การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  7  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ

ข้อ  1  จงตอบคำถามต่อไปนี้

1.1            “ข่าวการเมือง  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ

แนวคำตอบ

ข่าวการเมือง  หมายถึง  การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ  ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  

1)    การจัดการเลือกตั้ง  การรณรงค์หาเสียง  นโยบายของพรรค

2)    การจัดตั้งรัฐบาล

3)    การกำหนดนโยบาย  การแถลง  การปฏิบัติงานตามนโยบาย

4)    กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา  การดำเนินงานของรัฐสภา  กรรมาธิการ

5)    การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง  ข้าราชการประจำ  องค์กรอิสระต่างๆ  การเปิดอภิปราย

6)    บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน  วุฒิสภา

7)    ความคิดเห็นของ  ส.ส.  ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ  ในรัฐสภา

8)    การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ  กกต.  ปปช.  ปปง.  คตง.

9)    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตัวอย่างหัวข้อข่าวการเมือง  ข่าวการตรวจสอบการถือครองหุ้นของรัฐมนตรีเกินกว่ากำหนดซึ่งในกรณีนี้นักข่าวสามารถหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่อไปนี้

–                    คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

–                    รัฐมนตรีที่เข้าข่ายความผิดถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ  5

–                    นายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม  พ.ร.บ.  การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี  พ.ศ.2543

–                    สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  (สลค.)  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องแจ้งเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่ง

–                    บริษัทเอกชนที่รัฐมนตรีถือหุ้นเกิน  5%

–                    บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี

–                    พ.ร.บ.  การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี  พ.ศ. 2543

–                    พ.ร.บ.  ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต  พ.ศ.2542

–                    รัฐมนตรีและบุคคลสำคัญต่างๆ  ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของรัฐมนตรี

1.2            “ข่าวอาชญากรรม  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ

แนวคำตอบ

ข่าวอาชญากรรม  หมายถึง ข่าวการรายงานเหตุการณ์และความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา  ซึ่งผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการได้พิจารณาเลือกสรรแล้วด้วยความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านส่วนใหญ่หรือบางส่วน  โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ  ได้แก่  ข่าวฆาตกรรม  อุบัติเหตุ  อุบัติภัย  ภัยพิบัติ  การประท้วง  จลาจล  ฆ่าตัวตาย  ข่าวสะท้อนสังคม  ความผิดทางอาญาต่างๆ  เป็นต้น

เนื้อหาของข่าวอาชญากรรมจะเกี่ยวข้องกับประเด็น  ต่อไปนี้

1)    เหตุการณ์เกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างไร  นำไปสู่ปัญหาใด

2)    สาเหตุของเหตุการณ์  วิธีการก่ออาชญากรรม

3)    การวางแผนติดตาม  การปราบปรามของเจ้าหน้าที่

4)    ความคืบหน้าของคดี

5)    ปัญหาในการจับกุมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่.

6)    การป้องกันหรือลดคดีอาชญากรรม

7)    ความคิดเห็นของบุคคลหลายฝ่าย  เช่น  นายกรัฐมนตรี  ร.ม.ต.  ผบ.ตร.  นักวิชาการ ฯลฯ

เนื้อหาของข่าวอาชญากรรมที่ผู้สื่อข่าวต้องรวบรวมจะเกี่ยวข้องกับประเด็น  ต่อไปนี้

1       ความเสียหายต่อชีวิต  ทรัพย์สิน

2       วิธีการของอาชญากรรม

3       เบาะแส  วัตถุพยาน  ร่อยรอย

4       สาเหตุของการก่ออาชญากรรม

5       คำให้การของผู้เคราะห์ร้าย

6       รายงานของตำรวจ

7       การจับกุม  การตั้งข้อหา

ตัวอย่างข่าวอาชญากรรม  ข่าวนักศึกษาเสียชีวิตหลังถูกรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจากการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง  ซึ่งในกรณีนี้นักข่าวสามารถหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่อไปนี้

–                    ตำรวจ  สถานีโรงพยาบาล

–                    หน่วยกู้ชีพ  โรงพยาบาล

–                    ผู้ที่อยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  เช่น  นักศึกษารุ่นพี่ที่ก่อเหตุ  (กรณีที่จับกุมตัวได้แล้ว)  นักศึกษาที่ไปร่วมรับน้อง ฯลฯ  รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์

–                    คณะครู  อาจารย์  ผู้บริหารของสถาบันศึกษานั้นๆ

–                    บิดา  มารดา  และเพื่อนสนิทของผู้เสียชีวิต

–                    กระทรวงศึกษาธิการ 

ข้อ  2  ตามหลักการ  ข่าวที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง  จงอธิบาย

แนวคำตอบ

คุณสมบัติของข่าวที่ดี  

1       มีความถูกถ้วน  (Accuracy)  หมายถึง  ข้อเท็จจริงทุกอย่างที่ปรากฏในข่าว  เช่น  ชื่อ- นามสกุล  อายุ  ที่อยู่  ยศ  ตำแหน่ง  วันที่  และคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวทุกคำ  ฯลฯ  จะต้องได้รับการตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่าถูกต้องและครบถ้วน  เพราะความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลข่าวถือเป็นเรื่องสำคัญมากในความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ตกเป็นข่าว  รวมทั้งผู้อ่านที่ใกล้ชิดและรู้เรื่องราวที่เกิดเป็นข่าวนั้นมาโดยตลอด  ดังนั้นผู้อ่านจึงมักจะติดสินว่าควรเชื่อถือศรัทธาหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่  จากประสบการณ์ที่ได้อ่านและได้พบเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น  โดยมักจะสรุปว่าเมื่อหนังสือพิมพ์เสนอข่าวผิดเรื่องหนึ่งและครั้งหนึ่ง  ก็อาจจะเสนอข่าวผิดอีกต่อๆไปได้เช่นกัน

2       มีความสมดุลและเที่ยงธรรม  (Balance  and  Fairness)  หมายถึง  มีความยุติธรรมในการเสนอข่าว  ซึ่งข่าวที่ดีต้องรับใช้ผู้อ่านที่เป็นสาธารณชน  ไม่ควรรับใช้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามคำขอร้องเป็นพิเศษของคนเหล่านั้น  โดยเฉพาะถ้าข่าวนั้นเป็นปัญหาสาธารณะ  ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ดีในการรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เป็นปัญหาสาธารณะนั้น  ข่าวที่ดีมีคุณภาพจะต้องนำเสนอประเด็นสำคัญๆ  ซึ่งคู่กรณี  (ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน)  ได้แสดงความคิดเห็นออกมาในลักษณะที่สมดุลกัน  นอกจากนี้ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหรือความคิดเห็น  ก็จะต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่บุคคลนั้น  โดยให้โอกาสโต้แย้งข้อกล่าวหาด้วย

3       มีความเป็นภววิสัย  (Objective)  หมายถึง  ข่าวที่ปราศจากอคติส่วนตัวของผู้สื่อข่าว  เช่น  ความชอบหรือไม่ชอบ  ฯลฯ  หรือปลอดจากอิทธิพลภายนอก  ซึ่งอาจจะทำให้ข่าวนั้นปรากฏออกมาเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่ข่าวนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวต้องรายงานข่าวเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับความรู้สึกส่วนตัว  จึงควรต้องละทิ้งความรู้สึกดังกล่าวไปเสีย  และรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยปราศจากอคติ  ตรงไปตรงมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  แล้วให้ผู้อ่านแต่ละคนค้นหาความจริงในข่าวนั้นด้วยตัวของผู้อ่านเอง

4       มีความง่าย  กะทัดรัด  และชัดเจน  (Simplicity  Conciseness  and  Clearness)    หมายถึง  ข่าวที่มีคุณภาพต้องเขียนอย่างรัดกุมกะทัดรัด  ไม่เยิ่นเย้อ  และง่ายต่อการอ่าน  ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ  ต้องเขียนข่าวให้กระจ่างแจ้ง  ชัดเจน  ผู้อ่านอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที  โดยไม่ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก

ข้อ  3  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละชิ้น  แต่ละประเภทแตกต่างกัน  เช่น  บางฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องอื้อฉาวของคนดัง  บางฉบับเน้นข่าวการเมือง  บางฉบับเสนอข่าวสังคมที่เน้นข่าวกลุ่มคนดังไฮโซ  บางฉบับเสนอข่าวของชาวบ้าน  ข่าวภูมิภาค  หรือบางฉบับมีข่าวสิ่งแวดล้อมปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล  ปัจจัยด้านองค์กร  และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมอย่างไร  จงอธิบาย

แนวคำตอบ

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ  ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว  ดังนี้

1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง)  

–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ

–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา

–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว

–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด

2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น

นโยบายของสื่อ  

–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ

–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร

–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน

วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่

–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า

–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่

3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่

–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ

–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ

ข้อ  4  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  การต่อรองและช่วงชิงโอกาสจัดตั้งรัฐบาล  รวมทั้งการต่อรองให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีของนักการเมืองพรรคต่างๆ ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลผสมช่วงหลังเลือกตั้งได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนทุกแขนง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าข่าวด้านใดบ้าง

แนวคำตอบ

เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว  (News  Values)  

1       ความโดดเด่น / ดัง / ชื่อเสียง  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับความมีชื่อเสียง  ความดัง  ความโดดเด่นของพรรคการเมือง  หัวหน้าพรรค  และนักการเมือง  ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป

2       ความใกล้ชิด  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน  เพราะเป็นเรื่องอนาคตของประเทศชาติ  ซึ่งประชาชนทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

3       ความทันต่อเวลา  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆ  ทำให้ได้รับความสนใจ  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

4       ปุถุชนสนใจ  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเร้าความสนใจของมนุษย์  ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ตื่นเต้นลุ้นว่าพรรคใดจะได้เป็นฝ่ายรัฐบาล  พรรคใดจะได้เป็นฝ่ายค้าน  พรรคใดจะเข้าร่วมรัฐบาลบ้าง  หรือผู้อ่านบางคนอาจเกิดอารมณ์โกรธเกลียดนักการเมืองที่ไร้จุดยืน  พูดกลับไปกลับมา  เพื่อให้พรรคของตนได้รับผลประโยชน์ในการต่อรองมากที่สุด

5       ความขัดแย้ง / การแข่งขัน / การเผชิญหน้า  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทางความคิด  เพราะการเลือกตั้งกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ  รวมทั้งยังมีการแข่งขันช่วงชิงโอกาสและการต่อรองของพรรคการเมืองต่างๆในการจัดตั้งรัฐบาล

6       ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร / ผลกระทบ  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวพันกับประชาชนผู้รับสาร  ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  เพื่อให้ได้รัฐบาลมาบริหารประเทศ  นอกจากนี้การที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะเข้ามาเป็นรัฐบาล  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างๆ  ยังมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน  และมีผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป

7       ความมีเงื่อนงำ  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นยังไม่ทราบผลแน่ชัดว่าพรรคใดบ้างจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน  ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ  และพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวหรือไม่

8       ความเปลี่ยนแปลง  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองภายในประเทศ  เพราะการจัดการเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากยุคปฏิวัติรัฐประหาร  เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

ข้อ  5  ในการรายงานข่าวโดยทั่วไปนิยมใช้รูปแบบการเขียนอย่างไรบ้าง  จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างข่าวที่เหมาะสมกับการเขียนในรูปแบบนั้นๆ

แนวคำตอบ

รูปแบบการเขียนข่าวในการรายงานข่าวโดยทั่วไป  

1       แบบพีระมิดหัวกลับ  เป็นการรายงานข่าวในลักษณะสรุปย่อข้อเท็จจริงที่สำคัญๆ  เป็นความนำของข่าว  แล้วจึงค่อยขยายรายละเอียดของข้อเท็จจริงเหล่านั้นตามลำดับ  จึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในการเขียนมากที่สุด  แบ่งเป็น  2  รูปแบบ  

1)    แบบถือความสำคัญเป็นหลัก  เริ่มต้นด้วยความนำซึ่งสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญและจำเป็น  ตามด้วยเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญและความน่าสนใจลดหลั่นกันลงไปจนถึงย่อหน้าสุดท้ายซึ่งสำคัญน้อยที่สุด  เหมาะกับข่าวเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาเดียว  หรือเป็นเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาง่ายๆไม่สลับซับซ้อน

2)    แบบถือเวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นหลัก  เริ่มต้นด้วยความนำซึ่งสรุปย่อเหตุการณ์และผลลัพธ์ทั้งหมด  ตามด้วยเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  โดยเล่าตามลำดับเวลาที่เกิดเหตุการณ์ก่อนหลัง  อาจมีข้อเท็จจริงเสริมในตอนท้าย  จึงเหมาะกับข่าวเหตุการณ์ระทึกใจ  เหตุการณ์ที่ข้อมูลข่าวมีความต่อเนื่องกันตลอด  และเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว  เช่น  ข่าวแข่งขันกีฬา  ข่าวการประท้วง  ข่าวการจลาจล  เป็นต้น

2       แบบพีระมิดหัวตั้ง  เป็นการรายงานข่าวที่ตรงกันข้ามกับแบบพีระมิดหัวกลับ  คือ  เริ่มต้นด้วยความนำในลักษณะเกริ่นนำเรื่อง  ตามด้วยเนื้อข่าวซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ค่อยๆเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ   ส่วนย่อหน้าสุดท้ายจะสรุปเรื่องที่เป็นไคลแม็กซ์หรือประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่อง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อ่านอยากรู้มากที่สุดเอาไว้  จึงเหมาะสมกับข่าวเหตุการณ์สั้นๆ  โดยมีลีลาการเขียนให้อ่านสนุกคล้ายเรื่องสั้น  เรียกว่า  ข่าวสั้นขำขัน รวมทั้งข่าวอาชญากรรมที่ต้องการรายงานรายละเอียดของเหตุการณ์  เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้อ่าน  แต่จะไม่เหมาะกับเรื่องหนักๆ  ที่จริงใจ  เช่น  ข่าวเศรษฐกิจ  ข่าวการเมือง  ฯลฯ

3       แบบผสม  เป็นการรายงานข่าวที่อาจมีประเด็นสำคัญหรือไคลแม็กซ์มากกว่า  1  ประเด็น  จึงเหมาะกับข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กันและคลี่คลายไปเรื่อยๆ  ในขณะที่รายงานข่าวเหตุการณ์นั้นอาจยังไม่สิ้นสุด  แต่บ่งครั้งผู้เขียนข่าวไม่สามารถรอให้เหตุการณ์จบสิ้น  เพราะต้องส่งข่าวให้ทันช่วงเวลาปิดข่าว  (Deadline)

4       แบบความนำผนวกกับเนื้อข่าวที่มีข้อเท็จจริงสำคัญเท่าเทียมกัน  เป็นการรายงานข่าวที่เริ่มต้นด้วยความนำที่สรุปย่อข้อเท็จจริงทั้งหมดเอาไว้เช่นเดียวกับแบบพีระมิดหัวกลับ  แต่ส่วนเนื้อข่าวจะอธิบายรายละเอียดของข้อมูลข่าวแต่ละเรื่องโดยไม่เรียงตามลำดับความสำคัญ  หากแต่จะเรียงลำดับความเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละข้อมูลข่าวที่สนับสนุนซึ่งกันละกันอยู่  โดยมีจุดเด่น  คือ  ข่าวที่เขียนจะไม่ถูกจำกัดความสั้น  ยาว  ด้วยพื้นที่ที่จะพิมพ์  เนื่องจากข้อมูลข่าวสารแต่ละข้อมูลในเหตุการณ์นั้นจะมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด  และแต่ละข้อมูลข่าวยังมีเหตุผลสนับสนุนกันอยู่จนไม่อาจจะตัดข้อมูลข่าวใดออกไปได้  จึงเหมาะกับข่าวที่มีเนื้อหาหลายเหตุการณ์ในข่าวเดียวกัน  เช่น  ข่าวปฏิวัติรัฐประหาร  ข่าวภัยธรรมชาติ  หรืแปรากฎการณ์ธรรมชาติ  ข่าวกีฬาซีเกมส์  เป็นต้น

ข้อ  6  ในการรายงานข่าวการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง  ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง  จะต้องเสนอประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง

และระบุคุณลักษณะอะไรบ้างในเนื้อหาของข่าวดังกล่าว

แนวคำตอบ

การรายงานข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีเสียชีวิตควรนำเสนอประเด็นเนื้อหา 

1       ประเด็นสำคัญในความนำ  ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดของผู้เสียชีวิต  คือ  ชื่อ  นามสกุล  อาชีพ  หรือตำแหน่งสูงสุด  อายุ  สาเหตุการเสียชีวิต  วันที่  เวลา  และสถานที่ที่เสียชีวิต

2       ประเด็นในเนื้อเรื่อง  

–          ย่อหน้าแรก  สรุปลำดับเหตุการณ์ก่อนการเสียชีวิตอย่างสั้นๆ  ถ้าป่วยเป็นโรคเริ่มป่วยมาตั้งแต่เมื่อไร  มีอาการเป็นอย่างไร  รักษาโรงพยาบาลไหน  จากนั้นจึงระบุเหตุการณ์ตื่นเต้นขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต  หรือเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ตายก่อนจะเสียชีวิต  โดยอาจเล่าเหตุการณ์แบบนาทีต่อนาทีหรืออาจอ้างคำพูดของแพทย์  หรือผู้ใกล้ชิดที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้

–          ย่อหน้าต่อไป  จะเป็นรายละเอียดของพิธีศพและพิธีสวดพระอภิธรรมว่าจัดที่ใด  ใช้เวลากี่วัน  ผู้ใดเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม  กำหนดการบรรจุศพ  และกำหนดดารฌาปนกิจ

–          ย่อหน้าสุดท้าย  เป็นส่วนของภูมิหลังหรือประวัติของผู้ตายว่าเป็นชาวจังหวัดใด  จบการศึกษาจากที่ใดบ้าง  มีชื่อเสียงในฐานะอะไร  ซึ่งอาจเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพการงาน  ตำแหน่งในสังคมที่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง  มีผลงานดีเด่นอะไรที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  รวมทั้งผู้เสียชีวิตมีภรรยาและบุตรธิดากี่คน  ชื่ออะไรบ้าง  มีบุพการีและญาติพี่น้องที่มีชื่อเสียงเป็นใครบ้าง

คุณลักษณะที่ต้องระบุในเนื้อหาข่าวดังกล่าว  มีดังนี้

1       คุณลักษณะของบุคคล  ได้แก่  ชื่อ- นามสกุล  อายุ  ยศหรือตำแหน่ง  เกียรติภูมิหรือชื่อเสียง (เช่น  เป็นอดีตรัฐมนตรี)  และยังต้องอ้างถึงญาติหรือคนใกล้ชิดที่เป็นคนดังอีกด้วย

2       คุณลักษณะของสถานที่  ได้แก่  สถานที่ที่เสียชีวิต  ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง  เลขที่  ซอย  ถนน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  หลัก  กม.  ที่  บนถนนสาย…(กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ)  และอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการใด  หรือเป็นที่ที่รู้จักกันดี  เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้างๆ  ว่าสถานที่ที่เป็นข่าวนั้นอยู่ที่ใด  และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงใด

3       คุณลักษณะของเหตุการณ์  ได้แก่  ลำดับเหตุการณ์การเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ  เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร  จบลงอย่างไร  และผลที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จบลงแล้ว

ข้อ  7  จงอ่านข้อมูลต่อไปนี้  แล้วตอบคำถาม

 ตำรวจสายตรวจ  สน.  สายไหม  ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายบุกจี้ชิงทรัพย์  ภายในซอยพหลโยธิน  58  แยก  55  บ้านเลขที่  587  หมู่  6  แขวงและเขตสายไหม  กทม.  จึงรีบรุดไปตรวจสอบ  ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว  เนื้อที่  30  ตารางวา  พบนางจิตรา  บุณศรีธุระวานิช  อายุ  67  ปี  เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวยืนรอเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยอาการหน้าซีดเผือด  ตัวสั่น

นางจิตราให้การว่า  ตนประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า  ก่อนเกิดเหตุได้ออกจากบ้านไปรับซื้อของเก่าบริเวณใกล้บ้านในละแวกนี้  เมื่อกลับถึงหน้าบ้านพบชายสองคนขับรถจักรยานยนต์ถือกระเช้าของขวัญ  ภายในมีเครื่องดื่มประเภทไมโลและน้ำผลไม้มาจอดหน้าบ้าน  อ้างว่าเป็นเพื่อนของน้องจะเอากระเช้าปีใหม่มาเป็นของขวัญปีใหม่  ตนก็ยืนงงอยู่  จึงสอบถามคนร้ายว่าน้องคนไหน  ชื่ออะไร  จู่ๆคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายก็กระโดดล็อกคอและลากเข้าบ้าน  จากนั้นใช้เครื่องช๊อตไฟฟ้าจี้ด้านหลังจนรู้สึกชาไปหมด  พอตั้งสติได้ก็ร้องให้เพื่อนบ้านช่วยและดิ้นรนต่อสู้  คนร้ายอีกคนจึงบอกให้เพื่อนอีกคนปิดประตู  แต่ดีที่มีเพื่อนบ้านวิ่งมาดู  คนร้ายทั้งสองคนตกใจรีบปล่อยตัววิ่งขึ้นรถขับหลบหนีไป

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบกระเช้าของขวัญ  พบว่าเป็นกระเช้าของขวัญชุดเล็ก  ซื้อมาจากห้างโลตัส  เอ็กซ์เพรส  เบื้องต้นสันนิษฐานว่าคนร้ายน่าจะรู้ว่านางจิตราเป็นคนมีฐานะ  มีทรัพย์สินและอยู่บ้านเพียงลำพังจึงได้วางแผนไปซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่  อ้างเพื่อเข้ามาในบ้านเพื่อจับล็อกจี้ด้วยเครื่องช๊อตไฟฟ้าเพื่อกวาดทรัพย์สินในบ้าน  แต่เหยื่อฮึดสู้ร้องให้คนช่วยจนต้องเผ่นหลบหนีไปโดยไม่ได้ทรัพย์สินไป  อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานกับห้างโลตัส  เอ็กซ์เพรส  เพื่อขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด  ลักษณะรูปพรรณของคนร้าย  เพื่อติดตามมาดำเนินคดีต่อไป

สำหรับบ้านหลังดังกล่าวเคยถูกกลุ่มโจรขึ้นบ้านมาแล้วเมื่อ  7  8  ปีก่อน  แล้วจับนางจิตราขังไว้ในบ้านก่อนที่โจรจะช่วยกันยกเค้าทรัพย์สินไปจนเกลี้ยง  คาดว่าโจรกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่หวนกลับมาก่อเหตุอีก

7.1          จากข่าวข้างต้น  จงเขียนความนำของข่าว

แนวคำตอบ

โจรเมืองกรุงมารูปแบบใหม่  อ้างเป็นเพื่อนน้องจะเอากระเช้าของขวัญปีใหม่มาให้  ฉวยจังหวะที่เจ้าของบ้านงง  โดดล็อกคอลากเข้าบ้าน  แล้วจี้ด้วยเครื่องช๊อตไฟฟ้าซ้ำ  แต่เจ้าของบ้านซึ่งเป็นหญิงอายุเกือบ  70  ใจเด็ดฮึดสู้  ร้องให้คนช่วย  จนคนร้ายตกใจหลบหนีไปโดยไม่ได้เอาอะไรไปซักอย่าง

7.2          ข่าวข้างต้นเขียนในรูปแบบใด  รูปแบบดังกล่าวมีลักษณะเด่นอย่างไร  และมีโครงสร้างอะไรบ้าง

แนวคำตอบ

ข่าวข้างต้นเขียนเป็นข่าวสั้นรูปแบบพีระมิดหัวกลับ  โดยเขียนเนื้อข่าวแบบถือความสำคัญเป็นหลักซึ่งมีลักษณะเด่น  คือ  เป็นการรายงานข่าวในลักษณะบอกประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องในตอนต้นก่อน  จากนั้นจึงค่อยขยายรายละเอียดของข้อเท็จจริงเหล่านั้นตามความสำคัญและความน่าสนใจลดหลั่นกันลงไปจนถึงย่อหน้าสุดท้ายซึ่งสำคัญน้อยที่สุด

โครงสร้างของข่าวสั้น  ประกอบด้วย

1       หัวข่าว  เป็นข้อความหรือคำที่เรียกร้องความสนใจ  และมีความหมายต่อการบอกข่าว  ส่วนใหญ่หัวข่าวมักบอกบุคคลและเหตุการณ์ในข่าว

2       เนื้อเรื่อง  เป็นส่วนข้อมูลข่าวทั้งหมดของเหตุการณ์ในข่าว  โดยหลักข่าวดังกล่าวเขียนเนื้อข่าวแบบถือความสำคัญเป็นหลัก  คือ  บอกประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นในย่อหน้าแรกก่อน  จากนั้นจึงบอกรายละเอียดที่มีความสำคัญและความน่าสนใจลดหลั่นกันลงไป

3       ส่วนเชื่อม  เป็นส่วนขยายของข้อเท็จจริง  ซึ่งปกติข่าวสั้นจะมีโครงสร้างเพียงแค่หัวข่าวกับเนื้อเรื่อง  แต่สำหรับข่าวดังกล่าวบอกส่วนเชื่อมที่เป็นภูมิหลังของเหตุการณ์ที่เป็นข่าวในย่อหน้าสุดท้าย

Advertisement