การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว
คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  7  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ
ข้อ  1  จงตอบคำถามต่อไปนี้
1.1            “ข่าวเศรษฐกิจ”  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ
แนวคำตอบ 
ข่าวเศรษฐกิจ  หมายถึง  การรายงานข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเงิน  รวมทั้งกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ  ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เกี่ยวพันกับภาวะเศรษฐกิจและการเงิน  ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารทางการค้า  การลงทุน  การเงินการธนาคาร  การเกษตรและอุตสาหกรรม ฯลฯ  ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนในประเทศ
ตัวอย่างข่าวเศรษฐกิจ  ข่าวเรื่องรัฐบาลสั่งให้  ปตท.  ลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ  30  สตางค์
จากข่าวข้างต้นต้องอาศัยแหล่งข่าวประเภทต่างๆ  ดังนี้
1        แหล่งข่าวประจำ  คือ  บุคคลหรือสถานที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่งผู้สื่อข่าวไปประจำตามแหล่งนั้นๆ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวประจำของข่าวข้างต้น  ได้แก่  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน   กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน  บริษัท  ปตท.  จำกัด (มหาชน)  ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน  (กพง.)  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)  เป็นต้น
2        แหล่งข่าวพิเศษ  คือ  แหล่งข่าวที่อาจอยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  ผู้เห็นเหตุการณ์  รวมทั้งผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้สื่อข่าวเป็นการส่วนตัว  เช่น  นักการเมือง  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ  ฯลฯ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวพิเศษของข่าวข้างต้น  ได้แก่  ผู้ขับขี่รถยนต์  ผู้ค้าน้ำมัน  รวมทั้งอาจไปสัมภาษณ์นักวิชาการและนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก  เป็นต้น
3        แหล่งข่างจากองค์กรข่าว  คือ  องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการขายข่าวให้แก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิก  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวจากองค์กรข่าวของข่าวข้างต้น  ได้แก่  สำนักข่าวต่างประเทศ  ซึ่งอาจรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศ  หรือปัจจัยอื่นๆ  ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลง  จงส่งผลให้ไทยต้องปรับลดราคาน้ำมันตาม  เป็นต้น
4        แหล่งข่าวจากสิ่งพิมพ์  คือ  เอกสารตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์ของข่าวข้างต้น  ได้แก่  ประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินของ  บมจ. ปตท.  รายงานการวิจัยเรื่องแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกของนักวิเคราะห์และนักวิชาการต่างๆ  เป็นต้น
1.2            “ข่าวการเมือง”  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  ยกตัวอย่างข่าวและแหล่งข่าวประกอบ
แนวคำตอบ
ข่าวการเมือง  หมายถึง  การรายงานข่าวที่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  กิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  รวมทั้งรายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ  ซึ่งรับอาสาเข้ามารักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ
ตัวอย่างข่าวการเมือง  ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
จากข่าวข้างต้นอาศัยแหล่งข่าวประเภทต่างๆ  ดังนี้
1       แหล่งข่าวประจำ  คือ  บุคคลหรือสถานที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่งผู้สื่อข่าวไปประจำตามแหล่งนั้นๆ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวประจำของข่าวข้างต้น  ได้แก่  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีที่หลุดจากตำแหน่งสำคัญ  และรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งแทน  หรืออาจไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้นำพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้  เป็นต้น
2       แหล่งข่าวพิเศษ  คือ  แหล่งข่าวที่อาจอยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  ผู้เห็นเหตุการณ์รวมทั้งผู้ที่สนิทสนม คุ้นเคยกับผู้สื่อข่าวเป็นการส่วนตัว  เช่น  นักการเมือง  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ฯลฯ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวพิเศษของข่าวข้างต้น  ได้แก่  การไปสัมภาษณ์นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองหลังปรับ  ครม.  นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวอาจได้รับเบาะแสเป็นข้อมูลเบื้องหลังหรือผลประโยชน์ของรัฐบาลในการปรับ  ครม.  ครั้งนี้จากแหล่งข่าวปิด  คือแหล่งข่าวที่ไม่ต้องการให้ชื่อและคุณลักษณะถูกระบุในข่าว  ดังนั้นการอ้างถึงแหล่งข่าวปิดจึงมักระบุเพียงว่า  “แหล่งข่าวระดับสูง”  หรือ  “แหล่งข่าวจากวงการใกล้ชิด”  เป็นต้น
3       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  คือ  เอกสารตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวตีพิมพ์ของข่าวข้างต้น  ได้แก่  ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีการปรับ  เอกสารเกี่ยวกับประวัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่  หรือที่มาจากการสับเปลี่ยนโยกย้าย  เป็นต้น
1.3            ข่าวอาชญากรรม  หมายถึง  ข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเนื้อหาใดบ้าง  จงอธิบายให้ครอบถ้วน
แนวคำตอบ
ข่าวอาชญากรรม  หมายถึง  ข่าวการรายงานเหตุการณ์และความคิดเห็นที่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา  ซึ่งผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการได้พิจารณาเลือกสรรแล้วด้วยความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านส่วนใหญ่หรือบางส่วน
อย่างไรก็ตาม  ข่าวอาชญากรรมมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงการปล้น  ฆ่า  ชิงทรัพย์  ข่มขืน  เพลิงไหม้  และอุบัติเหตุเท่านั้น  ดังนั้นจึงสามารถแบ่งประเด็นเนื้อหาของข่าวอาชญากรรมได้เป็นประเภทใหญ่ๆ  คือ
1       ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อบุคคล  ได้แก่  ข่าวฆาตกรรม  ข่าวข่มขืน  ข่าวปล้นจี้  ข่าวการตัดช่องย่องเบาและการโจรกรรม  ข่าวการลักลอบเล่นการพนัน  ข่าวการลักพาตัวเรียกค่าไถ่  ข่าวการหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่นๆ  เป็นต้น
2       ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม  เช่น  ข่าวการปลอมแปลงธนบัตรและการค้าธนบัตรปลอม  ข่าวการปั่นหุ้น  ข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวง  ข่าวการหลบเลี่ยงภาษี  ข่าวการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ  รวมทั้งข่าวการค้าประเวณีข้ามชาติด้วย  เป็นต้น
3       ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  ระบบการเมืองการปกครองของประเทศ  รวมทั้งมีผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนในประเทศ  เช่น  ข่าวการก่อวินาศกรรมและการก่อการร้ายอื่นๆ  ข่าวการค้าอาวุธสงคราม  ข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร  ข่าวการประท้วงทางการเมืองอย่างรุนแรง  ข่าวการลอบสังหารผู้นำของประเทศ  เป็นต้น
ข้อ  2  ประเด็นข่าวคืออะไร  มีวิธีการคิดและจับประเด็นข่าวอย่างไรบ้าง  ยกตัวอย่างประกอบ
แนวคำตอบ
ประเด็นข่าว  (News  Pegs)  หมายถึง  การหยิบยกประเด็นเหตุการณ์  ความคิดเห็น  หรือข้อเท็จจริงในแง่มุมใดมุมหนึ่ง  ซึ่งมีความสำคัญและเป็นที่น่าสนใจของผู้รับสารมานำเสนอและรายงานเป็นข่าว  ดังนั้น  “ประเด็นข่าว”  จึงมีความหมายต่างๆ  
–          แง่มุมของเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด
 
–          แง่มุมที่ผู้สื่อข่าวตัดสินว่าสำคัญที่สุดในการนำเสนอไปยังประชาชน
–          แง่มุมที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนควรได้รับรู้
 
–          แง่มุมที่ยังเป็นเงื่อนงำ
อย่างไรก็ตาม  ประเด็นข่าวอาจแบ่งเป็นประเด็นข่าวตามเหตุการณ์  ประเด็นข่าวตามสภาพทั่วไปจากการสังเกต  และประเด็นข่าวตามสมมุติฐาน
วิธีการคิดและจับประเด็นข่าว 
 
1)    อาศัยองค์ประกอบของข่าว  (News  Values)  ในการพิจารณา  
–          ผลกระทบ
 
–          ความเด่นของบุคคล  องค์การ
 
–          ความใกล้ชิด  อุทาหรณ์
2)    ความรู้เชิงลึกในการคาดเดาสถานการณ์  แนวโน้ม  ซึ่งผู้สื่อข่าวควรเพิ่มความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์  การเมืองการปกครอง  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  ฯลฯ
3)    การมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น  ซึ่งจะต้องอาศัยการสังเกตสิ่งรอบตัวว่าคนๆนี้  ทำอย่างนี้ทำไม  ต้องการอะไร
ตัวอย่างเช่น  ข่าวเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น  นอกจากผู้สื่อข่าวจะรายงานในประเด็นข่าวตามเหตุการณ์  คือ  เรื่องอัตราราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว  ผู้สื่อข่าวจะรายงานในประเด็นข่าวตามสภาพทั่วไปจากการสังเกต  ซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาจากเหตุการณ์ภาวะน้ำมันแพง  เช่น
 
–          การปรับราคาสินค้า  และมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น  รวมทั้งความคิดเห็นของผู้ผลิต  ผู้จัดจำหน่าย  และผู้บริโภค
 
–          การปรับค่าจ้างแรงงานในภาวะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูง
 
–          การปรับราคาค่าขนส่งมวลชนในประเทศไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง  รถ  บขส.  รถไฟ  และเครื่องบิน 
ข้อ  3  ตามหลักการ  ข่าวที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง  จงอธิบาย
แนวคำตอบ
คุณสมบัติของข่าวที่ดี  
 
1       มีความถูกถ้วน  (Accuracy)  หมายถึง  ข้อเท็จจริงทุกอย่างที่ปรากฏในข่าว  เช่น  ชื่อ- นามสกุล  อายุ  ที่อยู่  ยศ  ตำแหน่ง  วันที่  และคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวทุกคำ  ฯลฯ  จะต้องได้รับการตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่าถูกต้องและครบถ้วน  เพราะความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลข่าวถือเป็นเรื่องสำคัญมากในความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ตกเป็นข่าว  รวมทั้งผู้อ่านที่ใกล้ชิดและรู้เรื่องราวที่เกิดเป็นข่าวนั้นมาโดยตลอด  ดังนั้นผู้อ่านจึงมักจะติดสินว่าควรเชื่อถือศรัทธาหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่  จากประสบการณ์ที่ได้อ่านและได้พบเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น  โดยมักจะสรุปว่าเมื่อหนังสือพิมพ์เสนอข่าวผิดเรื่องหนึ่งและครั้งหนึ่ง  ก็อาจจะเสนอข่าวผิดอีกต่อๆไปได้เช่นกัน
2       มีความสมดุลและเที่ยงธรรม  (Balance  and  Fairness)  หมายถึง  มีความยุติธรรมในการเสนอข่าว  ซึ่งข่าวที่ดีต้องรับใช้ผู้อ่านที่เป็นสาธารณชน  ไม่ควรรับใช้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามคำขอร้องเป็นพิเศษของคนเหล่านั้น  โดยเฉพาะถ้าข่าวนั้นเป็นปัญหาสาธารณะ  ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ดีในการรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เป็นปัญหาสาธารณะนั้น  ข่าวที่ดีมีคุณภาพจะต้องนำเสนอประเด็นสำคัญๆ  ซึ่งคู่กรณี  (ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน)  ได้แสดงความคิดเห็นออกมาในลักษณะที่สมดุลกัน  นอกจากนี้ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหรือความคิดเห็น  ก็จะต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่บุคคลนั้น  โดยให้โอกาสโต้แย้งข้อกล่าวหาด้วย
3       มีความเป็นภววิสัย  (Objective)  หมายถึง  ข่าวที่ปราศจากอคติส่วนตัวของผู้สื่อข่าว  เช่น  ความชอบหรือไม่ชอบ  ฯลฯ  หรือปลอดจากอิทธิพลภายนอก  ซึ่งอาจจะทำให้ข่าวนั้นปรากฏออกมาเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่ข่าวนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวต้องรายงานข่าวเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับความรู้สึกส่วนตัว  จึงควรต้องละทิ้งความรู้สึกดังกล่าวไปเสีย  และรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยปราศจากอคติ  ตรงไปตรงมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  แล้วให้ผู้อ่านแต่ละคนค้นหาความจริงในข่าวนั้นด้วยตัวของผู้อ่านเอง
4       มีความง่าย  กะทัดรัด  และชัดเจน  (Simplicity  Conciseness  and  Clearness)    หมายถึง  ข่าวที่มีคุณภาพต้องเขียนอย่างรัดกุมกะทัดรัด  ไม่เยิ่นเย้อ  และง่ายต่อการอ่าน  ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ  ต้องเขียนข่าวให้กระจ่างแจ้ง  ชัดเจน  ผู้อ่านอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที  โดยไม่ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก
ข้อ  4  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  เช่น  บางฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องอื้อฉาวของคนดัง  บางฉบับเน้นข่าวการเมือง  บางฉบับเสนอข่าวสังคมที่เน้นข่าวกลุ่มคนดัง  ไฮโซ  บางฉบับเสนอข่าวของชาวบ้าน  ข่าวภูมิภาค  หรือบางฉบับมีข่าวสิ่งแวดล้อม  ปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล  องค์กร  และสภาพสังคมอย่างไร  จงอธิบาย
แนวคำตอบ
หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว” 
1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง) 
 
–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ
–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา
–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว
–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด
2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น
 
 นโยบายของสื่อ
–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ
–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร
–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน
 
วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่
–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า
–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่
3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่
–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ
–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ
ข้อ  5  เหตุการณ์หญิงคนหนึ่งขโมยทารกจากโรงพยาบาลเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นลูกของตนเอง  เนื่องจากอยากมีลูก  ได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนทุกแขนง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าข่าวด้านใดบ้าง
แนวคำตอบ
เหตุการณ์นี้ได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องเพราะมีองค์ประกอบที่เป็นคุณค่าข่าว (New  Values)  อยู่ในตัวเหตุการณ์  ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1       ความใกล้ชิด  (Proximity)  คือ  ความใกล้ชิดทั้งทางกายและทางใจระหว่างผู้อ่านและบุคคลหรือสิ่งต่างๆ  ที่ตกเป็นข่าว  โดยมนุษย์ทั่วไปมักให้ความสนใจเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  ครอบครัว  ญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง  ฯลฯ  หรือสนใจเหตุการณ์ใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ในลักษณะของเรื่องอุทาหรณ์สอนใจ  ดังนั้นความใกล้ชิดจึงอาจเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางจิตใจ  ความคิด  สถานที่  หรือบุคคลซึ่งมีความผูกพันทางใดทางหนึ่งกับผู้อ่าน
2       ความทันต่อเวลา  (Timeliness)  คือ  เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ  อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่แม้จะเกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว  แต่เพิ่งมีการค้นพบความเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นที่สนใจของผู้อ่านได้เช่นกัน
3       ปุถุชนสนใจ  (Human  Interest)  คือ  เหตุการณ์ต่างๆที่เร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจและเกิดอารมณ์อันเป็นพื้นฐานของปุถุชน  ได้แก่  อารมณ์โศกเศร้า  เห็นอกเห็นใจ  ดีใจ  รัก  เกลียด  โกรธ  กลัว  อิจฉาริษยา  สงสัยใคร่รู้  ฯลฯ  ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์นั้นมีคุณค่าข่าวสูง  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ของเด็กทารกที่ต้องสูญเสียลูกที่เพิ่งเกิด  หรือเกิดความสงสัยว่าหญิงคนนั้นขโมยเด็กทารกออกมาจากโรงพยาบาลได้อย่างไร  เป็นต้น
4       ความมีเงื่อนงำ  (Suspense)  คือ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วังไม่สามารถจะคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้  รวมทั้งเหตุการณ์ที่ยังไม่ทราบผลแน่ชัด  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นมีเงื่อนงำว่าหญิงคนนั้นขโมยเด็กเพราะอยากมีลูกตามที่กล่าวอ้าง  หรือเพราะสาเหตุอย่างอื่น  ทำไมหญิงคนนั้นไม่มีลูกเองทั้งๆที่สามารถมีเองได้  และหญิงคนนั้นกระทำการเพียงคนเดียว  หรือมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมรู้ร่วมคิดด้วย  เป็นต้น
5       ความแปลกประหลาดผิดธรรมดา  (Oddity  or  Unusualness)  คือ  เรื่องราวที่แปลกประหลาดผิดไปจากปกติธรรมดา  เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน  ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  หรือเป็นเรื่องที่มนุษย์จงใจสร้างขึ้นเพื่อให้ผิดปกติ  ทั้งนี้รวมถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทางด้านความเชื่อ  ไสยศาสตร์  ความมหัศจรรย์  ปาฏิหาริย์ต่างๆ  และเหตุการณ์การกระทำบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวจะสามารถขโมยเด็กทารกออกจากโรงพยาบาลได้ง่ายๆ  และหนีไปได้อย่างลอยนวล  เป็นต้น
ข้อ  6  เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องราวต่างๆ  มายังกองบรรณาธิการแล้วไม่ใช่ทุกเรื่องทุกประเด็น  จะได้รับการนำเสนอเป็นข่าว  เนื่องจากต้องมีกระบวนการกลั่นกรองว่าจะนำเสนอเรื่องใดบ้าง  ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกข่าวใช้หลักการอะไรในการพิจารณา
แนวคำตอบ
 
เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องราวต่างๆมายังกองบรรณาธิการแล้ว  ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกข่าวมักมีกระบวนการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่าจะนำเสนอเรื่องใดบ้าง  โดยใช้หลักการของ  “ผู้รักษาประตู”  (Gate  Keeper)  มาคัดเลือกข่าว  ซึ่งมีอยู่  5  ประการ  คือ
1       ความน่าสนใจ  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ประชาชนสนใจใคร่รู้อยากติดตามโดยข่าวที่น่าสนใจคือข่าวที่ผู้อ่านมีความตั้งใจต้องการจะอ่านมากที่สุด  ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่น่าสนใจ  ซึ่งนักหนังสือพิมพ์และบุคคลที่คัดเลือกข่าวได้กำหนดแนวการวัดความสนใจของผู้อ่านไว้หลายประการ  อย่างไรก็ตาม  หนังสือพิมพ์ที่มีแนวนโยบายแตกต่างกัน  เช่น  หนังสือพิมพ์ที่เน้นคุณภาพ  และหนังสือพิมพ์ประชานิยม  จะมีแนวการวัดความสนใจที่ต่างกัน  ทำให้ความเล็ก/ใหญ่ของข่าวไม่เท่ากัน
2       ความสำคัญ  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความสำคัญต่อตัวเรา  ผู้อ่าน  สังคมและคนทั้งประเทศ  ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะจัดลำดับความสำคัญของข่าวไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายสภาพแวดล้อมความเป็นจริง  สังคม  และองค์ประกอบอื่นๆ 
3       ความชอบธรรม  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีความถูกต้องทางจริยธรรม  คุณธรรมและศีลธรรม  โดยนักหนังสือพิมพ์ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม  และความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของปัจเจกชน  สถาบัน  ประเทศชาติ  ด้วยการพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ไม่ว่าจะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดแห่งเงื่อนไขใดๆก็ตาม
4       ความมีประโยชน์  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน  หรือสามารถยกระดับสติปัญญาและรสนิยมของผู้อ่านหรือไม่หากรายงานเรื่องนั้นออกไป
5       ความสดต่อสมัย  หมายถึง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆใหม่ๆ  โดยเหตุการณ์ใดมีความสดมากก็ยิ่งมีคุณค่าข่าวสูงและเป็นที่สนใจของผู้อ่านมาก  ดังนั้นจึงปรากฏคำว่าเมื่อวานนี้  เมื่อเช้านี้  และวันนี้อยู่ในรายงานข่าวเพื่อแสดงถึงความสดและความฉับไวของการรายงานข่าวตลอดเวลา

ข้อ  7  ในการรายงานข่าวไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ผู้เขียนต้องระบุคุณสมบัติลักษณะอะไรบ้างในเนื้อหาของข่าวดังกล่าว  อธิบาย  พร้อมยกตัวอย่าง

แนวคำตอบ

Advertisement

จากข่าวที่ให้มาข้างต้นสามารถระบุคุณลักษณะในเนื้อหาของข่าวได้ดังนี้

1       คุณลักษณะของแหล่งข่าวที่เป็นบุคคล

1)    อายุ  คือ  การระบุอายุของผู้ต้องหา  ผู้ต้องสงสัย  ผู้บาดเจ็บ  และผู้เสียชีวิต  ซึ่งมักนิยมระบุในข่าวอาชญากรรม  ข่าวอุบัติเหตุ  หรือข่าวมรณกรรม  เช่น  “ภายในอาคารชั้น  3  ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่เกิดเพลิงไหม้  เจ้าหน้าที่ได้พบร่างผู้เสียชีวิต  2  ศพ  ทราบชื่อ  นายยอดเยี่ยม  กระเทียมดอง  อายุ  28   ปี

2)    อาชีพ  คือ  การระบุอาชีพของแหล่งข่าว  หรือผู้ตกเป็นข่าวเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ข่าว  และทำให้ผู้อ่านเกิดแนวคิด  หรือมีความเข้าใจ  รวมทั้งรู้สึกว่าใกล้ชิดกับบุคคลนั้นๆ  เพิ่มขึ้น  เช่น  “จากการสอบสวน น.ส. นิดหน่อย  น้อยนิด  พนักงานร้านอาหารอิ่มจัง  ซึ่งคาดว่าเป็นร้านต้นเพลิงให้การว่า  ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ  22.00  น.  ตนเข้าไปเก็บกวาดในห้องครัว  เห็นประกายไฟลุกไหม้ใกล้ๆกับถังแก๊ส  และได้กลิ่นแก๊สตลบอบอวลไปทั่ว”

3)    ยศหรือตำแหน่ง  คือในกรณีที่แหล่งข่าวเป็นผู้มีชื่อเสียง  มียศตำแหน่ง  หน้าที่การงานสูง  หรือเป็นข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  มักมีการระบุยศพร้อมกับตำแหน่งด้วย  เช่น  “นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้รุดไปตรวจสอบที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ซึ่งเกิดเพลิงไหม้พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

4)    ที่อยู่  คือ  บ้านเลขที่  ถนน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  ซึ่งเป็นที่อยู่  หรือที่ทำงานของบุคคลในข่าว  ซึ่งส่วนมากในข่าวอาชญากรรมและข่าวอุบัติเหตุมักมีการะบุที่อยู่ของผู้เกิดเหตุ  ผู้เคราะห์ร้าย  และผู้เกี่ยวข้อง  เช่น  “เจ้าหน้าที่ได้พบร่างผู้เสียชีวิต  2  ศพ  ทราบชื่อ  นายยอดเยี่ยม  กระเทียมดอง  อายุ  28 ปี  อยู่บ้านเลขที่  1278  ซ.พหลโยธิน  34  จตุจักร  กรุงเทพ ฯ”

2       คุณลักษณะของแหล่งข่าวที่เป็นสถานที่

สถานที่มักจะได้รับการระบุคุณลักษณะโดยการดึงให้ไปสัมพันธ์  หรืออ้างอิงกับสถานที่อื่นๆ  ที่มีชื่อเสียง  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพกว้างๆได้ว่า  สถานที่ที่เป็นข่าวนั้นอยู่ที่ใด  และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงไร  เช่น  “เมื่อเวลา  22.45  น.  วันที่  23  กพ.  ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นตึกสูง  6  ชั้น  ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน  แขวงลาดยาว  เขตจตุจักร  กทม.  ใกล้กับกรมพัฒนาที่ดิน  ทำให้มีผู้เสียชีวิต  2  ศพ  และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน”

3       คุณลักษณะของแหล่งข่าวที่เป็นเหตุการณ์

เหตุการณ์ที่ถูกนำมารายงานข่าวนั้น  หากเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมักจะมีการระบุถึงวัตถุประสงค์  ความเป็นมา  และเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นๆ  รวมทั้งอาจจะอ้างว่าเหตุการณ์นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิหลัง  หรือความเดิมของข่าว  เช่น  “จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่  23  กพ.  ที่ผ่านมา  จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายรายนั้น  ล่าสุดซากอาคารของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ถล่มลงมาทับ  น.ส.จุมพิต  โชคช่วย  นักศึกษาปี  1  มหาวิทยาลัยของรัฐ  ได้รับบาดเจ็บสาหัส”

Advertisement