การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. นายหนึ่งได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดิน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 10 มกราคม 2540 ใน พ.ศ. 2542 นายหนึ่งได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายสอง นายสองได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อมา จนได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 ขณะนี้ นายสองต้องการจะยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายสามซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวของนายสอง ดังนี้ อยากทราบว่า นายสองจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายสามได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคห้า เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม

วรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้าม มิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายหนึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ ในวันที่ 10 มกราคม 2540 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว นายหนึ่งผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง

เมื่อได้ความว่า ใน พ.ศ. 2542 นายหนึ่งได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายสอง การขายที่ดินแปลง ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด ดังนั้น แม้นายสองจะได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวล กฎหมายที่ดิน

แต่อย่างไรก็ดี การยกที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายสอง เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497) ซึ่งการที่นายสองครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2550 นั้น กรณีเช่นนี้ ถือว่านายสองเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตาม กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสอง (3) นายสองจึงอยู่ ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น การที่นายสองประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสาม   จึงไม่สามารถโอนได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายใน กำหนดเวลา 10 ปีนับแต่ได้รับโฉนดที่ดิน ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะมิใช่การโอนโดยการตกทอด ทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป นายสองจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายสามไม่ได้


ข้อ 2. นายเอกครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินในพ.ศ. 2547 ได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินแต่นายเอกไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ใน พ.ศ. 2550 นายเอกขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายโท โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองแล้วมอบที่ดินให้นายโทครอบครอง ขณะนี้นายโทมีความจำเป็นจึงนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่า นายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 59        ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่ง ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย

มาตรา 59 ทวิ ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอ ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย’’

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายเอกซึ่งเป็น ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแลดงสิทธิในที่ดิน ได้ขายที่ดินแปลงนั้น ให้แก่นายโท โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองแล้วมอบที่ดินให้นายโทครอบครองนั้น ย่อมส่งผลให้นายโท เป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ

และในขณะนี้นายโทมีความจำเป็นจึงนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า มีประกาศของทางราชการเพื่อจะออกโฉนดแบบทั้งตำบลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 จึงต้องพิจารณา การออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ แล้วแต่กรณี

สำหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินโดยมี หนังสือแสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนายโทเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยโม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังนั้นนายโทจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ นายโทก็จะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะนายโทมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้นั้น กฎหมายกำหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น เมื่อได้ความว่า นายโทเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น นายโทจึงไม่สามารถขอออก โฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน

สรุป นายโทเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จะขอ ออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย


ข้อ 3. นายพุธกับนายศุกร์มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันในโฉนดที่ดิน ขณะนี้นายพุธตกลงขายสิทธิในที่ดิน ส่วนของตนให้แก่นายศุกร์ ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต แต่นายพุธและนายศุกร์มีภูมิลำเนา อยู่กรุงเทพฯ ไม่สะดวกจะเดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต ดังนั้น บุคคลทั้งสองจึงได้นำเอกสารสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อให้รับเรื่องส่งไปดำเนินการจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่จังหวัดภูเก็ต ดังนี้ อยากทราบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 72 “ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้คู่กรณีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวนหรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ คู่กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงาบเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดำเนินการจดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการ ประกาศหรือต้องมีการรังวัด 

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากจะมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 แล้ว บทบัญญัติมาตรา 72 วรรคสอง ยังให้สิทธิคู่กรณีอาจจะมายื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1.         ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ กล่าวคือ ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคำขอไม่ได้

2.         การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน กล่าวคือ กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องทำเรืองประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา 72 วรรคสองไม่ได้

3.         การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการให้นายพุธและนายศุกร์ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการขายสิทธิ ในที่ดินให้แก่กัน ซึ่งการจดทะเบียนขายสิทธิดังกล่าวนั้นไม่ต้องมีการประกาศก่อนจดทะเบียน อีกทั้งกรณีดังกล่าว ก็มิได้เป็นเรื่องการจดทะเบียนรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันที่จะต้องมีการรังวัดสอบเขตที่ดินก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายพุธและนายศุกร์ซึ่งมีภูมิสำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่สะดวกจะเดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต บุคคลทั้งสองก็สามารถยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อส่งเรื่องไปให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตทำการจดทะเบียนให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคสอง

สรุป พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการให้นายพุธและนายศุกร์ได้


ข้อ 4. อยากทราบว่าหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้แก่อะไรบ้าง และบุคคลจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินกรณีใดบ้าง

ธงคำตอบ

1.         โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 ซึ่งตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้ให้ ความหมายว่าเป็น หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์” ซึ่งผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนี้สามารถใช้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นยันแก่บุคคลทั่วไปได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีโฉนดที่ดินยังสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ก็ได้ เว้นแต่จะมี กฎหมายที่ดินบางมาตราห้ามไว้โดยเฉพาะ

2.         โฉนดแผนที่ ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 โฉนดแผนที่ก็มีรูปแผนที่เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน การที่เรียกว่าโฉนดแผนที่ก็เพื่อให้แตกต่างจากโฉนดอย่างเก่า ซึ่งไม่มีรูปแผนที่อยู่ด้านหลังโฉนด เช่น โฉนดสวนและโฉนดป่า

3.         โฉนดตราจอง ออกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 เนื่องจากการ ออกโฉนดแผนที่เป็นไปอย่างล่าช้า แต่มีราษฎรเป็นจำนวนมากที่ต้องการจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องออกตราจองชั่วคราวให้ไปก่อน เพื่อจะได้นำมาเปลี่ยนเป็นโฉนดแผนที่ในภายหลัง

4.         ตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว” ลอกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 เมื่อผู้ขอจับจองที่ดินได้ทำประโยชน์ครบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้แล้ว ผู้ที่มีตราจองก็มีสิทธิที่จะมาขอตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว’’ จากทางราชการไต้

และบุคคลจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินกรณีใดบ้างนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในกรณีต่อไปนี้

(1)       ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ หรือได้มาซึ่ง โฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้

(2)       ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือกฎหมายอื่น” ตามบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นว่าบุคคลจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินใน 4 กรณี คือ

1.         การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่ง ถือเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบ โดยที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ ดังต่อไปนี้ 1) โฉนดแผนที่ 2)โฉนดตราจอง (3) ตราจองที่ตรว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว

2.         การได้มาซึ่งโฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอาจจะเป็นการได้ โฉนดที่ดินโดยการที่ทางราชการประกาศออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล หรืออาจจะเป็นการยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดิน เป็นการเฉพาะราย

3.         การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพี่อการครองชีพ ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นั้น ทางราชการได้จัดที่ดินให้ราษฎรเข้าทำกินในที่ดินตาม เงื่อนไขและระเบียบการของเจ้าหน้าที่ เมื่อราษฎรได้ทำประโยชน์ในที่ดินครบถ้วนตามหลักเกณฑ์แล้ว เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรองให้ฉบับหนึ่งเรียกว่า หนังสือแสดงการทำประโยชน์” เพื่อให้ผู้นั้นมีสิทธิไปขอรับโฉนดที่ดิน จากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

4. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งอาจจะเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือได้มาโดยการรับมรดก หรือได้มาซึ่งที่งอกริมตลิ่ง หรือโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก ขายทอดตลาด หรือตามพระราชบัญญัติ แลกเปลี่ยนที่ดินของรัฐกับของเอกชน หรือมีพระราชบัญญัติโอนที่ดินให้เป็นพิเศษ

Advertisement