การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายอาทิตย์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ใน พ.ศ. 2537 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น นายอาทิตย์ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ใน พ.ศ. 2545 นายอาทิตย์ถึงแก่ความตายโดยมีนางเดือนภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ใน พ.ศ. 2549 นางเดือนก็ได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการ ขณะนี้นางเดือนต้องการจะโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายตะวันบุตรชายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้วินิจฉัยว่านางเดือนจะโอนที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 27 ตรี เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้นำมาหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
มาตรา 59 ทวิ ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
วินิจฉัย
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายไว้ดังนี้
1) จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ ฯ มาตรา 5 และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย
2) ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี กล่าวคือ ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้
3) มีความจำเป็นต้องขอออกโฉนดที่ดิน และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร และต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
นางเดือนจะขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า นายอาทิตย์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กรณีเช่นนี้ถือว่านายอาทิตย์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ต่อมาได้ความว่า ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายอาทิตย์ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน แต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดิน กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า นายอาทิตย์เป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายอาทิตย์จะไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดินอันทำให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ตามมาตรา 27 ตรี ใช้คำว่า “หรือ” แสดงว่าปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ระหว่างให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ดังนั้น นายอาทิตย์จึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามมาตรา 59 ทวิ วรรคแรก
และเมื่อใน พ.ศ. 2543 นายอาทิตย์ถึงแก่ความตายโดยมีนางเดือนภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ในกรณีดังกล่าวนี้ ถือว่านางเดือนเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิในมรดกของนายอาทิตย์และเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายอาทิตย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคสอง
จึงมีสิทธิขอออกโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคแรก
สรุป นางเดือนสามารถโอนที่ดินให้แก่นายตะวันได้
ข้อ 2 ผู้ซึ่งมีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดิน จะโอนที่ดินนั้นให้แก่กันได้หรือไม่ตามกฎหมายที่ดิน
ธงคำตอบ
อธิบาย
ผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครอง หรือ ผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้ คือ หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ใบจอง (น.ส.2) ใบไต่สวน (น.ส.5) เป็นต้น
การจะพิจารณาว่าผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครองจะโอนที่ดินต่อไปได้หรือไม่ มีหลักคือ ให้พิจารณาว่าที่ดินนั้นได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถโอนได้ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 “ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้”
ดังนั้น ผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครองจะโอนที่ดินได้หรือไม่ สามารถแยกพิจารณาดังนี้
1 ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ดังนั้น เมื่อที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงสามารถโอนให้แก่กันได้ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9 เว้นแต่ในบางกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนไว้ เช่น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 และมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เป็นต้น
2 ที่ดินที่มีใบจอง (น.ส.2
ใบจอง เป็นเพียงหนังสือที่แสดงว่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราว แต่ที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วจนกว่าจะได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ดังนั้น สำหรับที่ดินที่มีใบจองหรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองนั้น ถ้ายังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่ จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง
3 ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)
ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองนั้น จะทำการโอนทางทะเบียนไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9 แต่อย่างไรก็ดี ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง แม้จะโอนกันไม่ได้ตามกฎหมายที่ดิน แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378
ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองนั้น จะทำการโอนทางทะเบียนไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9 แต่อย่างไรก็ดี ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง แม้จะโอนกันไม่ได้ตามกฎหมายที่ดิน แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378
ดังนั้น ผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีเพียงสิทธิครอบครองจะโอนที่ดินให้แก่กันได้เฉพาะที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ส่วนที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง หรือใบจอง เมื่อยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงไม่สามารถโอนให้แก่กันได้
ข้อ 3 นายศุกร์ได้ขายที่ดินซึ่งมีโฉนดแปลงหนึ่งให้แก่นางจันทร์ โดยทำสัญญาซื้อขายกันเองที่บ้านของนายศุกร์ หลังจากนั้น 6 เดือนนายศุกร์ได้หลอกเอาโฉนดที่ดินคืนเพื่อจะนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้กับนายอังคาร ต่อมาก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจำนองนางจันทร์ได้นำหนังสือสัญญาซื้อขายไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินและขออายัดที่ดินแปลงนั้นไว้ เจ้าพนักงานที่ดินก็ได้สั่งรับอายัดตามคำขอ หลังจากอายัดได้ 15 วัน นายศุกร์ทราบว่าที่ดินถูกอายัดจึงทำหนังสือคัดค้านขอให้เลิกอายัด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องสั่งยกเลิกการอายัดดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 83 ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง และผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้
ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่าได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการอายัดนั้น และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ
วินิจฉัย
การอายัด หมายถึง การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อไปดำเนินการทางศาล ดังนั้น ถ้าที่ดินแปลงใดถูกอายัดจะมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการจดทะเบียนที่เป็นการปลดเปลื้องภาระผูกพัน เช่น ที่ดินถูกอายัด แต่จะมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ไถ่ถอนขายฝาก กรณีเช่นนี้ ยอมให้จดทะเบียนได้ เพราะเป็นการทำให้ที่ดินปลอดจากภาระผูกพัน
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอายัดไว้ดังนี้
1 ผู้ขออายัดจะต้องมีส่วนได้เสียในที่ดินโดยตรงอันอาจฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินได้
2 พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งรับอายัดไว้ได้มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่สั่งรับอายัด
3 เมื่อครบกำหนด 30 วันแล้วผู้ขออายัดยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งอายัดที่ดินให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง ผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้
เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องสั่งยกเลิกการอายัดดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า การที่นายศุกร์ได้ขายที่ดินที่มีโฉนดแปลงหนึ่งให้แก่นางจันทร์ โดยทำสัญญาซื้อขายกันเองนั้น การซื้อขายดังกล่าวถือว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 กำหนดว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น เมื่อการซื้อขายระหว่างนายศุกร์และนางจันทร์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะ กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของนายศุกร์อยู่
เมื่อการซื้อขายตกเป็นโมฆะ นางจันทร์จึงไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดิน อันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดตามคำขอของนางจันทร์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และเมื่อการอายัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายศุกร์เจ้าของที่ดินซึ่งถือว่าผู้มีส่วนได้เสีย ได้ทำหนังสือคัดค้านการอายัดและขอให้ยกเลิกการอายัด กรณีเช่นนี้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงต้องสั่งยกเลิกการอายัดที่ดินและแจ้งให้นางจันทร์ทราบ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 วรรคท้าย
สรุป เจ้าพนักงานที่ดินต้องสั่งยกเลิกการอายัด
ข้อ 4 นายสมพรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบนเกาะแห่งหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2489 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ใน พ.ศ. 2498 นายสมพรได้ไปแจ้งการครอบครองจึงได้หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน ขณะนี้นายสมพรได้ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อจะนำเงินไปลงทุนสร้างบ้านพักตากอากาศในที่ดินนั้น นายสมพรจึงได้ไปขอออกโฉนดที่ดินเพื่อจะนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าว ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายสมพรจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 59 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ที่เกาะเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้นำมาออกโฉนดที่ดิน เว้นแต่เป็นที่ดินที่ประชาชนมิทธิครอบครองโดยชอบแล้ว เช่น มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ใบจอง ใบเหยียบย่ำ เป็นต้น
นายสมพรจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสมพรได้ครอบครองและทำประโยชน์ ในที่ดินบนเกาะแห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 นายสมพรได้ไปแจ้งการครอบครอง จึงได้รับหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) กรณีเช่นนี้ ถือว่านายสมพรเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิครอบครองในที่ดิน โดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองอันถือว่ามีสิทธิครอบครองโดยชอบแล้ว นายสมพรจึงสามารถนำที่ดินที่เป็นเกาะมาขอออกโฉนดที่ดินได้
และเมื่อได้ความว่า ในขณะนี้นายสมพรประสงค์จะนำที่ดินไปขอออกโฉนด แต่ไม่มีประกาศของทางราชการเพื่อออกโฉนดที่ดินแบบทั้งตำบล ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 นายสมพรจึงขอออกโฉนดที่ดินได้เป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59
สรุป นายสมพรขอออกโฉนดที่ดินได้