LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วน จํากัดความรับผิด” ทั้งนี้ ท่านจะต้องอธิบายความแตกต่างดังกล่าวอย่างน้อย 14 รายการ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่า
หนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตน
หรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็นเหตุ ให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนนั้น ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ

15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 นายโกเข้าทําข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายโอ โดยระบุว่า บุคคลทั้งสองตกลงจัดตั้งคณะบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ของประเทศไทย นายโกร่วมลงทุนเป็นเงิน 2 ล้านบาท นายโอร่วมลงทุนเป็นสวนปาล์ม 12 ไร่ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565 นายโตตกลงร่วมลงทุนกับนายโอตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลาง ค้าปาล์ม มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มและต้นปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ของประเทศไทย โดยนายโตซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถูกตั้งเป็นผู้จัดการ

ส่วนนายโอ เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มดังกล่าวมีรายได้และสิทธิเรียกร้อง ก่อนจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นเงินจํานวน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ เกิดจากสัญญาที่นายโอทํากับนายโกเพื่อขายต้นปาล์มให้แก่นายโกเพื่อใช้ในกิจกรรมของคณะบุคคลที่นายโกร่วมดําเนินการนั้น โดยที่นายโกนํารายได้ทั้งหมดไปใช้กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ในกรณี ที่นายโกในฐานะผู้แทนคณะบุคคลผิดนัดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าว นายโตจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1049 “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่”

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโตได้ตกลงร่วมลงทุนกับนายโอตั้งห้างหุ้นส่วน ภาคกลางค้าปาล์ม มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มและต้นปาล์ม โดยมีนายโตเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิดและเป็นผู้จัดการ ส่วนนายโอเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น ถือว่าทั้งสองได้ตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ จดทะเบียน กฎหมายให้ถือเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้น (มาตรา 1079) และเมื่อเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ได้จดทะเบียน) ย่อมมีผลตามมาตรา 1049 กล่าวคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอก ในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มดังกล่าวมีรายได้และสิทธิเรียกร้อง ก่อนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นเงินจํานวน 150 ล้านบาท ซึ่งรายได้และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาที่ นายโอทํากับนายโกเพื่อขายต้นปาล์มให้แก่นายโกเพื่อใช้ในกิจกรรมของคณะบุคคลที่นายโกร่วมดําเนินการนั้น ดังนั้น เมื่อนายโกในฐานะตัวแทนคณะบุคคลผิดนัดชําระหนี้ราคาต้นปาล์มดังกล่าว นายโตซึ่งมิใช่คู่สัญญากับ นายโกจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 1049

สรุป นายโตจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์หลักกฎหมายเรื่องการโอนหุ้นบริษัทจํากัด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทโดยละเอียด

ธงคําตอบ

หุ้นในบริษัทจํากัดนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ หุ้นชนิดระบุชื่อ และหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

1. หุ้นชนิดระบุชื่อ คือ หุ้นที่มีการระบุชื่อของบุคคลผู้เป็นเจ้าของหุ้นลงไว้ในใบหุ้น ซึ่งบริษัท เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปโดยไม่คํานึงว่าผู้ถือหุ้นนั้นจะชําระค่าหุ้นครบถ้วนตามมูลค่าแห่งหุ้นหรือไม่ และหุ้นชนิดระบุชื่อนี้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะเปลี่ยนเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือได้ เมื่อได้เวนคืนหุ้นชนิดระบุชื่อให้แก่บริษัท ซึ่งบริษัทจะได้ขีดฆ่าเสียและออกหุ้นใบใหม่ ซึ่งเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือให้ แก่กรณีดังกล่าวจะทําได้ก็แต่เฉพาะ หุ้นที่ได้มีการใช้ค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1134)

2. หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ คือ หุ้นที่มิได้มีการระบุชื่อของบุคคลผู้เป็นเจ้าของหุ้นลงไว้ในใบหุ้น เป็นแต่เพียงแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ หุ้นชนิดนี้ถ้าอยู่ในความครอบครองของผู้ใดก็ถือเสมือนว่าผู้นั้น
เป็นเจ้าของหุ้นนั้น

ในการออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(1) มีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตให้ออกหุ้นชนิดนี้ได้ และ

(2) จะออกใบหุ้นชนิดนี้ได้ก็แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้ค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1134)

หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนี้ ผู้ทรงใบหุ้นย่อมมีสิทธิที่จะมาขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อได้เวนคืนใบหุ้นฉบับออกให้แก่ผู้ถือให้แก่บริษัท และบริษัทได้ขีดฆ่าเสีย (ป.พ.พ. มาตรา 1136)

และไม่ว่าจะเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อหรือหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ในใบหุ้นทุก ๆ ใบจะต้องมีกรรมการ อย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ และในใบหุ้นต้องมีข้อความต่อไปนี้ด้วย คือ

(1) ชื่อบริษัท
(2) เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น
(3) มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
(4) ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละเท่าใด
(5) ชื่อผู้ถือหุ้นหรือคําแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ (ป.พ.พ. มาตรา 1128)

การโอนหุ้นของบริษัทจํากัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1. หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่กัน (ป.พ.พ. มาตรา 1135)

2. หุ้นชนิดระบุชื่อ การโอนหุ้นชนิดนี้จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ใน ป.พ.พ.
มาตรา 1129 วรรคสอง ดังนี้คือ

(1) จะต้องมีการทําเป็นหนังสือ
(2) จะต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน
(3) จะต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อตาม (2) (4) จะต้องมีการระบุเลขหมายของหุ้นซึ่งจะโอนกันนั้นด้วย

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว การโอนนั้นก็จะเป็น “โมฆะ” และการโอนหุ้นเช่นนี้จะนําไปใช้ยันกับบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ก็ต่อเมื่อได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสํานัก ของผู้รับโอนนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ตาม การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนี้ อาจมีข้อยกเว้นว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้นก็ได้ ถ้าเป็นกรณีในเหตุบางอย่าง เช่น ผู้ถือหุ้นตายหรือล้มละลาย อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนําใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทําได้ ทั้งได้นําหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป (ป.พ.พ.
มาตรา 1132)

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ห้างหุ้นส่วนสามัญแดงดีไซน์ แดง เหลือง ขาว และเขียว เป็นหุ้นส่วนกัน มีวัตถุประสงค์รับจ้าง ออกแบบสิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัยโดยมีเหลืองและขาวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนี้ได้ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล กิจการดําเนินมาได้หลายปีแล้ว มีกําไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 แดงประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรม บุตรชายของแดงไม่ประสงค์จะเข้าหุ้นแทนที่บิดา จึงได้ขอบอกเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญแดงดีไซน์ (นิติบุคคล) แต่หุ้นส่วนคนอื่น ๆ ไม่ประสงค์จะเลิก จึงได้คืนเงินลงหุ้นที่เป็นของแดงให้แก่ทายาทของแดงไป และห้างฯ ก็ได้ดําเนินกิจการต่อไป โดยใช้ชื่อห้างฯ เหมือนเดิม โดยทายาทของแดงไม่เคยคัดค้านในการใช้ชื่อแดงเป็นชื่อห้างฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ห้างฯ ได้ซื้ออุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ในสํานักงานของห้างฯ เป็นเงิน 1 แสนบาท และยังไม่ชําระหนี้ นอกจากนี้ยังเป็นหนี้ค่าเช่าสถานที่ ที่ใช้ประกอบกิจการตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2564 (จ่ายค่าเช่าทุกวันต้นเดือน) รวม 12 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ทําให้ห้างฯ จําต้องหยุดประกอบ กิจการชั่วคราวจึงไม่มีเงินชําระหนี้ทั้งสองรายนี้ เจ้าหนี้จึงได้มาปรึกษาท่านว่า ห้างฯ ยังคงใช้ชื่อแดง เป็นชื่อห้างฯ อยู่ ดังนี้ จะฟ้องทายาทของแดงให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ท่านแนะนําเจ้าหนี้ของห้างฯ พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1054 วรรคสอง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้า ต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดี หาทําให้ ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใด ๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1054 วรรคสอง เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดได้ตายลง แต่ผู้เป็นหุ้นส่วน คนอื่น ๆ ต้องการให้ห้างหุ้นส่วนนั้นดําเนินกิจการต่อไป (โดยการรับซื้อหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ตาย) และยังคงใช้ ชื่อของผู้ตายเป็นชื่อห้างหรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบเป็นชื่อห้างอยู่ด้วย ย่อมไม่ทําให้กองมรดกของผู้ตาย
จะต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่หุ้นส่วนผู้นั้นได้ตายลง

ตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนสามัญแดงดีไซส์ มีแดง เหลือง ขาว และเขียว เป็นหุ้นส่วนกัน โดยมีเหลืองและขาวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2562 แดงประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรม บุตรชาย ของแดงไม่ประสงค์จะเข้าหุ้นแทนที่บิดาจึงได้ขอบอกเลิกห้างฯ แต่หุ้นส่วนคนอื่น ๆ ไม่ประสงค์ที่จะเลิกห้างฯ จึงได้คืนเงินลงหุ้นที่เป็นของแดงให้แก่ทายาทของแดงไป และห้างฯ ก็ได้ดําเนินกิจการต่อไปโดยใช้ชื่อห้างฯ เหมือนเดิมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2564 ห้างฯ ได้ซื้ออุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ มาใช้ในสํานักงานของห้างฯ เป็นเงิน 1 แสนบาท และยังไม่ชําระหนี้ นอกจากนี้ยังเป็นหนี้ค่าเช่าสถานที่ที่ใช้ ประกอบกิจการตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2564 รวม 12 เดือน ดังนี้ เมื่อ
เมื่อหนี้ทั้งสองรายเป็นหนี้ที่ห้างฯ ได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังที่แดงถึงแก่ความตายไปแล้ว หนี้ทั้งสองรายจึงไม่ผูกพันกองมรดกหรือ ทายาทของแดงตามมาตรา 1054 วรรคสอง ดังนั้น เจ้าหนี้ของห้างฯ จะฟ้องให้ทายาทของแดงรับผิดในหนี้ ทั้งสองรายดังกล่าวไม่ได้

สรุป เจ้าหนี้ของห้างฯ จะฟ้องทายาทของแดงให้รับผิดในหนี้ทั้งสองรายดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัด สืบศักดิ์พาณิชย์ มีนายสืบเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด นายศักดิ์เป็น หุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างฯ มีวัตถุประสงค์ผลิตน้ํามัน สกัดเย็นจากเมล็ดกัญชงเพื่อจําหน่ายใช้เป็นยารักษาโรคทุกชนิด ห้างฯ ได้ซื้อเครื่องจักรเพื่อนํามา ผลิตน้ํามันกันซงและยังค้างชําระเงินค่าเครื่องจักรอยู่อีก 3 แสนบาท ส่วนนายสืบได้เรียนรู้วิธีการ ผลิตน้ํามันสกัดเย็นจากเมล็ดกันซึ่งเป็นอย่างดีจากการที่นักวิทยาศาสตร์ของห้างฯ ได้สอนให้ จึงได้ตั้งโรงงานเล็ก ๆ ผลิตน้ํามันสกัดเย็นจากผลกัญชงมาขายให้ลูกค้าของห้างฯ ด้วย เพราะนายสืบ รู้จักลูกค้าของห้างฯ เป็นจํานวนมาก และขายในราคาถูกกว่าของห้างฯ ด้วย ดังนี้ถามว่า

1. ถ้าห้างหุ้นส่วนจํากัดยังไม่ได้เลิกกันและห้างฯ ผิดนัดชําระหนี้ค่าเครื่องจักร เจ้าหนี้ค่าเครื่องจักร จะฟ้องนายสืบให้ชําระหนี้ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

2. การที่นายสืบค้าขายน้ํามันกัญชงสกัดเย็นแข่งขันกับห้างฯ นายศักดิ์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือ เรียกเอาผลกําไรจากนายสืบแทนห้างฯ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1082 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัด หรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

มาตรา 1090 “ผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใด ๆ เพื่อ ประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ และแม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับ การค้าขายห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม”

มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่ห้างหุ้นส่วนจํากัด สืบศักดิ์พาณิชย์ มีนายสืบเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด นายศักดิ์เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างฯ มีวัตถุประสงค์ผลิตน้ํามันสกัดเย็นจากเมล็ดกัญชงเพื่อจําหน่ายใช้เป็นยารักษาโรคทุกชนิด และห้าง ฯ ได้ซื้อเครื่องจักรเพื่อนํามาผลิตน้ํามันกัญชง และยังค้างชําระเงินค่าเครื่องจักรอยู่อีก 3 แสนบาทนั้น เมื่อปรากฏว่านายสืบซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดสืบศักดิ์ นายสืบจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ จํานวน ดังกล่าวด้วยเสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้ ค่าเครื่องจักรจึงฟ้องให้นายสืบรับผิดชําระหนี้ได้ แม้ว่าห้างฯ ยังไม่ได้เลิกกันก็ตาม เพราะถือเป็นข้อยกเว้นของ มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

2. การที่นายสืบได้ตั้งโรงงานเล็ก ๆ ผลิตน้ํามันสกัดเย็นจากผลกัญชงมาขายให้กับลูกค้าของ ห้างฯ นั้น แม้ว่าการค้าขายนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วน และเป็นการแข่งขัน กับห้างฯ ก็ตาม นายสืบก็สามารถทําได้ตามมาตรา 1090 ดังนั้น นายศักดิ์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเรียกเอา ผลกําไรจากนายสืบแทนห้างฯ ไม่ได้

สรุป
1. เจ้าหนี้ค่าเครื่องจักรสามารถฟ้องนายสืบให้ชําระหนี้ได้แม้ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะยังไม่ได้
เลิกกัน
2. นายศักดิ์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเรียกเอาผลกําไรจากนายสืบแทนห้างฯ ไม่ได้

 

ข้อ 3. เต้ ต้น และเตย ตกลงกันว่าจะเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท สามมิตร จํากัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ผลิต รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจําหน่ายโดยมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้น ทั้งหมด 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ก่อนจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ทั้งสามคนตั้งใจว่า จะลงทุนคนละ 10 ล้านหุ้น ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 20 ล้านหุ้น ทั้งสามคนตั้งใจว่าจะเสนอขายให้แก่ เพื่อน ๆ ของตนเอง ต่อมาเต้ได้ไปติดต่อขอซื้อโรงงานเก่าซึ่งเคยผลิตรถยนต์โดยใช้น้ํามันเชื้อเพลิง ในการขับเคลื่อนซึ่งปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้ปิดกิจการลงแล้วในราคา 50 ล้านบาท แต่ต้นไม่เห็นด้วย เพราะโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินที่เกิดน้ำท่วมขังเมื่อปี พ.ศ. 2554 และรัฐบาลปัจจุบันก็ยังแก้ไขเรื่องน้ำท่วมไม่ได้ และหากซื้อมาแล้วเกิดน้ำท่วมอีกก็จะเสียหายหนักมาก แต่เต้เห็นว่าราคาถูก และจะซื้อโดยไม่ฟังคําท้วงติงของต้น ต้นจึงขอลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการและเลิกลงทุนในครั้งนี้ เต้จึงชวนตาลมาลงหุ้นเพื่อให้ครบสามคน และได้ไปจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ โดยมีเต้ ตาล และเคยเป็นผู้เริ่มก่อการ โดยลง หุ้นไว้คนละ 10 ล้านหุ้น หลังจากจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว เต้จึงไปทําสัญญาซื้อโรงงานเก่าข้างต้นเพื่อจะนําไปปรับปรุงใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการผลิต รถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยวางมัดจําไว้ 10 ล้านบาท และได้ทําสัญญากับผู้ขายว่าเมื่อบริษัทได้ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นแล้วจะนําเงินที่ค้างชําระมาชําระให้ทั้งหมด แต่ปรากฏว่าประเทศไทยและทั่วโลก เกิดโรคโควิดระบาด เศรษฐกิจตกต่ํามาก ไม่มีคนมาซื้อหุ้นที่เหลืออีกเลย เป็นเหตุให้จัดตั้งบริษัท ไม่สําเร็จ เจ้าของโรงงานที่เป็นคู่สัญญากับแต้จึงได้ทวงถามเต้ ต้น ตาล และเตยให้รับผิดร่วมกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1113

ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า เต้ ต้น ตาล และเตยจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้รายนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1097 “บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งบริษัทจํากัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกัน ทําหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทําการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1098 “หนังสือบริคณห์สนธินั้น ต้องมีรายการดังต่อไปนี้ คือ

(6) ชื่อ สํานัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจํานวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด”

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้ และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เต้ ต้น และเตย ตกลงกันว่าจะเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท สามมิตร จํากัด ต่อมาเต้ได้ไปติดต่อขอซื้อโรงงานเก่าซึ่งเคยผลิตรถยนต์ โดยปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้ปิดกิจการลงแล้ว แต่ต้น ไม่เห็นด้วย แต่เต้เห็นว่าราคาถูกและจะซื้อโดยไม่ฟังคําท้วงติงของต้น ต้นจึงขอลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการ และเลิกลงทุนในครั้งนี้ เต้จึงชวนตาลมาลงหุ้นเพื่อให้ครบสามคน และได้ไปจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิโดยมี เต้ ตาล และเตย เป็นผู้เริ่มก่อการนั้น ย่อมถือว่าต้นซึ่งได้ลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการก่อนที่จะมีการจดทะเบียน หนังสือบริคณห์สนธิ อีกทั้งในหนังสือบริคณห์สนธิก็มิได้มีการระบุซื้อต้นเป็นผู้เริ่มก่อการ ต้นจึงมิใช่ผู้เริ่มก่อการ ตั้งบริษัท สามมิตร จํากัด ตามมาตรา 1097 และมาตรา 1098 (6)

และภายหลังจากการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว เต้จึงไปซื้อโรงงานเก่าข้างต้นเพื่อจะนําไปปรับปรุงใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทโดย การวางมัดจําไว้ 10 ล้านบาท และได้ทําสัญญากับผู้ขายว่าเมื่อได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นแล้ว จะนําเงินที่ ค้างชําระมาชําระให้ทั้งหมด แต่ปรากฏว่ามีเหตุทําให้การจัดตั้งบริษัทไม่สําเร็จนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการ ทําสัญญาซื้อขายโรงงานดังกล่าว ผู้ที่ต้องร่วมกันรับผิด คือ เต้ ตาล และเตย ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการ ตามมาตรา 1113 ส่วนต้นไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะต้นไม่ใช่ผู้เริ่มก่อการ

สรุป เฉพาะเต้ ตาล และเตย จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้รายนี้ ส่วนต้นไม่ต้องรับผิด

 

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อปี พ.ศ. 2556 นายโกศิลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอชาเป็นจําเลย โดยฟ้องว่าจําเลยประกอบ กิจการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญฯ ของตนเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น โดยคําขอท้ายคําฟ้องคือขอให้จําเลยหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมนั้นสืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2552 นายโกศลได้เข้าหุ้นกับนายโอชาโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของ ประเทศไทย บุคคลทั้งสองมิได้ตกลงเรื่องแต่งตั้งผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว

ห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังกล่าวมีนายทองโตเป็นลูกจ้าง ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวมีกําไรหลังหักภาษีจํานวน 100 ล้านบาท ทุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 นายโอชาตั้งกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มส่วนตัวอีกกิจการหนึ่งเฉพาะ ในจังหวัดขอนแก่นแยกต่างหากจากกิจการที่ร่วมกับนายโกศิล โดยที่นายโกศลไม่ทราบเรื่อง กิจการใหม่ดังกล่าว นายโอชามีกําไรหลังหักภาษีจํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 นายทองโตและนายโอชาได้ตกลงกันร่วมลงทุนตั้งห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายต้นปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย และ สํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัดตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญของนายโกศิลกับนายโอชา

โดยนายโอชาซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดถูกตั้งเป็นผู้จัดการ ส่วนนายทองโตเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัดมีกําไรหลังหักภาษี จํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 นายทรงพลตกลงร่วมลงทุนกับนายโอชา ตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะใน พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยนายทรงพลซึ่งเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดถูกตั้งเป็น ผู้จัดการ ส่วนนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด มีกําไรหลังหักภาษีจํานวนประมาณ 100 ล้านบาททุกปี

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน นายโกศิล ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย เพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1038 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ประกอบกิจการที่มีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการค้าขายแข่งกับห้างฯ หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็สามารถเรียกเอาผลกําไรทั้งหมด หรือ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเพียงแต่ไปลงหุ้นกับผู้อื่นโดยมิได้เป็นผู้ดําเนินกิจการ ในห้างหุ้นส่วนอันใหม่นั้น แม้ว่ากิจการที่ร่วมลงหุ้นนั้นจะมีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งขึ้นกับห้างหุ้นส่วนเดิมก็ไม่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายโกศิลเข้าหุ้นกับนายโอชาโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2552 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย และมีนายทองโต เป็นลูกจ้าง เมื่อทั้งสองไม่ได้ตกลงเรื่องแต่งตั้งผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ตามกฎหมายย่อมถือว่าทั้งสอง เป็นผู้จัดการ (มาตรา 1033)

ในปี พ.ศ. 2553 การที่นายโอชาได้ตั้งกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มส่วนตัวอีกกิจการหนึ่ง เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นแยกต่างหากจากกิจการที่ร่วมกับนายโกศล โดยที่นายโกศลไม่ทราบเรื่องกิจการใหม่
ของนายโอซาดังกล่าวนั้น การกระทําของนายโอชาไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เพราะแม้กิจการใหม่ของนายโอซาจะมีสภาพดุลเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนที่ นายโอชาเป็นหุ้นส่วนกับนายโกศลก็ตาม แต่กิจการใหม่ของนายโอชาเป็นกิจการเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งกิจการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมิได้เป็นกิจการในภาคกลาง จึงไม่เป็นกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโอชาจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโกศิล

2. ในปี พ.ศ. 2554 การที่นายทองโตและนายโอซาได้ตกลงร่วมลงทุนตั้งห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์ม
จํากัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายต้นปาล์มเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย และสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตรังการปาล์มจํากัด ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญของนายโกศิลกับนายโอชา โดยมีนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดและเป็นผู้จัดการนั้น กรณีดังกล่าวก็ไม่ถือว่านายโอชาได้กระทําการ ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เนื่องจากกิจการที่นายโอชาได้กระทํานี้เป็นกิจการ ค้าขายต้นปาล์ม จึงมิใช่กิจการที่มีสภาพดุจเดียวกันกับกิจการค้าขายน้ํามันปาล์มของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม ที่นายโอซาเป็นหุ้นส่วนกับนายโกศล แม้ว่ากิจการดังกล่าวจะเป็นกิจการเฉพาะจังหวัดภาคกลางของประเทศไทยและมีสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับสํานักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิมก็ตาม ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโอชาจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโกศิลเช่นเดียวกัน

3. ในปี พ.ศ. 2555 การที่นายทรงพลตกลงร่วมลงทุนกับนายโอซาตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลาง ค้าปาล์มจํากัด โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยมีนายทรงพลเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดและนายโอชาเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น กรณีดังกล่าวนี้ ย่อมถือได้ว่านายโอซาได้กระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 แล้ว เนื่องจากการที่นายโอชาเป็นหุ้นส่วน ไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัด ย่อมถือว่านายโอชาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ

ซึ่งมีอํานาจในการจัดกิจการของห้างหุ้นส่วนจํากัดดังกล่าว และกิจการที่ทํานั้นก็เป็นกิจการที่มีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการค้าขายของห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม และโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายโกศิล

ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้นายโกศิลย่อมสามารถฟ้องเรียกเอาผลกําไรซึ่งนายโอชาหามาได้ทั้งหมด หรือจะฟ้องเรียก เอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้นได้ตามมาตรา 1038 วรรคสอง แต่นายโกศิลจะฟ้องขอให้จําเลยหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

สรุป นายโกศลสามารถฟ้องนายโอชาให้รับผิดต่อตนได้เฉพาะกรณีที่นายโอชาได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มจํากัดร่วมกับนายทรงพล โดยสามารถฟ้องเรียกเอาผลกําไรทั้งหมดซึ่งนายโอชาหามาได้หรือจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม ได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้นก็ได้ แต่จะฟ้องขอให้นายโอชาหยุดกิจการซึ่งค้าแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเดิมไม่ได้

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดกับหุ้นส่วน ประเภทจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 14 รายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หุ้นส่วนและบริษัท

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่า
หนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวด
ไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนจํากัดย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็นเหตุ ให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนจํากัดย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ

15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์หลักกฎหมายเรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัด ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทโดยละเอียด

ธงคําตอบ

เรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทจํากัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กําหนดหลักไว้ดังนี้

1. ประเภทของการประชุมใหญ่

การประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1 การประชุมใหญ่สามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งกฎหมายบังคับให้บริษัทจํากัด จะต้องจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกภายในกําหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันจดทะเบียนบริษัท และในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (มาตรา 1171)

1.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เรียกประชุมกันเป็นพิเศษ ต่างหากจากการประชุมใหญ่สามัญ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การประชุมใหญ่วิสามัญอาจ เกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

1. เมื่อกรรมการเห็นสมควร ตามมาตรา 1172 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการจะ เรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร

2. เมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน ตามมาตรา 1172 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่
ขาดทุนนั้น”

3. เมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ร้องขอให้เรียกประชุม ตาม มาตรา 1173 ซึ่งบัญญัติว่า “การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้น ในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า หนึ่งในหัวแห่งจํานวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทําหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้น ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด”

4. เมื่อตําแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลง ตามมาตรา 1211 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามีตําแหน่งว่างลง ในจํานวนผู้สอบบัญชี ให้กรรมการนัดเรียกประชุมวิสามัญเพื่อให้เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจํานวน

2. วิธีเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

ในการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น มาตรา 1175 ได้กําหนดไว้ดังนี้

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

3. ในคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการ ที่จะได้ประชุมปรึกษากันด้วย

3. องค์ประชุม และการเลื่อนประชุม

ตามมาตรา 1178 ได้กําหนดไว้ว่า ในการประชุมใหญ่นั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมกัน แทนหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนของบริษัทจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมและสามารถประชุมเพื่อ ปรึกษากิจการกันได้ มิฉะนั้นแล้วที่ประชุมอันนั้นก็จะปรึกษากิจการอันใดไม่ได้

มาตรา 1179 ได้กําหนดไว้ว่า การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดไปแล้วถึง ชั่วโมง จํานวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุม หากการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกเพราะ ผู้ถือหุ้นร้องขอก็ให้เลิกประชุม แต่ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ก็ให้เรียกนัด ประชุมใหม่อีกคราวภายใน 14 วัน ซึ่งการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ กฎหมายกําหนดว่าไม่จําต้องครบองค์ประชุม

ส่วนการเลื่อนประชุมนั้น มาตรา 1181 ได้กําหนดไว้ว่า ผู้นั่งเป็นประธานจะเลื่อนการประชุมใหญ่ ใด ๆ ไปเวลาอื่นโดยความยินยอมของที่ประชุมก็ได้ แต่ในที่ประชุมซึ่งได้เลื่อนมานั้น ห้ามมิให้ปรึกษากิจการอันใด นอกไปจากที่ค้างมาแต่วันที่ประชุมก่อน

4. สิทธิในการลงมติ (ออกเสียงลงคะแนน)

โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ (มาตรา 1176) หรืออาจ ทําเป็นหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ (มาตรา 1187) แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในการออกเสียง ลงมติในที่ประชุมใหญ่ ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงมตินั้น กฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องมีหุ้นเท่ากับจํานวนที่ข้อบังคับของบริษัทได้กําหนดไว้ ถ้าผู้ถือหุ้นหลายคนมี จํานวนหุ้นไม่เท่าจํานวนดังกล่าว ก็มีสิทธิที่จะนําหุ้นมารวมกันเพื่อให้เท่าจํานวนนั้น แล้วตั้งให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รับมอบฉันทะในการลงมติออกเสียงแทน (มาตรา 1183)

2. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งได้ชําระเงินค่าหุ้นตามที่บริษัทได้เรียกเก็บเสร็จสิ้นแล้ว (มาตรา 1184)

3. จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อ เว้นแต่จะเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ได้นําใบหุ้นมาวางไว้
แก่บริษัทก่อนเวลาประชุม (มาตรา 1186)

4. จะต้องไม่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องซึ่งที่ประชุมจะลงมติ

5. การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน

ในการออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนนนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ 2 วิธี คือ

1. การลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีชูมือ ให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเอง หรือ มอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน (ผู้ถือหุ้น 1 คนต่อ 1 เสียง)

2. การลงคะแนนลับ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น ได้มี ผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยได้ร้องขอให้ลงคะแนนลับ (มาตรา 1190) และเมื่อมีการลงคะแนนลับการนับคะแนน ให้ถือว่าผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนน 1 หุ้นต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)

ในการลงคะแนนไม่ว่าจะโดยวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 นั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด (มาตรา 1193)

6. มติของที่ประชุมใหญ่

ในการลงมติสําหรับกิจการต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่นั้น มติที่ใช้มิได้ 2 กรณี คือ

1. มติสามัญ คือ การลงมติตกลงในที่ประชุมใหญ่สําหรับกิจการธรรมดาทั่วไป ซึ่งกฎหมาย มิได้บังคับให้ลงมติด้วยมติพิเศษ การลงมติในลักษณะนี้จะใช้คะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2. มติพิเศษ คือ การลงมติตกลงในที่ประชุมใหญ่สําหรับกิจการบางชนิดที่กฎหมายกําหนดว่า จะต้องใช้คะแนนข้างมากไม่ต่ํากว่า 3 ใน 4 ของจํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียง
ลงคะแนน (มาตรา 1194)

7. การเพิกถอนมติของที่ประชุม

มาตรา 1195 ได้กําหนดให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใด สามารถที่จะร้องขอเพื่อให้ ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ได้ ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท แต่จะต้องร้องขอเพื่อให้ศาลเพิกถอนมติอันผิดระเบียบนั้น ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันลงมตินั้น

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดง ดํา และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน โดยมิได้ กําหนดเวลาจะเลิกห้างกันเมื่อใด ห้างฯ นี้ได้เปิดดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ผลประกอบการก็ไม่ค่อยจะมีกําไรเท่าใด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 แดงจึงขอลาออกจากห้างฯ โดยดําและขาวก็ไม่ขัดข้อง แต่ก่อนที่แดงจะขอลาออกจากห้างฯ ดําหุ้นส่วนผู้จัดการได้กู้ยืมเงิน จากนายเทวามาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวน 5 ล้านบาท และยังมิได้ชําระหนี้เลย ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาดหนักทําให้ห้างฯ ขาดทุนมาก จึงไม่มีเงินใช้หนี้เงินกู้ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นายเทวาจึงได้มีหนังสือทวงถามให้ห้างฯ ชําระหนี้ แต่ห้างฯ ก็ไม่อาจชําระหนี้ได้ นายเทวาจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเป็นจําเลยที่ 1 และฟ้องหุ้นส่วนทุกคนรวมทั้งแดงที่ลาออกจากห้างฯ ไปแล้วด้วย ให้เป็นจําเลยร่วมกับห้างฯ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าแดงได้ออกจากห้างฯ ไปเมื่อใดหรือไม่

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าแดงจะต้องร่วมรับผิดร่วมกับห้างฯ หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1023 วรรคหนึ่ง “ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์ แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสารหรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขาย ของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกัน โดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่แดง ดํา และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียน และต่อมาดําหุ้นส่วนผู้จัดการได้กู้ยืมเงินจากนายเทวามาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวน 5 ล้านบาทนั้น ถือเป็นกรณีที่ดําได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน คือ แดง ดํา และขาวจึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 1050

การที่แดงได้ขอลาออกจากห้างฯ โดยดําและขาวไม่ขัดข้องนั้น แดงก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ยืม ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่แดงจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 และเมื่อห้างฯ ดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยหลักแล้วแดงจะต้องรับผิดโดยจํากัดเวลาเพียง 2 ปีนับแต่เมื่อแดง ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วน กล่าวคือถ้านายเทวาจะฟ้องให้แดงรับผิดในหนี้ดังกล่าว นายเทวาจะต้องฟ้องแดง ภายในกําหนด 2 ปีนับแต่วันที่แดงได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1068

อย่างไรก็ตาม การที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น ตามกฎหมายแดงจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนฯ ด้วยเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนและจะต้องนําความไปจดทะเบียนด้วย ถ้าไม่นําความไปจดทะเบียนผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาข้อความที่บังคับให้จดทะเบียนนั้นขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนนั้น แดงมิได้นําความไปจดทะเบียนแต่อย่างใด ชื่อในทางทะเบียนย่อมมีชื่อแดงปรากฏอยู่ด้วย และแม้ว่านายเทวา เจ้าหนี้จะฟ้องให้แดงรับผิดในหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวเมื่อพ้นกําหนด 2 ปีนับแต่วันที่แดงได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน ไปแล้ว แดงจึงไม่อาจยกเอาข้อกําหนดจํากัดความรับผิด 2 ปีนั้นขึ้นต่อสู้นายเทวาได้ตามมาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แดงจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย

สรุป แดงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกับห้างฯ

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองมีนายแสงเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดลงหุ้นด้วยเงิน 100,000 บาท นายทองเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดลงหุ้นด้วยแรงงานโดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนฯ มีวัตถุประสงค์ค้าขายยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ก่อนจดทะเบียนจัดตั้ง นายแสง ได้กู้ยืมเงินจากนายฟ้ามาลงหุ้นจํานวน 100,000 บาท โดยมีนายทองเป็นผู้ค้ําประกันเงินกู้รายนี้ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด นายทองได้มอบหมายให้นายแสงไปซื้อปุ๋ยเคมี มาจําหน่ายในห้างฯ เป็นจํานวนเงิน 150,000 บาท และห้างฯ ยังมิได้ชําระหนี้ค่าปุ๋ย ปรากฏว่า ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ฝนตกน้ําท่วมโกดังเก็บปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ทําให้ปุ๋ยและ ยาปราบศัตรูพืชเสียหายทั้งหมด ห้างฯ จึงไม่มีเงินชําระหนี้ ส่วนหนี้กู้ยืมเงินที่นายแสงนายฟ้า มาเป็นทุนในการลงหุ้น นายแสงก็ผิดนัดชําระหนี้

ดังนี้ถามว่า นายฟ้าจะฟ้องให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองชําระหนี้ได้หรือไม่ และหนี้ค่าปุ๋ยเคมี เจ้าหนี้จะฟ้องนายแสงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด จํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

มาตรา 1087 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน”

มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายแสงกู้ยืมเงินจากนายฟ้ามาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองจํานวน 100,000 บาท โดยมีนายทองเป็นผู้ค้ําประกันนั้น หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นหนี้ส่วนตัวของนายแสง มิใช่หนี้สินที่ห้างหุ้นส่วนจํากัด เป็นผู้กู้ นายแสงจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ดังนั้น นายฟ้าจะฟ้องห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองไม่ได้ จะต้องฟ้อง นายแสงเป็นการส่วนตัว เนื่องจากนายแสงกู้เงินมาเพื่อนํามาลงหุ้น และสามารถฟ้องนายทองผู้ค้ําประกันได้ด้วย กรณีนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1079 แต่อย่างใด

2. การที่นายแสงเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ได้รับมอบหมายจากนายทองหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ไปซื้อปุ๋ยเคมีมาจําหน่ายในห้างฯ เป็นเงินจํานวน 150,000 บาท และห้างฯ ยังมิได้ชําระค่าปุ๋ยนั้น การกระทํา ของนายแสงดังกล่าว แม้จะเป็นการจัดกิจการตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไป จัดกิจการงานของห้างฯ ซึ่งนายแสงไม่มีอํานาจกระทําเนื่องจากเป็นเพียงหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดตาม มาตรา 1087 และมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายแสงจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าปุ๋ยเคมีด้วย และเจ้าหนี้สามารถ ฟ้องให้นายแสงรับผิดได้แม้ห้างฯ จะยังไม่เลิกกันก็ตาม เพราะกรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

สรุป นายฟ้าจะฟ้องให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีทองชําระหนี้ที่นายแสงกู้ยืมเงินของตนจํานวน 100,000 บาทไม่ได้ ส่วนหนี้ค่าปุ๋ยเคมี เจ้าหนี้สามารถฟ้องนายแสงได้

 

ข้อ 3. นายเก่ง นายกล้า และนายกวง เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง นายเก่งและนายกล้าได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารของนายอํานวย เพื่อไว้ใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้ง เมื่อได้ทําสัญญามาแล้ว นายกวงได้ตรวจสอบดูก็พบว่า อาคารของนายอํานวยติดภาระจํานองธนาคารกรุงไทยอยู่จึงไม่พอใจนายเก่งและนายกล้าที่ไม่รอบคอบไม่ตรวจสอบสิทธิให้ดีจึงเกิดทะเลาะกัน นายกวงจึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท โดยนายเก่งและนายกล้าก็ไม่ขัดข้อง หลังจากที่นายกวงได้ถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการแล้ว

นายเก่งและนายกล้าได้ชักชวนนางสาวก้อยมาเป็นผู้ก่อการแทนนายกวง จนมีการจองซื้อหุ้นครบจํานวนที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิและได้มีการประชุมตั้งบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1108 แต่ที่ประชุมผู้เข้าซื้อหุ้นไม่อนุมัติให้ซื้ออาคารของนายอํานวยตามสัญญา จะซื้อจะขายเพราะติดจํานองธนาคาร นายอํานวยจึงเรียกค่าเสียหายจากนายเก่ง นายกล้า นายกวง และนางสาวก้อย แต่นายกวงต่อสู้ว่าตนได้ลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการไปแล้วและไม่เคยมายุ่งเกี่ยว อีกเลยจึงไม่ขอรับผิด ส่วนนางสาวก้อยต่อสู้ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว เพราะตนเข้ามาเป็นผู้ก่อการภายหลัง อีกทั้งนายเก่งและนายกล้าก็ได้ออกเงินค่าจองซื้อหุ้นให้ตน โดยตนไม่มีเจตนาจะลงหุ้นในบริษัทเลย จึงไม่ขอรับผิด

ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายกวงและนางสาวก้อยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้ และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ
ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่ง นายกล้า และนายกวง เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง นายเก่งและนายกล้าได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารของ นายอํานวยเพื่อไว้ใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น เมื่อได้ทําสัญญากันแล้ว นายกวงได้ตรวจสอบดูก็พบว่า อาคารของนายอํานวยติดภาระจํานองธนาคารกรุงไทยอยู่ จึงไม่พอใจนายเก่งและนายกล้าที่ไม่รอบคอบ
ไม่ตรวจสอบสิทธิให้ดีจึงเกิดทะเลาะกัน นายกวงจึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท โดยนายเก่งและ นายกล้าก็ไม่ขัดข้อง ต่อมานายเก่งและนายกล้าได้ชักชวนนางสาวก้อยเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการแทนนายกวง และเมื่อ มีการจองซื้อหุ้นครบจํานวนที่ระบุในหนังสือบริคณห์สนธิและได้มีการประชุมตั้งบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 แต่ที่ประชุมผู้เข้าซื้อหุ้นไม่อนุมัติให้ซื้ออาคารของนายอํานวยตามสัญญาจะซื้อจะขายเพราะติดจํานองธนาคารนั้น กรณีดังกล่าวย่อมมีผลตามมาตรา 1113 กล่าวคือ ผู้เริ่มก่อการบริษัททุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัด ในบรรดาหนี้สินและการจ่ายเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เมื่อนายอํานวยเรียกค่าเสียหายจากนายเก่ง นายกล้า นายกวง และนางสาวก้อย ดังนี้ นายกวงก็จะต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวนั้น เพราะแม้ว่านายกวงจะได้ลาออก จากการเป็นผู้เริ่มก่อการแล้ว นายกวงก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้ทําขึ้น ในขณะที่นายกวงเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัท ดังนั้น ข้ออ้างของนายกวงที่ว่าตนได้ลาออกจากการเป็นผู้เริ่มก่อการไปแล้วและไม่เคยมายุ่งเกี่ยวอีกเลยจึงไม่ขอรับผิดนั้นรับฟังไม่ได้

ส่วนนางสาวก้อย แม้จะเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการในภายหลังที่ได้มีการทําสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมตั้งบริษัท นางสาวก้อยในฐานะของการเป็น ผู้เริ่มก่อการคนหนึ่งก็จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินดังกล่าวนั้นด้วยตามมาตรา 1113 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า ตนเข้ามาเป็นผู้เริ่มก่อการในภายหลัง อีกทั้งนายเก่งและนายกล้าก็ได้ออกเงินค่าของหุ้นให้ตนโดยตนไม่มีเจตนา ที่จะลงหุ้นในบริษัทเลยนั้นไม่ได้เช่นกัน

สรุป ข้ออ้างของนายกวงและนางสาวก้อยรับฟังไม่ได้

 

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์เงื่อนไขและผลทางกฎหมายเรื่อง “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ตามประเด็นสําคัญที่ท่านได้ศึกษาโดยละเอียด (คําตอบจะต้องมีเนื้อหาอย่างน้อยเต็มสองหน้ากระดาษคําตอบ)

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์เงื่อนไขและผลทางกฎหมายของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน” มีดังนี้ คือ

1. การจัดตั้ง

ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนนั้น จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 และมาตรา 1025 ดังนี้ คือ

(1) จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงทําสัญญาเพื่อที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่ง คําว่า “บุคคล” นั้นอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ เข้ามาแสดงเจตนาเพื่อเข้าร่วมกันเป็นหุ้นส่วน ในห้างหุ้นส่วนนั้น ซึ่งการแสดงเจตนานั้นอาจจะเป็นการแสดงเจตนาด้วยวาจาหรือด้วยลายลักษณ์อักษรก็ได้

(2) จะต้องมีการตกลงเข้าทุนกัน หรือตกลงที่จะลงทุนร่วมกันนั่นเอง ซึ่งทุนที่จะนํามาลงนั้น อาจจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรืออาจจะเป็นแรงงานก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1026)

(3) มีการตกลงว่าจะกระทํากิจการร่วมกัน ซึ่งกิจการที่จะทําร่วมกันนั้นอาจจะเป็นกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ได้ แต่ต้องเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ไม่เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(4) วัตถุประสงค์ของการทําสัญญาเพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนกันนั้น จะต้องมีความประสงค์ ที่จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทํานั้น

(5) ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงกันว่าจะรวมกันรับผิดเพื่อหนี้ของหุ้นส่วนหรือห้างหุ้นส่วนนั้น โดยไม่จํากัดจํานวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 2025 ซึ่งบัญญัติว่า “อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภท ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

เมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการดังกล่าวแล้ว ห้างหุ้นส่วนก็จะเกิดขึ้นและเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ และถ้าไม่มีการจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวก็จะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน” (แต่ถ้ามีการจดทะเบียนจะเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียน” หรือ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”)

2. ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วน โดยไม่จํากัดจํานวน กล่าวคือ ไม่ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญแต่ละคนจะได้ลงหุ้นคนละเท่าใด เมื่อ ห้างหุ้นส่วนเกิดหนี้สินขึ้นมา ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้นให้แก่เจ้าหนี้ของห้างจนกว่าจะครบโดยไม่คํานึงว่าหุ้นส่วนแต่ละคนจะได้ลงหุ้นไว้คนละเท่าใด และผู้เป็นหุ้นส่วนจะแบ่งแยกความรับผิดชอบตามส่วนที่ตนได้ลงหุ้นไว้ไม่ได้ รวมทั้งจะปฏิเสธว่าตนมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการหรือไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างไม่ได้

เพียงแต่หนี้ของห้างหรือของหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องร่วมกันรับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนนั้น จะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการที่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของ ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1050) ซึ่งหนี้ที่ถือว่าเป็นหนี้ในทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น อาจจะเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนได้จัดทําไปภายในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน หรือหนี้ที่เกิดจากการกระทําอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนก็ได้

และความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนในกรณีที่ถูกเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนฟ้องร้องนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนบางประการ เช่น

(1) เจ้าหนี้สามารถฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนได้โดยไม่ต้องฟ้องห้างหุ้นส่วน ก่อนหรือต้องรอให้ห้างหุ้นส่วนผิดนัดชําระหนี้ก่อนแต่อย่างใด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญเมื่อไม่ได้จดทะเบียน ก็จะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล (ป.พ.พ. มาตรา 1015 และมาตรา 1070)

(2) เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นก็จะต้องชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้จนครบจะเกียงให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนก่อนไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1071)

(3) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียนนั้น เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วน ย่อมมีสิทธิบังคับเอาผลกําไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชําระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็น หุ้นส่วนคนนั้นที่มีอยู่ในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน แม้ว่าห้างหุ้นส่วนนั้นจะยังมิได้เลิกกัน (ป.พ.พ. มาตรา 1072)

3. การเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิจัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้ และให้ถือว่าทุกคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ป.พ.พ. มาตรา 1033) เว้นแต่จะมีการตกลงแต่งตั้งให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ป.พ.พ. มาตรา 1035)

4. การใช้สิทธิต่อบุคคลภายนอก

ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอก
ในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ (ป.พ.พ. มาตรา 1049)

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 12 ประเด็น พร้อมทั้งอธิบายหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบ

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น
ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตน
หรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ สามารถ โดยหลักห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็น หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้น
จะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด จะทําการเรียกประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 โดยมีวาระการประชุมคือการขอเพิ่มทุนของบริษัทอีกจํานวน 1 แสนหุ้น บริษัทได้ส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนโดยส่งไปรษณีย์แบบด่วน (อีเอ็มเอส) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ครั้นถึงวันนัดประชุม ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นมาประชุมแค่ 5 คน จากจํานวน ผู้ถือหุ้นทั้งหมด 20 คน โดยผู้ถือหุ้นที่ไม่มาประชุมอ้างว่าไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุม ทําให้บริษัท ไม่สามารถทําการประชุมได้ ดังนี้ ให้ท่านให้คําแนะนําแก่บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด ว่าตามที่บัญญัติ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย”

ตามมาตรา 1175 ได้กําหนดวิธีการในการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจํากัด ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้ง 1. และ 2. นั้น ถ้าเป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมเพื่อลงมติพิเศษแล้ว ให้กระทําการดังกล่าว ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

3. คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมตินั้นด้วย

ดังนั้น การที่บริษัท รามรุ่งเรือง จํากัด จะทําการเรียกประชุมสามัญประจําปีผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยมีวาระการประชุมคือการขอเพิ่มทุนของบริษัทอีกจํานวน 1 แสนหุ้นนั้น เมื่อการเพิ่มทุนของบริษัทจํากัดนั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องใช้มติพิเศษ ข้าพเจ้าจะแนะนําให้บริษัทฯ ส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น ของบริษัทโดยให้ส่งคําบอกกล่าวเป็นจดทะเบียนส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน และจะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามมาตรา 1175

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงประกอบอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ BENZ มือสองเป็นการส่วนตัว โดยมีดําเป็นลูกจ้าง และเป็นผู้จัดการทั่วไป แต่เมื่อมีผู้มาซื้อ-ขายรถหรือแลกเปลี่ยนรถ แดงก็จะบอกบุคคลเหล่านั้นว่า ดําและตนเป็นหุ้นส่วนกัน จนคนทั้งหลายเข้าใจว่าแดงและดําเป็นหุ้นส่วนกันจริง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานางสาวพรได้นํารถยนต์ BENZ รุ่น E300 ปี ค.ศ. 2015 มาขายให้แดง ในราคา 1,500,000 บาท แดงและดําก็ร่วมกันตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว และแดงยังได้บอกกับนางสาวพรว่าตนได้ร่วมหุ้นกับดําทํากิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ นางสาวพรก็ถามว่ากิจการดีไหม ดําได้ตอบแทนแดงว่าช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้มีแต่คนนํารถมาขาย แต่ไม่ค่อยมีคนซื้อ และดํายังขอลดราคาซื้อรถของนางสาวพรเหลือ 1,200,000 บาทด้วย นางสาวพร ก็ตกลง แดงจึงได้นําเช็คของตนสั่งจ่ายเงินสดเป็นค่ารถให้นางสาวพร แต่เมื่อนางสาวพรนําเช็ค ไปเบิกเงินสด ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า เงินในบัญชีของแดงมีไม่พอจ่าย นางสาวพร จึงบอกให้ดําร่วมรับผิดในเงินค่ารถด้วยเพราะเป็นหุ้นส่วนกับแดง แต่ดําก็บอกว่าตนเป็นแค่ลูกจ้าง ของแดงเท่านั้นและไม่ขอรับผิด นางสาวพรจึงมาปรึกษากับท่านว่า ในกรณีดังกล่าวข้างต้นตนจะ ฟ้องดําให้รับผิดร่วมกับแกงได้หรือไม่ ให้นักศึกษาแนะนํานางสาวพรด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็น หุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน แต่ได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน หรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนจะต้อง
รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงประกอบอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ BENZ มือสองเป็นการ ส่วนตัว โดยมีดําเป็นลูกจ้างและเป็นผู้จัดการทั่วไป และเมื่อมีผู้มาซื้อ-ขายรถหรือแลกเปลี่ยนรถ แดงก็จะบอก บุคคลเหล่านั้นว่าดําและตนเป็นหุ้นส่วนกัน จนคนทั้งหลายเข้าใจว่าแดงและดําเป็นหุ้นส่วนกันจริงนั้น กรณีนี้ย่อม ถือว่ารู้แล้วแต่ไม่คัดค้านปล่อยให้แดงแสดงว่าดําเป็นหุ้นส่วนตามนัยของมาตรา 1054 วรรคหนึ่งแล้ว อีกทั้ง เมื่อนางสาวพรได้นํารถยนต์ BENZ รุ่น E300 ปี ค.ศ. 2015 มาขายให้แดง แดงและดําก็ร่วมกันตรวจสอบเอกสาร เกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว และแดงยังได้บอกกับนางสาวพรว่าตนได้ร่วมหุ้นกับดําทํากิจการซื้อขายแลกเปลี่ยน รถยนต์ และดํายังได้แสดงตนด้วยกิริยาอาการว่าตนเป็นหุ้นส่วนกับแดง เช่น การตอบคําถามของนางสาวพร วากิจการไม่ดีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และยังขอลดราคารถยนต์คันดังกล่าวให้ต่ําลง ดังนั้น การกระทําของแดงและดํา ดังกล่าวข้างต้นจึงพอที่จะอนุมานได้ว่าทั้งสองคนได้ร่วมหุ้นกันซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ ดําจึงต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คที่แดงจ่ายเป็นค่าซื้อรถยนต์ให้กับนางสาวพรนั้น ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงินโดยอ้างว่าเงินในบัญชีของแดงมีไม่พอจ่าย นางสาวพรจึงบอกให้ดําร่วมกันรับผิดในเงินค่ารถด้วย ดังนี้
ดําจะปฏิเสธไม่ยอมรับผิดโดยอ้างว่าตนเป็นแค่ลูกจ้างของแดงเท่านั้นไม่ได้ ดําจะต้องรับผิดต่อนางสาวพรในหนี้ ดังกล่าวเสมือนเป็นหุ้นส่วนกับแดงตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นางสาวพรจึงสามารถฟ้องดําให้รับผิดรวมกับแดงได้

สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนําแก่นางสาวพรว่านางสาวพรสามารถฟ้องดําให้รับผิดร่วมกับแดงได้ เสมือนว่า
ทั้งสองเป็นหุ้นส่วนกัน

 

ข้อ 2. ต้นและเตยตกลงเข้าหุ้นส่วนกันทําร้านอาหารโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจํากัด ใบเตยโภชนา มีต้นเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด เตยเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเคยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินและอาคารของจอย เป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการ และในสัญญาระบุว่าคิดค่าเช่ารวม 120,000 บาท หากอยู่ไม่ครบหนึ่งปีก็ต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมด 120,000 บาทด้วย หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งแล้ว ห้างฯ ขาดเงินสดหมุนเวียน เตยจึงมอบหมายเป็นหนังสือให้ต้นไปกู้ยืมเงินจากตู้มาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวนสองแสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละบาทต่อเดือน และเตยยังได้จ้างกุ๊กฝีมือดีมาอีก 1 คน เพื่อ ปรุงอาหารในห้างฯ แต่กิจการของห้างฯ ก็ไปไม่รอดขาดทุนมาตลอด ห้างฯ ไม่สามารถชําระหนี้ เงินกู้และดอกเบี้ยที่เป็นเจ้าหนี้ได้ ไม่สามารถชําระหนี้ค่าเช่าที่ค้างชําระอยู่อีก 4 เดือน เป็นเงิน 40,000 บาท และหนี้ค่าทุกปรุงอาหารอีก 50,000 บาท เตยจึงได้เรียกร้องให้ต้นร่วมรับผิดในหนี้ ทั้งสามรายนี้ด้วย แต่ต้นเสียงว่าต้นรับผิดจํากัดจํานวนและได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว จึงไม่ขอรับผิด ในหนี้ใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ถามว่าข้ออ้างของต้นฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และต้นต้องรับผิดในหนี้รายใดบ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด จํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ต้นและเตยตกลงเข้าหุ้นกันทําร้านอาหารโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดใบเตยโภชนา มีต้นเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด และเตยเป็นหุ้นส่วนจําพวก ไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาห้างฯ มีหนี้สามราย ซึ่งหนี้ทั้งสามรายดังกล่าว ต้นจะต้อง ร่วมรับผิดในหนี้รายใดบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1. หนี้รายแรกซึ่งเป็นหนี้ที่เคยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินและอาคารของจอยเป็นสถานที่ประกอบ กิจการซึ่งยังค้างชําระอยู่อีก 4 เดือน เป็นเงิน 40,000 บาทนั้น เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็น ห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งตามมาตรา 1079 ให้ถือว่าเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้อง ร่วมกันรับผิดในหนี้นั้นโดยไม่จํากัดจํานวน ดังนั้น หนี้รายนี้ต้นจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ต้นจะอ้างว่าต้นเป็นหุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิดและได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้วไม่ได้

2. หนี้รายที่สองที่เป็นเจ้าหนี้ เป็นหนี้ที่เคยได้มอบหมายให้ต้นไปกู้ยืมมาใช้จ่ายในห้างฯ เป็นจํานวนเงินสองแสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละบาทต่อเดือนนั้น ต้นจะต้องร่วมรับผิดในหนี้รายนี้ด้วย เพราะ การกระทําของต้นซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดดังกล่าวนั้น ตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ถือว่าเป็น การสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ แล้ว (แม้ว่าต้นจะได้รับมอบหมายจากเตยก็ตาม) ดังนั้น ต้นจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้โดยไม่จํากัดจํานวนด้วย

3. หนี้รายที่สามซึ่งเป็นหนี้ที่เคยได้ทําสัญญาจ้างกักปรุงอาหารจํานวน 50,000 บาทนั้น เป็นหนี้ซึ่งเกิดจากการที่เคยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้กระทําในฐานะเป็นผู้แทนของห้างฯ สัญญาจ้างดังกล่าว จึงเป็นสัญญาระหว่างห้างฯ ซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง โดยที่ต้นมิได้เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่า ต้นเป็นนายจ้างของกุ๊ก ดังนั้น หนี้รายนี้ต้นจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยแต่อย่างใด

สรุป หนี้ค่าเช่าที่ดินและอาคารจํานวน 40,000 บาท และหนี้เงินกู้ยืมจํานวนสองแสนบาทพร้อม ดอกเบี้ยนั้น ต้นจะต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนหนี้ค่าถูกปรุงอาหารจํานวน 50,000 บาท ต้นไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

 

ข้อ 3. บริษัท กันกุล จํากัด ต้องการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาเรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการใหม่แทนชุดเก่าที่ครบวาระ เลขานุการคณะกรรมการจึงได้ทําเอกสารเชิญประชุมตามระเบียบวาระและเรื่องที่จะต้องพิจารณาไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนตามที่ปรากฏในสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งมีแต่หุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นเท่านั้นโดยได้ส่งไปทางไปรษณีย์ตอบรับไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 แต่มิได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่แต่อย่างใด เพราะ เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ประกอบกับบริษัทไม่มีหุ้นผู้ถือด้วย โดยเลขานุการคณะกรรมการ ได้ใช้วิธีบอกกล่าวเชิญประชุมทางโทรศัพท์ไปยังผู้ถือหุ้นจนครบทุกคน

เมื่อถึงวันประชุม (15 ตุลาคม2562) ผู้ถือหุ้นมาครบทุกคน ประธานคณะกรรมการที่ยังรักษาการอยู่จึงได้ดําเนินการประชุมและได้มีการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แทนคณะกรรมการชุดเก่าทั้งหมด นายเหลืองซึ่งเป็น กรรมการชุดเก่าไม่พอใจ เนื่องจากพรรคพวกของตนไม่ได้รับเลือก จึงได้โต้แย้งว่าการประชุมครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 1175 เนื่องจากมิได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แต่เลขานุการ คณะกรรมการได้โต้เถียงว่าเมื่อได้บอกกล่าวไปทางโทรศัพท์แล้วและผู้ถือหุ้นได้ทราบทุกคนแล้วถือว่าผู้ถือหุ้นทุกคนได้รู้เรื่องวันประชุมตีอยู่แล้ว การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ไม่เสียไปจะมาฟ้องร้อง ให้เพิกถอนมติในที่ประชุมไม่ได้

ดังนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า การประชุมของบริษัท กันกุล จํากัด เรื่องตั้งคณะกรรมการใหม่นี้จะเสียไปหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย”

ในการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่แทนชุดเก่าที่ ครบวาระนั้น ถือว่าเป็นการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติธรรมดามิใช่เป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ เพื่อลงมติพิเศษ ซึ่งการบอกกล่าวนั้นจะต้องดําเนินการบอกกล่าวตามที่มาตรา 1175 ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุม
ไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

3. ในคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการ ที่จะได้ประชุมปรึกษากันด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท กันกุล จํากัด ต้องการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการใหม่แทนชุดเก่าที่ครบวาระ โดยเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ส่งหนังสือนัดประชุมเป็นจดหมาย ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่มิได้ประกาศโฆษณา ในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่แต่อย่างใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัท กันกุล จํากัด ไม่มีหุ้นผู้ถือ มีแต่หุ้น ชนิดระบุชื่อเท่านั้น อีกทั้งเลขานุการคณะกรรมการก็ได้มีการบอกกล่าวเชิญประชุมทางโทรศัพท์ไปยังผู้ถือหุ้น จนครบทุกคนแล้ว และในวันประชุมผู้ถือหุ้นก็มาประชุมครบทุกคน ย่อมถือว่าการนัดประชุมครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นทุกคน ได้ทราบวันนัดประชุมและวาระเรื่องที่จะประชุมแล้วเป็นอย่างดี การโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่จึงมิใช่ เรื่องจําเป็นต้องกระทํา เพราะการบอกกล่าวนัดประชุมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 นั้น มีเจตนารมณ์ต้องการให้ ผู้ถือหุ้นทุกคนได้ทราบวันนัดประชุมใหญ่เท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้ถือหุ้นทุกคนได้รับทราบการนัดประชุมทางโทรศัพท์แล้ว การประชุมใหญ่ของบริษัท กันกุล จํากัด เรื่องการตั้งคณะกรรมการใหม่ในครั้งนี้จึงไม่เสียไป

สรุป การประชุมของบริษัท กันกุล จํากัด เรื่องตั้งคณะกรรมการใหม่ครั้งนี้ไม่เสียไป

* หมายเหตุ ในการกําหนดให้บริษัทจํากัดต้องนําคําบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ (ตาม 1.) นั้น ทําให้เกิดปัญหาและเป็นการสร้างภาระเกินความจําเป็น ดังนั้นในปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทําการยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยกําหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่า การลงโฆษณาคําบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น จะลงโฆษณาก็แต่เฉพาะกรณีที่บริษัทจํากัดมีการออกใบหุ้น ชนิดออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการออกใบหุ้นชนิดระบุชื่อทั้งหมด ก็ไม่ต้องนําคําบอกกล่าว เรียกนัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อีกต่อไป

LAW3102 (LAW3002) กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ในเดือนมกราคม 2562 นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้าตกลงร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญแห่งหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson เพื่อแสงหากําไรแบ่งปันกัน ห้างหุ้นส่วนฯ มีหนี้ค้างชําระค่าเครื่องมือซ่อมมอเตอร์ไซค์แก่นายโตจํานวน 1 ล้านบาท

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 นายฟ้าได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2562 นายน้ําและนายฟ้าได้ร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญทํากิจการ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson อีกแห่งหนึ่ง บริเวณใกล้ ๆ กับห้างหุ้นส่วนเดิม ได้รับเงินกําไร 4 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถ ของนายโต เป็นหนี้จํานวน 1 แสนบาท โดยสัญญาจ้างดังกล่าวนายฟ้าและนายโตเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ในฐานะคู่สัญญา

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายน้ำ นายฟ้า นายไม้ และนายโต มีสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

มาตรา 1033 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็น หุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน…

ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน”

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย
เพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

มาตรา 1049 “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏ ชื่อของตนนั้นหาได้ไม่”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขาย ของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกัน โดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายน้ำ นายไม้ และนายฟ้า ตกลงร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยมีวัตถุประสงค์ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson เพื่อหากําไรมาแบ่งปันกัน และห้างหุ้นส่วนมีหนี้ค้างชําระ ค่าเครื่องมือซ่อมมอเตอร์ไซค์แก่นายโตจํานวน 1 ล้านบาทนั้น หนี้ดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่หุ้นส่วน ได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน คือ นายน้ํา นายไม้ และ นายฟ้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ดังกล่าวโดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1025 และมาตรา 1050 และแม้นายฟ้า จะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวแล้ว นายฟ้าก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว เพราะเป็น หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 ดังนั้น หนี้จํานวน 1 ล้านบาท ดังกล่าวนี้ นายโตในฐานะเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้าร่วมกันรับผิดชําระหนี้แก่ตนได้

2. การที่นายน้ำและนายฟ้าได้ร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งทํากิจการ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson และอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับห้างหุ้นส่วนเดิมนั้น ประเด็นที่ต้อง วินิจฉัยคือ การกระทําของนายน้ำและนายฟ้าเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งหรือไม่

กรณีของนายน้ำซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับนายไม้ในห้างหุ้นส่วนเดิม เมื่อได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับนายฟ้าตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่ และประกอบกิจการที่สภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการ ของห้างหุ้นส่วนเดิมโดยมิได้รับความยินยอมจากนายไม้นั้น ย่อมถือว่านายน้ํากระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1038 วรรคหนึ่งแล้ว เพราะแม้ว่านายน้ําจะมิได้ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม โดยตรง แต่การเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนใหม่และอยู่ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ถือว่าเป็นการกระทําเสมือนเป็นการประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิมเช่นเดียวกัน เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันว่าจะให้หุ้นส่วนผู้ใดเป็นผู้จัดการ กฎหมายให้ถือว่าหุ้นส่วนทุกคนเป็นผู้จัดการและมีอํานาจ จัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนได้ทุกคน (มาตรา 1033) ดังนั้น กรณีนี้นายไม้ย่อมมีสิทธิตามมาตรา 1038 วรรคสอง คือสามารถเรียกเอาผลกําไรที่นายน้ําหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับ ความเสียหายเพราะการกระทําของนายน้ำได้

ส่วนนายฟ้านั้น เมื่อไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับนายในห้างหุ้นส่วนเดิมเพราะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนแล้วย่อมสามารถประกอบกิจการหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขาย แข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิมได้ ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด

3. การที่ห้างหุ้นส่วนที่นายน้ําและนายฟ้าร่วมกันจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถ ของนายโตจํานวน 1 แสนบาท โดยสัญญาจ้างดังกล่าวมีนายฟ้าและนายโตเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญานั้น เฉพาะนายฟ้าเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากนายโต ส่วนนายน้ําเมื่อมิได้เป็นคู่สัญญากับนายโตจึงไม่มีสิทธิ
เรียกร้องเอาจากนายโตได้ตามมาตรา 1349

สรุป นายโตมีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้า ร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเครื่องมือซ่อม รถมอเตอร์ไซค์จํานวน 1 ล้านบาทได้

นายไม้มีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํารับผิดกรณีที่นายน้ํากระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งได้

นายฟ้ามีสิทธิเรียกร้องให้นายโตรับผิดในหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถจํานวน 1 แสนบาทได้

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 12 รายการ โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทประกอบ การอธิบาย

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน
ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้อง
รับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น
(มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ สามารถ โดยหลักห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็น หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้น
จะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับ “การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท” ในประเด็นดังต่อไปนี้
โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทประกอบการอธิบาย
(ก) เรื่อง “วิธีการเรียกประชุม
(ข) เรื่อง “องค์ประชุม
(ค) เรื่อง “การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน”

ธงคําตอบ

(ก) เรื่อง “วิธีการเรียกประชุม”

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย” ตามมาตรา 1175 ได้กําหนดวิธีการในการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ไว้ดังนี้ คือ

1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมม่น้อยกว่า 7 วัน และ
2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้ง 1. และ 2. นั้น ถ้าเป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมเพื่อลงมติพิเศษแล้ว ให้กระทําการดังกล่าว ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

3. คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมตินั้นด้วย

(ข) เรื่อง “องค์ประชุม

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1178 “ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจํานวน หนึ่งในสีแห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่

ตามมาตรา 1178 ได้กําหนดไว้ว่า ในการประชุมใหญ่นั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมกันแทนหุ้น รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนของบริษัทจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมและสามารถประชุมเพื่อปรึกษา กิจการกันได้ มิฉะนั้นแล้วที่ประชุมอันนั้นก็จะปรึกษากิจการอันใดไม่ได้

(ค) เรื่อง “การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน”

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1182 “ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน แต่ในการลงคะแนนลับ ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคน มีคะแนนเสียงเสียงหนึ่งต่อหุ้นหนึ่งที่ตนถือ

มาตรา 1190 “ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่ เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น จะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ ลงคะแนนลับ”

มาตรา 1193 “ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน จะเป็นการชูมือก็ดี หรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็น ประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

ในการออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนนนั้น มี 2 วิธี คือ

1. การลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีชูมือ ซึ่งจะนับคะแนนผู้ถือหุ้น 1 คนต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)

2. การลงคะแนนลับ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น ได้มีผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยได้ร้องขอให้ลงคะแนนลับ (มาตรา 1190) และเมื่อมีการลงคะแนนลับการนับคะแนนให้ถือว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนน 1 หุ้นต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)

ในการลงคะแนนไม่ว่าจะโดยวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 นั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด (มาตรา 1193)

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1/2565

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW 3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 300,000 บาท ต่อศาลจังหวัด อุดรธานuต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี จึงมีคําสั่งโอนคดี
ไปยังศาลแขวงอุดรธานี
คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมี พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 300,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อัน ไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 300,000 บาท ทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ใน อํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

 

ข้อ 2. นายอุดมต้องการฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาเล่นแชร์ 3 สัญญา (วงแชร์) กับนางชม้อยเพื่อนสนิท โดยสัญญา (วงแชร์) ระบุฉบับ (วงแชร์) ละ 3 แสนบาท เนื่องจากนางชม้อยไม่ยอมให้เงินตนทั้งที่ตน เปียแชร์ได้ทั้ง 3 วง นายอุดมจึงมาปรึกษาท่านว่า หากตนจะฟ้องคดีแชร์ทั้ง 3 สัญญา (วงแชร์) นี้ เป็นคดีเดียว จะต้องนําเอาคดีไปฟ้องศาลใด ระหว่างศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือศาลแขวง สมุทรปราการ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่ง พระโขนง และศาลแพ่งมีนบุรี มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของ ศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอุดมต้องการฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาเล่นแชร์ 3 สัญญา (วงแชร์) กับนางชม้อย โดยสัญญา (วงแชร์) ระบุฉบับ (วงแชร์) ละ 3 แสนบาทนั้น เมื่อคดีนี้นายอุดมจะฟ้องเป็นคดีที่มี โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียวตามสัญญาเล่นแชร์ทั้ง 3 สัญญา กรณีนี้จึงต้องรวมสัญญาเล่นแชร์ทุกฉบับ เข้าด้วยกันและฟ้องเป็นคดีเดียว ซึ่งเมื่อรวมทุนทรัพย์ทั้งหมดแล้วจะมีทุนทรัพย์ 9 แสนบาท (ซึ่งเกิน 3 แสนบาท) ดังนั้น จึงต้องนําคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จะนําคดีไปฟ้องที่ศาลแขวง สมุทรปราการไม่ได้ เพราะเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

สรุป เมื่อนายอุดมมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนําให้นายอุดมนําสัญญาเล่นแชร์ทั้ง 3 ฉบับ ไปฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพราะศาลแขวงสมุทรปราการไม่มีอํานาจรับฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 3. นายทองฟ้องนายธนาในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่น (ระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) ต่อศาลจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนมไม่มีศาลแขวง) มีนายพุธ เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมคนเดียวเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ เมื่อนายพุธพิจารณาคดี เสร็จแล้วมีความเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจําคุกหนึ่งปี นายพุธจึงนําสํานวนคดีดังกล่าวไปปรึกษา นายศุกร์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม นายศุกร์ได้มอบหมายให้นางจันทร์ผู้พิพากษา

ศาลจังหวัดนครพนมตรวจสํานวนคดีและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายพุธ

ให้วินิจฉัยว่า การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนดไว้ ในมาตรา 30 แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25 (5) แล้วเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจําคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับนั้นอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองฟ้องนายธนาในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งมีระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 2 ปี ต่อศาลจังหวัดนครพนม โดยมีนายพุธเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเพียงคนเดียวเป็นองค์คณะ พิจารณาคดีนั้น เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูง ไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี ตามมาตรา 25 (5) และเมื่อนายพุธพิจารณาคดีเสร็จแล้วมีความเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจําคุก 1 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือน และเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษา ได้นั้น ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (2) ซึ่งตามมาตรา 29 (3) ได้กําหนดให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคือนายศุกร์มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาในคดีนี้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายศุกร์ได้มอบหมายให้นางจันทร์ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเป็นผู้ตรวจสํานวนคดีดังกล่าวและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายพุธ การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW 3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาปลอมเอกสาร (ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับ ไม่เกินหกหมื่นบาท) ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าว ต่อมาจําเลยแถลงว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้และต้องโอนคดีให้ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า คําแถลงของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่ง ตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัด ได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาปลอมเอกสาร ซึ่งมีระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เมื่อคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก อย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท จึงถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลแขวงตาม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ซึ่งโดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําคดีดังกล่าวไปฟ้องยังศาลแขวงพระนครใต้ มิใช่ศาลอาญากรุงเทพใต้

การที่โจทก์ได้นําคดีดังกล่าวไปฟ้องจําเลยยังศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ย่อมมีอํานาจใช้ดุลพินิจที่จะรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาได้ หรือจะโอนคดีไปให้ศาลแขวงที่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว
ก็ได้ แต่เมื่อปีกฎว่าคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ใช้ดุลพินิจรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงต้องพิจารณาคดีนี้ต่อไปโดยไม่ต้องโอนคดีไปให้ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่จําเลยแถลงว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ และต้องโอนคดีให้ศาลแขวงพระนครใต้ พิจารณาต่อไปนั้น คําแถลงของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คําแถลงของจําเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. ท่านเข้าใจเรื่องของอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นในการไต่สวนมูลฟ้อง และมีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) ว่าอย่างไร จงอธิบายโดยละเอียดพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

อํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น ในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดไม่เกินพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องได้ตาม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษา ถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) พิพากษายกฟ้องถ้าเห็นว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งการพิพากษายกฟ้องนี้ ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น สามารถทําได้เลยโดยอาศัยอํานาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5)

2. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกเกินสามปี หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องได้ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษา ถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) ในกรณีที่เห็นว่าคดีไม่มีมูล ถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 29 (3) ต้องมีผู้พิพากษาอีกหนึ่งคนเข้าร่วมตรวจสํานวนลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคนเดียวไม่ได้

ตัวอย่าง เช่น นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น เมื่อนายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น นายโทผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัดอุดรธานีจะ พิพากษายกฟ้องคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่ได้ จะต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วยตามมาตรา 29 (3)

 

ข้อ 3. ในศาลจังหวัดพล โจทก์นําคดีแพ่งทุนทรัพย์ 300,000 บาท มาฟ้อง นายเมฆผู้พิพากษาศาล จังหวัดพลเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดี ได้ทําการพิจารณาคดีอยู่นั้นกรมที่ดินกลับส่ง ใบประเมินราคาที่ดินมาให้ใหม่ ทําให้ทุนทรัพย์ในคดีนี้เปลี่ยนเป็น 600,000 บาท นายเมฆจึงนํา คดีไปให้นายอนันต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกันนายอนันต์ไปราชการที่ศาลฎีกา นายสุพจน์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีอาวุโสมากที่สุดที่ศาลจังหวัดพลจึงนําคดีมาพิจารณาและทําคําพิพากษาร่วมกันกับนายเมฆพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี การพิจารณาและพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 “ในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลละหนึ่งคน

เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทําการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทําการแทนก็ได้
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลจะเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา
ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้

ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25 (4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคา ทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ต้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์นําคดีแพ่งทุนทรัพย์ 300,000 บาท มาฟ้องที่ศาลจังหวัดพล นายเมฆผู้พิพากษาศาลจังหวัดพลเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี ในระหว่างพิจารณาคดีอยู่นั้น กรมที่ดินกลับ ส่งใบประเมินราคาที่ดินมาให้ใหม่ ทําให้ทุนทรัพย์ในคดีนี้เปลี่ยนเป็น 600,000 บาทนั้น ถือเป็นกรณีมีเหตุจําเป็นอื่น อันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (4) ในระหว่างพิจารณา เนื่องจากทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณา พิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว ทําให้นายเมฆไม่สามารถจะทําการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวต่อไปได้

นายเมฆจึงต้องนําคดีไปให้นายอนันต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกัน ตามมาตรา 29 (3) ประกอบมาตรา 26

แต่เมื่อปรากฏว่านายอนันต์ไปราชการที่ศาลฎีกาจึงไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ดังนั้น ผู้ที่จะทําการแทน นายอนันต์จึงต้องเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นรองลงมาจากนายอนันต์ตามมาตรา 9 วรรคสอง และ มาตรา 28 ส่วนนายสุพจน์เป็นเพียงผู้พิพากษาอาวุโส จะไปทําการนั่งพิจารณาคดีนี้ร่วมกับนายเมฆไม่ได้ เพราะ ผู้พิพากษาอาวุโสจะเป็นผู้ทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 9 วรรคท้าย ดังนั้น การที่ นายสุพจน์นําคดีนี้มาพิจารณาและทําคําพิพากษาร่วมกับนายเมฆให้โจทก์ชนะคดี การพิจารณาคดีและคําพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การพิจารณาคดีและคําพิพากษาคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาชิงทรัพย์ (ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท) โดยคดีดังกล่าวอยู่ในเขตศาลอาญาตลิ่งชัน แต่โจทก์นําคดี มาฟ้องที่ศาลอาญา ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดี ดังกล่าว ต่อมาจําเลยยื่นคําให้การว่าโจทก์ยื่นฟ้องผิดเขตศาล ศาลอาญาไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 16 วรรคสองและวรรคสาม “ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่น ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้

ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลอาญา และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือ ศาลอาญา ศาลแพ่งหรือศาลอาญา แล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 16 วรรคสองและวรรคสามนั้น ศาลอาญามีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้ ในกรณีที่มีการยื่นคดีต่อ ศาลอาญา แต่คดีนั้นอยู่นอกเขตของศาลอาญา ศาลอาญาอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจก็ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดอาญาข้อหาชิงทรัพย์ โดยคดีดังกล่าวอยู่ใน เขตศาลอาญาตลิ่งชัน แต่โจทก์นําคดีอาญามาฟ้องที่ศาลอาญา และเมื่อศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวนั้น ถือว่าศาลอาญาใช้ดุลยพินิจยอมรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ตามมาตรา 16 วรรคสองและวรรคสาม ดังนั้น การที่จําเลยยื่นคําให้การว่าโจทก์ยื่นฟ้องผิดศาล ศาลอาญา ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกฟ้องนั้น ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ตามคําให้การของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นในการไต่สวนมูลฟ้อง และ มีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”

อํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น ในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งใน คดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดไม่เกิน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องคดีได้ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) พิพากษายกฟ้องถ้าเห็นว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งการพิพากษายกฟ้องนี้ ผู้พิพากษาคนเดียว เป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น สามารถทําได้เลยโดยอาศัยอํานาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5)

2. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกิน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกเกินสามปี หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) ในกรณีที่เห็นว่าคดีไม่มีมูล ถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 29 (3) ต้องมีผู้พิพากษาอีกหนึ่งคนเข้าร่วมตรวจสํานวนลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคนเดียวไม่ได้

ตัวอย่าง เช่น นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น เมื่อนายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น นายโทผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัดอุดรธานีจะ พิพากษายกฟ้องคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่ได้ จะต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วย ตามมาตรา 29 (3)

 

ข้อ 3. นายศักดิ์สิทธิ์ นายสนอง และนายสยาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่ง ในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งสามได้พิจารณาคดีจนเสร็จสํานวนแล้วแต่ยังมิได้ทําคําพิพากษา นายศักดิ์สิทธิ์ได้ล้มป่วยกะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายสองและนายสยามจึงนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายดํารัสผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกคนหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายศักดิ์สิทธิ์ นายสนอง และนายสยาม ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะ พิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่งในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ เมื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งสามได้พิจารณาคดีจนเสร็จสํานวนแล้วแต่ยังมิได้ทําคําพิพากษา นายศักดิ์สิทธิ์ ได้ล้มป่วยกะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น กรณีนี้ถือว่านายศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถ ทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้ และถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 ดังนั้น นายสนอง และนายสยามจึงต้องนําสํานวนคดีนั้นไปให้ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาตามมาตรา 29 (1)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสนองและนายสยามได้นําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายดํารัสผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกคนหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย ดังนั้น คําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

WordPress Ads
error: Content is protected !!