LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ ภาคซ่อม 1/2551

การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

 ข้อ 1.       วันที่ 23 ตุลาคม 2551  ก.ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจาก ข. ในราคาหนึ่งล้านสามแสนบาท วางมัดจำไว้สามแสนบาท ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งล้านบาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งกำหนดนัดโอนในวันที่ 20 ธันวาคม 2551  โดยคู่สัญญาไม่ทราบว่าตรงกับวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดโอนไม่ได้ ต่อมาในวันจันทร์ ผู้ขายไปรอที่สำนักงานที่ดิน ปรากฏว่าผู้ซื้อไม่ไป  ผู้ขายจะริบมัดจำสามแสนบาทตามข้อสัญญา เพราะผู้ซื้อผิดนัดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

 แนวคำตอบ  เป็นเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203, 204

 ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 2 แต่ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนดจนสิ้นเชิง เพราะเป็นวันหยุด  จากหนี้มีกำหนดจึงกลายเป็นหนี้ไม่มีกำหนด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 1 จะให้ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือน ตามมาตรา 204 วรรค 1 เมื่อยังมิได้เตือนจะถือว่าผู้ซื้อผิดนัดไม่ได้ ผู้ขายจึงริบ มัดจำไม่ได้

 

ข้อ 2.       วันที่ 23 ตุลาคม 2549  แดงกู้เงินขาวห้าแสนบาท มีกำหนดเวลาสามปี โดยแดงได้นำที่ดินของตน จำนอง เพื่อประกันหนี้เงินกู้รายนี้ และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า  “ถ้าบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ยังขาดอยู่เท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจนกว่าครบจำนวน”  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กู้ได้แค่สามเดือน แดงถึงแก่ความตาย  ขาวเห็นว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนด  ก็มิได้เรียกบังคับชำระหนี้  เมื่อครบสามปีตามสัญญา  ขาวจะเรียกจะบังคับชำระหนี้เอาจากกองมรดกและทายาทของแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  เป็นเรื่องเจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับชำระหนี้ ซึ่งหนี้จำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ไม่มีอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 1754 วรรค 3 มิให้เจ้าหนี้ฟ้องบังคับชำระหนี้ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของลูกหนี้เจ้ามรดก

แม้สัญญากู้เป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 2 แต่เมื่อรู้ว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตายก่อนกำหนดแล้ว ไม่ได้บังคับชำระหนี้ภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรค 3

แม้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่รับจำนองได้อยู่ แต่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ได้ ข้อตกลงต่อท้ายจำนองจึงตกไป

                 

ข้อ 3.    เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่หนึ่งแสนบาท  แต่โทไม่มีทรัพย์สินใดๆ เลย  โทมีอาชีพขายข้าวแดงมีรายเพียงวันละหนึ่งร้อยบาท  ต่อมาปรากฏว่าโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน  ซึ่งเป็นผลทำให้โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรีผู้เป็นบุตรบุญธรรม  ทำให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก  ดังนี้ เอก สมควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมาย เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของโทได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  ยกหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรค 2

กรณีตามอุทธาหรณ์  การรับบุตรบุญธรรม เป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับกับเรื่องนี้ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรค 2 กรณีจึงใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของโท (ลูกหนี้) ไม่ได้

 

 

ข้อ 4.       จันทร์และอังคารเป็นเจ้าหนี้ร่วมของพุธในหนี้เงินสองแสนบาท ต่อมาอังคารตาย และพุธได้เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของอังคารโดยพินัยกรรม  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะเรียกร้องให้พุธชำระหนี้สองแสนบาทดังกล่าวนั้น ได้หรือไม่ เพียงใด  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  ยกหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 299 วรรค 2 (ประกอบมาตรา 353)

กรณีตามปัญหา  หนี้เป็นอันระงับสิ้นไปด้วยเหตุหนี้เกลื่อนกลืนกันในตัวของพุธ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353 และผลอันนี้ทำให้สิทธิของจันทร์เจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่ง อันมีต่อพุธ เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 299 วรรค 2 จันทร์จึงเรียกร้องให้พุธชำระหนี้ไม่ได้ (แต่ไม่ตัดสิทธิจันทร์ในการใช้สิทธิตามมาตรา 300)

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.   สินทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่ทรัพย์ โดยตกลงกันว่าจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 30 กันยายน 2551  แต่เนื่องจากบนที่ดินแปลงนี้มีบุคคลอื่นเข้ามาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ 5 ครอบรัว สินกับทรัพย์จึงตกลงกันว่า สินจะต้องจัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปจากที่ดินภายในวันที่ 29 กันยายน 2551  ปรากฏว่า สินได้จัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปตามกำหนดแล้ว โดยต้องจ่ายค่าขนย้ายและค่ารื้อถอนให้รวม 120,000 บาท เงินจำนวนนี้ สินต้องกู้มาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปี ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2551  ทรัพย์กลับผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้จากสินเพราะเห็นว่าราคาแพงเกินไป สินจึงมาปรึกษานักศึกษาว่าจะฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจำนวน 120,000 บาทที่เสียไปเป็นค่าขนย้ายและรื้อถอนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ประพฤติผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนที่ดินด้วยอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นักศึกษาจะให้คำปรึกษาแก่สินว่า สินจะสามารถเรียกค่าเสียหายกับดอกเบี้ยดังกล่าวได้หรือไม่ และด้วยเหตุผลอย่างไร

แนวคำตอบ

ค่าเสียหาย 120,000 บาทนั้นเรียกได้เพราะเป็นค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ตาม         ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ส่วน

ดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปีนั้นเรียกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตามมาตรา 222 วรรคสอง สินจึงเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นหนี้เงิน สินยังสามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายที่ทรัพย์ผิดสัญญา 50,000 บาทนั้น สินเรียกได้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง, 224 วรรคหนึ่ง (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 12523/2547 และที่ 1336/2545)

 

 

ข้อ 2.       ดวงเช่าปั๊มน้ำมันของดาว เพื่อดำเนินกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง มีกำหนดเวลา 10 ปี แต่มีข้อตกลงว่า ดวงจะต้องเป็นผู้ออกใช้ซ่อมแซมการชำรุดเสียหายทุกชนิดที่เกิดขึ้นแก่ปั๊มน้ำมันตลอดเวลาที่เช่า ต่อมาในระหว่างการเช่า จันทน์ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนเสาค้ำหลังคาปั๊มน้ำมัน เป็นเหตุให้เสาและหลังคาได้รับความเสียหายจนดาวต้องซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 บาท และต่อมาดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวแล้ว ดวงจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจันทน์  จันทน์ต่อสู้ว่า ดวงเป็นเพียงผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของตน ดวงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจันทน์รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

แม้ว่าปั๊มน้ำมันที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจันทน์จะเป็นของดาว แต่เนื่องจากตามสัญญาเช่าที่ตกลงกันให้เป็นหน้าที่ของดวงที่จะต้องเป็นผู้ออกใช้ค่าซ่อมแซมการชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นทุกชนิด เมื่อดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวไปแล้ว จึงถือได้ว่าดาวได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ดวงในฐานะลูกหนี้จึงได้เข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของดาวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 227 ดวงจึงมีอำนาจฟ้องจันทน์ได้ (เทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2522)

 

 

ข้อ 3.     จันทร์ (ผู้จะซื้อ)  ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินหนึ่งแปลงกับอังคาร (ผู้จะขาย)  ในราคาหนึ่งล้านบาท เพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย  หลังทำสัญญาเสร็จปรากฏว่าอังคารกลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่พุธเสีย  ในราคาสองล้านบาท โดยพุธรู้อยู่แล้วว่าอังคารได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จันทร์  ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารมีทรัพย์อื่นอีกมากมายประมาณห้าล้านบาท  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จันทร์จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวแก่พุธได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา  เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ เมื่ออังคารนำที่ดินไปโอนให้พุธ ถือว่าจันทร์เสียเปรียบทันที  โดยไม่ต้องพิจารณาว่าอังคารจะมีทรัพย์สินอื่นพอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เมื่อครบองค์ประกอบอื่น ๆ ของมาตรา 237 วรรคแรก จันทร์จึงร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้

 

 

ข้อ 4.   ก. และ ข.เป็นเจ้าหนี้ร่วม  ให้ ค. กู้เงินไป สองแสนบาท เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ค. ได้นำเงิน        สองแสนบาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อ ก.เพียงผู้เดียว โดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ ก.ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ โดยอ้างว่า ก.ต้องการได้รับดอกเบี้ยต่อไป ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.พ.พ.มาตรา 207, มาตรา 299 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา   ก. ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 207 และมีผลทำให้ ข. เจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วย ตามมาตรา 299 วรรคแรค

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายเอก  ได้กู้เงินจากนายข้อง  100,000  บาท  โดยนายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า  ข้าพเจ้านายเอก  ได้ยืมเงิน  100,000  บาท  ไปจากนายข้อง  เมื่อวันที่  10  มกราคม  2548  แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้นมอบกระดาษนั้นแก่นายข้อง  นายข้องมอบเงินแก่นายเอกไป  โดยกล่าวด้วยว่า  ช่วงที่ยืมไปนี้ไม่คิดดอกเบี้ย  เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน  เวลาผ่านไปนานหลายปี  นายข้องเห็นว่า  นายเอกยังไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวคืนแก่ตน  นายข้องจึงมาปรึกษานักศึกษาว่า  จะทำอย่างไรจึงจะได้รับเงินต้นพร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากนายเอก  จึงให้นักศึกษาแนะนำนายข้องว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง  จึงจะเป็นไปตามที่นายข้องต้องการ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา  204  วรรคแรก ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกได้เขียนข้อความลงในกระดาษด้วยลายมือตนเองว่า  ข้าพเจ้านายเอก  ได้ยืมเงิน  100,000  บาท  ไปจากนายข้อง  เมื่อวันที่  10  มกราคม  2548  แล้วนายเอกลงลายมือชื่อในกระดาษนั้น  เห็นได้ชัดว่าข้อความในกระดาษซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แต่อย่างใด  ทั้งตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่านายเอกกับนายข้องได้ตกลงกันในเรื่องนี้ไว้ด้วย  กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  203  วรรคแรกที่ว่า  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้  เช่นนี้  นายข้องเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้นายเอกลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และถือได้ว่าหนี้เงินกู้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  (ฎ. 917/2539)

สำหรับดอกเบี้ยนั้น  โดยหลักแล้วนายข้องจะคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้ยืมหาได้ไม่  เพราะนายข้องและนายเอกไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กัน  กรณีจึงไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา  7  ที่ว่า  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน  ซึ่งหมายความเฉพาะกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันหรือมีเจตนาที่จะเรียกดอกเบี้ยจากกัน  แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่านั้น  นายข้องจึงเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากนายเอกในอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปีตามมาตรา  7  ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  หากนายข้องต้องการได้ดอกเบี้ย  นายข้องจะต้องให้คำเตือนนายเอกลูกหนี้ด้วยการทวงถามให้นายเอกชำระหนี้เงินกู้  100,000  บาท  หากนายเอกไม่ชำระหนี้หลังจากนายข้องเตือนแล้ว  นายเอกก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตามมาตรา  204  วรรคแรก  เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้และหนี้นั้นเป็นหนี้เงิน  นายข้องย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่นายเอกผิดนัดร้อยละ  7.5  ต่อปีได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ดังนั้น  ในกรณีนี้ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องว่า  นายข้องมีสิทธิเรียกเงินต้น  100,000  บาท  คืนได้ทันที  เพราะถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วตามมาตรา  203  วรรคแรก  ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนั้น  นายข้องจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อนายข้องได้เตือนให้นายเอกชำระหนี้แล้ว  เมื่อนายเอกไม่ชำระหนี้ตามคำเตือนก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  204  วรรคแรก  นายข้องก็จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตามมาตรา  224  วรรคแรก  ส่วนดอกเบี้ยก่อนหน้าที่นายเอกจะผิดนัด  นายข้องไม่สามารถเรียกให้นายเอกชำระได้  เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กันเลย

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายข้องดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  บริษัทคำพอง  จำกัด  รับจ้างสร้างหม้อต้มกลั่นพลังงานไอน้ำให้แก่โรงงานของบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  โดยจะต้องส่งมอบพร้อมติดตั้งและทดสอบการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์  ที่โรงงานของบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ในวันที่  2  กรกฎาคม  2551  แต่เนื่องจากหม้อต้มกลั่นนี้มีขนาดใหญ่มาก  จำเป็นที่บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จะต้องจัดเตรียมพื้นที่โรงงานให้พร้อมสำหรับรองรับขนาดและน้ำหนักของหม้อต้มกลั่นนี้  โดยจะต้องให้แล้วเสร็จในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  ต่อมา  บริษัทคำพอง  จำกัด

ได้สร้างหม้อต้มกลั่นเสร็จเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2551  จึงได้แจ้งไปยังบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  พร้อมที่จะนำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งและทดสอบตามกำหนดในสัญญา  แต่ในวันนั้นบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ยังจัดเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จ  และจะเสร็จอย่างเร็วในวันที่  10  สิงหาคม  2551  ต่อมาวันที่  1  กรกฎาคม  2551  บริษัทคำพอง  จำกัด  ทราบแน่นอนว่า

แม้จะนำหม้อต้มกลั่นไปส่งมอบตามกำหนดก็ไม่อาจติดตั้งและทดสอบการทำงานได้ตามสัญญา  จึงได้ตัดสินใจไม่นำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งตามกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  เป็นเหตุให้บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  คิดจะนำคดีไปฟ้องศาลกล่าวอ้างว่าบริษัทคำพอง  จำกัด  ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด  และเรียกค่าเสียหาย  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จึงมาขอคำปรึกษาจากนักศึกษาว่า  บริษัทคำพอง  จำกัด  ต้องรับผิดชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  209  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด  ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บริษัทคำพอง  จำกัด  จะต้องรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  การที่คู่สัญญาได้ตกลงให้บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้ตระเตรียมพื้นที่โรงงานให้พร้อมโดยจะต้องให้แล้วเสร็จในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  ย่อมถือเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้กำหนดเวลาไว้แน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด  หรือถือเป็นสัญญาที่ถือเอากำหนดเวลาและวิธีการส่งมอบเป็นข้อสาระสำคัญตามมาตรา  209  ในกรณีเช่นนี้บริษัทคำพองลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ก็ต่อเมื่อบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ได้ตระเตรียมพื้นที่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้เท่านั้น  ถ้าหากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดกันไว้  ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน  ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  1  กรกฎาคม  2551  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้ยังจัดเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จ  และจะเสร็จอย่างเร็วในวันที่  10  สิงหาคม  2551  จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ละเลยไม่รับชำระหนี้จากลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาอันเป็นสาระสำคัญ  บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  จึงเป็นฝ่ายผิดนัดและผิดสัญญา  การที่บริษัทคำพอง  จำกัด  ตัดสินใจไม่นำหม้อต้มกลั่นไปติดตั้งตามกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  บริษัทคำพอง  จำกัด  ย่อมมีสิทธิทำได้ตามมาตรา  209  ที่กำหนดว่า  ลูกหนี้จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด  ดังนั้น  เมื่อบริษัทสะดวกค้า  จำกัด  เจ้าหนี้เป็นผู้ผิดนัด  จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อให้บริษัท  คำพอง  จำกัด  รับผิดตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้  บริษัทคำพอง  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  (ฎ. 44/2532)

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่บริษัทสะดวกค้า  จำกัด  ว่า  บริษัทคำพอง  จำกัด  ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

 

 

ข้อ  3  จันทร์ได้ยกที่ดิน  1  แปลง  ให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาอังคารได้ประพฤติเนรคุณ  โดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง  จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้  แต่ปรากฏว่าก่อนจันทร์ยื่นฟ้องอังคารเรียกถอนคืนการให้เพียง  1  วัน อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธ  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนและพุธรับไว้โดยสุจริต  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้วิธีใดเหมาะสมที่สุด  ที่ควรนำมาใช้กับเรื่องนี้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด  คือ  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  สำหรับหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลดังกล่าว  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2       ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  จันทร์ (ผู้ให้)  ยกที่ดิน  1  แปลงให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาการที่อังคารได้ประพฤติเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง  กรณีเช่นนี้จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้นับแต่วันที่ทราบเหตุเนรคุณตามมาตรา  531  จันทร์จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และอังคารอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้

แต่ปรากฏว่าก่อนจันทร์จะยื่นฟ้องอังคารเรียกถอนคืนการให้เพียง  1  วัน  อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธโดยเสน่หา  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนทั้งพุธก็รับดอนไว้โดยสุจริต  ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ซึ่งเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  เมื่อกรณีเป็นการยกให้โดยเสน่หา  การจะขอเพิกถอนการฉ้อฉลได้โดยกฎหมายกำหนดแต่เพียงว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  ดังนั้นการที่อังคารลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวถึงเหตุที่จะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แม้พุธผู้ได้ลาภงอกจะสุจริตไม่รู้ถึงเหตุนั้นด้วย  จันทร์ (ผู้ให้)  ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างอังคารกับพุธได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

สรุป  มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด  คือ  การร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างอังคารกับพุธอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา  237  วรรคแรก

 

 

ข้อ  4  ก  และ  ข  เป็นเจ้าหนี้ร่วม  ในหนี้เงินสองแสนบาท  โดยมี  ค  เป็นลูกหนี้  หนี้รายนี้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้  ถ้าต่อมาปรากฏว่า  ก  แต่เพียงผู้เดียว  เตือนให้  ค  ชำระหนี้  และ  ค  ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้  หลังจากนั้น  ค  ไปชำระหนี้ให้  ข  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และ  ก  จะเรียกดอกเบี้ยจาก  ค  ฐานผิดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา  298  ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือ  เจ้าหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก  ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้  แม้ทั้งนี้เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว

มาตรา  299  วรรคสาม  นอกจากนี้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  292, 293  และ  295   มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ  แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมนั้น  ลูกหนี้มีสิทธิเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่ลูกหนี้จะเลือก  แม้ว่าเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งจะได้ฟ้องคดีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้แล้วก็ตาม (มาตรา  298)

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การชำระหนี้ของ  ค  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้  ดังนั้นในกรณีนี้  ลูกหนี้จึงมีสิทธิชำระหนี้ให้แก่  ข  ได้  แม้  ข  จะมิได้เรียกให้  ค  ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ตาม  การที่  ค  ชำระหนี้ให้  ข  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ก  จะเรียกดอกเบี้ยจาก  ค  ในระหว่างผิดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้ตามมาตรา  203  วรรคแรก  เจ้าหนี้จึงต้องเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนตามมาตรา  204  วรรคแรก  และเมื่อเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้ร่วม  เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ได้  เมื่อ  ก  แต่เพียงผู้เดียว  เตือนให้  ค  ชำระหนี้  และ  ค  ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ย่อมถือว่า  ค  ผิดนัดต่อ  ก  เจ้าหนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น  มิได้ผิดนัดต่อ  ข  ด้วย  ตามมาตรา  295  ประกอบมาตรา  299  วรรคสาม  ทั้งนี้เพราะถือว่าการผิดนัดดังกล่าวเป็นเรื่องท้าวถึงตัวเจ้าหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณแต่เฉพาะแก่เจ้าหนี้คนนั้น  เมื่อ  ค  ผิดนัดต่อ  ก  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีจาก  ค  ได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก  จะอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้แก่  ข  แล้วหนี้จึงระงับสิ้นไป  ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ได้  เพราะการผิดนัดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการชำระหนี้

สรุป  การชำระหนี้ของ  ค  ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  298  และ  ก  มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจาก  ค  ได้ตามมาตรา  224  วรรคแรก  295  และ  299  วรรคสาม        

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ก  และ  ข  เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่ง  ก  ทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนของตนให้กับ  ค  แล้วเรียกบังคับให้  ข  ผู้เก็บรักษาส่งมอบโฉนดที่ดินให้ตนเพื่อไปทำนิติกรรมโอนที่ดินให้ผู้ซื้อต่อไป  ข  อ้างว่า  ตนได้นำโฉนดที่ดินไปประกันหนี้เงินกู้ของตนไว้ไม่อาจส่งมอบให้  ก  ได้  แต่การโอนที่ดินนั้น  วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรม”  ก  สามารถร้องขอต่อศาล  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้อยู่แล้ว  ตนไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบโฉนดให้  ก  ข้ออ้างของ  ข  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข  ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่  ก  หรือไม่  เห็นว่า  ก  และ  ข  เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่ง  แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้  แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆและเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนก็ได้  (มาตรา  1361  วรรคแรก)  การที่  ข  นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้  เป็นเหตุให้  ก  ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของ  ก  ให้กับ  ค  ตามสัญญาจะซื้อขาย  ย่อมขัดต่อสิทธิของ  ก  เช่นนี้  ข  ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่  ก  และหากโฉนดที่ดินอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น  ข ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่  ก  จนได้ตามมาตรา  213  วรรคแรก  กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้

ส่วนที่  ข  อ้างว่าในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนให้แก่  ค  นั้น  ก  สามารถขอให้ศาลสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ  ข  ได้  โดย  ก  ไม่ต้องขอให้  ข  ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่  ก  นั้น  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  213  วรรคสอง  การที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้ก็เฉพาะกรณีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  แต่กรณีนี้  ก  เรียกให้  ข  ส่งมอบโฉนดที่ดิน  วัตถุแห่งหนี้จึงเป็นการส่งมอบทรัพย์สินมิใช่เป็นการให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้

ดังนั้น  ข้ออ้างของ  ข  ที่ว่า  ตนไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับ  ก  และ  ก  สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ  ข  ได้นั้น  จึงฟังไม่ขึ้น  ข  ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับ  ก  (ฎ. 4920/2547)

สรุป  ข้ออ้างของ  ข  ฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  2  แดงกู้เงินธนาคารสี่ล้านบาทโดยมีดำ  ขาว  เหลือง  และเขียว  เป็นผู้ค้ำประกัน  ขาวผู้เดียวเป็นผู้ชำระหนี้แทนแดงทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมสี่ล้านสี่แสนบาท  ขาวจะเรียกให้ใครรับผิดได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  226  วรรคแรก  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้  รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

มาตรา  229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย  และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น  และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆ  ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆเพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำ  ขาว  เหลือง  และเขียว  เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ธนาคาร  4  ล้านบาท  ที่มีแดงเป็นลูกหนี้  ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา  682  วรรคสอง  ซึ่งตามมาตรา  296  กำหนดว่า  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ต่างตนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง  ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้  (มาตรา  291) 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวผู้ค้ำประกันคนหนึ่งเข้าชำระหนี้แทนแดงทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  รวม  4  ล้าน  4  แสนบาท  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  เมื่อขาวชำระหนี้ไปแล้ว  ขาวจะเรียกให้ใครรับผิดได้หรือไม่  เพียงใด  เห็นว่า

1       เมื่อขาวผู้ค้ำประกันคนหนึ่งเข้าชำระหนี้แล้ว  ขาวย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยได้ทั้งเงินต้น  ดอกเบี้ย  และค่าเสียหายจากการค้ำประกันได้ทั้งหมดจากแดงลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา  693  วรรคแรก  และ

2       ขาวผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมาย  ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา    229(3)  ประกอบมาตรา  226  วรรคแรก  ไปไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำประกันอื่นๆได้ทุกคนตามมาตรา  693  วรรคสอง  ทั้งนี้ตามสัดส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันแต่ละคนตามมาตรา  296 กล่าวคือ  ไล่เบี้ยเอากับดำ  เหลือง  และเขียวได้คนละ  1  ล้าน  1  แสนบาท  (ฎ. 4574/2536)

สรุป  ขาวจะเรียกให้แดงลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งหมด  4  ล้าน  4  แสนบาทตามมาตรา  693  วรรคแรก  หรือจะเรียกให้ดำ  เหลือง  และเขียวผู้ค้ำประกันร่วมคนอื่นๆรับผิดคนละ  1  ล้าน  1  แสนบาทก็ได้ตามมาตรา  229(3)  ประกอบมาตรา  226  วรรคแรก  และมาตรา  693  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  296

 

 

ข้อ  3  จันทร์ได้ยกที่ดิน  1  แปลงให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาอังคารได้ประพฤติตนเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง  จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้  แต่ปรากฏว่าก่อนที่อังคารจะได้ประพฤติเนรคุณและก่อนที่จันทร์จะได้ทราบเหตุเนรคุณดังกล่าว  อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธ  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน  และพุธรับไว้โดยสุจริต  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า  มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีวิธีใดตามบรรพ  2  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ที่ควรนำมาใช้กับเรื่องนี้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด  คือ  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  สำหรับหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลดังกล่าว  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2       ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

ดังนั้น  ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาให้ได้ความว่า  ผู้ที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา  237  จะต้องอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ในขณะทำนิติกรรม  ถ้าในขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม  ผู้ขอให้เพิกถอนยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้  จะฟ้องขอให้เพิกถอนตามมาตรา  237  ไม่ได้

สำหรับกรณีนี้  แม้อังคารจะประพฤติเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรงซึ่งจันทร์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้ก็ตาม  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่พุธก่อนที่จะมีการประพฤติเนรคุณและก่อนที่จันทร์จะได้ทราบเหตุเนรคุณดังกล่าว  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  237  วรรคแรก  เพราะขณะอังคารยกที่ดินให้พุธอันเป็นการให้โดยเสน่หา  จันทร์ยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้และยังไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ทั้งนี้เนื่องจากในเรื่องการให้โดยเสน่หา  เมื่อผู้รับประพฤติเนรคุณ  ผู้ให้ชอบที่จะเพิกถอนการให้ได้นับแต่วันที่ทราบเหตุเนรคุณ  และนับแต่นั้นจึงจะถือว่าผู้ให้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้  (ฎ. 1514 1515/2516)  ดังนั้นจันทร์จึงไม่อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างอังคารกับพุธได้

กรณีจึงไม่มีวิธีใดตามบรรพ  2  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคารได้

สรุป  ไม่มีวิธีใดตามบรรพ  2  ที่จะเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงิน  200,000  บาท  โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  สอง  (ลูกหนี้)  ผิดนัด  แต่ต่อมาปรากฏว่าสามเพียงคนเดียวได้เอาแหวนเพชรตีใช้หนี้แทนเงิน  200,000  บาท  ให้แก่หนึ่ง ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง  หรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  292  วรรคแรก  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ  อันพึงกระทำแทนชำระหนี้  วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา  321  วรรคแรก  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามและสี่เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงิน  200,000  บาท  ที่มีสองเป็นลูกหนี้  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นทุกคนจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา  682  วรรคสอง  ซึ่งตามมาตรา  296  กำหนดว่า  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง  ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้ (มาตรา  291)

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  สามผู้ค้ำประกันร่วมคนหนึ่งได้เอาแหวนเพชรตีใช้หนี้แทนเงิน  200,000  บาท  ให้แก่หนึ่ง  ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้  กรณีจึงเป็นเรื่องที่สามลูกหนี้ร่วมทำการอันพึงกระทำแทนการชำระหนี้ตามมาตรา  292  วรรคแรก  ซึ่งก็หมายถึง  การที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  321  วรรคแรกนั่นเอง  การที่สามลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้และเจ้าหนี้ก็ยอมรับย่อมมีผลให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป  การระงับแห่งหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่สี่ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย  ตามมาตรา  292  วรรคแรก  สี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อหนึ่งอีกต่อไป

สรุป  สี่ไม่ต้องรับผิดต่อหนึ่งอีกต่อไป  เพราะการชำระหนี้ของสามมีผลให้หนี้ระงับไปถึงสี่ด้วย

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  บริษัท  เอ  จำกัด  ในประเทศเยอรมัน  ได้ส่งสินค้ามาขายให้บริษัท  ก  จำกัด  ในประเทศไทย  ตามที่บริษัท  ก  จำกัด  สั่งซื้อ  คิดเป้นราคารวม  100,000  มาร์คเยอรมัน  กำหนดชำระราคาด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท  เอ  จำกัด  ในประเทศเยอรมัน

ต่อมาระหว่างที่กำหนดเวลาชำระค่าสินค้ายังไม่ถึงกำหนด  ปรากฏว่าประเทศเยอรมันได้ประกาศยกเลิกเงินสกุลมาร์คเยอรมันของตน  และใช้เงินสกุลยูโรแทน  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  ปรากฏว่า  บริษัท  ก  จำกัด  ผิดนัด  ไม่ชำระราคาสินค้าตามที่ตกลงกัน  บริษัท  เอ  จำกัด  จึงมายื่นฟ้องเรียกค่าสินค้าในศาลไทย  บริษัท  ก  จำกัด  ต่อสู้คดีอ้างว่า  เนื่องจากไม่มีสกุลเงินมาร์คเยอรมันอยู่ในสารบบสกุลเงินของโลกแล้ว

จึงถือได้ว่า  การชำระหนี้เงินค่าสินค้าเป็นพ้นวิสัย  โดยไม่ใช่ความรับผิดชอบของตน  บริษัท  ก  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าอีกต่อไป  และบริษัท  เอ  จำกัด  ต้องฟ้องร้องรัฐบาลเยอรมันที่เป็นผู้ประกาศยกเลิกสกุลเงินมาร์ค  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก จำกัด  รับฟังได้หรือไม่  เพียงใด  และเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  197  ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ  อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้ไซร้  การส่งใช้เงินท่านว่าให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น

มาตรา  219  วรรคแรก  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่เป็นหนี้เงินซึ่งเงินตราชนิดนั้นยกเลิกไม่ใช้กันแล้ว  ในเวลาที่จะต้องส่งเงิน  กฎหมายให้ถือเสมือนว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น  ดังนั้นลูกหนี้จึงยังต้องส่งใช้เงินชนิดที่ยังใช้อยู่ต่อไป   เพราะไม่เป็นเหตุระงับแห่งหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัด  รับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  หนี้ค่าสินค้าของบริษัท  ก  จำกัด ในคดีนี้เป็นหนี้เงินตราต่างประเทศสกุลมาร์คเยอรมัน  อันเป็นเงินตราของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปที่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเวลาใช้เงินจริง  เงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินตราที่ยกเลิกไม่ใช้แล้ว  กรณีเช่นนี้บทบัญญัติมาตรา  197  ให้ถือเสมือนว่าคู่สัญญามิได้ตกลงระบุให้ใช้เงินมาร์คเยอรมันที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น  และเมื่อมีการใช้เงินสกุลยูโรแทนเงินมาร์คเยอรมัน  บริษัท  ก  จำกัดต้องชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเงินยูโรซึ่งเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์คเยอรมันที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ต้นเงินมาร์คเยอรมัน  พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด  ทั้งนี้  โดยการคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่เป็นเงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินยูโรนั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงิน  ณ  วันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินสกุลยูโรสามารถแลกเปลี่ยนได้ในขณะหรือก่อนเวลาใช้เงินจริง  (ฎ. 568/2548ฎ. 583/2548)

ดังนั้นข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัดที่ว่าไม่มีเงินสกุลมาร์คเยอรมันอยู่ในสารบบเงินของโลกแล้ว  จึงถือได้ว่าการชำระหนี้เงินค่าสินค้าเป็นพ้นวิสัยโดยไม่ใช่ความผิดของตนตามมาตรา  219  วรรคแรก  บริษัท  ก  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าอีกต่อไปจึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการชำระหนี้ด้วยเงินนั้นไม่ใช่การชำระหนี้  โอน  หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ทั้งกฎหมายก็ได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดแล้วโดยให้ถือว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดที่ถูกยกเลิกไปแล้ว  บริษัท  ก  จำกัดลูกหนี้จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  219  วรรคแรก  บริษัท  เอ  จำกัด  สามารถฟ้องบริษัท ก  จำกัดให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัด  รับฟังไม่ได้

 

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2551  นายเอก  ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจากนายโท  100,000  บาท  โดยนายโทตกลงไม่คิดดอกเบี้ย  กำหนดชำระเงินกู้คืนในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ต่อมาเมื่อถึงวันกำหนดชำระหนี้ดังกล่าว  นายเอกได้นำเงินไปชำระให้แก่นายโทที่บ้านของนายโท  แต่นายโทคิดในใจว่า  อยากจะได้ดอกเบี้ยจากนายเอกบ้าง

เพราะได้กำไรดีกว่าเมื่อเอาไปฝากไว้กับธนาคาร  จึงไม่ยอมรับเงินไว้  แล้วอ้างว่าจะต้องรีบออกไปธุระต่างจังหวัด  นายเอกจึงไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้แก่นายโท  ต่อมานายโทเห็นว่านายเอกหายหน้าไปตั้งแต่วันนั้น  ดังนั้นในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2552  นายโทจึงรีบยื่นฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินกู้กับดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  นับแต่วันที่  1  มกราคม  2551

ถึงวันฟ้องนายเอกให้การต่อสู้ว่านายโทเป็นฝ่ายผิดนัดและสัญญากู้ไม่ได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ย  นายโทจึงเรียกดอกเบี้ยจากตนไม่ได้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่านายเอกต้องชำระหนี้เงินกู้คืนนายโทพร้อมดอกเบี้ยตามที่ขอด้วยหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายเอกและนายโทตกลงกันไม่มีการคิดดอกเบี้ย  นายโทเจ้าหนี้จึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในหนี้เงินโดยอาศัยสัญญากู้ยืมได้  และหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา  204  วรรคสอง  นายเอกจึงต้องชำระหนี้ตามวันที่กำหนด  คือ  วันที่  1  ตุลาคม  2551  แต่เนื่องจากเมื่อนายเอกนำเงินต้นไปชำระครบถ้วนตามกำหนดที่ภูมิลำเนาของนายโทเจ้าหนี้อันถือว่าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว  การที่นายโทเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้โดยอ้างว่าจะต้องรีบออกไปธุระต่างจังหวัดเพราะอยากได้ดอกเบี้ยจากนายเอกเนื่องจากเห็นว่าได้กำไรดีกว่าเอาไปฝากไว้กับธนาคาร  ถือได้ว่าเป็นข้ออ้างที่ปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  นายโทเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207 

โดยที่หนี้ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นหนี้เงิน  ซึ่งตามปกติถ้าลูกหนี้ผิดนัด  ลูกหนี้ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีตามมาตรา  224  วรรคแรก  แต่กรณีนี้เมื่อถือว่านายโทเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดเสียเอง  โดยลูกหนี้คือ  นายเอกมิได้เป็นฝ่ายผิดนัด  ผลจึงต้องบังคับตามมาตรา  221  คือ  หนี้เงินอันจะต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดไม่ได้  เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันที่  1  ตุลาคม  2551  ซึ่งเป็นวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระและนายโทเจ้าหนี้ผิดนัดจนถึงวันฟ้อง  นายโทจะคิดดอกเบี้ยจากนายเอกไม่ได้  ทั้งจะเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่กู้คือวันที่  1  ตุลาคม  2551  ก็ไม่ได้  เนื่องจากไม่ได้ตกลงกันคิดดอกเบี้ยกันมาตั้งแต่ต้น

สรุป  นายเอกต้องชำระหนี้เงินต้นแก่นายโท  แต่ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามที่นายโทเรียกร้อง    

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้และอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน  100,000  บาท  โดยมีพุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  อังคาร  (ลูกหนี้  ผิดนัด  จันทร์จึงเรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้  พุธนำเงิน  100,000  บาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ  แต่ปรากฏว่าจันทร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

พุธจึงนำเงิน  100,000  บาทนั้นไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่จันทร์  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  พฤหัสยังต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าวนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  292  วรรคแรก  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ  อันพึงกระทำแทนชำระหนี้  วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา  331  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี  หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว  ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ  หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่ความผิดของตน

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธและพฤหัสเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้  1  แสนบาท  ที่มีอังคารเป็นลูกหนี้  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา  682  วรรคสอง  ซึ่งตามมาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง  ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้  (มาตรา  291)

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  อังคาร  (ลูกหนี้)  ตกเป็นผู้ผิด  จันทร์จึงเรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน  (มาตรา  680  ประกอบมาตรา  686)  การที่พุธชำระหนี้โดยนำเงิน  1  แสนบาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ  แต่ปรากฏว่าจันทร์เจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  กรณีเช่นนี้ถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  พุธมีสิทธิวางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา  331  ซึ่งผลแห่งการนี้ทำให้พุธหลุดพ้นจากหนี้นั้นไป 

เมื่อพุธและพฤหัสอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  การที่พุธลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้นกรณีนี้พฤหัสย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นไปด้วย  กล่าวคือ  พฤหัสไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์เจ้าหนี้ในหนี้รายดังกล่าวนี้ตามมาตรา  292  วรรคแรก

สรุป  พฤหัสไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าวนี้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้สอง  90,000  บาท  ต่อมาหนึ่งได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายดังกล่าวนี้ให้แก่สามในวันที่  10  มกราคม  2552  ปรากฏว่าในวันที่  20  มกราคม  2552  สองได้เอาสร้อยคอทองคำตีใช้หนี้แทนเงิน  90,000  บาท  ให้แก่หนึ่ง  ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้  หลังจากนั้นในวันที่  30  มกราคม  2552  สองได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้นจากสาม  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  สามจะมีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน  หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว  หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้  ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

มาตรา  321  วรรคแรก  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามมาตรา  306  วรรคสองดังกล่าวนั้น  หมายความว่า  ถ้าก่อนลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวหรือก่อนลูกหนี้ได้ตกลงด้วยในการโอนสิทธิเรียกร้อง  ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ผู้โอนไปแล้วหรือกระทำประการใดจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้  เช่น  นำทรัพย์สินไปตีใช้หนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้เป็นอันระงับไปแล้ว  ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นความรับผิด  ผู้รับโอนจะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้  แต่ถ้าภายหลังได้รับคำบอกกล่าวการโอนหรือภายหลังที่ลูกหนี้ยินยอมด้วยแล้ว  ถือว่าเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แล้ว  ถ้าลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้ไม่ระงับผู้รับโอนเรียกให้ชำระหนี้ได้อีก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  สามจะมีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีกหรือไม่  เห็นว่า  ก่อนที่สองลูกหนี้จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา  306  วรรคแรก  สองได้เอาสร้อยคอทองคำตีใช้หนี้แก่หนึ่งผู้โอนไปแล้ว  กรณีเช่นนี้จึงเป็นการที่สองลูกหนี้ทำให้พอใจแก่หนึ่งผู้โอนด้วยการชำระหนี้ด้วยประการอื่นและเจ้าหนี้ยอมรับตามมาตรา  321  วรรคแรก  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป  สองลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ดังนั้น  สองลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้สามอีกตามมาตรา  306  วรรคสอง  สามไม่มีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีก

สรุป   สามไม่มีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีก

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  2  มกราคม  2552  นางอุบลมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงระยองบุตรผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กหญิงระยองให้แก่นายตรัง  กำหนดวันจดทะเบียนและชำระราคาที่ดินทั้งหมดในวันที่  2  กรกฎาคม  2552  ถ้านางอุบลไม่ยอมขายยินยอมให้นายตรังปรับเป็นเงิน  200,000  บาท

โดยขณะตกลงซื้อขายกันนายตรังซึ่งมีอาชีพทนายความนั้น  ทราบว่าที่ดินที่ตนจะซื้อเป็นของบุตรผู้เยาว์ของนางอุบล  จึงได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าทำสัญญาแล้วจึงให้นางอุบลไปร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดินดังกล่าว  ต่อมาวันที่  2  มีนาคม  2552  นางอุบลได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขออนุญาตขายที่ดินดังกล่าวให้นายตรังแทนบุตรผู้เยาว์

ต่อมาศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขาย  คดีถึงที่สุดโดยนางอุบลไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น  และในที่สุดนางอุบลไม่ได้โอนขายที่ดินให้นายตรังตามสัญญา  นายตรังจึงเป็นโจทก์ฟ้องนางอุบลต่อศาลฐานผิดสัญญาจะซื้อขาย  เรียกเบี้ยปรับ  200,000  บาท  ตามสัญญา

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นางอุบลต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับแก่นายตรังหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  219  วรรคแรก  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายตรังมีอาชีพทนายความ  และรู้อยู่แล้วว่าในขณะทำสัญญาว่า  ที่ดินดังกล่าวเป็นของบุตรผู้เยาว์ของนางอุบล  ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์จะต้องมีคำสั่งศาลให้ขายได้เสียก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้นายตรังได้  ทั้งข้อเท็จจริงตามปัญหาก็ไม่ปรากฏว่าพยานหลักฐานที่นางอุบลนำเข้าไต่สวนในคดีดังกล่าวนั้น  นางอุบลจงใจให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต  เพื่อหลีกเลี่ยงการโอนขายที่ดินให้แก่นายตรัง  การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์  จึงเป็นไปตามดุลพินิจของศาล  ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย  ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และเป็นพฤติการณ์ที่นางอุบลไม่ต้องรับผิดชอบ  นางอุบลจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ทั้งนี้ตามมาตรา  219  วรรคแรก  นางอุบลจึงไม่ผิดสัญญา  และไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายตรังตามสัญญา  (ฎ.89/2536)

สรุป  นางอุบลไม่ผิดสัญญา  ไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายตรังตามสัญญา

 

 

ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องละเมิดคดีหนึ่ง  ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า  ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างปิดกั้นทางเข้าออกซึ่งเป็นทางภาระจำยอมของโจทก์ตามฟ้อง  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย  ถ้าคดีนี้มีการอุทธรณ์ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์

และนักศึกษาเป็นผู้พิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ที่จะต้องมีคำพิพากษาคดีนี้  นักศึกษาเห็นว่า  ถ้อยคำของศาลชั้นต้นที่พิพากษาไว้ดังกล่าว  ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  213  หรือไม่  ประการใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  213  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด  เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นคดีฟ้องเพื่อขอบังคับจำเลยงดเว้นกระทำการ  คือการไม่ปิดกั้นทางภาระจำยอมของโจทก์  ซึ่งลักษณะของการบังคับชำระหนี้ในกรณีนี้  เป็นเรื่องที่ลูกหนี้หรือจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างปิดกั้นทางภาระจำยอมดังกล่าวออกไป  โดยลูกหนี้หรือจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย  ทั้งนี้ตามมาตรา  213  วรรคสาม

ส่วนการที่ศาลจะมีคำพิพากษาโดยใช้ถ้อยคำว่า  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น  จะต้องปรากฏว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษามีวัตถุแห่งหนี้เป็นการให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  ศาลจึงจะมีคำพิพากษาด้วยถ้อยคำเช่นนั้นได้  ทั้งนี้ตามมาตรา  213  วรรคสอง

ดังนั้น  คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น  จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  213  วรรคสองและวรรคสาม  (ฎ.7091/2542)

สรุป  ถ้อยคำของศาลชั้นต้นที่พิพากษาไว้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยมาตรา  213

 

 

ข้อ  3  เอกเป็นหนี้โทอยู่สองแสนบาท  ต่อมาเอกได้เป็นเจ้าหนี้ตรีเป็นจำนวนเงินสองแสนบาท  นอกจากความเป็นเจ้าหนี้ตรีแล้ว  เอกไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก  ปรากฏว่าเอกได้ทำหนังสือปลดหนี้สองแสนบาทให้แก่ตรี

ดังนี้  โทควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอกได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา  237    ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2       ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกทำหนังสือปลดหนี้ให้แก่ตรีโดยรู้ดีว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วจะเป็นทางให้โทเจ้าหนี้เสียเปรียบ  ทั้งเมื่อทำนิติกรรมแล้วเอกก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก  การกระทำดังกล่าวของเอกจึงเป็นการฉ้อฉลโทผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา  237  วรรคแรก  ทั้งนี้ นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลไม่ได้หมายความเฉพาะนิติกรรมอันเป็นการโอนทรัพย์สินเท่านั้น  นิติกรรมที่เป็นการสละสิทธิหรือประโยชน์  หรือทรัพย์สินสิ่งใดที่ลูกหนี้ได้ไว้แล้ว  ก็เป็นการฉ้อฉลตามความในมาตรา  237  ได้

ดังนั้น  โทเจ้าหนี้จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอก  (ลูกหนี้)  โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้  อันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

สรุป  โทเจ้าหนี้จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอก  (ลูกหนี้)  โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้  อันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้

 

 

ข้อ  4  จันทร์และอังคารทำสัญญาขายม้าตัวหนึ่งให้พุธ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระจันทร์จูงม้าไปส่งมอบให้แก่พุธตามสัญญาซื้อขาย  ตามวันเวลาที่กำหนดกันไว้โดยแน่นอน  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้  โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของพุธมีผลถึงอังคารด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

วินิจฉัย

การที่เจ้าหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207 นี้  ต้องครบองค์ประกอบ  2  ประการ  คือ

1       ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว

2       เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างโดยกฎหมาย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์และอังคารขายม้าตัวหนึ่งให้พุธ  ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งชำระกันมิได้  ทั้งจันทร์และอังคารต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ทั้งนี้ตามมาตรา  301

เมื่อได้ความว่า  ถึงกำหนดชำระหนี้จันทร์จูงม้าไปส่งมอบให้พุธเจ้าหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ตามวันเวลาที่กำหนดไว้โดยแน่นอน  กรณีจึงถือว่าจันทร์ลูกหนี้ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว  เมื่อพุธเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  จึงถือว่าพุธเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207

ดังนั้น  การที่พุธเจ้าหนี้ผิดนัดต่อจันทร์ลูกหนี้คนหนึ่ง  กรณีย่อมถือว่าพุธเจ้าหนี้ผิดนัดต่ออังคารลูกหนี้อีกคนหนึ่งด้วยตามมาตรา  294  ที่ว่า  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

สรุป  การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของพุธมีผลถึงอังคารลูกหนี้อีกคนหนึ่งด้วย

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  หนึ่งล้านบาท  มีกำหนดเวลาสาปี  ก  ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้ไว้และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่า  หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระเท่าใด  ลูกหนี้จะรับผิดชอบจนครบจำนวน  ข้อเท็จจริงหลังจากกู้ไปได้หกเดือน  ก  ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย  ข  เห็นว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนด  จึงไม่ได้เรียกมิได้บังคับชำระหนี้  เมื่อครบกำหนดตามสัญญา  ข บังคับชำระหนี้เอากับ  ค  ทายาท  ค  ต่อสู้ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้และคดีขาดอายุความ  ข้อต่อสู้ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ได้ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา  203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  1754  วรรคสาม  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา  193/27  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี  มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้  หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

วินิจฉัย

ตามมาตรา  1754  วรรคสาม  ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม  มิฉะนั้นจะขาดอายุความ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  โดยมีกำหนดเวลา  3  ปี  หลังจากกู้ไปได้  6  เดือน  ก  ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย  ซึ่ง  ข  เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของ  ก  ลูกหนี้  ดังนี้  แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่าง  ก  และ  ข  จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ  ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา  203  วรรคสอง  แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ตายก่อนกำหนด  ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตายตามมาตรา  1754  วรรคสาม  เมื่อ  ข  เจ้าหนี้ไม่ได้บังคับให้ชำระหนี้ภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่  ก  ลูกหนี้ตาย  หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ  ข  เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจาก  ค  ทายาท  ของลูกหนี้ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  1754  วรรคสาม  จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา  193/27  ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม

และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  นั้น  ก  ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้ไว้  ดังนั้น  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วตามมาตรา  1754  วรรคสาม  แต่กฎหมายมาตรา  193/27  ก็ยังให้สิทธิแก่  ข  ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้  แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของ  ก

สรุป  ข้อต่อสู้ของ  ค  ที่ว่าคดีขาดอายุความนั้นฟังขึ้น  แต่  ข  เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่รับจำนองไว้ได้  แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว

 

 

ข้อ  2  หลังจากหย่ากันแล้ว  จตุพรผู้สามีก็จากไปปล่อยให้ภริยาเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สามคนอยู่ฝ่ายเดียว  จตุพรไม่เคยมาดูดำดูดีบุตรและภริยาเลย  เมื่อภริยาขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามี  จตุพรขอให้ศาลยกฟ้อง  อ้างว่าการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิของบุตรที่จะเรียกไม่ใช่สิทธิของภริยา  และผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  ข้ออ้างของจตุพรฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  226  วรรคแรก  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้  รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

มาตรา  229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย  และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น  และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆ  ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  การอุปการะเลี้ยงดู  ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

มาตรา  1562  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ  อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา  1564  วรรคแรก  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

มาตรา  1565  การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น  นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา  1562  แล้ว  บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

วินิจฉัย

โดยหลัก  กฎหมายให้สิทธิบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น  สามารถเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  และใช้สิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง  (มาตรา  226  ประกอบมาตรา  229(3))

กรณีตามอุทาหรณ์  จตุพรผู้เป็นสามีได้ทิ้งให้ภริยาของตนเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  3  คนอยู่เพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งตามกฎหมายนั้นกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์  และให้ถือว่าหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างบิดามารดาตามมาตรา  1490(1)  ประกอบมาตรา  1564  วรรคแรก  โดยถือว่า  บิดามารดามีความผูกพันร่วมกันในการที่จะต้องชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตร  (ลูกหนี้ร่วม)  กล่าวคือ  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งหมดก็ยังคงต้องผูกพันจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง  และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้น  ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนๆเท่ากัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา  229(3)  ประกอบมาตรา  291 , 296

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อภริยาขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามีคือจตุพร  แต่จตุพรขอให้ศาลยกฟ้อง  โดยอ้างว่าการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิของบุตรที่จะเรียกไม่ใช่สิทธิของภริยาและผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  กรณีนี้ถึงแม้ตามกฎหมาย  บุตรจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาไม่ได้เพราะถือว่าเป็นคดีอุทลุม  (มาตรา  1562)  ก็ตาม  แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าภริยาแต่ผู้เดียวได้ชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสามจึงเป็นกรณีที่  บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น(ลูกหนี้ร่วม)  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น  ดังนั้น  ภริยาย่อมได้รับสิทธิของบุตรเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมายเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจตุพรได้กึ่งหนึ่งตามมาตรา  226, 229(3) ,  291, 296  ประกอบมาตรา  1565  ข้ออ้างของจตุพรดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของจตุพรฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์และอังคารเป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้ยืมมีพุธเป็นเจ้าหนี้  หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจันทร์เข้าทำสัญญาเพราะถูกกลฉ้อฉลของพุธ  อันเป็นโมฆียะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  159  วรรคหนึ่ง  ในกรณีดังกล่าวนี้อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาบอกล้างสัญญาดังกล่าวนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

วินิจฉัย

โดยหลัก  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษของลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่น  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง  (มาตรา  295  วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์เข้าทำสัญญากู้ยืมเพราะถูกกลฉ้อฉลของพุธอันจะมีผลทำให้สัญญาเป็นโมฆียะนั้น  ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจันทร์ลูกหนี้ร่วมเพียงคนเดียว  จึงมีผลแต่เฉพาะจันทร์ผู้เดียวเท่านั้นไม่มีผลถึงอังคารซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย  ดังนั้น  อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญากู้ยืมบอกล้างสัญญาดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา  295  วรรคแรก  ให้ถือว่าการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากู้ยืมของอังคารมีผลสมบูรณ์

สรุป  อังคารจะอ้างเหตุที่จันทร์ถูกพุธใช้กลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญากู้ยืมบอกล้างสัญญาดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ  4  ก  กู้เงิน  ข  ไปสองแสนบาท  แต่ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้  ต่อมาปรากฏว่า  ค  ละเมิดโดยขับรถยนต์ชน  ก  เป็นเหตุให้  ก  ได้รับบาดเจ็บสาหัส  ขาหักทั้งสองข้าง  ต้องรักษาตัวโดยผ่านการผ่าตัดหลายครั้งอยู่โรงพยาบาลและรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือน  ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน  ต้องขาดเรียนและเรียนซ้ำชั้น  เป็นความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจ  เป็นเหตุให้  ก  มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่มิใช่เป็นตัวเงินในส่วนนี้จาก  ค  ผู้ละเมิดได้ประมาณสองแสนบาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  446  แต่  ก  เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น  ดังนี้  ข  จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของ  ก  ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวนี้  ได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

วินิจฉัย

การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  นั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       ลูกหนี้ขัดขืนเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง

2       ปรากฏว่าการขัดขืนหรือเพิกเฉยของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  และ

3       การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้นั้นต้องปรากฏว่าไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ลูกหนี้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงินจาก  ค  ผู้ทำละเมิด  ได้ประมาณ  2  แสนบาท  แต่  ก  เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น  ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง  และการเพิกเฉยของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือ  ข  ต้องเสียประโยชน์  เพราะตามข้อเท็จจริง  ก  ลูกหนี้  ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แต่อย่างใด  ซึ่งโดยหลัก  กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ในการควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้นั้น  ต้องปรากฏว่าไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของ  ก  ถือเป็นข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้  ดังนั้น  ข  เจ้าหนี้จึงใช้สิทธิเรียกร้องของ  ก ลูกหนี้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก  ค  แทนลูกหนี้ไม่ได้  เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา  233  ดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ข  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของ  ก  ลูกหนี้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก  ค  แทนลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวไม่ได้

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายเอกซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นายโทซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน  100,000  บาท  ต่อมานายเอกได้สั่งซื้อสินค้าจากนายตรีซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา  100,000  บาท  เมื่อหนี้ทั้งสองจำนวนถึงกำหนดชำระแล้ว  นายเอกกับนายตรีได้พบกันและตกลงกันว่านายเอกจะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายเอกเป็นเจ้าหนี้นายโทจำนวน  100,000  บาท  ให้แก่นายตรี  เพื่อชำระค่าสินค้าจำนวน  100,000  บาท  ที่นายเอกเป็นหนี้นายตรีอยู่  ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ

โดยนายเอกคนเดียวลงชื่อในสัญญาดังกล่าว  จากนั้นนายเอกได้มีจดหมายบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปให้นายโททราบแล้ว  ต่อมานายโทไม่ยอมชำระเงินจำนวน  100,000  บาท  แก่นายตรี  นายตรีจึงฟ้องคดีต่อศาลเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าว  นายโทต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะ  เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อนายตรีผู้รับโอนด้วย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ใช้บังคับได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคแรก  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าไม่สมบูรณ์  อนึ่งการโอนหนี้นั้น  ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น  คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา  306  วรรคแรกนั้น  กฎหมายได้บัญญัติแต่เพียงว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  การโอนนั้นจึงจะสมบูรณ์  หาได้บัญญัติว่าการโอนนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ  และลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนด้วยไม่  ดังนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนแต่ฝ่ายเดียว  ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  (ฎ. 6816/2537)  และการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้  ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้แล้ว  หรือลูกหนี้ได้มีหนังสือให้ความยินยอมด้วยกับการโอนนั้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายเอกเป็นเจ้าหนี้นายโทให้แก่นายตรี  เมื่อนายเอกและนายตรีได้ทำสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ  โดยนายเอกเพียงคนเดียวลงชื่อในสัญญาดังกล่าว  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายเอกและนายตรีก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้  และเมื่อนายเอกได้มีหนังสือ (จดหมาย)  บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปให้นายโททราบแล้ว  นายโทจึงต้องชำระหนี้ให้แก่นายตรีเจ้าหนี้ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องจากนายเอก  และถ้านายโทไม่ยอมชำระหนี้แก่นายตรี  นายตรีย่อมสามารถฟ้องนายโทให้ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินได้  นายโทจะต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะหาได้ไม่

สรุป  การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้สมบูรณ์ใช้บังคับได้  นายโทต้องชำระหนี้ให้แก่นายตรีจะต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายดำกู้เงินจากนายขาวไป  10,000  บาท  กำหนดชำระคืนในวันที่  31  ธันวาคม  2553  โดยให้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาในอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  ในการนี้นายเหลืองได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนายดำ  ต่อมาในวันที่  31  ธันวาคม  2553

นายดำไม่ชำระหนี้แก่นายขาวตามสัญญา  นายเหลืองทราบเรื่อง  ในวันรุ่งขึ้นจึงได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยครบตามสัญญาไปชำระให้นายขาวที่บ้าน  พบนายขาวกำลังรับประทานอาหารเย็น  แต่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระและไล่ให้นายเหลืองกลับไป  ต่อมานายขาวได้นำคดีไปฟ้องศาลเรียกเงินกู้และดอกเบี้ยตามสัญญาจนถึงวันฟ้อง  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายดำกับนายเหลืองต้องรับผิดต่อนายขาวหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  315  อันการชำระหนี้นั้น  ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้  การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น  ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

มาตรา  324  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้  ณ  สถานที่ใดไซร้  หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ท่านว่าต้องส่งมอบกัน  ณ  สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น  ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น  ท่านว่าต้องชำระ  ณ  สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเหลืองได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ยืม  10,000  บาท  ที่มีนายดำเป็นลูกหนี้นายขาวนั้น  เมื่อนายเหลืองยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  จึงถือว่านายเหลืองเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายดำ

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายดำไม่ชำระหนี้ให้แก่ขาวตามสัญญา  นายเหลืองทราบเรื่อง  จึงได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปชำระให้นายขาวที่บ้าน  แต่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้  ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วตามมาตรา  315  ประกอบมาตรา  324  แต่เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  เพราะแม้ขณะนั้นเป็นเวลารับประทานอาหารเย็นก็ไม่ใช่เหตุอันจะอ้างเพื่อปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ได้แต่อย่างใด  ดังนั้นการที่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว  นายขาวเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  และมีผลทำให้นายขาวไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในระหว่างที่ตนผิดนัด  คือนับแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไปตามมาตรา  221  แต่อย่างไรก็ตามนายดำและนายเหลืองลูกหนี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นแต่อย่างใด

และเมื่อนายเหลืองเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายดำ  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้นนายดำจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของนายขาวเจ้าหนี้ด้วย  ทำให้นายขาวไม่อาจเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้จากลูกหนี้ทั้งสองคนในระหว่างที่ตนผิดนัดเป็นต้นไป  (ฎ. 2491/2522)

สรุป  นายดำกับนายเหลืองต้องรับผิดชำระหนี้ให้กับนายขาวตามสัญญา  แต่นายขาวจะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากุ้จากลูกหนี้ทั้งสองคนในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้  โดยมีอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงินกู้ยืม  900,000  บาท  เพื่อมิให้จันทร์ได้รับการชำระหนี้  อังคารจึงได้โอนขายที่ดินหนึ่งแปลงซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่พุธ  ในราคา  900,000  บาท  พุธรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  อันเป็นทางให้จันทร์เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ต่อมาในวันที่  20  มกราคม  2553  พุธได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้แก่พฤหัสอีกทอดหนึ่งโดยเสน่หา

พฤหัสรับโอนไว้โดยสุจริต  ปรากฏว่าในวันที่  30  มกราคม  2553  จันทร์ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ  และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัส  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  238  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก  อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่อังคารลูกหนี้ได้โอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่พุธนั้น  ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ไกระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  และเมื่อพุธซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  ดังนั้น  เมื่อจันทร์เจ้าหนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธแล้ว  ศาลย่อมเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

และกรณีที่จันทร์ได้ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสด้วยนั้น  ถึงแม้ตามมาตรา  238  วรรคแรก  จะได้กำหนดไว้ว่า  การเพิกถอนดังกล่าวตามมาตรา  237  วรรคแรกนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่า  การโอนทอดหลังระหว่างพุธกับพฤหัสเป็นการให้โดยเสน่หา  แม้พฤหัสซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะรับโอนไว้โดยสุจริตก่อนที่จันทร์เริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน  และผลของการเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธจะกระทบกระทั่งถึงการโอนทอดหลังดังกล่าวก็ตาม  แต่เนื่องจากพฤหัสรับโอนที่ดินมาโดยเสน่หา  ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้ตามมาตรา  238  วรรคสอง

สรุป  ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งและสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินหนึ่งแปลง  หนึ่งและสองเป็นลูกหนี้ร่วมตกลงกับสามเจ้าของที่ดินข้างเคียงว่าจะไม่สร้างอาคาร  3  ชั้น  ปิดบังแสงสว่างที่ดินของสาม  ต่อมาหนึ่งและสอง  แบ่งแยกที่ดินกันแล้วถือไว้คนละแปลง  ปรากฏว่าหนึ่งสร้างอาคาร  3  ชั้นในที่ดินของหนึ่ง  ผิดข้อสัญญาที่ได้เคยให้ไว้แก่สาม  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ใครบ้างที่จะต้องรับผิดต่อสามเรื่องการรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดข้อสัญญา  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งและสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ตกลงกับสามเจ้าของที่ดินข้างเคียงว่าจะไม่สร้างอาคาร  3  ชั้น  ปิดบังแสงสว่างในที่ดินของสามนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังจากที่หนึ่งและสองได้แบ่งแบกที่ดินกันถือไว้คนละแปลงแล้ว  หนึ่งได้สร้างอาคาร  3  ชั้นในที่ดินแปลงของหนึ่ง  ซึ่งผิดข้อสัญญาที่เคยให้ไว้กับสาม  จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งได้กระทำให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อบุคคลอื่น  หนึ่งย่อมต้องรับผิดต่อสามแต่เพียงผู้เดียว  ดังนั้น  สามจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้หนึ่งรับผิดแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น  เพราะถือเป็นเรื่องการที่หยิบยกอ้างความผิดของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตามมาตรา  295  วรรคสอง  ย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมผู้นั้น  ไม่มีผลไปถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  สองจึงไม่ต้องรับผิดต่อสามตามมาตรา  295  วรรคแรก

สรุป  หนึ่งคนเดียวเท่านั้นที่จะต้องรับผิดต่อสามในเรื่องการรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดข้อสัญญา

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามทำสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น  เนื้อที่สามร้อยตารางเมตรจากนายสิบโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคาร  ต่อมา  นายหนึ่งนำอาคารพิพาทบางส่วนไปให้นายเก้าเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายสิบ  ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า  นายสิบจึงบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคารที่เช่า

นายหนึ่งให้การยอมรับว่าให้เช่าช่วงไปจริง  ส่วนนายสองและนายสามต่อสู้ว่า  นายสิบไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่  เพราะนายสองกับนายสามไม่ได้มีส่วนทำผิดสัญญาอันเป็นการกระทำของนายหนึ่งคนเดียว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายสองกับนายสามฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากนายสิบโดยที่ไม่สามารถแบ่งแบกได้ว่าใครเช่าส่วนใดของพื้นที่อาคารพิพาทนั้น  ถือได้ว่านายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามเป็นผู้เช่าร่วมกัน  และเป็นลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  291

ตามข้อเท็จจริง  แม้นายหนึ่งคนเดียวเป็นผู้ให้นายเก้าเช่าช่วงอาคารพิพาทบางส่วนไปโดยมิชอบซึ่งตามมาตรา  295  นั้น  ถือว่าเป็นข้อความจริงอื่นใด  นอกเหนือจากข้อความจริงที่ระบุไว้ในมาตรา  292  293  และ  294  ที่ท้าวถึงแล้วเป็นโทษแก่เฉพาะนายหนึ่ง  อันเป็นความผิดของนายหนึ่งผู้เดียวตามมาตรา  295  วรรคสองก็ตาม  แต่เมื่อการเช่ารายนี้มีสภาพแห่งหนี้ที่มีลักษณะไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครเช่าพื้นที่ส่วนใดของอาคารพิพาท  จึงเป็นกรณีที่ข้อความจริงดังกล่าวขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง  จึงย่อมถือได้ว่านายสองและนายสามเป็นผู้ผิดสัญญาเช่าด้วยตามมาตรา  295  วรรคแรกตอนท้าย  นายสิบจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ทั้งนายหนึ่งนายสองและนายสามได้  (ฎ. 9544/2539)

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามที่ว่านายสิบไม่มีสิทธิเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่  เพราะนายสองกับนายสามไม่ได้มีส่วนทำผิดสัญญาจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามรับฟังไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายเอก  ทำสัญญากู้เงิน  50,000  บาท  จากนายสิน  และได้มอบนาฬิกาของตนให้นายสินไว้เป็นการจำนำ  ต่อมา  นายสินได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินดังกล่าวแก่นายสองเจ้าหนี้ของตน  โดยได้ส่งมอบนาฬิกาที่รับจำนำไว้นั้นแก่นายสองด้วย แล้วทั้งนายสินและนายสองได้ร่วมกันทำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายเอกเพื่อทราบ  ต่อมา  นายเอกผิดนัดชำระหนี้เงินกู้

นายสองจึงฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากนายเอกและขอบังคับจำนำ  แต่นายเอกต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากตนเอง  จึงไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้  นายสองไม่มีอำนาจฟ้อง  ทั้งการจำนำก็ไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างตนเองกับนายสอง  การจำนำระงับสิ้นไปแล้ว  นายสองจึงไม่มีสิทธิบังคับจำนำ  ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  305  วรรคแรก  เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป  สิทธิจำนองหรือจำนำที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี  สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี  ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย

มาตรา  306  วรรคแรก  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าไม่สมบูรณ์  อนึ่งการโอนหนี้นั้น  ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น  คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

ในเรื่องการดอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา  306  วรรคแรกนั้น  กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันเป็นหนังสือแล้วคู่สัญญาก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือยินยอมด้วย  หรือเพียงแต่บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือไปให้ลูกหนี้ทราบก็ได้  ซึ่งการโอนนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสินได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ระหว่างตนกับนายเอกให้กับนายสอง  และทั้งนายสินและนายสองได้ร่วมกันทำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังนายเอกลูกหนี้เพื่อให้ทราบแล้วนั้น  แม้นายเอกจะมิได้ยินยอมด้วย การโอนดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์และเป็นการโอนที่ชอบด้วยมาตรา  306  วรรคแรกแล้ว  เมื่อนายเอกผิดนัดชำระหนี้เงินกู้  นายสองย่อมสามารถฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากนายเอกได้

ส่วนกรณีการจำนำนาฬิกานั้นตามมาตรา  305  วรรคแรก  ได้บัญญัติไว้ว่า  เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไป  ให้การจำนำนั้นตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการโอนสิทธิเรียกร้อง  และส่งมอบนาฬิกาต่อไปยังนายสองผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว  นายสองจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจำนำนั้นด้วย  จึงสามารถบังคับจำนำนาฬิกานั้นได้

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายเอกที่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากตนเอง  จึงไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้  นายสองไม่มีอำนาจฟ้อง  และที่ว่าการจำนำไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างตนกับนายสอง  การจำนำระงับสิ้นไปแล้ว  นายสองจึงไม่มีสิทธิบังคับจำนำนั้น  จึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเอกทั้งสองกรณีรับฟังไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารห้าหมื่นบาท  และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธห้าหมื่นบาท  ต่อมาพุธได้เป็นเจ้าหนี้อังคารในมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อห้าหมื่นบาทเช่นกัน  หนี้ทุกรายทั้งหมดนี้ต่างถึงกำหนดชำระพร้อมกัน  ในวันที่  20  มกราคม  2554  ต่อมาปรากฏว่า  ในวันที่  30 มกราคม  2554  จันทร์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  โดยอ้างว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  ป.พ.พ. พุธจึงยื่นคำให้การต่อสู้คดีที่จันทร์เป็นโจทก์ฟ้อง

โดยขอหักลบกลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธอยู่ด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา  236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ  ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น  เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน  จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้  (มาตรา  233)  แต่หากจำเลยที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่  ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้  เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้วตามมาตรา  236

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนี้ทุกรายถึงกำหนดชำระ  และต่อมาจันทร์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  โดยอ้างว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  นั้น  โดยหลักจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของอังคารสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  พุธก็ได้เป็นเจ้าหนี้อังคารในมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อจำนวนห้าหมื่นบาทอยู่ด้วย  ซึ่งถือเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อนจันทร์ยื่นฟ้อง  พุธจึงสามารถยกข้อต่อสู้ที่ตนมีอยู่กับอังคาร  (ลูกหนี้เดิม)  ดังกล่าว  ขึ้นเป็นข้อต่อสู้จันทร์  (เจ้าหนี้)  ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา  236  ดังนั้นคำให้การต่อสู้คดีของพุธที่ขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธนั้นจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้น

 

 

ข้อ  4  เสาร์และอาทิตย์เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง  ต่อมา  เสาร์และอาทิตย์ร่วมกันทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ศุกร์ในราคาห้าแสนบาท  ครั้นถึงกำหนดชำระราคาค่าซื้อ  ศุกร์ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบต่อเสาร์  แต่เสาร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุ  อันจะอ้างกฎหมายได้  ศุกร์จึงนำเงินห้าแสนบาทนั้นไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวนี้  มีผลต่ออาทิตย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  292  วรรคแรก  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ  อันพึงกระทำแทนชำระหนี้  วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา  299  วรรคสาม  นอกจากนี้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  292, 293  และ  295   มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ  แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

มาตรา  331  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี  หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว  ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ  หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่ความผิดของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เสาร์และอาทิตย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง  ได้ร่วมกันทำสัญญาขายรถยนต์คันนั้นให้กับศุกร์  ทั้งเสาร์และอาทิตย์จึงถือเป็นเจ้าหนี้ร่วมในค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว

ตามข้อเท็จจริง  การที่ศุกร์ไปขอชำระหนี้ต่อเสาร์โดยชอบ  แต่เสาร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้  โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น  เสาร์เจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  และย่อมเป็นโทษแก่อาทิตย์เจ้าหนี้ร่วมด้วย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ศุกร์ได้นำเงินค่าซื้อรถยนต์  5  แสนบาทไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  จึงถือเป็นการวางทรัพย์สินแทนการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา  331  ดังนั้น  การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงมีผลต่ออาทิตย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันด้วยตามมาตรา  299  วรรคสาม  ประกอบมาตรา  292  วรรคแรก  มาตรา  207  และมาตรา  331

สรุป  การวางทรัพย์กรณีดังกล่าวมีผลต่ออาทิตย์ด้วย

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ 1 จตุพรกู้เงินปฐมาสองแสนบาท มีกำหนดเวลาสองปีโดยผู้กู้ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้เงินกู้ไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากกู้ไปได้เพียงแปดเดือน จตุพรถึงแก่ความตาย ปฐมาเห็นว่าสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนด ก็มิได้เรียกมิได้บังคับชำระหนี้ ต่อมาเมื่อครบกำหนดสองปีตามสัญญา ปฐมาดำเนินการบังคับชำระหนี้เอากับแพรวพรรณทายาทคนเดียวของจตุพร จำเลยต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ตนไม่ต้องชำระหนี้

ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา 1754 วรรคสาม ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1754 วรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม มิฉะนั้นสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จตุพรกู้เงินปฐมาโดยมีกำหนดเวลา 2 ปี และหลังจากกู้ไปได้เพียง 8 เดือน จตุพรลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย ซึ่งปฐมาเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของจตุพรลูกหนี้ ดังนี้ แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่างจตุพรกับปฐมาจะยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องลูกหนี้ตายก่อนกำหนด และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่า 1 ปี (มาตรา 193/30) ดังนั้น เจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อปฐมาเจ้าหนี้ไม่ได้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จตุพรลูกหนี้ตาย หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ ปฐมาเจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจากแพรวพรรณทายาทของจตุพรไม่ได้ (มาตรา 193/10) ดังนั้น ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/27 ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่จตุพรกู้เงินปฐมานั้นจตุพรได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้ไว้ ดังนั้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 193/27 ก็ยังให้สิทธิแก่ปฐมาผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจตุพร ดังนั้นข้อต่อสู้ของแพรวพรรณที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความนั้นฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้นั้นฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ 2 หลังจากหย่ากับภริยาแล้ว ทวีพงศ์ผู้เป็นสามีก็จากไปไม่เคยเหลียวหลังกลับมาดูดำดูดีครอบครัวอีกเลย ปล่อยทิ้งให้ลลนาภริยาอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สามคนอยู่ฝ่ายเดียว มิหนำซ้ำทวีพงศ์ยังไปมีคู่ควงคนใหม่อีกไม่ซ้ำหน้า แม้ตั้งใจไว้ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาอบรมอย่างดีที่สุดกับลูก ไม่หวังพึ่งอดีตสามี ความน้อยเนื้อต่ำใจกอปรด้วยความรัก

ลลนาจึงเรียกบังคับเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกับสามี ทวีพงศ์ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นสิทธิของบุตรไม่ใช่ของภริยา และผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง

ข้อต่อสู้ฟังขึ้นหรือไม่ ทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคแรก บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา 1564 วรรคแรก บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ได้ให้สิทธิบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และได้เข้าใช้หนี้นั้น สามารถเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ และใช้สิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง (มาตรา 226 ประกอบมาตรา 229(3))

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทวีพงศ์ผู้เป็นสามีได้ทิ้งให้ลลนาภริยาของตนอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ 3 คนอยู่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ และให้ถือว่าหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างบิดามารดาตามมาตรา 1490(1) ประกอบมาตรา 1564 วรรคแรกนั้น กรณีนี้จึงถือว่าทวีพงศ์ยังคงมีความผูกพันร่วมกับลลนาในการที่จะต้องชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรโดยเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้น ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 296

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาลลนาภริยาได้ขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามีคือทวีพงศ์ แต่ทวีพงศ์ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นสิทธิของบุตรไม่ใช่ของภริยาและผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ขอให้ศาลยกฟ้องนั้น กรณีนี้ถึงแม้ตามกฎหมายบุตรจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาไม่ได้เพราะถือเป็นคดีอุทลุม (มาตรา 1562) ก็ตาม แต่กฎหมายก็ให้สิทธิบิดามารดาที่จะนำคดีเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขึ้นว่ากล่าวได้ (มาตรา 1565) และเมื่อลลนาภริยาแต่ผู้เดียวได้ชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสาม จึงเป็นกรณีที่บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น (ลูกหนี้ร่วม) มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น ดังนั้น ลลนาภริยาย่อมได้รับช่วงสิทธิของบุตรเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมายเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากทวีพงศ์ได้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 226 229(3) และมาตรา 296 ข้อต่อสู้ของทวีพงศ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกึ่งหนึ่ง

สรุป ข้อต่อสู้ของทวีพงศ์ฟังไม่ขึ้น และทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกึ่งหนึ่ง

 

 

ข้อ 3 ธีรวุฒิมีที่ดินแปลงสวยติดถนน จงมีมาชักชวนธีรวุฒิทำตึกแถวในที่ดินดังกล่าวขาย โดยให้ธีรวุฒิเป็นผู้ออกทุนเป็นที่ดิน ส่วนจงมีจะออกค่าก่อสร้าง ได้ตึกแถวจำนวนกี่ห้องก็แบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งหลังจากรังวัดแล้วก็จะได้สิบห้องพอดี จงมีได้นำสิทธิที่จะได้ห้าห้องของตนนั้นไปทำสัญญาจะขายให้ ก ข ค ง จ และได้รับมัดจำค่าก่อสร้างมาห้องละหนึ่งแสนบาท ในสัญญากำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2553

ซึ่งครบตามกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจงมียังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้าง ธีรวุฒิจึงบอกเลิกสัญญา เพราะจงมีผิดนัดสัญญาเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาโอนที่ดินให้พวกตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิที่เรียกชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย (มาตรา 214) และหากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ (มาตรา 233) แต่หากจำเลยที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างไร ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้ เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว (มาตา 236)

กรณีตามอุทาหรณ์ ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาทำตึกแถวโอนที่ดินให้พวกตนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จงมีได้นำสิทธิที่จะได้ตึกแถวห้าห้องของตนไปทำสัญญาจะขายให้ ก ข ค ง จ และได้รับมัดจำค่าก่อสร้างมาแล้วนั้น กรณีนี้จึงถือว่าจงมีได้ตกเป็นลูกหนี้ของ ก ข ค ง จ ตามสัญญาจะขายแล้ว เมื่อปรากฏว่าจงมีขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนในที่ดินของธีรวุฒิ กรณีที่ธีรวุฒิบอกเลิกสัญญาทำตึกแถวจนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือ ก ข ค ง จ ต้องเสียประโยชน์ ก ข ค ง จ จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจงมีมูลหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา 233 ประกอบมาตรา 214

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อธีรวุฒิจำเลยมีข้อต่อสู้จงมีอยู่ กรณีที่จงมีผิดสัญญา และสัญญาทำตึกแถวได้เลิกกันแล้ว ซึ่งถือเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อน ก ข ค ง จ ยื่นฟ้อง ธีรวุฒิจึงสามารถยกข้อต่อสู้ที่ตนมีอยู่กับจงมี (ลูกหนี้เดิม) ดังกล่าว ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ก ข ค ง จ (เจ้าหนี้) ได้ตามมาตรา 236 ดังนั้น ธีรวุฒิจึงไม่ต้องโอนที่ดินตามสัญญาให้กับ ก ข ค ง จ

สรุป ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาโอนที่ดินให้พวกตนไม่ได้

 

 

ข้อ 4 จำปาอาสาวแสนสวยของเกตุแก้วอายุมากแล้ว แต่ก็ยังอยู่เป็นโสดไม่มีครอบครัว ด้วยความรักหลานที่ตนเอามาอยู่ด้วย อาสาวยกที่ดินพร้อมบ้านที่อาศัยอยู่ให้กับเกตุแก้วและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่สัญญาหลานเขยซึ่งเป็นสามีของเกตุแก้ว มีความประพฤติไม่เหมาะควร กล่าวคือ ชอบนำหนังสือโป๊มาให้เด็กหญิงในบ้านดู บางครั้งก็ชวนเด็กไปดู VCD โป๊ เรื่องแดงขึ้นรู้ถึงอาก็เกิดต่อว่าต่อขานกัน สามีของหลานหนีออกจากบ้านไป หลานสาวได้มาด่าว่าอาของตนว่า อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูไม่อยู่กับมึงแล้วพูดแล้วเกตุแก้วก็ร้อนใจกลัวว่าจะถูกอาถอนคืนการให้ จึงเอาบ้านและที่ดินที่อาให้ไปจำนองลลนชิตซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริต จำปามาปรึกษาท่านว่า จะเรียกร้องบังคับเอากับหลานได้อย่างไรบ้าง ให้ท่านอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

มาตรา 215 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

มาตรา 237 วรรคแรก เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง

มาตรา 534 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เกตุแก้วได้มาด่าว่าจำปาอาของตนว่า อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูไม่อยู่กับมึงแล้ว นั้น ถือเป็นการกล่าวหมิ่นประมาทจำปาผู้ให้อย่างร้ายแรง จำปาจึงเรียกถอนคืนการให้บ้านและที่ดินเพราะเหตุเกตุแก้วผู้รับประพฤติเนรคุณได้ (มาตรา 531(2)) ดังนั้น จำปาผู้ให้จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของเกตุแก้วในการเรียกถอนคืนการให้ดังกล่าว

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกตุแก้วผู้รับได้เอาบ้านและที่ดินที่จำปาให้ไปจำนองไว้กับลลนชิต การจำนองดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และถือเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 วรรคแรก จำปาเจ้าหนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ แต่เมื่อปรากฏว่า ลลนชิตรับจำนองไว้โดยสุจริต กล่าวคือ เป็นกรณีที่ลลนชิตบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย ดังนั้น ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมจำนองไม่ได้ แต่ผลจากการถอนคืนการให้ดังกล่าว ย่อมทำให้เกตุแก้วต้องส่งคืนทรัพย์สินที่รับไปคือ บ้านและที่ดิน ให้กับจำปาฐานมิควรได้ (มาตรา 534) และปลอดภาระจำนองตามที่ได้ให้กันมาแต่เดิม ดังนั้น จำปาจึงสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้กับเกตุแก้วได้โดยเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ สามารถบังคับให้เกตุแก้วโอนที่ดินพร้อมบ้านคืนมาโดยปลอดจำนอง (มาตรา 213 วรรคแรก) ถ้าเกตุแก้วไม่โอนคืนให้จำปาก็สามารถขอให้ศาลสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของเกตุแก้วลูกหนี้ได้ (มาตรา 213 วรรคสาม) และหากจำปามีค่าใช้จ่ายในการไถ่จำนองหรือค่าเสียหายอย่างอื่นก็ย่อมเรียกเอากับเกตุแก้วได้ เพราะถือว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ (มาตรา 215)

สรุป เมื่อจำปามาปรึกษาข้าพเจ้าว่าจะเรียกร้องบังคับเอากับหลานได้อย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่จำปาตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

WordPress Ads
error: Content is protected !!