LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เมฆครอบครองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของฝนมาเป็นเวลากว่า  10  ปี  โดยไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดจนมาถึงปีที่  15  ฝนได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้พายุ  โดยพายุไม่มีเวลาไปดูที่ดินที่จะซื้อจึงไม่รู้ว่าเมฆครอบครองอยู่  หลังจากจดทะเบียนซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว พายุนัดหมายนายดำผู้รับเหมาก่อสร้างไปดูที่ดินที่ซื้อจากฝนเพื่อตกลงเรื่องการปลูกบ้าน  เมื่อไปดูที่ดินพบเมฆครอบครองอาศัยอยู่จึงแจ้งให้เมฆขนย้ายรื้อถอนบ้านออกไป  แต่เมฆไม่สนใจ  พายุจึงปรึกษาทนายความ

ถ้าท่านเป็นทนายความ  จงให้คำแนะนำพายุว่าระหว่างพายุและเมฆ  ใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

เมฆครอบครองที่ดินของฝนมากว่า  10  ปีจึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์  เป็นการได้มาตามวรรคสองของมาตรา  1299  แต่เมื่อไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน  จึงอาจมีสิทธิด้อยกว่าบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

พายุซื้อที่ดินจากฝนโดยไม่เคยไปดูที่ดินก่อนซื้อจึงไม่รู้ว่าเมฆครอบครองปรปักษ์อยู่  แต่การซื้อขายที่ดินนั้นมีหลายรายที่ไม่เคยไปดูที่ก็ทำการซื้อขายกัน  จึงเป็นการซื้อที่สุจริต  ดังนั้นพายุจึงเป็นบุคคลภายนอกที่ได้ที่ดินมาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต  สิทธิของพายุจึงดีกว่าเมฆ

สรุป  พายุมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่าเมฆ

 

ข้อ  2  นางแตนเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายขวัญให้ออกไปจากที่ดินมีโฉนดของนางแตน  แต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายขวัญเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์  แต่นายขวัญยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดให้เป็นชื่อของนายขวัญ  ต่อมานางแตนได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้กับนางเรียม  โดยนางเรียมไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างนายขวัญกับนางแตนมาก่อน  ภายหลังจากจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยแล้ว

นางเรียมจึงรู้เรื่องคำพิพากษาที่ให้นายขวัญมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์  ต่อมาอีกห้าเดือนนางเรียมเสนอขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายขวดในราคาหนึ่งล้านบาท  แต่ก่อนจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กัน  นายขวดรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายขวัญ  

นายขวดจึงต่อรองขอลดราคาลงเหลือเก้าแสนบาท  นางเรียมตกลงทำสัญญา  และจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้นายขวดในราคาเก้าแสนบาทตามที่นายขวดเสนอ  หลังจากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเรียบร้อยแล้ว  นายขวดต้องการฟ้องขับไล่นายขวัญให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้น

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายขวัญกับนายขวดผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน  และนายขวดจะฟ้องขับไล่นายขวัญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

การที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายขวัญเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์  ทำให้นายขวัญเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนางแตนโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคสอง  แต่การที่นายขวัญยังไม่ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดให้เป็นชื่อนายขวัญ  จึงทำให้นายขวัญไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้บุคคลอื่นได้  และไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน  โดยสุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

ต่อมานางแตนได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้กับนางเรียม  โดยนางเรียมไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างนายขวัญกับนางแตนมาก่อน  กรณีนี้ถือว่านางเรียมเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทน  โดยสุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว นางเรียมจึงมีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายขวัญ  ส่วนการที่นางเรียมขายที่ดินต่อให้นายขวด  แต่ก่อนจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กัน  นายขวดรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายขวัญ  ดังนี้แม้นายขวดจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริตก็ตาม  นายขวดก็ยังมีสิทธิในที่ดินดีกว่านายขวัญ  เพราะสิทธิในที่ดินของนายขวัญสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ที่นางเรียมได้สิทธิไปโดยมีค่าตอบแทน  โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว  ถ้านายขวัญยังต้องการจะได้สิทธิในที่ดินแปลงนี้อีก  นายขวัญจะต้องเริ่มครอบครองปรปักษ์ใหม่นับแต่ที่นางเรียมซื้อที่ดินจากนางแตนดังกล่าวแล้วข้างต้น

 

ข้อ  3  นายมีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งที่ดินทางทิศเหนือของนายมีติดกับที่ดินของนายมาได้ภารจำยอมจดทะเบียนไว้แล้วในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายมาเพื่อออกสู่สาธารณะ  ต่อมานายมีได้ต้องการจะแบ่งที่ดินแปลงนั้นของตนในส่วนทางทิศใต้ซึ่งไม่ติดกับที่ดินของนายมาขายให้กับนายแมน

เมื่อนายมาทราบจึงได้เจรจาตกลงกับนายมีว่าถ้านายมีแบ่งที่ดินแปลงนั้นออกขายขอให้ที่ดินแปลงที่แบ่งออกไปทางทิศใต้ที่ไม่ติดกับที่ดินของตนพ้นจากภารจำยอม  นายมีก็ตกลงยินยอมด้วย  แต่เมื่อแบ่งที่ดินขายให้นายแมนแล้ว  นายมีกลับตกลงกับนายแมนทำถนนเชื่อมต่อระหว่างที่ดินของนายมาผ่านที่ดินของนายมีไปยังที่ดินส่วนที่แบ่งขายให้นายแมน  เมื่อนายมาทราบจึงได้ห้ามมิให้นายแมนใช้ทางผ่านที่ดินของตน

เพราะตนกำลังจะขอเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินที่นายแมนซื้อจากนายมีตามที่ตกลงไว้กับนายมี  ให้ท่านวินิจฉับว่านายมาจะขอเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายแมนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1394  ถ้ามีการแบ่งแยกภารยทรัพย์  ท่านว่าภารจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก  แต่ถ้าในส่วนใดภารจำยอมนั้นไม่ใช้  และใช้ไม่ได้ตามรูปการ  ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นจะเรียกให้พ้นจากภารจำยอมก็ได้

วินิจฉัย

นายมีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งที่ดินทางทิศเหนือของนายมีที่ติดกับที่ดินของนายมาได้ภารจำยอมจดทะเบียนไว้แล้วในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายมาเพื่อเข้าออกสู่สาธารณะ  ต่อมานายมีได้ต้องการจะแบ่งที่ดินแปลงนั้นของตนในส่วนทางทิศใต้ซึ่งไม่ติดกับที่ดินของนายมาขายให้กับนายแมน  เมื่อนายมาทราบจึงได้เจรจาตกลงกับนายมีว่า  ถ้านายมีแบ่งที่ดินแปลงนั้นออกขายขอให้ที่ดินแปลงที่แบ่งออกไปทางทิศใต้ที่ไม่ติดกับที่ดินขอตนพ้นจากภาร

จำยอม  นายมีก็ตกลงยินยอมด้วย  แต่เมื่อแบ่งที่ดินขายให้นายแมนแล้ว  นายมีกลับตกลงกับนายแมนทำถนนเชื่อมต่อระหว่างที่ดินของนายมาผ่านที่ดินของนายมีไปยังที่ดินส่วนที่แบ่งขายให้นายแมน  เมื่อนายมาทราบจึงได้ห้ามมิให้นายแมนใช้ทางผ่านที่ดินของตน  เพราะตนกำลังจะขอเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินที่นายแมนซื้อจากนายมีตามที่ตกลงไว้กับนายมีนั้น  นายมาจะขอเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายแมนไม่ได้  ส่วนที่ดินของนายแมนที่แบ่งไปนั้นยังคงใช้ภารจำยอมบนที่ดินของนายมีได้  เพราะข้อตกลงระหว่างนายมีกับนายมาไม่ได้จดทะเบียนเพิกถอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

 

ข้อ  4  นายส้มครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งร่วมกับนายแสด  เมื่อครอบครองไปได้หนึ่งปีนายแสดได้ตกลงขายส่วนของตนให้นายส้ม  แต่ในเวลาเดียวกันนายแสดกลับไปยื่นขอออก  น.ส.3  ไว้โดยนายส้มไม่ทราบ  ต่อมาเจ้าพนักงานได้ออก  น.ส.3  เป็นชื่อของนายแสด นายแสดจึงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายสมชาย  โดยนายแสดบอกนายสายว่านายส้มเช่าที่ดินแปลงนี้ของตนและสัญญาเช่าเหลืออีกหนึ่งปีเมื่อครบสัญญา  นายสายสามารถให้นายส้มออกไปจากที่ดินแปลงนี้ได้  เมื่อนายสายรับโอนมาได้หนึ่งปีจึงได้ฟ้องขับไล่นายส้มออกจากที่ดินแปลงนี้  พร้อมกับยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้จากเจ้าพนักงาน  โดยนายส้มไม่ได้คัดค้านเพราะไม่ทราบว่านายสายได้ยื่นขอออกโฉนดจากเจ้าพนักงานไว้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายส้มกับนายสายใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง

วินิจฉัย

นายส้มครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งร่วมกับนายแสด  เมื่อครอบครองไปได้หนึ่งปีนายแสดได้ตกลงขายส่วนของตนให้นายส้ม  จึงถือว่านายแสดสละเจตนาการครอบครองตามมาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  การครอบครองของนายแสดย่อมสิ้นสุดลง  นายส้มจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นแต่เพียงผู้เดียว  ตามมาตรา  1367  แม้นายแสดจะไปขอออก  น.ส.3  แต่ไม่ได้ยึดถือครอบครอง  การครอบครองของนายแสดย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายส้ม  เมื่อนายแสดจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนั้นให้นายสาย  นายสายจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายส้ม  แม้นายส้มจะรับโอนการครอบครองที่ดินแปลงนั้นมาจากนายแสดได้  1  ปี  แต่นายสายไม่เข้าครอบครองยึดถือทรัพย์สิน  จึงยังไม่ถือว่านายสายแย่งการครอบครองจากนายส้ม

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  คำแท้กับน้ำผึ้งทำสัญญากันเอง  โดยคำแท้อนุญาตให้น้ำผึ้งอาศัยอยู่ในบ้านของคำแท้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และไม่มีการกำหนดระยะเวลาแต่อย่างใด  เมื่อน้ำผึ้งเข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าว  น้ำผึ้งได้ต่อเติมห้องใหม่ขึ้นอีกหนึ่งห้องเพื่อใช้เป็นห้องนอนโดยไม่ได้บอกกล่าวคำแท้แต่อย่างใด

ต่อมาอีก  1  ปี  คำแท้ถึงแก่ความตาย  คำนางบุตรของคำแท้ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพร้อมกับบ้านหลังดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรม  ต่อจากนั้นคำนางได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินพร้อมบ้านหลังนั้นให้กับแสงดาว  โดยแสงดาวไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งมาก่อน  หลังจากนั้นแสงดาวได้แจ้งให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านหลังนี้  น้ำผึ้งจึงอ้างสิทธิตามสัญญาที่ตนทำไว้กับคำแท้

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าแสงดาวจะให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านหลังดังกล่าวได้หรือไม่  และถ้าน้ำผึ้งต้องย้ายออกไปจากบ้านหลังนี้จริงๆ  น้ำผึ้งจะเรียกให้แสงดาวชดใช้เงินเป็นค่าต่อเติมห้องนอนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

การที่คำแท้กับน้ำผึ้งทำสัญญากันเอง  โดยคำแท้อนุญาตให้น้ำผึ้งอาศัยอยู่ในบ้านของคำแท้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  และไม่มีการกำหนดระยะเวลาแต่อย่างใดนั้น  ถือว่าน้ำผึ้งเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในโรงเรียนของคำแท้  อันเป็นการได้มาซึ่งสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  และไม่ผูกพันถึงบุคคลภายนอกแต่อย่างใด  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคหนึ่ง

ส่วนกรณีที่น้ำผึ้งต่อเติมห้องใหม่ขึ้นอีกห้องหนึ่งเพื่อใช้เป็นห้องนอนโดยไม่ได้บอกกล่าวคำแท้แต่อย่างใดนั้น  ห้องที่ต่อเติมนี้ถือเป็นส่วนควบของบ้าน  เพราะเป็นสารถสำคัญในการเป็นอยู่ของบ้าน  และไม่สามารถแยกออกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  144  วรรคหนึ่ง  และไม่เข้าข้อยกเว้นตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  146 เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราว  และการกระทำของน้ำผึ้งก็ไม่ได้รับความยินยอมจากคำแท้แต่อย่างใด  คำแท้เจ้าของบ้านจึงเป็นเจ้าของห้องที่ต่อเติมขึ้นด้วย  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  144  วรรคสอง

เมื่อคำแท้ถึงแก่ความตาย  คำนางบุตรของคำแท้ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรม  แล้วคำนางได้ทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินพร้อมบ้านหลังนั้นให้กับแสงดาว  โดยแสงดาวไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งมาก่อน  เช่นนี้  นิติกรรมระหว่างคำแท้กับน้ำผึ้งจึงไม่ผูกพันแสงดาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด

ดังนั้น  แสงดาวจึงให้น้ำผึ้งออกไปจากบ้านของตนได้  และน้ำผึ้งไม่สามารถเรียกให้แสงดาวชดใช้เงินค่าต่อเติมห้องนอนแต่อย่างใด

 

ข้อ  2  นายดำกับนายขาวเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเดียวกัน  ต่อมาทั้งสองได้ปลูกบ้านลงในที่ดินคนละหลัง  หลังจากนั้นได้ไปทำการแบ่งโฉนดออกเป็นสองแปลง  โดยแบ่งจากพื้นที่คนละครึ่ง  เมื่อแบ่งแล้วปรากฏว่าชายคาบ้านของนายดำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาว  ส่วนถังส้วมซีเมนต์ของบ้านนายขาวก็รุกล้ำไปอยู่ในเขตที่ดินของนายดำ  นายดำและนายขาวต่างก็เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเข้ามาออกไปเสีย  แต่ก็ไม่มีใครยอมรื้อ  ทั้งสองจึงไปพบทนายความเพื่อขอคำแนะนำ

หากท่านเป็นทนายความ  จงให้คำแนะนำแก่นายดำและนายขาวโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  4  วรรคสอง  เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

มาตรา  1312  วรรคแรก  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องการสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่น  ซึ่งข้อเท็จจริงมิใช่กรณีของมาตรา  1312  เพราะเพราะเป็นการสร้างโรงเรือนก่อนมีการแบ่งโฉนดออกเป็น  2  แลง  แต่แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับมาตรา  4  วรรคสอง  ได้วางหลักของการอุดช่องว่างกฎหมายให้ใช้หลักกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  นั่นก็คือใช้มาตรา  1312

การสร้างโรงเรือนของนายดำและนายขาวเป็นการสร้างที่สุจริต  เพราะขณะก่อสร้างต่างฝ่ายต่างไม่รู้แนวเขตที่ดินจะอยู่แนวใด  ดังนั้น สำหรับชายคาบ้านของนายดำที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายขาว  ชายคาบ้านเป็นส่วนควบของโรงเรือน  นายดำจึงไม่ต้องรื้อถอนชายคาที่รุกล้ำ  แต่ต้องเสียเงินให้แก่นายขาวเป็นค่าใช้ที่ดินและนายขาวต้องไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่นายดำ

ส่วนถังส้วมซีเมนต์ของนายขาวรุกล้ำมาในที่ดินของนายดำ  เนื่องจากถังส้วมซีเมนต์ไม่ใช่ส่วนควบของโรงเรือน  นายขาวจึงต้องรื้อถอนถังส้วมให้ออกมาจากที่ดินของนายดำ

 

ข้อ  3  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามมีอาชีพทำการเกษตรเหมือนกัน  และมีที่ดินอยู่ติดกัน  เมื่อหลายีมาแล้วทั้งนายหนึ่ง  นายสอง และนายสามได้ร่วมกันออกเงินคนละเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดบ่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรร่วมกัน  และยังร่วมกันออกเงินเท่าๆกันซื้อเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ร่วมกันหนึ่งเครื่อง  ต่อมานายสามได้ขายที่ดินของตนให้นายดำ  จึงต้องการจะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมโดยนำที่ดินที่สร้างบ่อออกขายเพื่อนำเงินของตนที่ออกไปคืนมา  และยังนำเครื่องสูบน้ำที่ร่วมกันซื้อเครื่องนั้นไปให้นายดำเช่าโดยทั้งนายหนึ่งและนายสองไม่ทราบ 

ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมอธิบายว่า  นายหนึ่งและนายสองจะเรียกคืนเครื่องสูบน้ำจากนายดำได้หรือไม่  และนายสามจะขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก

มาตรา  1361  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จะจำหน่ายส่วนของตน  หรือจำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้

แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย  จำนำ  จำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน

มาตรา  1363  วรรคหนึ่ง  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้  เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่  หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร  ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

วินิจฉัย

นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  มีอาชีพทำการเกษตรเหมือนกัน  และมีที่ดินอยู่ติดกันเมื่อหลายปีมาแล้วทั้งนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ได้ร่วมกันออกเงินคนละเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อขุดบ่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรร่วมกัน  และยังร่วมกันออกเงินเท่าๆกัน  ซื้อเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ร่วมกันหนึ่งเครื่อง  ต่อมานายสามได้ขายที่ดินของตนให้นายดำ  จึงต้องการจะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่สร้างบ่อน้ำไม่ได้เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้น้ำในบ่อร่วมกันเป็นการถาวรตามมาตรา  1363  วรรคหนึ่งส่วนเครื่องสูบน้ำที่ร่วมกันซื้อเครื่องนั้นนายสามไปให้นายดำเช่าโดยทั้งนายหนึ่งและนายสองไม่ทราบสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์  ตามมาตรา  1361  วรรคสอง  นายหนึ่งและนายสองจะเรียกคืนเครื่องสูบน้ำจากนายดำได้ตามมาตรา  1359

 

ข้อ  4  นายฟ้าเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายฝนทำการเกษตรและปลูกบ้านอยู่มาหลายปีโดยได้จ่ายค่าเช่าทุกเดือนให้นายฝน  เมื่อนายฝนตายนายฟ้าทราบเรื่องจึงตั้งใจจะยึดเอาที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  และประกอบกับก็ไม่มีใครมาเก็บค่าเช่าจากนายฟ้าจนกระทั่งเวลาผ่านไป  6  เดือนหลังจากนายฝนตาย  ซึ่งนายฟ้าคิดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนแล้ว  นายน้ำบุตรชายนายฝนได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากนายฝน  ได้มาทวงค่าเช่าที่นายฟ้าค้างทั้งหมด  แต่นายฟ้าปฏิเสธและบอกกับนายน้ำว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  ตนจึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าให้ใคร  เมื่อนายฟ้าปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้นายน้ำมาได้  6  เดือน  นายน้ำจึงต้องการฟ้องขับไล่นายฟ้าให้ออกไปจากที่ดินแลงนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายน้ำจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายฟ้าได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย

นายฟ้าเช่าที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายฝนทำเกษตรและปลูกบ้านอยู่มาหลายปีโดยได้จ่ายค่าเช่าทุกเดือนให้นายฝน  เมื่อนายฝนตายนายฟ้าทราบจึงตั้งใจที่จะยึดเอาที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  และประกอบกับก็ไม่มีใครมาเก็บค่าเช่าจากนายฟ้าจนกระทั่งเวลาผ่านไป  6 เดือน  หลังจากนายฝนตาย  ซึ่งนายฟ้าคิดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนแล้ว  นายน้ำบุตรชายนายฝนได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากนายฝน  ได้มาทวงค่าเช่าที่นายฟ้าค้างทั้งหมด  แต่นายฟ้าปฏิเสธและบอกกับนายน้ำว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  นายฟ้าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วตามมาตรา  1381  เมื่อนายฟ้าปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าเช่าได้  6  เดือน  นายน้ำจึงต้องการฟ้องขับไล่นายฟ้าให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้  นายฟ้ายังเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแย่งการครอบครองจากนายน้ำได้เพียง  6  เดือน  ยังไม่ครบ  1  ปี  เพราเมื่อนายฝนตายแม้นายฟ้าไม่ได้ชำระค่าเช่าก็ยังไม่ถือว่านายฟ้าแย่งการครอบครองจากนายฝนหรือนายน้ำตามมาตรา  1381  นายน้ำจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายฟ้าได้  ตามมาตรา  1375

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ชิงชัยกับสันติตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน  โดยให้ชิงชัยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของสันติ  หากชิงชัยชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว  สันติยินยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชิงชัยทันที  โดยสันติจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ชิงชัย  หรือให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว  หลังจากที่ชิงชัยชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว  แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้สันติจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท  หรือไม่ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงต่อไปนี้

ก)     ถ้าในเวลาต่อมาสันติถึงแก่ความตาย  เสกสรรค์บุตรของสันติจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรม  และเข้าไปสร้างบ้านอยู่อาศัยได้เพียง  1  ปี  ชิงชัยจะฟ้องขับไล่เสกสรรให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่  และผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน

ข)     ถ้าสันติทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่องอาจ  โดยองอาจไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างชิงชัยกับสันติมาก่อน  ดังนี้ระหว่างชิงชัยกับองอาจผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ชิงชัยเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของสันติ  โดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาของศาล  อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคหนึ่ง  ผลแห่งนิติกรรมฉบับนี้แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด  เพียงแต่ทำให้นิติกรรมไม่บริบูรณ์ถึงขั้นเป็นทรัพย์สิทธิเท่านั้น  แต่ระหว่างคู่สัญญาย่อมมีผลผูกพันต่อกันในฐานะบุคคลสิทธิ  ดังนั้นจึงวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ดังต่อไปนี้

ก)     กรณีที่เสกสรรค์บุตรของสันติจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรมและเข้าไปสร้างบ้านอยู่อาศัยได้เพียง  1  ปี ชิงชัยสามารถฟ้องขับไล่เสกสรรให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวได้  เพราะผู้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ของเจ้ามรดก  และไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก  ชิงชัยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าเสกสรรค์

ข)  กรณีสันติทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่องอาจ  โดยองอาจไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างชิงชัยกับสันติมาก่อนนั้น  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้กับองอาจซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด  ดังนั้น  องอาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าชิงชัย

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมคอมพิวเตอร์  เป็นห้างที่ขายคอมพิวเตอร์และอึปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่หลายร้านในบริเวณเดียวกัน  นายแดงเจ้าของร้านได้นัดหมายนายขาวลูกค้าที่เคยซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านของตนมาดูคอมพิวเตอร์มือสองจากญี่ปุ่นโดยอ้างว่ามีจำนวนเพียง  2  เครื่อง  ที่เจ้าของต้องการใช้เงินมาก  จึงอยากรีบขายในราคาต่ำ  แต่ขอให้มาหลัง  5  โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ร้านปิดทำการแล้ว

เมื่อนายขาวมาตามนัดหมายนายขาวตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์ที่นายแดงนำมาให้ดูโดยเลือกซื้อไป  1  เครื่อง  ในราคาถูกกว่าปกติหากเทียบกับราคาในท้องตลาด  หลังจากใช้มาได้  2  สัปดาห์  นายดำเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มาทวงคอมพิวเตอร์คืนจากนายขาวเนื่องจากทราบว่าคอมพิวเตอร์ของตนที่ถูกขโมยมาได้มีคนนำมาขายไว้ที่ร้านขายคอมพิวเตอร์แห่งนี้  นายขาวจึงปรึกษาทนายความ 

ถ้าท่านเป็นทนายความ  จงให้คำปรึกษาแก่นายขาวว่าระหว่างนายขาวกับนายดำ  ผู้ใดมีสิทธิในคอมพิวเตอร์นี้ดีกว่ากัน  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

การซื้อขายทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้มาตรา  1332  ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด  ในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น  นายขาวซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งจากร้านขายคอมพิวเตอร์ของนายแดง  แต่ข้อเท็จจริงทั่วไป  นายแดงขอให้มาซื้อหลังเวลาร้านปิดแล้วและขายในราคาต่ำกว่าปกติ  จึงเป็นการซื้อที่ไม่สุจริต  แม้จะซื้อจากผู้ขายของประเภทนี้และซื้อจากท้องตลาดก็ตาม  ก็ไม่อยู่ภายใต้มาตรา  1332

ดังนั้น  นายขาวต้องคืนคอมพิวเตอร์แก่นายดำเจ้าของที่แท้จริง  โดยไม่มีสิทธิขอราคาที่ซื้อมาคืนจากนายดำ

 

ข้อ  3  นายปูปลูกบ้านบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งที่ซื้อมาจากบริษัทจัดสรรที่ดิน  เข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  เพราะบริษัทจัดสรรที่ดินได้ชี้แนวเขตและเป็นผู้วางหมุดเขตที่ดิน  แต่ความจริงที่ดินแปลงนี้บริษัทได้ขายให้นายปลา  ถ้านายปูจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้  นายปูต้องครอบครองที่ดินแปลงนี้อย่างไรบ้าง

และจะได้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายอย่างไรบ้าง  ต่อมาเมื่อนายปูปลูกบ้านอยู่มาได้สิบกว่าปีแล้ว  นายปลาได้มารังวัดที่ดินพบว่านายปูครอบครองที่ดินของตน  นายปลาจึงฟ้องขับไล่นายปู  นายปูไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าตนมีกรรมสิทธิ์ดีกว่านายปลาแต่พิสูจน์ในศาลได้ว่านายปูครอบครองปรปักษ์ครบตามกฎหมายแล้ว  ศาลจะพิพากษาให้นายปูได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1370  ผู้ครอบครองนั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต  โดยความสงบและโดยเปิดเผย

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1386   บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้  ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิ  อันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม

วินิจฉัย

นายปูปลูกบ้านบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งที่ซื้อมาจากบริษัทจัดสรรที่ดิน  เข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน  เพราะบริษัทจัดสรรที่ดินได้ชี้แนวเขตและเป็นผู้วางหมุดเขตที่ดิน  แต่ความจริงที่ดินแปลงนี้บริษัทได้ขายให้นายปลวก  ถ้านายปูจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้  นายปูต้องครอบครองที่ดินแปลงนี้อย่างสงบเปิดเผย  ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันครบสิบปีตามมาตรา  1382  และจะได้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าครอบครองโดยสุจริต  โดยความสงบและโดยเปิดเผยตามมาตรา  1370  ต่อมาเมื่อปลูกบ้านอยู่มาได้สิบกว่าปีแล้ว  นายปลาได้มารังวัดที่ดินพบว่านายปูครอบครองที่ดินของตน  นายปลาจึงฟ้องขับไล่แต่นายปูไม่ได้ยกข้อต่อสู้  และพิสูจน์ในศาลว่านายปูครอบครองปรปักษ์ครบตามกฎหมายแล้ว  ศาลจะพิพากษาให้นายปูได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้เพราะอายุความครอบครองปรปักษ์เป็นอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1386  ไม่ใช่อายุความสิทธิเรียกร้อง  ศาลจึงยกขึ้นเองได้

 

ข้อ  4  ที่ดินของนายเสาร์  นายจันทร์และนายพุธอยู่ใกล้เคียงกัน  ที่ดินของนายเสาร์ได้ภารจำยอมในการสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์มาใช้ประโยชน์  โดยภารจำยอมนี้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายเสาร์ได้แบ่งที่ดินของนายเสาร์จดทะเบียนขายให้แก่นายอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง  โดยเมื่อโอนขายให้นายอาทิตย์ไปแล้ว  นายเสาร์ได้กั้นรั้วที่ดินของตนทำให้นายอาทิตย์ไม่สามารถเข้าไปใช้น้ำในบ่อที่อยู่บนที่ดินของนายจันทร์ได้เหมือนเดิม  หลังจากนายอาทิตย์ซื้อที่ดินมาได้ห้าเดือน  นายอาทิตย์จึงได้ตกลงกับนายพุธวางท่อสูบน้ำจากบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์ผ่านที่ดินของนายพุธเพื่อมายังที่ดินของตน  นายพุธยินยอม  นายอาทิตย์จึงได้วางท่อผ่านที่ดินของนายพุธ  นายจันทร์ได้มาห้ามไม่ยอมให้นายอาทิตย์ใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของตน  นายจันทร์จะห้ามนายอาทิตย์ได้หรือไม่ ภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายอาทิตย์ระงับไปแล้วหรือยัง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1394  ถ้ามีการแบ่งแยกภารทรัพย์  ท่านว่าภารจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก  แต่ถ้าในส่วนใดภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ  ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นเรียกให้พ้นจากภารจำยอมก็ได้

วินิจฉัย

ที่ดินของนายเสาร์  นายจันทร์และนายพุธอยู่ใกล้เคียงกัน  ที่ดินของนายเสาร์ได้ภารจำยอมในการสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์มาใช้ประโยชน์  โดยภารจำยอมนี้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายเสาร์ได้แบ่งที่ดินของนายเสาร์จดทะเบียนขายให้แก่นายอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง  โดยเมื่อโอนขายให้นายอาทิตย์ไปแล้วนายเสาร์ได้กั้นรั้วรอบที่ดินของตนทำให้นายอาทิตย์ไม่สามารถเข้าไปใช้น้ำในบ่อที่อยู่บนที่ดินของนายจันทร์ได้เหมือนเดิม  หลังจากนายอาทิตย์ซื้อที่ดินมาได้ห้าเดือน  นายอาทิตย์จึงได้ตกลงกับนายพุธวางท่อสูบน้ำจากบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์ผ่านที่ดินของนายพุธเพื่อมายังที่ดินของตน  นายพุธยินยอม  นายอาทิตย์จึงได้วางท่อผ่านที่ดินของนายพุธ  นายจันทร์ได้มาห้ามไม่ยอมให้นายอาทิตย์ใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายจันทร์  นายจันทร์จะห้ามนายอาทิตย์ไม่ได้เพราะภารจำยอมมีประโยชน์ทุกส่วนของสามทรัพย์  และส่วนที่แบ่งแยกยังคงใช้ประโยชน์ในภารจำยอมนั้นได้  นายจันทร์จึงไม่มีสิทธิห้ามหรือขอให้ที่ดินของนายอาทิตย์พ้นจากภารจำยอม  ภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายอาทิตย์ยังไม่ระงับ

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายพิชัยกับนายเพชรได้ทำสัญญากันเอง  โดยนายพิชัยอนุญาตให้นายเพชรสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินของนายพิชัยได้ตลอดชีวิตของนายเพชร  หลังจากนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้  5  ปี  นายพิชัยถึงแก่ความตาย  นายพิชิตบุตรของนายพิชัยได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่รับมรดกที่ดินและเรือนไม้สักดังกล่าว  โดยนายพิชิตไม่รู้เรื่องสัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรมาก่อน  หลังจากนั้นนายพิชิตแจ้งให้นายเพชรออกไปจากที่ดินและเรือนไม้สักหลังนั้น   นายเพชรจึงอ้างสัญญาที่นายพิชัยทำไว้กับนายเพชร

แต่นายพิชิตต่อสู้ว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงไม่ผูกพันนายพิชิตผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและเรือนไม้สักมาโดยสุจริต  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก.      สัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรมีผลผูกพันนายพิชิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      ระหว่างนายพิชิตกับนายเพชร  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

สัญญาที่นายพิชัยอนุญาตให้นายเพชรสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินของนายพิชัยได้ตลอดชีวิตของนายเพชร  และนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าว  เป็นกรณีที่นายเพชรได้สิทธิเหนือพื้นดินบนที่ดินของนายพิชัย  อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  ตามมาตรา  1299  วรรคหนึ่ง  แต่เนื่องจากนิติกรรมฉบับนี้ไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  แต่ยังมีผลบังคับใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ

สำหรับประเด็นที่นายเพชรสร้างเรือนไม้สักในที่ดินของนายพิชัย  โดยอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินตามสัญญานั้น  นายเพชรจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของนายพิชัย  และได้อาศัยสิทธินั้นสร้างโรงเรือนในที่ดินของนายพิชัย  เรือนไม้สักจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน  ตามมาตรา  146 นายเพชรจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักที่ตนสร้างขึ้น  ส่วนนายพิชัยไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดังกล่าว

หลังจากนายเพชรสร้างเรือนไม้สักอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้  5  ปี  นายพิชัยถึงแก่ความตาย  นายพิชิตบุตรของนายพิชัยได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่รับมรดกที่ดินและเรือนไม้สักดังกล่าว  นายพิชิตจึงเป็นผู้สืบสิทธิของนายพิชัยเจ้ามรดก  ซึ่งต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก  ดังนั้น

ก  สัญญาระหว่างนายพิชัยกับนายเพชรย่อมมีผลผูกพันถึงนายพิชิตด้วย  แม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม  เพราะสัญญาดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ  รวมถึงทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกด้วย  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข  นายเพชรมีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สักดีกว่านายพิชิต  เพราะเรือนไม้สักไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน  นายพิชัยบิดาของนายพิชิตจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนไม้สัก  ดังนั้นนายพิชิตจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนรับมรดกเรือนไม้สักดังกล่าวตามกฎหมาย  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

 

ข้อ  2  นายรุ่งได้ยืมเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งของนายเรืองมาใช้งาน  เมื่อใช้งานเสร็จ  นายรุ่งไม่ยอมคืนแต่ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปขายที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์มือสองและรับซ่อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาหลายปี  ร้านไอทีเซ็นเตอร์ให้ราคา  20,000  บาท  แก่นายรุ่งเป็นค่าคอมพิวเตอร์และนายรุ่งได้นำเงินไปฝากนายโรจน์เก็บไว้

ต่อมาในวันที่  1  ตุลาคม  2549  นายเรืองมาทวงคอมพิวเตอร์คืนจากนายรุ่ง  นายรุ่งอ้างว่าได้นำไปซ่อมไว้ที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  ขอให้นายเรืองไปรับคืนเอง  นายเรืองจึงไปที่ร้านไอทีเซ็นเตอร์  พบว่าร้านได้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้ว  เมื่อวันที่  5  ตุลาคม  ผู้ซื้อไปคือนายโรจน์ในราคา  23,000  บาท  ร้านปฏิเสธไม่รับทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นคอมพิวเตอร์ของผู้ใด  ขอให้นายเรืองไปติดตามทวงคืนจากนายโรจน์เอง

ดังนี้  เมื่อนายเรืองไปขอให้นายโรจน์คืนคอมพิวเตอร์แก่ตน  นายโรจน์จะไม่ยอมคืนได้หรือไม่  หรือหากจะต้องคืนนายโรจน์จะขอให้นายเรืองจ่ายเงินให้ตน  23,000  บาท  เพื่อแลกกับการส่งคืนคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

การที่นายโรจน์ซื้อทรัพย์สินคือเครื่องคอมพิวเตอร์มาจากร้านไอทีเซ็นเตอร์  ผู้ประกอบการจำหน่ายคอมพิวเตอร์มาหลายปี  จึงเป็นการซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น  ตามมาตรา  1332  ดังนั้นนายโรจน์แม้จะไม่มีสิทธิในคอมพิวเตอร์เครื่องนี้  และต้องคืนให้แก่นายเรืองผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงไป  แต่นายโรจน์ยังคงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่นายเรืองจนกว่านายเรืองจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา  คือ  23,000  บาท  แก่นายโรจน์

 

ข้อ  3  นายดำอาศัยปลูกบ้านครอบครองอยู่บนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงบิดามาได้  3  ปี  นายแดงได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายฝากไว้กับนายเหลืองเป็นเวลา  7  ปี  ไม่ไถ่คืนจนเลยกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว  แต่นายดำก็ยังคงอาศัยครอบครองบนที่ดินแปลงนี้ตลอดมา  เมื่อหมดกำหนดเวลาไถ่คืนมาได้  1  ปี  นายเหลืองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต  นายดำคัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงนี้มาได้  6 เดือน  นายเหลืองจึงได้ฟ้องขับไล่นายดำออกจากที่ดินแปลงนี้  ดังนี้ท่านเห็นว่านายเหลืองมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และข้ออ้างของนายดำรับฟังได้เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

วินิจฉัย

นายดำอาศัยปลูกบ้านครอบครองอยู่บนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงบิดามาได้  3  ปี  นายแดงได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายฝากไว้กับนายเหลืองเป็นเวลา  7  ปี  ไม่ไถ่คืนจนเลยกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว  แต่นายดำก็ยังคงอาศัยครอบครองบนที่ดินแปลงนี้ตลอดมา  ถือว่านายดำครอบครองที่ดินแปลงนี้แทนนายเหลืองตลอดมา  จึงนับอายุความครอบครองปรปักษ์ไม่ได้  เมื่อหมดกำหนดเวลาไถ่คืนมาได้  1  ปี นายเหลืองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต  นายดำได้คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้  เป็นการที่นายดำได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยเจตนาเป็นเจ้าของแล้ว  ตามมาตรา  1381  นายดำคัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงนั้นมาได้  6  เดือน  นายเหลืองจึงได้ฟ้องขับไล่นายดำให้ออกจากที่ดินแปลงนี้  นายเหลืองจึงฟ้องขับไล่นายดำได้  เพราะนายดำครอบครองปรปักษ์มาได้เพียง  6  เดือน  และข้ออ้างของนายดำรับฟังไม่ได้เพราะการครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ  10  ปี  ตามมาตรา  1382

 

ข้อ  4  นายสำลีเป็นพ่อค้ารับซื้อของเก่า  นายสำลีได้มาซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งที่ดินแปลงนั้นด้านหลังติดที่ดินของนายส้ม  นายสำลีจึงได้ใช้ที่ดินบางส่วนของนายส้มเก็บของเก่าที่นายสำลีรับซื้อมาและยังเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ติดกับที่ดินของนายส้มเพื่อมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงาน  โดยนายส้มไม่ทราบถึงการกระทำของนายสำลีเลยนายสำลีใช้ที่ดินและเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำมาได้สิบสองปี  นายส้มได้ห้ามนายสำลีไม่ให้เข้ามาในที่ดินของนายส้มไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น  แต่นายสำลีโต้แย้งว่าตนได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อโต้แย้งของนายสำลีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ส่วนนายส้มจะฟ้องศาลห้ามไม่ไห้นายสำลีเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินของตนและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายสำลีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1374  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน  เพราะมีผู้สอดแทรกเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้

มาตรา  193/29  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

นายสำลีมีบ้านพร้อมที่ดินซึ่งที่ดินด้านหลังติดที่ดินของนายส้ม  นายสำลีจึงได้ใช้ที่ดินของนายส้มเก็บของเก่าที่นายสำลีซื้อมา  และยังเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ติดกับที่ดินของนายส้มเพื่อมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงาน  โดยนายส้มไม่ทราบถึงการกระทำของนายสำลีเลย  นายสำลีใช้ที่ดินและเดินผ่านที่ดินของนายส้มเข้าไปตักน้ำมาได้สิบสองปี  นายส้มได้ห้ามนายสำลีไม่ให้เข้ามาในที่ดินของนายส้มไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น  แต่นายสำลีโต้แย้งว่าตนได้ภารจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ข้อโต้แย้งของนายสำลีฟังไม่ได้เพราะการใช้ที่ดินของนายส้มเก็บของเก่า  และยังเดินผ่านเข้าไปตักน้ำมาใช้ทำความสะอาดของเก่าเตรียมไว้ขายให้โรงงานไม่ใช่เพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  1387  นายส้มจะฟ้องศาลห้ามไม่ให้นายสำลีเข้ามารบกวนการครอบครอง  ศาลสามารถยกระยะเวลาฟ้องปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้ว่าเลยระยะเวลา  1  ปีแล้วตามมาตรา  1374  เพราะเป็นระยะเวลาฟ้องร้องไม่ใช่สิทธิเรียกร้อง  ส่วนค่าสินไหมทดแทนต้องฟ้องร้องภายในหนึ่งปี  และเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องเป็นไปตามมาตรา  193/29

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายแดงซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนางแมว  โดยทำสัญญาซื้อขายไว้และได้ชำระราคากันครบถ้วนแล้ว  แต่นางแมวขอผัดจะไปจดทะเบียนโอนให้หลังจากนั้นอีก  20  วัน  หลังจากทำสัญญาได้  5  วัน  นางแมวถึงแก่ความตาย  นายหนูบุตรนางแมวได้ไปจดทะเบียนขอรับมรดกที่ดินแปลงนั้น  แล้วนายหนูได้นำที่ดินนั้นไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้กับธนาคาร

โดยธนาคารไม่ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายแดงกับนางแมวมาก่อน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงจะฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายหนู  และฟ้องให้เพิกถอนการจำนองระหว่างนายหนูกับธนาคารได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้  แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย

การที่นายแดงทำสัญญาซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนางแมว  และได้ชำระราคากันครบถ้วนแล้ว  เพียงแต่นัดจะไปโอนที่ดินทางทะเบียนกันภายใน  20  วันหลังจากทำสัญญาซื้อขายกัน  ถือได้ว่านายแดงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน  ตามมาตรา 1300  ดังนั้นนายแดงจึงมีสิทธิตามมาตรา  1300  ที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางให้ตนเสียเปรียบได้  เว้นแต่จะเป็นการโอนโดยสุจริต  และมีค่าตอบแทนจึงจะขอให้เพิกถอนไม่ได้  ดังนั้นการที่นายหนูจดทะเบียนรับมรดกที่ดินจากนางแมวซึ่งเป็นการรับโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน  นายแดงจึงฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายหนูได้

ส่วนการที่นายหนูนำที่ดินแปลงนั้นไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้กับธนาคารโดยธนาคารไม่ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายแดงกับนางแมวมาก่อน  นายแดงจึงฟ้องให้เพิกถอนการจำนองระหว่างนายหนูกับธนาคารไม่ได้  เพราะธนาคารกระทำโดยสุจริต  และเสียค่าตอบแทน

 

ข้อ  2  เด็กชายเอกอายุ  14  ปี  ขายโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งให้แก่นายโทในราคาร้อยบาท  โดยไม่ได้ขออนุญาตบิดา-มารดาของตนก่อน  นายโทซื้อแล้วนำไปตีใช้หนี้เงินกู้ที่ตนค้างชำระนายตรีอยู่หนึ่งพันบาท  นายตรียอมรับโทรศัพท์ไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นของที่นายโทซื้อมาจากเด็กชายเอก  นายตรีใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ได้เพียงอาทิตย์เดียวก็ยกให้นางสาวนิดหน่อยน้องสาวของตน

นางสาวนิดหน่อยนำโทรศัพท์ไปใช้โดยรู้ว่าเป็นเครื่องเก่าของเด็กชายเอกที่โอนต่อให้กันมาเป็นทอดๆ  จนมาถึงนายตรีพี่ชายของตน  แต่ก็ไม่ว่าอะไรเพราะตนได้มาเปล่าๆ  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ  ต่อมาบิดาของเด็กชายเอกบอกล้างการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเอกกับนายโท  และติดตามทวงถามให้นางสาวนิดหน่อยคืนโทรศัพท์แก่เด็กชายเอก  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างเด็กชายเอก  นายตรี  และนางสาวนิดหน่อยใครมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1329  สิทธิของบุคคลผู้ได้มา  ซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น  ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ  และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

วินิจฉัย

ตามปัญหา  เป็นการที่เด็กชายเอกผู้เยาว์ขายโทรศัพท์มือถือแก่นายโทโดยไม่ได้ขออนุญาตบิดา-มาดา นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆียะ การที่นายโทขายต่อแก่นายตรี  นายตรีเป็นผู้ซื้อมาโดยสุจริต  (ไม่รู้ว่าเป็นของที่นายโทซื้อมาจากเด็กชายเอก)  และนายตรีซื้อมาก่อนที่นิติกรรมการซื้อขายโทรศัพท์จะถูกบอกล้าง  ทำให้นายตรีไดกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์ดังกล่าวตามมาตรา  1329  แม้ว่าการซื้อขายจะถูกบอกล้างในภายหลังก็ตามย่อมไม่กระทบกระเทือนสิทธิของนายตรีที่ได้ซื้อโทรศัพท์มา

ส่วน น.ส. นิดหน่อย  แม้ได้โทรศัพท์มาโดยไม่เสียค่าตอบแทนและไม่สุจริต  แต่เมื่อได้มาจากนายตรีผู้มีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้  ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามไปด้วย

ดังนั้นนายตรี  และ  น.ส. นิดหน่อย  จึงมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่าเด็กชายเอก

 

ข้อ  3  นายสีครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งโดยได้ปลูกไม้เบญจพรรณทิ้งไว้  เพื่อตนจะได้ขอเอกสารสิทธิในภายหลัง  ซึ่งความจริงแล้วที่ดินแปลงนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่นายสีไม่ทราบ  นายสีปลูกต้นไม้บนที่ดินแปลงนั้นมาได้สองปี  เจ้าหน้าที่ของสักปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้นำที่ดินแปลงนั้นไปจัดให้นายสายซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์  นายสายเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นได้ประมาณห้าเดือน

นายสีทราบจึงต้องการฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายสาย  โดยอ้างว่าตนได้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นมาก่อนและได้เรียกคืนในระยะเวลาภายในหนึ่งปี  ท่านคิดว่าข้ออ้างของนายสีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

วินิจฉัย

นายสีครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งโดยได้ปลูกไม้เบญจพรรณทิ้งไว้  เพื่อตนจะได้ขอเอกสารสิทธิในภายหลัง  ซึ่งความจริงแล้ว  ที่ดินแปลงนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่นายสีไม่ทราบ  นายสีปลูกต้นไม้บนที่ดินแปลงนั้นมาได้สองปี  เจ้าหน้าที่ของสำนักปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้นำที่ดินแปลงนั้นไปจัดให้นายสายซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์  นายสายจึงได้ครอบครองที่แปลงนั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายสีจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายสายไม่ได้  แม้นายสีจะครอบครองก่อน  และเรียกคืนในระยะเวลาภายในหนึ่งปีก็ตาม  แต่การเรียกคืนตามมาตรา 1375  ต้องเป็นการที่ผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  และถ้าอีกฝ่ายมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าผู้ครอบครอง  ผู้ครอบครองก็จะเรียกคืนไม่ได้  ข้ออ้างของนายสีจึงรับฟังไม่ได้ 

 

ข้อ  4   นายปลามีอาชีพปลูกผักขาย  ที่ดินของนายปลาที่นายปลาปลูกบ้านอยู่  และใช้ทำสวนผักได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความในการเข้าไปตักน้ำในบ่อซึ่งอยู่ในที่ดินของนายปูเพื่อใช้รดน้ำผักและใช้ในครัวเรือนของนายปลา  นอกจากนั้นที่ดินของนายปลาแปลงนั้นยังได้สิทธิใช้ทางภารจำยอมโดยทางนิติกรรมเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งเพื่อออกสู่ทางสาธารณะอีก  ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำประปาหมู่บ้านเพื่อนำน้ำมาใช้ในหมู่บ้าน  แต่เป็นข้อตกลงของหมู่บ้านว่าน้ำประปาใช้ในครัวเรือนรดน้ำต้นไม้ในบริเวณบ้านได้เท่านั้น  ห้ามไปใช้ประกอบการเกษตรเพราะจะทำให้น้ำไม่พอใช้ทั่วถึง  นายปลาจึงยังคงใช้น้ำในบ่อในที่ดินของนายปูเพื่อรดน้ำผัก  แต่ทางเดินนายปลาก็ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งอีกเลย  เพราะทางเดินใช้เดินไม่สะดวก  ให้ท่านอธิบายว่าภารจำยอมในการใช้น้ำและทางเดินนั้นจะสิ้นไปได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1399  ภาระจำยอมนั้น  ถ้ามิได้ใช้สิบปี  ท่านว่าย่อมสิ้นไป

มาตรา  1400  ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้  ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป  แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้  ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก  แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน

ถ้าภารจำยอมยังเป็นประโยชน์แก่สามยทรัพย์อยู่บ้าง  แต่เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ภารยทรัพย์แล้ว  ประโยชน์นั้นน้อยนักไซร้  ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะขอให้พ้นจากภารจำยอมทั้งหมด  หรือแต่บางส่วนก็ได้แต่ต้องใช้ค่าทดแทน

วินิจฉัย

นายปลามีอาชีพปลูกผักขาย  ที่ดินของนายปลาปลูกบ้านอยู่และใช้ทำสวนผักได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความในการเข้าไปตักน้ำในบ่อซึ่งอยู่ในที่ดินของนายปูเพื่อใช้รดน้ำผักและใช้ในครัวเรือนของนายปลา  นอกจากนั้นที่ดินของนายปลาแปลงนั้นยังได้สิทธิใช้ทางภารจำยอมโดยทางนิติกรรมเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งเพื่อออกสู่สาธารณะ  ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำประปาหมู่บ้านเพื่อนำน้ำมาใช้ในหมู่บ้าน  แต่เป็นข้อตกลงของหมู่บ้านว่าน้ำประปาใช้ในครัวเรือนรดต้นไม้ได้เท่านั้น  ห้ามไปใช้ประกอบการเกษตรเพราะจะทำให้น้ำไม่พอใช้ทั่วถึง  นายปลาจึงยังคงใช้น้ำในบ่อที่ดินของนายปูเพื่อรดน้ำผัก  แต่ทางเดินนายปลาก็ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งอีกเลย  เพราะทางเดินใช้เดินไม่สะดวก  ภารจำยอมในการใช้น้ำยังคงมีอยู่ยังไม่หมดประโยชน์แม้จะมีประปาหมู่บ้าน  แต่ยังจำเป็นในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการทำสวนผักยังไม่หมดประโยชน์  ตามมาตรา  1400  และประโยชน์ยังมีอยู่มาก  การลดประโยชน์ในการใช้น้ำเป็นเพียงเล็กน้อย  สิทธิภารจำยอมในการใช้น้ำยังมีอยู่  และสิทธิในการขอให้พ้นตาม  มาตรา  1400  วรรคสอง  ก็ยังไม่เกิดขึ้น  ส่วนทางเดินนั้นจะสิ้นไปได้  ถ้านายปลาไม่ได้ใช้ทางเดินภารจำยอมนั้นติดต่อกันสิบปีตามมาตรา  1399

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายคงทำสัญญาเช่าตึกแถวของนายมั่นเพื่ออยู่อาศัยเป็นเวลา  5  ปี  โดยสัญญาเช่าระบุว่าทรัพย์ใดๆที่นายคงผู้เช่าดัดแปลงหรือต่อเติมลงในตึกแถวที่เช่าให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของนายมั่นผู้ให้เช่าทันที  หลังจากที่นายคงเข้าไปอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้  2  ปี  นายคงได้ทำฝากั้นห้องที่บริเวณชั้น  3  ของตึก  และติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้เป็นห้องนอนเพิ่มอีกห้องหนึ่ง  เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า  นายคงจะรื้อถอนเอาไม้ที่ทำเป็นฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไป

นายมั่นไม่ยอมโดยอ้างว่าทั้งไม้และเครื่องปรับอากาศเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมั่นแล้วตามสัญญาเช่าดังกล่าว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายคงจะรื้อถอนไม้ฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

วินิจฉัย

นายคงทำสัญญาเช่าตึกแถวของนายมั่นเพื่ออยู่อาศัยเป็นเวลา  5  ปี  หลังจากนายคงเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้  2  ปี  นายคงได้ทำฝากั้นห้องที่บริเวณชั้น  3  ของตึก  และติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้เป็นห้องนอนนั้น  ทั้งฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศไม่เป็นส่วนควบของตึก เพราะไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตึกอันไม่อาจแยกออกได้นอกจากทำให้ตัวตึกเสียรูปทรง  จึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมั่นผู้ให้เช่าตามมาตรา  144

ดังนั้นเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า  นายคงสามารถรื้อถอนเอาไม้ที่ทำเป็นฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้  แม้ในสัญญาเช่าระบุว่าทรัพย์ใดๆที่นายคงผู้เช่าดัดแปลงหรือต่อเติมลงในตึกแถวที่เช่า  ให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของนายมั่นผู้ให้เช่าทันทีก็ตาม  แต่ทั้งนี้ทรัพย์ที่ต่อเติมนั้นหมายความถึงการกระทำที่มาเป็นส่วนควบของตึก  เมื่อฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศไม่เป็นส่วนควบของตึกดังกล่าวแล้ว  นายคงจึงสามารถรื้อถอนออกไปได้

สรุป  นายคงสามารถรื้อถอนไม้ฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้

 

ข้อ  2  นายก้องได้เข้าครอบครองทำไร่ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม  แต่ทางราชการยังไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  หลังจากที่นายก้องทำไร่ในที่ดินดังกล่าวได้  5  ปี  นายก้องได้ไปพบนายขำเพื่อนของตน  และขอให้นายขำซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินช่วยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)  ให้  ทั้งที่กรมที่ดินยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเช้าจับจองเป็นเจ้าของหรือออกเอกสารสิทธิแต่อย่างใด

เมื่อนายก้องได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3)  มาแล้ว  นายก้องได้ทำหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายแก้ว  ต่อมาทางราชการได้แจ้งให้นายแก้วออกไปจากที่ดินดังกล่าว  แต่นายแก้วไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินแปลงนั้น  โดยต่อสู้ว่าตนซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายแก้วรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1304  สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น  รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน  ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์  หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า  และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน

มาตรา  1305  ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  1306  ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

วินิจฉัย

ป่าเสื่อมโทรมที่ทางราชการยังไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา  1304(1)  ดังนั้นแม้นายก้องจะเข้าไปครอบครองทำไร่ในที่ดินดังกล่าวนานเท่าใด  นายก้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้น  เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินตามมาตรา  1306

ส่วนการที่นายก้องไปพบนายขำเพื่อนของตน  และขอให้นายขำเป็นเจ้าพนักงานที่ดินช่วยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3) ให้  ทั้งที่กรมที่ดินยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเข้าจับจองเป็นเจ้าของหรือออกเอกสารสิทธิแต่อย่างใด  จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)  โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กรมที่ดินสามารถเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)  นั้นได้  และนายก้องไม่สามารถทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินนั้นให้กับนายแก้ว  เพราะมาตรา  1305  มีหลักกฎหมายความว่า    ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา  ดังนั้นเมื่อทางราชการได้แจ้งให้นายแก้วออกไปจากที่ดินดังกล่าว  นายแก้วจึงต้องย้ายออกไปจากที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น  ข้อต่อสู้ของนายแก้วที่ว่าตนซื้อที่ดินมาโดยสุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแก้งฟังไม่ขึ้น  เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

 

ข้อ  3  นายชุ่มทำไร่ในที่ดินมือเปล่าแห่งหนึ่ง  ต่อมานายชุ่มได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายชม  และนายชมได้ให้นายชุ่มอยู่ทำไร่ดูแลที่ดินแปลงนี้ต่อให้  เมื่อนายชุ่มครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อมาได้เจ็ดปี  นายชุ่มได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้นายชิตส่งมอบการครอบครองให้นายชิต  โดยนายชิตไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายชม  นายชิตซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายชุ่มมาได้สามเดือน

เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดสำรวจเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่นายชิตได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนี้ว่าเป็นของตนต่อเจ้าพนักงาน  นายชมได้ไปร้องคัดค้าน  และฟ้องขับไล่นายชิตให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ระหว่างนายชมและนายชิตใครมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1380  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้  ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่  ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน 

ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่  การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า  ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้

วินิจฉัย

นายชุ่มได้ทำไร่ในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง  ต่อมานายชุ่มได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายชมและนายชมได้ให้นายชุ่มอยู่ทำไร่ดูแลที่ดินแปลงนั้นให้ตน  นายชุ่มจึงยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนนายชมตามมาตรา  1380  นายชมจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่านายชุ่มตามมาตรา  1368  เมื่อนายชุ่มครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อมาได้เจ็ดปี  นายชุ่มได้นำที่ดินแปลงนั้นไปขายให้นายชิตส่งมอบการครอบครองให้นายชิต  โดยนายชิตไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของนายชม  เมื่อนายชิตรับโอนจากนายชุ่มซึ่งไม่มีสิทธิดีกว่านายชม  นายชิตจึงไม่มีสิทธิในที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่านายชม  ดังนั้นระหว่างนายชมและนายชิตนายชมย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชิต

สรุป  นายชมย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชิต

 

ข้อ  4  นายแสงครอบครองปลูกบ้านและทำนารุกเข้าไปบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายเสียง  โดยนายแสงก็ไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายเสียงคิดว่าเป็นของตนเพราะหมุดเขตที่ดินหายไป  และนายเสียงก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย  นายแสงครอบครองทำนาในส่วนที่อยู่บนที่ดินของนายเสียงและของตนมาได้  6  ปี  นายแสงตาย  นายสีบุตรชายนายแสงได้ครอบครองทำนาบนที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายแสง  นายสีทำนาต่อมาได้  5  ปี  นายเสียงเพิ่งมาทราบว่าที่ดินแปลงนั้นของตนบางส่วนถูกนายสีครอบครองทำประโยชน์อยู่  นายเสียงจึงกั้นรั้วและห้ามมิให้นายสีทำนารุกเข้ามาในที่ดินแปลงนั้น  แต่นายสีไม่ยอมอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเสียงส่วนนั้นแล้ว  และให้นายเสียงรื้อรั้วออกไป  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของนายสีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

นายแสงครอบครองปลูกบ้านและทำนารุกเข้าไปบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายเสียง  โดยนายแสงก็ไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายเสียงคิดว่าเป็นของตนเพราะหมุดที่ดินหายไป  และนายเสียงก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย  นายแสงครอบครองทำนาในส่วนที่อยู่บนที่ดินของนายเสียงและของตนมาได้  6  ปี  นายแสงตาย  นายสีบุตรชายของนายแสงได้ครอบครองทำนาบนที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายแสง  นายสีทำนาต่อมาได้  5  ปี  นายสีได้กรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงนั้น  โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วตามมาตรา  1382  โดยได้รับโอนสิทธิการครอบครองจากนายแสงบิดาตามมาตรา  1385  นายเสียงจึงกั้นรั้วและห้ามมิให้นายสีทำนารุกเข้ามาในที่ดินของตน  แต่นายสีไม่ยอมอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเสียงส่วนนั้นแล้ว  และให้นายเสียงรื้อรั้วออกไป  ข้ออ้างของนายสีชอบด้วยกฎหมาย  นายเสียงต้องรื้อรั้วที่รุกเข้ามาในส่วนที่นายสีครอบครองปรปักษ์เพราะนายสีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนั้นแล้ว

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายน้ำเข้าครอบครองที่ดินมีโฉนดของนายเปลวโดยสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เก้าปี  พอขึ้นปีที่สิบ  นายเปลวได้ฟ้องขับไล่นายน้ำให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล  นายน้ำกับนายเปลวตกลงยอมความกัน  โดยนายเปลวยินยอมให้นายน้ำเช่าซื้อที่ดินพิพาท  หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วนายเปลวยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายน้ำทันที  และนายเปลวจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายน้ำ  หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

และศาลมีคำพิพากษาตามยอม  คดีถึงที่สุดแล้ว  หลังจากนายน้ำชำระราคาครบถ้วน  นายเปลวยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้นายน้ำ  นายเปลวก็ถึงแก่ความตาย  นายเพลิงซึ่งเป็นบุตรของนายเปลวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยชอบธรรม  และไม่รู้เรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายน้ำกับนายเปลวแต่อย่างใด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายน้ำจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทและบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้  แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย  นายน้ำแย่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเปลวติดต่อกันยังไม่ครบสิบปี  ก็ถูกนายเปลวฟ้องขับไล่จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  แต่ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนายน้ำกับนายเปลวตกลงยอมความกัน  โดยนายเปลวยินยอมให้นายน้ำเช่าซื้อที่ดินพิพาท  หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วนายเปลวยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายน้ำทันที  และนายเปลวจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายน้ำ  หากปฏิบัติตามข้อตกลงให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา  และศาลมีคำพิพากษาตามยอม  คดีถึงที่สุดแล้ว  และนายน้ำชำระราคาเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว  เช่นนี้นายน้ำจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท  โดยสัญญาประนีประนอม  ยอมความในชั้นศาล  ซึ่งเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคแรก  เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้ซึ่งกรรมสิทธิ์จึงยังไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ  แต่ยังคงมีผลบังคับนายน้ำกับนายเปลวในฐานะบุคคลสิทธิ  ซึ่งนายน้ำสามารถฟ้องบังคับให้นายเปลวไปจดทะเบียนโนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้

หลังจากนั้น  นายเปลวถึงแก่ความตาย  นายเพลิงซึ่งเป็นบุตรของนายเปลวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยชอบธรรม  ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนายเปลวต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของมรดกและการจดทะเบียนรับมรดกดังกล่าวทำให้นายน้ำผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนต้องเสียเปรียบนายน้ำจึงสามารถฟ้องศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของนายเพลิงได้ตามมาตรา  1300  เพราะเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทน  และบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้

สรุป  นายน้ำสามารถฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกและบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ตนได้

 

ข้อ  2  นายเอกมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายโท  นายเอกได้สร้างบ้านบนที่ดินของตนโดยก่อนปลูกสร้างได้เรียกเจ้าพนักงานมารังวัดสอบเขตแล้ว  แต่เมื่อสร้างเสร็จจึงพบว่ารั้วกำแพงและท่อระบายน้ำรุกล้ำอยู่ในเขตที่ดินของนายโท  1  ตารางวา  ดังนี้  นายเอกจะต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำหรือไม่  นายเอกและนายโทมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร  หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  1312  วรรคแรก  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น  แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม  ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด  เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วินิจฉัย  การที่นายเอกทำการรังวัดสอบเขตก่อนปลูกบ้านเป็นการปลูกสร้างที่สุจริต  เพราะไม่ได้เพิกเฉยละเลยในการตรวจสอบแนวเขต  แต่เมื่อสร้างเสร็จพบว่ารั้วกำแพงและท่อระบายน้ำรุกล้ำอยู่ในเขตของนายโท  นายเอกจึงต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินของนายโท  แม้ว่าจะเป็นการปลูกสร้างที่สุจริตก็ตาม  เพราะรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำมิใช่ส่วนควบของโรงเรือน  ตามมาตรา  144 จึงไม่อยู่ในความหมายของการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำในมาตรา  1312  วรรคแรก  ดังนั้น  นายเอกจึงมีหน้าที่ต้องรื้อถอนรั้วกำแพง  และท่อระบายน้ำออกไปจากที่ดินของนายโท  แม้ว่าจะเป็นการสร้างรุกล้ำที่สุจริตก็ตาม

สรุป  นายเอกมีหน้าที่ต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำออกไปจากที่ดินของนายโท

 

ข้อ  3  นายสมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งไดภาระจำยอมในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงตลอดไป  และได้จดทะเบียนไว้แล้ว  แต่เมื่อใช้ภาระจำยอมไปได้ระยะหนึ่ง  นายสมได้กั้นรั้วแบ่งแยกที่ดินแปลงนั้นของตนออกเป็นสองส่วน  ที่ดินอีกส่วนที่แบ่งแยกออกไปได้ให้นายสดเช่าปลูกบ้าน  นายสดปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น  และใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ  และไม่เคยได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงอีกเลย  มีเพียงแต่นายสมเท่านั้นใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสง  นายสดได้ใช้ถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่สาธารณะโดยไม่เคยขอหรือบอกนายสวยเลย

ให้นักศึกษาอธิบายว่า

1       นายแสงจะขอให้ที่ดินส่วนที่นายสดครอบครองพ้นจากภาระจำยอมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2       ถ้านายสดใช้ทางผ่านที่ดินของนายสวยจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมและส่วนที่นายสดครอบครองนั้นได้หรือไม่เพียงใด  อธิบายให้ละเอียด

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1395  ถ้ามีการแบ่งแยกสามยทรัพย์  ท่านว่าภาระจำยอมยังคงมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ทุกส่วนที่แยกออกนั้น  แต่ถ้าภาระจำยอมนั้นไม่ใช้  และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แก่ส่วนใดไซร้  ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะเรียกให้พ้นจากภาระจำยอมอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนนั้นก็ได้

มาตรา  1399  ภาระจำยอมนั้น  ถ้ามิได้ใช้สิบปี  ท่านว่าย่อมสิ้นไป

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

นายสมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง  ซึ่งได้ภาระจำยอมในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงตลอดไป  และจดทะเบียนไว้แล้ว  แต่เมื่อใช้ภาระจำยอมไปได้ระยะหนึ่ง  นายสมได้แบ่งแยกกั้นรั้วที่ดินแปลงนั้นของตนออกเป็นสองส่วน  ส่วนหนึ่งให้นายสดปลูกบ้านเช่าอยู่  นายสดจึงปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น  และนายสดก็ไม่เคยใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงอีกเลย  มีเพียงนายสมเท่านั้นใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงนายสดใช้ถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่สาธารณะแทนโดยไม่เคยขอหรือบอกนายสวยเลย

1       นายแสงจะขอให้ที่ดินส่วนที่นายสดครอบครองพ้นจากภาระจำยอมไม่ได้  เพราะไม่ใช่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์  ที่ดินทั้งแปลงยังเป็นของนายสม  จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมตามมาตรา  1395  และภาระจำยอมก็ยังไม่สิ้นไปตามมาตรา  1399 เพราะนายสมยังคงใช้ภาระจำยอมผ่านที่ดินของนายแสงอยู่

2       ถ้านายสดใช้ทางผ่านที่ดินของนายสวยจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมทั้งแปลงทั้งส่วนของนายสดที่ครอบครองอยู่  ในการผ่านที่ดินของนายสวยโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ใครก็ตามที่อยู่ในสามยทรัพย์ก่อให้เกิดภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ได้  มาตรา  1387

สรุป  1  นายแสงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้

2  นายสดจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมทั้งแปลง  รวมทั้งส่วนของนายสดครอบครองอยู่ได้โดยการครอบครองปรปักษ์

 

ข้อ  4  นายแดงได้กู้ยืมเงินนายดำมาจำนวน  500,000  บาท  กำหนดชำระเงินคืนภายในสามปี  และได้ให้นายดำเข้าครอบคอรงทำประโยชน์บนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายแดงแทนค่าดอกเบี้ยเงินกู้  ต่อมาเมื่อกู้ยืมเงินกันไปได้หนึ่งปี  นายขาวบุตรชายของนายแดงได้มาทำสัญญาขายที่ดินแปลงนั้นกับนายดำ  โดยนายดำได้ให้เงินนายขาวไปจำนวน  200,000  บาท  แต่ก่อนที่จะครบสามปีตามสัญญากู้ยืม  โดยนายดำได้นำเงิน  500,000  บาท  มาชำระหนี้เงินกู้  และเรียกที่ดินแปลงนั้นคืน  แต่นายดำไม่ยอมรับและไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนั้นโดยอ้างว่าที่ดินแปลงนั้นนายขาวได้ขายให้ตนมาได้เกินกว่าหนึ่งปีแล้ว  ดังนี้ถ้านายแดงมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำแนะนำกับนายแดงอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย

นายแดงได้กู้ยืมเงินมาจากนายดำจำนวน  500,000  บาท  กำหนดชำระเงินคืนภายในสามปี  และได้ให้นายดำเข้าใช้ประโยชน์บนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายแดงแทนค่าดอกเบี้ยเงินกู้  ต่อมาเมื่อกู้ยืมเงินไปได้หนึ่งปี  นายขาวบุตรชายของนายแดงได้มาทำสัญญาขายที่ดินแปลงนั้นกับนายดำโดยนายดำได้ให้เงินนายขาวไปจำนวน  200,000  บาท  แต่ก่อนที่ครบสามปีตามสัญญากู้ยืมเงิน  นายแดงได้นำเงิน  500,000  บาท  มาชำระหนี้เงินกู้และเรียกที่ดินแปลงนั้นคืน  แต่นายดำไม่ยอมรับและก็ไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  โดยอ้างว่าที่ดินแปลงนั้นนายขาวได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้ตนมาได้กว่าหนึ่งปีแล้ว  ดังนี้  นายแดงต้องฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายดำภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่นายแดงไปชำระหนี้เงินกู้  และนายดำไม่ยอมรับชำระหนี้กู้ยืมไม่ยอมออกไปและไม่ส่งที่ดินแปลงนั้นคืนนายแดง  โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินแปลงนั้นจากนายขาวบุตรชายของนายแดงแล้ว  แสดงว่านายดำได้แย่งการครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นจากนายแดงสำเร็จแล้ว  ตามมาตรา  1381  นายดำครอบครองที่ดินแปลงนั้นด้วยตนเองตามมาตรา  1367  นายแดงต้องฟ้องต่อศาลเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา  1375

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายแดงฟ้องต่อศาลเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นภายในระยะเวลา  1  ปี  นับแต่วันที่นายดำไม่ยอมรับชำระหนี้เงินกู้  และไม่ยอมออกไปจากที่ดิน

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ปริญญาเช่าที่ดินของดุษฎีเพื่อก่อสร้างโครงเหล็กติดป้ายโฆษณาเป็นเวลา  5  ปี  โดยสัญญาเช่าระบุว่าทรัพย์สินใดๆที่ได้ปลูกสร้างและติดตั้งในสถานที่เช่านี้อันเกิดจากการเช่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า  และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า  ผู้เช่ามีสิทธิ์รื้อถอนคืนไปได้ทั้งสิ้น  หลังจากปริญญาติดตั้งโครงเหล็กไปได้  4  ปี  พอขึ้นปีที่  5  ปริญญาขอบอกเลิกสัญญาเช่าและขอรื้อเฉพาะโครงเหล็กออกไปจากที่ดินเช่า  ดุษฎีไม่ขัดข้องแต่แจ้งให้ปริญญาส่งมอบที่ดินคืนให้ดุษฎีในสภาพเดิม  คือต้องรื้อถอนตอม่อและเสาเข็มที่ฝังไว้ใต้ดินออกไปด้วย

ปริญญาไม่ต้องการรื้อถอนตอม่อกับเสาเข็มเพราะเสียค่าใช้จ่ายมาก  ปริญญาจึงมาปรึกษาท่านว่า  จะรื้อเฉพาะโครงเหล็กอย่างเดียวไม่รื้อถอนตอม่อและเสาเข็มออกไปได้หรือไม่  และดุษฎีจะฟ้องบังคับให้ปริญญาต้องรื้อตอม่อและเสาเข็มออกไปด้วยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

วินิจฉัย

ปริญญาเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของดุษฎีตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงเหล็กติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นเวลา  5  ปี  และได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างเสาเข็ม  ตอม่อ  ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโครงเหล็กในที่ดินที่เช่า  ดังนั้นภายในระยะเวลาตามสัญญาเช่า  เสาเข็ม  ตอม่อ  และโครงเหล็กจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามมาตรา  146  หลังจากปริญญาติดตั้งโครงเหล็กได้  4  ปี  พอขึ้นปีที่  5  ปริญญาขอบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว  จะรื้อเฉพาะโครงเหล็กออกไปจากที่ดินที่เช่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้  ดุษฎีสามารถฟ้องบังคับให้ปริญญารื้อทั้งตอม่อและเสาเข็มออกไปและส่งมอบที่ดินคืนให้แก่ตนในสภาพเดิมได้  โดยปริญญาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนดังกล่าว

สรุป  ปริญญาต้องรื้อทั้งโครงเหล็ก  ตอม่อ  และเสาเข็มออกไป  หากปริญญาไม่รื้อตอม่อและเสาเข็ม  ดุษฎีสามารถฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้

 

ข้อ  2  นายทองมีที่ดินมีโฉนดแปลงจำนวน  10  ไร่  ได้ถูกนายเงินครอบครองปรปักษ์ที่ดินส่วนหนึ่งที่มีลำธารไหลผ่านเฉพาะฤดูฝนจำนวน  200  ตารางวา  มากว่า  10  ปีแล้ว  เมื่อครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่นายเงินครอบครอง  จึงมีลักษณะเป็นที่ดินตาบอดที่ถูกล้อมโดยที่ดินนายทอง  นายทับทิม  และนายมรกต  เมื่อนายเงินต้องการมีทางออกผ่านเข้าออกจากที่ดินของตนจึงไปร้องต่อศาลเพื่อขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายทับทิม  เพราะเห็นว่าเป็นทางใกล้ที่สุดที่จะออกสู่ถนนสาธารณะ  โดยในคำขอได้แจ้งความต้องการขอทำทางผ่านเป็นทางรถยนต์กว้าง  4  เมตร

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะมีคำพิพากษาให้นายเงินได้ทางออกตามที่ร้องขอมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบทที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย   การที่ที่ดินของนายเงินเป็นที่ดินตาบอด  เกิดขึ้นหลังจากได้แย่งการครอบครองปรปักษ์มาจากที่ดินแปลงใหญ่ของนายทอง  โดยจากข้อเท็จจริงแล้วขณะที่ยังเป็นที่ดินแปลงเดียวกันอยู่  ที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ที่ดินตาบอด  แต่เมื่อถูกแบ่งไปเพราะการครอบครองปรปักษ์ทำให้เกิดสภาพที่ดินตาบอดแก่แปลงที่แบ่งแยก  ดังนั้นการขอทางจำเป็นจึงต้องบังคับตามมาตรา  1350  คือ  มีสิทธิขอทางจำเป็นผ่านบนที่ดินที่เคยอยู่รวมกับตน  กล่าวคือ  ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายทองได้เท่านั้น

เมื่อนายเงินขอผ่านทางจำเป็นบนที่ดินของนายทับทิมจึงไม่อาจทำได้  ด้วยเหตุผลข้างต้น

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะยกคำร้องขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายทับทิมที่นายเงินร้องขอมาตามมาตรา  1350

 

ข้อ  3  นายสีเข้าไปบุกรุกครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายสายมาได้หกปี  นายสีถูกนายสายแจ้งความดำเนินคดีฟ้องศาลขับไล่  ศาลพิพากษาให้นายสีออกไปจากที่ดินแปลงนั้นและสั่งลงโทษจำคุกนายสีสิบเดือน  เมื่อนายสีพ้นโทษก็ได้กลับเข้าไปครอบครองที่ดินแปลงนั้นอีก  นายสีครอบครองระยะเวลาในช่วงหลังนี้มาได้สี่ปีก็ถูกจับกุมดำเนินคดีขับไล่อีก  แต่คราวนี้นายสีอ้างว่าตนครอบครองปรปักษ์ครบสิบปีแล้ว  โดยนับระยะเวลาครอบครองครั้งแรกและครั้งหลังครบสิบปี  เพราะช่วงที่ขาดการยึดถือเป็นการขาดการยึดถือโดยไม่สมัครและกลับเข้ามาครอบครองใหม่ภายในหนึ่งปี  และตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราวบุคคลนั้นครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา

ให้ท่านอธิบายว่านายสีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายสายโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือยัง  ข้ออ้างของนายสีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1371  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว  ท่นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย  นายสีเข้าไปบุกรุกครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายสายมาได้หกปี  นายสีถูกแจ้งความดำเนินคดีฟ้องศาลขับไล่นายสี  ศาลพิพากษาให้นายสีออกไปจากที่ดินแปลงนั้นและสั่งลงโทษจำคุกนายสีสิบเดือน  ดังนั้นการครอบครองปรปักษ์ของนายสีในที่ดินของนายสายจึงเป็นการครอบครองโดยไม่สงบตามมาตรา  1382  ดังนั้นระยะเวลาที่ครอบครองหกปีจึงนับไม่ได้  แม้นายสีจะถูกจำคุกเพียงสิบเดือนและกลับเข้ามาครอบครองใหม่  นายสีครอบคอรงระยะเวลาในช่วงหลังนี้มาได้สี่ปี  ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีขับไล่อีก  ช่วงหลังครอบครองอีกสี่ปีก็นับไม่ได้อีก  เพราะเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ  ข้ออ้างของนายสีที่อ้างว่าตนครอบครองปรปักษ์ครบสิบปีแล้ว  โดยนับระยะเวลาการครอบครองครั้งแรกและครั้งหลังครบสิบปีจึงรับฟังไม่ได้  จะอ้างว่าตนขาดการยึดถือเป็นการขาดการยึดถือโดยไม่สมัครตามมาตรา  1384  ไม่ได้  เพราะเมื่อถูกฟ้องขับไล่จึงเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ  อายุความได้สิทธิไม่ครบองค์ประกอบติดต่อกันคลอดเวลา  และจะใช้ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา  1371  ก็ไม่ได้เพราะนายสายย่อมพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้

สรุป  นายสียังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายสายโดยการครอบครองปรปักษ์  และข้ออ้างของนายสีรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  4  ที่ดินของนายแดงได้สิทธิภาระจำยอมสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายดำไปใช้ในครัวเรือนรดน้ำต้นไม้ในที่ดินของนายแดงโดยการครอบครองปรปักษ์  ต่อมานายแดงได้ปรับปรุงที่ดินแปรงนั้นของนายแดงเพื่อใช้ทำสวนดอกไม้เพื่อตัดดอกไม้ไปขายที่ตลาด  นายแดงจึงได้ขุดขยายบ่อน้ำบนที่ดินของนายดำให้กว้างขึ้นอีกห้าเมตร  และลึกขึ้นอีกสามเมตร  เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำมาใช้ได้เพียงพอที่จะทำสวนไม้ตัดดอก  เมื่อนายแดงขุดขยายบ่อน้ำและใช้น้ำมาได้หนึ่งปี  นายดำได้มาเรียกร้องให้นายแดงจ่ายค่าใช้น้ำที่ในบ่อนั้นให้ตน  มิฉะนั้นตนจะปิดบ่อน้ำบ่อนั้นไม่ให้นายแดงใช้อีกต่อไป  ให้นักศึกษาอธิบายถึงสิทธิระหว่างนายแดงและนายดำในภาระจำยอมการใช้นำในบ่อน้ำนั้นตามกฎหมายลักษณะทรัพย์ให้ละเอียด

ธงคำตอบ

มาตรา  1388  เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์  หรือในสามยทรัพย์  ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์

มาตรา  1389  ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป  ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้

มาตรา  1391  เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง   ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี  แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้  ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ

วินิจฉัย   ที่ดินของนายแดงได้สิทธิภาระจำยอมสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายดำไปใช้ในครัวเรือนรดน้ำต้นไม้ในที่ดินของนายแดงโดยการครอบครองปรปักษ์  ต่อมานายแดงได้ปรับปรุงที่ดินแปลงนั้นของนายแดงใช้ทำสวนดอกไม้เพื่อตัดดอกไม้ไปขายที่ตลาด  นายแดงจึงได้ขุดขยายบ่อน้ำบนที่ดินของนายดำให้กว้างขึ้นอีกห้าเมตร  และลึกขึ้นอีกสามเมตรเพื่อจะได้มีปริมาณน้ำมาใช้ได้เพียงพอที่จะทำสวนไม้ตัดดอก  นายแดงไม่สามารถทำได้ตามมาตรา  1388  และมาตรา  1389  เพราะนายแดงมีสิทธิเพียงใช้ภาระจำยอมตามมาตรา  1391  แต่เมื่อนายแดงขุดขยายบ่อน้ำและใช้น้ำมาได้หนึ่งปี   นายดำได้มาเรียกร้องให้นายแดงจ่ายค่าใช้น้ำในบ่อน้ำให้ตนมิฉะนั้นตนจะปิดบ่อน้ำนั้นไม่ให้นายแดงใช้อีกต่อไป  นายดำจะปิดบ่อน้ำไม่ได้  แต่ให้นายแดงทำบ่อน้ำให้เหมือนเดิมได้  โดยใช้ค่าใช่จ่ายของนายแดงเอง  และนายดำมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ถ้าการขยายบ่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์  แต่นายดำจะเรียกร้องค่าใช้น้ำในบ่อได้เฉพาะในส่วนที่นายแดงใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากการขยายบ่อเท่านั้น  เพราะการได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน  และถ้าจะเรียกค่าใช้น้ำนายแดงก็ไม่ต้องทำบ่อน้ำให้เหมือนเดิม  เพราะในส่วนที่ได้ใช้เพิ่มเป็นการได้โดยนิติกรรมสัญญา

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายท้วมและนายอ่ำเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ติดต่อกัน  และด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงต่างก็ติดกับแม่น้ำปิง  เวลาฤดูน้ำ  น้ำท่วมเต็มตลิ่งทุกปี  เวลาฤดูแล้งน้ำลดลงไป  ทั้งนายท้วมและนายอ่ำต่างก็เข้าไปปลุกผักในที่ดินริมตลิ่งที่น้ำลดลงตรงหน้าที่ดินของตน  ต่อมานายท้วมสุขภาพไม่ดีจึงเลิกปลูกผักและไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินริมตลิ่งนั้นอีกเลย  นายอ่ำเห็นนายท้วมไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลากว่า  1  ปีแล้ว  

นายอ่ำจึงขยายพื้นที่ปลูกผักเข้าไปในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วม  โดยนายท้วมไม่ทักท้วง  หลังจากนั้น  3  ปี  นายท้วมถึงแก่ความตาย  นายเท่งบุตรของนายท้วมจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายท้วม  และไม่ยอมให้นายอ่ำปลูกผักในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินที่ตนรับมรดก  และต้องการจะเข้าไปปลูกผักเอง  นายอ่ำไม่ยอม  อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามาเกิน  1  ปีแล้วนายเท่งจึงไม่มีสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง  เช่นนี้  นายอ่ำจะได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั้นอย่างไร  หรือไม่ และนายเท่งจะให้นายอ่ำออกไปจากที่พิพาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1304  สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น  รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน  ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์  หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่น

(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง  ทางน้ำ  ทางหลวง  ทะเลสาบ

มาตรา  1306  ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

วินิจฉัย  ที่พิพาทเป็นที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วมและนายอ่ำ  ซึ่งเวลาฤดูน้ำ  น้ำท่วมถึงเต็มตลิ่งทุกปี  เวลาฤดูแล้งน้ำลดลงไป  ที่ดินริมตลิ่งทั้งสองแปลงดังกล่าว  ย่อมถือได้ว่าเป็นที่ชายตลิ่ง  อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  ตามมาตรา  1304 (2)  ผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่  ดังนั้นทั้งนายท้วมและนายอ่ำจึงไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด (ฎ. 2199/2515)

นอกจากนี้  แม้นายท้วมและนายอ่ำจะเข้าไปปลูกผักในที่ชายตลิ่งหน้าที่ดินของตนนานเท่าใด  ก็ไม่สามารถยกอายุความการครอบครองปรปักษ์  (มาตรา  1382)  หรือแม้แต่ในเรื่องสิทธิครอบครอง  (มาตรา 1367)  ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินได้  ตามมาตรา  1306

แม้การยึดถือครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ  แก่ผู้ยึดถือครอบครอง  หมายถึงใช้ยันต่อรัฐหรือแผ่นดินไม่ได้ แต่ในระหว่างเอกชนด้วยกันนั้นใช้ยันกันเองได้  โดยถือหลักว่าผู้ที่เป็นฝ่ายครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ก่อนและยังคงครอบครองอยู่  ผู้นั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า (ฎ. 3908/2535)  ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะมีอยู่ตลอดเวลาที่ครอบครองเท่านั้น  ดังนั้นหากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนแล้วสละการครอบคอรงที่พิพาทนั้นไป  ผู้ครอบครองรายหลังซึ่งยังคงครอบครองทำประโยชน์อยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า

กรณีตามอุทาหรณ์  นายท้วมไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา  1  ปี  แล้ว  และการที่นายอ่ำขยายพื้นที่ปลูกผักเข้าไปในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วม  นายท้วมก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่า  นายท้วมสละการครอบคอรงแล้ว  เมื่อนายอ่ำเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ต่อ  นายอ่ำจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่านายท้วมและนายเท่ง  ดังนั้นนายเท่งจึงไม่สามารถให้นายอ่ำออกไปจากที่ดินพิพาทได้  (ฎ. 279/2530)

สรุป  นายอ่ำไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด  และนายเท่งจะให้นายอ่ำซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าตนออกไปจากที่ดินพิพาทไม่ได้เช่นกัน

 

ข้อ  2  นายพิภพเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งถูกปิดล้อมโดยที่ดินของนายเขียว  นายขำ  และนายคง  มีเพียงทิศตะวันออกเท่านั้นที่ติดคลองสาธารณะใช้เป็นทางเข้าออกทางน้ำ  โดยใช้เรือในการสัญจรออกสู่แม่น้ำแต่สภาพคลองใช้เข้าออกไม่สะดวก  โดยเฉพาะฤดูแล้งคลองตื้นเขินไม่สามารถใช้เรือสัญจรได้  คงมีเพียงเส้นทางเดียวที่จะสามารถผ่านออกสู่สาธารณะได้  คือการใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียว  ซึ่งอีกด้านหนึ่งติดทางสาธารณะ  หลังจากนายพิภพใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียวได้  1  ปี  นายเขียวก็ปิดกั้นทางเดินดังกล่าวไม่ให้นายพิภพใช้อีกต่อไป

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายพิภพจะฟ้องขอให้นายเขียวเปิดทางเดินนั้นให้ตนสามารถใช้ผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1349  ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ  บึง  หรือทะเล  หรือมีที่ชัน  อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้  ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน  กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้  ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่าน  ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย  อันเกิดแก่เหตุที่มีทางผ่านนั้น  ค่าทดแทนนั้น  นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน  ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

วินิจฉัย   ทางจำเป็นนั้นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามมาตรา  1349  ซึ่งมีหลักว่าที่ดินแปลงใดถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้

ดังนั้นถ้าที่ดินแปลงใดอยู่ติดกับคลองสาธารณะ  แม่น้ำ  จะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้  เพราะถือว่ามีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้ว  แต่คลองนั้นจะต้องใช้สัญจรไปมาได้ด้วย  (ฎ. 2240/2525)  ถ้าคลองนั้นตื้นเขินจนไม่สามารถเดินเรือ  หรือใช้สัญจรไปมาได้หรือใช้ได้เป็นบางครั้งคราว  หรือไม่มีน้ำที่จะใช้สัญจรได้ตลอดปี  ก็ยังไม่พอถือว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของมาตรา  1349  ถือว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  ดังนี้เจ้าของที่ดินนั้นย่อมมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของผู้อื่นไปสู่ทางสาธารณะได้  (ฎ.800 801 /2544)

กรณีตามอุทาหรณ์  ที่ดินของนายพิภพแม้จะติดคลองสาธารณะ  สามารถใช้เป็นทางเข้าออกโดยใช้เรือในการสัญจรออกสู่แม่น้ำได้  แต่สภาพคลองใช้เข้าออกไม่สะดวก  โดยเฉพาะในฤดูแล้ง  คลองตื้นเขินไม่สามารถใช้เรือสัญจรได้  ก็ยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของมาตรา  1349  นายพิภพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียวซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะ  ดังนั้นนายพิภพจึงฟ้องขอให้นายเขียวเปิดทางจำเป็นให้ตนสามารถใช้ผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะต่อไปได้

สรุป  นายพิภพฟ้องให้นายเขียวเปิดทางจำเป็นได้

 

ข้อ  3  นายส้มทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด  ซึ่งที่ดินแปลงนั้นนายส้มได้ให้นายตาลบุตรชายนายส้มอาศัยทำไร่อยู่  นายแสดได้ตกลงกับนายส้มว่าตนยินดีที่จะให้นายตาลอยู่อาศัยบนที่ดินแปลงนั้นต่อไปโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า  หลังจากนั้นนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาได้หนึ่งปี  จึงได้ให้เจ้าพนักงานมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดิน  และให้นายตาลออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  แต่นายตาลไม่ยอมออกอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายแสด  นายแสดไม่มีสิทธิขับไล่ตนเพราะเรียกคืนเกินหนึ่งปีหมดระยะเวลาฟ้องเอาคืนที่ดินแปลงนั้นแล้ว

ท่านคิดว่า  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1380  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้  ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่  ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน 

ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่  การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า  ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย   นายส้มทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด  ซึ่งที่ดินแปลงนั้นนายส้มได้ให้นายตาลบุตรชายนายส้มอาศัยทำไร่อยู่  ถือว่านายตาลครอบครองที่ดินแปลงนั้นแทนนายส้ม  (ฎ.1579/2514)  เมื่อนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาจากนายส้ม จึงถือว่านายตาลครอบครองที่ดินแปลงนั้นแทนนายแสดต่อไป  ตามมาตรา  1368  ประกอบมาตรา  1380  หลังจากนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาได้หนึ่งปี  จึงได้ให้เจ้าพนักงานมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดิน  และให้นายตาลออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  แต่นายตาลไม่ยอมออกอ้างว่า  ตนมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายแสด  ดังนี้เมื่อนายตาลยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนนายแสด  นายตาลต้องเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ  โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครอง (เจ้าของ)  ว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  ตามมาตรา 1381  ก่อนจึงจะถือว่านายตาลยึดถือเพื่อตน  ซึ่งจะทำให้ได้และมีสิทธิครอบครองดีกว่านายแสด  ระยะเวลาการฟ้องเอาคืน  ซึ่งการครอบครองภายใน  1  ปี  ตามมาตรา  1375  จึงยังไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยังไม่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ  (แย่งการครอบครอง)  นั่นเอง  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  4  นายสำลีมีอาชีพทำไร่และเลี้ยงปลาขาย  ที่ดินของสำลีที่ใช้ทั้งอาศัยปลูกบ้านและทำไร่เลี้ยงปลาอยู่ตรงข้ามกับที่ดินของนายสายมีทางเดินเท้าสาธารณะคั่นอยู่   ที่ดินของนายสายมีสระน้ำอยู่ในที่ดินนั้น  นายสำลีทำท่อฝังใต้ถนนสาธารณะสูบน้ำข้ามถนนเข้ามาในที่ดินของนายสำลีโดยไม่ได้ขออนุญาตนายสายแต่อย่างใด  เพื่อใช้ทำไร่เลี้ยงปลาประจำมาได้แปดปี  ต่อมานายสำลีได้ยกท่อน้ำขึ้นมาวางไว้บนถนน  ทำให้ชาวบ้านซึ่งใช้ถนนเส้นนั้นเข้าออกไม่สะดวก  ชาวบ้านจึงได้บอกกับกำนันให้มาบอกให้นายสำลีรื้อท่อน้ำนั้นออกไปจากถนน  แต่นายสำลีไม่ยอมรื้อ  หลังจากนั้นมาได้สองปีครึ่งนายสายทราบจึงห้ามไม่ให้นายสำลีสูบน้ำจากที่ดินของตนและให้รื้อท่อน้ำนั้นออกไป  แต่นายสำลีไม่ยอม  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  นายสำลีจะได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อนั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

นายสำลีมีอาชีพทำไร่และเลี้ยงปลาขาย  ที่ดินของสำลีที่ใช้ทั้งอาศัยปลูกบ้านและทำไร่เลี้ยงปลาอยู่ตรงข้ามกับที่ดินของนายสายมีทางเดินเท้าสาธารณะขั้นอยู่  ที่ดินของนายสายมีสระน้ำอยู่ในที่ดินนั้นนายสำลีทำท่อฝังใต้ถนนสาธารณะสูบน้ำเข้ามาในที่ดินของนายสำลีโดยไม่ได้ขออนุญาตจากนายสายแต่อย่างใด  เพื่อใช้ทำไร่เลี้ยงปลาเป็นการใช้เพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ทำให้ที่ดินของนายสำลีเข้าลักษณะภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  เมื่อใช้มาได้ประจำแปดปีนายสำลีได้ยกท่อน้ำนั้นขึ้นมาบนถนน  ทำให้ชาวบ้านซึ่งใช้ถนนเส้นนั้นเข้าออกไม่สะดวก  ชาวบ้านจึงได้บอกกับกำนันให้มาบอกให้นายสำลีรื้อถอนท่อน้ำนั้นออกไปจากถนน  แต่นายสำลีก็ยังไม่ยอมรื้อออก  หลังจากนั้นมาได้สองปีครึ่งนายสายทราบจึงห้ามไม่ให้นายสำลีสูบน้ำจากที่ดินของตนและรื้อท่อน้ำนั้นออกไป  แต่นายสำลีไม่ยอม  ดังนี้นายสำลีได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อนั้นอันได้มาโดยอายุความแล้ว  ตามมาตรา  1387  ประกอบมาตรา  1382  และมาตรา  1401

สรุป  นายสำลีย่อมได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อน้ำนั้นแล้ว

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เด่นเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดจำนวน  2  ไร่  โดยเด่นยกที่ดินด้านทิศเหนือจำนวน  1  ไร่  ให้แก่ดวงโดยไม่ได้จดทะเบียนแบ่งโฉนดให้  ภายหลังจากดวงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินด้านทิศเหนือติดต่อกันเป็นเวลากว่า  10  ปีแล้ว  เด่นก็ยกที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน  1  ไร่  ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ให้แก่เปลว

แต่ทำสัญญาจดทะเบียนให้เปลวมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดทั้งแปลง  เพราะเปลวรับรองว่าจะจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงในภายหลัง  แต่เปลวไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงตามที่รับรองไว้กับเด่น  แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายให้กับเพลิง  ซึ่งเพลิงรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ  และรู้ด้วยว่าดวงกำลังจะยื่นฟ้องคดีให้เปลวแบ่งโฉนดให้ดวง  แต่เพลิงก็ยังรับซื้อที่ดินนั้นทั้งหมด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ระหว่าง  ดวง  เปลว  และเพลิง  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน  1  ไร่  ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นที่พิพาทดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

เด่นยกที่ดินด้านทิศเหนือจำนวน  1  ไร่  ให้ดวง  แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้  ดวงจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคแรก  แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ  แต่การที่ดวงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินนั้นติดต่อกันเป็นเวลากว่า  10  ปีแล้ว ดวงจึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  อันเป็นการได้มาโดยทางอื่น  นอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  แต่ดวงยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของตน  ดวงจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใดๆในทางทะเบียน  และไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยมีค่าตอบแทน  โดยสุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว  (ฎ. 884/2523

ต่อมาเด่นยกที่ดินส่วนที่เหลือด้านทิศใต้จำนวน  1  ไร่  ให้เปลว  โดยทำสัญญาและจดทะเบียนให้เปลวมีชื่อในโฉนดทั้งแปลง  เพราะเปลวรับรองว่าจะจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงภายหลัง  แต่เปลวไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงตามที่รับรองไว้กับเด่น  แต่เปลวกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงทิศเหนือให้เพลิง  โดยเพลิงรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ  แม้เพลิงจะเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธ์ในที่ดินดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทนก็จริง  แต่การได้มานั้นไม่สุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต

ดังนั้น  ดวงจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าเปลว  เพราะเปลวได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทนไม่สุจริต  และจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต  เพราะดวงมีกรรมสิทธิ์ดีกว่าเพลิงตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ดวงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าเปลวและเพลิง 

 

ข้อ  2  นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  เมื่อนายเอกตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงนี้ให้นายโทและนายตรี  นายโทและนายตรีได้ขอแบ่งโฉนดที่ดินออกเป็นคนละแปลงตามส่วนของตน  เมื่อแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าแปลงของนายตรีถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  โดยมีที่ดินของนายโท  นายดำ  และนายแดงปิดล้อมอยู่  นายตรีเห็นว่าถ้าตนได้นำรถผ่านที่ดินของนายดำจะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะออกสู่ถนนสาธารณะได้  นายตรีจึงไปยื่นคำร้องต่อศาลขอนำรถผ่านเข้าออกทางที่ดินของนายดำ

ดังนี้  นายดำจะต้องยอมให้นายตรีผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบทที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย  

กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องที่ดินของตรีถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  นายตรีย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงที่ปิดล้อมอยู่เพื่อออกสู่สาธารณะได้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินของตรีเป็นที่ดินแปลงที่เคยรวมอยู่กับที่ดินของโทแล้ว  แบ่งแยกออกมา  ทำให้ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  การขอเปิดทางจำเป็นของตรีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ของมาตรา  1350  ไม่ใช่มาตรา  1349

ดังนั้น  นายดำย่อมมีสิทธิไม่ยอมให้นายตรีผ่านที่ดินของตนได้เพราะสิทธิที่จะขอทางจำเป็นคือขอผ่านที่ดินของโทเท่านั้น  โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน

สรุป  นายดำย่อมมีสิทธิไม่ยอมให้นายตรีผ่านที่ดินของตนได้

 

ข้อ  3  หนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งให้สองเช่าที่ดินปลูกบ้าน  สองได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของสามเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะ  เพราะที่ดินของหนึ่งไม่มีทางเข้าออก  โดยสองไม่ได้ขออนุญาตจากสามเลย  สองเช่าที่ดินหนึ่งและใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของสามมาได้สิบห้าปี  ทางราชการได้ตัดถนนระหว่างจังหวัดผ่านที่ดินแปลงนั้น  พอดีกับที่สองได้เลิกสัญญาเช่าที่ดินแปลงนั้นจึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาได้สองปี  หนึ่งได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น  หนึ่งจึงต้องการที่จะใช้ทางผ่านบนที่ดินของสามเข้าออก

โดยหนึ่งอ้างว่าที่ดินของสามตกเป็นภาระจำยอมให้ที่ดินของตนผ่านเข้าออกแล้ว  แต่สามอ้างว่าหนึ่งหมดสิทธิที่จะใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนแล้ว  ให้ท่านอธิบายว่าข้ออ้างระหว่างหนึ่งและสามใครจะรับฟังได้ดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1400  วรรคแรก  ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้  ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป  แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้  ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก  แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

หนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งให้สองเช่าที่ดินปลูกบ้าน  สองได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของสามเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะเพราะที่ดินของหนึ่งไม่มีทางเข้าออก  โดยสองไม่ได้ของอนุญาตจากสามเลยสองเช่าที่ดินหนึ่งและใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของสามมาได้สิบห้าปี  ที่ดินของหนึ่งได้ภาระจำยอมในการใช้ทางเดินผ่านที่ดินของสามเพราะภาระจำยอมมีขึ้นเพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  1387 ดังนั้นใครก็ตามที่อยู่บนที่ดินก็จะก่อให้เกิดภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  ทางราชการได้ตัดถนนระหว่างจังหวัดผ่านที่ดินแปลงนั้น  ภาระจำยอมในการใช้ทางก็หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ภาระจำยอมนั้นสิ้นไป  เป็นการสิ้นไปโดยผลของกฎหมายมาตรา  1400  วรรคแรก  และเมื่อเป็นถนนของทางราชการจึงใช้ได้ตลอดไป  เมื่อหนึ่งได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น  หนึ่งจะใช้ทางผ่านบนที่ดินของสามไม่ได้  เพราะภาระจำยอมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายแล้ว  ข้อที่สามอ้างว่าหนึ่งหมดสิทธิที่จะใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนจึงรับฟังได้ดีกว่าของหนึ่ง

สรุป  ข้ออ้างของสามรับฟังได้ดีกว่า

 

ข้อ  4  ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโอ่งมีที่ดินมือเปล่าของอ่างอยู่ติดทางขวามือ  และมีที่ดินมือเปล่าของเอียดติดอยู่ทางด้านหลัง  อ่างได้เข้าไปขุดหน่อไม้ในที่ดินของโอ่งมาขายเป็นประจำเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว  ส่วนเอียดก็ใช้ที่ดินของโอ่งเป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินของตนตลอดมาอยู่เกินกว่าสิบปีเช่นกัน  ทั้งเอียดและอ่างได้ใช้ที่ดินของโอ่งโดยโอ่งไม่รู้  ต่อมาโอ่งได้ห้ามไม่ให้เอียดและอ่างเข้าไปในที่ดินแปลงนั้นของตน  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะทรัพย์  อ่างและเอียดมีสิทธิในที่ดินของโอ่งแปลงนั้นอย่างไรบ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโอ่งมีที่ดินมือเปล่าของอ่างอยู่ติดทางขวามือ  และมีที่ดินมือเปล่าของเอียดติดอยู่ทางด้านหลัง  อ่างได้เข้าไปขุดหน่อไม้ในที่ดินของโอ่งมาขาย  การเข้าไปขุดหน่อไม้มาขายไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองบนที่ดินของโอ่งเพราะการเข้าไปเก็บหน่อไม้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในทรัพย์ถึงขนาดเท่ากับผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าที่ยึดถือใช้ที่ดินทำประโยชน์กับทรัพย์  จึงยังไม่เป็นยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน  ตามมาตรา  1367  และไม่ได้ภาระจำยอมในที่ดินของโอ่ง  ตามมาตรา  1387  ส่วนเอียดก็ใช้ที่ดินของโอ่งเป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินของตนตลอดมาเกินกว่าสิบปี  โดยโอ่งไม่รู้  ที่ดินของเอียดจึงได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ผ่านเข้าออกบนที่ดินของโอ่งแล้วตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382

สรุป   

1  อ่างไม่มีสิทธิในที่ดินของโอ่ง

2       เอียดได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ผ่านเข้าออกที่ดินของโอ่ง

WordPress Ads
error: Content is protected !!