LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค 1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ 1 นาย ม เป็นคนยากจนมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน นส.3 ก ที่เป็นเจ้าของอยู่เพียงแปลงเดียว มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัว ได้ขอกู้เงินจากนาย ส ไป 100,000 บาท โดยเขียนไว้ในสัญญากู้เงินว่า นาย ม ขอใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ กำหนดชำระหนี้ในเวลา 6 เดือนนี้ โดยไม่ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง วันรุ่งขึ้นนาย ม ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นาง บ ที่ได้ดูแลตนมาตลอดเวลาที่ป่วย เมื่อหนี้ครบกำหนดนาย ม ไม่ชำระ จากนั้นอีก 1 เดือน นาย ส ได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามสัญญากู้จากนาย ม และชนะคดี ศาลพิพากษาให้นาย ม ชำระหนี้แก่นาย ส จากนั้นนาย ส จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าว

แต่ถูกนาง บ ร้องคัดค้านอ้างว่าเป็นของตน เพราะนาย ม ยกให้แล้ว นาย ส จึงได้ทราบเรื่องการยกที่ดินให้กันดังกล่าว และได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่กันเสีย ถ้านักศึกษาเป็นศาลจะวินิจฉัยอย่างไร โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหนี้ที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ประกอบด้วย

1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล หมายถึง นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งก็คือ นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2 ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3 นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้) ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้ (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4 หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้ (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5 การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ม ลูกหนี้ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่นาง บ นั้น ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้นาย ส เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ม ลูกหนี้ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นาง บ โดยเสน่หา ดังนั้น ถึงแม้ว่านาง บ ผู้ได้ลาภงอกจะได้รู้ข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม นาย ส เจ้าหนี้ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ นาย ม กับนาย ส ได้จดทะเบียนจำนองกันโดยชอบหรือไม่ เพราะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะให้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงอยู่แล้วตามมาตรา 214 (ฎ.47/2524)

สรุป นิติกรรมการยกที่ดินให้แก่กันระหว่างนาย ม กับนาง บ เป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ และนาย ส เจ้าหนี้สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่กันได้

 

 

ข้อ 2 นาย ก เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นาย ข 100,000 บาท ขณะเดียวกันนาย ก ก็เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าของนาย ค อยู่ 110,000 บาท นาย ก กับนาย ค ได้โทรศัพท์คุยกันตกลงกันว่านาย ก ตกลงโอนและนาย ค ตกลงรับโอนหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนที่นาย ข เป็นหนี้นาย ก อยู่ มาเป็นการชำระหนี้ที่ นาย ก เป็นหนี้ค่าสินค้านาย ค อยู่

ส่วนที่เหลืออีก 10,000 บาท นาย ก จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้แก่นาย ค ต่อไป จากนั้นนาย ก และนาย ค ต่างได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องการตกลงโอนหนี้กันนั้นให้นาย ข ทราบ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค มีผลอย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 306 วรรคแรก การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 306 วรรคแรกนั้น กฎหมายบัญญัติว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ การโอนนั้นจึงจะสมบูรณ์ และการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้แล้ว หรือลูกหนี้ได้มีหนังสือให้ความยินยอมด้วยกับการโอนนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก กับนาย ค ตกลงโอนหนี้เงินกู้ที่นาย ข เป็นหนี้นาย ก อยู่ไปให้นาย ค ซึ่งถือเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงนั้น เมื่อปรากฏว่าการตกลงโอนหนี้ระหว่างนาย ก ผู้โอนหนี้มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา 306 วรรคแรก เพียงแต่ตกลงกันด้วยวาจาทางโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งแม้ต่อมาทั้งสองฝ่ายจะได้ทำหนังสือแจ้งการโอนหนี้ไปให้นาย ข ลูกหนี้ทราบ ก็ไม่ใช่การทำสัญญาโอนหนี้เป็นหนังสือตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงมีผลทำให้การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค ไม่สมบูรณ์ (ฎ. 1802/2518)

สรุป การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค ไม่สมบูรณ์

 

 

ข้อ 3 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธอยู่ห้าแสนบาทเท่ากัน ปรากฏว่าจันทร์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 233 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธให้ชำระหนี้ห้าแสนบาท โดยยื่นฟ้องในวันที่ 10 มกราคม 2554 แต่พุธซึ่งเป็นจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าในวันที่ 20 มกราคม 2554 อังคารได้ตกเป็นลูกหนี้พุธ จำนวนเงินห้าแสนบาทเช่นกัน จากมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อและหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว พุธจึงขอต่อสู้คดี โดยขอหักลบกลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธด้วย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา 233 แต่หากจำเลย (ลูกหนี้ของลูกหนี้) ที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้ เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องคดีแล้วตามมาตรา 236

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารลูกหนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธตามมาตรา 233 นั้น โดยหลักถ้าพุธ (จำเลย มีข้อต่อสู้อังคาร (ลูกหนี้เดิม) อยู่อย่างใด ก็ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จันทร์ (โจทก์) ได้ แต่ต้องเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อนจันทร์ยื่นฟ้องคดี กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ทั้งหลายจะต้องถือเป็นยุติแต่ในเวลายื่นฟ้องคดีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อต่อสู้ของพุธเรื่องขอหักลบกลบหนี้กับมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อเกิดขึ้นภายหลังจันทร์ยื่นฟ้องคดีแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 236 ข้อต่อสู้ของพุธจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของพุธฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ 4 เสาร์และอาทิตย์เป็นเจ้าหนี้ร่วมของศุกร์ในหนี้เงินสองแสนบาท ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ศุกร์ได้เอาแหวนเพชรหนึ่งวงตีใช้หนี้แทนเงินสองแสนบาทให้แก่เสาร์ ซึ่งเสาร์ยอมรับเอาไว้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 292 วรรคแรก การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา 298 ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือ เจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ แม้ทั้งนี้เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว

มาตรา 299 วรรคสาม นอกจากนี้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 292, 293 และ 295 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

มาตรา 321 วรรคแรก ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมนั้น ลูกหนี้มีสิทธิเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่ลูกหนี้จะเลือก แม้ว่าเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งจะได้ฟ้องคดีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้แล้วก็ตาม (มาตรา 298)

กรณีตามอุทาหรณ์ อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศุกร์ลูกหนี้ได้เอาแหวนเพชรหนึ่งวงตีใช้หนี้แทนเงินสองแสนบาทให้แก่เสาร์เจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่ง และเสาร์ยอมรับเอาไว้นั้น ถือเป็นกรณีที่ศุกร์ทำการอันพึงกระทำแทนการชำระหนี้ และเสาร์เจ้าหนี้ได้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ (ตามมาตรา 292 วรรคแรกประกอบมาตรา 321 วรรคแรก) ทั้งนี้เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเจ้าหนี้ร่วมจึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 292 วรรคแรก มาบังคับใช้โดยอนุโลมตามมาตรา 299 วรรคสาม ดังนั้น หนี้ดังกล่าวจึงระงับ และมีผลถึงอาทิตย์เจ้าหนี้ร่วมอีกคนด้วย อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทให้แก่ตนไม่ได้ตามมาตรา 298 มาตรา 299 วรรคสามประกอบอนุโลมใช้มาตรา 292 วรรคแรก และมาตรา 321 วรรคแรก

สรุป อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนไม่ได้

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ ภาค 2/2554

การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  นายเมฆซึ่งเป็นชาวไร่มันสำปะหลังได้กู้ยืมเงินจากนายหมอกเพื่อนสนิทของตน  100,000  บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการเพาะปลูกมันสำปะหลังและได้ทำสัญญาเงินกู้ยืมไว้เป็นหลักฐาน  แต่เนื่องจากในขณะทำสัญญานายเมฆยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถชำระหนี้แก่นายหมอกได้เมื่อใด  คู่สัญญาจึงตกลงให้เว้นว่างในช่องกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้คืนไว้ก่อน  ต่อมาวันที่  15  มีนาคม  2554

นายเมฆได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงนายหมอกแจ้งว่า  จะชำระหนี้เงินกู้ให้นายหมอกเมื่อขายมันสำปะหลังได้มากพอ  ขณะนี้กำลังรวบรวมเงินอยู่  นายหมอกได้รับทราบข้อความในจดหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้ตอบกลับ  ปรากฏว่าช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม  2554  เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วไปหมดทั้งจังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายเมฆกับนายหมอก

ทรัพย์สินต่างๆและผลผลิตมันสำปะหลังของนายเมฆได้รับความเสียหายหมด  จนกระทั่งวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  นายหมอกได้ให้ทนายความยื่นฟ้องเรียกเงินกู้จำนวนดังกล่าวคืนจากนายเมฆ พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้ยืมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ  นายเมฆได้ให้การต่อสู้ว่า  หนี้เงินกู้รายนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเพราะไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก่อนฟ้อง

นายหมอกไม่เคยทวงถามก่อนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง  นอกจากนี้นายเมฆได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม  ทรัพย์สินเสียหายและผลผลิตก็ถูกน้ำท่วมเสียหายหมดการชำระหนี้จึงตกเป็นพ้นวิสัย  นายเมฆจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้แล้ว  ในส่วนของดอกเบี้ยนั้นเมื่อไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา  นายหมอกจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย  ขอให้ยกฟ้อง  ถ้านักศึกษาเป็นผู้พิพากษา  นักศึกษาจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา  204  วรรคแรก ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีดังนี้  การที่นายเมฆทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอก  โดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้นั้นแม้ต่อมานายเมฆจะส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงนายหมอกว่าหากขายมันสำปะหลังได้มากพอจะชำระหนี้เงินกู้คืนให้นายหมอก  ก็ถือไม่ได้ว่าคู่สัญญาได้ตกลงในเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนกันอย่างไร  ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่อาจทราบกำหนดเวลาชำระหนี้ได้  เพราะไม่อาจรู้ได้ว่านายเมฆจะขายผลผลิตและรวบรวมเงินได้พอแก่การชำระหนี้เมื่อใด  ดังนั้นนายหมอกเจ้าหนี้จึงสามารถเรียกให้นายเมฆลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และให้ถือว่าหนี้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้วตามมาตรา  203  วรรคแรก  (ฎ.  248/2509)  กล่าวคือ  นายหมอกมีอำนาจฟ้องให้นายเมฆชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องทวงถามก่อน

ส่วนกรณีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนทรัพย์สินและผลผลิตของนายเมฆเสียหายหมดนั้น  แม้จะทำให้นายเมฆไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ในเวลานี้  แต่ก็เป็นเหตุที่ยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยตามมาตรา  219  นายเมฆจึงยังไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้

สำหรับกรณีดอกเบี้ยนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าในสัญญากู้ยืมได้กล่าวถึงหรือแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาจะให้ดอกเบี้ยแก่กัน  นายหมอกผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากนายเมฆตั้งแต่วันทำสัญญากู้  กรณีไม่ต้องด้วย  ป.พ.พ.  มาตรา  7

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายหมอกให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลเรียกให้นายเมฆชำระหนี้เงินกู้รายนี้  ย่อมถือได้ว่า  การฟ้องคดีเป็นการทวงถามให้ชำระหนี้แล้ว  เมื่อนายเมฆไม่ยอมชำระหนี้  จึงถือว่านายเมฆผิดนัดชำระหนี้ตามมาตรา  204  วรรคแรก  ดังนั้น  นายหมอกจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับตั้งแต่วันที่นายเมฆผิดนัดคือนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่านายเมฆจะชำระหนี้เสร็จตามมาตรา  224  วรรคแรก

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษา  ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยคดีนี้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  นายเอกเป็นผู้ให้เช่าห้องพักรายเดือน  นายโทได้ทำสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวเป็นเวลา  12  เดือน  ค่าเช่าเดือนละ  2,000  บาท ตกลงกันด้วยว่า  นายโทจะต้องโอนเงินผ่านระบบธนาคารเข้าบัญชีของนายเอกในวันที่  5  ของเดือนถัดไป  เมื่อเข้าพักในห้องเช่าแล้ว

นายโทคิดต้องการจะประหยัดค่าธรรมเนียมธนาคารในการที่ต้องโอนเงินค่าเช่าทุกเดือน  จึงรอจนเวลาผ่านไป  3  เดือน  จึงไปโอนเงินค่าเช่า  6,000  บาทเข้าบัญชีให้เอก  และเมื่อผ่านไปอีก  3  เดือนก็ทำเช่นเดิมอีก  นายเอกได้มาปรึกษานักศึกษาซึ่งเป็นทนายความว่าจะถือว่านายโทผิดสัญญาเช่าและเลิกสัญญาได้หรือไม่  นักศึกษาจะให้คำปรึกษาแนะนำนายเอกในเรื่องนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  208  วรรคแรก  การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด  ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

มาตรา  215  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้  เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแนะนำแก่นายเอกดังนี้  การที่นายโทได้ทำสัญญาเช่าห้องพักจากนายเอกเป็นเวลา  12  เดือน โดยตกลงโอนเงินค่าเช่าห้องพักเป็นรายเดือนผ่านระบบธนาคารเข้าบัญชีของนายเอกภายในวันที่  5  ของเดือนถัดไปนั้น  ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา  204  วรรคสอง  นายโทจึงต้องชำระหนี้ตามวันที่กำหนด  คือ  ทุกวันที่  5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาเช่า

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายโทรอจนเวลาผ่านไป  3  เดือน  จึงรวมเงินค่าเช่าไปโอนเข้าบัญชีให้นายเอกครั้งหนึ่ง  และเมื่อผ่านไปอีก  3 เดือน  ก็ทำเช่นเดิมอีก  ดังนี้  ย่อมถือว่านายโทผิดสัญญาเช่าและผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เดือนแรกแล้ว  เพราะไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา  204  วรรคสอง

และการที่นายโทรวมค่าเช่าหลายเดือนจึงไปโอนเงินครั้งหนึ่งนั้น  ยังถือเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามความประสงค์แท้จริงแห่งมูลหนี้  (มาตรา  215)  เพราะการชำระหนี้ของผู้เช่าจะสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้เช่าก็ด้วยการชำระค่าเช่าตามกำหนดเป็นรายเดือนทุกเดือน  ผู้เช่าจึงต้องชำระหนี้ต่อผู้ให้เช่าให้เป็นไปตามนั้นโดยตรงตามมาตรา  208  วรรคแรก  ดังนั้น  นายเอกจึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแนะนำนายเอกดังที่ได้กล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  3  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้  โดยมีสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงินกู้ยืมห้าแสนบาท  เพื่อมิให้หนึ่งได้รับการชำระหนี้  สองจึงได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่สามในราคาห้าแสนบาท  สามรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้อันเป็นทางให้หนึ่งเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ต่อมาในวันที่  10  มกราคม  2555  สามได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่สี่อีกทอดหนึ่งในราคาห้าแสนบาท

หลังจากสี่รับโอนไว้เรียบร้อยแล้วในวันที่  20  มกราคม  2555  สี่จึงได้ทราบความจริงว่าสองต้องการฉ้อฉลเจ้าหนี้  ปรากฏว่าในวันที่  30 มกราคม  2555  หนึ่งได้เป็นโจทย์ฟ้อง  ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างสองกับสาม  และระหว่างสามกับสี่ด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  238  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก  อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

วินิจฉัย

 กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สองลูกหนี้ได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่สามนั้น  ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  และเมื่อสามผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  โดยหลักแล้ว  หนึ่งเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างสองกับสามได้  ตามมาตรา  237  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อต่อมาปรากฏว่าสามได้โอนขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่สี่อีกทอดหนึ่ง  โดยสี่ได้รับการโอนขายบ้านพร้อมที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทน  และได้รับโอนมาโดยสุจริต  กล่าวคือ  ในขณะที่สี่รับโอนมานั้นสี่ไม่รู้ว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้นมาก่อน  อีกทั้งสี่ได้รับการโอนขายมาก่อนที่หนึ่งผู้เป็นเจ้าหนี้จะยื่นฟ้องคดีขอเพิกถอน  ดังนั้น  สี่ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  238 ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ไม่ได้

สรุป  ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายระหว่างสามกับสี่ไม่ได้

 

 

ข้อ  4  จันทร์และอังคารเป็นลูกหนี้ร่วม  กู้เงินของพุธไปสองแสนบาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  กำหนดชำระหนี้วันที่  15  มกราคม 2555  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  จันทร์แต่ผู้เดียวนำเงินสองแสนบาทพร้อมดอกเบี้ยไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อพุธโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นับแต่วันที่พุธปฏิเสธไม่รับชำระหนี้จากจันทร์  พุธจะเรียกดอกเบี้ยจากอังคารต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อพุธโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  ย่อมถือว่าพุธเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อจันทร์ตามมาตรา  207  และมีผลทำให้พุธไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากจันทร์ได้ในระหว่างที่ตนผิดนัด  คือนับแต่วันที่  15  มกราคม  2555  เป็นต้นไป  ตามมาตรา  221

และเมื่อจันทร์เป็นลูกหนี้ร่วมกับอังคาร  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้น  อังคารจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของพุธเจ้าหนี้ด้วย  พุธจึงเรียกดอกเบี้ยจากอังคารในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้เช่นกัน

สรุป  นับแต่วันที่พุธปฏิเสธไม่รับชำระหนี้จากจันทร์  พุธจะเรียกดอกเบี้ยจากอังคารต่อไปไม่ได้

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  ห้าแสนบาท  มีกำหนดเวลาสามปี  โดยจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้นี้ไว้  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  หลังจากกู้ไปได้เพียงหกเดือน  ก  ถึงแก่ความตาย  ข  เห็นว่าตามสัญญาสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนดจึงไม่ได้เรียกไม่ได้บังคับชำระหนี้  เมื่อครบกำหนด  ข  ก็มาเรียกมาบังคับเอากับ  ค  ทายาทของ  ก  ค  ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความ  ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้  ข้อต่อสู้ของ  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/9  สิทธิเรียกร้องใดๆถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา  193/10  สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ  ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา  193/12  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด  ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ได้ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  1754  วรรคสาม  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา  193/27  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี  มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้  หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1754  วรรคสาม  ได้กำหนดไว้ว่า  ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า  1  ปี  เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม  มิฉะนั้นสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  โดยมีกำหนดเวลา  3  ปี  และหลังจากกู้ไปได้เพียง  6  เดือน  ก  ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย  ซึ่ง  ข เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของ  ก  ลูกหนี้  ดังนี้  แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่าง  ก  กับ  ข  จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ  ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา  203  วรรคสอง  แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องลูกหนี้ตายก่อนกำหนด  และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่า  1  ปี  (มาตรา  193(30))  ดังนั้น  เจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตาย  ตามมาตรา  1754  วรรคสาม  เมื่อ  ข  ไม่ได้ฟ้องบังคับให้  ค  ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่  ก  ลูกหนี้ตาย  หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ  (ตามมาตรา  193/9  มาตรา  193/12)  ค  จึงมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้นได้  (ตามมาตรา 193/10)  ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของ  ค   ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  1754  วรรคสาม  กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา  193/27  ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การที่  ก  กู้เงิน  ข  นั้น  ก  ได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้ไว้  ดังนั้น  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว  ตามมาตรา  1754  วรรคสาม  แต่บทบัญญัติมาตรา  193/27  ก็ยังให้สิทธิแก่  ข  เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของ  ก  ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้  แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของ  ก  และจะใช้สิทธินั้นบังคับให้  ค  ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้  ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของ  ค  ที่ว่า  ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของ  ค  ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความนั้นฟังขึ้น  แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  2  ดำมีหน้าที่ขับรถส่งของให้แดงนายจ้าง  ขณะส่งของดำขับรถด้วยความเร็วสูง  ช่วงทางโค้งดำควบคุมรถไม่ได้  รถวิ่งล้ำเลยกึ่งกลางถนน  เฉี่ยวชนกับรถหกล้อที่ขาวขับสวนมา  ตามบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนดำขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ  และบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานเกี่ยวกับคดีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างดำกับขาวซึ่งทั้งคู่รู้จักสนิทสนมกัน

มีความว่า  “ค่าเสียหายในการนี้คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้  และจะนำไปซ่อมกันเอง”  เมื่อผู้รับประกันภัยรถหกล้อที่ขาวขับได้นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม  เสียค่าซ่อมไปหกหมื่นบาท  ผู้รับประกันภัยจะมาเรียกจากดำและแดงได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

มาตรา  226  วรรคแรก  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้  รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

มาตรา  227  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว  ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำขับรถส่งของโดยประมาท  เฉี่ยวชนกับรถหกล้อที่ขาวขับสวนมา  จนทำให้รถหกล้อของขาวเกิดความเสียหายนั้น  ถือเป็นกรณีที่ดำกระทำละเมิดต่อขาว  และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง  ดังนั้น  ดำและแดงนายจ้างจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ขาว  (ตามมาตรา  420  และมาตรา  425)  ส่วนการที่ดำกับขาวทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายในมูลละเมิดนั้น  เมื่อไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้ง  จึงไม่มีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ  มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับ

ดังนั้น  เมื่อผู้รับประกันภัยรถหกล้อที่ขาวขับได้นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม  และเสียค่าซ่อมไป  6  หมื่นบาท  กรณีจึงเป็นการที่ผู้รับประกันภัย  (ลูกหนี้)  ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ขาว  (เจ้าหนี้)  แล้ว  ดังนั้น  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของขาวผู้เอาประกันภัยในอันที่จะเรียกให้ดำและแดงผู้ทำละเมิดชำระค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายไปแล้วได้ตามมาตรา  226  วรรคแรก  มาตรา  277  และมาตรา  880  วรรคแรก  พร้อมทั้งเรียกดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันที่ตนได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไป  (ตามมาตรา  224)

สรุป  ผู้รับประกันภัยสามารถเรียกค่าซ่อมรถ  6  หมื่นบาท  จากดำและแดงได้พร้อมทั้งเรียกดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันที่ตนได้จ่ายไป

 

 

ข้อ  3  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้สองเป็นจำนวนเงิน  300,000  บาท  และสองเป็นเจ้าหนี้สาม  เป็นจำนวนเงิน  900,000  บาท  หนึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องของสอง  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  233  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสามเรียกเอาเงิน  900,000  บาท  ที่สามค้างชำระแก่สอง  ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาสามยอมชำระเงินให้หนึ่ง  300,000  บาท

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หนึ่งจะว่ากล่าวเอาเงินอีก  600,000  บาท  โดยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือค้างอยู่ตามคำฟ้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นเสร็จกันไป  แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย  ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งเจ้าหนี้ของสองในมูลหนี้  300,000  บาท  ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของสองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  233  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสามเรียกเอาเงิน  900,000  บาท  ที่สามค้างชำระแก่สองนั้น  กรณีถือเป็นการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  ซึ่งตามมาตรา  235  กำหนดให้  เจ้าหนี้สามารถเรียกเงินได้เต็มจำนวนที่จำเลยยังค้างชำระแก่ลูกหนี้  โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  แต่ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้แล้ว  คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป

ดังนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในระหว่างพิจารณา  สามจำเลยยอมชำระเงินให้หนึ่ง  300,000  บาท  ซึ่งเท่ากับจำนวนที่สองค้างชำระแก่หนึ่งแล้ว  คดีสำหรับหนึ่งผู้เป็นโจทก์ย่อมเป็นอันเสร็จไป  หนึ่งจะมาว่ากล่าวขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปในส่วนจำนวนเงินอีก  600,000  บาท  ที่เหลือติดค้างอยู่ตามคำฟ้องไม่ได้  เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของสองโดยเฉพาะตามมาตรา  235

สรุป  หนึ่งจะว่ากล่าวเอาเงินอีก  600,000  บาท  โดยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ตามคำฟ้องไม่ได้

 

 

ข้อ  4  จันทร์เป็นเจ้าหนี้และอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน  500,000  บาท  โดยมีพุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  อังคาร  (ลูกหนี้)  ผิดนัด  จันทร์  (เจ้าหนี้)  จึงเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้  ปรากฏว่า  จันทร์เรียกให้พุธชำระหนี้เพียงคนเดียวทั้งหมด  500,000  บาท  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  จันทร์มีสิทธิเรียกให้พุธชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธและพฤหัสเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้  500,000  บาท  ที่มีอังคารเป็นลูกหนี้จันทร์นั้น  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา  682 วรรคสอง  กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  291  มาบังคับใช้ในกรณีนี้ด้วย  ซึ่งตามมาตรา  291  ได้กำหนดไว้ว่า  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง  ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้

ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  และอังคาร  (ลูกหนี้)  ผิดนัด  ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดมีขึ้น  ดังนั้นจันทร์  (เจ้าหนี้)  จึงมีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้สิ้นเชิงจากพุธ  (ผู้ค้ำประกัน)  เพียงคนเดียวทั้งหมด  500,000  บาท  ได้ตามมาตรา  291

สรุป  จันทร์มีสิทธิเรียกให้พุธชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยชอบด้วยมาตรา  291

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2555

การสอบไล่ภาค 1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2551  นาย  ก  อาชีพทนายความ  กู้ยืมเงินนาย  ข  100,000  บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  ตกลงชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในวันที่  1  ตุลาคม  2552  ที่บ้านของนาย  ข  ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นาย  ก  ได้นำเงินสดพร้อมดอกเบี้ยไปชำระแก่นาย  ข  ที่บ้าน  แต่นาย  ข  เห็นว่า  ดอกเบี้ยที่ได้รับตามสัญญาสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร  จึงไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว  และแจ้งให้นาย  ก  นำเงินกลับไปก่อน  นาย  ก  ไม่ว่าอะไรแล้วกลับบ้านไป  เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่  10 ตุลาคม  2554

นาย  ข  ได้ยื่นฟ้องนาย  ก  ต่อศาลเรียกเงินที่ให้กู้ไปคืนโดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่  2  ตุลาคม  2552  เป็นต้นไปจนกว่านาย  ก  จะชำระเสร็จสิ้น  นาย  ก  ได้รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่  1  ธันวาคม  2554  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ถ้านักศึกษาเป็นศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  203  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

 กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  กู้ยืมเงินนาย  ข  100,000  บาท  โดยตกลงชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในวันที่  1  ตุลาคม  2552  ที่บ้านของนาย  ข  นั้น  ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา  204  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและนาย  ก  ได้นำเงินสดพร้อมดอกเบี้ยไปชำระที่บ้านนาย  ข  จึงถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว  เมื่อปรากฏว่านาย  ข  กลับไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว  เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ได้รับตามสัญญาสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเงินฝากธนาคาร  ย่อมถือว่านาย  ข  เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  นาย  ข  เจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

และเมื่อถือว่านาย  ข  เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด  ผลแห่งการนี้ย่อมทำให้นาย  ข  ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่ตนผิดนัดได้ตามมาตรา  221  และทำให้หนี้เงินกู้ระหว่างนาย  ก  กับนาย  ข  กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามมาตรา  203  วรรคแรก

ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าวันที่  10  ตุลาคม  2554  นาย  ข  ได้ยื่นฟ้องนาย  ก  ต่อศาล  เรียกเงินที่ให้กู้ไปคืน  นาย  ข  จึงไม่อาจจะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาจากนาย  ก  ตั้งแต่วันที่  2  ตุลาคม  2552  ได้  เพราะถือว่าอยู่ระหว่างเวลาที่นาย  ข  เจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา  221

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อหนี้รายนี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระแล้ว  การที่นาย  ข  เจ้าหนี้ยื่นฟ้องนาย  ก  เรียกหนี้เงินกู้คืนนั้น  ย่อมถือว่านาย  ข  ได้เตือนนาย  ก  ให้ชำระหนี้แล้วตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้อง  ดังนั้น  นาย  ข  จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่  10  ตุลาคม  2554  เป็นต้นไป  จนกว่านาย  ก  จะชำระหนี้เสร็จสิ้น  เพราะถือว่าอยู่ระหว่างเวลาที่นาย  ก  ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา  204  วรรคแรก  โดยนาย  ข  สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ  15  ต่อปี ตามสัญญา  ตามมาตรา  224

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

 

ข้อ  2  นายไสว่าจ้างบริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  ให้ขนส่งไขมันนมจากฟาร์มของนายไสที่จังหวัดราชบุรีเพื่อไปส่งที่โรงงานของนายไสเองในกรุงเทพมหานคร  บริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  ได้รับมอบไขมันนม  100  ถังราคา  100,000  บาท  ไว้เพื่อการขนส่งแล้ว  ระหว่างการขนส่ง  คนขับรถพนักงานของบริษัท  ตรงเวลาจำกัด  ขับรถโดยไม่ระมัดระวังและใช้ความเร็วเกินกำหนด

ทำให้สินค้าที่ขนส่งได้รับการกระทบกระเทือน  เมื่อสินค้าถึงโรงงานของนายไสในกรุงเทพมหานคร  ปรากฏว่าไขมันนม  20  ถัง  ราคา  20,000  บาท  มีรอยแตกซึม  เกิดการปนเปื้อนกับฝุ่นผงในอากาศ  และเนื่องจากไขมันนมเหล่านี้  นายไสจะนำมาใช้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกที่ต้องใช้วัตถุดิบที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน  นายไสจึงปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าไขมันนมทั้ง  100  ถัง

และเรียกค่าเสียหายจากบริษัท  ตรงเวลา  จำกัดทั้งหมดเป็นเงิน  100,000  บาท  ถ้านักศึกษาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท  ตรงเวลา จำกัด  นักศึกษาจะแนะนำอย่างไรเพื่อให้บริษัทเสียหายน้อยที่สุด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  218  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้  ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน  ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น  จะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว  เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้ว  และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้

มาตรา  220  ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น  แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา  373  หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ไขมันนม  20  ถัง  เกิดการปนเปื้อนนั้น  เกิดจากการขับรถโดยไม่ระมัดระวังของพนักงานบริษัท  ตรงเวลา  จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของบริษัทในการปฏิบัติการชำระหนี้  คือ  การขนส่งสินค้าไปส่งมอบที่ปลายทาง  ดังนั้น  บริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  จึงต้องร่วมรับผิดชอบด้วยตามมาตรา  220

และจากข้อเท็จจริงตามปัญหา  การชำระหนี้ในส่วนของไขมันนม  20  ถัง  ที่มีรอยแตกซึมนั้น  ถือได้ว่าเป็นการพ้นวิสัยแล้ว  เนื่องจากเป็นสินค้าที่จะต้องนำไปใช้ผลิตนมผงสำหรับทารกซึ่งไม่สามารถใช้วัตถุดิบปนเปื้อนได้  เพราะจะเป็นอันตรายต่อทารก  ดังนั้น  เมื่อการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ  ความเสียหายในส่วนนี้บริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมให้แก่นายไส  ตามมาตรา  218  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  สำหรับไขมันนมอีก  80  ถังนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการปนเปื้อน  หรือได้รับความเสียหายอย่างไร  จึงไม่อาจถือได้ว่าไขมันนมส่วนนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นายไส  เพราะนายไสยังสามารถนำไปใช้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกได้ตามความประสงค์  นายไสจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไขมันนมส่วนนี้จากบริษัท  และเรียกค่าเสียหายด้วยได้ตามมาตรา  218  วรรคสอง  ดังนั้น  บริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  จึงควรชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายไสเพียง  20,000  บาท  สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  ในส่วนของไขมันนม  20  ถังเท่านั้น

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท  ตรงเวลา  จำกัด  ข้าพเจ้าจะแนะนำดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้  โดยมีอังคารและพุธเป็นลูกหนี้ร่วม  ในหนี้เงินกู้ยืมหนึ่งแสนบาท  อังคารเป็นคนที่มีฐานะดี  สามารถชำระหนี้ให้แก่จันทร์โดยสิ้นเชิงได้  แต่พุธฐานะไม่ค่อยดีมีทรัพย์สินอยู่เพียงอย่างเดียว  คือรถยนต์หนึ่งคันราคาประมาณหนึ่งแสนบาท

ปรากฏว่าก่อนหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระเพียงห้าวัน  พุธได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หา  หลังจากนั้นจันทร์ทราบเรื่อง  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธลูกหนี้ได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หานั้น  ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  และกรณีนี้แม้บุตรของพุธซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นการยกให้เพื่อหนีหนี้  จันทร์ก็ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม  แม้จะปรากฏว่า  อังคารกับพุธเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  แต่กฎหมายในเรื่องลูกหนี้ร่วมนั้น  เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตามมาตรา  291  ดังนั้น  การที่พุธลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งทำนิติกรรมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งถือเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา  237  วรรคแรก  จันทร์เจ้าหนี้ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  แม้ว่าอังคารลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งจะมีฐานะดี  สามารถชำระหนี้โดยสิ้นเชิงได้ก็ตาม  เพราะกรณียังคงถือว่าเป็นการทำนิติกรรมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

สรุป  จันทร์สามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้   

 

 

ข้อ  4  เอกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องส่งมอบม้าตัวหนึ่งให้แก่โทและตรี  กำหนดส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีในวันที่  20  มกราคม  2555  ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบ  เอกได้เสนอขอปฏิบัติการชำระหนี้ส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีด้วยกันทั้งสองคน  ปรากฏว่าโทพร้อมและตกลงรับการส่งมอบม้า  แต่ตรีเพียงผู้เดียวปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้จากเอกโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ใครบ้างที่ตกเป็นผู้ผิดนัด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  302  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้  และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน  และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น  อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้  ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น

นอกจากนี้  ข้อความจริงใดที่ท้าวถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้น  หาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

วินิจฉัย

โดยหลัก  ถ้าเป็นเรื่องหนี้ที่แบ่งกันชำระมิได้  และมีเจ้าหนี้หลายคนโดยเจ้าหนี้เหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน  การกระทำของเจ้าหนี้คนหนึ่งย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเจ้าหนี้คนนั้น  หามีผลไปถึงเจ้าหนี้คนอื่นไม่  ตามมาตรา  302

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องส่งมอบม้าตัวหนึ่งให้แก่โทและตรีนั้น  ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  โดยมีโทและตรีเป็นเจ้าหนี้  แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน  ดังนั้น  เมื่อถึงเวลาส่งมอบม้า  การที่เอกได้เสนอขอปฏิบัติการชำระหนี้ส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีด้วยกันทั้งสองคน  การขอปฏิบัติการชำระหนี้ของเอกจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  302  วรรคแรก  เพราะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดแล้ว

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ตรีเพียงผู้เดียวที่ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากเอกโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ก็ย่อมมีผลทำให้ตรีตกเป็นเจ้าหนี้ผู้ผิดนัด  ตามมาตรา  207  และผลของการผิดนัดนี้  ถือเป็นกรณีที่ตรีตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดโดยลำพัง  หามีผลให้โทเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผิดนัดด้วยไม่  ตามมาตรา  302  วรรคสอง

สรุป  ตรีแต่ผู้เดียวที่ตกเป็นผู้ผิดนัด

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 2/2555

การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายมะนาวติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายทุเรียน  นายทุเรียนแจ้งนายมะนาวว่าที่ดินแปลงนี้มีชื่อเด็กชายมังคุดบุตรของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะจดทะเบียนโอนขายได้  จึงขอเวลาสามเดือน  นายมะนาวยินดีและได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน  โดยนายทุเรียนทำสัญญาแทนเด็กชายมังคุดในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม

หลังจากนั้นอีก  1  สัปดาห์  ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดินแปลงดังกล่าว  นายทุเรียนได้เบิกความต่อศาลอธิบายเหตุผล  และชี้ให้เห็นประโยชน์จากการขายที่ดินแปลงนี้ที่จะตกได้แก่เด็กชายมังคุด  ต่อมาปรากฏว่าศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องไม่อนุญาตให้ขาย

นายมะนาวจึงได้มาปรึกษานักศึกษาในฐานะทนายความประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากนายทุเรียน  นักศึกษามีความเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้  และจะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายมะนาวรู้แต่แรกแล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของเด็กชายมังคุดซึ่งยังเป็นผู้เยาว์และต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะขายที่ดินแปลงนี้ได้  และปรากฏว่านายทุเรียนก็ได้รีบเร่งดำเนินการขออนุญาตต่อศาลหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายเพียง  1 สัปดาห์  ทั้งไม่ปรากฏว่านายทุเรียนมีเจตนาเสนอพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลยกคำร้องแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องไม่อนุญาตให้ขายที่ดินซึ่งเป็นไปตามดุลพินิจของศาล  จึงถือว่าเป็นกรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย  เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  ซึ่งนายทุเรียนและเด็กชายมังคุดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา  219  วรรคแรก  ดังนั้น  ทั้งสองคนจึงหลุดจากการชำระหนี้  คือ  ไม่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้แก่นายมะนาว  นายมะนาวจึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากนายทุเรียนได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายมะนาวว่า  นายทุเรียนและเด็กชายมังคุดหลุดพ้นจากการชำระหนี้  และนายมะนาวไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากนายทุเรียนได้

 

 

ข้อ  2  ในคดีเรื่องหนึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ใช้บริการขนส่งสินค้าของบริษัท  ริมทะเล  จำกัดมาแล้วหลายครั้ง  โดยมีข้อตกลงว่า  ในการชำระค่าระวางขนส่ง  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะชำระภายใน  1  เดือนนับแต่วันที่บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบ  ต่อมาบริษัท  มะม่วง  จำกัด  จ้างบริษัท  ริมทะเล  จำกัด  ขนส่งตู้เย็นจำนวน  1,000  หลัง  จากท่าเรือคลองเตยไปยังท่าเรือเกาะสีชัง

ครั้นวันที่  20  มกราคม  2556  สินค้าถึงปลายทางเรียบร้อย  บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  จึงได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ชำระหนี้ค่าระวางขนส่ง  จำนวน  50,000  บาท  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2556  แต่บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ไม่ยอมชำระ  ให้นักศึกษาในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้  วินิจฉัยว่า  บริษัทมะม่วง  จำกัด  ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระหรือไม่  ในอัตราร้อยละเท่าใด  และนับแต่วันใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัทมะม่วง  จำกัด  ตกลงจะชำระเงินค่าระวางขนส่งภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบนั้น  ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทิน  นับแต่วันที่ได้บอกกล่าวตามมาตรา  204  วรรคสองตอนท้าย 

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ชำระหนี้ค่าระวางขนส่งจำนวน  50,000  บาท  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2556  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงต้องชำระภายในวันที่  21  กุมภาพันธ์  2550  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าบริษัท  มะม่วง จำกัด  ไม่ชำระหนี้ภายในวันดังกล่าว  จึงถือว่าบริษัท  มะม่วง  จำกัด  ลูกหนี้  ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  โดยมิพักต้องเตือนเลยตามมาตรา  204  วรรคสองตอนต้น 

ดังนั้น  เมื่อบริษัท  มะม่วง  จำกัด  ลูกหนี้  ตกเป็นผู้ผิดนัด  จึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระให้แก่บริษัท  ริมทะเล จำกัด  เจ้าหนี้  ในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันผิดนัด  คือ  วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  เป็นต้นไปจนกว่า  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรา  224  วรรคแรก 

สรุป  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันที่ผิดนัด  คือ  วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารสองแสนบาท  และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธอยู่สามแสนบาท  หนี้ระหว่างอังคารกับพุธถึงกำหนดชำระแล้ว  แต่อังคารไม่ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่พุธซึ่งเป็นลูกหนี้ของอังคาร  เป็นเหตุให้จันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  อันเป็นกรณีที่จันทร์เจ้าหนี้จะเข้าใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารลูกหนี้ได้  จันทร์จึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารโดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่พุธ

ปรากฏว่า  จันทร์ฟ้องพุธแต่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคาร  (ลูกหนี้)  เข้ามาในคดีด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การที่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคารเข้ามาในคดี  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา  234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

วินิจฉัย

 กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องที่จันทร์  (เจ้าหนี้)  ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร  (ลูกหนี้)  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  233  โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  (ลูกหนี้ของอังคาร)  เป็นจำเลย  ซึ่งการที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้น  ป.พ.พ.  มาตรา  234  กำหนดไว้ว่า  เจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้องจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้  (คืออังคาร)  เข้ามาในคดีด้วย

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  จันทร์ฟ้องพุธแต่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคาร  (ลูกหนี้)  เข้ามาในคดีด้วย  จึงถือว่าจันทร์  (เจ้าหนี้)  ทำผิดหลักเกณฑ์ของกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  234  ดังนั้นจึงมีผลให้เจ้าหนี้  (คือจันทร์)  ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในหนี้ที่  2  คือ  พุธ  ตามที่จันทร์อ้างถึงการใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของพุธ  ดังนั้นผลในทางกฎหมายก็คือ  เท่ากับจันทร์ผู้เป็นโจทก์ฟ้องโดยไม่มีอำนาจฟ้อง  ศาลจึงต้องยกฟ้อง

สรุป  การที่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคารเข้ามาในคดี  ผลในทางกฎหมายคือเท่ากับจันทร์ผู้เป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  ศาลต้องยกฟ้อง

 

 

ข้อ  4  เอกเป็นเจ้าหนี้และโทเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงินสี่แสนบาท  โดยมีตรีและจัตวาเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  โทลูกหนี้ผิดนัด  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  กรณีที่หนึ่ง  ถ้าเจ้าหนี้เตือนให้ตรีชำระหนี้  ตามสัญญาค้ำประกัน  แต่ตรีไม่ยอมชำระหนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

กรณีที่สอง  ถ้าตรีเพียงคนเดียวนำเงินสดจำนวนสี่แสนบาทไปชำระให้แก่เอก  (เจ้าหนี้)  โดยเป็นการชำระโดยชอบ  แต่เอกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ให้วินิจฉัยว่า  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ตรีและจัตวาเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายดังกล่าวที่มีโทเป็นลูกหนี้เอกนั้น  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  จึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ตามมาตรา  682  วรรคสอง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง  ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ตามข้อเท็จจริง  การที่หนี้ถึงกำหนดชำระ  ปรากฏว่าโทลูกหนี้ผิดนัด  และเอกเจ้าหนี้ได้เตือนให้ตรีผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแล้วนั้น  เมื่อปรากฏว่าตรีไม่ยอมชำระหนี้  ย่อมถือว่าตรีตกเป็นผู้ผิดนัด  ตามมาตรา  204  วรรคแรก  และการที่ตรีตกเป็นผู้ผิดนัด  ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของตรีลูกหนี้ร่วมเพียงคนเดียว  คือให้ถือว่าเฉพาะตรีเท่านั้นตกเป็นผู้ผิดนัดไม่มีผลถึงจัตวาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วยตามมาตรา  295  ประกอบมาตรา  204  วรรคแรก

กรณีที่สอง  การที่ตรีนำเงินสดจำนวนสี่แสนบาทไปชำระให้แก่เอกเจ้าหนี้  โดยเป็นการชำระโดยชอบ  แต่เอกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น  ย่อมถือว่าเอกเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อตรี  ตามมาตรา  207

และเมื่อตรีเป็นลูกหนี้ร่วมกับจัตวา  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้น  จัตวาจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของเอกเจ้าหนี้ด้วย  ผลในทางกฎหมายจึงเท่ากับเอกผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมทุกคน  คือ  ผิดนัดต่อตรีและจัตวาตามมาตรา  294  ประกอบมาตรา  207

สรุป

กรณีที่หนึ่ง  ผลในทางกฎหมายคือ  ตรีตกเป็นผู้ผิดนัดเพียงคนเดียว  ไม่มีผลไปถึงจัตวาด้วย

กรณีที่สอง  ผลในทางกฎหมายคือ  เอกผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมทุกคน  คือ  ผิดนัดทั้งต่อตรีและจัตวา

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  จำเลยสั่งซื้อหินคลุกเพื่อใช้ในการก่อสร้างหลายครั้ง  ครั้งละหลายพ่วง  ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยต้องชำระราคาค่าซื้อภายในสามสิบวัน ให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้โดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ก.      เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลาหรือไม่ 

ข.      สิทธิเรียกร้องถึงกำหนดเมื่อใด

ค.      อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน  กี่เดือน  กี่ปี

ง.       ถ้าจำเลยผิดนัด  จะถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันไหน  จำเลยจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/12  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด  ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความห้าปี

(4)  เงินค้างจ่าย  คือ  เงินเดือน  เงินปี  เงินบำนาญ  ค่าอุปการะเลี้ยงดู  และเงินอื่นๆในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา

มาตรา  203 วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  การที่จำเลยสั่งซื้อหินคลุกเพื่อใช้ในการก่อสร้างหลายๆครั้ง  ครั้งละหลายพ่วง  ซึ่งแต่ละครั้ง  จำเลยต้องชำระราคาค่าซื้อภายใน  30  วันนั้น

ก.       การที่จำเลยต้องชำระราคาสินค้าภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้า  ถือว่าเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลาตามมาตรา  203  วรรคสอง

ข.       เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลา  ดังนั้น  สิทธิเรียกร้องย่อมถึงกำหนดเมื่อครบกำหนด  30  วัน  นับแต่วันที่โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย

ตัวอย่างเช่น  โจทก์ได้ส่งมอบหินคลุกให้แก่จำเลยวันที่  1  เมษายน  2556  กำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องชำระราคาสินค้าคือวันที่  1 พฤษภาคม  2556  ดังนั้นสิทธิเรียกร้องกรณีนี้ถึงกำหนดวันที่  1  พฤษภาคม  2556

ค.       ตามมาตรา  193/12  ได้บัญญัติว่าอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ดังนั้น  เมื่อสิทธิเรียกร้องถึงกำหนดวันใด  อายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น  เช่น  ตามตัวอย่างดังกล่าว  เมื่อสิทธิเรียกร้องถึงกำหนดวันที่  1 พฤษภาคม  2556  ดังนั้นอายุความในกรณีนี้ก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่  1  พฤษภาคม  2556

และสำหรับกรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อเป็นสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเงินที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา  ดังนั้นจึงมีกำหนดอายุความ  5  ปี  ตามมาตรา  193/33(4) 

ง.        ถ้าจำเลยผิดนัด  ย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดนับตั้งแต่วันที่จำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด  โดยที่เจ้าหนี้ไม่ต้องเตือน  ตามมาตรา  204  วรรคสอง  เช่นตามตัวอย่างดังกล่าวเมื่อถึงกำหนดวันที่  1  พฤษภาคม  2556  จำเลยยังมิได้ชำระหนี้  ย่อมถือว่าจำเลยได้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีโดยที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ต้องเตือน  และเมื่อจำเลยผิดนัด  จำเลยก็จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

 

 

ข้อ  2  บริษัท  มั่งมี  จำกัด  ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกรมสรรพากรอยู่ห้าล้านบาทเศษ  บริษัทฯก็ไม่ขวนขวายที่จะทำการชำระหนี้ภาษีให้เสร็จสิ้น  ในขณะที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ  มีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่กรรมการบริษัทก็เพิกเฉยไม่เรียกมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังส่งใช้ไม่ครบนั้น  กรมฯจะบังคับค่าภาษีเอากับบริษัททางใดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน  จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา  233

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัท  มั่งมี  จำกัด  ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกรมสรรพากร  แต่บริษัทฯก็ไม่ขวนขวายที่จะทำการชำระหนี้ภาษีให้เสร็จสิ้น  และในขณะที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ  มีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่กรรมการบริษัทก็เพิกเฉยไม่เรียกมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังส่งใช้ไม่ครบนั้น  ย่อมถือได้ว่า  เป็นกรณีที่ลูกหนี้คือบริษัทฯมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่ได้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น  เป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือกรมสรรพากรต้องเสียประโยชน์  ดังนั้น  กรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้  โดยการเรียกมูลค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  เพื่อนำมาชำระภาษีได้ตามมาตรา  233

สรุป  กรมสรรพากรจะบังคับค่าภาษีเอากับบริษัทฯได้  โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ  เรียกมูลค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบเพื่อนำมาชำระภาษี

 

 

ข้อ  3  ก  กู้เงิน  ข  สามแสนบาท  โดยจดจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้  แต่  ก  กลับนำที่ดินที่ติดจำนองดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้  ค  โดย  ค  รู้ว่าที่ดินติดจำนอง  ข  อยู่  ข  จะขอเพิกถอนการขายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  214  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง  รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลง  ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้  ตามมาตรา  237  วรรคแรก  แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงนั้น  ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด  กล่าวคือ  แม้ลูกหนี้จะได้ทำนิติกรรมนั้น  ลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ยังสามารถที่จะบังคับชำระหนี้ได้  ดังนี้  เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้  แต่  ก  กลับนำที่ดินที่ติดจำนองดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้  ค  โดย  ค  ก็รู้ว่าที่ดินติดจำนอง  ข  อยู่นั้น  ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ที่ว่า  การกระทำของ  ก  ลูกหนี้ดังกล่าวนั้นทำให้  ข  เจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่  กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา  214  ที่ว่า  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้น  หมายถึง  การที่เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดนั้น  กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า  ถ้าเป็นเรื่องของสัญญาจำนองแล้วก็ต้องเป็นไปตามมาตรา  733  ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  214  กล่าวคือ  ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่จำนองไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะโอนไปกี่ทอด  จำนองก็ย่อมจะติดไปด้วยเสมอ  ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้รับจำนองย่อมสามารถที่จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่จำนองได้เสมอเช่นเดียวกัน

ดังนั้น  ตามอุทาหรณ์  แม้  ก  จะเอาที่ดินที่ติดจำนองไปทำสัญญาจะขายให้  ค  จึงไม่ถือว่า  เป็นทางทำให้  ข  เจ้าหนี้เสียเปรียบ  เพราะแม้ที่ดินนั้นจะโอนไปเป็นของ  ค  ข  เจ้าหนี้ก็ยังสามารถบังคับจำนองเอากับที่ดินที่ติดจำนองนั้นได้  ดังนั้น  ข  จึงไม่สามารถขอเพิกถอนการขายได้

สรุป  ข  จะเพิกถอนการขายไม่ได้

 

 

ข้อ  4  แดงกู้เงินขาวสองแสนบาท  ต่อมาขาวได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ให้กับเขียว  และเขียวมีหนังสือบอกกล่าวการโอนส่งไปให้แดงแล้ว  ก่อนได้รับคำบอกกล่าว  แดงนำรถยนต์ของตนตีใช้หนี้ขาว  ขาวรับไว้เพราะเห็นว่าเกินคุ้มถ้าขายก็มีกำไร  เมื่อแดงได้รับคำบอกกล่าวเขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน  หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว  หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้  ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

มาตรา  321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามมาตรา  306  วรรคสองดังกล่าวนั้น  หมายความว่า  ถ้าก่อนลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวหรือก่อนลูกหนี้ได้ตกลงด้วยในการโอนสิทธิเรียกร้อง  ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ผู้โอนไปแล้ว  หรือกระทำประการใดจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้  เช่น  นำทรัพย์สินไปตีใช้หนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้เป็นอันระงับไปแล้ว  ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นความรับผิด  ผู้รับโอนจะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้  แต่ถ้าภายหลังได้รับคำบอกกล่าวการโอน  หรือภายหลังที่ลูกหนี้ยินยอมด้วยแล้ว  ถือว่าเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แล้ว  ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระให้เจ้าหนี้  หนี้ไม่ระงับ  ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อีก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงได้หรือไม่  เห็นว่า  ก่อนที่แดงลูกหนี้จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา  306  วรรคแรก  แดงได้นำรถยนต์ของตนตีใช้หนี้ให้แก่ขาวผู้โอนไปแล้ว  กรณีเช่นนี้จึงเป็นการที่แดงลูกหนี้ทำให้พอใจแก่ขาวผู้โอนด้วยการชำระหนี้  ด้วยประการอื่น  และเจ้าหนี้ยอมรับตามมาตรา  321  วรรคแรก  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป  แดงลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ดังนั้น  แดงลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้เขียวอีกตามมาตรา  306   วรรคสอง  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงไม่ได้

สรุป  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงไม่ได้

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายแสนได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายดำและนายแดงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว แต่นายแสนยังไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินนั้น  เมื่อนายดำรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวจึงขายที่ดินส่วนของตนให้นายแดงเจ้าของรวมอีกผู้หนึ่ง  ภายหลังการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนายแดงเพียงผู้เดียวแล้ว  นายแดงจึงรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายแสน  และต้องการฟ้องขับไล่ให้นายแสนออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายแดงจะฟ้องไล่นายแสนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายแสนได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายดำและนายแดงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว นายแสนจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคสอง  แต่เนื่องจากนายแสนยังไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว  จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยมีค่าตอบแทนโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้  ส่วนกรณีที่นายดำเจ้าของรวมจดทะเบียนขายที่ดินส่วนของตนให้กับนายแดงเจ้าของรวมอีกผู้หนึ่ง  จนนายแดงเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวนั้น  ก็ไม่ถือว่านายแดงเป็นบุคคลภายนอกตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคสอง  เพราะการครอบครองปรปักษ์ของนายแสนเป็นการครอบครองปรปักษ์ในส่วนที่นายแดงเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  นายแสนจึงยกการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นายแดงได้  ดังนั้น  นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายแสนไม่ได้

 

ข้อ  2  จันทร์เก็บโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งได้ในห้องลองเสื้อของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ย่านถนนรามคำแหง  และได้นำโทรศัพท์เครื่องนี้ไปขายให้น้อยซึ่งตั้งร้านรับซื้อขาย  ซ่อมโทรศัพท์มือสองทุกรุ่นทุกยี่ห้อ  ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกันในราคา  3,000  บาท  ขณะที่จันทร์ขายโทรศัพท์ที่เก็บได้แก่น้อย  อาทิตย์ซึ่งกำลังหาซื้อโทรศัพท์ในร้านก็มาขอดูโทรศัพท์เครื่องนี้และตกลงซื้อจากน้อยในราคา  3,500  บาท  แต่เมื่อใช้ไปได้เพียง  3  วัน  ก็ได้รับแจ้งจากอังคารว่าโทรศัพท์นี้เป็นของอังคารขอให้อาทิตย์นำมาคืน  มิฉะนั้นจะแจ้งตำรวจให้จับอาทิตย์

ดังนี้  อาทิตย์จึงมาปรึกษาท่านเพื่อขอคำแนะนำว่าตนจะต้องคืนโทรศัพท์เครื่องนี้แก่อังคารหรือไม่  และหากต้องคืน  ตนจะมีทางเรียกเงิน  3,500  บาท  กลับคืนหรือไม่  จากใคร  เพราะเหตุใด  ขอให้ท่านให้คำปรึกษาแก่อาทิตย์

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

อาทิตย์ซื้อโทรศัพท์มือถือมาจากน้อยซึ่งเป็นพ่อค้าที่รับซื้อขาย  ซ่อมโทรศัพท์มือสองทุกรุ่นทุกยี่ห้อ  จึงถือว่าอาทิตย์ซื้อทรัพย์สินมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น  เมื่อซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นโทรศัพท์ที่เจ้าของลืมไว้จึงเป็นการซื้อโดยสุจริต  ตามหลัก  ป.พ.พ.  มาตรา  1332  อาทิตย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง  กล่าวคือ  อาทิตย์ไม่ต้องคืนโทรศัพท์แก่เจ้าของที่แท้จริง  นอกเสียจากว่าจะได้รับชดใช้ราคาที่เสียไปจากเจ้าของ

ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะแนะนำอาทิตย์ว่า  อาทิตย์ต้องคืนโทรศัพท์แก่นายอังคาร  แต่ยังไม่ต้องคืนจนกว่าอังคารจะชดใช้ราคา  3,500  บาท  ที่เสียไปคืนแก่อาทิตย์

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  โดยนายหนึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาตลอด  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายสามซึ่งเป็นเพื่อนกับนายหนึ่งเข้าอาศัยในที่ดินแปลงนี้โดยไม่ได้บอกให้นายสองทราบ  เมื่อนายสามอาศัยในที่ดินแปลงนี้มาได้หกเดือน  นายสองเพิ่งทราบว่านายสามเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงนี้และโดยนายหนึ่งเป็นผู้อนุญาต  นายสองจึงได้บอกนายสามว่าถ้านายสามอยากอยู่ต่อก็ต้องเสียค่าเช่า  มิฉะนั้นก็ต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้  แต่นายสามไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนี้  และก็ไม่ยอมเสียค่าเช่าให้นายสอง

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสองจะเรียกค่าเช่าที่ดินแปลงนี้จากนายสามได้หรือไม่  และถ้านายสามไม่ยอมจ่ายค่าเช่า  นายสองจะขับไล่นายสามให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก

มาตรา  1361  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จะจำหน่ายส่วนของตน  หรือจำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้

แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย  จำนำ  จำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน

วินิจฉัย

นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  โดยนายหนึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาตลอด  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายสามซึ่งเป็นเพื่อนกับนายหนึ่งเข้าอาศัยในที่ดินแปลงนี้โดยไม่ได้บอกให้นายสองทราบ  เมื่อนายสามอาศัยในที่ดินแปลงนี้มาได้หกเดือน  เดือน  นายสองทราบว่านายสามเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงนี้และโดยนายหนึ่งเป็นผู้อนุญาตเพียงผู้เดียว  ไม่ได้รับความยินยอมจากนายสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง  ตามมาตรา  1361  วรรคสอง  จึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์  นายสองจึงให้นายสามออกจากที่ดินแปลงนี้ได้  แต่นายสองบอกนายสามว่าถ้านายสามอยากอยู่ต่อก็ต้องเสียค่าเช่า  มิฉะนั้นก็ต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้  นายสองจะเรียกค่าเช่าที่ดินแปลงนี้จากนายสามได้  และถ้านายสามไม่ยอมเสียค่าเช่าให้นายสอง  นายสองก็ขับไล่นายสามให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ได้ตามมาตรา  1359

 

ข้อ  4  นายแจ่มเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งที่มีคลองภารจำยอมให้นายใจผ่านเข้าออกจากที่ดินของนายใจ  นายใจได้ภารจำยอมมาโดยการครอบครองปรปักษ์  และจดทะเบียนการได้มาเรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายแจ่มได้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นออกเป็นสองโฉนดและยกที่ดินที่แบ่งทั้งสองแปลงแล้วขายให้กับนายจิตกับนายจอม  ที่ดินของนายจอมเท่านั้นที่มีคลองภารจำยอมแตะอยู่  ส่วนของนายจิตไม่มี นายจิตจึงต้องการเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของตนที่รับโอนมา  แต่นายใจต้องการค่าชดเชยหนึ่งแสนบาทถึงจะยอมให้เพิกถอนทะเบียนในส่วนที่ดินที่นายจิตซื้อ  นายจิตจะขอเพิกถอนภารจำยอมและต้องจ่ายชดเชยตามที่นายใจเรียกร้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1394  ถ้ามีการแบ่งแยกภารทรัพย์  ท่านว่าภารจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก  แต่ถ้าในส่วนใดภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ  ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นเรียกให้พ้นจากภารจำยอมก็ได้

วินิจฉัย

นายแจ่มเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งที่มีคลองภารจำยอมให้นายใจผ่านเข้าออกจากที่ดินของนายใจ  นายใจได้ภารจำยอมมาโดยการครอบครองปรปักษ์  และจดทะเบียนการได้มาเรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายแจ่มได้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นออกเป็นสองโฉนดและยกที่ดินที่แบ่งทั้งสองแปลงแล้วขายให้กับนายจิตกับนายจอม  ที่ดินของนายจอมเท่านั้นที่มีคลองภารจำยอมแตะอยู่  ส่วนของนายจิตไม่มี  นายจิตจึงต้องการเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของตนที่รับโอนมา  แต่นายใจต้องการค่าชดเชยหนึ่งแสนบาทถึงจะยอมให้เพิกถอนทะเบียนในส่วนที่ดินที่นายจิตซื้อ  นายจิตจะขอเพิกถอนภารจำยอมได้เพราะว่าที่ดินส่วนของนายจิตภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แกสามานยทรัพย์  เจ้าของส่วนนั้นจะยกให้พ้นจากภารจำยอมอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนนั้นได้  และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่นายใจเรียกร้อง  กฎหมายให้สิทธิกับเจ้าของภารยทรัพย์เพิกถอนได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน  ตามมาตรา  1394

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2547

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายหลีทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้กับนายหลามในราคาห้าแสนบาท  ในวันทำสัญญานายหลามได้ชำระราคาแล้วหนึ่งแสนบาท  และนายหลีอนุญาตให้นายหลามเข้าไปในที่ดินเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาได้  โดยสัญญาซื้อขายระบุว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญา  หลังจากนายหลามสร้างบ้านลงบนที่ดินนั้นได้เพียง  8  เดือน  นายหลีทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนายแหลม

โดยสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้ให้ชัดเจน  และนายแหลมก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายหลีกับนายหลามมาก่อนหลังจากจดทะเบียนโอนกกรมสิทธิ์แล้ว  นายแหลมได้แจ้งให้นายหลามออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายหลามกับนายแหลมผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  146  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายหลีกับนายหลามที่ระบุว่า  ผู้ซื้อและผู้ขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญา  เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังไม่โอนไปยังนายหลามผู้จะซื้อ  นายหลามจึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โยทางนิติกรรมตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299 วรรค  1  แต่เนื่องจากในวันทำสัญญา  นายหลามได้ชำระราคาแล้วหนึ่งแสนบาท  และนายหลีอนุญาตให้นายหลามเข้าไปในที่ดินเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาได้  บ้านที่นายหลามสร้างขึ้นจึงไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน  และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายหลามอยู่  เพราะนายหลามเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผื่นและนายหลามได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  146

หลังจากนายหลามสร้างบ้านลงบนที่ดินนั้นได้เพียง  8  เดือน  นายหลีทำสัญญาและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนายแหลม  โดยสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้ให้ชัดเจน  และนายแหลมก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายหลีกับนายหลามมาก่อน  นายแหลมจึงเป็นผ้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยสมบูรณ์  และมีสิทธิดีกว่านายหลาม  ส่วนบ้านเมื่อไม่เป็นส่วนควบของที่ดินและยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายหลามอยู่  นายแหลมผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  นายหลามจึงมีสิทธิในบ้านดีกว่านายแหลม

สรุป  นายหลามมีสิทธิในบ้านดีกว่านายแหลม  ส่วนนายแหลมมีสิทธิในที่ดินดีกว่านายหลาม

 

ข้อ  2  นายใหญ่มีที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งอยู่ติดถนนสาธารณะ  ต่อมาแบ่งขายที่ดินด้านในให้แก่นายโต  200  ตารางวา  แต่แปลงที่แบ่งขายนี้ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ  นายใหญ่จึงสัญญาว่าจะเปิดถนนกว้าง  3.5  เมตรให้นายโตผ่านเข้า ออก  หากนายโตต้องการ  หลังจากซื้อที่ดินแล้วนายโตไม่ได้เรียกร้องให้นายใหญ่เปิดทางเพื่อทำถนนเพราะตนสามารถใช้ทางผ่านที่ดินของนายเบิ้มซึ่งอยู่ติดกันได้

นายใหญ่ผ่านเข้า ออกบนที่ดินของนายเบิ้มมาราว  5  ปี  โดยไม่เคยขออนุญาต  ต่อมานายเบิ้มได้ปิดทางผ่านบนที่ดินของตนเสีย  นายโตจึงมาขอให้นายใหญ่เปิดถนนกว้าง  3.5  เมตรให้ตนผ่านเข้า ออก  ตามที่เคยสัญญาไว้  นายใหญ่อ้างว่าที่ตนเคยสัญญานั้นผ่านมานานแล้ว  ในตอนนี้หากต้องการให้ตนเปิดทางผ่านเข้า ออก  ตนขอเรียกเงินค่าผ่านเป็นรายปี

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายโตจะขอให้นายใหญ่เปิดทางผ่านให้แก่ตนหรือไม่  และนายโตจะต้องเสียค่าทดแทนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบทที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย  

ที่ดินของนายโตเป็นที่ดินที่เคยรวมเป็นแปลงเดียวกับที่ดินของนายใหญ่มาก่อน  แต่พอแบ่งขายให้นายโตแล้วทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  (ที่ดินตาบอด)  กรณีเช่นนี้นายโตสามารถขอใช้ทางผ่านบนที่ดินแปลงที่เคยรวมอยู่กับตนมาก่อนได้โดยใช้สิทธิตามมาตรา  1350  ทั้งนี้  โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนให้แก่นายใหญ่

 

ข้อ  3  นายสี  นายแสง  นายเสียง  มีที่ดินอยู่ติดกัน  ซึ่งที่ดินของทั้งสามยังไม่มีน้ำประปาเข้ามาถึงทั้งสามจึงได้ตกลงร่วมกันออกเงินเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินในราคา  150,000  บาทและแจ้งนายแดงขุดบ่อน้ำบาดาลในราคา  60,000  บาท  ค่าที่ดินได้ชำระไปเรียบร้อยแล้ว  แต่ค่าใช้จ่ายในการขุดบ่อก็ยังติดค้างนายแดงอยู่  เมื่อใช้น้ำไปได้เพียง  6  เดือน  หน่วยงานท้องถิ่น  ได้ต่อท่อน้ำประปาเข้ามาในบ้านของคนทั้งสาม  นายสีจึงต้องการนำที่ดินที่ร่วมซื้อเพื่อขุดบ่อน้ำบาดาลนั้นออกขาย  นายสีเพียงคนเดียวจะขอให้นำที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมแปลงนี้ออกขายเพื่อเอาเงินมาแบ่งระหว่างคนทั้งสามได้หรือไม่  และเงินที่ค้างชำระนายแดงค่าขุดบ่อ  60,000  บาท  จะมีวิธีดำเนินการอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1362  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆ  ตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ  ค่าภาษีอากร  และค่ารักษากับทั้งค่าใช้จ่ายทรัพย์สินรวมกันด้วย

มาตรา  1363  วรรคหนึ่ง  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้  เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่  หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร  ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

มาตรา  1365  วรรคหนึ่ง  ถ้าเจ้าของรวมต้องรับผิดร่วมกันต่อบุคคลภายนอกในหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์สินรวม  หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดั่งว่านั้นก็ดี  ในเวลาแบ่ง  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆจะเรียกให้เอาทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน  หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้

วินิจฉัย

นายสี  นายแสง  นายเสียง  มีที่ดินอยู่ติดกัน  ซึ่งที่ดินของทั้งสามยังไม่มีน้ำประปาเข้ามาถึงทั้งสามจึงได้ตกลงร่วมกันออกเงินเท่าๆกัน  ซื้อที่ดินในราคา  150,000  บาทและแจ้งนายแดงขุดบ่อน้ำบาดาลในราคา  60,000  บาท  ค่าที่ดินได้ชำระไปเรียบร้อยแล้ว  แต่ค่าใช้จ่ายในการขุดบ่อก็ยังติดค้างนายแดงอยู่  เมื่อใช้น้ำไปได้เพียง  6  เดือน  หน่วยงานท้องถิ่น  ได้ต่อท่อน้ำประปาเข้ามาในบ้านของคนทั้งสาม  นายสีจึงต้องการนำที่ดินที่ร่วมซื้อเพื่อขุดบ่อน้ำบาดาลนั้นออกขาย  นายสีเพียงคนเดียวจะขอให้นำที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมแปลงนี้ออกขายเพื่อเอาเงินมาแบ่งระหว่างคนทั้งสามได้เพราะวัตถุประสงค์เดิมที่เป็นการถาวรได้หมดไปแล้วตามมาตรา  1363  วรรคหนึ่ง  นายสีแม้เพียงคนเดียวก็มีสิทธิขอแบ่งได้  และเงินที่ค้างชำระนายแดงค่าขุดบ่อ  60,000  บาท  จะมีวิธีดำเนินการโดยถ้าแบ่งวิธีเอาทรัพย์สินออกขายก็ต้องเอาเงินที่ขายได้ชำระหนี้ร่วมก่อนเพราะค่าขุดน้ำบาดาลเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา  1362  แต่ถ้าแบ่งตัวทรัพย์ก็ต้องเอาแต่ละส่วนของ  เจ้าของร่วมทุกคนประกันหนี้ร่วมตามส่วนก่อนแบ่งตามมาตรา  1365  วรรคหนึ่ง  ซึ่งเจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิตามมาตรา  1365  วรรคหนึ่งได้ทุกคน

 

ข้อ  4  นายสิงห์ได้ขายฝากที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งไว้กับนายเสือด้วยวาจา  กำหนดเวลาไถ่คืนเป็นเวลาห้าปี  นายเสือจึงได้เข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นตลอดมา  ต่อมาเมื่อขายฝากไปได้หนึ่งปี  นายสิงห์ได้เขียนจดหมายลงลายมือชื่อนางสิงห์ไปถึงนายเสือ  ว่าตนตกลงขายขาดที่ดินแปลงนี้ให้กับนายเสือไปเลยและจะไม่ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนอีกแล้ว  นายเสือก็ตกลงและยังได้ให้เงินราคาค่าที่ดินเพิ่มให้กับนายสิงห์ไปอีก  หลังจากตกลงขายขาดที่ดินแปลงนี้ให้นายเสือไปแล้วได้หนึ่งปี  นายสิงห์เกิดเปลี่ยนใจจะมาฟ้องเรียกที่ดินคืนจากนายเสือ  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสิงห์จะฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายเสือได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง

วินิจฉัย

นายสิงห์ได้ขายฝากที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งไว้กับนายเสือด้วยวาจา  จึงตกเป็นโมฆะ  แต่เมื่อเป็นสัญญาขายฝากยังอยู่ในกำหนดห้าปีซึ่งเป็นเวลาไถ่คืนถือว่าผู้ขายฝากยังไม่มีเจตนาสละสิทธิในที่ดินแปลงนั้น  เสือได้เข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นตลอดมา  ต่อมาเมื่อขายฝากไปได้หนึ่งปี  นายสิงห์ได้เขียนจดหมายลงลายมือชื่อนางสิงห์ไปถึงนายเสือ  ว่าตนตกลงขายขาดที่ดินแปลงนี้ให้กับนายเสือไปเลยและจะไม่ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนอีกแล้ว  นายเสือก็ตกลงและยังได้ให้เงินราคาค่าที่ดินเพิ่มให้กับนายสิงห์ไปอีก  เป็นการที่นายสิงห์ได้สละเจตนายึดถือที่ดินมือเปล่าแปลงนี้แล้วตามมาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  นายเสือจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้เพื่อตนเองไม่ได้แทนนายสิงห์อีกต่อไปแล้ว  ตามมาตรา  1367  และนายสิงห์จะมาเรียกคืนที่ดินแปลงนี้ไม่ได้  แม้ต่อมาภายหลังจากตกลงขายที่ดินแปลงนี้ให้นายเสือไปแล้วได้หนึ่งปีนายสิงห์เกิดเปลี่ยนใจ

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เอกให้โทกู้ยืมเงินเป็นจำนวนสามแสนบาท  ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด  เอกฟ้องโทให้ชำระหนี้เงินกู้  โทขอประนีประนอมหนี้โดยจะโอนที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้แทน  เอกตกลง  และศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมหนี้  แต่หลังจากนั้นโทยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้จนต่อมาโทนำที่ดินไปเสนอขายให้ตรีในราคาถูก  โดยตรีรู้ว่าโทจะต้องโอนที่ดินแปลงนี้ชำระหนี้แก่เอก  แต่ตรีเห็นว่าราคาถูกจึงรับซื้อไว้และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว

ต่อมาตรีขายที่ดินแก่จัตวา  จัตวาไม่รู้ข้อเท็จจริงใดๆ  เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้เลย  จึงรับซื้อไว้และจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินแล้ว  ต่อมาเอกเรียกให้โทไปจดทะเบียนโอนโฉนดตามคำพิพากษาตามยอมของศาล  โมปฏิเสธและให้เอกไปติดตามเรียกร้องเอาจากจัตวาเจ้าของคนปัจจุบัน

เอกจึงปรึกษาทนายความว่าระหว่างตนกับจัตวาใครจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินกว่ากัน  ถ้าท่านเป็นทนายความ  ขอจงให้คำปรึกษาแก่เอก 

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

เอกได้ที่ดินของโทมาจากการพิพากษาตามยอมของศาล  แต่การได้ตามคำพิพากษาตามยอมถือเป็นการได้มาตามมาตรา  1299  วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้มาย่อมไม่บริบูรณ์  มีสิทธิแค่บุคคลสิทธิ  เมื่อโทขายที่ดินแก่ตรีแม้ตรีจะซื้อโดยไม่สุจริต  แต่ตรีก็จดทะเบียนสิทธิแล้ว  สิทธิที่เป็นทรัพยสิทธิจึงดีกว่าสิทธิของเอก  ต่อมาตรีขายที่ดินแก่จัตวา  จัตวาได้สิทธิในที่ดินที่สมบูรณ์มาจากตรี  ส่วนเอกมีแค่บุคคลสิทธิเหนือโท  ผู้เป็นลูกหนี้  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายความจะให้คำปรึกษาว่าจัตวามีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเอก  ด้วยเหตุผลข้างต้น

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัดคอมพ์ไฮเทค  เป็นห้างที่ขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่หลายร้านในบริเวณเดียวกัน  นายแดงเจ้าของร้านได้นัดหมายให้นายดำลูกค้าที่เคยซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านตนมาดูกล้องถ่ายรูปดิจิตอลที่เพื่อนของนายแดงมาฝากขายไว้ที่ร้านนี้  เมื่อนายดำมาดูแล้วเกิดความพอใจจึงตกลงซื้อกล้องถ่ายรูปในราคา  10,000 บาท  ซึ่งเป็นราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาด

หลังจากใช้มาได้  1  เดือน  นายขาวเจ้าของกล้องได้มาขอกล้องคืนจากนายดำ  ดำจึงมาปรึกษาทนายความว่าตนจะต้องคืนกล้องให้นายขาวหรือไม่  ถ้าท่านเป็นนายความจงให้คำปรึกษาแก่นายดำ

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

นายดำซื้อกล้องถ่ายรูปจากร้านขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  แม้ย่านดังกล่าวจะเป็น  ท้องตลาด  แต่ก็เป็นท้องตลาดของคอมพิวเตอร์  มิใช่ของกล้องถ่ายรูป  จึงไม่อาจถือได้ว่านายดำซื้อสินค้านี้มาจากท้องตลาด  จึงไม่เข้ามาตรา  1332  ที่จะไม่ยอมคืนกล้องแก่เจ้าของที่แท้จริงได้จนกว่าจะได้เงิน  10,000  บาทคืน

ดังนั้น  หากข้าพเจ้าเป็นทนายความ  จะให้คำปรึกษาแก่ดำว่าดำจะต้องคืนกล้องแก่ขาว  โดยไม่มีสิทธิเรียกราคากล้องที่ตนจ่ายไปกลับคืนมา

 

ข้อ  3  เอกยุทธทำพินัยกรรมยกที่ดินและบ้านหลังหนึ่งให้เอกภพ  เอกพงศ์  และเอกพร  บุตรของตน  โดยไม่มีทายาทอื่นอีก  ซึ่งพินัยกรรมระบุให้เอกภพเป็นเจ้าของสองส่วน  เอกพงศ์และเอกพรเป็นเจ้าของคนละหนึ่งส่วน  หลังจากที่เอกยุทธถึงแก่ความตายแล้ว  เอกภพเป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินและบ้านแต่เพียงผู้เดียว  โดยที่ยังไม่มีการแบ่งมรดก  ต่อมาเอกภพได้จ้างช่างมาซ่อมหลังคาบ้านโดยเสียค่าซ่อมไปสี่หมื่นบาท  เอกภพจึงเรียกให้เอกพงศ์และเอกพรช่วยออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมหลังคาบ้าน  รวมทั้งค่าน้ำประปา  ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์ที่เอกภพชำระไปแล้วรวมเป็นเงินสองพันบาท  เอกพงศ์กับเอกพรไม่ยอมจ่าย  และเรียกให้นำที่ดินและบ้านนั้นออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกัน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าถ้าเอกภพไม่เห็นด้วยกับการขายที่ดินและบ้าน  เอกพงศ์กับเอกพรจะนำที่ดินและบ้านออกขายได้หรือไม่  และเอกพงศ์กับเอกพรต้องร่วมรับผิดในค่าซ่อมหลังคาบ้าน  ค่าน้ำประปา  ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์ที่เอกภพจ่ายไปแล้วหรือไม่  และถ้ารับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบคนละเท่าไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1358  วรรคสองตอนท้าย  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  อาจทำการรักษาทรัพย์สินได้เสมอ

มาตรา  1362  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆ  ตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ  ค่าภาษีอากร  และค่ารักษากับทั้งค่าใช้จ่ายทรัพย์สินรวมกันด้วย

มาตรา  1363  วรรคหนึ่ง  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้  เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่  หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร  ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

มาตรา  1364  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน

ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้  เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์นั้นออกแบ่ง  ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้  จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้  ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้  หรือจะเสียหายมากนักก็ดี  ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้

วินิจฉัย

เอกภพ  เอกพงศ์  และเอกพร  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและบ้านซึ่งรับมรดกมาตามพินัยกรรม  โดยเอกภพเป็นเจ้าของสองส่วน  เอกพงศ์และเอกพรเป็นเจ้าของคนละหนึ่งส่วน  และเอกภพเป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินและบ้านแต่เพียงผู้เดียว  ต่อมาเอกภพได้จ้างช่างมาซ่อมหลังคาบ้านโดยเสียค่าซ่อมไปสี่หมื่นบาท  ซึ่งถือว่าเป็นการทำเพื่อรักษาทรัพย์สินที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  สามารถทำได้โดยลำพัง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  1358  วรรคสอง  และเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จำต้องช่วย  เจ้าของรวมคนอื่นๆ  ตามส่วนของตนในค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินด้วยตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1362  ดังนั้น  เอกพงศ์และเอกพรจะต้องช่วยเอกภพออกเงินค่าซ่อมหลังคาบ้านตามส่วนของตนคือคนละหนึ่งหมื่นบาท

ส่วนค่าน้ำประปา  ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของเอกภพ  โดยเฉพาะเอกพงศ์กับเอกพรไม่จำต้องร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายดังกล่าว

กรณีที่เอกพงศ์กับเอกพรเรียกให้นำที่ดินและบ้านนั้นออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกัน  แต่เอกภพไม่เห็นด้วย  เอกพงศ์กับเอกพรสามารถทำได้  เพราะเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้  เนื่องจากไม่มีนิติกรรมขัดอยู่  หรือไม่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมมีลักษณะเป็นการถาวรตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1363  และการแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำได้โดยการขายทรัพย์สิน  แล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1364

 

ข้อ  4  นายทองครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งทำสวนมะพร้าวมาห้าปี  ต่อมานายทองถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีกับหกเดือน  เมื่อถูกจำคุกไปได้สามเดือนนายทองกลัวว่ามะพร้าวในสวนจะตายเพราะไม่มีใครดูแล  จึงได้ติดต่อนายเงินซึ่งเป็นเพื่อนบ้านให้มาช่วยดูแลมะพร้าวในสวนให้และให้เก็บผลออกขายได้โดยเงินที่ขายได้ยินดีให้นายเงินเป็นค่าดูแลสวน  เมื่อนายเงินดูแลสวนมะพร้าวมาได้หนึ่งปี  นายเงินจึงได้เขียนจดหมายไปถึงนายทองว่าต้องการสวนนี้สวนมะพร้าวแปลงนี้ปัจจุบันเป็นของตนแล้ว  และตนได้แจ้งการครอบครองขอออกหนังสือสำคัญบนที่ดินแปลงนี้เป็นชื่อของตนแล้ว  ถ้านายทองออกจากคุกให้ไปหาที่อยู่ที่อื่น  เมื่อได้รับจดหมายนายทองได้เขียนจดหมายตอบขับไล่ให้นายเงินออกจากที่ดินแปลงนี้  แต่นายเงินก็ยังครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อมาจนนายทองได้รับโทษครบกำหนดหนึ่งปีกับหกเดือนจึงมาฟ้องร้องเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายเงิน  ให้ท่านอธิบายว่าเมื่อนายทองพ้นโทษระหว่างนายทองกับนายเงินใครมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  และนายทองจะฟ้องคดีต่อศาลเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายเงินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย 

นายทองครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งทำสวนมะพร้าวมาห้าปี  ต่อมานายทองถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีกับหกเดือน  นายทองขาดการยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  ตามมาตรา  1384  เดือน  เมื่อถูกจำคุกไปได้สามเดือนนายทองกลัวว่ามะพร้าวในสวนจะตายเพราะไม่มีใครดูแล  จึงได้ติดต่อนายเงินซึ่งเป็นเพื่อนบ้านให้มาช่วยดูแลมะพร้าวในสวนให้  นายทองได้คืนการครอบครองภายในหนึ่งปีโดยมีนายเงินเป็นผู้ยึดถือการครอบครองแทนทำให้นายทองได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้  ตามมาตรา  1368  จึงถือว่านายเงินเป็นผู้ได้คืนการครอบครองแทนนายทองตามมาตรา  1384 

เมื่อนายเงินดูแลสวนมะพร้าวมาได้หนึ่งปี  นายเงินจึงได้เขียนจดหมายไปถึงนายทองว่าต้องการสวนนี้  สวนมะพร้าวแปลงนี้ปัจจุบันเป็นของตนแล้ว  นายเงินเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วตามมาตรา  1381  เมื่อเปลี่ยนแล้วจึงถือว่านายเงินแย่งการครอบครองจากนายทองสำเร็จ  ทำให้นายเงินได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา  1367  แล้วดีกว่านายทอง  นายทองถูกแย่งการครอบครองตามมาตรา  1375 ต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเอาคืนการครอบครองภายในหนึ่งปี  เมื่อนายทองได้รับโทษครบกำหนดหนึ่งปีกับหกเดือน  จึงต้องการฟ้องร้องเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายเงิน  นายเงินจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายทอง  แต่นายทองมีสิทธิได้คืนการครองครองโดยฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองได้  นายเงินเปลี่ยนการยึดถือแย่งการครอบครองจากนายทองมาได้เพียงสามเดือน  นายทองจึงฟ้องคดีต่อศาลเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายเงินได้  ตามมาตรา  1375

LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  อาทิตย์ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของจันทร์มาเป็นเวลากว่าสิบปี  โดยไม่ได้ไปยื่นขอเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดและยังคงครอบครองต่อไปจนในปีที่  15  จันทร์เจ้าของเดิมได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้พฤหัส  โดยพฤหัสเพิ่งชำระค่าที่ดินเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของราคาที่ตกลงกัน  และส่วนที่เหลือยังคงขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ  แต่ได้จดทะเบียนโอนเป็นของพฤหัสแล้ว  โดยพฤหัสไม่มีเวลาไปดูที่ดินก่อนซื้อจึงไม่ทราบว่ามีอาทิตย์เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์

หลังจากซื้อแล้วพฤหัสขอให้อาทิตย์ย้ายออกจากที่ดิน  แต่อาทิตย์อ้างว่าตนครอบครองจะได้กรรมสิทธิ์แล้ว  การที่จันทร์ขายให้พฤหัสย่อมเป็นโมฆะ  อาศัยหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  เมื่อจันทร์ไม่มีกรรมสิทธิ์  พฤหัสก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์  ดังนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างอาทิตย์กับพฤหัส  ใครเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

อาทิตย์เป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์  แต่เมื่อยังมิได้เปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียน  ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา  1299  วรรคสองไม่ได้  พฤหัสเป็นบุคคลภายนอกผู้จดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินแล้ว  แม้จะยังชำระราคาไม่ครบถ้วนก็ถือว่าเป็นผู้เสียค่าตอบแทน  การที่พฤหัสซื้อที่ดินโดยไม่ได้ไปดูจึงไม่รู้ว่าอาทิตย์ครอบครองปรปักษ์  ก็ยังถือว่าเป็นการซื้อโดยสุจริต  (ฎ. 847/2523)  ดังนั้น  พฤหัสจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีสิทธิดีกว่าอาทิตย์

การที่อาทิตย์อ้างหลักผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  ย่อมอ้างไม่ได้ (ฎ. 472/2513)

 

ข้อ  2  เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแม้ว  ซึ่งเป็นผู้ล้มละลายและได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โดยนายป๋องเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดและศาลมีคำสั่งขายที่ดินให้แก่นายป๋องภายหลังจากที่นายป๋องจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของตนแล้ว  นายป๋องจึงรู้ว่าที่ดินนั้นนายแม้วได้จดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  ต่อมาธนาคารแห่งนั้นได้ฟ้องบังคับจำนอง กรณีนี้นายป๋องจะคัดค้านการบังคับจำนองได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1330  สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้อละลายนั้น  ท่านว่ามิเสียไป  ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย  หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา  หรือผู้ล้มละลาย

วินิจฉัย

แม้นายป๋องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล  และสิทธิของนายป๋องจะมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินมีโฉนดแปลงนั้นจะมิใช่ของนายแม้วลูกนี้ผู้ล้มละลายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1330  ก็ตาม  แต่มิได้หมายความว่าทรัพย์ที่ซื้อมานั้นจะปลอดจากภาระผูกพันใดๆด้วย  ดังนั้น  การที่ธนาคารรับจำนองไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  การจำนองย่อมตกติดไปกับที่ดินที่นายป๋องซื้อมาด้วย  ธนาคารจึงมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้  นายป๋องไม่สามารถคัดค้านการบังคับจำนอง

 

ข้อ  3  นางส่งเป็นบิดาของนายสีซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับที่ดินของนายสี  นายสีได้วางสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของนายส่งเข้ามาในที่ดินของตนโดยไม่ได้บอกกล่าวกับนายส่ง  ซึ่งนายส่งเองก็รู้แต่ก็ไม่ได้ห้าม  ต่อมานายส่งได้ขายที่ดินของนายส่งแปลงนั้นให้นายสุด  นายสุดได้เรียกให้นายสีรื้อถอนสายไฟฟ้าออกไปแต่นายสีไม่ยอม  เมื่อนายสุดซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้สามปี  นายสีก็ได้วางสายโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าและวางท่อประปาผ่านที่ดินของนายสุดอีก  โดยนายสุดไม่ทราบเพราะไม่เคยเข้าไปดูแลที่ดินเลย  นายสีวางสายโทรศัพท์  ท่อประปามาได้แปดปี  นายสุดจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลให้นายสีรื้อถอนเสาไฟฟ้า  สายโทรศัพท์  ท่อประปาออกไปจากที่ดินของตน  นายสีจะต่อสู้ว่าตนได้ภารจำยอมในการวางสายไฟฟ้า  สายโทรศัพท์  ท่อประปาบาที่ดินของนายสุดแปลงนั้นแล้ว  ข้อต่อสู้ของนายสีรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

นางส่งเป็นบิดาของนายสีซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับที่ดินของนายสี  นายสีได้วางสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของนายส่งเข้ามาในที่ดินของตน  โดยไม่ได้บอกกล่าวกับนายส่ง  ซึ่งนายส่งเองก็รู้แต่ก็ไม่ได้ห้ามเป็นการใช้ภารจำยอมโดยฉันญาติมิตรไม่ก่อให้เกิดการนับอายุความปรปักษ์  เป็นการได้ภารจำยอมโดยนิติกรรมสัญญา  แต่เมื่อนายส่งได้ขายที่ดินของนายส่งแปลงนั้นให้นายสุด  นายสุดได้เรียกให้นายสีรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปแต่นายสีไม่ยอม  จึงเป็นการเริ่มนับอายุความครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้ภารจำยอมแล้ว  เมื่อนายสุดซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้สามปี  นายสีก็ได้วางสายโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าและวางท่อประปาผ่านที่ดินของนายสุดอีก  โดยนายสุดไม่ทราบเพราะไม่เคยเข้าไปดูแลที่ดินเลย  นายสีวางสายโทรศัพท์  ท่อประปามาได้แปดปี  นายสุดจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลให้นายสีรื้อถอนเสาไฟฟ้า  สายโทรศัพท์  ท่อประปาออกไปจากที่ดินของตน  นายสีได้ภารจำยอมในการวางสายไฟฟ้าเท่านั้น  ส่วนสายโทรศัพท์  ท่อประปา  ยังไม่ได้ภารจำยอมเพราะยังครอบครองปรปักษ์ไม่ครบสิบปี

 

ข้อ  4  นายดำครอบครองปรปักษ์ทำเกษตรกรรมในที่ดินมีโฉนดของนายแดงมาได้สามปี  นายขาวบุตรชายของนายดำซึ่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ  เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บไม่มีใครดูแล  นายดำจึงได้เข้ามากรุงเทพฯเพื่อมาดูแลบุตรชายที่บาดเจ็บอยู่หนึ่งปีโดยนายดำไม่ได้เข้าไปครอบครองประกอบการเกษตรชั่วคราวบนที่ดินแปลงนั้น  เมื่อนายขาวหายป่วย  นายดำจึงได้กลับเข้าไปเพาะปลูกครอบครองที่ดินของนายแดงต่อมาได้เจ็ดปี  นายแดงได้ขับไล่ให้นายดำออกไปจากที่ดินแลงนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายดำได้กรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงนั้นแล้วหรือยัง  นายดำจะต้องออกไปจากที่ดินแปลงนั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย 

นายดำครอบครองปรปักษ์ทำเกษตรกรรมในที่ดินมีโฉนดของนายแดงมาได้สามปี  นายขาวบุตรชายของนายดำซึ่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ  เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บไม่มีใครดูแล  นายดำจึงได้เข้ามากรุงเทพฯเพื่อมาดูแลบุตรชายที่บาดเจ็บอยู่หนึ่งปี  นายดำไม่ได้ทำการเกษตรชั่วคราวบนที่ดินแปลงนั้นเป็นการขาดการยึดถือทรัพย์สินทำให้การครอบครองของนายดำสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคหนึ่ง  การเข้ามากรุงเทพฯ  เพื่อมาดูแลบุตรชายที่บาดเจ็บถือเป็นนายดำขาดการยึดถือโดยสมัครใจไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  1384  เมื่อนายขาวหายป่วยนายดำจึงได้กลับเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงนี้เหมือนเดิมและได้ทำการเกษตรบนที่ดินของนายแดงต่อมาได้เจ็ดปี  นายแดงได้ขับไล่ให้นายดำออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  การครอบครองในช่วงหลังของนายแดงครอบครองปรปักษ์ได้เพียงเจ็ดปี  ยังไม่ครบสิบปีจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์บนที่ดินของนายแดงโดยการครอบครองปรปักษ์  นายดำจึงต้องออกไปจากที่ดินแปลงนั้นเมื่อนายแดงขับไล่

WordPress Ads
error: Content is protected !!