LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ศาลจังหวัดอุดรธานีสั่งรับประทับฟ้องและให้ ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยระหว่างส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยนายหนึ่งและนายสององค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้เห็นว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจศาลแขวงอุดรธานี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงอุดรธานี คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาล ดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาทนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้นําคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี และศาลจังหวัดอุดรธานี มีคําสั่งรับประทับฟ้องแล้ว กรณีเช่นนี้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดให้ศาลจังหวัด อุดรธานีพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ ดังนั้น การที่นายหนึ่งและนายสอง องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอํานาจศาลแขวงอุดรธานี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงอุดรธานี คําสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งโอนคดีของนายหนึ่งและนายสององค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายธงชัยต้องการฟ้องนางสาวขวัญจิตตามสัญญากู้ยืมเงิน 3 ฉบับที่ทําไว้กับตน โดยระบุฉบับละ 300,000 บาท กรณีนี้ให้ท่านให้คําปรึกษานายธงชัยว่าจะต้องนําเอาสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวไปฟ้องที่ศาลใด หากคดีนี้อยู่ในเขตอํานาจของศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธงชัยต้องการฟ้องนางสาวขวัญจิตตามสัญญากู้ยืมเงิน 3 ฉบับที่ทําไว้ กับตน โดยระบุฉบับละ 300,000 บาทนั้น เมื่อคดีที่นายธงชัยจะฟ้องเป็นคดีที่มีโจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียว ในสัญญากู้ 3 ฉบับ กรณีนี้ให้รวมสัญญากู้ทุกฉบับเข้าด้วยกันและฟ้องเป็นคดีเดียวได้ ดังนั้น เมื่อรวมทุนทรัพย์ ทั้งหมดแล้วจึงมีทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท คดีนี้จึงนําไปฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือไม่ได้ ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 จะต้องนําคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลแพ่งเท่านั้น ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายธงชัยว่า ให้นําสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 3 ฉบับ ไปฟ้องที่ศาลแพ่ง เพราะศาลแขวงพระนครเหนือไม่มีอํานาจรับฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการฟ้องจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ต่อศาลจังหวัด นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด
ได้จ่ายสํานวนคดีให้นายแดงผู้พิพากษาอาวุโสและนายขาวผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะ ร่วมกัน ในระหว่างสืบพยาน นายแดงตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และลาป่วยเพื่อเข้ารับการ รักษาทันที นายม่วงจึงมอบหมายให้นางส้มผู้พิพากษาศาลจังหวัดนั่งพิจารณาคดีร่วมกับนายขาวในคดีดังกล่าวแทน

ให้วินิจฉัยว่า การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน
และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา
ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ
ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ต่อศาลจังหวัด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง สองแสนบาท) จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 26

การที่นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้จ่ายสํานวนคดีให้นายแดงผู้พิพากษาอาวุโสและ นายขาวผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกันนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างสืบพยาน นายแดงตรวจพบว่า
ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และลาป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาทันที ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ในระหว่างพิจารณาคดี ทําให้นายแดงผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนั้นไม่อาจนั่งพิจารณาคดีนั้นต่อไปได้ตาม มาตรา 30 ดังนั้น ผู้พิพากษาที่มีอํานาจนั่งพิจารณาคดีนี้แทน คือนายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษา ในศาลชั้นต้นของศาลนั้นที่ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตามมาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 30

การที่นายม่วงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้มอบหมายให้นางส้มผู้พิพากษาศาลจังหวัด นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนายขาวในคดีดังกล่าว จึงเป็นองค์คณะที่ชอบตามมาตรา 26 เพราะมีผู้พิพากษาประจําศาล ไม่เกินหนึ่งคน ดังนั้น การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทย์ยื่นฟ้องจําเลยทั้ง 2 ฐานะนายจ้างและลูกจ้างในคดีละเมิดที่จําเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการ ที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ขณะข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ เรียกค่าเสียหาย 400,000 บาท ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี นายณพผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนให้นางณดีผู้พิพากษาอาวุโสและ นายสุวัฒน์ผู้พิพากษาประจําศาล นางณที่ได้มีคําสั่งส่งหมายเรียกให้ยื่นคําให้การและสําเนาคําฟ้อง ให้แก่จําเลยทั้ง 2 ก่อนวันนัดชี้สองสถานปรากฏว่านายสุวัฒน์ทักท้วงนางณดีว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจ ศาลแขวงสุพรรณบุรีเพราะจําเลยทั้ง 2 ต้องรับผิดคนละไม่เกิน 200,000 บาท นางณดีเห็นด้วย จึงมีคําสั่งโอนคดีกลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี ดังนี้ ข้ออ้างของนายสุวัฒน์ฟังขึ้นหรือไม่ และ คําสั่งดังกล่าวของนางณดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้น ไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยทั้ง 2 ฐานะนายจ้างและลูกจ้างในคดีละเมิดที่จําเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ขณะข้ามถนนได้รับบาดเจ็บเรียกค่าเสียหาย 400,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยหลายคนในสํานวนเดียวกันจึงต้องพิจารณาว่าจําเลยทั้ง 2 มีมูลหนี้เดียวกัน หรือไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีละเมิดที่นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างจึงถือว่ามีมูลหนี้เดียวกัน และเมื่อคดีนี้ โจทก์เรียกค่าเสียหายจํานวน 400,000 บาท คดีนี้จึงอยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีในการพิจารณา

พิพากษาคดีตามมาตรา 18 เพราะศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้นตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ดังนั้น ความเห็นของนายสุวัฒน์ที่ว่าคดีนี้อยู่ใน อํานาจของศาลแขวงสุพรรณบุรีเพราะว่าจําเลยทั้ง 2 ต้องรับผิดคนละไม่เกิน 200,000 บาทนั้นจึงฟังไม่ขึ้นเพราะ 2 ไม่ใช่เป็นการนําคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาทมาฟ้องที่ศาลจังหวัดที่จะทําให้ศาลจังหวัดต้องพิจารณาว่า มีการรับคดีเข้าสู่ระบบแล้วหรือไม่ และจะได้ทําคดีต่อไปหากรับเข้าสู่ระบบเพื่อพิจารณาแล้วตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ 400,000 บาท ซึ่งไม่ใช่คดีที่อยู่ในอํานาจของ ศาลแขวง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น การที่นางณดีได้มีคําสั่งให้โอนคดีกลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของนายสุวัฒน์ฟังไม่ขึ้น และคําสั่งโอนคดีของนางณดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวต่อศาลจังหวัดตรังขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 339 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง สองแสนบาท นายเก่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังได้ให้นายก้องผู้พิพากษาประจําศาลใน ศาลจังหวัดตรังไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อนายก้องไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีคําสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง นัดสืบพยานโจทก์ การที่นายก้องไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(2) ออกคําสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคําร้องหรือคําขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง

(2) ไต่สวนและมีคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3) (4) หรือ (5)

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็น องค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวงตามมาตรา 26 แต่อย่างไรก็ดีผู้พิพากษาคนหนึ่งย่อม มีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของศาลนั้น ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 25 เว้นแต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาประจําศาลจะไม่มีอํานาจตามมาตรา 25 (3) (4) หรือ (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวต่อศาลจังหวัดตรังขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 และนายเก่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังได้ให้นายก้องผู้พิพากษา ประจําศาลในศาลจังหวัดตรังไต่สวนมูลฟ้อง และเมื่อนายก้องได้ไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีคําสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องนัดสืบพยานโจทก์นั้น แม้ว่าคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานจะเป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียว ตามมาตรา 24 (2) เพราะเป็นคําสั่งที่มิใช่เป็นไปทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีก็ตาม แต่เมื่อนายก้องซึ่ง เป็นผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจในการไต่สวนและมีคําสั่งในคดีอาญาตามมาตรา 25 (3) ประกอบ มาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้น แม้คําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานจะเป็นอํานาจของนายก้อง แต่เมื่อการไต่สวนมูลฟ้อง ของนายก้องไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมย่อมมีผลทําให้การมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานของนายก้องไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไปด้วย

สรุป การที่นายก้องไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานดังกล่าวไม่ชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 30 มีกรณีใดบ้าง ในคดีแพ่งทุนทรัพย์ 1,000,000 บาท ที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรี นายอาทิตย์ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีจ่ายสํานวนให้นายจันทร์กับนายอังคารเป็นองค์คณะ โดยร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวจนเสร็จและนัดฟังคําพิพากษาแล้ว แต่นายจันทร์ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่นก่อน นายอังคารจะต้องดําเนินการอย่างไรจึงจะทําให้การพิพากษาคดีดังกล่าวดําเนินไปโดยชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน
และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณี ที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไปหรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

เหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 30 หมายถึง เหตุที่เกิดกับผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

1. พ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ เช่น การที่ผู้พิพากษานั้นตาย หรือได้โอนย้ายไปรับราชการใน ศาลอื่น หรือลาออกจากราชการ หรือเกษียณอายุราชการ เป็นต้น

2. ถูกคัดค้านและถอนตัวไป เช่น การที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้อง อยู่ในคดีนั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทําให้มีการคัดค้าน และผู้พิพากษาคนนั้นขอถอนตัวไป
ทําให้ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่มีไม่ครบองค์คณะ เป็นต้น

3. ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้ เช่น ป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น

ตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรีเป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ 1,000,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดี ดังกล่าวตามมาตรา 26

การที่นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีจ่ายสํานวนให้นายจันทร์กับนายอังคารเป็น องค์คณะ โดยร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวจนเสร็จและนัดฟังคําพิพากษาแล้ว แต่นายจันทร์ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น ก่อนนั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ตามมาตรา 30 และถือว่ามีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีตามมาตรา 29 ดังนั้น นายอังคารจะต้องนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายอังคาร จึงจะทําให้การพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 29 (3)

สรุป นายอังคารจะต้องนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายอังคาร คําพิพากษาคดีดังกล่าวจึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท นายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัด อุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร แต่เนื่องจากคดีอยู่ใน อํานาจศาลแขวงอุดรธานี นายโทจึงได้ไปปรึกษากับนายเอกผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานี หลังจากนายเอกตรวจสํานวนคดีแล้ว นายเอกและนายโทจึงร่วมกันทําคําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ส่วนข้อหาปลอมเอกสารมีคําสั่งโอนคดีไปศาลแขวงอุดรธานี ให้ท่านวินิจฉัยว่า ++

(ก) คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารไปยังศาลแขวงอุดรธานีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้น ไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง
หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้

ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหา ปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น การที่นายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดี มีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้พิพากษาที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาในคดีดังกล่าวนี้ คือ นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตามมาตรา 29 (3) ประกอบ มาตรา 31 (1) ดังนั้น การที่นายโทได้นําสํานวนคดีนี้ไปปรึกษากับนายเอก และเมื่อนายเอกได้ตรวจสํานวนคดีแล้ว นายเอกและนายโทจึงร่วมกันทําคําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ์ คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธิจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 ประกอบมาตรา 29 (3) และมาตรา 31 (1)

(ข) สําหรับคดีข้อหาปลอมเอกสารนั้น เมื่อเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) เมื่อโจทก์ได้นํามายื่นต่อศาลจังหวัด และข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลจังหวัดยังมิได้มีคําสั่ง รับฟ้องคดีนั้นไว้ ดังนั้น การที่นายเอกและนายโทได้มีคําสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงอุดรธานีที่มีเขตอํานาจ
คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง

สรุป
(ก) คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
(ข) คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารไปยังศาลแขวงอุดรธานีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. นายสุขใจและนายสมใจร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจํานวน 600,000 บาท ที่นายกุนที
เพื่อนบ้านได้เข้ามาตักหน้าดินที่สวนหลังบ้านที่นายสุขใจและนายสมใจเป็นเจ้าของร่วมไปขาย จึงมาปรึกษาท่านว่าควรจะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ที่ศาลใดระหว่างศาลแพ่งหรือศาลแขวง
พระนครเหนือ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณาพิพากษา คดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ องศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขใจและนายสมใจร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจํานวน 600,000 บาท ที่นายกันที่เพื่อนบ้านได้เข้ามาตักหน้าดินที่สวนหลังบ้านที่นายสุขใจและนายสมใจเป็นเจ้าของร่วมกัน ไปขายนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์หลายคนฟ้องจําเลยคนเดียวเรียกค่าเสียหายมาร่วมกันจึงต้องรวมทุนทรัพย์ในการ ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ 600,000 บาท ซึ่งเกิน 300,000 บาท ดังนั้น จึงต้องฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จะฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือไม่ได้ เพราะคดีนี้ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวง พระนครเหนือตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

สรุป นายสุขใจและนายสมใจจะต้องยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ที่ศาลแพ่ง

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสกเป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดสงขลาในข้อหารับของโจร นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลาได้จ่ายสํานวนคดีให้นายคชาผู้พิพากษาอาวุโสและนางรินรดีผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกัน ในระหว่างสืบพยาน นายคชาติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นางโรสิตาจึงมอบหมายให้นายธีรุตม์ผู้พิพากษาประจําศาล นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนางรินรดีในคดีดังกล่าวแทน

ให้วินิจฉัยว่า การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ
ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณ” หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสกเป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ในข้อหารับของโจร (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคนเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 26

การที่นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลาได้จ่ายสํานวนคดีให้นายคชาผู้พิพากษาอาวุโส และนางรินรดีผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกันนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างสืบพยาน นายคชา ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิต ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ในระหว่างพิจารณาคดีทําให้
นายคชาผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนั้นไม่อาจนั่งพิจารณาคดีนั้นต่อไปได้ตามมาตรา 30 ดังนั้น จึงต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคือนางโรสิตา หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นตามที่นางโรสตามอบหมายนั่งพิจารณา คดีนั้นแทนต่อไปตามมาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 30

การที่นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้มอบหมายให้นายธีรุตม์ผู้พิพากษาประจําศาล
นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนางรินรดีในคดีดังกล่าวแทนนั้น แม้จะทําให้องค์คณะพิจารณาคดีมีผู้พิพากษา 2 คนก็ตาม แต่เป็นกรณีที่ทําให้องค์คณะพิจารณาคดีดังกล่าวมีผู้พิพากษาประจําศาลเกิน 1 คน จึงเป็นองค์คณะที่ไม่ชอบ ตามมาตรา 26 ดังนั้น การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ทานตะวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นไทเป็นจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 400,000 บาท ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลสั่งรับประทับฟ้อง และให้ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลย ระหว่างส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่ จําเลย โจทก์เห็นว่าตนคํานวณค่าสินไหมทดแทนผิดไป ความจริงค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดการงานสูงเกินจริง จึงได้ทําคําร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องเปลี่ยนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท นายเป้งและนายฉลาม องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ ได้พิจารณาอนุญาตให้แก้ไขคําฟ้องได้ ต่อมาทั้งสองเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจของศาลแขวงสุพรรณบุรี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมา จะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดี
ดังกล่าวต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทานตะวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นไทเป็นจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 400,000 บาทนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์คนเดียว ฟ้องจําเลยคนเดียวเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด 400,000 บาท โจทก์จึงรวมทุนทรัพย์และนํามายื่นฟ้อง ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี การฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 18

ต่อมาเมื่อโจทก์เห็นว่าตนคํานวณค่าสินไหมทดแทนผิดไป เนื่องจากความจริงค่ารักษาพยาบาล
ค่าซ่อมรถ และค่าขาดการงานสูงเกินจริง โจทก์จึงได้ทําคําร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องเปลี่ยนเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท ซึ่งนายเป้งและนายฉลาม องค์คณะ ผู้พิพากษาคดีนี้ได้พิจารณาอนุญาตให้แก้ไขคําฟ้องได้ กรณีนี้จึงถือว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19/1 วรรคสอง กล่าวคือ ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนั้น คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และต่อมามีพฤติการณ์ เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 และมาตรา 25 (4) ซึ่งตาม มาตรา 19/1 วรรคสองได้บัญญัติให้ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีจึง ต้องพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปโดยไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี เมื่อนายเป้งและนายฉลามได้มีคําสั่งให้โอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี คําสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งให้โอนคดีดังกล่าวขององค์คณะผู้พิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นางสาวหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายยิ่งยวดเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกในเวลากลางคืน (ระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) ต่อศาลจังหวัดนครพนม นางสอง ผู้พิพากษาอาวุโสได้ทําการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณา แต่ภายหลังนายยิ่งยวดหลบหนีคดี นายศานผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดนครพนม จึงออกหมายจับนายยิ่งยวดเพื่อนํามาดําเนินคดีต่อไป ให้วินิจฉัยว่า

(ก) การไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับรับฟ้องชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การออกหมายจับชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา”
ผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3) (4) หรือ (5)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดนั้น แม้กฎหมายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องมีองค์คณะ ผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนก็ตาม แต่ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้ ตามมาตรา 25 (3) ดังนั้น การที่นางสองซึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสของศาลจังหวัดนครพนมได้ทําการไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นางสาวหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายยิ่งยวดเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกในเวลากลางคืนแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณานั้นการไต่สวนมูลฟ้องและการมีคําสั่งประทับรับฟ้องของนางสองจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และมาตรา 25 วรรคสอง

(ข) ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24 (1) ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจออกหมายจับ ซึ่งเป็นหมายอาญาชนิดหนึ่งได้ โดยไม่ต้องคํานึงถึงอัตราโทษในคดีอาญาเรื่องนั้น ดังนั้น การที่นายศานผู้พิพากษา ประจําศาลจังหวัดนครพนม ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิพากษาตามนัยของมาตรา 24 ได้ออกหมายจับนายยิ่งยวดที่ได้ หลบหนีคดี การออกหมายจับของนายศานจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24 (1)

สรุป
(ก) การไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับรับฟ้องของนางสองชอบด้วยพระธรรมนูญ
ศาลยุติธรรม

(ข) การออกหมายจับของนายศานชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยให้ชําระหนี้จํานวนห้าแสนบาทต่อศาลจังหวัดตาก นายพฤหัสผู้พิพากษา
หัวหน้าศาลจังหวัดตากมอบหมายให้นายศุกร์ผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดตากเป็นเจ้าของสํานวน
โดยมีนายเสาร์ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดตากร่วมเป็นองค์คณะ เมื่อนายศุกร์และนายเสาร์พิจารณาคดีจนแล้วเสร็จและนัดฟังคําพิพากษา นายศุกร์มีความเห็นควรให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ส่วนนายเสาร์มีความเห็นควรให้จําเลยชนะคดี นายศุกร์จึงนําสํานวนคดีไปให้นายพฤหัสตรวจสํานวนแล้วนายพฤหัสเห็นด้วยกับนายศุกร์จึงได้ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายศุกร์ให้โจทก์ชนะคดี

ท่านเห็นว่า การที่นายพฤหัสมอบหมายให้นายศุกร์และนายเสาร์ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาคดี
และการพิจารณาพิพากษาของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาทต่อศาลจังหวัด ตากนั้น ถือเป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน ดังนั้น การที่นายพฤหัส ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจ่ายสํานวนให้นายศุกร์ผู้พิพากษาประจําศาลเป็นเจ้าของสํานวนและนายเสาร์ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นองค์คณะจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว เพราะไม่มีข้อห้ามผู้พิพากษาประจําศาลเป็นเจ้าของสํานวนด้วย

ส่วนการที่นายศุกร์และนายเสาร์ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการทําคําพิพากษาคดีดังกล่าวมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้นั้น ย่อมถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทํา คําพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งให้อํานาจผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอํานาจ ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเมื่อได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว ดังนั้น การที่นายศุกร์ได้นําสํานวนคดีดังกล่าวมาให้ นายพฤหัสซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตากตรวจสํานวนและนายพฤหัสเห็นด้วยกับนายศุกร์จึงได้ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายศุกร์ให้โจทก์ชนะคดีนั้น การพิจารณาพิพากษาคดีของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การที่นายพฤหัสมอบหมายให้นายศุกร์และนายเสาร์ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาคดี และ การพิจารณาพิพากษาคดีของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายความแตกต่างของมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง และ 19/1 วรรคสอง แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 ได้บัญญัติไว้ว่า

“บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ใน ดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นหรือมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวง ที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าว พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”

ตามบทบัญญัติมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการโอนคดีไปยังศาลแขวง ซึ่งมี
หลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. คดีนั้นเกิดขึ้นในเขตศาลแขวง
2. คดีนั้นอยู่ในอํานาจของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17)
3. โจทก์นําคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด
4. ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดีไปยื่นฟ้องตาม 3.) ย่อมสามารถใช้ดุลพินิจได้ 2 ประการ
กล่าวคือ

(1) ยอมรับคดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องนั้นไว้พิจารณา หรือ
(2) มีคําสั่งโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ

ตัวอย่าง เช่น นาย ก. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ข. เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดแห่งหนึ่งในความผิดซึ่ง อยู่ในอํานาจการพิจารณาของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17) เมื่อศาลจังหวัดได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ดังนี้ ศาลจังหวัดอาจใช้ดุลพินิจยอมรับคดีดังกล่าว ไว้พิจารณาก็ได้ หรือศาลจังหวัดอาจมีคําสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจเพื่อให้ศาลแขวงนั้นพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไปก็ได้ (โดยศาลจังหวัดจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น เช่น มีคําสั่งไม่รับฟ้อง หรือสั่งยกฟ้อง หรือสั่งจําหน่ายคดีไม่ได้)

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ศาลดังกล่าวจะมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจไม่ได้ จะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป (มาตรา 91/1 วรรคหนึ่งตอนท้าย)

ส่วนบทบัญญัติมาตรา 19/1 วรรคสองนั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามโอนคดีไปยังศาลแขวง
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. ในขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว

2. โจทก์ได้นําคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลตาม 1. และศาลดังกล่าวได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีนั้น

3. ต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง

4. ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดีไปยื่นฟ้องตาม 1.) จะมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มี เขตอํานาจไม่ได้ จะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ตัวอย่าง เช่น โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลแพ่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาทราคา 300,000 บาท จําเลยบุกรุกเข้าครอบครองบ้านพิพาท โจทก์แจ้งให้ออกไปแล้วแต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านพิพาท เป็นของโจทก์และขับไล่จําเลยออกจากบ้านพิพาท และนายเอกผู้พิพากษาคนเดียวของศาลแพ่งมีคําสั่งรับฟ้อง จําเลยให้การว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ และนายเอกมีคําสั่งรับคําให้การ

ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เมื่อคดีนี้เริ่มต้นโดยเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การนําคดีนี้ไปยืนต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งได้รับฟ้องไว้จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแพ่ง มิได้อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจําเลยได้ยื่นคําให้การเข้าไปในคดีว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ คดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท ทําให้จากคดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และเมื่อ ทุนทรัพย์มีราคา 300,000 บาท กรณีนี้จึงถือว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19/1 วรรคสอง กล่าวคือ ในขณะยื่นฟ้องนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่งอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ก็ยังคงให้ศาลแพ่งพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปจะโอนคดีไปยังศาลแขวงไม่ได้

 

ข้อ 2. นางเรณูค้ําประกันนายเปียกและนายบุญปลูกคนลาวเข้าทํางานที่โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรือง จังหวัด สมุทรปราการ โดยจํากัดวงเงินคนละ 200,000 บาท โดยมีสัญญาจ้างงานเป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อทํางาน ได้เพียง 2 เดือน ทั้งนายเปียกและนายบุญปลูกได้ขาดงานและหายไป ทําให้โรงงานน้ําแข็งฯ นายจ้าง ต้องการฟ้องเรียกร้องให้นางเรณูรับผิดตามสัญญาค้ําประกัน ให้ท่านแนะนําโรงงานน้ําแข็งฯ ดังกล่าวจะต้องฟ้องที่ศาลใด ระหว่างศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือศาลแขวงสมุทรปราการ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้อง เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางเรณูค้ําประกันนายเปี๊ยกและนายบุญปลูกคนลาวเข้าทํางานที่ โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรือง โดยจํากัดวงเงินคนละ 200,000 บาท โดยมีสัญญาจ้างงานเป็นเวลา 1 ปี แต่ต่อมา หลังจากทํางานได้ 2 เดือน ทั้งนายเปียกและนายบุญปลูกได้ขาดงานและหายไป ทําให้โรงงานน้ําแข็งฯ ต้องการ ฟ้องเรียกร้องให้นางเรณูรับผิดตามสัญญาค้ําประกันนั้น เป็นกรณีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียวเป็นคดีแพ่ง
หลายคดี และเนื่องจากการที่นางเรณูทําสัญญาค้ําประกันนายเปียกและนายบุญปลูกนั้น เป็นการค้ําประกันโดย แยกกันรับผิดคนละรายไม่เกี่ยวข้องกัน คนละ 200,000 บาท จึงถือว่าคดีแต่ละคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ดังนี้ โรงงานน้ําแข็งฯ จึงต้องฟ้องนางเรณูต่อศาลแขวงสมุทรปราการตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

สรุป โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรืองต้องฟ้องนางเรณูต่อศาลแขวงสมุทรปราการ

ข้อ 3. นางราชาวดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกศลต่อศาลอาญาในคดีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี นางสาวลูกแก้วผู้พิพากษา ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล ควรพิพากษายกฟ้อง นางสาวลูกแก้วจึงนําสํานวนคดี ไปปรึกษานางสาวดาด้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นางสาวดาด้าจึงมอบหมายให้นายรัฐผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาตรวจสํานวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับนางสาวลูกแก้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

วินิจฉัย

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) กําหนดให้ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจ ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาที่อยู่ในอํานาจศาลนั้นได้โดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูง
เกิน 3 ปีหรือไม่ ดังนั้น การที่นางสาวลูก แก้วผู้พิพากษาศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นางราชาวดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกศลต่อศาลอาญาในคดีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุก ตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปีเพียงคนเดียวจึงสามารถทําได้โดยชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นางสาวลูกแก้วไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีความเห็นว่าคดีไม่มีมูล ควรพิพากษา ยกฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง เป็นคดีที่มี อัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้พิพากษาที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีดังกล่าว คือ อธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตามมาตรา 29 (3) ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนั้น การที่นางสาวลูกแก้ว ได้นําสํานวนคดีนี้ไปปรึกษานางสาวดาค้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนางสาวดาด้าได้มอบหมายให้นายรัฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาตรวจสํานวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับ นางสาวลูกแก้วนั้น การลงลายชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 29 (3)
ประกอบมาตรา 31 (1)

 

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ในคดีเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันให้ชําระหนี้ตามสัญญา เงินกู้จํานวน 5 ล้านบาท ในการพิจารณาคดี จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริง ส่วนจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว โดยที่จําเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคําให้การต่อสู้ใน ประเด็นนี้ไว้ด้วย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 หรือไม่ และหากศาลเห็นว่าคดีนี้ ขาดอายุความแล้วจะสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่วามในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือ จําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลแห่งความคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1) การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นคู่ความในคดีเดียวกัน โดยเป็น โจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมนั้น หากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี และมูลความ แห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แล้ว บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วม คนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่ง กระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกันโดยเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยก จากกันได้นั้น แม้จําเลยที่ 1 จะยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว คําให้การ ของจําเลยที่ 2 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณาซึ่งได้ทําโดยคู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วย อีกทั้งเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งได้กระทําไปโดยไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ แต่อย่างใด

ดังนั้น หากศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แม้จําเลยที่ 1 จะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความก็ตาม

ศาลก็สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

สรุป คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย และถ้าศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ศาลสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ได้มีข้อตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจํากัดจดทะเบียน มีสํานักงานใหญ่อยู่ที่ จังหวัดกระบี่ เพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ มีนายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิด และนายจัตวากับนายเบญจ เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด บุคคลทั้งห้าเป็นผู้ร่วมกัน ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนฯ โดยนายแอปเปิ้ลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายแอปเปิ้ลได้ตกลงทําสัญญาจ้างในฐานะผู้ทําการ แทนห้างหุ้นส่วนฯ อยู่ที่จังหวัดพัทลุงทางโทรศัพท์กับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเด็กดีที่ จังหวัดตรัง ซึ่งขณะตกลงกันทางโทรศัพท์สําเร็จนั้นนายเออยู่ที่จังหวัดสตูล สัญญามีข้อความ กําหนดให้ห้างหุ้นส่วนฯ ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 15 เครื่อง ให้แก่นายเอในฐานะผู้ทําการแทน โรงเรียนดังกล่าวตามสถานที่และรายละเอียดที่กําหนดอย่างชัดเจนในข้อความและภาพที่ได้ส่งผ่าน โทรศัพท์ระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลนั้น ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2565 ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศสําเร็จเพียง 9 เครื่อง และไม่ดําเนินการใดต่อไปจนพ้นกําหนดเวลาตามที่ตกลงสัญญากัน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอจะฟ้องคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว นายแอปเปิ้ล นายเบญจ และนายจัตวา เพื่อให้ทําตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้หรือไม่ และศาลจังหวัดพัทลุงมีเขตอํานาจพิจารณาคดีแพ่งนี้ หรือไม่ เพราะเหตุผลอะไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1095 บัญญัติว่า

“ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็น
หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัด ความรับผิดได้เพียงจํานวนดังนี้ คือ…….

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาล ส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

และการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดี เกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้ง สิทธิอันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย นายจัตวา และนายเบญจ ได้ร่วมกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจํากัดเพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ โดยมีนายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด และนายจัตวากับนายเบญจา เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด โดยนายแอปเปิ้ลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น เมื่อปรากฏว่านายแอปเปิ้ลได้ตกลงทําสัญญาจ้างในฐานะผู้ทําการแทนห้างฯ อยู่ที่ จังหวัดพัทลุงทางโทรศัพท์กับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเด็กดีที่จังหวัดตรัง ซึ่งขณะตกลงกันทางโทรศัพท์ สําเร็จนั้นนายเออยู่ที่จังหวัดสตูล สัญญามีข้อความกําหนดให้ห้างหุ้นส่วนฯ ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 15 เครื่อง ให้แก่นายเอในฐานะผู้ทําการแทนโรงเรียนดังกล่าวตามสถานที่และตามรายละเอียดที่กําหนดอย่างชัดเจนในข้อความและภาพที่ได้ส่งผ่านโทรศัพท์ระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลนั้น เมื่อปรากฏต่อมาว่าผู้รับจ้างได้ติดตั้ง เครื่องปรับอากาศสําเร็จเพียง 9 เครื่อง และไม่ดําเนินการใดต่อไปจนพ้นกําหนดเวลาตามที่ตกลงในสัญญา เมื่อสัญญาจ้างระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลเป็นสัญญาจ้างทําของและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องกระทํา ตามแบบแต่อย่างใด การกระทําของห้างฯ ที่เพิกเฉยไม่ดําเนินการให้แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้โรงเรียนเด็กดีจังหวัดตรัง ไม่ได้รับประโยชน์คือ ไม่สามารถใช้สอยเครื่องปรับอากาศได้ทั้ง 15 เครื่อง ตามสิทธิที่มีการตกลงกันในสัญญา การกระทําของห้างฯ ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโรงเรียนเด็กดีที่จังหวัดตรังตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ดังนั้น นายเอผู้อํานวยการและในฐานะผู้ทําการแทนโรงเรียนฯ จึงมีอํานาจฟ้องคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอํานาจได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ประกอบมาตรา 4 (1) แต่อย่างไรก็ตาม นายเอจะฟ้องได้ก็แต่เฉพาะห้างหุ้นส่วนจํากัด นายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น จะฟ้องนายจัตวากับนายเบญจ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1095 เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นได้เลิกกันแล้ว

ส่วนศาลที่ถือว่าเป็นศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น ซึ่งในกรณีของการทําสัญญา สถานที่ที่ มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่เกิดสัญญาขึ้นนั่นเอง และในกรณีที่คําเสนอและคําสนองทํากันคนละสถานที่กัน เช่นกรณี ที่ผู้เสนอโทรศัพท์พูดคุยกันกับผู้สนองโดยอยู่กันคนละที่ เมื่อคําเสนอและคําสนองถูกต้องตรงกันเป็นสัญญาขึ้นมา ย่อมถือว่าทั้งสถานที่ที่ทําคําเสนอและสถานที่ที่ทําคําสนอง เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดทั้ง 2 สถานที่ ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ย่อมถือว่าทั้งจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูลเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล และศาลจังหวัดพัทลุงจึงเป็นศาลที่มีเขตอํานาจในการพิจารณาคดีแพ่งนี้ได้

สรุป นายเอสามารถฟ้องคดีแพ่งนี้กับห้างหุ้นส่วนจํากัดและนายแอปเปิ้ลเพื่อให้ทําตามสัญญาจ้าง
ดังกล่าวได้ แต่จะฟ้องนายจัตวาและนายเบญจซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ และศาลจังหวัดพัทลุง มีเขตอํานาจพิจารณาคดีนี้ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยระบุว่าจําเลยคนเดียวคือห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี โดยมีนายเอกเป็นผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วน ปรากฏว่าจําเลยไม่ได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจึงไม่มีสภาพบุคคล โจทก์จึง
มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถานดังนี้

(ก) ขอแก้ไขชื่อจําเลยจากห้างหุ้นส่วนเอกโทตรีเป็นนายเอกในฐานะส่วนตัว

(ข) ขอเพิ่มเติมนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยร่วมในคดีเพราะต้องรับผิดร่วมกัน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในกรณีนี้ศาลจะสามารถอนุญาตและรับคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 179 “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคําฟ้อง หรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือลด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลัง
ที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณา และชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

มาตรา 180 “แก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาล ก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควร ที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็น
การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยระบุว่าจําเลยคนเดียวคือห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี โดยมีนายเอกเป็น ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน ปรากฏว่าจําเลยไม่ได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจึงไม่มีสภาพบุคคล โจทก์จึงมา ยื่นคําร้องขอแก้ไขคําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถาน โดยขอแก้ไขชื่อจําเลยจากห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี (ในฐานะนิติบุคคล) เป็นนายเอก (ในฐานะบุคคลธรรมดา) เพราะห้างฯ ดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนนั้น แม้โจทก์จะได้ยื่นคําร้องขอแก้ไข คําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถานตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ก็ตาม แต่การขอแก้ไขคําฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขโดยการเพิ่มหรือลดจํานวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหา ในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 แต่เป็นการแก้ไขคําฟ้องเดิม โดยเปลี่ยนตัวจําเลย ดังนั้น ศาลจะอนุญาตและรับคําร้องขอแก้ไขคําฟ้องของโจทก์กรณีนี้ไม่ได้

(ข) การที่โจทก์มายื่นคําร้องขอเพิ่มเติมนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยร่วมในคดีเพราะ ต้องรับผิดร่วมกันนั้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ศาลจะอนุญาตและรับคําร้องขอเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้ เพราะ
การที่โจทก์ยื่นคําร้องขอเพิ่มชื่อนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยในภายหลังย่อมถือว่าเป็นการฟ้องบุคคลอื่น เป็นจําเลยเข้ามาในคดีอีก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการขอแก้ไขคําฟ้องตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 แต่อย่างใด

สรุป กรณีตาม (ก) และ (ข) ศาลจะอนุญาตและรับคําขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องอ้างว่าจําเลยผิดสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาล บังคับให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 5 ล้านบาท จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ยื่น คําร้องขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ในวันนัด สืบพยาน จําเลยมาศาลและแจ้งต่อศาลว่าจําเลยประสงค์จะต่อสู้คดี จําเลยจึงขออนุญาตยื่น คําให้การโดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การ ของจําเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร
ศาลจึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การ ศาลจึงทําการสืบพยานโจทก์ต่อไป ต่อมาหากศาลพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและจําเลย ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น

ดังนี้ จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ”

มาตรา 199 “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาล ในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัด ยื่นคําให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จําเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนําสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคําขอของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ ตามมาตรา 199 ตรี มาก่อน จําเลยนั้นจะขอยื่นคําให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้”

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น จําเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2) คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่าตามกฎหมาย บุคคลที่ มีสิทธิยื่นคําขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องเป็นจําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัด

โดยจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวมิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวจะต้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) และมาตรา 199 วรรคสาม

จากข้อเท็จจริง โจทก์ฟ้องว่าจําเลยผิดสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ยื่นคําร้องขอให้ตนเป็น ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 และมาตรา 198 แล้ว และในวันนัดสืบพยาน จําเลยมาศาล
และแจ้งต่อศาลว่าจําเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและขออนุญาตยื่นคําให้การ โดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด แต่เมื่อ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การของจําเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร ศาลจึง มีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสองนั้น ย่อมมีผลทําให้จําเลยจะขอยื่น คําให้การอีกหรือจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม
ดังนั้น เมื่อต่อมาศาลพิพากษาให้จําเลยแพ้คดี และแม้ว่าจําเลยจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษานั้น ก็ตาม จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าคําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม

สรุป จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายพุธเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายพฤหัสเป็นจําเลยต่อศาล ขอให้นายพฤหัสออกจากที่ดินแปลงพิพาท ของนายพุธ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวนายพุธได้มาโดยการยกให้จากนายอังคารซึ่งเป็นบิดาของนายพุธระหว่างการพิจารณาคดี นายพุธประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงขายที่ดินแปลงพิพาท ให้กับนางสาวจุ้ยเพื่อนสาวคนสนิท กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทจึงตกแก่นางสาวจุ้ย ต่อมานางสาวจุ้ยและนายอังคารต้องการยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า นางสาวจุ้ยและนายอังคารจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้องขอ ต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”

วินิจฉัย

การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ผู้ร้องสอดจะต้อง เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพุธเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายพฤหัสเป็นจําเลยต่อศาล ขอให้นายพฤหัส ออกจากที่ดินแปลงพิพาทของนายพุธ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวนายพุธได้มาโดยการยกให้จากนายอังคารซึ่งเป็นบิดาของนายพุธ และระหว่างการพิจารณาคดีนายพุธได้ขายที่ดินแปลงพิพาทให้กับนางสาวจุ้ยเพื่อนสาวคนสนิท ทําให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทตกแก่นางสาวจุ้ยนั้น เมื่อนางสาวจุ้ยต้องการยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว นางสาวจุ้ยย่อมสามารถยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมได้ ทั้งนี้เพราะแม้ว่านางสาวจุ้ย จะไม่มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีก็ตาม แต่นางสาวจุ้ยมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงสามารถ ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2)

ส่วนนายอังคารซึ่งได้ยกที่ดินให้กับนายพุธไปแล้วก่อนฟ้องคดีนั้น จะยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็น โจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวไม่ได้ เพราะนายอังคารไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 57 (2)
สรุป นางสาวจุ้ยสามารถร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวได้ แต่นายอังคารจะร้องสอด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ได้มีข้อตกลงด้วยวาจาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจํากัดจดทะเบียน มีสํานักงานใหญ่ ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ มีนายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิด และนายจัตวากับนายเบญจ เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด บุคคลทั้งห้าเป็นผู้ร่วมกัน ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนฯ นั้น โดยนายแอปเปิ้ลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดสงขลาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 นายแอปเปิ้ลได้ทําสัญญาที่จังหวัดพัทลุงกับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการ โรงเรียนเด็กดีจังหวัดตรัง สัญญามีข้อความว่า นายแอปเปิ้ลต้องส่งมอบเครื่องปรับอากาศ 10 เครื่อง ที่ซื้อขายให้แก่นายเอที่โรงเรียนดังกล่าวตามคุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศที่กําหนดในเอกสาร แนบท้ายสัญญาซื้อขาย ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2565 ปรากฏว่าได้ติดตั้งแล้ว แต่เครื่องปรับอากาศ ใช้งานไม่ได้ 3 เครื่อง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอฟ้องห้างหุ้นส่วนดังกล่าวและนายแอปเปิ้ล และฟ้องนายจัตวาเพื่อเรียก เงินคืนตามสิทธิในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ที่ศาลจังหวัดตรังได้หรือไม่ เพราะเหตุผลใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(2) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดี เกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะ ทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย นายจัตวา และนายเบญจ ร่วมกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจํากัดจดทะเบียน มีสํานักงานใหญ่ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ โดยมีนายแอปเปิ้ล ซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดสงขลาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 4 กันยายน 2555 นายแอปเปิ้ลได้ ทําสัญญาที่จังหวัดพัทลุงกับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเด็กดีจังหวัดตรัง ในสัญญามีข้อความว่านายแอปเปิ้ล ต้องส่งมอบเครื่องปรับอากาศ 10 เครื่องที่ซื้อขายให้แก่นายเอที่โรงเรียนดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เมื่อได้ติดตั้งแล้ว แต่เครื่องปรับอากาศนั้นใช้งานไม่ได้ 3 เครื่อง ดังนี้ หากนายเอจะฟ้องห้างหุ้นส่วนดังกล่าว และนายแอปเปิ้ล และฟ้องนายจัตวา เพื่อเรียกเงินคืนตามสิทธิในสัญญาซื้อขายดังกล่าว นายเอจะต้องยื่นคําฟ้อง ต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

และจากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือว่ามูลคดีหรือต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทําให้ เกิดอํานาจฟ้องนั้น ได้เกิดขึ้นที่สถานที่ที่มีการทําสัญญาซื้อขายกันคือที่จังหวัดพัทลุง ส่วนจังหวัดตรังเป็นเพียง สถานที่ส่งมอบสินค้าเท่านั้นมิใช่สถานที่ที่มูลคดีเกิด ดังนั้น นายเอจะฟ้องห้างหุ้นส่วน นายแอปเปิ้ล และนายจัตวา
ที่ศาลจังหวัดตรังไม่ได้

สรุป นายเอจะฟ้องห้างหุ้นส่วนดังกล่าวและนายแอปเปิ้ล และฟ้องนายจัตวา เพื่อเรียกเงินคืน ตามสิทธิในสัญญาซื้อขายดังกล่าวที่ศาลจังหวัดตรังไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยที่ 1 – 3 ร่วมก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ไม่ดี ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 – 2 ยื่นคําให้การแล้ว แต่จําเลยที่ 3 มิได้ยื่นคําให้การ โจทก์จึงมีคําขอให้ตนเองชนะคดี โดยขาดนัดแล้ว ศาลจึงสั่งให้พิจารณาคดีต่อไป ต่อมาโจทก์มายื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 – 3 โดยทนายความของจําเลยที่ 2 แถลงว่าการขอถอนฟ้องนั้นไม่มีเหตุผล ส่วนจําเลยที่ 3 ไม่มาศาล ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจําหน่ายคดีของจําเลยที่ 2 – 3 ออกจากสารบบความ และดําเนินกระบวน พิจารณาของจําเลยที่ 1 ต่อโดยโจทก์และจําเลยที่ 1 ตกลงกันให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญมาคนละหนึ่งคน ร่วมกันตรวจสอบชี้ขาดว่าสามารถซ่อมแซมเสาเข็มสิ่งปลูกสร้างโจทก์ได้หรือไม่ โดยตกลงกันว่า ถ้าเสียงข้างมากว่าซ่อมแซมได้โจทก์จะถอนฟ้อง ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญเสียงข้างมากมีความเห็นว่า ซ่อมแซมได้ ศาลจึงมีคําสั่งให้โจทก์ไปถอนฟ้องภายใน 7 วัน แต่โจทก์ไม่ยอมถอนฟ้องจําเลยที่ 1 ให้ท่านวินิจฉัยดังต่อไปนี้

(ก) การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องจําเลยที่ 2 – 3 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข) การที่โจทก์ไม่ไปถอนฟ้องจําเลยที่ 1 นั้น ศาลต้องมีคําสั่งอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 174 “ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ

(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกําหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ ส่งคําสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว”

มาตรา 175 “ก่อนจําเลยยื่นคําให้การ โจทก์อาจถอนคําฟ้องได้โดยยื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

ภายหลังจําเลยยื่นคําให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาต
ให้โจทก์ถอนคําฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจําเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยที่ 1 – 3 ร่วมก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ไม่ดี ขอให้ชดใช้ ค่าเสียหายแต่โจทก์ จําเลยที่ 1 – 2 ยื่นคําให้การแล้ว แต่จําเลยที่ 3 มิได้ยื่นคําให้การ โจทก์จึงมีคําขอให้ตนเอง ชนะคดีโดยขาดนัดแล้ว ศาลจึงสั่งให้พิจารณาคดีต่อไป ต่อมาโจทก์มายื่นคําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 – 3 โดยทนายความของจําเลยที่ 2 แถลงว่าการขอถอนฟ้องนั้นไม่มีเหตุผล ส่วนจําเลยที่ 3 ไม่มาศาล ศาลจึงอนุญาตให้ ถอนฟ้องจําหน่ายคดีของจําเลยที่ 2 – 3 ออกจากสารบบความ และดําเนินกระบวนพิจารณาของจําเลยที่ 1 ต่อนั้น

1. กรณีของจําเลยที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยที่ 3 มิได้ยื่นคําให้การ การที่โจทก์ยื่น คําร้องขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 จึงเป็นการยื่นขอถอนฟ้องก่อนจําเลยยื่นคําให้การ การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง โดยมิได้ฟังจําเลยก่อน จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคหนึ่ง
2. กรณีของจําเลยที่ 2 การที่ทนายความของจําเลยที่ 2 แถลงว่าการขอถอนฟ้องไม่มีเหตุผลนั้น ถือได้ว่าเป็นการที่ศาลได้ฟังจําเลยแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องจําเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1)

(ข) การที่โจทก์และจําเลยที่ 1 ได้ตกลงกันให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญมาคนละ 1 คน ร่วมกันตรวจสอบ ชี้ขาดว่าสามารถซ่อมแซมเสาเข็มสิ่งปลูกสร้างโจทก์ได้หรือไม่ โดยตกลงกันว่าถ้าเสียงข้างมากว่าซ่อมแซมได้โจทก์จะ ถอนฟ้อง ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญเสียงข้างมากมีความเห็นว่าซ่อมแซมได้ และศาลได้มีคําสั่งให้โจทก์ไปถอนฟ้อง ภายใน 7 วัน แต่โจทก์ไม่ยอมถอนฟ้องจําเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2) แล้ว เพราะเมื่อศาลได้มีคําสั่งให้โจทก์ดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โจทก์มิได้ดําเนินการตามนั้นภายในระยะเวลา ตามที่ศาลเห็นสมควรกําหนดไว้ และศาลได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ดังนั้น เมื่อถือว่าโจทก์ทั้งฟ้อง ศาลจึงต้องมีคําสั่ง จําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สรุป
(ก) การที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องจําเลยที่ 2 – 3 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การที่โจทก์ไม่ไปถอนฟ้องจําเลยที่ 1 ศาลต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องอ้างว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์จํานวน 2 ล้านบาท ขอให้ศาลบังคับให้ จําเลยทั้งสองชําระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ศาลยกฟ้อง ส่วนจําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์มาศาล แต่จําเลยทั้งสองทราบนัดโดย ชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์นําพยานเข้าสืบแล้ว 2 ปาก แล้วแถลงว่ายังมีพยานที่ต้องสืบเพิ่มอีก 1 ปาก ขอเลื่อนไปนัดหน้า ศาลอนุญาต ในวันสืบพยาน โจทก์ต่อ จําเลยทั้งสองมาศาล แต่โจทก์ไม่มา ศาลถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานต่อไป และมีคําสั่ง นัดสืบพยานจําเลยทั้งสอง จําเลยที่ 1 นําพยานเข้าสืบ ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลมี คําพิพากษาให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้เงินกู้คืนแก่โจทก์ ยกฟ้องในส่วนของจําเลยที่ 1 โจทก์ยื่น อุทธรณ์คําพิพากษา จําเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ แต่ยื่นคําร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จําเลยที่ 2 มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 199 “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาล ในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุ
อันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดําเนิน
กระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัด ยื่นคําให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จําเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนําสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคําขอของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ ตามมาตรา 199 ตรี มาก่อน จําเลยนั้นจะขอยื่นคําให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์จํานวน 2 ล้านบาท ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยทั้งสองชําระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ศาลยกฟ้อง ส่วนจําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เมื่อปรากฏว่าในวันสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์มาศาล แต่จําเลยทั้งสองทราบนัด โดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลจึงสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และในวันนัดสืบพยานจําเลย จําเลยทั้งสองมาศาล จําเลยที่ 1 นํายานเข้าสืบ ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน อีกทั้งปรากฏว่า จําเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคําให้การนั้น ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ดังนั้น เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้ เงินกู้คืนแก่โจทก์ จําเลยที่ 2 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม

สรุป จําเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางสาวเวียงฟ้าฟ้องขอให้ขับไล่นายวังแก้วออกจากบ้านพร้อมที่ดินพิพาทของนางสาวเวียงฟ้า เนื่องจากนายวังแก้วผิดสัญญาเช่าและนางสาวเวียงฟ้าบอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้นายวังแก้วชําระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายแก่นางสาวเวียงฟ้า นายวังแก้วให้การต่อสู้ว่านางสาวเวียงฟ้าไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท แต่เป็นของนางเวียงดาวคุณย่าของนางสาวเวียงฟ้า ต่อมานายระฆังทองยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีอ้างว่าตนได้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยความสงบ เปิดเผย และโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทบางส่วน โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่านายระฆังทอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ดังนี้ นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือ บังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวเวียงฟ้าฟ้องขอให้ขับไล่นายวังแก้วออกจากบ้านพร้อมที่ดิน
พิพาทของนางสาวเวียงฟ้าเนื่องจากนายวังแก้วผิดสัญญาเช่าและนางสาวเวียงฟ้าบอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้ นายวังแก้วชําระค่าเช่าที่ค้างชําระและค่าเสียหายแก่นางสาวเวียงฟ้า นายวังแก้วให้การต่อสู้ว่านางสาวเวียงฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท แต่เป็นของนางเวียงดาวคุณย่าของนางสาวเวียงฟ้านั้น ถือว่านายวังแก้ว ไม่ได้ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยการกล่าวอ้างว่าเป็นของนายวังแก้วแต่อย่างใด ดังนั้นการที่นายระฆังทองยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอ้างแต่เพียงว่า ตนได้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท บางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ครอบครอง

อีกทั้งนายระฆังทองมิได้กล่าวอ้างเลยว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับนายวังแก้วแต่อย่างใด ข้ออ้าง ของนายระฆังทองดังกล่าวเป็นกรณีที่นายระฆังทองตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับนางสาว เวียงฟ้าทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ นายระฆังทองมีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่เพียงใดก็ยังคงมีอยู่อย่างนั้น และหากศาล พิพากษาขับไล่นายวังแก้วตามคําฟ้องของนางสาวเวียงฟ้า ก็ย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของนายระฆังทอง นายระฆังทองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดีนี้ จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับ ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ดังนั้น นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยการร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ไม่ได้

สรุป นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยการร้องสอดไม่ได้

 

ข้อ 2. นายธันวาอาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และนายธันวามีที่ดินจํานวน 10 แปลง ตั้งอยู่ในจังหวัด หนองคาย ซึ่งให้เช่าปลูกอ้อย โดยนายธันวามีบุตรชาย 3 คน คือ นายจันทร์ นายอังคาร และนายพุธ ซึ่งบุตรชายทั้ง 3 คน มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเลย ส่วนภริยาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมานายธันวาป่วยเป็นมะเร็งจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่นเป็นเวลาหนึ่งปีและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว นายจันทร์จึงยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัด หนองคาย ให้วินิจฉัยว่า

ก) ศาลจังหวัดหนองคายมีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข) หากต่อมานายจันทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา แต่นายจันทร์จัดการมรดก โดยไม่ชอบ นายอังคารประสงค์ยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็นผู้จัดการมรดก ของนายธันวา นายอังคารต้องยื่นคําร้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 จัตวา “คําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ใน
เขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล มาตรา 7 “บทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา… ต้องอยู่ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้

(4) คําร้องที่เสนอให้ศาลก่อนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี
คําร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คําร้องที่เสนอให้ศาลมีคําสั่งใดที่เกี่ยวกับ การถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คําร้องขอหรือคําร้อง อื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคําสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคําพิพากษานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก) การที่นายธันวาอาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และนายธันวามีที่ดินจํานวน 10 แปลง ตั้งอยู่ ในจังหวัดหนองคายซึ่งให้เช่าปลูกอ้อย โดยนายธันวามีบุตรชาย 3 คน คือ นายจันทร์ นายอังคาร และนายพุธ ซึ่งบุตรชายทั้ง 3 คน มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเลย ส่วนภริยาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมานายธันวาป่วยเป็นมะเร็ง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่น และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว การที่นายจันทร์ ได้ยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น นายจันทร์จะต้องยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลที่เจ้ามรดก มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา ซึ่งได้แก่ ศาลจังหวัดอุดรธานี ดังนั้น การที่นายจันทร์ได้ยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดหนองคาย ศาลจังหวัดหนองคายย่อมไม่มีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณา

ข) หากต่อมานายจันทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา แต่นายจันทร์จัดการ มรดกโดยไม่ชอบ นายอังคารประสงค์ยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวานั้น

ถือเป็นคําร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้หรือถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้หรือขอให้ศาลมีคําสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาต หรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้น จึงต้องเสนอคําร้องต่อศาลในคดีที่ได้มีคําสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือ คําพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 7 (4) ดังนั้น เมื่อกรณีนี้ต้องยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อ ศาลจังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 4 จัตวา นายอังคารจึงต้องยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็น ผู้จัดการมรดกของนายธันวาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 7 (4)

สรุป
ก) ศาลจังหวัดหนองคายไม่มีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณา
ข) นายอังคารจะต้องยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา
ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยทําสวนมีที่ดินบางส่วนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษา ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยมิได้รุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และ ถึงแม้จําเลยจะรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ได้อยู่โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของจําเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคําพิพากษาว่าจําเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน

ในกรณีเช่นนี้ จําเลยจะสามารถฟ้องแย้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

“ฟ้องแย้ง” คือ การฟ้องซึ่งจําเลยกลับฟ้องโจทก์ในคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจําเลย กล่าวคือ โจทก์เป็นผู้เริ่มคดีโดยฟ้องจําเลยก่อน แล้วจําเลยจึงได้ฟ้องโจทก์บ้างในคดีเดียวกันโดยกล่าวรวมมาในคําให้การ
แต่ฟ้องแย้งนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ถ้าฟ้องแย้งนั้น เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหากจะฟ้องแย้งไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม)

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยทําสวนมีที่ดินบางส่วนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยมิได้รุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และถึงแม้จําเลยจะรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ได้อยู่โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ จําเลย จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคําพิพากษาว่าจําเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดินนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยรุกล้ําเข้าไป ในที่ดินของโจทก์ แต่จําเลยให้การว่ามิได้รุกล้ํา คดีจึงมีประเด็นว่าจําเลยบุกรุก (รุกล้ํา) หรือไม่ ดังนั้น ประเด็นแรก ที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนคือว่าที่ดินเป็นของโจทก์หรือจําเลยจึงค่อยมาวินิจฉัยฟ้องแย้ง และหากวินิจฉัยแล้ว

ฟังไม่ได้ว่าจําเลยบุกรุก ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาตามฟ้องแย้ง การฟ้องแย้งของจําเลย จึงเป็นการฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ดังนั้น จําเลยจึงไม่สามารถฟ้องแย้งในกรณีดังกล่าวนี้ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

สรุป จําเลยไม่สามารถฟ้องแย้งในกรณีดังกล่าวนี้ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทําละเมิด แก่โจทก์เป็นเงินคนละ 500,000 บาท ครบกําหนดยื่นคําให้การในวันที่ 5 มีนาคม 2564 จําเลย ทั้งสองไม่ยื่นคําให้การภายในเวลาที่กฎหมายกําหนดดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2564 จําเลยที่ 1 มาศาล และแจ้งต่อศาลว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดีพร้อมกับยื่นคําร้องขออนุญาต ยื่นคําให้การ โดยอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคําให้การ และแนบคําให้การมาด้วย ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่ได้มาศาล ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคําร้องของจําเลยที่ 1 ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2564 โจทก์ ยื่นคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีจําเลยทั้งสองโดยขาดนัด หลังจากนั้น ศาลชั้นต้น ไต่สวนคําร้องของจําเลยที่ 1 และมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การ เพราะเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การเป็นไปโดยจงใจ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยทั้งสองชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์คนละ 350,000 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้จําเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์เต็มตามฟ้อง ไม่อุทธรณ์ในส่วนของจําเลยที่ 1 ส่วนจําเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด
ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น
เสียจากสารบบความ

มาตรา 199 “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาล ในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัด ยื่นคําให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จําเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนําสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคําขอของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ ตามมาตรา 199 ตรี มาก่อน จําเลยนั้นจะขอยื่นคําให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้”

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น ค่าเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2) คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 จะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมาย บุคคลที่มีสิทธิยื่นคําขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องเป็นจําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัด
โดยจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวมิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวจะต้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) และมาตรา 199 วรรคสาม

ตามข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การของจําเลยที่ 1 เป็นไป โดยจงใจ จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสองนั้น ย่อมทําให้ จําเลยที่ 1 จะขอยื่นคําให้การอีกหรือจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม

ดังนั้น เมื่อต่อมาศาลพิพากษาให้จําเลยที่ 1 แพ้คดี และแม้ว่าจําเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นอุทธรณ์ คําพิพากษานั้นก็ตาม จําเลยที่ 1 จะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าคําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม

กรณีของจําเลยที่ 2 การที่จําเลยที่ 2 ไม่ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาที่กฎหมายกําหนด และ โจทก์ได้ยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้วนั้น ต่อมาเมื่อ ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยที่ 2 แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ และจําเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษานั้น จําเลยที่ 2 จึงมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี

สรุป จําเลยที่ 1 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ส่วนจําเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

 

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ1. นางกุหลาบและนางจําปาเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3 ก.) นายแดงบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว นางกุหลาบจึงฟ้องขับไล่นายแดงออกจากที่ดินพิพาท ต่อมา ในระหว่างพิจารณาคดี นางจําปายื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว โดยอ้างว่านางจําปา เป็นผู้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนางกุหลาบและนางกุหลาบฟ้องคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับ ความยินยอมจากนางจําปา นางจําปาจึงขอใช้สิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย

ให้วินิจฉัยว่า นางจําปามีสิทธิยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้อง ขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”

มาตรา 58 วรรคสอง “ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อนใช้สิทธิ อย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด
และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียม อันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจําเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วย คู่ความที่ตนเข้าแทน”

วินิจฉัย

การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับ โดยคําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง แต่ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดตาม
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือจําเลยร่วม และจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิมไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นางกุหลาบและนางจําปาเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ร่วมกัน และเมื่อนายแดงบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว นางกุหลาบจึงฟ้องขับไล่นายแดงออกจากที่ดินพิพาท ต่อมา ในระหว่างพิจารณาคดี นางจําปาได้ยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว โดยอ้างว่านางจําปาเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนางกุหลาบนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกได้ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดี ด้วยความสมัครใจ เนื่องจากตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ดังนั้น นางจําปาจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับนางกุหลาบได้ แต่นางจําปาจะใช้สิทธิอย่างอื่นที่มีอยู่แก่คู่ความ ฝ่ายที่ตนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์เดิมคือนางกุหลาบไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง)

สรุป นางจําปามีสิทธิยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความโดยเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) เนื่องจากตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น

 

ข้อ 2. นายเทากับนายเขียวมีภูมิลําเนาที่จังหวัดเพชรบุรี นายเทาตกลงทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของ นายเขียวซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญาเช่ากันถูกต้องตามกฎหมายที่จังหวัดนนทบุรี ต่อมานายเทาไม่ชําระค่าเช่าที่ดินให้แก่นายเขียวหลายเดือนติดต่อกัน นายเขียว ทวงถามให้นายเทาชําระค่าเช่า แต่นายเทาเพิกเฉยไม่ยอมชําระ นายเขียวจึงฟ้องขับไล่นายเทาให้ ออกจากที่ดินพิพาท
ให้วินิจฉัยว่า นายเขียวต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหา ริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ได้กําหนดไว้ว่า คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์ อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเท่ากับนายเขียวมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และนายเทาตกลง ทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของนายเขียวซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญาเช่ากันถูกต้อง ตามกฎหมายที่จังหวัดนนทบุรี ต่อมานายเทาไม่ชําระค่าเช่าที่ดินให้แก่นายเขียวหลายเดือนติดต่อกัน นายเขียวทวงถามให้นายเทาชําระค่าเช่าแต่นายเทาเพิกเฉยไม่ยอมชําระ นายเขียวจึงฟ้องขับไล่นายเทาให้ออกจากที่ดินพิพาทนั้น คําฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินพิพาทนั้นถือเป็นคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือ ประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นายเขียวจึงต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นศาล ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือนายเขียวอาจยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศาลที่จําเลย มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ

และเมื่อคําฟ้องของนายเขียวอาจยื่นต่อศาลได้สองศาลคือศาลจังหวัดกาญจนบุรีและศาลจังหวัด เพชรบุรี ดังนั้น นายเขียวจะยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีหรือศาลจังหวัดเพชรบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป นายเขียวจะยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีหรือศาลจังหวัดเพชรบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ประกอบมาตรา 5

 

ข้อ 3. นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าทางพิพาทในที่ดินของนายมังคุดเป็นทางภาระจํายอม
ซึ่งได้มาโดยอายุความแก่ที่ดินของนายทุเรียน ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคําพิพากษาว่าทางพิพาท เป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนโดยอายุความ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมานายทุเรียนฟ้อง
ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของ
นายทุเรียนเป็นอีกคดีหนึ่ง

ให้วินิจฉัยว่า คดีที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็น
ทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนนั้นเป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ํากับคดีแรกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน….”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1. คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว
2. คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด
3. ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
4. ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
5. ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
2. คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3. คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4. ห้ามโจทก์ฟ้อง
5. ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทในที่ดินของนายมังคุด เป็นทางภาระจํายอมซึ่งได้มาโดยอายุความแก่ที่ดินของนายทุเรียน ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคําพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนโดยอายุความ คดีถึงที่สุด ต่อมานายทุเรียนฟ้องขอให้ศาล
พิพากษาบังคับให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนเป็นอีกคดีหนึ่งนั้น แม้คดีแรกและคดีหลังจะมีคําขอบังคับท้ายฟ้องแตกต่างกัน แต่ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณานั้นเป็นเรื่องจาก มูลฐานเดียวกันคือเรื่องทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่นายทุเรียนโจทก์สามารถเรียกร้องโดยมีคําขอให้บังคับนายมังคุดจําเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมในคดีแรกได้อยู่แล้ว แต่โจทก์ ไม่ได้เรียกร้องมาในคราวเดียวกันในคดีแรก แต่กลับนํามาฟ้องเรียกร้องในคดีหลัง จึงเป็นกรณีที่โจทก์รื้อร้อง ป้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และคดีแรกนั้นศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีหลังที่นายทุเรียนโจทก์ฟ้องนายมังคุดจําเลยจึงเป็นการฟ้องซ้ํากับคดีแรกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 แต่ไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป คดีที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทาง ภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนนั้นเป็นฟ้องซ้ํากับคดีแรก แต่ไม่เป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4. นายม่วงยื่นคําฟ้องว่านางชมพูขับรถยนต์โดยประมาทขนนายม่วงได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้
ค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นค่าซ่อมรถยนต์จํานวนห้าแสนบาท แต่นางชมพูไม่ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามกฎหมาย

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงต้องดําเนินการอย่างไร เพราะเหตุใด

(ข) หากศาลมีคําสั่งให้นายม่วงส่งพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์มายังศาล ซึ่งศาลได้ตรวจดู
เอกสารดังกล่าวและไม่ได้สืบพยานอื่นอีก ต่อมาศาลพิพากษาให้นางชมพูชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่นายม่วงตามฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็น
ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อ กฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้าง ของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายม่วงยื่นคําฟ้องว่านางชมพูขับรถยนต์โดยประมาทชนนายม่วงได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นค่าซ่อมรถยนต์จํานวนห้าแสนบาท แต่นางชมพูไม่ยื่นคําให้การภายใน กําหนดเวลาตามกฎหมายนั้น ย่อมถือว่านางชมพูจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 ดังนั้น หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงโจทก์จะต้องยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลา ที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง

(ข) เมื่อคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด แม้โจทก์จะขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินจํานวนห้าแสนบาท แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจ กําหนดจํานวนได้แน่นอน ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบได้เองตามที่ศาลเห็นว่าจําเป็นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่งให้นายม่วง ส่งพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์มายังศาล ซึ่งศาลได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวและไม่ได้สืบพยานอื่นอีกแล้วศาลได้พิพากษาให้นางชมพูชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายม่วงตามฟ้องนั้น คําพิพากษาของศาลดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2)

สรุป

(ก) หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงจะต้องยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นระยะเวลายื่นคําให้การเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด

(ข) คําพิพากษาของศาลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3105 (LAW3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายนริศ ผู้ร้องเป็นชายโดยกําเนิด ต่อมาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นหญิงและ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นริศา” ผู้ร้องต้องการใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมา จากเพศชายเป็นเพศหญิง

ดังนี้ ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิง ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้จะต้อง เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคลมีสิทธิ เสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1. กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอ เป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2. กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจําเป็น เกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาล
ตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนริศผู้ร้องซึ่งเป็นชายโดยกําเนิด ต่อมาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลง อวัยวะเพศเป็นหญิงและได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นริศา” ต้องการใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมา จากเพศชายเป็นเพศหญิง ดังนี้ ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็น เพศหญิงได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เพศของบุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายรับรองและถือเอาตามกําเนิดนั้น กรณีเพศหญิง ตามพจนานุกรม คือ คนที่คลอดลูกได้ แต่ผู้ร้องเป็นชายโดยกําเนิดแม้จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ เป็นหญิงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องที่จะขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมาได้ อีกทั้ง ไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาล เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิงไม่ได้

สรุป ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิงไม่ได้

 

ข้อ 2. นางพุดซ้อนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราด และนางจําปีมีภูลําเนาที่จังหวัดชลบุรี นางพุดซ้อน ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวนห้าแสนบาทจากนางจําปี ซึ่งมีกําหนดเวลาชําระหนี้คืนภายในหนึ่งปี โดย ทั้งสองตกลงทําสัญญากู้ยืมกันที่ประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นสามเดือนนางพุดซ้อนย้ายภูมิลําเนา ไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อถึงกําหนดเวลาชําระหนี้ นางพุดซ้อนเพิกเฉยและไม่ยอมชําระเงินคืน ให้แก่นางจําปี นางจําปีประสงค์จะยื่นคําฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นางพุดซ้อนชําระหนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงิน

ให้วินิจฉัยว่า นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคําฟ้อง

(1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่ง
เป็นศาลที่มีเขตอํานาจ

(2) ในกรณีที่จําเลยไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก) ถ้าจําเลยเคยมีภูมิลําเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกําหนดสองปีก่อนวันที่
มีการเสนอคําฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลําเนาของจําเลย

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิ หรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา 4 ตรี “คําฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจําเลยมิได้มีภูมิลําเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

คําฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น
การชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางพุดซ้อนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราดได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน ห้าแสนบาทจากนางจําปีซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญากู้ยืมกันที่ประเทศเวียดนาม และหลังจากนั้น 3 เดือน นางพุดซ้อนย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ นางพุดซ้อน

เพิกเฉยและไม่ยอมชําระเงินคืนให้แก่นางจําปี และนางจําปีประสงค์จะยื่นคําฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นางพุดซ้อน ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้นางพุดซ้อน จําเลยไม่ได้มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมูลคดีก็ไม่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่นางจําปีโจทก์ มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี กล่าวคือ นางจําปี สามารถยื่นคําฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่ง หรือต่อศาลที่นางจําปีโจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลคือศาลจังหวัดชลบุรีหรือต่อศาลที่ทรัพย์สินของนางพุดซ้อนจําเลยซึ่งอาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในเขตศาลนั่นเอง โดยไม่ต้องพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ใช่คําฟ้องที่มุ่งบังคับ เอากับตัวอสังหาริมทรัพย์โดยตรงและไม่ใช่คําฟ้องที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด

และแม้กรณีนี้จะปรากฏว่าจําเลยซึ่งไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร แต่เคยมีภูมิลําเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรภายในกําหนด 2 ปีก่อนวันที่มีการเสนอคําฟ้องคือมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราดก็ตาม แต่นางจําปี โจทก์จะฟ้องนางพุดซ้อนจําเลยที่ศาลจังหวัดตราดตาม ป.วิ.แพ่ง 4 (1) ประกอบมาตรา 3 (2) (ก) ไม่ได้ เพราะ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้วคือมีมาตรา 4 ตรี บัญญัติไว้ โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 4 ตรี โดยไม่ต้องนําบทบัญญัติทั่วไปเรื่องเขตอํานาจศาลมาตรา 3
และมาตรา 4 มาใช้บังคับ

และเมื่อตามข้อเท็จจริงดังกล่าว นางจําปีโจทก์สามารถยื่นคําฟ้องของตนต่อศาลได้สองศาล หรือกว่านั้นตามมาตรา 4 ตรี ดังนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 นางจําปีโจทก์จึงสามารถยื่นคําฟ้องต่อศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัดชลบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

สรุป นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดชลบุรี

 

ข้อ 3. นายศรเพชรเป็นโจทก์ยื่นคําฟ้องนายศรรามเป็นจําเลย ว่านายศรรามขับรถด้วยความประมาท ชนรถยนต์ของตนเป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย ขอให้นายศรรามชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ย นายศรรามยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าความประมาทไม่ได้เกิดจากฝ่ายตนแต่เกิดจาก นายศรเพชรเป็นฝ่ายประมาท ขอให้ศาลยกฟ้องที่นายศรเพชรฟ้องมาและพิพากษาให้นายศรเพชร ชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนทั้งสิ้น 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลได้มีการชี้สองสถานและกําหนด ประเด็นข้อพิพาทเรียบร้อยแล้ว

ในวันสืบพยานนายศรเพชรได้ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องโดยต้องการเพิ่มเติมค่าเสียหาย จาก 500,000 บาท เป็น 550,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องดังกล่าว ต่อมา นายศรเพชรจึงยื่นคําร้องขอถอนฟ้องที่ฟ้องนายศรราม โดยศาลได้ถามนายศรรามแล้วแต่นายศรรามไม่ได้คัดค้าน ศาลจึงมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องของนายศรเพชรแล้วศาลจะสามารถพิจารณา
ฟ้องแย้งของนายศรรามต่อไปได้หรือไม่ และหากในระหว่างพิจารณาฟ้องแย้งของนายศรรามนี้
นายศรเพชรจะฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่จะสามารถได้ทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

มาตรา 176 “การทิ้งคําฟ้องหรือถอนคําฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่ง มิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคําฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของ กฎหมายว่าด้วยอายุความ

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายศรเพชรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศรรามเป็นจําเลย ว่านายศรรามขับรถ ด้วยความประมาทชนรถยนต์ของตนได้รับความเสียหาย ขอให้นายศรรามชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาทพร้อม ดอกเบี้ย นายศรรามยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าความประมาทไม่ได้เกิดจากฝ่ายตน แต่เกิดจากนายศรเพชรเป็น ฝ่ายประมาท ขอให้ศาลยกฟ้องที่นายศรเพชรฟ้องมาและพิพากษาให้นายศรเพชรชดใช้ค่าเสียหายให้กับตน ทั้งสิ้น 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย และศาลได้มีการชี้สองสถานและกําหนดประเด็นข้อพิพาทเรียบร้อยแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อนายศรรามได้ฟ้องแย้งมาในคําให้การด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ฟ้องแย้งของนาย ศรรามถือเป็นคําฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การที่นายศรเพชรได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องและศาลได้อนุญาตให้ถอน ฟ้อง การถอนฟ้องของนายศรเพชรย่อมมีผลเฉพาะฟ้องเดิมของนายศรเพชร ส่วนฟ้องแย้งนั้นศาลสามารถดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

การที่ศาลอนุญาตให้นายศรเพชรถอนฟ้องนั้น การถอนคําฟ้องของนายศรเพชรย่อมมีผลตาม ป. วิ.แพ่ง มาตรา 176 กล่าวคือ ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น ทําให้นายศรเพชรกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่ได้มีการยื่นฟ้องเลย นายศรเพชรจึงไม่ได้มีสถานะเป็นโจทก์อีกต่อไป ดังนั้น หากในระหว่างการ พิจารณาฟ้องแย้งของนายศรราม การที่นายศรเพชรจะฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่ นายศรเพชรย่อม สามารถทําได้ และไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายศรเพชรถอนฟ้องแล้ว ศาลสามารถพิจารณาฟ้องแย้งของ นายศรเพชรต่อไปได้ และนายศรเพชรสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจําเลยโดยอ้างว่าจําเลยจุดไฟเผาหญ้าและใบไม้ในที่ดินของจําเลย
แต่เปลวไฟได้ลุกลามเข้ามาเผาไหม้ต้นกาแฟในที่ดินของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับ จําเลยชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาท จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลได้พิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบแล้ววินิจฉัยว่าคําฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายศาลงดสืบพยานและได้มีคําพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี

ดังนี้ คําพิพากษาศาลดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็น
ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัด ต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้าง ของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้
โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่ เห็นว่าจําเป็น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีแพ่ง การที่โจทก์ฟ้องจําเลยขอให้ศาลบังคับจําเลยชดใช้เงินค่าสินไหม ทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทนั้น เมื่อจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ได้มีคําขอเพื่อให้ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ให้ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดไป (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง) แต่ศาลจะมีคําพิพากษาหรือ คําสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูล และไม่ขัดต่อกฎหมาย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง) และถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ ไปฝ่ายเดียวด้วย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่คดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ ในอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นคดีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวน ได้โดยแน่นอน เพราะคําฟ้องที่มีคําขอให้จําเลยชําระเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น ศาลมีอํานาจพิพากษาปรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนให้ลดน้อยลงจากคําขอท้ายคําฟ้องได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ ค่าเสียหายที่แท้จริงและเป็นค่าเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุแห่งการทําละเมิด ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) กล่าวคือ การที่ศาลจะมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจําเลย ขาดนัดยื่นคําให้การได้ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวด้วย เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลได้งดสืบพยานและได้มีคําพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี โดยที่ศาลไม่ได้สืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) กําหนด คําพิพากษาศาลดังกล่าว จึงมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สรุป คําพิพากษาศาลดังกล่าว มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

WordPress Ads
error: Content is protected !!