LAW3109 (LAW3009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายดิบอยู่กินกับนางดึกมีบุตรคือนายดําและนายแดง โดยนายดิบแจ้งเกิดในสูติบัตรทั้งสองว่าเป็น บิดา ต่อมานายดําอยู่กินกับนางฤดี นายดําได้ทําสัญญาเช่าที่ดินของนายเผือกเพื่อสร้างอาคารสองชั้น เพื่ออยู่อาศัยและมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกําหนดการเช่า 30 ปีแล้วให้อาคารดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่ นายเผือก หลังจากการเช่าได้ 5 ปี นายดําประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย โดยหลังจากนายดํา ตายได้ 300 วัน นางฤดีกลับคลอดบุตรคือ ด.ญ.วันดี โดยนายดําไม่เคยทราบว่านางฤดีตั้งครรภ์ เช่นนี้จงแบ่งมรดกของนายดําที่ยังมีเงินสดในธนาคาร 1,200,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

มาตรา 1604 “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตาม มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดก
ถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ
ผู้ตายเลย”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มรดกของนายดําผู้ตายตามมาตรา 1600 ซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทนั้น ได้แก่

1. เงินสดในธนาคารจํานวน 1,200,000 บาท
2. สิทธิตามสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เนื่องจาก เป็นสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างอาคารสองชั้นเพื่ออยู่อาศัยและมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกําหนดการเช่า 30 ปีแล้ว
ให้อาคารดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่นายเผือกผู้ให้เช่า ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่เจ้ามรดกได้มาในระหว่างมีชีวิต และโดยสภาพหรือตามกฎหมายแล้วมิใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย

ส่วนบุคคลใดบ้างที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิในการรับมรดกดังกล่าวของนายดํานั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นายดิบ ซึ่งเป็นบิดาของนายดํานั้น เมื่อนายดิบมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางดึก นายดิบ จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา และแม้ว่านายดิบจะได้รับรองโดยแจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดาของ นายดําตามมาตรา 1627 ก็ตาม ก็ไม่ทําให้นายดิบเป็นทายาทโดยธรรมตามนัยของมาตรา 1629 (2) แต่อย่างใด ดังนั้น นายดิบจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดํา

2. นางดึก ซึ่งเป็นมารดาของนายดํานั้น ถือเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) จึงมีสิทธิ รับมรดกของนายดํา ทั้งนี้เพราะนางดึกแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายดิบก็ตาม ก็ถือว่าเป็นมารดาโดยชอบ ด้วยกฎหมายของนายดําตามมาตรา 1546

3. นายแดง ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (3) นั้น เมื่อนายดํามีทายาทโดยธรรมในลําดับที่ 2 ตามมาตรา 1629 (2) คือนางดึก นายแดง ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลําดับถัดลงไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

4. นางฤดี ซึ่งได้อยู่กินกับนายดําโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายดํา ดังนั้น นางฤดีจึงไม่ใช่ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบ
มาตรา 1457

5. ด.ญ.วันดี ซึ่งเป็นบุตรที่นางฤดีคลอดภายหลังจากที่นายดําตายได้ 300 วันนั้น แม้จะเป็น บุตรนอกกฎหมายของนายดําและคลอดแล้วรอดอยู่ภายใน 310 วันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดําไม่เคยทราบว่านางฤดีตั้งครรภ์ ย่อมไม่อาจมีพฤติการณ์ที่นายดําได้รับรองว่า ด.ญ.วันดีเป็นทารกในครรภ์มารดาและเป็นบุตรของตนแต่อย่างใด อีกทั้งนางฤดีเป็นภริยานอกกฎหมายของ นายดําทําให้ ด.ญ.วันดีไม่ได้รับการสันนิษฐานความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ด.ญ.วันดีจึงไม่มีสิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1), 1627 ประกอบ มาตรา 1604 ด.ญ.วันดีจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดํา

ดังนั้น เมื่อนายดําตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายดําทั้งหมดซึ่งได้แก่เงินสดในธนาคาร จํานวน 1,200,000 บาท และสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนฯ จึงตกได้แก่นางดึก แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1633

สรุป มรดกทั้งหมดของนายคือเงินสดในธนาคาร 1,200,000 บาท และสิทธิตามสัญญาเช่า
ที่ดินฯ ตกได้แก่นางดึกแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 2. นายเมฆอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.เดือน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น.ส.ฝน และนายหมอก ซึ่งนายเมฆให้คนทั้งสองใช้นามสกุล น.ส.ฝนอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนายดิน แต่ไม่มีบุตร ด้วยกัน น.ส.ฝนจึงจดทะเบียนรับ น.ส.ฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยนายดินให้ความยินยอม น.ส.ฟ้ามี ด.ญ.ดาวเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนนายหมอกมี ด.ญ.น้ําเป็นบุตรนอกกฎหมาย ทนายหมอกให้การเลี้ยงดูอย่างดี ต่อมา น.ส.ฝน น.ส.ฟ้า และนายหมอกเดินทางไปต่างจังหวัด และประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พอนายเมฆทราบข่าวก็หัวใจวายและถึงแก่ความตาย นายเมฆมี มรดกเป็นเงินสดจํานวน 2 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายเมฆ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.เดือน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น.ส.ฝน และนายหมอก ต่อมานายเมฆได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้นั้น มรดกของนายเมฆ คือเงินสดจํานวน 2 ล้านบาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายเมฆตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และทายาท โดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆ คือ น.ส.ฝน และนายหมอกตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 เพราะแม้ว่า น.ส.ฝน และนายหมอกจะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเมฆก็ตาม แต่การที่นายเมฆได้ให้บุตรทั้งสอง ใช้นามสกุล ย่อมถือว่านายเมฆได้ให้การรับรองบุตรโดยพฤติการณ์แล้ว จึงทําให้ น.ส.ฝน และนายหมอกมีสิทธิรับ มรดกของนายเมฆในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วน น.ส.เดือนเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส กับนายเมฆ จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.ฝน และนายหมอกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกจึงไม่อาจรับมรดกได้เพราะไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าทายาทโดยธรรมผู้นั้นมีผู้สืบสันดาน เพื่อเข้ารับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 หรือไม่

กรณีของ น.ส.ฝนนั้น การที่ น.ส.ฝนได้จดทะเบียนรับ น.ส.ฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยได้รับ ความยินยอมจากนายดินก็ตาม ก็ไม่ถือว่า น.ส.ฟ้าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของ น.ส.ฝน ดังนั้น น.ส.ฟ้าจึงไม่มีสิทธิ เข้ารับมรดกแทนที่ น.ส.ฝน ในการรับมรดกของนายเมฆ และเมื่อ น.ส.ฟ้าไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ น.ส.ฝนแล้ว แม้ น.ส.ฟ้าจะมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ด.ญ.ดาว ด.ญ.ดาวก็ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ น.ส.ฝนเช่นเดียวกันตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ส่วนกรณีของนายหมอกนั้น เมื่อนายหมอกมีบุตรนอกกฎหมายคือ ด.ญ.น้ำ ซึ่งนายหมอกให้การ เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด.ญ.น้ำจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ด.ญ.น้ําจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายหมอก ตามมาตรา 1627 และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายหมอก ดังนั้น เมื่อนายหมอกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ด.ญ.น้ําจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายหมอกได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกทั้งหมดของนายเมฆจํานวน 2 ล้านบาท จึงตกได้แก่ ด.ญ.น้ําเพียงคนเดียวโดยการ เข้ารับมรดกแทนที่นายหมอก

สรุป มรดกทั้งหมดของนายเมฆคือเงินสดจํานวน 2 ล้านบาทตกได้แก่ ด.ญ.น้ำเพียงคนเดียว

 

ข้อ 3. นายแดงจดทะเบียนสมรสกับนางเหลือง มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายส้มและนายแสด นายส้ม อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับ น.ส.ขาว มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ญ.ชมพู โดยนายส้มให้ ด.ญ.ชมพูใช้นามสกุล ส่วนนายแสดมี ด.ช.เขียว เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายส้มป่วย และถึงแก่ความตาย ส่วนนายแสดติดการพนันอย่างหนัก นายแดงจึงทําพินัยกรรมตัดนายแสด ไม่ให้รับมรดกของตน ต่อมานายแสดกลับตัวได้ นายแดงจึงทําหนังสือถอนการตัดมอบไว้แก่ นายอําเภอ หลังจากนั้น นายแดงก็ถึงแก่ความตาย นายแดงมีมรดกเป็นเงินสดจํานวน 3 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายแดง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่ด้วย
แสดงเจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1609 “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น….”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิต ชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั่นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายแดงถึงแก่ความตาย มรดกซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 3 ล้านบาทของนายแดง ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม และบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายแดงได้แก่บุคคลใดบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นางเหลือง ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแดง มีสิทธิรับมรดกของนายแดง
ในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2. นายส้ม ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแดง โดยหลักแล้วย่อมมีสิทธิรับมรดกของ นายแดงในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อปรากฏว่า นายส้มได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ดังนั้น นายส้มจึงไม่อาจรับมรดกของนายแดงได้ เพราะนายส้มไม่มีสถานภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายส้มมีบุตรคือ ด.ญ.ชมพู ซึ่งแม้ ด.ญ.ชมพูจะเป็น บุตรนอกกฎหมายของนายส้ม แต่เมื่อนายส้มได้รับรองว่า ด.ญ.ชมพูเป็นบุตรโดยการให้ ด.ญ.ชมพูใช้นามสกุล ตามมาตรา 1627 อีกทั้ง ด.ญ.ชมพูเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายส้ม ดังนั้น ด.ญ.ชมพูจึงมีสิทธิรับมรดก แทนที่นายส้มในการรับมรดกของนายแดงได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 16413

3. นายแสด ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแดงนั้น ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายแดง ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ทั้งนี้เพราะนายแดงเจ้ามรดกได้ทําพินัยกรรมตัดมิให้นายแสดรับมรดก โดยถูกต้องตามมาตรา 1608 แล้ว และแม้ว่าภายหลังนายแดงจะได้ทําหนังสือถอนการตัดมิให้รับมรดกนั้น มอบไว้แก่นายอําเภอก็ตาม แต่การถอนดังกล่าวกระทําไม่ถูกต้องตามมาตรา 1609 คือไม่ได้ถอนโดยพินัยกรรม ดังนั้น จึงยังถือว่านายแสดถูกตัดมิให้รับมรดกเช่นเดิม และการที่นายแสดถูกตัดมิให้รับมรดกนั้น ทําให้ ด.ช.เขียว ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแสดจะเข้ารับมรดกแทนที่นายแสดไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีที่นายเขียวตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1639 แต่อย่างใด

ส่วน น.ส.ขาว ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายแดงจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายแดง

ดังนั้น มรดกของนายแดงซึ่งเป็นเงินสดจึงตกได้แก่ ด.ญ.ชมพูซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายส้มและ นางเหลืองคู่สมรสของเจ้ามรดก โดยนางเหลืองจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้น ด.ญ.ชมพูและนางเหลืองจึงได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่า ๆ กันคือคนละ 1 ล้าน 5 แสนบาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายแดงตกได้แก่นางเหลืองและ ด.ญ.ชมพู คนละ 1 ล้าน 5 แสนบาท

 

ข้อ 4. นายใหญ่มีน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน 2 คน คือ นายกลางและนายเล็ก นายใหญ่มีภริยาที่ชอบด้วย กฎหมายชื่อนางหญิง นายกลางได้จดทะเบียนสมรสกับนางก้อยมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายก่อ ส่วนนายเล็กเป็นโสดแต่นายเล็กได้รับนายน้อยมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตาม กฎหมาย วันหนึ่งนายใหญ่ได้ด่าว่านายก่อที่ชอบทําตัวเป็นอันธพาล นายก่อโกรธนายใหญ่มาก นายก่อจึงนําปืนมายิงนายใหญ่ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายก่อได้บอกนายกลางเรื่องที่ยิงนายใหญ่ตาย นายกลางแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายใหญ่ถูกฆ่าตายแต่ไม่บอกว่านายก่อ เป็นผู้ที่ฆ่าเพราะกลัวว่านายก่อต้องรับโทษ นายใหญ่มีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 300,000 บาท นายเล็ก ได้สละมรดกของนายใหญ่โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้กับผู้อํานวยการเขตบางรัก ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายใหญ่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริต ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดก แทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายใหญ่ตายลงโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิในการรับมรดกของ นายใหญ่ในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่

1. นางหญิง ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคท้าย

2. นายกลางและนายเล็ก ซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันกับนายใหญ่ตามมาตรา 1629 (4)

ส่วนนางก้อยซึ่งเป็นภริยาของนายกลางนั้นไม่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่เพราะมิใช่ทายาทโดยธรรม
ของนายใหญ่แต่อย่างใด

เมื่อบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่มี 3 คน คือ นางหญิงซึ่งเป็นคู่สมรส และนายกลางกับ นายเล็กซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (4) ดังนั้น มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท จึงตกได้แก่นางหญิง 2 ใน 3 ส่วน คือ 200,000 บาท และตกได้แก่นายกลางและนายเล็ก 1 ใน 3 ส่วน คือจํานวน 100,000 บาทตามมาตรา 1635 (3) นายกลางและนายเล็กจึงได้รับคนละ 50,000 บาทตามมาตรา 1633

ส่วนกรณีที่นายก่อซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกลางได้ใช้ปืนยิงนายใหญ่ถึงแก่ความตาย และได้บอกเรื่องดังกล่าวให้นายกลางรู้ แต่นายกลางได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตํารวจว่านายใหญ่ถูกฆ่าตายแต่ไม่บอกว่า นายก่อเป็นผู้ที่ฆ่าเพราะกลัวว่านายก่อต้องรับโทษนั้น นายกลางจะไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายใหญ่ตาม มาตรา 1606 (3) เนื่องจากนายก่อเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายกลาง จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1606 (3) ดังนั้น นายกลางจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่

และกรณีที่นายเล็กได้สละมรดกของนายใหญ่โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้กับผู้อํานวยการเขตบางรักนั้น การสละมรดกของนายเล็กมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1612 และเมื่อนายเล็กมีบุตรบุญธรรมคือนายน้อย ซึ่งเป็น ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) ดังนั้น นายน้อยจึงเข้าสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่าส่วนแบ่งที่นายเล็กผู้สละมรดกจะได้รับคือจํานวน 50,000 บาทตามมาตรา
1615 วรรคสอง

สรุป มรดกของนายใหญ่จํานวน 300,000 บาท จะตกได้แก่นางหญิงจํานวน 200,000 บาท และตกได้แก่นายกลางและนายน้อยคนละ 50,000 บาท

LAW2105 (LAW2005) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2105 (LAW2005) ป.พ.พ.ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
ข้อแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกซื้อรถจักรยานยนต์ทะเบียน กข 99 จากนายโทในราคา 42,000 บาท โดยชําระราคาด้วยเช็ค ต่อมานายโททราบว่าเช็คที่นายเอกใช้สําหรับชําระราคารถจักรยานยนต์ให้ตนนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อยากทราบว่าการซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขาย ประเภทใด และกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์โอนไปยังนายเอกเมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขาย ขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ
สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน”

วินิจฉัย

“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่
“สัญญาจะซื้อจะขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไป ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซื้อรถจักรยานยนต์ทะเบียน กข 99 จากนายโทในราคา 42,000 บาท โดยชําระราคาด้วยเช็คนั้น ถือเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป มิใช่เป็นการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษแต่อย่างใด และเมื่อเป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง (ทรัพย์ที่ กําหนดไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว) สัญญาซื้อขายรถจักรยายนต์ระหว่างนายเอกและนายโทจึงเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไปนั้นจะไม่อยู่ภายใต้ บังคับของมาตรา 456 วรรคหนึ่ง คือ ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

และเมื่อสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทมีผลสมบูรณ์ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันคือรถจักรยานยนต์ย่อมโอนไปเป็นของนายเอกผู้ซื้อนับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญา
ซื้อขายกันตามมาตรา 458 แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าเช็คที่นายเอกใช้ชําระราคารถจักรยายนต์ให้ตนนั้นจะ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม

สรุป สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
และกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์โอนไปยังนายเอกผู้ซื้อนับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน

 

ข้อ 2. นายนิดต้องการหาซื้อแจกันลายครามเพื่อเอาเข้าร่วมประกวดในงานของดีประเทศไทย จึงไปที่
ร้านขายแจกันโบราณของนายหน่อย นายหน่อยทราบว่านายนิดต้องการแจกันลายสวยงามเพื่อนําไปเข้าประกวด จึงแนะนําแจกันใบหนึ่งให้ แล้วบอกว่าแจกันใบที่ตนนํามาให้ดูนี้เคยผ่านการ ประกวดแล้วได้รับรางวัลเมื่อนานมาแล้ว นายนิดจึงตกลงซื้อ ปรากฏว่าเมื่อนําไปเข้าร่วมประกวด กรรมการพบว่าแจกันที่นายนิดนําเข้าประกวดนั้นเคยมีการแตกร้าวมาก่อน แต่มีการซ่อมแซม อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แจกันใบดังกล่าวจึงตกรอบแรก นอกจากนี้ มีนายสิงมาอ้างกับนายนิดว่าแจกันใบนี้เป็นของตนที่ถูกขโมยมา พร้อมทั้งโชว์ภาพที่ตนถ่ายคู่กับ แจกันให้ดู ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายนิดจะเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องและเพื่อ การรอนสิทธิได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดีท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สิน โดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 479 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุ การรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตก อยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อม ความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายนิดจะเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิ
ได้หรือไม่ อย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายนิดต้องการหาซื้อแจกันลายครามเพื่อเอาเข้าร่วมประกวดในงานของดีประเทศไทย จึงไปที่ร้านขายแจกันโบราณของนายหน่อย นายหน่อยทราบว่านายนิดต้องการแจกันลายสวยงามเพื่อนําไปเข้า ประกวด จึงแนะนําแจกันใบหนึ่งให้ แล้วบอกว่าแจกันใบที่ตนนํามาให้ดูนี้เคยผ่านการประกวดแล้วได้รับรางวัล เมื่อนานมาแล้ว นายนิดจึงตกลงซื้อ ปรากฏว่าเมื่อนําไปเข้าร่วมประกวด กรรมการพบว่าแจกันที่นายนิดนําเข้า ประกวดนั้นเคยมีการแตกร้าวมาก่อน แต่มีการซ่อมแซมอย่างแนบเนียนจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แจกันใบดังกล่าวจึงตกรอบแรกนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าทรัพย์สินซึ่งตกลงซื้อขายกันคือแจกันนั้นมีความชํารุดบกพร่อง อย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา นายหน่อยผู้ขายจึงต้องรับผิด ดังนั้น นายนิดจึงเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้ตามมาตรา 472

2. กรณีที่จะถือว่าผู้ซื้อถูกรอนสิทธิและผู้ขายจะต้องรับผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่น ได้เข้ามาก่อการรบกวนสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 479 แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น นายสิงเพียงแต่ มาอ้างกับนายนิดว่าแจกันใบนี้เป็นของตนที่ถูกขโมยมาพร้อมทั้งโชว์ภาพที่ตนถ่ายคู่กับแจกันให้ดูเท่านั้น กรณี จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 475 ประกอบมาตรา 479 ในอันที่จะถือว่านายนิดถูกรอนสิทธิ ดังนั้น นายนิดจึงเรียกให้ นายหน่อยรับผิดเพื่อการรอนสิทธิไม่ได้

สรุป นายนิดสามารถเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้ แต่จะเรียกให้นายหน่อย รับผิดเพื่อการรอนสิทธิไม่ได้

 

ข้อ 3. นายหนึ่งทําสัญญาเป็นหนังสือกับนายสอง ขายฝากรถยนต์คันหนึ่งของนายหนึ่งไว้กับนายสอง ใน
ราคา 200,000 บาท เป็นจํานวนเท่ากับที่นายหนึ่งรับเงินจริงตามสัญญาขายฝาก แต่ในสัญญา ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ ไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืน ขายฝากไปได้สามเดือน นายหนึ่งได้มาขอไถ่รถยนต์ คันนั้นคืนจากนายสอง นายสองตกลงให้นายหนึ่งนําเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายสอง แต่เมื่อ นายหนึ่งนําเงิน 200,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายสองเรียบร้อย นายสองกลับไม่ยอมส่งมอบ รถยนต์คันนั้นคืนโดยอ้างว่าเงินที่นายหนึ่งโอนมานั้นยังขาดดอกเบี้ยอีก 10,000 บาท และนายสอง ยังนํารถยนต์คันนั้นไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุทําให้รถยนต์คันนั้นเสียหาย ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหนึ่ง ได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้วหรือยัง นายสองจะเรียกดอกเบี้ยอีก 10,000 บาท ได้หรือไม่ และ นายหนึ่งจะฟ้องร้องให้นายสองรับผิดในความเสียหายของรถยนต์คันนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายในกําหนดเวลาไถ่ โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 499 วรรคหนึ่ง “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก”

มาตรา 501 “ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่า ทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายหนึ่งทําสัญญาเป็นหนังสือกับนายสองขายฝากรถยนต์คันหนึ่งไว้กับนายสอง ในราคา 200,000 บาท เป็นจํานวนเท่ากับที่นายหนึ่งรับเงินจริงตามสัญญาขายฝากนั้น สัญญาขายฝากรถยนต์ ระหว่างนายหนึ่งกับนายสองย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็น การขายฝากสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

2. เมื่อสัญญาขายฝากดังกล่าว ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ และไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืนไว้ ดังนั้น นายหนึ่งจึงมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนได้ภายในกําหนด 3 ปีนับตั้งแต่เวลาขายฝากตามมาตรา 494 (2) และสามารถ ไม่ได้โดยใช้สินไถ่ตามราคาที่ขายฝาก คือ 200,000 บาท ตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง

และเมื่อขายฝากไปได้ 3 เดือน นายหนึ่งได้มาขอไถ่รถยนต์คันนั้นคืนจากนายสอง และนายสอง ก็ตกลงให้นายหนึ่งนําเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายสอง เมื่อนายหนึ่งนําเงิน 200,000 บาท เข้าบัญชีของนายสอง เรียบร้อยแล้ว ย่อมถือว่านายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้วตามมาตรา 494 (2) และมาตรา 499 วรรคหนึ่ง และเมื่อนายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินโดยชอบแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวจึงโอนกลับมาเป็นของ นายหนึ่งแล้วตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง นายสองจึงต้องส่งมอบรถยนต์คันนั้นคืนให้แก่นายหนึ่งและจะเรียก ดอกเบี้ยอีก 10,000 บาทไม่ได้

3. การที่นายสองไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายหนึ่ง และยังนํารถยนต์คันนั้นไปใช้จนเกิด อุบัติเหตุทําให้รถยนต์คันนั้นเสียหาย นายหนึ่งย่อมสามารถเรียกให้นายสองรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันนั้นได้ เพราะถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายสองตามมาตรา 501

สรุป กรณีดังกล่าวถือว่านายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้ว นายสองจะเรียกดอกเบี้ยอีก 10,000 บาทไม่ได้ และนายหนึ่งสามารถฟ้องร้องให้นายสองรับผิดในความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันนั้นได้

 

LAW2106 (LAW2006) กฎหมายอาญา1 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2106 (LAW 2006) กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายโก๋ออกไปล่าสัตว์ในป่ากับนายเก่า หลังจากแยกย้ายกันไปสักพักใหญ่ นายโก๋มานั่งพักอยู่ที่ จุดนัดพบคอยนายเก๋า ระหว่างนั้นนายโก๋ได้ยินเสียงพุ่มไม้ไหวก็เข้าใจไปว่าเป็นหมูป่าโดยไม่คิดว่า เป็นนายเก๋า ทั้งที่ปกตินายเก๋มักจะชอบล้อเล่นแบบนี้อยู่เสมอ ด้วยความรีบร้อนไม่ดูให้ดี นายโก๋ ใช้ปืนยิงไปหลังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าโดนนายเก่าถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโก๋

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้ กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้

กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่
หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือ ความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคหนึ่ง ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํา รับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโก๋ใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยรู้สํานึกแล้ว จึงถือว่านายโก๋มีการกระทําทางอาญา แต่การที่นายโก้ยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายเก่านั้น เป็นกรณีที่นายโก๋ได้กระทําไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ ของความผิด คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงนั้นเป็นคน ดังนั้น จะถือว่านายโก๋ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทําคือการที่นายเก่าถึงแก่ความตายไม่ได้ กล่าวคือ จะถือว่านายโก๋ได้กระทําโดยเจตนาต่อนายเก๋าไม่ได้นั่นเอง (มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ของนายโก๋ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทําของนายโก๋ เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และนายโก๋ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ ถ้านายโก๋ใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้ดี

ไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายเก๋าไม่ใช่สัตว์ เพราะนายเก๋ามักจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจํา ดังนั้น นายโก๋จึงต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

สรุป นายโก๋ต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62
วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

 

ข้อ 2. นายดําต้องการฆ่านายแดงจึงมอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงล้อเล่นให้
นายแดงตกใจ นายขาวหลงเชื่อว่าเป็นปืนปลอม จึงยิงปืนไปที่นายแดง กระสุนปืนไม่ถูกนายแดง และไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใด

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายดําและนายขาวจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ ได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทํา โดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําต้องการฆ่านายแดงจึงมอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอม ให้ไปยิงล้อเล่นให้นายแดงตกใจ นายขาวหลงเชื่อว่าเป็นปืนปลอมจึงยิงปืนไปที่นายแดง กระสุนปืนไม่ถูกนายแดง และไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น นายดําและนายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่นั้น
แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายขาว

การที่นายขาวใช้ปืนยิงไปที่นายแดงโดยนายขาวหลงเชื่อว่าปืนที่ใช้เป็นปืนปลอมนั้น แม้นายขาวจะได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําก็ตาม แต่เมื่อนายขาวมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด คือไม่รู้ว่าการกระทําของตนนั้นเป็นการ “ฆ่าผู้อื่น” กรณีนี้จะถือว่านายขาวได้กระทําโดยประสงค์ต่อผลหรือ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ กล่าวคือ จะถือว่านายขาวได้กระทําโดยมีเจตนาที่จะฆ่านายแดงมิได้ (ตามมาตรา 59 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง) และเมื่อไม่ถือว่านายขาวได้กระทําโดยเจตนา นายขาวจึงไม่ต้อง รับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

กรณีของนายดำ

การที่นายดํามอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงนายแดงนั้น ถือเป็นกรณีที่นายดํา ได้ใช้นายขาวซึ่งเป็นบุคคลที่มีการกระทํา แต่การกระทําของนายขาวนั้นไม่เป็นความผิด และเป็นเครื่องมือในการ
กระทําความผิด การที่นายขาวใช้ปืนยิงนายแดง จึงถือว่าเป็นการกระทําของนายดําเองซึ่งเป็นการกระทําโดยอ้อม

เมื่อการกระทํานั้นได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกนายแดงและ ไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใด นายดําจึงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่านายแดงตามมาตรา 288 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

สรุป นายดํามีความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงตามมาตรา 288 และมาตรา 80 ประกอบ มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนนายขาวไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาในการกระทําความผิด

 

ข้อ 3. เลอสรรค์เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้าน 3 ตัว เลอสรรค์ทํารั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตรและมีลูกกรงเหล็ก ต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร เลอสรรค์เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า “ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้า เข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ” วันรบกับพวกเตะฟุตบอลอยู่บนถนนหน้าบ้านเลอสรรค์ ลูกฟุตบอลได้ เข้าไปในบ้านเลอสรรค์ วันรบได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็นข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้วเข้าไปข้างใน วันรบร้องให้พรรคพวกช่วย ทรงเดชเพื่อนของวันรบได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอดและยอมปล่อยข้อมือวันรบ

ดังนี้ ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์
ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทรงเดชได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอดนั้น ย่อมถือว่าทรงเดช ได้กระทําต่อทรัพย์ของเลอสรรค์โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งโดยหลักแล้วทรงเดชจะต้องรับผิดทางอาญา ฐานทําให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนทรงเดชจะอ้างว่าการกระทําของตนนั้นเป็นการกระทําเพื่อ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

การกระทําที่จะถือว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 นั้น จะต้องเป็น การกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น การที่สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้ว เข้าไปข้างในรั้วบ้านของเลอสรรค์นั้น ภยันตรายที่เกิดกับวันรบนั้นไม่ถือว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ มิใช่ภยันตรายที่เกิดจากการกระทําโดยประมาทของเลอสรรค์แต่อย่างใด เนื่องจากเลอสรรค์ได้เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านและได้ทํารั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูง 2 เมตร และมีซี่กรงเหล็กต่อขึ้นไปอีก 1 เมตร อีกทั้งยังได้เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า “ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ” ด้วย แต่ภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความผิดของวันรบเองที่ได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็น ข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว จนทําให้สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้ว เข้าไปข้างใน ดังนั้น การกระทําของทรงเดชที่ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาบอดและปล่อยข้อมือวันรบนั้น

ทรงเดชจะอ้างว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของวันรบให้พ้นภยันตรายเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 68 ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของทรงเดชดังกล่าว ทรงเดชอาจอ้างได้ว่าเป็นการกระทําผิดด้วย
ความจําเป็น เพราะเพื่อให้ผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนตามมาตรา 67 (2) และเมื่อการกระทํานั้นไม่เกิน สมควรแก่เหตุ ทรงเดชไม่ต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น

สรุป ทรงเดชมีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นการกระทําความผิด ด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (2)

 

ข้อ 4. เชย ชิด และฉ่ำไปเที่ยวงานกาชาดจังหวัด พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่ เชยมีอาวุธปืนเดินเข้าไป ถามหาเรื่องจะทําร้ายเอก แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน เชย ชิด และฉ่ำพบเอกกับพวกอีก ชิดได้ชักมีดออกมาแทงเอก เอกหลบและชักปืนออกมาจะยิ่งชิด ฉ่ำเข้าแย่งปืนกับเอก ร้องบอกเชยว่า “เชยยิง ๆ” เชยได้ใช้ปืนยิงเอก ขณะเดียวกัน ชิดเข้า ขัดขวางพรรคพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก เอกถูกยิงตาย

ดังนี้ เชย ชิด และฉ่ำ ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วม กระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เชย ชิด และฉ่ำ จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของเชย

การที่เชยใช้ปืนยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าเชยได้กระทําต่อเอกโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ดังนั้น เชยจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

กรณีของชิด

จากข้อเท็จจริง การที่เชย ชิด และไปเที่ยวงานกาชาดจังหวัด พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่ เชยซึ่งมีอาวุธปืนได้เดินเข้าไปถามหาเรื่องจะทําร้ายเอก แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน เชย ชิด และพบเอกกับพวกอีก ซิดได้ชักมีดออกมาแทงเอกนั้น ย่อมถือได้ว่าชิดและเชยมีเจตนาที่จะทําร้ายเอก ตั้งแต่แรกแล้ว และเมื่อเซยได้ใช้ปืนยิงเอก ชิดก็ได้เข้าขัดขวางพรรคพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก แสดงว่าชิดรู้เห็น และมีเจตนาร่วมกระทําผิดกับเชย ดังนั้น เมื่อเชยยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตาย จึงถือว่าชิดได้ร่วมกันกระทํา ความผิดกับเชย ชิดจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 83

กรณีของฉ่ำ

การที่ฉ่ำได้เข้าแย่งปืนกับเอก และฉ่ำร้องบอกเชยว่า “เชยยิง ๆ” และเชยได้ใช้ปืนยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตายนั้น การที่ฉ่ำได้ร้องบอกดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการที่ฉ่ำได้ร้องบอกให้เชยช่วยกันทําร้ายผู้ตาย และการที่เชยได้ใช้ปืนยิงเอกย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าเชยมีเจตนาร่วมกระทําผิดกับ ดังนั้น ทั้งเชยและฉ่ำ จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 83 (ฎีกาที่ 883/2509) และกรณีนี้ ไม่ถือว่าเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84

สรุป เชยต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ชิดและฉ่ำต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

LAW2109 (LAW2009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2109 (LAW2009) ป.พ.พ.ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายต้นไทรมีทรัพย์สินเก็บอยู่ในบ้านจํานวนมาก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 จึงได้ขอยืมสุนัข พันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ตัวใหญ่จากนายใบสักเอาไว้เฝ้าบ้านเพื่อกันขโมยเป็นเวลา 1 เดือน เพราะ ขณะนี้อยู่ระหว่างสั่งซื้อสุนัขของตนเองจากต่างประเทศ โดยมิได้ทําสัญญายืมต่อกันไว้ ปรากฏว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ขณะนายต้นไทรกําลังจะถอยรถออกจากบ้าน นายต้นไทรไม่ได้นําสุนัข ตัวที่ยืมมาเข้ากรงทําให้สุนัขได้วิ่งออกนอกบ้านไป นายต้นไทรตามจับกลับมาไม่ทัน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

1.1 หากในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายใบสักทราบว่าสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดของตนหายไป นายใบสักจะบอกเลิกสัญญา แล้วเรียกให้นายต้นไทรชดใช้ราคาสุนัขจํานวน 20,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

1.2 นายต้นไทรเมื่อรู้ว่าถูกนายใบสักเรียกร้องค่าเสียหาย นายต้นไทรจึงเรียกร้องให้นายใบสัก
จ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปเป็นจํานวนมากเนื่องจากสุนัขของนายใบสักตัวใหญ่ กินจุ เป็นจํานวนเงิน 5,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 647 “ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบํารุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต้นไทรได้ขอยืมสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดซึ่งตัวใหญ่จากนายใบสัก เอาไว้เฝ้าบ้านเพื่อกันขโมยเป็นเวลา 1 เดือนนั้น สัญญายืมระหว่างนายต้นไทรกับนายใบสักดังกล่าวเป็นสัญญา ยืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืมตามมาตรา 641 โดยไม่จําต้อง ทําสัญญาเป็นหนังสือ และเป็นสัญญายืมที่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้น นายต้นไทรมีสิทธิที่จะครอบครองและ ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้น แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งจะต้องไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย

1.1 เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ขณะที่นายต้นไทรกําลังจะถอยรถออกจากบ้าน นายต้นไทรไม่ได้นําสุนัขตัวที่ยืมมาเข้ากรงทําให้สุนัขได้วิ่งออกนอกบ้านไป โดยนายต้นไทรตามจับกลับมาไม่ทันนั้น หากนายใบสักทราบว่าสุนัขหายไปในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายใบสักย่อมสามารถบอกเลิกสัญญายืมก่อนครบ กําหนดได้ตามมาตรา 645 เพราะการที่นายต้นไทรได้ถอยรถออกจากบ้านโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง กล่าวคือ
ไม่มีการจับสุนัขเข้ากรงก่อนหรือไม่หาทางป้องกันไม่ให้สุนัขวิ่งออกจากบ้านนั้น ถือว่านายต้นไทรไม่สงวนรักษา ทรัพย์สินซึ่งยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 644 และนายต้นไทรจะต้อง ชดใช้ราคาสุนัขจํานวน 20,000 บาท ให้แก่นายใบสักด้วยจากการที่นายต้นไทรไม่ปฏิบัติตามมาตรา 644 ดังกล่าว

1.2 กรณีที่นายต้นไทรรู้ว่านายใบสักเรียกร้องค่าเสียหาย นายต้นไทรจึงเรียกร้องให้นายใบสัก จ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปจํานวนมาก เนื่องจากสุนัขของนายใบสักตัวใหญ่ กินจุ เป็นจํานวนเงิน 5,000 บาทนั้น นายต้นไทรไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะไม่ได้มีการทําสัญญาและตกลงกันไว้ และตามมาตรา 647 ก็ได้กําหนดไว้ว่า ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบํารุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ดังนั้น กรณีนี้นายต้นไทรจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหารสุนัขที่ยืม ไม่ใช่ไปเรียกร้องเอาจากนายใบสัก

สรุป
1.1 นายใบสักสามารถบอกเลิกสัญญายืมก่อนครบกําหนดเวลายืมได้ และสามารถเรียกให้
นายต้นไทรชดใช้ราคาสุนัขเป็นจํานวน 20,000 บาทได้

1.2 นายต้นไทรจะเรียกร้องให้นายใบสักจ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปเป็นจํานวนเงิน 5,000 บาทไม่ได้

 

ข้อ 2. นางสวยเป็นเพื่อนสนิทกับนายรวย ได้ขอกู้เงินจากนายรวยจํานวน 500,000 บาท โดยนําทองคํา หนัก 10 บาท มาจํานําเป็นประกันการกู้ให้นายรวยไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมตกลงไม่คิดดอกเบี้ย และกําหนดการใช้เงินคืนภายใน 5 เดือนนับจากวันที่ระบุในหนังสือสัญญา เมื่อครบกําหนดชําระหนี้ นางสวยนําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้นายรวย โดยมีนายเผือกอยู่ในเหตุการณ์ ขณะนั้นด้วย นายรวยจึงคืนทองคําหนัก 10 บาท ให้แก่นางสวย โดยไม่ได้คืนหนังสือสัญญากู้ยืม แต่ได้ขีดฆ่าและเขียนในหนังสือสัญญากู้ยืมว่าลูกหนี้ได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว แต่นายรวยลืมลง ลายมือชื่อรับรองการขีดฆ่าดังกล่าว ต่อมาภายหลังนายรวยทะเลาะกับนางสวยอย่างรุนแรง จึงได้ นําหนังสือสัญญากู้ยืมมาฟ้องบังคับนางสวยให้ชําระเงินกู้จํานวน 500,000 บาทอีกครั้ง นางสวย ให้การต่อสู้ว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยขอนําทองคําแท่งที่นายรวยคืนให้และหนังสือสัญญา กู้ยืมที่นายรวยได้ขีดฆ่าแล้ว ตลอดจนนายเผือกมานําสืบถึงการชําระหนี้ต่อศาล ดังนี้ นางสวยจะนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงินที่ยืม ให้แก่ผู้ยืมแล้วตามมาตรา 650 ดังนั้น การที่นางสวยได้ขอกู้เงินจากนายรวยเป็นเงิน 500,000 บาท โดยมีหลักฐาน เป็นหนังสือตามกฎหมายนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนางสวยกับนายรวยย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้อง
บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างนางสวยและนายรวยมีหลักฐานเป็นหนังสือ การที่หนี้ถึงกําหนดชําระ นางสวยได้นําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้นายรวย แต่ในภายหลังนายรวยได้นําสัญญากู้ยืมมาฟ้อง บังคับให้นางสวยชําระเงินกู้จํานวน 500,000 บาทอีก และนางสวยให้การต่อสู้ว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยขอนํา ทองคําแท่งที่นายรวยคืนให้ และหนังสือสัญญากู้ยืมที่นายรวยได้ขีดฆ่าแล้ว ตลอดจนนายเผือกมานําสืบถึงการชําระหนี้ ต่อศาลนั้น นางสวยจะสามารถนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า นางสวยไม่สามารถนําสืบถึงการ ชําระหนี้ดังกล่าวได้ เนื่องจากกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 653 วรรคสอง ซึ่งกําหนดว่า การที่ลูกหนี้จะนําสืบ ถึงการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

1. หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือ

2. เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ

3. ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ดังนั้น การที่นางสวยจะนํานายเผือกพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร (ตาม 1.) นั้น ย่อมไม่อาจ ทําได้ ต้องห้ามตามกฎหมาย นอกจากนั้นการที่นายรวยคืนทองคําที่นางสวยนํามาวางเป็นหลักประกันการกู้ แต่ไม่ได้คืนหนังสือสัญญากู้ยืมก็ไม่ถือว่าเป็นการเวนคืนหลักฐานการกู้ยืม (ตาม 2.) อีกทั้งการที่นายรวยแทง เพิกถอนลงในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองการแทงเพิกถอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแทงเพิกถอน หลักฐานการกู้ยืม (ตาม 3.) แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนางสวยไม่มีพยานหลักฐานตามกฎหมายที่แสดงถึงการชําระหนี้ ตามมาตรา 653 วรรคสอง นางสวยจึงไม่อาจนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้

สรุป นางสวยจะนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบโดยได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าบริการเป็นเวลา 2 คืน และ ได้นํารถยนต์ของตนจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม แต่ในขณะลงทะเบียนเข้าพัก นายสุขไม่ได้ แจ้งในแบบคําขอเข้าพักของโรงแรมว่าตนได้นํารถยนต์เข้ามาจอดในโรงแรม ต่อมาพนักงานของ โรงแรมได้ส่งกุญแจห้องพักพร้อมระเบียบการเข้าพักของโรงแรม ซึ่งมีข้อความว่า “โรงแรมนอนสงบ จะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักในทุกกรณี หากผู้เข้าพักไม่แจ้ง รายการทรัพย์สินของตนไว้ในแบบคําขอเข้าพักของโรงแรม” ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เวลา 05.00 น. มีคนร้ายมาลักเอารถยนต์ของนายสุขไป โดยนายสุขทราบว่ารถยนต์ของตนหายเวลา 07.00 น. และใช้เวลาในการค้นหาจนถึงเวลา 07.15 น. เมื่อแน่ใจว่ารถยนต์ของตนหายจึงแจ้งให้นายเย็น ผู้จัดการของโรงแรมทราบในทันที แต่ทางโรงแรมนอนสงบปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่านายสุข ไม่ได้แจ้งต่อทางโรงแรมว่าได้นํารถยนต์เข้ามาจอด ซึ่งระเบียบการเข้าพักได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะไม่รับผิดในทุกกรณีต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักหากไม่แจ้งต่อทางโรงแรมประการหนึ่ง และนายสุข ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่รถยนต์ของตนสูญหายอีกประการหนึ่ง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธความรับผิดของโรงแรมนอนสงบทั้งสองประการฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้
ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

มาตรา 677 “ถ้ามีคําแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านี้ เป็น ข้อความยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดของเจ้าสํานักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัย จะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดดังว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป
ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบเป็นเวลา 2 คืน แม้นายสุขจะได้รับ สิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าบริการก็ตาม ก็ถือว่านายสุขเป็นแขกอาศัยของโรงแรมนอนสงบ โรงแรมจึงมีความรับผิด ต่อบรรดาทรัพย์สินของนายสุขในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 674 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่านายสุขได้นํารถยนต์ของตนเข้ามาจอดที่ลานจอดรถของโรงแรม แม้นายสุขจะไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบ ตามประกาศยกเว้นความรับผิดของทางโรงแรม หากรถยนต์ของนายสุขสูญหายก็ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของ ทางโรงแรมนอนสงบ ดังนั้น เมื่อมีคนร้ายมาลักเอารถยนต์ของนายสุขไปในเวลา 05.00 น. ทางโรงแรมจึงต้องรับผิด ต่อนายสุขในการชดใช้ราคารถยนต์ตามมาตรา 674

ส่วนข้อความที่ประกาศยกเว้นความรับผิดของทางโรงแรมที่ว่าโรงแรมจะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักในทุกกรณี หากผู้เข้าพักไม่แจ้งรายการทรัพย์สินของตนไว้ในแบบคําขอ เข้าพักของโรงแรมนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายสุขได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 677 อีกทั้ง รถยนต์ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินมีค่าที่จะต้องฝากและบอกราคาไว้แก่โรงแรมตามมาตรา 675 วรรคสองแต่อย่างใด

และการที่นายสุขได้ทราบว่ารถยนต์ของตนหายไปในเวลา 07.00 น. และใช้เวลาในการค้นหา
จนถึงเวลา 07.15 น. เมื่อแน่ใจว่ารถยนต์ของตนหายจึงได้แจ้งให้นายเย็นผู้จัดการของโรงแรมทราบในทันทีนั้น ย่อมถือว่าเป็นการแจ้งทันทีที่พบว่ารถยนต์ของตนสูญหายตามมาตรา 676 ดังนั้น การที่โรงแรมนอนสงบปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่านายสุขไม่ได้แจ้งต่อทางโรงแรมว่าได้นํารถยนต์เข้ามาจอดตามระเบียบของการเข้าพักฯและนายสุขก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่รถยนต์ของตนสูญหายนั้น การปฏิเสธความรับผิดของทางโรงแรมนอนสงบทั้งสองประการจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป การปฏิเสธความรับผิดของทางโรงแรมทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 

LAW2110 (LAW2010) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2110 (LAW2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายดวงดีกู้เงินนายโชคช่วย 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนายดวงดีได้นํานาฬิกา ราคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ แต่นายโชคช่วยเห็นว่า หลักประกันมีราคาต่ําเกินไป จึงขอให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น นางสาวสร้อยฟ้าจึงได้ตกลงเข้าเป็น ผู้ค้ําประกันและทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องส่งมอบให้นายโชคช่วยไว้แล้วด้วย ต่อมาหนี้ ถึงกําหนดชําระ นางสาวสร้อยฟ้าได้นําเงินมาชําระหนี้ 400,000 บาท เพราะทราบว่านายโชคช่วย นํานาฬิกาของนายดวงดีไปใช้และทําหาย แต่นายโชคช่วยปฏิเสธที่จะรับเงินจํานวนนี้เพราะ เห็นว่านางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ไม่ครบถ้วน และต่อมาได้ทําหนังสือบอกกล่าวให้นายดวงดีและ นางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ 500,000 บาท ตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว ดังนี้ ถ้าทั้งสองคนไม่ชําระหนี้ นายโชคช่วยจะเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 686 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนที่ หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชําระหนี้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชําระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับ ดอกเบี้ย และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ แต่ก่อนหรือในขณะทําสัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียง
เท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น”

มาตรา 701 “ผู้ค้ำประกันจะขอชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกําหนดชําระก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชําระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดวงดีกู้เงินนายโชคช่วย 500,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง และนายดวงดีได้นํานาฬิการาคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ และมี นางสาวสร้อยฟ้าได้ตกลงเข้าเป็นผู้ค้ำประกันโดยทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องส่งมอบให้นายโชคช่วยไว้แล้ว
ด้วยนั้น สัญญาค้ำประกันดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 680 และเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ ผู้ค้ําประกันย่อมมีสิทธิที่จะขอชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 701 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสร้อยฟ้าผู้ค้ำประกันได้นําเงิน มาชําระหนี้ให้แก่นายโชคช่วยเพียง 400,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับจํานวนหนี้ที่ตนได้ค้ำประกันไว้ นายโชคช่วยย่อม มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับเงินจํานวนดังกล่าวได้ และเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชําระหนี้ จึงไม่ทําให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น จากความรับผิดตามมาตรา 701 วรรคสอง กล่าวคือ นางสาวสร้อยฟ้ายังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วง ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิ จํานอง หรือจํานํา หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทํา สัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการ กระทําของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถ้านางสาวสร้อยฟ้าได้ชําระหนี้ให้แก่นายโชคช่วยแล้ว นางสาวสร้อยฟ้า ย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายโชคช่วยเจ้าหนี้ได้ในสิทธิจํานําที่นายดวงดีได้นํานาฬิการาคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ ดังนั้น การที่นายโชคช่วยได้นํานาฬิกาของนายดวงดีไปใช้และ ทําหาย ย่อมทําให้นางสาวสร้อยฟ้าเสียหายเป็นเงินจํานวน 100,000 บาท เพราะทําให้นางสาวสร้อยฟ้าไม่สามารถ เข้ารับช่วงสิทธิของนายโชคช่วยในสิทธิจํานําดังกล่าวได้ นางสาวสร้อยฟ้าผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดชําระหนี้ แทนนายดวงดีลูกหนี้เป็นเงินจํานวน 400,000 บาท ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 697

ดังนั้น ต่อมาเมื่อนายโชคช่วยได้ทําหนังสือบอกกล่าวให้นายดวงดีและนางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ 500,000 บาท ตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว ถ้าทั้งสองคนไม่ชําระหนี้ นายโชคช่วยสามารถเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้า รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้ แต่สามารถเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดได้เพียง 400,000 บาท ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 693 และมาตรา 697

สรุป นายโชคช่วยจะเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้ในจํานวนเงินเพียง 400,000 บาท

 

ข้อ 2. ในวันที่ 1 เมษายน 2560 นายสมหวังกู้ยืมเงินจากนายสมชายจํานวน 2 แสนบาท โดยตกลงกัน ด้วยวาจา ซึ่งมีนายสมใจนําโฉนดที่ดินของตนเองมาจดทะเบียนจํานองไว้ โดยในสัญญาจํานองนั้น นายสมใจระบุไว้ว่าเป็นการจํานองเฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง พอผ่านไป 3 เดือน นายสมใจ ได้สร้างโกดังเก็บสินค้าเพื่อให้คนอื่นเช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด ครั้นเมื่อครบกําหนดชําระหนี้ นายสมหวังผิดนัด นายสมชายจึงฟ้องบังคับจํานองเอากับที่ดินของนายสมใจขายทอดตลาด เพื่อชําระหนี้ กรณีนี้ในขณะบังคับจํานอง นายสมชายสามารถบังคับเอาโกดังขายทอดตลาดรวมไปด้วยได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระก็ให้ทําได้”

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 718 “จํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้อง อยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจํากัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้”

มาตรา 719 “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลัง
วันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจํานองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองอาจใช้ บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 718 ได้กําหนดไว้ว่าสิทธิของผู้รับจํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับ ทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 719, 720 และ 721 และมาตรา 719 นั้น ได้กําหนดไว้ว่า สิทธิของผู้รับจํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจํานอง เว้นแต่จะได้ ตกลงกันไว้ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง และถ้าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว ผู้รับจํานองก็ยังมีสิทธิที่จะให้ขายเรือนโรงนั้น รวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมหวังกู้ยืมเงินจากนายสมชายจํานวน 2 แสนบาท โดยมีนายสมใจ นําโฉนดที่ดินของตนเองมาจดทะเบียนจํานองไว้นั้น แม้ที่ดินดังกล่าวจะมิใช่ที่ดินของนายสงหวังลูกหนี้ แต่เป็น ของนายสมใจก็ตาม นายสมใจก็สามารถนําที่ดินนั้นมาจํานองเพื่อประกันหนี้ที่บุคคลอื่นจะต้องชําระหนี้ได้ ดังนั้น สัญญาจํานองดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 702, 709 และมาตรา 714

และเมื่อปรากฏว่าหลังจากมีการจํานองได้ 3 เดือน นายสมใจผู้จํานองได้สร้างโกดังเก็บสินค้า เมื่อโกดังเก็บสินค้านั้นเป็นเรือนโรงที่ผู้จํานองได้ปลูกสร้างลงในที่ดินเพื่อให้คนอื่นเช่าและเก็บค่าเช่ามาตลอด
ภายหลังวันจํานอง ดังนั้น การจํานองจึงครอบไปถึงเฉพาะที่ดินแต่ไม่ครอบไปถึงโกดังเก็บสินค้า เนื่องจาก นายสมใจไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง ตามมาตรา 718 และมาตรา 719 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกําหนดชําระหนี้นายสมหวังผิดนัด นายสมชายจึงฟ้องบังคับจํานองเอากับ ที่ดินนายสมใจขายทอดตลาดเพื่อชําระหนี้นั้น กรณีนี้ในขณะบังคับจํานอง นายสมชายย่อมสามารถบังคับเอา โกดังขายทอดตลาดรวมไปกับที่ดินด้วยได้ แต่นายสมชายจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงเฉพาะแก่ราคาที่ดินเท่านั้นตามมาตรา 719 วรรคสอง

สรุป นายสมชายสามารถบังคับเอาโกดังขายทอดตลาดรวมไปกับที่ดินด้วยได้ แต่นายสมชายจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงเฉพาะแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดําเพื่อเป็นประกันการ ชําระหนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความและแดงได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่คํายังคงต้องการบังคับ ชําระหนี้จากแหวนวงนี้ ในขณะนั้นแหวนวงนี้จะขายได้ 80,000 บาท

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนวงนี้ได้หรือไม่ โดยวิธีใด และแดงต้อง รับผิดต่อดําหรือไม่หากมีหนี้ค้างชําระ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท และแดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดํา เพื่อเป็นประกันชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ แดงย่อมมีสิทธิ์ยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้นระงับสิ้นไปตามมาตรา 759 (1) ดังนั้น ดําผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สิน ที่จํานําคือแหวนที่แดงได้จํานําไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ตามมาตรา 193/27

2. เมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และ ดอกเบี้ยภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ดําผู้รับจํานํามี
สิทธินําแหวนของแดงออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

3. เมื่อแหวนของแดงมีราคา 80,000 บาท ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนในจํานวนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิดในส่วน ที่ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

สรุป ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้ โดยดําต้องปฏิบัติตามมาตรา 764 และแดงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ค้างชําระอีก 20,000 บาท

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเทพได้รับมอบอํานาจจากนายรุ่งให้ดูแลกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้างของตน ปรากฏว่านายเทพ ติดธุระเป็นเวลาหลายเดือนจึงไม่สามารถดูแลกิจการของนายรุ่งได้ นายเทพจึงมอบอํานาจต่อโดย ได้รับความยินยอมจากนายรุ่งให้นายชัยเข้ามาดูแลกิจการของนายรุ่งแทนตน ต่อมาไม่นานนายชัย ได้ทําาคําาสั่งซื้อไม้แปรรูปจํานวน 1,000 แผ่น ในนามของนายรุ่งจากโรงงานผลิตไม้แปรรูปของตน มาขายที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างของนายรุ่ง ต่อมานายเทพได้ทําการตรวจสอบบัญชีซื้อขายสินค้าและพบว่านายชัยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่าราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้นายรุ่ง ขาดทุนจากสัญญาซื้อขายไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาท นายเทพจึงรายงานบัญชี ซื้อขายสินค้าดังกล่าวไปยังนายรุ่ง เมื่อนายรุ่งทราบจึงเรียกให้นายเทพและนายชัยรับผิดแก่ตน ในความเสียหายดังกล่าว แต่นายเทพและนายชัยปฏิเสธความรับผิดต่อนายรุ่ง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายรุ่งจะเรียกให้ใครรับผิดต่อตนได้บ้าง อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 805 “ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทํานิติกรรมอันใดในนาม ของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้น
มีเฉพาะแต่การชําระหนี้”

มาตรา 808 “ตัวแทนต้องทําการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอํานาจใช้ตัวแทนช่วงทําการได้”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทน
จะต้องรับผิด”

มาตรา 813 “ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้อง รับผิดแต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การหรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้ว และ
มิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง”

มาตรา 814 “ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด กลับกันก็ฉันนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเทพได้รับมอบอํานาจจากนายรุ่งให้ดูแลกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้าง
ของตนนั้น ถือว่านายเทพเป็นตัวแทนซึ่งได้รับมอบอํานาจทั่วไปจากนายรุ่งตามมาตรา 797 ประกอบมาตรา 801 และการที่นายเทพได้มอบอํานาจต่อโดยได้รับความยินยอมจากนายรุ่ง ให้นายชัยเข้ามาดูแลกิจการของนายรุ่งแทนตนนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายเทพได้ตั้งให้นายชัยเป็นตัวแทนช่วงโดยมีอํานาจเนื่องจากนายรุ่งได้ยินยอม การตั้งตัวแทนช่วงของนายเทพจึงชอบด้วยมาตรา 808 และมีผลให้นายชัยตัวแทนช่วงต้องรับผิดโดยตรงต่อนายรุ่งตัวการตามมาตรา 814

การที่นายชัยได้ทําคําสั่งซื้อไม้แปรรูปจํานวน 1,000 แผ่น ในนามของนายรุ่งจากโรงงานผลิต ไม้แปรรูปของตนมาขายที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างของนายรุ่ง โดยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่า ราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้นายรุ่งขาดทุนจากสัญญาซื้อขายไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น ถือว่า เป็นกรณีที่ตัวแทนเข้าทํานิติกรรมในนามของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอม
จากตัวการตามมาตรา 805 และถือว่าเป็นการกระทําโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจตามมาตรา 812 ดังนั้น นายชัยตัวแทนช่วงจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายรุ่งตัวการตามมาตรา 812 ประกอบ มาตรา 814 นายรุ่งจึงสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดต่อตนในความเสียหายดังกล่าวได้

ส่วนนายเทพตัวแทนซึ่งได้ตั้งให้นายชัยเป็นตัวแทนช่วงนั้น เมื่อปรากฏว่านายเทพได้ทําการตรวจสอบ
บัญชีซื้อขายสินค้า และพบว่านายชัยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่าราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้ นายรุ่งขาดทุนเป็นเงิน 100,000 บาท และนายเทพจึงรายงานบัญชีซื้อขายสินค้าไปให้นายรุ่งทราบนั้น ถือว่า เป็นกรณีที่ตัวแทนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้ว และได้แจ้งความให้ตัวการทราบ ดังนั้น นายเทพตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 813 นายรุ่งจึงเรียกให้นายเทพรับผิดในความเสียหายดังกล่าวไม่ได้

สรุป นายรุ่งสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดในความเสียหายดังกล่าวได้ แต่จะเรียกให้นายเทพ
รับผิดไม่ได้

 

ข้อ 2. นายเก่งแต่งตั้งนายกาจซึ่งเปิดร้านขายเมล็ดกาแฟสด เพื่อขายเมล็ดกาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีของตน จํานวน 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายกาจจะนําเงินค่าเมล็ดกาแฟ อาราบิก้าที่ขายได้ส่งให้นายเก่งเต็มจํานวนทุกอาทิตย์ และนายเก่งจะจ่ายค่าตอบแทนการขายให้ นายกาจกิโลกรัมละ 500 บาท นายกาจเห็นว่าราคาที่นายเก่งกําหนดต่ํากว่าราคาตลาด จึงขึ้นราคา และขายให้นายกล้า 50 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 12,000 บาท ปรากฏว่านายกล้ารับมอบ เมล็ดกาแฟอาราบิก้าไปแต่ไม่ยอมชําระค่าเมล็ดกาแฟ ดังนี้ นายกาจต้องรับผิดต่อนายเก่งจาก การที่นายกล้าไม่ชําระราคาหรือไม่ หากต้องรับผิด นายกาจจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้นายเก่งเท่าใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายตัวแทนประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อ ตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทน ประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

มาตรา 840 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ ได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งแต่งตั้งนายกาจซึ่งเปิดร้านขายเมล็ดกาแฟสด เพื่อขายเมล็ดกาแฟ อาราบิก้าพันธุ์ดีของตนจํานวน 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายกาจจะนําเงิน ค่าเมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่ขายได้ส่งให้นายเก่งเต็มจํานวนทุกอาทิตย์ และนายเก่งจะจ่ายค่าตอบแทนการขายให้ นายกาจกิโลกรัมละ 500 บาทนั้น ย่อมถือว่านายกาจเป็นตัวแทนค้าต่างของนายเก่งตามมาตรา 833 และการที่ นายกาจได้ตกลงรับประกันว่านายเก่งจะได้รับชําระเงินจากการขายเมล็ดกาแฟนั้น ย่อมถือว่านายกาจเป็น ตัวแทนฐานประกัน ดังนั้น เมื่อนายกาจขายเมล็ดกาแฟให้นายกล้า ปรากฏว่าเมื่อนายกล้ารับมอบเมล็ดกาแฟ
ไปแล้วแต่ไม่ยอมชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจจึงต้องรับผิดต่อนายเก่งตามมาตรา 838

การที่นายกาจเห็นว่าราคาที่นายเก่งกําหนดต่ํากว่าราคาตลาด จึงขึ้นราคาและขายให้นายกล้า 50 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 12,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่นายกาจซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายในราคา สูงกว่าที่ตัวการกําหนด ดังนั้น เงินจํานวน 100,000 บาท สําหรับเมล็ดกาแฟ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2,000 บาท นายกาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนไม่ได้ จะต้องส่งมอบให้แก่นายเก่งตามมาตรา 840 ดังนั้น กรณีดังกล่าว เมื่อนายกล้าไม่ชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจจึงต้องรับผิดต่อนายเก่งและจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้ นายเก่งทั้งสิ้นเป็นเงิน 600,000 บาท

สรุป เมื่อนายกล้าไม่ยอมชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจต้องรับผิดต่อนายเก่งโดยจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้นายเก่งเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 600,000 บาท

 

ข้อ 3. นายเอกต้องการขายที่ดินของตนเนื้อที่ 4 ไร่ ติดถนนใหญ่ในจังหวัดเชียงราย ในราคา 5 ล้านบาท นายเอกได้ลงประกาศโฆษณาขายทาง Facebook นายโทซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย เช่นกัน ได้อ่านโฆษณาขายที่ดินดังกล่าวใน Facebook และเห็นว่าน่าสนใจ นายโทจึงไปพานายตรี ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ไปหานายเอก และช่วยในการประสานงานเป็นอย่างดี จนกระทั่ง นายตรีทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับนายเอก โดยนายตรีวางเงินมัดจํา 5 แสนบาท และ ส่วนที่เหลือจะชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ วันต่อมานายโทจึงไปเรียกบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทมีสิทธิได้รับบําเหน็จ 3% จากนายเอกหรือไม่ เพราเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคหนึ่ง “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมาย แก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการ มอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบําเหน็จ หรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกัน โดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มี สัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่ ระหว่างนายเอกกับนายตรีจะได้เกิดขึ้น จากการชี้ช่องและจัดการของนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกไม่เคยตกลงให้นายโทเป็นนายหน้า ขายที่ดินของตนตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ได้ เพราะการตกลงตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่า บําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้นายเอกยังไม่ได้มอบหมายให้นายโทเป็นนายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น นายโทจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

สรุป นายโทไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

LAW2113 (LAW2013) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2113 (LAW 2013) ป.พ.พ.ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ฐิติออกเช็คสั่งธนาคารจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ให้กิตติหรือตามคําสั่ง เพื่อชําระหนี้ค่าซื้อสินค้า หากแต่ฐิติเขียนเช็คเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งมอบเช็คให้กิตติ เพราะนัดส่งมอบเช็คหลังเวลาเลิกงาน จึงได้เก็บเช็คไว้ในกระเป๋า แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ศศิได้ขโมยเช็คในกระเป๋าของฐิติไว้เอง โดย ไม่ได้ส่งมอบเช็คให้กิตติ ให้นักศึกษาจงวินิจฉัยว่า

(ก) ใครคือผู้ทรงโดยชอบระหว่าง ศศิ กับ กิตติ
(ข) บุคคลใดที่สามารถใช้สิทธิเรียกคืนเช็คฉบับนี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน
หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตัวตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ประกอบมาตรา 905 จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น บุคคลนั้นจะต้องมีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้สลักหลัง และต้องได้ตั๋วเงินไว้ในความ ครอบครองโดยสุจริตและโดยมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และในกรณีที่เป็นผู้รับสลักหลัง ก็จะต้องแสดง ให้ปรากฏสิทธิในการสลักหลังที่ไม่ขาดสายด้วย แม้การสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่ฐิติออกเช็คสั่งธนาคารจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ให้กิตติหรือตามคําสั่ง เพื่อชําระหนี้ค่าซื้อ สินค้านั้น ถือว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คชนิดระบุชื่อ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฐิติยังไม่ได้ส่งมอบเช็คให้แก่กิตติ กิตติ จึงยังไม่มีตั๋วเงิน (เช็คฉบับดังกล่าว) ไว้ในความครอบครองในฐานะผู้รับเงิน ดังนั้น จึงยังไม่ถือว่ากิตติเป็นผู้ทรง
โดยชอบตามนัยของมาตรา 904 ประกอบมาตรา 905

ส่วนศศินั้น แม้จะมีเช็คฉบับดังกล่าวไว้ในครอบครอง แต่ศศิไม่อยู่ในฐานะผู้รับสลักหลัง เนื่องจากกิตติไม่ได้สลักหลังเช็คดังกล่าวให้แก่ศศิ อีกทั้งศศิก็ได้เช็คมาไว้ในความครอบครองโดยทุจริต เพราะ ได้เช็คนั้นมาโดยการขโมยมาจากกระเป๋าของฐิติ ดังนั้น ศศิจึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบเช่นเดียวกัน

(ข) ตามมาตรา 905 วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงิน ไปจากครอบครอง…..” นั้น หมายถึง บุคคลที่เป็นเจ้าของตั๋วเงินที่แท้จริงนั่นเอง ดังนั้น เมื่อฐิติยังไม่ได้สั่งมอบเช็ค ฉบับดังกล่าวให้แก่กิตติ ย่อมถือว่าฐิติยังเป็นเจ้าของเช็คฉบับดังกล่าวอยู่ ฐิติจึงเป็นบุคคลที่ต้องปราศจากตั๋วเงิน ไปจากครอบครองตามนัยมาตรา 905 วรรคสอง ดังนั้น ฐิติจึงสามารถใช้สิทธิเรียกคืนเช็คฉบับดังกล่าวได้

สรุป
(ก) ทั้งสติและกิตติไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายในเช็คฉบับดังกล่าว
(ข) ฐิติเป็นบุคคลที่สามารถใช้สิทธิเรียกคืนเช็คฉบับดังกล่าว

ข้อ 2. นายแดงออกตั๋วแลกเงินสั่งให้นายหนึ่งจ่ายเงินให้นายเหลืองเป็นจํานวน 10,000 บาท โดยระบุชื่อ นายเหลืองเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออก ขณะที่คั่วอยู่กับนายเหลือง มีนายเอลูกของ นายแดงต้องการที่จะมาค้ําประกันการจ่ายเงิน จึงเข้ามาเซ็นชื่อที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงิน ต่อมา นายเหลืองลงลายมือชื่อที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินฉบับนั้นแล้วส่งมอบตั๋วแลกเงินให้นายฟ้า และนายฟ้า ได้ส่งมอบตัวต่อไปให้กับนายดํา จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกําหนด นายดํานําตั๋ว ไปยื่นให้นายหนึ่งจ่ายเงิน แต่นายหนึ่งปฏิเสธ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําจะเรียกให้ใครรับผิดตาม ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ได้บ้าง และให้รับผิดในฐานะอะไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 905 วรรคหนึ่ง ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา 914 “ บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่น โดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตัว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตัวนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง
ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา 919 “คําสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทํา อะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลัง
เช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 938 “ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ําประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจํานวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้”

มาตรา 939 “อันการรับอาวัลย่อมทําให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจําต่อ ในการนี้จึงใช้ถ้อยคําสํานวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดทํานองเดียวกันนั้นและลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคํารับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงออกตั๋วแลกเงินสั่งให้นายหนึ่งจ่ายเงินให้นายเหลืองเป็นจํานวน
10,000 บาท โดยระบุชื่อนายเหลืองเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออกนั้น ตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวถือว่า เป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้น หากนายเหลืองจะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไป นายเหลืองจะต้องโอน โดยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเหลืองได้ลงลายมือชื่อ ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวแล้วส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่นายฟ้าไปนั้น การกระทําของนายเหลืองถือว่า เป็นการสลักหลังลอย ตามมาตรา 919 วรรคสอง ดังนั้น การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ นายฟ้าจึง เป็นผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลังจากการสลักหลังลอยของนายเหลือง นายฟ้าจึงสามารถโอนตั๋วแลกเงินฉบับ ดังกล่าวต่อไปได้โดยไม่ต้องสลักหลัง ตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) และเมื่อนายฟ้าได้ส่งมอบตัวต่อไปให้แก่ นายดํา การโอนตั๋วระหว่างนายฟ้าและนายดําจึงมีผลสมบูรณ์ และมีผลทําให้นายดําเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง

ส่วนกรณีที่นายเอลูกชายนายแดงต้องการที่จะมาค้ําประกันการจ่ายเงิน จึงเข้ามาเซ็นชื่อที่ด้านหน้า
ของตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวนั้น ย่อมถือว่านายเอได้เข้ามาอาวัล (รับประกัน) ตั๋วแลกเงินฉบับนั้นแล้ว ตาม มาตรา 938 ประกอบมาตรา 939 วรรคสาม และเมื่อไม่ได้ระบุว่ารับประกันผู้ใด ให้ถือว่าเป็นการรับประกัน นายแดงผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสี่)

เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกําหนด นายดําได้นําตัวไปยื่นให้นายหนึ่งจ่ายเงินแต่นายหนึ่งปฏิเสธ นายดํา ย่อมสามารถเรียกให้บุคคลดังต่อไปนี้รับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ คือ

1. นายแดง ซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินในฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง
ประกอบมาตรา 914
2. นายเหลือง ซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินในฐานะผู้สลักหลังตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง
ประกอบมาตรา 914
3. นายเอ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินในฐานะผู้รับอาวัลนายแดงผู้สั่งจ่าย ซึ่งต้องรับผิด เป็นอย่างเดียวกันกับนายแดง ตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 940 วรรคหนึ่ง

แต่นายดําจะเรียกให้นายหนึ่งและนายฟ้ารับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไม่ได้ เพราะทั้งสองคน
ไม่ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินแต่อย่างใด

สรุป นายดําสามารถเรียกให้นายแดงผู้สั่งจ่าย นายเหลืองผู้สลักหลัง และนายเอผู้รับอาวัลนายแดง รับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ แต่จะเรียกให้นายหนึ่งและนายฟ้ารับผิดไม่ได้

ข้อ 3. (ก) การที่มีลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้นจะมีผล
ทางกฎหมายเป็นอย่างไร
(ข) นายไก่สั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่งระบุชื่อนายนกเป็นผู้รับเงินตามเช็คและขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ ในเช็คออก และส่งมอบชําระหนี้ค่าสินค้าให้กับนายนก ต่อมานายนกทําเช็คดังกล่าวหล่นหาย นายแมวเก็บเช็คนั้นได้ แล้วทําการปลอมลายมือชื่อนายนกเพื่อทําการสลักหลังเช็คนั้น พร้อมระบุข้อความว่า “ให้แก่นายแมว” จากนั้นนายแมวจึงนําเช็คนั้นมาทําการลงลายมือชื่อของนายแมวเพื่อสลักหลังลอยเช็คนั้นและส่งมอบชําระหนี้ค่าเช่าอาคารให้กับนายหนู โดยที่ นายหนูก็รับเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ดังนี้ หากเช็คฉบับดังกล่าวขาดความเชื่อถือ นายหนูจะสามารถเรียกให้นายไก่ นายนก และนายแมว รับผิดตามเช็คฉบับนี้กับตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1008 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงิน เป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตัวนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้น

คนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้น จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อ
ซึ่งลงโดยปราศจากอํานาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว กรณีที่มีลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจ
ปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้น จะมีผลทางกฎหมายดังนี้ คือ

1. ผลต่อเจ้าของลายมือชื่อ ลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจนั้นย่อม ไม่มีผลผูกพันต่อเจ้าของลายมือชื่อ กล่าวคือ เจ้าของลายมือชื่อไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ทั้งนี้เพราะ เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมมิได้เป็นผู้เขียนลายมือชื่อนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน หรือมิได้มอบอํานาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อ ในตั๋วเงินในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอํานาจ เว้นแต่กรณีที่เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอํานาจนั้นอาจมีผลผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากเจ้าของลายมือชื่อได้ให้สัตยาบันตามมาตรา 1008 วรรคท้าย

2. ผลต่อคู่สัญญาคนอื่น ๆ ในตั๋วเงิน ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อปลอม ย่อมไม่มีผลกระทบ ถึงความรับผิดของคู่สัญญาคนอื่น ๆ ที่ลงไว้ในตั๋วเงินโดยถูกต้อง ทั้งนี้เป็นเพราะความรับผิดของลูกหนี้แต่ละคนที่ได้ ลงลายมือชื่อไว้ในตั๋วเงิน และต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินตามมาตรา 900 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ของลูกหนี้แต่ละคนนั่นเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ที่บัญญัติไว้ว่า

“การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์
แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

3. ผลต่อผู้ที่ได้ตั๋วเงินไว้ในความครอบครองและบุคคลอื่น ๆ ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีการลง ลายมือชื่อปลอม หรือมีการลงลายมือโดยปราศจากอํานาจจะมีผลตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง คือ ให้ถือว่าลายมือชื่อ ปลอมหรือลงโดยปราศจากอํานาจนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย และผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อ

(1) จะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(2) จะทําให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไป
ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม (ตามมาตรา 1009)

(3) จะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่คู่สัญญา ผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจาก
อํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตัวเงินนั้น”
มาตรา 1006 “การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง ความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใด ลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้
มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัย

คนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้น จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อ
ซึ่งลงโดยปราศจากอํานาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว กรณีที่มีลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจ
ปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้น จะมีผลทางกฎหมายดังนี้ คือ

1. ผลต่อเจ้าของลายมือชื่อ ลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจนั้นย่อม ไม่มีผลผูกพันต่อเจ้าของลายมือชื่อ กล่าวคือ เจ้าของลายมือชื่อไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ทั้งนี้เพราะ เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมมิได้เป็นผู้เขียนลายมือชื่อนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน หรือมิได้มอบอํานาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อ ในตั๋วเงินในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอํานาจ เว้นแต่กรณีที่เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอํานาจนั้นอาจมีผลผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากเจ้าของลายมือชื่อได้ให้สัตยาบันตามมาตรา 1008 วรรคท้าย

2. ผลต่อคู่สัญญาคนอื่น ๆ ในตั๋วเงิน ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อปลอม ย่อมไม่มีผลกระทบ ถึงความรับผิดของคู่สัญญาคนอื่น ๆ ที่ลงไว้ในตั๋วเงินโดยถูกต้อง ทั้งนี้เป็นเพราะความรับผิดของลูกหนี้แต่ละคนที่ได้ ลงลายมือชื่อไว้ในตั๋วเงิน และต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินตามมาตรา 900 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ของลูกหนี้แต่ละคนนั่นเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ที่บัญญัติไว้ว่า

“การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์
แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

3. ผลต่อผู้ที่ได้ตั๋วเงินไว้ในความครอบครองและบุคคลอื่น ๆ ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีการลง ลายมือชื่อปลอม หรือมีการลงลายมือโดยปราศจากอํานาจจะมีผลตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง คือ ให้ถือว่าลายมือชื่อ ปลอมหรือลงโดยปราศจากอํานาจนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย และผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อ

(1) จะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(2) จะทําให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไป
ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม (ตามมาตรา 1009)

(3) จะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่คู่สัญญา ผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจาก
อํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตัวเงินนั้น”
มาตรา 1006 “การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง ความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใด ลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้
มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัย

แสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่ คู่สัญญาแห่งตัวนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง หรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่สั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่งระบุชื่อนายนกเป็นผู้รับเงินตามเช็คและ ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออกและส่งมอบชําระหนี้ค่าสินค้าให้กับนายนก เมื่อนายนกทําเช็คดังกล่าวหล่นหาย และนายแมวเก็บได้ แล้วทําการปลอมลายมือชื่อนายนกและทําการสลักหลังเช็คนั้นพร้อมระบุข้อความว่า “ให้แก่นายแมว” จากนั้นนายแมวได้ลงลายมือชื่อนายแมวเพื่อสลักหลังลอยและส่งมอบเช็คให้แก่นายหนูเพื่อ ชําระหนี้ค่าเช่าอาคารนั้น ย่อมถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวได้มีการการสลักหลังที่ขาดสาย และจะมีผลตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง คือให้ถือว่าลายมือชื่อของนายนกนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยลายมือชื่อปลอม ของนายนกเพื่อไปบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตัวนั้นไม่ได้ และเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวขาดความเชื่อถือ นายหนูจะสามารถเรียกให้นายไก่ นายนก และนายแมวรับผิดตามเช็คฉบับนี้กับตนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้คือ

1. กรณีของนายไก่ผู้สั่งจ่าย แม้นายหนูจะได้รับเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง แต่นายหนูจะเรียกให้นายไก่รับผิดตามเช็คไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการอาศัยลายมือชื่อปลอม ของนายนกเพื่อไปบังคับเอากับนายไก่ ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง

2. กรณีของนายนก เมื่อนายนกไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็ค อีกทั้งลายมือชื่อของนายนกที่ นายแมวปลอมนั้นก็ใช้ไม่ได้ นายหนูจึงเรียกให้นายนกรับผิดตามเช็คไม่ได้

3. กรณีของนายแมว นายหนูสามารถเรียกให้นายแมวรับผิดตามเช็คได้ ตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง เพราะแม้ลายมือชื่อของนายนกจะเป็นลายมือปลอมก็ไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่อ อื่น ๆ ที่ลงไว้ในตั๋วเงินนั้น (มาตรา 1006) อีกทั้งการที่นายหนูเรียกให้นายแมวรับผิดตามเช็ค ก็ไม่ได้เป็นการอาศัย ลายมือชื่อปลอมของนายนกเพื่อบังคับเอากับนายแมวแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง สรุป นายหนูสามารถเรียกให้นายแมวรับผิดตามเช็คฉบับนี้ได้ แต่จะเรียกให้นายไก่และนายนกรับผิดไม่ได้

LAW2112 (LAW2012) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW2012) ป.พ.พ.ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายต่อทําประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้กับนางบุญภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ความคุ้มครองตามสัญญาแบบตลอดชีพ มี บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเป็นผู้รับประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกันชีวิต 2 ล้านบาท มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ ในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิต นางบุญ ป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่มิได้แจ้งให้นายต่อทราบ ทั้งยังระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตน สุขภาพแข็งแรงดี ต่อมานายต่อกับนางบุญหย่าขาดจากกัน และนางบุญทําหนังสือไปถึง บมจ. ชํานาญประกันชีวิต ขอให้ระบุนางสาวนวลบุตรของตนเป็นผู้รับประโยชน์และทําการเขียนข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับดังกล่าวว่า ตนประสงค์จะให้ประโยชน์แห่งสัญญาตกแก่นางสาวนวลพร้อมส่งกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นางสาวนวลเก็บรักษาเอาไว้ ปรากฏต่อมาว่านางบุญติดเชื้อ COVID-19 และถึงแก่ความตาย นางสาวนวลจึงแจ้งไปยัง บมจ.ชํานาญประกันชีวิต เพื่อขอรับเงิน ตามสัญญา แต่ถูก บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า นางบุญไม่มีส่วน ได้เสียในสัญญาประกันชีวิตด้วยเหตุหย่ากับนายต่อประการหนึ่ง และสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมมียะอีกประการหนึ่ง

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธของ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตทั้งสองประการ ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น ไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคล อันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่ง
อาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง
ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะ ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ในขณะทําสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
มิเช่นนั้นสัญญาประกันภัยจะไม่ผูกพันคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้รับประกันภัยให้ต้องรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย (มาตรา 863) อีกทั้งผู้เอาประกันภัยยังมีหน้าที่จะต้องแถลงข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจ ผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ถ้าในขณะทําสัญญาผู้เอาประกันปกปิด ข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 865)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต่อทําประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้กับนางบุญภริยาโดยชอบ ด้วยกฎหมาย ความคุ้มครองตามสัญญาแบบตลอดชีพ มี บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเป็นผู้รับประกันชีวิต จํานวนเงิน เอาประกันชีวิต 2 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการทําสัญญาประกันชีวิตโดยอาศัยความมรณะของบุคคลหนึ่งตามมาตรา 889 และเมื่อนายต่อผู้เอาประกันชีวิตเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของนางบุญผู้ถูกเอาประกันชีวิต ย่อมถือว่านายต่อผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 และส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันจะต้อง มีอยู่ในขณะทําสัญญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะทําสัญญานายต่อมีส่วนได้เสียในชีวิตของนางบุญ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา แม้ว่าต่อมาส่วนได้เสียจะหมดไปเพราะ หย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทําให้สัญญาที่มีผลผูกพันกันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันกันในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจะปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่านางบุญไม่มีส่วนได้เสียในสัญญา ประกันชีวิตด้วยเหตุหย่ากับนายต่อ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การที่นายต่อผู้เอาประกันชีวิตได้ทําประกันชีวิตบุคคลอื่น (นางบุญ) โดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ ย่อมถือได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตคือนายต่อเป็นผู้รับประโยชน์ (ฎีกาที่ 1822/2544) และการโอนประโยชน์แห่ง สัญญาประกันชีวิตให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้น เป็นสิทธิของผู้เอาประกันภัยคือนายต่อ ส่วนนางบุญเป็นเพียง ผู้ถูกเอาประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นได้ตามมาตรา 891 ดังนั้น เมื่อนายต่อกับนางบุญ หย่าขาดจากกัน การที่นางบุญได้ทําหนังสือไปถึง บมจ.ชํานาญประกันชีวิต ขอให้ระบุนางสาวนวลบุตรของตน เป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญา และได้ทําการเขียนข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับดังกล่าวว่าตนประสงค์ จะให้ประโยชน์แห่งสัญญาตกแก่นางสาวนวล พร้อมส่งกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นางสาวนวลเก็บรักษาเอาไว้ย่อมไม่มีผลทําให้สิทธิในการเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิตของนายต่อเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด และเมื่อนางบุญถึงแก่ความตาย บมจ.ชํานาญประกันชีวิตก็จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้แก่นายต่อตามมาตรา 889

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิตนั้น นางบุญป่วยเป็นมะเร็ง แต่มิได้แจ้งให้นายต่อทราบ ทั้งยังระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนมีสุขภาพแข็งแรงดี จึงถือว่าเป็นกรณีที่ ผู้เอาประกันภัยและผู้ถูกเอาประกันภัยรู้แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัย
ให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตาม มาตรา 865 ดังนั้น การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าสัญญาประกันชีวิตตกเป็น โมฆียะนั้น จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่านางบุญไม่มีส่วนได้เสีย ในสัญญาประกันชีวิตด้วยเหตุหย่าขาดกับนายต่อนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการให้เหตุผลว่าสัญญาประกันชีวิต
ตกเป็นโมฆียะนั้นชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2. นายกับเจ้าของรถยนต์ ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันวินาศภัยในความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้น กับรถยนต์นั้นกับบริษัท รวยดี ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนเงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท และ นายกบได้ทําสัญญาประกันภัยในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกไว้ด้วยจํานวนเงินเอาประกันภัย 3 แสนบาท โดยในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยในความเสียหายกับรถยนต์นั้นมีเงื่อนไขกําหนดไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์นั้นไปรับจ้างหรือให้เช่า ปรากฏว่านายกบได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปรับจ้างส่งของให้กับนายเขียด วันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อของนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวนั้น ช่วงเวลาที่ไปส่งของให้กับนายเขียดเฉี่ยวชนนายอ๊อดได้รับบาดเจ็บ มีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมาเรียกให้บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากนายกบได้ทําประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ แต่ถูก บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัย จะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ข้อปฏิเสธของ บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่า จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอา
ประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกบได้นํารถยนต์ไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด ในความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ที่เอาประกันรวมทั้งประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นประกันภัยค้ําจุนด้วยนั้น บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาคือนายกบ (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) ซึ่งตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งนั้น สัญญาประกันภัยค้ําจุน เป็นสัญญาซึ่งผู้รับ ประกันภัยได้ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลหนึ่ง
และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

จากข้อเท็จจริง การที่นายกบได้ทําประกันภัยค้ําจุนในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ไว้ด้วยนั้น โดยไม่ได้มีเงื่อนไขความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนนายอ๊อด ได้รับบาดเจ็บมีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเงื่อนไขที่กําหนดห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่านั้น เป็นเงื่อนไขในส่วนประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอ๊อด จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ไม่ได้

สรุป

ข้อปฏิเสธของบริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3. นายเสริมทําสัญญาประกันชีวิตกับ บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท ด้วยเหตุมรณะ ระยะเวลาการคุ้มครอง 5 ปี นายเสริมขับรถไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดสุรินทร์ ขณะ ขับรถถึงทางแยกไม่มีสัญญาณไฟจราจร นายเจ๋งขับรถยนต์โดยประมาท รถนายเจ๋งเสียหลักมาชน รถยนต์ของนายเสริมพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายเสริมเสียชีวิต บมจ. ภักดีประกันชีวิตจึงจ่ายเงิน ประกัน 2 ล้านบาท ให้นายศักดิ์ทายาทของนายเสริม แล้ว บมจ. ภักดีประกันชีวิตได้เข้าเรียกร้อง เงิน 2 ล้านบาท จากนายเจ๋ง นายศักดิ์จึงคัดค้านการเรียกร้องของ บมจ. ภักดีฯ เพราะนายศักดิ์ อยู่ระหว่างการเจรจาค่าเสียหายกับนายเจ๋งกรณีขับรถชนนายเสริมเสียชีวิต แต่ บมจ. ภักดีฯ อ้างว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกร้องในการเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า บมจ. ภักดีฯ สามารถเข้ารับช่วงสิทธิ์ในสัญญาประกันภัยนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 896 “ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียก เอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทน จากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจํานวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย”

วินิจฉัย

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายผู้รับประกันตกลงจะใช้เงินจํานวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันโดยอาศัยความทรงชีพหรือความมรณะของผู้เอาประกันเป็นเหตุในการใช้เงินตามมาตรา 889 และใน กรณีการประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของผู้เอาประกันเป็นเหตุในการใช้เงินนั้น หากผู้เอาประกันไม่ได้ระบุตัว ผู้รับประโยชน์เอาไว้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นย่อมตกได้แก่ทายาทของผู้เอาประกัน และทายาทของผู้เอาประกัน ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความมรณะแก่ผู้เอาประกันได้อีกด้วยตามมาตรา 896 โดยผู้รับประกันแม้จะได้ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิที่จะไป เรียกร้องหรือไล่เบี้ยเอากับผู้กระทําให้ผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกันถึงแก่ความตาย เพราะการรับช่วงสิทธิ มิได้แต่เฉพาะกรณีประกันวินาศภัยตามมาตรา 880 เท่านั้น (ฎีกาที่ 3026/2540)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสริมได้ทําสัญญาประกันชีวิตกับ บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวนเงิน เอาประกัน 2 ล้านบาท ด้วยเหตุมรณะนั้น เมื่อนายเสริมขับรถไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดสุรินทร์และได้ถูกนายเจ๋ง
ขับรถยนต์โดยประมาทมาชนรถยนต์ของนายเสริมพลิกคว่ําเป็นเหตุให้นายเสริมเสียชีวิต
นายศักดิ์ทายาท ของนายเสริมจึงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจาก บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวน 2 ล้านบาท และ นอกจากนั้นนายศักดิ์ยังสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเจ๋งบุคคลภายนอกผู้กระทําให้นายเสริมผู้เอาประกัน ถึงแก่ความตายได้อีกตามมาตรา 896 ดังนั้น เมื่อ บมจ. ภักดีประกันชีวิต ได้จ่ายเงินประกัน 2 ล้านบาท ให้แก่ นายศักดิ์ทายาทของนายเสริม แล้ว บมจ. ภักดีประกันชีวิต จะเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันชีวิตเพื่อเรียกร้อง เงิน 2 ล้านบาท จากนายเจ๋งไม่ได้ เพราะสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเจ๋งตามมาตรา 896 นั้น เป็น สิทธิของทายาทผู้มรณะเท่านั้น ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่

สรุป บมจ. ภักดีประกันชีวิต ไม่สามารถเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัยนี้ได้

 

MCS 2160 (MCS 2106) ภาษาเพื่อการสื่อสารมวลชน s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2160 (MCS 2106) ภาษาเพื่อการสื่อสารมวลชน
คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1.อะไรเป็นสื่อกลางสําหรับส่งผ่านหรือถ่ายทอดความคิด
(1) ผู้ส่งสาร
(2) ภาษา
(3) เครื่องมือการสื่อสาร
(4) ผู้รับสาร
ตอบ 2 หน้า 1 ประสิทธิ์ กาพย์กลอน มองว่า ภาษาเป็นสื่อกลางสําหรับส่งผ่านหรือถ่ายทอดความคิด แต่ก็มีทัศนะอื่น ๆ ที่มองแตกต่างออกไป เช่น นักภาษาบางกลุ่มมีความเห็นว่า ภาษาเป็นเครื่อง กําหนดความคิด นั่นคือ ภาษามีอิทธิพลต่อความคิดของคนเรา และยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้และ พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อีกด้วย

2.อะไรเป็นเครื่องกําหนดความคิด มีอิทธิพลต่อความคิด และมีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมต่าง ๆ
ของมนุษย์
(1) ผู้ส่งสาร
(2) ภาษา
(3) เครื่องมือการสื่อสาร
(4) ผู้รับสาร
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 1. ประกอบ

3.“พริตตี้ในงานแสดงมอเตอร์โชว์” เป็นบริบทการสื่อสารมิติใด
(1) กายภาพ
(2) จิตวิทยาสังคม
(3) วัฒนธรรม
(4) เวลา
ตอบ 1 หน้า 10, (คําบรรยาย) บริบทของการสื่อสารในมิติทางกายภาพ (The Physical Context) หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มองเห็นได้ในขณะที่การสื่อสารเกิดขึ้น ซึ่งจะมีอิทธิพลบางอย่างต่อ เนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่สื่อสาร เช่น สภาพแวดล้อมในห้องเรียน หอประชุม, การจัดแสดง แสง สี เสียง หรือสาวพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์, การจัดวางสินค้าหน้าร้านให้สวยงาม เป็นต้น

4.การที่มองว่าภาษามีส่วนสร้างความหมาย เป็นการมองภาษาตามแนวคิดใด
(1) โครงสร้างนิยม
(2) วัฒนธรรมนิยม
(3) สังคมนิยม
(4) บริโภคนิยม
ตอบ 2 หน้า 4, (คําบรรยาย) แนวคิดในเชิงวัฒนธรรมนิยม (Culturalism) มองว่า ภาษาไม่ใช่สิ่งที่ หยุดนิ่งตายตัว แต่มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นภาษาจึงไม่ได้เป็น เพียงการกําหนดคุณค่าหรือความหมายของสิ่งต่าง ๆ หรือความจริงที่อยู่ล้อมรอบตัวเท่านั้น แต่ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อก่อให้เกิดความคิดและนําไปสู่การ เปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ รวมไปถึงภาษามีส่วนสร้างความหมาย สร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ และ สร้างสรรค์ความจริงทางสังคม (Social Reality) หรือโลกทางสังคม (Social World)

5.“Encoding” หมายถึงอะไร
(1) กระบวนการที่แหล่งสารแปรความคิดให้อยู่ในรูปที่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถรับรู้ได้
(2) คําพูดหรือข้อเขียน สัญญาณ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งใช้แทนความหมาย
(3) วิธีการที่สารเดินทางไปยังผู้รับสาร
(4) กระบวนการที่ผู้รับสารพยายามทําความเข้าใจความหมายเรื่องราวที่อ่านหรือฟังนั้น
ตอบ 1 หน้า 8 กระบวนการเข้ารหัส (Encoding) หมายถึง การที่แหล่งสารแปรความคิดของตนให้ อยู่ในรูปที่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถรับรู้ได้ โดยอาศัยประสาทสัมผัส (Senses) เช่น เมื่อแหล่งสาร ต้องการจะพูดอะไรบางอย่าง สมองของเขาจะทํางานร่วมกับอวัยวะในการเปล่งเสียง เพื่อคิด คําพูดและเปล่งเสียงออกมาเป็นคําพูด ประโยค และบทสนทนา เป็นต้น

6.“ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อก่อให้เกิดความคิดและนําไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างความจริงทางสังคม” เป็นการมองภาษาตามแนวคิดใด
(1) วัตถุนิยม
(2) โครงสร้างนิยม
(3) บริโภคนิยม
(4) วัฒนธรรมนิยม
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 4. ประกอบ

7.“ลําไย” หมายถึง รําคาญ เป็นการใช้ภาษาในความหมายลักษณะใด
(1) ความหมายโดยตรง
(2) ความหมายรอง
(3) ความหมายโดยนัย
(4) ความหมายเชิงวาทกรรม
ตอบ 3หน้า 14, (คําบรรยาย) ภาษาประกอบด้วยความหมายใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความหมายโดยตรง (Denotation) หมายถึง ความหมายที่ได้มาจากสัญลักษณ์ที่เด่นชัด ความหมายที่เชื่อมโยงกับสัตภาพอันเป็นสิ่งที่มีตัวตนอ้างถึงได้ หรือความหมายที่เจ้าของภาษารู้และใช้กันทั่วไป ดังนั้นจึงเป็นความหมายของคําตามที่ปรากฏในพจนานุกรม เช่น คําว่า “ลําไย” หมายถึง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ผลกลม รสหวาน เป็นต้น
2. ความหมายโดยนัย (Connotation) หมายถึง ความหมายเพิ่มเติมหรือความหมายรอง นอกเหนือไปจากความหมายโดยตรง ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับวัตถุน้อยกว่าความหมาย โดยตรง เช่น คําว่า “ลําไย” หมายถึง รําคาญ ซึ่งเป็นคําสแลงที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

8. “ภาษาในความหมายที่แคบ คือ ภาษาพูดและภาษาเขียน และในความหมายที่กว้างออกไป คือ ระบบ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาท่าทาง ดนตรี เครื่องแต่งกาย ฯลฯ” เป็นการนิยามความหมายของ ภาษาตามแนวคิดใด
(1) วัตถุนิยม
(2) โครงสร้างนิยม
(3) บริโภคนิยม
(4) วัฒนธรรมนิยม ตอบ 2 หน้า 2 นักวิชาการแนวโครงสร้างนิยม เช่น โซซูร์ (Saussure) และเลวี สโตรสส์ (Levi Strauss) มองว่า ภาษาเป็นกรอบใหญ่ที่เข้ามากําหนดวิธีคิดของสมาชิกในสังคม โดยภาษาในความหมาย ที่แคบ คือ ภาษาพูดและภาษาเขียน และในความหมายที่กว้างออกไป คือ ระบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาท่าทาง ดนตรี เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งภาษาดังกล่าวล้วนมีโครงสร้างที่ผู้ใช้ จําเป็นต้องเข้าใจและนําไปใช้ตามกฎเกณฑ์ของภาษาเพื่อให้การสื่อสารสัมฤทธิผล

9.อะไรเป็นตัวกําหนดหลักเกณฑ์หรือควบคุมการใช้ภาษา
(1) ผู้ส่งสาร
(2) สื่อ
(3) สาร
(4) ไวยากรณ์
ตอบ 4 หน้า 2, (คําบรรยาย) แนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม (Structuralism) มองว่า ภาษาเป็นเครื่องมือ ที่ใช้แทนความหมาย และเป็นกรอบความคิดของมนุษย์ โดยภาษา คือ สิ่งที่วิวัฒนาการสืบต่อ กันมา ซึ่งภาษาพูดและภาษาเขียนนั้นต่างก็มีโครงสร้างที่แน่นอน และปรากฏเป็นหน่วยย่อย ที่สามารถนํามาวิเคราะห์ได้ตามโครงสร้างของภาษา เช่น พยัญชนะ คํา พยางค์ เป็นต้น และ เมื่อนํามาประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีระบบจะเรียกว่า “ไวยากรณ์” เป็นตัวกําหนดหลักเกณฑ์หรือควบคุมการใช้ภาษา

10. “แค่ขาวก็ชนะ” ข้อความนี้ต้องการสื่อความหมายว่าอย่างไร
(1) ผิวขาวทําให้ดูดีและประสบความสําเร็จ
(2) ผิวขาวเป็นคนดีกว่าผิวดํา
(3) คนผิวขาวเหนือกว่าคนผิวดํา
(4) คนผิวดําเป็นผู้ต่ําต้อย
ตอบ 1 หน้า 14, (คําบรรยาย) ความหมายเชิงวาทกรรม (Discourse Meaning) หมายถึง ความหมาย ที่คิดหรือประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ หรือให้ความสําคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อํานาจ หรือตัวตน เช่น ข้อความที่ว่า “แค่ขาวก็ชนะ” เป็นความหมายเชิงวาทกรรมในการโฆษณาที่ต้องการสื่อความหมายว่า ผิวขาวทําให้ดูดีและประสบความสําเร็จ เป็นต้น

11. การจะรู้ว่าภาษาที่ใช้นั้นใช้ในความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยนัย พิจารณาจากอะไร
(1) ถ้อยคํา
(2) ผู้ส่งสาร
(3) ผู้รับสาร
(4) บริบท
ตอบ 4 หน้า 10 – 11, 14, (คําบรรยาย) ภาษาจะประกอบไปด้วยความหมายทั้งในลักษณะที่เป็น ความหมายโดยตรง (Denotation) และความหมายโดยนัย (Connotation) ซึ่งการที่เราจะ รู้ได้ว่าคํา ๆ หนึ่งใช้ในความหมายลักษณะใดนั้น จะต้องพิจารณาจากบริบทของการสื่อสาร (Communication Context) ซึ่งมีอิทธิพลกํากับความหมายที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ทําการสื่อสาร

12.“กายภาษา” หมายถึงอะไร
(1) ลักษณะทางกายภาพ
(2) กิริยาอาการ
(3) ภาษาท่าทาง
(4) ภาษาใบ้
ตอบ 1 หน้า 17, (คําบรรยาย) ลักษณะทางกายภาพ (กายภาษา) หมายถึง อวัจนภาษาที่เกิดจาก ลักษณะหรือรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคล ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา การแต่งกาย เครื่องประดับ เสื้อผ้า ผม ฯลฯ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงรสนิยมและค่านิยมได้

13. ทําอย่างไรผู้รับสารจึงจะสามารถเข้าถึงความหมายที่แท้จริง
(1) การเชื่อฟังผู้นําความคิด
(2) การติดตามข่าวสารจากสื่อ
(3) การฟังบทสัมภาษณ์จากแหล่งข่าว
(4) การวิเคราะห์วาทกรรม
ตอบ 4หน้า 15 การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) หมายถึง การที่ผู้รับสารสามารถ มองเข้าไปที่สารและวิเคราะห์ได้ว่าสารนั้นถูกผลิตขึ้น ถูกใช้ และผู้ผลิตสารพยายามทําให้ ผู้รับสารเข้าใจอย่างไร ซึ่งจะมีประโยชน์ในการทําให้ผู้รับสารสามารถทราบถึงวิธีการที่จะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงผ่านสารที่ปรากฏออกมาได้

14. ภาษามีความสําคัญอย่างไร
(1) เป็นช่องทางการสื่อสาร
(2) เป็นความหมายโดยตรง
(3) เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
(4) เป็นสิ่งที่ใช้แทนความหมาย
ตอบ 4 หน้า 2 ภาษามีความสําคัญต่อการสื่อสาร คือ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้แทนความหมาย ทําให้ มนุษย์สามารถส่งความหมายที่อยู่ในความคิดของตนไปยังอีกฝ่ายหนึ่งได้ โดยให้ทั้งสองฝ่ายรับรู้และเข้าใจความหมายร่วมกัน ดังนั้นภาษาจึงมีความสําคัญต่อการสื่อสารของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีภาษา มนุษย์ย่อมไม่สามารถสื่อสารกันได้

15. ข้อใดถูกต้องที่สุด
(1) การสื่อสารทําให้มนุษย์มาอยู่รวมกัน
(2) ภาษาเป็นวิธีการสื่อสารของมนุษย์
(3) ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้แทนความหมาย
(4) ภาษาและความหมายเป็นสิ่งเดียวกัน
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 14. ประกอบ

16. การสื่อสารประเภทใดที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสารอยู่คนละสถานที่และคนละเวลา
(1) การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
(2) การสื่อสารองค์กร
(3) การสื่อสารสาธารณะ
(4) การสื่อสารมวลชน
ตอบ 4 หน้า 9, (คําบรรยาย) การสื่อสารในบางสถานการณ์ ผู้ส่งสารกับผู้รับสารอาจปรากฏอยู่ใน สถานที่ (Space) และเวลา (Time) เดียวกัน เช่น การสื่อสารแบบเผชิญหน้า แต่บางสถานการณ์ ผู้ส่งสารกับผู้รับสารอาจถูกแยกจากกันด้วยสถานที่และเวลา เช่น การสื่อสารมวลชนที่ผู้ส่งสาร กับผู้รับสารอยู่คนละสถานที่และคนละเวลา เป็นต้น

17. ความหมายมิได้ขึ้นอยู่กับสารเท่านั้น แต่ความหมายขึ้นอยู่กับอะไร
(1) เทคโนโลยีการสื่อสาร
(2) ช่องทางการสื่อสาร
(3) ลีลาของผู้ส่งสาร
(4) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สื่อสาร
ตอบ 4 หน้า 15 เดอวิโต กล่าวว่า ความหมายมิได้ขึ้นอยู่กับสารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสารเชิงวัจนะ หรืออวัจนะ หรือทั้ง 2 อย่าง แต่ความหมายจะขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่าง ผู้ส่งสารกับผู้รับสาร รวมทั้งขึ้นอยู่กับความคิดและความรู้สึกของผู้รับสารเอง เพราะในขณะที่ ทําการสื่อสารผู้รับสารมิใช่เป็นเพียงผู้รับ แต่เป็นผู้สร้างความหมายให้กับสารด้วย

18. การพูดของดีเจรายการเพลงป๊อบทางวิทยุกระจายเสียง เป็นการใช้ภาษาระดับลีลาใด
(1) ทางการ
(2) ปรึกษาหารือ
(3) ลําลอง
(4) คุ้นเคย
ตอบ 3 หน้า 16, (คําบรรยาย) ลีลาลําลอง (Casual Style) เป็นลีลาของวัจนภาษาที่ไม่เป็นทางการ มีลักษณะเป็นการสื่อสารในสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป บรรยากาศแบบสบาย ๆ โดยมักใช้พูดกันใน ชีวิตประจําวัน การทํางาน หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมวลชน เช่น การจัดรายการสนทนา รายการเกมโชว์ รายการเพลง และรายการคุยข่าวทางวิทยุกระจายเสียง

19. ข้อใดเป็นชนชาติแรกที่พัฒนาภาษาระบบพยัญชนะ
(1) สุเมเรียน
(2) ฟินีเชียน
(3) อียิปต์
(4) จีน
ตอบ 2 หน้า 20 กลุ่มของตัวอักษรที่เรียกว่า “พยัญชนะ” (Alphabet) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเสียง และนําเสียงมารวมกันเป็นคํา ถือกําเนิดขึ้นโดยชาวฟินิเซียน (The Phoenicians) เป็นชนชาติแรก ที่พัฒนาภาษาลักษณะนี้ หลังจากนั้นจึงพัฒนามาเป็นภาษากรีกโบราณที่มี 24 ตัวอักษร และ กลายเป็นต้นกําเนิดของตัวอักษรภาษาอื่น ๆ ในปัจจุบัน เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น

20. ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนาการคิดลักษณะใด
(1) การคิดเชิงกายภาพ
(2) การคิดเป็นรูปธรรม
(3) การคิดเชิงมโนทัศน์
(4) การคิดเป็นตัวอักษร
ตอบ 3 หน้า 19 ภาษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ในยุคแรก เพราะ ภาษาช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) และทําให้มนุษย์ สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังทําให้สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรม และ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้

21. ในการรายงานข่าว ผู้สื่อข่าวต้องมีความรู้ระดับใด
(1) ระดับที่ 1
(2) ระดับที่ 2
(3) ระดับที่ 3
(4) ระดับที่ 4
ตอบ 2 หน้า 30 นักสื่อสารมวลชนต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความรู้ที่ตนมีอยู่นั้นเพียงพอสําหรับ เรื่องราวที่จะสื่อสารหรือไม่ ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

1. หากต้องการเขียนข่าวรายงานเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ควรมีความรู้ (อย่างน้อย) ในระดับที่ 2 ก็เพียงพอ เนื่องจากการรายงานข่าวต้องรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มเติมข้อคิดเห็นของผู้เขียน
2. หากจะเขียนสารคดีเชิงข่าวเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิหลังหรือข้อมูลเจาะลึกของเรื่องนั้น ผู้เขียนต้องมีความรู้อย่างน้อยในระดับที่ 3
3. หากจะเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นมา สาเหตุ และพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ที่จะ ตามมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผู้เขียนควรมีความรู้อย่างน้อยในระดับที่ 4
4. หากจะเขียนบทวิจารณ์ว่า การกระทําเกี่ยวกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ดีหรือไม่ดี ผู้เขียนควรมีความรู้ในระดับที่ 5

22. ในการเขียนบทวิเคราะห์ ผู้เขียนต้องมีความรู้ระดับใด
(1) ระดับที่ 1
(2) ระดับที่ 2
(3) ระดับที่ 3
(4) ระดับที่ 4
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 21. ประกอบ

23. “การสื่อสารระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งบางครั้งเป็นไปตามสถานภาพของแต่ละฝ่าย และเกมทางการเมือง ความเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร ความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ และการที่เรื่อง
ที่สื่อสารนั้นเป็นเรื่องจริงจังหรือไม่จริงจัง” เป็นบริบทของการสื่อสารในมิติใด
(1) กายภาพ
(2) ความเป็นมา
(3) วัฒนธรรม
(4) จิตวิทยาสังคม
ตอบ 4 หน้า 11, (คําบรรยาย) บริบทการสื่อสารในมิติจิตวิทยาสังคม (The Social-psychological Context) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสถานภาพหรือฐานะชนชั้นของผู้ร่วมสื่อสาร กฎกติกาและ เกมที่ทั้ง 2 ฝ่ายเล่น เช่น การสื่อสารระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งบางครั้ง เป็นไปตามสถานภาพของแต่ละฝ่ายและเกมทางการเมือง ฯลฯ นอกจากนั้นยังรวมถึงแบบแผน ทางวัฒนธรรมของสังคมที่ซึ่งการสื่อสารเกิดขึ้น ความเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร ความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ และการที่เรื่องที่สื่อสารนั้นเป็นเรื่องจริงจังหรือไม่จริงจัง

24. การนําเสนอบทความและบทวิเคราะห์ เป็นการทําหน้าที่ของสื่อมวลชนข้อใด
(1) แจ้งข่าวสาร
(2) ตีความ
(3) ส่งผ่านค่านิยม
(4) ให้ความบันเทิง
ตอบ 2 หน้า 27 (คําบรรยาย) บทบาทหน้าที่ในการตีความหมาย (Interpretation) คือ การนําเสนอ เรื่องราวที่ผ่านการตีความหมายโดยผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว และกองบรรณาธิการของสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้นําเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงและข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นการรายงานข่าวในลักษณะของการ เล่าเรื่องที่ผ่านการกลั่นกรองจากมุมมองของสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลจาก มุมมองที่หลากหลายและสามารถประเมินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เช่น การนําเสนอบทวิเคราะห์ บทบรรณาธิการหรือบทนํา และบทความของหนังสือพิมพ์, รายการเล่าข่าวทางวิทยุโทรทัศน์ ช่องต่าง ๆ เป็นต้น ๆ

25.K-POP เป็นตัวอย่างของอะไร
(1) ความไร้วัฒนธรรม
(2) ความคลั่งไคล้
(3) วัฒนธรรมประชานิยม
(4) การเลียนแบบ
ตอบ 3 หน้า 32, (คําบรรยาย) คําว่า “วัฒนธรรมประชานิยม” (Popular Culture) หรือเรียกว่า “วัฒนธรรมมวลชน” (Mass Culture) หมายถึง รูปแบบการดํารงชีวิตและสิ่งอันเป็นที่นิยม ชมชอบของคนต่างสังคม ต่างถิ่น ต่างฐานะ จะมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันหรือเหมือน ๆ กัน ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับความบันเทิง การกีฬา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลงสมัยใหม่ เช่น การนิยมวัฒนธรรมแบบ K-POP และ J-POP ของกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น

26. ภาษาไทยอยู่ในกลุ่มใด
(1) Pictograph
(2) Sign Writing
(3) Alphabet
(4) Iconic
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 19. ประกอบ

27. หากประชาชนหวังพึ่งพาข่าวสารจากสื่อใดสื่อหนึ่งเพียงชื่อเดียว จะเกิดสิ่งใดตามมา
(1) สื่อนั้นได้รับความนิยมสูง
(2) จะเป็นผู้รับสารที่กระตือรือร้น
(3) อาจถูกครอบงําได้ง่าย
(4) เกิดการผูกขาดของเจ้าของสื่อ
ตอบ 3หน้า 27 – 28 หากประชาชนหวังพึ่งพาข่าวสารจากสื่อใดสื่อหนึ่งเพียงสื่อเดียวหรือมีความภักดี ต่อสื่อมากเกินไป อาจทําให้ถูกชี้นําจากสื่อได้ในระยะยาว และทําให้สูญเสียความสามารถในการ คิดเชิงวิเคราะห์ในที่สุด ซึ่งการที่สื่อมวลชนคิดวิเคราะห์และตีความข่าวสารให้ทั้งหมดนี้ ทําให้ ประชาชนกลายเป็นผู้รับสารที่มีลักษณะ Passive คือ ผู้รับสารที่ไม่ชอบคิดเอง ชอบปล่อยให้ คนอื่นคิดแทนตนเอง และไม่ยอมคิดพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ด้วยวิจารณญาณ ของตน สุดท้ายก็จะเป็นผู้ที่อาจถูกครอบงําได้ง่าย

28. “คลื่นพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศจํานวนมากหลั่งไหลเดินทางมาที่วัดอัมพวัน” ข่าวนี้หากเขียนใหม่ ให้กระชับ ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ควรเขียนอย่างไร
(1) คลื่นพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลเดินทางมาที่วัดอัมพวัน
(2) พุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศจํานวนมากเดินทางมาที่วัดอัมพวัน
(3) คลื่นพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลเดินทางมาที่วัดอัมพวัน
(4) พุทธศาสนิกชนจํานวนมากเดินทางมาที่วัดอัมพวัน
ตอบ 4 ประโยคดังกล่าวใช้คําฟุ่มเฟือย จึงควรเขียนใหม่ให้กระชับ ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ โดยใช้ว่า
พุทธศาสนิกชนจํานวนมากเดินทางมาที่วัดอัมพวัน

29.มวลชน หมายถึงอะไร
(1) คนจํานวนมากที่มีลักษณะร่วมกันบางประการ
(2) คนจํานวนมากที่สนใจเรื่องเดียวกัน
(3) คนจํานวนมากและไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง
(4) คนจํานวนมากที่อยู่รวมกันเป็นสังคม
ตอบ 3หน้า 25 – 26 ลักษณะของการสื่อสารมวลชน มีดังนี้
1. แหล่งสารหรือผู้ส่งสารมีลักษณะเป็นสถาบัน
2. เนื้อหาของสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชนมีลักษณะเป็นสาธารณะ (Public)
3. ผู้รับสารเป็นมวลชน (The Masses) หรือผู้รับชม รับฟัง (Audience) จํานวนมาก คือ คนจํานวนมากและไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง
4. กระบวนการสื่อสารมวลชนมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว
5. ได้รับอิทธิพลจากบริบททางสังคม
6. ใช้สื่อมวลชนเป็นช่องทางการสื่อสาร

30. รายการกระจกหกด้าน เป็นรายการประเภทใด
(1) สารคดี
(2) บันเทิงคดี
(3) ข่าว
(4) สารคดีเชิงข่าว
ตอบ 1 หน้า 74 – 75, (คําบรรยาย) รายการสารคดี (Documentary or Feature Programme) คือ รายการที่นําเสนอความรู้ในเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ตํานาน หรือเรื่องราวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป โดยใช้เทคนิคการนําเสนอหลาย ๆ รูปแบบในรายการเดียวกัน

31. ข้อเขียนประเภทใดมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข้อคิดเห็น
(1) ข่าว ตอบ 4
(2) โฆษณา
(3) สารคดี
(4) บทความ
หน้า 63, (คําบรรยาย) บทความ (Article) คือ ความเรียงประเภทร้อยแก้วในหนังสือพิมพ์ เพื่อนําเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนในวงกว้าง ในลักษณะข้อเขียน ขนาดสั้น กระชับ และมีพื้นฐานอยู่บนการโต้แย้งแสดงเหตุผล ประกอบด้วย ข้อมูลหรือหลักฐาน ที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนความคิดของผู้เขียน หรือเพื่อช่วยให้ผู้อ่านนําไปคิดวิเคราะห์และหา ข้อสรุปเกี่ยวกับเรืองนั้น ๆ

ข้อ 32 – 34. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Highly Selective
(2) Stereotype
(3) Common Culture
(4) Cuttivation

32. ภาพของตัวละครที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์ มีลักษณะเป็นอย่างไร
ตอบ 2 หน้า 32 ผลการวิจัยของจอร์จ เกิร์บเนอร์ ได้ให้ข้อสรุปว่า เนื้อหาที่นําเสนอทางโทรทัศน์นั้น ได้ผ่านกระบวนการสร้างที่เลือกเพียงบางส่วนเสี้ยวของโลกมานําเสนอ (Highly Selective) ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพแบบฉบับตายตัว (Stereotyped/Stylized & Repetitive) และยังเป็น ภาพที่บิดเบี้ยวไปจากโลกที่เป็นจริงอีกด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมากใน รายการประเภทละครโทรทัศน์

33.เนื้อหาที่นําเสนอทางโทรทัศน์นั้นผ่านกระบวนการสร้างที่มีลักษณะอย่างไร
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 32. ประกอบ

34. จอร์จ เกิร์บเนอร์ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทําหน้าที่ใดของรายการโทรทัศน์
ตอบ 4 หน้า 32 จอร์จ เกิร์บเนอร์ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทําหน้าที่อบรมบ่มเพาะ (Cultivation) ของโทรทัศน์ โดยศึกษาบทบาทด้านวัฒนธรรมในการปลูกฝังสมาชิกในสังคมอเมริกัน และได้ ข้อสรุปเบื้องต้นประการหนึ่ง คือ ลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏออกมาจากเนื้อหาข่าวสาร ของโทรทัศน์ทําหน้าที่เป็นตัวสร้างวัฒนธรรมร่วม (Common Culture) ของสมาชิกในสังคม

35. สถานที่ ช่องว่าง ระยะห่าง เป็นอวัจนภาษาข้อใด
(1) กายภาษา
(2) วัตถุภาษา
(3) ปริภาษา
(4) เทศภาษา
ตอบ 4 หน้า 17 ช่องว่างหรือระยะห่าง (เทศภาษา) หมายถึง อวัจนภาษาเรื่องช่องว่างและระยะห่าง ของคู่สนทนา เช่น ระยะห่างระหว่างหญิงกับหญิง และหญิงกับชายย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ รวมถึงเทศภาษาที่เกิดจากความเคารพในสถานที่แต่ละแห่งด้วย เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ที่บุคคลให้ความสําคัญมากกว่าสถานที่ธรรมดา

36. เนื้อหาของโฆษณาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างแบรนด์ ควรเน้นอะไร
(1) ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า
(2) สรรพคุณของสินค้า
(3) ราคาและสถานที่จัดจําหน่าย
(4) ภาพลักษณ์และบุคลิกตราสินค้า
ตอบ 4 หน้า 39, (คําบรรยาย) เนื้อหาของโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างแบรนด์ ในปัจจุบัน ควรเน้นการสร้างภาพลักษณ์ (Image) และบุคลิกตราสินค้า (Brand Personality) โดยใช้ภาพ คําพูด บุคคล สี และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าไปกระตุ้นและชักจูงจิตใจของผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมายให้ยึดมั่นกับสินค้าและบริษัทที่เป็นผู้โฆษณา

37. โครงสร้างการเขียนข้อความโฆษณาเป็นไปตามทฤษฎีใด
(1) Innovation Adoption
(2) SMCR
(3) Inverted Pyramid
(4) AIDA
ตอบ 4 หน้า 52 – 53 โครงสร้างของชิ้นงานโฆษณา มักนิยมเขียนข้อความโฆษณาตามกรอบแนวคิด AIDA ได้แก่
1. ข้อความพาดหัว มีหน้าที่สร้างความใส่ใจ (Attention : A)
2. ข้อความโฆษณา (เนื้อเรื่อง) มีหน้าที่สร้างความสนใจ (Interest : I) และต้องการซื้อ
3. ข้อความส่วนท้าย มีหน้าที่กระตุ้นความต้องการหรือความปรารถนา (Desire : D)
4. คําขวัญและชื่อสินค้า มีหน้าที่เน้นให้เกิดการกระทํา (Action : A)

38. “Advertising Concept” หมายถึงอะไร
(1) ข้อความสําคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
(2) ข้อความสั้น ๆ ง่ายแก่การจดจําที่มักนําเสนอในชิ้นงานโฆษณาคู่กับชื่อสินค้า
(3) ข้อความพาดหัวที่ใช้ดึงดูดใจผู้อ่านให้สนใจชิ้นงานโฆษณา
(4) เพลงโฆษณาที่มีเนื้อร้อง
ตอบ 1 หน้า 40, (คําบรรยาย) แนวคิดหลักที่ใช้ในการโฆษณา (Advertising Concept) หมายถึง ข้อความสําคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ซึ่งผู้โฆษณาได้นําเสนอไว้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะ ตรึงความสนใจของผู้บริโภค โดยจะช่วยให้การสื่อสารมีความคมชัด ตรงประเด็น และสร้าง มโนทัศน์เกี่ยวกับสินค้าให้เกิดขึ้นในจิตใต้สํานึกของผู้บริโภค ซึ่งแนวคิดหลักของการโฆษณา จะปรากฏอยู่ที่คําขวัญโฆษณา ข้อความพาดหัว และเนื้อหา

39. กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้า มีลําดับขั้นตอนอย่างไร
(1) การเขียนข้อความโฆษณา การกําหนดสื่อ การลงโฆษณา การวัดปฏิกิริยาตอบสนอง
(2) การกําหนดตัวผู้โฆษณา การเขียนข้อความ การส่งสารผ่านสื่อ การประเมินผล
(3) การกําหนดกลุ่มเป้าหมาย กําหนดแนวคิดหลัก การสร้างสรรค์โฆษณา
(4) การวิเคราะห์จุดเด่นของสินค้า การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า
ตอบ 3 หน้า 40 กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าจะต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ
ซึ่งมีลําดับขั้นตอนเริ่มจากการกําหนดกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย
การกําหนดแนวคิดหลัก การสร้างสารโฆษณาหรือสร้างสรรค์ข้อความโฆษณา และการนําเสนอ แนวคิดดังกล่าวซ้ำ ๆ ไปยังผู้บริโภคอย่างได้ผล

40. ผู้ใช้ภาษาโฆษณาควรมีสิ่งใดต่อไปนี้
(1) Personality
(2) Empathy
(3) Public Relations
(4) Positioning
ตอบ 2 หน้า 40 คุณสมบัติประการหนึ่งที่ผู้ใช้ภาษาโฆษณาควรมี คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) เพราะการที่นักโฆษณาสามารถเข้าถึงจิตใจของกลุ่มเป้าหมายได้จะทําให้เข้าใจว่า กลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอะไร อะไรเป็นแรงจูงใจสําคัญในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย และควรสื่อสารอย่างไรที่จะเข้าถึงจิตใจของคนเหล่านั้นได้

41. ข้อใดเป็นลักษณะของผู้รับสารแบบ Passive
(1) มีการแสดงปฏิกิริยาต่อเนื้อหาทางสื่อมวลชน
(2) ไม่คล้อยตามง่าย
(3) มีความคิดเชิงวิพากษ์
(4) ไม่ชอบคิดเอง ชอบให้คนอื่นคิดแทน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 27. ประกอบ

42. ข้อใดเป็นตัวอย่างของคําขวัญที่เน้นคุณภาพและชื่อสินค้า
(1) โตชิบา นําสิ่งที่ดีสู่ชีวิต
(2) ชาร์ป ก้าวล้ำไปในอนาคต
(3) คุณค่าที่คุณคู่ควร
(4) ห้าห่วง ทนหายห่วง
ตอบ 4 หน้า 48 คําขวัญโฆษณา เป็นข้อความสั้น ๆ ที่บ่งบอกถึงแนวคิดหลัก (Theme) ของสินค้า หรือบริการ เพื่อให้ผู้รับสารจดจําได้ด้วยการกล่าวซ้ํา ๆ ทุกครั้งของการโฆษณา ซึ่งคําขวัญ โฆษณาที่ดีจะต้องสั้น กระชับ ชัดเจน และจดจําง่าย โดยมีแนวทางการเขียนคําขวัญโฆษณา หลายลักษณะ ดังนี้
1. คําขวัญที่เน้นคุณสมบัติของสินค้า เช่น ฮูเวอร์ แรงแต่เงียบ
2. คําขวัญที่เน้นคุณภาพของสินค้า เช่น ห้าห่วง ทนหายห่วง
3. คําขวัญที่เน้นชื่อสินค้า เช่น เจบีพี ใช้ดีจึงบอกเพื่อน
4. คําขวัญที่เน้นภาพลักษณ์ของบริษัท เช่น การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า, โตชิบา นําสิ่งที่ดีสู่ชีวิต, ชาร์ป ก้าวล้ำไปในอนาคต ฯลฯ

43. ข้อความโฆษณาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
(1) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(2) แปลก ตลก ใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม
(3) สั้น เรียบง่าย ไม่ต้องคิดมาก
(4) การใช้เหตุผล
ตอบ 1 หน้า 46 ข้อความโฆษณาที่ดีควรชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้สินค้า
และเขียนขึ้นจากความเข้าใจถึงความต้องการและแรงจูงใจของผู้บริโภค โดยคํานึงถึงปัจจัย ทางด้านจิตวิทยาสังคมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ

44. แนวทางการโฆษณาข้อใดที่เป็นการมุ่งขายสินค้าโดยตรง
(1) Soft Sell
(2) Hard Sell
(3) Slice of Life
(4) Lifestyle
ตอบ 2หน้า 43 น้ำเสียง (Tone) ที่ใช้ในการนําเสนอสารโฆษณาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. น้ำเสียงที่มุ่งขายสินค้าอย่างชัดเจน (Hard Sell) คือ การนําเสนอสารโฆษณาในลักษณะ ตรงไปตรงมา มุ่งสู่การขายสินค้าโดยตรง ไม่อ้อมค้อม
2. น้ำเสียงที่มุ่งขายสินค้าทางอ้อม (Soft Sell) คือ การนําเสนอสารโฆษณาที่เน้นการสร้าง อารมณ์ความรู้สึกและทัศนคติเชิงบวกต่อสินค้า โดยไม่ได้กล่าวถึงตัวสินค้าโดยตรง แต่จะเน้นการโน้มน้าวใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าการกล่าวถึงเหตุผลเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้า

45. “สร้างสรรค์ความสุขได้ทุกวัน ด้วยสีสันแห่งโลกสวย” เป็นตัวอย่างข้อความโฆษณาที่ใช้อะไรเป็นสิ่งดึงดูดใจ
(1) เหตุผล
(2) คุณลักษณะของสินค้า
(3) อารมณ์
(4) คุณค่าเชิงอรรถประโยชน์
ตอบ 3 หน้า 44 สิ่งดึงดูดใจ (Appeal) ที่ปรากฏในสารโฆษณาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ด้านเหตุผล เป็นการใช้คุณสมบัติทางกายภาพของสินค้ามาเป็นสิ่งดึงดูดใจ โดยจะกล่าวถึง การใช้ประโยชน์ ลักษณะเด่น คุณสมบัติ คุณภาพของสินค้า ราคาสินค้า ฯลฯ
2. ด้านอารมณ์หรือลักษณะทางจิตวิทยา เป็นการใช้ความต้องการหรือแรงจูงใจของผู้บริโภค มาดึงดูดใจให้ซื้อสินค้า โดยจะกล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้านั้น ๆ เช่น ความพึงพอใจ ความเท่ ความสุข ความเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

46. “คนชื่อ คือ คนโง่” เป็นความจริงลักษณะใด
(1) Fact
(2) Truth
(3) Physical World
(4) Social Reality
ตอบ 4 หน้า 33 โลกทางสังคม (Social World) หรือความเป็นจริงทางสังคม (Social Reality) คือ โลกที่เกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาหรือขัดเกลาของสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว โรงเรียน ศาสนา ที่ทํางาน สื่อมวลชน ฯลฯ ดังนั้นโลกทางสังคมของมนุษย์แต่ละคนจึงเป็นโลกที่เกิดขึ้น จากสิ่งแวดล้อมเชิงสัญลักษณ์ที่แวดล้อมบุคคลเหล่านั้น หรือเป็นโลกที่เกิดจากการรับรู้ ซึ่งมี ลักษณะแตกต่างกัน เช่น คํากล่าวที่ว่า “คนซื่อ คือ คนโง่” ไม่ใช่ความจริงที่เป็นกฎธรรมชาติ แต่เป็นความจริงที่เกิดจากการประกอบสร้างของสังคม

47. การออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีเกิดเพลิงไหม้ที่อาคารสํานักงานใหญ่ของธนาคารฯ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีวัตถุประสงค์ข้อใด
(1) เพื่อบอกกล่าวเผยแพร่
(2) เพื่อให้ประชาชนยอมรับ
(3) เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด
(4) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด
ตอบ 3 หน้า 56, (คําบรรยาย) การประชาสัมพันธ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด คือ ในการ ดําเนินงานขององค์กรหรือสถาบัน บางครั้งก็อาจมีกระแสข่าวลือหรือข่าวสารที่ผิดพลาด ทําให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือประชาชนเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ องค์กรจึงใช้การประชาสัมพันธ์ เพื่อชี้แจงแถลงข้อเท็จจริง และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้สิ่งสําคัญที่สุดในการชี้แจง แก้ไขความเข้าใจผิด คือ ต้องมีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น การออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี เกิดเพลิงไหม้ที่อาคารสํานักงานใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นต้น

48. “จุดเด่นของเรา คือ การคืนกําไรสู่สังคมมากกว่าการปันผลกําไรให้แก่สมาชิก ที่อื่นเขาอาจมีเงินมากกว่า เรา บางแห่งมี 40 – 50 ล้านบาท แต่ผลกําไรที่ได้กลับคืนสู่สมาชิกเท่านั้น นั่นคือ จุดเด่นที่ทําให้หมู่บ้าน ของข้าพเจ้าได้รับรางวัล ทําให้มีคนมาดูงานจากทั่วประเทศ” ข้อความนี้ขาดองค์ประกอบใด
(1) Credibility
(2) Content
(3) Clarity
(4) Consistency
ตอบ 1 หน้า 60, (คําบรรยาย) ความน่าเชื่อถือ (Credibility) คือ การสื่อสารมีจุดเริ่มต้นจากบรรยากาศ ของความน่าเชื่อถือ (Belief) ซึ่งสถาบันหรือหน่วยงานได้สร้างขึ้นจากบุคลิกของผู้พูด เนื้อหาที่ มีประโยชน์ และมีการอ้างอิงข้อมูลหลักฐาน เช่น ข้อความข้างต้นขาดการอ้างข้อมูลหลักฐานที่ น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการคืนกําไรสู่สังคมว่า มีอะไรบ้าง เป็นต้น

49.“ใหม่ ยูเมะ มินิ 10 ซอง แค่ 600 บาท” เป็นการเขียนข้อความพาดหัววิธีใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) กล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 1 หน้า 45 การพาดหัวข่าว (News) คือ การเขียนข้อความพาดหัวโฆษณาที่ใช้วิธีการเขียนแบบ พาดหัวข่าว กล่าวคือ เป็นการสรุปสาระสําคัญ ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมากที่สุดในข้อความโฆษณา เช่น เน้นเรื่องความใหม่ ความแปลก ความสวยงาม ฯลฯ

50. “การเขียนที่ให้ประเด็นสําคัญ (Climax) ของข่าวก่อนให้รายละเอียด (Detail)” เป็นการเขียนข่าวแบบใด
(1) การเขียนแบบพีระมิดหัวกลับ
(2) การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวตั้ง
(3) การเขียนข่าวรูปแบบผสม
(4) การเขียนแบบคอลัมน์
ตอบ 1 หน้า 65 – 66, (คําบรรยาย) รูปแบบการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ มีดังนี้
1. แบบพีระมิดหัวกลับ (Inverted Pyramid) คือ การเสนอประเด็นสําคัญ (Climax) ของข่าว ก่อนให้รายละเอียด (Detail) ถือเป็นรูปแบบที่นิยมใช้มากกว่าร้อยละ 85 – 90 ในการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์
2. แบบพีระมิดหัวตั้ง (Upright Pyramid) คือ การเสนอรายละเอียดของข่าวก่อนประเด็น สําคัญ นิยมใช้ในการเขียนบทความ บทบรรณาธิการ สารคดีเชิงข่าว ฯลฯ
3. แบบผสม (Combination) คือ การเสนอประเด็นสําคัญทั้งในตอนต้นและตอนท้าย มักใช้ ในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์

51. การเขียนข่าวแบบใดที่นิยมมากที่สุด
(1) การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับ
(2) การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวตั้ง
(3) การเขียนข่าวรูปแบบผสม
(4) การเขียนข่าวแบบคอลัมน์
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 50. ประกอบ

ข้อ 52, – 54. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Straight News
(2) Human Interest
(3) Feature Story.
(4) Article

52. “พื้นห้องเศษขวดเบียร์แตกกระจายเกลื่อนบนที่นอน มีเส้นผมยาวประมาณ 2-3 นิ้ว หลุดอยู่หลายกระจุก ลักษณะคล้ายต่อสู้จิกผมของคนร้าย ข้างที่นอนมีหมอนเปียกชุ่มเลือด” เป็นการเขียนข่าวประเภทใด
ตอบ 2 (คําบรรยาย) การเขียนข่าวแบบสนองปุถุชนวิสัย (Human Interest) เป็นการเขียนเนื้อข่าว ที่ใช้การบรรยายหรือพรรณนาให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์เสมือนอยู่ในเหตุการณ์ โดยภาษาที่ใช้มัก เขียนเพื่อสร้างภาพพจน์เชิงวารสารศาสตร์ด้วยการอธิบายความ ให้รายละเอียด และบรรยาย ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมักใช้เขียนข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ประชานิยม (เชิงปริมาณ) ข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวบุคคลที่คนทั่วไปสนใจ ฯลฯ

53. “กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พิจารณาเห็นสมควรกําหนดแนวปฏิบัติในการเข้าไป นํายาน พาหนะ หรือพาหนะอื่นใดเข้าไปในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” เป็นการเขียนข่าวประเภทใด
ตอบ 1 (คําบรรยาย) การเขียนข่าวแบบตรงไปตรงมา (Straight News) เป็นการเขียนเนื้อข่าวที่บอก ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มเติมสีสันลงไปในเนื้อข่าว ดังนั้นจึงเป็นการเขียนที่บอกกล่าวกับผู้อ่านว่าใคร ทําอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทําไม และอย่างไร

54. “ถั่วเหลืองซึ่งใช้ทําเต้าหู้อุดมไปด้วยสารไอโซฟลาโวนส์ อันเป็นพฤกษเคมีอย่างหนึ่ง มีคุณสมบัติเหมือน ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน การกินอาหารที่ทําจากถั่วเหลืองมาก เชื่อว่า ช่วยป้องกันมะเร็งทรวงอกได้” เป็นการเขียนข่าวประเภทใด
ตอบ 3 (คําบรรยาย) การเขียนสารคดีเชิงข่าว (Feature Story) เป็นการเขียนเนื้อข่าวโดยให้ข้อมูล ภูมิหลังและรายละเอียดนอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้กับผู้อ่าน เกี่ยวกับเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

55.PSA หมายถึงอะไร
(1) ข่าวแจกเพื่อการประชาสัมพันธ์
(2) สารคดีเพื่อการประชาสัมพันธ์
(3) บทพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์
(4) ประกาศเพื่อบริการสาธารณะ
ตอบ 4 หน้า 59 การประกาศเพื่อบริการสาธารณะ (Public Service Announcement : PSA) คือ การแจ้งให้ประชาชนทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรหรือสถาบัน ซึ่งเป็นกิจกรรมบําเพ็ญ ประโยชน์เพื่อสาธารณชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น ประกาศเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการ การจัด สัมมนา การจัดประชุมเชิงวิชาการ ฯลฯ

56. ข้อใดคือ ส่วนที่บอกใจความสําคัญที่สุดของข่าว
(1) พาดหัวข่าว
(2) พาดหัวรอง
(3) วรรคนํา
(4) เนื้อข่าว
ตอบ 1 หน้า 65 พาดหัวข่าว (Headline) คือ ส่วนที่บอกผลของข่าวหรือใจความสําคัญที่สุดของข่าว อาจให้ความสําคัญด้วยอวัจนภาษา เช่น ขนาดตัวอักษรตัวโต มีการล้อมกรอบ มีการลงพื้นดํา มีเครื่องหมายวรรคตอนประกอบ ฯลฯ ทั้งนี้พาดหัวข่าวจะมีลักษณะของภาษาปาก คือ สั้นห้วน ไม่ถูกหลักเกณฑ์ทางภาษา มักขึ้นต้นประโยคด้วยกริยาลอย ๆ มีการเล่นคํา ให้สีสัน ให้อารมณ์ หรือตั้งสมญานามให้บุคคลที่เป็นข่าว

57. “หยุดสงกรานต์ 5 วันรวด ครม.เพิ่มให้” พาดหัวข่าวนี้มีลักษณะการใช้ภาษาอย่างไร
(1) ละประธาน ตัดคําสั้น ใช้ภาษาปาก การย่อคํา ใช้ชื่อเล่นหรือฉายาในการพาดหัว
(2) ใช้คําที่ชวนสงสัย ใช้สํานวนสร้างความรู้สึก การย่อคํา ใช้ชื่อเล่นหรือฉายาในการพาดหัว
(3) ละประธานของประโยค ใช้เครื่องหมายวรรคตอน ใช้ชื่อเล่นหรือฉายาในการพาดหัว
(4) ละประธานของประโยค ใช้คําย่อ ตัดคําสั้น ใช้ชื่อเล่นหรือฉายาในการพาดหัว
ตอบ 4 หน้า 65, (คําบรรยาย) พาดหัวข่าวข้างต้นมีลักษณะการใช้ภาษา ดังนี้
1. การละประธานของประโยค โดยการขึ้นต้นด้วยคํากริยาเพื่อชี้ให้เห็นความสําคัญของ เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น หยุดสงกรานต์
2. คําย่อที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น ครม. (คณะรัฐมนตรี)
3. การตัดคําให้สั้นลง เนื่องจากเนื้อที่มีจํากัด เช่น หยุด (วันหยุด)
4. การเรียกชื่อบุคคลโดยใช้ชื่อเล่นหรือฉายา เช่น ตู้ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ฯลฯ

58. “อยากได้สิ่งดี ๆ ก็ต้องไม่หยุดค้นหา” เป็นการเขียนพาดหัวโฆษณาแบบใด
(1) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(2) ให้คําแนะนํา
(3) เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
(4) พาดหัวข่าว
ตอบ 2 หน้า 45, (คําบรรยาย) การให้คําแนะนํา (Advice) หรือคําสั่ง คือ การเขียนข้อความพาดหัว โฆษณาด้วยการแนะนําให้ผู้อ่านกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง และตามด้วยคํามั่นสัญญาเกี่ยวกับ ผลที่ได้รับจากการทําตามคําแนะนํานั้น จึงเป็นวิธีที่ดึงดูดความสนใจได้ดี เพราะเป็นการเจาะจง ลงไปที่การป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคอาจจะประสบหรือกําลังประสบอยู่ ซึ่งบางครั้ง อาจเขียนในรูปคําสั่งโดยมีคําว่า “อย่า/ห้าม/จง/ต้อง” เพื่อแสดงการสั่งไม่ให้ทําหรือสั่งให้ทํา

59. ข้อใดเป็นหลักพื้นฐานของการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์
(1) ภาษาพลิ้วไหวไปตามเนื้อเรื่อง
(2) สื่ออารมณ์ความรู้สึก
(3) หลีกเลี่ยงวลีที่ไพเราะแต่ไร้ความหมาย
(4) ควรใช้คําศัพท์เฉพาะ
ตอบ 2 หน้า 60, (คําบรรยาย) หลักการพื้นฐานสําหรับการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ มีดังนี้
1. ใช้ภาษาให้ถูกต้อง
2. ใช้รูปแบบการเขียนที่เหมาะสม
3. เรียงคําในประโยคอย่างเหมาะสม
4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นธรรมชาติ สื่ออารมณ์ ความรู้สึกจริงใจ
5. เขียนด้วยประโยคสั้น ๆ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจง่าย
6. ใช้ภาษา ที่สื่อความหมาย
7. เขียนด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์
8. ใช้ภาษาที่ปราศจากอคติ

60. ข้อใดเป็นแนวทางการใช้ภาษาทําให้เกิดภาพพจน์
(1) ใช้ภาษาที่ทําให้เห็นภาพ
(2) ใช้คําที่ทําให้เห็นความแตกต่าง
(3) ไม่ควรใช้การเปรียบเทียบ
(4) ใช้คําที่เป็นศัพท์เฉพาะ
ตอบ 1 หน้า 83, (คําบรรยาย) ภาษาที่ใช้ทางวิทยุกระจายเสียงต้องเป็นภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน ทําให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ (Figure of Speech) ซึ่งในที่นี้หมายถึง ภาพที่เกิดจากคําพูด โดยต้องใช้ภาษาที่ทําให้เห็นภาพ เป็นภาษาที่เหมาะสมกับเนื้อหา รูปแบบรายการ และเหมาะสมกับผู้ฟัง เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และต้องเป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน

61.ข้อใดหมายถึง รายการที่มีจุดมุ่งหมายให้ความรู้และความบันเทิง
(1) Documentary
(2) Docu-drama
(3) Advertorial
(4) Drama
ตอบ 2 หน้า 76 รายการสาระละคร (Docu-drama) คือ รายการที่มุ่งให้ความรู้และความบันเทิง ไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้รูปแบบของละครผสมกับสารคดี กล่าวคือ ส่วนที่ทําเป็นรูปแบบละคร ก็เพื่อให้เข้าใจง่าย เกิดภาพตามไปได้ชัดเจน และเกิดความเพลิดเพลิน ส่วนที่เป็นสารคดีก็มัก เป็นส่วนที่มุ่งในเชิงวิชาการ

62. ข้อใดหมายถึง บทความหรือสารคดีที่มุ่งขายสินค้า
(1) Documentary
(2) Docu-drama
(3) Advertorial
(4) Drama
ตอบ 3 (คําบรรยาย) Advertorial มาจากคําว่า Advertising + Editorial Matter หมายถึง เนื้อหา โฆษณาที่ให้ความรู้ควบคู่ไปกับการโน้มน้าวใจ โดยมีลักษณะเป็นโฆษณาแฝงสอดแทรกอยู่ใน บทความหรือสารคดีที่มุ่งขายสินค้า หรือเป็นโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบหนึ่งที่ตั้งใจให้ดูเหมือนเป็นบทความหรือสารคดีมากกว่าโฆษณา

63. การเขียนบทวิทยุกระจายเสียงส่วนเนื้อหา คอลัมน์ซ้ายมือระบุอะไร
(1) เนื้อหาที่จะพูด
(2) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับรายการ
(3) ชื่อรายการ
(4) แหล่งที่มาของเสียง
ตอบ 4 หน้า 81, (คําบรรยาย) ส่วนเนื้อหาหรือส่วนที่เป็นตัวบทวิทยุกระจายเสียง เป็นส่วนที่บอก ผู้เกี่ยวข้องและสิ่งที่กําหนดให้ทํา ได้แก่ ใครพูด พูดว่าอะไร พูดอย่างไร ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่ง ออกเป็น 2 คอลัมน์ ดังนี้
1. คอลัมน์ซ้ายมือ เป็นการระบุแหล่งที่มาของเสียง เช่น เสียงผู้ประกาศ (Announcer/ANNCR)
2. คอลัมน์ขวามือ เป็นการระบุว่าเสียงจะเข้ามาในลักษณะใด และผู้ประกาศควรพูดว่าอย่างไร โดยใช้ภาษาพูดที่สุภาพ

64. ถ้าต้องการให้เสียงดนตรีคลออยู่ใต้เสียงพูด ใช้คําสั่งว่าอะไร
(1) Fade In
(2) Fade Out
(3) Fade Under
(4) Cross Fade
ตอบ 3 (คําบรรยาย) วิธีการใช้เสียงดนตรีในบทวิทยุกระจายเสียง มีดังนี้
1. Fade In คือ การปล่อยเสียงดนตรีให้ค่อย ๆ ดังขึ้นจนเข้าสู่ระดับเสียงปกติ
2. Fade Out คือ การหรี่เสียงดนตรีให้เบาลงจนเงียบหายไป
3. Fade Under คือ การหรี่เสียงดนตรีให้เบาลงแล้วคลออยู่ใต้เสียงพูดของผู้ประกาศ
4. Fade Up คือ ในขณะที่เสียงดนตรีกําลังคลออยู่ใต้เสียงพูดของผู้ประกาศ พอพูดจบ ก็ทําให้เสียงดนตรีนั้นดังขึ้นอีกครั้ง

ข้อ 65. – 67. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Host
(2) Disc Jockey
(3) Announcer
(4) Producer

65. ข้อใดหมายถึง ผู้จัดรายการ
ตอบ 1 หน้า 74, (คําบรรยาย) Host หมายถึง ผู้จัดรายการหรือผู้ดําเนินรายการสนทนา ซึ่งมีหน้าที่ กล่าวเปิดรายการ นําเข้าสู่ประเด็นที่จะสนทนา แนะนําผู้ร่วมสนทนาหรือแขกรับเชิญ (Guest) โดยอาจคอยพูดเชื่อมโยงให้การสนทนาอยู่ในประเด็น และสรุปใจความสําคัญของการสนทนาอีกครั้งหนึ่ง

66. ข้อใดหมายถึง ผู้ประกาศ
ตอบ 3 (คําบรรยาย), (ดูคําอธิบายข้อ 63. ประกอบ) Announcer หมายถึง ผู้ประกาศ ผู้อ่าน หรือ โฆษก มีหน้าที่อ่านหรือประกาศข่าวสารเพื่อถ่ายทอดไปยังผู้ชม ผู้ฟัง ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ประกาศ จะต้องมีพื้นฐานการศึกษา ประสบการณ์ และการฝึกฝนมาอย่างดี

67. ข้อใดหมายถึง ผู้ผลิตรายการ
ตอบ 4 (คําบรรยาย) Producer หมายถึง ผู้ผลิตรายการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิตรายการ อํานวยการ และประสานงานกับบุคลากรในการผลิตรายการทุกส่วนตามแผนการผลิตรายการ ที่ได้กําหนดไว้

68. หากต้องการถ่ายภาพทิวทัศน์ ควรใช้ภาพขนาดใด
(1) MLS
(2) LS
(3) ELS
(4) SLS
ตอบ 3 หน้า 87, (คําบรรยาย) ภาพระยะไกลมาก (Extreme Long Shot : ELS) เป็นการถ่ายภาพ ในระยะไกลมาก ได้แก่ ภาพวิว หรือภาพทิวทัศน์ที่แสดงทัศนียภาพขององค์ประกอบทั้งหมด เช่น การถ่ายทํารายการสารคดีท่องเที่ยว เป็นต้น

69. หากต้องการถ่ายฉากงานหมั้นและต้องการให้เห็นภาพเฉพาะมือที่สวมแหวน ควรใช้ภาพขนาดใด
(1) MLS
(2) LS
(3) CU
(4) ECU
ตอบ 4 หน้า 87, (คําบรรยาย) ภาพระยะใกล้มาก (Extreme Close Up : ECU) เป็นการถ่ายภาพ ในระยะที่ใกล้มาก เพื่อต้องการเน้นรายละเอียดเฉพาะส่วน เช่น การเน้นถ่ายเฉพาะมือของ นางเอกที่สวมแหวนหมั้น, การถ่ายอวัยวะเฉพาะส่วนของแมลง ฯลฯ หรือหากเป็นภาพบุคคล ก็จะเห็นเฉพาะส่วนใบหน้า เพื่อต้องการเน้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้แสดง เช่น การเน้นถ่าย เฉพาะดวงตาขณะผู้แสดงกําลังร้องไห้ ฯลฯ

70. คําว่า “Image” ในภาษาประชาสัมพันธ์ หมายถึงอะไร
(1) ภาพ
(2) ภาพลักษณ์
(3) ภาพประกอบข่าว
(4) ภาพที่เกิดจากคําพูด
ตอบ 2 หน้า 56 ในภาษาประชาสัมพันธ์ คําว่า “Image” หมายถึง ภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ ซึ่งเป็นภาพในใจอันเกิดจากการได้รับข้อมูล ข่าวสาร หรือประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ก่อตัว ขึ้นมาเป็นทัศนคติ ความเชื่อ และการให้คุณค่า (Value) ต่อสิ่งนั้น ดังนั้นองค์กรและสถาบันที่ มีภาพลักษณ์ดีย่อมมีคุณค่าในสายตาของสาธารณชน ตรงกันข้ามกับองค์กรหรือสถาบันใด ๆ ที่มีภาพลักษณ์ไม่ดีมักถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน

71. คําว่า “Image” ในภาษาโทรทัศน์ หมายถึงอะไร
(1) ภาพ
(2) ภาพลักษณ์
(3) ภาพประกอบข่าว

(4) ภาพที่เกิดจากคําพูด
ตอบ 1 หน้า 86 ในภาษาโทรทัศน์ คําว่า “Image” หมายถึง ภาพ ซึ่งภาพที่ปรากฏทางจอโทรทัศ จะเกิดจากภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพเรียงลําดับต่อเนื่องกันจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยภาพ แต่ละภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์จะเรียกว่า ซอต (Shot) และเมื่อเรานําภาพแต่ละซอดมาลําดับให้ถูกช่วงถูกตอนตามที่ควรจะเป็นก็จะได้ลําดับเรื่องราวตามต้องการ

72. คําว่า “Editing” ในภาษาหนังสือพิมพ์ หมายถึงอะไร
(1) การตัดต่อลําดับภาพ
(2) การตกแต่งภาพ
(3) การบรรณาธิกรณ์
(4) บรรณาธิการ
ตอบ 3 หน้า 64, 89 ในภาษาหนังสือพิมพ์ คําว่า “Editing” หมายถึง การบรรณาธิกรณ์ปรับปรุงข่าว ก่อนส่งพิมพ์ ส่วนในภาษาโทรทัศน์นั้น คําว่า “Editing” หมายถึง การตัดต่อลําดับภาพ ซึ่งจะ ทําได้ทั้งรายการที่บันทึกเทป และรายการที่ออกอากาศ โดยใช้อุปกรณ์ตัดต่อ (Editing Suite)

73. คําว่า “Editing” ในภาษาโทรทัศน์ หมายถึงอะไร
(1) การตัดต่อลําดับภาพ
(2) การตกแต่งต้นฉบับ
(3) การบรรณาธิกรณ์
(4) บรรณาธิการ
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 72. ประกอบ

74. หากต้องการสร้างบรรยากาศที่วังเวง น่ากลัว ควรใช้แสงสีอะไร
(1) เหลือง
(2) ฟ้า
(3) ดํา
(4) น้ําเงิน
ตอบ 4 หน้า 93 – 94, (คําบรรยาย) การใช้สีเพื่อประกอบการให้แสงจะมีอิทธิพลต่อจิตใจและ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ชม เช่น สีเหลืองจะให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นแสงยามเช้า จึงมักใช้ ในรายการประเภทครอบครัว หรือรายการแม่บ้าน, สีน้ําเงินจะให้บรรยากาศลึกลับ วังเวง น่ากลัว จึงมักใช้ในรายการประเภทละครผี เป็นต้น

75. หากต้องการนําเสนอภาพทิวทัศน์โดยให้ผู้ชมได้ชื่นชมทิวทัศน์ในมุมกว้าง โดยการหันกล้องซึ่งติดตั้งอยู่ บนเครนจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้าย เป็นการใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องข้อใด
(1) แพน
(2) ดอลลี่
(3) ทังค์
(4) บูม
ตอบ 3 หน้า 90 ทั้งค์ (Tongue) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องโดยการหันกล้องซึ่งติดตั้งอยู่บน ปั้นจั่นหรือบนเครนจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้าย ในขณะที่ระดับสูงต่ําของกล้องยังอยู่ใน ระดับเดิมเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพในมุมกว้างได้มากขึ้น

ข้อ 76. – 78.จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Cut
(2) Wipe
(3) Freeze Frame
(4) Sptit Screen

76. ข้อใดเป็นเทคนิคการหยุดภาพไว้ให้ผู้ชมได้เห็นเป็นภาพนิ่ง
ตอบ 3 หน้า 92, (คําบรรยาย) ฟรีซเฟรม (Freeze Frame) คือ เทคนิคการหยุดภาพหรือแช่ภาพ ไว้ให้ผู้ชมได้เห็นภาพนั้นนิ่ง ๆ อยู่ชั่วขณะหนึ่ง ส่วนมากจะใช้ในฉากจบของละครโทรทัศน์ใน แต่ละตอน ก่อนที่ไตเติ้ลตอนจบจะขึ้น

77. ข้อใดเป็นวิธีการลําดับภาพที่รวดเร็วและง่ายที่สุด
ตอบ 1 หน้า 92 การคัต (Cut) คือ การตัดภาพจากกล้องหนึ่งไปยังอีกกล้องหนึ่ง ซึ่งถือเป็นวิธีการ ลําดับภาพที่รวดเร็วและง่ายที่สุด

78. ข้อใดเป็นเทคนิคที่นํามาใช้เมื่อต้องการเสนอภาพการถ่ายทอดฟุตบอลพร้อมกับโฆษณา
ตอบ 4 หน้า 92 สปลิตสกรีน (Split Screen) คือ เทคนิคการแบ่งกรอบภาพ (Frame) ให้ออกเป็น ส่วน ๆ เพื่อนําเสนอภาพหลาย ๆ ภาพลงในหน้าจอเดียวกัน เช่น การเสนอภาพถ่ายทอดสด ฟุตบอลและโฆษณาไปพร้อม ๆ กัน เป็นต้น

ข้อ 79. – 81.จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Pan
(2) Tilt
(3) Pedestal
(4) Boom

79. ข้อใดหมายถึง เทคนิคการเงยหรือก้มกล้องในแนวตั้ง
ตอบ 2 หน้า 90, (คําบรรยาย) ทิลท์ (Tilt) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องโดยการเงยกล้อง (Tilt Up) หรือก้มกล้อง (Tilt Down) ในลักษณะแนวตั้ง เพื่อให้ผู้ชมสามารถเห็นภาพมุมสูงและภาพมุมต่ํา ได้มากขึ้น เช่น การนําเสนอภาพตึกสูงในแนวตั้งโดยการเงยกล้อง (Tilt Up) เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพ ของตึกไล่ขึ้นไปจนถึงยอดตึก เป็นต้น

80.ข้อใดหมายถึง เทคนิคการเคลื่อนกล้องขึ้น-ลง บนฐานกล้อง
หน้า 90 พีเดสตอล (Pedestal) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องขึ้น-ลง บนฐานกล้องแบบ
Studio Pedestal โดยใช้คันบังคับ

81.ข้อใดหมายถึง เทคนิคการเคลื่อนกล้องขึ้น-ลง บนฐานกล้องแบบปั้นจั่น
ตอบ 4 หน้า 90, (คําบรรยาย) บูม (Boom) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องขึ้น-ลง ในแนวตั้งบน ฐานกล้องแบบปั้นจั่น หรือกล้องอยู่บนเครน ซึ่งจะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนมุมกล้องให้สูงหรือต่ํา

82.Commentator หมายถึงอะไร
(1) ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
(2) ผู้อ่านบทโฆษณา
(3) ผู้บรรยาย
(4) ผู้กํากับรายการโทรทัศน์
ตอบ 3 หน้า 75, (คําบรรยาย) Commentator หมายถึง ผู้บรรยาย ผู้วิเคราะห์ หรือผู้วิจารณ์ใน รายการวิจารณ์ข่าว (News Commentary) ซึ่งมีหน้าที่หยิบยกประเด็นที่อยู่ในความสนใจ ของสังคมขึ้นมาอธิบาย วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็น บางรายการอาจเปิดโอกาส ให้ผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

83.Run-down Sheet ควรใช้สําหรับรายการประเภทใด
(1) ข่าว
(2) บทความ
(3) สารคดี
(4) เพลง
ตอบ 4หน้า 83, (คําบรรยาย) การเขียนบทวิทยุกระจายเสียงมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. บทที่วางโครงร่างคร่าว ๆ (Run-down Sheet) คือ บทที่ร่างลําดับเนื้อหาหรือลําดับ ในการทํางานไว้สําหรับผู้ร่วมงาน ซึ่งมักใช้กับรายการเพลง
2. บทกึ่งสมบูรณ์ (Semi Script) คือ บทที่มีรายละเอียดสมบูรณ์ในบางส่วนและละเอาไว้ บางส่วน มักใช้กับรายการสัมภาษณ์ สนทนา ฯลฯ
3. บทสมบูรณ์ (Complete Script) คือ บทที่มีรายละเอียดทุกอย่างกําหนดไว้ชัดเจน มักใช้กับรายการละครวิทยุ ข่าว บทความ สปอตโฆษณา ฯลฯ

84. ข้อใดเป็นหลักการใช้ภาษาวิทยุกระจายเสียง
(1) ไม่ควรนําเรื่องส่วนตัวมาพูดในรายการ
(2) ใช้ภาษาระดับลีลากันเอง
(3) ใช้สํานวนโวหารเพื่อเรียกร้องความสนใจ
(4) ใช้คําหรูหราฟังไพเราะ
ตอบ 1 หน้า 82 – 83 แนวทางหรือหลักการใช้ภาษาพูดทางวิทยุกระจายเสียง มีดังนี้
1. ใช้ประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ พูดแล้วไม่ต้องให้คิดนาน
2. การพูดทุกตอนต้องแสดงความหมายในแง่เดียว ไม่มีการขัดแย้งกันเอง
3. ใช้ภาษาสุภาพ ให้เกียรติผู้ฟัง อย่าใช้ภาษาที่แสดงภูมิอวดผู้ฟัง เช่น ใช้คํายาก คําแปลก ๆ
4. ใช้น้ำเสียงเป็นกันเองกับผู้ฟัง
5. ไม่นําเรื่องส่วนตัวของผู้ดําเนินรายการ หรือญาติมิตรมาพูดคุยในรายการ
6. ไม่ควรใช้คําคะนองที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม ไม่พูดคําหยาบและคําผวน ฯลฯ

85. หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพเสนอข่าวประเภทใด
(1) ข่าวที่ประชาชนสนใจ
(2) ข่าวหนัก
(3) ข่าวเบา
(4) ข่าวที่มีคุณภาพ
ตอบ 2 หน้า 62, 64 หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพ (Quality Newspaper) หมายถึง หนังสือพิมพ์ที่ นําเสนอข่าวสารข้อมูลที่มีสาระ ซึ่งผู้อ่านต้องใช้ความรู้และความคิดติดตามเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นจึงจะเข้าใจ โดยข่าวที่นําเสนอจะมีลักษณะการใช้ภาษาเป็นภาษาระดับทางการ (เนื้อข่าวหน้าใน) และกึ่งทางการ (พาดหัวข่าว) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวหนัก (Hard News) เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการศึกษา ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

86. บทบรรณาธิการเป็นความเรียงประเภทใด
(1) ร้อยแก้ว
(2) ร้อยกรอง
(3) ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
(4) สารคดี
ตอบ 1 หน้า 63 บทบรรณาธิการหรือบทนํา (Editorial) คือ ความเรียงประเภทร้อยแก้ว โดยมี จุดมุ่งหมายหลักของการเขียนเพื่อแสดงถึงทัศนะหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ซึ่งมีต่อสถานการณ์ที่กําลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน ดังนั้น บทบรรณาธิการจึงนับว่ามีความสําคัญในการเป็นข้อเขียนที่แสดงถึงจุดยืนหรือทิศทางของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับต่อสถานการณ์ที่กําลังอยู่ในกระแสสังคม

87. บทบรรณาธิการมีความสําคัญอย่างไร
(1) เป็นข้อเขียนประเภทแสดงความคิดเห็น
(2) เป็นการนําเสนอข้อมูลใหม่ ๆ
(3) แสดงถึงจุดยืนของหนังสือพิมพ์ต่อสถานการณ์ที่อยู่ในกระแสสังคม
(4) แสดงความคิดเห็นของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีต่อเรื่องทั่วไป
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 86. ประกอบ

88. หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพมีลักษณะการใช้ภาษาอย่างไร
(1) ใช้ภาษาทางการและภาษาปาก
(2) ใช้ภาษาทางการและกึ่งทางการ
(3) ใช้ภาษาปาก
(4) ใช้ภาษากึ่งทางการและภาษาปาก
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 85. ประกอบ

89.การเขียนบทความ บทบรรณาธิการ ใช้รูปแบบการเขียนแบบใด
(1) Inverted Pyramid
(2) Upright Pyramid
(3) Combination
(4) Straight News
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 50. ประกอบ

ข้อ 90, – 92. จงใช้บทความต่อไปนี้ตอบคําถาม
“ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องรีบทําให้เกิดความชัดเจน และต้องประชาสัมพันธ์เร่งด่วน เพื่อให้รับรู้ร่วมกัน ต้องมีความชัดเจนก่อนประชาคมอาเซียนจะมีผล ในระเบียบหรือข้อตกลงบางอย่าง ประชาชนคนไทยต้องรับรู้เป็นแนวทาง เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีหลักปฏิบัติต่าง ๆ”

90. บทความข้างต้นเป็นบทบรรณาธิการประเภทใด
(1) อธิบายความ
(2) วิพากษ์วิจารณ์
(3) แนะนํา
(4) เรียกร้องให้เกิดการกระทํา
ตอบ 4 หน้า 71 บทบรรณาธิการประเภทเรียกร้องให้เกิดการกระทํา (Demand Action) จัดเป็น บทบรรณาธิการที่เรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ลงมือกระทําอย่างใด อย่างหนึ่งในทันทีทันใด โดยต้องชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาและเหตุผลที่ต้องเรียกร้อง ให้มีการปฏิบัติ ซึ่งกองบรรณาธิการจะต้องให้ข้อมูล หลักฐาน ตัวเลข ตัวอย่างเพียงพอที่จะ สนับสนุนข้อเรียกร้องนั้นได้อย่างเต็มที่ และสามารถทําให้ผู้อ่านคล้อยตาม

91. บทความนี้ใช้ภาษาระดับลีลาใด
(1) ลีลาเยือกเย็น
(2) ลีลาทางการ
(3) ลีลาปรึกษาหารือ
(4) ลีลากันเอง
ตอบ 2 หน้า 16, (คําบรรยาย) ลีลาทางการ (Format Style) เป็นลีลาของวัจนภาษาที่เป็นพิธีการ น้อยกว่าลีลาเยือกเย็น แต่ก็ยังมีลักษณะเป็นแบบแผน และมุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่ไม่เฉพาะ เจาะจงว่าเป็นบุคคลใด เช่น ภาษาที่ใช้เขียนหนังสือราชการ หนังสือเรียน บทบรรณาธิการใน หนังสือพิมพ์ บทความทางวิชาการ บทวิเคราะห์ การปาฐกถา การบรรยาย ฯลฯ

92. บทความนี้แสดงความคิดเห็นในระดับใด
(1) เสนอแนะ
(2) อธิบายความ
(3) วิพากษ์วิจารณ์
(4) เสนอแนวทางการแก้ปัญหา
ตอบ 4 (คําบรรยาย) การแสดงความคิดเห็นในบทความ บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการ อาจจะ
แบ่งตามระดับจากง่ายไปยากที่สุดได้ดังนี้
1. ระดับอธิบายความ คือ ผู้เขียนตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะตามมา
2. ระดับวิพากษ์วิจารณ์ คือ ผู้เขียนประเมินค่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าดีหรือไม่ดี เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ใครถูกใครผิด ฯลฯ โดยแจกแจงให้เห็นข้อดีข้อด้อยในเรื่องนั้น ๆ
3. ระดับเสนอทางแก้ปัญหา คือ ผู้เขียนให้คําแนะนําหรือให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา แก่ผู้รับผิดชอบ จึงจัดเป็นการเขียนในเชิงวิเคราะห์ที่กล่าวถึงสาเหตุและเสนอทางออกไป พร้อม ๆ กัน ๆ

ข้อ 93 – 94. จงใช้บทความต่อไปนี้ตอบคําถาม
“แต่ถึงจะทําได้หรือทําไม่ได้ก็ตาม นักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะต้องรักษาคําสัญญาที่ให้ไว้ต่อ ประชาชนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อสร้างศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ระบบของรัฐสภา
และนักการเมือง ตามคําเรียกร้องของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์”

93. ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการประเภทใด
(1) ให้ข่าวสาร
(2) อธิบายความ
(3) แนะนํา
(4) เรียกร้องให้กระทํา
ตอบ 3 หน้า 71 บทบรรณาธิการประเภทเสนอแนะ (Suggest) เป็นบทบรรณาธิการที่ผู้เขียนได้ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่กําลังเป็นข่าวและต้องการให้มีการแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้อง ซึ่งการเสนอแนะหรือแนะนําจะเป็นเพียงการชี้แนวทางที่เป็นไปได้ให้ผู้อ่านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาเลือกปฏิบัติ โดยอาจให้กระทํา ไม่กระทํา หรือเลือกกระทําตามแต่กรณี แต่จะ ไม่รุนแรงถึงกับเรียกร้องให้มีการตอบสนองข้อเสนอแนะนั้น

94.บทความข้างต้นแสดงความคิดเห็นในระดับใด
(1) อธิบายความ
(2) วิพากษ์วิจารณ์
(3) วิเคราะห์
(4) ให้คําแนะนํา
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 92. ประกอบ

95. “ให้สาระและบันเทิงพร้อมทั้งความเพลิดเพลิน” เป็นลักษณะของสารคดีประเภทใด
(1) สารคดีข่าว
(2) สารคดีประวัติศาสตร์
(3) สารคดีทั่วไป
(4) สารคดีสนองปุถุชนวิสัย
ตอบ 3 หน้า 68 สารคดีทั่วไป เป็นสารคดีที่ประกอบด้วยเนื้อหาด้านต่าง ๆ เช่น สารคดีชีวประวัติ สารคดีเรื่องเล่า สารคดีท่องเที่ยว สารคดีทางวิชาการต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ ประการหนึ่ง คือ ให้สาระและบันเทิงพร้อมทั้งความเพลิดเพลินควบคู่กันไป โดยมุ่งเน้นไปที่
ความเพลิดเพลินมากกว่า

96. “จะดีกว่ามั้ย ถ้ากระดาษที่ใช้ช่วยลดโลกร้อนได้” เป็นการเขียนพาดหัวโฆษณาวิธีใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 2 หน้า 45 การกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ (Product Claim) คือ การเขียนข้อความ พาดหัวโฆษณาที่แสดงถึงข้อยืนยันเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้สินค้า ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ดี เพราะเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค และสิ่งสําคัญที่ควรคํานึงถึงก็คือ ข้อเสนอนั้นควรเป็นข้อเสนอที่เด่นชัดจริง ๆ และเชื่อถือได้ โดยข้อความโฆษณาส่วนอื่น ๆ ต้องให้ข้อมูลหลักฐานเพื่อพิสูจน์หรือสนับสนุนข้อเสนอนั้น ๆ

97. “พบกับประสบการณ์การเดินทางเหนือระดับที่โรงแรมและรีสอร์ท ซึ่งครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ ในประเทศไทย ผ่อนคลายในห้องสวีทขนาดใหญ่ หรือวิลล่าหลายห้องนอนพร้อมสระน้ําส่วนตัว สนุกกับ กิจกรรมมากมาย เพลิดเพลินกับบรรยากาศสุดหรู” เป็นการเขียนข้อความโฆษณาแบบใด
(1) เขียนข่าว
(2) เล่าเรื่อง
(3) บทสนทนา
(4) เป็นคําสั่ง
ตอบ 2 หน้า 47 การเขียนแบบการเล่าเรื่อง (Narrative Description) เป็นวิธีการเขียนข้อความ โฆษณาส่วนเนื้อเรื่องที่บรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์ หรือผลที่จะได้รับจากการใช้สินค้าและ
บริการที่โฆษณา โดยใช้รูปแบบการเขียนอธิบายความแบบเล่าเรื่อง

98. ข้อใดเป็นเทคนิคการเขียนบทวิทยุสําหรับรายการประเภทข่าว
(1) เขียนประโยคสั้น ๆ
(3) ใช้คําเปรียบเทียบให้เกิดภาพพจน์
(2) เขียนเหมือนการพูดตัวต่อตัว
(4) อ้างคําพูดของแหล่งข่าว
ตอบ 1 หน้า 81, (คําบรรยาย) เทคนิคการเขียนบทวิทยุสําหรับรายการประเภทข่าว มีดังนี้
1. เขียนประโยคสั้น ๆ แต่ละประโยคมีแนวคิดเดียว
2. ไม่เขียนคําย่อ
3. การยกคําพูดผู้อื่นมากล่าวอ้างต้องเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยอ้างถึงคําพูดของแหล่งข่าว แต่เปลี่ยนคําสรรพนามเป็นบุรุษที่ 3
4. ศัพท์เฉพาะหรือคําอ่านยากต้องวงเล็บคําอ่านไว้
5. กรณีที่เป็นตัวเลขจํานวนมากต้องเขียนด้วยตัวหนังสือ

99.Moderator หมายถึงอะไร
(1) ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
(2) ผู้ดําเนินรายการอภิปราย
(3) ผู้บรรยาย
(4) ผู้กํากับรายการโทรทัศน์
ตอบ 2 หน้า 74 รายการอภิปราย (Discussion Programme) เป็นรายการพูดคุยกันเป็นหมู่คณะ โดยเนื้อหาเป็นเชิงแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง หรือสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีผู้ดําเนิน รายการอภิปราย (Moderator) เป็นผู้ควบคุมการอภิปรายให้อยู่ในประเด็น และสรุปประเด็น สําคัญ ๆ ให้ผู้ฟัง

100. Vox-pop หมายถึงอะไร
(1) การบรรยายโดยบันทึกเสียงล่วงหน้า
(2) เสียงประกอบ
(3) การบรรยายสด
(4) การสัมภาษณ์ประชาชนทั่วไป
ตอบ 4 หน้า 74 รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme) คือ รายการที่มีบุคคล 2 ฝ่าย โดยที่ ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ซักถามหรือผู้สัมภาษณ์ (Interviewer) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ (Interviewee) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1. รายการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ (Formal Interview)
2. รายการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informat Interview)
3. การสัมภาษณ์เสียงของประชาชนทั่วไป (Vox-pop)

MCS 2160 (MCS 2106) ภาษาเพื่อการสื่อสารมวลชน s/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2160 (MCS 2106) ภาษาเพื่อการสื่อสารมวลชน
คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1.ภาษา หมายถึงอะไร
(1) ความคิด
(2) สื่อ
(3) เครื่องมือการสื่อสาร
(4) สิ่งที่ใช้แทนความหมาย
ตอบ 4 หน้า 1 ภาษา ประกอบด้วย สัญญาณ (Signs) สัญลักษณ์ (Symbols) และกฎหรือปทัสถาน ทางสังคมที่เป็นเครื่องกําหนดแบบแผนวิธีการใช้สัญญาณหรือสัญลักษณ์ในภาษาเพื่อใช้ในการ สื่อความหมาย ดังนั้นภาษาจึงเป็นสิ่งที่ใช้แทนความหมาย (Meaning) และเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ ในการสื่อสารระหว่างกัน

2.การสื่อสาร หมายถึง การส่งสิ่งใดให้ผู้รับสาร
(1) วัตถุสิ่งของ
(2) ภาษา
(3) องค์ประกอบของการสื่อสาร
(4) ความหมาย
ตอบ 4หน้า 1 การสื่อสารเป็นการส่งผ่านและแลกเปลี่ยนความหมายระหว่างคน 2 ฝ่ายขึ้นไป โดยฝ่ายหนึ่งคือผู้ส่งสาร อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับสาร ซึ่งการส่งและรับความหมายระหว่างกัน จําเป็นต้องใช้เครื่องมือส่งความหมายออกไปให้ผู้รับสารรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส และต้องสามารถเข้าใจความหมายร่วมกันได้ ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

3. ข้อใดคือจุดมุ่งหมายของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
(1) การขจัดอุปสรรคของการสื่อสาร
(2) เทคโนโลยีการสื่อสาร
(3) การส่งข้อความไปถึงผู้รับ
(4) การเข้าใจความหมายร่วมกัน
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 2. ประกอบ

4.ความหมายจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบใดของการสื่อสาร
(1) การเข้ารหัสของผู้ส่งสาร
(2) การถอดรหัสของผู้ส่งสาร
(3) การเข้ารหัสของผู้รับสาร
(4) การถอดรหัสของผู้รับสาร
ตอบ 4 หน้า 7 – 8 (คําบรรยาย) การถอดรหัส (Decoding) หมายถึง การแปลหรือตีความสาร ให้เป็นความหมายสําหรับผู้รับสาร หรือการที่ผู้รับสารทําความเข้าใจความหมายของภาษา ดังนั้นความหมายจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการถอดรหัสของผู้รับสาร เช่น การที่นักศึกษาฟัง และคิดตามเพื่อพยายามทําความเข้าใจสิ่งที่อาจารย์กําลังบรรยาย ฯลฯ นอกจากนี้เครื่องยนต์ กลไกก็สามารถเป็นผู้ถอดรหัสได้ เช่น เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ

5. การที่ผู้ส่งสารจะสามารถใช้ภาษาได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอะไร
(1) สาร
(2) ช่องทางการสื่อสาร
(3) สนามแห่งประสบการณ์ของผู้ส่งสาร
(4) สนามแห่งประสบการณ์ของผู้รับสาร
ตอบ 3 หน้า 6, (คําบรรยาย) การที่ผู้ส่งสารจะสามารถใช้ภาษาได้ดีขนาดไหนก็จะขึ้นอยู่กับขอบเขต หรือสนามแห่งประสบการณ์ (Fields of Experience) ของผู้ส่งสารแต่ละคน โดยผู้ส่งสารจะ เข้ารหัสความหมายและเลือกใช้สัญญาณหรือสัญลักษณ์ที่อยู่ภายในสนามแห่งประสบการณ์ ของตน ส่วนผู้รับสารจะทําการถอดรหัสความหมายออกมาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับสนามแห่งประสบการณ์ของผู้รับสารเช่นกัน

6.“ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้แทนความหมาย” เป็นการมองภาษาตามแนวคิดใด
(1) วัตถุนิยม
(2) โครงสร้างนิยม
(3) บริโภคนิยม
(4) วัฒนธรรมนิยม
ตอบ 2 หน้า 2, (คําบรรยาย) แนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม (Structuralism) มองว่า ภาษาเป็นเครื่องมือ ที่ใช้แทนความหมาย และเป็นกรอบความคิดของมนุษย์ โดยภาษา คือ สิ่งที่วิวัฒนาการสืบต่อ กันมา ภาษาพูดและภาษาเขียนต่างมีโครงสร้างที่แน่นอน และปรากฏเป็นหน่วยย่อยที่สามารถ นํามาวิเคราะห์ได้ตามโครงสร้างของภาษา เช่น พยัญชนะ คํา พยางค์ ฯลฯ เมื่อนํามาประกอบ เข้าด้วยกันอย่างมีระบบ เรียกว่า ไวยากรณ์ ซึ่งเป็นตัวกําหนดหลักเกณฑ์หรือควบคุมการใช้ภาษา

7.“ภาษาไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้แทนความหมาย แต่ยังสร้างความหมายและความจริง”
เป็นการมองภาษาตามแนวคิดใด
(1) วัตถุนิยม
(2) โครงสร้างนิยม
(3) บริโภคนิยม
(4) วัฒนธรรมนิยม
ตอบ 4 หน้า 3 แนวคิดในเชิงวัฒนธรรมนิยม (Culturalism) มองว่า ภาษาไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว แต่มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นภาษาจึงไม่ได้เป็นเพียงการกําหนด คุณค่าหรือความหมายของสิ่งต่าง ๆ หรือความจริงที่อยู่รอบตัวเท่านั้น แต่ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดจาก การสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อก่อให้เกิดความคิดและนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ รวมไปถึง ภาษามีส่วนสร้างความหมาย สร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ และสร้างสรรค์ความจริงทางสังคม (Social Reality) หรือโลกทางสังคม (Social World)

8.“ลําไย” หมายถึง รําคาญ เป็นการใช้ภาษาในความหมายแบบใด
(1) Denotation
(2) Connotation
(3) Discourse
(4) Metaphor
ตอบ 2 หน้า 13, (คําบรรยาย) ภาษาประกอบด้วยความหมายใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความหมายโดยตรง (Denotation) หมายถึง ความหมายจากสัญลักษณ์ที่เด่นชัด ความหมายที่เชื่อมโยงกับสัตภาพอันเป็นสิ่งที่มีตัวตนอ้างถึงได้ หรือความหมายที่เจ้าของ ภาษารู้และใช้กันทั่วไป ดังนั้นจึงเป็นความหมายของคําตามที่ปรากฏในพจนานุกรม เช่น คําว่า “ลําไย” หมายถึง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ผลกลม รสหวาน เป็นต้น
2. ความหมายโดยนัย (Connotation) หมายถึง ความหมายเพิ่มเติมหรือความหมายรอง นอกเหนือจากความหมายโดยตรง ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับวัตถุน้อยกว่าความหมาย โดยตรง เช่น คําว่า “ลําไย” หมายถึง รําคาญ ซึ่งเป็นคําสแลงที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น

9.Social World หมายถึงอะไร
(1) โลกตามที่เป็นจริง
(2) สังคมโลก
(3) ความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคม
(4) โลกทางสังคม
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 7. ประกอบ

10. ข้อใดเป็นตัวอย่างของบริบททางกายภาพ
(1) ภูมิหลังของผู้ประพันธ์นวนิยาย
(2) แม่การะเกดในละครบุพเพสันนิวาส
(3) รถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์
(4) สาวพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์
ตอบ 4 หน้า 10, (คําบรรยาย) บริบทของการสื่อสารในมิติทางกายภาพ (The Physical Context) หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มองเห็นได้ในขณะที่การสื่อสารเกิดขึ้น ซึ่งจะมีอิทธิพลบางอย่างต่อ เนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่สื่อสาร เช่น สภาพแวดล้อมในห้องเรียน หอประชุม, การจัดแสดง แสง สี เสียง หรือสาวพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์, การจัดวางสินค้าหน้าร้านให้สวยงาม เป็นต้น

11. “ปทัสถานทางสังคมของทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร” เป็นบริบทของการสื่อสารในมิติใด
(1) กายภาพ
(2) วัฒนธรรม
(3) เวลา
(4) จิตวิทยาสังคม
ตอบ 2 หน้า 10, (คําบรรยาย) บริบทของการสื่อสารในมิติทางวัฒนธรรม (The Cultural Context) หมายถึง กฎหรือปทัสถานทางสังคมของทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร อันประกอบด้วย ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ อุดมการณ์ อัตลักษณ์ และแบบแผนวิถีการดําเนินชีวิตที่ถูกส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่ง มาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ในบางวัฒนธรรมอาจมองว่าเป็นการสุภาพที่จะต้องพูดกับคนแปลกหน้าแต่อีกวัฒนธรรมหนึ่งอาจเห็นว่าการพูดกับคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ฯลฯ

12. “ความสัมพันธ์ทางสถานภาพหรือฐานะชนชั้นของผู้ร่วมสื่อสาร” เป็นบริบทของการสื่อสารในมิติใด
(1) กายภาพ
(2) วัฒนธรรม
(3) เวลา
(4) จิตวิทยาสังคม
ตอบ 4 หน้า 10, (คําบรรยาย) บริบทของการสื่อสารในมิติทางด้านจิตวิทยาสังคม (The Social- psychological Context) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสถานภาพหรือฐานะชนชั้นของผู้ร่วม สื่อสาร บทบาท ตําแหน่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎกติกา ระเบียบวินัย เกมที่ทั้ง 2 ฝ่ายเล่น เช่น การที่นักการเมืองอภิปรายในสภา ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปตามสถานภาพของแต่ละฝ่ายและ เกมทางการเมือง เป็นต้น

13. ข้อใดคือบริบทความเป็นมาของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส
(1) วัดไชยวัฒนาราม
(2) เครื่องแต่งกายของการะเกด
(3) ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา
(4) นวนิยาย
ตอบ 3 (คําบรรยาย) บริบทของการสื่อสารในมิติทางด้านความเป็นมา (The Historical Context) หมายถึง ความเป็นมาก่อนหน้าของเรื่องที่สื่อสารกัน ซึ่งอาจเป็นประวัติศาสตร์ของเรื่องนั้น ๆ ประวัติความเป็นมาหรือภูมิหลังของแหล่งสารหรือผู้ส่งสาร เช่น บริบทความเป็นมาของละคร เรื่องบุพเพสันนิวาสก็คือ ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น

14. โครงสร้างของภาษา เช่น พยัญชนะ คํา พยางค์ ฯลฯ เมื่อนํามาประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีระบบ
เรียกว่าอะไร
(1) สาร
(2) ไวยากรณ์
(3) วัฒนธรรม
(4) โครงสร้าง
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 6. ประกอบ

15. การเขียนแบบ Sign Writing พัฒนาขึ้นโดยชนชาติใด
(1) สุเมเรียน
(2) ฟินิเซียน
(3) กรีก
(4) โรมัน
ตอบ 1 หน้า 19 ภาษาภาพ เป็นการใช้ระบบสัญลักษณ์เขียนเป็นสัญญาณ (Sign Writing) โดยที่แต่ละ สัญลักษณ์มีพื้นฐานมาจากรูปภาพที่เป็นตัวแทนสิ่งของ ซึ่งภาษาในลักษณะนี้ได้รับการพัฒนา ในอาณาจักรสุเมเรียน (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล เช่น ภาษาไฮโรกลิฟิก(Hieroglyphics) ของอียิปต์โบราณ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อประมาณ 2 – 3 ร้อยปี ภายหลังชาวสุเมเรียน ส่วนรูปแบบของภาษาภาพที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากที่สุด ได้แก่ ภาษาจีน ซึ่งเริ่มใช้เมื่อประมาณ 2,000 – 1,500 ปีก่อนคริสตกาล

16. การเขียนในระบบพยัญชนะริเริ่มโดยชนชาติใด
(1) สุเมเรียน
(2) ฟินิเซียน
(3) กรีก
(4) โรมัน
ตอบ 2 หน้า 19 กลุ่มของตัวอักษรที่เรียกว่า “พยัญชนะ” (Alphabet) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเสียง และนําเสียงมารวมกันเป็นคํา ถือกําเนิดขึ้นโดยชาวฟินิเซียน (The Phoenicians) เป็นชนชาติแรก ที่พัฒนาภาษาลักษณะนี้ หลังจากนั้นจึงพัฒนามาเป็นภาษากรีกโบราณที่มี 24 ตัวอักษร และ กลายเป็นต้นกําเนิดของตัวอักษรภาษาอื่น ๆ ในปัจจุบัน เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น

17. กูเตนเบิร์กพัฒนาระบบการพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นต้นแบบของระบบการพิมพ์แบบใด
(1) แบบพื้นนูน
(2) แบบพื้นราบ
(3) แบบร่องลึก
(4) แบบบล็อก
ตอบ 1 หน้า 22 (คําบรรยาย) โยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมัน เป็นผู้ที่คิดค้น และพัฒนาระบบการพิมพ์แบบกด (Printing Press) หรือระบบเล็ตเตอร์เพรส (Letter Press) ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้ตัวพิมพ์ทําด้วยโลหะแบบถอดเปลี่ยนได้ (Movable Type) และต่อมาเขาก็ได้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1453 หลังจากนั้นระบบการพิมพ์แบบใหม่นี้ ก็แพร่หลายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว

18. ตําราเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ในปัจจุบันใช้การพิมพ์ระบบใด
(1) แบบพื้นนูน
(2) แบบพื้นราบ
(3) แบบร่องลึก
(4) แบบบล็อก
ตอบ 2 (คําบรรยาย) ในปัจจุบันงานพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้การพิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing) ซึ่งเป็น ระบบการพิมพ์แบบพื้นราบที่ใช้หลักการน้ํากับน้ํามันไม่รวมตัวกัน โดยผิวของแม่พิมพ์ชนิดนี้จะ เสมอกันหมด ทําให้มีความสะดวกและคล่องตัวในการผลิต สามารถผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ สูงจนถึงสูงมาก เช่น ตําราเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร แผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ

19. ข้อใดที่ถือว่าเป็นรุ่งอรุณของการสื่อสารมวลชน
(1) การคิดค้นภาษาเขียน
(2) การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
(3) การพิมพ์
(4) การส่งวิทยุข้ามทวีป
ตอบ 3 หน้า 22 – 24 การคิดค้นระบบการพิมพ์ของโยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) ทําให้เกิดผลต่าง ๆ ตามมา ดังนี้
1. ทําให้มีการพัฒนาภาษาอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ในภาคพื้นยุโรป
2. มีบทบาทสําคัญในการเปลี่ยนแปลงศาสนาที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16
3. ช่วยเผยแพร่รายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้แพร่หลาย
4. ช่วยเผยแพร่ผลงานการสํารวจพบสิ่งใหม่ ๆ
5. ทําให้การศึกษาหาความรู้เจริญก้าวหน้าและเข้าถึงคนมากขึ้น
6. ทําให้เกิดการพัฒนาข่าวและการรายงานข่าว เพราะการสื่อสารมวลชนเกิดขึ้นได้จาก
กําเนิดของการพิมพ์ ดังนั้นการพิมพ์จึงถือว่าเป็นรุ่งอรุณของการสื่อสารมวลชน

20. ภาษาพูดและภาษาเขียน ช่วยให้มนุษย์พัฒนาการคิดลักษณะใด
(1) การคิดเชิงกายภาพ
(2) การคิดเป็นรูปธรรม
(3) การคิดเชิงมโนทัศน์
(4) การคิดเป็นตัวอักษร
ตอบ 3 หน้า 18 ภาษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ในยุคแรก เพราะ ภาษาพูดและภาษาเขียนช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) และทําให้มนุษย์สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังทําให้สามารถถ่ายทอด วัฒนธรรม และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้

21. หากจะเขียนข่าว ผู้เขียนต้องมีความรู้ระดับใดเป็นอย่างน้อย
(1) ระดับที่ 1
(2) ระดับที่ 2
(3) ระดับที่ 3
(4) ระดับที่ 4
ตอบ 2 หน้า 30 นักสื่อสารมวลชนต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าความรู้ที่ตนมีอยู่นั้นเพียงพอสําหรับ เรื่องราวที่จะสื่อสารหรือไม่ ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. หากต้องการเขียนข่าวรายงานเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ควรมีความรู้ (อย่างน้อย) ในระดับที่ 2 ก็เพียงพอ เนื่องจากการรายงานข่าวต้องรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มเติมข้อคิดเห็นของผู้เขียน
2. หากจะเขียนสารคดีเชิงข่าวเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิหลังหรือข้อมูลเจาะลึกของเรื่องนั้น ผู้เขียนต้องมีความรู้อย่างน้อยในระดับที่ 3
3. หากจะเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นมา สาเหตุ และพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ ที่จะตามมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผู้เขียนควรมีความรู้อย่างน้อยในระดับที่ 4
4. หากจะเขียนบทวิจารณ์ว่าการกระทําเกี่ยวกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ดีหรือไม่ดี ผู้เขียนควรมีความรู้ในระดับที่ 5

22. “ความสุขที่คุณดื่มได้” เป็นการใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายลักษณะใด
(1) ความหมายโดยอรรถ
(2) ความหมายโดยตรง
(3) ความหมายโดยนัย
(4) ความหมายเชิงวาทกรรม
ตอบ 4 หน้า 14, (คําบรรยาย) ความหมายเชิงวาทกรรม (Discourse Meaning) หมายถึง ความหมาย ที่คิดหรือประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ หรือให้ความสําคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน สังคม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อํานาจ หรือตัวตน เช่น ข้อความ “ความสุขที่คุณดื่มได้”หรือ “แค่ขาวก็ชนะ” เป็นความหมายเชิงวาทกรรมในการโฆษณา เป็นต้น

23. ในภาคพื้นยุโรป การพัฒนาภาษาอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากประดิษฐกรรมข้อใด
(1) การพูด
(2) การเขียน
(3) การพิมพ์
(4) บริบทของการสื่อสาร
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 19. ประกอบ

24. การพิจารณาว่าคํา ๆ หนึ่งใช้ในความหมายลักษณะใดนั้น พิจารณาจากอะไร
(1) พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์
(2) ผู้ส่งสาร
(3) ระดับเสียง
(4) การโฆษณา
ตอบ 4 หน้า 9 – 10, 13, (คําบรรยาย) ภาษาจะประกอบไปด้วยความหมายทั้งในลักษณะที่เป็น ความหมายโดยตรง (Denotation) และความหมายโดยนัย (Connotation) ซึ่งการที่เราจะ รู้ได้ว่าคํา ๆ หนึ่งใช้ในความหมายลักษณะใดนั้น จะต้องพิจารณาจากบริบทของการสื่อสาร (Communication Context) ซึ่งมีอิทธิพลกํากับความหมายที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ทําการสื่อสาร

25.แนวคิดวัฒนธรรมนิยม มองภาษาว่าอย่างไร
(1) ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อก่อให้เกิดความคิดและนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ (2) ภาษาเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว การใช้ภาษาต้องเป็นไปตามแบบแผน
(3) ภาษาเป็นสิ่งที่สังคมผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบความคิดและเป็นเครื่องมือสําหรับการบันทึกทางสังคม
(4) ภาษา คือ สิ่งที่วิวัฒนาการสืบต่อกันมา ภาษาพูดและภาษาเขียนต่างมีโครงสร้างที่แน่นอน
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 7. ประกอบ

26. K-POP เป็นตัวอย่างของอะไร
(1) Public Communication
(2) Propaganda
(3) Population.
(4) Popular Culture
ตอบ 4 หน้า 32, (คําบรรยาย) คําว่า “วัฒนธรรมประชานิยม” (Popular Culture) หรือเรียกว่า “วัฒนธรรมมวลชน” (Mass Culture) หมายถึง รูปแบบการดํารงชีวิตและสิ่งอันเป็นที่นิยม ชมชอบของคนต่างสังคม ต่างถิ่น ต่างฐานะ จะมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันหรือเหมือน ๆ กัน ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับความบันเทิง การกีฬา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลงสมัยใหม่ เช่น การนิยมวัฒนธรรมแบบ K-POP และ J-POP ของกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น

27. ข้อใดเป็นตัวอย่างภาษาเขียนระบบ Sign Writing
(1) ภาษาละติน
(2) ภาษากรีกโบราณ
(3) ภาษาอียิปต์โบราณ
(4) ภาษาพราหมี
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 15. ประกอบ

28. การโฆษณา เป็นการสื่อสารประเภทใด
(1) การสื่อสารการตลาด
(2) การสื่อสารองค์กร
(3) การสื่อสารสาธารณะ
(4) การสื่อสารมวลชน
ตอบ 4 หน้า 38 การโฆษณา เป็นกิจกรรมทางการสื่อสารมวลชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการโน้มน้าวใจ ผู้รับสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมในทิศทางที่ผู้โฆษณาต้องการ

29. “ผู้ส่งสารของการสื่อสารมวลชนมีลักษณะเป็นสถาบัน” หมายความว่าอย่างไร
(1) เป็นกลุ่มบุคคล
(2) เป็นผู้แทนองค์กรหรือสถาบัน
(3) เป็นสถาบันสังคม
(4) เป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
ตอบ 3 หน้า 25 – 26 ลักษณะของการสื่อสารมวลชน มีดังนี้
1. แหล่งสารหรือผู้ส่งสารมีลักษณะเป็นสถาบันที่สําคัญสถาบันหนึ่งในสังคม
2. ลักษณะของสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชนเป็นสารที่มีลักษณะเป็นสาธารณะ (Public) คือ
ทุกคนสามารถเข้าถึงสารนั้นได้
3. ผู้รับสารเป็นมวลชน (The Masses) หรือผู้รับชม – รับฟัง (Audience) จํานวนมาก คือ ผู้รับสารที่มีมากและไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง
4. กระบวนการสื่อสารมวลชนมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว
5. การสื่อสารมวลชนได้รับอิทธิพลจากบริบททางสังคม
6. ใช้สื่อมวลชน (Mass Media) เป็นช่องทางการสื่อสาร

30. “ลักษณะของสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชนเป็นสารที่มีลักษณะเป็นสาธารณะ (Public)”
หมายความว่าอย่างไร
(1) เป็นเรื่องราวที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
(2) ทุกคนสามารถเข้าถึงสารนั้นได้
(3) เป็นข่าวสารสําหรับองค์กร/สถาบัน
(4) เป็นสารที่ส่งออกมาจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 29. ประกอบ

31. “ผู้รับสาร คือ มวลชน (Mass)” หมายความว่าอย่างไร
(1) ผู้รับสารที่มีจํานวนมากและมีความสนใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
(2) ผู้รับสารจํานวนมากที่มีลักษณะร่วมกันบางประการ
(3) กลุ่มผู้รับสารที่มีลักษณะร่วมกันบางประการเป็นลักษณะที่ใช้อ้างอิง
(4) ผู้รับสารที่มีมากและไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 29. ประกอบ

32. การสื่อสารมวลชนมีลักษณะเป็นอย่างไร
(1) เป็นการสื่อสารสองทาง
(2) เป็นการสื่อสารทางเดียว
(3) เป็นการสื่อสารสองจังหวะ
(4) เป็นการสื่อสารเฉพาะเรื่อง
ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 29. ประกอบ

33. คนเขียนบทความและบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ทําหน้าที่ในข้อใด
(1) สอดส่องดูแลความเป็นไปในสังคม
(2) เป็นผู้มีความหมาย
(3) เชื่อมประสานส่วนต่าง ๆ ของสังคม
(4) ส่งผ่านค่านิยม
ตอบ 2 หน้า 27, (คําบรรยาย! บทบาทหน้าที่ในการตีความหมาย (Interpretation) คือ การนําเสนอ เรื่องราวที่ผ่านการตีความหมายโดยผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว และกองบรรณาธิการของสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้นําเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงและข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นการรายงานข่าวในลักษณะของการ เล่าเรื่องที่ผ่านการกลั่นกรองจากมุมมองของสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลจาก มุมมองที่หลากหลายและสามารถประเมินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เช่น การนําเสนอบทความ บทบรรณาธิการหรือบทนํา และบทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์, รายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์ ช่องต่าง ๆ เป็นต้น

34. บทบาทหน้าที่ในการสอดส่องดูแลความเป็นไปในสังคม (Surveillance) ได้แก่ข้อใด
(1) แจ้งข่าวสาร
(2) แสดงความคิดเห็น
(3) วิพากษ์วิจารณ์
(4) ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม
ตอบ 1 หน้า 27, (คําบรรยาย) บทบาทหน้าที่ในการสอดส่องดูแลความเป็นไปในสังคม (Surveillance) คือ การแจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเป็นไปในสังคม รวมไปถึงตรวจสอบการ ทํางานของรัฐบาลหรือฝ่ายปกครองที่คาดว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นสื่อมวลชนจึงเป็น เสมือนผู้ส่งสัญญาณเตือนภัยหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบในทางที่เป็นอันตราย ต่อสังคม เช่น การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

35. การโฆษณามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร
(1) การโน้มน้าวใจ
(2) แจ้งข่าวสาร
(3) การสร้างความเข้าใจ
(4) ให้ความบันเทิง
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 28. ประกอบ

36. กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้า มีลําดับขั้นตอนอย่างไร
(1) การเขียนข้อความโฆษณา การกําหนดสื่อ การลงโฆษณา การวัดปฏิกิริยาตอบสนอง
(2) การกําหนดตัวผู้โฆษณา การเขียนข้อความ การส่งสารผ่านสื่อ การประเมินผล
(3) การกําหนดกลุ่มเป้าหมาย แนะนําสินค้า เขียนข้อความโฆษณา นําเสนอซ้ำๆ
(4) การกําหนดกลุ่มเป้าหมาย กําหนดแนวคิดหลัก เขียนข้อความโฆษณา นําเสนอซ้ํา ๆ
ตอบ 4 หน้า 40 กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ
ซึ่งมีลําดับขั้นตอนเริ่มจากการกําหนดกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย
การกําหนดแนวคิดหลัก การสร้างสารโฆษณาหรือสร้างสรรค์ข้อความโฆษณา และนําเสนอ แนวคิดดังกล่าวซ้ำ ๆ ไปยังผู้บริโภคอย่างได้ผล

37. ข้อใดหมายถึงความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
(1) Personality
(2) Empathy
(3) Public Relations
(4) Stereotype.
ตอบ 2 หน้า 41 คุณสมบัติประการหนึ่งที่ผู้ใช้ภาษาโฆษณาควรจะมี คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เพราะการที่นักโฆษณา สามารถเข้าถึงจิตใจของกลุ่มเป้าหมายได้ ก็จะทําให้เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอะไร อะไรเป็นแรงจูงใจสําคัญในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย และควรสื่อสาร อย่างไรที่จะเข้าถึงจิตใจของคนเหล่านั้นได้

38. “Advertising Concept” หมายถึงอะไร
(1) ข้อความสําคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
(2) ข้อความสั้น ๆ ง่ายแก่การจดจําที่มักนําเสนอในชิ้นงานโฆษณาคู่กับชื่อสินค้า
(3) ข้อความพาดหัวที่ใช้ดึงดูดใจผู้อ่านให้สนใจชิ้นงานโฆษณา
(4) เพลงโฆษณาที่มีเนื้อร้อง
ตอบ 1 หน้า 41, 50, (คําบรรยาย) แนวคิดหลักที่ใช้ในการโฆษณา (Advertising Concept) หมายถึง ข้อความสําคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ผู้โฆษณานําเสนออย่างสร้างสรรค์เพื่อตรึงความสนใจ
ของผู้บริโภค โดยจะช่วยให้การสื่อสารมีความคมชัด ตรงประเด็น และสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับ สินค้าให้เกิดขึ้นในจิตใต้สํานึกของผู้บริโภค ซึ่งแนวคิดหลักของการโฆษณามักจะปรากฏอยู่ที่ คําขวัญโฆษณา ข้อความพาดหัว และเนื้อหา

39. เรื่องราวที่นําเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ มีส่วนสร้างความเป็นจริงลักษณะใด
(1) ตรงตามสภาพความจริง
(2) เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป
(3) เป็นภาพแบบฉบับตายตัว
(4) ไม่มีสไตล์เฉพาะตัว
ตอบ 3 หน้า 32 ผลจากการวิจัยของเกิร์บเนอร์ได้ให้ข้อสรุปว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏใน เนื้อหาข่าวสารของโทรทัศน์ทําหน้าที่เป็นตัวสร้างวัฒนธรรมร่วม (Common Culture) ของสมาชิกในสังคม โดยเรื่องราวที่นําเสนอผ่านรายการโทรทัศน์นั้นได้ผ่านการเลือกสรรมาเพียง บางส่วนเสี้ยวของโลก มีลักษณะเป็นภาพแบบฉบับตายตัว (Stereotyped) และเป็นภาพที่ บิดเบี้ยวไปจากโลกที่เป็นจริง โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมากในรายการประเภทละครโทรทัศน์

40. การที่สื่อมวลชนมีบทบาทในการสร้างกลุ่มสาธารณชน (Public Making) เป็นการทําหน้าที่ใด
(1) สอดส่องดูแลความเป็นไปในสังคม
(2) ตีความ
(3) เชื่อมประสานส่วนต่าง ๆ ของสังคม
(4) ส่งผ่านค่านิยม
ตอบ 3 หน้า 28 บทบาทหน้าที่ในการเชื่อมประสานส่วนต่าง ๆ ของสังคม คือ การเชื่อมส่วนต่าง ๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงให้เข้ามาเกี่ยวข้องกันได้โดยผ่านเวทีสาธารณะ (สื่อมวลชน)

ได้แก่ เชื่อมระหว่างประชาชนผู้ยากไร้ที่ขาดคนเหลียวแลกับผู้ใจบุญที่ประสงค์จะช่วยเหลือ ผู้อื่น เช่น การนําเสนอข่าวสภากาชาดไทยรับบริจาคโลหิตเนื่องจากขาดแคลนเลือด เป็นต้น นอกจากนี้สื่อมวลชนยังทําหน้าที่ในการเชื่อมประสานกลุ่มคนที่มีความสนใจอย่างเดียวกันซึ่งนักวิชาการบางท่านได้เรียกบทบาทหน้าที่ในด้านนี้ว่า “เป็นบทบาทหน้าที่ของการสร้าง กลุ่มสาธารณชน” (Public Making) เช่น กลุ่มสมาชิกรายการร่วมด้วยช่วยกัน เป็นต้น

41. การใช้ภาษาในการโฆษณาต้องคํานึงถึงอะไร
(1) จุดมุ่งหมายการโฆษณา
(2) สภาพการแข่งขัน
(3) งบประมาณการโฆษณา
(4) ระยะเวลาการโฆษณา
ตอบ 1 หน้า 40 – 41 การใช้ภาษาในการโฆษณาจะต้องคํานึงถึงจุดมุ่งหมายการโฆษณาแต่ละครั้งว่า เน้นการสร้างผลกระทบในด้านใด เช่น หากเป็นการโฆษณาที่มีจุดหมายเชิงพฤติกรรม ลักษณะ ของภาษาที่ใช้จะเป็นการเร่งเร้าให้เกิดการกระทํา เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ภาษาในการโฆษณา ยังต้องคํานึงถึงผู้รับสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยภาษาที่ใช้ต้องเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

42. การโฆษณาโดยให้ผู้ที่เคยใช้สินค้ามากล่าวยืนยันเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า ได้แก่ข้อใด
(1) Vignette
(2) Presenter
(3) Personality Symbol
(4) Testimonial
ตอบ 4 หน้า 44 ลีลาการอ้างพยาน (Testimonial) เป็นลีลาการนําเสนอโฆษณาโดยใช้บุคคลที่มี ประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้า หรือผู้ที่เคยใช้สินค้ามากล่าวยืนยันเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นําเอาผู้ที่เคยใช้สินค้ามากล่าวยืนยันถึงประสบการณ์ที่ได้รับหลังจากการใช้สินค้า เป็นต้น

43. ข้อความโฆษณาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
(1) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(2) แปลก ตลก ใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม
(3) สั้น เรียบง่าย ไม่ต้องคิดมาก
(4) การใช้เหตุผล
ตอบ 1 หน้า 48 ข้อความโฆษณาที่ดีควรชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้สินค้า
และเขียนขึ้นจากความเข้าใจถึงความต้องการและแรงจูงใจของผู้บริโภค โดยคํานึงถึงปัจจัย ทางด้านจิตวิทยาสังคมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ

44. เหตุใดโลกทางสังคมของเราแต่ละคนจึงแตกต่างกัน
(1) เพราะอยู่ต่างถิ่นต่างที่
(2) เพราะคนเราไม่เข้าใจกัน
(3) เพราะระบบการรับรู้แตกต่างกัน
(4) เพราะมีความสนใจแตกต่างกัน
ตอบ 3 หน้า 33 โลกทางสังคม (Social World) หรือความเป็นจริงทางสังคม (Social Reality) เป็นโลกที่เกิดจากการกล่อมเกลาของสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทํางาน ศาสนา สื่อมวลชน ฯลฯ ดังนั้นโลกทางสังคมของมนุษย์แต่ละคนจึงเป็นโลกที่เกิดขึ้นจาก สิ่งแวดล้อมเชิงสัญลักษณ์ที่แวดล้อมบุคคลเหล่านั้น หรือเป็นโลกที่เกิดจากการรับรู้ ทั้งนี้เพราะการที่แต่ละคนมีโลกทางสังคมแตกต่างกันก็เนื่องจากมีระบบการรับรู้ที่ต่างกัน

45. “ใหม่ จุดจบของรังแค กลิ่นซากุระสดชื่นยาวนาน” เป็นข้อความพาดหัวที่ใช้วิธีเขียนแบบใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 1 หน้า 47 การพาดหัวข่าว (News) คือ การเขียนข้อความพาดหัวโฆษณาที่ใช้วิธีการเขียนแบบ พาดหัวข่าว กล่าวคือ เป็นการสรุปสาระสําคัญ ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมากที่สุดในข้อความโฆษณา เช่น เน้นเรื่องความใหม่ ความแปลก ความสวยงาม ฯลฯ

46. “รสดีเมนูลาบ สูตรใหม่ ต้องลอง” เป็นข้อความพาดหัวที่ใช้วิธีเขียนแบบใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 45. ประกอบ

47. “เมื่อมีอาการแพ้ตามผิวหนัง ทาคาลาดริล” เป็นข้อความพาดหัวที่ใช้วิธีเขียนแบบใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 3 หน้า 47, (คําบรรยาย) การให้คําแนะนํา (Advice) หรือใช้คําสั่ง คือ การเขียนข้อความพาดหัว โฆษณาด้วยการแนะนําให้ผู้อ่านกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง และตามด้วยคํามั่นสัญญาเกี่ยวกับผลที่ ได้รับจากการทําตามคําแนะนํานั้น จึงเป็นวิธีที่ดึงดูดความสนใจได้ดี เพราะเป็นการเจาะจงลงไป ที่การป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคอาจจะประสบหรือกําลังประสบอยู่ ซึ่งบางครั้งอาจเขียน ในรูปของคําสั่งโดยมีคําว่า “อย่า/ห้าม/จง/ต้อง” เพื่อแสดงการสั่งไม่ให้ทําหรือสั่งให้ทําก็ได้

48. การโฆษณาของ Cute Press ชุดล่าสุดที่ญาญ่าเป็นพรีเซ็นเตอร์ ใช้ลีลานําเสนอข้อใด

(1) Life Style ตอบ 3
(2) The Musical
(3) Fantasy
(4) Testimonial
หน้า 44 ลีลาจินตนาการ (Fantasy) เป็นลีลาการนําเสนอโฆษณาที่เกิดจากจินตนาการ โดยใช้ ภาพที่เกิดจากเทคนิคสร้างสรรค์เพื่อแสดงถึงความคิด อุดมการณ์ ความมุ่งหวัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สินค้า บริการ หรือแนวคิดที่ผู้โฆษณาต้องการนําเสนอ เช่น โฆษณาของ Cute Press ชุดล่าสุด ที่ญาญ่าเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น

49.“สุดยอดความอร่อยระดับ 5 ดาว เต็มอิ่มในราคาเบา ๆ” เป็นตัวอย่างข้อความพาดหัวที่ใช้วิธีเขียนแบบใด (1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 2 หน้า 47 การกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ (Product Claim) คือ การเขียนข้อความ พาดหัวโฆษณาที่แสดงถึงข้อยืนยันเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้สินค้า ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ดี เพราะเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค และสิ่งสําคัญที่ควรคํานึงถึงก็คือ ข้อเสนอนั้นควรเป็นข้อเสนอที่เด่นชัดจริง ๆ และเชื่อถือได้ โดยข้อความโฆษณาส่วนอื่น ๆ ต้องให้ข้อมูลหลักฐานเพื่อพิสูจน์หรือสนับสนุนข้อเสนอนั้น ๆ

50. “ต้องซ่า ต้องกล้า ต้องโค้ก” เป็นตัวอย่างข้อความพาดหัวที่ใช้วิธีเขียนแบบใด
(1) พาดหัวข่าว
(2) บอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
(3) ให้คําแนะนํา
(4) ชวนให้สนใจใคร่รู้
ตอบ 3. ดูคําอธิบายข้อ 47. ประกอบ

51. “ที่รักคะ พริมต้องรีบออกไปทํางานก่อน คุณทานบัตเตอร์เค้กกับกาแฟที่พริมเตรียมไว้ให้ก่อนนะคะ”
ข้อความนี้ใช้วิธีการเขียนแบบใด
(1) เขียนแบบเขียนข่าวมุ่งขายสินค้าโดยตรง
(2) เล่าเรื่อง
(3) บทพูด
(4) มุ่งให้เกิดการกระทํา
ตอบ 3 หน้า 49 การใช้บทพูดหรือบทสนทนา เป็นวิธีเขียนข้อความโฆษณาส่วนเนื้อเรื่องในลักษณะ บทพูด ซึ่งอาจเป็นบทพูดของคนคนเดียว (Monologue) ที่พูดถึงความรู้สึกของเขาต่อสินค้าหรือ บริการ หรือเป็นบทสนทนา (Dialogue) ระหว่างคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่สนทนากันเกี่ยวกับ ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับจากการใช้สินค้า ดังนั้นวิธีนี้จึงมักใช้กับลีลาการโฆษณา แบบอ้างพยาน (Testimonial) โดยใช้บุคคลที่เคยใช้สินค้ามากล่าวยืนยันเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ

ข้อ 52 – 54. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) ข่าว
(2) บทความ
(3) สารคดี
(4) คอลัมน์

52. เนื้อหาประเภทใดเป็นการรายงานข้อเท็จจริงที่ใหม่ สด มีผลกระทบต่อสังคม เป็นความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ
ตอบ 1 หน้า 77, (คําบรรยาย) ข่าว (News) คือ การรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ประชาชน ได้รับทราบ โดยข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ใหม่ สด มีผลกระทบต่อ สังคม เป็นความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ ซึ่งประกอบด้วย ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการศึกษา ข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง ข่าวต่างประเทศ ฯลฯ

53. เนื้อหาประเภทใดเป็นการทําหน้าที่ในการตีความผ่านข้อเขียนประเภทแสดงความคิดเห็นในทํานองโต้แย้งแสดงเหตุผล
ตอบ 2 หน้า 78, (คําบรรยาย), (ดูคําอธิบายข้อ 33. ประกอบ) บทความ (Article) คือ ความเรียง ประเภทร้อยแก้วในหนังสือพิมพ์ที่นําเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชน ในวงกว้าง ในลักษณะข้อเขียนขนาดสั้น กระชับ และมีพื้นฐานอยู่บนการโต้แย้งแสดงเหตุผล ประกอบด้วย บทความกึ่งวิชาการ บทความประเภทปัญหาโต้แย้ง บทความเชิงสัมภาษณ์ ฯลฯ

54. เนื้อหาประเภทใดเป็นการนําเสนอสาระความรู้และถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรม
ตอน 3 หน้า 78, (คําบรรยาย) สารคดี (Feature) คือ ความเรียงประเภทร้อยแก้วในหนังสือพิมพ์ที่ เขียนขึ้นจากเรื่องจริง (Non-fiction) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการนําเสนอสาระความรู้ ถ่ายทอด ศิลปะและวัฒนธรรมแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

55. ข้อใดที่จัดเป็นข่าวประเภท Hard News
(1) ข่าวอาชญากรรม
(2) ข่าวอุบัติเหตุ
(3) ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ
(4) ข่าวการศึกษา
ตอบ 4 หน้า 76 – 77, 79 หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพ (Quality Newspaper) หมายถึง หนังสือพิมพ์ ที่นําเสนอข่าวสารข้อมูลที่มีสาระ ซึ่งผู้อ่านต้องใช้ความรู้ความคิดติดตามเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้น จึงจะเข้าใจ โดยข่าวที่นําเสนอจะมีลักษณะการใช้ภาษาเป็นภาษาระดับทางการ (เนื้อข่าวหน้าใน) และกึ่งทางการ (พาดหัวข่าว) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวหนัก (Hard News) เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการศึกษา ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

56. ข้อใดคือจุดมุ่งหมายหลักของหนังสือพิมพ์
(1) โฆษณา
(2) ให้ความบันเทิง
(3) การแจ้งข่าว
(4) การตีความ
ตอบ 3 หน้า 29, 77 หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการบอกข่าวหรือแจ้งข่าวสาร (To Inform) คือ การสื่อสารเพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปว่าใคร ทําอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทําไม และอย่างไร

57. ข้อใดเป็นหลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์
(1) ใช้สํานวนโวหาร
(2) ใช้วลีที่ดึงดูดใจ
(3) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ให้ความรู้สึกจริงใจ
(4) ใช้คําหรูหราฟังไพเราะ
ตอบ 3 หน้า 72 – 73 หลักการพื้นฐานสําหรับการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ มีดังนี้
1. ใช้ภาษาให้ถูกต้อง
2. ใช้รูปแบบการเขียนที่เหมาะสม
3. เรียงคําในประโยคอย่างเหมาะสม
4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกจริงใจ
5. เขียนด้วยประโยคสั้น ๆ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจง่าย
6. ใช้ภาษาที่สื่อความหมาย
7. เขียนด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์
8. ใช้ภาษาที่ปราศจากอคติ

58. คําว่า “Image” ในภาษาเพื่อการประชาสัมพันธ์ หมายถึงอะไร
(1) ภาพลักษณ์
(2) ภาพที่เกิดจากคําพูด
(3) ภาพโฆษณา
(4) ภาพ
ตอบ 1หน้า 58 – 59 ในบทที่ 5 เรื่องการใช้ภาษาในการประชาสัมพันธ์ คําว่า “Image” หมายถึง ภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ ซึ่งเป็นภาพในใจอันเกิดจากการได้รับข้อมูล ข่าวสาร หรืออาจเป็น ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ก่อตัวเป็นทัศนคติ ความเชื่อ และการให้คุณค่า (Value) ต่อสิ่งนั้น ดังนั้นองค์กรและสถาบันที่มีภาพลักษณ์ที่ดีย่อมมีคุณค่าในสายตาของสาธารณชน ซึ่งจะตรงกันข้ามกับองค์กรหรือสถาบันใด ๆ ที่มีภาพลักษณ์ไม่ดีมักจะถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับ การยอมรับจากสาธารณชน

59. คําว่า “Image” ในภาษาโทรทัศน์ หมายถึงอะไร
(1) ภาพลักษณ์
(2) ภาพที่เกิดจากคําพูด
(3) ภาพโฆษณา
(4) ภาพ
ตอบ 4 หน้า 106, 108 ในบทที่ 9 เรื่องการใช้ภาษาทางวิทยุโทรทัศน์ คําว่า “Image” หมายถึง ภาพ ซึ่งภาพที่ปรากฏทางจอโทรทัศน์จะเกิดจากภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพเรียงลําดับต่อเนื่องกัน จนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยภาพแต่ละภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์ เรียกว่า “ฮอต” (Shot) และเมื่อเรานําภาพแต่ละซอดมาลําดับให้ถูกช่วงถูกตอนตามที่ควรจะเป็นก็จะได้ลําดับเรื่องราวตามต้องการ

60. คําว่า “Editing” ในภาษาหนังสือพิมพ์ หมายถึงอะไร
(1) การตัดต่อ
(2) การตัดต่อลําดับภาพ
(3) บรรณาธิการ
(4) การบรรณาธิกรณ์
ตอบ 4 หน้า 76, 79, 106, 111 ในบทที่ 6 เรื่องภาษาหนังสือพิมพ์ คําว่า “Editing” จะหมายถึง การบรรณาธิกรณ์เพื่อปรับปรุงข่าวก่อนส่งพิมพ์ ส่วนในบทที่ 9 เรื่องการใช้ภาษาทางวิทยุ โทรทัศน์นั้น คําว่า “Editing” หมายถึง การตัดต่อลําดับภาพ ซึ่งสามารถทําได้ทั้งรายการ ที่บันทึกเทปและรายการที่ออกอากาศ โดยใช้อุปกรณ์ตัดต่อ (Editing Suite)

61.“เหะหะพาที โดยซูม” เป็นตัวอย่างเนื้อหาประเภทใดของหนังสือพิมพ์
(1) ข่าว
(2) บทความ
(3) สารคดี
(4) คอลัมน์
ตอบ 4 หน้า 78, 88 คอลัมน์ (Column) เป็นข้อเขียนหรือเนื้อหาที่ลงพิมพ์เป็นประจําในหนังสือพิมพ์ อาจเป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ความรู้ด้านสุขภาพอนามัย วิจารณ์กีฬา ภาพยนตร์ ดนตรี ข่าวสังคมซุบซิบ คอลัมน์เด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งรับผิดชอบ โดยคอลัมนิสต์ หรือนักเขียนประจําคอลัมน์ที่เป็นผู้กําหนดเนื้อหา เช่น “เหะหะพาที โดยซูม ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นคอลัมน์ที่เขียนแบบมีลีลาเฉพาะตัวและใช้สํานวนคมคาย เป็นต้น

62. ข้อใดเป็น Media Genre
(1) หนังสือพิมพ์
(2) นิตยสาร
(3) โทรทัศน์
(4) ข่าว
ตอบ 4 หน้า 80 ภาษาหนังสือพิมพ์จะปรากฏอยู่ในรูปแบบของการสื่อสาร (Media Genre) ในรูปของ ข่าว บทความ และสารคดีเป็นหลัก

63. ข่าวหนังสือพิมพ์ทําหน้าที่อะไร
(1) สอดส่องดูแลความเป็นไปในสังคม
(2) ตีความ
(3) สร้างกระแสประชามติ
(4) แสดงความคิดเห็น
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 34. ประกอบ

64. บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใช้ภาษาระดับลีลาใด
(1) ลีลาเยือกเย็น
(2) ลีลาทางการ
(3) ลีลาปรึกษาหารือ
(4) ลีลากันเอง
ตอบ 2 หน้า 15, 90, 92, (คําบรรยาย) ลีลาทางการ (Formal Style) เป็นลีลาของวัจนภาษาที่เป็น พิธีการน้อยกว่าลีลาเยือกเย็น แต่ก็ยังมีลักษณะเป็นแบบแผน และมุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นบุคคลใด เช่น ภาษาที่ใช้เขียนหนังสือราชการ หนังสือเรียน การเขียน บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ บทความทางวิชาการ บทวิเคราะห์ การปาฐกถา บรรยาย ฯลฯ

65. หนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวสารที่เน้นเรื่องราวที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน ได้แก่ หนังสือพิมพ์
ประเภทใด
(1) เชิงคุณภาพ
(2) เชิงปริมาณ
(3) แท็บลอยด์
(4) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
ตอบ 2 หน้า 77, 79 หนังสือพิมพ์เชิงปริมาณ (Popular Newspaper) หมายถึง หนังสือพิมพ์ที่ เสนอข่าวสารที่เน้นเรื่องราวที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน โดยข่าวที่นําเสนอจะมี ลักษณะการใช้ภาษาเป็นภาษาระดับกึ่งทางการและภาษาปาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเบา (Soft News) คือ ข่าวที่ผู้อ่านไม่ต้องใช้ความรู้และความคิดในการวิเคราะห์ก็สามารถเข้าใจ เรื่องราวได้ เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวชีวิตส่วนตัวของคนดัง เป็นต้น

66. หนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพ นําเสนอข่าวประเภทใด
(1) ข่าวหนัก
(2) ข่าวเบา
(3) ข่าวกีฬา
(4) ข่าวอาชญากรรม
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 55. ประกอบ

67. บทความประเภทใดที่ไม่อยู่ในหนังสือพิมพ์
(1) บทความวิชาการ
(2) บทความกึ่งวิชาการ
(3) บทความประเภทปัญหาโต้แย้ง
(4) บทความเชิงสัมภาษณ์
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 53. ประกอบ

68. การเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เขียนในรูปแบบใด
(1) พีระมิดหัวตั้ง
(2) พีระมิดหัวกลับ
(3) แบบผสม
(4) แบบสารคดีเชิงข่าว
ตอบ 2 หน้า 80, (คําบรรยาย) รูปแบบการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ มีดังนี้
1. แบบพีระมิดหัวกลับ (Inverted Pyramid) คือ การเสนอประเด็นสําคัญของข่าวก่อน รายละเอียด ถือเป็นรูปแบบที่นิยมใช้มากกว่าร้อยละ 85 – 90 ในการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์
2. แบบพีระมิดหัวตั้ง (Upright Pyramid) คือ การเสนอรายละเอียดของข่าวก่อน ประเด็นสําคัญ นิยมใช้ในการเขียนบทความ บทบรรณาธิการ สารคดีเชิงข่าว ฯลฯ
3. แบบผสม (Combination) คือ การเสนอประเด็นสําคัญทั้งในตอนต้นและตอนท้าย มักใช้ในการเขียนชาวประชาสัมพันธ์

69.การเขียนข่าวแบบผสม เหมาะสําหรับข่าวประเภทใด
(1) ข่าวหน้าหนึ่ง
(2) ข่าวอาชญากรรม
(3) ข่าวการเมือง
(4) ข่าวประชาสัมพันธ์
ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 68. ประกอบ

70. ข้อใดเป็นหลักการจัดลําดับความสําคัญของเนื้อข่าว
(1) เขียนตามลําดับเหตุการณ์
(2) เขียนตามลําดับความเป็นจริง
(3) เขียนสิ่งที่สําคัญที่สุดก่อน
(4) เขียนสิ่งที่สําคัญน้อยที่สุดก่อน
ตอบ 3 หน้า 80 หลักการจัดลําดับความสําคัญของเนื้อข่าว คือ การเขียนสิ่งที่สําคัญที่สุดก่อนไปหา ที่สําคัญน้อย ซึ่งจะสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการรู้สิ่งใหม่ หรือประเด็นสําคัญที่สุด ของเรื่องก่อนที่จะรู้รายละเอียดที่สําคัญน้อยลงไป ดังนั้นจึงตรงกับการเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับ (ดูคําอธิบายข้อ 68. ประกอบ)

71. “ส่วนที่บอกใจความสําคัญที่สุดของข่าว ใช้ภาษาปาก ใช้คําให้สีสัน ละประธานของประโยค ตัดคําสั้น ใช้คําย่อ” เป็นคําอธิบายการใช้ภาษาในส่วนใดของข่าวหนังสือพิมพ์
(1) พาดหัวข่าว
(2) วรรคนา
(3) เนื้อเรื่อง
(4) ส่วนสรุป
ตอบ 1 หน้า 80 – 82 พาดหัวข่าว (Headline) คือ การนําประเด็นหรือใจความสําคัญที่สุดของข่าว มาพาดหัว เพื่อบอกให้ผู้อ่านได้ทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในวันนั้น ซึ่งลักษณะของ การใช้ภาษาพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ มีดังนี้
1. การตัดคําให้สั้นลง
2. การละประธานของประโยค
3. ใช้คํากริยาที่มีชีวิตชีวา หรือใช้คําที่สร้างสีสัน (Vivid)
4. การใช้คําย่อ
5. ใช้คําสแลง คําภาษาปากหรือภาษาตลาด ฯลฯ

72.รายการสาระละคร เป็นรายการที่มีจุดมุ่งหมายอะไร
(1) ให้ข่าวสารและความบันเทิง
(2) ให้ความรู้
(3) ให้ข่าวสารและความรู้
(4) ให้ความรู้และความบันเทิง
ตอบ 4 หน้า 98 รายการสาระละคร (Docu-drama) คือ รายการที่มุ่งให้ความรู้และความบันเทิง ไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้รูปแบบของละครผสมกับสารคดี กล่าวคือ ส่วนที่ทําเป็นรูปแบบละครก็เพื่อให้เข้าใจง่าย เกิดภาพตามไปได้ชัดเจน และเกิดความเพลิดเพลิน ส่วนที่เป็นสารคดีก็มัก เป็นส่วนที่มุ่งในเชิงวิชาการ

73. การใช้ภาษาหนังสือพิมพ์มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอะไร
(1) ขนาดของหนังสือพิมพ์
(2) องค์ประกอบของข่าว
(3) สไตล์ของผู้เขียน
(4) ประเภทของเนื้อหา
ตอบ 4 หน้า 78 – 79, (คําบรรยาย) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ
ซึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป มีดังนี้
1. ประเภทเนื้อหาของหนังสือพิมพ์
2. กําหนดระยะเวลาการออกเผยแพร่
3. คุณภาพเนื้อหาและการแข่งขันกันดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน

ข้อ 74 – 76. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Straight Talk
(2) Conversational Programme
(3) Interview Programme
(4) Commentary on the Spot

74. รายการรูปแบบใดที่ผู้ดําเนินรายการพูดคุยกับผู้ฟังรายการ
ตอบ 1หน้า 96 รายการพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรง (Straight Talk) คือ รายการวิทยุที่มีผู้ดําเนินรายการ หรือผู้ประกาศเป็นผู้พูดเพียงคนเดียว ในลักษณะพูดคุยกับผู้ฟังรายการโดยตรง ทั้งนี้ผู้ดําเนิน รายการจะต้องพูดเสมือนคุยกับผู้ฟัง และต้องไม่ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นการอ่านบท

75. รายการรูปแบบใดที่หมายถึงการบรรยายถ่ายทอดสด ณ ที่เกิดเหตุ
ตอบ 4 หน้า 97 รายการบรรยายถ่ายทอดเหตุการณ์ ณ ที่เกิดเหตุ (Commentary on the Spot) คือ รายการวิทยุที่บรรยายถ่ายทอดสด ณ ที่เกิดเหตุ ในขณะที่กําลังเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ อยู่ โดยผู้บรรยายจะทําหน้าที่รายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ฟังสามารถนึกเป็นภาพตามไปด้วย เช่น การบรรยายถ่ายทอดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

76. รายการรูปแบบใดที่ผู้ดําเนินรายการพูดน้อยกว่าผู้ร่วมรายการ
ตอบ 2 หน้า 96, (คําบรรยาย) รายการสนทนา (Conversational Programme) คือ รายการวิทยุที่ พูดคุยหรือสนทนาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างผู้ดําเนินรายการหรือผู้จัดรายการสนทนา (Host) กับผู้ร่วมรายการหรือแขกรับเชิญ (Guest) ให้ผู้ฟังทางบ้านฟัง ซึ่งมีข้อควรระวังก็คือ ผู้ดําเนินรายการจะต้องพูดน้อยกว่าผู้ร่วมรายการ โดยทําหน้าที่เพียงเป็นคนกล่าวเปิดรายการ นําเข้าสู่ประเด็น แนะนําผู้ร่วมสนทนา พูดเชื่อมโยงให้การสนทนาอยู่ในประเด็น และคอยสรุป ใจความสําคัญของการสนทนาอีกครั้งหนึ่ง

77. “ใช้ภาษาสื่อความหมาย ให้ภาพพจน์” คําว่า “ภาพพจน์” ในที่นี้หมายถึงอะไร
(1) ภาพลักษณ์
(2) ภาพประทับใจ
(3) ภาพที่เกิดจากคําพูด
(4) ภาพที่เกิดจากการประชาสัมพันธ์
ตอบ 3หน้า 104 ภาษาที่ใช้ทางวิทยุกระจายเสียงต้องเป็นภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน ทําให้ผู้ฟัง เกิดภาพพจน์ (Figure of Speech) ซึ่งในที่นี้หมายถึง ภาพที่เกิดจากคําพูด โดยต้องเป็นภาษา ที่เหมาะสมกับเนื้อหา รูปแบบรายการ และเหมาะสมกับผู้ฟัง เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และต้อง เป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน

78. การใช้ภาษาวิทยุกระจายเสียง ลีลาและจังหวะความเร็วในการพูด/อ่าน ขึ้นอยู่กับอะไร
(1) คลื่นความถี่
(2) ประเภทและรูปแบบรายการ
(3) กลุ่มผู้ฟัง
(4) นโยบายของทางสถานี
ตอบ 2 หน้า 99 ความเร็วในการอ่านบทหรือการพูดทางวิทยุกระจายเสียงจะขึ้นอยู่กับประเภทและ รูปแบบรายการ ดังนี้
1. การอ่านข่าว ต้องอ่านคล่องแคล่วทันใจ ไม่จําเป็นต้องทอดจังหวะ
2. การอ่านบทความหรือสารคดี ต้องมีจังหวะจะโคน เน้นคํา เน้นความมากกว่าการอ่านข่าว
3. การอ่านคําประกาศและโฆษณา จะต้องอ่านเร็ว มีการเน้นย้ํา ลงน้ําหนักคํา ฯลฯ

79. สื่อมวลชนประเภทใดที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว
(1) หนังสือพิมพ์
(2) นิตยสาร
(3) วิทยุกระจายเสียง
(4) วิทยุโทรทัศน์
ตอบ 3 (คําบรรยาย) วิทยุกระจายเสียง ถือเป็นสื่อมวลชนที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ทั้งนี้เพราะวิทยุ มีราคาถูก ทําให้ทุกคนสามารถมีวิทยุเป็นสื่อส่วนตัว และเปิดรับฟังรายการตามที่แต่ละคนสนใจ ในเวลาใดก็ได้

80. การเปล่งเสียงเป็นธรรมชาติ หมายถึงอะไร
(1) การพูดโดยไม่มีบท
(2) การพูดตามธรรมชาติของแต่ละคน
(3) การพูดโดยใช้เสียงแท้
(4) การพูดเหมือนแสดงละคร
ตอบ 3 หน้า 99 – 100 หลักการพูดหรืออ่านทางวิทยุกระจายเสียงประการหนึ่ง คือ
ต้องมีการเปล่งเสียงที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่
1. เป็นเสียงพูดที่แสดงความมั่นใจ ไม่ตะกุกตะกัก
2. เป็นเสียงที่ฟังรื่นหู ไม่แข็งกระด้างหรือเน้นเสียงจนเกินไป
3. เป็นเสียงแท้ของผู้อ่าน โดยฝึกการเปล่งเสียงจากช่องท้อง ไม่ควรตัดเสียงหรือบีบเค้นเสียง แต่ควรมีน้ำหนักเสียงสูง – ต่ําตามธรรมชาติ
4. ในกรณีที่เป็นการอ่านบท ผู้อ่านต้องเข้าใจและตีบทให้แตกก่อนอ่าน

81. ข้อใดเป็นแนวปฏิบัติของการรายงานข่าววิทยุ ณ สถานที่เกิดเหตุ
(1) รายงานด้วยอาการตื่นเต้นเหมือนเป็นผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง
(2) รายงานข้อเท็จจริงที่คนฟังอยากรู้ว่าใคร ทําอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทําไม อย่างไร
(3) การนําเหตุการณ์ที่เป็นข่าวมาวิพากษ์วิจารณ์ หรืออธิบายตามความคิดเห็นของนักข่าว
(4) บรรยายเหตุการณ์ตามสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างจนผู้ฟังเห็นเป็นภาพ
ตอบ 2 หน้า 97 การรายงานข่าววิทยุ (News Reporting) คือ การรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ในสถานที่เกิดเหตุ โดยเป็นการรายงานข้อเท็จจริงของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ใคร ทําอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทําไม และอย่างไร

ข้อ 82 – 84. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Host
(2) Interviewer
(3) Announcer
(4) Interviewee

82. ข้อใดหมายถึงผู้จัดรายการสนทนา
ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 76. ประกอบ

83. ข้อใดหมายถึงผู้ประกาศหรืออ่านข่าว
ตอบ 3 หน้า 107, (คําบรรยาย) Announcer หมายถึง ผู้ประกาศ ผู้อ่าน หรือโฆษก มีหน้าที่อ่าน หรือประกาศข่าวสารเพื่อถ่ายทอดไปยังผู้ชม ผู้ฟัง ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ประกาศจะต้องมีพื้นฐานการศึกษา ประสบการณ์ และการฝึกฝนมาอย่างดี

84. ข้อใดหมายถึงผู้สัมภาษณ์
ตอบ 2 หน้า 96 รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme) คือ รายการที่มีบุคคล 2 ฝ่าย โดยที่ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซักถามหรือผู้สัมภาษณ์ (Interviewer) และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ (Interviewee) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1. รายการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ (Format Interview)
2. รายการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Interview)
3. การสัมภาษณ์เสียงของประชาชนทั่วไป (Vox-pop)

85. หากต้องการถ่ายภาพทิวทัศน์ ควรใช้ภาพขนาดใด
(1) MS
(2) MLS
(3) LS
(4) ELS
ตอบ 4 4 หน้า 109, (คําบรรยาย) ภาพระยะไกลมาก (Extreme Long Shot : ELS) เป็นการถ่ายภาพ ในระยะไกลมาก ได้แก่ ภาพวิว หรือภาพทิวทัศน์ที่แสดงทัศนียภาพขององค์ประกอบทั้งหมด
เช่น การถ่ายทํารายการสารคดีท่องเที่ยว เป็นต้น

86. ข้อใดหมายถึงบทพูดสําหรับพูดคนเดียว
(1) Narration
(2) Announcement
(3) Monologue
(4) Dialogue
ตอบ 3 หน้า 106, (คําบรรยาย), (ดูคําอธิบายข้อ 51. ประกอบ) คําสนทนามีอยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้
1. Monologue คือ คําสนทนาที่เป็นบทพูดของผู้พูดเพียงคนเดียวในลักษณะที่เป็นการสื่อสาร กับผู้ชมรายการโดยตรง
2. Dialogue คือ คําสนทนาที่เป็นบทพูดโต้ตอบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบใน รายการสัมภาษณ์ ละครโทรทัศน์ ฯลฯ

87. ภาพแต่ละภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์ เรียกว่าอะไร
(1) Frame
(2) Iriage
(3) Shot
(4) Photo
ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 59. ประกอบ

88. ข้อใดหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระยะของภาพโดยการเปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์
(1) Zoom
(2) Dolly
(3) Boom
(4) Pan
ตอบ 1 หน้า 113, (คําบรรยาย) ซูม (Zoom) หมายถึง เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องโดยการเปลี่ยน ความยาวโฟกัสของเลนส์ซูมให้ยาวขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงระยะของภาพให้วัตถุที่ถ่ายดูใกล้เข้ามา ทําให้ได้ภาพโตขึ้นตามลําดับ (Zoom In) หรือเปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์ซูมให้สั้นเข้า เพื่อเปลี่ยนแปลงระยะของภาพให้วัตถุที่ถ่ายดูห่างไกลออกไป ทําให้ได้ภาพเล็กลงตามลําดับ (Zoom Out)

89.Knees Shot หมายถึงภาพขนาดใด
(1) MS
(2) MLS
(3) LS
(4) ELS
ตอบ 2 หน้า 109 ภาพระยะปานกลางค่อนข้างไกล (Medium Long Shot : MLS) เป็นภาพถ่าย ในระยะที่เห็นรายละเอียดของจุดเด่นในภาพไม่มากนัก แต่จะเห็นองค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพ มากขึ้น ซึ่งหากเป็นการถ่ายภาพบุคคลก็จะเห็นในระดับหัวเข่า ดังนั้นบางครั้งจึงมีการเรียก ภาพระยะนี้ว่า Knees Shot

90. การซ้อนภาพคําบรรยายชื่อและตําแหน่งบุคคล หมายถึงข้อใด
(1) Title
(2) Superimpose
(3) Split Screen
(4) Freeze Frame
ตอบ 2 หน้า 106 – 107, 114, (คําบรรยาย) ซูเปอร์อิมโพส (Superimpose) คือ เทคนิคการใช้ ตัวหนังสือหรือภาพ ๆ หนึ่งซ้อนทับลงบนอีกภาพหนึ่ง ซึ่งมักใช้ในการทําคําบรรยายที่เป็น ตัวอักษรซ้อนลงบนภาพที่อยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหว ได้แก่
1. การทําไตเติ้ลรายการ คือ คําบรรยายที่บอกชื่อรายการ ชื่อผู้แสดงหรือผู้ที่ร่วมรายการ ผู้กํากับรายการ ช่างกล้อง ช่างแสง ฯลฯ โดยมักใช้ตอนเริ่มรายการและตอนจบรายการ
2. Sub-title คือ คําบรรยายสั้น ๆ ที่บอกชื่อและตําแหน่งบุคคลในรายการโทรทัศน์ โดยใช้ ตัวอักษรวิ่งสีขาวที่ด้านล่างของจอ หรือใช้ตัวอักษรซ้อนลงบนภาพ มักใช้ในรายการข่าว สนทนา สัมภาษณ์ อภิปราย หรือภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีคําบรรยายภาษาไทย

91. ขณะที่ถ่ายทําละครนอกสถานที่ แผ่นโฟมที่วางรับแสงอาทิตย์สะท้อนเข้าสู่ผู้แสดง ทําหน้าที่แทนอะไร
(1) แสงไฟหลัก
(2) ไฟลบเงา
(3) ไฟส่องฉากหลัง
(4) แผ่นกรองแสง
ตอบ 2 หน้า 115 ในขณะที่ถ่ายทําละครนอกสถานที่ หากถ่ายภาพช่วงเที่ยงตรง แสงจากดวงอาทิตย์ จะส่องเหนือศีรษะของผู้แสดง ทําให้ดูนัยน์ตาของผู้แสดงลึกโบ๋ ดังนั้นหากถ่ายทําในช่วงเวลา ดังกล่าวจึงควรใช้แผ่นโฟมสะท้อนแสง (Reflex) เพื่อทําหน้าที่แทนแสงไฟลบเงา (Fill Light)ในห้องส่งโทรทัศน์

92. หากต้องการนําเสนอภาพทิวทัศน์โดยให้ผู้ชมได้ชื่นชมทิวทัศน์ในมุมกว้าง โดยการหันกล้องซึ่งติดตั้ง อยู่บนเครนจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้าย เป็นการใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องข้อใด
(1) แพน
(2) ดอลลี่
(3) ทังค์
(4) บูม
ตอบ 3 หน้า 112 ทั้งค์ (Tongue) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องโดยการหันกล้องซึ่งติดตั้งอยู่บน ปั้นจั่นหรือบนเครนจากซ้ายไปขวา หรือขวามาซ้าย ในขณะที่ระดับสูงต่ําของกล้องยังอยู่ใน ระดับเติมเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพในมุมกว้างได้มากขึ้น

ข้อ 93 – 95. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) Cut
(2) Wipe
(3) Freeze Frame
(4) Split Screen

93. ข้อใดเป็นเทคนิคการหยุดภาพไว้ให้ผู้ชมได้เห็นเป็นภาพนิ่ง
ตอบ 3 หน้า 114, (คําบรรยาย) ฟรีซเฟรม (Freeze Frame) คือ เทคนิคการหยุดภาพหรือแช่ภาพไว้ ให้ผู้ชมได้เห็นภาพนั้นนิ่ง ๆ อยู่ชั่วขณะหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะใช้ในฉากจบของละครโทรทัศน์ ในแต่ละตอน ก่อนที่ไตเติ้ลตอนจบจะขึ้น
94. ข้อใดเป็นวิธีการลําดับภาพที่รวดเร็วและง่ายที่สุด
ตอบ 1 หน้า 114 การคัด (Cut) คือ การตัดภาพจากกล้องหนึ่งไปยังอีกกล้องหนึ่ง ซึ่งถือเป็นวิธีการ ลําดับภาพที่รวดเร็วและง่ายที่สุด

95. ข้อใดเป็นเทคนิคที่นํามาใช้เมื่อต้องการเสนอภาพการถ่ายทอดฟุตบอลพร้อมกับโฆษณา
ตอบ 4 หน้า 114 สปลิตสกรีน (Split Screen) คือ เทคนิคการแบ่งกรอบภาพ (Frame) ให้ออกเป็น ส่วน ๆ เพื่อนําเสนอภาพหลาย ๆ ภาพลงในหน้าจอเดียวกัน เช่น การเสนอภาพถ่ายทอดสด ฟุตบอลและโฆษณาไปพร้อม ๆ กัน เป็นต้น

ข้อ 96. – 98.
จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม
(1) ทังค์
(2) บูม
(3) ทิลท์
(4) อาร์ค

96. ข้อใดหมายถึงเทคนิคการเคลื่อนกล้องเป็นแนวโค้งรอบตัวผู้แสดง
ตอบ 4 หน้า 113, (คําบรรยาย) อาร์ค (Arc) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องอย่างช้าในแบบเดียวกับ ดอลลี่ (Dolly) แต่เป็นการเคลื่อนกล้องเป็นแนวโค้งในลักษณะครึ่งวงกลม ทั้งนี้เพื่อนําเสนอ ภาพเคลื่อนไหวรอบตัวผู้แสดง

97. ข้อใดหมายถึงเทคนิคการเคลื่อนกล้องขึ้น – ลงบนเครน
ตอม 2 หน้า 112, (คําบรรยาย) บูม (Boom) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องขึ้น – ลงในแนวตั้งบน ฐานกล้องแบบปั้นจั่นหรือกล้องอยู่บนเครน ซึ่งจะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนมุมกล้องให้สูงหรือต่ํา

98. ข้อใดหมายถึงเทคนิคการเงยหรือก้มกล้องในแนวตั้ง
ตอบ 3 หน้า 112, (คําบรรยาย) ทิลท์ (Tilt) คือ เทคนิคการเคลื่อนไหวกล้องโดยการเงยกล้อง (Titt Up) หรือก้มกล้อง (Tilt Down) ในลักษณะแนวตั้ง เพื่อให้ผู้ชมสามารถเห็นภาพมุมสูงและภาพมุมต่ํา ได้มากขึ้น เช่น การนําเสนอภาพตึกสูงในแนวตั้งโดยการเงยกล้อง (Tilt Up) เพื่อให้ผู้ชมได้เห็น ภาพของตึกไล่ขึ้นไปจนถึงยอดตึก เป็นต้น

99.Commentator หมายถึงอะไร
(1) ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
(2) ผู้อ่านบทโฆษณา
(3) ผู้บรรยาย
(4) ผู้กํากับรายการโทรทัศน์
ตอบ 3 หน้า 97, (คําบรรยาย) Commentator หมายถึง ผู้บรรยาย ผู้วิเคราะห์ หรือผู้วิจารณ์ใน รายการวิจารณ์ข่าว (News Commentary) มีหน้าที่หยิบยกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของ สังคมขึ้นมาอธิบาย วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็น บางรายการอาจเปิดโอกาสให้ผู้ฟัง ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

100. Run-down Sheet ควรใช้สําหรับรายการประเภทใด
(1) ข่าว
(2) บทความ
(3) สารคดี
(4) เพลง
ตอบ 4 หน้า 105, (คําบรรยาย) การเขียนบทวิทยุกระจายเสียงมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. บทที่วางโครงร่างคร่าว ๆ (Run-down Sheet) คือ บทที่ร่างลําดับเนื้อหาหรือลําดับ ในการทํางานไว้สําหรับผู้ร่วมงาน ซึ่งมักใช้กับรายการเพลง
2. บทกึ่งสมบูรณ์ (Semi Script) คือ บทที่มีรายละเอียดสมบูรณ์ในบางส่วนและละเอาไว้ บางส่วน มักใช้กับรายการสัมภาษณ์ สนทนา ฯลฯ
3. บทสมบูรณ์ (Complete Script) คือ บทที่มีรายละเอียดทุกอย่างกําหนดไว้ชัดเจน มักใช้กับรายการละครวิทยุ ข่าว บทความ สปอตโฆษณา ฯลฯ

WordPress Ads
error: Content is protected !!