และการสมรสนั้นสมบูรณ์

(3) หากสมรสใหม่ก่อน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมสิ้นสุด การสมรสย่อมตกเป็นโมฆะ

(4) หากจะสมรสใหม่ก่อน 310 วัน ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน

ตอบ 4  หน้า 160 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อระยะเวลา 310 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้ว เว้นแต่

1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น                      2. สมรสกับคู่สมรสเดิม

3. มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์                4. มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้ (แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ให้ถือว่าการสมรสยังคงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ)

86. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ

(1) ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม             

(2) บุคคลวิกลจริตสมรสกับบุคคลที่มีสภาพจิตปกติ

(3) สมรสโดยปราศจากความยินยอม                             

(4) สมรสซ้อน

ตอบ 1  หน้า 159-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ มี 4 ประการ คือ

1. สมรสกับบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล

2. สมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือกับพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

3. สมรสโดยปราศจากความยินยอมของชายหญิงคู่สมรส และ

4. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า สมรสซ้อน

(ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมมีผลสมบูรณ์ แต่การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป)

87. เงื่อนไขใดที่ไม่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

(1) ชายหญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์           

(2) สมรสโดยสำคัญผิดแล้ว

(3) สมรสเพราะถูกข่มขู่                                   

(4) คู่สมรสที่มีบิดาคนเดียวกัน แต่ต่างมารดากัน

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 84. และ 86.ประกอบ  (การสมรสตามข้อ (4) เป็นโมฆะ ส่วนการสมรสตามข้อ (1)(2) และ (3)_ เป็นโมฆียะ)

88. หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ได้แก่

(1) สามีกู้ยืมเงินภริยาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว

(2) ภริยากู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุตร

(3) สามีกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อวิทยุไว้ฟังที่ทำงาน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 164-165  หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งสามีและภริยาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ (ข้อ (1) เป็นหนี้ระหว่างสามีภริยา ข้อ (3) เป็นหนี้ส่วนตัว)

89. สินสมรส ได้แก่

(1) เงินเดือนที่คู่สมรสได้รับก่อนสมรส

(2) ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่หญิงได้มาก่อนสมรส

(3) ลูกหมูซึ่งแม่หมูของภริยาตกลูกเมื่อมีการสมรส

(4) เงินมรดกที่ได้รับในขณะสมรสในฐานะทายาทโดยธรรม

ตอบ 3  หน้า 163  สินสมรส ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนหรือรางวัลที่ได้จากการถูกลอตเตอรี่

2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมระบุว่าเป็นสินสมรส

3. ดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อมีการสมรส เช่น ลูกหมูซึ่งแม่หมูตกลูกเมื่อสมรสแล้ว

(ดอกเบี้ยแม้จะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว แต่ได้มาก่อนสมรสจึงไม่เป็นสินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัว)

90. กรณีใดต่อไปนี้มิใช่การสิ้นสุดการสมรส

(1) หย่า               

(2) ตาย                

(3) ทิ้งร้าง           

(4) ศาลพิพากษาให้เพิกถอน

ตอบ 3  หน้า 166-167  การสมรสสิ้นสุดลงได้โดยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสและการหย่า (การทิ้งร้างเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น)

91. อุปกรณ์ คือ

(1) พวงมาลัยรถยนต์        

(2) ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ

(3) วิทยุติดรถยนต์              

(4) บัวรดน้ำ

ตอบ 2   หน้า 188-189  “อุปกรณ์หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน… จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีการร่วมสภาพกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแตกต่างจากส่วนควบ เช่น ยางอะไหล่ที่อยู่ท้ายรถ ปลอกแว่นตา เป็นต้น พวงมาลัยรถยนต์ถือเป็นส่วนควบของรถยนต์

92. กรณีใดมิใช่มรดก

(1) สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมของเจ้ามรดก            

(2) สิทธิตามสัญญาเช่า

(3) ที่ดินของเจ้ามรดก                                                       

(4) กำไลทองคำของเจ้ามรดก

ตอบ 2  หน้า 171-172   “มรดกหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆด้วย เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (สิทธิตามสัญญาเช่า เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย)

93. มรดกย่อมตกทอดเมื่อ

(1) เปิดพินัยกรรมออกอ่าน                             

(2) ทายาทแสดงเจตนายอมรับมรดก

(3) ทายาทได้ทราบถึงการตายของเจ้ามรดก 

(4) ทันทีที่เจ้ามรดกตาย

ตอบ 4  หน้า 172, (คำบรรยาย) ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทซึ่งการตกทอดของมรดกนั้น จะตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกตาย

94. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม

(1) คู่สมรส                                          

(2) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว

(3) คนรับใช้ของเจ้ามรดก

(4) ชมรมอนุรักษ์ป่าไม้

ตอบ 4  หน้า 173-175  บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ ญาติของผู้ตายและคู่สมรสของผู้ตาย ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นและที่สำคัญต้องมีสภาพบุคคลในขณะที่เจ้ามรดกตายด้วย แต่บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นญาติหรือคู่สมรสของผู้ตายหรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะเป็นนิติบุคคล เช่น วัด มูลนิธิ ก็ได้ (ชมรมอนุรักษ์ป่าไม้ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล)

95. ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

(1) บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้ใช้นามสกุล                 

(2) บุตรบุญธรรมได้จดทะเบียน

(3) บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ได้จดทะเบียนสมรส             

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 173-174  ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทชั้นบุตรที่จะมีสิทธิรับมรดกนั้นหมายถึงบุคคล 3 ประเภท คือ

1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน

2. บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา เป็นต้น

3. บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้ว

96. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ถูกต้อง

(1) หากไม่มีทายาทเป็นผู้รับมรดก ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่แผ่นดิน

(2) ทวดเป็นทายาทโดยธรรม

(3) บุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิรับมรดกเมื่อเจ้ามรดกตาย

(4) ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใดกับเจ้ามรดกก็ได้

ตอบ 2  หน้า 173-175,(คำบรรยาย) ทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกมี 6 ลำดับเท่านั้น ได้แก่

1. ผู้สืบสันดาน                     2. บิดามารดา        3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน              5. ปู่ ย่า ตา ยาย                      6. ลุง ป้า น้า อา

ดังนั้น ทวดจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรม

97. นางดาวและนายหนุ่มอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คนชื่อ ด.ช.หนึ่ง ซึ่งนายหนุ่มไปแจ้งเกิดว่าตนเองเป็นบิดา และให้ ด.ช.หนึ่งใช้นามสกุลของนายหนุ่มตลอดมา ดังนี้

(1) ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางดาว

(2) ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว

(3) ด.ช.หนึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนุ่มในฐานะผู้สืบสันดาน

(4) ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนุ่ม

ตอบ 2   หน้า 174, (คำบรรยาย)  บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดา แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของบิดา และถ้าบิดาได้รับรองแล้ว เช่น ให้ใช้นามสกุลหรือแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาในฐานะผู้สืบสันดาน

98. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้แก่

(1) หนักงานอัยการ          

(2) เจ้าหน้าที่กรมศุลกาการ             

(3) ตำรวจ            

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1  หน้า 220-221  หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้แก่

1. ศาล                    2. พนักงานอัยการ               3. พนักงานบังคับคดี

99. นางสวยมีบุตรอายุเก้าเดือน นางสวยมัวแต่ดูละครไม่สนดูแลลูก ทำให้บุตรนางสวยคลานออกไปตกท่อบาดเจ็บสาหัส เช่นนี้ นางสวยมีความผิดทางอาญาอย่างไร

(1) เป็นการกระทำโดยงดเว้นโดยประมาท                  

(2) เป็นการกระทำโดยละเว้นโดยเจตนา

(3) เป็นการกระทำโดยงดเว้นโดยเจตนา                      

(4) เป็นการกระทำโดยละเว้นโดยประมาท

ตอบ 1  หน้า 55,58  การกระทำโดยงดเว้น หมายถึง กรณีที่บุคคลมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้น แต่ได้งดเว้นการกระทำนั้น เช่น มารดามีหน้าที่ให้นมบุตรกินเพื่อป้องกันมิให้บุตรตายแต่กลับไม่ให้นมบุตรจนบุตรอดนมตาย เป็นต้น (จากโจทย์ การกระทำของนางสวยเป็นการกระทำโดยประมาท ดังนั้นนางสวยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยงดเว้นโดยประมาท)

 100. นายเอกจ้างนายโทให้ไปฆ่านายตรี นายโทตกลง แต่ต่อมานายโทกลับเปลี่ยนใจไม่ไปฆ่านายตรี เช่นนี้ นายเอกจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร

(1) ไม่ผิด เพราะผู้ถูกใช้ยังไม่ลงมือกระทำความผิด   

(2) ผิด เพราะได้มีการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว

(3) ไม่ผิด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด     

(4) ผิด เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันแล้ว

ตอบ 2   หน้า 62-63   การกระทำของนายเอกถือว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว นายเอกจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ ตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคแรก และในวรรคสองได้กำหนดความรับผิดในฐานผู้ใช้ไว้ว่า ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิด ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเพราะเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

101. นายหนึ่งอายุ 16 ปี ตกลงหมั้นกับ น.ส.สองอายุ 16 ปี โดยบิดามารดาของนายหนึ่ง และ น.ส.สอง ยินยอม เช่นนี้ การหมั้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 3  หน้า 155 กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องอายุของชายหญิงที่จะทำการหมั้นไว้ว่า จะหมั้นกันได้ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากฝ่าฝืน การหมั้นนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 1435) แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ตาม

102. การสมรสโดยปราศจากความยินยอมอันแท้จริงของชายหญิงคู่สมรส เช่นนี้ การสมรสจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ              

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 86.ประกอบ

103. การสมรสโดยถูกข่มขู่ เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 84.ประกอบ

104. การสมรสโดยถูกฉ้อฉล เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 84.ประกอบ

105. การสมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 86. ประกอบ

106. การสมรสกับพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาแล้ว เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 86. ประกอบ

107. การสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ             

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 86. ประกอบ

108. ชายหญิงอายุ 16 ปี สมรสกัน โดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของชายและหญิงนั้น เช่นนี้ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ             

(4) ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

ตอบ 2  ดูคำอธิบายข้อ 84. ประกอบ

109. บุคคลใดๆต่อไปนี้มิอาจรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมของตนได้

(1) บุคคลที่มีอายุ 24 ปี                                      

(2) บุคคลที่มีอายุ 25 ปี

(3) บุคคลที่มีอายุ 26 ปี                                       

(4) บุคคลที่มีอายุ 27 ปี

ตอบ 1  หน้า 169   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/19 กำหนดว่า บุคคลที่จะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้นั้นจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนอย่างน้อย 15 ปี ส่วนอายุของผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมนั้นจะมีอายุกี่ปีก็ได้กฎหมายมิได้กำหนดไว้

110. ในการรับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุห่างกันอย่างน้อยกี่ปี

(1) 5 ปี                 

(2) 7 ปี                 

(3) 10 ปี                

(4) 15 ปี

ตอบ 4   ดูคำอธิบายข้อ 109. ประกอบ

111. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจเป็นบุตรบุญธรรมได้

(1) บุคคลที่มีอายุ 1 เดือน                                 

(2) บุคคลที่มีอายุ 1 ปี

(3) บุคคลที่มีอายุ 5 ปี                                         

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4  ดูคำอธิบายข้อ 109. ประกอบ

112. กรณีต่อไปนี้ ที่ทำให้ทายาทเสียสิทธิโดยการที่เจ้ามรดกทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งได้รับมรดก

(1) การสละมรดก                                              

(2) การตัดมิให้รับมรดก

(3) การถูกกำจัดมิให้มรดก               

(4) ไม่ใช่สิทธิภายในอายุความมรดก

ตอบ 2  หน้า 179  การตัดมิให้รับมรดก เป็นกรณีที่เจ้ามรดกมีความประสงค์จะไม่ให้ทายาทของตนได้รับมรดกโดยการแสดงเจตนาชัดแจ้งไว้ในพินัยกรรม หรือโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

113. การที่ทายาทแอบเอาทรัพย์สินของเจ้ามรดกไปซ่อนหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว เพื่อไม่ให้ทายาทคนอื่นได้รับมรดกด้วย เช่นนี้ ทายาทคนนั้นอาจเสียสิทธิรับมรดกเพราะเหตุใด

(1) การสละมรดก                                               

(2) การตัดมิให้รับมรดก

(3) การถูกกำจัดมิให้มรดก               

(4) ไม่ใช่สิทธิภายในอายุความมรดก

ตอบ 3   หน้า 179 การถูกกำจัดมิให้รับมรดก เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ทายาทโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรมหมดความเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิในการรับมรดก ทั้งนี้เพราะทายาทดังกล่าว ได้ยักยอก ปิดบังทรัพย์มรดก หรือเป็นประพฤติไม่สมควร เช่น การที่ทายาทฆ่าเจ้ามรดกและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทายาทนั้นเจตนาฆ่าเจ้ามรดก เป็นต้น

114. การที่ทายาทฆ่าเจ้ามรดกและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทายาทนั้นมีเจตนาฆ่าเจ้ามรดก เช่นนี้ ทายาทย่อมเสียสิทธิรับมรดก เพราะเหตุใด

(1) การสละมรดก                                              

(2) การตัดมิให้รับมรดก

(3) การถูกกำจัดมิให้มรดก               

(4) ไม่ใช่สิทธิภายในอายุความมรดก

ตอบ 3  ดูคำอธิบายข้อ 113.ประกอบ

115. บุคคลใดต่อไปนี้มิอาจรับมรดกตามพินัยกรรมได้

(1) คู่สมรสของเจ้ามรดก                                  

(2) บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก

(3) ผู้เขียนและพยานในพินัยกรรม               

(4) เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก

ตอบ 3  หน้า 178  ผู้เขียนพินัยกรรม และพยานในพินัยกรรม รวมทั้งคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมไม่ได้

116. บุคคลใดต่อไปนี้ คือ ทนายแผ่นดิน

(1) ตำรวจ            

(2) ผู้พิพากษา    

(3) เจ้าพนักงานบังคับคดี                

(4) พนักงานอัยการ

ตอบ 4   หน้า 216-217  พนักงานอัยการ หมายถึง ข้าราชการสังกัดกรมอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดี เช่น การฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในคดีอาญา หรืออำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลในคดีแพ่ง เป็นต้น พนักงานอัยการจึงได้ชื่อว่าเป็น ทนายแผ่นดิน

117. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ แต่มีหน้าที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพย์สินไปให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เช่นนี้ เป็นลักษณะของทรัพยสิทธิลักษณะใด

(1) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์                              

(2) สิทธิเก็บกิน

(3)สิทธิเหนือพื้นดิน                                                        

(4) สิทธิอาศัย

ตอบ 1  หน้า 210  ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ แต่มีหน้าที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นไปให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เช่น ลูกหนี้เจ้าของห้องแถวทำหนังสือและจดทะเบียนยอมให้เจ้าหนี้มีสิทธิในค่าเช่าห้องแถวของตน เป็นต้น

118. ผู้ทรงสิทธิมีเพียงสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็ได้ เช่นนี้ เป็นลักษณะของทรัพยสิทธิลักษณะใด

(1) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์                              

(2) ภาระจำยอม

(3) สิทธิเก็บกิน                                                                  

(4) สิทธิอาศัย

ตอบ 3  หน้า 210 สิทธิเก็บกิน คือ ทรัพยสิทธิที่ผู้ทรงสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยอาจกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็ได้

119. เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดขึ้นเป็นคุณแก่บุคคลอื่นโดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งเพาะปลูกบนดินหรือใต้ดิน เช่นนี้ เป็นลักษณะของสิทธิลักษณะใด

(1) สิทธิเหนือพื้นดิน       

(2) สิทธิอาศัย     

(3) สิทธิเก็บกิน  

(4) ภาระจำยอม

ตอบ 1  หน้า 209-210  สิทธิเหนือพื้นดิน คือ ทรัพยสิทธิที่เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดขึ้นเป็นคุณแก่บุคคลอื่น โดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งเพาะปลูกบนดินหรือใต้ดินนั้น

120. หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินของนักศึกษา เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่นักศึกษาต้องติดต่อเป็นคนแรก เพื่อบังคับคดีให้ชำระหนี้คือใคร

(1) พนักงานอัยการ          

(2) ตำรวจ            

(3) ศาล                

(4) เจ้าพนักงานบังคับคดี

ตอบ หน้า 220  ในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งนั้น เมื่อคู่กรณีมีข้อพิพาทคู่ความฝ่ายหนึ่งจะริเริ่มทำคำฟ้อง หรือคำร้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งนั้น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็จะมีการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป (ดูคำอธิบายข้อ 98. ประกอบ)

 

LAW1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)

1. ระบบกฎหมายใดที่คำพิพากษาของศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย และศาลจะไม่บังคับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือเคลือบแคลงสงสัย

(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Commom Law)   

(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)

(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)      

(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)

ตอบ 1   หน้า 22,25 ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ หรือระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล กล่าวคือ เมื่อมีคดีใดเกิดขั้น และศาลได้พิพากษาคดีนั้นไปแล้ว คำพิพากษาของศาลย่อมถือเป็นบรรทัดฐานในการใช้วินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้นอย่างเดียวกันได้ในภายหลังอีก แต่ทั้งนี้คงมีบางเรื่องที่ได้มีการบัญญัติกฎหมายเอาไว้ ซึ่งถ้ากฎหมายนั้นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ศาลก็ต้องนำมาบังคับใช้แก่คดี แต่ถ้ากฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นมีถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน หรือเคลือบแคลงสงสัย ศาลจะไม่นำมาบังคับใช้

2. กฎหมายโรมันเป็นรากฐานของระบบกฎหมายใด

(1) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี                   

(2) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

(3) ระบบคอนมอน ลอว์ (Common Law)    

(4) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)

ตอบ 4  หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายโรมัน เนื่องมาจากในสมัยพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม (สมัยโรมัน) ได้ทรงรวบรวมเอากฎหมายประเพณีซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะและหลักกฎหมายของนักนิติศาสตร์ นำมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน ซึ่งถือเป็นรากฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายของกฎหมายระบบซีวิล วอล์

3. นักกฎหมายชาวต่างประเทศชาติใดมีบทบาทในการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย

(1) ประเทศฝรั่งเศส

(2) ประเทศเยอรมัน

(3) ประเทศอิตาลี

(4) ประเทศญี่ปุ่น

ตอบ 1  หน้า 23-24 ประเทศไทยรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปลายรัชกาลที่ 6จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทย โดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1 และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปี จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน

4. ระบบกฎหมายใดศาลปฏิเสธที่จะไม่นำจารีตประเพณีท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย

(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Common Law)    

(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)

(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)      

(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)

ตอบ 1  หน้า 25,93-94 การที่ศาลนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายนั้นเป็นวิธีอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย และเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิล ลอว์ ส่วนในกฎหมายระบบคอมมอน ลอว์นั้น ศาลจะไม่นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย เนื่องจากระบบนี้ไม่นำหลักการเทียบเคียงกฎหมายหรือนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่จะตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

5. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่ศีลธรรมและจารีตประเพณีไม่ได้แยกกันเด็ดขาด หากแต่กฎหมายศีลธรรม และจารีตประเพณีเป็นเรื่องเดียวกัน

(1) ยุดกฎหมายประเพณี                                  

(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน

(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย                     

(4) ยุคกฎหมายเทคนิค

ตอบ 2  หน้า 8 ยุคกฎหมายชาวบ้าน เป็นยุคที่กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่ออกมาในรูปของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่มีอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากศีลธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะรู้สึกว่าเป็นความผิด ดังนั้นในยุคนี้มนุษย์จึงยังไม่สามารถแยกได้ว่าศีลธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร กล่าวคือ กฎหมาย ศีลธรรม และจารีตประเพณี ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

6. ข้อใดไม่ใช่การมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

(1) การทำประชามติขับไล่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล

(2) การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติตำบล

(3) การเข้าชื่อถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

(4) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ตอบ 1  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 286 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้, มาตรา 285 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง, มาตรา165 การทำประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้และมาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

7. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ

(1) ใช้กำหนดงบประมาณของแผ่นดินเท่านั้น                           

(2) เป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้

(3) มีผลบังคับใช้เมื่อผ่านความเห็นของรัฐสภา          

(4) มีเนื้อหาใดก็ได้

ตอบ 2   หน้า 28-32  พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยผ่านนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้ โดยผู้ที่มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมาตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา

8. ผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในพระราชบัญญัติ ได้แก่

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานองคมนตรี

(4) ประธานวุฒิสภา

ตอบ 1    ดูคำอธิบายข้อ 7 ประกอบ

9.  เรื่องใดต้องตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

(1) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ     

(2) ศาลรัฐธรรมนูญ

(3) การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย                                                    

(4) การเสนอขอประชามติ

ตอบ 4   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 138 บัญญัติว่า ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ …(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติและมาตรา 165 วรรคแรกและวรรคท้ายบัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ… หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ…” (สำหรับข้อ (1) (2) และ (3) นั้น มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว)

10. กฎหมายใดแม้พระมหากษัตริย์จะทรงลงประปรมาภิไธยแล้วแต่รัฐสภาอาจไม่อนุมัติให้ใช้มีผลบังคับต่อไปได้

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกำหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) พระบรมราชโองการ

ตอบ 2   หน้า 32-33,76  พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี จึงถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร โดยผู้เสนอร่างคือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น ซึ่งการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการตรา กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำขึ้นทูบเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายชั่วคราวก่อน จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะทำให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเสมือนเป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดนั้นตกไปแต่ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

11. ข้อใดเป็นกฎหมายตามแบบพิธี

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกำหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 40-41) กฎหมายตามแบบพิธี คือ กฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้โดยมิได้คำนึงถึงว่ากฎหมายนั้นจะเข้าถึงลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่ ซึ่งก็ได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และกฎหมายกระทรวงต่างๆที่มิได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และไม่ได้กำหนดโทษไว้ เช่น พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น

12. ประเทศไทยรับหลักระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ จากประเทศอังกฤษอย่างไร

(1) เนื่องจากมีนักกฎหมายที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก

(2) ศาลไทยนำมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี

(3) เป็นกฎหมายต้นแบบที่ใช้ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(4) ความจำเป็นเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ

ตอบ 1   หน้า 225-227  เนื่องมาจากในสมัยรัชการที่ 5 มีนักกฎหมายของไทยไปศึกษาต่อและจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำเอาหลักกฎหมายคอมมอน ลอว์ จากประเทศอังกฤษมาใช้สอนและนิพนธ์สำหรับตำรากฎหมายขึ้นมากมายรวมทั้งทรงวางรากฐานการปฏิรูประบบกฎหมายไทยด้วย

13. ข้อใดถูกต้องในการเรียงอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญาจากสูงสุดไปเบาสุด

(1) จำคุก ปรับ ริบทรัพย์สิน                                             

(2) กักขัง ริบทรัพย์สิน ปรับ

(3) ริบทรัพย์สิน กักขัง ปรับ                                            

(4) ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง

ตอบ 1    หน้า 16-17, (คำบรรยาย) สภาพบังคับของกฎหมายนั้น ถ้าเป็นกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือโทษนั่นเอง ซึ่งเรียงจากหนักที่สุดไปเบาที่สุด ได้แก่ 1. ประหารชีวิต 2. จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ และ 5. ริบทรัพย์สิน  ส่วนสภาพบังคับในทางกฎหมายแพ่ง ได้แก่ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือความเป็นโมฆะกรรม หรือโมฆียกรรม ซึ่งเป็นสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย ส่วนสภาพบังคับที่เป็นผลดี เช่น การได้รับลดหย่อนภาษี เป็นต้น

14. ข้อใดเป็นเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับที่มาของหลักกฎหมายเรื่องอายุความ

(1) เป็นกฎหมายที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติเป็นเวลานาน

(2) เป็นเหตุผลที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

(3) เป็นกฎหมายที่ดีของบรรพบุรุษ

(4) เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยใช้เหตุผลทางกฎหมาย

ตอบ 4   หน้า 8-9   เนื่องจากกฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้านหรือกฎหมายประเพณีมีไม่เพียงพอ ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณี ซึ่งหลักกฎหมายของนักกฎหมายนี้จะเกิดจากการปรุงแต่งเหตุผลในทางกฎหมายที่เกิดจากความคิดในทางกฎหมายของตน เรียกว่า ใช้เหตุผลทางกฎหมาย (Juristic Reason) ดังนั้นการจะทำความเข้าใจจึงต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งกฎหมายของนักกฎหมายดังกล่าวที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความเรื่องการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

15. เหตุผลสำคัญที่นักกฎหมายมีบทบาทการสร้างหลักกฎหมายในยุควิวัฒนาการกฎหมายของนักกฎหมาย

(1) ไม่มีจารีตประเพณีมาปรับใช้ได้               

(2) จารีตประเพณีที่ใช้บังคับไม่เหมาะสม

(3) จารีตประเพณีที่ใช้บังคับอยู่ล้าสมัย         

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   หน้า 8-9, (คำบรรยาย) เนื่องจากสังคมมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้น เจริญขึ้นและมีการพัฒนาไปมากพอสมควร ข้อพิพาทจึงเกิดขึ้นมากตามไปด้วย ดังนั้นการที่จะนำกฎหมายประเพณีหรือกฎหมายชาวบ้านมาปรับใช้จึงไม่เหมาะสม ไม่พอใช้บังคับกับชีวิตในสังคมที่เจริญแล้วกฎหมายของนักกฎหมายจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดในคดีซับซ้อน ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่เป็นการเสริมกฎเกณฑ์เก่า

16. องค์กรที่ไม่สามารถริเริ่มการเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

(1) ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ                

(2) คณะรัฐมนตรี

(3) นายกรัฐมนตรี                                                                             

(4) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน

ตอบ 3   หน้า 29 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 142,163 ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน (3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้…ถ้าร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) (3) หรือ (4) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

17. ข้อใดเป็นสภาพบังคับในทางกฎหมายแพ่ง

(1) ปรับ

(2) ริบทรัพย์สินของกลาง

(3) กักขังแทนค่าปรับ

(4) ค่าสินไหมทดแทน

ตอบ 4     ดูคำอธิบายข้อ 13.ประกอบ

18. การตรากฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหารต้องอาศัยอำนาจจากที่ใด

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) ประกาศกระทรวง

(4) กฎกระทรวง

ตอบ 1  หน้า 33 กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงนั้นสามารถตราขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด

19. ถ้าหาหลักกฎหมายทั่วไปในตัวบทลายลักษณ์อักษรมาปรับแก่คดีไม่ได้ ศาลจะหากฎหมายจากที่ไหนมาตัดสิน

(1) ศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาคดีได้               

(2) ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

(3) ศาลนำหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติมาพิจารณาคดีได้ 

(4) ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ตอบ 3     หน้า 42  ในกรณีที่หาหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับแก่คดีไม่ได้ ศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาคดีไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลต้องหาหลักกฎหมายทั่วไปจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติมาปรับแก่คดี ซึ่งได้แก่ ความเป็นธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ และจากหลักเหตุผลของเรื่อง

20. การกระทำโดยอาศัยข้อใดอาจยกเว้นความรับผิดทางอาญาได้

(1) จารีตประเพณีที่ยอมรับให้ทำได้                              

(2) หลักป้องกันตามกฎหมายอาญา

(3) หลักเอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4     หน้า 39,55-56  แม้ว่าการกระทำจะเข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามพระราชบัญญัติอื่น แต่ถ้ามีกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายจารีตประเพณีในกระทำการนั้นๆ ได้แล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา เช่น การชกมวยแม้จะทำให้คู่ชกบาดเจ็บหรือตายก็ไม่เป็นความผิด (ป.อ. มาตรา 68) หรือหลักเอาเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 130 เป็นต้น

21. ผู้พิพากษาในศาลประเทศอังกฤษใช้กฎหมายใดในการวินิจฉัยคดี

(1) กฎหมายโรมัน                                                             

(2) คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน

(3) กฎหมายสิบสองโต๊ะ                                                   

(4) ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน

ตอบ 2    หน้า 22-23   กฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นตัวบทกฎหมาย ดังนั้นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบนี้จึงมาจากคำพิพากษาของศาล ซึ่งประเทศที่นิยมใช้กฎหมายระบบนี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษ และเครือจักรภพอังกฤษ (ดูคำอธิบายข้อ 1. ประกอบ)

22. ลักษณะประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเหมือนกับประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(1) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะใช้ชื่อประมวลกฎหมายเหมือนกัน

(2) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นกฎหมายแพ่งเหมือนกัน

(3) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการจัดแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่

(4) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะระบบกฎหมายต่างกัน

ตอบ 3   หน้า 22 ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสนั้นจัดทำขึ้นโดยแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ซึ่งถือแม้จะเป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่มีลักษณะเป็นการรวบรวมเอากฎหมายต่างๆมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายเดียวกันเท่านั้นโดยมิได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเรื่องๆแต่อย่างใด

23. การที่นักศึกษาต้องเสียค่าปรับเนื่องจากขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ดังนี้

(1) เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดศีลธรรมด้วย      

(2) เป็นความผิดอาญาในทางเทคนิค

(3) เป็นความผิดอาญาที่ผิดทั้งศีลธรรมและผิดเพราะกฎหมายห้าม

(4) ไม่เป็นความผิดอาญาใดๆ

ตอบ 2    (คำบรรยาย) ความผิดทางเทคนิค (Technical Offence) คือ ความผิดอาญาที่ไม่ผิดศีลธรรมแต่ผิดเพราะกฎหมายห้าม ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือกฎหมายเทคนิคที่เกิดขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน เป็นต้น (การขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร)

24. ถ้าพิเคราะห์บทบัญญัติในมาตรา 369 ที่บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้…ท่านจะได้หลักกฎหมายเรื่องใดจากบทบัญญัติในมาตรา 369

(1) หลักปฏิเสธไม่ต้องผูกพันตามสัญญา     

(2) หลักบุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา

(3) หลักคุ้มครองบุคคลที่สามผู้กระทำโดยสุจริต 

(4) หลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

ตอบ 2   หน้า 41-42  บทบัญญัติของมาตรา 369 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยอาศัยหลักว่า บุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเกิดจากหลักศีลธรรมที่ว่า เมื่อพูดให้สัญญาแล้วต้องรักษาคำพูด” (กรณีหลักปฏิเสธไม่ต้องผูกพันตามสัญญานั้นจะต้องเกิดจากพฤติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เป็นต้น)

25. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับศีลธรรม

(1) เป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมเฉพาะความประพฤติภายนอกของมนุษย์

(2) การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์มีสภาพบังคับจริงจังในปัจจุบัน

(3) ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดแล้ว

(4) เป็นกฎเกณฑ์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น

ตอบ 3   (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39), (คำบรรยาย)  ศีลธรรม คือ ความรู้สึกภายในจิตใจของมนุษย์ว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด ดังนั้นศีลธรรมจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติภายในจิตใจมนุษย์ ซึ่งจะต่างกับกฎหมายเพราะกฎหมายจะกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์ที่แสดงออกมาให้เห็น แค่ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดศีลธรรมแล้ว

26. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 การตราพระราชกำหนดเรื่องใดที่ต้องกระทำโดยด่วนและลับ

(1) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

(2) ความปลอดภัยของประเทศ

(3) ภาษีอากร

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 32-33  พระราชกำหนด มี 2 ประเภท ได้แก่

1.พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้ตราได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 184)

2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีและเงินตรา  เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 186)

27. ข้อใดเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย

(1) การครอบครองปรปักษ์                                              

(2) หลักความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว

(3) หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด                               

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4     หน้า 41-42, (คำบรรยาย)  หลักกฎหมายทั่วไปเป็นบ่อเกิดหรือมีที่มาอีกประการหนึ่งของกฎหมายโดยหลักกฎหมายทั่วไปอาจเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิม ซึ่งเขียนเป็นสุภาษิตกฎหมายภาษาละตินหรือเป็นหลักกฎหมายที่แฝงอยู่ในบทกฎหมายต่างๆ เช่น หลักความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด เป็นต้น

28. ข้อใดถูกต้อง

(1) ระบบซีวิล ลอว์ จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

(2) ระบบซีวิล ลอว์ ถือเป็นคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายลำดับแรก

(3) ระบบคอมมอน ลอว์ ศาลจะเป็นผู้สร้างหลักกฎหมาย

(4) ระบบคอมมอน ลอว์ คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้กฎหมาย

ตอบ 3   หน้า 22 ตามหลักของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นั้น

1. ถ้ามีหลักกฎหมายซึ่งเป็นหลักกฎเกณฑ์ทั่วไปอยู่แล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นแต่เพียงผู้แสดงหลักเกณฑ์นั้นๆแล้วนำมาปรับแก่คดีเท่านั้น และ

2. ถ้าไม่มีหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายขึ้นโดยคำพิพากษาและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานของศาลต่อๆมา ซึ่งเรียกว่า “Judge Made Law”

29. หลักกฎหมายใดที่ขัดกับศีลธรรม

(1) การพยายามฆ่าตัวตายไม่เป็นความรับผิดทางอาญา

(2) การที่สามีลักทรัพย์ภริยา มีความผิดฐานลักทรัพย์

(3) การเบิกความเท็จเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิด มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

(4) แม่ขโมยนมผงเพื่อให้ลูกกินเนื่องจากตนไม่มีเงิน มีความผิดฐานลักทรัพย์

ตอบ 4   (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39) กฎหมายกับศีลธรรมนั้นถึงแม้จะมีอิทธิพลต่อกันมาก เช่น การที่มีศีลธรรมสูง ย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่าไม่เคยทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่บางครั้งกฎหมายกับศีลธรรมก็อาจขัดกันได้ เช่น แม่ขโมยนมผงเพื่อให้ลูกกินเนื่องจากตนไม่มีเงิน ถือว่าถูกศีลธรรมแต่ผิดกฎหมายฐานลักทรัพย์ เป็นต้น

30. กรณีใดไม่อาจเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมได้

(1) คนสวนของเจ้ามรดก                                 

(2) ภริยานอกกฎหมายของเจ้ามรดก

(3) ทวดของเจ้ามรดก                                                        

(4) ชมรมคนรักราม

ตอบ 4     หน้า 175-178, (คำบรรยาย)  ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมนั้นกฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องเป็นใคร แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย(บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) เท่านั้น และต้องไม่ใช่บุคคลที่กฎหมายห้ามมิให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ซึ่งได้แก่ ผู้เขียนพินัยกรรม พยาน รวมทั้งคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวด้วย (ชมรมคนรักรามไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล)

31. กรณีใดที่ไม่สามารถเป็นทายาทโดยธรรมได้

(1) ผู้รับบุตรบุญธรรม                                                       

(2) คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว        

(4) พี่คนละแม่แต่พ่อเดียวกันกับเจ้ามรดก

ตอบ 1  หน้า 173-175, (คำบรรยาย)  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติและทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส ซึ่งทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติมี 6 ลำดับ ได้แก่ 1. ผู้สืบสันดาน (รวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมด้วย)   2. บิดามารดา (ไม่รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งกฎหมายไม่ถือเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 2 ของบุตรบุญธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน)   3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน   4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน   5. ปู่ ย่า ตา ยาย   6. ลุง ป้า น้า อา

32. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุลต่อมานายดอนตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก

(1) นายดำและนางแดง

(2) นางแดงและนายดอน

(3) นายดอน

(4) นางแดง

ตอบ 4   หน้า 173-175    เมื่อนายดอนตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นางแดงซึ่งเป็นมารดาโดยชอบธรรมตามกฎหมาย และเป็นทายาทในลำดับที่ 2 ส่วนนายดินเป็นทายาทในลำดับที่ 3 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ซึ่งมีหลักว่า ทายาทโดยธรรมในลำดับก่อนจะตัดทายาทโดยธรรมในลำดับหลัง ดังนั้นนางแดงจึงมีสิทธิรับมรดกของนายดอนแต่เพียงผู้เดียว สำหรับนายดำนั้นเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดอน จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)

33. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุล ต่อมานางแดงตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก

(1) นายดำ

(2) นายดินและนายดอน

(3) นายดอน

(4) นางแดง

ตอบ 2   หน้า 173-175  เมื่อนางแดงตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นายดินและนายดอน ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทในลำดับที่ 1 นายดินและนายดอนจึงมีสิทธิรับมรดก สำหรับนายดำนั้นเป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางแดง จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)

34. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุล ต่อมานายดำตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก

(1) นางแดง

(2) นายดินและนายดอน และนางแดง

(3) นายดินและนายดอน

(4) แผ่นดิน

ตอบ 3   หน้า 173-175  เมื่อนายดำตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นายดินและนายดอน ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายดำรับรองแล้ว (ให้ใช้นามสกุล) และถือเป็นทายาทในลำดับที่ 1 นายดินและนายดอนจึงมีสิทธิรับมรดก สำหรับนางแดงนั้นเป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดำ จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)

35. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพย์

(1) จักรยาน

(2) สิทธิบัตร

(3) นาฬิกา

(4) ตุ๊กตาหมี

ตอบ 2   หน้า 181  “ทรัพย์หมายถึง วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น จักรยาน นาฬิกา ตุ๊กตาหมี ฯลฯ ส่วน ทรัพย์สินหมายถึง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น พลังงานปรมาณู แก๊ส กรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ

36. สิ่งใดต่อไปนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ

(1) ยานอวกาศ

(2) เรือแจว

(3) รถยนต์

(4) แพที่ใช้อยู่อาศัย

ตอบ 4   หน้า 184-185  สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ คือ ทรัพย์อื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นทรัพย์ในลักษณะพิเศษกว่าสังหาริมทรัพย์ทั่วไป กล่าวคือ เวลาจะจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพที่ใช้อยู่อาศัย และสัตว์พาหนะ คือ ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ

37. เงินปันผลจากบริษัท คือ

(1) ดอกผลธรรมดา                                                           

(2) ดอกผลนิตินัย

(3) เป็นทั้งดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย             

(4) ไม่ใช่ดอกผล

ตอบ 2    หน้า 190-191  “ดอกผลนิตินัยเป็นดอกผลที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากตัวของแม่ทรัพย์แต่เป็นทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น เพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผลหรือประโยชน์ในการให้เข้าไปทำกินในที่ดิน

38. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ดอกผลธรรมดาบางประเภทสามารถทดแทนดอกผลนิตินัยได้

(2) ทรัพย์บางประเภทสามารถเป็นได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

(3) เจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิได้ดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3    หน้า 191   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น…

39. บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันโดยซื้อเป็นส่วนๆไปประกอบในที่ดินอีกแห่ง คือ

(1) อสังหาริมทรัพย์

(2) อุปกรณ์

(3) ส่วนควบ

(4) สังหาริมทรัพย์

ตอบ 4   (คำบรรยาย)  ทรัพย์ใดแม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ก็อาจจะโอนกันในรูปสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันเป็นส่วนๆ ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินจึงไม่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการซื้อขายทรัพย์ในสภาพของสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

40. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม คือ

(1) การครอบครองปรปักษ์                                              

(2) สัญญาเช่าซื้อ

(3) การแย่งสิทธิครอบครอง                                            

(4) คำพิพากษาของศาล

ตอบ 2    หน้า 195  การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์มี 2 กรณี คือ

1. การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น การซื้อขาย เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น และ

2. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยพิพากษาของศาล โดยอาศัยหลักส่วนควบ หรือโดยทางมรดก เป็นต้น

41. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพยสิทธิ

(1) สิทธิครอบครอง                                                          

(2) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) กรรมสิทธิ์                                                                      

(4) ส่วนควบ

ตอบ 4   หน้า 192  ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น (ส่วนควบถือเป็นส่วนประกอบของทรัพย์)

42. บิดามารดาของเด็กชายดำ ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ยายของเด็กชายดำต้องการจะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นผู้ปกครองของเด็กชายดำ จะต้องขอต่อศาล

(1) ศาลปกครอง

(2) ศาลรัฐธรรมนูญ

(3) ศาลแพ่ง

(4) ศาลเยาวชนและครอบครัว

ตอบ 4  หน้า 64, (คำบรรยาย) ศาลเยาวชนและครอบครัว คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน (บุคคลที่มีอายุเกิน 7 ปีแต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์) โดยเฉพาะทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่น

คดีครอบครัว ได้แก่ คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาล หรือการกระทำใดๆในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวแล้วแต่กรณีซึ่งจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. เช่น การขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ในกรณีที่บิดามารดาของผู้เยาว์ถึงแก่กรรม เป็นต้น

คดีอาญา ที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด

43. ผู้เสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทนความเสียหาย จะต้องเป็นผู้เสียหายในประเภทความผิด

(1) ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์                                

(2) ยักยอก ฉ้อโกง

(3) ถูกข่มขืนกระทำชำเรา                                                

(4) ปลอมแปลงเอกสาร

ตอบ 3   ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่

1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ   2. ความผิดต่อชีวิต   3. ความผิดต่อร่างกาย   4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 5. ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ และคนชรา

44. ผู้กระทำความผิดคดีอาญาที่ถูกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว จะต้องมีอายุในวันที่กระทำความผิด

(1) ไม่เกิน 15 ปี  

(2) ไม่เกิน 17 ปี

(3) ไม่ถึง 18 ปี

(4) ไม่ถึง 20 ปี

ตอบ 3    ดูคำอธิบายข้อ 42.ประกอบ

45. สามีทำร้ายภริยา ตามกฎหมาย

(1) ไม่มีความผิด                                 

(2) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

(3) มีความผิดแต่ศาลลงโทษน้อย   

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4   (คำบรรยาย)  ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ไม่ว่าผู้ใดกระทำต่อผู้ใด สำหรับการกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานหลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น

46. โจรลอบปีนเข้าบ้านนายเอก ภริยานายเอกร้องให้คนช่วย โจรจึงเงื้อมีดจะฟัน นายเอกจึงใช้ปืนยิงถูกโจรถึงแก่ความตาย ดังนี้

(1) นายเอกกระทำด้วยความจำเป็น มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

(2) นายเอกกระทำโดยบันดาลโทสะ ศาลลงโทษน้อย

(3) นายเอกกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 55-56 การกระทำของนายเอก เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของผู้อื่น คือ ภริยาให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้กระทำไม่มีความผิด (ป.อ. มาตรา 68)

47. นายโก๋ยุสุนัขของตนให้กัดนางสาวแจ๋วจนบาดเจ็บ ดังนี้นายโก๋ต้องรับผิดทางอาญาในฐาน

(1) ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บ                            

(2) เจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น

(3) ไม่มีความผิดเพราะเป็นการกระทำของสุนัข

(4) ทำร้ายร่างกายโดยไม่เจตนา

ตอบ 2   (คำบรรยาย) การกระทำของนายโก๋ ถือว่ามีเจตนาทำร้ายร่างกายนางสาวแจ๋วโดยอาศัยสุนัขเป็นเครื่องมือ นายโก๋จึงมีความผิดฐานเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น

48. นายเอกขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทับลูกสุนัขของนางสาวจุ๋มจิ๋มตาย ดังนี้นายเอกต้องรับผิดทางอาญา

(1) ประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย                  

(2) เจตนาทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย

(3) ไม่มีความผิดทางอาญา                                               

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3   หน้า 54,58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเอกเป็นความผิดในทางแพ่งฐานละเมิดเท่านั้น ไม่เป็นความผิดทางอาญา เพราะการกระทำให้บุคคลอื่นเสียหายแก่ทรัพย์สินและจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำโดยประมาทแล้วกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติไว้เป็นความผิดแต่อย่างใด

49. นายโก๋เดินผ่านรั้วบ้านนายเก่ง สุนัขในบ้านของนายเก่งส่งเสียงเห่า นายโก๋รำคาญใช้ปืนยิงสุนัขของนายเก่งตาย นายโก๋ต้องรับผิดทางอาญาในความผิด

(1) ไม่มีความผิดเพราะกฎหมายมิได้บัญญัติในความผิดฐานฆ่าสุนัขผู้อื่น

(2) ทำให้เสียทรัพย์

(3) ประมาททำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย                                                                                  

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2  หน้า 54,57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อให้บุคคลอื่นเสียหายซึ่งทรัพย์สิน จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ขอให้เปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงในข้อ 48. ซึ่งจะต่างกัน)

50. นายเอกเลี้ยงสุนัขตัวโตไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้หลุดออกจากประตูรั้วบ้านไปที่ถนนสาธารณะ สุนัขกัดแมวของ ด.ญ.ตุ๊กตาตาย ดังนี้นายเอกต้องรับผิดทางอาญา

(1) เจตนาทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์                                       

(2) ประมาททำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย

(3) ไม่มีความผิด                                                  

(4) มีความผิดแต่ยอมความได้

ตอบ 3   หน้า 54,58  การที่สุนัขของนายเอกไปกัดแมวของ ด.ญ.ตุ๊กตาตาย ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของนายเอกที่ไม่ดูแลสุนัขให้ดี แต่นายเอกก็ไม่มีความผิดทางอาญาฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ เพราะการกระทำโดยประมาททำให้บุคคลอื่นเสียหายแก่ทรัพย์สินนั้นกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ดังนั้นนายเอกมีความผิดเฉพาะในทางแพ่งฐานละเมิดเท่านั้น (ดูคำอธิบายข้อ 48.ประกอบ)

51. ข้อใดเป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้

(1) ดำใช้ปืนไม่มีลูกกระสุนยิงขาวให้ตกใจกลัว

(2) ดำใช้ปืนยิงขาวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

(3) ดำยิงขาวแต่ลืมใส่ลูกกระสุน ขาวจึงไม่ได้รับอันตราย

(4) ดำยิงขาว แต่ขาวพุ่งหลบ ขาวจึงไม่ได้รับอันตราย

ตอบ 3   หน้า 61-62, (คำบรรยาย)   การพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ (เช่น ใช้ปืนที่ไม่มีลูกยิงโดยเจตนาฆ่า เป็นต้น) หรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อก็ได้ (ขอให้สังเกตว่า ข้อ (1) ดำไม่มีเจตนาฆ่าขาว ความผิดฐานพยายามจึงไม่เกิดขึ้น)

52. นายยิ้มจ้างมือปืนไปยิงนายเอกให้ตาย มือปืนรับเงินแล้วได้เอายาพิษไปลอบให้นายเอกกินแล้วตาย ดังนี้นายยิ้ม

(1) ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ใช้ให้วางยาพิษ

(2) มีความผิดเป็นผู้ใช้รับโทษ 1 ใน 3

(3) เป็นผู้ใช้รับโทษเสมือนตัวการ                  

(4) เป็นผู้สนับสนุน

ตอบ 3  หน้า 62-63, (คำบรรยาย)  การที่นายยิ้มจ้างมือปืนให้ไปยิงนายเอก แค่มือปืนได้เอายาพิษไปลอบให้นายเอกกินแล้วตาย ย่อมถือว่าความผิดนั้นได้กระทำลงตามที่ได้มีการใช้แล้ว ดังนั้นนายยิ้มซึ่งเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดต้องรับโทษเสมือนตัวการ

53. นายโหดชวนนายเลวไปฆ่านายดี นายเลวไม่มีปืนแต่ได้ร่วมกับนายโหด เมื่อนายโหดยิงนายดีตายแล้ว นายเลวก็หลบหนีไปพร้อมกับนายโหด ดังนี้นายเลวต้องรับผิดร่วมกับนายโหดในฐานะเป็น

(1) ผู้สนับสนุน  

(2) ผู้ใช้

(3) ตัวการ           

(4) ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ยิง

ตอบ 3   หน้า 62 ความผิดฐานตัวการ คือความผิดที่ได้เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยการร่วมมือร่วมใจกันกระทำความผิด และต่างรู้สึกถึงการกระทำของกันและกัน ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าผู้ร่วมกันกระทำผิดเป็นตัวการ และต้องระวางโทษตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

54. นายโก๋ดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วนึกสนุกใช้ปืนยิงเข้าไปในรถยนต์ที่แล่นผ่านมา ลูกกระสุนปืนถูกนายเฮงถึงแก่ความตาย ดังนี้นายโก๋มีความผิด

(1) ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา                             

(2) ฆ่าคนตายโดยเจตนา

(3) ฆ่าคนตายโดยประมาท                               

(4) มีความผิดแต่ได้รับลดโทษเพราะกระทำขณะเมาสุรา

ตอบ 2  หน้า 57-58, (คำบรรยาย)  การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล คือไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้นอย่างไร คือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีคนถูกลูกกระสุนปืนตาย ดังนั้นนายโก๋จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

55. นางสาวติ๊นาเลี้ยงสุนัขตัวโตไม่ดูแลให้ดี สุนัขหลุดจากประตูรั้วบ้านออกไปกัด ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยถึงแก่ความตาย ดังนี้นางสาวติ๊นาต้องรับผิดฐาน

(1) ไม่มีความผิด                

(2) ฆ่า ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยตายโดยเจตนา

(3) ฆ่า ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยโดยไม่ได้เจตนา                 

(4) กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ตอบ 4  หน้า 58  การที่นางสาวติ๊นาเลี้ยงสุนัขตัวโตแล้วไม่ดูแลให้ดีนั้น ถือว่านางสาวติ๊นากระทำโดยประมาท กล่าวคือเป็นการกระทำความผิดซึ่งผู้กระทำนั้นมิได้เจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้นนางสาวติ๊นาจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

56. นายบกเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า แล้วจิตใจฮึกเหิม ได้ท้าให้นายเด่นทดลองฟันตนนายเด่นรับคำท้าใช้มีดฟันนายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนี้นายเด่น

(1) ไม่มีความผิดเพราะนายบกยอมให้ฟัน    

(2) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

(3) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

(4) ฆ่าคนตายโดยประมาท

ตอบ 3  หน้า 57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเด่น ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกและแม้จะไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้น คือ นายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนั้นการกระทำของนายเด่นจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

57. โทษทางอาญาที่หนักที่สุด

(1) กักกัน            

(2) กักขัง             

(3) ปรับ 1 แสนบาท          

(4) ริบทรัพย์สิน

ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 13.ประกอบ

58. หลักเกณฑ์ตีความกฎหมายอาญา

(1) ตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์        

(2) ตีความตามเจตนารมณ์

(3) ตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด                            

(4) ตีความขยายความลงโทษจำเลยได้

ตอบ 3   หน้า 90  กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษ การตีความจึงมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกับกฎหมายทั่วไป คือ 1. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด  2. จะตีความหมายในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้ และ 3. ในกรณีเป็นที่สงสัย ศาลต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาว่าไม่ได้กระทำความผิด

59. ความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้

(1) พนักงานอัยการฟ้องคดีไม่ได้ต้องให้ผู้เสียหายฟ้องเอง

(2) ผู้เสียหายฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องให้พนักงานอัยการฟ้องให้

(3) พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์

(4) ราษฎรฟ้องคดีส่วนตัว ศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

ตอบ 3   หน้า 67-68  ความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ หมายถึง ความผิดที่ไม่กระทบความสงบของรัฐ และมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว

60. นายดอย อายุ 18 ปี หมั้นกับ น.ส.กิ๊ก อายุ 16 ปี โดยบิดาและมารดาของ น.ส.กิ๊ก ให้ความยินยอม เช่นนี้การหมั้นของ น.ส.กิ๊กกับนายดอยจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขื้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 3  หน้า 155  กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องอายุของชายและหญิงที่ตะทำการหมั้นไว้ว่า จะหมั้นกันได้ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากฝ่าฝืน การหมั้นนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 1435) แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ตาม

61. นายชาญ อายุ 30 ปี ต้องการหมั้นกับ น.ส.ดาว อายุ 25 ปี แต่กลับหมั้นกับ น.ส.เดือน คู่แฝดของ น.ส.ดาว โดยสำคัญผิด เช่นนี้การหมั้นนั้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 2   หน้า 159-160  เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (การสมรสมิอาจสมบูรณ์) มี 5 ประการ คือ 1. ชายและหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์  2. ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง  3. การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส

4. สมรสโดยถูกกลฉ้อฉล   5. การสมรสเพราะถูกข่มขู่ (ในเรื่องการหมั้นนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการสำคัญผิดตัวคู่หมั้นไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในส่วนของการสมรสมาบังคับใช้)

62. น.ส.สวยหมั้นกับนายโดม โดยนายโดมมอบแหวนเพชรให้ในเวลาทำสัญญาหมั้น ต่อมา น.ส.สวยกลับไม่ยอมสมรส เช่นนี้นายโดมจะทำอย่างไรได้บ้าง

(1) ฟ้องบังคับให้ น.ส.สวยสมรสกับตน       

(2) ฟ้องเรียกเบี้ยปรับ

(3) ฟ้องเรียกของหมั้นคืน                                               

(4) ถูกทั้ง 2 และ 3

ตอบ 3   หน้า 157-158 ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับเพื่อให้มีการสมรสหรือเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ มีสิทธิก็แต่เฉพาะเรียกค่าทดแทนเนื่องจากมีการผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น และหากหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นก็จะต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย

63. นายขิมตกลงจะไปหมั้นกับ น.ส.แคน แต่ก่อนถึงวันหมั้น น.ส.แคนได้ขอให้นายขิมส่งมอบทองคำแท่งทั้งหมดที่เตรียมไว้เป็นของหมั้นแก่ตนก่อน ต่อมาอีกวันในเวลาทำสัญญาหมั้น จึงไม่มีของหมั้นส่งมอบ เช่นนี้ หากต่อมา น.ส.แคนไม่ทำการสมรสกับนายขิม นายขิมจะทำอย่างไร

(1) เรียกทองคำแท่งคืนทั้งหมด                      

(2) เรียกทองคำแท่งคืนได้ครึ่งหนึ่ง

(3) เรียกทองคำแท่งคืน พร้อมเบี้ยปรับ         

(4) เรียกทองคำแท่งคืนไม่ได้เลย

ตอบ 1   หน้า 157 การหมั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น กล่าวคือ สัญญาหมั้นย่อมสมบูรณ์ในวันที่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นแล้ว แม้จะคนละวันกับวันหมั้นก็ตาม และหากฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย

64. นายชัน อายุ 40 ปี ผู้รับบุตรบุญธรรมจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ยิ้ม อายุ 25 ปี บุตรบุญธรรมของตนเช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 1   หน้า 160   ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ให้ถือว่าการรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป แต่การสมรสยังมีผลสมบูรณ์

65. นายดำลุงเขยของ น.ส.น้ำ เมื่อป้าของ น.ส.น้ำตาย นายดำจึงมาจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.น้ำ เช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 1   หน้า 159-160   เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ มี 4 ประการ คือ

1. สมรสกับบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล

2. สมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปลงมา หรือกับพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

3. สมรสโดยปราศจากความยินยอมของชายหญิงคู่สมรส และ

4. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า สมรสซ้อน

(ลุงเขยไม่ถือว่าเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงหรือลงมาแต่อย่างใด และกรณีไม่เป็นสมรสซ้อนเพราะการสมรสครั้งแรกย่อมสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากความตายของคู่สมรส)

66. น.ส.อิ่ม อายุ 18 ปี ซึ่งได้จดทะเบียนไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายไก่ ได้สมรสกับนายแผน อายุ 25 ปี โดยนายไก่มิได้ให้ความยินยอม แต่บิดามารดาของ น.ส.อิ่มยินยอม เช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์         

(2) โมฆียะ          

(3) โมฆะ            

(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 2  หน้า 159-160  กรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใด เมื่อจะทำการสมรสก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น มิฉะนั้นการสมรสจะเป็นโมฆียะ เพราะนับตั้งแต่ผู้เยาว์ไปเป็นบุตรบุญธรรม อำนาจปกครองของบิดามารดาย่อมหมดไป ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแทน (ดูคำอธิบายข้อ 61.ประกอบ)

67. กรณีใดไม่เป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลง

(1) คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสาบสูญ                           

(2) คู่สมรสฝ่ายหนึ่งป่วยตาย

(3) คู่สมรสจดทะเบียนหย่า                             

(4) ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่

ตอบ 1  หน้า 166-167  เหตุที่จะทำให้การสมรสสิ้นสุดลง มีได้ 3 กรณี คือ

1. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย                           2. โดยการหย่า และ

3. ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส (การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสาบสูญเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น)

68. กรณีใดต่อไปนี้ไม่เป็นสินสมรส

(1) เงินเดือนของคู่สมรส                 

(2) เงินถูกรางวัลสลากกาชาดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง

(3) ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่คู่สมรสมีก่อนสมรส

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

ตอบ 3   หน้า 163 สินสมรส ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนหรือรางวัลที่ได้จากการถูกลอตเตอรี่

2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือเมื่อมีพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าให้เป็นสินสมรส

3. ดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อมีการสมรส เช่น ลูกหมูซึ่งแม่หมูตกลูกเมื่อสมรสแล้ว (ดอกเบี้ยเงินฝากแม้จะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว แต่ได้มาก่อนสมรสจึงไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัว)

69. กรณีใดต่อไปนี้ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

(1) หนี้เงินกู้ที่เจ้ามรดกทำขึ้น                         

(2) สัญญาหมั้นที่เจ้ามรดกทำไว้

(3) เจ้ามรดกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเขียน 

(4) เจ้ามรดกถูกรางวัลสลากกาชาดแต่ตายก่อนขึ้นรางวัล

ตอบ 2   หน้า 171-172  “มรดกหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับชอบต่างๆด้วย เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (สิทธิตามสัญญาหมั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย)

70. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องทำเป็น

(1) พระราชบัญญัติ           

(2) พระราชกำหนด          

(3) พระราชกฤษฎีกา        

(4) คำสั่งนายกรัฐมนตรี

ตอบ 3   หน้า 33   ตามรัฐธรรมนูญ การตราพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นใน 3 กรณี  คือ  1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร หรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ  2. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 196  (เรื่องเงินประจำตำแหน่ง บำเหน็จบำนาญและประโยชน์ตอบแทน)   3. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด) ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้

71. ราชอาณาจักร หมายถึง ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทย ไม่เกิน

(1) 10 ไมล์ทะเล

(2) 12 ไมล์ทะเล

(3) 20 ไมล์ทะเล

(4) 50 ไมล์ทะเล

ตอบ  2     หน้า 80-81     ราชอาณาจักรไทย หมายถึง   1.พื้นดินและพื้นน้ำซึ่งอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย    2. ทะเลอันเป็นอ่าวไทย   3. ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล   4. อากาศเหนือ 1.,2. และ 3.

72. ข้อใดที่อยู่ในอำนาจศาลไทยที่จะพิจารณาพิพากษาได้

(1) นายขะแมร์ชาวเขมรปลอมแปลงเงินไทยที่ประเทศลาว

(2) นายโซกับพวกชาวโซมาเลียปล้นเรือสินค้าในทะเลหลวง

(3) นายขะแมร์ชาวเขมรฆ่าคนไทยตายที่ประเทศกัมพูชา

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4  หน้า 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 ได้บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไทยที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่แม้จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร และผู้กระทำความผิดจะมีสัญชาติใดก็ตาม ได้แก่ 1. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

2. ความผิดเกี่ยวกับการปลอม และการแปลงเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด

3. ความผิดฐานชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวงและตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 ได้บัญญัติให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย หรือผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว แต่รัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

73. นายหนุ่มไม่ทราบว่าตนเกิดเมื่อใดทราบแต่เพียงปีเกิดคือปี พ.ศ. 2530 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายหนุ่มเกิดเมื่อใด

(1) 1 มกราคม 2530                                                                           

(2) 1 มิถุนายน 2530

(3) ณ วันที่นายหนุ่มแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่                              

(4) วันไหนก็ได้แล้วแต่นายหนุ่มจะเลือก

ตอบ 1    หน้า 128, (คำบรรยาย) ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลเกิดวันใด เดือนใด แต่รู้ปีเกิด ให้ว่าถือว่าบุคคลนั้นได้เกิดวันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ในกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2483 ให้ถือเอา วันที 1 เมษายน เป็นวันต้นปี หากเกิดภายหลังจากนั้นให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันต้นปี ดังนั้นการที่นายหนุ่มไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใดทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2530 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายหนุ่มเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2530

74. ข้อใดถือสิ้นเป็นสภาพบุคคล

(1) การสาบสูญ 

(2) จิตฟั่นเฟือน 

(3) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 

(4) พิการ

ตอบ 1      หน้า 140-141    สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือ  1. ตายธรรมดา และ 2. ตายโดยผลของกฎหมาย คือ เมื่อบุคคลนั้นได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

75. ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทารกในครรภ์มารดา

(1) มีสภาพบุคคลแล้ว                                       

(2) มีสิทธิรับมรดกถ้าคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

(3) ไม่มีสภาพบุคคล                                          

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1     หน้า 125-127   สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (โดยจะตัดสายสะดือหรือไม่ไม่สำคัญ) ซึ่งการอยู่รอดเป็นทารกนั้น อาจจะดูที่การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือดูที่การหายใจ ซึ่งการหายใจนั้นไม่จำกัดว่าจะมีระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจึงยังไม่มีสภาพบุคคล แต่ทารกในครรภ์มารดาอาจมีสิทธิต่างๆได้ เช่น สิทธิในการรับมรดก ถ้าหากว่าภายหลังได้คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

76. สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อใด

(1) นางแดงแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์

(2) นางเหลืองตั้งครรภ์บุตรเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

(3) นางเขียวคลอดบุตรแล้วโดยที่หมอยังมิได้ตัดสายสะดือทารก

(4) นางดำไปตรวจครรภ์แล้วทราบว่าบุตรเป็นเพศชายก่อนที่จะถึงกำหนดคลอด 1 เดือน

ตอบ 3   ดูคำอธิบายข้อ 75.ประกอบ

77. ข้อใดถูกต้องที่สุด

(1) ทารกในครรภ์มารดาถือเป็นทายาทแล้ว

(2) สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอด

(3) เมื่อทารกคลอดแล้วปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นนี้ ทารกมีสภาพบุคคล

(4) เมื่อทารกคลอดแล้วต้องมีการหายใจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะถือว่ามีสภาพบุคคล

ตอบ 3    หน้า 125-127    ทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสภาพบุคคล จึงไม่อาจเป็นทายาทได้ เพราะตามกฎหมายการเป็นทายาทนั้น (ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทในฐานะผู้รับพินัยกรรม) จะต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย (ดูคำอธิบายข้อ 75.ประกอบ)

78. ข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายนั้นถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย

(2) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดถึงทายาท

(3) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทำให้การสมรสขาดจากกัน

(4) การเป็นคนสาบสูญ ศาลอาจมีการเพิกถอนคำสั่งสาบสูญได้

ตอบ 3    หน้า 146   ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลตามกฎหมายคือ 1. คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง)

2. ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจปกครองบุตร 3. มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

4. ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามหากคนสาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ศาลก็อาจเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้

79. ข้อใดเป็นชื่อที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

(1) ชื่อฉายา        

(2) นามปากกา                   

(3) ชื่อเล่น          

(4) ชื่อสกุล

ตอบ 3    หน้า 129-130, (คำบรรยาย)   นอกจากกฎหมายจะให้การคุ้มครองชื่อสกุล (ชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล) แล้ว ยังให้การคุ้มครองไปถึงชื่ออื่นๆ เช่น ชื่อฉายา นามแฝง ชื่อนิติบุคคล ชื่อการค้า ชื่อย่อสำหรับโทรเลข รวมทั้งนามปากกาด้วย

80. บุคคลธรรมดาที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนา ได้แก่

(1) ผู้เยาว์             

(2) คนตาบอด                    

(3) บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ  

(4) บุคคลวิกลจริต

ตอบ 1    หน้า 131-132  บุคคลที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่

1. ผู้เยาว์ 2. คนไร้ความสามารถ

3. สามีและภริยา

4. ข้าราชการ

5. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล

81.นิติกรรมข้อใดเป็นโมฆะ

(1) สมหญิง อายุ 9 ปี ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับนายสมชายตัวแทนประกันภัย

(2) น.ส.แดง อายุ 20 ปี ทำสัญญายอมรับเป็นภริยาน้อยของนายดำ

(3) วาสนา อาย 10 ปี ตกลงทำสัญญาให้รถยนต์ของตนกับดวงดี อายุ 13 ปี

(4) นางหนึ่งตกลงซื้อขายรถยนต์ของตนกับนางสองโดยไม่ได้ทำสัญญา

ตอบ 2    หน้า 101-103    นิติกรรมใดก็ตามที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) เช่น นิติกรรมที่มีผลกระทบต่อความสงบของสังคม หรือความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เป็นต้น ( ข้อ(2) เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน)

82. บุคคลวิกลจริตทำนิติกรรมโดยที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่าวิกลจริต นิติกรรมจะมีผล

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ไม่สมบูรณ์

ตอบ 3       หน้า 137-138     บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมใดๆมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำในขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วว่าผู้ทำเป็นคนวิกลจริต

83. บุคคลตามข้อใดยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(1) อายุ 17 ปีบริบูรณ์และสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย              

(2) อายุ 18 ปีบริบูรณ์

(3) อายุ 16 ปี ทำการสมรสโดยศาลอนุญาต                                  

(4) ไม่บรรลุนิติภาวะทุกข้อ

ตอบ 2    หน้า 133,159     บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 19) แต่อย่างไรก็ตามผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะก่อนนั้นได้ หากทำการสมรสและการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 คือ สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หรืออายุน้อยกว่า 17 ปี แต่ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้

84. คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมข้อใดได้ หากผู้อนุบาลยินยอม

(1) นิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว                    

(2) นิติกรรมที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์

(3) นิติกรรมที่ได้ไปซึ่งสิทธิ                                             

(4) ทำนิติกรรมใดๆก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

ตอบ 4    หน้า 137    คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆนิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นไม่ว่าจะได้ทำนิติกรรมในขณะจริตวิกลหรือไม่ก็ตาม หรือได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลจะได้ยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน เว้นแต่พินัยกรรมซึ่งผู้อนุบาลไม่อาจทำแทนได้ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นพินัยกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำขึ้น หรือให้ผู้อนุบาลทำแทนย่อมตกเป็นโมฆะ

85. คนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย

(1) ผู้พิทักษ์         

(2) ผู้อนุบาล       

(3) ผู้ปกครอง     

(4) ผู้แทนโดยชอบธรรม

ตอบ 2      หน้า  137    บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ กฎหมายกำหนดให้อยู่ในความดูแลของ ผู้อนุบาลซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลตั้งขึ้นมาเพื่อให้ดูแลจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถนั้น เนื่องจากบุคคลไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมใดๆได้ จะต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน

86. คนเสมือนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย

(1) ผู้พิทักษ์         

(2) ผู้อนุบาล       

(3) ผู้ปกครอง                     

(4) ผู้แทนโดยชอบธรรม

ตอบ 1    หน้า 152    เมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ กฎหมายกำหนดให้บุคคลนั้นจะต้องอยู่ในความดูแลของ ผู้พิทักษ์ซึ่งการทำนิติกรรมบางประเภทของคนเสมือนไร้ความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

87. ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย

(1) ผู้พิทักษ์         

(2) ผู้อนุบาล       

(3) ผู้แทนโดยชอบธรรม  

(4) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3     หน้า 133   เนื่องจากผู้เยาว์เป็นบุคคลผู้อ่อนอายุ อ่อนประสบการณ์ และขาดการควบคุมสภาพจิตใจ ไม่อาจจัดการกิจการได้อย่างรอบคอบ กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองโดยกำหนดให้ผู้เยาว์จะต้องอยู่ในความดูแลของ ผู้แทนโดยชอบธรรมกล่าวคือ หากผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพัง

88. ผู้ใดมิใช่ ผู้หย่อนความสามารถตามกฎหมาย

(1) ชายมีภริยา    

(2) นายแดงอายุ 18 ปี 

(3) คนเสมือนไร้ความสามารถ 

(4) คนไร้ความสามารถ   

ตอบ 1    หน้า 133, (คำบรรยาย)   ผู้หย่อนความสามารถ คือ บุคคลบางประเภทที่กฎหมายได้จำกัดหรือตัดทอนความสามารถในการใช้สิทธิ ซึ่งมี 4 ประเภท คือ              1. ผู้เยาว์

2. คนไร้ความสามารถ             3. คนเสมือนไร้ความสามารถ      4. บุคคลวิกลจริต

89. นายมด อายุ 18 ปี ไม่สามารถทำนิติกรรมใดได้เองบ้าง

(1) ทำนิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว

(2) ทำนิติกรรมที่หลุดพ้นจากหน้าที่โดยปราศจากเงื่อนไข

(3) ทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

(4) ทำนิติกรรมที่สมควรต่อฐานานุรูปและจำเป็นต่อการดำรงเลี้ยงชีพ

ตอบ 3    หน้า 136-137    นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง ได้แก่ 1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การทำนิติกรรมรับการให้ โดยปราศจากเงื่อนไขหรือคำภาระติดพัน   2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร   3. นิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสมควร เช่น ซื้ออาหารรับประทาน ซื้อสมุดดินสอ เครื่องเรียน และปัจจัยสี่    4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นนั้น เป็นโมฆะ

90. ข้อใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง

(1) จำนอง                                                                            

(2) กู้ยืมเงิน

(3) ให้กู้ยืมเงิน                                                                   

(4) เช่าบ้านอยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 1 ปี

ตอบ 4    หน้า 138-139   คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินจากผู้พิทักษ์ก่อนมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกิน 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกิน 3 ปี (บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์)

91. ผู้ปกครองของผู้เยาว์มีได้ในกรณี

(1) ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา                                  

(2) บิดามารดาถูกถอนอำนาจการปกครอง

(3) บิดามารดาหย่าขาดจากกัน                                        

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 4   หน้า 134    ผู้ปกครองของผู้เยาว์ซึ่งจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จะมีได้ใน 2 กรณีคือ   1. ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา (กรณีบิดามารดาตายหรือไม่ปรากฏบิดามารดา)    2. บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง

92. ผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาก่อนิติสัมพันธ์

(1) มูลนิธิเด็กดี                                                   

(2) บริษัทรักษาความปลอดภัย

(3) นายแดง อายุ 21 ปี                                      

(4) ชมรมค่ายอาสาพัฒนา

ตอบ 4   หน้า 97,148-150     ผู้ที่มีสิทธิเข้าทำนิติกรรมหรือสัญญาเพื่อก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นนั้นจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา (ที่กฎหมายมิได้จำกัดความสามารถไว้) หรืออาจเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด  มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น (ชมรมค่ายอาสาพัฒนาไม่ใช่นิติบุคคลจึงไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาก่อนิติสัมพันธ์)

93. ข้อใดไม่ใช่นิติกรรม

(1) การซื้อน้ำดื่มที่ร้านขายของ                       

(2) การขอยืมเงินเพื่อน

(3) การนำเงินดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาท 

(4) การเล่นพนันฟุตบอล

ตอบ 4    หน้า 98  นิติกรรม หมายถึง การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น การซื้อของ การกู้ยืมเงิน การน้ำเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินไทย เป็นต้น (การเล่นการพนันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ถือเป็นนิติกรรม)

94. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ คือ

(1) นิติกรรมที่มีผลเป็นอันสูญเปล่าเมื่อถูกบอกล้าง

(2) นิติกรรมที่มีผลเป็นอันสูญเปล่าเมื่อถูกให้สัตยาบัน

(3) นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

(4) นิติกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบพิธีที่กฎหมายกำหนด

ตอบ 1    หน้า 105,107     นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นมาแล้วจะมีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะซึ่งจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นอันสูญเปล่าหรืออาจมีการให้สัตยาบันเพื่อให้นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้อย่างสมบูรณ์ (ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อได้ทำขึ้นมาแล้วจะมีผลเสียเปล่าใช้บังคับกันไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้ทำนิติกรรมนั้นขึ้นมาเลย และจะให้สัตยาบันก็ไม่ได้)

95. สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ ได้แก่

(1) ไม่เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนด                    

(2) เกิดจากการข่มขู่

(3) เกิดจากการสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล        

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1    หน้า 106    เหตุที่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ได้แก่

1. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

2. นิติกรรมที่ทำขึ้นไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้

3. นิติกรรมที่บกพร่องเกี่ยวกับการแสดงเจตนา เช่น นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงหรือเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นต้น

96. ข้อใดเป็นนิติกรรมที่มีสมบูรณ์

(1) นายเอจ้างนายบีให้ไปทำร้ายร่างกายนายซี

(2) นายเอกซื้อแหวนเพชรปลอมโดยถูกหลอกว่าเป็นเพชรจริง

(3) นายหนึ่งขับรถชนรถของนายสองจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสอง

(4) นายตรีเกรงใจนายโทเพราะเป็นญาติผู้ใหญ่จึงจำใจขายรถยนต์ของตนให้แก่นายโท

ตอบ 4    หน้า 107    การที่นายตรีได้ขายรถยนต์ให้แก่นายโทเพราะเกรงใจที่นายโทเป็นญาติผู้ใหญ่นั้น ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมเพราะความนับถือยำเกรง ซึ่งตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายระหว่างนายตรีและนายโทจึงมีผลสมบูรณ์

97. ข้อใดทำให้สิทธิระงับ

(1) ขาดตัวผู้ทรงสิทธิ                                         

(2) การชำระหนี้ตามกำหนด

(3) การสูญสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ                           

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4   หน้า 122-123     สิทธิอาจจะระงับได้ด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

1. การขาดตัวผู้ทรงสิทธิ     2. การระงับแห่งหนี้ เช่น การชำระหนี้ การปลดหนี้ เป็นต้น

3. การสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ      4. การระงับแห่งสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

98. ข้อใดมิใช่นิติเหตุ

(1) การเกิด          

(2) การตาย         

(3) การให้           

(4) การละเมิด

ตอบ 3    หน้า 115-117   นิติเหตุ หรือเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยอาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากพฤติการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเกิด การตาย หรืออาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยปราศจากเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย ได้แก่ การจัดการงานนอกคำสั่ง ลาภมิควรได้และละเมิด หรืออาจจะเป็นเหตุที่ได้มาตาม ป.พ.พ. ลักษณะทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยหลักส่วนควบ เป็นต้น (การให้เป็นนิติกรรม)

99. การกระทำที่เป็นโมฆียะจะมีผล คือ

(1) ให้สัตยาบันได้                            

(2) การกล่าวอ้างไม่กำหนดระยะเวลา

(3) บอกล้างไม่ได้                              

(4) ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนกล่าวอ้างได้

ตอบ 1    ดูคำอธิบายข้อ 94.ประกอบ

100. นิติกรรมที่เป็นโมฆะ หมายถึงนิติกรรมที่

(1) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย

(2) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แต่อาจได้รับสัตยาบันให้กลับสมบูรณ์ได้

(3) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกกล่าวอ้างได้

(4) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกบอกล้างได้

ตอบ 1   ดูคำอธิบายข้อ 94.ประกอบ

101. การแสดงเจตนาทำนิติกรรม ทำได้โดย

(1) เป็นลายลักษณ์อักษร  

(2) โดยวาจา       

(3) โดยกิริยาอาการ           

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4    หน้า 104   ในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้น อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง คือ กระทำด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยาย หรือในบางกรณีอาจเป็นการแสดงเจตนาโดยการนิ่งก็ได้

102. สิทธิ หมายถึง

(1) การที่บุคคลทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด           

(2) หน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

(3) ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้                                

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3     หน้า 97   สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ แบ่งออกเป็น

1. สิทธิในตัวบุคคล เช่น สิทธิในร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ความคิดเห็น

2. สิทธิในทรัพย์สิน เช่น ทรัพยสิทธิ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้

3. สิทธิในครอบครัว เช่น สิทธิในการรับมรดก

4. สิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง

103. ข้อใดมีลักษณะเป็น กฎเกณฑ์ (Norm) ของรัฐที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์

(1) การรณรงค์ให้ผู้ขับรถเมื่อเกิดอาการง่วงไม่ควรขับรถ

(2) การขอความร่วมมือให้สถานบันเทิงงดจำหน่ายสุราทุกวันพระ

(3) การวางแผนรายได้เพื่อให้คำนวณอัตราการเสียภาษีน้อย

(4) การปรับสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปิดตามเวลาที่กำหนด

ตอบ 4    หน้า 15   กรณีที่จะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ (Norm) นั้นจะต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ให้กระทำการได้หรือห้ามกระทำการ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ถือเป็นสิ่งที่ผิดและจะถูกลงโทษ เช่น ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล หรือห้ามเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น

104. ข้อใดมิใช่คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด                                          

(2) ไม่สังกัดพรรคการเมือง

(3) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี                  

(4) ถูกเฉพาะข้อ 2 และ 3

ตอบ 4    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 101 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ เช่น

1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด                              2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว… แต่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้นั้นจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่อย่างใด

105. ข้อใดมิใช่คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

(1) มีสัญชาติไทย                                                

(2) สังกัดพรรคการเมือง

(3) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป       

(4) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์

ตอบ 2      รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  มาตรา 115  กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาไว้ดังนี้  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด   2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์

3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

4. ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง

5. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

6. ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎร…

106. รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550  แก้ไขปรับปรุงใหม่ให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน

(1) 350 คน         

(2) 375 คน         

(3) 400 คน         

(4) 450 คน

ตอบ 2   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 93 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 กำหนดให้มีสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน

107. ข้อใดเป็นหลักการสำคัญในการพิจารณาคดีปกครอง

(1) ต้องฟังความทุกฝ่าย                                                                     

(2) ใช้ระบบไต่สวน

(3) ศาลต้องให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาหรือคำสั่ง                              

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4    หน้า 52  ในการพิจารณาคดีปกครองนั้นมีหลักการสำคัญได้แก่

1. การพิจารณาคดีต้องเปิดเผย                           2. ต้องฟังความทุกฝ่าย                        3. ศาลต้องให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาหรือคำสั่ง   4. ไม่เน้นระบบกล่าวหา แต่เน้นระบบไต่สวน ซึ่งเป็นระบบที่ให้ผู้พิพากษามีบทบาทในการแสวงหาความจริงแห่งคดี

108. ข้อใดมิใช่สาระสำคัญของกฎหมายอาญา

(1) ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ        

(2) กฎหมายอาญาย้อนหลังลงโทษไม่ได้

(3) ตีความกฎหมายขยายความลงโทษได้      

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3    หน้า 54,90  สาระสำคัญทางกฎหมายอาญา ได้แก่        1. ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้นๆไว้ด้วย                              2. ต้องเป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะซึ่งเกิดการกระทำนั้น     3. ต้องไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษหรือเพิ่มโทษบุคคลให้หนักขึ้นเป็นอันขาด แต่อาจย้อนหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดได้

4. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด และจะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้

109. ข้อใดเป็นลักษณะของกฎหมายเอกชน

(1) วิธีการต้องอาศัยความสมัครใจ                 

(2) วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน

(3) เนื้อหาใช้กับเอกชนเฉพาะราย                

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4     หน้า 44-45   กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้กับนิติสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ก่อนิติสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากยึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยเอกชนสามารถตกลงผูกพันกันเป็นอย่างอื่นนอกเหนือกฎหมายเอกชนบัญญัติไว้ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้กฎหมายเอกชนมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กับบุคคลเฉพาะราย และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน

110. ผู้เสียหาย หมายถึง

(1) ผู้ที่ถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่ากระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง

(2) ผู้ที่ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย      

(3) ผู้ที่กระทำความผิด             

(4) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) “ผู้เสียหายหมายความถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4,5 และ 6

111. ข้อใดมิใช่สาขาย่อยในกฎหมายมหาชน

(1) รัฐธรรมนูญ 

(2) กฎหมายมรดก             

(3) กฎหมายครอบครัว

(4) ถูกเฉพาะข้อ 2 และ 3

ตอบ 4    หน้า 44-47,50,53  กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น (กฎหมายมรดกและกฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายแพ่ง)

112. ข้อใดคือลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจทางปกครอง

(1) มีการแยกหน่วยงานเป็นองค์กรนิติบุคคล                   

(2) มีอิสระที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

(3) มีการเลือกตั้งผู้บริหารของตนเอง                                

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4     หน้า 51    ลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจทางปกครอง คือ

1. มีการแยกหน่วยงานออกไปเป็นองค์กรนิติบุคคลอิสระจากองค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง     2. องค์กรของราชการบริหารส่วนท้องถิ่นจะประกอบด้วยผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในท้องถิ่น     3. องค์กรตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองมีอำนาจด้วยตนเอง คือ มีความอิสระที่จะดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ได้เองโดยไม่ต้องรับคำสั่งหรืออยู่ใต้บังคับจากราชการส่วนกลาง มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง

113. ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

(1) บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้ใช้นามสกุล 

(2) บุตรบุญธรรมได้จดทะเบียน

(3) บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ได้จดทะเบียนสมรส            

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4    หน้า 173-174   ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทชั้นบุตรที่จะมีสิทธิรับมรดกนั้นหมายถึงบุคคล 3 ประเภท คือ  1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน

2. บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา เป็นต้น   3. บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว

114. คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ เช่นนี้ พินัยกรรมจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

(1) สมบูรณ์                                                         

(2) ตกเป็นโมฆียะ

(3) ตกเป็นโมฆะ                               

(4) จะสมบูรณ์หากได้รับอนุญาตจากศาลด้วย

ตอบ 1    หน้า 177   คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เพราะพินัยกรรมที่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม หรือวางเงื่อนไขไว้แต่อย่างใด

115. คดีอุทลุม คือ คดีลักษณะใด

(1) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องลุงเป็นคดีอาญา     

(2) คดีที่ห้ามมิให้คู่สมรสฟ้องกันเป็นคดีอาญา

(3) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องร้องยายเป็นคดีแพ่ง   

(4) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องร้องอาเป็นคดีแพ่ง

ตอบ 3    หน้า 168   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ หากฟ้องจะถือว่าเป็นคดีอุทลุม ซึ่งบุพการีของตนก็คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด นั่นเอง (อา ลุง และคู่สมรสไม่ใช่บุพการี)

116. เหตุใดประเทศไทยจึงจำต้องพัฒนาระบบกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5

(1) มีการกบฏบวรเดช                                       

(2) มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

(3) ชาวต่างชาติขอสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต   

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3    หน้า 224    ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศตะวันตกไม่พอใจกฎหมายไทย และเริ่มใช้อิทธิพลก่อตั้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยตั้งศาลของตนเองขึ้นในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยต้องพยายามหาทางแก้ ซึ่งมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องปรับปรุงระบบกฎหมายและการศาลไทยให้อยู่ในระดับที่ต่างประเทศยอมรับ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้จัดให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือปฏิรูปกฎหมายและการศาลไทยขึ้นจนประสบความสำเร็จ

117. นายดำและนางแดงร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรส โดยนายดำลงทุน 100,000 บาท และนางแดงลงทุน 200,000 บาท ตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสและเมื่อจดทะเบียนสมรสก็ยังคงร่วมกันลงทุนตลอดมา เช่นนี้กิจการร้านเสริมสวยถือว่าเป็นทรัพย์ลักษณะใด

(1) สินส่วนตัว                   

(2) สินสมรส      

(3) สินบริคณห์  

(4) สินน้ำใจ

ตอบ 1    หน้า 162  สินส่วนตัว ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส กล่าวคือ ทรัพย์สินทุกชนิดที่ชายหญิงมีอยู่หรือได้มาก่อนวันจดทะเบียนสมรส

2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา(กิจการร้านเสริมสวยดำเนินมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของทั้งนายดำและนางแดงตามสัดส่วนของเงินลงทุน)

118. กรณีใดต่อไปนี้ที่คู่สมรสไม่ต้องจัดการร่วมกัน

(1) การขายอสังหาริมทรัพย์                                            

(2) ให้กู้ยืมเงิน

(3) การทำพินัยกรรม                                                         

(4) ขายฝาก

ตอบ 3    หน้า 163   นิติกรรมบางประเภทที่เกี่ยวกับสินสมรสนั้นกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสจะต้องจัดการร่วมกันได้หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 เช่น การขายฝากหรือขายฝากอสังหาริมทรัพย์ การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น ส่วนนิติกรรมอื่นนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 1476 กำหนดไว้ คู่สมรสก็ไม่จำเป็นต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนแต่อย่างใด เช่น การทำพินัยกรรม การโอนสิทธิการเช่า เป็นต้น

119. นายเหลืองจดทะเบียนสมรสกับนางศรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นางศรีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดโดยไม่ได้อยู่กินกัน เช่นนี้การสมรสนั้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างใด

(1) โมฆะ            

(2) โมฆียะ          

(3) สมบูรณ์         

(4) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ตอบ 1    หน้า 159   การจดทะเบียนสมรสกันหลอกๆ โดยไม่มีเจตนาที่จะอยู่กินกันฉันสามีภริยา เช่น จะทะเบียนเพื่อให้คู่สมรสมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด หรือจดทะเบียนเพื่อให้สัญชาติย่อมถือว่าเป็นการสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรส การสมรสนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะ (ดูคำอธิบายข้อ 65.ประกอบ)

120. นางแดงจดทะเบียนสมรสกับนายหนึ่ง ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสอง ต่อมานางแดงตั้งครรภ์และคลอดบุตร คือ ด.ญ.พลอย เช่นนี้ ด.ญ.พลอยเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด

(1) นางแดงและนายหนึ่ง                               

(2) นางแดง

(3) นางแดงและนายสอง                                

(4) นางแดง นายสอง และนายหนึ่ง

ตอบ 3    (คำบรรยาย)     บุตรย่อมเป็นบุตรที่ชอบธรรมของมารดาเสมอ และในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 (สมรสซ้อน) เด็กที่เกิดมากฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนครั้งหลัง (ป.พ.พ. มาตรา 1538)

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2546

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ก.  ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      นายสีป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก  เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครสวรรค์  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้แก่นายแสงซึ่งอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง  ในราคา  สามล้านบาท  โดยนายสีได้ระบุไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า  ข้อเสนอนี้มีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  หลังจากที่นายสีส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้  5  วัน  นายสีถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  การแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินของนายสีมีผลในกฎหมายประการใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น  ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย หลักกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

1       ตายหรือ

2       ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือ

3       ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

มาตรา  360 บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง…

วินิจฉัย

มาตรา  169  วรรคสอง  ซึ่งได้อธิบายในข้อ  ก  นั้น  มีข้อยกเว้น  2  กรณี  ตามที่บัญญัติไว้ใน  มาตรา  360  ซึ่งกรณีหนึ่ง  คือ  ในการแสดงเจตนาทำคำเสนอ  ถ้าผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ว่าหากภายหลังจากที่ได้แสดงเจตนาทำคำเสนอไปแล้ว  ผู้เสนอตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  ให้คำเสนอของเขาเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป  ก็ให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง

นายสีซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายที่ดินด้วยว่า  คำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ดังนั้นเมื่อนายสีถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายที่ดินไปแล้ว  จึงมีผลให้คำเสนอขายที่ดินของนายสีเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป  ไม่มีผลผูกพันนายสีอีกต่อไป

 

ข้อ  2  คนไร้ความสามารถเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  175

ถามว่า  คนไร้ความสามารถนั้นจะใช้สิทธิบอกล้างได้เมื่อใด  และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาใด  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  175  โมฆียะกรรมนั้น  บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว…มาตรา  179  การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น  จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ… จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  คนไร้ความสามารถจะใช้สิทธิบอกล้างได้  เมื่อพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  ตามมาตรา  175(2)  กล่าวคือ  เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการเป็นคนไร้ความสามารถ  และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา  181  กล่าวคือ  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลา  1  ปี  นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  ส่วนเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ของคนไร้ความสามารถนอกจากกรณีต้องพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  อันเป็นเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว  ตามมาตรา  179  วรรคหนึ่ง  คนไร้ความสามารถนั้นยังต้องได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมที่ตนเองทำขึ้นด้วย  ตามมาตรา  179  วรรคสอง  กำหนดระยะเวลา  1  ปี  จึงเริ่มนับเมื่อนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม  คนไร้ความสามารถจะบอกล้างโมฆียกรรมมิได้  เมื่อพ้นเวลา  10  ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

 

ข้อ  3  ก.  การนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไป  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/12  ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด  จงอธิบาย

ข.      เมื่อวันที่  3  กุมภาพันธ์  2547  นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำจำนวน  50,000  บาท  ดังนี้  อยากทรายว่าอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด  ในกรณีดังต่อไปนี้ 

1)    นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา

2)    นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระคืนได้เมื่อนั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  193/12  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/3  วรรคสอง  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็น…ปี… มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…

วินิจฉัย

การเริ่มนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามมาตรา  193/12  แยกออกได้เป็น  2  กรณีคือ

1       กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใดอายุความก็เริ่มนับตั้งแต่เมื่อนั้น  กล่าวคือ

1)    สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งมีกำหนดเวลาชำระหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้ (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตาม ป.พ.พ.  193/3 วรรคสอง)

2)    สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้  ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน  ในกรณีเช่นนี้อายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตาม ป.พ.พ.  193/3 วรรคสอง)

2       กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น  ในกรณีที่นิติกรรมกำหนดให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  หากลูกหนี้ฝ่าฝืนข้อกำหนดในนิติกรรมอายุความเริ่มนับตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับดังนี้

1       นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  การทำสัญญากู้รายนี้มีกำหนดเวลาชำระหนี้  นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ตั้งแต่วันที่หนี้ถึงกำหนด  1  ปี  คือวันที่  3  กุมภาพันธ์  2548  อายุความจึงเริ่มนับ  (ตามมาตรา  193/12) ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น  คือวันที่  4  กุมภาพันธ์  2548  (ตามมาตรา  193/3 วรรคสอง)

2       นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระ  การตกลงเช่นนี้เป็นการทำสัญญากู้โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรมคือวันที่  3  กุมภาพันธ์  2547  (ตามมาตรา  193/12)  และให้เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น  คือวันที่  4  กุมภาพันธ์  2547  (ตาม มาตรา  193/3  วรรคสอง)

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  11  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2547  นายพิชิตได้ไปที่สำนักงานบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  และได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทว่า  ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  ต่อมาอีกสามวัน  นายพิชัยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  ได้ทำหนังสือตอบไปยังนายพิชิตว่า  บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่ท่านจำนวนตามที่ท่านเสนอ  ราคาตันละ  80,000  บาท  ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน  ดังนี้  สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  เกิดขึ้นอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะ  2  ประการคือ

1       เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2       มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที

วินิจฉัย

นายพิชิตได้แสดงเจตนาโดยอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัท  สินแร่ไทยจำกัดว่า  ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ”  การแสดงเจตนาในส่วนแรกที่ว่าข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ  80  ตัน  เป็นข้อความที่ไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นคำเสนอ  แต่ข้อความในส่วนต่อไปที่ว่า  แต่จะซื้อในงวดแรกก่อน  20  ตัน  เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และมีความมุ่งหมายว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งสนองตอบตกลง  สัญญาเกิดขึ้นทันที  ข้อความในส่วนหลังนี้จึงเป็นคำเสนอของนายพิชิตซึ่งเสนอซื้อแร่ดีบุกจาก  บริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  จำนวน  20  ตัน  เมื่อนายพิชัยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  ได้ทำหนังสือตอบตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่นายพิชิตเต็มจำนวนตามที่นายพิชิตเสนอ  จึงเกิดสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท  สินแร่ไทย  จำกัด  จำนวน  20  ตัน

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  พิชิตสมรู้กับพิชัยทำสัญญากันหลอกๆ  ว่าพิชิตขายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่พิชัยในราคา  30,000  บาท  พิชิตได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชัย  แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง  

ต่อมาอีก  7  วัน  พิชัยเอารถจักรยานยนต์คันนั้นไปขายแก่ไพรัชในราคา  29,000  บาท  โดยไพรัชไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าพิชิตมิได้ขายรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่พิชัยจริงๆ  เช่นนี้  ถ้าพิชิตเรียกร้องให้ไพรัชนำเอารถจักรยานยนต์คันนั้นมาส่งคืนให้แก่ตน  ไพรัชต้องส่งคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคหนึ่ง  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

พิชิตกับพิชัยสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่าพิชิตขายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งให้แก่พิชัย  สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างพิชิตกับพิชัยจึงเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  155  วรรคหนึ่งตอนต้น  ต่อมาอีก  7  วัน  พิชัยเอารถจักรยานยนต์คันนั้นไปขายแก่ไพรัช  

โดยไพรัชไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าพิชิตมิได้ขายรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่พิชัยจริงๆ  กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าไพรัชเป็นบุคคลภายนอกซึ่งกระทำการโยสุจริต  และถ้าไพรัชต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิต  ไพรัชต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงของพิชิตกับพิชัย  เพราะไพรัชได้หลงซื้อรถจักรยานยนต์คันนั้นต่อจากพิชัยไว้ในราคา  29,000  บาท  ไพรัชจึงเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม  มาตรา  155  วรรคหนึ่งตอนท้าย

ดังนั้น  ถ้าพิชิตเรียกร้องให้ไพรัชนำเอารถจักรยานยนต์คันนั้นส่งคืนให้แก่ตน  ไพรัชจึงไม่ต้องส่งคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิต

 

ข้อ  2  ก. ต้องการซื้อแหวนเพชร  จึงไปที่ร้านขายแหวนเพชรแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของ  ข.  ก.  เลือกแหวนเพชรที่  ข.  นำมาเสนอขาย  ก.  ชอบแหวนเพชรวงหนึ่งจึงถาม  ข.  ว่า  แหวนวงนี้ราคาเท่าไร  ข.  ตอบว่าราคา  100,000  บาท  ก.  ถามว่า  แหวนวงนี้เพชรมีตำหนิหรือไม่  ข.  ตอบว่าไม่มีตำหนิ  ก.  จึงตกลงซื้อ  ต่อมา  อีก  10  วัน  ก.  เอาแหวนเพชรวงนั้นให้  ค.  ดู  ค.  ใช้เลนส์ขยายส่องดูพบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีรอยขีดข่วนเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  อย่างไรก็ตามถึงแม้  ก.  ทราบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีรอนขีดข่วนเล็กน้อยเช่นนั้น  ก.  ก็ซื้อ  แต่จะซื้อในราคาเพียง  80,000  บาทเท่านั้น  เช่นนี้  ก.  จะบอกล้างสัญญาซื้อขายแหวนเพชรวงนั้นได้หรือไม่  หรือมีสิทธิเรียกร้องอย่างใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  161  ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ  คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่  แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

ข  ขายแหวนเพชรวงหนึ่งแก่  ก  ในราคา  100,000  บาท  โดยหลอกลวง  ก  ว่าแหวนเพชรวงนั้นไม่มีตำหนิ  แต่ความจริงเพชรของแหวนวงนั้นมีตำหนิเป็นรอยขีดข่วนเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามถึงแม้  ก  ทราบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีตำหนิเล็กน้อยเช่นนั้น  ก  ก็ซื้อ  แต่จะซื้อในราคาเพียง  80,000  บาท  กรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่  ข  ทำกลฉ้อฉลจูงใจให้  ก  ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่  ก  จะยอมรับโดยปกติคือ  ซื้อแพงกว่าที่จะซื้อโดยปกติไป  20,000  บาท

ดังนั้น  ก  จะบอกล้างสัญญาซื้อขายแหวนวงนั้นไม่ได้  แต่  ก  มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจาก  ข  ได้  20,000  บาท  

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  5  มกราคม  2537  นายแดงกดเงินจากนายเขียวจำนวน  200,000  บาท  ตกลงกำหนดดอกเบี้ยร้อยละ  12  ต่อปี  กำหนดชำระคืนภายในวันที่  5  เมษายน  2537  เมื่อถึงกำหนดชำระนายแดงไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียวเลยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  นายเขียวได้ทวงถามตลอดมา  นายแดงก็ยังไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว  จนกระทั่งวันที่  20  มีนาคม  2547  นายแดงได้นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว  10,000  บาท  และกล่าวแก่นายเขียวว่าเงินส่วนที่ยังค้างอยู่จะนำมาชำระให้ในภายหลัง  แต่หลังจากนั้นนายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระอีกเลย  นายเขียวจึงนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่  20  เมษายน  2547  นายแดงต่อสู้ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้เพราะคดีขาดอายุความแล้ว  นายเขียวอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2547  อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/30  บัญญัติว่า  อายุความนั้นถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

ธงคำตอบ

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  193/14  อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

วินิจฉัย 

นายแดงกู้เงินนายเขียวจำนวน  200,000  บาท  กำหนดชำระคืนภายในวันที่  5  เมษายน  2537  แต่นายแดงไม่นำเงินมาชำระแก่นายเขียวเลย  อายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืนกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โยเฉพาะ  จึงถือว่ามีกำหนดสิบปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระ  ซึ่งจะขาดอายุความเมื่อพ้นวันที่  5  เมษายน  2547

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่  20  มีนาคม  2547  ซึ่งเหลือเวลาอีก  15  วัน  จึงจะครบกำหนดสิบปีนายแดงได้นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว  10,000  บาท  การกระทำของนายแดงเช่นนี้เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้บางส่วน  เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2547  และเริ่มนับอายุความให้ตั้งแต่เวลานั้น  นายเขียวฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่  20  เมษายน  2547  ซึ่งเป็นเวลาเพียง  1  เดือนนับแต่เริ่มนับอายุความใหม่  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้  เพราะคดีขาดอายุความแล้ว  จึงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  4   ก.  หลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีอย่างไรบ้าง  อธิบายโดยสังเขป

ข.      ก.  ตกลงซื้อรถยนต์คันหนึ่งจาก  ข.  ราคา  400,000  บาท  เมื่อวันที่  20  มกราคม  2547  กำหนดส่งมอบ  รถยนต์และชำระเงินราคารถยนต์กันในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2547  ก่อนถึงวันกำหนดนัดปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดเอารถยนต์คันนั้นสูญหายไป  ข.  จึงไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่  ก.  ได้  ดังนี้  ก.  ต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่  ข.  เพียงใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

อธิบาย  จากหลักกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีดังนี้

หลักทั่วไป   คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในทันที  ในการนี้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้

ข้อยกเว้น  หลักทั่วไปดังกล่าวมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา  370  วรรคหนึ่ง  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย 

การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งระหว่าง  ก  กับ  ข  เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  หลังจากตกลงทำสัญญากันแล้วปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดเอารถยนต์คันนั้นสูญหายไป  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษ  ข  ซึ่งเป็นลูกหนี้  (ในอันที่จะส่งมอบรถยนต์) มิได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่  ก  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้  (ในอันที่จะได้รับมอบรถยนต์)

ดังนั้น  ถึงแม้  ข  ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่  ก  ได้  ก  ก็ยังต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่  ข  เต็มจำนวนตามสัญญาคือ  400,000  บาท

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ก. เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      นายแดงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร  ให้แก่นายเหลืองซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกในราคาสามล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  7  วัน  
นายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายเหลืองได้ทราบข่าวว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้น  นายเหลืองจึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายแดง  ณ  ที่อยู่ของนายแดง  นางเขียวภรรยาของนายแดงได้รับจดหายดังกล่าวไว้  ดังนี้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงกับนายเหลืองเกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด
 

ธงคำตอบ

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ


อธิบาย  จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ถึงแม้ต่อมาผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไปการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง  หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย  หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัยปรากฏว่าก่อนที่นายเหลืองจะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายแดง  นายเหลืองได้รู้อยู่แล้วว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  กรณีจึงต้องตามข้อยกเว้นในมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  169  วรรคสองมาใช้บังคับ  การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายแดงจึงเสื่อมเสียไปกรณีดังกล่าวนี้  จึงไม่มีคำเสนอของนายแดง  มีแต่เพียงคำสนองของนายเหลือง  ถึงแม้ว่านางเขียวภรรยาของนายแดงได้รับจดหมายคำสนองของนายเขียวไว้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงกับนายเหลืองก็ไม่เกิดขึ้น

ข้อ  2  ให้นักศึกษาอธิบายการแสดงเจตนาเนื่องจากการถูกข่มขู่มาโดยละเอียด  พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ลักษณะของการข่มขู่

มาตรา  164  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น  จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น  การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

จากมาตรา  164  วรรคสอง  การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่มีลักษณะดังนี้

1       เป็นการข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัย  อาจเป็นภัยแก่ตัวผู้ถูกข่มขู่  หรือบุคคลในครอบครัว  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

2       ภัยที่ข่มขู่ว่าจะเกิดขึ้นนั้นต้องเป็นภัยอันใกล้จะถึง  ภัยนั้นกำลังจะเกิดขึ้น  และผู้ถูกข่มขู่ไม่สามารถหาทางหลีกเลี่ยงป้องกันได้

3       ภัยที่ข่มขู่นั้นต้องร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำนั้น

กรณีที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

มาตรา  165  การข่มขู่จะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง  ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

แยกอธิบายดังนี้

1       การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  หมายความว่าการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเข้าใช้กัน  เช่น  เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้  ถ้ายังไม่ชำระก็ให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้  มิฉะนั้นจะฟ้องเรียกเงินกู้ต่อศาล

2       การที่ได้กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง  หมายถึง  ความเคารพระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่  เช่น  บุตรกับบิดามารดา  เป็นต้น

ทั้งสองกรณีนี้ไม่ถือเป็นการข่มขู่  แม้ผู้แสดงเจตนาจะเกิดความกลัวก็ตาม

ผลของการข่มขู่

มาตรา  166  การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ  แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

จากมาตรา  164  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  166  การข่มขู่มีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ  ไม่ว่าการข่มขู่จะมาจากคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง  หรือจากบุคคลภายนอกก็ตาม

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  15  มกราคม  2537  นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์  จำนวน  300,000  บาท  โดยมีนายพุธเป็นผู้ค้ำประกัน  การกู้เงินรายนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน  เพียงแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายจันทร์ต้องการเงินคืนเมื่อใดให้ทวงถามก่อน  หลังจากกู้เงินไปได้  3  เดือน  นายจันทร์ได้ทวงถามให้นายอาทิตย์ชำระเงินตลอดมา  แต่นายอาทิตย์ก็ไม่นำเงินมาชำระ  จนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง  10  ปี  ได้สิ้นสุดลง

ต่อมาวันที่  3  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ได้รับมรดกจากป้าเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท  จึงได้แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่นายจันทร์  จำนวน  50,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง  นายจันทร์ได้ให้นายอาทิตย์ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตน  1  ฉบับ  มีใจความว่า  นายอาทิตย์จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่นายจันทร์อีก  100,000  บาท  ในวันที่  30  มกราคม  2548  ดังนี้อยากทราบว่า

ก.      ถ้านายอาทิตย์มาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว  50,000  บาท  คืนจากนายจันทร์ได้หรือไม่  จงอธิบาย

ข.      เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่  30  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์และนายพุธได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/28  การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง  ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ…แต่จะอ้างความข้อนี้เป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้

วินิจฉัย

การที่นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์จำนวน  300,000  บาท  และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เลย  จนกระทั่งอายุความ  10  ปีได้สิ้นสุดลง  นายอาทิตย์จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์จำนวน  50,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  ตามหลักการชำระหนี้  ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นแล้ว  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม  เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับหรือดับสูญไป  เมื่อหนี้นั้นได้ชำระไปแล้วตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้น  นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว  50,000  บาท  คืนจากนายจันทร์ไม่ได้

 



เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระในวันที่  30  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์ได้  เพราะเมื่อหนี้ขาดอายุความแล้วแม้นายอาทิตย์จะไม่ทราบ  แต่นายอาทิตย์ก็ได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หนังสือรับสภาพความรับผิดนั้นย่อมใช้บังคับได้
ข้อ  4  นายสมบูรณ์เขียนจดหมายถึงนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  มีข้อความว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น  ข้าพเจ้าประสงค์จะซื้อแร่ดีบุกจากบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวนประมาณ  100  ตัน  แต่จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน  ที่เหลือจะมาขอซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  100  ตัน”  นายดำเกิงทำจดหมายตอบไปยังนายสมบูรณ์ว่า  “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกแก่ท่านตามที่ท่านเสนอมา”  เช่นนี้  สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายสมบูรณ์กับบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  เกิดขึ้นหรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาที่จะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และ

(2) มีความมุ่งหมายว่าถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที

วินิจฉัย

นายสมบูรณ์เขียนจดหมายแสดงเจตนาไปยังนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  มีข้อความว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น  ข้าพเจ้าประสงค์จะซื้อแร่ดีบุกจากบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวนประมาณ  100  ตัน  แต่จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน  ที่เหลือจะมาขอซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  100  ตัน”  เป็นข้อความที่ยังไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นคำเสนอ  แต่เป็นเพียงคำปรารภว่าจะทำสัญญาเท่านั้น

ส่วนข้อความในจดหมายของนายสมบูรณ์ที่ว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น… จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน”  เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และเป็นที่เห็นได้ว่านายสมบูรณ์ผู้แสดงเจตนามีความมุ่งหมายว่าถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที  จึงเป็นคำเสนอซื้อแร่ดีบุก  10  ตัน  ราคาตันละ  60,000  บาท

เมื่อนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  ทำจดหมายตอบไปยังนายสมบูรณ์ว่า  “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกแก่ท่านตามที่ท่านเสนอมา”  จึงมีผลให้เกิดสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่าง  นายสมบูรณ์กับบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวน  10  ตัน  ราคาตันละ  60,000  บาท

WordPress Ads
error: Content is protected !!