การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1  กฎหมายธรรมชาติคืออะไร  พัฒนาการ  5  ยุค  มีสาระสำคัญอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน  2  ลักษณะ คือ

1       ความหมายทั่วๆไป  กฎหมายธรรมชาติหมายถึง

–                    กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ  ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ  และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จำกัดกาลเทศะ

–                    กฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่างๆ ในอุดมคติ ซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล

–                    กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม  หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน  (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมคติ)

2       ความหมายในแง่ทางทฤษฎี  แบ่งออกเป็น  2  ทฤษฎี  คือ

1)    เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและโรมันถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่  5  ก่อนคริสตกาลถึงศตวรรษที่  16)  กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น  กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติจะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย

2)    เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน  ถือว่า  หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น  กล่าวคือ  รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ  แต่ถ้าตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ  กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง  ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  แบ่งออกเป็น  5  ยุค  ดังนี้

1       ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน  มีประเด็นแยกอธิบายได้ดังนี้

1)    จุดก่อตัวและช่วงเวลา  ยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่  5  ก่อนคริสตกาล  ถึงคริสต์ศตวรรษที่  5  โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิตุสนักปรัชญาชาวกรีกที่มีอายุในช่วง  540  480 ปี ก่อนคริสตกาล  โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ  โดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ  ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งแก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ  ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทางระเบียบและเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2)    การเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติ  แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต  (427  347 ปีก่อนคริสตกาล) อธิบายว่า  เข้าถึงได้โดยการใช้ญาณปัญญาอันบริสุทธิ์  แต่ก็มีเพียงนักปราชญ์เท่านั้นที่เพลโตเห็นว่าจะเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้

อริสโตเติ้ล (384  322 ปีก่อนคริสตกาล) ศิษย์ของเพลโตเห็นว่า  กฎหมายธรรมชาตินั้นมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยการใช้  เหตุผลอันบริสุทธิ์  เนื่องจากอริสโตเติ้ลพบว่าเหตุผลของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

สำนักสโตอิค (ก่อตั้งขึ้นศตวรรษที่  3  ก่อนคริสตกาลโดยเซโน) ยืนยันตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลว่า  มนุษย์เข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้โดยการใช้เหตุผล เหตุผลที่ว่านี้ก็อยู่ในฐานะเป็นพลังทางจักรวาลซึ่งเข้าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งเป็นพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรมด้วย

3)    บทบาทความสำคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้  แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต  ให้ความสำคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่าเป็นแบบหรือความคิดอันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง  ที่ให้เป็นบรรทัดฐานต่อกฎหมายบ้านเมือง  กฎหมายใดๆที่รัฐตราขึ้นต้องสอดคล้องกับแบบหรือกฎหมายธรรมชาตินี้  มิเช่นนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นกฎหมายได้

อริสโตเติ้ลให้ความสำคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่า  เป็นกฎหมายที่เหมาะสมในการปกครองสังคม  แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกฎหมายที่รัฐตราขึ้นขัดกับกฎหมายธรรมชาติผลจะเป็นอย่างไร

โสฟิสต์บางกลุ่ม  อ้างกฎมหายธรรมชาติขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งอ้างเพื่อผลักดันให้ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบทาส  (โสฟิสต์เป็นกลุ่มนักคิด  ชอบใช้วาทะในการโต้เถียงมีในสมัยศตวรรษที่ 4  5 ก่อนคริสตกาล)

ในชั้นของอาณาจักรโรมัน  ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนก็ถือว่ากฎหมายธรรมชาติมีส่วนในการพัฒนาเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล  ทรัพย์  หนี้  มรดกหรือลาภมิควรได้

2       ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง  แยกประเด็นอธิบายได้ดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม  ยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5  12 โดยประมาณ ส่วนยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12  16 โดยประมาณ  ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคำสอนทางศาสนาหรือบัญชาของพระเจ้า  เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอำนาจเหนือฝ่ายอาณาจักร  โดยยืนยันได้จากความคิดของเซนต์  ที่ว่า  กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้

2) ประเด็นเรื่องที่มาของกฎหมายธรรมชาติ    เนื่องจากกำหมายธรรมชาติยุคนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบคริสเตียน  จึงปรากฏงานนิพนธ์ของ  เซนต์  โทมัส  อไควนัส  (ค.ศ. 1226  1274)  เรื่อง  “Summa Theologica” 

สรุปว่า  หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจำนงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ  เป็นการหักมุมแนวคิดของอริสโตเติ้ลที่ว่า  มนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์เอง  กล่าวคือ  อไควนัสเห็นว่าเครื่องมือในการค้นหากฎหมายธรรมชาตินั้นปรากฏอยู่ใน  เหตุผลของพระเจ้า  ไม่ใช่เหตุผลของมนุษย์

3)  คุณค่าความสำคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้  ปรากฏในงานเขียนของอไควนัสซึ่งเขาได้แบ่งกฎหมายออกเป็น  4  ประเภท  กฎหมายธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น  อไควนัสบอกว่า  กฎหมายธรรมชาติมนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยเหตุผลเหมือนกับอริสโตเติ้ล    แต่อไควนัสนั้นบอกว่า  เหตุผลของมนุษย์เป็นคุณสมบัติธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้อีกทีหนึ่ง  ไม่ใช่มีอยู่และในธรรมชาติเหมือนอริสโตเติ้ลนำเสนอไว้

อไควนัสถือว่า  กฎหมายธรรมชาติเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันไม่สมบูรณ์ซึ่งเหตุผลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า  แต่กฎหมายธรรมชาตินี้ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักชี้นำการกระทำต่างๆ  ของมนุษย์โดยมีหลักธรรมพื้นฐานคือ  การทำดีและละเว้นความชั่ว  ซึ่งกฎหมายธรรมชาตินี้  อไควนัสถือว่ามีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์หรือรัฐบัญญัติขึ้น  กล่าวคือ  ถ้าขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติก็จะไม่ถือว่ากฎหมายนั้นเป็นกฎหมาย  แต่เป็นความวิปริตของกฎหมายไป

3       ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป  มีประเด็นน่าสนใจคือ

1)    ช่วงเวลาและภาพรวม  ยุคฟื้นฟู  อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่  14  16 โดยประมาณส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ  ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป  ฝ่ายอาณาจักรขึ้นมามีอำนาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สำเร็จ  ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจากคริสต์ศาสนาเช่นกัน  รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม  คล้ายๆกับที่อริสโตเติ้ลหรือสำนักสโตอิคแห่งกรีกโบราณนำเสนอไว้

2)    ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ  ว่าจะตราหรือบัญญัติกฎหมายอย่างไรขึ้นใช้ในสังคม  ถูกนำเสนอโดยฮูโก  โกรเซียส  ชาวเนเธอร์แลนด์  (ค.ศ.1583  1645) มีแนวคิดว่า  เหตุผลและสติปัญญาของมนุษย์คือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ  โดยถือว่าเหตุผลและสติปัญญานี้ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์เองสิ่งที่   โกรเซียสยืนยันก็คือ  ธรรมชาติของมนุษย์คือมารดาของกฎหมายธรรมชาติ  และซึ่งจะคงปรากฏอยู่มาตร (แม้) ว่าจะไม่มีพระเจ้าแล้วก็ตาม

3)    ลักษณะและความสำคัญในเชิงบทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้          ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญยิ่ง  เริ่มที่โกรเซียสได้นำเอาหลักกฎหมายธรรมชาติบางเรื่องไปเป็นรากฐานในการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ  ควบคุมกิจการหรือกติกาในการทำสงครามระหว่างรัฐจนได้รับยกย่องว่า  เป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศเลยทีเดียว

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่มบทบาทความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว  โดยผ่านนักคิดหลายๆคนในยุคนี้  เช่น  พูเฟนดอร์ฟ ,   โทมัสฮอบส์ ,  สปินโนซ่า  , จอห์น  ลอค ,  มองเตสกิเออ ,  รุสโซ  , วูล์ฟ  เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้  ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นำไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม   นำไปสู่ข้อยืนยันว่ากำลังหรืออำนาจไม่ใช่ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง  นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่  สนับสนุนเรื่องความเสมอภาคของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย  มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น  และที่สำคัญคือเป็นที่มาหรือรากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ  ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า  เป็นยุคแห่งเหตุผล  เนื่องจากอิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงำไปทั่วยุโรป

4.     ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาตินิยม  (ความเสื่อมและการฟื้นตัวของกฎหมายธรรมชาติ)  มีประเด็นอธิบายดังนี้

1)    ภาพโดยรวมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  ยุคนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่  18  กฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งแล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

2)    เหตุที่ทำให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมลง  มีสาเหตุหลัก  2  เรื่องคือ

–                    กระแสสูงของลัทธิชาตินิยม  ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามและเข้ามาบดบังลัทธิปัจเจกชนนิยมที่เป็นแกนกลางสำคัญในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

–                    ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาทแบบวิทยาศาสตร์  เป็นพื้นฐานทำให้เกิดลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย   ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

3)    เหตุที่ทำให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับการเชื่อถืออีกครั้ง  สาเหตุที่ทำให้กฎหมายธรรมชาติได้รับการนิยมขึ้นมาอีก  เพราะวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้  ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายก็ถูกนำไปใช้สนับสนุนเรื่องอำนาจนิยม  การใช้อำนาจโดยมิชอบ  ที่สำคัญก็คือสงครามโลกทั้ง  2  ครั้ง  ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิดๆ  ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมทางกฎหมายธรรมชาติหรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยมจึงปรากฏ  ความสำคัญขึ้นอีกครั้ง

4)    บทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติภายหลังที่ฟื้นตัวแล้ว  พออธิบายได้ดังนี้

–                    สแตมม์เลอร์  ชาวเยอรมันประกาศความคิดเรื่อง  กฎหมายธรรมชาติซึ่งมีเนื้อหาอันเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะเป็นหลักความยุติธรรม  ซึ่งสะท้อนความต้องการอันไม่แน่นอนของชนชาติหนึ่งในยุคสมัยหนึ่งๆขณะที่มาตาฐานแห่งความยุติธรรมเป็นการเน้นความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคม

–                    ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  ได้ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับข้อเท็จจริงและวิกฤติการณ์ทางคุณค่าด้วย  โดยเฉพาะในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่  2  กฎหมายธรรมชาติได้เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินคดีเพื่อลงโทษทหารนาซีเยอรมัน  โดยถือว่ากฎหมายที่ขัดกับมนุษยธรรมที่นาซีบัญญัติขึ้นไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย  นอกจากนั้นการปรากฏตัวขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน  ค.ศ. 1948 ก็เขียนขึ้นภายใต้อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

5       ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน  (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย)  ในยุคปัจจุบันปรัชญากฎหมายธรรมชาติมีบทบาทอยู่ใน  2  ลักษณะคือ

1)    ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม  คือ  เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย  หรือยืนยันในความเชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ที่จำต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่างๆ

2)    ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน  โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การพัฒนา  สันติภาพ  เป็นต้น  ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น  กล่าวคือ  ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ตามความคิดแบบเก่า  ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น  ฟินนีส  นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่บอกว่า  กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ  ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง  กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอำนาจผูกมัดทางมโนธรรม  ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ  หน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจำต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ  ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

 

ข้อ 2  นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคืออะไร  R. Pound  ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างไร  จงอธิบายโดยระเอียด

ธงคำตอบ

นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  หมายถึง  การนำเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์  (นิติปรัชญา)  เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้จะนำไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่งเอง  

กระแสความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วอันสืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม(Industrial  Revolution) ได้นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของชนชั้นแรงงาน  ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์หรือลัทธิมาร์กซ์  (Marxism)  ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องความเป็นธรรมต่อสังคม  การปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม  แทนที่การเน้นความสำคัญของลัทธิปัจเจกชนนิยมซึ่งให้ความสำคัญแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล 

ขณะเดียวกันความคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ที่พยายามเน้นความสัมพันธ์อันจำเป็นระหว่างกฎหมายและสิ่งแวดล้อมทางสังคม  ในฐานะตัวบ่มเพาะพัฒนาการของกฎหมายก็เปลี่ยนดุลถ่วงความสนใจของนักกฎหมายสู่เรื่องข้อเท็จจริงทางสังคมมากขึ้น  แม้จะเน้นหนักในเรื่องจารีตประเพณีอยู่ก็ตาม  เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือความมุ่งมั่นของกฎหมายที่เคยเน้นเรื่องปัจเจกชนนิยมไปสู่ลัทธิรวมการ(Collective) หรือแนวความคิดในเชิงสังคมนิยม  เป็นแนวโน้มใหม่ที่มุ่งจะสร้างหรือใช้กฎหมายเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม  (Collectivist  Legislation)  มากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล

เป็นจุดก่อตัวของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19  ที่พยายามปรับเปลี่ยนบทบาทของกฎหมายให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

R. Pound  ได้นำเสนอทฤษฎีวิศวกรรมสังคม  ซึ่งเป็นชื่อของทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเพราะแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่การคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุลประหนึ่งการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม  จึงเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม  ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม หรือ  “Social  Engineering  Theory”

ทฤษฎีวิศวกรรมสังคมของรอสโค  พาวนด์  แบ่งอธิบายเป็น  3  หัวข้อ  ได้แก่

1   ความหมายของผลประโยชน์

2  ประเภทของผลประโยชน์

3  วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์

รอสโค  พาวนด์  ให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง  และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำการอันใดอันหนึ่ง  เพื่อสิ่งเหล่านี้หากต้องการธำรงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย  ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายมีหน้าที่ต้องตอบสนอง  แต่จะได้มากน้อยเพียงใดแก่แต่ละบุคคลนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญหรือผลกระทบของผลประโยชน์ที่จะได้รับ  จึงต้องนำวิธีการคานผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

โดยเขาแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น  3  ประเภท  ได้แก่

1       ผลประโยชน์ของปัจเจกชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  ความปรารถนา  และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน  ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนตัว  ความสัมพันธ์ทางครอบครัว  อันเกี่ยวข้องกับบิดามารดา  สามีภรรยา  และบุตรธิดาต่างๆ  หรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล  เสรีภาพในการทำสัญญาการจ้างแรงงาน  เป็นต้น

2       ผลประโยชน์ของมหาชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน  รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม

3       ผลประโยชน์ทางสังคม  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม  อันรวมถึงความปลอดภัย  ศีลธรรมทั่วไป  ความเจริญก้าวหน้า

ผลประโยชน์แต่ละประเภทมีค่าเป็นกลางๆ  ไม่มีผลประโยชน์ประเภทใดสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง  และการแบ่งแยกประเภทของผลประโยชน์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเสมือนบัญชีรายชื่อที่อาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์  รอสโค  พาวนด์  ให้นำเอาผลประโยชน์แต่ละประเภทมาคานผลประโยชน์กันให้เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดในสังคมแบบการกระทำวิศวกรรมสังคม  ซึ่งจำต้องมองความสมดุลในแง่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดต่อโครงสร้างแห่งระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม  หรือผลลัพธ์ที่เป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้  พร้อมกับการสูญเสียที่น้อยที่สุดต่อผลประโยชน์รวมทั้งหมดของสังคม

รอสโค  พาวนด์  ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆ  ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ

พาวนด์  นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ซึ่งพาวนด์ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษา  และเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา  รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น  แทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้เขายังได้เสนอข้อคิดหรือภาระสำคัญ  6  ประการของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ไว้ว่า

1       ต้องศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย

2       ต้องศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติโดนเฉพาะในเรื่องของผลการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ

3       ต้องศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ  โดยถือว่า  ความมีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

4       ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยาด้วยการตรวจพิจารณาดูว่า  ทฤษฎีกฎหมายต่างๆได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต 

5       ต้องสนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม  ซึ่งมักอ้างเรื่องความแน่นอนขึ้นแทนที่มากเกินไป

6       ต้องพยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปสาระสำคัญข้อคิดต่อนักกฎหมายของรอสโค  พาวนด์  ได้คือ

1       ใส่ใจต่อหลักการใหม่ๆ

2       ใส่ใจต่อพฤติกรรมมนุษย์

3       สนใจเศรษฐศาสตร์  สังคมวิทยา  และปรัชญา 

4       ผลักดันกฎหมายในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับตัวบท

 

ข้อ 3  ความยุติธรรมคืออะไร  มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ความยุติธรรม  เป็นคำหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า  ความยุติธรรม  หมายถึง

1       ความเที่ยงธรรม  หมายถึง  การไม่เอนเอียง  ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2       ความชอบธรรม  หมายถึง  ชอบด้วยนิตินัย  หรือชอบด้วยธรรมมะ

3       ความชอบด้วยเหตุผล  ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร  สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนำเสนอความหมายไว้ที่สำคัญๆได้แก่

เพลโต  (Plato)  ได้ให้คำนิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง  การทำกรรมดีหรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง  โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม  ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด  และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล  (Aristotle)  มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง  หรือคุณธรรมทางสังคมประการหนึ่ง  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง  โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ประเภทคือ

1       ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  หมายถึง  ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล  ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคนไม่มีขอบเขตจำกัด  และอาจค้นพบได้โดย  เหตุผลบริสุทธิ์  ของมนุษย์

2       ความยุติธรรมตามแบบแผน  หมายถึง  ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง  ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม  เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น  มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน  2  แบบตามแนวคิดทางทฤษฎี  คือ

1       ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย  ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน  เนื่องจากล้วนมีกำเนิดมาจากพระเจ้า  จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลังๆจนถึงปัจจุบัน  ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสำคัญของสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่า  กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย  รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสำนักนี้ด้วย  อาทิเช่น

ฮันส์  เคลเซ่น  (Hans  Kelsen)  กล่าวว่า  ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมาย  โดยการปรับใช้คำสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม

อัลฟ  รอสส์  (Alf  Ross)  กล่าวว่า  ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ตรัสว่า  ในเมืองไทย  คำพิพากษาเก่าๆและคำพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย  อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆ  แต่คำที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคำไม่ดี  เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย  ซึ่งไม่เป้นกิริยาของกฎหมาย  กฎหมายต้องเป็นยุติ  จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้  แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร  เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ  ทุกเรื่อง…

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  211/2473  กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้

2       ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย  เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย  ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสรอุดมคติในกฎหมาย  หรือเป็นความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย  กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรมซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ  อันเป็นวิธีคิดในทำนองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  อีกทั้งเป็นวิธีคิดอุดมคติซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน  หรือในชื่อที่เรียกกันว่า  ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือความยุติธรรมโดยตัวของมันเอง  ยังมีแก่นสารของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกำกับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมาช้านานแล้ว  ดังเช่น

คดีอำแดงป้อม  ในสมัยรัชกาลที่  1  ที่อำแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามีตุลาการก็ให้หย่า  เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า  หญิงหย่าชาย  หย่าได้  ผลของคำพิพากษานี้  รวมทั้งกฎหมายที่สนับสนุนอยู่  เหนือหัวรัชกาลที่  1  เห็นว่าไม่ยุติธรรม  เป็นเหตุให้ต้องมีการชำระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน  แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจากบุคคลสำคัญของไทย  เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  9  มีแนวพระราชดำริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย  ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า  โดยที่กฎหมายเป็นแต่เรื่องเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว  จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่ายุติธรรม  หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ  โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ  จึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ  การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้

ศ. จิตติ  ติงศภัทิย์  ปรมาจารย์ทางด้ายกฎหมายแนะนำไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่านไว้ว่า  การที่มีคำใช้อยู่  2  คำ  คือ  กฎหมาย  คำหนึ่ง  ความยุติธรรม  คำหนึ่ง  ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่งเดียวกันไปไม่  การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมายไม่คำนึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้นเป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น

Advertisement