การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 การเขียนข่าว
คำแนะนำ ข้อสอบมีทั้งหมด 6 ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ
ข้อ 1 เหตุใดกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชน จงอธิบายโดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าเชิงข่าว
แนวคำตอบ
เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (New Values)
1 ความโดดเด่น / ดัง / ชื่อเสียง คือ เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับความมีชื่อเสียง ความดัง และความโดดเด่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป
2 ความใกล้ชิด คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เพราะเกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนี้ยังมีความใกล้ชิดทางใจระหว่างผู้อ่านกับบุคคลที่ตกเป็นข่าวอีกด้วย
3 ความทันต่อเวลา คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ทำให้ได้รับความสนใจ เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
4 ปุถุชนสนใจ คือ เหตุการณ์ข้างต้นเร้าความสนใจของมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่างๆ เช่น ฝ่ายที่รักอดีตนายกรัฐมนตรีอาจเกิดอารมณ์ดีใจ เห็นอกเห็นใจ เอาใจช่วยให้ท่านมีอำนาจทางการเมืองอีก ส่วนฝ่ายที่เกลียดอดีตนายกรัฐมนตรีอาจเกิดอารมณ์โกรธเกลียด ไม่อยากให้ท่านกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีก เป็นต้น
5 ความขัดแย้ง / การเผชิญหน้า คือ เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ นอกจากนี้ยังอาจมีการเผชิญหน้าหรือปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย จนกลายเป็นความขัดแย้งทางกายได้
6 ความมีเงื่อนงำ คือ เหตุการณ์ข้างต้นยังไม่สามารถคลี่คลายได้ว่ากิจกรรมและความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรีจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ และการกลับมาต่อสู้คดีของท่านจะมีบทสรุปเป็นอย่างไร
7 ความเปลี่ยนแปลง คือ เหตุการณ์ข้างต้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดา และอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน จึงทำให้คนสนใจว่ากิจกรรมและความเคลื่อนไหวในการกลับมาต่อสู้คดีของท่าน จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างไร
ข้อ 2 จงตอบคำถามต่อไปนี้
2.1 การนำเสนอ “ข่าวการเมือง” ในหนังสือพิมพ์ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง ยกตัวอย่างหัวข้อข่าวและแหล่งข่าวประกอบ
แนวคำตอบ
ข่าวการเมือง หมายถึง การรายงานข่าวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่
1) การจัดการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง นโยบายของพรรค
2) การจัดตั้งรัฐบาล
3) การกำหนดนโยบาย การแถลง การปฏิบัติงานตามนโยบาย
4) กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา การดำเนินงานของรัฐสภา กรรมาธิการ
5) การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ องค์กรอิสระต่างๆ การเปิดอภิปราย
6) บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน วุฒิสภา
7) ความคิดเห็นของ ส.ส. ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ในรัฐสภา
8) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ตัวอย่างหัวข้อข่าวการเมือง ข่าวการตรวจสอบการถือครองหุ้นของรัฐมนตรีเกินกว่ากำหนดซึ่งในกรณีนี้นักข่าวสามารถหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่อไปนี้
– คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
– รัฐมนตรีที่เข้าข่ายความผิดถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5
– นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
– สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องแจ้งเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่ง
– บริษัทเอกชนที่รัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5%
– บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี
– พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
– พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542
– รัฐมนตรีและบุคคลสำคัญต่างๆ ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของรัฐมนตรี
2.2 การนำเสนอ “ข่าวอาชญากรรม” ที่สร้างสรรค์ ควรนำเสนอประเด็นเนื้อหาใด และไม่ควรนำเสนอประเด็นเนื้อหาใด
แนวคำตอบ
การเสนอข่าวอาชญากรรมที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพ ควรนำเสนอประเด็นเนื้อหาและไม่ควรนำเสนอประเด้นเนื้อหาดังต่อไปนี้
1 ผู้สื่อข่าวควรระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำสำนวนในการนำเสนอข่าวอาชญากรรม โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรมทางเพศ ควรใช้ถ้อยคำสำนวนที่บ่งบอกถึงรสนิยมที่ดี (Good Taste) มไควรใช้ถ้อยคำที่มีความหมายสองแง่สองง่าม ซึ่งอ่านแล้วมีลักษณะละเมิดศีลธรรมอันดีของประชาชน
2 ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมควรระมัดระวังการเสนอภาพประกอบข่าว และการเสนอคำอธิบายภาพ ไม่ควรเสนอภาพหรือบรรยายภาพที่มีลักษณะเร้าอารมณ์ผู้อ่าน ซึ่งอ่อนด้อยในสติปัญญาได้ หรือทำให้ผู้อ่านทั่วไปรู้สึกอนาถใจ หรือเป็นภาพที่มีลักษณะอนาจาร เช่น ภาพบุคคลถูกฆ่าเปลือยตายอย่างอเน็จอนาถ หรือภาพอุบัติเหตุสยดสยอง ฯลฯ
3 ผู้สื่อข่าวควรเสนอรายละเอียดการประกอบอาชญากรรมเพียงแค่พอให้ผู้อ่านเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ควรบรรยายเน้นรายละเอียดให้ผู้อ่านได้รับรู้เสียทุกขั้นตอนของการประกอบอาชญากรรม เช่น โจรใช้วิธีปล้นอย่างไร วางแผนปล้นอย่างไร ผู้หญิงถูกข่มขืนอย่างไร หรือผู้กระทำอัตวินิบาตกรรมใช้วัตถุอะไรฆ่าตัวตาย
4 ผู้สื่อข่าวควรเสนอข่าวอาชญากรรมในลักษณะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต่อการป้องกันและปราบปรามเกิดความรู้สึกซื่อสัตย์และเคารพต่อหน้าที่ตนเอง และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบอย่างเข้มแข็ง
5 ผู้สื่อข่าวควรให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ต้องสงสัย ไม่ควรทำตนเป็นผู้พิพากษาคดีเสียเอง และหากในกรณีที่มีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ควรชี้แจงให้ผู้อ่านได้เข้าใจข้อเท็จจริงให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
6 ในข่าวอาชญากรรมที่นำเสนอแต่ละข่าว ผู้สื่อข่าวควรเน้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้ประกอบอาชญากรรมจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายด้วย
7 ผู้สื่อข่าวควรระมัดระวังการเสนอรายละเอียดในข่าวที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าอาชญากรผู้นั้นเป็นวีรบุรุษ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วบุคคลนั้นเป็นผู้ทำลายความสงบสุขของสังคม นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังต้องระมัดระวังการเสนอข่าวเกี่ยวกับการวางแผนปราบปรามโจรผู้ร้าย ไม่ควรเสนอรายละเอียดเสียจนเป็นการเปิดช่องทางการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้แก่คนร้าย
8 ผู้สื่อข่าวควรระมัดระวังการเสนอข้อมูลข่าวเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของพยาน หรือข้อมูลข่าวเกี่ยวกับหญิงที่ถูกข่มขืน เนื่องจากการระบุรายละเอียดดังกล่าวอาจนำมาซึ่งภยันตรายแก่พยาน หรือแก่หญิงเจ้าทุกข์และญาติมิตรก็ได้
ข้อ 3 การสัมภาษณ์บุคคลเพื่อรายงานข่าวมีหลักการอะไรบ้าง และผู้สื่อข่าวควรเตรียมการอย่างไรบ้างก่อนการสัมภาษณ์
แนวคำตอบ
หลักการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อรายงานข่าว
1 ผู้สื่อข่าวควรสัมภาษณ์บุคคลที่มีความเด่นและเป็นผู้รู้ในเรื่องนั้นจริงๆ สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องราวที่กำลังเป็นข่าว ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์อาจเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ พยานรู้เห็น หรือเจ้าของกรณีก็ได้
2 ผู้สื่อข่าวต้องพยายามศึกษาหาเทคนิคสร้างความคุ้นเคย หรือรู้จักใช่จิตวิทยาการสื่อสารเพราะข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้อื่น จึงไม่ควรถูกบิดเบือนจากผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องระมัดระวังความรู้สึกที่เป็นอคติต่อเรื่องใดๆที่อาจเกิดขึ้น
3 ผู้สื่อข่าวพึงระมัดระวังเรื่องของความเป็นกลางเป็นพิเศษ ได้แก่ ข้อผิดพลาดอันเกิดจากการถูกชักจูงโดยแหล่งข่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสัมภาษณ์ และสูญเสียความเป็นกลางในการตั้งคำถาม ตลอดจนการเลือกเสนอข้อเท็จจริงในข่าว ดังนั้นในบางกรณีผู้สื่อข่าวอาจต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวอื่นๆรอบด้าน
4 ผู้สื่อข่าวควรเตรียมคำถามให้ตรงกับเป้าหมาย สามารถดึงคำตอบจากผู้ถูกสัมภาษณ์ได้มากที่สุด โดยคำถามต้องรัดกุม เหมาะสม สั้น ชัดเจน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกถามตอบคำถามได้ยาวๆ มีใจความและแนวทางไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ แต่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำถามปิดที่ส่งผลให้ผู้ตอบตอบรับหรือปฏิเสธเท่านั้น
5 ในการจบการสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวควรสร้างเยื่อใยความสัมพันธ์ที่ดีไว้สำหรับการติดต่อกับแหล่งข่าวในคราวต่อๆไป ควรมีมารยาท และสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ประทับใจผู้ถูกสัมภาษณ์ไว้ด้วยคุณลักษณะการอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างกัน
การเตรียมการก่อนการสัมภาษณ์
1 ศึกษาภูมิหลังของบุคคลที่ผู้สื่อข่าวจะไปสัมภาษณ์ล่วงหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งศึกษาภูมิหลังรายละเอียดของเรื่องราวที่ผู้สื่อข่าวตั้งใจจะไปสัมภาษณ์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน
2 เตรียมคำถามซึ่งผู้สื่อข่าวคาดว่าจะได้รับคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงเผื่อไว้สัก 1 ชุด เพื่อให้เป็นเสมือนกรอบสำหรับการดำเนินการสัมภาษณ์
3 ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งผู้สื่อข่าวจะต้องใช้ในการสัมภาษณ์ให้อยู่ในสภาพที่จะใช้การได้ทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ตรวจสอบดูว่าเครื่องบันทึกเสียงที่จะใช้นั้นมีแบตเตอรี่เต็ม มีตลับแถบบันทึกเสียงพร้อม สามารถบันทึกเสียงได้ชัดเจน ตรวจสอบกล้องถ่ายรูปว่าได้ใส่ฟิล์มและมีแฟลชพร้อมที่จะใช้งานแล้ว เป็นต้น
4 ไปถึงที่นัดหมายกับบุคลผู้ให้สัมภาษณ์ให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลา หากผู้สื่อข่าวไปถึงที่นัดหมายช้ากว่ากำหนดนัด แหล่งข่าวมักจะแสดงท่าทีไม่ใคร่พอใจ แม้ว่าระหว่างที่รอคอยผู้สื่อข่าวอยู่ แหล่งข่าวจะมิได้มีกิจธุระต้องทำเลยก็ตาม
ข้อ 4 สมมติเกิดเพลิงไหม้ ถ้านักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวจะต้องรายงานประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง และสัมภาษณ์ใครบ้างเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว
ในการเขียนข่าวดังกล่าว ควรมีการระบุคุณลักษณะอะไรบ้าง
แนวคำตอบ
การรายงานข่าวเพลิงไหม้ควรรายงานประเด็นเนื้อหา ดังนี้
1 ประเด็นสำคัญในความนำ ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ เกิดเหตุอะไร ที่ไหน ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนเท่าไร และสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เท่าที่พอจะทราบได้ในขณะนั้น
2 ประเด็นในเนื้อเรื่อง แบ่งออกได้ดังนี้
– ย่อหน้าแรก มักเริ่มด้วยลำดับเหตุการณ์ เวลาที่เกิดเหตุ โดยเน้นการบรรยายให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพเหตุการณ์ และสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ สภาพความเสียหายอื่นๆ คำพูดของผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ประสบเหตุ หรือผู้บาดเจ็บ หากมีบุคคลที่มีชื่อเสียงรวมอยู่ด้วยก็ควรรายงานด้วยว่าเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร และเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
– ย่อหน้าต่อไป จะเป็นความเห็นหรือข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายชื่อของผู้ประสบเหตุอื่นๆ อาการ การรักษา
– ย่อหน้าสุดท้าย อาจจะเป็นภูมิหลังหรือข้อมูลเสริมที่ทำให้ทราบว่าเคยมีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าหรือไม่ก่อนเกิดเพลิงไหม้ เช่น อาจมีผู้เห็นประกายไฟ หรือผู้ลอบวางเพลิง ฯลฯ รวมทั้งข้อมูลเสริมอื่นๆ เช่น ประวัติ ความเป็นมาของสถานที่เกิดเหตุว่าเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้มาแล้วหรือไม่
แหล่งข่าวที่ผู้สื่อข่าวควรไปสัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว มีดังนี้
– เจ้าหน้าที่ตำรวจ
– ศูนย์ข่าวข่ายต่างๆของตำรวจ
– มูลนิธิการกุศลต่างๆ
– สถานีดับเพลิง นักดับเพลิง
– โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล
– ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์
– พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์
– บริษัทประกันภัย (กรณีเจ้าของสถานที่เกิดเหตุได้ทำประกันอัคคีภัยเอาไว้)
– ห้องสมุดหนังสือพิมพ์ เพื่อหาข้อมูลย้อนหลังที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
คุณลักษณะที่ต้องระบุในเนื้อข่าวดังกล่าว มีดังนี้
1 คุณลักษณะของบุคคล ได้แก่ ชื่อ – นามสกุล อายุ อาชีพ ยศหรือตำแหน่ง และที่อยู่
2 คุณลักษณะของสถานที่ ได้แก่ สถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด และอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการใด หรือที่ที่เป็นที่รู้จักกันดี เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้างๆ ว่าสถานที่ที่เป็นข่าวอยู่นั้นอยู่ที่ใด และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงใด
3 คุณลักษณะของเหตุการณ์ ได้แก่ ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้นเพลิงเกิดจากที่ไหน ดับเพลิงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเพลิงสงบลงแล้วเป็นอย่างไร
ข้อ 5 จงอ่านข้อมูลต่อไปนี้ แล้วตอบคำถาม ข้อ 5.1 – 5.2
โจรกระเช้าปีใหม่
ตำรวจสายตรวจ สน. สายไหม ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายบุกจี้ชิงทรัพย์ ภายในซอยพหลโยธิน 58 แยก 55 บ้านเลขที่ 587 หมู่ 6 แขวงและเขตสายไหม กทม. จึงรีบรุดไปตรวจสอบ ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว เนื้อที่ 30 ตารางวา พบนางจิตรา บุณศรีธุระวานิช อายุ 67 ปี เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวยืนรอเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยอาการหน้าซีดเผือด ตัวสั่น
นางจิตราให้การว่า ตนประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า ก่อนเกิดเหตุได้ออกจากบ้านไปรับซื้อของเก่าบริเวณใกล้บ้านในละแวกนี้ เมื่อกลับถึงหน้าบ้านพบชายสองคนขับรถจักรยานยนต์ถือกระเช้าของขวัญ ภายในมีเครื่องดื่มประเภทไมโลและน้ำผลไม้มาจอดหน้าบ้าน อ้างว่าเป็นเพื่อนของน้องจะเอากระเช้าปีใหม่มาเป็นของขวัญปีใหม่ ตนก็ยืนงงอยู่ จึงสอบถามคนร้ายว่าน้องคนไหน ชื่ออะไร จู่ๆคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายก็กระโดดล็อกคอและลากเข้าบ้าน จากนั้นใช้เครื่องช๊อตไฟฟ้าจี้ด้านหลังจนรู้สึกชาไปหมด พอตั้งสติได้ก็ร้องให้เพื่อนบ้านช่วยและดิ้นรนต่อสู้ คนร้ายอีกคนจึงบอกให้เพื่อนอีกคนปิดประตู แต่ดีที่มีเพื่อนบ้านวิ่งมาดู คนร้ายทั้งสองคนตกใจรีบปล่อยตัววิ่งขึ้นรถขับหลบหนีไป
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบกระเช้าของขวัญ พบว่าเป็นกระเช้าของขวัญชุดเล็ก ซื้อมาจากห้างโลตัส เอ็กซ์เพรส เบื้องต้นสันนิษฐานว่าคนร้ายน่าจะรู้ว่านางจิตราเป็นคนมีฐานะ มีทรัพย์สินและอยู่บ้านเพียงลำพังจึงได้วางแผนไปซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่ อ้างเพื่อเข้ามาในบ้านเพื่อจับล็อกจี้ด้วยเครื่องช๊อตไฟฟ้าเพื่อกวาดทรัพย์สินในบ้าน แต่เหยื่อฮึดสู้ร้องให้คนช่วยจนต้องเผ่นหลบหนีไปโดยไม่ได้ทรัพย์สินไป อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานกับห้างโลตัส เอ็กซ์เพรส เพื่อขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด ลักษณะรูปพรรณของคนร้าย เพื่อติดตามมาดำเนินคดีต่อไป
สำหรับบ้านหลังดังกล่าวเคยถูกกลุ่มโจรขึ้นบ้านมาแล้วเมื่อ 7 – 8 ปีก่อน แล้วจับนางจิตราขังไว้ในบ้านก่อนที่โจรจะช่วยกันยกเค้าทรัพย์สินไปจนเกลี้ยง คาดว่าโจรกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่หวนกลับมาก่อเหตุอีก
5.1 ข่าวข้างต้นเขียนในรูปแบบใด รูปแบบดังกล่าวมีลักษณะเด่นอย่างไร
แนวคำตอบ
ข่าวข้างต้นเป็นข่าวสั้นรูปแบบพีระมิดหัวกลับ โดยเขียนเนื้อข่าวแบบถือความสำคัญเป็นหลักซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เป็นการรายงานข่าวในลักษณะบอกประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องในตอนต้นก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายรายละเอียดของข้อเท็จจริงเหล่านั้นตามความสำคัญและความน่าสนใจลดหลั่นกันลงไปจนถึงย่อหน้าสุดท้ายซึ่งสำคัญน้อยที่สุด โดยเมื่อนำมาเขียนเรียงลำดับจะเป็นดังนี้
ความนำ / ประเด็นสำคัญ (ย่อหน้าแรกบอกประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องก่อน) ข้อเท็จจริงที่ 1, ข้อเท็จจริงที่ 2 , ข้อเท็จจริงที่ 3
เนื้อข่าวแต่ละย่อหน้าจะเป็นรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญและความน่าสนใจลดหลั่นกันลงไปจนถึงย่อหน้าสุดท้ายซึ่งสำคัญน้อยที่สุด
5.2 ข่าวดังกล่าวมีโครงสร้างอะไรบ้าง
แนวคำตอบ
ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวสั้น ซึ่งมีโครงสร้างข่าวดังนี้
1 หัวข่าว เป็นข้อความหรือคำที่เรียกร้องความสนใจ และมีความหมายต่อการบอกข่าวส่วนใหญ่หัวข่าวมักบอกบุคคลและเหตุการณ์ในข่าว ซึ่งหัวข่าวของข่าวข้างต้น คือ “โจรกระเช้าปีใหม่”
2 เนื้อเรื่อง เป็นส่วนข้อมูลข่าวทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เป็นข่าว โดยข่าวดังกล่าวเขียนเนื้อข่าวแบบถือความสำคัญเป็นหลัก คือ บอกประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นในย่อหน้าแรกก่อน จากนั้นจึงบอกรายละเอียดที่มีความสำคัญน่าสนใจลดหลั่นกันลงไป
3 ส่วนเชื่อม เป็นส่วนขยายของข้อเท็จจริง ซึ่งปกติข่าวสั้นจะมีโครงสร้างเพียงแค่หัวข่าวกับเนื้อเรื่อง แต่สำหรับข่าวดังกล่าวบอกส่วนเชื่อม ที่เป็นภูมิหลังของเหตุการณ์ที่เป็นข่าวในย่อหน้าสุดท้าย
ข้อ 6 จงเขียนเนื้อข่าวจากข้อเท็จจริงต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่โรงแรม รอยัลซิตี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ในการประชุมมีผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ผู้แทนนักเรียน 50 คน ปลัด ศธ. เป็นประธาน ภายหลังการประชุม นางจรวยพร ธรณินทร์ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ดังนี้
1 ควรกำหนดลักษณะทรงผมที่เหมาะสมของนักเรียน เพราะปัจจุบันนิยมทำทรงพั้งก์ ทรงแฟชั่นญี่ปุ่น โกรกผมสีทอง เป็นต้น แต่ต้องยืดหยุ่น ไม่ตึงจนเกินไป ไม่ใช่ว่ากำหนดให้นักเรียนต้องตัดผมถูกระเบียบ คือ ทรงพวงมาลัย เพียงอย่างเดียว อาจอนุญาตให้มีระดับสั้น กลาง ยาว ถ้าไว้ผมยาวต้องถักเปียให้เรียบร้อย
2 เรื่องกำหนดระเบียบเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน ต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบ รวมทั้งพิจารณาว่า จะกระทบกับสิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียนหรือไม่
3 ที่ผ่านมา ศธ. เคยพยายามออกแนวปฏิบัติในเรื่องของทรงผมนักเรียน แต่มีกระแสคัดค้านจึงได้ยกเลิก แต่ถ้ากำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน จะมีผลบังคับทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน
4 ร่างระเบียบเครื่องแบบนักเรียนเป็นร่างระเบียบที่ต้องออกตาม พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ในส่วนหนึ่งจะมีการกำหนดให้สถานศึกษามีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน และนักศึกษาตามความเหมาะสม กรณีนักเรียนหลีกเลี่ยงไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนตามที่สถานศึกษากำหนด อาทิ ไม่แต่งกายชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ชุดกีฬา ชุดพื้นเมือง ตามวันที่สถานศึกษากำหนด
ความเห็นของนางนวลจันทร์ บุญอาจ อาจารย์โรงเรียนศึกษานารี มีดังนี้ *** ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งอะลุ้มอล่วยให้นักเรียนซอยผมบางๆได้ แต่นักเรียนมักมีทรงผมแปลกๆ ที่โรงเรียนรับไม่ไหว มองว่าปัญหานี้กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนหลายด้าน เพราะมัวเสียเวลากับการทำผมทรงใหม่ เพราะอยากให้ทันแฟชั่น จนไม่มีจิตใจเรียน ***
ความเห็นของ น.ส. ชนกานต์ วิภูสมิทธ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นดังนี้ *** ไม่คัดค้าน ถ้า ศธ. จะกำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ควรยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับยุคสมัย ***
แนวคำตอบ
เนื้อข่าว
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ โดยมีผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งผู้แทนนักเรียนจำนวน 50 คน เข้าร่วมประชุม
นางจรวยพร ธรณินทร์ ซึ่งเป็นปลัด ศธ. และเป็นประธานในการประชุม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า ควรกำหนดลักษณะทรงผมที่เหมาะสมของนักเรียน เพราะปัจจุบันนักเรียนนิยมทำทรงพั้งก์ ทรงแฟชั่นญี่ปุ่น โกรกผมสีทอง ฯลฯ แต่ต้องยืดหยุ่น ไม่ตึงจนเกินไป ไม่ใช่ว่ากำหนดให้นักเรียนต้องตัดผมถูกระเบียบ คือ ทรงพวงมาลัยเพียงอย่างเดียว อาจอนุญาตให้มีการไว้ผมระดับสั้น กลาง ยาว แต่ถ้าไว้ผมยาวต้องถักเปียให้เรียบร้อย ทั้งนี้ เรื่องกำหนดระเบียบเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบ รวมทั้งพิจารณาว่าจะกระทบกับสิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ศธ. เคยพยายามออกแนวปฏิบัติในเรื่องของทรงผมนักเรียน แต่มีกระแสคัดค้านจึงได้ยกเลิก แต่ถ้ากำหนดระเบียบทรงผมนักเรียนจะมีผลบังคับทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ร่างระเบียบเครื่องแบบนักเรียนเป็นร่างระเบียบที่ต้องออกตาม พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ในส่วนหนึ่งจะมีการกำหนดให้สถานศึกษามีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาตามความเหมาะสม กรณีที่นักเรียนหลีกเลี่ยงไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนตามที่สถานศึกษากำหนด อาทิ ไม่แต่งกายชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ชุดกีฬา ชุดพื้นเมือง ตมวันที่สถานศึกษากำหนด
ทางด้านนางนวลจันทร์ บุญอาจ อาจารย์โรงเรียนศึกษานารี เห็นว่า ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งอะลุ้มอล่วยให้นักเรียนซอยผลบางๆได้ แต่นักเรียนมักมีทรงผมแปลกๆ ที่โรงเรียนรับไม่ไหว ตนมองว่าปัญหานี้กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนหลายด้าน เพราะนักเรียนมัวเสียเวลากับการทำผมทรงใหม่ อยากให้ทันแฟชั่น จนไม่มีจิตใจเรียน
ส่วน น.ส. ชนกานต์ วิภูสมิทธ์ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ตนไม่คัดค้าน ถ้า ศธ. จะกำหนดระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ควรยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับยุคสมัย