การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ผู้มาขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิ ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายและตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดห้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดย ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้ สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์ จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
มาตรา 58 วรรคสอง “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น โดยปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานที่ดิน ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ก่อนวันเริ่มต้นสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน”
มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้ บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ระมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอ ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
วินิจฉัย
บทบัญญัติมาตรา 59 ทวิที่ว่า “ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาดรา 27 ตรี” หมายความว่า เมื่อมีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกโฉนดแบบทั้งตำบลตามมาตรา 58 วรรคสอง ถ้าผู้ที่ตกค้างการแจ้ง การครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และผู้ซึ่งได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าว มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี กล่าวคือ ไม่ได้มาแจ้ง การครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดประกาศ หรือไม่ได้มานำ หรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด แต่อย่างหนึ่งอย่างใด บุคคลนั้นก็จะมาขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าท้องที่นั้นไม่เคยมีประกาศตามมาตรา 58 วรรคสอง หากบุคคลนั้นมี ความจำเป็นก็สามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวินี้ได้
ตัวอย่าง นายดำครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยไม่มี หนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ต่อมาใน พ.ศ. 2535 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อจะเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน แต่นายดำก็ไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือมานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัด ที่ดินของตนจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ดังนั้นถ้าต่อมานายดำต้องการนำที่ดินไปขอออกโฉนด ก็ไม่สามารถนำไปขอ ออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิได้ เพราะนายดำถือเป็น “ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี”
แต่ถ้าปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้ยังไม่เคยมีประกาศของทางราชการเพื่อจะเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ถ้านายดำมีความประสงค์จะนำที่ดินไปขอออกโฉนดและมีความจำเป็น ก็สามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามมาตรา 59 ทวิได้ เพราะนายดำยังไม่ถือเป็น “ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี”
ข้อ 2. นายเพชรได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดิน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 ใน พ.ศ. 2548 นายเพชรได้ยกที่ดินให้นายเงินบุตรชาย นายเงินได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ ต่อมาจนได้รับโฉนดที่ดินใน พ.ศ. 2551 ขณะนี้นายเงินตกลงขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นางพลอย ดังนี้ อยากทราบว่านายเงินจะจดทะเบียนขายที่ดินให้นางพลอยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 58 ทวิ วรรคแรก วรรคสองและวรรคห้า “เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทำประโยชนในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ ดือ
(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้าม มิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตังองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตังขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์”
พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก”
ตามอุทาหรณ์ นายเพชรเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ใน วันที่13 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว นายเพชรผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ใน พ.ศ. 2548 นายเพชรได้ยกที่ดินให้นายเงิน เมื่อไม่ใช่การตกทอด ทางมรดก การยกให้ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง กรณีนี้ถึงแม้นายเงินจะได้ครอบครอง และทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก็ไม่ทำให้นายเงินเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม การยกที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายเงิน เป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งการที่นายเงินได้เข้าครอบครองและ ทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินใน พ.ศ. 2551 จึงถือได้ว่านายเงินเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจาก เป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์โนที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) นายเงินจึงอยู่ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย
ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนด นายเงินจึง ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นางพลอยได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า ทั้งกรณีก็ไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมายแต่อย่างใด เพราะมิได้เป็นภารตกทอดทางมรดก
สรุป นายเงินจะจดทะเบียนขายที่ดินให้นางพลอยไม่ได้
ข้อ 3. นายอาทิตย์ขายที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นางจันทร์โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเอง แล้วส่งมอบที่ดินและโฉนดที่ดินให้นางจันทร์ครอบครอง หลังจากครอบครองที่ดินมาได้ 12 ปี นางจันทร์ต้องการจดทะเบียนลงซื่อในโฉนดที่ดินแตก็ไม่สามารถตามหาตัวนายอาทิตย์เพื่อไปทำ การจดทะเบียนได้ เพราะนายอาทิตย์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ นางจันทร์จึงมาปรึกษาท่านว่า จะมีวิธีการใดที่จะดำเนินการเพื่อให้จดทะเบียนลงชื่อในโฉนดที่ดินได้ ให้ท่านแนะนำ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 78 “การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินซึ่งได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1382 หรือโดยประการอื่นนอกจากนิติกรรมสำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินแล้วให้ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น ไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา สิบบี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
ตามอุทาหรณ์ การซื้อขายที่ดินระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทร์ทำเพียงหนังสือสัญญาซื้อขาย กันเอง แล้วส่งมอบที่ดินและโฉนดที่ดินให้นางจันทร์ครอบครอง เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม นางจันทร์ก็ครอบครอง ที่ดินแปลงนั้นโดยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันถึง 12 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ดังนั้นเมื่อนางจันทร์ไม่สามารถตามหาตัวนายอาทิตย์เพื่อไปทำการจดทะเบียนได้ จึงควร ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 78 กล่าวคือ นางจันทร์ต้องยื่นคำขอต่อศาลโดยยื่นเป็นคำร้องขอ ฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่า ตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วก็นำคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลพร้อมด้วยโฉนดที่ดินไปทำการจดทะเบียนการได้มาต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 71
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นางจันทร์ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 4. นายหนึ่งทำหนังสือสัญญากับนายสองให้นายสองปลูกบ้านในที่ดินของนายหนึ่ง โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และให้อยู่ในที่ดินได้เป็นเวลา 15 ปี หลังจากนายสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินได้ 5 ปี นายสองทราบว่า นายหนึ่งได้ตกลงจะขายที่ดินให้แก่นายสาม นายสองเกรงว่าถ้านายสามซื้อที่ดินแล้วอาจจะขับไล่ตน ออกจากที่ดินก่อนกำหนด นายสองจึงนำหนังสือสัญญาที่มีกับนายหนึ่งไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และขออายัดที่ดินเพื่อไม่ให้นายหนึ่งจดทะเบียนขาย ดังนี้ อยากทราบว่าเจ้าพนักงานที่ดินจะสั่ง รับอายัดไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 83 “ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มี การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือ ก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการอายัด สิ้นสุดลง และผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้
ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ สอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่าได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการอายัดนั้น และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ”
“การอายัด” หมายถึง การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับ ที่ดินไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อไปดำเนินการทางศาล ดังนั้น ถ้าที่ดินแปลงใดถูกอายัดจะมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการจดทะเบียนที่เป็นการปลดเปลื้องภาระผูกพัน เช่น ที่ดินที่ถูกอายัด แต่จะมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง, ไถ่ถอนขายฝาก กรณีเช่นนี้ ยอมให้จดทะเบียนได้ เพราะเป็นการทำให้ที่ดินปลอดจากภาระผูกพัน
ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 83 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอายัดไว้ดังนี้
1. ผู้ขออายัดจะต้องมีส่วนได้เสียในที่ดินโดยตรงอันอาจฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินได้
2. พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งรับอายัดไว้ได้มีกำหนด 30 วันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด
3. เมื่อครบกำหนด 30 วัน แล้วผู้ขออายัดยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งอายัด ที่ดิน ให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง ผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันนี้อีกไม่ได้
ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งทำหนังสือสัญญากับนายสองให้นายสองปลูกบ้านในที่ดินของ นายหนึ่งโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าและให้อยู่ในที่ดินได้เป็นเวลา 15 ปีนั้น เมื่อเพียงแต่ทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้นำไป จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ สิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ เป็นแต่เพียงบุคคลสิทธิเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก จึงไม่มีผลให้นายสองมีส่วนได้เสียในที่ดินโดยตรงอัน อาจฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินไต้ตามมาตรา 83 แต่อย่างใด
ดังนั้นเมื่อนายสองไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินของนายหนึ่ง เจ้าพนักงานที่ดินจะสั่งรับอายัดตาม คำขอของนายหนึ่งไม่ได้
สรุป เจ้าพนักงานที่ดินจะสั่งรับอายัดไว้ไม่ได้