การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน ใน พ.ศ. 2552ได้มีประกาศ เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น นายหนึ่งไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ใน พ.ศ. 2554 นายหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งรับรองว่านายหนึ่งได้ครอบครองและ ทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินจริง ขณะนี้นายหนึ่งต้องการจะยกที่ดิน แปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายสอง ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) นายหนึ่งจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้แก่นายสองได้หรือไม่

(ข) ถ้านายหนึ่งยกที่ดินตีใช้หนี้โดยวิธีส่งมอบที่ดินให้นายสองครอบครอง นายสองจะนำที่ดินนั้น มาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ กรณีขอออกเป็นการเฉพาะราย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาดรา 59 “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 “ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ ทำประโยชน์แล้ว ให้โอนกันได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อม ทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

วินิจฉัย

(ก) นายหนึ่งจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้แก่นายสองได้หรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง ที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยมีสิทธิครอบครอง และที่ดินที่มีเพียงหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามพ.ร.บ.ให้ใช้ฯ มาตรา 9 ดังนั้น การที่นายหนึ่งจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้แก่นายสองจึงไม่สามารถทำได้

ส่วนข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งรับรองว่า นายหนึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินจริงนั้น กรณีนี้ก็ไม่ถือว่า ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 9 เพราะไม่ใช่คำรับรองจากนายอำเภอ

(ข) ถ้านายหนึ่งยกที่ดินตีใช้หนี้โดยวิธีส่งมอบที่ดินให้นายสองครอบครอง นายสองจะนำที่ดินนั้น มาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ กรณีขอออกเป็นการเฉพาะราย

ที่ดินที่มีเพียงหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) นั้น แม้จะโอนให้แก่กันไม่ได้ตาม กฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็สามารถโอนกันได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชยโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า นายหนึ่งได้ยกที่ดินตีใช้หนี้โดยวิธีส่งมอบที่ดินให้ นายสองครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 จึงถือว่านายสองเป็นบุคคลซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่อง มาจากนายหนึ่งผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง ดังนั้นจึงถือว่านายสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง

และเมื่อถือว่านายสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ดังนั้นนายสองจึงสามารถนำที่ดินนั้นมา ขอออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคแรก ซึ่งเป็นการขอออกเป็นการเฉพาะราย แม้ว่า ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น และนายหนึ่งไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำการสำรวจรังวัดที่ดินก็ตาม เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคแรกนั้น ได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินสามารถนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตาม มาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม

สรุป (ก) นายหนึ่งจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้แก่นายสองไม่ได้

(ข) นายสองสามารถนำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ตามประมวล กฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง


ข้อ 2. นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยไม่มีหนังสือสำคัญ แสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน นายเพชรไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ตามที่กฎหมายกำหนด ใน พ.ศ. 2535 ได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน นายเพชรได้มาแจ้ง การครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้มานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รั
โฉนดที่ดิน ใน พ.ศ. 2544 นายเพชรขายที่ดินให้แก่นายทองโดยทำหนังสือสัญญาชื้อขายกันเองที่บ้านของ นายเพชร แล้วส่งมอบที่ดินให้นายทองครอบครอง ขณะนี้นายทองเห็นว่าตนได้ครอบครองที่ดินมากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้นำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายทองจะขอออกโฉนดที่ดินได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 27 ตรี เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการ สำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

มาตรา 59 ทวิ ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอ ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

วินิจฉัย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ นายทองจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่

ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบ

เฉพาะรายไว้ดังนี้

1.         จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญ แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและ ทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2.         ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี กล่าวคือ ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้

3.         มีความจำเป็นต้องออกโฉนดที่ดิน และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร และต้องมีเนื้อที่ ไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน และเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน นายเพชรก็ ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่านายเพชรเป็นผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (กรนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ

ในปี พ.ศ. 2535 เมื่อได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน การที่นายเพชรได้มาแจ้งการ ครอบครองที่ดิน แต่ไม่ได้มานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดินนั้น กรณีเช่นนี้ ต้องถือว่านายเพชรเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายเพชรจะไม่ได้มานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการ สำรวจรังวัดที่ดินจนเป็นเหตุให้นายเพชรไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติ ตามมาตรา 27 ตรีนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ คือให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจรังวัดที่ดิน ดังนั้น นายเพชรจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินแบบ เฉพาะรายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคแรก

และในปี 2544 การที่นายเพชรได้ขายที่ดินให้แก่นายทองโดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเอง ที่บ้านของนายเพชรแล้วส่งมอบที่ดินให้นายทองครอบครองนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่านายทองเป็นผู้ครอบครองและ ทำประโยชน์ต่อเนื่องจากนายเพชรตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคสอง ดังนั้นเมื่อนายทอง มีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินเพราะเห็นว่าตนได้ครอบครองที่ดินมากว่า 10 ปีแล้ว นายทองย่อมสามารถ ขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วรรคแรก

สรุป นายทองสามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ตามมาตรา 59 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง


ข้อ 3. นายเล็กได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน โดยทาง ราชการออกเอกสารให้ในวันที่ 16 มกราคม 2545 ต่อมาใน พ.ศ. 2550 นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงนั้น ตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่ นายใหญ่เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาจนปี 2552 ได้มี ประกาศจากทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน นายใหญ่จึงได้โฉนดที่ดินมาในปีดังกล่าว หากในปี 2556 นี้ นายใหญ่ต้องการจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับนายน้อยซึ่งเป็นบุตรชายจะสามารถ ทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคห้า เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มิสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทาง มรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก‘’

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ นายใหญ่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับนายน้อยซึ่งเป็นบุตรชายได้หรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเล็กเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจอง ให้ในวันที่ 16 มกราคม 2545 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ดังนั้นนายเล็กผู้ครอบครองจึงโอนที่ดินให้ใครไมได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในพ.ศ.2550 นายเล็กได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายใหญ่ การ ยกที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ มาตรา 8 วรรคสอง ทั้งก็มิใช่เป็นการตกทอดทางมรดกแต่ อย่างใด ดังนั้น แม้นายใหญ่จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายใหญ่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี การยกที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายใหญ่ เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497) ซึ่งการที่นายใหญ่ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการเมื่อปี พ.ศ. 2552 นั้น กรณีเช่นนี้ ถือว่านายใหญ่เป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลัง วันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสอง(3) นายใหญ่จึงอยู่ในบังคับ ห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิวรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น การที่นายใหญ่ต้องการจะจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายน้อยซึ่งเป็น บุตรชาย จึงไม่สามารถโอนได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะมิใช่การโอน โดยการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป นายใหญ่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายน้อยซึ่งเป็นบุตรชายไม่ได้

Advertisement