LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  สุนัขของนายทองได้นำมาให้นางนาคเลี้ยงชั่วคราว  วันเกิดเหตุสุนัขตัวนี้ซึ่งมีความซุกซนมากได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ที่วางอยู่ตรงระเบียงบ้านชั้นสองของนางพลอยซึ่งได้ให้นางมุกเช่าอยู่อาศัยทำให้กระถางตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟั่นเฟือน  ไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายทอง  นางนาค  นางมุก  และนางพลอยจะต้องมีความรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชรหรือไม่  เพราะเหตุใด  และค่าสินไหมทดแทนที่นางสาวเพชรควรจะเรียกร้องได้มีอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  433  วรรคแรก  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สุนัขของนายทองได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บนั้น  ถือเป็นกรณีที่นางสาวเพชรได้รับความเสียหายอันเกิดจากสัตว์  ซึ่งตามมาตรา  433  วรรคแรก  กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้รับเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิด  เมื่อปรากฏว่าสัตว์ดังกล่าวได้ก่อความเสียหายในขณะที่อยู่ในความดูแลของนางสาวนาคซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงสัตว์นั้น  อย่างไรก็ดี  นางนาคอาจแก้ตัวให้พ้นผิดได้หากพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่ชนิด  และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นแล้ว  แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางนาคได้มีการใช้ความระมัดระวังดังกล่าว  นางนาคจึงต้องรับผิด

และเมื่อปรากฏว่า  ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกระถางต้นไม้หล่นลงมาจากโรงเรือน  และเป็นโรงเรือนของนางพลอยซึ่งนางมุกเช่าอาศัยอยู่  จึงถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนตามมาตรา  436  และเมื่อนางมุกเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน นางมุกจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนางสาวเพชร  ตามมาตรา  436  ส่วนนางพลอยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

และเมื่อปรากฏว่านางสาวเพชรได้รับความเสียหายต่อร่างกายจนถึงขั้นสมองฟั่นเฟือน  ไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป  นางสาวเพชรจึงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้  ดังต่อไปนี้  คือ

1       ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  444  วรรคแรก  ได้แก่  ค่าใช้จ่ายที่ตนได้เสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิง  ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคต

2       ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  446  วรรคแรก  ได้แก่  ค่าที่นางสาวเพชรต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ  จากการไม่สามารถประกอบการงานได้อีก  ซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิอาจตีราคาเป็นเงินได้

สรุป  นางนาคและนางมุกจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร  ส่วนนายทองและนางพลอยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร  และค่าสินไหมทดแทนที่นางสาวเพชรควรจะเรียกร้อง  ได้แก่ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  444  วรรคแรก  และมาตรา  446  วรรคแรก

 

 

ข้อ  2  นายแดงจ้างนายเก่งวิศวกรชื่อดังให้สร้างอาคาร  4  ชั้นลงในที่ดินของตน  นายเก่งได้สร้างอาคาร  4  ชั้นดังกล่าวจนเสร็จโดยมิได้ทำฐานรากอาคารให้มั่นคงแข็งแรงตามแบบพิมพ์เขียว  เพราะนายเก่งหวังจะได้กำไรมากๆ  และนายแดงรับมอบอาคารไปโดยไม่ทราบถึงการไม่สร้างอาคารตามแบบพิมพ์เขียว  ต่อมาปรากฏว่าตัวอาคารบางส่วนร้าวและพังทลายลงมาเพราะฐานรากไม่มั่นคงทับนายโชคที่กำลังเดินผ่านอาคารพอดีเป็นเหตุให้นายโชคขาหัก

ดังนี้  จงวินิจฉัยว่า  นายแดงและนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  434  วรรคแรก  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี  หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี  ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว  ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงและนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1       กรณีของนายแดง  ตามข้อเท็จจริง  ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนายโชคเป็นเพราะอาคารบางส่วนพังทลายลงมาทับขานายโชคด้วยเหตุฐานรากของอาคารไม่มั่นคงแข็งแรง  เนื่องจากการไม่สร้างตามแบบพิมพ์เขียว  ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุโรงเรือนดังกล่าวก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง  ดังนั้น  นายแดงซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและผู้ครอบครองโรงเรือนดังกล่าว  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชค  ตามมาตรา  434  วรรคแรก

2       กรณีของนายเก่ง  ตามข้อเท็จจริง  การที่นายเก่งวิศวกรชื่อดังได้สร้างอาคาร  4  ชั้น  แต่ไม่ทำฐานรากอาคารให้มั่นคงเพราะหวังจะได้กำไรมากๆนั้น  นายเก่งย่อมเห็นได้ว่าอาคารอาจทรุดร้าวและพังทลายลงมาได้  เมื่อปรากฏว่าอาคารบางส่วนพังทลายลงมาทับขานายโชค  การกระทำดังกล่าวของนายเก่งจึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเก่งดังกล่าว  จึงถือว่านายเก่งได้กระทำละเมิดต่อนายโชคตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชค

สรุป  นายแดงต้องรับผิดทางละเมิดตามมาตรา  434  วรรคแรก  ส่วนนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดตามมาตรา  420

 

 

ข้อ  3  นายกระรอกได้นำรถยนต์ไปทำสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย  โดยนายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นาย

กระรอกจะนำมาทำสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้าน  หลังจากส่งนายกระรอกเรียบร้อยแล้ว  นายกระต่ายจึงขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับไปที่อู่ซ่อมรถของตน  ระหว่างเดินทางกลับนายกระต่ายขับรถด้วยความเร็วสูง  ปรากฏว่านายกระทิงซึ่งขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงเช่นเดียวกันและได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา  ทั้งสองจึงเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูงตลอดทาง  จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลายซึ่งนางสาวกระแตกำลังเดินข้ามอยู่นั้น  ทั้งนายกระต่ายและนาย

กระทิงต่างหยุดรถไม่ทัน  เป็นเหตุให้รถทั้งสองเข้าพุ่งชนนางสาวกระแตเป็นเหตุให้นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัส  ดังนี้  จงวินิจฉัยว่า นางสาวกระแตจะมีสิทธิฟ้องใครให้รับผิดทางละเมิดได้บ้าง  และจะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นายกระต่ายและนายกระทิงได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การจะถือว่าเป็นการ  “ร่วมกันทำละเมิด”  ตามบทบัญญัติมาตรา  432  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นผลโดยตรงจากการขับรถด้วยความคึกคะนองปราศจากซึ่งความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ของนายกระต่ายและนายกระทิง  ซึ่งถือเป็นกรณีที่ต่างคนต่างประมาทเลินเล่อ  จนทำให้เกิดความเสียหายแก่นางสาวกระแต  จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำ  หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ  อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ดังนั้นนายกระต่ายและนายกระทิงจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อนางสาวกระแตโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420

อย่างไรก็ดี  แม้นายกระต่ายและนายกระทิงจะไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  432  แต่เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางสาวกระแตนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่านายกระต่ายและนายกระทิงก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร  ความรับผิดของนายกระต่ายและนายกระทิงจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  301  และมาตรา  291

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  นายกระรอกจะต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนำมาทำสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้านจนเกิดเรื่องขึ้นนั้น  ไม่ใช่กิจการจ้างทำของอันจะทำให้ผู้ว่าจ้างทำของจะต้องรับผิดตามมาตรา  428  แต่อย่างใด  แต่เป็นเรื่องเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นาย

กระต่ายเดินทางกลับอู่โดยเจ้าของรถไม่ได้นั่งมาด้วย  ดังนั้น  เจ้าของรถยนต์คือนายกระรอกจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนาย

กระต่ายแต่อย่างใด  (ฎ.  1176/2510) 

สรุป นางสาวกระแตสามารถฟ้องให้นายกระต่ายและนายกระทิงรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา  420  แต่จะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายไม่ได้

 

 

ข้อ  4  จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  บิดามารดาของนาย  ก  ถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว  นาย  ก  เหลือญาติที่มีอยู่เพียงคนเดียวคือป้าของนาย  ก  ปรากฏว่าก่อนที่นาย  ก  จะถูกรถชนถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ได้อุปการะเลี้ยงดูป้า  เนื่องจากป้าอายุมากแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้  ดังนี้  ป้าของนาย  ก  จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420  เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  คือ  ความตายของนาย  ก  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ  ป้าของนาย  ก  จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ดังนั้น  ป้าของนาย  ก  ซึ่งถือเป็นทายาทตามมาตรา  1629(6)  จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้

ส่วนกรณีค่าขาดไร้อุปการะนั้นตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า  ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด  จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น  (สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร)  เมื่อนาย  ก  (ผู้ตาย)  ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูป้าของนาย  ก  ตามกฎหมายแต่อย่างใด  ดังนั้นป้าของนาย  ก  จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากจำเลยผู้ทำละเมิด

สรุป  ป้าของนาย  ก  จะเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้  แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เอกชัยเขียนอีเมล์ส่งไปให้สมศรีซึ่งเป็นลูกจ้างของตน  โดยเล่าว่าเฉิดโฉมเป็นคนทำลายชื่อเสียงของวิไลด้วยการนำภาพหลุดของวิไลไปอัพโหลดไว้บนอินเทอร์เน็ต  และได้ยุยงให้สมศรีไปแก้แค้นเฉิดโฉม  ดังนี้  หากว่าเฉิดโฉมได้ทำตามที่เอกชัยกล่าวไว้จริง  และทำให้สมศรีโกรธแทนวิไล  โดยได้นำสุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉม  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)   เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัย  สมศรี  และวิไล  ร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  423  วรรคแรก  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี  หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

มาตรา  433  วรรคแรก  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(ก)   ตามบทบัญญัติมาตรา  423  วรรคแรกนั้น  การกล่าวหรือการไขข่าวอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  จะต้องเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  หากเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันเป็นความจริงแล้ว  แม้จะทำให้แพร่หลายต่อบุคคลที่สาม  และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น  ผู้ที่กล่าวหรือไขข่าวข้อความนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตามข้อเท็จจริง  การที่เอกชัยส่งอีเมล์ไปให้สมศรีลูกจ้างของตน  ด้วยการเล่าว่าเฉิดโฉมเป็นคนทำลายชื่อเสียงของวิไลด้วยการนำภาพหลุดของวิไลไปอัพโหลดไว้บนอินเทอร์เน็ตนั้น  ถือว่าการกระทำของนายเอกชัยเข้าลักษณะของการไขข่าวต่อบุคคลที่สามแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการไขข่าวต่อบุคคลที่สามและเข้าหลักเกณฑ์ข้ออื่นที่ว่าเป็นการทำให้แพร่หลาย  เพราะข้อความได้ล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามคือสมศรีแล้ว  และข้อความนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่เฉิดโฉม  โดยทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  และความเจริญของเฉิดโฉมก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่าการไขข่าวต่อบุคคลที่สามของเอกชัยนั้น  เป็นการไขข่าวข้อความอันเป็นความจริง  เอกชัยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  423  วรรคแรก  ดังนั้นเฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

(ข)   เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัย  สมศรี  และวิไลร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีเอกชัย  การที่นายเอกชัยเขียนอีเมล์ส่งไปให้สมศรี  และได้ยุยงให้สมศรีไปแก้แค้นเฉิดโฉมนั้น  ถือเป็นการยุยงให้ผู้อื่นกระทำละเมิดตามมาตรา  432  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าสมศรีได้กระทำละเมิดต่อเฉิดโฉม  โดยการนำสุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉม  นายเอกชัยจึงถือเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดด้วย  ดังนั้น  เฉิดโฉมจึงเรียกร้องให้นายเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างของสมศรีรับผิดร่วมกับสมศรีได้ตามมาตรา  432  วรรคแรก  กรณีมิใช่ความผิดในฐานะนายจ้างตามมาตรา  425  เพราะกรณีนี้สมศรีซึ่งเป็นลูกจ้างมิได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง

กรณีของสมศรี  การที่สมศรีเชื่อนายเอกชัยและโกรธแทนวิไลจึงให้สุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉมนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว  จึงถือว่าสมศรีได้กระทำละเมิดต่อเฉิดโฉมตามมาตรา  420  โดยใช้สุนัขของวิไลเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิด  ดังนั้นเฉิดโฉมจึงเรียกให้สมศรีรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  กรณีมิใช่มาตรา  433  อันจะถือว่าสมศรีผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์นั้นไว้จะต้องรับผิดแต่อย่างใด  เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องความเสียหายอันเกิดจากสัตว์  แต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสมศรีโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการทำละเมิดตามมาตรา  420

กรณีของวิไล  เมื่อปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเฉิดโฉมนั้นไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ซึ่งเจ้าของคือ  วิไลจะต้องรับผิดตามมาตรา  433  และเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้  วิไลไม่ทราบเรื่องและไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย  วิไลจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยแต่อย่างใด

สรุป

(ก)    เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

(ข)   เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยและสมศรี  ร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้  แต่จะเรียกร้องให้วิไลร่วมรับผิดด้วยไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายจันเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง  ซึ่งมีนิสัยโมโหดุร้ายมักกัดคนในบ้านเป็นประจำ  นายจันจึงไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงอีกต่อไป  สุนัขดังกล่าวเมื่อถูกไล่ออกจากบ้านก็ยังคงวนเวียนอยู่ไม่ห่างจากรั้วบ้านของนายจัน  และคุ้ยหาเศษอาหารจากบริเวณที่ทิ้งขยะประจำซอย บ้านของนายจันมีต้นมะม่วงซึ่งนายจันได้ปลูกไว้นานแล้วอยู่ริมรั้วในบริเวณบ้าน  กิ่งก้านของมะม่วงซึ่งมีอายุมากแล้วจึงผุและยื่นล้ำออกมาจากรั้วบ้าน

ต่อมาวันหนึ่งนายเฮงเดินผ่านริมรั้วบ้านของนายจัน  ปรากฏว่ากิ่งมะม่วงที่ผุอยู่บ้างแล้วหล่นใสศีรษะของนายเฮงพอดีเป็นเหตุให้ศีรษะแตก  เย็บ  5  เข็ม  และในจังหวะเดียวกัน  สุนัขดังกล่าวก็วิ่งเข้ามากัดขานายเฮงเป็นแผลลึกต้องเย็บ  20  เข็ม  ดังนี้  จงวินิจฉัยว่า  นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

มาตรา  434  วรรคแรกและวรรคสอง  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี  หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี  ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว  ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูก  หรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้าน  และต่อมาสุนัขดังกล่าวได้วิ่งเข้ามากัดขานายเฮงเป็นแผลลึกจนต้องเย็บ  20  เข็มนั้น  กรณีนี้นายจันไม่ต้องรับผิดต่อนายเฮงตามมาตรา  433  อันว่าด้วยความเสียหายที่เกิดจากสัตว์  เพราะเมื่อนายจันทร์ไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงดูอีกต่อไปนั้น  สุนัขตัวดังกล่าวจึงเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ นายจันจึงมิใช่เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสุนัขดังกล่าว  อันจะต้องรับผิดตามมาตรา  433  แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้านโดยที่ตนเองรู้อยู่ว่าสุนัขดังกล่าวมีนิสัยดุร้ายกัดคนเป็นประจำ  และนายจันย่อมคาดหมายได้โดยวิญญูชนทั่วไปว่าสุนัขอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่เดินผ่านไปมานั้น  การกระทำของนายจันถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย  และการกระทำของนายจันสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น  คือ  การบาดเจ็บของนายเฮง  ดังนั้นการกระทำของนายจันจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  นายจันจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฮง

ส่วนกรณีกิ่งมะม่วงที่ปลูกในบ้านของนายจันผุหล่นใส่ศีรษะของนายเฮงจนได้รับบาดเจ็บนั้น  ถือเป็นความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการดูแลหรือค้ำจุนกิ่งมะม่วงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  ดังนั้น  นายจันผู้ซึ่งเป็นเจ้าของต้นมะม่วงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนายเฮงตามมาตรา  434

สรุป  นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา  420  และมาตรา  434

 

 

ข้อ  3  สมชายเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์สามชั้น  ได้แบ่งชั้นสองและสามให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัย  และสมชายเลี้ยงลิงดุไว้ในอาคารชั้นล่าง วันหนึ่งลิงหลุดจากโซ่ที่ผูกล่ามไว้เป็นอย่างดี  แล้วได้ปีนป่ายขึ้นไปรื้อของในห้องของสมศักดิ์  ซึ่งพักอาศัยอยู่ในชั้นสามของอาคารนี้

ขณะลิงกำลังรื้อของกระจุยกระจายอยู่นั้น  สมศักดิ์ได้ใช้ไม้ไล่  แต่ลิงทำท่าจะกัด  สมศักดิ์จึงใช้ไม้ตีลิง  ลิงลอยออกจากหน้าต่างหล่นลงมาใส่หน้าสมศรีซึ่งเดินผ่านมาอยู่ชั้นล่างพอดี  ทำให้ลิงข่วนหน้าสมศรีจนได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)    สมชายและสมศักดิ์ต่างฝ่ายต่างจะเรียกร้องต่อกันให้รับผิดในเหตุละเมิดได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)     สมศรีจะเรียกให้ใครรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้บ้าง  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  450  วรรคท้าย  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้คือ

(ก)   การที่ลิงของสมชายเข้ามาทำความเสียหายรื้อของในห้องของสมศักดิ์นั้น  ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ของสมชาย  ซึ่งตามหลักแล้วสมชายผู้เป็นเจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่สมศักดิ์  ตามมาตรา  433  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตาม  สมชายก็สามารถอ้างแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นผิดได้  เพราะได้ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูสัตว์ตามชนิด  วิสัย  และพฤติการณ์ของสัตว์แล้ว  เนื่องจากสมชายได้มีการล่ามโซ่ลิงดุเอาไว้  ดังนั้น  สมศักดิ์จึงเรียกร้องให้สมชายรับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้

และขณะเดียวกัน  การที่สมศักดิ์ใช้ไม้ตีลิงของสมชายจนได้รับความเสียหายนั้น  การกระทำของสมศักดิ์ถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของสมศักดิ์  จึงถือว่าสมศักดิ์ได้กระทำละเมิดต่อสมชายตามมาตรา  420  แต่อย่างไรก็ตาม  สมศักดิ์ก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสามได้  เนื่องจากเป็นการป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเอง  คือ  ลิงเป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกัน  เมื่อปรากฏว่าความเสียหายอันเกิดแก่ลิงนั้นไม่สมควรเกินเหตุ  สมศักดิ์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมชาย  ดังนั้น  สมชายจึงเรียกร้องให้สมศักดิ์รับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้เช่นเดียวกัน

(ข)   การที่สมศรีได้รับความเสียหายจากการที่ลิงได้ถูกเหวี่ยงลอยออกมาใส่หน้าตนนั้น  ไม่ถือเป็นกรณีความเสียหายอันเกิดจากสัตว์  ตามมาตรา  433  อันจะทำให้สมชายผู้เป็นเจ้าของสัตว์ต้องรับผิดแต่อย่างใด  เพราะถือเป็นการกระทำของสมศักดิ์  ดังนั้น สมศรีจะเรียกให้สมชายรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บไม่ได้  แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่มีความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือนตามมาตรา  436  ซึ่งผู้อยู่ในโรงเรือนคือ  สมศักดิ์จะต้องรับผิดต่อสมศรี

และการที่สมศักดิ์เหวี่ยงลิงหล่นลงมาทำให้สมศรีได้รับความเสียหายนั้น  จะเกิดจากการที่สมศักดิ์ได้ป้องกันภยันตรายซึ่งเกิดจากทรัพย์คือ  ลิงเป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันตามมาตรา  450  วรรคสาม  ก็ตาม  แต่การป้องกันอันถือเป็นเหตุนิรโทษกรรมนั้น  จะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ทรัพย์เสียหายเท่านั้น  เมื่อปรากฏว่าความเสียหายได้เกิดต่อร่างกายของสมศรี  สมศักดิ์จึงไม่อาจอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อสมศรีได้  ดังนั้น  สมศรีจึงสามารถเรียกให้สมศักดิ์รับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้

สรุป

(ก)   สมชายและสมศักดิ์ต่างฝ่ายต่างจะเรียกร้องต่อกันให้รับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้

(ข)  สมศรีจะเรียกให้สมชายรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บไม่ได้  แต่จะเรียกให้สมศักดิ์รับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้

 

 

ข้อ  4  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้ว  ต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  นาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย  ก  และนาย  ก  ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  วันเกิดเหตุ  จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพ  และค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420  เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  คือ  ความตายของนาย  ก  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ  เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพ  และค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น  บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย  (ป.พ.พ.  มาตรา  1629 (1))  กล่าวคือ  จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  และนาง  ขอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ  เด็กชายแดงนั้น  ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย  ก  แต่เมื่อนาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล  และส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ  ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว  จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย  ก  ผู้ตาย  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1627  และมาตรา  1629 (1))  ดังนั้น  เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย  เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก

ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้ที่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  เมื่อปรากฏว่านาย  ก  มิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายแดงผู้เยาว์  นาย  ก  (ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1564  ดังนั้น  เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากจำเลยผู้กระทำละเมิดไม่ได้

สรุป  เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้  แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003  

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ตู่เป็นเพื่อนกับอู๋ซึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน  วันหนึ่งตู่ควงนางสาวอ้อยมาแนะนำแก่อู๋ว่า  “นางสาวอ้อยกับฉันเป็นแฟนกัน”  อู๋ไม่พอใจเพราะแอบชอบนางสาวอ้อยอยู่ก่อน  อู๋จึงไปกระซิบต่อนางต้อยซึ่งเป็นมารดาของนางสาวอ้อยโดยใส่ความว่า  “ตู่เป็นเกย์”  พร้อมกับอ้างว่านางต้อยเป็นมารดาต้องมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องเช่นนี้  ตนจึงได้นำความมาบอก  ต่อมานางต้อยซึ่งเชื่อข้อความดังกล่าว  จึงได้เล่าต่อให้นางสาวอ้อยว่าตู่เป็นเกย์

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ตู่จะเรียกร้องให้อู๋และนางต้อยรับผิดในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่อู๋ได้กล่าวข้อความต่อนางต้อยโดยใส่ความว่า  “ตู่เป็นเกย์”  ถือได้ว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจะทำให้บุคคลอื่นคือตู่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ  หรือแก่ทางทำมาหาได้  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของอู๋  ดังนั้นอู๋จึงต้องรับผิดต่อตู่ในผลแห่งการทำละเมิดนั้น  ตามมาตรา  423  วรรคแรก

ส่วนกรณีที่นางต้อยได้นำข้อความที่ไม่จริงดังกล่าวนั้นไปเล่าต่อให้นางสาวอ้อยฟัง  ดังนี้  แม้นางต้อยมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  ก็ถือว่านางต้อยได้ทำละเมิดต่อตู่ตามมาตรา  423  วรรคแรกเช่นเดียวกัน  แต่อย่างไรก็ตาม  นางต้อยสามารถอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา  423  วรรคสองได้  เพราะเป็นกรณีที่นางต้อยส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  และนางต้อยมีทางได้เสียโดยชอบในข่าวสารนี้  เพราะนางต้อยเป็นมารดาของนางสาวอ้อย  ย่อมเป็นห่วงบุตรสาวของตนในเรื่องคู่ครองของบุตร  ดังนั้น  นางต้อยจึงไม่ต้องรับผิดต่อตู่

สรุป  ตู่สามารถเรียกร้องให้อู๋รับผิดในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้  แต่จะเรียกให้นางต้อยรับผิดไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายกบอายุ  19  ปี  พักอาศัยอยู่กับนายเขียดบิดาซึ่งหย่ากับมารดาของนายกบแล้ว  นายกบเป็นลูกจ้างของนายโท  วันเกิดเหตุนายกบขี่จักรยานยนต์ของนายโทไปส่งอาหารกล่องให้แก่ลูกค้าของนายโท  และด้วยความประมาทจึงไปชนเด็กชายอึ่งถึงแก่ความตาย  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นางแจ่มมารดาของเด็กชายอึ่งจะเรียกร้องให้ใครรับผิดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายกบอายุ  19  ปี  ซึ่งเป็นผู้เยาว์  ได้ขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กชายอึ่งถึงแก่ความตายด้วยความประมาท  การกระทำของนายกบถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายกบ  จึงถือว่านายกบได้กระทำละเมิดต่อเด็กชายอึ่งตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ่มซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายอึ่ง  และแม้ว่านายกบจะเป็นผู้เยาว์อันถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  ก็จะต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้น  ตามมาตรา  429

และเมื่อปรากฏว่า  ในขณะที่นายกบทำละเมิดนั้น  นายกบได้ขี่รถจักรยานยนต์ของนายโท  ซึ่งเป็นนายจ้างไปส่งอาหารกล่องให้แก่ลูกค้าของนายโท  จึงถือว่านายกบได้ทำละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง  ดังนั้นนายโทซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายกบลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งนายกบได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย  ตามมาตรา  425

ส่วนนายเขียดซึ่งเป็นบิดาของนายกบและเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่าจะหย่ากับมารดาของนายกบแล้วก็ตาม  ก็จะต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายกบได้กระทำด้วย  ตามมาตรา  429  แต่อย่างไรก็ดี  นายเขียดอาจพิสูจน์แก้ตัวได้ว่า  ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว  เพราะแม้ว่านายกบจะเป็นผู้เยาว์แต่ก็มีอายุ  19  ปีแล้ว  ย่อมสามารถทำอะไรได้โดยลำพังไม่จำต้องมีผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา  การที่นายกบไปทำงานจึงถือว่าอยู่นอกความสามารถที่นายเขียดจะดูแลได้ตลอดเวลา

สรุป  นางแจ่มมารดาของเด็กชายอึ่งสามารถเรียกร้องให้นายกบ  และนายโทซึ่งเป็นนายจ้างของนายกบ  รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้  แต่จะเรียกค่าสินไหมจากนายเขียดบิดาของนายกบไม่ได้ ถ้านายเขียดพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว

 

 

ข้อ  3  นายหล่อไม่ชอบนายเหลี่ยม  จึงยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยม  นายเหลี่ยมได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน  แต่เนื่องจากยังโกรธนายหล่ออยู่  นายเหลี่ยมจึงได้ไปยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่  ลิงของนายเหล่ได้รับบาดเจ็บ  จึงร้องโหยหวนและวิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยมที่จอดอยู่หน้าบ้าน  ยายแหยมตกใจเสียงลิงร้อง  และเห็นลิงมาอยู่ที่หลังคาจึงช็อกและขาดใจตายทันที  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ใครจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเหลี่ยมยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่จนได้รับบาดเจ็บนั้น  การกระทำของนายเหลี่ยมถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  โดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม  จึงถือว่านายเหลี่ยมได้กระทำละเมิดต่อนายเหล่ตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเหล่

และการที่ลิงของนายเหล่ได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยม  และส่งเสียงร้องจนทำให้ยายแหยมตกใจช็อคถึงแก่ความตายนั้น  ก็เป็นผลมาจากการกระทำของนายเหลี่ยมที่ยุสุนัขให้กัดลิงในตอนแรก  เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับยายแหยมสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม ดังนั้น  จึงถือว่านายเหลี่ยมกระทำละเมิดต่อยายแหยมและต้องรับผิดในความตายของยายแหยมด้วย  ตามมาตรา  420  ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์  เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา  433  จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง  มิใช่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ

ส่วนการที่นายหล่อยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยมจนได้รับบาดเจ็บนั้น  แม้จะถือว่านายหล่อกระทำละเมิดต่อนายเหลี่ยมและต้องรับผิดต่อนายเหลี่ยม  ตามมาตรา  420  แต่เนื่องจากภัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว  นายเหลี่ยมจึงได้ยุให้สุนัขกัดลิงของนายเหล่เพราะความโกรธ  ดังนั้น  ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยายแหยมและลิงของนายเหล่จึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของนายหล่อที่มีต่อนายเหลี่ยม

สรุป  นายเหลี่ยมจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ   

 

 

ข้อ  4  นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน  เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้  15  ปี  1  เดือน  นายมนสิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้วระหว่างเดินทางกลับนายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปส่งรถที่กรุงเทพฯไม่ทัน  เป็นเหตุทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ  21  ปี  สลบไป  นายบันเทิงคิดว่านางสาวไฮถึงแก่ความตายไปแล้ว  นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนจึงได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮไว้กับต้นไม้เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

(1)  นายบันเทิงและนายบรรเลง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์  จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี   อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

(1)    กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร็วไปชนนางสาวไฮสลบไปเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  นายบันเทิงจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  420

ในระหว่างที่นางสาวไฮสลบไป  นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย  เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำละเมิดในตอนแรก  ซึ่งเป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนสามารถคาดหมายได้  จึงไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำในตอนแรกออกจากผลของการกระทำก็คือความตายของนางสาวไฮนั้น  นายบันเทิงจึงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา  420

ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับนายบันเทิงลูกจ้างเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อนายบันเทิงขับรถไปในทางการที่จ้างไปชนนางสาวไฮสลบไป  เช่นนี้  นายบรรเลงต้องร่วมรับผิดกับนายบันเทิงตามมาตรา  425  ซึ่งเป็นการร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายแก่ร่างกายเท่านั้น  ส่วนความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮนั้น  นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย  เพราะการตายเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับเหตุที่ลูกจ้างขับรถชนนางสาวไฮ  และเห็นได้ว่าการนำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้นั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายบันเทิงลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ  คือเพื่อปกปิดและเพื่อให้ตนพ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น  หาเกี่ยวกับการที่นายบรรเลงได้จ้างให้นายบันเทิงกระทำไม่  จึงเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง  นายบรรเลงนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา  425  (ฎ. 2060/2524)

(2)    นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เห็นว่า  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า  ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแค่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์  ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา  1547  นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ  นางสาวไฮ  (ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย  ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิด  (ฎ.  7458/2543)

ส่วนกรณีนายมนต์สิทธิ์เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้  15  ปี  1  เดือน  นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  ตามมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  2  แห่งบรรพ  5  มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย  กล่าวคือ  บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา  1563  ประกอบมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  ดังนั้น  เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย  นายมนต์สิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย  นายมนต์สิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  (ฎ.  713/2517)

สรุป

(1)    นายบันเทิงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา  420  แต่นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  เพราะเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้างตามมาตรา  425

(2)   นายเอกชัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ  แต่นายมนต์สิทธิ์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ภาวะน้ำมันแพง  แดงขายรถอีแต๋นที่ใช้ไถนาแล้วซื้อควายมาไถนาแทน  ยามว่างก็รับจ้างไถหรือให้เช่าควาย  แดงโฆษณาว่า  เช่าควายได้ปุ๋ย  (ขี้ควาย)  ฝนแรกพฤษภา  ขาวมาเช่าควายไปไถนา  เมื่อไถเสร็จแล้วขาวนำค่าเช่า  2,000  บาท  และจูงควายไปคืนแดง  เกิดฝนฟ้าคะนอง  จนต้องหลบฝนที่กระท่อมกลางนา  ฝนเริ่มซาฟ้าผ่าไฟไหม้ถึงหลังคา  ขาวก็ตายควายก็ตาย  สตางค์ก็โดนไฟไหม้หมด  ขาวมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แดงหรือไม่อย่างไรอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  8  คำว่า  เหตุสุดวิสัย  หมายความว่า  เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  195  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี  หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี  ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป

มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

มาตรา  1599  วรรคหนึ่ง  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่  ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่  และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมาย  หรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

วินิจฉัย

บุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย  เมื่อถึงแก่ความตายสิทธิและหน้าที่ของขาวย่อมสิ้นไป  ขาวไม่มีหน้าที่ชำระหนี้ให้แดง

ส่วนของควาย  การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  เพราะเหตุสุดวิสัยตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  8  อันมิใช่ความผิดของลูกหนี้  ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  สำหรับค่าเช่า  2,000  บาท  เป็นทรัพย์ทั่วไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  195  วรรคสอง  ไม่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  เมื่อขาวตายหน้าที่ที่จะชำระค่าเช่าตกไปยังทายาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1599  วรรคหนึ่ง  และ  1600 

 

 

ข้อ  2  วันทนีย์ขายบ้านพร้อมที่ดินให้สุชาดาในราคาห้าล้านห้าแสนบาท  สุชาดาขอกู้ธนาคารโดยนำบ้านและที่ดินดังกล่าวเข้าจำนอง  แล้วชำระค่าบ้านให้วันทนีย์ไปห้าล้านบาท  ที่ค้างชำระห้าแสนบาท  ได้ทำสัญญากู้กันไว้  และสุชาดาได้จ่ายเช็คล่วงหน้าเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้  ให้วันทนีย์ไว้  5  ใบ  รวม  5  เดือนเดือนละหนึ่งแสนบาท  เมื่อถึงกำหนดวันทนีย์เบิกเงินไม่ได้  (เช็คเด้ง)  วันทนีย์ร้อนใจมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาอย่างไร  (ตอบเฉพาะในส่วนของวิชาหนี้)

ธงคำตอบ

มาตรา  194  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา  213  วรรคหนึ่ง  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

มาตรา  229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย  และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง  และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่ง  ผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน  เพราะเขามีบุริมสิทธิ  หรือมีสิทธิจำนำจำนอง

วินิจฉัย

สัญญากู้ที่ทำกันไว้มีมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  194  วันทนีย์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของสุชาดา  ส่วนธนาคารเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง  วันทนีย์มีสิทธิชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนอง  แล้วรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมาเป็นของตน  มีผลทำให้วันทนีย์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิในฐานะเป็นผู้รับจำนองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  229  (1)  เพื่อที่บังคับชำระหนี้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  213  วรรคหนึ่ง  ต่อไป

 

 

ข้อ  3  เอกยกที่ดินหนึ่งแปลงให้แก่โทโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมาโทได้ประพฤติเนรคุณเอกผู้ยกให้  เอกจึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากโทได้  และเอกยื่นฟ้องโทเรียกถอนคืนการให้ในวันที่  20  มกราคม  2549  โดยเอกทราบเหตุเนรคุณในวันที่  10  มกราคม  2549  แต่ปรากฏว่าโทได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตรีไปแล้วเมื่อวันที่  15  มกราคม  2549  โดยตรีรู้อยู่แล้วว่าเอกกำลังเรียกเอาที่ดินที่ยกให้คืน  เอกจึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโทกับตรี

แต่ตรีต่อสู้ว่าเอกไม่มีสิทธิมาฟ้องขอต่อศาลให้เพิกถอน  เพราะตรีได้รับการโอนขายที่ดินมาก่อนวันที่เอกฟ้องเรียกถอนคืนการให้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าเอกฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโทกับตรีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

วินิจฉัย

แม้จะมีการโอนขายที่ดินให้แก่ตรี  ก่อนที่เอกยื่นฟ้องเรียกถอนคืนการให้ก็ตาม  นับแต่วันทราบเหตุเนรคุณ  ถือได้ว่าเอกอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  จากการที่โทผู้เป็นลูกหนี้ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้ตรีไป  กรณีต้องด้วยมาตรา  237  วรรคหนึ่ง  เอกฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินได้

 

 

ข้อ  4  จันทร์ตกลงว่าจ้างอังคารและพุธ  ทำและประกอบรถแข่งร่วมกันหนึ่งคัน  เพราะพอใจและเชื่อในฝีมือของอังคารและพุธร่วมกัน  โดยอังคารมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำและประกอบตัวถังรถแข่ง  ส่วนพุธมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการประกอบและแต่งเครื่องยนต์รถแข่ง  กำหนดให้อังคารและพุธทำและประกอบรถแข่งร่วมกันให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่จันทร์ในวันที่  30  มกราคม  2549  ปรากฏว่าอังคารทำและประกอบตัวถังรถแข่งได้เสร็จ  แต่พุธประกอบและแต่งเครื่องยนต์ไม่เสร็จ  เป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งมอบรถแข่งให้แก่จันทร์ได้ตามกำหนดนัด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ใครตกเป็นผู้ผิดนัด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  295  วรรคหนึ่ง  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้นเมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษ  แต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

วินิจฉัย

การทำและประกอบรถแข่งร่วมกัน  เป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  จึงต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ตามมาตรา  301  กรณีต้องถือว่าอังคารและพุธ  ตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดทั้งสองคนเพราะสภาพแห่งหนี้ตามสัญญาต้องชำระหนี้ร่วมกัน  กรณีการผิดนัดจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเฉพาะตัว  ทั้งนี้เป็นไปตามข้อยกเว้นในตอนท้ายของมาตรา 295  วรรคหนึ่งที่ว่า  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นริศให้นรินทร์กู้เงินหนึ่งล้านบาท  มีกำหนดเวลาชำระคืนภายในสามปี  โดยมีนเรศเป็นผู้ค้ำประกันหลังจากกู้ไปได้หนึ่งปี  นรินทร์กลายเป็นผู้ไม่อยู่  นริศจึงเรียกและบังคับให้นเรศชำระหนี้  นเรศต่อสู้ว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ  นริศจะเรียกบังคับชำระหนี้ไม่ได้  ข้อต่อสู้ของนเรศฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  203  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

ตามสัญญากู้เป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระ  เมื่อลูกหนี้ไปเสียจากภูมิลำเนา  ไม่มีใครรู้ว่าอยู่หรือตายแล้ว  ข้อสันนิษฐานตามมาตรา  203 วรรคสอง  จึงเป็นอันตกไป  เจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนเรศฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  2  ดำมีหน้าที่ขับรถส่งของให้แดงนายจ้าง  ขณะที่ส่งของ  ดำขับรถชนรถของขาวโดยประมาท  ดำเกรงว่าแดงนายจ้างจะทราบ  จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับขาวว่า  จะชำระค่าซ่อมรถให้ขาวทั้งหมดหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แต่ดำผิดสัญญา  บริษัทตาปีประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของขาว  นำรถของขาวเข้าซ่อมเสร็จแล้ว  แต่ยังไม่ได้ชำระค่าซ่อมให้อู่ซ่อม  ขาวจะเรียกบังคับให้ดำชำระหนี้หนึ่งหมื่นห้าพันบาทตามสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  227  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว  ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย

วินิจฉัย

บริษัทผู้รับประกันภัยได้ซ่อมรถให้ขาวตามสัญญาประกันภัยแล้ว  บริษัทฯย่อมรับช่วงสิทธิของขาวที่จะเรียกเอาจากดำไปแล้ว  ตามมาตรา 227

ดังนั้น  ขาวจึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกเอาจากดำ

 

 

ข้อ  3  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้  และสองเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน  200,000  บาท  โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ปรากฏว่าสามเพียงผู้เดียวในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ทั้งหมดแทนสองลูกหนี้ไป  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสามจะมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากสี่ได้หรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย  และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น  หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้  มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น  และเข้าใช้หนี้นั้น

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน  เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆ  ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

สามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ตามมาตรา  682  วรรคสอง  เมื่อสามคนเดียวชำระหนี้ทั้งหมดให้เจ้าหนี้แทนสองลูกหนี้  สามจึงไล่เบี้ยเอาจากสี่ได้กึ่งหนึ่ง  คือ  100,000  บาท  ตามมาตรา  229(3)  และมาตรา  296 

 

 

ข้อ  4  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคาร  100,000  บาท  ต่อมาจันทร์ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวนี้ให้แก่พุธ  และพุธได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนให้อังคารทราบ  แต่ปรากฏว่าก่อนที่จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนนั้น  อังคารได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่จันทร์ไปแล้ว ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าอังคารจะต้องชำระหนี้ให้พุธอีกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  306  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน  หือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว  หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้  ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

วินิจฉัย

เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ทำให้พอใจแก่ผู้โอน  (เจ้าหนี้)  ด้วยการใช้เงินเสียแต่ก่อนได้รับคำบอกกล่าวการโอน  หนี้จึงเป็นอันระงับ  ลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้  ดังนั้น  อังคารลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้พุธอีก  ตามมาตรา  306  วรรคสอง

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นาย  ก  เป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า  ในช่วงระหว่างวันที่  20  ธันวาคม  ถึงวันที่  5  มกราคม  ของทุกปี  จะเป็นช่วงที่ร้านของนาย  ก  สั่งสินค้าจำพวก  ส.ค.ส  แบบต่างๆ  มาจำหน่ายแก่ลูกค้า  และสามารถสร้างผลกำไรจากการขาย  ส.ค.ส.  แก่นาย  ก  เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า  50,000  บาทต่อปี

โดยจะสั่งซื้อจากโรงงานของนาย  ข  เพียงแห่งเดียว  สำหรับในปี  2549  นาย  ก  ได้ส่งคำสั่งซื้อ  ส.ค.ส.  แบบมีเลข  พ.ศ.  กำกับไปยังโรงงานของนาย  ข  จำนวน  2,000  ชุด  เช่นทุกปี  โดยตกลงกันว่า   นาย  ข  จะต้องนำสินค้ามาส่งที่ร้านของนาย  ก  ในวันที่  19 ธันวาคม  2549  เพื่อจะได้จัดเตรียมการจำหน่ายแก่ลูกค้าในวันรุ่งขึ้น  แต่ปรากฏว่านาย  ข  กลับนำสินค้ามาส่งในวันที่  4  มกราคม  2550  นาย  ก  จึงไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมดไว้จำหน่าย

เพราะนาย  ก  เห็นว่า  นาย  ข  ผิดนัด  ทั้ง  ส.ค.ส.  ที่เอามาส่งก็ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้วเนื่องจากล่วงพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่มาแล้ว  ต่อมา  นาย  ก  จึงฟ้องนาย  ข  เรียกค่าเสียหายจำนวน  50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี

จากเงินต้นดังกล่าว  นาย  ข  ต่อสู้ว่า  นาย  ก  ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนั้น  เพราะเป็นแต่เพียงผลกำไรที่คาดว่าจะได้จากการขาย  ส.ค.ส.  เท่านั้น  นอกจากนั้นนาย  ก  ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ  15  ด้วย  เพราะไม่เคยตกลงกันในเรื่องนี้

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างและข้อต่อสู้ของทั้งสองคนฟังขึ้นหรือไม่  อย่างไร

วินิจฉัย

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย

มาตรา  216  ถ้าโดยเหตุผิดนัด  การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้  เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้

มาตรา  222  วรรคสอง  เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้  แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ  หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น  หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างนาย  ก  กับนาย  ข  เป็นสัญญาซื้อขาย  ซึ่งนาย  ข  ต้องส่งมอบหรือชำระหนี้แก่นาย  ก  ตามวันที่กำหนดในปฏิทิน  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  204  วรรคสอง  คือวันที่  19  ธันวาคม  2549  เมื่อปรากฏว่านาย  ข  ส่งมอบสินค้าเมื่อพ้นกำหนดตามที่ตกลงกัน จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้  และจะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ในวันที่  4  มกราคม  2550  ทำให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นาย  ก  ตามมาตรา  216  นาย  ก  มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ได้  และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนาย  ข  ได้ด้วย

ค่าเสียหายที่นาย  ก  เรียกจำนวน  50,000  บาทนั้น  เป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษ  ตามมาตรา  222  วรรคสอง  ซึ่งนาย  ข  สามารถคาดเห็นได้อยู่แล้วว่า  นาย  ก  จะได้กำไรจากการขาย  ส.ค.ส.  ดังกล่าวเพราะได้ติดต่อค้าขายกันมากับนาย  ก  เป็นประจำและหลายปี  ดังนั้นนาย  ข  จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่  นาย  ก  แต่สำหรับดอกเบี้ยในเงินต้นดังกล่าวนั้น  นาย  ก  สามารถเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตามมาตรา  224  วรรคแรก  จะเรียกถึงร้อยละ  15  นั้นไม่ได้  เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า  นาย  ก  กับ นาย  ข  ได้ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยได้เท่าถึงอัตราดังกล่าวตามมาตรา  224  วรรคแรก  ตอนท้าย

 

 

ข้อ  2  นายดำกู้ยืมเงินจากนายแดงไป  2  ครั้ง  ครั้งแรกทำสัญญากู้ยืมเงินวันที่  1  กันยายน  2536  จำนวนเงิน  100,000  บาท  โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงิน  ครั้งที่  2  ทำสัญญากู้ยืมเงิน วันที่  1  ธันวาคม  2539  จำนวนเงิน  200,000  บาท  โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินคืนเช่นกัน  ต่อมาวันที่  10  กันยายน  2547  นายแดงทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ทั้ง  2  ครั้ง  ให้แก่นายขาวโดยนายแดงลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว

ในวันดังกล่าวนายดำได้ทำหนังสือยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องให้นายขาวได้  โดยหนังสือยินยอมที่นายดำลงลายมือชื่อไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอายุความไว้ด้วย  ต่อมาวันที่  1  กุมภาพันธ์  2550  นายขาวยื่นฟ้องนายดำเป็นจำเลยขอให้บังคับนายดำชำระเงินกู้จำนวน  100,000  บาท  และ  200,000  บาท  แก่นายขาว  นายดำยื่นคำให้การว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์

เพราะนายแดงลงลายมือชื่อในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องฝ่ายเดียว  นายขาวยื่นฟ้องเกิน  10  ปีนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินทั้ง  2  ครั้ง  คดีขาดอายุความ  ขอให้ยกฟ้อง

ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว  หากท่านเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นท่านจะพิพากษายกฟ้องตามที่นายดำให้การ  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  193/29  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้  หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  306  วรรคหนึ่ง  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าไม่สมบูรณ์  อนึ่งการโอนหนี้นั้น  ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น  คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

มาตรา  308  วรรคหนึ่ง  ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา  306  โดยมิได้อิดเอื้อน  ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่

วินิจฉัย

นายแดงโอนสิทธิเรียกร้องให้นายขาวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ  แม้จะลงลายมือชื่อนายแดงผู้โอนสิทธิเรียกร้องเพียงฝ่ายเดียว  ก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  306  วรรคหนึ่ง  นายขาวจึงมีอำนาจฟ้อง

นายขาวยื่นฟ้องวันที่  1  กุมภาพันธ์  2550  พ้น  10  ปี  นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน  ทั้ง  2  ครั้ง  คดีจึงขาดอายุความตามมาตรา  193/30  แต่ศาลจะยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้  เว้นแต่จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ตามมาตรา  193/29  เมื่อนายขาวยื่นฟ้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง  นายดำลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของตนที่มีอยู่ขึ้นต่อสู้นายขาวได้  ปรากฏว่านายดำมีหนังสือยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง  เมื่อวันที่  10  กันยายน  2547  ซึ่งขณะนั้นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่  1  ขาดอายุความแล้ว  แต่นายดำมิได้อิดเอื้อนเรื่องคดีขาดอายุความไว้  นายดำจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้นายขาวได้ตามมาตรา  308  ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่  2  ขณะที่นายดำให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง  ยังไม่ขาดอายุความ  นายดำจึงไม่ต้องอิดเอื้อนไว้และสามารถนำกำหนดระยะเวลาที่ล่วงไปแล้วมารวมเข้ากับระยะเวลาหลังจากที่โอนสิทธิเรียกร้องได้นายดำจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้  เมื่อนายดำให้การว่าคดีขาดอายุความ  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้

หากข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  จะพิพากษายกฟ้องเฉพาะหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่  2  จำนวน  200,000  บาท

 

 

ข้อ  3  จันทร์กู้เงินของอังคารไปหนึ่งล้านบาท  โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงเดียวที่มีอยู่เป็นประกันเงินกู้กับอังคาร  ที่ดินแปลงนี้ราคาประมาณหนึ่งล้านบาท  นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้วจันทร์มีสิทธิเป็นเจ้าหนี้พุธในมูลหนี้ซื้อขายอยู่ห้าแสนบาท  ซึ่งหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว

ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี  ต่อมาปรากฏว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ดินแปลงดังกล่าวตกเหลือราคาประมาณห้าแสนบาท  อังคารพยายามบอกกล่าวให้จันทร์ใช้สิทธิเรียกร้องให้พุธชำระหนี้  แต่จันทร์ก็ละเลยเพิกเฉยเสีย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าอังคารจะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  214  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง  รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา  733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้  ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด  ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหาเรื่องจำนอง  เมื่อไม่มีข้อตกลงรับผิดชดใช้เงินที่ขาดเมื่อบังคับจำนอง  หากเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้  เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้อีก  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  214  และมาตรา  733)  อังคาร  (เจ้าหนี้)  จึงไม่มีสิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินอย่างอื่นของจันทร์โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของจันทร์  เพราะการละเลยเพิกเฉยไม่เรียกให้พุธชำระหนี้ไม่เป็นการเสียประโยชน์แก่อังคาร  (เจ้าหนี้)  กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา  233  อังคารใช้สิทธิเรียกร้องของจันทร์ไม่ได้

 

 

ข้อ  4  ก  ข  ค  เป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินของ  ง  3,000  บาท  โดยตกลงระหว่างกันเองให้แต่ละคนได้เงินกู้ไป  1,000  บาท  ต่อมาปรากฏว่า  ง  ตาย  แต่  ง  ได้ทำพินัยกรรมยกสิทธิเรียกร้องในเงินกู้รายนี้ให้แก่  ก  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ก  จะเรียกให้  ข  และ  ค  ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้หรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา  353  ถ้าสิทธิ  และความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน  ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ก  เป็นผู้รับพินัยกรรมของ  ง  กรณีจึงเกิดหนี้เกลื่อนกลืนในตัว  ก  และกฎหมายบัญญัติให้หนี้เกลื่อนกลืนกันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ  ก  ผู้เดียว  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นๆ  ข  และ  ค  จึงหาได้รับผลด้วยไม่  ก  จึงคงใช้สิทธิเรียกให้  ข  และ  ค  ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่  ก  ได้  เฉพาะส่วนที่เหลือทำนองเดียวกับการปลดหนี้  กล่าวคือ  ก  สามารถเรียกให้  ข  และ  ค  ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ให้  ก  ได้  เป็นจำนวนเงิน 2,000  บาท  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  295  วรรคแรก  และวรรคสอง  ประกอบมาตรา  353

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ปัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท  ซิตี้  ลิสซิ่ง  จำกัด  ตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ  ผู้เช่าต้องชำระเบี้ยประกันภัย  (ชั้นหนึ่งคุ้มครองถึงกรณีรถหาย)  โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวน  และมีข้อสัญญาว่ากรณีรถสูญหาย  ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระทั้งหมดทันที  โดยผู้เช่าไม่ยกเหตุที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยใดๆทั้งสิ้น

เมื่อรถที่เช่าถูกลักไป  และผู้ให้เช่าได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว  จะมาฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่ายังค้างชำระตามข้อสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  5  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี  ในการชำระหนี้ก็ดี  บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา  213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด  เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

วินิจฉัย

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการบังคับชำระหนี้ในค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาเช่าซื้อ

การที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาค่าสินไหมทดแทนความเสียหายโดยหลักแล้ว  เพื่อทดแทนความเสียหายตามที่ได้รับจากความเสียหายจริงเท่านั้น  ตามมาตรา  213  วรรคท้าย

ในเมื่อรถที่เช่าถูกลักไป  และผู้ให้เช่าได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเต็มจำนวนตามกรมธรรม์แล้ว  ถ้าจะมาเรียกเอาจากผู้เช่าอีก  โดยอ้างข้อสัญญาที่ว่า  กรณีรถสูญหาย  ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระทั้งหมดทันที  โดยผู้เช่าไม่ยกเหตุที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ใดๆทั้งสิ้น  ย่อมเป็นการได้รับค่าสินไหมทดแทนสองทางอันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่ได้รับ  ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตตามมาตรา  5

สรุป  ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังค้างชำระอีกไม่ได้

 

 

ข้อ  2  ก  ทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินจาก  ข  ในราคาสามล้านห้าแสนบาท  ในวันทำสัญญา  ก  วางมัดจำไว้ห้าแสนบาท  อีกสามล้านจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งกำหนดไว้แน่นอน  ก่อนกำหนดโอนเกิดไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง  แต่  ข  ก็ได้รับค่าสินไหมทดแทนในตัวบ้านที่ได้ทำประกันภัยไว้อยากทราบว่า  ก  จะบังคับตามสัญญาได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  226  วรรคสอง  ช่วงทรัพย์ได้แก่  เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินอันก่อน

มาตรา  228  วรรคแรก  ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น  เป็นผลให้ลูกหนี้ได้ซึ่งของแทนก็ดี  หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี  ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้  หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้

วินิจฉัย

จากมาตรา  226  วรรคสอง  ช่วงทรัพย์  หมายถึง  การเปลี่ยนตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้โดยผลของกฎหมาย  เป็นการที่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะอย่างเดียวกัน  อันจะทำให้ทรัพย์สินที่เข้าไปแทนที่ตกอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้แทนทรัพย์สินเดิม

ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนบ้านที่ถูกไฟไหม้เป็นช่วงทรัพย์ตามมาตรา  226  วรรคสอง

กรณีนี้เป็นเรื่องการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  คือ  ลูกหนี้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ได้  เนื่องจากทรัพย์สูญหายหรือถูกทำลาย  และต่อมาลูกหนี้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน  หรือได้สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน  กฎหมายให้เอาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเข้าแทนที่เป็นช่วงทรัพย์ของทรัพย์เดิม  ดังนั้นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินหรือค่าสินไหมทดแทนจากลูกนี้ได้  หรือจะเรียกจากบุคคลภายนอกโดยตรงเลยก็ได้

เมื่อบ้านถูกไฟไหม้การชำระหนี้ในตัวบ้านเป็นอันพ้นวิสัย  ก  เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้  ข  ส่งมอบหรือเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้  ตามมาตรา  228  วรรคแรก

สรุป  ก  บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายให้  ข  โอนที่ดินและส่งมอบค่าสินไหมทดแทนบ้านได้  แต่  ก  ต้องชำระราคาตามสัญญาซื้อขาย

 

 

ข้อ  3  นางจันทร์  (ผู้ให้)  ยกที่นาแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร  (ผู้รับการให้)  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อมานางจันทร์มีสิทธิที่จะเรียกถอนคืนการให้จากนายอังคารได้  เนื่องจากเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  531  แต่ก่อนที่นายอังคารจะถูกฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณนั้น  นายอังคารได้โอนที่นาแปลงดังกล่าวให้แก่นายพุธโดยเสน่หา  และนายพุธรับโอนไว้โดยถูกต้องและโดยสุจริต

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นางจันทร์จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอังคารในกรณีดังกล่าวได้อย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

ตามาตรา  237  การเพิกถอนการฉ้อฉลนี้  กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาในกรณีที่เจ้าหนี้กำลังจะบังคับเอาแก่ลูกหนี้  แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว  หรือมีเหลือแต่ไม่เพียงพอที่จะชำระแก่เจ้าหนี้  เนื่องจากลูกหนี้ได้โอนไปให้ผู้อื่นเสียแล้ว

ดังนั้น  มาตรา  237  จึงให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  ที่ลูกหนี้ได้ทำไปโดยฉ้อฉลเจ้าหนี้  และเมื่อศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว  ก็มีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ไม่เคยทำนิติกรรมฉ้อฉลนั้นเลย  ทรัพย์สินดังกล่าวก็คงกลับเข้ามาอยู่ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังเดิม

หลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง  แต่ถ้าลูกหนี้ทำนิติกรรมไปแล้วแต่ยังมีทรัพย์สินอีกมากมายที่จะชำระหนี้ได้  ดังนี้ย่อมไม่ถือว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ

2       การทำนิติกรรมของลูกหนี้นั้น  ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบถ้าไม่รู้ก็ย่อมไม่ถือเป็นการฉ้อฉล

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้าทำโดยมิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น  (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น  จะไม่นำมาใช้กับนิติกรรมใดๆ  อันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

ตามปัญหา  นางจันทร์  (ผู้ให้)  ยกที่นาแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร  (ผู้รับการให้)  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน  ต่อมานางจันทร์มีสิทธิที่จะเรียกถอนคืนการให้จากนายอังคารได้  เนื่องจากเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  531  แต่ก่อนที่นายอังคารจะถูกฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณนั้น  นายอังคารได้โอนที่นาแปลงดังกล่าวให้แก่นายพุธโดยเสน่หา  และนายพุธรับโอนไว้โดยถูกต้องและโดยสุจริต  ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  และเมื่อกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้  กรณีนี้ถือว่าผู้ให้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายที่ต้องเสียเปรียบ  จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วยการใช้สิทธิเพิกถอนการฉ้อฉล  ตามมาตรา  237  วรรคแรก  เพิกถอนการฉ้อฉลได้

สรุป  นางจันทร์ใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอังคารได้โดยร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลของนายอังคารดังกล่าวได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

 

 

ข้อ  4  ก  และ  ข  เป็นลูกหนี้ร่วม  กู้เงินของ  ค  ไป  20,000  บาท  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ก  แต่ผู้เดียวนำเงิน  20,000  บาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อ  ค  โดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่  ค  ต้องการได้รับดอกเบี้ยต่อไป  จึงปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า

(1) การขอปฏิบัติการชำระหนี้ของ  ก  จะเป็นคุณประโยชน์ต่อ  ข  ด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) ค  จะเรียกดอกเบี้ยจาก  ข  ต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

วินิจฉัย

เจ้าหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรานี้  ต้องครบองค์ประกอบ  2  ประการ  คือ

1       ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว

2       เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างโดยกฎหมาย

(1) การที่จะถือว่าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วอันจะมีผลให้เจ้าหนี้ผู้ปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น  จะต้องปรากฏว่าลูกหนี้พร้อมที่จะชำระหนี้โดยแท้จริง  และขอปฏิบัติการชำระหนี้ได้กระทำโดยชอบแล้วด้วยกฎหมาย  ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด

การที่  ก  นำเงิน   20,000  บาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบต่อ  ค  แต่  ค  ปฏิเสธ  จึงถือว่า  ค  เจ้าหนี้ผิดนัดต่อ  ก  ตามมาตรา  207  มีผลเท่ากับ  ค  ผิดนัดต่อ  ข  ด้วย  ตามมาตรา  294 

(2) เมื่อ  ค  เจ้าหนี้ผิดนัด  ค  จึงเรียกดอกเบี้ยต่อ  ข  ต่อไปไม่ได้  ตามมาตรา  221

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นิพนธ์กู้เงินดวงกมลสามแสนบาท  มีกำหนดเวลาสามปี  ก่อนถึงกำหนด  นิพนธ์นัดดวงกมลขอชำระหนี้ทั้งหมดถึงสองครั้ง  แต่ดวงกมลปฏิเสธไม่รับชำระ  ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดดวงกมลฟ้องบังคับชำระหนี้  แต่ศาลไม่ประทับฟ้องเพราะโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  อยากทราบว่าหนี้ระงับหรือไม่  เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้ได้หรือไม่  อย่างไร  ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  203  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่นิพนธ์นัดดวงกมลขอชำระหนี้ทั้งหมดถึง  2  ครั้ง  แต่ดวงกมลปฏิเสธไม่รับชำระหนี้  โดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่า  เจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา  207  เพราะเป็นหนี้มีกำหนดเวลาแม้เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนกำหนดไม่ได้  แต่ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ได้ตามมาตรา  203  วรรคสอง  อย่างไรก็ดีเพียงเจ้าหนี้ผิดนัดไม่ทำให้หนี้ระงับ  แต่มีผลทำให้เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้  ตามมาตรา  221

ดังนั้นในเมื่อหนี้ยังไม่ระงับ  ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้อยู่  เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ชำระหนี้และบังคับชำระหนี้ต่อไปได้

สรุป  หนี้ไม่ระงับและเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้

 

 

ข้อ  2  บริษัทดาว  จำกัด  ทำสัญญาเช่าเครื่องบินโดยสารจากบริษัทไมค์  จำกัด  เพื่อใช้บินรับส่งผู้โดยสารภายในประเทศไทย  โดยสัญญาเช้าที่ทำกันไว้มีข้อตกลงด้วยว่า  หากในระหว่างการเช่าเครื่องบินที่เช่าได้รับความเสียหายไม่ว่าในกรณีใดในระหว่างทำการบิน  หรือขณะอยู่ในทางวิ่งหรือทางขับ  หรือบริเวณหลุมจอดเครื่องบินภายในท่าอากาศยานแห่งใดในประเทศไทย  บริษัทดาว  จำกัด  จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายนั้น

ต่อมาในระหว่างการเช่า  เครื่องบินลำที่เช่าถูกเครื่องบินอีกลำหนึ่งของบริษัทตะวัน  จำกัด  เฉี่ยวชนที่บริเวณปีกของเครื่อง  ขณะที่เครื่องบินลำที่เช่าจอดส่งผู้โดยสารอยู่ที่หลุมจอดในสนามบินภูเก็ตทำให้ปีกเครื่องบินหัก  ต้องซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไป  2,500,000  บาท  ต่อมาบริษัทดาว  จำกัด

ได้ชดใช้ค่าซ่อมให้แก่บริษัท  ไมค์  จำกัด  และบริษัทดาว  จำกัด  จึงฟ้องบริษัทตะวัน  จำกัด  ต่อศาลเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน  บริษัทตะวัน  จำกัด  ต่อสู้ว่าบริษัทดาว  จำกัด  ไม่ใช่เจ้าของเครื่องบินเป็นเพียงผู้เช่า  จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้นี้ฟังได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  227  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว  ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้  อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย

วินิจฉัย

ตามปัญหาเป็นเรื่องที่เมื่อเกิดความเสียหายและบริษัทดาว  จำกัด  ผู้เช่า  ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เป็นค่าซ่อมเครื่องบินที่เช่าไปตามสัญญาให้แก่บริษัทไมค์  จำกัด  ผู้เป็นเจ้าหนี้  เต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้แล้ว  บริษัทดาว จำกัด  ลูกหนี้จึงย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้เกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย  ทั้งนี้  ตามมาตรา  227  จึงมีอำนาจฟ้องบริษัทตะวัน  จำกัด  เพื่อเรียกเงินจำนวนนั้นได้ 

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัทตะวันจำกัดฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารหนึ่งแสนบาท  และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธห้าแสนบาท  จันทร์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  233  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธเรียกเอาเงินห้าแสนบาทที่พุธค้างชำระแก่อังคารปรากฏว่าในระหว่างพิจารณา  พุธยอมชำระเงินให้จันทร์หนึ่งแสนบาท  และหนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารก็ถึงกำหนดชำระแล้ว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าเงินหนึ่งแสนบาทนี้จะตกเป็นของใคร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นเสร็จกันไป  แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย  ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา  เงินหนึ่งแสนบาทจะตกเป็นของจันทร์ (เจ้าหนี้)  ตามนัยแห่งบทบัญญัติใน ป.พ.พ.  มาตรา  235  วรรคแรก  และวรรคสอง  โดยการแปลความตามนัยที่ว่า ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นเสร็จกันไป  และในวรรคสองที่ว่า  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

สรุป  เงินหนึ่งแสนบาทเป็นของจันทร์

 

 

ข้อ  4  เอกกู้เงินโทไปหนึ่งแสนบาท  และเอกกู้เงินตรีไปสองแสนบาทอีกด้วย  เอกไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่โทและตรี  เอกจึงเอารถยนต์ของตนหนึ่งคันตีราคาได้สามแสนบาทไปชำระหนี้เงินกู้ทั้งสองรายนั้นแทนเงินสด  โดยทั้งโทและตรียอมรับเอาการชำระหนี้ด้วยรถยนต์ดังกล่าวนั้นไว้  ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบรถยนต์  โทมารับมอบรถยนต์เพียงคนเดียว  แต่ตรีไม่มารับมอบรถยนต์  และไม่ยินยอมให้โทรับมอบรถยนต์คนเดียว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าเอกจะส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  302  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้  และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน  และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น  อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้  ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น

นอกจากนี้  ข้อความจริงใดที่ท้าวถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้น  หาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา  โทและตรีมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วม  กรณีเป็นเรื่องการชำระหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้และมีโทและตรีเป็นเจ้าหนี้  เอกซึ่งเป็นลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดด้วยกัน  เอกจึงส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่ผู้เดียว  โดยตรีไม่ยินยอมไม่ได้  กรณีต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา  302

สรุป  เอกจะส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ 

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายดำขอซื้อไม้แปรรูปจากนายแดงเป็นเงิน  100,000  บาท  มาใช้ทำตู้เสื้อผ้าจำหน่าย  แต่นายดำไม่มีเงิน  จึงของผัดผ่อนยังไม่ชำระค่าไม้แปรรูป  และขอยืมเงินจากนายแดงอีก  10,000  บาท  มาซื้ออุปกรณ์  นายแดงตกลงขายไม้แปรรูปและให้นายดำกู้ยืมเงินตามขอ

โดยกำหนดเวลาชำระเงินยืมคืนภายในวันที่  1  มีนาคม  2550  ส่วนค่าไม้แปรรูปให้ชำระเมื่อขายตู้เสื้อผ้าได้แล้ว  ครั้นเมื่อถึงวันที่  1 มีนาคม  2550  นายดำยังขายตู้เสื้อผ้าไม่ได้  จึงไม่ชำระหนี้แก่นายแดง  วันที่  10  มีนาคม  2550  นายแดงมีหนังสือทวงถามถึงนายดำให้ชำระหนี้ทั้งสองรายการภายในวันที่  20  มีนคม  2550  ปรากฏว่าในวันที่  15  มีนาคม  2550  นายดำขายตู้เสื้อผ้าได้เงินมา  200,000  บาท  แต่ก็ไม่นำมาชำระหนี้ให้แก่นายแดงจนพ้นกำหนดดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า  ถ้านายแดงจะฟ้องให้นายดำชำระหนี้ดังกล่าวทั้งสองรายการแก่นายแดง  นายแดงจะเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยให้แก่นายแดงได้หรือไม่  ในอัตราเท่าไร  และตั้งแต่วันใด

ธงคำตอบ

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

สำหรับหนี้ค่าไม้แปรรูปเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามวันปฏิทิน  นายดำจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อนายแดงได้เตือนแล้วนายดำไม่ชำระหนี้  เมื่อนายแดงมีหนังสือทวงถามให้นายดำชำระหนี้ค่าไม้แปรรูปภายในวันที่  20  มีนาคม  2550  นายดำไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด  จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  20  มีนคม  2550  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  204  วรรคแรก  นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระดอกได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน  100,000  บาท  นับแต่วันที่  20  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงตามมาตรา  224  วรรคแรก

ส่วนหนี้เงินกู้ตกลงกันไว้ว่าจะชำระคืนภายในวันที่  1  มีนาคม  2550  จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระตามวันปฏิทิน  นายดำย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  โดยไม่ต้องมีการเตือนก่อนตามมาตรา  204  วรรคสอง  เมื่อนายดำไม่ชำระหนี้  นายแดงจึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน  10,000  บาท  นับตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงตามมาตรา  224  วรรคแรก

สรุป  นายแดงสามารถเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยได้ทั้งสองกรณีในอัตราร้อยละ  7  ครึ่งต่อปีโดยหนี้ค่าไม้แปรรูป  เรียกได้ตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2550  ส่วนหนี้เงินกู้  เรียกได้ตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จ  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

 

 

ข้อ  2  นายกรได้เอาเงินของตนให้บริษัท  เค  จำกัด   กู้จำนวนหนึ่งล้านบาท  เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ  บริษัท  เค  จำกัด  ได้รับเงินกู้ไปจากนายกรครบแล้ว  และนายกรได้ตกลงกับนายเอก  กรรมการของบริษัท  เค  จำกัด  ให้นายเอกสั่งจ่ายเช็คส่วนตัวของนายเอกเองมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด

เซีย  ซึ่งเป็นห้างที่นายกรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่  เป็นผู้รับเงินตามเช็ค  เพื่อรับชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว  แล้วนายกรจึงจะเบิกเงินจากบัญชีของห้างกลับคืนมาในภายหลง  ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  นำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีของห้างเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค

แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายกรจึงฟ้องบริษัท  เค  จำกัด  เรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่ทำกันไว้  บริษัท  เค  จำกัด  ให้การต่อสู้ว่าการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอก  ทำให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว  และนายกรจะเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท  เค  จำกัดไม่ได้  เพราะเมื่อหนี้ระงับ  

โดยการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอกแล้ว  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้และถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  จึงเป็นเจ้าหนี้ตามเช็คเป็นผู้มีอำนาจที่ต้องฟ้องนายเอกเองไม่ใช่นายกร

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  เค  จำกัด  ทั้งหมดรับฟังได้หรือไม่  อย่างไร  โดยใครจะต้องเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกเงินกู้หนึ่งล้านบาทและฟ้องใครเป็นจำเลย

ธงคำตอบ 

มาตรา  194  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา  314  อันการชำระหนี้นั้น  ท่านว่า  บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ  หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้

บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น  จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

มาตรา  315  อันการชำระหนี้นั้น  ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้  การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น  ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

มาตรา  321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอใจแก่เจ้าหนี้นั้น  ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้

ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า  ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

วินิจฉัย

การที่บริษัท  เค  จำกัด  ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายกรตามมาตรา  194  และตามปกติ  บริษัทฯ  ย่อมเป็นผู้ต้องชำระหนี้ตามสัญญาเอง อย่างไรก็ตาม  จากข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่านายกรเจ้าหนี้ตกลงให้นายเอกบุคคลภายนอกเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท  เค  จำกัด  ลูกหนี้ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา  314  วรรคแรก  ส่วนการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอกนั้น  ถือว่านายกรเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสด  ตามมาตรา  321  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่าการชำระหนี้ด้วยเช็คฉบับนี้เป็นการสั่งจ่ายชำระแก่บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหนี้  คือ  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  แต่ก็ปรากฏว่า  นายกรเจ้าหนี้เป็นผู้มอบหมายให้ห้างนี้เป็นผู้ชำระหนี้แทนตน  ดังนั้น  การชำระหนี้ในกรณีตามปัญหานี้จึงเป็นการชำระหนี้แก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระแทนนายกรเจ้าหนี้ตามมาตรา  315  ผลของการชำระหนี้ด้วยการออกเช็ค (ตั๋วเงิน)  จึงเป็นว่าหนี้เงินกู้จะระงับไปต่อเมื่อมีการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  321  วรรคท้าย  เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  เท่ากับยังไม่มีการชำระหนี้  หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับ  นายกรเจ้าหนี้จึงเป็นโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ดังกล่าวได้ส่วนผู้ที่จะต้องถูกฟ้องตามสัญญาเงินกู้  คือ  บริษัท  เค  จำกัด 

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  เค  จำกัด  รับฟังไม่ได้ทั้งหมด  และนายกรเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท  เค  จำกัด  เป็นจำเลยได้

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท  แต่อังคารไม่มีทรัพย์สินใดๆเลย  อังคารมีอาชีพรับจ้างมีรายได้เพียงเดือนละสามพันบาท  ต่อมาปรากฏว่าอังคารได้จดทะเบียนรับรองว่าพุธเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน  ซึ่งเป็นผลทำให้อังคารจะมีภาระจำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่พุธผู้เป็นบุตร

ทำให้ทรัพย์สินของอังคารต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก  ดังนี้  จันทร์จะใช้สิทธิเพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

ตามมาตรา  237  การเพิกถอนการฉ้อฉลนี้  กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาในกรณีที่เจ้าหนี้กำลังจะบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้  แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มีเหลืออยู่  หรือมีเหลือแต่ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  เนื่องจากลูกหนี้ได้โอนไปให้ผู้อื่นเสียแล้ว  กฎหมายจึงให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  ที่ลูกหนี้ได้ทำไปโดยฉ้อฉล  และเมื่อศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว  ก็มีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ไม่เคยทำนิติกรรมฉ้อฉลนั้นเลย  ทรัพย์สินดังกล่าวก็คงกลับเข้ามาอยู่ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังเดิม

หลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง  แต่ถ้าลูกหนี้ทำนิติกรรมไปแล้วแต่ยังมีทรัพย์สินอีกมากมายที่จะชำระหนี้ได้  ดังนี้ย่อมไม่ถือว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ

2       การทำนิติกรรมของลูกหนี้นั้น  ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบถ้าไม่รู้ก็ย่อมไม่ถือเป็นการฉ้อฉล

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้าทำโดยมิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น  (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น  จะไม่นำมาใช้กับนิติกรรมใดๆ  อันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

ตามปัญหา  การรับรองบุตรเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน  (มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน)  จันทร์จึงขอให้เพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวนั้นไม่ได้  ตามมาตรา  237  วรรคสอง

สรุป  จันทร์จะใช้สิทธิเพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงิน  100,000  บาท  โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  สอง  (ลูกหนี้)  ผิดนัด  แต่ต่อมาปรากฏว่า  หนึ่งปลดหนี้ให้สามเพียงคนเดียว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง  หรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  293  การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ  เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดไว้  เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกันเว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

สามและสี่ต้องมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  682  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อหนึ่งปลดหนี้ให้แก่สามเพียงคนเดียว  สามย่อมหลุดพ้นจากหนี้ไป  และการปลดหนี้นั้นเป็นประโยชน์แก่สี่ด้วยเพียงเท่าส่วนของสามที่ได้รับการปลดหนี้ให้คือห้าหมื่นบาท  สี่จึงยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่งเพียงห้าหมื่นบาทเท่านั้นตามมาตรา  293  ประกอบมาตรา  296

สรุป  สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง  ในหนี้เงินอีกห้าหมื่น

LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  สมชายปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตนเสร็จแล้ว  หลังจากที่ฝนตกหนักเมื่ออาทิตย์ก่อน  น้ำฝนจากหลังคาบ้านดังกล่าวตกลงในที่ดินซึ่งได้ปรับถมใหม่ของสมศักดิ์ที่อยู่ติดกันกัดเซาะพาดินเป็นร่องคูลึก  สมศักดิ์มาปรึกษากับท่านว่า  ตามกฎหมายจะบังคับแก้ไขอย่างไรบ้าง  ขอให้ท่านแนะนำ

ธงคำตอบ

มาตรา  194  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา  213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด  เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

มาตรา  215  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้  เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องหนี้งดเว้นกระทำการ  ตามมาตรา  194  ตอนท้าย  ทั้งนี้เพราะกฎหมายได้บัญญัติข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในการใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา  1341  กล่าวคือ  ห้ามมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น  ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงมายังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน  ดังนั้นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้

เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นการงดเว้นกระทำการใด  การบังคับชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  213  วรรคสาม  กล่าวคือ  นายสมศักดิ์ในฐานะเจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้โดยการเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้ทำลงแล้ว  คือเรียกร้องให้นายสมชายลูกหนี้ถมเกลี่ยดินที่ถูกน้ำเซาะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม  โดยให้นายสมชายเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้นายสมศักดิ์ยังมีสิทธิเรียกให้นายสมชายจัดการอันควรเพื่อการภายหน้าด้วยก็ได้  เช่น  ให้สมชายติดตั้งรางน้ำฝนที่หลังคาบ้านของสมชาย  เพื่อป้องกันน้ำฝนจากหลังคาตกลงมาในที่ดินของนายสมศักดิ์อีก

อย่างไรก็ดีหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายเพราะการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว  เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากลูกหนี้ได้  ตามมาตรา 213  วรรคท้าย  หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นก็ได้  ตามมาตรา  215

 

 

ข้อ  2  ใกล้ฤดูน้ำหลาก  ลำพูซื้อเรือพายจากลำแพนซึ่งเป็นเรือใหม่ต่อด้วยไม้สักทั้งลำ  ผู้ซื้อนำมาพายได้สี่ห้าเดือน  รอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเป็นกระพี้ก็เริ่มผุ  ทำให้เรือรั่วซึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว  ผู้ซื้อจะเรียกให้ผู้ขายรับผิดชอบอย่างไรบ้าง  ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด  เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด  เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้  หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

มาตรา  215  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้ไซร้  เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

วินิจฉัย

ลำพูผู้ซื้อได้ซื้อเรือพายจากลำแพนมาใช้ได้สี่ห้าเดือน  ปรากฏว่ารอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเป็นกระพี้ก็เริ่มผุ  ซึ่งความชำรุดบกพร่องดังกล่าวผู้ขายจะต้องรับผิด  ดังนี้จะเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องวัตถุแห่งหนี้ที่เป็นการกระทำการ

เมื่อรอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเริ่มผุพัง  ต้องถือว่าผู้ขายชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้  ผู้ซื้อซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้จึงอาจเรียกให้ผู้ขายลูกหนี้ซ่อมท้องเรือที่ชำรุดบกพร่องได้  ตามมาตรา  213  วรรคแรก  (ประกอบมาตรา  472)

ในกรณีที่ผู้ขายมิได้เป็นผู้ทำการต่อเรือด้วยตนเอง  หรือผู้ขายไม่ทำการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องดังกล่าว  ผู้ซื้อก็อาจนำเอาเรือนั้นไปให้บุคคลภายนอกเป็นผู้กระทำการซ่อมแซม  โดยให้ผู้ขายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย  ตามมาตรา  213  วรรคสอง  หรือผู้ซื้อจะทำการซ่อมแซมเองโดยให้ผู้ขายออกค่าใช้จ่ายก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี  หากผู้ซื้อต้องเสียหายอย่างใดๆอีก  ผู้ซื้อก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้ได้  ตามมาตรา  213  วรรคท้าย  และอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้  ตามมาตรา  215

 

 

ข้อ  3  จันทร์มีสร้อยคอทองคำหนึ่งเส้นราคาประมาณหนึ่งแสนบาท  นอกจากสร้อยเส้นนี้แล้วจันทร์มีทรัพย์สินอีกเพียงอย่างเดียวคือ  รถยนต์หนึ่งคันราคาประมาณหนึ่งแสนบาท  จันทร์ได้กู้เงินของอังคารไปหนึ่งแสนบาท  โดยเอาสร้อยคอทองคำเส้นดังกล่าวจำนำไว้เป็นประกันเงินกู้กับอังคาร  ก่อนหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระเพียงเจ็ดวัน  จันทร์ได้ยกรถยนต์คันเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หา  หลังจากนั้นอังคารทราบเรื่อง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  อังคารจะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ได้อย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  214  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง  รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีการบังคับจำนอง  (ตามมาตรา  733)  ถ้าหากได้เงินไม่พอชำระหนี้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด  ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่นั้น  เจ้าหนี้จึงบังคับชำระหนี้ให้แก่ตนอีกในส่วนที่ขาดจากทรัพย์สินอย่างอื่นๆ  ของลูกหนี้  โดยอาศัยมาตรา  214  นี้ไม่ได้

แต่กรณีตามปัญหา  เป็นเรื่องเจ้าหนี้จำนำ  ซึ่งถ้ามีการบังคับจำนำ  แล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดชดใช้ให้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น  ตามมาตรา  767  วรรคสอง  เจ้าหนี้จำนำจึงสามารถเรียกร้องในส่วนที่ขาดได้  ตามมาตรา  214

เมื่ออังคารมีสิทธิเรียกร้องจำนวนที่ค้างชำระอยู่  ก็มีสิทธิควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ลูกหนี้ได้  หากเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย

สำหรับหลักเกณฑ์ในการควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้ในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉล  ตามมาตรา  237  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล

2       นิติกรรมนั้นลูกหนี้รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

3       นิติกรรมประเภท

–                    ให้โดยเสน่หา  ลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้จะเสียเปรียบฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะขอให้เพิกถอน

–                    มิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หา  (มีค่าตอบแทน)  ผู้ได้ลาภงอกต้องรู้ในขณะทำนิติกรรมด้วยว่าเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

4       ใช้เฉพาะกับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

ดังนั้นในกรณีนี้แม้จันทร์จะได้ยกรถยนต์คันเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตร  อันเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินโดยการฉ้อฉลเจ้าหนี้  ซึ่งเป็นการให้โดยเสน่หาก็ตาม

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสร้อยคอทองคำเส้นที่จันทร์นำไปจำนำเป็นประกันเงินกู้กับอังคาร  มีราคาคุ้มจำนวนหนี้เงินกู้ยืม  อังคารจึงไม่มีทางเสียเปรียบ  เมื่อไม่เสียเปรียบ  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  237  วรรคแรก  อังคารจึงใช้สิทธิในการควบคุมทรัพย์สินของจันทร์โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลของจันทร์ไม่ได้

สรุป  อังคารจึงใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ไม่ได้

 

 

ข้อ  4   หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงิน  200,000  บาท  โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  สอง (ลูกหนี้)  ผิดนัด  หนึ่งจึงเรียกให้สามและสี่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน  ปรากฏว่าสามได้นำเงิน  200,000  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่หนึ่งกลับปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าใครตกเป็นผู้ผิดนัด  และผิดนัดต่อใครบ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

สามและสี่ยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้เงินกู้ยืม  200,000  บาท  ของสองลูกหนี้  ดังนั้นสามและสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันย่อมมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ตามมาตรา  682  วรรคสอง

เมื่อสองลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดมีขึ้น  การที่สามนำเงิน  200,000  บาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่หนึ่งเจ้าหนี้กลับปฏิเสธไม่ยอรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  หนึ่งจึงตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัด  ตามมาตรา  207

อย่างไรก็ตามการที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้นการที่หนึ่งเจ้าหนี้ผิดนัดต่อสาม  ต้องถือว่ามีผลต่อสี่ด้วย  ตามมาตรา  294  หนึ่งเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต่อสี่ลูกหนี้ร่วมด้วย

สรุป  หนึ่งตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา  207  และหนึ่งผิดนัดต่อสามและสี่  ตามมาตรา  294

WordPress Ads
error: Content is protected !!