การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายความหมายของกฎหมายธรรมชาติและศีลธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร  ตามความคิดของ  Fuller

ธงคำตอบ

กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน  2  ลักษณะ  คือ

1       ความหมายทั่วๆไป  กฎหมายธรรมชาติ  หมายถึง

–                    กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ  ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้น  เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ  และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จำกัดกาลเทศะ

–                    กฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่างๆ  ในอุดมคติซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น  ซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล

–                    กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม  หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม  หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน  (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมการณ์)

2       ความหมายในทางทฤษฎี  แบ่งเป็น  2  ทฤษฎี  คือ

ทฤษฎีแรก  เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและยุคโรมันไปจนถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่  5  ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่  16 )  ถือว่า  กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่ค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติจะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย

ทฤษฎีที่สอง  เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน  ถือว่า   หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น  กล่าวคือ  รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ  แต่ถ้าตราขึ้นหรือขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ  กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง  ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง

กฎหมายธรรมชาติ  และศีลธรรมตามความคิดของฟุลเลอร์ (Fuller)  มีความสัมพันธ์กัน  ดังต่อไปนี้

ลอน  ฟุลเลอร์  (Fuller)  นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่เชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม  แต่เขาก็ปฏิเสธหลักกฎหมายธรรมชาติในแง่ความเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา  รวมทั้งยืนกรานปฏิเสธทฤษฎีความเป็นนิรันดร์ของกฎหมายธรรมชาติ

ฟุลเลอร์ให้แนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมและกฎหมายว่า  กฎหมายต้องออยู่ภายใต้บังคับของศีลธรรมหรือต้องบรรจุด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมภายใน  หรือที่ฟุลเลอร์เรียกว่า  ศีลธรรมในกฎหมาย  ดังเงื่อนไขสำคัญ  8  ประการ  ที่ฟุลเลอร์ถือเสมือนว่าเป็นการมีศีลธรรมภายในกฎหมาย  หรือเป็น  กฎหมายธรรมชาติในเชิงกระบวนการ  ได้แก่

1       กฎหมายจะต้องมีลักษณะทั่วไปในฐานะเป็นกฎเกณฑ์

2       กฎเกณฑ์จะต้องถูกตีพิมพ์เผยแพร่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ

3       กฎเกณฑ์จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง

4       กฎเกณฑ์ต้องชัดแจ้งและสามารถเข้าใจได้

5       กฎเกณฑ์จะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน

6       กฎเกณฑ์จะต้องไม่กำหนดบังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

7       กฎเกณฑ์จะต้องมีความมั่นคง  แน่นอน  ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป

8       จะต้องมีความกลมกลืนกันระหว่างกฎเกณฑ์ที่ถูกประกาศใช้กับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ

 


ข้อ  2  นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคืออะไร  
Pound  ได้อธิบายทฤษฎีของเขาว่าอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  หมายถึง  การนำเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์  (นิติปรัชญา)  เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้จะนำไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่งเอง   เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่  19  ของตะวันตก  ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตะวันตกอยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมประเพณีที่ไม่ซับซ้อนสู่สังคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน  เอารัดเอาเปรียบ  ทำให้เกิดชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงานซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วย

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยานี้เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎีทางนิติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของกฎหมายต่อสังคม  การพิจารณากฎหมายโดยยึดถือคุณค่าทางสังคมวิทยาอันเป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายหรือการทำงานของกฎหมายมากกว่าการสนใจกฎหมายในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระ  จากนั้นก็ไปเน้นเรื่องบทบาทของนักกฎหมายในการจัดระเบียบผลประโยชน์ของสังคม  เน้นวิธีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆของสังคม  โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม

รอสโค  พาวนด์  (Roscoe  Pound)  เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสน์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ  โดนพาวนด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ที่รู้จักกันในนามทฤษฎีวิศวกรรมสังคมขึ้น  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคานผลประโยชน์ต่างๆ  ในสังคมให้เกิดความสมดุล

R. Pound  ได้นำเสนอทฤษฎีวิศวกรรมสังคม  ซึ่งเป็นชื่อของทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเพราะแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่การคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุลประหนึ่งการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม  จึงเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม  ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม หรือ  “Social  Engineering  Theory”

ทฤษฎีวิศวกรรมสังคมของรอสโค  พาวนด์  แบ่งอธิบายเป็น  3  หัวข้อ  ได้แก่

1   ความหมายของผลประโยชน์

2  ประเภทของผลประโยชน์

3  วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์

รอสโค  พาวนด์  ให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง  และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำการอันใดอันหนึ่ง  เพื่อสิ่งเหล่านี้หากต้องการธำรงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย  ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายมีหน้าที่ต้องตอบสนอง  แต่จะได้มากน้อยเพียงใดแก่แต่ละบุคคลนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญหรือผลกระทบของผลประโยชน์ที่จะได้รับ  จึงต้องนำวิธีการคานผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

โดยเขาแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น  3  ประเภท  ได้แก่

1       ผลประโยชน์ของปัจเจกชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  ความปรารถนา  และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน  ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนตัว  ความสัมพันธ์ทางครอบครัว  อันเกี่ยวข้องกับบิดามารดา  สามีภรรยา  และบุตรธิดาต่างๆ  หรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล  เสรีภาพในการทำสัญญาการจ้างแรงงาน  เป็นต้น

2       ผลประโยชน์ของมหาชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน  รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม

3       ผลประโยชน์ทางสังคม  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม  อันรวมถึงความปลอดภัย  ศีลธรรมทั่วไป  ความเจริญก้าวหน้า

ผลประโยชน์แต่ละประเภทมีค่าเป็นกลางๆ  ไม่มีผลประโยชน์ประเภทใดสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง  และการแบ่งแยกประเภทของผลประโยชน์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเสมือนบัญชีรายชื่อที่อาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์  รอสโค  พาวนด์  ให้นำเอาผลประโยชน์แต่ละประเภทมาคานผลประโยชน์กันให้เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดในสังคมแบบการกระทำวิศวกรรมสังคม  ซึ่งจำต้องมองความสมดุลในแง่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดต่อโครงสร้างแห่งระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม  หรือผลลัพธ์ที่เป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้  พร้อมกับการสูญเสียที่น้อยที่สุดต่อผลประโยชน์รวมทั้งหมดของสังคม

รอสโค  พาวนด์  ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆ  ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ

พาวนด์  นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ซึ่งพาวนด์ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษา  และเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา  รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น  แทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้เขายังได้เสนอข้อคิดหรือภาระสำคัญ  6  ประการของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ไว้ว่า

1       ต้องศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย

2       ต้องศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติโดนเฉพาะในเรื่องของผลการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ

3       ต้องศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ  โดยถือว่า  ความมีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

4       ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยาด้วยการตรวจพิจารณาดูว่า  ทฤษฎีกฎหมายต่างๆได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต 

5       ต้องสนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม  ซึ่งมักอ้างเรื่องความแน่นอนขึ้นแทนที่มากเกินไป

6       ต้องพยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปสาระสำคัญข้อคิดต่อนักกฎหมายของรอสโค  พาวนด์  ได้คือ

1       ใส่ใจต่อหลักการใหม่ๆ

2       ใส่ใจต่อพฤติกรรมมนุษย์

3       สนใจเศรษฐศาสตร์  สังคมวิทยา  และปรัชญา 

4       ผลักดันกฎหมายในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับตัวบท

 


ข้อ  3  ความยุติธรรมคืออะไร  มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ความยุติธรรม  เป็นคำหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า  ความยุติธรรม  หมายถึง

1       ความเที่ยงธรรม  หมายถึง  การไม่เอนเอียง  ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2       ความชอบธรรม  หมายถึง  ชอบด้วยนิตินัย  หรือชอบด้วยธรรมมะ

3       ความชอบด้วยเหตุผล  ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร  สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนำเสนอความหมายไว้ที่สำคัญๆได้แก่

เพลโต  (Plato)  ได้ให้คำนิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง  การทำกรรมดีหรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง  โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม  ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด  และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล  (Aristotle)  มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง  หรือคุณธรรมทางสังคมประการหนึ่ง  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง  โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ประเภทคือ

1       ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  หมายถึง  ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล  ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคนไม่มีขอบเขตจำกัด  และอาจค้นพบได้โดย  เหตุผลบริสุทธิ์  ของมนุษย์

2       ความยุติธรรมตามแบบแผน  หมายถึง  ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง  ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม  เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น  มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน  2  แบบตามแนวคิดทางทฤษฎี  คือ

1       ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย  ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน  เนื่องจากล้วนมีกำเนิดมาจากพระเจ้า  จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลังๆจนถึงปัจจุบัน  ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสำคัญของสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่า  กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย  รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสำนักนี้ด้วย  อาทิเช่น

ฮันส์  เคลเซ่น  (Hans  Kelsen)  กล่าวว่า  ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมาย  โดยการปรับใช้คำสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม

อัลฟ  รอสส์  (Alf  Ross)  กล่าวว่า  ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ตรัสว่า  ในเมืองไทย  คำพิพากษาเก่าๆและคำพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย  อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆ  แต่คำที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคำไม่ดี  เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย  ซึ่งไม่เป้นกิริยาของกฎหมาย  กฎหมายต้องเป็นยุติ  จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้  แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร  เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ  ทุกเรื่อง…

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  211/2473  กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้

2       ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย  เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย  ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสรอุดมคติในกฎหมาย  หรือเป็นความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย  กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรมซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ  อันเป็นวิธีคิดในทำนองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ  อีกทั้งเป็นวิธีคิดอุดมคติซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน  หรือในชื่อที่เรียกกันว่า  ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือความยุติธรรมโดยตัวของมันเอง  ยังมีแก่นสารของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกำกับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมาช้านานแล้ว  ดังเช่น

คดีอำแดงป้อม  ในสมัยรัชกาลที่  1  ที่อำแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามีตุลาการก็ให้หย่า  เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า  หญิงหย่าชาย  หย่าได้  ผลของคำพิพากษานี้  รวมทั้งกฎหมายที่สนับสนุนอยู่  เหนือหัวรัชกาลที่  1  เห็นว่าไม่ยุติธรรม  เป็นเหตุให้ต้องมีการชำระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน  แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจากบุคคลสำคัญของไทย  เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  9  มีแนวพระราชดำริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย  ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า  โดยที่กฎหมายเป็นแต่เรื่องเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว  จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่ายุติธรรม  หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ  โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ  จึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ  การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้

ศ. จิตติ  ติงศภัทิย์  ปรมาจารย์ทางด้ายกฎหมายแนะนำไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่านไว้ว่า  การที่มีคำใช้อยู่  2  คำ  คือ  กฎหมาย  คำหนึ่ง  ความยุติธรรม  คำหนึ่ง  ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่งเดียวกันไปไม่  การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมายไม่คำนึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้นเป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น

Advertisement