LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้กับนายอังคารในราคา  10  ล้านบาท  นายอังคารตอบตกลงซื้อ  นายอังคารชำระราคาค่าที่ดิน

ให้นายจันทร์  5  ล้านบาทก่อน  ส่วนที่ยังขาดจะชำระให้ในวันจดทะเบียนโอนซึ่งนัดกันไว้ในวันรุ่งขึ้น  และนายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคาร  ในวันนัดนายจันทร์หาได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารไม่  นายอังคารอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาได้  12  ปี  ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นกว่าร้อยล้านบาท  นายจันทร์อยากได้ที่ดินแปลงนี้คืน  และมาขอให้นายอังคารคืนที่ดินแปลงนี้  นายอังคารไม่ยอมคืน  นายจันทร์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่นายอังคารให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้

ดังนี้  นายอังคารได้รับสำเนาฟ้องแล้วมาถามท่านว่า  นายอังคารจะมีทางต่อสู้คดีเพื่อไม่ให้เสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  ท่านจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้  หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  456  วรรคแรกและวรรคสอง  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์บอกขายที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้กับนายอังคาร  โดยตกลงกันว่านายจันทร์จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายอังคารในวันรุ่งขึ้นนั้น  สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว  ย่อมถือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  เพราะเป็นการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่กันในขณะทำสัญญา  แต่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหน้า

และจากข้อเท็จจริง  การที่นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารครอบครอง  และนายอังคารได้อยู่ในที่ดินแปลงนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น  จะถือว่านายอังคารเจตนาจะยึดถือที่ดินเพื่อตนไม่ได้  แต่ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทนนายจันทร์  และแม้นายอังคารจะอยู่ในที่ดินมาได้  12  ปี  ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  (ตามมาตรา  1382)  ดังนั้น  เมื่อนายจันทร์ผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาและได้ยื่นฟ้องขับไล่นายอังคารให้ออกไปจากที่ดิน  นายอังคารก็ชอบที่จะต่อสู้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย  ตามมาตรา  456  วรรคสอง  และฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับนายจันทร์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายได้

แต่อย่างไรก็ตาม  นายอังคารจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจันทร์ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว  ภายในอายุความ  10  ปี  นับแต่วันที่นายจันทร์ผิดสัญญาตามมาตรา  193/30  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอังคารได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนพ้น  10  ปี  นับแต่วันที่ผิดสัญญาแล้ว  คดีย่อมขาดอายุความ  ทำให้นายอังคารต้องเสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้

ดังนั้น  เมื่อนายอังคารได้รับสำเนาฟ้องแล้ว  นายอังคารจะไม่มีทางต่อสู้คดีเพื่อไม่ให้เสียสิทธิในที่ดินแปลงนี้ได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำตอบแก่นายอังคารดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ  2  ฝนทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ฟ้า  ในราคา  200,000  บาท  และฟ้าก็ได้บอกกับฝนว่าถ้าฝนมีเงินจำนวน  210,000  บาท  ก็จะมาขอซื้อคืนในภายหลังได้  ภายในเวลา  5  ปี  แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เมื่อตกลงกันแล้วฝนจึงได้ส่งมอบที่ดินพร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และให้ฟ้าเข้าครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ  ทำสัญญาขายที่ดินมาได้  3  ปี  ฝนจึงนำเงิน  200,000  บาท  มาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากฟ้า  ฟ้าจะปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้หรือไม่

ให้ท่านอธิบายพร้อมยกเหตุผลตามกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

สัญญาขายฝากนั้นถือเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง  จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วย  กล่าวคือ  ถ้าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์  ก็ต้องทำตามแบบ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  คือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ฝนทำสัญญาซื้อขายที่ดินในราคา  200,000  บาท  และฟ้าก็ได้บอกกับฝนว่าถ้าฝนมีเงินจำนวน  210,000  บาท  ก็จะมาขอซื้อที่ดินในภายหลังได้  ภายในเวลา  5  ปีนั้น  ถือเป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์  ตามมาตรา  491  เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามมาตรา  456  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อได้มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว  ฝนได้ส่งมอบที่ดินพร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และให้ฟ้าเข้าครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ  ดังนี้  เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แม้การซื้อขายที่ดินจะตกเป็นโมฆะ  ฟ้าก็ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้แล้วโดยผลของกฎหมาย  ตามมาตรา  1367

ดังนั้น  หลังจากทำสัญญาขายที่ดินมาได้  3  ปี  ฝนได้นำเงิน  200,000  บาท  มาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากฟ้า  ฟ้าย่อมปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้  ซึ่งการปฏิเสธไม่ขายคืนให้นี้  ไม่ใช่ปฏิเสธเพราะราคาค่าซื้อที่ดินคืนผิดไปจากที่ตกลงกันไว้  แต่เป็นเพราะว่าฟ้าได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้แล้วโดยผลของกฎหมายแล้วนั่นเอง

สรุป  ฟ้าจะปฏิเสธไม่ขายที่ดินแปลงนี้คืนให้ฝนได้  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น 

 

 

ข้อ  3  จำเลยบอกโจทก์ว่าจะยกที่ดินแปลงหนึ่งและรถยนต์คันหนึ่งของจำเลยให้โจทก์  จำเลยจึงได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์และจัดการเรื่องเอกสารทะเบียนรถให้โจทก์เรียบร้อย  ส่วนที่ดินก็ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้ เมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินแปลงนั้นได้หกเดือน  จำเลยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์  โจทก์ได้พยายามทวงถามหลายครั้งแล้ว  แต่จำเลยก็ยังบ่ายเบี่ยงตลอดมา

ให้ท่านวินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์และที่ดินโอนเป็นของโจทก์แล้วหรือยัง  และโจทก์จะฟ้องร้องจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  523  การให้นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้

มาตรา  525  การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ในกรณีเช่นนี้  การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ

มาตรา  526  ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้  ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้  แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1       กรณีรถยนต์  เมื่อปรากฏว่ารถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  การให้รถยนต์ย่อมสมบูรณ์  เมื่อได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่กันตามมาตรา  523  ดังนั้น  การที่จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์  และจัดการเรื่องเอกสารทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เรียบร้อยแล้วนั้น  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปเป็นของโจทก์แล้วตามมาตรา  523

2       กรณีที่ดินมีโฉนด  เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีโฉนดเป็นอสังหาริมทรัพย์  ถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  การให้ที่ดินมีโฉนดจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  525

ตามข้อเท็จจริง  เมื่อปรากฏว่าจำเลยยกที่ดินให้โจทก์โดยเพียงแต่ส่งมอบการครอบครองเท่านั้น  ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  การให้ที่ดินจึงยังไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  525  กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังเป็นของจำเลยไม่โอนเป็นของโจทก์แต่อย่างใด  และโจทก์ก็จะฟ้องร้องจำเลยไม่ได้  เพราะการให้ที่ดินไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  526

สรุป  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของโจทก์แล้ว  ส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนเป็นของโจทก์  และโจทก์จะฟ้องร้องจำเลยไม่ได้

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา  1  ล้านบาท  นายอังคารตอบตกลงซื้อและได้ชำระราคา  1  ล้านบาท  ให้นายจันทร์  และทั้งคู่ได้ตกลงกันให้นายจันทร์ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารในวันที่  1  เดือนหน้า  ในคืนนั้น  นายพุธได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายจันทร์ในราคา  2  ล้านบาท  นายจันทร์ขอให้นายพุธไปพบที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนสิทธินิติกรรม  ทั้งคู่มาที่สำนักงานที่ดินและทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ในราคา  2  ล้านบาท  และยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธินิติกรรมซื้อขาย  นายอังคารทราบข่าวและมายื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอย่ารับจดทะเบียน  เพราะตนได้ซื้อไว้อยู่ก่อน  นายพุธไม่อยากมีปัญหาและขอให้นายจันทร์ไปเจรจาตกลงกับนายอังคารก่อน  นายจันทร์กับนายพุธจึงยื่นคำขอถอนคำขอจดทะเบียนจากเจ้าพนักงานที่ดิน  ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นมาก  นายจันทร์จึงเปลี่ยนใจไม่ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารและนายพุธ

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงนี้จากนายจันทร์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  455  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย  ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญา  ซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์)  หมายถึง  สัญญาซื้อขายที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว  โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันนั้น  ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

สัญญาจะซื้อขาย  คือ  สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  ที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย  แต่มีข้อตกลงกันว่า  จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า  คือเมื่อได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

โดยหลัก  การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์นั้น  กฎหมายได้บัญญัติให้คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  456  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  455

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงดังกล่าวที่ได้ทำสัญญาซื้อขายจากนายจันทร์ได้หรือไม่นั้น  จะต้องพิจารณาก่อนว่าสัญญาซื้อขายที่นายอังคารกับนายพุธได้ทำไว้กับนายจันทร์นั้นเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด

1  สัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายอังคาร

การที่นายจันทร์และนายอังคารได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์กันนั้น  ทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเพียงครั้งเดียวและเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  โดยไม่มีข้อตกลงกันว่าจะไปกระทำตามแบบพิธีใดๆในภายหน้า  ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และเมื่อคู่กรณีมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  ดังนั้นนายอังคารจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินจากนายจันทร์ตามสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะ

2  สัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายพุธ

การที่นายจันทร์และนายพุธได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น  เมื่อทั้งสองได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายกันให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในครั้งเดียวจึงถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกัน  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายพุธได้ทำเป็นหนังสือ  แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังไม่ได้รับจดทะเบียน  เนื่องจากทั้งสองได้ยื่นคำขอถอนคำขอจดทะเบียนจากเจ้าพนักงานที่ดิน  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายพุธย่อมตกเป็นโมฆะ  เพราะมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ตามมาตรา  456  วรรคแรก  ดังนั้นนายพุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินจากนายจันทร์ตามสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะเช่นเดียวกัน

สรุป  นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายจันทร์ไม่ได้  เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทั้งสองได้ทำกับนายจันทร์เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและมีผลเป็นโมฆะ

 

 

ข้อ  2  นายไก่นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดจำนวน  10  คัน  นายหนึ่งประมูลได้ไป  1  คัน  และนายสองได้ไป  1  คัน  หลังจากมีการส่งมอบชำระราคาเรียบร้อย  รถยนต์ที่นายหนึ่งซื้อไป  นายดำพาตำรวจมาขอรถยนต์คืนโดยนำพยานหลักฐานต่างๆมาแสดงว่า  เป็นรถยนต์ของตนซึ่งถูกฉ้อโกงมาขายให้นายไก่  นายหนึ่งจึงยอมคืนรถยนต์ให้นายดำไป  ส่วนอีกคันหนึ่งซึ่งนายสองซื้อไปคานหักซึ่งนายไก่เจ้าของเดิมทราบดีอยู่แล้ว  แต่มิได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลทราบ

นายหนึ่งจะฟ้องให้นายไก่รับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิ  และสองจะฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(3)           ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี  ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473  เช่น  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสองได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายไก่  และปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวที่นายสองซื้อไปจากนายไก่นั้นคานหัก  ซึ่งถือว่ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น  เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันจะมุ่งใช้เป็นปกติ  ซึ่งโดยหลักนายไก่จะต้องรับผิดชอบต่อนายสองผู้ซื้อตามมาตรา  472  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีนี้  นายสองจะฟ้องให้นายไก่รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  เนื่องจากรถยนต์ที่นายสองซื้อมาจากนายไก่นั้นเป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด  จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  ตามมาตรา  473(3)

ส่วนกรณีการรอนสิทธินั้นตามมาตรา  475  วางหลักไว้ว่า  ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ  ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาได้โดยปกติสุข  เพราะมีบุคคลอื่นที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ

ตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้ซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของนายไก่ไป  1  คัน  แต่นายหนึ่งผู้ซื้อได้ถูกรอนสิทธิ  คือได้ถูกนายดำเจ้าของที่แท้จริงของรถยนต์คันที่นายหนึ่งซื้อมานั้นติดตามเอาคืนไป  ดังนั้นนายหนึ่งย่อมสามารถฟ้องให้นายไก่รับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้ตามมาตรา  475

สรุป  นายหนึ่งฟ้องให้นายไก่รับผิดกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้  แต่นายสองจะฟ้องให้นายไก่รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ข้อ  3  นายจันทร์นำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือจดทะเบียนขายฝากนายอังคารไว้ในราคา  1  ล้านบาท  ไถ่คืนภายใน  1  ปี  สินไถ่ราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน  เมื่อใกล้จะครบ  1  ปี  นายจันทร์ไปขอใช้สิทธิในการไถ่คืน  พร้อมเงิน  1  ล้าน  1  แสน  5  หมื่นบาท  นายอังคารปฏิเสธโดยอ้างว่าสัญญายังไม่ถึงกำหนดไถ่คืน  1  ปี  สินไถ่ไม่ครบเพราะตกลงกัน  ประโยชน์ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน  ไม่ใช่ต่อปี  คำปฏิเสธของนายอังคารรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนักศึกษาจะแนะแนวทางในการไถ่บ้านและที่ดินคืนแก่นายจันทร์อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  492  วรรคแรก  ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้  ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  499  สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้  ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์นำบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนายอังคารในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปีนั้น  เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ชอบด้วยกฎหมาย  (มาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายจันทร์ได้ไปขอไถ่ทรัพย์คืนพร้อมเงิน  1,150,000  บาท  ดังนี้  นายอังคารจะปฏิเสธไม่ได้  เพราะเหตุว่านายจันทร์ได้ขอใช้สิทธิในการไถ่ก่อนครบ  1  ปี  และภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  (มาตรา  494(1))  และในส่วนเงินสินไถ่นั้นตามมาตรา  499  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี  ดังนั้น  เมื่อมีการกำหนดสินไถ่ไว้ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนจึงเกินอัตราที่กฎหมายได้กำหนดไว้  การที่นายจันทร์นำเงิน  1,150,000  บาท  มาเป็นสินไถ่จึงเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว  กล่าวคือ  ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี  เท่ากับ  1,150,000  บาท  (มาตรา  499  วรรคสอง)  ดังนั้น  คำปฏิเสธของนายอังคารที่ว่ายังไม่ครบ  1  ปีและสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

และถ้าหากนายอังคารไม่ยอมรับไถ่  นายจันทร์สามารถนำเงิน  1,150,000  บาท  ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนด  1  ปี  ตามข้อตกลงในสัญญา  ก็ถือว่านายจันทร์ได้ไถ่ทรัพย์สินคือบ้านและที่ดินคืนแล้ว  และให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันทร์ตั้งแต่เวลาที่นายจันทร์ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว  (มาตรา  492  วรรคแรก)

สรุป  คำปฏิเสธของนายอังคารที่ว่ายังไม่ครบ  1  ปี  และสินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังไม่ได้  และข้าพเจ้าจะแนะแนวทางในการไถ่บ้านและที่ดินคืนแก่นายจันทร์ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายมกราตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายกุมภาในราคา  1  ล้านบาท  แต่นายกุมภาไม่มีเงินสดเป็นก้อน  ทั้งคู่จึงตกลงกันว่านายมกราจะส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา  นายกุมภาชำระเงินก้อนแรก  5  แสนบาท  ส่วนที่เหลือให้ผ่อนได้เดือนละหนึ่งแสนบาท  เมื่อผ่อนครบเป็นเงิน  1  ล้านบาท  นายมกราก็จะไปโอนทางทะเบียนให้  เมื่อนายกุมภาชำระครบ  นายมกราไม่ยอมไปโอนทะเบียนให้  เพราะมีคนมาเสนอซื้อในราคา  2  ล้านบาท

นายกุมภาจะฟ้องให้นายมกราไปโอนทะเบียนบ้านและที่ดินให้แก่ตนตามสัญญาได้หรือไม่  และสัญญาที่นายมกราและนายกุมภาตกลงกันนั้นเป็นสัญญาประเภทใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  455  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย  ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญา  ซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์

มาตรา  456  วรรคแรกและวรรคสอง  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์)  หมายถึง  สัญญาซื้อขายที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว  โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันนั้น  ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

สัญญาจะซื้อขาย  คือ  สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  ที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย  แต่มีข้อตกลงกันว่า  จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า  คือเมื่อได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

และสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  456  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  455  ส่วนสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้แต่อย่างใด  เพียงแต่ได้กำหนดไว้ว่าในกรณีที่จะมีการฟ้องร้องบังคับคดีกัน  จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือ

1       จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2       มีการวางประจำ  (มัดจำ)  ไว้  หรือ

3       มีการชำระหนี้บางส่วน

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายมกราตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายกุมภาในราคา  1  ล้านบาท  โดยทั้งคู่ตกลงกันว่านายมกราจะส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา  และนายกุมภาชำระเงินก้อนแรก  5  แสนบาท  ส่วนที่เหลือตกลงให้ผ่อนได้เดือนละ  1  แสนบาท  เมื่อผ่อนครบ  1  ล้านบาท  นายมกราก็จะไปโอนทางทะเบียนให้  กรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายมกราและนายกุมภาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์  เพราะเป็นสัญญาที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย  แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทำตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า  คือเมื่อได้ไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั่นเอง

สัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายมกราและนายกุมภานั้น  แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายมกราซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดก็ตาม  สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันตามมาตรา  456  วรรคสอง  คือได้มีการชำระหนี้บางส่วนโดยนายมกราได้ส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา  และนายกุมภาได้ชำระเงินให้แก่นายมกราจนครบแล้ว  ดังนั้น  เมื่อนายมกราผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนทะเบียนให้แก่นายกุมภา  นายกุมภาจึงสามารถฟ้องให้นายมกราไปโอนทะเบียนและที่ดินให้แก่ตนได้

สรุป  สัญญาที่นายมกราและนายกุมภาตกลงกันนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  และนายกุมภาสามารถฟ้องบังคับให้นายมกราไปโอนทะเบียนบ้านและที่ดินให้แก่ตนตามสัญญาได้

 

 

ข้อ  2  นายมีนาตกลงซื้อชุดรับแขกทำจากไม้สักทองราคา  2  แสนบาท  จากนายเมษา  และมีข้อสัญญาตกลงกันว่าเป็นหน้าที่ของนายเมษาที่จะต้องส่งมอบชุดรับแขกให้นายมีนาถึงบ้าน

เมื่อถึงกำหนดวันส่งมอบคนงานขนของมาส่งถึงบ้าน  นายมีนาตรวจสอบสินค้าก่อนรับมอบก็พบว่าโต๊ะกลางมีรอยขูดขีดขนาดใหญ่เกิดจากการขนย้ายจึงไม่ยอมรับมอบ  แต่นายเมษาโทรมาแจ้งให้นายมีนารับไว้ก่อนวันหลังจะเอาโต๊ะตัวใหม่ไร้ความชำรุดบกพร่องมาเปลี่ยนให้

นายมีนาก็เลยจำต้องรับไว้  ต่อมาถึงกำหนดนายเมษาก็อิดออดโยกโย้  อ้างว่านายมีนายอมรับมอบโดยไม่อิดเอื้อนแล้ว  นายมีนาจะฟ้องให้นายเมษารับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี  ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473  เช่น  ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  แต่ผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อนเป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายมีนาซื้อชุดรับแขกทำจากไม้สักทองจากนายเมษา  และเมื่อมีการส่งมอบชุดรับแขกปรากฏว่าโต๊ะกลางมีรอยขูดขีดขนาดใหญ่  ซึ่งเกิดจากการขนย้าย  ย่อมถือว่าชุดรับแขกที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา  ดังนี้นายเมษาผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้นต่อนายมีนาผู้ซื้อ  ตามมาตรา  472

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า  ในวันส่งมอบชุดรับแขกดังกล่าวที่บ้านของนายมีนา  นายมีนาได้ตรวจสอบชุดรับแขกก่อนรับมอบและได้พบถึงความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงไม่ยอมรับมอบ  แต่นายเมษาโทรมาแจ้งให้นายมีนารับไว้ก่อน  วันหลังจะเอาโต๊ะตัวใหม่ไร้ความชำรุดบกพร่องมาเปลี่ยนให้  นายมีนาจึงจำต้องรับไว้นั้น  กรณีดังกล่าวไม่ถือว่านายมีนาผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้  ตามนัยของมาตรา  473(2)  อันจะทำให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้นแต่อย่างใด  แต่เป็นกรณีที่ผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมีการอิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้แล้ว  ดังนั้นนายเมษาผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้น  ตามมาตรา  472  จะอ้างมาตรา  473 (2)  ว่านายมีนาได้ยอมรับมอบทรัพย์สินนั้นโดยมิได้อิดเอื้อนทำให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้

สรุป  นายมีนาสามารถฟ้องให้นายเมษารับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้

 

 

ข้อ  3  นายพฤษภาตกลงขายฝากช้างโดยทำสัญญากันเองให้นายมิถุนาในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคา  2 ล้านบาท  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  1  วัน  นายพฤษภานำเงิน  1  ล้าน  1  แสน  5  หมื่นบาทไปขอไถ่  แต่นายมิถุนาปฏิเสธโดยอ้างว่า

1)     สัญญาขายฝากสมบูรณ์

2)    เกินกำหนดเวลาไถ่

3)    สินไถ่ไม่ครบ

ข้ออ้างทั้งสามประการรับฟังได้หรือไม่  เพราะอะไร  ให้นักศึกษาอธิบายให้ครบทุกข้อ  และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  499  วรรคสอง  ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

สัญญาขายฝาก  เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้  เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย  จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม  ดังนั้น  การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  เช่น  เรือมีระวางตั้งแต่  5 ตันขึ้นไป  แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา  491 ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  ข้ออ้างของนายมิถุนาทั้ง  3  ประการรับฟังได้หรือไม่  และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

ประการที่  1  การที่นายมิถุนาอ้างว่าสัญญาขายฝากสมบูรณ์นั้นรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายพฤษภาได้นำช้างไปขายฝากไว้กับนายมิถุนาโดยทำสัญญากันเอง  เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนการขายฝากต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาขายฝากช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะและเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษย่อมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก  ดังนั้นข้ออ้างของนายมิถุนากรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

ประการที่  2  การที่นายมิถุนาอ้างว่านายพฤษภาไปขอไถ่ช้างคืนเกินกำหนดเวลาไถ่นั้นรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้ตามมาตรา  494(2)  จะได้กำหนดไว้ว่าในการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้น  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะต้องไถ่คืนภายในกำหนด  3  ปี  นับแต่เวลาซื้อขาย  แต่เมื่อคู่กรณีได้ตกลงกันไว้ว่าให้ไถ่คืนภายในกำหนด  1  ปีจึงต้องเป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้  เมื่อนายพฤษภามาขอไถ่ช้างคืนเมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  1  วัน  จึงถือว่าเกิดกำหนดเวลาไถ่  ดังนั้นข้ออ้างของนายมิถุนากรณีนี้จึงรับฟังได้

ประการที่  3  การที่นายมิถุนาอ้างว่านายพฤษภามาขอไถ่ช้างคืนโดยใช้สินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  499  วรรคสองนั้นได้วางหลักไว้ว่า  ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  15  ต่อปี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  คู่สัญญาได้ตกลงขายฝากช้างในราคา  1  ล้านบาท  และตกลงสินไถ่ในราคา  2  ล้านบาทนั้น  ถือว่าเป็นการกำหนดสินไถ่สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา  499  วรรคสอง  ดังนั้นนายพฤษภาย่อมมีสิทธิไถ่ช้างคืนได้ในราคา  1  ล้าน  1  แสน  5  หมื่นบาท  ข้ออ้างของนายมิถุนาที่ว่าสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

ส่วนประเด็นที่ว่า  ช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ  ผลของการเป็นโมฆะย่อมทำให้คู่กรณีตามสัญญาขายฝากนั้นกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้มีการทำสัญญาขายฝากใดๆต่อกัน  ดังนั้นนายมิถุนาจึงต้องส่งมอบช้างคืนให้นายพฤษภา  และนายพฤษภาก็จะต้องคืนเงินค่าขายฝากช้าง  1  ล้านบาทให้แก่นายมิถุนา  ทั้งนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้

สรุป  ข้ออ้างของนายมิถุนาที่ว่าสัญญาขายฝากสมบูรณ์และสินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังไม่ได้  แต่ข้ออ้างที่ว่าเกินกำหนดเวลาไถ่นั้นรับฟังได้  และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืน  แต่ต้องคืนเงินค่าขายฝาก  1  ล้านบาทให้แก่นายมิถุนา

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศสหรัฐอเมริกา  ระบบการปกครองและการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักของประเทศดังกล่าวมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

ประเทศสหรัฐอเมริกา  ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น  ที่เรียกว่า  สหพันธรัฐ  หรือเรียกสั้นๆว่า  สหรัฐ  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก  รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ  ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน  โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า  รัฐธรรมนูญใหม่  หรือ  รัฐธรรมนูญกลาง

ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  มี  2  ประการ  คือ

1       ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

2       มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  กล่าวคือ  เป็นอิสระจากกัน  ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน  ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร  สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน

การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา  มีดังนี้

ก.      สถาบันนิติบัญญัติ  (สภาคองเกรส)

รัฐสภาอเมริกัน  เรียกว่า  สภาคองเกรส (Zcongress)  ประกอบด้วย  2  สภา คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  แบบเสียงข้างมากรอบเดียว  มีวาระในการดำลงตำแหน่ง  2  ปี  มีจำนวนทั้งสิ้น  435  คน  รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน  ดี.ซี.  อีก  3  คน  ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด  438 คน

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  คือ  ต้องมีอายุ  25  ปีขึ้นไป  และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย  7  ปี

2       สภาสูงหรือวุฒิสภา  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  2  คนต่อ  1  มลรัฐ  รวมทั้งสิ้นจำนวน  100 คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  6  ปี  แต่สมาชิก  1  ใน  3  ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ  2  ปี  ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ  ต้องมีอายุตั้งแต่  30  ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว  9  ปีขึ้นไป

สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่  นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี  ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ  เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร

อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส

1       อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ  ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน  ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร

2       อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส  หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ

3       อำนาจในการเลือกตั้งแทน  เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน  กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี

4       อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส  เช่น  ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา

อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา

1       ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ

2       ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง  2  ใน  3

ข.      สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด  ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง  โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ  อยู่เพียง  2  พรรค  คือ  พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต  ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  กล่าวคือ  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง  เรียกว่า  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  (Big  Elector)  เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี  ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ  “Ticket”  เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน  มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่  1 

พรรคการเมืองทั้ง  2  พรรคดังกล่าว  จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ  ซึ่งมีทั้งหมด  50  มลรัฐ  เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ  Convention  เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่  2 

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่  ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน  ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อย่างเช่น  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30  คน  และสมาชิกวุฒิสภาอีก  2  คน  ดังนั้นรวมแล้วได้  32  คน  ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ  32  รายชื่อ  เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา  ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด  ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น  และจะต้องเลือกทั้ง  32  คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น  เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  นั้นมีทั้งหมด  538  คน  ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  (435 + 3 + 100 )  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด  คือ  จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า  หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก  50  มลรัฐของแต่ละพรรค  ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง  270  เสียง  คือ  เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  (กึ่งหนึ่ง  269)  ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่  3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน  538  คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน  ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป  ก็หมายความว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส  จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ก็คือ  4  ปี  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง  รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่  และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี

ค.      สถาบันตุลาการ  (ศาลยุติธรรมสูงสุด)

ศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้แก่

1       ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด  หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง

2       พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต  กงสุล  รัฐมนตรี  หรือรัฐสมาชิก

 

ข้อ  2  ท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างไร  และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  อย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญโดยทั่วไปแล้ว  หมายถึง  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่ากฎหมายอื่นใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติ  อย่างไรก็ตามหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีการยอมรับเสมอไป  โดยจำเป็นที่จะต้องแยกถึงความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่มิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร  และที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร

สำหรับรัฐธรรมนูญที่มิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น  รัฐธรรมนูญมีศักดิ์เท่ากับกฎหมายธรรมดา  การเป็นรัฐธรรมนูญก็เพียงเพราะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากกฎหมายธรรมดาเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม  ในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร  จะถือว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่าบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆ  และถือเป็นกฎหมายสูงสุด  ซึ่งกฎหมายธรรมดาจำต้องเคารพบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ  โดยจะไปขัดหรือแย้งหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้  กฎหมายหรือแม้แต่กฎซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมีผลเป็นโมฆะ  และไม่มีผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด

ประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด  กฎหมายอื่นๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้  (ตามมาตรา  6)  องค์กรที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ได้แก่  ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งอาจแยกวิธีการในการควบคุมได้เป็น  2  กรณี  คือ

1       กรณีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้

เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว  หรือถือว่าให้ความเห็นชอบแล้ว  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อนถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย  (มาตรา  262)

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  10  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  หรือประธานรัฐสภา  แล้วแต่กรณี  แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคาวามเห็นดังกล่าว  ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย  และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

(2) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า  20  คน  เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี  แล้วให้ประธานสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย  และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า 

(3) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติ  หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย  และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร  และประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า

อนึ่ง  ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย  นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ  หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

2       กรณีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญภายหลังที่มีการประกาศใช้

มาตรา  264  ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว

มาตรา  198  ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆเช่น  ตามมาตรา  219  ที่บัญญัติให้ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใดตามมาตรา  218  วรรคสาม  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา  มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา  218  วรรคหนึ่ง  กล่าวคือ  การออกพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี  มิได้ออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะนั่นเอง  โดยให้ประชาชนแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

 

ข้อ  3  จงอธิบายกระบวนตราพระราชกำหนด

ธงคำตอบ

พระราชกำหนด  เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา  และพระราชกำหนดดังกล่าวนี้มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเลยทีเดียว

พระราชกำหนดมี  2  ประเภท

1       พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉิน  จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้  จึงออกพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  (มาตรา  218)

2       พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  เป็นการออกพระราชกำหนดในระหว่างสมัยประชุมสภา  ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ  นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างพระราชกำหนดทูลเกล้าฯ  ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับได้  (มาตรา  220)

กระบวนการในการตราพระราชกำหนด

–                    ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกำหนด  คือ  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น

–                    ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกำหนด  คือ  คณะรัฐมนตรี

–                    ผู้มีอำนาจตราพระราชกำหนด  คือ  พระมหากษัตริย์

–                    เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  พระราชกำหนดก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

อนึ่ง  รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระราชกำหนดเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  คณะรัฐมนตรีจะต้องมีการเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐสภาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง  โดยแยกพิจารณาตามประเภทของพระราชกำหนดได้ดังนี้

พระราชกำหนดทั่วไป  คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป  เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่ชักช้า

พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  คณะรัฐมนตรีจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน  3  วัน  นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผลของการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

1       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

2       กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ  พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

3       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด  แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ  และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

4       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด  หรือวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

 

ข้อ  4  คณะรัฐมนตรีได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มาตรา  107(3)  แก้ไขเป็น  ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า  ต่อมาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดน่านไม่น้อยกว่า  5  หมื่นคน  เห็นว่าเป็นการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา  30  เรื่องความเสมอภาคของบุคคลในกฎหมาย  จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่า  ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  และยังได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา  107(3)  จากเดิมแก้ไขเป็น  ให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย  เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยทั้งนี้ได้จัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฯ  เสนอมาด้วย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.  2540  ในกรณีดังกล่าวนี้ การเสนอญัตติของคณะรัฐมนตรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  และประชาชนจำนวนดังกล่าวนี้สามารถจะยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่อย่างไร  รวมทั้งสามารถร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  313  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี  หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอหรือร่วมเสนอญัตติดังกล่าวด้เมื่อพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสังกัดมีมติให้เสนอได้

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้

มาตรา  170  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน  มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด  3 และหมวด  5  แห่งรัฐธรรมนูญนี้

การเสนอญัตติของคณะรัฐมนตรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ  ตามมาตรา  313  และกรณีดังกล่าวนี้ก็ไม่เป็นญัตติขอแกไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา  313  วรรค  2  ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า  5  หมื่นคน  จะยื่นเรื่องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น  ในกรณีดังกล่าวนี้ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ  หรือกฎหมายอื่นใดที่ให้สิทธิหรืออำนาจแก่ประชาชนจำนวนดังกล่าวในการที่จะยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีนี้ได้

นอกจากนี้ตามบทบัญญัติมาตรา  313  ก็ไม่ได้ให้สิทธิแก่บุคคลใดในการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้  ดังนั้นในการร่วมกันเข้าชื่อของประชาชนจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้  และกรณีก็ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา  170  เพื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดไว้ในหมวด  3  (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย)  และหมวด  5  (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)แต่อย่างใด 

 

LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ภาคฤดูร้อน/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ  ตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์  ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงระบบการปกครองทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  2  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร  (ประธานาธิบดี  รัฐบาล)  มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา  ได้แก่  หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น  2  องค์กร  คือ  องค์กรประมุขแห่งรัฐ  และองค์กร คณะรัฐมนตรี  ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ  แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี  โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี  แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี  ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี  ได้แก่  ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา  จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง

สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส

1       สถาบันบริหาร  แบ่งออกเป็น

1)    ประธานาธิบดี  มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด  นั่นคือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  20  ล้านคน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง  สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป  (สิบล้านหนึ่งคน)  เป็นต้น  โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้  ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก  ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง  โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่  1  และลำดับที่  2  ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้  ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา  นั่นคือ  หนึ่งในสองคนนี้  ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย

ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ  และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย  (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

ประเภทแรก  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ  ภายในรัฐ  เช่น  อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ  และคณะรัฐมนตรี  อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต  หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ประเภทที่สอง  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา  เช่น  ลงนามในกฎหมายต่างๆ  หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่  อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ  และที่สำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว

2)  คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีทั้งหลาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล  ซึ่งต้องไปแถลง

นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่  พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส  มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี  ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา  แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้

2       สภานิติบัญญัติ  แบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่

1)    สภาผู้แทนราษฎร  มีจำนวนสมาชิก  577  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

2)    วุฒิสภา  มีจำนวนสมาชิก  321  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  แต่จำนวนวุฒิสมาชิก  1  ใน  3  จะต้องออกจากตำแหน่งทุก  3  ปี

อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน  เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน  และที่สำคัญคือ  อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล

3       สถาบันอื่นๆ  เช่น

1)    สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)

2)    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

3)    ศาลยุติธรรมสูงสุด  ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ

 

ข้อ  3  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ. 2540)  ได้บัญญัติกฎเกณฑ์ในการที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร  ให้อธิบาย

ธงคำตอบ

งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550

ข้อ  4  ให้อธิบายถึงกฎเกณฑ์ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)  มาโดยละเอียด

 ธงคำตอบ

งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ภาคฤดูร้อน/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองและวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร  (ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี)  ของประเทศฝรั่งเศสมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา  ได้แก่  หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น  2  องค์กร  คือ  องค์กรประมุขแห่งรัฐ  และองค์กร คณะรัฐมนตรี  ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ  แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี  โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี  แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี  ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี  ได้แก่  ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา  จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง

สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส

1       สถาบันบริหาร  แบ่งออกเป็น

1)    ประธานาธิบดี  มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด  นั่นคือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  20  ล้านคน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง  สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป  (สิบล้านหนึ่งคน)  เป็นต้น  โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้  ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก  ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง  โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่  1  และลำดับที่  2  ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้  ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา  นั่นคือ  หนึ่งในสองคนนี้  ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย

ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ  และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย  (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

ประเภทแรก  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ  ภายในรัฐ  เช่น  อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ  และคณะรัฐมนตรี  อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต  หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ประเภทที่สอง  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา  เช่น  ลงนามในกฎหมายต่างๆ  หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่  อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ  และที่สำคัญที่สุดคือ  ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว

2)  คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีทั้งหลาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล  ซึ่งต้องไปแถลง

นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่  พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส  มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี  ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา  แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้

2       สภานิติบัญญัติ  แบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่

1)    สภาผู้แทนราษฎร  มีจำนวนสมาชิก  577  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

2)    วุฒิสภา  มีจำนวนสมาชิก  321  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  แต่จำนวนวุฒิสมาชิก  1  ใน  3  จะต้องออกจากตำแหน่งทุก  3  ปี

อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน  เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน  และที่สำคัญคือ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล

3       สถาบันอื่นๆ  เช่น

1)    สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)

2)    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

3)    ศาลยุติธรรมสูงสุด  ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ

 

ข้อ  2  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์  ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองต่างๆ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาโดยสังเขป  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  3  ให้อธิบายถึงอำนาจในการถอดถอนจากตำแหน่งโดยวุฒิสภา  และหลักเกณฑ์ในการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตราดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

การถอดถอนจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง  มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  มาตรา  303  ถึงมาตรา  307  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1       ตำแหน่งที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนได้

1)    นกยกรัฐมนตรี

2)    รัฐมนตรี

3)    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

4)    สมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.)

5)    ประธานศาลฎีกา

6)    ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

7)    ประธานศาลปกครอง

8)    อัยการสูงสุด

9)    กรรมการการเลือกตั้ง

10)                       ผู้ตรวจการแผ่นดิน

11)                       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

12)                       กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

13)                       ผู้พิพากษาหรือตุลาการ  พนักงานอัยการ  หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนด

 2       พฤติการณ์ที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอน

ผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ  1  ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

3       ผู้มีสิทธิร้องขอให้ถอดถอน

1)    ส.ส.  จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอต่อประธานวุฒิสภา

2)    ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า  50,000  คน  มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา

3)    ส.ว.  จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา  ถอดถอน  ส.ว.  ออกจากตำแหน่งได้  ส.ว.  จะร้องขอถอดถอนตำแหน่งอื่นมิได้

4       กระบวนการในการถอดถอน

เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องขอแล้วจะดำเนินการต่อไป  ดังนี้

1)    ส่งเรื่องให้  ป.ช.ช.  ดำเนินการไต่สวน

2)    เมื่อไต่สวนเสร็จ  ป.ช.ช.  ส่งรายงานให้วุฒิสภา  ถ้า  ป.ช.ช.  มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลนับแต่วันดังกล่าว  ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ  ในขณะเดียวกัน  ป.ช.ช.  ต้องส่งรายงานให้อัยการสูงสุด  เพื่อฟ้องยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

3)    วุฒิสภาประชุมพิจารณาถอดถอน  โดยมติถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า  3  ใน  5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา  อนึ่งการออกเสียงลงคะแนนต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ  มติของวุฒิสภาเป็นที่สุด  จะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้

4)    ผลเมื่อบุคคลใดถูกถอดถอน  บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน  และผู้นั้นถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง  หรือในการรับราชการเป็นเวลา  5  ปี

ข้อ  4  ให้อธิบายถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2540)  มาโดยละเอียด

งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการปกครองทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  2  รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีหมายถึงอะไร  และมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายมาโดยสังเขป

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้น  หมายถึง  การจัดระเบียบและการดำเนินการขององค์กรทางการเมืองเกิดจากทางปฏิบัติ  จารีตประเพณีมีการใช้ต่อเนื่องกันมาในรัฐและมีสภาพบังคับทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญในระบบนี้มีสภาพบังคับที่อ่อนลงกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร  และโดยสภาพยังมีลักษณะที่ไม่ตายตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นวิวัฒนาการได้ตลอด  ตัวอย่างที่เป็นคลาสสิกของรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้  ได้แก่  รัฐธรรมนูญของอังกฤษ

ข้อดีของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี  มีดังนี้

1       รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมป้องกันการปฏิวัติ  หรือรัฐประหารได้  เพราะความไม่แข็งกระด้างตายตัวของรัฐธรรมนูญ  จึงไม่จำต้องละเมิดหรือฝ่าฝืนโดยใช้กำลังบังคับหรือกระทำร้าย

2       รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมีลักษณะยืดหยุ่น  อาจสามารถพลิกแพลงอนุโลมตามสถานการณ์ได้

3       เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการ  และเปลี่ยนแปลงไปโดยราษฎรไม่รู้สึกตัว  จึงไม่มีกรณีที่จะไม่มีบทบัญญัติมาใช้บังคับ  (คือไม่มีกรณีช่องว่างแห่งรัฐธรรมนูญ)   เหมือนอย่างกรณีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ข้อเสียของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

1       มีข้อความไม่แน่นอน  ทำให้เกิดปัญหาโต้แย้งกันได้เสมอว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติอย่างไร

2       เปิดโอกาสให้ทดลองวิธีใหม่ๆ  ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้โดยวิวัฒนาการได้  เพราะวิวัฒนาการนั้นต้องอาศัยของเดิม

 

ข้อ  3  จงอธิบายเหตุผลและขั้นตอนการตราพระราชกำหนด

ธงคำตอบ

พระราชกำหนด  เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา  และพระราชกำหนดดังกล่าวนี้มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเลยทีเดียว

พระราชกำหนดมี  2  ประเภท

1       พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉิน  จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้  จึงออกพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  (มาตรา  218)

2       พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  เป็นการออกพระราชกำหนดในระหว่างสมัยประชุมสภา  ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ  นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างพระราชกำหนดทูลเกล้าฯ  ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับได้  (มาตรา  220)

กระบวนการในการตราพระราชกำหนด

–                    ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกำหนด  คือ  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น

–                    ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกำหนด  คือ  คณะรัฐมนตรี

–                    ผู้มีอำนาจตราพระราชกำหนด  คือ  พระมหากษัตริย์

–                    เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  พระราชกำหนดก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

อนึ่ง  รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระราชกำหนดเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  คณะรัฐมนตรีจะต้องมีการเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐสภาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง  โดยแยกพิจารณาตามประเภทของพระราชกำหนดได้ดังนี้

พระราชกำหนดทั่วไป  คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป  เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่ชักช้า

พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  คณะรัฐมนตรีจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน  3  วัน  นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผลของการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

1       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

2       กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ  พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

3       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด  แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ  และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

4       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด  หรือวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

 

ข้อ  4  เอกได้ฟ้องแดง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดลพบุรี  ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  แดงได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลจังหวัดลพบุรีว่า  พระราชบัญญัติที่ศาลจะนำมาใช้บังคับแก่คดีของตนนั้น  กระบวนการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  แดงจึงขอให้ศาลจังหวัดลพบุรีส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่าตามที่รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  หากท่านเป็นศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งกำลังพิจารณาคดีนี้  ท่านจะดำเนินการและมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา  264  ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  264  รัฐธรรมนูญนั้น  กรณีพิพาทตามบัญญัติมาตรานี้คือ  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นการที่นายแดงโต้แย้งว่า  กระบวนการตราของพระราชบัญญัติ  ที่จะนำมาบังคับใช้กับคดีของตนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  กรณีจึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ที่ศาลจะนำมาบังคับใช้กับคดีของตน  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งกำลังพิจารณาคดีนี้  ก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายแดง  เพื่อดำเนินการส่งคำร้องโต้แย้งในกรณีดังกล่าวนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามที่นายแดงร้องขอ

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของมองเตสกิเออ  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  2  ท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ  หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ  (La  Separtion  des  pouvoirs)  ของมองเตสกิเอออย่างไร  และการที่ปัจจุบันมีการกระทำรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.)  และจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหารแทนรัฐบาลชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งนั้น  เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวหรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ  ของมองเตสกิเออนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนที่มีอำนาจมักลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ  และมักจะใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด  ดังนั้นหากปล่อยให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างอำเภอใจแล้ว  สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองก็จะไม่มีหลักประกัน  จึงจำต้องแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐออกใช้โดยหลายองค์กร  ขึ้นอยู่กับว่าหน้าที่หลักของรัฐมีกี่องค์กรก็แยกใช้เท่านั้น  และมองเตสกิเออก็สรุปว่า  หน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบใดก็ตาม  มีหน้าที่หลักอยู่เพียง  3  ประการ  กล่าวคือ  หน้าที่ในทางนิติบัญญัติ  บริหาร  และตุลาการ  ดังนั้นจึงควรแยกใช้โดย  3  องค์กร  และให้แต่ละฝ่ายไม่มาก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน  อีกทั้งต้องคอยตรวจและถ่วงดุล  (Check  and  Balance)  ซึ่งกันและกันด้วย  จึงจะเป็นกลไกหรือมาตรการในการป้องกันมิให้องค์กรที่ใช้อำนาจแต่ละฝ่ายใช้อำนาจอย่างสุดขั้วหรือสุดโต่ง  โดยหวั่นเกรงว่าจะถูกตรวจสอบหรือถ่วงดุลโดยฝ่ายอื่น  ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองมิให้ถูกใช้อำนาจบังคับเอาอย่างเผด็จการ  แต่เมื่อมีการรัฐประหารโดย  คปค.  จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน  แม้จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนมาบริหารต่อมาก็ตาม  แต่รัฐบาลดังกล่าวก็มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ประการใด

 

ข้อ  3  ก  ท่านเข้าใจรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างไร  จงอธิบายโดยละเอียด

ข  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ  แต่รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี  พ.ศ.  2540  ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วนั้น  อยากทราบว่าระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้  จะใช้กฎหมายใดเป็นกฎหมายสูงสุด

ธงคำตอบ

ก  รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเกิดจากปัญหาทางปกครองที่อำนาจทางปกครองอยู่ที่คนๆเดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมการใช้อำนาจทางปกครอง  ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบได้

–                    จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามอำนาจคือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ

–                    จากหลักการแบ่งแยกอำนาจได้พัฒนาเป็นระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญว่า

(1) ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

(2) ผู้ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจทางปกครองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญจึงเกิดกระบวนการเลือกตั้ง

(3) การใช้อำนาจทางปกครองจะต้องใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

(4) การใช้อำนาจทางปกครองจะต้องตรวจสอบได้

–                    จากหลักการของระบอบประชาธิปไตยทำให้เกิดกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศเรียกว่า  รัฐธรรมนูญ  บัญญัติที่มาของอำนาจ  การใช้อำนาจ  และการควบคุมตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ  บริหาร  ตุลาการ  เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครอง

ข  ใช้ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เป็นกฎหมายสูงสุดเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ

 

ข้อ  4  พ.ร.บ.  ชื่อสกุล  พ.ศ.  2505  มาตรา  12  บัญญัติว่า  หญิงมีสามีให้ใช้ชื่อสกุลของสามี” ภายใต้บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนี้ขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

ภายใต้หลักความเสมอภาคของบุคคล  บุคคลย่อมมีความเสมอภาคกันในกฎหมาย  ซึ่งถือเป็นหลักความเสมอภาค  โดยเฉพาะสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย

ซึ่งหลักความเสมอภาค  มีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ  สิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวนี้เป็นสิทธิที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน  ซึ่งเป็นสิทธิที่มีมาตั้งแต่กำเนิด

ดังนั้น  บทบัญญัติมาตรา  12  พ.ร.บ.  ชื่อสกุล  พ.ศ. 2505  มีลักษณะบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเท่านั้น  ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้สกุลของหญิงมีสามี  ทำให้ชายและหญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน  เกิดความไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย  เพราะความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการของรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภา  ระบบประธานาธิบดี  และระบบกึ่งประธานาธิบดี  มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปการปกครองที่การจัดตั้งองค์กรในการใช้อำนาจรัฐ มีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้องค์กรดังกล่าวสามารถมีปฏิสัมพันธ์และสามารถใช้มาตรการในการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร

ตัวอย่างการปกครองในระบบรัฐสภาที่เห็นได้ชัดเจน  คือ ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ และระบบการปกครองของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540

–       รูปการปกครองในระบบประธานาธิบดีจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันให้เป็นอิสระมากที่สุด เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่มีอำนาจล้มล้างซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจในการขอเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารและทางฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น รูปการปกครองของสหรัฐอเมริกา

–       ส่วนรูปการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เป็นรูปการปกครองที่นำเอาหลักการของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน มีการนำเอามาตรการในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารมาใช้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนไม่สามารถเปิดอภิปรายตัวประธานาธิบดีเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี จะมีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

 

ข้อ  2  ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  มีความหมายอย่างไรตามแนวคิดของรุสโซ  และก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร  การที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหารถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักหรือทฤษฎีดังกล่าวหรือไม่อย่างไร  ขอให้อธิบาย

ธงคำตอบ

รุสโซได้ชี้แนวทางเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไว้ในวรรณกรรมเรื่อง  สัญญาประชาคม  ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน  สมมุติว่าในรัฐหนึ่งมีประชาชน  10,000 คน อำนาจอธิปไตยก็มีอยู่ในตัวประชาชนทั้ง  10,000  คนนั้น  ราษฎรแต่ละคนมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ใน 10,000  ส่วน  อันประกอบเป็นชาติหรือรัฐ  ตามความคิดของรุสโซประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์จากความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน  และไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งหมดได้

ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหาร  จึงเป็นการที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนและเข้าใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน  โดยการใช้กำลังบังคับมิได้มาจากความยินยอมของประชาชน  จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักหรือทฤษฎีดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

ส่วนผลในทางกฎหมายของทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนคือ

1       ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครองทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออก  ซึ่งส่วนแห่งอำนาจอธิปไตยของตนอันนำมาซึ่งหลักที่เรารู้จักกันดีคือ  การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง  (Universal  Suffage)  เพราะถือว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่เป็นหน้าที่จึงไม่อาจจำกัดสิทธิได้ดังที่รุสโซกล่าวว่า  สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรมาพรากไปจากประชาชนได้

2       การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนนั้นเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง  (Mandat  Imfiratif)

 

ข้อ  3  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก.       จงอธิบายโดยสังเขปพอให้เข้าใจได้ว่า

–                    รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเกิดมาจากสาเหตุใดหรือปัญหาใด

–                    เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่สำคัญบัญญัติเรื่องใดบ้าง

–                    จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร

ข.      จงเปรียบเทียบความแตกต่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2540  กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ  2550

ธงคำตอบ

ก.      รัฐธรรมนูญเกิดจากปัญหาการใช้อำนาจทางการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ที่อำนาจอยู่ที่ผู้นำเพียงผู้เดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง  และการใช้อำนาจในการปกครองไม่สามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้  ทำให้ประชาชนถูกรบกวนสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองอย่างไม่เป็นธรรม

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครองเป็นสามอำนาจ  คือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ

จากหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง  ทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยอันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ  โดยมีหลักว่า

1       ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

2       ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง  จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  ทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง

3       เมื่อได้อำนาจในการปกครองประเทศแล้ว  ต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

4       การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

ส่วนเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ได้แก่

1       อำนาจในการปกครองประเทศมีกี่อำนาจ

2       ที่มาของแต่ละอำนาจเป็นอย่างไร  มีขั้นตอนอย่างไร

3       วิธีใช้อำนาจดังกล่าวใช้อย่างไร

4       การควบคุมอำนาจในแต่ละอำนาจทำอย่างไร

5       สิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นมูลฐานมีอย่างไรบ้าง

ข.      ข้อแตกต่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พ.ศ.2540  กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ  2550  คือ

–                    สสร. 2540  มาจากตัวแทนของประชาชนแต่ละจังหวัด  ๆ  ละ  1  คน  และนักวิชาการอีก  23  คน

–                    สสร.  2550  มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  (คมช.)  คัดเลือกมาไม่เกิน  2,000  คน และเลือกกันเองให้เหลือ  200  คน  สุดท้าย  คมช.  จะเลือก  200  คน  ให้เหลือ  100 คน  เป็น  สสร.

 

ข้อ  4  เทศบาลเมืองราชบุรี  ตรวจพบว่า  มีโรงงานในเขตเทศบาลปล่อยน้ำเสียอย่างผิดกฎหมายลงแม่น้ำในเขตเทศบาลหลายโรงงานด้วยกัน  จึงได้ดำเนินการออกใบอนุญาตกำหนดให้  บริษัทเคมีสยาม  จำกัดและบริษัทฟอกหนัง  จำกัด  ปล่อยน้ำเสียได้เป็นเวลา  6  เดือน  หลังจากนั้นแล้วจะต้องหยุดการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำอย่างเด็ดขาด  และได้ดำเนินการบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป  ต่อมาระหว่างการพิจารณาของเทศบาลฯ  เพื่อออกใบอนุญาตในกรณีเดียวกันนี้ให้แก่บริษัทน้ำตาลไทย  จำกัด  ทางเทศบาลฯ  ได้ตรวจพบว่าการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯดังกล่าวนั้นขัดต่อ  พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เทศบาลฯจึงไม่ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทน้ำตาลไทยฯ  และได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทน้ำตาลไทยฯ  ยุติการทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำภายใน  1  เดือน  บริษัทน้ำตาลไทยฯ  เห็นว่าการกระทำของเทศบาลฯ  เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2549  มาตรา  3  เพราะตนควรได้รับใบอนุญาต  เป็นระยะเวลา  6  เดือน  เช่น เดียวกับบริษัทอื่นๆ เหมือนกัน  ดังนั้นบริษัทน้ำตาลไทยฯ จึงได้ยื่นเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ของรัฐสภา  เพื่อให้ผู้ตรวจการฯ เสนอเรื่องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป  ดังนั้นหากท่านเป็นผู้ตรวจการฯ  ท่านจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา  พ.ศ.  2542  มาตรา  16  ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี

(ก)  การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ  พนักงาน  หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือราชการส่วนท้องถิ่น

มาตรา  17  ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  กฎ  ข้อบังคับ  หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา  16(1)  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

รัฐธรรมนูญ  (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ. 2549

มาตรา  3  ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญนี้  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิเสรีภาพ  และความเสมอภาค  บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครอง….  ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา  35  บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ  หรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ….

วินิจฉัย

การออกใบอนุญาตฯ  ของเทศบาลฯ แก่บริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯ  เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การปฏิบัติของเทศบาลฯ  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกใบอนุญาตฯ  ไม่อาจนำมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทน้ำตาลไทยฯได้

บริษัทน้ำตาลไทยฯ  ไม่อาจอ้างหลักความเสมอภาคตามมาตรา  3  รัฐธรรมนูญฯ  (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ. 2549  เพราะไม่มีความเสมอภาคในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  บริษัท  น้ำตาลไทยฯ  จึงมาสามารถเรียกร้องให้เทศบาลฯ ปฏิบัติต่อตนเสมือนกรณีของบริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯ

สรุป  ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ  จะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปยังตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ในกรณีนี้

LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ภาคฤดูร้อน/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  รัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราว (พ.ศ. 2549 ) ได้บัญญัติถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติไว้อย่างไร  ให้อธิบายมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

   งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550 สำหรับคำถามข้อนี้คงจะไม่ออกสอบอีก

ข้อ  2  ให้อธิบายถึงรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน  และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี )มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา  ได้แก่  หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น  2  องค์กร  คือ  องค์กรประมุขแห่งรัฐ  และองค์กร คณะรัฐมนตรี  ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ  แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี  โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี  แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี  ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี  ได้แก่  ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา  จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง

สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส

1       สถาบันบริหาร  แบ่งออกเป็น

1)    ประธานาธิบดี  มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด  นั่นคือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  20  ล้านคน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง  สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป  (สิบล้านหนึ่งคน)  เป็นต้น  โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้  ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก  ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง  โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่  1  และลำดับที่  2  ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้  ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา  นั่นคือ  หนึ่งในสองคนนี้  ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย

ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ  และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย  (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

ประเภทแรก  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ  ภายในรัฐ  เช่น  อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ  และคณะรัฐมนตรี  อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต  หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ประเภทที่สอง  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา  เช่น  ลงนามในกฎหมายต่างๆ  หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่  อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ  และที่สำคัญที่สุดคือ  ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว

2)  คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีทั้งหลาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล  ซึ่งต้องไปแถลง

นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่  พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส  มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี  ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา  แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้

2       สภานิติบัญญัติ  แบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่

1)    สภาผู้แทนราษฎร  มีจำนวนสมาชิก  577  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

2)    วุฒิสภา  มีจำนวนสมาชิก  321  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  แต่จำนวนวุฒิสมาชิก  1  ใน  3  จะต้องออกจากตำแหน่งทุก  3  ปี

อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน  เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน  และที่สำคัญคือ  อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล

3       สถาบันอื่นๆ  เช่น

1)    สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)

2)    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

3)    ศาลยุติธรรมสูงสุด  ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ

 

ข้อ  3  ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศสหรัฐอเมริกา  ระบบการปกครอง  และการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักที่ศูนย์กลางแห่งอำนาจ  (วอชิงตัน  ดี.ซี.) มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ประเทศสหรัฐอเมริกา  ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น  ที่เรียกว่า  สหพันธรัฐ  หรือเรียกสั้นๆว่า  สหรัฐ  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก  รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ  ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน  โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า  รัฐธรรมนูญใหม่  หรือ  รัฐธรรมนูญกลาง

ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  มี  2  ประการ  คือ

1       ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

2       มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  กล่าวคือ  เป็นอิสระจากกัน  ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน  ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร  (สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน)

การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา  มีดังนี้

ก.      สถาบันนิติบัญญัติ  (สภาคองเกรส)

รัฐสภาอเมริกัน  เรียกว่า  สภาคองเกรส (Zcongress)  ประกอบด้วย  2  สภา คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  แบบเสียงข้างมากรอบเดียว  มีวาระในการดำลงตำแหน่ง  2  ปี  มีจำนวนทั้งสิ้น  435  คน  รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน  ดี.ซี.  อีก  3  คน  ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด  438 คน

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  คือ  ต้องมีอายุ  25  ปีขึ้นไป  และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย  7  ปี

2       สภาสูงหรือวุฒิสภา  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  2  คนต่อ  1  มลรัฐ  รวมทั้งสิ้นจำนวน  100 คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  6  ปี  แต่สมาชิก  1  ใน  3  ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ  2  ปี  ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ  ต้องมีอายุตั้งแต่  30  ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว  9  ปีขึ้นไป

สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่  นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี  ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ  เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร

อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส

1       อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ  ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน  ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร

2       อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส  หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ

3       อำนาจในการเลือกตั้งแทน  เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน  กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี

4       อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส  เช่น  ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา

อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา

1       ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ

2       ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง  2  ใน  3

ข.      สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด  ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง  โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ  อยู่เพียง  2  พรรค  คือ  พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต  ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  กล่าวคือ  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง  เรียกว่า  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  (Big  Elector)  เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี  ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ  “Ticket”  เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน  มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่  1 

พรรคการเมืองทั้ง  2  พรรคดังกล่าว  จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ  ซึ่งมีทั้งหมด  50  มลรัฐ  เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ  Convention  เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่  2 

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่  ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน  ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อย่างเช่น  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  30  คน  และสมาชิกวุฒิสภาอีก  2  คน  ดังนั้นรวมแล้วได้  32  คน  ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ  32  รายชื่อ  เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา  ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด  ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น  และจะต้องเลือกทั้ง  32  คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น  เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  นั้นมีทั้งหมด  538  คน  ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  (435 + 3 + 100 )  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด  คือ  จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า  หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก  50  มลรัฐของแต่ละพรรค  ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง  270  เสียง  คือ  เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  (กึ่งหนึ่ง  269)  ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่  3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน  538  คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน  ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป  ก็หมายความว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส  จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ก็คือ  4  ปี  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง  รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่  และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี

ค.      สถาบันตุลาการ  (ศาลยุติธรรมสูงสุด)

ศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้แก่

1       ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด  หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง

2       พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต  กงสุล  รัฐมนตรี  หรือรัฐสมาชิก

 

ข้อ  4  ให้อธิบายถึงรูปการปกครองและวิธีการจัดตั้งฝ่ายบริหารของประเทศอังกฤษมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษในปัจจุบัน  เป็นรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภาแบบสองพรรคการเมือง  (พรรคอนุรักษนิยมและพรรคกรรมกร)  ซึ่งเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ  มีการกำหนดมาตรการในการโต้ตอบ  ล้มล้างซึ่งกันและกัน  เช่น  การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ  และการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโยฝ่ายบริหาร  ซึ่งการจัดรูปองค์กรการปกครองของอังกฤษไม่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร  เพราะอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

สถาบันการปกครองของอังกฤษ  แบ่งเป็น

1       สถาบันของฝ่ายนิติบัญญัติ  (รัฐสภา)  ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญ  ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดประมาณ  635  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  แต่เนื่องจากประเทศอังกฤษใช้ระบบรัฐสภาดังนั้นวาระในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่แน่นอน  อาจอยู่ไม่ครบ  5  ปีก็ได้  เพราะว่าอาจถูกฝ่ายบริหารประกาศยุบสภาได้

วุฒิสภาหรือสภาขุนนาง  ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ  1,000  คน  มาจากการแต่งตั้งโดยองค์ประมุขของอังกฤษในฐานะที่เคยทำความดีความชอบให้กับประเทศ  แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าวุฒิสภาของอังกฤษจะมีจำนวนสมาชิกมากแต่ก็มีบทบาททางด้านนิติบัญญัติคือ  การร่างกฎหมายนั้นจะมีเพียง  50  60 คนเท่านั้น  ซึ่งถือได้ว่าวุฒิสภาของอังกฤษเกือบไม่มีอำนาจทางการเมืองเลย

2       สถาบันของฝ่ายบริหาร  (รัฐบาล)

การจัดรูปองค์กรของฝ่ายบริหารของอังกฤษนั้นเป็นแบบฝ่ายบริหารที่แบ่งเป็นสององค์กร  คือ  มีการแยกองค์กรประมุขของรัฐซึ่งก็คือกษัตริย์  กับองค์กรที่เป็นฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล  ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี  มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าออกจากกัน  ในขอบเขตอำนาจฝ่ายบริหารนั้น  รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านี้โดยคณะรัฐมนตรีผู้ที่จะรับผิดชอบต่อรัฐสภา  ซึ่งมีทั้งความรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะและความรับผิดชอบในส่วนของกระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆ  แต่ละคนด้วย  แม้ว่ากษัตริย์ทรงมีฐานะอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วยก็ตาม  แต่ก็จะเป็นเพียงฐานะอย่างเป็นทางการ  ไม่ได้ทรงใช้อำนาจอย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง

การจัดตั้งฝ่ายบริหารของประเทศอังกฤษนั้น  เริ่มจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ  จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งและมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง  จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะจัดตั้งรัฐบาลโดยคัดเลือกจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคเดียวกับตนและบางส่วนจากสมาชิกวุฒิสภา แล้วนำคณะรัฐบาลไปแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความไว้วางใจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง  ก็มักจะได้แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากนายกรัฐมนตรี  แต่วุฒิสภาบางท่านก็อาจได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน  หากว่าวุฒิสมาชิกท่านนั้นมี

ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง  หรือมีความจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องมีวุฒิสมาชิกมาเป็นรัฐมนตรีด้วย

3       สถาบันของฝ่ายตุลาการ  (ศาล)

ศาลของอังกฤษนั้นได้รับการยอมรับมานานแล้วว่า  มีความเป็นกลางไม่ขึ้นกับฝ่ายใดผู้พิพากษาเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐบาล  ตัดสินคดีโดยอาศัยหลักกฎหมายจารีตประเพณี (Common  Law)  และด้วยระบบการแต่งตั้งศาลที่ไม่ได้มาจากระบบการเมือง  ผู้พิพากษาที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมีอยู่น้อยมาก  ผู้พิพากษาจะมาจากระบบการศึกษาและเนติบัณฑิต  (Berrister)  โดยตรง

อย่างไรก็ตาม  ในทางปฏิบัตินั้น  บทบาทของนักการเมืองในการกำหนดนโยบาย  และการใช้กฎหมายโดยฝ่ายศาลนั้นก็มักจะเกี่ยวโยงถึงกันและแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ยาก  เช่น  ศาลสามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับคดีอาญาและการกระทำความผิดทางอาญา  เพื่อให้รัฐสภาออกกฎหมายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ  ความเห็นของศาลในฐานะของผู้ที่เป็นกลางในทางการเมืองจึงได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทุกฝ่าย

WordPress Ads
error: Content is protected !!