การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550


ข้อสอบกระบวนวิชา  
LAW4008  
กฎหมายที่ดิน
 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  นายเอกกู้ยืมเงินจางนางจันทร์โอยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นางจันทร์ยึดถือไว้เป็นประกัน  ต่อมานายเอกไม่มีเงินชำระหนี้จึงยกที่ดินแปลงซึ่งนางจันทร์ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่นั้นตีใช้หนี้  โดยส่งมอบที่ดินให้นางจันทร์ครอบครอง  ขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  ดังนี้อยากทราบว่านางจันทร์จะนำที่ดินแปลงนั้นมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  4  ทวิ  นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  58  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด  ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น  เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร

เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น  โดยปิดประกาศไว้  ณ  สำนักงานที่ดิน  ที่ว่าการอำเภอ  ที่ว่าการกิ่งอำเภอ  ที่ทำการกำนัน  และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้มีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคสอง  ให้บุคคลตามมาตรา  58  ทวิ  วรรคสองหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว  นำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย  เพื่อทำการสำรวจรังวัดแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตนตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นัดหมาย

มาตรา  58  ทวิ  วรรคแรก  วรรคสอง  เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่  หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา  58  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้  คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน  ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

วินิจฉัย

นางจันทร์จะนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเอกเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่นายจันทร์โดยส่งมอบที่ดินให้แก่นางจันทร์ครอบครอง  การยกที่ดินตีใช้หนี้ดังกล่าว  ถือเป็นการโอนที่ไม่ทำตามกฎหมายที่ดิน  มาตรา  4  ทวิ  ที่กำหนดว่า  การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  การโอนดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ  ส่งผลให้นางจันทร์เป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  และไม่มีใบจอง  ใบเหยียบย่ำ  หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (3)

และเมื่อได้ความว่า  ในขณะนี้ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  อันถือว่าเป็นการออกโฉนดแบบทั้งตำบล  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคแรกและวรรคสอง  กรณีเช่นนี้  นางจันทร์จึงสามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาขอออกโฉนดที่ดินได้  โดยมานำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายเพื่อทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินของตน ตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่นัดหมาย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  วรรคสาม  และนางจันทร์จะได้รับโฉนดที่ดิน  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  ทวิ  วรรคสอง  (3)

สรุป  นางจันทร์ขอออกโฉนดที่ดินได้


ข้อ  2  นายชอบครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2493  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ใน  พ.ศ. 2535  ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  นายชอบได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินไว้แต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน  ใน  พ.ศ. 2543  นายชอบได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายบุญธรรมโดยทำสัญญาซื้อขายกันเองและส่งมอบที่ดินให้นายบุญธรรมครอบครอง  ขณะนี้นายบุญธรรมได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายบุญธรรมจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ตรี  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา  58  วรรคสอง  ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497  หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา  27  ทวิ  แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน  ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น  ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ  ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้นำมาหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา  59  ทวิ  ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.  2497  แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27  ตรี  ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด  แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่  ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

วินิจฉัย

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายไว้ดังนี้

1)    จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ ฯ  มาตรา  5  และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2)    ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  กล่าวคือ  ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  จะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามมาตรา  59  ทวิ  ไม่ได้

3)    มีความจำเป็นต้องขอออกโฉนดที่ดิน  และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร  และต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน  50  ไร่  ถ้าเกิน  50  ไร่  จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

นายบุญธรรมจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายชอบครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2493  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  กรณีเช่นนี้ถือว่านายชอบเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ก่อนวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ต่อมาได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2535  ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายชอบได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน  แต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดิน  กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า  นายชอบเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรีแล้ว  แม้นายชอบจะไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดินอันทำให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดิน  ตามมาตรา  58  วรรคสามก็ตาม  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า  ตามมาตรา  27  ตรี  ใช้คำว่า  หรือ  แสดงว่าปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  ระหว่างให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดิน  ดังนั้น  นายชอบจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้  ตามมาตรา  59  ทวิ  วรรคแรก

และเมื่อใน  พ.ศ. 2543  นายชอบได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายบุญธรรม  โดยนาบบุญธรรมผู้ซื้อได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา  กรณีจึงถือว่านายบุญธรรม  เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายชอบ  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  วรรคสอง  และในกรณีนี้นายบุญธรรมก็สามารถนำที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดแบบเฉพาะรายได้  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  วรรคแรก  เพราะต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

สรุป  นายบุญธรรมขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้


ข้อ  3  (ก)  สิทธิในที่ดินหมายความว่าอย่างไร  ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบด้วย

(ข)  นายอาทิตย์เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน  ดังนี้อยากทราบว่านายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดินหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1  ในประมวลกฎหมายนี้

สิทธิในที่ดิน  หมายความว่า  กรรมสิทธิ์  และให้ความหมายรวมถึงสิทธิครอบครองด้วย

(ก)   อธิบาย

โดยหลักแล้ว  ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน  อาจมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดิน  หรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ได้  สุดแล้วแต่ว่าที่ดินนั้น  จะมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทใด

ผู้มีสิทธิในที่ดินแบ่งได้  2  ประเภท  คือ

1)    กรรมสิทธิ์  กล่าวคือ  เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีกรรมสิทธิ์  ซึ่งการที่บุคคลใดจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้นั้น  จะต้องมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา  1  กำหนด  คือ  โฉนดที่ดิน  โฉนดแผนที่  โฉนดตราจอง  ตราจองว่า  ได้ทำประโยชน์แล้ว

สำหรับผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินโดยมีกรรมสิทธิ์นี้  โดยหลักแล้ว  สามารถใช้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ยันแก่บุคคลทั่วไป  ติดตามเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้  อีกทั้ง  ยังสามารถทำนิติกรรมใดๆอันเกี่ยวกับที่ดินได้  เว้นแต่จะมีกฎหมายที่ดินบางมาตรา  บัญญัติห้ามโอนไว้โดยเฉพาะ  เช่น  ประมวลกฎหมายที่ดิน   มาตรา  31  และมาตรา  58  ทวิ  วรรคห้า  เป็นต้น

2)    สิทธิครอบครอง  กล่าวคือ  เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีสิทธิครอบครอง  (ยังไม่มีกรรมสิทธิ์)  ซึ่งการที่บุคคลใดจะมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้นั้น  จะต้องมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้  เช่น  หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน  (ส.ค.1)  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส.3)  ใบจอง  (น.ส.2)  ใบไต่สวน  (น.ส.5)  เป็นต้น

(ข)  วินิจฉัย

นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินหรือไม่  เห็นว่า  ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา  1  บัญญัติว่า   สิทธิในที่ดิน  หมายความว่า กรรมสิทธิ์  และให้ความหมายรวมถึงสิทธิครอบครอง  เมื่อได้ความว่า  นายอาทิตย์เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือแสดงสิทธิ  คือ  หลักฐานการแจ้งการครอบครอง  (ส.ค.1)  จึงถือว่า  นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดิน  ดังนั้น  นายอาทิตย์จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

สรุป  นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดิน


ข้อ  4  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่ง  ที่ดินแปลงนั้นมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก)  ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  นายหนึ่งกับนายสองต้องการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเพื่อแต่ละคนจะได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของตน  นายหนึ่งและนายสองมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานครไม่สะดวกที่จะเดินทางไปสำนักงานที่ดินที่จังหวัดสงขลา  บุคคลทั้งสองจึงได้ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินที่กรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้สำนักงานที่ดินที่มีอำนาจทำการจดทะเบียนให้  ดังนี้  อยากทราบว่าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการให้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  72  ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ให้คู่กรณีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง  สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  คู้กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดิน  หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  ดำเนินการจดทะเบียนให้  เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  นอกจากจะมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71  แล้ว  บทบัญญัติมาตรา  72  วรรคสอง  ยังให้สิทธิคู่กรณีอาจจะมายื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้  แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง  3  ประการดังต่อไปนี้  คือ

1)    ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  ใบไต่สวน  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  กล่าวคือ  ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคำขอไม่ได้

2)    การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน  กล่าวคือ  กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทำเรื่องประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา  72  วรรคสองไม่ได้

3)    การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  พนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯจะรับดำเนินการจดทะเบียนตามคำขอให้ได้หรือไม่  เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  79  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว แม้ที่ดินที่นายหนึ่งและนายสองประสงค์จะแบ่งแยกกันนั้นจะเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3  ก)  และการจดทะเบียนดังกล่าวไม่ต้องมีการประกาศก่อนก็ตาม  แต่การจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง  บทบัญญัติมาตรา  79  ให้นำมาตรา  69  ทวิมาใช้บังคับด้วย  กล่าวคือ  จะต้องมีการรังวัดสอบเขตที่ดินก่อน  กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  72  วรรคสอง  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ  จึงรับดำเนินการให้ไม่ได้  นายหนึ่งและนายสองต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ณ  สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาเท่านั้น ตามมาตรา  71

สรุป  สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ  ไม่สามารถรับดำเนินการตามคำขอให้ได้  

Advertisement