LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี  คณะรัฐมนตรี  และสมาชิกรัฐสภาของประเทศดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  เป็นการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา  กึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอาหลักการของระบบการปกครองทั้งระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ  และระบบประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกามาผสมผสานใช้ร่วมกัน  เช่น  หลักที่ประมุขของประเทศ  คือ  ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร  แต่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร  ในขณะที่คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร  ดังเช่นในระบบรัฐสภา

วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสนั้น  ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง  (โดยมีวาระ  5  ปี)  ด้วยเกณฑ์ของการนับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  (คือเกินกึ่งหนึ่ง)  ถ้าไม่มีผู้ใดได้คะแนนตามเกณฑ์ดังกล่าว  ก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนในอันดับที่  1  และ  2  มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สอง  ด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา  เมื่อได้ตัวประธานาธิบดีแล้ว  ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี  จากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง  แล้วมอบให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี  และคณะรัฐมนตรีจะต้องไปแถลงนโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

สำหรับสมาชิกรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศสนั้น  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวน  577  คน  มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยตรงด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ  ซึ่งมีทั้งหมด  577  เขต  (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบแบ่งเขต  เขตละหนึ่งคน)  ถ้าในเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  ก็จะต้องให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่  1  และที่  2  มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สองด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  โดยคณะบุคคลที่ทำการเลือก  ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหลาย  โดยมีจำนวนทั้งสิ้น  321  คน  และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  และทุกๆ  3  ปี  จะมีการจับสลากออก  1  ใน  3  เพื่อเลือกตั้งใหม่ 

 

ข้อ  2  ตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐของมองเตสกิเออร์  ได้กำหนดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลแห่งอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจฝ่ายบริหาร  (Check  and  Balance)  ไว้อย่างไร  และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลแห่งอำนาจทั้งสองไว้หรือไม่อย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นการใช้อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  รวมทั้งอำนาจในการควบคุมนโยบายทั้งภายนอกและภายใน  การควบคุมนโยบายภายนอก  เช่น  การที่กษัตริย์หรือข้าราชการทำสัญญาสันติภาพหรือประกาศสงคราม  การทูต  การควบคุมนโยบายภายใน  เช่น  การรักษาความสงบเรียบร้อย  หรือการป้องกันมิให้มีการรุกราน  เป็นต้น  ซึ่งผู้ใช้อำนาจดังกล่าว ได้แก่  คณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

ดังนั้น  มองเตสกิเออ  จึงมีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  คือต้องจัดให้อำนาจหนึ่งหยุดยั้งอำนาจอีกอำนาจหนึ่ง กล่าวคือจะต้องมีการกำหนดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (Check  and  Balance)    ประชาชนจึงจะมีเสรีภาพได้

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับอำนาจฝ่ายบริหารไว้  เช่น

ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร  ได้แก่

1       การที่สมาชิกสภามีสิทธิอภิปรายก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้ารับตำแหน่งหรือเริ่มปฏิบัติงาน  ซึ่งถือว่าเป็นการควบคุมนโยบายของฝ่ายบริหาร  ตามมาตรา  176

2       การตั้งกระทู้ถาม  ตามมาตรา  156157

3       การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ  ตามมาตรา  158

4       การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ  ตามมาตรา  161  เป็นต้น

ส่วนฝ่ายบริหารมีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยวิธีการยุบสภาตามมาตรา  108  เป็นต้น

 

ข้อ  3  ประเทศไทยได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น  18  ฉบับ  ทั้งฉบับปัจจุบัน  แต่ประชาธิปไตยของไทยก็ดูเหมือนไปไม่ถึงจุดหมายของระบอบประชาธิปไตย  ประชาชนยังคงยากจนมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง  และการทุจริตคอร์รัปชั่นทวีความรุนแรงมากขึ้น  แสดงว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยก้าวหน้าไปมากนัก

จงอธิบายว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475  มาจนถึงปัจจุบัน  ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และที่มาของอำนาจตุลาการ  มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี  พ.ศ.2475  มาจนถึงปัจจุบัน  ประเทศไทยได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น  18  ฉบับ  (รวมทั้งฉบับปัจจุบัน)  ซึ่งมีผลทำให้ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และที่มาของอำนาจตุลาการ  มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย  โดยเฉพาะที่มาของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด  โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับได้กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติคือรัฐสภามีเพียงสภาเดียว  และมีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด  รัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้มีสภาเดียวแต่มีสมาชิก  2  ประเภท  คือ  มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง  และรัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้รัฐสภามี  2  สภาคือ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  พอสรุปได้ดังนี้

1       อำนาจนิติบัญญัติ  ได้แก่  รัฐสภา

(1)  รัฐธรรมนูญ ฯ  (ชั่วคราว)  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร  มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด  70 คน  โดยวิธีการเลือกตั้งเป็นทางอ้อม  (แต่ในความเป็นจริงมาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร์ฯ  ทั้งหมด)

(2)  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวเช่นเดิม  เพียงแต่สภาผู้แทนราษฎรนั้นให้มีสมาชิก  2  ประเภท  และมีจำนวนเท่ากัน  คือ  ประเภทที่  1  มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  และประเภทที่  2  มาจากการแต่งตั้ง

(3) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2489  ได้เปลี่ยนรูปแบบของสภาเป็นระบบ  2  สภา  ได้แก่  สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งมีจำนวนสมาชิก  178 คน  มาจากการเลือกตั้งของราษฎร  และพฤฒสภา  (ซึ่งปัจจุบันคือวุฒิสภา)  มีสมาชิก  80  คน  ที่ราษฎรเลือกตั้ง  (แต่ในวาระเริ่มแรกให้ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นผู้เลือกตั้ง)

(4) รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ  2  สภา  คือ  วุฒิสภากับสภาผู้แทนฯ  มีจำนวนสมาชิกเท่ากัน  คือ  100  คน

(5) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2492  ได้กำหนดให้รัฐสภา  มี  2  สภาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  คือ  วุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ  แต่ให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น  120  คน  ส่วนสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่าเดิม  คือ  100  คน  แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงเลือกและแต่งตั้ง

(6) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2495  ได้นำรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้ทำให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาเดียว  คือ  สภาผู้แทนราษฎร

(7) ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ. 2502  ได้กำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียวเรียกว่า  “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”  โดยให้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่เป็นนิติบัญญัติด้วย  มีสมาชิกจำนวน  240  คน  ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

(8) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2511  ได้กำหนดให้รัฐสภากลับมามี  2  สภาอีกครั้งคือ  วุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ  โดยวุฒิสภานั้นให้มีสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน  3  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

(9) ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2515  กลับมากำหนดให้มีสภาเดียวอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  299  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

(10)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2517  ได้บัญญัติให้มีระบบ  2  สภา  ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร  โดยวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  100  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  ส่วนสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า  240  คน  แต่ไม่เกิน  300  คน  และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้ให้ใช้แบบ  “แบ่งเขต เรียงเบอร์”   และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่พรรคเดียว

ข้อสังเกต  รัฐธรรมนูญฯฉบับ  พ.ศ. 2517  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  เพราะแต่เดิมนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้  และต่อมารัฐธรรมนูญทุกฉบับก็จะบัญญัติไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517

(11)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519  กลับมากำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียว  เรียกว่า  “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า  300  คนแต่ไม่เกิน  400  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

(12)                    ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ. 2520  จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2519  คือมีสภาเดียว  แต่เรียกชื่อใหม่ว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งมีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ  และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

(13)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2521 ได้กลับมากำหนดให้รัฐสภามี  2  สภาอีกครั้งหนึ่ง  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะมีจำนวนสมาชิกไม่เกิน  3  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ (เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2511)

(14)                    รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ. 2534  จะมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  (พ.ศ. 2520)  คือให้รัฐสภามีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  โดยมีสมาชิกจำนวน  200  ถึง  300  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  เพื่อทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ  พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ  และอนุมัติพระราชกำหนด

(15)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือ  วุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง  270  คน  และสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง  360  คน  และยังได้กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า  120  คนด้วย

(16)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  กำหนดให้มี  2  สภาคือ  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวนสมาชิก  500  คน  มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ  100  คน  และมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400  คน  ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน  200  คน  และให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

(17)                    รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ. 2549  กำหนดให้มีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและให้ทำหน้าที่แทนรัฐสภา

(18)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  (ฉบับปัจจุบัน)  ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2540  แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน  500  คนนั้น  ได้มีการแก้ไขใหม่ให้จำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้นมี  125  คน  และมาจากการเลือกตั้งแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน  ส่วนจำนวนสมาชิกวุฒิสภานั้นกำหนดให้มี  150  คน  โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1  คน  ส่วนที่เหลือให้มาจากการสรรหา

ข้อสังเกต  โดยปกติแล้วรัฐธรรมนูญมักจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกประเภทสองนั้นมาจากการแต่งตั้ง  แต่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540  และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  จะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  และมาจากการเลือกตั้งและสรรหาตามลำดับ

2       อำนาจบริหาร  คือ  คณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดไว้เหมือนกันคือ  คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี  1  คน  และรัฐมนตรีอีกจำนวนไม่เกินกี่คน  เพียงแต่จะแตกต่างกันก็ตรงจำนวนของรัฐมนตรีนั่นเองที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น  เดิมอาจจะเป็นข้าราชการประจำได้  แต่ต่อมารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ 

การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา  เพียงแต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  ดังนั้น  นายกรัฐมนตรีอาจเป็นบุคคลใดก็ได้  ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับที่  2  (พ.ศ. 2475)  ฉบับที่  10  (พ.ศ. 2517) ฉบับที่  15  (พ.ศ. 2534)  ฉบับที่  16  (พ.ศ. 2540)  และฉบับปัจจุบัน  พ.ศ. 2550  ที่จะกำหนดไว้ว่า  นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้นส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญจะไม่บังคับว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  เพียงแต่ใน รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  จะกำหนดไว้เลยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี  สมาชิกผู้นั้นก็จะต้องหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน)  ไม่ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องหมดสภาพจาการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด

3       อำนาจดุลาการ  ได้แก่  ศาล

สำหรับอำนาจตุลาการหรือศาลนั้น  เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ  อำนาจตุลาการหรือศาลนั้นมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  เพียงแต่ว่าเดิมนั้นรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าศาลมีอยู่  2  ศาล  คือศาลยุติธรรมและศาลทหาร  แต่ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2540  เป็นต้นมา  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  และรัฐธรรมนูญฯ  ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550  จะกำหนดไว้ว่าศาลนั้นมีอยู่  4  ศาล  ได้แก่  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  และศาลทหาร

 

ข้อ  4  นายเอกและนายโทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา  ต่อมาอัยการได้ฟ้องนายเอกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ในระหว่างสมัยประชุมสภา  ศาลฯได้นัดพิจารณาคดีนี้  ซึ่งนายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาได้  และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ฉบับที่  30  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีขัดหรือแย้งต่อ  มาตรา  2  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีของตนเช่นเดียวกันก็มีกระบวรการตราที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ครบองค์ประชุม  ต่อมาซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาได้มีการขอออกหมายค้นบ้านนายโทต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ  เพื่อหาพยานหลักฐาน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำร้องโต้แย้งของนายเอกสามารถรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และศาลฯจะออกหมายค้นบ้านนายโทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.255

 มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา  131  วรรคแรกและวรรคสาม  ในระหว่างสมัยประชุม  ห้ามมิให้จับ  คุมขัง  หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา  ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา  เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก  หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา  ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม  ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา

มาตรา  211   “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

มาตรา  277  วรรคสาม  บทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา  131  มิให้นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยออกได้เป็น  2  ประเด็น  ดังนี้คือ

ประเด็นที่  1  กรณีคำร้องโต้แย้งของนายเอก

1       ตามมาตรา  131  วรรคสาม  ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคดีอาญา  ศาลจะพิจารณาคดีอาญานั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  131  วรรคสามได้บัญญัติไว้

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เนื่องจากในคดีนี้ที่ศาลได้นัดพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภานั้น  เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  และตามมาตรา  277  วรรคสามก็ได้บัญญัติไว้ว่า  มิให้นำบทบัญญัติมาตรา  131  มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ดังนั้น  การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในสมัยประชุมรัฐสภาได้  คำร้องโต้แย้งในกรณีนี้ของนายเอกจึงรับฟังไม่ได้

2       การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ฉบับที่  30  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีนี้ขัดหรือแย้งต่อมาตรา  2  แห่งรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550  นั้น  เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  มีสถานะเป็น  “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย”  ตามความในมาตรา  211  ดังนั้น  นายเอกจึงสามารถยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลฯ  เพื่อให้ศาลฯ  ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  211  ได้  คำร้องโต้แย้งของนายเอกกรณีนี้จึงรับฟังได้

 3       การที่นายเอกยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  พ.ร.บ.  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯซึ่งมีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น  ได้ตราขึ้นโดยมีกระบวนการตราที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่มิได้โต้แย้งว่า  พ.ร.บ.  ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  211  ดังนั้น  คำร้องโต้แย้งของนายเอกกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

ประเด็นที่  2  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จะออกหมายค้นได้หรือไม่ 

ตามบทบัญญัติมาตรา  131  วรรคแรก  ในระหว่างสมัยประชุม  ห้ามมิให้จับ  คุมขัง  หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่มิได้ห้ามในกรณีการค้นบ้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด  และตามบทบัญญัติมาตรา  277  วรรคสาม  ก็มิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันตามมาตรา  131  มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ดังนั้น  การที่ได้มีการขอออกหมายค้นบ้านนายโทในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงสามารถออกหมายค้นบ้านนายโทได้

สรุป

1       คำร้องโต้แย้งของนายเอกที่ว่า  ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาและ  พ.ร.บ.  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  มีกระบวนการตราที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญรับฟังไม่ได้แต่คำโต้แย้งว่า  ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นรับฟังได้

2        ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ  ออกหมายค้นบ้านนายโทได้

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงแนวคิดของมองเตสกิเออร์  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสในการจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมารองรับการใช้อำนาจอธิปไตย  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองหลักทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมยกตัวอย่างประกอบโดยสังเขป

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

ซึ่งในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมารองรับการใช้อำนาจเหล่านี้  ควรจัดตั้งในลักษณะที่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันเพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนืออำนาจอื่น และจากแนวคิดของมองเตสกิเออร์ทำให้เกิดรูปแบบของการปกครองขึ้นมา  3  ระบบ  ได้แก่  ระบบรัฐสภา  ระบบประธานาธิบดี  และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  

ซึ่งแต่ละระบบการปกครองจะมีหลักการที่สำคัญ  ดังต่อไปนี้  คือ

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกันนั่นเอง

 

ข้อ  2  การยุบสภาหมายถึงอะไร  และการยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่  อย่างไร  นอกจากนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การยุบสภา  หมายถึง  การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน  และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป  ซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น  โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา  แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย

การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา  เช่น  ประเทศอังกฤษและประเทศไทย  ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา  เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้  ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร  (คณะรัฐมนตรี)  ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ  (Balance  of  Power)  ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี)  ได้นั่นเอง

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา  108  ดังนี้

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา  ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่  ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ  ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น

2       การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา  และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป  ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า  45  วัน  แต่ไม่เกิน  60  วัน  นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

3       การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน  กล่าวคือ  หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง  จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้

 

ข้อ  3  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก)       จงอธิบายอย่างละเอียดว่าที่มาของอำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาอย่างไร

ข)      จงอธิบายว่าหน้าที่ของท่านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก)     อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  500  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ  125  คน

(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ  1  คน

การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก  1  คน  ให้คำนวณจากราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง  (หาร)  ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  375  คน                                              

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี  ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ที่คำนวณได้นั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น  ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ก็ให้มีสมาชิกฯได้  1  คน  จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ให้มีสมาชิกฯในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก  1  คน  ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน

จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้ไม่เกิน  1  คน  ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้เกิน  1  คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกฯที่พึงมี  โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกฯ  1  คน  (มาตรา 94)

(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น  โดยให้เลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว  และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  (มาตรา 95)

บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา  95  ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละ  125  คน  และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  (มาตรา  96)

การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง  ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น  โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้  เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  (มาตรา  98)

1       วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง  ประกอบด้วย

(1)  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

(4) ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย  1  คน

(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย  1  คน

หมายเหตุ

ปัจจุบันประเทศไทยเมื่อนับรวมกรุงเทพมหานครด้วยจะมี  77  จังหวัด  ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาวุฒิสภาครั้งต่อไป    จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  จังหวัดละ  1  คน  จึงมี  77  คน  ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจะมี  73  คน  (150 – 77 73 คน)

ข)      หน้าที่ของข้าพเจ้าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ได้แก่

1       หน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์  และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (มาตรา 70)

2       หน้าที่ป้องกันประเทศ  รักษาผลประโยชน์ของชาติ  และปฏิบัติตามกฎหมาย (มาตรา 71)

3       หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)

4       หน้าที่รับราชการทหาร  ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ  เสียภาษีอากร  ช่วยเหลือราชการ  รับการศึกษาอบรม  พิทักษ์ปกป้อง  และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ  และภูมิปัญญาท้องถิ่น  อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 73)

 

ข้อ  4  ตำรวจได้จับกุมนายแดงสัญชาติไทย  จำเลยในคดีอาญาซึ่งหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา  และนายดำสัญชาติอินเดียผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดในประเทศอินเดียได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิขณะที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ  ต่อมาอัยการขอให้ศาลอาญามีคำสั่งให้ขังนายดำไว้เพื่อการส่งข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย  ซึ่งศาลฯมีคำสั่งอนุมัติ  นายดำเห็นว่าคำสั่งศาลฯไม่ชอบฯ  จึงได้อุทธรณ์คำสั่งฯ  ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลอาญาชอบฯแล้ว  จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตาม  พ.ร.บ.  ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ  ระหว่างรอการส่งข้ามแดน  นายดำได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่  และยื่นคำร้องว่ามาตรา  10  พ.ร.บ.ฯ  ที่ศาลอาญาได้ใช้พิจารณากับคดีของตนขัดต่อมาตรา  30  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  จึงขอให้ส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ต่อมาในคดีของนายแดงหลังจากที่ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้นายแดงฟังแล้ว  นายแดงเห็นว่าการที่ศาลฎีกาซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้นำมาตรา  3  พ.ร.บ.  การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  พ.ศ.2551  มาใช้ตัดสินกับคดีของตนเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา  40  เรื่องสิทธิจำเลย  จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลอาญาซึ่งรับคำร้องของนายแดงและนายดำในกรณีนี้  ท่านจะดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา  211  วรรคหนึ่ง  “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

การส่งเรื่อง  (ความเห็นหรือคำร้อง)  ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  211 วรรคแรก  มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       เป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับคดี

2       คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด  คือต้องเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

3       เป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

4       จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา  6  คือ  ต้องเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น  มิใช่เป็นการโต้แย้งเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  เช่น  โต้แย้งว่าการกระทำของบุคคลหรือคำสั่ง  หรือคำพิพากษาของศาลขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

5       ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น

6       ในระหว่างที่ศาลส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ

ประเด็นที่  1  กรณีคำร้องของนายแดง

การที่นายแดงโต้แย้งว่า  การที่ศาลฎีกาซึ่งพิจารณาคดีของนายแดงได้นำมาตรา  3  แห่ง  พ.ร.บ.  การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  พ.ศ. 2551  มาใช้ตัดสินคดีของตนเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา  40  เรื่องสิทธิของจำเลยนั้น  เป็นการโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  ไม่ใช่การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา  211  (ฎ. 9500/2542)  อีกทั้งการที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีนี้  ได้มีคำพิพากษาและศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้นายแดงฟังแล้ว  ถือได้ว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว  ไม่ใช่คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล  ดังนั้นการที่นายแดงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา  ซึ่งรับคำร้องของนายแดง  ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของนายแดงไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายแดงร้องขอ

ประเด็นที่  2  กรณีคำร้องของนายดำ

การที่นายดำได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา  ขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่และยื่นคำร้องว่า  มาตรา  10  พ.ร.บ.  ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ  ที่ศาลอาญาได้ใช้พิจารณากับคดีของตนขัดต่อมาตรา  30  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550  เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย  ดังนี้แม้ว่ากรณีคำร้องของนายดำ  จะเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว  ตาม  พ.ร.บ.  ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ  และนายดำมิได้ร้องขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งของตนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล  กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550  มาตรา  211  แล้ว  (ฎ. 623/2543)  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา  ซึ่งรับคำร้องของนายดำ  ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของนายดำไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายดำร้องขอ

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา  ซึ่งรับคำร้องของนายแดงและนายดำในกรณีดังกล่าว  ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของทั้งสองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1 

(ก)   การเลือกตั้งมิใช่สัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย  แต่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น  และการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็มีอยู่หลายแบบแล้วแต่ว่าประเทศใดจะนำแบบใดไปใช้

การเลือกตั้งแบบสองรอบเสียงข้างมากก็เป็นวิธีการเลือกตั้งแบบหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ  ให้นักศึกษาอธิบายว่าการเลือกตั้งแบบสองรอบเสียงข้างมากเป็นอย่างไร  มีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร

(ข)  ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  และขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา  นักศึกษาจงอธิบายวิวัฒนาการที่มาของวุฒิสภาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกถึงปัจจุบันว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร

ธงคำตอบ

(ก)   การเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก  คือวิธีการเลือกตั้งซึ่งในการเลือกตั้งในรอบที่หนึ่งนั้น  หากมีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยมีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเกินกว่ากึ่งหนึ่ง  (50% + 1)  ของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนน  ผู้สมัครคนนั้นก็จะได้รับเลือกตั้งเลย

แต่ถ้าในการเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน  ก็จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง  โดยในการเลือกตั้งในรอบที่สองจะมีผู้สมัครเหลือเพียงสองคน  คือ  คนที่ได้รับคะแนนสูงสุดคนแรกจากการเลือกตั้งในรอบที่หนึ่งเท่านั้น  ส่วนคนอื่นๆจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบที่สอง  ซึ่งในการเลือกตั้งในรอบที่สองนี้ผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยมีคะแนนเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนน  ผู้สมัครคนนั้นก็จะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง

(ข)  วิวัฒนาการที่มาของวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  1  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียว  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  ยังไม่มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  2  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวเช่นเดิม  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  แต่ให้มีสมาชิก  2  ประเภท  โดยสมาชิกประเภทที่  2  มาจากการแต่งตั้ง  (ยังไม่เรียกว่าวุฒิสภา)

รัฐธรรมนูญฉบับที่  3  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2489  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือ  สภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา  (ซึ่งปัจจุบันคือวุฒิสภา)  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม  ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย  ในระบบรัฐสภาที่กำหนดให้มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  4  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ  2  สภา  คือ  วุฒิสภากับสภาผู้แทนฯ  ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  5  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2492  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  4  คือ  มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  6  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2495 ได้นำรัฐธรรมนูญฯฉบับที่  2  แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้ทำให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร  ไม่มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  7 ธรรมนูญการปกครอง  พ.ศ.2502  ได้กำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียวคือ  “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”  ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์  โดยให้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับที่  8  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2511  ได้กำหนดให้มี  2  สภาอีกครั้ง  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  โดยวุฒิสภานั้นให้มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  9 ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2515  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวอีกครั้งเรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  10  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2517  ได้บัญญัติให้มีระบบ  2  สภา  คือ  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  11  และฉบับที่  12  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2519  และธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2520  ได้กำหนดให้มีสภาเดียว  โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่  11  เรียกว่า  “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”  และรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  เรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  13  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2521  ได้กลับมากำหนดให้มี  2  สภาอีกครั้งหนึ่ง  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  และสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  14  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2534  จะมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  คือ  ให้มีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  เพื่อมีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับที่  15  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  โดยสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  16  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540  กำหนดให้มี  2  สภา  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  โดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดให้มาจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  17  รัฐธรรมนูญฯ  (ชั่วคราว)  พ.ศ.2549  กำหนดให้มีสภาเดียวคือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและให้ทำหน้าที่แทนรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  18  (ฉบับปัจจุบัน)  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2540  แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า  สมาชิกวุฒิสภาจำนวน  150  คน  ให้มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1  คน  ส่วนที่เหลือให้มาจากการสรรหา

กล่าวโดยสรุป

1       วุฒิสภานั้นเริ่มมีเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับที่  3  (พ.ศ.2489)  เพียงแต่ยังไม่เรียกว่าวุฒิสภา  แต่เรียกว่า  พฤฒสภา เริ่มเรียกว่าวุฒิสภาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่  4  เป็นต้นมา

2       ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่  3  เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  จะมีการกำหนดให้มีวุฒิสภาไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ  (ยกเว้นเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับที่  6  (พ.ศ.2495)  เท่านั้นที่กำหนดให้มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร  โดยไม่ให้มีวุฒิสภา)  เพียงแต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดกำหนดให้มีระบบ  2  สภา  ก็จะเรียกว่าวุฒิสภา  แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดกำหนดให้มีสภาเดียวก็จะไม่เรียกว่าวุฒิสภา  แต่จะเรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  หรือสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  แล้วแต่กรณี

3       สมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าจะมีจำนวนกี่คนก็ตาม  รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ว่าให้มาจากการแต่งตั้ง  เว้นแต่รัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2540  ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง  และรัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550)  ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและการสรรหา

 

ข้อ  2  จงอธิบายการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และอำนาจนิติบัญญัติ  ตลอดจนการใช้อำนาจตุลาการ  อำนาจบริหาร  และอำนาจนิติบัญญัติ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างละเอียด

ธงคำตอบ

การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม

1       อำนาจนิติบัญญัติ  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย  ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาลรัฐธรรมนูญ  และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร  เช่น  การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ  ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้

2       อำนาจบริหาร  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เป็นต้น

3       อำนาจตุลาการ  การใช้อำนาจตุลาการนั้น  อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น  และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตาม  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1       อำนาจนิติบัญญัติ 

อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

(ก)   สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  500  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ  125  คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(ข)  วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

2       อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ได้แก่  คณะรัฐมนตรี  ซึ่งประกอบด้วย

1       นายกรัฐมนตรี  จำนวน  1  คน  เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

2       รัฐมนตรี  จำนวนไม่เกิน  35  คน  ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย  เช่น  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการฯ  รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  เท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้น  นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่อย่างไรก็ตาม  คณะรัฐมนตรีจะเป็น  ส.ว.  ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

การใช้อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  คือ  รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง  กฎหมายอาญา  กฎหมายปกครอง  หรือกฎหมายอื่นๆ  มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ  เช่น  ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม  ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ  เป็นต้น  มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เป็นต้น

2       อำนาจบริหาร  ฝ่ายบริหาร  คือ  รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี  มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  กฎหมาย  และนโยบายที่ได้แถลงไว้

3       อำนาจตุลาการ  ฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาล  มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  และตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งแต่ละศาลจะมีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายแตกต่างกัน

 

ข้อ  3  นายกรัฐมนตรีเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของ  ส.ส.  ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง  จึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง  ส.ส.  เป็นการทั่วไป  ต่อมาจากการได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้วของ  กกต.  จึงได้มีมติกำหนดให้การเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่  โดยผู้ลงคะแนนฯ  หันหลังให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย  และจะทำให้กรรมการฯ  สามารถมองเห็นและสังเกตพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนฯ ได้

หากกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายหรือทุจริตในการเลือกตั้ง  ต่อมาผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน  10  คนในจังหวัดยะลา  ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะเห็นว่า  ส.ส. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติ  การเลือกตั้งบ่อยครั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน  และมติ กกต.  ที่กำหนดให้สามจังหวัดชายแดนใต้  มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น  พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  และมติดังกล่าวของ  กกต.  จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ดังนี้  ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการในกรณีนี้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  2  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา  93  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

มาตรา  108  “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา”       

มาตรา  187  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา  235  คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  สมาชิกสภาท้องถิ่น  และผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี  รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

มาตรา  236  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1)  ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา  244  ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

(1)  พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน

มาตรา  245  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้  เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

(2)  กฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา  244(1)(ก)  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  มีดังนี้คือ

ประเด็นที่  1  พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการกระทำทางรัฐบาล  โดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร  เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร  เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา  (ตามมาตรา  108  และมาตรา  187)  เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ  เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร  จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ

ดังนั้น  เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา  244  จะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลตามมาตรา  245(1)(2)  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯในกรณีนี้

ประเด็นที่  2  มติของ  กตต  ที่กำหนดให้การเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้  มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

การที่  กกต.  มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา  235  และ  236  และได้กำหนดให้มีการจัดวางคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่นั้น  ก็มาจากการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็น  “มติ”  ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ซึ่งมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ  จึงมีลักษณะเป็น  “กฎ”  ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา  245(2)

ตามมาตรา  2  ได้กำหนดรูปแบบการปกครองของประเทศไทยไว้ว่า  เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งในระบบรัฐสภาประชาชนใช้อำนาจในการปกครองประเทศผ่านผู้แทนปวงชน  คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น  มาตรา  93  ได้กำหนดให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน  “โดยตรงและโดยลับ”  ดังนั้นการจัดคูหาเลือกตั้งตามมติของ  กกต  ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งซึ่งจะทำให้บุคคลอื่นสังเกตเห็นได้  จึงเป็นการละเมิดต่อหลักการเรื่องการออกเสียงลงคะแนน  ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนน  “โดยตรงและลับ”  มติของ  กตต.  ดังกล่าวจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น  เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา  244  สามารถดำเนินการเสนอเรื่องมติของ  กตต  ดังกล่าวพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองตามมาตรา  245(2)  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมติคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้ได้

สรุป  กรณีพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลเพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

กรณีมติของ  กกต.  ที่กำหนดให้มีการจัดคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่  ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการเสนอเรื่องนี้พร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

 

ข้อ  4  นายแดงได้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมเพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่  ปรากฏว่า  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯ  ตรวจสอบคุณสมบัตินายแดงแล้วเห็นว่านายแดงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน  เนื่องจากได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย  ซึ่งต่อมานายแดงไอ้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ  ดังนั้น  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่  จึงได้ปฏิเสธการรับสมัครฯ  หากนายแดงเห็นว่าตนมีคุณสมบัติครบถ้วน  การไม่รับสมัครเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงประสงค์ที่จะใช้สิทธิในทางศาล  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงสามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และศาลใดที่มีอำนาจในการรับฟ้องไว้พิจารณา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  102  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้  เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2)เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

วินิจฉัย

ตามมาตรา  28  วรรคสอง  เป็นกรณีของการใช้สิทธิในทางศาลของบุคคลในรัฐ  โดยบุคคลสามารถใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อมีการละเมิดหรือการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายต่อสิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของบุคคลนั้น  และเป็นสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้ได้รับรองไว้  ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลนั้นบุคคลผู้ถูกละเมิดหรือเสรีภาพดังกล่าวมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า   การที่  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯ  ปฏิเสธการรับสมัครรับเลือกตั้งฯของนายแดง  เป็นการละเมิดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งฯของนายแดงหรือไม่  กรณีนี้เห็นว่า   การที่  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯปฏิเสธการรับสมัครฯของนายแดงนั้นเป็นเพราะเมื่อ  กกต  จังหวัดเชียงใหม่ฯได้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายแดงแล้วเห็นว่า  นายแดงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเนื่องจากได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย  นายแดงจึงเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา  102(2)  ดังนั้นการปฏิเสธการรับสมัครฯของ  กตต  จังหวัดเชียงใหม่ฯดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งฯ  ของนายแดงแต่อย่างใด

และเมื่อกรณีดังกล่าวไม่ถือว่านายแดงได้ถูกละเมิดสิทธิ  ดังนั้นนายแดงจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลกรณีนี้ได้

สรุป  นายแดงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลกรณีนี้ได้

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำถูกตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท  3  ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายดำต่อศาลอาญา นายดำให้การปฏิเสธ  ระหว่างถูกดำเนินคดีนายดำไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว  และในการควบคุมตัวนายดำมาที่ศาล  เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตีโซ่ตรวนนายดำ  นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนตนเป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  26  ที่บัญญัติว่า

“การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร  ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”  นอกจากนี้ในการพิจารณาคดีนายดำยังอ้างว่า  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.2522  มาตรา  20  วรรคท้าย  ที่บัญญัติว่า  “การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท  3  เกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ 

ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”  เป็นข้อสันนิษฐานกฎหมายที่สันนิษฐานว่านายดำเป็นผู้กระทำความผิด  จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  39  วรรคสอง  ที่บัญญัติว่า  “ในคดีอาญา  ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”  นายดำจึงขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ท่านเห็นว่า  ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา  211  วรรคหนึ่ง  “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  มาตรา  211  วรรคแรก  กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา  6

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ

ประเด็นที่  1  การที่นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นั้น  เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ไม่ได้เป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา  211  ดังนั้น  การที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น  ศาลอาญาจึงไม่ควรส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ประเด็นที่  2  การที่นายดำอ้างว่า  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.2522  มาตรา  20  วรรคท้าย  เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  มาตรา  39  วรรคสอง  นั้นถือว่าเป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี  ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา  211  ดังนั้นการที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็น  ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น  ศาลอาญาจึงต้องส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สรุป  ศาลอาญาจะต้องส่งปัญหาเฉพาะประเด็นที่  2  ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ส่วนปัญหาประเด็นที่  1  ไม่ต้องส่งตามมาตรา  211

 

ข้อ  2  การยุบสภาคืออะไร  เหตุใดจึงต้องมีการยุบสภาและตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบสภาไว้อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การยุบสภา  หมายถึง  การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน  และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป  ซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น  โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา  แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย

เหตุที่ต้องมีการยุบสภา  ก็เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้วินิจฉัยว่า  ควรให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรี  หรือสภานิติบัญญัติ  (สภาผู้แทนราษฎร)  โดยการเลือกบุคคลที่ตนเห็นชอบเข้ามาใหม่  ซึ่งการยุบสภานี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในประเทศที่มีการปกครองในระบบรัฐสภาหรือในประเทศที่มีการปกครองในระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา  เช่น  ประเทศฝรั่งเศสก็ได้  แต่การยุบสภาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีการปกครองในระบบประธานาธิบดี

การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา  เช่น  ประเทศอังกฤษและประเทศไทย  ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา  เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้  ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร  (คณะรัฐมนตรี)  ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ  (Balance  of  Power)  ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี)  ได้นั่นเอง

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา  108  ดังนี้

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา  ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่  ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ  ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น

2       การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา  และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป  ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า  45  วัน  แต่ไม่เกิน  60  วัน  นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

3       การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน  กล่าวคือ  หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง  จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้

4       ในกรณีที่มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  จะมีการยุบสภาไม่ได้  เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ  หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา  158)

 

ข้อ  3 

ก.       รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากปัญหาและสาเหตุใด  มีหลักการสำคัญว่าอย่างไร  และมีเป้าหมายใด

ข.      ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตั้งแต่ปี  พ.ศ.2475  มาถึงปัจจุบัน  จงอธิบายว่า  รัฐสภาไทยได้เปลี่ยนมาแล้วกี่แบบ  อะไรบ้าง

ค.      จงอธิบายว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  มีทั้งหมดกี่มาตรา  แบ่งออกเป็นกี่หมวด  หมวดพระมหากษัตริย์และหมวดรัฐสภาอยู่ในหมวดที่เท่าไร

ธงคำตอบ

ก  รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากปัญหาทางการปกครองเนื่องจากแต่ก่อนอำนาจการปกครองจะอยู่กับผู้ปกครองเพียงคนเดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการปกครอง  และการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ปกครองไม่สามารถตรวจสอบได้  ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากลักษณะการปกครองดังกล่าว  จึงทำให้เกิดปัญหาทางการปกครอง  คือ  ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ปกครอง  ดังนั้นจึงมีการแบ่งแยกอำนาจเป็น  3  อำนาจ  คืออำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  ซึ่งจากการแบ่งแยกอำนาจดังกล่าวก็ได้พัฒนามาเป็นระบอบประชาธิปไตย  โดยมีหลักการสำคัญ  คือ

1       ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

2       ผู้ที่จะใช้อำนาจทางปกครอง  จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  จึงทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง

3       การใช้อำนาจในทางปกครอง  จะต้องใช้อำนาจเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

4       การใช้อำนาจในทางปกครอง  จะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบได้

ข  หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  ตั้งแต่ พ.ศ.2475  มาถึงปัจจุบัน  รัฐสภาไทยได้เปลี่ยนมาแล้ว  5  แบบ  คือ

1       แบบสภาเดียวและมีสมาชิกประเภทเดียว  คือสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด  เช่น  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2475  ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2502  และ  พ.ศ.2515  รัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2519  รัฐธรรมนูญฯ  (ชั่วคราว)  พ.ศ.2534  และ  พ.ศ. 2549

2       แบบสภาเดียวมีสมาชิกสองประเภท  คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง  ได้แก่  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475

3       แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท  คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง  (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา)  ได้แก่  รัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2511  พ.ศ.2517  พ.ศ.2521  และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534

4       แบบสองสภามีสมาชิกประเภทเดียว  คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  (ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ  และสมาชิกวุฒิสภา  ได้แก่  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2540

5       แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท  คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง  (สมาชิกสภาผู้แทนฯ  และสมาชิกวุฒิสภา)  และสมาชิกที่มาจากการสรรหา  (สมาชิกวุฒิสภา)  ซึ่งได้แก่  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550  (ฉบับปัจจุบัน)

ค  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  คือ  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550

1       มีทั้งหมด  309  มาตรา

2       แบ่งออกเป็น  15  หมวด

3       หมวดพระมหากษัตริย์อยู่ในหมวดที่  2  และหมวดรัฐสภาอยู่ในหมวดที่  6

 

ข้อ  4  เพื่อสนับสนุนกิจการของรัฐสภาและเพื่อควบคุมตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐ  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษแก่  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด  ในการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ  ต่อมาจึงได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม  ในกรณีการขอใช้เลขหมายโทรศัพท์  โดยให้พิจารณาขอเลขหมายโทรศัพท์ของ  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นลำดับแรก  เว้นแต่  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  ไม่สามารถให้บริการได้  ต่อมา  บริษัท  ทรีย์  จำกัด  และบริษัท  ดีแมก  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนและให้บริการเลขหมายโทรศัพท์เช่นกัน  เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ให้สิทธิพิเศษแก่  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  ดังกล่าว  เป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม  ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่  บริษัท  ทรีย์  จำกัด  และบริษัท  ดีแมก  จำกัด  กล่าวอ้างในกรณีใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากท่านเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน  ท่านจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  30  บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย  และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน 

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล  เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด  เชื้อชาติ  ภาษา  เพศ  อายุ  ความพิการ  สภาพทางกายหรือสุขภาพ  สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม  ความเชื่อทางศาสนา  การศึกษาอบรม  หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

มาตรา  244  ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

(1)  พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนดังต่อไปนี้

(ก)   การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ  พนักงาน  หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(ข)   การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ  พนักงาน  หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม

(ค)  การตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ  และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม  ทั้งนี้ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล

(ง)   กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

(2)  …..

(3)  …..

(4)  …..

การใช้อำนาจหน้าที่ตาม  (1) (ก) (ข)  และ  (ค)  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการ  เมื่อมีการร้องเรียน  เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม  หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้

มาตรา  245  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้  เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

(2)  กฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา  244(1)(ก)  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง  และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า  ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

วินิจฉัย

การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษแก่  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  ในการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ  และได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายให้ปฏิบัติตามนั้น  มติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถือว่าเป็นกฎ  และเป็นการออกกฎในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  และขัดต่อหลักความเสมอภาค  ตามมาตรา  30

เมื่อ  บริษัท  ทรีย์  จำกัด  และบริษัท  ดีแมก  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน  เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่  บริษัท  ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  เป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม  ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550  จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนี้  ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนนั้น  ตามมาตรา  244  (1) (ก)  และวรรคท้าย

และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว  ก็ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  245 (2)

สรุป  มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นกฎที่ออกมาขัดต่อหลักความเสมอภาค  ตามมาตรา  30  เพราะเป็นกฎที่ออกมาในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  และหากข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน  ก็จะดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  และทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหมายถึงอะไร  และมีผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันอย่างไร  และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้นำแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวมาบัญญัติไว้หรือไม่  อย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  นั้นมาจากแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน  เป็นทฤษฎีที่เสนอโดย  รุสโซ  (Rousseau)  ในวรรณกรรมชื่อ  “สัญญาประชาคม”  (Social  Contract)  โดยรุสโซ  เชื่อว่า  “สังคมเกิดขึ้นเพราะราษฎรในสังคมสมัครใจสละสภาพธรรมชาติอันเสรีของตน  เพื่อมาทำสัญญาประชาคมขึ้น  สังคมจึงเกิดจากการสัญญามิใช่การข่มขู่บังคับ  ดังนั้นราษฎรทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของสังคมหรืออำนาจอธิปไตย  มิใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของดั่งที่อธิบายกันมาตลอด”  ตัวอย่างที่รุสโซอ้างก็คือ  “สังคมหนึ่งมีสมาชิก  10,000  คน  สมาชิกแต่ละคนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนละ  1/10,000  ดังนั้น ราษฎรแต่ละคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน  โดยไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งหมดได้

จากทฤษฎีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ  คือ

1       ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครอง  เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งส่วนแห่งอำนาจตน  อันนำมาสู่หลักการคือ  “การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง”  เพราะถือว่า  การเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน  มิใช่หน้าที่จึงไม่อาจมีการจำกัดสิทธิได้  ดังที่รุสโซ  กล่าวว่า  “สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรที่จะมาพรากจากประชาชนได้”

2       การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ  นั้นหมายถึง  แนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมีอยู่ในตัวของมนุษย์  และมนุษย์ได้ทำสัญญาหรือก่อพันธะผูกพันกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะโอนอำนาจอธิปไตยที่ตนมีอยู่ให้แก่สังคม  และสังคมที่ว่านี้ก็คือชาตินั่นเอง

จากทฤษฎีดังกล่าวก่อให้เกิดผลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ  คือ

1       ชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ปวงชนหรือราษฎร  อำนาจเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ราษฎรในฐานะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เลือกผู้แทนของชาติ  ดังนั้นการเลือกตั้งของราษฎรจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิใช่การใช้สิทธิ  ชาติจึงมีสิทธิที่จะต้องมอบอำนาจเลือกตั้งให้ราษฎรที่เห็นว่าเหมาะสมได้  การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทั่วถึง  มีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งได้

2       คนแต่ละคนไม่ได้เป็นผู้แทนของราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งที่เลือกตนเท่านั้น  ผู้แทนทั้งหมดถือเป็นผู้แทนของชาติและไม่อยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง

และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน  ได้นำทฤษฎีทั้งสองมาบัญญัติไว้ร่วมกัน  เช่น  ในมาตรา  3  บัญญัติว่า  “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”  ก็เท่ากับยอมรับทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  และในขณะเดียวกันตามมาตรา  72  บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและบุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้  ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ”  จึงเท่ากับเป็นการยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ  เป็นต้น

 

ข้อ  2  จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  และที่มาของอำนาจบริหาร  และการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ธงคำตอบ

ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1       อำนาจนิติบัญญัติ 

อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

(ก)   สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  500  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ  125  คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(ข)  วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

2       อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ได้แก่  คณะรัฐมนตรี  ซึ่งประกอบด้วย

1       นายกรัฐมนตรี  จำนวน  1  คน  เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

2       รัฐมนตรี  จำนวนไม่เกิน  35  คน  ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย  เช่น  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการฯ  รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  เท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้น  นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่อย่างไรก็ตาม  คณะรัฐมนตรีจะเป็น  ส.ว.  ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม

1       อำนาจนิติบัญญัติ  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย  ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาลรัฐธรรมนูญ  และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร  เช่น  การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ  ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้

2       อำนาจบริหาร  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เป็นต้น

3       อำนาจตุลาการ  การใช้อำนาจตุลาการนั้น  อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น  และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตาม  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

 

ข้อ  3  เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษทราบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่ง  ปล่อยทิ้งอากาศเสีย  ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พ.ศ.2535  ซึ่งมาตรา  82(1)  แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษดำเนินการเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตรวจสภาพระบบบำบัดอากาศเสีย

ปรากฏว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานของนายสดใส  นายสดใสเห็นว่า  การที่พนักงานควบคุมมลพิษเข้าไปในโรงงานของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งอาศัยมาตรา  82(1)  นั้น  เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของตน  นายสดใสจึงนำเรื่องดังกล่าวไปร้องขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยอ้างว่า

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พ.ศ.2535  มาตรา  82(1)  ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  33  ปรากฏว่า  ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิเสธไม่ยอมส่งข้อโต้แย้งของนายสดใสไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  นายสดใสจึงยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา  212

จงวินิจฉัยว่า  ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของนายสดใสไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550 

มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา  211  วรรคหนึ่ง  “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

มาตรา  212  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว  ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา  245  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้  เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา  257  วรรคแรก  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

(2)  เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

วินิจฉัย

แม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พ.ศ.2535  มาตรา  82(1)  ที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษที่จะเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550 มาตรา  33  แต่กรณีผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติมาตรา  212  นั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่  3/2551)  ดังนี้คือ

(1)  ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  อันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

(2)  บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  และ

(3) ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว

ซึ่งกรณีตาม  (3)  ที่ว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วนั้น  หมายความว่าประชาชนผู้โต้แย้งจะต้องได้ใช้สิทธิตามมาตรา  211,  245(1)  และมาตรา  257  วรรคแรก  (2)  ครบทั้งสามขั้นตอนแล้วแต่ยังไม่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  กรณีนี้ประชาชนจึงจะใช้สิทธิตามมาตรา  212  วรรคแรกได้  ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  212  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  คดีนี้แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะปฏิเสธไม่ส่งข้อโต้แย้งของนายสดใสไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา  245(1)  ก็ตาม แต่นายสดใสก็ยังสามารถที่จะใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้อีก  กล่าวคือ  ยังสามารถไปร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา  254  วรรคแรก  (2)  ได้  และถ้าหากไม่มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญอีก  กรณีนี้นายสดใสจึงจะสามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยตนเองได้ตามมาตรา  212

ดังนั้นอาศัยเหตุและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  เมื่อนายสดใสยังปฏิบัติไม่ครบหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  นายสดใสจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา  212  ได้  เมื่อนายสดใสได้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายสดใสดังกล่าวได้

สรุป  ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องของนายสดใสไว้พิจารณา

 

ข้อ  4  ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  ได้มีประกาศกำหนดให้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ใหม่  และมีคำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ  เนื่องจากเคยถูกปลดออกจากราชการจึงขาดคุณสมบัติ  ซึ่งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า  นายเงินเป็นผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุด  ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่านายเงินมีส่วนให้บุคคลอื่นใช้อิทธิพลในการข่มขู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้เลือกตน  คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนและเห็นว่ามีมูลจริง  จึงมีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  หากนายทองเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะตนไม่เคยถูกปลดออกจากราชการ  และนายเงินเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะในการสอบสวนได้ตัดพยานของตนที่อ้างออกไปทั้งหมด  และประกาศการแบ่งเขตการเลือกตั้งฯก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคหนึ่งให้ได้เปรียบพรรคอื่นๆ  ดังนี้  นายทองและนายเงินจะใช้สิทธิทางศาลในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่  และศาลใดที่จะมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550 

มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  219  วรรคสาม  ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา  223  วรรคแรก  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน  หรือระหว่างหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน  อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย

มาตรา  239  วรรคหนึ่ง ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา  ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  28  วรรคสอง  เป็นสิทธิในทางศาลของบุคคลในรัฐ  โดยสิทธิดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อมีการละเมิด  (การกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายและการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น)  สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติรับรองไว้  ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นย่อมมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาล  หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยดังนี้  คือ

ประเด็นที่  1  การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ  เนื่องจากเคยถูกปลดออกจากราชการจึงขาดคุณสมบัตินั้น  คำวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งทำให้นายทองไม่สามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ได้  ถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของนายทอง  ดังนั้นนายทองย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ตามมาตรา  28  วรรคสอง  กล่าวคือนายทองสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้นั่นเอง

สำหรับศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณานั้น  เป็นอำนาจของศาลฎีกาตามมาตรา  219  วรรคสาม  เพราะเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ประเด็นที่  2  เมื่อตามมาตรา  239  วรรคแรก  ได้บัญญัติให้การวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด  ดังนั้นกรณีของนายเงินซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุด  แต่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนตามที่ได้มีการร้องเรียนและเห็นว่าคดีมีมูล  จึงมีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งฯนั้น  คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมถือเป็นที่สุด  นายเงินจะใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องเป็นคดีต่อศาลไม่ได้

ประเด็นที่  3  การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศกำหนดให้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ใหม่นั้น  ก็มาจากการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็น  “มติ”  ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง  หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ  ประกาศฯดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็น  “กฎ”  และเป็นกฎที่เกิดจากการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นเมื่อนายเงินเห็นว่าประกาศแบ่งเขตการเลือกตั้งฯ  ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลคือฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้  ทั้งนี้เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาในกรณีนี้คือศาลปกครองตามมาตรา  223  วรรคแรก

สรุป 

1       คำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ  นายทองสามารถใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้  และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาคือศาลฎีกา

2       คำวินิจฉัยที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งฯ  ถือเป็นที่สุด  นายเงินจะใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องเป็นคดีต่อศาลไม่ได้

3       ประกาศการแบ่งเขตการเลือกตั้งฯ  เป็นกฎ  ถ้านายเงินเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้  และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาคือศาลปกครอง

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน   ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  และอำนาจบริหาร  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่ามาอย่างไร  และใช้หลักอะไรเกี่ยวกับที่มาของอำนาจดังกล่าว

ธงคำตอบ

ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1       อำนาจนิติบัญญัติ 

อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

(ก)   สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  500  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ  125  คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(ข)  วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

2       อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ได้แก่  คณะรัฐมนตรี  ซึ่งประกอบด้วย

1       นายกรัฐมนตรี  จำนวน  1  คน  เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

2       รัฐมนตรี  จำนวนไม่เกิน  35  คน  ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย  เช่น  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการฯ  รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  เท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้น  นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่อย่างไรก็ตาม  คณะรัฐมนตรีจะเป็น  ส.ว.  ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1       อำนาจนิติบัญญัติ

หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  มีหลายประการ  เช่น

(1)  หลักความรู้ความสามารถ  เช่น  การกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า  เป็นต้น

(2)  หลักความชอบด้วยกฎหมาย  การดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัตินั้น  จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้  จะแตกต่างไปจากนั้นไม่ได้

(3) หลักความทั่วถึง  หลักความโปร่งใส  หลักการมีส่วนร่วม  กล่าวคือ  การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องทั่วถึง  โปร่งใส  และชอบด้วยกฎหมาย  จะต้องไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือใช้อิทธิพลใดๆทั้งสิ้น

(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต  หมายความว่า  การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องเป็นการได้มาจากการกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริต

(5) หลักความเหมาะสม  เช่น  การกำหนดว่า  บุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จะต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นบุคคลติดยาเสพติดให้โทษ  เป็นต้น

2  อำนาจบริหาร

หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจบริหาร  มีหลายประการเช่นเดียวกัน  เช่น

(1)  หลักความรู้ความสามารถ  เช่น  การกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า  เป็นต้น

(2)  หลักความเหมาะสม  เช่น  การกำหนดว่า  รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา  หรือความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก  แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ  เป็นต้น

(3) หลักเสียงส่วนใหญ่  เช่น  การกำหนดว่า  นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (โดยเสียงส่วนใหญ่)  เท่านั้น  เป็นต้น

(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต  เช่น  การกำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน  เป็นต้น      

 

 

ข้อ  2  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

(ก)   อำนาจตุลาการของไทยปัจจุบันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลมีกี่ศาล  อะไรบ้าง  และการเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการของไทยใช้หลักอะไรบ้าง

(ข)   จงอธิบายการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี  พ.ศ.2550

ธงคำตอบ

ก.      อำนาจตุลาการของไทยคือ  “ศาล”  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ  ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้ศาลมีด้วยกัน  4  ศาลได้แก่

1       ศาลรัฐธรรมนูญ  คือ  องค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  และทำหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

2       ศาลยุติธรรม  คือ  ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง  ซึ่งมิได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง  และศาลทหาร

ศาลยุติธรรมแบ่งเป็น  3  ชั้น  ได้แก่  ศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  และศาลฎีกา

3       ศาลปกครอง  คือ  องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง  ซึ่งเป็นคดีที่เป็นข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งระหว่างเอกชนกับหน่วยราชการ  รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือระหว่างหน่วยงานเหล่านั้น  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

ศาลปกครอง  แบ่งออกเป็น  2  ชั้น  ได้แก่  ศาลปกครองชั้นต้น  และศาลปกครองสูงสุด  ส่วนศาลปกครองชั้นอุทธรณ์จะมีหรือไม่ก็ได้

4       ศาลทหาร  คือ  องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอาญาทหาร  และคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัต

ศาลทหารแบ่งออกเป็น  3  ชั้น  ได้แก่  ศาลทหารชั้นต้น  ศาลทหารชั้นกลาง  และศาลทหารชั้นสูงสุด

สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการของไทย  ใช้หลักอยู่หลายประการ  เช่น

1       หลักความรู้ความสามารถ  เช่น  ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา  ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง  เป็นต้น

2       หลักประสบการณ์  คือ  ต้องมีประสบการณ์ตามที่กฎหมายกำหนด

3       หลักความเหมาะสม  เช่น  การกำหนดว่า  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นข้าราชการ  ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ  เป็นต้น

4       หลักความยุติธรรม  คือ  การพิจารณาพิพากษาคดี  หรือการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล  จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

5       หลักความซื่อสัตย์สุจริต

ข  การถ่วงดุลและการตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย  ฉบับปี พ.ศ.2550

1       อำนาจนิติบัญญัติ  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย  ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาลรัฐธรรมนูญ  และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร  เช่น  การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ  ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้

2       อำนาจบริหาร  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เป็นต้น

3       อำนาจตุลาการ  การใช้อำนาจตุลาการนั้น  อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น  และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตาม  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

 

 

ข้อ  3  นายทองและพวกรวม  17  คนได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอจัดตั้ง  “พรรคชูชาติไท”  ปรากฏว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ปฏิเสธการรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคดังกล่าว

โดยแจ้งเป็นหนังสือแก่นายทองและพวกว่า  เนื่องจากนโยบายของพรรคตามเอกสารที่ยื่นมาพิจารณาแล้วเห็นว่า  พรรคชูชาติไท  ไม่สามารถจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองได้  เพราะนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพรรคต้องการให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ  และให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากนายทองและพวกเห็นว่า  การปฏิเสธดังกล่าวของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  นายทองและพวกจะใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลใดได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  1  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว  จะแบ่งแยกมิได้

มาตรา  2  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  65  วรรคหนึ่งและวรรคสอง  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง  เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น  ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

การจัดองค์กรภายใน  การดำเนินกิจการ  และข้อบังคับของพรรคการเมือง  ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ.2550 

มาตรา  13  วรรคท้าย  ผู้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียน อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งตามวรรคสามต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยออกได้  2  ประเด็น  ดังนี้คือ

ระเด็นที่  1  การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของพรรคชูชาติไท  ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

การที่นายทองและพวกได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอจัดตั้ง  พรรคชูชาติไทนั้น  นายทองและพวกย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองได้  ตามมาตรา  65  วรรคแรก  และการที่พรรคชูชาติไทมีนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยต้องการให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง  ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ  และให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐนั้น  จะเห็นได้ว่า  แม้นโยบายและวัตถุประสงค์ของพรรคจะเป็นการส่งเสริมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศจะไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม  แต่การที่พรรคมีนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐนั้น  นโยบายและวัตถุประสงค์ของพรรคกรณีนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ตามมาตรา  65  ประกอบมาตรา  1  ซึ่งได้บัญญัติให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  และมาตรา  2  ซึ่งได้บัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น  การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของพรรคชูชาติไทยจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่  2  หากนายทองและพวกเห็นว่า  การปฏิเสธดังกล่าวของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  นายทองและพวกจะใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลใดได้หรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองปฏิเสธไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวของนายทองและพวกนั้น  เป็นเพราะนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพรรคนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ตามมาตรา  65  ดังนั้น  การกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทองและพวก

และเมื่อไม่ถือว่านายทองและพวก  ถูกละเมิดเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  ดังนั้นนายทองและพวกจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลได้  ตามมาตรา  28  วรรคสอง  ประกอบกับ  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ  มาตรา  13  วรรคท้าย

สรุป  การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  นายทองและพวกไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลได้

 

 

ข้อ  4  นายแดงถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา  ขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.2551  นายแดงให้การปฏิเสธและให้การโต้แย้งต่อศาลว่า  มาตรา  32  พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.2551  ซึ่งได้บัญญัติ  “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม  โดยตรงหรือโดยอ้อม”  และในวรรคสามได้บัญญัติว่า  “บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”  นายแดงเห็นว่าการที่มาตรา  32  วรรคสาม  มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำหนดนอกราชอาณาจักรอย่างกรณีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมนั้น  ย่อมขัดหรือแย้งต่อมาตรา  6  ซึ่งบัญญัติให้  “บทบัญญัติกฎหมายใด  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันใช้บังคับมิได้”  และขัดต่อมาตรา  43  รัฐธรรมนูญฯ  ซึ่งบัญญัติให้  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม”  ขอให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลจังหวัดสงขลา  ซึ่งพิจารณาคดีนี้จะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา  211  วรรคหนึ่ง  “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  มาตรา  211  วรรคแรก  กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา  6

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งพิจารณาคดีนี้จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  211  วรรคแรกหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่  1  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ  มาตรา  32  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา  6  หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญฯ  มาตรา  6  เป็นบทบัญญัติในหมวด  1  ว่าด้วยบททั่วไปซึ่งบัญญัติว่า    “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้  บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  บทบัญญัติของมาตรานี้มิได้บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ  เพียงแต่กำหนดสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้เท่านั้น  จึงไม่อาจจะมีบทบัญญัติของกฎหมายใดมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา  6  ได้

ดังนั้น  จึงไม่ถือว่า  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ  มาตรา  32  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา  6

ประเด็นที่  2  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ  มาตรา  32  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา  43  หรือไม่

การที่  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา  32  วรรคสามบัญญัติว่า  “บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร  อันเนื่องมาจากการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมมาจากต่างประเทศซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมและการโฆษณานั้นย่อมสิ้นสุดไปพร้อมกับการถ่ายทอดสดรายการนั้นๆ  มิได้ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดไปเหมือนดังเช่นการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดภายในราชอาจักร

ดังนั้น  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา  32  จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา  43

และเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว  คือ  พ.ร.บ.  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา  32  ซึ่งจะใช้บังคับแก่คดีนั้น  มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น  ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งพิจารณาคดีนี้จะไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ภาคซ่อม 1/2542

การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2542

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.     หนึ่ง สอง สาม และสี่ ร่วมกันวางแผนสมคบกันไปปล้นบ้านนายเอก ระหว่างทางไปปล้น หนึ่งเกิดเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมปล้น จึงได้แยกทางไป สอง สาม และสี่ จึงไปยังบ้านของนายเอกและได้ปล้นทรัพย์สินเงินทองไปเป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้นมีแหวนและสินสอดที่นายเอกกำลังจะนำไปสู่ขอ เจ้าสาวคือนางสาวทองเอก สองเห็นว่า นายเอกมีหน้าตาดี จึงแกล้งเอามีดโกนกรีดหน้าจนนายเอกเสียโฉม

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)    นายเอกจะฟ้องร้องให้ “หนึ่ง” ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานร่วมกระทำละเมิดกับ “สอง สาม และสี่” ได้หรือไม่อย่างไร

(ข)     หากนางสาวทองเอกเกิดความอับอายชาวบ้าน ที่นายเอกหน้าตาเสียโฉม และไม่มีเงิน สินสอดมาสู่ขอตน จึงได้ฆ่าตัวตาย ดังนี้ ทายาทของนางสาวทองเอก และนายเอก จะเรียกร้องให้ สอง สาม และสี่ ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดต่อชีวิตของนางสาวทองเอกได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

    (ก) นายเอกไม่สามารถฟ้องร้องให้ “หนึ่ง” รับผิดร่วมกับ สอง สาม และสี่ ในฐานะละเมิด เพราะ “หนึ่ง” ไม่ได้ “ร่วมกระทำ” มาตั้งแต่ต้นจนถึงเวลาที่มีการกระทำละเมิด เพียงแต่วางแผนร่วมกันและได้ล้มเลิกการกระทำก่อนที่จะมีการละเมิดเกิดขึ้น จึงยังไม่เป็นการยุยง ส่งเสริม หรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิด อันจะถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคสองแต่อย่างใด

        (ข) ทายาทของนางสาวทองเอก และนายเอก ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก สอง สาม และ สี่ ฐานกระทำละเมิดต่อชีวิตของนางสาวทองเอก เพราะความตายของนางสาวทองเอก ไม่ได้เป็นผลที่สัมพันธ์กับการกระทำละเมิดของบุคคลทั้งสามแต่อย่างใด ไม่เข้าหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 420

 

 

ข้อ 2. ติงนังนังเป็นนักร้องซึ่งถูกคนปองร้ายและขู่ฆ่า เขาจึงไปซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนมาใส่ วันหนึ่งคนร้ายได้ใช้ปืนยิงมาที่ติงนังนังโดยหวังจะฆ่าให้ตาย แต่ติงนังนังได้ใช้เสื้อเกราะกำบังมิให้กระสุนถูกตนเอง ติงนังนังจึงไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนได้กระเด็นไปถูกกระจกรถของนายรุ่ง ทำให้กระจกรถของนายรุ่งแตกกระจายกระเด็นใส่ตานายสุริยา ทำให้นายสุริยาตาบอด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายรุ่ง และนายสุริยา จะฟ้องร้องเรียกให้ติงนังนังรับผิดฐานละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ ติงนังนังถูกคนร้ายยิง และได้ทำการป้องกันตัวโดยการหันเสื้อเกราะเข้าใส่กระสุนเพื่อมิให้กระสุนถูกตนเอง มิได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดผู้ใด เพราะติงนังนังมิได้กระทำผิดกฎหมายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่อย่างใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ นายรุ่ง และนายสุริยา เป็นความเสียหายที่เกิดจากคนร้าย โดยถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของคนร้าย ไม่ได้สัมพันธ์กับการกระทำของติงนังนัง

กรณีตามปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องการอ้างเหตุโทษกรรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 เพราะการอ้างนิรโทษกรรมหมายถึงการกระทำที่เป็นละเมิดแต่ได้ทำไปเพราะมีเหตุจำเป็นอันอ้างกฎหมายได้ จึงไม่ต้องรับผิด แต่ข้อเท็จจริงตามปัญหาเป็นกรณีที่ติงนังนังมิได้กระทำการอันเป็นละเมิดมาตั้งแต่ต้นอยู่ก่อนแล้ว

 

 

ข้อ 3.      นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนโดยมีนายสองเป็นคนซ้อนท้าย พอไปถึงที่เกิดเหตุ จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ปรากฏว่านายหนึ่งถึงแก่ความตาย ส่วนนายสองได้รับบาดเจ็บ ข้อเท็จจริงได้ความว่านายหนึ่งอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยากับนางบุษบาโดยไม่ได้ จดทะเบียน เกิดบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง ขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้น นายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูตลอดมา แต่นายหนึ่งไม่ยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนายหนึ่งด้วย เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายโน๊ตซึ่งเป็นอาของเด็กชายแดงจัดการศพตามประเพณี เสียค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท ส่วนนายสองได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งปกติแล้วนายสองต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 50,000 บาท แต่เนื่องจากนายสองรู้จัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลลดให้ครึ่งหนึ่ง นายสองต้องจ่ายเพียง 25,000 บาท นายสองรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 7 วันจึงหายเป็นปกติ ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     นายสองจะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้จำนวนเท่าใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

    มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย”

    มาตรา 444 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย หรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย”

    กรณีตามปัญหา การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ทำให้นายหนึ่งตายและสองได้รับบาดเจ็บ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

    การที่นายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา ถือได้ว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว โดยพฤติการณ์ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นทายาทของนายหนึ่ง ดังนั้นเด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้

    (เทียบฎีกาที่ 14/2517) ถึงแม้ว่านายโน้ตซึ่งเป็นอาของเด็กชายแดงจะเป็นคนจัดการศพและออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไป โดยที่เด็กชายแดงไม่ได้เป็นคนจ่ายก็ตาม เด็กชายแดงยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา 443 (เทียบฎีกาที่ 698/2538)

    การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้นายสองได้รับบาดเจ็บ นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้ตามมาตรา 444

    การที่นายสองได้รับการลดค่ารักษาพยาบาลเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายสอง ไม่เป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยต้องลดลงไปด้วย ดังนั้น นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยได้ จำนวน 50,000 บาท (เทียบฎีกาที่ 806/2533)

สรุป   (1) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

        (2) นายสองฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลได้ จำนวน 50,000 บาท

 

 

ข้อ 4.     นายสิงห์เช่าแผงลอยของเทศบาลเมืองสระบุรีเพื่อค้าขาย หลังจากค้าขายไปได้สามเดือน นายสิงห์ได้ต่อเติมแผงลอยออกไปอีก ปรากฏว่าในส่วนที่ต่อเติมออกไปนั้นมีทั้งส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ กับส่วนที่ไม่ได้รุกล้ำทางสาธารณะ ต่อมามีผู้ไปร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีการต่อเติมแผงลอยรุกล้ำทางสาธารณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปตรวจสอบพบว่าแผงลอยรุกล้ำทางสาธารณะ 2 เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้เทศบาลเมืองสระบุรีรื้อถอนแผงลอยเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ ปรากฏว่าเทศบาลได้ทำการรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่นายสิงห์ต่อเติมออกไปทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รุกล้ำกับส่วนที่ไม่รุกล้ำ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสิงห์ต่อเติมแผงลอยในส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะคิดเป็นเงิน 5,000 บาท สำหรับแผงลอยส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะเสียค่าใช้จ่ายไป 7,000 บาท

        ให้ท่านวินิจฉัยว่าเทศบาลเมืองสระบุรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 บัญญัติว่า “บุคคลใดเมื่อกระทำการฟ้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

กรณีตามปัญหา การที่เทศบาลรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ 2 เมตรนั้น การกระทำของเทศบาลถือว่าเป็นการทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 เทศบาลจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์

กรณีเทศบาลรื้อถอนแผงลอยในส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะ นั้นการกระทำของเทศบาลถือว่าเป็นการทำเกินคำสั่งของเจ้าพนักงาน ย่อมไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 ดังนั้น การกระทำของเทศบาลจึงเป็นละเมิดตาม

มาตรา 420 เทศบาลต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสิงห์เป็นเงิน 5,000 บาท (เทียบฎีกาที่ 1358-1359/2506)

สรุป     (1) กรณีรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะ เทศบาลไม่ต้องรับผิด

    (2) กรณีรื้อถอนส่วนที่ไม่รุกล้ำทางสาธารณะ เทศบาลต้องรับผิด

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2542 ภูมิภาค

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2542  (ส่วนภูมิภาค)

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1     ยอดชายเป็นบิดาของเด็กชายเล็กอายุ 2 เดือน และเป็นนายจ้างของนางแจ๋ว วันหนึ่งยอดชายต้องไปต่างจังหวัด จึงได้สั่งให้นางแจ๋วเลี้ยงดูแลเด็กชายเล็ก ในคืนนั้นเองนางแจ๋วซึ่งอาบน้ำให้อาหารให้แก่เด็กชายเล็กเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำเด็กชายเล็กไปใส่ไว้ในเปลที่เด็กหญิงกลางนอนอยู่

เด็กหญิงกลางมีอายุ 2 เดือน เป็นบุตรสาวของนางแจ๋ว และในเวลานั้นยังไม่ได้นอนหลับ ก็ได้แกว่งมือเท้าเล่นไปมา ทำให้นิ้วเลยไปทิ่มตาเด็กชายเล็ก เป็นผลให้เด็กชายเล็กกลายเป็นคนตาบอด

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า แจ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กชายเล็กในความเสียหายที่เด็กชายเล็กต้องตาบอดหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

 หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 420, 429

วินิจฉัย

    แจ๋วมีความรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กชายเล็ก ตามมาตรา 420 อันเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของแจ๋วเอง โดยถือว่าเป็นการที่แจ๋วงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย

    ความรับผิดของแจ๋วมิใช่ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของผู้อื่นตามมาตรา 429 เพราะเหตุว่า ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 429 นั้น เป็นความรับผิดในกรณีที่มีบุคคลซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำละเมิด และกฎหมายกำหนดให้บิดามารดาร่วมรับผิดกับเขาด้วย เมื่อเด็กหญิงกลางเป็นผู้เยาว์ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 2 เดือน ย่อมไม่รู้สำนึกในการกระทำของตนเองในเวลาที่ก่อความเสียหาย ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเด็กหญิงกลางมีการกระทำ เมื่อยังไม่มีการกระทำจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420

 

 

ข้อ 2. ติ๋มเป็นเจ้าของสุนัขตัวหนึ่ง ได้สั่งให้แต๋วลูกจ้างของตน พาสุนัขตัวนี้ไปเดินเล่นในที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แต๋วได้ใช้เชือกล่ามที่คอของสุนัขแล้วพาเดินไป ระหว่างเดินไปนั้นเอง แอ๋วได้พาอ๋องหลานชายอายุ 4 ขวบมาเดินเล่นที่สวนนี้เช่นกัน อ๋องเห็นสุนัขจึงแกล้งใช้ก้อนอิฐปาไปที่หัวสุนัข สุนัขตกใจจึงกระโดดหนีเชือกหลุดจากมือของแต๋ว และสุนัขกระโจนไปถูกหาบขนมจีนของดาวเสียหาย

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดาวจะเรียกให้ติ๋ม และแอ๋วรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนได้หรือไม่ อย่างไร

  ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย มาตรา 420, 430 และ 433

วินิจฉัย

ดาวเรียกให้ติ๋มรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ที่ติ๋มเป็นเจ้าของตามมาตรา 433 ไม่ได้ เพราะเหตุว่า มาตรา 433 เป็นกฎหมายที่กำหนดความรับผิดกับผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์ไว้เฉพาะในกรณีที่เป็นความเสียหายอันเกิดจากสัตว์เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงตามปัญหาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคน (อ๋อง) มิใช่เกิดจากสุนัข ดังนั้น จึงต้องเอาผิดกับอ๋องผู้เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายที่แท้จริง เมื่อการกระทำของอ๋องเป็นการกระทำผิดละเมิดตามมาตรา 420 แอ๋วซึ่งเป็นผู้รับดูแลผู้เยาว์อยู่ในเวลานั้น จึงต้องมีความรับผิดร่วมกับอ๋องผู้เป็นหลานชายด้วย ตามมาตรา 430

 

 

ข้อ 3. นายสีกับนางสาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนเกิดบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง ในขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้นนายสียอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา วันเกิดเหตุจำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายสี่สลบไป ระหว่างสลบนั้นปรากฏว่านาฬิกาแว่นตา มูลค่า 5,000 บาท สูญหายไป นายสีรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนต่อมาถึงแก่ความตาย

ข้อเท็จจริงได้ความว่านางสาซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายแดงถึงแก่ความตายหลังจากที่คลอดเด็กชายแดงออกมาแล้ว ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีนาฬิกาและแว่นตาของนายสีสูญหายไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(3)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

กรณีตามปัญหา การที่นาฬิกาแว่นตาสูญหายไปในระหว่างที่นายสีสลบไปนั้นถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดและเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกจากจำเลยได้ ตามมาตรา 438 วรรค 2 โดยถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้น (เทียบฎีกาที่ 1576/2506)

การที่นายสียอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และอุปการะเลี้ยงดูตลอดมานั้น ถือได้ว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นทายาทของนายสี เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ (เทียบฎีกาที่ 14/2517)

การที่นายสีและนางสาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กชายแดงจึงเป็นบุตรนอกกฎหมาย ถึงแม้นายสีจะยอมให้ใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูตลอดมาเป็นเพียงรับรองโดยพฤติการณ์เท่านั้น สถานะของเด็กชายแดงยังเป็นบุตรนอกกฎหมายอยู่ ดังนั้นเด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้ (เทียบฎีกา 508/2519)

สรุป (1) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีนาฬิกาแว่นตาสูญหายได้

(2) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้

(3) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้

 

 

ข้อ 4      นายขาวและนายหนึ่งเป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุนายขาวขับรถไปที่บ้านของนายหนึ่ง นายขาวจอดรถไว้ในโรงรถซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านของนายหนึ่ง ขณะนั้นลิงของนายแดงได้ลอบเข้าไปกัดเบาะรถยนต์ของนายขาวได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,000 บาท ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 452 บัญญัติว่า “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้นและยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้”

กรณีตามปัญหา นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ เพราะนายขาวไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์

นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ เพราะลิงของนายแดงไม่ได้ทำความเสียหายต่อทรัพย์ของนายหนึ่งแต่ประการใด ดังนั้นจึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่นายหนึ่ง

สรุป (1) นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

(2) นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 2/2542

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2542

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1. นางแป้นเป็นมารดาของเด็กหญิงแดง ใช้ให้เด็กหญิงแดงไปขโมยลูกสุนัขของนางจ้อยซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เด็กหญิงแดงจึงแอบลอบเข้าไปในบ้านของนางจ้อยแล้วขโมยลูกสุนัขออกมาจากในกรงระหว่างที่กำลังมุดรั้วกลับนั้นเอง สุนัขตัวแม่เห็นเข้าพอดี จึงกระโดดเข้ากัดเด็กหญิงแดงที่ข้อเท้าจนเป็นแผลใหญ่เลือดไหลมาก ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)     นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อตนได้หรือไม่อย่างไร

(2)     หากว่าต่อมาหญิงแดงถึงแก่ความตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ได้ นางแป้นจะเรียกร้องให้นางจ้อยรับผิดในค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ อ้างหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 420, 432, 433 และ 443

วินิจฉัย

ข้อ (1) นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อตนได้ตามมาตรา 420 และ 432 ในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดกับเด็กหญิงแดง (ไม่ใช่กรณีที่รับผิดตามมาตรา 429 ในฐานะเป็นมารดาของเด็กหญิงแดง)

ข้อ (2) นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กหญิงแดงได้ไม่ได้ เพราะนางแป้นมิได้กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงแดงตามมาตรา 420 ด้วยเหตุที่ไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายต่อเด็กหญิงแดงแต่อย่างใด และนางแป้นก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 433 แม้ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กหญิงแดงได้รับความเสียหายเพราะสัตว์ซึ่งนางแป้นเป็นเจ้าของ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดของเด็กหญิงแดงเองที่ลอบเข้ามาในบ้านของ นางแป้น ถือได้ว่านางแป้นได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสัตว์ตามวิสัยและพฤติการณ์ของสัตว์โดยเลี้ยงไว้ในบ้านของตนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กหญิงแดงได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรือต่อชีวิต ดังนั้นนางแป้นจึงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 ไม่ได้

 

 

ข้อ 2. นายแจ๋วขับรถด้วยความเร็วสูงไปยังถนนสายหนึ่ง ขณะนั้นเองมีสุนัขวิ่งตัดหน้า นายแจ๋วจึงเบรครถอย่างกระทันหัน และเกิดเบรคแตก ทำให้รถลื่นไถลไปชนประตูกำแพงบ้านของนางแหวว และยังไถลลื่นไปชนรถของ นางติ๋มที่จอดอยู่ในบ้านนั้นด้วย ทำให้รถนางติ๋มพังเสียหาย และปรากฏว่าใต้ท้องรถของนางติ๋มนั้น มีนายช่างกำลังซ่อมใต้ท้องรถอยู่ และได้รับบาดเจ็บสาหัสหมดสติไป ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)     การที่รถเบรคแตกแล้วเกิดความเสียหายขึ้นนั้น นายแจ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อนางแหวว นางติ๋ม และนายช่างหรือไม่

(2)     หากนายแจ๋วตัดความรำคาญด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มเป็นค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจโดยสุจริตว่านางติ๋มเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าว และนางติ๋มได้รับเงินไปแล้ว นางแหววและ นายช่างจะมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากนายแจ๋วอีกได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

อ้างหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 437 และ 441

วินิจฉัย

ข้อ (1) นายแจ๋วมีความรับผิดต่อนางแหวว นางติ๋ม และนายช่าง ตามมาตรา 437 เพราะเหตุที่เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล และไม่สามารถอ้างการที่รถเบรคแตกเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะเหตุว่าเหตุสุดวิสัยคือเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ แต่การที่อุปกรณ์ของรถเสื่อมสภาพนั้น ผู้ขับขี่รถอาจป้องกันได้ก่อนขับขี่ จึงไม่อาจเป็นเหตุสุดวิสัยได้

ข้อ (2) บทบัญญัติในมาตรา 441 ให้สิทธิแก่ผู้ทำละเมิดซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ว่าให้เป็นอันหลุดพ้นในความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นกรณีที่มีความเสียหายต่อ “สังหาริมทรัพย์” และเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ “ผู้ครองทรัพย์” ในขณะนั้น รวมทั้งต้องเป็นการชดใช้ให้ไปโดย “ปราศจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วย เท่านั้น ดังนั้นจากข้อเท็จจริงตามปัญหา

ท นายแจ๋วทำให้ประตูกำแพงบ้านเสียหาย ประตูกำแพงบ้านไม่ใช่เป็น “สังหาริมทรัพย์” จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ทำให้นายแจ๋วหลุดพ้นจากการชำระหนี้ละเมิดต่อผู้เสียหายที่แท้จริงคือนางแหวว

ท นายแจ๋วทำให้รถ (สังหาริมทรัพย์) ของนางติ๋มเสียหาย และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มซึ่งเป็นผู้ครอง “สังหาริมทรัพย์” อยู่ในขณะนั้นแล้ว นายแจ๋วจึงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดต่อนางติ๋มแล้ว ตามมาตรา 441

ท กรณีที่นายช่างได้รับความเสียหายแก่ร่างกายนั้น นายแจ๋วจะอ้างความหลุดพ้นเพราะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มไปแล้วนั้นไม่ได้ เพราะมาตรา 441 มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีที่ “สังหาริมทรัพย์” ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่รวมถึงความเสียหายกรณีที่มีคนเจ็บหรือตาย

 

 

ข้อ 3. นายสิงห์กับนายสาไม่ถูกกันมาก่อน วันเกิดเหตุขณะที่นายสิงห์ยืนอยู่ริมหน้าต่างชั้นสองบ้านของนายสิงห์เอง เห็นนายสาเดินมานายสิงห์ใช้มือผลักบานหน้าต่างตกลงมาถูกศีรษะนายสาได้รับบาดเจ็บ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสิงห์ต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 434 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรียนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุด บกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหาย ฉะนั้นแล้วท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

กรณีตามปัญหา การที่นายสิงห์ใช้มือผลักบานหน้าต่างตกลงมาถูกศีรษะนายสาได้รับบาดเจ็บ การกระทำของนายสิงห์เป็นการกระทำโดยรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจึงถือว่าเป็นการจงใจ การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

กรณีนี้มิใช่ความรับผิดตามมาตรา 434 เพราะการที่จะเป็นความรับผิดตามมาตรา 434 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีการจงใจหรือไม่มีการประมาทเลินเล่อ ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการจงใจหรือมีการประมาทเลินเล่อเข้ามาเกี่ยวข้องจะต้องใช้มาตรา 420 จะนำมาตรา 434 มาใช้ไม่ได้

สรุป นายสิงห์ต้องรับผิดทางละเมิด ตามมาตรา 420

 

 

ข้อ 4. (ก) นายแดงประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่นายขาวเช่าจากนายฟ้า แดงเข้าใจโดยสุจริตว่านายขาวเป็นเจ้าของบ้านจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายขาวไป 200,000 บาท ต่อมานายฟ้าเจ้าของบ้านที่แท้จริงมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข)     นายเอกลักรถยนต์ของนายโทไปแล้ว 5 วัน และกำลังจะนำรถเดินทางไปต่างประเทศ นายตรีซึ่งเป็นเพื่อนกับนายโทรู้ข่าวจะขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือก็ไม่ทันการณ์ นายตรีจึงใช้กำลังติดตามเอารถกลับคืนมาให้นายโทเป็นเหตุให้นายเอกได้รับความเสียหาย ดังนี้ นายตรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน”

กรณีตามปัญหา การที่แดงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวไป แดงย่อมไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 441 เนื่องจาก บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 441 ดังนั้นเมื่อนายฟ้าเจ้าของบ้านที่แท้จริงมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้า

สรุป นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้า

(ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 451 บัญญัติว่า “บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมาก หรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

กรณีตามปัญหา การที่นายตรีใช้กำลังติดตามเอารถกลับคืนมาเป็นเหตุให้นายเอกได้รับความเสียหาย นายตรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอก เพราะการกระทำของนายตรีไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 451 การที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 451 จะต้องเป็นการใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น ไม่รวมถึงการป้องกันสิทธิของผู้อื่น

สรุป นายตรีต้องรับผิดต่อนายเอก

LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ 1/2542

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2542

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1. แอ๊วเป็นลูกจ้างแมวทำหน้าที่ขับรถรับส่งสินค้าในร้านค้าของแมว วันหนึ่งแมวสั่งให้แอ๊วไปลักรถยนต์ของติ๋ม เพื่อไปขายต่อให้กับแอ๊ดตามที่ตกลงกันแต่ตำรวจจับแอ๊วได้ขณะที่แอ๊วได้เข็นรถยนต์ของติ๋มทิ้งลงเหวเพื่อ ทำลายหลักฐานเนื่องจากกลัวความผิดหลังจากที่ได้ลักรถยนต์มาแล้ว ต่อมาติ๋มได้ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนฐานละเมิดให้แมว แอ๊ว และแอ๊ดร่วมกันรับผิด หากปรากฏว่า

1. แอ๊วปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าตนได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง แอ๊วจึงไม่ต้องรับผิด เพราะได้รับนิรโทษกรรม

2.     แมวปฏิเสธว่าแอ๊วกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง แมวจึงไม่ต้องรับผิด

3. แอ๊ดปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิด เพราะตนยังมิได้แตะต้องหรือเข้าเกี่ยวข้องกับรถยนต์ของติ๋มแต่อย่างใด

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อแก้ตัวของบุคคลทั้งสามดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ     หลักกฎหมาย     ป.พ..พ.มาตรา 420, 425, 432 และ 449

วินิจฉัย     การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำละเมิดร่วมกัน โดยการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่ได้ร่วมใจร่วมกายในการทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลร่วมกันมาตั้งแต่ต้น ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 432 วรรคแรก และวรรคสอง ดังนั้น บุคคลทั้งสามจึงต้องรับผิดร่วมกันต่อผู้เสียหาย คือติ๋ม ตามมาตรา 432 วรรคแรก

1. ข้อแก้ตัวของแอ๊วฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าการกระทำของแอ๊วไม่อาจอ้างนิรโทษกรรม ตามมาตรา 449 ที่ว่าเป็นการกระทำตามคำสังอันชอบด้วยกฎหมาย เพราะแมวไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งได้ตาม ความหมายในมาตรา 449

2. ข้อแก้ตัวของแมวฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าความรับผิดของแมวมิใช่เป็นความรับผิดฐานละเมิดในฐานะ ที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้กระทำละเมิดตามมาตรา 425 แต่หากเป็นความรับผิดในฐานะผู้ร่วมกระทำละเมิด ตามมาตรา 432 จึงไม่มีกรณีที่จะอ้างเหตุผลในมาตรา 425 เพี่อยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวแต่อย่างใด

3. ข้อแก้ตัวของแอ๊ดฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่า แอ๊ดเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดอีกผู้หนึ่งในเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะแอ๊ดได้ตกลงกับแมวรับซื้อรถยนต์ที่ลักมาแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกันกระทำละเมิด ตามมาตรา 432 วรรคสอง และต้องรับผิดร่วมกันกับผู้ร่วมกระทำละเมิดอื่น ๆ ด้วย ตามมาตรา 432

 

 

ข้อ 2. นายจอห์นนี่เป็นนักศึกษาหัวรุนแรงต้องการให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยมาก ๆ จึงได้เข้าไปใน รัฐสภา พร้อมกับใช้ปืนขู่นายห้างทองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง เพื่อจับไว้เป็นตัวประกัน นายห้างทองเห็นว่านายจอห์นนี่เป็นคนดีและมีเลือดประชาธิปไตยเข้มข้นเช่นเดียวกับตน จึงได้ยินยอมให้ นายจอห์นนี่จับไว้เป็นตัวประกัน

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไว้เป็นประกันนายจอห์นนี่เกิดอาการเครียด อย่างมากจนเพ้อไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถควบคุมสติไว้ได้ จึงได้ทำลูกระเบิดหล่นลงพื้น เกิดการระเบิด อย่างรุนแรง ทำให้นายห้างทองถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายจอห์นนี่กระทำละเมิด ต่อนายห้างทองในการทำให้เสียหาย 

1) แก่เสรีภาพ และ 

2) แก่ชีวิต หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ    หลักฎหมาย    ป.พ.พ.มาตรา 420 และหลักสุภาษิตกฎหมายเรื่อง “ความยินยอม”

วินิจฉัย อ้างหลักเกณฑ์การกระทำละเมิด ตามมาตรา 420

การกระทำของนายจอห์นนี่ไม่เป็นการทำละเมิดต่อเสรีภาพของนายห้างทอง เพราะเป็นการกระทำ ที่ได้รับความยินยอมจากนายห้างทอง และเป็นความยินยอมที่ใช้อ้างเพื่อไม่ต้องมีความผิดเพื่อละเมิดได้ ตามหลักสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยินยอมทำให้ไม่เป็นละเมิด” (Volenti non fit injuria) และ การกระทำของนายจอห์นนี่ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อชีวิตของนายห้างทองด้วยเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น จากเหตุที่นายจอห์นนี่มิได้มี “การกระทำ” เนื่องจากนายจอห์นนี่ไม่รู้สำนึกในการกระทำในขณะนั้น คำว่า “การกระทำ” ที่กฎหมายถือว่าเป็นการกระทำนั้น หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำเมื่อนายจอห์นนี่ ไม่รู้สำนึกในขณะนั้น จึงขาดหลักเกณฑ์ที่ว่าผู้ก่อความเสียหายต้องมีการกระทำ จึงถือว่าไม่มีการทำละเมิด

        (หากนักศึกษาตอบมาตรา 437 เรื่อง ความรับผิดของผู้ครองทรัพย์อันตรายโดยไม่ตอบ เรื่อง “การกระทำ” ตามมาตรา 420 ถือว่าไม่ได้คะแนน เพราะข้อสอบถามว่า “มีการกระทำละเมิด” หรือไม่ ไม่ได้ถามว่า “มีความ รับผิด” หรือไม่

 

 

ข้อ 3.      นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนโดยมีนายสองเป็นคนซ้อนท้าย พอถึงที่เกิดเหตุนายสิงห์ขับรถด้วย ความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ปรากฏว่านายหนึ่งสลบไปในระหว่างที่นายหนึ่ง สลบไปนั้น นาฬิกาแว่นตาของนายหนึ่งมูลค่า 5000 บาทสูญหายไป ต่อมานายหนึ่งถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายไป 10,000 บาท จึงหายเป็นปกติ ส่วนนายสองซึ่งเป็นคนซ้อนท้ายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสองอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยากับนางสีโดยไม่ได้จดทะเบียน มีบุตรคนหนึ่งคือ เด็กชายแดง ในขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้น นายสองยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล พร้อมทั้ง อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีแว่นตานาฬิกาสูญหายไป ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(3) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(4)     เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือ ใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่า ใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคล คนนั้น ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 444 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในอนาคตด้วย”

(1) กรณีตามปัญหา นายหนึ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีแว่นตานาฬิกาสูญหายได้ โดยถือว่าเป็นค่า เสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายใด ๆ ที่ก่อให้เกิดขึ้น ตามมาตรา 438 วรรคสอง เพราะเป็น ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิด และเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ (เทียบฎีกา 1576/2506)

(2) กรณีตามปัญหา นายหนึ่งฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายสิงห์ได้ ตามมาตรา 444 โดยถือว่า ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 10,000 บาท ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป

(3) กรณีตามปัญหา เด็กชายแดงเป็นบุตรที่เกิดจากนายสอง และนางสี โดยไม่ได้จดทะเบียน จึงถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่การที่นายสองยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลและอุปการะ เลี้ยงดู เด็กชายแดงตลอดมา จึงถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 ส่งผลให้ถือว่าเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ดังนั้น เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียก ค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้ ตามมาตรา 443 วรรคแรก (เทียบฎีกาที่ 14/2517)

(4)    กรณีตามปัญหา เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายสิงห์ไม่ได้ เนื่องจากเด็กชายแดง เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบฎีกาที่ 508/2519)

 

 

ข้อ 4. นายเอกกับนายโทเป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุนายเอกขับรถไปที่บ้านของนายโท โดยจอดรถไว้ที่โรงรถ ขณะนั้นลิงของ นายแดงลอบเข้าไปในรถของนายเอกแล้วกัดเบาะรถยนต์ของนายเอกได้รับความเสียหาย ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้

(1)     นายแดงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2)     นายเอกจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(3)     นายโทจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น…………

มาตรา 452 บัญญัติว่า “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหาย ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็น โดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสีย ก็ชอบที่จะทำได้”

(1) กรณีตามปัญหา การที่ลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายเอกแล้วกัดเบาะรถยนต์ ได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้นนายแดงซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์ ต้องรับผิดต่อนายเอก ตามมาตรา 4433

(2) กรณีตามปัญหา นายเอกจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง ไม่ได้ เพราะนายเอกไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์

(3) กรณีตามปัญหา นายโทจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้ เพราะลิงของนายแดงไม่ได้ทำความเสียหายต่อนายโทแต่ประการใด จึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้ แก่นายโท

WordPress Ads
error: Content is protected !!