LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ภาคซ่อม 1/49

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ไก่แก้วอายุ  12  ปี  เป็นบุตรของแก้วใจ  วันเกิดเหตุ  ไก่แก้วไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งและเกิดความไม่พอใจไข่ขาว  จึงเดินไปตบหน้าไข่ขาวซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  ไข่ขาวหลบ  จึงเสียหลักไปชนกุ้งแก้ว  ทำให้กุ้งแก้วตกลงไปในเรือของปูนิ่ม  เรือของปูนิ่มจึงคว่ำ  และปูนิ่มจมน้ำตาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครบ้างต้องรับผิดในความตายของปูนิ่ม

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

วินิจฉัย

ไก่แก้วมีความผิดฐานทำละเมิดต่อไข่ขาว  เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดนั้น

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึกและได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย (ชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิ)

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

ดังนั้น  การที่ไข่ขาวหลบจากการตบหน้าของไก่แก้ว  และทำให้เกิดผลตามมาคือปูนิ่มถึงแก่ความตายนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุแรกของไก่แก้วแล้ว  ถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ (ถ้าอ้างเรื่องนิรโทษกรรมถูกหักคะแนน  เพราะไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม)

เมื่อไก่แก้วได้กระทำละเมิดต่อปูนิ่ม  แก้วใจซึ่งเป็นมารดาของไก่แก้วบุตรผู้เยาว์ย่อมต้องร่วมรับผิดกับไก่แก้วด้วย  ตามมาตรา  429  เพราะเหตุว่าบิดามารดามีหน้าที่ควบคุมเลี้ยงดูผู้เยาว์  อีกทั้งกฎหมายยังให้อำนาจบิดามารดาในการใช้อำนาจปกครอง  ซึ่งทำให้ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความเชื่อฟังคำสั่งด้วย  อนึ่งคำว่า  บิดามารดา  ตามมาตรา  429  นี้หมายถึง  บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  และตามกฎหมาย  มารดาย่อมเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ  ดังนั้นเมื่อไก่แก้วบุตรผู้เยาว์ทำละเมิดแล้ว  แก้วใจมารดาจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย

สรุป  ไก่แก้วต้องรับผิดฐานละเมิดต่อปูนิ่ม  ตามมาตรา  420  และแก้วใจต้องรับผิดร่วมกับไก่แก้วด้วย  ตามมาตรา  429

 

 

ข้อ  2  นายชัยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์  วันเกิดเหตุนายชัยสั่งให้นายชิดน้องชายของตนขับรถจักรยานยนต์ไปส่งสินค้า  ระหว่างทางกลับร้านค้าของนายชัย  นายชิดขับรถด้วยความเร็วสูงจึงชนนายชอบขาหัก  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายชอบจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง

(ข)  เด็กหญิงตุ๊กตา  ซึ่งเป็นน้องสาวคนเดียวของนายชอบซึ่งเคยได้รับเงินอุปการะเลี้ยงดูจากนายชอบทุกๆเดือนๆละ  2,000  บาท  จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

(ก)  นายชิดขับรถชนนายชอบขาหัก  เป็นการกระทำละเมิดต่อนายชอบตามมาตรา  420  ถือว่าเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของตนเอง  (ไม่ใช่กรณีที่เป็นความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา  437  ถ้าตอบมาให้หักคะแนน)

เมื่อนายชิดทำละเมิดต่อผู้อื่นในขอบอำนาจของตัวแทน  กล่าวคือ  ได้กระทำละเมิดโดยที่ไปทำการงานแทนผู้อื่นคือนายชัย  นายชัยในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนด้วยตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425  ดังนั้นนายชอบจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายชัยและนายชิดร่วมกันรับผิดได้

(ข)  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น  ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  คนอื่นไม่มีสิทธิ  ยกเว้นกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้วตามมาตรา  443  หรือกรณีที่เป็นการเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ดังนั้นเด็กหญิงตุ๊กตาจึงไม่มีสิทธิแต่อย่างใด นอกจากนั้นการเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิตามมาตรา  443  ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เรียกได้ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเท่านั้น  เมื่อนายชอบยังมีชีวิตอยู่แม้เด็กหญิงตุ๊กตาจะขาดการอุปการะเลี้ยงดูตามความเป็นจริง  ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องแต่ประการใด  อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเด็กหญิงตุ๊กตาเป็นเพียงน้องสาวของนายชอบซึ่งกฎหมายครอบครัวมิได้กำหนดหน้าที่ให้พี่ต้องอุปการะเลี้ยงดูน้องแต่อย่างใด  ดังนั้นถึงแม้ว่านายชอบจะถึงแก่ความตาย  เด็กหญิงตุ๊กตาก็เรียกไม่ได้อยู่ดี

สรุป

(ก)  นายชอบสามารถเรียกให้นายชิดรับผิดฐานละเมิด  ตามมาตรา  420  และสามารถเรียกให้นายชัยร่วมรับผิดกับนายชิดได้  ตามมาตรา 427  ประกอบมาตรา  425

(ข)  เด็กหญิงตุ๊กตาไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

 

 

ข้อ  3  นายสิงห์ไม่พอใจนายสาด้วยเหตุหลายประการ  นายสิงห์จึงเอารถยนต์ของนายแสงขับไล่ชนนายสา  นายสาวิ่งหนี  นายสิงห์ขับรถยนต์ไล่ตาม  นายสาเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน  จึงใช้ปืนยิงยางรถยนต์ที่นายสิงห์ขับอยู่เป็นเหตุให้ยางรถยนต์เสียหายต้องเสียค่าซ่อมไปเป็นจำนวน  1,000  บาท  ดังนี้  นายสิงห์และนายสาจะต้องรับผิดต่อนายแสงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

มาตรา  450  วรรคท้าย  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

การที่นายสิงห็เอารถยนต์ของนายแสงขับไล่ชนนายสา  ถือได้ว่านายสิงห์ใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือทำละเมิด  เมื่อนายสายิงยางรถยนต์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์นิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสาม  เพราะภยันตรายนั้นมิใช่ภยันตรายที่เกิดขึ้นเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  แต่ภยันตรายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลคอนายสิงห์

แต่การที่นายสายิงยางรถยนต์ของนายแสงเสียหาย  เป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  การกระทำของนายสาจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายสาได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  นายสาจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายแสง

นายแสงซึ่งเป็นผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายสิงห์ผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา  449  วรรคสอง

สรุป  นายสาไม่ต้องรับผิด  ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449

นายสิงห์ต้องรับผิดในฐานะผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  449  วรรคสอง

 

 

ข้อ  4  นายมั่งมีได้ทำสัญญาจ้างนายอนาถามาเป็นพนักงานขับรถแบ็กโฮ  และจ้างนายยากจนมาเป็นกรรมกรขนวัสดุก่อสร้างและฉาบปูน วันเกิดเหตุนายอนาถาป่วยไม่สามารถมาทำงานได้  นายมั่งมีจึงมีคำสั่งให้นายยากจนไปขับรถแบ็กโฮแทนนายอนาถา  เพราะเห็นว่านายยากจนเคยขับรถแบ็กโฮมาก่อน  ปรากฏว่าในขณะที่นายมั่งมีได้นั่งไปในรถแบ็กโฮที่นายยากจนเป็นคนขับนั้น  หัวตักดินของรถแบ็กโฮได้เกิดหักและหล่นทับนายเงินลูกจ้างคนงานถึงแก่ความตาย  ถ้าปรากฏว่าก่อนตายนายเงินต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินถึง  200,000  บาท นายทองอายุ  21  ปี  บุตรบุญธรรมนายเงินจะมีสิทธิเรียกเงินค่ารักษาพยาบาล  ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  บุคคลผู้ครอบครองและหรือผู้ควบคุมยานพาหนะในขณะนั้นจะต้องรับผิดในความเสียหายนั้น  เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้เสียหายเอง 

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นายยากจนต้องรับผิดในความเสียหายต่อนายเงินหรือไม่  เห็นว่า  ขณะเกิดเหตุนายยากจนเป็นผู้ขับรถแบ็กโฮถือว่าเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะในขณะที่เกิดความเสียหาย  แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของนายยากจน  ตามมาตรา  420  ดังนั้นนายยากจนในฐานะผู้ขับเป็นผู้ควบคุมจึงต้องรับผิดตามบทสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา  437  วรรคแรก

กรณีที่ต้องวินิจฉัยในประการที่สองมีว่า  นายมั่งมีนายจ้างและเป็นเจ้าของรถแบ็กโฮต้องร่วมรับผิดกับนายยากจนลูกจ้างหรือไม่  เห็นว่า  วันเกิดเหตุ  นายมั่งมีได้ออกคำสั่งให้นายยากจนลูกจ้างไปขับรถแบ็กโฮแทนนายอนาถา  ถือว่าการขับรถแบ็กโฮของนายยากจนเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง  ดังนั้นเมื่อนายยากจนต้องรับผิดฐานละเมิดในทางการที่จ้าง  นายมั่งมีนายจ้างจึงต้องเข้ามาร่วมรับผิดกับนายยากจนลูกจ้าง  ตามมาตรา  425  และเมื่อปรากฏว่านายมั่งมีได้ร่วมนั่งไปในรถแบ็กโฮด้วย  นายมั่งมีเจ้าของรถเป็นผู้ครอบครองก็ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  437  วรรคแรก  อีกสถานะหนึ่งด้วย

กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  นายทองอายุ  21  ปี  บุตรบุญธรรมของนายเงินผู้ตายมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล  ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะหรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิในการเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายได้แก่ผู้ที่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้ป่วยที่ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  ตาม  ป.พ.พ.  ว่าด้วยครอบครัว  กรณีตามปัญหานายทองเป็นบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายเงินผู้รับบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1598/28  วรรคสอง  ที่ให้นำบทบัญญัติลักษณะ  2  หมวด  2  ว่าด้วยบิดามารดากับบุตรมาใช้ระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1563  ดังนั้นนายทองจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล  200,000  บาท  จกนายยากจนและนายมั่งมีได้ตามมาตรา  443  วรรคสอง  กรณีค่าปลงศพ  ผู้มีสิทธิเรียกร้องได้แก่ทายาทของผู้ตายและ  ตามมาตรา  1627  ให้สิทธิแก่บุตรบุญธรรมในการรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629 (1)  ดังนั้นนายทองบุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้  เพราะเป็นทายาทนายเงินผู้ตายตามมาตรา  443  วรรคแรก  ส่วนกรณีของค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย  ผู้มีสิทธิเรียกคือผู้ที่ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  กรณีตามปัญหา  เมื่อนายทองเป็นบุตรบุญธรรมแต่มีอายุ  21  ปี  ซึ่งบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้ว  นายเงินผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม  จึงหาได้มีหน้าที่ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทองบุตรบุญธรรมอีกต่อไป  เว้นแต่จะปรากฏว่านายทองทุพพลภาพ  และไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ตามมาตรา  1564  ประกอบมาตรา  1598/28  วรรคสอง ดังนั้นนายทองบุตรบุญธรรมจึงเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้เพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว

สรุป 

(1) นายยากจน  ต้องรับผิดในฐานะผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา  437

(2) นายมั่งมีนายจ้างและเจ้าของรถต้องรับผิดในฐานะนายจ้างตามมาตรา  425  และฐานะผู้ครอบครองยานพาหนะตามาตรา  437  ด้วย

(3) นายทองบุตรบุญธรรมนายเงินผู้ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลค่าปลงศพได้  แต่เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ตามมาตรา  443

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งถูกฟ้องขับไล่ออกจากเขตที่ดินของสอง  จึงได้ว่าจ้างให้สามไปลอบวางเพลิงเผาบ้านของสอง  ทำให้สองถูกไฟลวกหน้าเสียโฉม  สี่ซึ่งเป็นลูกจ้างของสองรู้สึกโกรธแทนนายจ้าง  คืนวันหนึ่งสี่เห็นว่าหนึ่งขับรถอยู่  จึงได้ท้าให้ขับรถแข่งด้วย  ขณะที่ทั้งสองแข่งกันอยู่นั้น  หนึ่งได้พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของสามที่กำลังขับอยู่บนถนนและไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและท้ายรถไว้    ทำให้เกิดเพลิงไหม้รถยนต์ของหนึ่งและของสามเสียหาย  และทำให้สามบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นไม่สามารถทำงานต่อไปได้อีกตลอดชีวิต

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  สองจะเรียกร้องให้สามและหนึ่งร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ตนต้องเสียบุคลิกภาพใบหน้าเสียโฉมอันเป็นความทุกข์ทรมานได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  หนึ่งจะเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ในความเสียหายอันเกิดกับรถยนต์ของตนได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้ให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง  หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดสัญญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วินิจฉัย

(ก)  สองได้รับความเสียหายอันเกิดจากหนึ่งว่าจ้างสามให้วางเพลิงเผาบ้าน  สองจึงเรียกร้องให้สามและหนึ่งร่วมรับผิดได้ในฐานะเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิด  ตามมาตรา  432  ข้อเท็จจริงไม่ใช่กรณีตามมาตรา  428  (อ้างว่าผิดมาตรานี้ให้หักคะแนน)  เพราะเป็นเรื่องที่หนึ่งและสามร่วมใจร่วมกาย  มีเจตนาหรือความมุ่งหมายร่วมกันในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น  และเมื่อสองได้รับความเสียหายถึงกับหน้าเสียโฉม  ก็ย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ตนต้องเสียบุคลิกภาพใบหน้าเสียโฉม  อันเป็นความทุกข์ทรมานซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา  446

(ข)  หนึ่งจะเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ในความเสียหายอันเกิดกับรถยนต์ของตนไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่หนึ่งสมัครใจรับความเสียหายด้วยการท้าแข่งรถ  จึงถือว่าเป็นความยินยอมตามหลัก  Volente  Non  Fit  Injuria  (ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย  หรือไม่ทำให้เป็นละเมิด)  และเมื่อหนึ่งไม่อาจฟ้องร้องสี่ได้  หนึ่งก็ไม่อาจฟ้องร้องสองซึ่งเป็นนายจ้างของสี่ลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิดตามมาตรา  425 ได้สรุป 

(ก)  สองสามารถเรียกให้หนึ่งและสามรับผิดในการที่หน้าเสียโฉมได้ในฐานะผู้ร่วมกันทำละเมิด  ตามมาตรา  446  ประกอบ  432

(ข)  หนึ่งเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ไม่ได้  เพราะเป็นความยินยอมรับความเสียหายเอง

 

 

ข้อ  2  จากข้อเท็จจริงตามข้อ  1

(ก)  สี่และหนึ่งต้องร่วมรับผิดต่อสามหรือไม่  อย่างไร

(ข)  หากว่า  สาม  มีบุตรหนึ่งคน  คือ  เด็กชายห้าซึ่งเกิดจากภริยาที่อยู่กินกันมานานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  และถึงแก่ความตายไปแล้ว  สามจึงเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายห้าแต่ผู้เดียว  โดยให้ใช้นามสกุล  ตลอดจนส่งเสียเลี้ยงดูให้เล่าเรียนและให้เงินใช้ทุกวันๆ  ละ  100  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเด็กชายห้าจะสามารถเรียกร้อง  ค่าขาดไร้อุปการะ  และ  ค่าขาดการงานในครัวเรือน  จากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไรธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้ให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  442  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  223  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

วินิจฉัย

(ก)  สามได้รับความเสียหายอันเกิดขึ้นต่อรถของตน  โดยเป็นความเสียหายอันเกิดจากสี่และหนึ่งแข่งรถกัน  จึงเรียกร้องให้ทั้งสองคนรับผิดต่อตนได้ตามมาตรา  420  แต่ไม่อาจเรียกให้รับผิดในฐานกระทำละเมิดร่วมกันตามมาตรา  432  ได้  เพราะทั้งสี่และหนึ่งไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันไม่อาจแบ่งแยกกันได้  ก็ต้องให้ทั้งสองคนรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยรับผิดในความเสียหายด้วยการใช้คืนทรัพย์  หรือใช้ราคาทรัพย์แทนตามมาตรา  438  วรรคสอง  แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสามนั้น  เป็นความเสียหายที่สามผู้เสียหายมีส่วนผิดอยู่ด้วย  เพราะไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและหลังรถไว้  การกำหนดค่าสินไหมทดแทนก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  442  ประกอบมาตรา  223  กล่าวคือ  ให้คำนึงถึงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรด้วย

(ข)  เด็กชายห้า  ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดไร้อุปการะได้  เพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  443  ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  จึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายทางอ้อมได้  และเด็กชายห้าก็ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดการงานในครัวเรือนได้  เพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  445  ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายมีหน้าที่อยู่แต่เดิมในการทำการงานในครัวเรือนหรือในอุตสาหกรรมให้แก่ผู้อื่น  จึงเกิดสิทธิเรียกร้องแก่ผู้ขาดการงานนั้นได้  แต่ข้อเท็จจริงตามโจทย์  สามไม่มีหน้าที่ทำการงานให้แก่เด็กชายห้า  และกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าบุตรมีอำนาจให้บิดามารดาทำงานตามฐานานุรูป  แต่กฎหมายบัญญัติให้เฉพาะสามีภริยา  ผู้ใช้อำนาจปกครองต่อผู้เยาว์  ที่มีอำนาจที่จะให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานตามฐานานุรูปแห่งตน  ดังนั้นเด็กชายห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้

สรุป

(ก)  สี่และหนึ่งต้องรับผิดต่อสามตามมาตรา  420

(ข)  เด็กชายห้าไม่อาจเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าขาดแรงงานได้

 

 

ข้อ  3  นายแดงลอบเข้าไปในบ้านของนายเอกและขโมยโทรทัศน์ของนายเอกไป  นายเอกนำเรื่องไปเล่าให้นายโทซึ่งเป็นเพื่อนฟังและขอให้นายโทช่วยหาเบาะแสของคนร้าย  ส่วนนายแดงนำโทรทัศน์ที่ขโมยมาไปเก็บไว้ที่บ้าน  หลังจากนั้นเจ็ดวันนายแดงยกโทรทัศน์ขึ้นรถกระบะเพื่อจะนำไปขายยังต่างจังหวัดระหว่างทางนายแดงแวะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

ปรากฏว่านายโทซึ่งบังเอิญก็รับประทานอาหารในร้านนั้นเห็นโทรทัศน์วางอยู่ท้ายรถกระบะของนายแดงและจำได้ชัดเจนว่าเป็นโทรทัศน์ของนายเอก  ขณะนั้นนายแดงกำลังจะขับรถหนี

นายโทจะขอให้ตำรวจช่วยก็ไม่ได้เพราะไม่มีตำรวจอยู่เลย  นายโทตัดสินใจใช้ปืนยิงยางรถยนต์ของนายแดงแตกหนึ่งเส้นเพื่อไม่ให้นายแดงขับรถหนี

ดังนี้นายโทจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  451  บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน  ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาล  หรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้  และถ้ามิได้ทำในทันที  ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมาก  หรือถึงแก่สาบสูญไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

การที่นายโทใช้ปืนยิงยางรถยนต์ของนายแดงแตกหึ่งเส้นเพื่อให้นายแดงขับรถหนีถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังป้องกันสิทธิของผู้อื่นคือนายเอก  การกระทำของนายโทจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  451  เพราะการที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  451  จะต้องเป็นการใช้กำลังป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น  เมื่อนายโทไม่ได้รับนิรโทษกรรม  การกระทำของนายโทจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ดังนั้น นายโทต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง

สรุป  นายโทต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง

 

 

ข้อ  4  นายสมควรอายุ  21  ปี  เป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง  วันเกิดเหตุนายสมรักษ์หัวหน้างานได้สั่งให้นายสมควรไปส่งของให้ลูกค้า  ปรากฏว่าระหว่างทางรถจักรยานยนต์ที่นายสมควรขับมาเครื่องยนต์เสีย  นายสมควรจึงจอดอยู่ข้างฟุตบาทถนนศรีนครินทร์  ซึ่ง  ณ  จุดดังกล่าวได้มีน้ำท่วมขัง  นายจิ๋วได้ขับรถมาอย่างเร็วไปดูให้ดี  เป็นเหตุให้ขับรถชนนายสมควรสลบไม่ได้สติ  นำตัวส่งโรงพยาบาลสมิติเวช  แพทย์ที่ทำการรักษาลงความเห็นว่า  นายสมควรจะต้องเป็นเจ้าชายนิทราไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไปเช่นนี้

(1) นายจิ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสมบัติบิดานายสมควรจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และถ้านายสมบัติจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน  3  ล้านบาท  ซึ่งเป็นอัตราค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่นถึง  2  เท่า  เช่นนี้นายสมบัติจะเรียกค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

(1) การที่นายจิ๋วขับรถมาบริเวณที่มีน้ำขังโดยไม่ดูให้ดีว่านายสมควรกำลังจอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่ริมฟุตบาท  เป็นเหตุให้รถยนต์นายจิ๋วขับชนนายสมควรล้มสลบไป  เป็นกรณีที่นายจิ๋วกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  จึงเป็นการกระทำละเมิด  ดังนั้นนายจิ๋วจึงต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  420 

อักทั้งกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นความผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  437  วรรคแรก  ที่เป็นความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  เพราะเมื่อความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อแล้วตามมาตรา  420  จึงมิอาจเป็นละเมิดตามมาตรา  437  ได้อีก

ดังนั้นนายจิ๋วต้องรับผิดเพื่อละเมิดฐานกระทำโดยประมาทตามมาตรา  420  มิใช่กรณีตามมาตรา  437  วรรคแรก

(2) ส่วนกรณีที่นายสมบัติบิดาของนายสมควรจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเพราะเหตุละเมิดในการนี้มิอาจเรียกได้  เพราะถึงแม้ว่านายสมควรจะสลบหมดสติไปจนกลายเป็นเจ้าชายนิทรา  แต่นายสมควรก็ยังไม่ถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสมบัติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมควรก็มิอาจจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้ายกรณีการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวชเป็นเงิน  3  ล้านบาทนั้น  เห็นว่าแม้นายสมควรผู้ถูกกระทำละเมิดจะมีอายุ  21  ปีแล้วก็ตาม  แต่นายสมบัติบิดาชอบด้วยกฎหมายก็ยังต้องมีหน้าที่ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรา  1564  วรรคสอง  เพราะนายสมควรบุตรทุพพลภาพและไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้  เนื่องจากนายสมควรเป็นเจ้าชายนิทรา  สมองพิการไม่ทำงาน  ดังนั้น  เมื่อนายสมบัติมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู  และได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไป  ก็มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  ตามมาตรา  444  วรรคแรก

ส่วนประเด็นที่ว่าค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวช  มีอัตราแพงกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่นถึง  21  เท่า  ก็ไม่จำต้องพิจารณาเนื่องจากกฎหมายมิได้พิจารณาถึงฐานะของผู้ถูกกระทำละเมิด  ดังนั้นนายสมบัติก็มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจากนายจิ๋วได้เต็มจำนวน  3  ล้านบาท

สรุป

(1) นายจิ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  420

(2) นายสมบัติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมควร  มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  (ประกอบมาตรา  1564  วรรคสอง)ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู  นายสมบัติไม่อาจเรียกร้องได้  เพราะนายสมบัติผู้ถูกกระทำละเมิดยังไม่ถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายประกิตมีภริยาแล้ว  แต่ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวเปมิกา  ทำให้นางสาวไปรยาเพื่อนของภริยานายประกิต  เกิดความรู้สึกเจ็บร้อนแทนเพื่อน  วันหนึ่งนางสาวไปรยาซึ่งเป็นพยาบาลได้ฉีดยาใส่นายประกิต  ทำให้นายประกิตกลายเป็นคนวิกลจริตไม่รู้สึกตัวและไม่รู้จักตัวเอง  แต่ได้วิ่งเข้าทำร้ายนายใหญ่จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและกำลังจะแทงซ้ำ  นายใหญ่จึงพังประตูบ้านของนายน้อยเพื่อหลบหนีจากนายประกิต

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิตรับผิดฐานละเมิดต่อตนได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  นายน้อยจะเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดทำให้ประตูบ้านของตนพังเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  450  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะ  โดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย

ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน  ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิต  รับผิดฐานละเมิดไม่ได้  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420  ในเรื่องของการกระทำเพราะคำว่า  การกระทำ  ตามกฎหมายนั้น  ต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย  (กระทำ)  หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย  (งดเว้นกระทำ)  โดยรู้สำนึกในการกระทำ  เมื่อนายประกิตไม่รู้สึกตัวและไม่รู้จักตัวเอง  จึงไม่ใช่การรู้สำนึก  กฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำ  นายประกิตจึงยังไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิด

(ข)  นายน้อยเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดทำให้ประตูบ้านของตนพังเสียหายได้  ตามมาตรา  420  แต่นายใหญ่ก็สามารถยกเรื่องนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสอง  ขึ้นมาต่อสู้นายน้อยได้  โดยอ้างว่าการทำให้ประตูบ้านของนายน้อยพังเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภัยฉุกเฉินที่มีมาแต่เอกชน  ซึ่งจะทำให้นายใหญ่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  เพียงแต่ให้ใช้คืนทรัพย์คือประตู  ถ้าคืนประตูไม่ได้ก็ใช้ราคาแทนการคืนทรัพย์ (ข้อเท็จจริงไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายใหญ่ได้รับภัยที่มีคนทำละเมิด  เพราะนายประกิตไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดจึงไม่ใช่กรณีอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา  449)

สรุป 

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิตรับผิดฐานละเมิดไม่ได้ตามมาตรา  420

(ข)  นายน้อยเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420  แต่นายใหญ่อ้างนิรโทษกรรมได้ตามมาตรา  450  วรรคสอง 

 

 

ข้อ  2  นายแก้วสั่งให้นายทองหลานชายของตนขับรถจักรยานยนต์ไปส่งลูกค้า  ระหว่างทางกลับร้านค้าของนายแก้ว  นายทองเห็นว่าเลยเวลางานนานแล้วจึงขับรถด้วยความเร็วสูงและเสียหลักพุ่งเข้าชนนายเงิน  นายเงินจึงหลบและเสียหลักไปชนนายเยี่ยม  ทำให้นายเยี่ยมหกล้มขาหัก  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายเยี่ยมจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง

(ข)  เด็กชายตุ๊กเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเยี่ยม  และเคยได้รับเงินอุปการะเลี้ยงดูจากนายเยี่ยมทุกเดือน  จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

(ก)  นายทองมีความผิดฐานกระทำละเมิดต่อนายเยี่ยม  เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดนั้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  (ได้กระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้)  ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย  มีความเสียหาย  และผลที่เกิดขึ้นต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำ

การที่นายเงินหลบจากการถูกนายทองขับรถชน  และทำให้เกิดผลตามมาคือ  นายเยี่ยมหกล้มขาหักนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุแรกของนายทอง  (ขับรถด้วยความเร็วสูง)  จึงถือว่าผลหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับการกระทำของนายทองที่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและโดยผิดกฎหมาย (เน้นการวินิจฉัยโดยใช้หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม  ถ้าอ้างมาให้หักคะแนน)

เมื่อนายทองได้กระทำละเมิดต่อนายเยี่ยม  นายแก้วซึ่งเป็นตัวการของนายทองในการทำงานให้แก่ตนในขอบอำนาจตัวแทน  ย่อมต้องร่วมรับผิดกับนายทองในฐานะตัวการด้วยตามมาตรา  427  นายเยี่ยมจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายทองและนายแก้วร่วมกันรับผิดได้  แต่นายเยี่ยมเรียกร้องให้นายเงินรับผิดไม่ได้  เพราะนายเงินไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  แต่อย่างใด  (ขาดหลักเกณฑ์  คือ  ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ)

(ข)  การเรียกค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดไร้อุปการะ  ตามมาตรา  443  ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เรียกร้องได้นั้นต้องเป็นกรณีที่มีเหตุละเมิดและเกิดความเสียหายให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเท่านั้น  กรณีเพียงแต่เสียหายร่างกาย  ถึงแม้ว่าจะถึงขั้นทุพพลภาพ  ก็ใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  ไม่ได้  ข้อเท็จจริงตามโจทย์  นายเยี่ยมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายเพียงแค่ขาหัก  จึงไม่มีใครจะสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามความเป็นจริง  ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้อง  เพราะเด็กชายตุ๊กก็เป็นเพียงบุตรนอกกฎหมาย  ซึ่งกฎหมายครอบครัวมิได้กำหนดหน้าที่ให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่อย่างใด  ดังนั้นถึงแม้ว่านายเยี่ยมจะถึงแก่ความตาย  เด็กชายตุ๊กก็เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้อยู่ดี

สรุป

(ก)  นายเยี่ยมสามารถเรียกให้นายทองรับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420  และเรียกให้นายแก้วตัวการของนายทองรับผิดได้ตามมาตรา  427  แต่จะเรียกให้นายเงินรับผิดฐานละเมิดไม่ได้

(ข)  ด.ช.ตุ๊ก  เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

 

 

ข้อ  3  นายเด่นอายุ  18  ปี  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาระหว่างนายดังและนางสาวดวงโดยนายเด่นใช้นามสกุลนายดัง  และนายดนัยพี่ชายของนายเด่นจดทะเบียนรับนายเด่นไปเป็นบุตรบุญธรรม  วันเกิดเหตุพันตำรวจเอกอรุณออกตรวจพื้นที่เห็นนายมืดกับพวกขับรถยนต์แข่งกันในถนนหลวง  แต่ไม่เข้าจับกุมเพราะคิดว่าพวกนี้เป็นคนไม่มีอนาคตตายได้ก็ดี  ปรากฏว่าระหว่างการขับแข่งขันกันด้วยความเร็วทำให้ไปชนรถจักรยานที่นายดังขี่มาเป็นเหตุให้นายดังล้มลงนอนสลบไป  นายมืดหันกลับมาดูเห็นนายดังนอนสลบอยู่แต่ไม่จอดรถลงมาช่วยและขับแข่งต่อไป  ในที่สุดนายดังทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

(1) พันตำรวจเอกอรุณ  และนายมืดกับพวก  จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายเด่นจะเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  157  บัญญัติว่า  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  374  บัญญัติว่า  ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต  ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น  แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็นต้องระวางโทษ…

พระราชบัญญัติจราจรทางบก  พ.ศ.2522

มาตรา  78  วรรคแรก  บัญญัติว่า  ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม  ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร  และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง  ทันที  กับต้องแจ้งชื่อตัว  ชื่อสกุล  และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(1) การที่นายมืดกับพวกขับรถยนต์แข่งกันบนถนนหลวง  ทำให้ไปชนรถจักรยานที่นายดังขี่มา  เป็นเหตุให้นายดังล้มลงนอนสลบไป  นายมืดหันกลับมาดูเห็นนายดังนอนสลบอยู่แต่ไม่จอดรถลงมาช่วยและขับแข่งต่อไป  ในที่สุดนายดังทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตาย  เห็นว่า  การที่บุคคลใดจะมีความรับผิดในทางละเมิดจะต้องมี  การกระทำ  ซึ่งการกระทำมีทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายและการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  ในส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  การงดเว้น  ผู้กระทำต้องมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นนั้นด้วย

กรณีนายมืดกับพวกแข่งรถบนถนนหลวงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง  เป็นเหตุให้นายดังถึงแก่ความตายได้รับความเสียหายถึงชีวิต  จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อนายดัง  นายมืดต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายดัง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  420

ส่วนกรณีพันตำรวจเอกอรุณ  เห็นนายมืดกับพวกกระทำความผิดแต่ไม่เข้าจับกุม  เป็นเพียงการ  ละเว้น  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเท่านั้น  หาใช่เป็นการงดเว้นหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นอันจะถือเป็นการกระทำไม่  อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจเอกอรุณ  ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  คือ  ความตายของนายดังแต่อย่างใด  ดังนั้นแม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของนายมืดกับพวก  พันตำรวจเอกอรุณก็หามีความรับผิดในทางละเมิดไม่  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  420

(2) นายเด่นอายุ  18  ปี  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาระหว่างนายดังและนางสาวดวง  โดยนายเด่นใช้นามสกุลนายดัง แต่เนื่องจากทั้งนายดังและนางสาวดวงมีฐานะยากจนจึงได้ยินยอมให้นายดนัยพี่ชายนายดังจดทะเบียนรับนายเด่น  ไปเป็นบุตรบุญธรรม  เห็นว่า  นายเด่นเป็นบุตรนอกกฎหมาย  (บิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรส)  ของนายดัง  ผู้ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  แต่นายดังได้ให้การรับรองโดยพฤตินัยคือให้ใช้นามสกุล  นายเด่นจึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นทายาทของนายดัง  จึงเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพของนายดังผู้ตาย  นายเด่นจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  แม้ว่านายเด่นจะได้เป็นบุตรบุญธรรมของนายดนัยแล้วก็ตาม  เพราะตามมาตรา  1598/28  วรรคแรก  มีหลักกฎหมายว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม…  ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ดังนั้นนายเด่นจึงมีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายดังในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาได้อยู่

สรุป

(1) นายมืด  ต้องรับผิดในทางละเมิด  ส่วนพันตำรวจเอกอรุณ  ไม่มีความรับผิดในทางละเมิดตามมาตรา  420

(2) นายเด่นเป็นทายาทของนายดัง  มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้ ตามมาตรา  443  วรรคแรก

 

 

ข้อ  4  นายเอกใช้ปืนยิงไปที่นายโท  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนายโท  ขณะที่นายเอกกำลังจะยิงนัดที่สอง  นายโทใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเอก  ปรากฏว่าศีรษะนายเอกแตก  ไม้เท้าหักกระเด็นไปถูกตาของนายตรีบอดไปข้างหนึ่ง  ดังนี้

(1) นายโทต้องรับผิดต่อนายเอกหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายโทต้องรับผิดต่อนายตรีหรือไม่  เพราะเหตุใด

(3) นายเอกต้องรับผิดต่อนายตรีหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

การที่นายเอกใช้ปืนยิงไปที่นายโท  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนายโท  จึงเป็นการกระทำโดยจงใจ  ซึ่งทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นละเมิด  ขณะที่นายเอกกำลังจะยิงนัดที่สอง  นายโทใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเอกแตก  ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  การกระทำของนายโทจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายโทจึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

การที่ไม้หักกระเด็นไปถูกตาของนายตรีบอดไปข้างหนึ่ง  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายตรี  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้จะพลาดไปก็เป็นผลจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้รับนิรโทษกรรม  ตามมาตรา  449  วรรคแรก  ส่วนนายตรีผู้ได้รับความเสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเอกผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา  449 วรรคสอง

สรุป

(1) นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

(2) นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายตรี

(3) นายเอกต้องรับผิดต่อนายตรี

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แพรวาโกรธปัญญา  จึงได้นำรูปภาพของปัญญามาตัดต่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์  โดยตั้งใจว่าจะนำไปเผยแพร่ว่าปัญญามีเพศสัมพันธ์กับบัวงาม  หลังจากจัดภาพเสร็จแล้ว  แพรวาได้เดินไปเข้าห้องน้ำน้ำหวานได้แอบเข้ามาในห้องของแพรวา  และได้เห็นภาพดังกล่าว

จึงได้ส่งภาพนั้นไปให้นุชดูทาง  E-mail  แล้วก็ออกจากห้องไป  เมื่อแพรวาออกมาจากห้องน้ำ เกิดเปลี่ยนใจไม่ส่งภาพนั้น  จึงทำการลบภาพนั้นออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์  แล้วก็เข้านอน

หากนุชซึ่งได้รับภาพดังกล่าวจากการส่งทาง  E-mail  ของน้ำหวาน  นุชจึงส่งภาพต่อไปยังปลายรุ้ง  ปลายรุ้งซึ่งเป็นเพื่อนของบัวงามจึงส่งภาพเช่นว่านั้นไปให้บัวงาม  ทำให้ปัญญากับบัวงามโกรธมาก  ดังนี้

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  บัวงามและปัญญาจะฟ้องร้องให้ใครรับผิดได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี  หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

บัวงามและปัญญาได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง  จากการเผยแพร่ภาพทาง  E-mail  ซึ่งภาพนั้นแพรวาได้จัดทำขึ้นแต่ไม่สามารถฟ้องแพรวาให้รับผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งได้  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  423  ที่ว่าต้องเป็นการกระทำของแพรวาเองที่ทำให้แพร่หลายหรือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สาม  และถึงแม้ว่าภาพดังกล่าวจะล่วงรู้ไปยังน้ำหวาน  แต่น้ำหวานก็ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่สาม  เพราะเป็นผู้แอบรู้เห็นโดยละเมิด

อย่างไรก็ดี  บัวงามและปัญญาสามารถเรียกร้องให้น้ำหวานรับผิดได้ตามมาตรา  423  ถึงแม้ว่าน้ำหวานจะไม่ได้เป็นผู้ตัดต่อภาพนั้นเอง  แต่น้ำหวานก็เป็นผู้เผยแพร่ภาพนั้นไปยังบุคคลที่สามคือ  นุช  และเมื่อภาพนั้นเป็นเรื่องไม่จริง  และทำให้บัวงามและปัญญาเสียหาย  น้ำหวานจึงต้องรับผิด

เมื่อนุชได้รับภาพดังกล่าวจากการส่ง  E-mail  ของน้ำหวาน  จึงส่งภาพต่อไปยังปลายรุ้ง  ดังนั้น  นุชจึงต้องรับผิดตามมาตรา  423  ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับน้ำหวาน

อย่างไรก็ดี  แม้ว่าปลายรุ้งจะส่งภาพดังกล่าวไปให้บัวงาม  ปลายรุ้งก็ไม่ต้องรับผิด  เพราะไม่ถือว่าเป็นการเผยแพร่ไปยังบุคคลที่สาม  เนื่องจากว่าบัวงามไม่ใช่บุคคลที่สาม  แต่เป็นคู่กรณีในความรับผิดฐานละเมิดด้วยการหมิ่นประมาทตามมาตรา  423  (ข้อเท็จจริงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการอ้างการมีส่วนได้เสียในข่าวสารตามมาตรา  423  วรรคสอง  เพราะไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้พ้นผิด  แต่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรับผิดอยู่แล้ว  เพราะขาดองค์ประกอบของคำว่าแพร่หลาย)

สรุป  บัวงามและปัญญาสามารถเรียกให้น้ำหวานและนุชรับผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  423  ได้

 

 

ข้อ  2  หนุ่ยนายจ้างของอ้วน  สั่งให้อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  โดยที่หนุ่ยรับจ้างสร้างจากสมชายทั้งที่รู้อยู่ว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เป็นของสมชาย  แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้เพราะอยากได้ค่าจ้างส่วนสมชายก็คิดว่าหนุ่ยไม่รู้ว่าที่ดินไม่ใช่ของตน  แต่อ้วนไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของใคร  เพียงทำตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น

วันเกิดเหตุ  ระหว่างที่อ้วนกำลังปลูกศาลาอยู่นั้น  อ้วนได้ทำไม้แผ่นพลัดหลุดจากมือหล่นไปที่ต้นมะพร้าวของจ้อย  ทำให้ลูกมะพร้าวหล่นลงมาใส่รถยนต์ของจ้อยที่จอดอยู่ใต้ต้นไม้  พังเสียหายและบุตรบุญธรรมอายุ  2  ขวบของจ้อย  ซึ่งนั่งอยู่ในรถคันนั้นถึงแก่ความตาย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ก้อยและจ้อยจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

ประเด็นแรก  อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  อ้วนจะต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  อ้วนทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของใคร  ประเด็นสำคัญคือไม่ปรากฏว่าอ้วนจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ก้อยได้รับความเสียหาย  จึงขาดหลักเกณฑ์ในมาตรา  420  ที่ว่า  ผู้กระทำละเมิดให้เกิดความเสียหายนั้นต้องได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วย  อ้วนจึงไม่ต้องรับผิดต่อก้อยแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง  การที่อ้วนสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อยนั้น  เป็นการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย  หนุ่ยนายจ้างของอ้วนจะต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  หนุ่ยรู้ความจริงว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เป็นของสมชาย  แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้  เพราะอยากได้ค่าจ้าง  ดังนั้นจึงถือได้ว่าหนุ่ยได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อก้อยตามมาตรา  420  โดยใช้อ้วนเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด  (ไม่ใช่กรณีตามมาตรา  425  เพราะเมื่ออ้วนไม่ได้กระทำละเมิดต่อก้อยแล้ว  นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดกับลูกจ้างแต่อย่างใด)

ประเด็นที่สาม  สมชายว่าจ้างให้หนุ่ยสร้างศาลากลางน้ำบนที่ดินของก้อย  สมชายต้องรับผิดต่อก้อยหรือไม่  และต้องร่วมรับผิดกับหนุ่ยหรือไม่อย่างไร

ข้อเท็จจริงมีว่า  สมชายว่าจ้างหนุ่ยให้สร้างศาลาจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ  สมชายเป็นผู้ว่าจ้างและหนุ่ยเป็นผู้รับจ้าง  ซึ่งโดยหลักแล้วมาตรา  428  กำหนดว่า  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในความเสียหายอันผู้รับจ้างก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง  อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าผู้รับจ้างต้องรับผิดหากว่าเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ  ดังนั้น  เมื่อการงานที่สั่งให้หนุ่ยทำเป็นการทำผิดเพราะจ้างให้สร้างศาลาบนที่ดินของผู้อื่น  สมชายผู้ว่าจ้างจึงต้องรับผิดต่อก้อยตามมาตรา  428

อย่างไรก็ดี  ความรับผิดของสมชายกับหนุ่ยไม่ใช่เป็นเรื่องความรับผิดร่วมกัน  เพราะมาตรา  428  ไม่ได้กำหนดให้รับผิดร่วมกัน  และไม่ใช่เป็นเรื่องการทำละเมิดร่วมกันตามมาตรา  432  เนื่องจากไม่ได้ร่วมใจร่วมกายกันทำละเมิด  เพราะสมชายเองก็คิดว่าหนุ่ยไม่รู้ว่าที่ดินไม่ใช่ของตน  (แต่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้  เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกชำระกันได้ตามมาตรา  301 ในวงเล็บถ้าไม่ตอบก็ไม่หักคะแนน)

ประเด็นที่สี่  อ้วนต้องรับผิดต่อจ้อยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  อ้วนทำไม้แผ่นพลัดหลุดจากมือหล่นไปที่ต้นมะพร้าวของจ้อย  และทำให้รถของจ้อยเสียหาย  และบุตรบุญธรรมอายุ  2 ขวบของจ้อยถึงแก่ความตาย  จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ  ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของจ้อย  และต่อชีวิตของบุตรบุญธรรมของจ้อย  อ้วนจึงต้องรับผิดต่อจ้อยตามมาตรา  420

ประเด็นที่ห้า  หนุ่ยนายจ้างของอ้วนจะต้องร่วมรับผิดกับอ้วนต่อก้อยในฐานะนายจ้างหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า  อ้วนลูกจ้างเป็นผู้กระทำละเมิด  และได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  หนุ่ยจึงต้องร่วมรับผิดกับอ้วนด้วยตามมาตรา  425

ประเด็นที่หก  สมชายต้องร่วมรับผิดกับอ้วนด้วยหรือไม่

ข้อเท็จจริงมีว่า  สมชายเป็นผู้ว่าจ้างทำของ  หนุ่ยเป็นผู้รับจ้างทำของ  เมื่ออ้วนเป็นลูกจ้างของหนุ่ยเท่านั้น  อ้วนจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อสมชายแต่อย่างใด  แม้อ้วนจะทำละเมิดอันเนื่องมาจากการทำงานเพื่อประโยชน์ของสมชายก็ตาม

สรุป  ก้อยสามารถฟ้องหนุ่ยให้รับผิดได้ตามมาตรา  420  และฟ้องสมชายให้รับผิดได้ตามมาตรา  428  แต่ไม่สามารถฟ้องอ้วนได้  ส่วนจ้อยสามารถฟ้องอ้วนให้รับผิดได้ตามมาตรา  420  และฟ้องหนุ่ยให้ร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามมาตรา  425  แต่จะฟ้องสมชายให้ร่วมรับผิดไม่ได้

 

 

ข้อ  3  จากข้อเท็จจริงในข้อ  2  กรณีที่บุตรบุญธรรมของจ้อยถึงแก่ความตาย  จ้อยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพได้หรือไม่  อย่างไร  และในระหว่างจัดงานศพต้องขาดรายได้และเสียค่าจ้างคนเฝ้าบ้านของจ้อย  จ้อยจะเรียกค่าขาดรายได้และค่าจ้างนั้นได้หรือไม่  อย่างไร

กรณีรถยนต์เสียหายจนใช้การไม่ได้  จ้อยจะเรียกค่าเสียหายต่อทรัพย์ได้หรือไม่  หากว่ารถคันที่เสียหายไปนั้นเป็นรถที่จอดทิ้งไว้เฉยๆ  นานแล้ว  เพราะมีรถใช้หลายคัน  และจ้อยมีรถคันอื่นใช้อยู่แล้ว

ธงคำตอบ

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

จ้อยจะเรียกค่าปลงศพไม่ได้  เพราะตามกฎหมายแล้ว  ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้แก่ทายาทของผู้ตายตามกฎหมายมรดกเท่านั้น  เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถือว่าเป็นทายาทของบุตรบุญธรรม  (มาตรา1598/29)  จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพตามมาตรา  443  วรรคแรก  แต่จ้อยมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้ายประกอบมาตรา  1598/28  วรรคสอง  (ฎ. 713/2517)  ส่วนค่าขาดรายได้และค่าจ้างคนเฝ้าบ้านของโจทก์ในระหว่างจัดงานศพเรียกไม่ได้  เพราะไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  (ฎ.  1437/2526)

กรณีรถยนต์เสียหายจนใช้การไม่ได้  จ้อยจะเรียกค่าเสียหายในความเสียหายต่อทรัพย์ได้  แม้ว่ารถคันที่เสียหายไปนั้นเป็นรถที่จอดทิ้งไว้เฉยๆนานแล้ว  เพราะมีรถใช้หลายคัน  และมีรถใช้หลายคัน  และจ้อยมีรถคันอื่นใช้อยู่แล้วก็ไม่ตัดสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย  (ฎ. 945/2533)

สรุป  จ้อยสามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายต่อรถยนต์ได้  แต่จะเรียกค่าปลงศพ  ค่าขาดรายได้  และค่าจ้างคนเฝ้าบ้านไม่ได้

 

 

ข้อ  4  แดงขับรถยนต์ชนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งดำขโมยมาจากฟ้า  และรถกระเด็นไปชนกำแพงบ้านของขาวทำให้รถจักรยานยนต์เสียหาย  แดงจึงได้เสนอจ่ายค่าซ่อมรถให้แก่ดำ  เป็นเงิน  1,000  บาท  และเสนอจ่ายค่าซ่อมกำแพงให้แก่แจ๋วซึ่งเดินออกมาจากบ้านของขาว  เพราะแดงเข้าใจโดยสุจริตว่ารถนั้นเป็นของฟ้าและกำแพงบ้านเป็นของแจ๋ว  ดังนี้หากฟ้าและขาวจะเรียกให้แดงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอีกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี  หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป  หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้นแม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน  หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงตามปัญหา  เป็นเรื่องการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง  ซึ่งมาตรา  441  กำหนดให้หนี้ระงับได้แม้ว่าจะเป็นการใช้ให้ผิดตัว  แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้คือ

–                    ทำให้สังหาริมทรัพย์เสียหาย

–                    สิทธิของบุคคลภายนอกไม่เป็นที่รู้อยู่แก่ตน  (ไม่รู้ถึงสิทธิของบุคคลภายนอก)

–                    ใช้หนี้ให้แก่ผู้ครองทรัพย์ขณะนั้น

–                    การใช้หนี้ได้ทำโดยสุจริต  และไม่ได้เป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ดังนั้น  ฟ้าจะเรียกให้แดงรับผิดอีกได้  เพราะหนี้ไม่ระงับ  เนื่องจากสิทธิของบุคคลภายนอกเป็นที่รู้อยู่แก่แดงว่าดำไม่ใช่เจ้าของรถ  และขาวก็สามารถเรียกให้แดงรับผิดได้เช่นกันเพราะกำแพงบ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา  441  หนี้ยังไม่ระงับ

สรุป  ขาวและฟ้าสามารถเรียกให้แดงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอีกได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ภาคซ่อม 1/2551

การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.       เฟื่องเป็นนายจ้างของเด็กชายจ๊อบซึ่งมีอายุ 12 ขวบ  และบิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว  นายเฟื่องจึงให้อาศัยอยู่ในบ้าน  และส่งเสียให้เรียนหนังสือด้วย  วันหนึ่งเด็กชายจ๊อบแกล้งปล่อยหนูหลายตัวเข้าไปในห้องของแซม  ทำให้แซมตกใจมาก  จึงคว้าไม้กอล์ฟของอัญชลีตีไปที่หนูทำให้ไม้กอล์ฟแตกหักเสียหาย และไม้กอล์ฟกระเด็นไปถูกอัญชลีศีรษะแตก

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

(ก)   เฟื่องต้องรับผิดต่อแซมหรือไม่  อย่างไร และ

(ข)   อัญชลีเรียกให้เด็กชายจ๊อบรับผิดในความเสียหายของไม้กอล์ฟ และในค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย  (ต้องใส่ตัวบทเต็ม ไม่ใช่อ้างเฉพาะเลขมาตรา)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 425, 430, 449

วินิจฉัย

(ก) แซมเป็นผู้เสียหายอันเกิดจากการกระทำของคนคือเด็กชายจ๊อบซึ่งมีการกระทำของเด็กชายจ๊อบเข้าหลักเกณฑ์ของความรับผิดฐานละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้น เฟื่องซึ่งเป็นนายจ้างหรือผู้ดูแลเด็กชายจ๊อบซึ่งถือว่าเป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถ จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา 430 (แต่ไม่อาจฟ้องเฟื่อง ตามมาตรา 425 เพราะไม่ได้เป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง)

(ข)  เมื่อแซมได้รับภัยอันเกิดจากการที่มีคนอื่น (เด็กชายจ๊อบ) ทำละเมิด คือมีการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เมื่อแซมได้กระทำการป้องกันไป และผลของการป้องกันนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของอัญชลี แซมจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่ออัญชลีซึ่งเป็นเจ้าของไม้กอล์ฟและศีรษะแตก เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการป้องกันสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งแซมสามารถอ้างนิรโทษกรรมได้ตามมาตรา 449 แต่อัญชลีสามารถเรียกร้องให้เด็กชายจ๊อบรับผิดต่อตนได้ โดยอาศัยมาตรา 449 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียหายเรียกเอาจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันได้ นอกจากนั้น อัญชลียังมีสิทธิเรียกร้องให้นายเฟื่องร่วมรับผิดกับเด็กชายจ๊อบในฐานะเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา 430 ได้ด้วย

 

 

ข้อ 2.       หมอดูกิดได้ดูดวงของลิเดียร์ซึ่งเป็นสาวโสดและเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง โดยที่ลิเดียร์ไม่ได้อนุญาตหรือร้องขอให้ดู  หมอดูกิดได้พยากรณ์ว่าลิเดียร์มีท้อง “คอนเฟิร์ม”  (ซึ่งเป็นสโลแกนของหมอดู และซึ่งแปลว่ายืนยัน)  โดยคำพยากรณ์ได้กล่าวจนเป็นที่ทราบกันในคนหมู่มาก ทำให้ลิเดียร์ได้รับความอับอาย  เมื่อเดินไปที่แห่งใด ก็จะมีผู้คนมองที่ท้องของเธอตลอด  วันเกิดเหตุ นางสาวนาเดียร์เห็นลิเดียร์ จึงได้พูดออกมาดัง ๆ ใส่หน้าลิเดียร์ว่า “ฉันว่าหมอดูแม่น ๆ ท้องแล้วรีดออกชัวร์”  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า หมอดูกิดและนางสาวนาเดียร์ จะต้องรับผิดในเหตุละเมิดต่อลิเดียร์หรือไม่ อย่างไร

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย   (ต้องใส่ตัวบทเต็ม ไม่ใช่อ้างเฉพาะเลขมาตรา)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 423

วินิจฉัย

อธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา 423 เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดโดยการหมิ่นประมาททางแพ่ง

1.ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย

2.ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

3.มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญ

4.ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

หมอดูกิดจะต้องรับผิดในเหตุละเมิดต่อลิเดียร์ตามมาตรา 423 เพราะครบหลักเกณฑ์ของความรับผิด กล่าวคือ ได้มีการกระทำด้วยการกล่หรือไขข่าวข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง และทำให้แพร่หลายคือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของลิเดียร์

นางสาวนาเดียร์ไม่ต้องรับผิดการเหตุละเมิดด้วยการหมิ่นประมาทตามมาตรา 423 เพราะไม่มีข้อเท็จจริงว่าแพร่หลายหรือบุคคลที่สามล่วงรู้ข้อความนั้น   อย่างไรก็ดี การกระทำของนางสาวนาเดียร์เป็นการพูดใส่หน้าลิเดียร์ อันเป็นการละเมิดสิทธิของลิเดียร์ตามมาตรา 420

อธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 เป็นการกระทำที่เป็นละเมิด

1.บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2.กระทำผิดกฎหมายต่อผู้อื่น

3.มีความเสียหาย

 

 

ข้อ 3.       สุนัขของนายหนึ่งวิ่งเข้ามาจะกัดนายสอง นายแดงจึงคว้าเอาวิทยุของนายขาวขว้างไปที่สุนัข  สุนัขพอเห็นวิทยุจึงไม่สนใจจะกัดนายสองกลับคาบเอาวิทยุวิ่งหลบหนีไป  ข้อเท็จจริงได้ความว่าวิทยุที่นายแดงขว้างไปนั้นได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้และราคาวิทยุ 200 บาท  ดังนี้ นายแดงจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวหรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450 วรรคสอง บัญญัติว่า  “ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดฟ้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงคว้าเอาวิทยุของนายขาวขว้างไปที่สุนัขเป็นเหตุให้วิทยุได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการทำให้ทรัพย์บุบสลาย เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน การกระทำของนายแดงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสอง ดังนั้น นายแดงต้องคืนวิทยุให้แก่นายขาว ถ้าคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาทรัพย์

สรุป  นายแดงต้องคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่นายขาว

 

 

ข้อ 4.       นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน เมื่อนางสาวไฮ มีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์  ระหว่างทางนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะไปไม่ทันทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ อายุ 21 ปีถึงแก่ความตาย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1)   นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

2)   นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 420, 425, 443 วรรคแรก

วินิจฉัย

1)  ตามอุทาหรณ์ การที่นายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้าง ให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะไปไม่ทัน ทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ อายุ 21 ปีถึงแก่ความตาย นายบันเทิงกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสาวไฮได้รับความเสียหายแก่ชีวิต นายบันเทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อนายบันเทิงลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เพราะเป็นการทำละเมิดในระหว่างการปฏิบัติงานตามที่นายจ้างได้สั่งหรือมอบหมายแม้นายบันเทิงลูกจ้างจะแวะทำธุระส่วนตัว แต่ไม่ปรากฏว่าได้ละทิ้งงานหรือหน้าที่ นายบรรเลงนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ด้วย

2)  นายเอกชัย และนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้หรือไม่ เห็นว่าบุคคลผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพตามกฎหมายมรดกซึ่งก็คือ ทายาทของผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย การที่เอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน ถือว่าเป็นกรณีที่นายเอกชัยบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้การรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งไม่ได้ทำให้นายเอกชัยกลายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ ดังนั้นนายเอกชัยจึงไม่ใช่ทายาทของนางสาวไฮ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(2) นายเอกชัยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้ต้องรับผิดในทางละเมิดในครั้งนี้ได้ ส่วนกรณีนายมนต์สิทธิ์ผู้รับบุตรบุญธรรม เมื่อนางสาวไฮ มีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/29 การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับบุตรบุญธรรมในการรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม ดังนั้น นายมนต์สิทธิ์จึงไม่ใช่ทายาทของนางสาวไฮ ย่อมไม่มีสิทธิ เรียกร้องค่าปลงศพได้เช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก

สรุป

1)  นายบันเทิงจะต้องรับผิดในทางละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดในทางละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

2)  นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของนางสาวไฮ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  จากเหตุการณ์เครื่องบินสายการบิน  วันทูโก  ลื่นไถลออกนอกรันเวย์  และเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงทำให้นางฟ้าวิ่งหนีออกมาจากเครื่องบินเช่นเดียวกับคนอื่นๆ  ในเครื่องบินในขณะที่กำลังโกลาหลกันอยู่นั้น

นายชอบเห็นจังหวะดีที่จะแก้แค้นนางฟ้า  จึงได้ผลักนางฟ้า  แต่นางฟ้าหลบทัน  แล้วเซถลาไปชนนายเฟื่อง  ทำให้นายเฟื่องล้มลงและถูกผู้โดยสารคนอื่นๆวิ่งทับไปบนตัวจนกระทั่งไม่สามารถลุกหนีออกมาจากเครื่องบินได้  และในที่สุดได้ถึงแก่ความตายเพราะไฟลุกท่วมตัว

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ภริยาของนายเฟื่องจะเรียกร้องให้นายชอบและนางฟ้าร่วมกันรับผิดในค่าขาดการงานในครัวเรือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนายชอบที่ได้ผลักนางฟ้า  และทำให้เซถลาไปชนนายเฟื่องนั้น  เป็นการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อต่อนายเฟื่อง  ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของนายเฟื่องเนื่องจากล้มลงไป  และแม้ว่าความเสียหายต่อมาจะทำให้  นายเฟื่องถึงแก่ความตาย  ก็ยังถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายชอบ  เพราะช่องแห่งภัยไม่ขาดตอนลง  นายชอบจึงต้องรับผิดต่อนายเฟื่อง  ตามมาตรา  420

กรณีที่นางฟ้าเซถลาไปชนนายเฟื่องนั้น  นางฟ้าไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อนายเฟื่อง  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420  ที่ว่าต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่น

ภริยาของนายเฟื่องเป็นผู้ได้รับความเสียหายทางอ้อมอันเกิดจากสามีของตนได้ถูกกระทำละเมิด  ภริยาของนายเฟื่องจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจากนายชอบได้  ตามมาตรา  445

สรุป  ภริยาของนายเฟื่องสามารถเรียกให้นายชอบรับผิดในค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา  445  ได้  แต่จะเรียกจากนางฟ้าไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นางสาวซ่ากับนางสาวซิ่งมีเรื่องไม่พอใจเพราะแย่งเพื่อนชายกัน  วันเกิดเหตุนางสาวซ่าและเพื่อนๆพบกับนางสาวซิ่งในห้องเรียน  นางสาวซ่าจึงวิ่งไปตบหน้านางสาวซิ่ง  เมื่อนางสาวซิ่งล้มลง  นางสาวซ่าก็ได้เดินไปตบ  และโขกศีรษะนางสาวซิ่งกับพื้นห้องเรียน

ในเวลานั้น  เพื่อนร่วมห้องทั้งชาย หญิง  ยืนส่งเสียงเชียร์ด้วยความสนุกสนานสะใจ  รวมทั้ง  นายแสบด้วย  โดยนายแสบได้ใช้โทรศัพท์ของตนถ่ายคลิปวีดีโอไว้  และได้นำคลิปนั้นส่งต่อไปยังนางสาวเซ่อคู่รักของนายแสบ  และนางสาวเซ่อก็ได้นำคลิปนั้นส่งต่อไปยังเพื่อนๆของตนด้วย  โดยเห็นว่าเป็นแฟชั่นของการมีคลิปแปลกแต่จริง

ดังนี้  หากนางสาวซิ่งได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง  จึงได้ฆ่าตัวตาย  ทำให้นางซึมเศร้าซึ่งเป็นมารดาของนางสาวซิ่งได้รับความระทมทุกข์เป็นอย่างมาก  จนกระทั่งกลายเป็นโรคประสาทและวิกลจริตในที่สุด

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนางสาวซ่า  นายแสบ  และนางสาวเซ่อ  เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อนางสาวซิ่งและนางซึมเศร้าหรือไม่  อย่างไร  และหากว่านางซึมเศร้าจะเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินจากการที่นางสาวซิ่งถูกทำละเมิดด้วย  จะเรียกได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนางสาวซ่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวซิ่ง  โดยจงใจทำให้นางสาวซิ่งได้รับความเสียหายต่อร่างกาย  นางสาวซ่าจึงต้องรับผิดต่อนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

ส่วนการกระทำของนายแสบและนางสาวเซ่อ  เป็นการหมิ่นประมาททางแพ่งหรือไม่  เห็นว่า

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญต่อบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ดังนี้การกระทำของทั้งสองคนไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาท  เพราะไม่มีการไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  แต่ทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดต่อสิทธิของนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

อย่างไรก็ตามการกระทำของนางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  ไม่ส่งผลเลยไปถึงการที่นางซึมเศร้าได้รับความเสียหายต่อจิตใจ  เพราะเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ผลโดยตรงและไกลกว่าเหตุ  นางสาวซ่านายแสบและนางสาวเซ่อ  จึงไม่ต้องรับผิดต่อนางซึมเศร้าแต่อย่างใด

ส่วนการที่นางซึมเศร้าจะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  446  วรรคแรก  ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้นั้น  นางซึมเศร้าไม่มีสิทธิเรียกร้อง  เพราะความเสียหายตามมาตรานี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดยังทายาท  เว้นแต่จะได้เริ่มต้นฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว  หรือได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาก่อน

สรุป

–                    นางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  กระทำละเมิดต่อนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

–                    นางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  ไม่ได้กระทำละเมิดต่อนางซึมเศร้าแต่อย่างใด  และ

–                    นางซึมเศร้าไม่สามารถเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้  ตามมาตรา  446  วรรคแรก

 

 

ข้อ  3  นาย  ก.  และนาง  ข.  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดงหลังจากคลอดเด็กชายแดง  นาง  ข.  ถึงแก่ความตาย  นาย  ก.  จึงเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  ต่อมาขณะเด็กชายแดงอายุ  13  ปี  เด็กชายแดงชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านทุกคืนโดยที่นาย  ก.  ไม่เคยห้ามปรามและว่ากล่าวตักเตือน

วันเกิดเหตุเด็กชายแดงออกไปเที่ยวนอกบ้านแล้วเกิดมีปากเสียงกับนายขาว  บังเอิญนายเสือซึ่งเป็นลุงของเด็กชายแดงเดินผ่านมาพบเข้าพอดีจึงยื่นมีดให้กับเด็กชายแดง  เด็กชายแดงรับมีดมาแล้วจึงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  เด็กชายแดง  นาย  ก.  และนายเสือจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  432  วรรคสอง  อนึ่งบุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายแดงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ  การกระทำของเด็กชายแดงจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา  420

การที่นาย  ก.  และนาง  ข.  ไม่ได้จดทะเบียน  นาย  ก.  จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายแดง  เมื่อเด็กชายแดงทำละเมิดต่อนายขาว  นาย  ก.  จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  429  เพราะการที่จะต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  429  จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม  นาย  ก.  เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  เมื่อเด็กชายแดงทำละเมิดต่อนายขาว  นาย  ก.  จึงต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  430  เพราะถือว่าเป็นบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลผู้เยาว์ตามความเป็นจริง

และการที่นายเสือยื่นมีดให้กับเด็กชายแดง  การกระทำของนายเสือจึงเป็นการช่วยเหลือในการทำละเมิด  นายเสือจึงต้องรับผิดตามมาตรา  432  วรรคสอง

สรุป 

(1) เด็กชายแดงต้องรับผิดตามมาตรา  420

(2) นาย  ก.  ร่วมรับผิดตามมาตรา  430

(3) นายเสือรับผิดตามมาตรา  432  วรรคสอง

 

 

ข้อ  4  นายปีเตอร์เป็นกัปตันของสายการบินหนึ่ง  สอง  สาม  วันเกิดเหตุนายปีเตอร์ขับเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปภูเก็ต  พร้อมด้วยผู้โดยสารซึ่งมีนายกรุงโดยสารไปด้วย  เมื่อไปถึงที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต  นายปีเตอร์ได้รับการแจ้งเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตว่า  ทัศนวิสัยไม่ดี  ไม่ควรนำเครื่องบินลงจอด  ขอให้นำเครื่องบินบินวนอยู่ก่อน  แต่นายปีเตอร์กลับเห็นว่าน่าจะนำเครื่องบินลงจอดได้โดยไม่ฟังคำเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต  เมื่อนายปีเตอร์นำเครื่องบินลงจอดจึงทำให้เครื่องบินลื่นไถลตกรันเวย์  (Run  Way)  เป็นเหตุให้นายกรุงได้รับบาดเจ็บสาหัส  โดยทั้งคู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1)    เหตุการณ์ดังกล่าวนี้  มีใครหรือไม่  ต้องรับผิดในทางละเมิด  เพราะเหตุใด

2)    บริษัทไทยพายัพประกันภัย  ผู้รับประกันอุบัติเหตุของนายกรุงได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตแทนนายกรุงผู้เอาประกัน จะมีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

1)    นายปีเตอร์  กัปตันสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง  เพราะได้รับคำเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตแล้วว่าไม่ควรนำเครื่องบินลงจอด  แต่นายปีเตอร์กัปตันได้นำเครื่องบินลงจอดเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย  ดังนี้  นายปีเตอร์กระทำละเมิดต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  420  (ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  437  วรรคแรก  เพราะกรณีดังกล่าวต้องไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเท่านั้น)

เมื่อปรากฏว่านายปีเตอร์เป็นลูกจ้างของสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  สายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย  ตามมาตรา  425

2)    ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  เพื่อการรักษาพยาบาล  ตามมาตรา  444  วรรคแรกตอนต้น  นอกจากผู้ถูกกระทำละเมิด  และผู้มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้ถูกกระทำละเมิดตามกฎหมายครอบครัวที่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไป  (ฎ.  1145/2512)  จะเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้แล้ว  ผู้รับประกันวินาศภัยที่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนผู้เอาประกันภัยไปก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิ  เรียกค่ารักษาพยาบาลได้  ตามมาตรา  880  (ฎ.  5089/2541)

ดังนั้น  เมื่อบริษัทไทพายัพประกันภัย  ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปแทนนายกรุงผู้เอาประกันภัยบริษัทไทพายัพฯ  ผู้รับประกันภัย  ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  880 

สรุป 

1)    นายปีเตอร์  ต้องรับผิดในทางละเมิด  ตามมาตรา  420  โดยสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย  ตามมาตรา  425

2)    บริษัทไทพายัพประกันภัยผู้รับประกันภัย  เมื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนนายกรุง  ผู้เอาประกันภัยไปก็มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลได้โดยการรับช่วงสิทธิ  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  880

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมัครว่าจ้างให้ชูวิทย์ตอกเสาเข็มปลูกสร้างอาคารโรงแรม  16  ชั้น  ทำให้บรรหารซึ่งอยู่บ้านบนที่ดินติดต่อกับอาคารดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน  เพราะมีฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทำให้บ้านเรือนสกปรก  มีเสียงดังจากเครื่องจักร  บ้านสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม

มีหินและไม้ตกลงบนหลังคาบ้านของบรรหารทำให้ต้องหวาดระแวงว่าอาจจะเกิดอันตรายแก่บรรหารและคนในครอบครัวได้  บรรหารจึงได้ยื่นฟ้องสมัครและชูวิทย์ฐานละเมิด  ทำให้ตนและครอบครัวต้องทนทุกขเวทนาแสนสาหัสนอนไม่หลับ  และหวาดระแวงเป็นเวลานานติดต่อกันถึงสองเดือน

และเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายแก่อนามัยและสิทธิส่วนตัวที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจ  จากการสืบพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าความทนทุกข์ทรมานดังกล่าวเป็นอันตรายและจิตใจของบรรหาร

ดังนี้ให้ท่านเป็นศาล  ท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  ชูวิทย์ตอกเสาเข็มปลูกสร้างอาคารโรงแรม  16  ชั้น  ทำให้บรรหารทนทุกขเวทนาแสนสาหัสนอนไม่หลับเพราะหนวกหู  ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทำให้บ้านเรือนสกปรก  บ้านสั่นสะเทือนหินและไม้ตกลงบนหลังคาบ้านของบรรหารอันอาจจะเกิดอันตรายต่อบรรหารและครอบครัวได้  แม้การสืบพยานหลักฐานจะไม่ปรากฏว่าความทุกข์ทรมานสาหัสดังกล่าวเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของบรรหาร  แต่ก็เป็นเรื่องเสียหายต่ออนามัยและสิทธิจะอยู่อย่างสงบไม่ถูกรบกวน  ถือได้ว่าการกระทำของชูวิทย์เป็นการกระทำละเมิดต่ออนามัย  รวมทั้งต่อสิทธิส่วนตัวของบรรหารที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจตามมาตรา  420

บรรหารผู้ถูกกระทำละเมิดมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เป็นอันตรายแก่อนามัย  รวมทั้งสิทธิส่วนตัวที่จะมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขทั้งร่างกายและจิตใจได้  ตามมาตรา  420  ประกอบมาตรา  438  และมาตรา  446  วรรคแรก (ฎ. 3407/2535)

ชูวิทย์เป็นผู้รับจ้างทำของ  (ก่อสร้างอาคารโรงแรม)  โดยหลักแล้วตามมาตรา  428  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นต่างๆตามกฎหมาย  เมื่อปรากฏว่าสมัครผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ สมัครจึงต้องร่วมรับผิดกับชูวิทย์ด้วยตามมาตรา  428  (ฎ. 984/2531)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยให้ทั้งชูวิทย์และสมัครรับผิดต่อบรรหารตามฟ้อง

 

 

ข้อ  2  นายทองเป็นเจ้าของบ้านซึ่งใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง  และการไฟฟ้าฯได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากต้นทางเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้าน  จึงทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของนายทองและเกิดการลัดวงจร  ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านนายทอง  นายพงศ์ลูกจ้างของนายทองจึงได้พังฝาผนังบ้านของนายทองเพื่อไม่ให้ไฟลาม  ทำให้ฝาผนังบ้านล้มไปทับนายพัฒน์ขาหัก

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายทองจะฟ้องร้องให้การไฟฟ้าฯ  รับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายพัฒน์จะเรียกให้นายทองร่วมรับผิดกับนายพงศ์ลูกจ้างได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา  450  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะ  โดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย

ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน  ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น

วินิจฉัย

กระแสไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ  การไฟฟ้าฯซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้า   จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้นตามมาตรา  437  วรรคสอง  และความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการไฟฟ้าฯ จ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงโดยมิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของผู้ใช้ไฟฟ้า  จึงมิใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง  การไฟฟ้าฯ  จึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวได้  (ฎ. 3478/2523)

การที่นายพงษ์พังฝาผนังบ้านของนายทองและฝาผนังล้มทำให้นายพัฒน์ได้รับความเสียหายต่อร่างกายนั้น  เป็นการกระทำละเมิดต่อนายพัฒน์ตามมาตรา  420  และนายพงษ์ไม่อาจอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสอง  เพื่อให้พ้นความรับผิด  เพราะแม้ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภัยฉุกเฉินที่มีมาต่อเอกชนแต่เมื่อเป็นการกระทำให้บุคคลใดได้รับบาดเจ็บ  ไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  จึงอ้างนิรโทษกรรมตามหลักกฎหมายดังกล่าวไม่ได้  (จะอ้างได้ก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินเท่านั้น)  ดังนั้น  นายพงษ์จึงต้องรับผิดต่อนายพัฒน์  และนายทองซึ่งเป็นนายจ้าง  จึงต้องร่วมรับผิดกับนายพงษ์ด้วย  ตามมาตรา  425  เพราะนายพงษ์ได้ช่วยดับไฟเพื่อประโยชน์ของนายทองซึ่งเป็นนายจ้าง  จึงถือว่านายพงษ์ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้าง  นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง

สรุป  นายทองฟ้องให้การไฟฟ้าฯ  รับผิดต่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้  และนายพัฒน์สามารถเรียกให้นายทองนายจ้างร่วมรับผิดกับนายพงษ์ลูกจ้างได้

 

 

ข้อ  3  นายสุรินทร์เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงช้างแห่งหนึ่ง  นายสุรินทร์ออกคำสั่งให้นายสุขุมนำช้างชื่อพลายไข่นำไปเลี้ยงที่ป่าหลังฟาร์มเลี้ยงช้างของนายสุรินทร์  เนื่องจากพลายไข่กำลังตกมัน  ปรากฏว่านายสุขุมนำเจ้าพลายไข่ไปผูกล่ามโซ่เอาไว้อย่างเดียว

โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ล่ามขาช้างที่ใช้สำหรับช้างตกมัน  แล้วนายสุขุมก็นอนหลับไปทำให้เจ้าพลายไข่วิ่งหนีออกไปจากป่าเข้าไปในหมู่บ้าน  ไปเหยียบนางสาวดวงดีถึงแก่ความตาย  และยังเหยียบรถจักรยานยนต์ของนายเฮงที่ใช้ขี่รับจ้างในหมู่บ้านพังเสียหายเสียค่าซ่อมรถ  8,000  บาท

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

(1) บุคคลใดจะต้องรับผิดในความเสียหายในเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นบ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายดำเนินผู้รับ  น.ส.ดวงดีเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  จะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(3) นายเฮงมีรถจักรยานยนต์อีก  1  คัน  แต่ไม่ใช้ขับรับจ้าง  กลับไปเช่ารถจักรยานยนต์คันอื่นจากนายกิมมาขับรับจ้างเสียค่าเช่าไป  3,000  บาท  (ในระหว่างที่ซ่อมรถคันที่เสียหาย)  นายเฮงจะเรียกร้องค่าเช่ารถจักรยานยนต์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(1) กรณีที่จะปรับเข้าบทสันนิษฐานความรับผิดตามกฎหมายละเมิดใน  มาตรา  433  จะต้องปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ตามอุทาหรณ์  การที่นายสุขุมลูกจ้างของนายสุรินทร์นอนหลับไปในระหว่างเลี้ยงช้างพลายไข่ซึ่งกำลังตกมัน  โดยใช้แต่เพียงโซ่ล่ามผูกเอาไว้เท่านั้น  ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับล่ามขาช้างที่กำลังตกมัน  ถือว่านายสุขุมงดเว้นหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น  ด้วยความประมาทเลินเล่อ  ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  ซึ่งนายสุขุมอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  เมื่อพลายไข่ไปเหยียบ  น.ส. ดวงดีถึงแก่ความตาย  และทำให้รถจักรยานยนต์ของนายเฮงพังเสียหาย  นายสุขุมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  420  ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  433

เมื่อนายสุขุมลูกจ้างกระทำละเมิดและเป็นการกระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง  นายสุรินทร์นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย  ตามมาตรา  425

(2) เมื่อนายสุขุมงดเว้นโดยประมาทเป็นเหตุให้  น.ส.ดวงดีถึงแก่ความตาย  ทายาทโดยธรรมของ  น.ส.ดวงดีจึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  แต่นายดำเนินผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพ  เพราะนายดำเนินไม่มีสิทธิรับมรดกของ  น.ส.ดวงดี  ในฐานะทายาทโดยชอบธรรม  นายดำเนินจึงมิใช่ทายาทของ  น.ส.ดวงดี  อันจะมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก 

(3) ค่าเช่ารถยนต์  3,000  บาท  ที่นายเฮงต้องจ่ายไปในระหว่างที่นำรถจักรยานยนต์ที่เสียหายไปซ่อม  ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันได้ก่อให้เกิดขึ้น  เพราะค่าซ่อมรถเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด  และไม่ไกลกว่าเหตุ  นายเฮงจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้  ตามมาตรา  438  วรรคท้าย  แม้จะปรากฏว่านายเฮงจะมีรถจักรยานยนต์อีก  1  คัน  ที่สามารถนำมาใช้รับจ้างได้ก็ตาม (ฎ. 945/2533)

สรุป 

(1) นายสุขุมต้องรับผิดตามมาตรา  420  นายสุรินทร์นายจ้างต้องรับผิดตามมาตรา  425

(2) นายดำเนินผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพตามมาตรา  443  วรรคแรก

(3) นายเฮงมีสิทธิเรียกค่าเช่าตามมาตรา  438  วรรคท้าย

 

 

ข้อ  4  จากข้อเท็จจริงตามข้อ  3  พวกชาวบ้านได้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อไล่ต้อนเจ้าพลายไข่ (ช้าง)  ให้เข้าไปในป่า  แต่ปรากฏว่านายชอบใช้ปืนลูกซองยาวยิงไปที่หัวของเจ้าพลายไข่ (ช้าง)  เป็นจำนวน  20  นัด  เพราะโกรธแค้นและต้องการฆ่าเจ้าพลายไข่ให้ตาย  ทำให้เจ้าพลายไข่ (ช้าง)  ล้ม (ตาย)  ในคืนวันนั้น  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายชอบจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

มาตรา  450  วรรคท้าย  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน  หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่  หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ  แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว  ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  68  ผู้กระทำการป้องกันไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  449  ตามอุทาหรณ์  การที่นายชอบใช้ปืนลูกซองยิงไปที่หัวของพลายไข่  (ช้าง)  จำนวน  20  นัด  ในขณะที่กำลังไล่ต้อนช้างนั้นเข้าไปในป่า  จนเป็นเหตุให้ช้างล้ม (ตาย)  ถือว่าเป็นการป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุไม่ได้สัดส่วนกับภยันตราย  เนื่องจากสามารถกระทำโดยวิธีการอื่นเช่น  ยิงยาสลบเพื่อทำให้ช้างหมดสติ  เพื่อให้พ้นจากภยันตรายได้  การกระทำของนายชอบจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449 

ส่วนการที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคท้าย  การทำลายทรัพย์ที่เป็นต้นเหตุแห่งภยันตรายนั้นจะต้องกระทำไม่เกินสมควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน  ในกรณีเช่นนี้  นายชอบกระทำเกินสมควรแก่เหตุ  จึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคท้าย

สรุป  นายชอบไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  และมาตรา  450  วรรคท้าย

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายรุจน์ได้นำเงินไปซุกซ่อนไว้ที่หัวเตียงเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาท  ต่อมาพี่ชายของนายรุจน์ได้นำเตียงนั้นไปบริจาคให้พระพยอมที่วัด  โดยไม่ทราบว่าน้องชายได้นำเงินซ่อนไว้  ต่อมาเด็กหญิงแก้มอายุ  3  ขวบ  ได้มารื้อเตียงเล่นและพบเงินดังกล่าว  คิดว่าเป็นธนบัตรปลอมเพราะเก่ามาก  จึงนำเงินนั้นไปเผาไฟเล่นกับเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายรุจน์  จะเรียกให้นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแก้มให้ร่วมกันรับผิดต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

การกระทำของเด็กหญิงแก้มซึ่งมีอายุเพียง  3  ขวบ  แม้จะรู้สำนึกในการกระทำแล้วก็ตาม  แต่เป็นการกระทำที่ไม่ได้จงใจ  และไม่ได้ประมาทเลินเล่อด้วย  เพราะเด็กอายุ  3  ขวบย่อมมีความระมัดระวังได้ในภาวะและวิสัยของเด็ก  อีกทั้งเมื่อได้นำไปเล่นกับเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน  ทุกคนก็ไม่ได้คิดว่าเป็นธนบัตรจริง  ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีการทักท้วงในกลุ่มเด็กๆ  แต่อย่างใด  ดังนั้น  การกระทำของเด็กหญิงแก้มจึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420

เมื่อเด็กหญิงแก้มไม่มีการกระทำอันเป็นละเมิด  นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งรับดูแลเด็กหญิงแก้มผู้ไร้ความสามารถอยู่นั้น  ก็ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา  430

อย่างไรก็ดี  นายต้นต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อนายรุจน์โดยตรง  ตามมาตรา  420  เพราะถือว่านายต้นงดเว้นกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ  ในหน้าที่ที่ตนจะต้องกระทำการดูแลเด็กหญิงแก้มซึ่งเป็นบุตรที่อยู่ในความดูแลของตน  เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้น

สรุป  นายรุจน์จะเรียกให้นายต้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแก้มร่วมรับผิดตามมาตรา  430  ไม่ได้  แต่เรียกให้นายต้นซึ่งงดเว้นกระทำโดยประมาทเลินเล่อรับผิดได้โดยตรงตามมาตรา  420

 

 

ข้อ  2  นายเก่งเป็นนักเตะฟุตบอล  วันเกิดเหตุ  นายเก่งเดินสวนทางกับนายสมเกียรติ  จึงได้ท้าทายให้มาเตะฟุตบอลกัน  แต่นายสมเกียรติไม่สนใจ  ทำให้นายเก่งโกรธ  จึงตั้งใจแกล้งด้วยการไปกระซิบต่อนายชัยซึ่งเป็นพ่อของนายสมเกียรติ  กล่าวหาว่า  นายสมเกียรติเป็นกิ๊กกับผู้ชาย  โดยอ้างว่า  นายชัยเป็นพ่อต้องมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องเช่นกัน  ตนจึงได้นำความมาบอก

อย่างไรก็ดี  นายชัยไม่ได้เชื่อถ้อยคำที่นายเก่งพูดแต่อย่างไร  เพราะรู้จักบุตรชายของตนเป็นอย่างดีว่าไม่ได้เป็นเช่นที่นายเก่งพูดและคิดว่านายเก่งเป็นคนขี้โกหก

วันรุ่งขึ้น  นายชัยได้พูดคุยกับนายเฉลิมซึ่งเป็นเพื่อน  เล่าว่านายเก่งได้กล่าวข้อความเช่นว่านั้นซึ่งไม่จริงเป็นเรื่องเหลวไหล  แต่นายเฉลิมกลับเชื่อตามที่นายเก่งพูดและได้บอกต่อไปยังนายชวน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายสมเกียรติจะเรียกร้องให้นายเก่งและนายเฉลิมรับผิดต่อตนในคดีหมิ่นประมาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดของการกระทำที่เป็นละเมิดโดยการหมิ่นประมาททางแพ่งตามมาตรา  423  ประกอบด้วย

1       ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย

2       ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญ

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

การกระทำของนายเก่งที่ได้กระซิบต่อนายชัย  ถือเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  ทำให้แพร่หลายคือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามคือ  นายชัย  เพราะนายชัยไม่ใช่คู่กรณีที่เป็นผู้ใส่ความและไม่ใช่ผู้ถูกใส่ความ  แม้ว่านายชัยจะเป็นบิดาของนายสมเกียรติ  ก็เป็นบุคคลที่สาม  และแม้ว่านายชัยจะไม่เชื่อข้อความที่นายเก่งกล่าวก็ตาม  เมื่อข้อความที่นายเก่งกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสมเกียรติ  นายเก่งต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติตามมาตรา  423  โดยนายเก่งจะอ้างว่าได้กล่าวต่อนายชัยเพราะนายชัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในข่าวนั้นเพื่อแก้ตัวให้พ้นผิดตามมาตรา  423  วรรคสอง  ก็ไม่ได้  เพราะเหตุว่าข้อยกเว้นนี้จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กล่าวไม่รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเก่งรู้ว่าข้อความไม่จริงแต่ตั้งใจใส่ความนายสมเกียรติ

ส่วนนายเฉลิมก็ต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นการกล่าวต่อบุคคลที่สาม  คือ  นายชวน  แม้ว่าจะไม่ได้คิดข้อความขึ้นมาเอง  แต่กล่าวข้อความตามที่นายเก่งพูดและตามที่ได้ยินมาโดยไม่รู้ว่าเป็นความไม่จริงก็ตาม  เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายสมเกียรติ  นายเฉลิมต้องรับผิดต่อนายสมเกียรติตามาตรา  423

สรุป  นายสมเกียรติสามารถเรียกร้องให้นายเก่งและนายเฉลิมรับผิดต่อตนในคดีหมิ่นประมาททางแพ่งได้

 

 

ข้อ  3  นายสมหมายขว้างก้อนหินใส่กระจกรถของนายโชคร้าย  ทำให้นายโชคร้ายตาบอด  นายวัชระซึ่งเป็นน้องชายของนายโชคร้าย  รู้สึกโกรธแค้นแทนนายโชคร้ายที่ถูกนายสมหมายทำละเมิด  จึงขับรถพุ่งไปชนรถของนายสมหมาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก.      หากว่าทำให้ภริยาของนายสมหมายซึ่งเป็นนักร้องได้รับบาดเจ็บสาหัสเลือดคั่งในสมองกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราตลอดชีวิต  ถามว่านายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ของภริยาจากการร้องเพลงคืนละ  5,000 บาท  ได้หรือไม่

ข.      หากว่าทำให้เด็กหญิงนารีนุชบุตรบุญธรรมของนายสมหมายถึงแก่ความตาย  และนายสมหมายได้จัดการทำศพเด็กหญิงนารีนุชเรียบร้อยแล้ว  นายสมหมายจะมาเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากนายวัชระได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

ประเด็นตามข้อ  ก.  นายวัชระได้กระทำละเมิดอันเป็นความผิดตามมาตรา  420  โดยทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายภริยานายสมหมาย ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  444  วรรคแรก  คือค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไป  ค่าเสียความสามารถประกอบการงาน  และยังต้องรับผิดในค่าเสียหายอันไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา  446  วรรคแรกอีกด้วย  อย่างไรก็ดี  นายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จากการร้องเพลงคืนละ  5,000 บาทไม่ได้  เพราะนายสมหมายไม่ใช่ผู้เสียหาย  ผู้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องได้คือ  ภริยาของนายสมหมายซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น

ประเด็นตามข้อ  ข.  การกระทำของนายวัชระที่ทำให้เด็กหญิงนารีนุชบุตรบุญธรรมของนายสมหมายถึงแก่ความตายนั้น  เป็นการกระทำละเมิดให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิตตามมาตรา  420  ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  443  คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ  ค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย  รวมทั้งค่าขาดไร้อุปการะ  อย่างไรก็ดี  แม้ว่านายสมหมายได้จัดการทำศพให้แก่เด็กหญิงนารีนุช  นายสมหมายก็จะเรียกค่าปลงศพจากนายวัชระไม่ได้  เพราะผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิในการเป็นทายาทของบุตรบุญธรรมตามกฎหมายมรดก  ดังนั้น  จึงเรียกไม่ได้  แต่นายสมหมายจะเรียกร้องให้นายวัชระรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะได้ เพราะบุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายครอบครัว  มาตรา  1598/28

สรุป 

ก.      นายสมหมายจะเรียกค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ของภริยาจากการร้องเพลงไม่ได้

ข.      นายสมหมายเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  แต่เรียกค่าปลงศพไม่ได้ 

 

 

ข้อ  4  กิติพงษ์เป็นลูกจ้างของกนกพร  วันเกิดเหตุ  ขณะที่กิติพงษ์กำลังฝึกซ้อมมวยอยู่ที่สนามหน้าบ้านได้เห็นเมธาพรกำลังด่าเพ็ญพรอย่างหยาบคายว่า  นังคนชั้นต่ำ  กระจอก  พร้อมกับยกเท้าขึ้นสูงชี้หน้าเพ็ญพร  ในขณะนั้น  กิติพงษ์อยู่ในเหตุการณ์แต่กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด  เพราะไม่ชอบหน้าเพ็ญพรอยู่แล้ว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเพ็ญพรจะเรียกร้องให้เมธาพร  กิติพงษ์  และกนกพร  ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้วินิจฉัยพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผล

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

วินิจฉัย

เมธาพรด่าเพ็ญพรไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาทตามมาตรา  423  เพราะไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องที่จะทำให้เพ็ญพรเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดี  เพ็ญพรได้รับความเสียหายต่อสิทธิที่จะไม่ให้มีใครมาว่ากล่าว  ซึ่งเป็นความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเมธาพร  เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420 

กิติพงษ์ไม่มีความผิดฐานกระทำละเมิดต่อเพ็ญพร  เพราะเหตุว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดได้นั้น  ต้องมี  การกระทำ  โดยรู้สำนึกและได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ แต่การงดเว้นที่จะถือเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้นต้องเป็นการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่ตนจักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลมิให้เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  59  วรรคท้าย

ดังนั้น  การที่เมธาพรกำลังด่าเพ็ญพร  แต่กิติพงษ์กลับนิ่งเฉยเสียมิได้เข้าช่วยเหลือแต่อย่างใดนั้น  ย่อมไม่ถือว่ากิติพงษ์  มีการกระทำ  แต่อย่างใด  เพราะไม่มีหน้าที่ต่อเพ็ญพรที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายเกิดขึ้นแก่เพ็ญพร  ด้วยเหตุนี้  กิติพงษ์จึงไม่มีความผิดฐานกระทำละเมิดตามมาตรา  420

เมื่อกิติพงษ์ไม่ได้กระทำละเมิด  กนกพรซึ่งเป็นนายจ้างของกิติพงษ์จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด  เพราะความรับผิดของนายจ้างตามมาตรา  425  นั้น  จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้มีการกระทำละเมิดต่อผู้อื่นและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างเท่านั้น

สรุป  เพ็ญพรสามารถเรียกร้องให้เมธาพรรับผิดฐานละเมิดได้  แต่จะเรียกให้กิติพงษ์และกนกพรรับผิดไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  บริษัทดวงดี  จำกัด  จ้างบริษัทดวงเฮง  จำกัด  ให้รักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าดวงดีพลาซ่าและรักษาความปลอดภัยในรถยนต์ของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในห้างด้วย  บริษัทดวงเฮงจำกัด

ได้จ้างนายหละหลวมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย  และบริษัทดวงเฮง  จำกัด  กำหนดข้อปฏิบัติต่อลูกค้าที่นำรถยนต์เข้ามาจอดในบริเวณลานจอดต้องรับบัตรผ่านเข้าและคืนบัตรเมื่อนำรถออกโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ  หากบัตรสูญหายจะต้องนำบัตรประจำตัวและหลักฐานความเป็นเจ้าของรถมาแสดงจึงจะนำรถออกไปได้

นายโชคร้ายได้นำรถยนต์เข้ามาจอดในลานจอดรถและรับบัตรผ่านเข้าออกแล้วเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้าง  เมื่อกลับออกมาปรากฏว่ารถยนต์หายไป

เนื่องจากนายหละหลวมไม่ได้ตรวจสอบการแลกบัตรออกโดยเคร่งครัดจนเป็นเหตุให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของนายโชคร้ายไปได้

ดังนี้ นายโชคร้ายจะเรียกให้ผู้ใดรับผิดได้บ้าง  เพราะเหตุใด  จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

วินิจฉัย

การที่นายหละหลวมไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถผ่านเข้าออกไปจากห้างด้วยความประมาทอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์  จึงเป็นการทำละเมิดซึ่งเป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์นายโชคร้ายสูญหาย  นายหละหลวมจึงต้องรับผิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา  420

นายหละหลวมทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย  จึงเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  บริษัทดวงเฮง  จำกัด  ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกับนายหละหลวมพนักงานรักษาความปลอดภัยในการรับผิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา  425

บริษัทดวงดีจำกัด  จ้างบริษัทดวงเฮง  จำกัด  รักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ  เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากนายหละหลวมซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทดวงเฮงผู้รับจ้างทำของโดยมิใช่ความผิดของบริษัทดวงดี  จำกัด  บริษัทดวงดีจำกัดจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างทำของตามมาตรา  428

แต่โดยที่บริษัทดวงดี  จำกัดจ้างบริษัทดวงเฮง  จำกัด  รักษาความปลอดภัย  โดยมีนายหละหลวมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทดวงเฮง  จำกัด  เมื่อนายหละหลวมทำละเมิดบริษัทดวงดี  จำกัดจึงต้องร่วมกับบริษัทดวงเฮงจำกัด  และนายหละหลวมรับผิดต่อนายโชคร้ายในฐานะที่เป็นตัวการตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  420  (ฎ. 4223/2542)

สรุป  นายโชคร้ายสามารถเรียกให้นายหละหลวมรับผิดตามมาตรา  420  บริษัทดวงดี  จำกัด  ตามมาตรา  427  และบริษัทดวงเฮง  จำกัด ตามมาตรา  425

 

 

ข้อ  2  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  เดินสายไฟฟ้าเปลือยแรงสูงผ่านดาดฟ้าบ้านของนายบอย  วันหนึ่งนายบอยขึ้นไปเดินเล่นบนดาดฟ้าแล้วสะดุดก้อนหินที่วางไว้เสียหลัก  มือไปพาดถูกสายไฟฟ้าทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย

ดังนี้  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะต้องรับผิดต่อการตายของนายบอยหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน  ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

วินิจฉัย

กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ  ตามมาตรา  437  วรรคสอง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ครอบครองจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้านั้น  (ฎ.  478/2523)

การที่นายบอยเดินเล่นเสียหลักมือไปถูกสายไฟฟ้าทำให้ไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย  ยังฟังไม่ได้ว่าเหตุเพราะความผิดของนายบอยเอง

ความตายของนายบอยเกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้  อันตรายที่เกิดแก่นายบอยจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  เพราะเหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  ดังนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องรับผิดต่อการตายของนายบอย  (ฎ. 3354/2524)

 

 

ข้อ  3  นายหนึ่งจดทะเบียนรับเด็กชายอังคารเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  บิดามารดาที่แท้จริงของเด็กชายอังคารถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว  นายหนึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอังคารตลอดมา  ตามปกติเด็กชายอังคารชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นประจำ  โดยนายหนึ่งไม่เคยห้ามปราม  ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือน

วันเกิดเหตุเด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้านและเกิดไม่พอใจนายขาว  เด็กชายอังคารใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  นายขาวจะฟ้องผู้ใดให้รับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

วินิจฉัย

การที่บิดามารดาจะต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ตามมาตรา  429  นี้ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าผู้เยาว์ได้กระทำละเมิดหรือไม่  ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปของการกระทำอันเป็นละเมิดมีว่า

1       เป็นบุคคลที่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย  (ชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิ)

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

ดังนั้นการที่เด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้านและเกิดไม่พอใจนายขาว  ใช้มีดแทงนายขาวจนได้รับบาดเจ็บ  เป็นการกระทำโดยจงใจทำต่อนายขาวโดยผิดกฎหมาย  ทำให้นายขาวเสียหายต่อร่างกาย  ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายอังคาร  เมื่อครบองค์ประกอบของหลักเกณฑ์การกระทำละเมิด  การกระทำของเด็กชายอังคารจึงเป็นละเมิดตามมาตรา  420

เมื่อเด็กชายอังคารได้กระทำละเมิดต่อนายขาว  นายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมของเด็กชายอังคารจะต้องร่วมรับผิดกับเด็กชายอังคารด้วยหรือไม่  เห็นว่า  เพราะเหตุที่บิดามารดามีหน้าที่ควบคุมเลี้ยงดูผู้เยาว์  อีกทั้งกฎหมายยังให้อำนาจบิดามารดาในการใช้อำนาจปกครอง ซึ่งทำให้ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความเชื่อฟังคำสั่งด้วย  ดังนั้นบิดามารดาต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ด้วย  อนึ่งคำว่า  บิดามารดา  ตามมาตรา  429  นี้หมายถึง  บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  ซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ถือว่าเป็นบิดามารดาตามความหมายของมาตรานี้ด้วย 

เมื่อนายหนึ่งเป็นบิดา  ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กชายอังคารผู้เยาว์ในขณะทำละเมิด  แต่การที่นายหนึ่งไม่เคยห้ามปราม  ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้าน  ถือได้ว่านายหนึ่งบกพร่องในการดูแลผู้เยาว์  เมื่อเด็กชายอังคารทำละเมิด  นายหนึ่งซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา  429  (ฎ. 941/2498)

สรุป 

(1) นายขาวฟ้องเด็กชายแดงได้ตามมาตรา  420

(2) นายขาวฟ้องนายหนึ่งให้ร่วมรับผิดได้ตามมาตรา  429 

 

 

ข้อ  4  นาย  ก.  และนาง  ข.  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนมีบุตรคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข.  คลอดเด็กชายแดงแล้วต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก.  ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  นาย  ก.  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล  ต่อมานายสิงห์ขับรถโดยประมาทชนนาย  ก.  ถึงแก่ความตาย  ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

1)    เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก.  และนาง  ข.  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนมีบุตรคือ  เด็กชายแดง  เด็กชายแดงจึงเป็นบุตรนอกกฎหมาย  เมื่อนาย  ก.  ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดง  และนาย  ก.  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล  ถือได้ว่าบิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์ตามมาตรา 1627  ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง  จึงเป็นทายาทตามมาตรา  1629(1) เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้  ตามมาตรา  443  วรรคแรก

กรณีค่าขาดไร้อุปการะนั้น  เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกจากนายสิงห์ไม่ได้  เพราะเด็กชายแดงเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา 443  วรรคท้าย  ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เรียกได้

สรุป

(1) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

(2) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  จำเลยไปเที่ยวชายทะเล  ขณะเดินเล่นริมหาดเห็นนายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำ  นายขาวตะโกนให้จำเลยช่วย  จำเลยไม่ยอมช่วยทั้งๆที่จำเลยว่ายน้ำเป็น  ปรากฏว่านายขาวจมน้ำถึงแก่ความตาย  จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

ดังนั้นในเบื้องต้น  จึงต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมีการกระทำหรือไม่  หากบุคคลไม่มีการกระทำ  ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  สำหรับการกระทำนั้น  หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก  นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย  ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น  หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่  การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย  และจำเลยสามารถช่วยได้แต่ไม่ยอมช่วย  ปรากฏว่านายขาวจมน้ำตาย  เช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อนายขาวโดยงดเว้น  ทั้งนี้เนื่องจากการงดเว้นของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำ  เพราะจำเลยจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  แต่การที่จำเลยต้องช่วยนายขาวหรือไม่นั้น  ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย  ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย  หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงาน  หน้าที่ตามสัญญา  หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว  เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น  ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล  คือ  ความตายของนายขาว  เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ  จึงไม่เป็นละเมิด  ตามความในมาตรา  420  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

สรุป  จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด 

 

 

ข้อ  2  นาย  ก  มีบุตรชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  อายุ  13  ปี  นาย  ก  ส่งเด็กชายแดงไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งโดยมีครูสมศรีเป็นครูประจำชั้น  ขณะที่เด็กชายแดงเรียนหนังสืออยู่ในห้อง  เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่น  ครูสมศรีเห็นเหตุการณ์จึงได้ริบพลุจากเด็กชายแดง  จากนั้นครูสมศรีได้มีการห้ามปราม  ตักเตือน  ว่ากล่าว  สั่งสอน

ต่อมาขณะที่ครูสมศรีเผลอ  เด็กชายแดงนำพลุอันใหม่มาจุดเล่นอีก  เด็กชายแดงจุดพลุด้วยความประมาทเลินเล่อไปถูกตาเด็กชายขาวได้รับบาดเจ็บ  ข้อเท็จจริงได้ความว่าการที่เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่นที่โรงเรียน  นาย  ก  ทราบดี  แต่  นาย  ก  ไม่ได้ห้ามปราม  ไม่ได้ตักเตือน  ไม่ได้ว่ากล่าวสั่งสอน

ดังนี้เด็กชายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายแดงจุดพลุด้วยความประมาทเลินเล่อไปถูกตาเด็กชายขาวได้รับบาดเจ็บ  ถือได้ว่าเด็กชายแดงทำละเมิดต่อเด็กชายขาว  เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์การกระทำอันเป็นการละเมิด  ตามมาตรา  420  กล่าวคือ

1       มีการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อเด็กชายขาวโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อร่างกายของเด็กชายขาว

4       ความเสียหายที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายแดง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  เด็กชายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้าง  เห็นว่า  เมื่อเด็กชายแดงเป็นผู้ทำละเมิดต่อตน  เด็กชายขาวจึงสามารถฟ้องเด็กชายแดงได้  ตามมาตรา  420  แม้เด็กชายแดงจะเป็นผู้เยาว์  ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด

ในประเด็นความรับผิดของครูสมศรีนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า  เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่น  ครูสมศรีเห็นเหตุการณ์จึงได้ริบพลุจากเด็กชายแดง  ทั้งครูสมศรียังได้มีการห้ามปราม  ตักเตือน  ว่ากล่าว  สั่งสอน  พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าครูสมศรีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วในการดูแลผู้เยาว์ตามหน้าที่ซึ่งทำอยู่นั้น  ดังนั้นการที่เด็กชายแดงนำพลุอันใหม่มาจุดเล่นอีกในขณะที่ครูสมศรีเผลอ  จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายดังกล่าวขึ้น  ครูสมศรีจึงไม่ต้องรับผิดกับเด็กชายแดง  ตามมาตรา  430 

ส่วนประเด็นความรับผิดของนาย  ก  บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  เมื่อได้ความว่าการที่เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่นที่โรงเรียน  นาย  ก  ทราบดี  แต่นาย  ก  ปล่อยปละละเลยไม่ได้ห้ามปราม  ไม่ได้ตักเตือน  ไม่ได้ว่ากล่าวสั่งสอน  ถือได้ว่านาย  ก  ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ในการดูแล  ดังนั้นนาย  ก  ผู้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงต้องร่วมรับผิดกับเด็กชายแดงผู้เยาว์ตามมาตรา  429  เทียบฎีกาที่  356/2511

สรุป

1       เด็กชายขาวฟ้องเด็กชายแดงได้ตามมาตรา  420

2       เด็กชายขาวฟ้องครูสมศรีให้ร่วมรับผิดตามมาตรา  430  ไม่ได้

3       เด็กชายขาวฟ้องนาย  ก  ให้ร่วมรับผิดได้  ตามมาตรา  429

 

 

ข้อ  3  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเพื่อนกัน  วันเกิดเหตุนายหนึ่งขับรถไปที่บ้านของนายสองเพื่อแวะเยี่ยมนายสอง  โดยนายหนึ่งจอดรถไว้ที่โรงรถบ้านของนายสอง  ขณะเกิดเหตุลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายหนึ่ง  จากนั้นได้กัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน  2,000  บาท  ดังนี้

(1) นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่จะสามารถจับหรือยึดสัตว์  หรือฆ่าสัตว์  ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา  452  ประกอบด้วย

1  ผู้มีอำนาจกระทำต้องเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  (ไม่รวมสังหาริมทรัพย์)    ที่ได้รับความเสียหาย

2  ความเสียหายจะต้องเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น

3  สัตว์เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  (ความเสียหายต่อบุคคล  หรือต่อทรัพย์ก็ได้)

1       กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ลิงของนายแดงกัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้  เพราะแม้ความเสียหายจะเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น  ซึ่งเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  แต่เมื่อนายหนึ่งเป็นเพียงผู้ครองสังหาริมทรัพย์  (รถยนต์)  มิใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  452  วรรคแรก

2       นายสองก็จะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้เช่นกัน  เพราะแม้นายสองจะเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  แต่นายสองก็ไม่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากลิงของนายแดงแต่อย่างใด  ผู้ที่จะจับหรือยึดสัตว์ตามมาตรา  452  วรรคแรก  หมายความเฉพาะผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น

สรุป

1       นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

2       นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ 

 

 

ข้อ  4  นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน  เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้  15  ปี  1  เดือน  นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลง  นายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้วระหว่างเดินทางกลับนายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปส่งรถที่กรุงเทพฯไม่ทัน  เป็นเหตุทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ  ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ  21  ปีสลบไป  นายบันเทิงคิดว่านางสาวไฮถึงแก่ความตายไปแล้ว  นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนจึงได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้  เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

(1) นายบันเทิงและนายบรรเลง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์  จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

1       กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร็วไปชนนางสาวไฮสลบไปเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  นายบันเทิงจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  420

ในระหว่างที่นางสาวไฮสลบไป  นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตน  ได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้  เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย  เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำละเมิดในตอนแรก  ซึ่งเป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนสามารถคาดหมายได้จึงไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำในตอนแรกออกจากผลของการกระทำก็คือความตายของนางสาวไฮนั้น  นายบันเทิงจึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  ตามมาตรา  420

ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับนายบันเทิงลูกจ้างเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อนายบันเทิงขับรถไปในทางการที่จ้างไปชนนางสาวไฮสลบไป  เช่นนี้  นายบรรเลงต้องร่วมรับผิดกับนายบันเทิง  ตามมาตรา  425  ซึ่งเป็นการร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายแก่ร่างกายเท่านั้น  ส่วนความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮนั้น  นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย  เพราะการตายเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับเหตุที่ลูกจ้างขับรถชนนางสาวไฮ  และเห็นได้ว่าการนำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้นั้น  เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายบันเทิงลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ  คือเพื่อปกปิดและเพื่อให้ตนพ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น  หาเกี่ยวกับการที่นายบรรเลงได้จ้างให้นายบันเทิงกระทำไม่  จึงเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง นายบรรเลงนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  ตามมาตรา  425  เทียบฎีกาที่  2060/2524

2       นายเอกชัยและนายมนสิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เห็นว่า  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด  จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นางสาวไฮ  โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแต่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์  ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา  1547  นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ  นางสาวไฮ  (ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย  ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิด  เทียบฎีกาที่  7458/2543

ส่วนกรณีนายมนสิทธิ์  เมื่อนายสาวไฮมีอายุได้  15 ปี  1  เดือน  นายมนสิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย  ตามมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  2  แห่งบรรพ  5  มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย  กล่าวคือ  บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม  ตามมาตรา  1563  ประกอบมาตรา  1598/28  วรรคท้าย  ดังนั้น  เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย  นายมนสิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย  นายมนสิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  เทียบฎีกาที่  713/2517

สรุป

1       นายบันเทิงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  ตามมาตรา  420  แต่นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ  เพราะเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง  ตามมาตรา  425

2       นายเอกชัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ  แต่นายมนสิทธิ์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

WordPress Ads
error: Content is protected !!