การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS1300 (MC130) การพูดเบื้องต้น
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 100 ข้อ)
1 การพูดเป็นวิชาชีพ เพราะเหตุใด
1 เพราะวิชาการพูดเป็นวิชาทางด้านทักษะและศิลปะ
2 เพราะวิชาการพูดสามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ความจริงได้
3 เพราะการพูดมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน
4 เพราะทุกอาชีพต้องใช้การพูดเป็นเครื่องมือสื่อความหมาย
ตอบ 4 เพราะทุกอาชีพต้องใช้การพูดเป็นเครื่องมือสื่อความหมาย
การพูด (Speech) ไม่มีรูปแบบที่เด่นชัด แต่เป็นทุกๆอย่างรวมกัน คือ
1 เป็นวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงออกมา
2 เป็นวิชาทางด้านศิลปะ เพราะเป็นวิชาที่ต้องทำและมีวิธีการพูดเฉพาะบุคคล
3 เป็นทักษะ เพราะต้องเรียนรู้และฝึกฝน
4 เป็นวิชาชีพ เพราะคนเราทุกคนและทุกอาชีพต้องใช้การพูดเป็นเครื่องมือสื่อความหมาย
2 ข้อใดไม่ใช่สิ่งเร้าในวิชาการพูด
1 ผู้พูด 2 ผู้ฟัง 3 เนื้อเรื่องที่พูด 4 สิ่งแวดล้อม
ตอบ 3 เนื้อเรื่องที่พูด
สิ่งเร้าในวิชาการพูด ได้แก่
1 ตัวผู้พูด คือ สิ่งที่ผู้ฟังได้ยิน – ได้เห็นและมีความรู้สึกต่อสิ่งนั้น เช่น น้ำเสียง การแต่งกาย ท่าทาง บุคลิกภาพ ฯลฯ ของผู้พูดที่ปรากฏระหว่างการสื่อสาร หรือความคิด ทัศนคติของผู้พูด
2 กลุ่มผู้ฟัง คือ บุคคลที่เป็นเป้าหมายของการพูด ซึ่งพิจารณาจากความสนใจ ความพึงพอใจ ความต้องการ ประโยชน์ที่ได้รับและลักษณะของกลุ่ม
3 สิ่งแวดล้อม คือ สถานการณ์หรือสิ่งที่จะส่งผลต่อการพูดที่นอกเหนือจากผู้พูดและผู้ฟัง เช่น ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
3 การแสดงออกของผู้ฟังในขณะที่ฟังคุณสมปรารถนาพูด มีผลอย่างไร
1 ทำให้สมปรารถนาเปลี่ยนลีลาการพูด
2 เป็นทั้งการให้กำลังใจและการบั่นทอนกำลังใจ
3 ทำให้สมปรารถนารู้ว่าการพูดของตนประสบผลสำเร็จหรือไม่
4 สมปรารถนาเข้าใจถึงการรับรู้ของสังคม
ตอบ 3 ทำให้สมปรารถนารู้ว่าการพูดของตนประสบผลสำเร็จหรือไม่
การพูดทุกชนิดจะต้องมีผลที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างการพูดและหลังจากการพูด โดยผลที่เกิดจากการพูด (Impact) นั้นดูได้จากการแสดงออกของผู้ฟัง เช่น ในขณะที่ฟังผู้ฟังอาจจะผงกศีรษะ ปรบมือ หัวเราะ ยิ้ม ก้มหน้า ทำหน้ายุ่ง คิ้วขมวด ฯลฯ ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวของผู้ฟังจะทำให้ผู้พูดรู้ว่าการพูดของตนประสบผลสำเร็จหรือไม่
4 นอกจากภาษาจะบ่งบอกถึงการศึกษาของผู้พูดแล้ว ยังแสดงถึงอะไรได้อีกบ้าง
1 รสนิยมของผู้พูด 2 ชนชั้น – ตระกูลของผู้พูด
3 บุคลิกภาพของผู้พูด 4 ความงามของภาษา
ตอบ 1 รสนิยมของผู้พูด
ผู้พูดจะต้องรู้จักการใช้ภาษาพูดให้ถูกต้องกับความนิยมของกลุ่มชนในสังคม เพราะนอกจากภาษาจะเป็นเครื่องมือสื่อความหมายและบ่งบอกถึงการศึกษาของผู้พูดแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงรสนิยมที่ดีงามของผู้พูดอีกด้วย
5 หลักการใช้ภาษาพูดในที่ประชุมชนนั้น ควรเป็นอย่างไร
1 ภาษาเขียน 2 ภาษาสนทนาที่สุภาพ 3 ภาษาพิธีการ 4 ภาษากึ่งพิธีการ
ตอบ 2 ภาษาสนทนาที่สุภาพ
หลักการใช้ภาษาพูด มีดังนี้ 1 ควรใช้ภาษาให้เหมาะแก่บุคคล สถานที่ และโอกาส 2 ควรใช้ภาพูดที่สุภาพ หรือใช้ภาษาสนทนาที่สุภาพ ไม่ใช่ภาษาเขียนหรือภาราชการ 3 ควรใช้คำง่ายๆประโยคเรียบและสั้น 4 ควรใช้บุรุษสรรพนามให้บ่อยครั้งกว่าการใช้ภาษาเขียนธรรมดา 5 อย่าใช้ถ้อยคำ วลี (เช่น นอกจากนี้, แล้วก็, จะเห็นได้ว่า, ฯลฯ) หรือข้อความเดียวกันบ่อยๆ 6 ควรใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดอารมณ์หรือเห็นภาพพจน์
6 ถ้าจะพูดให้น้ำเสียงฟังแล้วมีเสน่ห์ ควรพูดอย่างไร
1 พูดคำว่า “ครับ” “ค่ะ” ท้ายประโยค 2 พูดใส่อารมณ์อย่างตลกขบขัน
3 พูดสำนวนไทย หรือประโยคเด็ดๆให้น่าประทับใจ 4 พูดในเนื้อหาที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ
ตอบ 1 พูดคำว่า “ครับ” “ค่ะ” ท้ายประโยค
น้ำเสียงในการพูดมีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งความหมายจากผู้พูดไปยังผู้ฟัง โดยเสน่ห์ของน้ำเสียงควรอยู่ที่การเพิ่มคำว่า “ค่ะ” “นะคะ” “ครับ” และ “นะครับ” ที่ท้ายประโยคด้วย
7 การพูดที่มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องรู้จักการควบคุมการผ่อนลมหายใจในขณะที่พูด วิธีหายใจที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
1 หายใจให้เงียบที่สุด 2 หายใจลึกๆและแรงๆ
3 หายใจเข้าสู่ศูนย์กลางของลำตัว 4 หายใจลึกๆพร้อมอ้าปากเล็กน้อย
ตอบ 3 หายใจเข้าสู่ศูนย์กลางของลำตัว
การพูดที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้พูดจะต้องรู้จักควบคุมการผ่อนลมหายใจในขณะที่พูด กล่าวคือ ต้องหายใจเข้าสู่ศูนย์กลางของลำตัว หรือหายใจโดยการใช้กะบังลม (Diaphragm)
8 หากผู้ฟังเป็นกลุ่มบุคคลในวัยชราที่มีการศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ผู้พูดควรจะนำเสนอเนื้อหาในลักษณะใด
1 เร้าอารมณ์ แฝงมุขสนุกสนาน ท้าทายความสามารถ
2 ประสบการณ์เสี่ยงตาย สิ่งที่เป็นพิษภัยใกล้ตัว
3 การโกหกหลอกลวง สิบแปดมงกุฎ และเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ
4 สวัสดิภาพ บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต การดำรงตนให้เป็นที่เคารพรัก
ตอบ 4 สวัสดิภาพ บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต การดำรงตนให้เป็นที่เคารพรัก
วัยชรา เป็นวัยของผู้ที่มีประสบการณ์มาก ชอบคิดและยึดถือสิ่งที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เช่น คุณธรรม และมักเป็นห่วงลูกหลาน ครอบครัว ดังนั้นการพูดกับบุคคลที่อยู่ในวัยชราและมีการศึกษาสูง จึงควรพูดเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพทางครอบครัว บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต การดำรงตนให้เป็นที่เคารพรัก ฯลฯ โดยควรพูดในทำนองเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้ปรับทุกข์
9 คุณยุทธนาจะไปพูดในที่ประชุมชน ท่านจะแนะนำวิธีเลือกเรื่องที่จะพูดอย่างไร
1 เลือกเรื่องที่ผู้พูดสนใจ และผู้ฟังสนใจด้วย 2 เลือกเรื่องที่ผู้พูดมีความรู้ และผู้ฟังสนใจ
3 เลือกเรื่องที่ทันสมัย และผู้ฟังส่วนใหญ่สนใจ 4 เลือกเรื่องดี เป็นสาระแก่ชีวิตและผู้พูดสนใจมาก
ตอบ 1 เลือกเรื่องที่ผู้พูดสนใจ และผู้ฟังสนใจด้วย
ในการเลือกเรื่องไปพูดนั้น ผู้พูดต้องพยายามเลือกเรื่องที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังสนใจ ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้พูดถนัดก็จะทำให้พูดได้ดี และถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ฟังสนใจด้วยก็ดูเหมือนว่าผู้พูดได้ประสบความสำเร็จขั้นต้นในการเรียกความสนใจจากผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ฟังไม่สนใจการพูดนั้นก็จะล้มเหลว
10 โครงร่าง (Outline) มีประโยชน์ต่อการเตรียมเรื่องพูดอย่างไร
1 ทำให้เนื้อหามีรสนิยม 2 ทำให้เนื้อหามีเอกภาพ
3 ทำให้เนื้อหาน่าติดตาม 4 ทำให้เนื้อหาน่าเชื่อถือ
ตอบ 2 ทำให้เนื้อหามีเอกภาพ
ในการเตรียมเรื่องพูดนั้น ผู้พูดจำเป็นที่จะต้องเขียนโครงร่างหรือโครงเรื่อง (Outline) ขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการวางแนวทางว่าเรื่องที่จะพูดนั้นมีหัวข้ออะไรบ้าง โดยโครงร่างหรือโครงเรื่องนี้จะช่วยเป็นแนวทางการเรียงลำดับเรื่องที่จะพูดทำให้เนื้อหามีเอกภาพ ไม่สับสน และง่ายแก่แก่การจดจำไปพูด
11 ไม่ว่าจะขึ้นคำนำด้วยวิธีใดๆก็ตาม สิ่งที่ผู้พูดไม่สามารถละเลยได้ก็คือ
1 สัมพันธ์กับคำทักทายผู้ฟัง 2 ตื่นเต้นเร้าใจเสมอ
3 กล่าวถึงแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ 4 สอดคล้องกับเนื้อเรื่องลำดับถัดไป
ตอบ 4 สอดคล้องกับเนื้อเรื่องลำดับถัดไป
คำนำ (Introduction) ในการพูด เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะชักจูงให้ผู้ฟังสนใจและติดตามฟังต่อไป ซึ่งผู้พูดอาจขึ้นต้นคำจำกัดความ คำถาม สุภาษิต คำคม อารมณ์ขัน ความประหลาดใจ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะขึ้นคำนำด้วยวิธีใดๆก็ตาม คำนำนั้นๆจะต้องบอกถึงข้อมูลสนับสนุนที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง (Main Body) ที่จะกล่าวในลำดับต่อไป
12 ข้อใดไม่ใช่การขยายความเนื้อเรื่อง
1 พูดเปรียบเทียบกับสำนวน สุภาษิต 2 พูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
3 พูดเพื่อให้ผู้ฟังคิดเอง 4 พูดโดยฉายสไลด์ประกอบการพูด
ตอบ 2 พูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
การขยายความเนื้อเรื่อง ทำได้ดังนี้
1 การให้คำจำกัดความ 2 การยกตัวอย่างโดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา 3 การเปรียบเทียบกับสิ่งที่คล้ายคลึง 4 การแสดงหรือชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่าง 5 การหยิบยกข้ออ้างอิง สำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพย 6 การเล่าเรื่องประกอบเพื่อให้ผู้ฟังคิดเอาเอง 7 การถาม – ตอบ 8 การใช้โสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เช่น การฉายสไลด์ การใช้แผนที่ แผนภูมิ รูปภาพ ฯลฯ
13 ในขั้นตอนของการริเริ่มที่จะวางเค้าโครงเรื่องที่จะพูด อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด
1 องค์ประกอบของกลุ่มผู้ฟัง 2 ปฏิกิริยาของผู้ฟังที่จะแสดงกลับมา
3 ความกล้าที่จะตัดสินใจเลือกประเด็น หรือเนื้อหาที่จะพูด 4 การตกลงใจที่จะเลือกใช้ข้อมูล
ตอบ ในขั้นจองการเริ่มคิด ถือเป็นขั้นตอนการริเริ่มที่จะวางเค้าโครงเรื่องที่จะพูด ซึ่งผู้พูดจะต้องตัดสินใจเลือกประเด็นหรือเนื้อหาที่จะพูดอย่างมีวิจารณญาณ ถ้าไม่เชื่อมั่นในความคิดของตนเอง ก็อาจถามผู้ที่รู้จักเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ แล้วก็จะได้หัวข้อที่คิดว่าจะนำไปพูดมากขึ้น
14 สิ่งใดควรกระทำเมื่อขึ้นเวทีพูด
1 ใช้มือเคาะไมโครโฟน 2 กระแอมก่อนพูด
3 พูดช้าๆในนาทีแรกที่เริ่มพูด 4 พูดขออภัยในความผิดพลาดของตัวเอง
ตอบ 3 พูดช้าๆในนาทีแรกที่เริ่มพูด
ข้อควรปฏิบัติเมื่อขึ้นเวทีพูด มีดังนี้
1 ขณะที่ยืนบนเวทีควรยืนให้สง่างาม แสดงสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
2 ในนาทีแรกที่เริ่มพูดนั้นควรพูดช้าๆ
3 หลังจากกล่าวคำปฏิสันถารแล้ว ผู้พูดจะต้องไม่ออกตัวหรือขอโทษ / ขออภัยในความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของตนเอง
4 ควรหลีกเลี่ยงการกระแอมกระไอก่อนพูด การใช้มือเคาะไมโครโฟน หรือพูดว่า “ฮัลโหลๆ”
5 เมื่อผู้ฟังแสดงความพอใจด้วยการหัวเราะหรือปรบมือ ผู้พูดควรหยุดพูด จนเมื่อเสียงแสดงความพอใจนั้นๆจบหรือซาลงจึงเริ่มพูดต่อไป ฯลฯ
15 เมื่อผู้ฟังแสดงความพอใจอย่างมาก ผู้พูดควรปฏิบัติอย่างไร
1 หยุดพูด จนเมื่อการแสดงความพอใจจบลงจึงเริ่มพูดต่อ 2 ยกมือสองข้างขึ้นเหนือศีรษะและโบกไปมา
3 พูดเร่งเร้าอารมณ์ผู้ฟังขึ้นไปอีก 4 เดินลงจากเวทีเพื่อไปสัมผัสมือกับผู้ฟัง
ตอบ 1 หยุดพูด จนเมื่อการแสดงความพอใจจบลงจึงเริ่มพูดต่อ ดูคำอธิบายข้อ 14 ประกอบ
16 วิธีทำให้ความตื่นเวทีลดน้อยลงควรเป็นอย่างไร
1 ดื่มเบียร์หรือสุราเล็กน้อย 2 แสดงท่าทางมากๆ
3 ยิ้มและพูดคุยกับผู้ฟังเป็นครั้งคราว 4 เตรียมเรื่องและฝึกซ้อมพูด
ตอบ 4 เตรียมเรื่องและฝึกซ้อมพูด
วิธีแก้หรือทำให้ความตื่นเวทีและความกังวลลดน้อยลงประการแรกที่สุดก็คือ ผู้พูดจะต้องเตรียมเรื่องพูดและฝึกซ้อมพูดอย่างดี เพราะถ้าเตรียมสองประการนี้ไม่ดีก็เท่ากับประสบความล้มเหลวก่อนขึ้นเวทีเสียแล้ว
17 หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวถึงการแสดงท่าทางประกอบการพูดไว้อย่างไร
1 การออกท่าทางมากๆทำให้คำพูดเสีย
2 การออกท่าทางมากๆไว้เป็นการดี ไม่เคอะเขิน
3 การพูดที่ดีจะไม่มีการออกท่าทางประกอบคำพูดเลย
4 การออกท่าทางมากๆเหมาะสำหรับการพูดเรื่องตลกโปกฮา
ตอบ 1 การออกท่าทางมากๆทำให้คำพูดเสีย
หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวถึงการแสดงท่าทางประกอบการพูดไว้ว่า “…มีคนโดยมากเข้าใจผิดไปว่าการออกท่าทางประกอบคำพูดให้มากๆนั้นเป็นการดี แท้จริงการออกท่าทางมากๆนั้นกลับจะทำให้คำพูดเสียไป… นักพูดที่เก่งที่สุดนั้นเขามีท่าทางน้อยที่สุด… จะมีการเคลื่อนไหวบ้างก็เล็กน้อย และการเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็มีอาการหนักแน่นอยู่ในตัวเสมอ”
18 ผู้พูดสามารถสร้างความเป็นมิตรและความเป็นกันเองกับผู้ฟังได้ด้วยอะไร
1 การมีบุคลิกและรสนิยมดี 2 การระวังตัวและการรักษามารยาทอย่างดี
3 การสำรวมอากัปกิริยาและรู้จักระวังตัว 4 การรู้จักใช้ถ้อยคำและท่าทางที่เหมาะสม
ตอบ 4 การรู้จักใช้ถ้อยคำและท่าทางที่เหมาะสม
ผู้พูดควรจะพยายามแสดงออกถึงบุคลิกภาพ คือ การรู้จักใช้ถ้อยคำที่สุภาพเรียบร้อยและมีลักษณะท่าทางที่เหมาะสม โดยผู้พูดควรแสดงสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรกับผู้ฟัง เพื่อให้บรรยากาศในสถานที่นั้นจะได้ไม่ตึงเครียด อีกทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะได้มีความรู้สึกที่คุ้นเคย สามารถสร้างความเป็นมิตรและความเป็นกันเองต่อกัน
19 ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการฟัง (ส่วนใหญ่) มาจากสาเหตุใด
1 ชอบพูดมากกว่าชอบฟัง 2 มีความกังวลใจในเรื่องต่างๆ
3 ชอบหลับ 4 สนใจบุคลิกของผู้พูดมากเกินไป
ตอบ 2 มีความกังวลใจในเรื่องต่างๆ
ลักษณะของการฟังที่ดีประการหนึ่ง คือ ผู้ฟังจะต้องตัดความกังวลใจต่างๆ เพราะถ้าผู้ฟังมีความกังวลใจแล้วย่อมจะไม่มีสมาธิในการฟัง และทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการฟัง ซึ่งวิธีที่ดีคือ ควรทำจิตใจให้หายกังวลแล้วตั้งใจรับฟังเรื่องที่ผู้พูดพูด เมื่อตั้งใจฟังและเกิดความสนใจที่จะฟังแล้วก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาได้
20 ข้อใดเข้ากับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สุสสูสํ ลภเต ปญญํ” ฟังด้วยดีย่อมมีปัญญา
1 จ้องจับผิดผู้พูดว่า ผู้พูดกล่าวอะไรผิดกับความรู้ของตนหรือไม่
2 เมื่อเห็นว่าผู้พูดพูดในสิ่งที่ไม่ตรงต่อทัศนคติของตนเอง จึงเดินออกจากห้อง
3 เมื่อผู้พูดกล่าวในสิ่งที่ตนเองเข้าใจผิดมาตลอด จึงบันทึกเนื้อหาสำคัญเพื่อให้จำได้
4 ลุกขึ้นโต้แย้งข้อเท็จจริง แล้วกล่าวกับผู้ฟังว่าความรู้ของผู้พูดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ตอบ 3 เมื่อผู้พูดกล่าวในสิ่งที่ตนเองเข้าใจผิดมาตลอด จึงบันทึกเนื้อหาสำคัญเพื่อให้จำได้
การฟังที่ดีย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา เกิดความรู้ ดังหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สุสสูสํ ลภเต ปญญํ” ฟังด้วยดีย่อมมีปัญญา โดยการฟังที่ดีนั้นจะต้องรู้จักฝึกฝนการตัดสินใจว่าจะเชื่อตามความคิดนั้นหรือไม่ ซึ่งการฟังแล้วคิด ค้นคว้า ไต่ถาม และจดบันทึกเนื้อหาสำคัญ ย่อมจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และสติปัญญา
21 การที่อาจารย์พูดชมนักเรียนว่าแต่งกายเรียบร้อย มีระเบียบ น่ารัก เป็นการกระตุ้นทางใด
1 ทางร่างกาย 2 ทางจิตใจ 3 ทางนิสัย 4 ทางสังคม
ตอบ 3 ทางนิสัย
การพูดกระตุ้นทางนิสัย เป็นการพูดในสิ่งที่ดีงามของผู้ฟัง เช่น กล่าวชมผู้ฟังว่าเป็นคนตรงต่อเวลา ทำงานดี มีระเบียบ เป็นผู้ที่มีรสนิยมดี น่ารัก แต่งกายเรียบร้อยดี มีงานอดิเรกหรือมีความสนใจในสิ่งแวดล้อมดี เป็นต้น
22 จากสุนทรพจน์ของนายป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า ความสามัคคีจะยืนยงคงอยู่ได้ต้องอาศัยคุณธรรมข้อใด
1 มีความซื่อสัตย์ 2 มีความเมตตากรุณา 3 มีความใจกว้าง 4 มีความโอนอ่อนผ่อนตาม
ตอบ 4 มีความโอนอ่อนผ่อนตาม
จากสุนทรพจน์ของนายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้กล่าวไว้ว่า ความสามัคคีจะยืนยงคงอยู่ได้เรียบร้อยจะต้องอาศัยคุณธรรม 2 ประการ คือ 1 อัธยาศัยไมตรี และความผันผ่อนหย่อนตามซึ่งกันและกัน 2 ความยุติธรรมในหมู่คณะ
23 ในการพูดชักจูงใจ สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ฟังเชื่อถือในตัวผู้พูดคืออะไร
1 พยาน หลักฐาน และข้อมูล 2 ถ้อยคำที่มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ
3 ความมีชีวิตชีวาและท่าทางของผู้พูด 4 น้ำเสียง ท่าทาง และคำพูด
ตอบ 1 พยาน หลักฐาน และข้อมูล
ในการพูดแบบชักจูงใจ สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ฟังเชื่อถือหรือเชื่อมั่นในตัวผู้พูดก็คือ ผู้พูดจะต้องยกตัวอย่าง ยกเหตุผลข้อเท็จจริง ข้อมูล หลักฐาน พยาน และข้อโต้แย้งต่างๆขึ้นมาอ้างอิง เพื่อให้ผู้ฟังเห็นด้วย
24 การพูดให้ชาวนาชาวไร่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนมีเกียรติเช่นเดียวกับคนอื่นๆในสังคมควรพูดกระตุ้นในทางใด
1 ทางร่างกาย 2 ทางจิตใจ 3 ทางสังคม 4 ทางนิสัย
ตอบ 3 ทางสังคม
การพูดกระตุ้นทางสังคม ผู้พูดจะต้องพูดให้ได้ผลออกมาในรูปที่ว่า ผู้ฟังเป็นคนที่กว้างขวาง มีเกียรติ เป็นที่รู้จักในวงสังคม หรือเป็นผู้ที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคมเหมือนกัน
25 คุณสุจารีเป็นผู้บรรยายการออกกำลังกาย และต้องการแจกหนังสือแก่ผู้ฟัง เธอควรแจกเมื่อใด
1 ก่อนการพูดบรรยาย 2 หลังการพูดบรรยาย
3 ในขณะที่บรรยายไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว 4 เมื่อผู้ฟังง่วงนอน
ตอบ 2 หลังการพูดบรรยาย
การพูดสาธิตนั้นอาจมีเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการอธิบาย เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสาร หรือรูปภาพประกอบ ซึ่งวิธีที่ดีก็คือ พูดหรืออธิบายเรื่องที่จะพูดให้จบเสียก่อนแล้วจึงใช้เครื่องมือประกอบการพูดหรือแจกเอกสารให้แก่ผู้ฟังภายหลังจากพูดจบแล้ว
26 ปากกาเคมีที่อาจารย์พรศักดิ์ใช้เขียนข้อความบนกระดานขาวเพื่ออธิบายความรู้ให้นักศึกษา อาจารย์พรศักดิ์ใช้เครื่องมืออะไร
1 เครื่องมือบุคคล 2 เครื่องมือจริง 3 เครื่องมือแทน 4 เครื่องมือเขียน
ตอบ 3 เครื่องมือแทน
เครื่องมือแทน (The Representational) คือ เครื่องมือที่ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่ดูเสมือนเป็นเครื่องมือจริง หรือการใช้สิ่งอื่นเพื่อแทนสิ่งที่ไม่สามารถนำมาแสดงได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ โดยอาศัยการรับรู้ในเชิงเปรียบเทียบหรือสมมุติว่าเป็นสิ่งที่กล่าวถึง (เทียบเคียงหรือมีความใกล้เคียงสิ่งที่พูดถึง) ซึ่งผู้พูดสามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้ฟังได้ในลักษณะการอุปมาอุปมัย การคิดตาม และการแทนที่ความรู้สึกนึกคิด เช่น รูปภาพ ฟิล์มสไลด์ แผ่นประกาศ ตาราง ฯลฯ ที่ใช้ประกอบการนำเสนอ ชอล์กหรือปากกาเคมีที่ใช้เขียนบนกระดาน หรือการใช้กิ่งไม้สมมุติให้เป็นดาบ เป็นต้น
27 การพูดเกี่ยวกับการเดินทางสำรวจป่าดิบชื้นในภาคใต้ตอนล่าง เป็นการพูดรายงานแบบใด
1 แบบประสบการณ์ 2 แบบแถลงข้อเท็จจริง
3 แบบความก้าวหน้าและผลสำเร็จ 4 แบบสรุปผล
ตอบ 1 แบบประสบการณ์
การพูดรางงานแบบประสบการณ์นั้น ผู้พูดจะต้องกล่าวถึงเวลา สถานที่ และเรื่องที่จะรายงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย จากนั้นก็จะมุ่งไปสู่เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นลำดับต่อเนื่องกัน โดยให้เหตุการณ์นั้นออกมาในรูปของประสบการณ์ที่มีความหมายต่อผู้ฟัง ซึ่งตัวอย่างของการพูดรายงานแบบนี้คือ การกล่าวถึงประสบการณ์ของตัวผู้พูดในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง (เช่น การเดินทางไปสำรวจป่าดิบชื้น ฯลฯ) หรือในสถานที่ต่างๆ (เช่น ในต่างประเทศ ชนบท ฯลฯ)
28 ในการพูดรายงานแบบสรุปผล หากต้องพูดเกี่ยวกับรายงานการทดลอง รายงานนั้นควรประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญๆยกเว้นข้อใด
1 ประสบการณ์ผู้ทดลอง 2 ความมุ่งหมาย
3 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง 4 สรุปผลการทดลอง
ตอบ 1 ประสบการณ์ผู้ทดลอง
การพูดรายงานแบบสรุปผล ในกรณีที่เกี่ยวกับการรายงานการทดลองหรือปฏิบัติการนั้น ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญๆดังนี้ 1 ความมุ่งหมาย 2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง 3 สรุปผลของการทดลอง
29 คุณศุภชัยเป็นนักธุรกิจที่ต้องพูดรายงานในที่ประชุม เขาควรยึดหลักอะไร
1 มีเนื้อหาเด่นชัด ละเอียด พร้อมทั้งข้อมูลทางสถิติ
2 มีเนื้อหาสมบูรณ์ ชัดเจน พร้อมทั้งข้อมูลทางสถิติที่จำเป็น
3 มีเนื้อหาสั้น ชัดเจน พร้อมทั้งข้อมูลทางสถิติ
4 มีเนื้อหาสมบูรณ์ ละเอียดชัดเจน พร้อมทั้งข้อมูลทางสถิติ
ตอบ 3 มีเนื้อหาสั้น ชัดเจน พร้อมทั้งข้อมูลทางสถิติ
หลักสำคัญของการพูดรายงานอยู่ที่การตระเตรียมเรื่องที่จะพูด ส่วนเนื้อหาของเรื่องนั้นควรเรียบเรียงขึ้นด้วยความประณีตและรอบคอบ โดยใจความที่สำคัญของเนื้อหาจะต้องมีลักษณะที่สั้น กระชับ และชัดเจน รวมทั้งจะต้องนำข้อมูลทางสถิติมาพูดด้วย แต่ไม่ควรบรรจุเนื้อหาที่สมบูรณ์ของเรื่องลงไป เพราะจะทำให้มีเนื้อหาและข้อปลีกย่อยมากมาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ฟังจำสับสน เกิดความเบื่อและทำให้เสียเวลา
30 ข้อใดต่อไปนี้ถูกต้องตามหลักการพูดวิจารณ์
1 ม.รามคำแหงนี้ดี ค่าหน่วยกิตถูก แถมเรียนได้นานอีกด้วย
2 อาจารย์คนนี้สอนดี แต่เคร่งระเบียบวินัย
3 ละครเรื่องนี้ลงทุนน้อย และน้ำเน่าถูกคอแม่ค้าตลาดสด
4 ภาพยนตร์เรื่อง “นางตานี” นี่ยอดไปเลย
ตอบ 2 อาจารย์คนนี้สอนดี แต่เคร่งระเบียบวินัย
การพูดวิจารณ์ หมายถึง การพูดทั้งติและชมสิ่งใดสิ่งหนึ่งในแง่ต่างๆ อย่างมีเหตุผล และถูกหลักการวิจารณ์ ซึ่งการพูดวิจารณ์เป็นการพูดที่ต้องใช้หลักการทางตรรกวิทยา (Logic) หรือใช้หลักทางเหตุผลมาประกอบ โดยจะไม่เอาอารมณ์ของผู้พูดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
31 การพูดในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากการพูดประเภทอื่นๆอย่างไร
1 เนื้อหาที่จะพูดต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอ
2 ต้องมีการนำเสนอโดยใช้เหตุผลประกอบ
3 ต้องมีการใช้กติกา ข้อกำหนด หรือตัวบ่งชี้ต่างๆมาใช้เป็นเกณฑ์
4 ต้องมีการจัดสมดุลของเนื้อหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่กล่าวอ้าง
ตอบ 2 ต้องมีการนำเสนอโดยใช้เหตุผลประกอบ ดูคำอธิบายข้อ 30 ประกอบ
32 ข้อใดไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางการสื่อสารของการประชุม
1 เพื่อให้การศึกษา 2 เพื่อประสานงาน 3 เพื่อแสดงความคิดเห็น 4 เพื่อจัดระบบงาน
ตอบ 4 เพื่อจัดระบบงาน
จุดมุ่งหมายของการประชุม ได้แก่ 1 เพื่อแถลงข่าวและเรื่องราวต่างๆ 2 เพื่อปรึกษาหารอ ขอคำแนะนำ และแสดงความคิดเห็น 3 เพื่อดำเนินงานหรือประสานงาน 4 เพื่อให้การศึกษา 5 เพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ 6 เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกเกิดความรู้สึกและทัศนคติใหม่ๆในการดำเนินงาน
33 ประธานในที่ประชุมควรเสนอความคิดเห็นของตนอย่างไรจึงเหมาะสมที่สุด
1 เป็นคนแรก 2 ทุกๆ 10 นาที 3 ตลอดเวลา 4 เป็นคนสุดท้าย
ตอบ 4 เป็นคนสุดท้าย
ประธานในที่ประชุมมีหน้าที่ประการหนึ่ง คือ ประธานจะต้องเปิดโอกาสและช่วยให้ผู้เข้าประชุมได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มความสามารถ โดยประธานไม่ควรเสนอความคิดเห็นของตนเป็นคนแรก แต่ควรเสนอความคิดเห็นเป็นคนสุดท้าย
34 ถ้าคุณบรรหารไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุม (ที่ครบองค์ประชุม) เขาต้องทำอย่างไร
1 ไม่ต้องปฏิบัติตาม 2 ต้องปฏิบัติตาม
3 ขอแปรญัตติต่อประธาน 4 ขอให้มีการทบทวนมติ
ตอบ 2 ต้องปฏิบัติตาม
มติ คือ ข้อตกลงของที่ประชุมในญัตติต่างๆที่มีผู้เสนอ ซึ่งมติของที่ประชุม (ที่ครบองค์ประชุม) ให้ถือเป็นข้อยุติที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
35 คุณวรวิทย์เป็น ส.ส. และต้องการขอแปรญัตติในที่ประชุม เขาควรทำอย่างไร
1 เสนอด้วยวาจาต่อประธาน 2 เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธาน
3 เสนอด้วยวาจาต่อเลขา ฯ 4 เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขา ฯ
ตอบ 2 เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธาน
แปรญัตติ หมายถึง การแสดงความคิดเห็นซ้อนขึ้นในญัตติ หรือการเสนอขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมญัตตินั้นๆ โดย ส.ส. ที่ต้องการขอแปรญัตติในที่ประชุมจะต้องเสนอคำขอแปรญัตติของตนเป็นหนังสือ (เป็นลายลักษณ์อักษร) ต่อประธานภายในระยะเวลาที่กำหนด และคำแปรญัตติต้องมี ส.ส. อื่นรับรองเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา
36 ข้อใดไม่ใช่ประโยชน์ของการเล่าเรื่อง
1 ทำให้เด็กมีประสบการณ์ในการฟังเพิ่มขึ้น 2 เป็นวิธีสอนเด็กโดยที่เด็กไม่รู้ตัว
3 ทำให้ผู้เรียนสนใจฟัง เข้าใจง่าย จดจำเนื้อเรื่องได้ดี 4 ทำให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในเรื่องที่แปลก
ตอบ 1 ทำให้เด็กมีประสบการณ์ในการฟังเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ของการเล่าเรื่อง ได้แก่ 1 เป็นวิธีชี้แนะสั่งสอนแบบไม่รู้ตัว 2 ทำให้ผู้เรียนสนใจฟัง เข้าใจง่าย และจดจำเนื้อเรื่องได้ดี 3 ทำให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในเรื่องที่แปลกหรือมหัศจรรย์ ในเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นน่ากลัว และในปรากฏการณ์ของธรรมชาติ
37 การสอนเชิงอุปมาอุปมัยและเปรียบเทียบ มักใช้กับการพูดชนิดใด
1 การรายงาน 2 การวิจารณ์ 3 การเล่าเรื่อง 4 การอภิปราย
ตอบ 3 การเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่อง เป็นการสอนเชิงอุปมาอุปมัยและเปรียบเทียบ รวมทั้งยังเป็นการสอนในแง่ความคิดต่างๆในด้านปรัชญาและคติธรรม
38 ทำไมการเล่านิทานจึงต้องมีบทตลกแทรกด้วย
1 เพื่อให้เด็กไม่ง่วงนอน 2 เพื่อให้เด็กสนุก 3 เพื่อให้เด็กหัวเราะ 4 เพื่อดึงดูดความสนใจ
ตอบ 4 เพื่อดึงดูดความสนใจ
ในการเล่านิทานนั้น เมื่อมีตอนใดที่สามารถจะแทรกบทตลกได้ก็ควรจะเล่าเรื่องให้ตลก เพราะบทตลกจะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ดี นอกจากนี้ในเนื้อเรื่องที่ใช้เล่านิทานก็ควรจะใช้บทพูด (Dialogue) ประมาณ 80 % หรือควรจะใช้พรรณนาโวหารให้น้อยกว่าบทพูด
39 น้าอนงค์เป็นนักเล่านิทาน น้าอนงค์จะมีวิธีจัดเรื่องอย่างไร
1 ใช้บทพูดในเนื้อเรื่อง 2 ใช้พรรณนาโวหารในเนื้อเรื่อง
3 ใช้บรรยายโวหาร 4 ใช้การพูดกึ่งพิธีการแทรกด้วยบทตลก
ตอบ 1 ใช้บทพูดในเนื้อเรื่อง ดูคำอธิบายข้อ 38 ประกอบ
40 ข้อควรระวังที่สุดสำหรับการเล่าประวัติศาสตร์หรือชีวประวัติ ได้แก่
1 ต้นฉบับจากหลายแหล่งอ้างอิง 2 ข้อโต้แย้งที่ไม่มีข้อสรุป
3 ข้อมูลที่ละเอียด 4 ความน่าเบื่อ
ตอบ 4 ความน่าเบื่อ
การเล่าประวัติศาสตร์หรือชีวประวัติบุคคลสำคัญจะต้องระวังข้อผิดพลาดต่างๆ เช่น
1 ไม่ควรที่จะกล่าวถึงชีวิตส่วนตัวของเจ้าของประวัติมากเกินไป เพราะเป็นการแสดงถึงความไม่นับถือ
2 ควรเล่าเฉพาะเหตุการณ์ที่ผู้อื่นยังไม่รู้ ส่วนเหตุการณ์ที่คนส่วนมากรู้แล้วก็เล่าอย่างย่นย่อหรือข้ามไป เพราะจะทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย ขาดความสนใจ
3 ควรจะอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และสุภาพ ไม่ยกย่องจนเกินไป
41 การพูดเพื่อให้คำปรึกษา อาศัยแนวคิดใดเป็นหลัก
1 ปฏิวัติกรอบการรับรู้ 2 การมีส่วนร่วม 3 สื่อสัมพันธ์ 4 ละลายพฤติกรรม
ตอบ 2 การมีส่วนร่วม
การพูดเพื่อให้คำปรึกษาที่ดีควรอาศัยแนวคิดการมีส่วนร่วมเป็นหลัก โดยวิธีที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพที่ควรจะใช้ในการพูดปรึกษาก็คือ การสะท้อนความรู้สึก ซึ่งมีประโยชน์มากในการพูดให้คำปรึกษาแนะนำกับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเชิงพฤติกรรมและระเบียบวินัย ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความอิสรเสรี ความเข้าใจ ความไว้วางใจกัน อันจะเป็นทางนำไปสู่ที่มาของปัญหา และมีเป้าหมายไปที่การแก้ปัญหาซึ่งเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุด
42 วิธีที่ครูใช้พูดปรึกษากับผู้ปกครองนักเรียนที่มีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ คือวิธีใด
1 สร้างความเป็นกันเองและความเต็มใจที่ให้คำปรึกษา
2 ชี้ให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กทำผิดจริง และเป็นความบกพร่องของผู้ปกครองด้วย
3 อธิบายให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กทำผิดจริง แล้วเขียนคำแนะนำให้ผู้ปกครองปฏิบัติตาม
4 ทำให้รู้สึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นและภาระที่ครูต้องรับผิดชอบ
ตอบ 1 สร้างความเป็นกันเองและความเต็มใจที่ให้คำปรึกษา
โดยปกติแล้วผู้ปกครองย่อมต้องการคำแนะนำปรึกษาหรือข้อคิดเห็นจากครู ดังนั้นถ้าครูพยายามสร้างความเป็นกันเองต่อผู้ปกครอง แสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและพยายามช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ปกครองด้วยความเต็มใจแล้ว ผู้ปกครองก็จะเกิดความนิยมนับถือในตัวครูมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ปกครองกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น และให้ความร่วมมือกับครูในการแก้ปัญหาในที่สุด
43 การเตรียมตัวเพื่อพูดปรึกษาแก้ไขปัญหามีอะไรบ้าง
1 รู้จุดหมาย รู้ปัญหา และเปิดโอกาสให้ซักถาม 2 รู้จุดหมาย เตรียมเนื้อหา และเปิดโอกาสให้ซักถาม
3 รู้ปัญหา รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร และรู้วิธีแก้ปัญหา 4 รู้ปัญหา รู้วิธีอธิบาย และเปิดโอกาสให้ซักถาม
ตอบ 3 รู้ปัญหา รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร และรู้วิธีแก้ปัญหา
หลักการเตรียมตัวเพื่อพูดปรึกษาแก้ไขปัญหา มีดังนี้ 1 รู้ปัญหาว่าคืออะไร 2 รู้ว่าควรจะแก้ไขอะไรบ้าง 3 รู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดว่าคือวิธีใด
44 วิธีที่ครูพูดให้คำปรึกษากับนักเรียนที่มีปัญหาด้านความประพฤติที่ได้ผลดี คือวิธีใด
1 วิธีสะท้อนความรู้สึก 2 วิธีให้ความร่วมมือ
3 วิธีลงโทษให้หลาบจำ 4 วิธีหยุ่นไปตามสถานการณ์
ตอบ 1 วิธีสะท้อนความรู้สึก ดูคำอธิบายข้อ 41 ประกอบ
45 การสัมภาษณ์นั้นมีความหมายสำคัญในเชิงการสื่อสารอย่างไร
1 ทำให้รู้ซึ้งถึงข้อมูลเชิงลึก 2 ทำให้มีการทบทวนเหตุการณ์
3 ทำให้ความจริงถูกเปิดเผย 4 ทำให้มีการจัดระเบียบข่าวสาร
ตอบ 1 ทำให้รู้ซึ้งถึงข้อมูลเชิงลึก
การสัมภาษณ์ หมายถึง การสื่อสารด้วยกระบวนการพูดคุยโดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญ ข่าวสาร หรือประเด็นที่เป็นสาระโดยตรง ผ่านบุคคลที่มีการเลือกสรรแล้ว ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้มาถือว่าเป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีความเฉพาะเจาะจงตามเป้าหมายวัตถุประสงค์และสถานการณ์ขณะนั้น
46 ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นคนค่อนข้างลึกลับ ท่านจะมีวิธีทำให้เขาพูดตอบคำถามได้อย่างไร
1 ชี้แจงให้เห็นข้อเท็จจริง
2 พูดปลอบ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ
3 พูดปลอบและขอร้องให้ไว้วางใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ
4 พูดให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ
ตอบ 4 พูดให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ
กลวิธีที่จะให้คนประเภทลึกลับตอบคำถามก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ให้สัมภาษณ์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและพยายามพูดหว่านล้อมให้เห็นว่าการตอบคำถามเป็นนโยบายที่ดีที่สุด โดยถ้าเขาบอกหรือเล่าเรื่องราวให้เราฟังแล้ว เราจะช่วยเหลือและให้ความปลอดภัยแก่เขา ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เราจะต้องปฏิบัติและรักษาคำพูดของเราด้วย
47 ถ้าคุณได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์รัฐมนตรีท่านหนึ่ง ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ท่านรัฐมนตรีทำท่าไม่อยากตอบ ควรทำอย่างไร
1 ถามคำถามอื่นต่อไป 2 ป้อนคำถามให้ตรงจุดมากขึ้น
3 ถามย้ำในคำถามนั้นอีกหลายๆครั้ง 4 ชวนคุยเรื่องอื่นแล้วค่อยถามคำถามเดิม
ตอบ 1 ถามคำถามอื่นต่อไป
ในกรณีที่ถามคำถามแล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์มีความรู้สึกอึดอัดไม่อยากจะตอบ ผู้สัมภาษณ์ก็ควรจะเลี่ยงถามคำถามอื่นต่อไป หรือถ้าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นผู้ที่มีวิธีตอบเลี่ยงอย่างฉลาด ผู้สัมภาษณ์ก็จะต้องมีความอดทนซักถามต่อไปเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ต้องการ
48 ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นผู้ที่มีวิธีตอบเลี่ยงอย่างฉลาด ผู้สัมภาษณ์ควรทำอย่างไร
1 แทรกบทตลกเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ 2 ขอร้องให้ตอบให้ตรงคำถาม
3 จะต้องอดทนซักถามต่อไป 4 ควรแนะนำคำตอบ หรืออธิบายคำถาม
ตอบ 3 จะต้องอดทนซักถามต่อไป ดูคำอธิบายข้อ 47 ประกอบ
49 บุคคลใดสมควรเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์
1 ผู้นำองค์กร 2 ผู้มีอำนาจตัดสินใจ
3 ผู้เกี่ยวข้องและมีความรู้ในเรื่องนั้น 4 ผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน
ตอบ 3 ผู้เกี่ยวข้องและมีความรู้ในเรื่องนั้น
บุคคลที่สมควรเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ ควรเป็นบุคคลที่สำคัญและน่าสนใจ เป็นบุคคลที่มีชีวประวัติดีเด่นและมีผลงานน่ายกย่อง และที่สำคัญคือ ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความสามารถ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่จะสัมภาษณ์
50 นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลก เดินทางมาประเทศไทย และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ ท่านรู้หรือไม่ว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบใด
1 การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว 2 Press Conference
3 Mass Communication Interview 4 การสัมภาษณ์บุคคลสำคัญทางธุรกิจ
ตอบ 2 Press Conference
การเปิดให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์รวม (Press Conference) เป็นการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆที่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวของสื่อมวลชนต่างๆทำการสัมภาษณ์และซักถามข้อข้องใจอย่างเป็นพิธีการ
51 ในการแสดงปาฐกถา ทำไมจึงต้องแนะนำองค์ปาฐก ข้อใดไม่ถูกต้อง
1 เพื่อให้ผู้ฟังรู้จักผู้พูด 2 เพื่อให้เกียรติแก่ผู้พูด
3 เพื่อยกย่ององค์ปาฐกให้พอใจ 4 เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
ตอบ 3 เพื่อยกย่ององค์ปาฐกให้พอใจ
จุดมุ่งหมายของการแนะนำองค์ปาฐกก็คือ 1 เพื่อให้ผู้ฟังรู้จักผู้พูดหรือองค์ปาฐกว่าเป็นใคร ทำอะไร และมีความสำคัญอย่างไร 2 เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้พูด 3 เพื่อเรียกร้องหรือสร้างความสนใจให้แก่ผู้ฟัง เพราะเมื่อผู้ฟังรู้จักผู้พูดแล้วก็จะเกิดความกระตือรือร้นและสนใจที่จะฟัง 4 เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ฟังกับผู้พูด
52 การพูดแบบปาฐกถา เนื้อหาที่พูดมักเป็นไปในด้านใด
1 ระลึกถึงคุณงามความดีขององค์กร 2 ให้อารมณ์รู้สึกร่วมบันเทิง
3 ให้ข่าวสารที่สมบูรณ์แบบน่าเชื่อถือ 4 ให้ความรู้ รับทราบความก้าวหน้า
ตอบ 4 ให้ความรู้ รับทราบความก้าวหน้า
การพูดแบบปาฐกถา เป็นการพูดเพื่อให้ความรู้ ความคิดเห็นและข้อเท็จจริง เนื้อหาที่พูดจึงมักเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ให้ความรู้ ให้ผู้ฟังได้รับทราบความก้าวหน้าและควรเป็นเรื่องที่ผู้ฟังไม่เคยรู้มาก่อน หรือเป็นเรื่องที่เพิ่มเติมความรู้ของผู้ฟังให้กว้างขวางขึ้น ดังนั้นผู้พูดหรือองค์ปาฐกจึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านและมีประสบการณ์ในด้านนั้นๆอย่างเชี่ยวชาญ โดยควรแสดงสาระออกมาให้เด่นชัดและเข้าใจง่าย
53 ถ้าท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แนะนำวิทยากรที่จะมาแสดงปาฐกถา ท่านจะหาข้อมูลเกี่ยวกับวิทยากรมาพูดอย่างไร
1 ถามประธาน 2 ถามผู้รู้ 3 ถามผู้เชิญ 4 ถามวิทยากร
ตอบ 4 ถามวิทยากร
ถ้าผู้แนะนำไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวิทยากร (องค์ปาฐก) ที่จะมาแสดงปาฐกถา ก็ควรติดต่อหรือถามวิทยากรว่าจะให้ตนแนะนำอย่างไร โดยต้องติดต่อกันก่อนวันแนะนำจริง
54 องค์ปาฐกควรพูดตอนที่เป็นบทสรุปอย่างไร
1 พูดถ่อมตนว่าการพูดของตนยังมีข้อบกพร่อง แต่จะพยายามให้ดีในโอกาสต่อไป
2 ขอบคุณและขอโทษผู้ฟังในกรณีที่มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการพูด
3 ขอบคุณผู้ฟังที่ได้เสียสละเวลามาฟังการพูดของตน
4 ให้ข้อคิดความเห็นที่น่าสนใจและน่าจดจำ
ตอบ 4 ให้ข้อคิดความเห็นที่น่าสนใจและน่าจดจำ
ผู้แสดงปาฐกถา (องค์ปาฐก) ควรจะสรุปการพูดทั้งหมดให้ผู้ฟังได้ข้อคิดความเห็นที่น่าสนใจ โดยการกล่าวสรุปที่ดีนั้นควรจะสั้น มีน้ำหนัก และเป็นที่น่าจดจำ ซึ่งอาจสรุปด้วยการเรียกร้องให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สรุปด้วยบทกลอน สุภาษิต สรุปด้วยเรื่องที่สนุกสนาน ชื่นบานใจ หรือสรุปด้วยคำถามก็ได้
55 การกล่าวขอบคุณองค์ปาฐก ควรเป็นอย่างไร
1 ขอบคุณและเชิญชวนให้มาพูดอีก 2 ขอบคุณและเชิญชวนให้ผู้ฟังปรบมือให้องค์ปาฐก
3 ขอบคุณและสรุปเนื้อหาสาระของปาฐกถา 4 ขอบคุณ สรุปเนื้อหา และวิจารณ์ปาฐกถา
ตอบ 2 ขอบคุณและเชิญชวนให้ผู้ฟังปรบมือให้องค์ปาฐก
56 ในการแสดงปาฐกถานั้น ผู้พูดควรพูดอย่างไรเพื่อให้เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
1 พูดบทตลกตลอดเวลา 2 พูดในเรื่องที่ผู้ฟังไม่เคยรู้มาก่อน
3 พูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นอย่างสนุกสนาน 4 พูดระบายความคับแค้นน้อยเนื้อต่ำใจของตนเอง
ตอบ 2 พูดในเรื่องที่ผู้ฟังไม่เคยรู้มาก่อน ดูคำอธิบายข้อ 52 ประกอบ
57 หลักการพิจารณาเรื่องราวและข้อมูลที่จะนำไปพูดอภิปราย ควรเป็นอย่างไร
1 เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่ดี เป็นจริงและสามารถนำไปปฏิบัติได้
2 เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่มีรายละเอียด มีการอ้างอิงและน่าสนใจ
3 เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการและทฤษฎี
4 เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่น่าสนใจ ดีและมีเหตุผล
ตอบ 1 เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่ดี เป็นจริงและสามารถนำไปปฏิบัติได้
หลักการพิจารณาเรื่องราวและข้อมูลที่จะนำไปพูดอภิปรายนั้น ผู้อภิปรายจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการค้นคว้าว่าเป็นข้อมูลที่มีเหตุผล เป็นจริง มีทัศนคติที่ดีและสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้
58 ข้อใดไม่ใช่ลักษณะของการอภิปราย
1 เป็นการปรึกษาหารือ 2 เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้
3 เป็นการพูดเพื่อชักชวน 4 เป็นการโต้แย้งหาข้อหักล้าง
ตอบ 4 เป็นการโต้แย้งหาข้อหักล้าง
ลักษณะของการอภิปรายแบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ
1 ต้องมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเสนอรายละเอียดและแก้ปัญหา
2 เป็นการปรึกษาหารือของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่การพูดของคนเพียงคนเดียว
3 เป็นการพูดเพื่อชักชวนให้คนคิดหาเหตุผลไม่ใช่อารมณ์
4 เป็นการสื่อความหมายด้วยคำพูดโดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์
59 ผู้อภิปรายที่ต้องการพูดเพิ่มเติมข้อคิดเห็นเมื่อยังไม่ถึงลำดับของตน ควรทำอย่างไร
1 เมื่อมีจังหวะที่จะพูดแทรกได้ก็ให้พูดทันที
2 รอให้ผู้อภิปรายทุกคนพูดจบก่อนจึงพูดเพิ่มเติม
3 ขออนุญาตจากผู้ดำเนินการอภิปรายก่อนแล้วจึงพูด
4 เมื่อผู้อภิปรายทุกคนพูดจบและผู้ดำเนินการอภิปรายสรุปแล้วจึงพูด
ตอบ 3 ขออนุญาตจากผู้ดำเนินการอภิปรายก่อนแล้วจึงพูด
ในกรณีที่ผู้อภิปรายต้องการจะพูดเพิ่มเติมหรือแทรกข้อคิดเห็น (เมื่อยังไม่ถึงลำดับที่ตนจะพูด) จะต้องขออนุญาตผู้ดำเนินการอภิปรายก่อนแล้วจึงจะพูดได้
60 เรื่องที่เข้าสู่วาระการอภิปราย ควรมีลักษณะใด
1 ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน 2 มีขอบเขตและไม่กว้างเกินไป
3 เป็นเรื่องเฉพาะที่ควรพูดวงใน 4 เป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงในสังคม
ตอบ 2 มีขอบเขตและไม่กว้างเกินไป
ปัญหาหรือเรื่องที่จะนำเข้าสู่วาระการอภิปราย ควรมีลักษณะดังนี้ 1 ควรจะเป็นปัญหาที่มีขอบเขตไม่กว้างจนเกินไป 2 ควรจะเป็นปัญหาที่มีสาระและประโยชน์ต่อส่วนรวม 3 ควรจะเป็นปัญหาที่น่าสนใจทั้งต่อผู้ร่วมอภิปรายและผู้ฟัง
61 ประโยชน์ของการอภิปรายในด้านธุรกิจ คือข้อใด
1 เพื่อความเจริญก้าวหน้า 2 เพื่อเผยแพร่นโยบาย
3 เพื่อให้รู้จักวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น 4 เพื่อปรับปรุงสังคายนา
ตอบ 1 เพื่อความเจริญก้าวหน้า
ประโยชน์ของการอภิปรายในด้านธุรกิจ คือ การอภิปรายเพื่อวางหลักการและตกลงแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการ
62 ข้อใดเป็นเทคนิคการสอนอภิปรายด้วยวิธีถามโดยตรง
1 ครูจะถามคำถามก่อนแล้วเรียกชื่อให้นักเรียนตอบ 2 ครูจะเรียกชื่อนักเรียนก่อน แล้วจึงถามคำถาม
3 ครูจะเล่าเรื่องให้ฟังแล้วถามว่า ปัญหานั้นๆคืออะไร 4 ครูจะถามนำก่อน แล้วให้นักเรียนตอบ
ตอบ 1 ครูจะถามคำถามก่อนแล้วเรียกชื่อให้นักเรียนตอบ
เทคนิคการสอนอภิปรายด้วยวิธีถามโดยตรงนั้น ผู้สอนหรือครูควรจะถามคำถามก่อนแล้วจึงจะเรียกชื่อให้นักเรียนตอบ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการให้เวลาในการเตรียมตัวแก่เด็ก และไม่เป็นการจู่โจมเด็กจนเกินไป
63 ข้อใดเป็นวินัยที่ควรปฏิบัติของงนักพูดที่ดี
1 มาตรงเวลาเพื่อจัดเตรียมสิ่งต่างๆและซักซ้อมต่อหน้าผู้ฟัง
2 มาก่อนเวลาเพื่อสำรวจเวที สถานที่ และอุปกรณ์ด้วยตนเอง
3 นำอุปกรณ์ทุกอย่างมาเอง เพื่อความสมบูรณ์แบบในการนำเสนอ
4 ทำการบันทึกข้อมูลผู้พูดร่วมเวทีเดียวกัน แล้วทำสำเนาส่งคืนในเร็ววัน
ตอบ 2 มาก่อนเวลาเพื่อสำรวจเวที สถานที่ และอุปกรณ์ด้วยตนเอง
การพูดที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้พูดจะต้องมีการเตรียมตัวที่ดี และควรจะมาก่อนเวลาพูดเพื่อสำรวจเวที สถานที่ และอุปกรณ์ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความคุ้นเคยและไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการพูด
64 การพูดแบบใดที่ส่งเสริมให้รู้จักพูดชักจูงใจให้คนฟังคล้อยตามความคิดเห็นของตน
1 พูดรายงาน 2 พูดอภิปราย 3 พูดโต้เวที 4 พูดวิจารณ์
ตอบ 3 พูดโต้เวที
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้เรื่องการพูดโต้วาที มีดังนี้ 1 ฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักวิธีพูด 2 ฝึกผู้เรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดี 3 ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักพูดชักจูงใจคนฟังให้คล้อยตามความคิดเห็นของตนเอง 4 แนะนำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หลักเกณฑ์และวิธีการพูดโต้วาที
65 จุดเด่นของการโต้วาทีแบบโอเรกอน 1 คือสิ่งใด
1 จัดให้มีฝ่ายละ 2 คน 2 มีการซักถามตอบโต้กัน
3 หัวหน้าของ 2 ฝ่ายสามารถพูดได้ 12 นาที 4 มีการพูดแก้กัน
ตอบ 3 หัวหน้าของ 2 ฝ่ายสามารถพูดได้ 12 นาที
การโต้วาทีแบบโอเรกอน 1 (Oregon I) จะจัดให้มีฝ่ายละ 3 คน ซึ่งมีจุดเด่นคือ
1 หัวหน้าฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ซึ่งมีฝ่ายละ 1 คน สามารถพูดได้คนละ 12 นาที
2 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านคนที่หนึ่ง ซึ่งมีฝ่ายละ 1 คน สามารถพูดได้คนละ 10 นาที
3 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านคนที่สอง ซึ่งมีฝ่ายละ 1 คน สามารถพูดได้คนละ 8 นาที
66 กรรมการตัดสินการโต้วาทีควรมีกี่คนจึงจะเหมาะสม
1 คนเดียว 2 มีกี่คนก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคี่
3 มีกี่คนก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ 4 มีผู้ดำเนินการโต้วาทีเพียงคนเดียว
ตอบ 2 มีกี่คนก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคี่
ผู้ดำเนินการโต้วาทีจะเป็นผู้ตัดสินการโต้วาที โดยถือเอาคะแนนของกรรมการ (ซึ่งมีจำนวนเป็นเลขคี่) เป็นสำคัญ ในกรณีที่ไม่มีกรรมการ ผู้ดำเนินการโต้วาทีมักจะตัดสินให้การโต้วาทีเสมอกัน หรือบางครั้งก็ถือเอาเสียงปรบมือเป็นสำคัญ
67 ข้อใดเป็นหน้าที่ของผู้โต้วาที
1 รู้จักรับผิดชอบในวัฒนธรรมและภาษาไทย
2 รู้จักศิลปะในการพูด เช่น พูดเปรียบเทียบ เสียดสีฝ่ายตรงข้าม
3 รู้จักศิลปะการโต้วาทีโดยเฉพาะการเล่นคารมมากๆและบ่อยๆ
4 รู้จักค้นคว้าหาความรู้มาพูด เช่น เรื่องส่วนตัวของผู้โต้ฝ่ายตรงข้าม
ตอบ 1 รู้จักรับผิดชอบในวัฒนธรรมและภาษาไทย
หน้าที่ของผู้โต้วาทีที่สำคัญข้อหนึ่งคือ ผู้โต้วาทีจะต้องรู้จักรับผิดชอบในวัฒนธรรมและภาษาไทย นั่นคือ ผู้โต้วาทีควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดและภาษาที่ไม่สุภาพในการโต้วาที
68 หลักการพิจารณาตัดสินใจการโต้วาทีข้อใดไม่ถูกต้อง
1 ฝ่ายที่ให้เหตุผลข้อเท็จจริงดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ
2 ฝ่ายค้านจะชนะเมื่อหักล้างได้ว่าเหตุผลของฝ่ายเสนอเชื่อไม่ได้
3 พิจารณาตัดสินตามเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่านั้น
4 ขึ้นอยู่กับเสียงปรบมือของผู้ฟังที่เกิดความพึงพอใจ ฝ่ายไหนดังกว่าฝ่ายนั้นชนะ
ตอบ 4 ขึ้นอยู่กับเสียงปรบมือของผู้ฟังที่เกิดความพึงพอใจ ฝ่ายไหนดังกว่าฝ่ายนั้นชนะ
หลักการพิจารณาตัดสินการโต้วาที มีดังนี้ 1 ฝ่ายที่ให้เหตุผลข้อเท็จจริงดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ 2 ฝ่ายเสนอจะชนะเมื่อเสนอและให้เหตุผลเป็นที่เชื่อถือได้ 3 ฝ่ายค้านจะชนะเมื่อพิสูจน์และหักล้างได้ว่าเหตุผลของฝ่ายเสนอเชื่อไม่ได้ 4 ควรพิจารณาตัดสินไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่านั้น 5 การตัดสินที่ดีต้องไม่คำนึงถึงเสียงปรบมือของผู้ฟังที่แสดงความพอใจผู้โต้วาทีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
69 ข้อใดต่อไปนี้ที่ผู้โต้วาทีไม่ควรกระทำที่สุด
1 ใช้ภาษาและถ้อยคำที่ไม่สุภาพ 2 อ่านข้อเท็จจริงที่เตรียมมาแทนการพูด
3 พูดเสียดสี เอาเรื่องส่วนตัวของผู้โต้ฝ่ายตรงข้ามมาพูด 4 ได้ยินสัญญาณหมดเวลาแล้วยังพูดต่อไป
ตอบ 3 พูดเสียดสี เอาเรื่องส่วนตัวของผู้โต้ฝ่ายตรงข้ามมาพูด
หน้าที่ของผู้โต้วาทีที่สำคัญข้อหนึ่งคือ ผู้โต้วาทีจะต้องเรียนรู้และมีมารยาทในการพูด นั่นคือ ไม่พูดเสียดสี กระทบกระทั่งผู้อื่น หรือเอาเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นขึ้นมาพูด
70 การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายเพื่อตรวจสอบความเชื่อและทัศนคติ มีผลอย่างไรต่อการเตรียมข้อมูลในการพูดแต่ละครั้ง
1 เพื่อสร้างศัพท์และระดับความซับซ้อนของข้อมูลที่นำเสนอ
2 เพื่อเปิดประเด็นและหัวข้อที่จะพูดให้เหมาะสม
3 เพื่อต้องการทราบแนวโน้มการตัดสินใจในเรื่องที่จะเป็นส่วนได้ – เสียของผู้ฟัง
4 เพื่อกำหนดวาระรับรู้และกระบวนการออกแบบเนื้อหา
ตอบ 3 เพื่อต้องการทราบแนวโน้มการตัดสินใจในเรื่องที่จะเป็นส่วนได้ – เสียของผู้ฟัง
การวิเคราะห์ผู้ฟังเพื่อตรวจสอบความเชื่อ ความคิดเห็น และทัศนคติ จะทำให้ผู้พูดทราบถึงแนวโน้มการตัดสินใจในเรื่องที่จะเป็นส่วนได้ – เสียของผู้ฟัง เพื่อให้ผู้พูดสามารถเตรียมข้อมูลในการพูดแต่ละครั้งได้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ฟังเชื่อและยึดถือ ไม่ไปขัดแย้งหรือดูถูกความเชื่อ ความคิดเห็น และทัศนคติที่ผู้ฟังมีอยู่แต่เดิม
71 บุคลิกของโฆษกที่ดี ไม่ควรมีบุคลิกแบบใด
1 หลีกเลี่ยงการพูดถ้อยคำที่ซ้ำซาก 2 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
3 เลือกใส่เสื้อผ้าที่ดูสมสง่า 4 พูดมากเข้าไว้ งานจะได้รื่นเริง
ตอบ 4 พูดมากเข้าไว้ งานจะได้รื่นเริง
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกที่ดี คือ 1 ต้องเป็นคนเฉียบแหลม สามารถใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี 2 ต้องพยายามให้สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ 3 ต้องทำตัวให้สง่า 4 ต้องรู้จักเลือกถ้อยคำและเรื่องที่จะนำมาพูด 5 อย่าพูดให้ยาวหรือพูดมากเกินไป 6 พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ข้อความหรือถ้อยคำที่ซ้ำซาก
72 การกล่าวต้อนรับอย่างเป็นพิธีการจะต้องเริ่มด้วย
1 การแนะนำเจ้าภาพ 2 คำปฏิสันถาร
3 การกล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติ 4 แสดงความชื่นชมในโอกาส
ตอบ 2 คำปฏิสันถาร
การกล่าวต้อนรับ เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติแก่ผู้มาเยี่ยม เป็นการแนะนำผู้มาเยี่ยม หรือผู้มาใหม่ให้รู้จักสถานที่นั้นๆดีขึ้น โดยการกล่าวต้อนรับมีหลักการดังนี้ 1 คำปฏิสันถาร 2 กล่าวถึงความรู้สึกยินดีของผู้เป็นเจ้าของสถานที่ 3 พูดเกี่ยวกับส่วนที่ดีของผู้มาเยี่ยม และกล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้มาเยี่ยมกับเจ้าของสถานที่ 4 พูดถึงความปรารถนาดีของเจ้าของสถานที่ 5 พูดเป็นทำนองเรียกร้องให้ผู้มาเยี่ยมกลับมาอีก
73 การกล่าวแนะนำผู้พูดของพิธีกร ใช้หลักการเดียวกับการพูดแบบใด
1 แบบให้คำปรึกษา 2 แบบเล่าเรื่อง 3 แบบปาฐกถา 4 แบบโต้วาที
ตอบ 3 แบบปาฐกถา
การกล่าวแนะนำผู้พูดของพิธีกรนั้น ใช้หลักการเดียวกับการพูดแบบปาฐกถา แบบการอภิปราย และแบบการสัมมนา เช่น การกล่าวแนะนำองค์ปาฐก การกล่าวแนะนำผู้ดำเนินการอภิปราย และการกล่าวแนะนำวิทยากรในการสัมมนา
74 การกล่าวอำลาการเยี่ยม เนื้อหาควรจะเป็นอย่างไร
1 การกล่าวขอบคุณ ความประทับใจ การเชื้อเชิญให้ไปเยือน
2 ความประทับใจ เหตุที่ต้องอำลา ความอาลัยต่อเจ้าของบ้านเดิม
3 การกล่าวขอบคุณ จุดหมายปลายทางที่จะไป ความสัมพันธ์ในอนาคต
4 การเชื้อเชิญให้ไปเยือน เหตุที่ต้องกลับ ความผูกพันระหว่างกัน
ตอบ 1 การกล่าวขอบคุณ ความประทับใจ การเชื้อเชิญให้ไปเยือน
การกล่าวอำลาจากการเยี่ยมนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะถือเป็นหลักปฏิบัติ ดังนี้ 1 คำปฏิสันถาร 2 กล่าวขอบคุณ 3 กล่าวถึงความประทับใจในการต้อนรับและความมีไมตรีจิตจากเจ้าของบ้าน 4 กล่าวเชื้อเชิญเจ้าของบ้านให้ไปเยือนตนบ้าง
75 การกล่าวคำไว้อาลัยที่ดี ควรพูดอย่างไร
1 พูดถึงทรัพย์สินที่เขามีก่อนตาย 2 พูดถึงผลงานที่เขาทำไว้ก่อนตาย
3 พูดถึงความประพฤติที่ไม่ดีก่อนตาย 4 พูดถึงความน่าสมเพชของเขาก่อนตาย
ตอบ 2 พูดถึงผลงานที่เขาทำไว้ก่อนตาย
การกล่าวคำไว้อาลัย เป็นการพูดถึงคุณงามความดีของผู้เสียชีวิต ซึ่งหลักเกณฑ์ในการกล่าวคำไว้อาลัยที่ดี มีดังนี้
1 คำปฏิสันถาร 2 พูดถึงชีวประวัติของผู้เสียชีวิตอย่างสั้นๆ 3 พูดถึงผลงานของผู้เสียชีวิต 4 พูดถึงสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเสียชีวิต 5 พูดถึงความอาลัยของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง 6 แสดงความหวังว่าเขาจากไปอยู่ในสถานที่ดีและมีความสุข
76 ตามมารยาทของการกล่าวตอบที่ได้รับรางวัลหรือของขวัญนั้น สิ่งที่พูดจะต้องให้ความสำคัญและกล่าวถึงเสมอ คือ
1 อธิบายความเป็นมาของรางวัลหรือของขวัญชิ้นนั้น
2 กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยให้ตนเองประสบความสำเร็จ
3 ความประทับใจที่มีต่อกรรมการและผู้ตัดสินที่ส่งเสริมให้มีวันนี้
4 อุปสรรคที่ได้รับระหว่างการต่อสู้แข่งขัน และบอกด้วยว่าเป็นใคร
ตอบ 2 กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยให้ตนเองประสบความสำเร็จ
ในงานที่เป็นพิธีการ ผู้ได้รับรางวัลหรือของขวัญจะต้องกล่าวตอบขอบคุณโดยอาศัยหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1 คำปฏิสันถาร 2 กล่าวถึงความรู้สึกยินดีที่ตนได้รับรางวัลหรือของขวัญ 3 กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยทำให้ตนประสบความสำเร็จ 4 พูดให้เห็นความรู้สึกว่าของขวัญหรือของรางวัลนั้นมีความหมายสำหรับตนมาก 5 กล่าวขอบคุณ
77 การกำหนดวัตถุประสงค์ของการพูดพิจารณาจาก
1 ระบบสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟัง 2 ความยาว – สั้นของสาระในการนำเสนอ
3 การแบ่งหัวข้อเป็นประเด็นต่างๆ 4 ประเด็นหลักและข้อมูลสนับสนุน
ตอบ 1 ระบบสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟัง
ขั้นตอนต่อจากการวิเคราะห์ผู้ฟังและสถานการณ์การพูดคือ การเลือกเรื่องพูดและการเตรียมเนื้อเรื่อง โดยผู้พูดจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายหรือกำหนดวัตถุประสงค์ของการพูดให้มีความสัมพันธ์กับระบบสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟังกลุ่มเป้าหมายก่อน แล้วจึงกำหนดหัวข้อการพูดตามประเด็นต่างๆอย่างละเอียดตามข้อมูลที่มีอยู่หรือตามที่ได้ทำการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงมา จากนั้นจึงร่างเนื้อหาสาระของการพูดให้มีความสัมพันธ์กับความสนใจของผู้ฟัง
78 หากนักศึกษาได้รับคำสบประมาทว่า ไม่สามารถพัฒนาการพูดของตนเองได้มากไปกว่านี้ คุณควรจะทำอย่างไรในฐานะผู้ที่เรียนการพูดมาแล้ว
1 ไม่ต้องสนใจ เพราะจะมีกี่คนที่เรียนการพูดมาโดยตรง เปล่าประโยชน์ที่จะฟัง
2 แสดงความรู้สึกให้เห็นว่า ไม่เป็นเช่นนั้น มีสิทธิอะไรมาวิจารณ์
3 ฟังด้วยจิตใจสงบ หันมาสำรวจตนเอง ยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาด
4 ฟังแล้วก็ผ่านไป ใครก็พูดกันได้ทั้งนั้น คุณก็ไม่ต่างกับฉันซักเท่าไร
ตอบ 3 ฟังด้วยจิตใจสงบ หันมาสำรวจตนเอง ยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาด
ผู้ถูกวิจารณ์ไม่ควรท้อถอยเมื่อรู้ว่าการพูดของตนนั้นจะถูกนำไปวิจารณ์ แต่ควรยึดถือข้อแนะนำ ดังนี้
1 ต้องเป็นผู้มีมารยาทในการฟัง โดยฟังด้วยจิตใจที่สงบ ทำใจให้เป็นกลาง ยอมรับฟังข้อติของผู้อื่น ไม่โกรธและถกเถียงกัน
2 นำข้อติและข้อแนะนำมาสำรวจตนเอง พร้อมทั้งปรับปรุงการพูดของตนให้ดีขึ้น
79 สมมุติฐานที่จะเป็นกำลังใจให้ทุกคนหันมาปรับปรุงการพูดของตนเอง คือ
1 คนเราพูดได้ทุกคน แต่จะพูดเป็นหรือเปล่านั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง
2 การพูดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือว่าคุณจะทิ้งมันไป
3 การพูดเป็นความยากที่ท้าทาย น้ำหน้าอย่างคุณจะทำได้หรือ
4 คนเราทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้ การพูดก็เช่นกัน
ตอบ 4 คนเราทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้ การพูดก็เช่นกัน
ในการวิจารณ์นั้น ผู้วิจารณ์ควรจะเสนอข้อแนะนำของตนเองในทางที่ดี มีประโยชน์ เพื่อว่าผู้พูดจะได้นำไปปรับปรุงการพูดของตนเองให้ดีต่อไป โดยอาจตั้งสมมุติฐานเพื่อให้กำลังใจว่า การพูดเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนสามารถศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาทักษะได้ ยิ่งฝึกมากความชำนาญในการพูดยิ่งพัฒนาขึ้นตามลำดับ
80 สิ่งแรกที่ผู้วิจารณ์การพูดจะพิจารณาถึงความประหม่าของผู้พูด คืออะไร
1 ภาษา 2 การประมวลเรื่อง
3 ความคิดและเนื้อหาสาระ 4 ท่าทีและการปรับตัวโดยทั่วไป
ตอบ 4 ท่าทีและการปรับตัวโดยทั่วไป
หลักเกณฑ์ในการวิจารณ์หรือการประเมินผลการพูดทั่วๆไป ข้อแรกคือการวิจารณ์ท่าทีและการปรับตัวโดยทั่วไป ซึ่งผู้วิจารณ์ต้องเริ่มพิจารณาจากการปรากฏตัวของผู้พูดว่ามีความประหม่าหรือไม่ มีความมั่นใจในตนเองหรือไม่ ตลอดจนมีลักษณะที่แจ่มใส คล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศทั่วๆไปได้หรือไม่
81 การพากย์กีฬาเรือยาว เป็นการพูดชนิดใด
1 การพูดโดยการท่องจำ 2 การพูดโดยอ่านจากต้นฉบับ
3 การพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียม 4 การพูดปากเปล่าโดยมีการฝึกซ้อม
ตอบ 3 การพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียม
ในการพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า (การพูดโดยกะทันหัน) เช่น การพากย์มวยหรือเรือยาว การตอบปัญหาบางประการ ฯลฯ ผู้พูดควรปฏิบัติดังนี้
1 พยายามควบคุมสติอารมณ์ให้สงบ พยายามอย่าให้ตื่นเต้น ประหม่าหรือตื่นเวที
2 คิด และรวบรวมความรู้ประสบการณ์ของตนเองให้ได้อย่างรวดเร็ว
3 ลำดับความคิดเห็นหรือเรื่องให้ตรงกับประเด็นที่จะพูดยกตัวอย่าง
4 พูดให้สั้น กระชับ และมีความหมายชัดเจน
82 ข่าวหลังละครช่วงดึก เป็นการพูดชนิดใด
1 การพูดโดยการท่องจำ 2 การพูดโดยอ่านจากต้นฉบับ
3 การพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียม 4 การพูดปากเปล่าโดยมีการฝึกซ้อม
ตอบ 2 การพูดโดยอ่านจากต้นฉบับ
การพูดโดยการอ่านจากต้นฉบับ เป็นการพูดจากโน้ตที่ได้เตรียมไว้โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความเลย จึงเป็นการอ่านมากกว่าพูด ซึ่งมักใช้ในการพูดที่เป็นพิธีการ เช่น สุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญๆ การอ่านข่าว การอ่านบทความ การกล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสต่างๆคำแถลงการณ์ของรัฐบาล / คณะปฏิวัติ การอ่านรายงาน เปิดกิจการ ฯลฯ
83 นักพูดหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์น้อย ควรฝึกซ้อมการพูดอย่างไรจึงจะดีที่สุด
1 ฝึกซ้อมพูดกลางถนน 2 ฝึกซ้อมพูดกับรูปปั้นในสวน
3 ฝึกซ้อมพูดหน้ากระจกในห้องคนเดียว 4 ฝึกซ้อมพูดกับสุนัข
ตอบ 3 ฝึกซ้อมพูดหน้ากระจกในห้องคนเดียว
วิธีฝึกซ้อมพูดของผู้พูด (ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่) สามารถทำได้ 2 กรณี คือ
1 วิธีฝึกซ้อมพูดหน้ากระจกหรือฝึกซ้อมพูดคนเดียว เป็นการฝึกฝนเบื้องต้นที่ผู้พูดต้องการ ดูข้อบกพร่องของตนเองแล้วแก้ไข โดยผู้พูดจะต้องตั้งใจฟังการพูดของตนว่าออกเสียงถูกต้องชัดเจนหรือไม่ รวมถึงสังเกตการแสดงท่าทางว่าเหมาะสมหรือไม่
2 วิธีฝึกซ้อมพูดกับคนคุ้นเคย วิธีนี้จะช่วยให้ผู้พูดกำจัดความอายและความเขินไปทีละน้อยๆและช่วยให้ผู้พูดรู้จักควบคุมตัวเองได้ด้วย
84 สิ่งใดเป็นวิธีช่วยแก้ความตื่นเวทีได้
1 คิดไปว่าไม่มีอะไรน่ากลัว และเขาก็อยากฟังเราพูด 2 รีบๆพูดให้เร็วๆซะ จะได้จบเกมกันเสียที
3 ดื่มน้ำเข้าไปเยอะๆทดแทนการเสียเหงื่อ 4 ใส่เสื้อผ้ารัดๆฟิตๆให้ดูเท่เข้าไว้ จะได้เพิ่มความมั่นใจ
ตอบ 1 คิดไปว่าไม่มีอะไรน่ากลัว และเขาก็อยากฟังเราพูด
วิธีแก้ความตื่นเวที มีดังนี้
1 หายใจเข้าปอดลึกๆแล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆประมาณ 4 – 5 ครั้ง
2 เมื่อเริ่มพูด ถ้ารู้สึกว่าเสียงสั่นและยังประหม่ามากให้พูดช้าๆ พยายามหลีกเลี่ยงการพูดเร็ว
3 พยายามคิดว่าไม่มีอะไรน่ากลัว และคิดว่าผู้ฟังที่มองตานั้นเขามองด้วยความศรัทธา ให้กำลังใจ และอยากฟังเราพูด
4 ควรหลีกเลี่ยงการแต่งกายที่ตึง รัด และเป็นอุปสรรคต่อการพูด ฯลฯ
85 มารยาทที่ดีงามในการพูด คือข้อใด
1 พูดอวดความเก่งกาจของตนเอง 2 พูดอย่างเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น
3 แสดงพฤติกรรมตามยถากรรม และปล่อยวางทุกสิ่ง 4 ใช้วาจารุนแรงในการโน้มน้าวใจ
ตอบ 1 พูดอวดความเก่งกาจของตนเอง
มารยาทที่ดีงามในการพูดมีดังนี้ 1 ควรคิดให้รอบคอบก่อนจะพูด 2 ควรใช้อารมณ์ให้ถูกกาลเทศะ 3 ไม่ควรพูดกระทบกระเทือนหรือเสียดสีผู้ฟัง 4 ควรตั้งใจพูดให้ดี 5 ควรเตรียมเรื่องที่จะพูดให้พร้อม 6 ไม่ควรพูดอวดตน อวดภูมิ ข่ม หรือถือว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น 7 ต้องไม่ผูกขาดการพูดแต่เพียงคนเดียว หรือควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูด / แสดงความคิดเห็นบ้าง ฯลฯ
86 ข้อใดแตกต่างจากข้ออื่น
1 พูดโฆษณาเพื่อขายสินค้า 2 พูดหาเสียงเลือกตั้ง
3 พูดแนะนำการใช้สมุนไพร 4 พูดเชิญชวนบริจาคโลหิต
ตอบ 3 พูดแนะนำการใช้สมุนไพร
การพูดเพื่อชักจูงใจ เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ เชื่อ และเห็นด้วยทั้งทางความคิด และการกระทำตามความมุ่งหมายของผู้พูด ซึ่งมักจะพูดในโอกาสต่างๆกัน เช่น การโฆษณาขายสินค้า การโต้วาที การเทศนา การพูดหาเสียง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การอภิปรายของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร การพูดของทนายความในศาล การพูดเชิญชวนให้ร่วมบริจาคโลหิต ฯลฯ (ส่วนการพูดแนะนำการใช้สมุนไพร เป็นการพูดเพื่อความรู้หรือเล่าข้อเท็จจริง)
87 ข้อใดแตกต่างจากข้ออื่น
1 การพูดวิจารณ์หลักการบริหารราชการแผ่นดิน 2 การพูดวิจารณ์สถาบันทางการเมือง
3 การพูดวิจารณ์การถ่ายทอดสดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 4 การพูดวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม
ตอบ 3 การพูดวิจารณ์การถ่ายทอดสดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
กาพูดวิจารณ์ทางวิชาการ คือ การพูดวิจารณ์ศาสตร์ในสาขาต่างๆโดยผู้วิจารณ์จะต้องมีความรู้ในด้านหรือแขนงนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งการพูดวิจารณ์แบบนี้จะพบมากในด้านการเมือง (เช่น การวิจารณ์หลักการบริหารราชการแผ่นดิน สถาบันการเมือง และกระบวนการยุติธรรม) การแพทย์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ (ส่วนการวิจารณ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้นเป็นการพูดวิจารณ์ทั่วไป)
88 การพูดให้ความในชั้นศาล เป็นการพูดชนิดใด
1 การพูดรายงานแบบสรุปผล 2 การพูดรายงานแบบความก้าวหน้าและผลสำเร็จ
3 การพูดรายงานแบบประสบการณ์ 4 การพูดรายงานแบบแถลงข้อเท็จจริง
ตอบ 4 การพูดรายงานแบบแถลงข้อเท็จจริง
การพูดรายงานแบบแถลงข้อเท็จจริง เป็นการเสนอข้อเท็จจริง หลักฐาน ข้อมูล วัตถุประสงค์ หลักการ และสมมุติฐานที่จะเกิดขึ้น เช่น การพูดให้ความในชั้นศาล การรายงานถึงโครงการหรือนโยบายที่จะกระทำ หรือที่กำลังกระทำอยู่ เป็นต้น
89 การเล่านิทานให้สนุก ควรเป็นเช่นไร
1 เสียงของเจ้าหญิงต้องน่ารักอ่อนหวาน 2 ใช้น้ำเสียงเศร้าเมื่อถึงบทที่โจรกำลังต่อสู้
3 เสียงพระราชาต้องฟังดูเป็นคนแก่ห่อเหี่ยว 4 ใช้เสียงไก่แทนเสียงม้า
ตอบ 1 เสียงของเจ้าหญิงต้องน่ารักอ่อนหวาน
การเล่านิทานให้สนุกนั้น ผู้เง่าจะต้องมีน้ำเสียงที่น่าฟัง เสียงมีจังหวะสูงต่ำ คล้ายเสียงดนตรี และเสียงนั้นต้องแสดงถึงความรู้สึก เช่น เมื่อผู้ร้ายกำลังตามฆ่าพระเอกต้องใช้เสียงรุกเร้าเพื่อแสดงถึงความตื่นเต้น เสียงพระราชาต้องเป็นเสียงคนแก่และมีอำนาจ เสียงของเจ้าหญิงต้องน่ารักและอ่อนหวาน เสียงของโจรผู้ร้ายต้องดุดัน ฯลฯ นอกจากนี้ผู้เล่าต้องเลียนเสียงร้องต่างๆ ของสัตว์และเสียงประกอบอื่นๆ ได้ตรงกับความเป็นจริง
90 ในการพูดเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร มีอะไรเป็นสาระสำคัญ
1 ความรู้ 2 บรรยากาศ 3 อารมณ์ความรู้สึก 4 ความจริงที่เกิดขึ้น
ตอบ 1 ความรู้
การพูดเพื่อให้ความรู้หรือเล่าข้อเท็จจริง (ให้ข้อมูลข่าวสาร) มีจุดมุ่งหมายหรือสาระสำคัญคือ เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ฟัง โดยจะบอกหรือนำเสนอข้อมูลความจริงที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งผู้ฟังจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
91 เป้าหมายของการพูดเพื่อชักจูงใจคือ
1 เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนพฤติกรรม 2 การทำตามคำสั่ง
3 สร้างภาวะทางอารมณ์กดดัน 4 ให้ตีความหมายข่าวสาร
ตอบ 1 เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนพฤติกรรม
จุดมุ่งหมายของการพูดเพื่อชักจูงใจ ได้แก่ 1 เพื่อชักจูงให้เห็นด้วย 2 เพื่อชักจูงให้เปลี่ยน / ไม่เปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรม 3 เพื่อชักจูงให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกระตุ้นให้สร้างพฤติกรรมใหม่
92 การเตรียมเนื้อหาของรายงานที่จะพูดนั้นไม่ควรจะ
1 มีหัวข้อที่สั้น กระชับ ชัดเจน 2 ทำหัวข้อย่อยๆให้มีความเด่น ง่ายต่อการอ่าน
3 บรรจุเนื้อหาที่สมบูรณ์ของเรื่องลงไป 4 จัดทำอย่างประณีตด้วยความรอบคอบ
ตอบ 3 บรรจุเนื้อหาที่สมบูรณ์ของเรื่องลงไป ดูคำอธิบายข้อ 29 ประกอบ
93 การเตรียมเนื้อเรื่องที่จะพูดนั้น สิ่งใดเป็นตัวแปรที่เกิดจากเจ้าภาพได้มากที่สุด
1 ความเชื่อ ทัศนคติของผู้ฟัง 2 ความสนใจที่มีต่อหัวข้อ
3 เวลาที่ให้กับการพูด 4 บรรยากาศการประชุม
ตอบ 2 ความสนใจที่มีต่อหัวข้อ
เจ้าภาพ เป็นตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญในการจัดทิศทาง / แนวความคิดของเนื้อเรื่องที่จะพูด แม้ว่าผู้พูดจะเตรียมเนื้อหาและเตรียมตัวมาพร้อมแล้วสำหรับการพูด แต่ถ้าเนื้อหา (หัวข้อหรือประเด็น) ที่เตรียมมาไม่ตรงกับความต้องการหรือความสนใจของเจ้าภาพ ผู้พูดก็ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดหรือสื่อสารออกไปได้
94 การพูดในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากการพูดประเภทอื่นๆอย่างไร
1 เนื้อหาที่จะพูดต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอ 2 ต้องมีการนำเสนอโดยใช้เหตุผลประกอบ
3 ต้องมีการจัดสมดุลของเนื้อหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่กล่าวอ้าง
4 ต้องมีการใช้กติกา ข้อกำหนด หรือตัวบ่งชี้ต่างๆมาเป็นเกณฑ์
ตอบ 2 ต้องมีการนำเสนอโดยใช้เหตุผลประกอบ ดูคำอธิบายข้อ 30 ประกอบ
95 ข้อใดกล่าวเกี่ยวกับการวิจารณ์การพูดได้อย่างถูกต้องที่สุด
1 การวิจารณ์เป็นการตรวจสอบข้อบกพร่องผู้พูดโดยตรง 2 การวิจารณ์การพูด คือ การประเมินผลที่ดี
3 การวิจารณ์ต้องทำอย่างปิดบัง เพราะสังคมไทยยังไม่ยอมรับวิธีการนี้
4 การวิจารณ์นั้น ผู้พูดและผู้ฟังไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎเกณฑ์ร่วมกัน
ตอบ 2 การวิจารณ์การพูด คือ การประเมินผลที่ดี
ในการพูดวิจารณ์นั้น สำหรับผู้ที่ถูกวิจารณ์ก็จะได้ทราบถึงข้อบกพร่องและคิดหาวิธีแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะการวิจารณ์ก็คือ การประเมินผลที่ดีนั่นเอง
96 คำนำ หมายถึง
1 การนำเข้าสู่เนื้อเรื่อง 2 กลวิธีนำเสนอ 3 การทักทายผู้ฟัง 4 ความคิดรวบยอดของเรื่อง
ตอบ 1 การนำเข้าสู่เนื้อเรื่อง
โครงสร้างของการจัดเนื้อเรื่องหรือการลำดับความในวิชาการพูด มีดังนี้ 1 คำปฏิสันถาร คือ การกล่าวทักทาย 2 คำนำ คือ เริ่มเข้าเรื่องหรือการนำเข้าสู่เนื้อหา 3 เนื้อเรื่อง คือ ข้อมูลหรือประเด็นหลักของการนำเสนอ 4 สรุป คือ ความคิดรวบยอดของเรื่อง 5 คำลงท้าย คือ การกล่าวเชิญชวน หรือข้อความที่สร้างความประทับใจ ซึ่งในส่วนของสรุปกับคำลงท้ายหรือการกล่าวเชิญชวนนั้นสามารถพูดสลับที่กันได้ (ดูคำอธิบายข้อ 11 ประกอบ)
97 ในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ให้สัมภาษณ์ ข้อใดแตกต่างจากข้ออื่น
1 นักแสดงที่บริจาคอาหารและน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติ
2 ชาวต่างชาติที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์โคลนถล่ม
3 คุณยายที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม
4 เด็กนักเรียนที่ถูกค้นพบในซากอาคารถล่มหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
ตอบ 1 นักแสดงที่บริจาคอาหารและน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติ
คุณสมบัติของผู้ให้สัมภาษณ์ มีดังนี้ 1 บุคคลที่มีความสำคัญทางการเมือง 2 บุคคลที่ประสบความสำเร็จในการงาน 3 บุคคลที่ประกอบกิจกรรมเพื่อสังคม 4 บุคคลที่สังคมกำลังให้ความสนใจในขณะนั้น (เช่น นักแสดง นักร้อง นางงาม ฯลฯ) 5 บุคคลที่ประสบมหันตภัยต่างๆ (เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว น้ำท่วม โคลนถล่ม ฯลฯ) 6 บุคคลที่เป็นแขกเมือง
98 ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นคนพูดมาก ควรปรับตัวให้เข้ากับบุคลิกของผู้ให้สัมภาษณ์อย่างไร
1 ผู้สัมภาษณ์จะต้องสร้างความเป็นกันเอง จนทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์เกิดความไว้วางใจ
2 ผู้สัมภาษณ์ควรเตรียมคำถามให้พร้อม คำถามนั้นต้องเป็นคำถามที่สำคัญ ตรงประเด็นตามจุดมุ่งหมาย
3 ผู้สัมภาษณ์ควรรับฟังเฉพาะข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย
4 ผู้สัมภาษณ์ควรให้รางวัลด้วยคำชม ขนมขบเคี้ยวหรือของเล่น เมื่อผู้ให้สัมภาษณ์ตอบคำถาม
ตอบ 3 ผู้สัมภาษณ์ควรรับฟังเฉพาะข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย
ผู้ให้สัมภาษณ์ประเภทพูดมาก มักเป็นคนรักสนุก จิตใจเป็นมิตรกับทุกชนชั้นและยินดีที่จะตอบคำถาม ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่มักจะกว้าง ดังนั้นผู้สัมภาษณ์จึงควรรับฟังเฉพาะข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย
99 ถ้าท่านเป็นผู้แนะนำองค์ปาฐก ท่านจะกล่าวแนะนำ นายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส อย่างไร ในเมื่อบุคคลผู้นี้ดำรงยศเป็นพลตรี และเป็นศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาด้วย
1 ศาสตราจารย์ พลตรี นายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส 2 พลตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส
3 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ พลตรียอดยศ สุริยาจำรัส 4 พลตรี นายแพทย์ ศาสตราจารย์ยอดยศ สุริยาจำรัส
ตอบ 2 พลตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส
การแนะนำองค์ปาฐกที่ดีนั้น ควรจะแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ใช่สรรเสริญหรือยกยอมากจนเกินไป โดยทั้งนี้จะต้องบอกว่าองค์ปาฐกคือใคร มีตำแหน่งและหน้าที่การงานทางด้านใด มีความชำนาญทางด้านใด และมีผลงานดีเด่นอย่างไร เช่น จะกล่าวแนะนำนายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส ผู้มียศเป็นพลตรี และเป็นศาสตราจารย์ได้ว่า พลตรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยศ สุริยาจำรัส เป็นต้น
100 การพูดก่อให้เกิดความสำเร็จในด้านการเมือง ยกเว้นข้อใด
1 ทำให้นักการเมืองอยู่ในศีลธรรมและประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีงาม
2 ทำให้ประชาชนเข้าใจนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล
3 ทำให้คนในท้องถิ่นสามารถปกครองกันเองได้
4 ทำให้ประเทศต่างๆอยู่กันได้อย่างสันติสุข
ตอบ 1 ทำให้นักการเมืองอยู่ในศีลธรรมและประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีงาม
การพูดที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในด้านการเมือง มีหลักการทั่วๆไปคือ
1 พูดชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจนโยบายและหลักการบริหารงานของรัฐบาล เพราะการปกครองชนกลุ่มใหญ่ให้ปฏิบัติตามหลักการนั้นทำได้ยาก
2 การพูดทำให้คนในท้องถิ่นสามารถปกครองกันเองได้
3 การพูดทำให้ประเทศต่างๆอยู่กันได้อย่างสันติสุข
(ส่วนตัวเลือกข้อ 1 เป็นการพูดที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในด้านศาสนา)